H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 368 หัวเรื่อง
การวิเคราะห์ภาพยนตร์ (ตอนที่ ๑)
สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


บริการเผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

080447
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

การวิเคราะห์แนวโครงสร้างนิยม
วิเคราะห์การเล่าเรื่องของภาพยนตร์
(ตอนที่ ๑)
สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความนี้ ยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 8 เมษายน 2547

บทความชิ้นนี้มาจากหนังสือเรื่อง Media and Society ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เขียนโดย Michael O' Shaughessy และ Jane Stadler
สำนักพิมพ์ Oxford University Press ปีที่พิมพ์ 2002
(ในส่วนของ Part 3, Chapter 10 เรื่อง Narrative Structure and Binary Oppositions หน้า 127-130)


โครงสร้างการดำเนินเรื่อง และคู่ตรงข้าม
Narrative Structure and Binary Oppositions
ความสำคัญของการเล่าเรื่อง (The Importance of Narrative)

การเล่าเรื่อง(narratives)และเรื่องเล่าต่างๆ(stories) เป็นวิธีการพื้นฐานอันหนึ่งของการสร้างความหมายหรือความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ของเรา อันนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรมอันหนึ่งซึ่งมีส่วนร่วมโดยทุกๆสังคม มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเข้าใจและเล่าถึงประสบการณ์ทั้งหลายโดยผ่านเรื่องเล่า

ในวัฒนธรรมตะวันตก เมื่อผู้คนต้องการพูดถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงและเรื่องที่เสกสรรค์ขึ้นมาเอง พวกเขาจะนำเสนอประสบการณ์ต่างๆเหล่านี้ในรูปของเรื่องเล่าหรือโครงสร้างของการดำเนินเรื่อง - นั่นคือ ลำดับเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆที่เชื่อมโยงกันผ่านกระบวนการของเหตุผล โดยเล่าถึงจุดเริ่มต้น, เรื่องราวที่ดำเนินไปในระหว่างกลาง, และตอนจบ

พวกเรามีเรื่องเล่าต่างๆที่สรรค์สร้างกันขึ้นมา แต่เราก็มีเรื่องราวเด่นๆเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันทั่วๆไปในหน้าหนังสือพิมพ์, เรื่องราวจากเอกสาร, และแม้กระทั่งเรื่องของกีฬาต่างๆ. เมื่อเราพูดถึงประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเราเอง อย่างเช่น วันนี้การทำงานของคุณเป็นอย่างไร? - เรื่องราวต่างๆของเรามักจะถูกเล่าออกมาเป็นเรื่องราว

แต่เรื่องเล่า และการเล่าเรื่องกระทำบางสิ่งบางอย่างได้มากกว่านี้ มันเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะถามถึงเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง: เช่น "อะไรคือจุดสำคัญของเรื่องราวอันนั้น?" หรือ "อะไรคือสาระทางศีลธรรมของเรื่องราวดังกล่าว?" ความคิดเกี่ยวกับเรื่องราวนี้มีเรื่องของศีลธรรม, มีประเด็นสำคัญ, หรือบทเรียนอันหนึ่งในการสั่งสอน ซึ่งย้อนกลับไปถึงเรื่องเล่าต่างๆ อย่างเช่น นิทานอีสป(Aesop's Fables), เรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล, ปกรณัมโบราณ, และตำนานต่างๆ และมันเทียบเคียงได้หรือสัมพันธ์กับการเล่าเรื่องในภาพยนตร์และโทรทัศน์ของทุกวันนี้

เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้สามารถได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นเครื่องมือ หรือวิธีการที่สังคมทั้งหลายได้พูดถึงตัวของสังคมเอง มันจะมองไปที่ประเด็นปัญหาของมนุษย์บางคนและตั้งคำถามต่างๆ ซึ่งในตอนท้ายของการเล่าเรื่องจะมีทางออกอันหนึ่ง, มีการแก้ปัญหา, หรือไม่ก็นำเสนอสาระทั้งหมดเกี่ยวกับปัญหาออกมา

เช่นดังการสนทนากันระหว่าง John Hartley และ Mick Regan เกี่ยวกับรายการตลกทางโทรทัศน์ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว อันนี้แสดงให้เราเห็นว่า เราจะสัมพันธ์กับวัยรุ่นที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเราอย่างไร หรือถ้าเราเป็นวัยรุ่นจะเกี่ยวพันกับพ่อแม่ของเราอย่างไร เป็นต้น

ส่วนรายการอย่างเช่น Friend และ Dawson's Creek ได้แสดงให้เราเห็นว่า (ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่)เราจะพละจากความรักของหนุ่มสาวอย่างไร และสำรวจถึงประเด็นปัญหาต่างๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างๆอันนั้นอย่างไร

จุดสำคัญก็คือว่า เรื่องเล่าทั้งหลายมีประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่จะบอก - มันพยายามที่จะสื่อสารบางสิ่งบางอย่าง นั่นคือ การส่งสารไปถึงผู้ฟังทั้งหลาย บ่อยครั้งสารอันนี้มักไม่ได้รับการตระหนักอย่างเต็มที่ จนกว่ามาถึงตอนจบของเรื่อง - ในละครตลกเบาสมอง มันเป็นการส่งสารผ่านเรื่องเล่าตลกชวนหัว

เรารอคอยในสิ่งที่ได้คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าสำหรับการส่งสารในท้ายที่สุดนี้ ซึ่งปกติแล้ว จะละลายความขัดแย้งต่างๆที่มีมาก่อนหน้านั้น และตั้งคำถามกับเรื่องที่สร้างขึ้น ซึ่งได้วางเราลงในตำแหน่งหนึ่งที่จะทำการตัดสินใจอะไรบางอย่าง หรือประเมินคุณค่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าทั้งหมด: ดังนั้น เราจึงได้รับสาระอันนั้น

ตรรกะของการเล่าเรื่องก็คือต้องการสื่อสารบางอย่าง, หรือนำเสนอประเด็นสำคัญบางประการ, และการวิเคราะห์ที่ดี, หรือการอ่านเรื่องราวอันนั้นจะมุ่งไปที่การทดสอบ และทำความเข้าใจสาระเหล่านั้นว่าคืออะไร? สำหรับจุดมุ่งหมายของบทความชิ้นนี้ ต้องการที่จะวิเคราะห์ว่า เรื่องเล่ามันทำงานในอีกหนทางหนึ่งอย่างไรเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆในเชิงวิเคราะห์

ขั้นแรก จะค่อนข้างง่ายที่จะชี้ให้เห็นถึงส่วนประกอบต่างๆของเรื่องเล่า
ขั้นที่สอง ค่อนข้างเป็นขั้นตอนที่สำคัญกว่าก็คือ ต้องการที่จะมองดูว่า โครงสร้างการเล่าเรื่องได้มากำหนดความหมายของเรื่องเล่าอย่างไร

เหตุผลที่เราสร้างขึ้นมาในที่นี้ก็คือ วิธีการอันหนึ่งซึ่งเรื่องเล่าได้รับการเล่าขานให้เราเข้าใจมันอย่างไร หรือเรื่องเล่าได้ถูกวางโครงสร้างที่จะมีผลกระทบต่อความเข้าใจของเราอย่างไร

โครงสร้างการเล่าเรื่อง และโครงสร้างนิยม (Narrative Structure and Structuralism)
วิธีการศึกษาซึ่งนำเสนอในที่นี้ วางอยู่บนพื้นฐานของลัทธิโครงสร้างนิยม ลัทธิโครงสร้างนิยมได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยบรรดานักมานุษยวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Levi-Strauss (1978) เพื่อวิเคราะห์ถึงแง่มุมต่างๆอย่างมากมายของสังคมมนุษย์ อย่างเช่น แบบแผนระบบเครือญาติ และเรื่องของการประกอบอาหาร นอกจากนี้มันยังถูกนำไปใช้เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวปรัมปรา และยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ทางวิชาการอื่นๆอีกมากมายด้วย

ในการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ(media studies) ลัทธิโครงสร้างนิยมได้ถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ถึงการเล่าเรื่อง จุดมุ่งหมายกว้างๆของมัน ซึ่งต้องการที่จะลงไปลึกกว่าผิวหน้าของข้อมูลสื่อต่างๆนั่นเอง เพื่อดูว่าโครงสร้างของเรื่องเล่าได้ช่วยสนับสนุนความหมายอย่างไร

ความสำคัญของโครงสร้างการเล่าเรื่องจะได้รับการทำให้ชัดเจนมากขึ้น ถ้าเราแบ่งแยกโครงสร้างออกจากเนื้อหา... ตัวอย่างที่มีประโยชน์มากตัวอย่างหนึ่งก็คือ ลองมองไปที่ตัวละครต่างๆที่เป็นเกย์ที่ได้ถูกนำเสนอในภาพยนตร์ต่างๆว่า พวกเขาเหล่านี้ได้ถูกนำเสนอกันอย่างไร

อันนี้ได้รับการยืนยันในเชิงเอกสารอย่างดีในหนังสือของ Vito Russo ในเรื่อง The Celluloid Closet ซึ่งได้ให้มูลรากเกี่ยวกับภาพยนตร์ในเชิงสารคดีได้เป็นอย่างดีชิ้นหนึ่ง เขาได้ให้เหตุผลว่า การนำเสนอเกี่ยวกับตัวละครที่เป็นเกย์ในช่วงแรกที่สุด ตัวละครเหล่านั้นมักถูกนำเสนอในเชิงลบ กล่าวคือ คนเหล่านี้จะถูกหัวเราะเยาะ และเป็นพวกที่ชอบเรียกร้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน หรือมิฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ตัวละครที่เป็นเกย์นั้นเป็นพวกวิปริตผิดปกติ และเป็นอาชญากร

เขาให้เหตุผลต่อว่า นับจากทศวรรษที่ 1970s เป็นต้นมา ภาพยนตร์ต่างๆได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ หรือให้การสนับสนุนตัวละครที่เป็นเกย์มากขึ้น ซึ่งได้เริ่มปรากฏชัดในช่วงเวลาดังกล่าว และเขาได้ดึงความสนใจเราไปสู่หนทางที่ตัวละครเหล่านี้ ได้ถูกวางตำแหน่งหรือถูกวางโครงสร้างในการเล่าเรื่องอย่างไร? เขาพบว่า แม้จะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากขึ้นก็ตาม แต่ตัวละครที่เป็นเกย์ ก็ได้รับการพรรณาโดยให้มีเรื่องราวที่จบลงอย่างปราศจากความสุขอยู่บ่อยๆสำหรับคนเหล่านี้

ในตอนจบของหนังสือของเขา เขาได้สรุปโดยนำเสนอเป็นแผนผังเกี่ยวกับตอนจบของภาพยนตร์แนวนี้อย่างหลายหลาก ซึ่งออกมาในเชิงลบ ที่เคียงไปกับบรรณานุกรมและรายชื่อภาพยนตร์แนวเกย์ โดยมากแล้วภาพยนตร์เหล่านี้ มักจะกำหนดให้ตัวละครที่เป็นเกย์ทั้งหลายต้องจบลงอย่างไม่มีความสุข ซึ่งออกมาในลักษณะที่ฆ่าตัวตายบ้าง, เป็นบ้าบ้าง, ต้องอยู่โดดเดี่ยว, ต้องติดคุก, หรือต้องตาย, เป็นต้น

ประเด็นที่สำคัญยิ่งก็คือ โครงสร้างการเล่าเรื่องอันนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ตัวละครที่เป็นเกย์จะจบลงอย่างปราศจากความสุข แม้ว่าพวกเขาจะถูกพรรณาออกมาในลักษณะที่น่าเห็นอกเห็นใจก็ตาม อันนี้คือข้อสรุปที่เป็นไปในลักษณะการตำหนิและประณามอย่างหนึ่ง

เรายังคงสามารถที่จะเห็นแนวโน้มอันนี้ได้ในภาพยนตร์ต่างๆ อย่างเช่น The Sum of Us หรือ Priscilla, Queen of the Desert ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวเกย์ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง และออกจะยืนยันถึงเรื่องเหล่านี้ ที่ไม่จบลงอย่างมีความสุขในลักษณะที่คลาสสิคเหมือนภาพยนตร์แนวอื่นๆ

การเล่าเรื่องได้รับการวางโครงสร้างอย่างไร และโครงสร้างนี้ได้กำหนดความหมายอย่างไร?
( How are narratives structured, and how does this structure determine meaning?)
แบบแผนของการเล่าเรื่อง (Narrative pattern)
มีแบบแผนโครงสร้างพื้นฐานอันหนึ่งในการเล่าเรื่อง ตามความคิดของ Todorov การเล่าเรื่องทั้งหมดเป็นขบวนการอันหนึ่งระหว่างสองด้านที่สมดุลกัน:

ในการเริ่มต้นเล่าเรื่อง มันมักจะมีสถานการณ์ที่มั่นคงอันหนึ่งเสมอ … และมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดความไร้ดุลภาพ ที่ได้เข้ามารบกวนต่อสถานการณ์ซึ่งมีเสถียรภาพอันนี้ …ในตอนจบของเรื่อง การมีดุลภาพได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่มิได้เป็นไปอย่างที่เริ่มต้นอีกต่อไป (Todorov 1975, p.163)

ความมีดุลภาพที่สร้างขึ้นมาในตอนท้าย เป็นรูปแบบหนึ่งของการแก้ปัญหาต่อคำถาม หรือข้อสงสัยอันน่าฉงนสนเท่ห์ต่างๆและความสมปรารถนา ที่ได้รับการนำเสนอโดยการรบกวนหรืออุปสรรคต่างๆ เราสามารถที่จะแสดงถึงมันออกมาเป็นแผนภาพได้ดังต่อไปนี้:

stable situation 1 ------------- disruption ------------- stable situation 2
(enigma, desire, goal)
-Basic structure pattern of narratives-

เหตุการณ์ซึ่งเข้ามารบกวนตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง ได้เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวละครหลักต่างๆ และบ่อยครั้งมันได้ทำให้เกิดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งตัวละครเอกในเรื่องจะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะบรรลุถึงให้ได้ อันนี้ได้สร้างคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการเล่าเรื่องในจิตใจของผู้อ่านหรือผู้ชมทั้งหลาย ซึ่งจะดึงพวกเขาไปตลอดทั้งเรื่อง

พวกเขาจะรู้สึกสงสัยอย่างต่อเนื่องว่า ตัวละครเอกต่างๆจะเกี่ยวข้องกับการทดสอบและความยากลำบากอันนี้อย่างไร ซึ่งตัวละครทั้งหลายกำลังเผชิญหน้าอยู่ แน่นอน คำถามที่เป็นแกนกลางของการเล่าเรื่องจะได้รับคำตอบเมื่อมาถึงตอนจบของเรื่องเท่านั้น หรือวิกฤตที่สำคัญนั้นได้รับการแก้ไขในท้ายที่สุด

แต่ก่อนหน้าที่จะถึงจุดนั้น เราต่างถูกล่อลวงให้ถลำลึกลงไปในโลกของการเล่าเรื่อง ดังที่ตัวละครหลักต่างๆได้เผชิญหน้ากับอุปสรรคนานา พวกเขาจะเผชิญกับจุดเปลี่ยน, การเผชิญหน้ากับความสลับซับซ้อน และความขัดแย้งที่มาคุกคามเพื่อกีดกันมิให้พวกเขาบรรลุผลสำเร็จในวัตถุประสงค์ต่างๆ เรื่องราวอันน่าตื่นเต้นเหล่านี้จะต้องถูกเอาชนะเสียก่อน ก่อนที่ดุลภาพใหม่อันหนึ่งจะสามารถเกิดขึ้นได้ และก่อนที่ผู้ชมจะรู้สึกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้ปิดตัวลง

ในภาพยนตร์เรื่อง Thelma and Louise แรกเริ่มเดิมที ผู้หญิงทั้งสองคนดำรงอยู่ในสถานการณ์ต่างๆที่ค่อนข้างมั่นคง - มีงานและครอบครัวที่น่านับถือ - แต่อย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ได้ถูกแสดงให้เห็นว่าเป็นไปอย่างไม่น่าพึงพอใจ

ความยุ่งเหยิงเกิดขึ้นเมื่อพวกเธอตัดสินใจที่จะพละจากสิ่งเหล่านี้ไปในวันสุดสัปดาห์ อันนี้ได้ก่อให้เกิดภาวะที่ไร้ดุลภาพขึ้น ในฐานะที่เป็นเป้าหมายและความปรารถนาของพวกเธอซึ่งเข้ามามีบทบาท: พวกเธอต้องการชีวิตที่มีความสุขกว่าอันหนึ่ง ความไม่แน่นอนและการคาดหมายตามมา: พวกเธอจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้หรือไม่?

ในการเล่าเรื่องเกือบจะทุกครั้ง ความหลากหลายเกี่ยวกับข้อสงสัยที่เป็นแกนกลางของการเล่าเรื่องนี้ ซึ่งมันจะขับเคลื่อนพล็อตเรื่องและธำรงรักษาความสนใจของผู้ดูเอาไว้. การแตกหักที่ยิ่งใหญ่ได้บังเกิดขึ้นเมื่อพวกเธอได้ไปฆ่าผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งประเด็นนั้นทำให้ความไม่แน่นอนตามมา คำถามเกิดขึ้นเกี่ยวกับว่า พวกเธอจะหนีรอดการถูกจับกุมได้หรือไม่

การแตกหักยังก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาด้วยที่ว่า Thelma และ Louise จะเกี่ยวโยงกันและกันอย่างไร. ข้อสงสัยอีกอันหนึ่งเรียกร้องการแก้ไขด้วย: นั่นคือ อะไรเกิดขึ้นกับอดีตของ Louise ที่ผ่านมา? คำถามและข้อสงสัยเหล่านี้ได้มาถึงทางออกในช่วงสุดท้าย

ตอนจบ - มันจะลงท้ายด้วยความสุขหรือไม่มีความสุข - เมื่อเรื่องมาถึงที่สุด มันนำมาซึ่งความมั่นคง มีเสถียรภาพใหม่ และคำตอบอันหนึ่งต่อคำถามหรือข้อสงสัยที่เป็นใจกลางของเรื่องหรือไม่

อันนี้มันมีผลสำคัญที่ตามมาหลายหลาก เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานการเล่าเรื่อง
ประการแรก, มันเสนอว่า ปัญหาและการแตกหักทั้งหมดจะมีทางออกหรือคำตอบอันหนึ่ง. อันนี้หมายความว่า การเล่าเรื่องในฐานะที่เป็นโครงสร้างที่เป็นทางการ มันมีโครงสร้างที่น่าอุ่นใจหรือมั่นใจและมีลักษณะปลอบโยน: แม้ว่าจะจบลงอย่างไม่มีความสุขก็ตาม อย่างน้อยที่สุดมันก็ถูกพบทางออกหรือการแก้ปัญหา

อันนี้ไม่เข้ากับประสบการณ์ของเราในชีวิตจริง: กล่าวคือ เราทั้งหลายต่างทราบว่าทางออกของปัญหาหนึ่ง บ่อยครั้งมันก่อให้เกิดปัญหาใหม่ต่างๆตามมา มันมีทางเลือกหลายทางหรือคำถามมากมาย และนั่นมันแทบจะไม่จบลงอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ต่อสถานการณ์หรือการแตกหักอันนั้น. การเล่าเรื่องได้ทำหน้าที่เสนอกรอบซึ่งน่าอุ่นใจหรือวางใจได้อันหนึ่ง ต่อวิธีการที่เรามองและเสนอโครงสร้างแก่ชีวิต

ประการที่สอง, เพราะว่ามันมีการการปิดเรื่อง ดังนั้น ผู้ชมทั้งหลายจึงถูกเชื้อเชิญให้ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการมีปฏิกริยาทางอารมณ์เท่านั้น การปิดเรื่องเสนอว่าได้มาถึงจุดสุดท้ายแล้ว ซึ่งผู้ชมทั้งหลายไม่ได้รับการเชิญชวนให้กระทำการใดๆ หรือต้องทำบางสิ่งบางอย่างในเชิงโต้ตอบ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ท้าทายก็ตาม

ประการที่สาม, วิธีการที่เรื่องราวต่างๆถูกบอกเล่า มันได้นำเสนอสิ่งซึ่งไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้อันหนึ่งเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ออกมา - ไม่มีทางออกที่เป็นอื่นไปได้. มันเป็นไปได้ที่จะเสนอการเล่าเรื่องต่างๆที่แนะถึงลำดับการณ์อันหนึ่งของทางออกที่แตกต่าง ดังเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Run Lola Run, Bill and Ted's Excellenct Adventure ซึ่งได้นำเสนอตัวอย่างที่ดูขบขันต่างๆเกี่ยวกับทางออกที่หลายหลากเหล่านี้ โดยตอนจบ มันมีความเป็นไปได้ต่างๆถึงสามทางด้วยกัน

ขณะที่การเล่าเรื่องต่างๆ ในภาพยนตร์และโทรทัศน์ น้อยมากที่จะมีการเล่าเรื่องซึ่งแตกกิ่งก้านออกไปได้ การเล่าเรื่องในแบบที่มีทางเป็นไปได้อื่นๆจะวางโครงในลักษณะเชื้อเชิญให้ผู้ชมมีปฏิกริยาและมีส่วนร่วม โดยการให้ทางเลือกต่างๆในท่ามกลางช่องทางทั้งหลาย, ฉากที่เปลี่ยนไป, และลักษณะต่างๆของตัวละคร ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีมากขึ้นในเกมส์คอมพิวเตอร์ต่างๆ, โทรทัศน์แบบอินเตอร์แอ็คทีฟ, และการแปรผันอื่นๆของการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์

ข้อทดสอบในเชิงถาม-ตอบ
โดยสาระแล้ว การเล่าเรื่องต่างๆได้รับการขับเคลื่อนโดยคำถามและคำตอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เสมือนขอเกี่ยวคนฟังให้ติดตามการเล่าเรื่องไป - มันทำให้เราต้องการรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป. การเล่าเรื่องทุกอย่างจะก่อให้เกิดปริศนาที่สำคัญหรือคำถามต่างๆ

มันมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมา ข้อหรือสองข้อ และคำถามย่อยๆจำนวนมาก และแต่ละคำถามจะได้รับคำตอบในบางระดับ อันนี้คือสิ่งที่ Roland Bathes เรียกว่า "hermaneutic code" (หลักการสืบสวน-ตีความ) เพราะศัพท์คำว่า hermaneutic เป็นการอ้างถึงการสืบสวนและการตีความ(Bathes 1974)

สถาบันภาพยนตร์ของอังกฤษ(The British Film Institute)ได้อธิบายถึงวิธีการที่คนดูได้ถูกนำเข้าไปพัวพันกับการดำเนินเรื่องในภาพยนตร์ดังต่อไปนี้:

ก. ผู้ชมได้ถูกกระตุ้นให้ตั้งคำถาม - ยกตัวอย่างเช่น "ใครคือคนแปลกหน้าที่ลึกลับนี้?" "พวกเขาทั้งสองจะตกหลุมรักกันไหม?"
ข. เขา / เธอ จดจ้องและเฝ้าคอยเกี่ยวกับการได้รับคำตอบอันหนึ่งในท้ายที่สุด
ค. ในระหว่างนั้น ภาพยนตร์ได้ทิ้งร่องรอยที่ผิดพลาดชุดหนึ่งลงในหนทางของผู้ชม, เช่น ทางตันและการถ่วงเวลาต่างๆ, มันเป็นการกันเราออกไปจากคำตอบที่ยังมาไม่ถึง
ง. ภาพยนตร์จะนำเสนอคำถามย่อยๆ ซึ่งจะได้รับคำตอบที่เร็วกว่า
จ. ภาพยนตร์ยังทิ้งร่องรอยบางอย่างไปทั่ว คล้ายดั่งจะบอกใบ้ และยั่วเย้าในลักษณะที่จะเปิดเผยเกี่ยวกับคำถามข้อใหญ่ที่มีมาแต่เดิม สิ่งเหล่านี้ได้ล่อลวงผู้ชมให้ติดตามเรื่องราวต่อไป
ฉ. การคาดเดาต่างๆของผู้ชมเป็นครั้งคราว คำตอบต่อคำถามต่างๆ และถัดจากนั้นก็ปรับเปลี่ยนการคาดเดาต่างๆเหล่านี้ใหม่ไปตามพยานหลักฐานใหม่ที่ผุดขึ้นมา และคาดเดากันอีกจนกระทั่ง บรรดาผู้ชมทั้งหลายได้มาถึงข้อสรุปด้วยการเริ่มรู้สึกประหลาดใจ หรือพึงพอใจต่อความคาดหวังต่างๆที่บรรลุถึง
(British Film Institute, Notes on Narrative)

[ลองจดบันทึกลงไปว่า วิธีการที่ภาพยนตร์บางเรื่องที่เราชมนั้น ได้แสดงให้เห็นแบบแผนการอธิบายของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษอันนี้]

แบบฝึกหัดแสดงความคิดเห็น
ดังที่ได้สนทนากันมาก่อนหน้านี้ ซึ่งนำมาสู่คำถามใหญ่ที่ชัดเจนซึ่งขับดันการเล่าเรื่องคือ "Thelma และ Louise จะรอดจากการจับกุมหรือรอดตายไหม? เคียงข้างกับคำถามที่เป็นข้อใหญ่ใจความดังกล่าว ยังมีคำถามย่อยๆอื่นๆอีกมากมาย เช่นว่า ตำรวจซึ่งแสดงโดย Harvey Keitel เป็นคนดีใช่หรือไม่? Thelma และ JD จะร่วมมือกันไหม? มีอะไรเกิดขึ้นกับอดีตของ Louise? พวกเธอได้เงินมาเยอะแยะได้อย่างไร? - และอื่นๆ

ลองหมายเหตุลงไปด้วยว่า บ่อยมากแค่ไหนที่การเล่าเรื่องมันทำงานโดยคำถามเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกกระวนกระวายใจหรือกระหายใคร่รู้ ยกตัวอย่างเช่น Thelma จะถูกข่มขืนไหม? - อันนี้เราได้คำตอบต่อมาอย่างรวดเร็ว - ในกรณีนี้ "ไม่" - แต่ในเวลาเดียวกัน ได้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ขึ้นมาอีก (ยกตัวอย่างเช่น จะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป หลังจากที่ Louise ได้ยิงคนที่จะมาข่มขืนแล้ว?)

กระบวนการที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องของคำถามและคำตอบ มันปล่อยให้เรารู้สึกพึงพอใจและต้องการมากยิ่งขึ้น เรากลายเป็นผู้ชมที่ถูกทำให้เข้าไปเกี่ยวพันกับกับเรื่องราวทางอารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ และสติปัญญา ซึ่งผูกพันกับโลกของเรื่องราวมากกว่าที่จะถูกทำให้ห่างจากมันอย่างที่เราเป็น แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เราดูภาพยนตร์ของพวกแนวหน้า(avant garde film) ซึ่งภาพยนตร์เหล่านั้น จะกระตุ้นสนับสนุนเราให้ตั้งคำถามกับสถาบันทางด้านภาพยนตร์ และกับเรื่องราวดั่งความฝันที่มันนำเสนอ

ในที่นี้ เราสามารถเห็นได้ว่า บรรดาผู้ชมภาพยนตร์ทั้งหลายต่างมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น ในกระบวนการเกี่ยวกับการสร้างความหมาย. จินตนาการต่างๆ, สติปัญญา, และความสามารถอื่นๆของเรากำลังได้รับการยืดขยายอย่างต่อเนื่อง สู่การค้นหาคำตอบต่อคำถามหลายหลากที่ก่อขึ้นมาบนเส้นทางของการเล่าเรื่อง และสัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่อง กับประสบการณ์ของตัวเราเองและความรู้เกี่ยวกับโลก

อย่างไรก็ตาม เราต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ด้วยที่ว่า บรรดาผู้รับสื่อต่างก็รับมันมาอย่างยอมจำนน ในขอบเขตที่ว่าเรามีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนที่จ่อมจมลงไปในโลกของการเล่าเรื่อง และไม่ได้รับการกระตุ้นให้ตั้งคำถามต่อคุณค่าต่างๆของทุนนิยม, บริโภคนิยม, ซึ่งอยู่ข้างใต้ข้อมูลหรือเนื้อหาของภาพยนตร์กระแสหลัก และเราไม่ค่อยที่จะคลางแคลงใจเกี่ยวกับเรื่องของความเป็นจริงที่พวกมันได้สร้างขึ้นมาเหล่านี้เลย

ตำแหน่งในเชิงโครงสร้างของตัวละครต่างๆ (The Structural position of characters)
ตัวละครทั้งหลายได้รับการวางตำแหน่งในการเล่าเรื่องอย่างไร และตำแหน่งอันนี้ได้ไปช่วยสนับสนุนความหมายอย่างไร? ข้างล่างต่อไปนี้ คือคำถามที่เป็นประโยชน์ในการตั้งขึ้นมาค้นหาการเล่าเรื่อง:

1. ใคร และ/หรือ อะไร ที่ทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นในการเล่าเรื่อง?
2. ผู้คนมีบทบาทในเชิงโครงสร้างอะไร ในการเล่าเรื่อง?
3. เรามองสิ่งต่างๆจากความคิดเห็นของใคร และเสียงของใครเป็นผู้ที่เล่าถึงการกระทำ หรือมีอิทธิพลเหนือการสนทนา?
4. อะไรคือวาทกรรมที่มีอิทธิพล หรือลำดับสูงต่ำของวาทกรรม?
5. ผู้หญิงได้ถูกวางตำหน่งอย่างแตกต่างไปจากผู้ชายในการเล่าเรื่อง ใช่หรือไม่?
6. ตอนจบของเรื่องได้บอกอะไรกับคุณเกี่ยวกับอุดมคติของภาพยนตร์เรื่องนั้น?

คำตอบต่อคำถามทั้งหมดนี้ จะนำผลที่ตามมาในกรณีต่างๆของความหมายของเนื้อเรื่อง

(สนใจรายละเอียดข้างต้น อ่านต่อตอนที่สอง คลิกที่นี่)

 
 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เดือนเมษายน พศ.๒๕๔๗
วิธีการศึกษาและวิเคราะห์การดำเนินเรื่องของภาพยนตร์ในบทความชิ้นนี้ วางอยู่บนพื้นฐานของลัทธิโครงสร้างนิยม

Harvey Keiter ได้แสดงบทบาทจำนวนมากเกี่ยวกับพวกแก๊งต่างๆ, อาชญากรที่ชั่วช้า, และข้าราชการทุจริตในภาพยนตร์หลายเรื่อง อย่างเช่น Mean Street และ Taxi Driver และภาพยนตร์ส่วนใหญ่ ซึ่งเขาได้ปรากฏตัวออกมาค่อนข้างเร้นลับ
ภาพพจน์ของดารานี้ได้มีอิทธิพลต่อการอ่านของเรา เกี่ยวกับตัวเขาในภาพยนตร์

ภาพประกอบดัดแปลง เกี่ยวกับ"การวิเคราะห์การเล่าเรื่องของภาพยนตร์"

ในการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ(media studies) ลัทธิโครงสร้างนิยมได้ถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ถึงการเล่าเรื่อง จุดมุ่งหมายกว้างๆของมัน ซึ่งต้องการที่จะลงไปลึกกว่าผิวหน้าของข้อมูลสื่อต่างๆนั่นเอง เพื่อดูว่าโครงสร้างของเรื่องเล่าได้ช่วยสนับสนุนความหมายอย่างไร

ดังเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Thelma and Louise สิ่งที่สำคัญสำหรับเราคือว่า โดยผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆ พวกเธอได้ค้นพบตัวเอง: พวกเธอเป็นอิสระจากบทบาทก่อนหน้านั้นของตัวเอง และได้พบพลังอำนาจของตน, ความเข้มแข็ง, และความรู้สึกต่างๆ. ในตอนท้าย ได้ไปจบลงตรงที่กระบวนการเกี่ยวกับความเจริญเติบโตของปัจเจกนี้ ซึ่งนั่นคือจุดโฟกัสของเรื่องราว - มากยิ่งไปกว่าความรู้สึกที่ถูกกดขี่ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ซึ่งได้ไปกระตุ้นสนับสนุนหรือถือหางเหตุการณ์ต่างๆชุดหนึ่งที่ได้ถูกสะกดรอยโดยภาพยนตร์เรื่องนี้

หัวข้อเกี่ยวเนื่อง
คลิกไปตอนที่ ๒