Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การเมืองภาคประชาชนในเวเนซุเอลา
การปฏิวัติโบลิวาร์ : การเมือง เศรษฐกิจ สังคมภาคพลเมือง

ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักวิชาการ และนักแปลอิสระ

บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการปฏิวัติโบลิวาร์ของประชาชนที่จัดตั้งขึ้นมา
เพื่อต่อสู้กับระบบการปกครอง ระบบราชการ และการครอบงำทางเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจเก่าในเวเนซุเอลา
เฉพาะในบทความนี้มีสาระสำคัญดังหัวข้อต่อไปนี้คือ

อำนาจของพลเมืองและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม, โครงการทางสังคมของการปฏิวัติโบลิวาร์,
สื่ออิสระ: ติดอาวุธให้การปฏิวัติโบลิวาร์, ผู้หญิงบนเส้นทางปฏิวัติโบลิวาร์,
ธนาคารเพื่อการพัฒนาของผู้หญิง
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 946
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11.5 หน้ากระดาษ A4)

 

การปฏิวัติโบลิวาร์ : การเมือง เศรษฐกิจ สังคมภาคพลเมือง
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักวิชาการอิสระ


อำนาจของพลเมืองและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
แนวคิดของการปฏิวัติโบลิวาร์คือการก้าวให้พ้นจากการเมืองแบบพรรคและระบบอุปถัมภ์ ดึงการตัดสินใจทางนโยบายลงมาให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ชุมชนต้องมีส่วนรับผิดชอบในการกำกับดูแล ควบคุมและบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ เพื่อกระจายอำนาจจากนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ให้มาอยู่ในความควบคุมของประชาชนมากที่สุด นี่คือการวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) เพื่อให้ค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทน ซึ่งแทบไม่มีความหมายของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเหลืออยู่เลย

แต่อุดมการณ์บนแผ่นกระดาษดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเอามาปฏิบัติ สังคมเก่ายังมีแรงเฉื่อยที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าในกลุ่มพลังเก่าที่เสียผลประโยชน์ หรือแม้แต่ในหมู่ประชาชนที่จะได้ประโยชน์เองก็ตาม วัฒนธรรมและความเคยชินเดิม ๆ ยังฝังรากลึกและถูกผลิตซ้ำด้วยกลไกลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่เสมอ อีกทั้งการจัดตั้งในภาคประชาชนก็ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ

รัฐบาลชาเวซพยายามตอบสนองและทำตามข้อเรียกร้องในการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะในการปกครองระดับท้องถิ่น ดังในกรณีของ สภาวางแผนสาธารณะท้องถิ่น (Local Public Planning Councils--CLPPs) ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 182 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ CLPPs เป็นองค์กรด้านนโยบายที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการ และลำดับความสำคัญของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้พลเมืองเป็นผู้วางแผนและพัฒนานโยบาย ส่วนนักการเมืองเป็นผู้นำไปปฏิบัติ ภาคส่วนต่าง ๆ ของประชาสังคม ไม่ว่ากลุ่มทางด้านการศึกษา สาธารณสุข ขนส่งและวัฒนธรรม ฯลฯ จะมีตัวแทนอยู่ใน CLPPs

CLPPs ประกอบด้วยสมาชิกเป็นทางการ 73 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 36 คน สมาชิกสภาเทศบาล 13 คน ประธานสภาประจำเขต 22 คน และนายกเทศมนตรีกับรองนายกเทศมนตรี แม้ว่านายกเทศมนตรีมีตำแหน่งเป็นประธาน แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ เขามีสถานะเป็นแค่สมาชิกคนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกอย่างไม่เป็นทางการอีก 37 คน 22 คนได้รับเลือกตั้งโดยตรงมาจากชุมชนต่าง ๆ อีก 15 คน ได้รับเลือกมาในฐานะตัวแทนด้านต่าง ๆ ของภาคประชาสังคม คือ สาธารณสุข, การศึกษา, กีฬา, วัฒนธรรม, นิเวศวิทยา, ความปลอดภัย, ธุรกิจในระบบและนอกระบบ, สตรี, ขนส่ง, คณะกรรมการที่ดิน, คนชราและคนพิการ ฯลฯ ภาคส่วนต่าง ๆ นี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละเขต การเลือกตั้งสมาชิกอย่างไม่เป็นทางการจะทำกันในสมัชชาชุมชน

CLPPs จะมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ ช่วยสร้างความโปร่งใสและป้องกันการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในเวเนซุเอลามาตลอด CLPPs ต้องจัดประชุมเดือนละครั้ง ต้องทำรายงานส่งให้นายกเทศมนตรีรับทราบ และยื่นข้อเสนอแนะในเรื่องงบประมาณและเรื่องอื่น ๆ

ในระบบการปกครองท้องถิ่นแบบเก่า อำนาจการตัดสินใจรวมศูนย์อยู่ในมือคนไม่กี่คน นายกเทศมนตรีและสภาเทศบาลสามารถผ่านงบประมาณโดย ไม่เคยต้องปรึกษาหารือกับประชาสังคมเลย แต่ในปัจจุบัน พลเมืองไม่เพียงมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณประจำปีเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในการกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณด้วย

วิธีนี้จึงสอดคล้องกับทัศนะของโจเซฟ สติกลิทซ์ (Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ. 2001) ที่เห็นว่า ความล้มเหลวของโครงการพัฒนาในโลกที่สามเกิดมาจากการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการ ทั้ง ๆ ที่ประชาชนน่าจะเป็นคนที่เข้าใจความเป็นจริงของตัวเองมากที่สุด จึงน่าจะมีจุดยืนที่ดีที่สุดในการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากร CLPPs ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกสิ้นหวัง ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่หมากเบี้ยบนกระดานของนักการเมือง ที่มีคุณค่าเฉพาะตอนเลือกตั้งเท่านั้น แต่มีอำนาจบางส่วนอยู่ในมือจริง ๆ

กระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินทางนโยบายและงบประมาณแบบ CLPPs น่าจะได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจาก การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของเมืองปอร์โตอาเลเกรในประเทศบราซิล แม้จะมีข้อดีมากมาย แต่มันก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก โดยสรุปได้ดังนี้คือ

1. คุณภาพและระดับของการมีส่วนร่วม พลเมืองบางคนก็ไม่สามารถเข้าร่วมประชุม ระดับของการมีส่วนร่วมก็แตกต่างกันไป และคุณภาพของการมีส่วนร่วมมักขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคล ในการทำความเข้าใจศัพท์แสงต่าง ๆ ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

2. ไม่มีการแบ่งเขตและเทศบาลใหม่ ทำให้การกระจายพื้นที่และประชากรไม่สม่ำเสมอ บางเขตมีประชากรมากเกินไป บางเขตมีน้อยเกินไป ทำให้การเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริงยังเป็นปัญหา

3. จากข้อ 2. ในเมื่อทุกเทศบาลได้รับงบประมาณเท่ากัน เขตที่มีประชากรน้อยกว่า ย่อมแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า และเขตที่มีประชากรน้อยมักเป็นเขตที่อยู่อาศัยของคนรวย กฎหมายของ CLPPs มีไว้สำหรับสังคมของคนมีการศึกษา มันไม่เหมาะกับชุมชนแออัดที่คนแทบอ่านเขียนไม่ได้ ไม่มีความรู้ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ว่างงาน กินไม่อิ่มและดิ้นรนเอาตัวรอดไปวัน ๆ มันใช้ได้ดีในชุมชนคนชั้นกลางมากกว่า

4. การขาดอำนาจบังคับใช้อย่างเต็มที่ เมื่อสภาเสนอร่างกฎหมายหรืองบประมาณไปแล้ว มันไม่มีอำนาจรับรองให้นำไปใช้ปฏิบัติ อำนาจนั้นยังอยู่ในมือราชการ ลงท้ายแล้ว ตัวแทนที่มาจากระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ก็ยังอยู่ในลำดับขั้นของอำนาจที่ต่ำกว่าตัวแทนที่มาจากระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนอยู่ดี บทบาทของสมัชชาชุมชนยังจำกัดอยู่แค่การให้คำปรึกษาเท่านั้น ส่วนการอนุมัติงบประมาณยังอยู่ในมือตัวแทนจากระบบผู้แทน

5. ปัญหาหลาย ๆ อย่างไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในชุมชน แต่เป็นปัญหาระดับมหภาคหรือระดับชาติ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจการปกครองท้องถิ่น และถึงแม้มีการประสานงานในการแก้ปัญหา การที่ชุมชนท้องถิ่นจะเข้าไปกำกับดูแลและตรวจสอบการคอร์รัปชั่นในระดับมหภาค ก็ยังทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย

ถึงแม้กระบวนการจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังสนับสนุนกระบวนการนี้อยู่ ดังที่โลเรนซา โรดริเกซ ประธานเขตซูเครในเมืองคารากัสกล่าวว่า "ประชาธิปไตยที่เรามีมาตลอด 40 ปีก่อนชาเวซขึ้นครองอำนาจ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง มันเป็นระบอบเผด็จการที่ปลอมตัวเป็นประชาธิปไตย มันเรียกตัวเองเป็นประชาธิปไตยโดยให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกแค่พรรคใดพรรคหนึ่งในสองพรรคที่มีอยู่..."

"ในฐานะชาวเวเนซุเอลาที่สนับสนุนกระบวนการนี้ นี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง" อาเรลิส กอนซาเลซ สมาชิกสภา CLPPs ในเขตซูเครกล่าว "เรารู้ว่าเราไม่มีทางบรรลุเป้าหมายในเวลาแค่วันสองวัน เราเสียเวลาไป 40 ปีในระบอบที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ความเปลี่ยนแปลงต้องเป็นกระบวนการ กระบวนการอันยาวนาน"

โครงการทางสังคมของการปฏิวัติโบลิวาร์
ดังที่ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซเคยกล่าวไว้ว่า นโยบายของรัฐบาลคือ "ขจัดความยากจนด้วยการให้อำนาจแก่คนจน" แต่ในช่วง 4 ปีแรกที่เขาครองตำแหน่งประธานาธิบดี (สองปีแรกก่อนใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และสองปีหลังจากได้รับเลือกตั้งครั้งที่สอง) เขายังไม่ได้ดำเนินโครงการทางสังคมตามที่สัญญาไว้มากนัก จนเกือบ ๆ จะถูกตราหน้าว่าเป็นแค่นักฉวยโอกาสทางการเมืองเหมือนอย่างที่ประธานาธิบดีลูลาแห่งบราซิลโดนกล่าวหาอยู่ในขณะนี้

ทว่าหลังจากการรัฐประหาร 2002 เมื่อประชาชนอุ้มเขากลับสู่เก้าอี้ประธานาธิบดี ชาเวซเร่งดำเนินโครงการทางสังคมอย่างจริงจังขึ้น และยิ่งเมื่อได้ชัยชนะในการเข้าควบคุมบริษัทน้ำมัน PDVSA มันเป็นเสมือนการปลดล็อคที่ทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินที่ได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันมาใช้ในโครงการทางสังคมอย่างเต็มที่

โครงการทางสังคมที่โดดเด่นของรัฐบาลชาเวซประกอบด้วย:
1. การปฏิรูปการศึกษา มี 2 โครงการคือ "Mision Robinson" โครงการด้านการศึกษาเพื่อให้ผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ "Mision Ribas" การสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนจบการศึกษาระดับไฮสกูล (โรบินสันและรีบาสเป็นชื่อของผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชของเวเนซุเอลาในศตวรรษที่ 19) รัฐบาลจัดสร้างโรงเรียนขึ้นใน 336 เทศบาลทั่วประเทศ ใช้อาสาสมัครเป็นครูโดยจ่ายเงินให้ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน ใช้สำนักงานเก่าของ PDVSA เป็นโรงเรียนในแต่ละเมือง ให้ทหารขับรถรับส่ง เปลี่ยนตารางเรียนของโรงเรียนประถมและไฮสกูลให้ดูแลเด็กได้ทั้งวัน มีอาหารเช้าและอาหารเที่ยง สร้างมหาวิทยาลัยซีโมน โบลิวาร์ โดยเน้นรับนักเรียนยากจน รวมทั้งให้ทุนนักเรียนยากจนจากชิลีด้วย

2. โครงการด้านสาธารณสุขที่เรียกว่า "Mision Barrio Adentro" (barrio Adentro แปลว่า การเข้าถึงชุมชน)
แก้ปัญหาการขาดสถานพยาบาลในชุมชนยากจน มีการสร้างสถานีอนามัยรองรับทุก 500 ครอบครัว ให้การรักษาพยาบาลและทำฟันฟรี เนื่องจากแพทย์ชาวเวเนซุเอลาตอบรับโครงการนี้น้อยมาก รัฐบาลจึงขอความร่วมมือจากคิวบาให้ส่งแพทย์ชาวคิวบามาประจำสถานพยาบาล โดยจ่ายค่าจ้างให้เดือนละ 250 ดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าที่แพทย์เวเนซุเอลาได้รับในโรงพยาบาลเอกชน และน้อยกว่าค่าจ้างที่รัฐบาลเสนอให้แพทย์เวเนซุเอลาเข้าร่วมในโครงการ แต่ก็สูงกว่าที่แพทย์ชาวคิวบาได้รับในประเทศของตนมาก

เวเนซุเอลาตอบแทนรัฐบาลคิวบาด้วยการขายน้ำมันให้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งนักศึกษาอีกหลายพันคนไปเรียนแพทย์ ทั้งในประเทศคิวบาและในประเทศเวเนซุเอลาเอง โครงการนี้ได้รับคำชมเชยอย่างมากจากองค์การอนามัยโลกที่ตั้งอยู่ในละตินอเมริกา และมีคณะผู้แทนจากประเทศซาอุดีอาระเบียเดินทางไปดูงานเพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศของตน

3. โครงการส่งเสริมการเกษตร "Mision Vuelvan Caras"
มีการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรรายย่อย มีการซื้อวัวจากอาร์เจนตินาและนำแม่วัว 10 ตัวกับพ่อวัว 1 ตัวไปให้สหกรณ์เกษตรแต่ละแห่งแทนเงินกู้ยืม ภายในสองปี สหกรณ์ต้องจ่ายหนี้คืนเป็นวัวจำนวนเท่ากัน โดยนำไปให้สหกรณ์ชาวนาอีกแห่งหนึ่ง รัฐบาลยังตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ด้วย

4. "Mision Mercal" ตลาดและร้านค้าของรัฐบาลที่นำสินค้าราคาถูกมาขาย เป็นการสร้างหลักประกันที่จะขายอาหารราคาถูกแก่ประชาชนที่มีความยากลำบากทางการเงิน

5. "Mision Identidad" จัดทำบัตรประชาชนให้แก่คนที่อาศัยอยู่ในเวเนซุเอลามากว่า 20-30 ปี แต่เกิดในประเทศอื่น ทำให้ไม่มีบัตรประชาชนและไม่มีสิทธิพลเมือง รวมทั้งสิทธิในการเลือกตั้ง ประชาชนตกค้างเหล่านี้มีจำนวนมาก โครงการนี้จะเปลี่ยนโครงสร้างคะแนนเสียงในเวเนซุเอลา และย่อมกลายเป็นฐานเสียงให้ฝ่ายชาเวซต่อไปในอนาคต

6. รัฐบาลตั้งธนาคารใหม่อีก 2 ธนาคาร คือ ธนาคารของผู้หญิงและธนาคารเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้สินเชื่อรายย่อยและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่กิจการขนาดเล็ก

7. โครงการสร้างงาน แทนที่จะนำเข้าสินค้าทุกอย่าง
รัฐบาลต้องการสร้างภาคการผลิตที่แท้จริงขึ้นมาในเวเนซุเอลา เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น ให้สินเชื่อแก่สหกรณ์เล็ก ๆ เพื่อซื้อรถบรรทุกขนน้ำมันในพื้นที่ของตัวเอง แทนที่จะให้สัญญาจัดจ้างแก่บริษัทเอกชนใหญ่ ๆ เพียงรายเดียวเหมาทั่วประเทศ หรือจ้างชุมชนทำความสะอาดถอนหญ้าใต้เสาไฟฟ้าในเมือง แทนที่จะให้บริษัทใหญ่ ๆ เหมาทำ รัฐบาลยังมีแผนจะก่อตั้งสหกรณ์อีก 50,000 แห่งเพื่อสร้างงานด้วย

สื่ออิสระ: ติดอาวุธให้การปฏิวัติโบลิวาร์

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่ในเวเนซุเอลา ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และวิทยุ อยู่ในมือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชาเวซ โดยเฉพาะกุสตาโว ซิสเนโรส ที่เปรียบเสมือนรูเพิร์ท เมอร์ดอคแห่งละตินอเมริกา ในสมัยก่อนรัฐบาลชาเวซ เวเนซุเอลามีสถานีโทรทัศน์แค่ 4 ช่อง หนังสือพิมพ์ระดับชาติ 10 ฉบับ

สื่อมวลชนเหล่านี้เกือบทั้งหมดมีส่วนพัวพันโดยตรงกับการรัฐประหาร 2002 ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ไม่ยอมรายงานข่าวการเดินขบวนสนับสนุนชาเวซระหว่างการรัฐประหาร และถึงขนาดตัดต่อภาพเพื่อใส่ร้ายว่า ผู้สนับสนุนชาเวซเป็นตัวการก่อความรุนแรง ความทุ่มเทของสื่อมวลชนที่จะโค่นล้มชาเวซทำให้ในระหว่างช่วงหยุดกิจการ PDVSA สถานีโทรทัศน์ยอมไม่ออกอากาศโฆษณาสินค้าแม้แต่ชิ้นเดียว แต่ออกอากาศโฆษณาต่อต้านชาเวซถึง 12 ครั้งต่อชั่วโมง

การสร้างสื่อมวลชนท้องถิ่นขึ้นมาจึงเป็นข้อต่อที่สำคัญยิ่ง ทั้งในแง่การสร้างความมั่นคงให้รัฐบาลและการให้การศึกษาแก่ประชาชน รัฐบาลมอบหมายให้ชุมชนที่มีการจัดตั้งทั่วทั้งเวเนซุเอลามีสิทธิได้รับใบอนุญาตเผยแพร่สัญญาณวิทยุโทรทัศน์ชุมชน ปัจจุบัน มีอย่างน้อย 9 สถานีโทรทัศน์ และ 38 สถานีวิทยุ ที่เดิมเคยออกอากาศแบบลักลอบ ตอนนี้ได้กระจายสัญญาณอย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งมีสถานีวิทยุโทรทัศน์อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้มาขออนุญาต นอกจากนี้ ยังมีหนังสือพิมพ์ชุมชนอีกเกือบ 500 ฉบับและเว็บไซท์อีกนับไม่ถ้วน ทั้งหมดนี้ดำเนินงานโดยนักจัดรายการและนักข่าว "สมัครเล่น" ระดับรากหญ้า แต่เจาะข่าวได้ลึกยิ่งกว่าสื่อมวลชนธุรกิจ

ในชุมชนคาเทีย สลัมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองคารากัสและในละตินอเมริกา วิทยุชุมชนแห่งหนึ่งในชื่อ Radio Rebelde (หรือวิทยุขบถ) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2002 สถานที่ตั้งในปัจจุบันอยู่ในตึกที่เป็นศูนย์ชุมชน ประกอบไปด้วยโรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงอาหาร และที่พักพิงชั่วคราว สำหรับคนหลายร้อยครอบครัวที่ไร้บ้าน จากเหตุดินถล่มที่เกิดขึ้นแทบไม่เว้นในแต่ละปี

เฮซุส อาร์เทอากา เป็นผู้ประสานงานทั่วไปของสถานีวิทยุแห่งนี้โดยไม่ได้รับเงินเดือน เขามีรายได้เลี้ยงชีพจากการทำงานเป็นพ่อครัวให้โรงอาหารชุมชน ที่แจกอาหารฟรีแก่เด็ก คนแก่และผู้หญิงท้องยากไร้อย่างน้อยวันละ 1 มื้อ

"ตอนที่สถานีวิทยุ Radio Rebelde เริ่มก่อตั้ง" อาร์เทอากา เล่า "มีการประชุมในหมู่สมาชิกชุมชนเพื่อหาแนวทางให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เดี๋ยวนี้เรามีรายการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, สุขภาพอนามัยและธรรมชาติบำบัด นักจัดรายการบางคนทำละครสั้นทางวิทยุ เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสังคม ปัญหายาเสพติดและความรุนแรง มีนักข่าวคอยรายงานข่าวท้องถิ่น และมีรายการเกี่ยวกับความคิดเห็นทางการเมือง สิ่งแวดล้อม การดูแลเด็ก ศาสนา การทำอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย เรามีรายการเพลงทุกประเภทออกอากาศด้วย ไม่ว่าจะเป็นแร็พ, ดนตรีเวเนซุเอลา, ดนตรีโฟล์คของสหรัฐฯ, ซาลซา, เรกเก้, แทงโก้ ฯลฯ"

"การทำสถานีวิทยุไม่ใช่เป้าหมาย มันเป็นวิธีการในการสร้างชุมชน วิธีการหนึ่งในการสร้างเครือข่ายทางสังคม" เขากล่าวต่อ "ชาวบ้านในชุมชนมักแวะมาดื่มกาแฟ พูดคุยกัน มันเป็นกลุ่มทางสังคม ทุกคนสามารถเดินเข้ามาและขอทำรายการ เพียงแต่ต้องมาฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดรายการวิทยุก่อน แล้วก็เขียนเค้าโครงเกี่ยวกับรายการมาให้ดูเท่านั้นเอง เรามีรายการเยอะแยะเลย"

สถานีวิทยุแห่งนี้จัดตั้งในแนวระนาบในหมู่สมาชิกเช่นเดียวกับระบบสหกรณ์ ดังที่อาร์เทอากาอธิบายว่า "เมื่อต้องมีการตัดสินใจใหญ่ ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานี จะมีการจัดประชุมที่ผู้ผลิตรายการทั้งหมดมาเข้าร่วมและทุกคนมีเสียงเท่ากันหมด เราต้องการให้การตัดสินใจทุกครั้งเป็นการลงมติเอกฉันท์ ถ้าเราลงคะแนนเสียง นั่นเป็นเพราะเราไม่สามารถตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้แล้ว"

เช่นเดียวกับสถานีวิทยุชุมชนอื่น ๆ อีกกว่า 10 แห่งในเมืองคารากัส สถานีวิทยุ Radio Rebelde ได้รับเงินอุดหนุนราว 25% หรือน้อยกว่านั้นจากรัฐบาล เงินทุนส่วนที่เหลือมาจากการโฆษณาและแหล่งทุนอื่น ๆ "เราเชื่อว่าความเป็นอิสระทางการเงินจะทำให้เรามีเสรีภาพที่ไม่ผูกติดกับสถาบันต่าง ๆ อย่างเช่น รัฐบาล และเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราไม่จำเป็นต้องคอยตอบคำถามใคร" อาร์เทอากายืนยัน

เมื่อพูดถึงการผูกขาดของสื่อมวลชนกระแสหลักในเวเนซุเอลา อาร์เทอากากล่าวว่า "สื่อกระแสหลักพวกนั้น-ไม่ใช่ช่องทางในการสื่อสาร แต่เป็นธุรกิจการสื่อสารต่างหาก นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาการบิดเบือน ข้อมูลที่สื่อพวกนั้นเผยแพร่ไม่มีความจริงอยู่เลย มันถูกเสกสรรปั้นแต่งให้รับใช้ทัศนคติทางการเมืองและเศรษฐกิจของพวกเขา... ธุรกิจการสื่อสารต้องการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมา มันต้องการล้างความทรงจำทิ้งไป พวกเขาต้องการให้เรากลายเป็นผู้บริโภคยุคโลกาภิวัตน์ พวกเขาต้องการให้เรารู้จักบริทนีย์ สเปียรส์ แต่ไม่รู้ว่าเพื่อนบ้านของเราเองเป็นนักร้อง ไม่รู้จักคุณค่าและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราต้องการให้ประชาชนรู้จักวัฒนธรรมโลก แต่ในขณะเดียวกันก็รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง ความเป็นไทของตัวเองด้วย"

ฝ่ายตรงข้ามชาเวซ ทั้งในเวเนซุเอลาและในสหรัฐอเมริกา มักเปรียบเทียบชาเวซกับฟิเดล คาสโตร โดยเฉพาะประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อาร์เทอากาเคยไปเที่ยวคิวบามาแล้ว เขายืนยันว่า สถานี Radio Rebelde และวิทยุชุมชนอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามรัฐบาลหรือผ่อนปรนการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อจะได้กระจายเสียงหรือได้รับเงินอุดหนุนก้อนเล็ก ๆ จากรัฐบาลชาเวซ

"นี่คือการปฏิวัติของเวเนซุเอลา ไม่ใช่การปฏิวัติของคิวบา เราต้องการเลียนแบบสิ่งที่ดีจากคิวบา ไม่ใช่สิ่งที่แย่ การปฏิวัติของเราอาจลอกเลียนสูตรสำเร็จและประสบการณ์ต่าง ๆ มาบ้าง แต่มันก็สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วย อย่างที่ชาเวซพูด นี่คือสังคมนิยมแบบใหม่ สังคมนิยมที่ไปกันได้กับทุนนิยม เราไม่ต้องการเหมือนจีน, คิวบาหรือรัสเซีย เราคือชาวเวเนซุเอลา....ชาเวซชนะการลงคะแนนเสียงมาแล้ว 8 ครั้ง และเปอร์เซ็นต์ของคนที่ออกมาลงคะแนนเสียงในเวเนซุเอลาก็สูงกว่าในสหรัฐอเมริกามาก-ประเทศไหนกันแน่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า?"

เวเนซุเอลาไม่ได้มีแต่นางงาม: ผู้หญิงบนเส้นทางปฏิวัติโบลิวาร์
สหภาพแม่บ้านแห่งชาติ
ดังที่ปรามุดยา อนันตา ตูร์ นักเขียนชาวอินโดนีเซียกล่าวไว้ ในระหว่างการกดขี่ ผู้หญิงคือคนที่ต้องทุกข์ทรมานมากที่สุด และในการต่อสู้ ผู้หญิงคือคนที่ต่อสู้อย่างเข้มข้นที่สุด ในการปฏิวัติโบลิวาร์ก็เช่นกัน ผู้หญิงมีบทบาทในองค์กรชุมชนและเป็นคนปลุกระดมชุมชนให้ออกมาลงคะแนนเสียงสนับสนุนชาเวซ

ฮูโก ชาเวซไม่ลืมฐานเสียงที่สำคัญส่วนนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีระบุชัดเจนถึงการให้หลักประกันสุขภาพและสวัสดิการแก่แม่บ้าน สิทธิในการมีบ้านที่สมควรแก่การอยู่อาศัยและสิทธิในการศึกษา หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศอื่น ๆ ในโลก รัฐธรรมนูญฉบับโบลิวาร์มีความก้าวหน้าในแง่ของการให้ความคุ้มครองต่อ "แม่บ้าน" ซึ่งเป็นสถานภาพที่มักถูกมองข้ามและเพิกเฉยเสมอมา

แต่สิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีความหมาย หากไม่มีกลุ่มพลังมาคอยผลักดันให้ปฏิบัติตาม กลุ่มผู้หญิงชาวเวเนซุเอลาจึงร่วมกันจัดตั้งเป็น สหภาพแม่บ้านแห่งชาติ (National Housewives' Union) สหภาพแม่บ้านแห่งชาติเริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 2003 และมีสมาชิกผู้หญิงหลายพันคนจากทั่วทั้งประเทศ สมาชิกส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ และ 30% ของสมาชิกทั้งหมดเป็นแม่ม่ายหรือสาวโสด การเป็นสมาชิกสหภาพไม่มีค่าธรรมเนียม สมาชิกจะได้รับบัตรประจำตัวและรัฐธรรมนูญฉบับโบลิวาร์หนึ่งเล่ม

การทำงานของสหภาพเน้นไปที่การช่วยเหลือเพื่อให้ผู้หญิงพึ่งตัวเองได้ ให้คำแนะนำเรื่องแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ให้คำปรึกษาในด้านกฎหมาย แจ้งข่าวสารเกี่ยวกับการศึกษา การรักษาพยาบาลและโครงการอุดหนุนด้านอาหารที่รัฐบาลจัดหาแบบให้เปล่า รวมทั้งเจรจากับรัฐบาลเพื่อขอเงินบำนาญแก่แม่บ้านที่อายุเกินห้าสิบปี สาขาของสหภาพในแต่ละรัฐมักทำงานร่วมกับวิทยุชุมชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสารและให้ความรู้ มีการจัดประชุมสหภาพเดือนละ 2 ครั้งในช่วงบ่าย เพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นสมาชิกจัดเตรียมอาหารให้คนในครอบครัวเสร็จเรียบร้อยก่อน

นอกจากนี้ สหภาพยังส่งเสริมและอบรมให้ผู้หญิงจับกลุ่มกันจัดตั้งสหกรณ์เพื่อทำธุรกิจขนาดเล็ก โดยใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น ใช้กล้วยที่มีอยู่ในละแวกบ้านมาทำขนม และใช้บริการขนส่งของท้องถิ่นในการทำธุรกิจ เพื่อสร้างงานให้มากขึ้น มีสหกรณ์จำนวนมากที่เกิดมาจากการสนับสนุนของสหภาพ มีทั้งสหกรณ์การทำอาหารและขายอาหาร ไปจนถึงการทอผ้าและตัดเย็บ นอกจากนี้ สหภาพยังให้ประกาศนียบัตรแก่ผู้หญิงที่มีความเชี่ยวชาญในงานบ้านประเภทต่าง ๆ เช่น การอบขนมปัง, การปะชุนเสื้อผ้า, การทำอาหาร, การตัดผม, การทำขนม ฯลฯ

"ผู้หญิงจำนวนมากอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา" ลิซาร์เด ปราดา ผู้ประสานงานของสหภาพแม่บ้านประจำรัฐเมริดากล่าว "ในบ้าน ผู้หญิงต้องเป็นทั้งแม่ครัว, นักตกแต่งบ้าน, ครู, พี่เลี้ยงเด็กและหมอ เป็นทุกอย่างในตัวคน ๆ เดียว สหภาพของเราช่วยสร้างอำนาจให้แม่บ้าน แม่บ้านจำนวนมากต้องทนอุดอู้อยู่กับบ้าน ไม่มีเวลาอ่านเขียน ได้แต่ทำอาหารและทำความสะอาดบ้านตลอดเวลา ไม่รู้ข่าวสารภายนอก ตอนนี้พวกเธอลืมตาดูโลกภายนอกได้แล้ว"

ธนาคารเพื่อการพัฒนาของผู้หญิง (Banmujer)
ผู้หญิงหลายคนนั่งรอหน้าร้านทำผมของมาทิลเด คาลิกซ์เต ร้านของมาทิลเดมีลูกค้ามาเข้าคิวรอเสมอ เพราะเธอกับช่างทำผมอีก 3 คน คิดราคาย่อมเยา ร้านติดเครื่องปรับอากาศและออกแบบทรงผมได้ทันสมัยที่สุดในย่านนี้

ร้านทำผมใช้ห้องเล็ก ๆ ที่อยู่ติดข้างบ้านของมาทิลเด เธอบอกว่า การเปิดร้านเปลี่ยนชีวิตของเธอโดยสิ้นเชิง เธอเคยทำงานเป็นช่างทำผมลูกจ้างในร้านของคนอื่น ต้องทิ้งลูกสาวสามคนให้อยู่บ้านตามลำพัง และมีรายได้แค่ค่าทำผม 30% ต่อหัว จนต้องออกไปหารายได้พิเศษด้วยการทำความสะอาดโรงเรียน ตอนนี้เธอกับเพื่อน ๆ แบ่งรายได้เท่า ๆ กันและเธอมีรายได้มากกว่าเดิมถึง 10 เท่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นหมายถึงเธอสามารถส่งลูกสาวคนโตเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

จุดพลิกผันในชีวิตของมาทิลเดเกิดจากการได้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาของผู้หญิงแห่งเวเนซุเอลา (Banmujer) ซึ่งเป็นธนาคารของผู้หญิงที่รัฐเป็นเจ้าของเพียงแห่งเดียวในโลก และมีพนักงานทั้งหมดเป็นผู้หญิงด้วย ธนาคารแห่งนี้ให้สินเชื่อรายย่อยราว 1,000 ดอลลาร์ต่อคน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจแก่ผู้หญิง และส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง

แม้ว่าจะให้กู้ยืมเป็นรายบุคคล แต่ผู้หญิงที่ได้รับสินเชื่อต้องเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มที่ร่วมกันทำธุรกิจแบบสหกรณ์ ผู้หญิงที่ได้รับเงินกู้มีเวลา 4 ปี ในการจ่ายคืนด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อเดือน

แนวคิดที่จะก่อตั้งธนาคารไม่ได้เกิดขึ้นมาชั่วแล่นและไม่ใช่การริเริ่มของภาครัฐ มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน ในการประชุมกลุ่มสตรีนานาชาติ เพื่อหาหนทางต่อสู้ให้สถาบันการเงินที่ครอบงำด้วยผู้ชายปฏิบัติต่อผู้หญิงดีขึ้น นอรา คาสตาเนดา ประธานธนาคาร Banmujer คนปัจจุบันเข้าร่วมการประชุมครั้งนั้น มันเป็นแรงบันดาลใจให้เธอคิดจัดตั้งธนาคารนี้ขึ้นมา

แต่แนวคิดนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง จวบจนกระทั่งฮูโก ชาเวซชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1998 "ชาเวซมักกระตุ้นประชาชนว่า 'เอาทางออกมาเสนอผม อย่าเอามาแต่ปัญหา' ฉันก็เลยคิดว่า นี่เป็นโอกาสดี" นอราเล่า เธอทำงานร่วมกับกลุ่มผู้หญิงอีกหลายกลุ่ม จับมือกันยื่นหนังสือเรียกร้องต่อสมัชชาแห่งชาติทุกวัน ตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 1999

"เราเสนอให้ตั้งธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่ให้สินเชื่อรายย่อย เราเรียกมันว่า ธนาคารทางเลือก เพราะเราไม่เพียงเสนอเงินกู้ และคำปรึกษาแก่ผู้หญิงระหว่างก่อตั้งกิจการเท่านั้น แต่เรายังเสนอความช่วยเหลือและคำปรึกษาในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ปัญหาทางเพศและการคุมกำเนิด เป็นต้น เพราะนั่นเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนเช่นกัน" ชาเวซตอบรับข้อเสนอและแต่งตั้งนอราเป็นประธานธนาคาร

นอราเป็นหญิงชราร่างเล็กอายุ 62 ปี แม่ของเธอเป็นคนใช้ตามบ้านที่เก็บหอมรอมริบส่งเธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย พร้อมกับฝากคำพูดไว้ว่า "แม่ไม่มีเงินให้ลูก แต่มีมรดกให้ลูกอย่างเดียวคือการศึกษา" นอราทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งเวเนซุเอลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 เธอตั้งปณิธานที่จะช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่แม่เคยเกื้อกูลเธอ

"ทั่วทั้งโลก ผู้หญิงเป็นเจ้าของทรัพย์สินเพียง 1% และมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายถึง 30% การที่ผู้หญิงไม่ค่อยมีทรัพย์สิน ทำให้ไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันเงินกู้ เมื่อไม่มีสิทธิทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงก็ไม่มีสิทธิมนุษยชน หนทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้คือเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงเสียก่อน"

ธนาคารแห่งนี้มีสำนักงานอยู่ที่เดียวในเมืองคารากัส แต่ใช้วิธีจ้างเครือข่ายพนักงานส่งเสริมการขายสตรีออกไปเสนอสินเชื่อทั่วประเทศแบบเดียวกับพนักงานขายเครื่องสำอางเอวอน พนักงานบางคนดั้นด้นไปจนถึงพื้นที่ห่างไกลในลุ่มแม่น้ำอะเมซอน พนักงานเหล่านี้ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขอนามัยทางเพศและการคุมกำเนิด รวมทั้งคำแนะนำในด้านธุรกิจและกฎหมาย

นับตั้งแต่เปิดดำเนินการในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2001 ธนาคารเพื่อการพัฒนาของผู้หญิงให้สินเชื่อไปแล้ว 51,000 ราย มีกิจการตั้งแต่สหกรณ์ซักรีด ธุรกิจแฟชั่นดีไซน์ ไปจนถึงร้านตัดผมและโรงงานผลิตขนม ผู้ได้รับสินเชื่อราว 96% เป็นผู้หญิง ผู้ชายจะได้รับสินเชื่อต่อเมื่อเขาลงทุนร่วมกับผู้หญิงและผู้หญิงมีบทบาทในการบริหารกิจการ

ธนาคารจะส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ร่วมมือกับธุรกิจขนาดเล็กอื่น ๆ แทนที่จะแข่งขันกันเอง ถ้าคนกลุ่มหนึ่งได้เงินมาเลี้ยงไก่ อีกกลุ่มที่อยู่ในละแวกเดียวกันจะได้รับเงินกู้ให้มาทำโรงเชือดไก่ จากนั้นอาจมีกลุ่มที่สามได้รับเงินกู้สำหรับซื้อเนื้อไก่และนำไปขาย ทั้งหมดนี้มีจุดเน้นอยู่ที่การสร้างผลผลิตคุณภาพสูง เหมาะสมทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก

ในขณะที่มีลูกหนี้ผู้หญิงบางคนขอพักชำระหนี้ แต่ส่วนใหญ่สามารถพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้าและจ่ายคืนเงินกู้ทั้งหมดได้ ซึ่งทำให้พวกเธอมีโอกาสในการกู้เงินก้อนใหม่ที่มากกว่าเงินกู้ครั้งแรก 1.5 เท่า

มีตัวอย่างของกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยผู้หญิง 70 คนกับผู้ชาย 1 คน ตั้งศูนย์ท่องเที่ยวผจญภัยแบบอีโค-ทัวร์ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวยุโรป พวกเขาทำที่พักนักท่องเที่ยวซึ่งไม่มีประตูหน้าต่าง ชุมชนแห่งนี้รับประกันความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและข้าวของทั้งหมด

สมาชิกผู้ชายคนเดียวของกลุ่มเริ่มอิดเอื้อนไม่ยอมผ่อนชำระหนี้ ผู้หญิงอีก 70 คนโกรธมากและเรียกประชุมคนทั้งหมู่บ้าน เขาถูกอัปเปหิออกจากชุมชนโทษฐานเป็นลูกหนี้ที่ไม่ซื่อสัตย์ ลงท้ายชายคนนี้รีบจ่ายหนี้แต่โดยดี ทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวต่อไป

"เมื่อผู้หญิงได้เงินมา พวกเธอมักใช้เงินทั้งหมดไปกับครอบครัว ในขณะที่พอผู้ชายหาเงินมาได้ พวกเขาใช้จ่ายในครอบครัวเพียงส่วนเดียว ส่วนที่เหลือเก็บไว้ใช้เอง" นอรากล่าว "ผู้ชายพอใจเมื่อผู้หญิงมีรายได้ แต่พอผู้หญิงเริ่มมีรายได้มากกว่า พวกผู้ชายก็เริ่มรู้สึกสั่นคลอน เราเคยมีกรณีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เพราะผู้ชายต้องการยืนยันอำนาจเหนือกว่าของตัวเอง"

แม้ว่ายังมีผู้หญิงยากจนจำนวนน้อยที่มีโอกาสเข้าถึงธนาคารแห่งนี้ แต่นอรายังมองไปข้างหน้าในแง่ดี เธอทิ้งท้ายไว้ว่า "สินเชื่อรายย่อยคือการให้อำนาจแก่ผู้หญิง ระบบเศรษฐกิจต้องรับใช้มนุษย์ ไม่ใช่ให้มนุษย์รับใช้ระบบเศรษฐกิจ เรากำลังสร้างระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระบบเศรษฐกิจที่ใส่ใจต่อมนุษย์ ในเมื่อ 70% ของคนยากจนในโลกคือผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจึงต้องเริ่มต้นที่ผู้หญิง"

"ผู้หญิงจำนวนมากอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา" ลิซาร์เด ปราดา ผู้ประสานงานของสหภาพแม่บ้านประจำรัฐเมริดากล่าว
"ในบ้าน ผู้หญิงต้องเป็นทั้งแม่ครัว, นักตกแต่งบ้าน, ครู, พี่เลี้ยงเด็กและหมอ เป็นทุกอย่างในตัวคน ๆ เดียว
สหภาพของเราช่วยสร้างอำนาจให้แม่บ้าน แม่บ้านจำนวนมากต้องทนอุดอู้อยู่กับบ้าน
ไม่มีเวลาอ่านเขียน ได้แต่ทำอาหารและทำความสะอาดบ้านตลอดเวลา ไม่รู้ข่าวสารภายนอก
ตอนนี้พวกเธอลืมตาดูโลกภายนอกได้แล้ว"


สำหรับผู้สนใจ อ่านบทความเกี่ยวเนื่องข้างล่างดังนี้

- เวเนซุเอลา: เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์
- มหากาพย์การเมืองเวเนซุเอลา : ปริศนาของฮูโก ชาเวซ
- โค่นประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ : เพียงแค่คลื่นลมกระทบหินผา
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : องค์กรคู่ขนานและการปฏิรูปที่ดิน
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : การเมือง เศรษฐกิจ สังคมภาคพลเมือง
- การปฏิวัติโบลิวาร์ หรือเพียงแอปเปิ้ลเน่าที่ควรกำจัดทิ้ง





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



130649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภาคพลเมือง
บทความลำดับที่ ๙๔๖ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ

"ทั่วทั้งโลก ผู้หญิงเป็นเจ้าของทรัพย์สินเพียง 1% และมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายถึง 30% การที่ผู้หญิงไม่ค่อยมีทรัพย์สิน ทำให้ไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันเงินกู้ เมื่อไม่มีสิทธิทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงก็ไม่มีสิทธิมนุษยชน หนทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้คือเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงเสียก่อน"

แม้ว่ายังมีผู้หญิงยากจนจำนวนน้อยที่มีโอกาสเข้าถึงธนาคารแห่งนี้ แต่นอรายังมองไปข้างหน้าในแง่ดี เธอทิ้งท้ายไว้ว่า "สินเชื่อรายย่อยคือการให้อำนาจแก่ผู้หญิง ระบบเศรษฐกิจต้องรับใช้มนุษย์ ไม่ใช่ให้มนุษย์รับใช้ระบบเศรษฐกิจ เรากำลังสร้างระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระบบเศรษฐกิจที่ใส่ใจต่อมนุษย์ ในเมื่อ 70% ของคนยากจนในโลกคือผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจึงต้องเริ่มต้นที่ผู้หญิง"

เมื่อพูดถึงการผูกขาดของสื่อมวลชนกระแสหลักในเวเนซุเอลา อาร์เทอากากล่าวว่า "สื่อกระแสหลักพวกนั้น-ไม่ใช่ช่องทางในการสื่อสาร แต่เป็นธุรกิจการสื่อสารต่างหาก นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาการบิดเบือน ข้อมูลที่สื่อพวกนั้นเผยแพร่ไม่มีความจริงอยู่เลย มันถูกเสกสรรปั้นแต่งให้รับใช้ทัศนคติทางการเมืองและเศรษฐกิจของพวกเขา... ธุรกิจการสื่อสารต้องการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมา มันต้องการล้างความทรงจำทิ้งไป พวกเขาต้องการให้เรากลายเป็นผู้บริโภคยุคโลกาภิวัตน์ พวกเขาต้องการให้เรารู้จักบริทนีย์ สเปียรส์ แต่ไม่รู้ว่าเพื่อนบ้านของเราเองเป็นนักร้อง ไม่รู้จักคุณค่าและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราต้องการให้ประชาชนรู้จักวัฒนธรรมโลก แต่ในขณะเดียวกันก็รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง ความเป็นไทของตัวเองด้วย"

The Midnight University 2006