นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


The Midnight University



เมื่อรากหญ้าขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง
มหากาพย์การเมืองเวเนซุเอลา : ปริศนาของฮูโก ชาเวซ
ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักแปลและนักวิชาการอิสระ


บทความวิชาการนี้ได้รับมาจากผู้เรียบเรียง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ
ชีวประวัติของฮูโก ชาเวซ ซึ่งเติบโจมาจากครอบครัวรากหญ้า
ไม่เคยใฝ่ฝันจะเป็นประธานาธิบดี เพียงแต่อยากเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียง
แต่ชีวิตก็พลิกผันหลังจากร่ำเรียนอยู่ในโรงเรียนทหาร
และก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำสูงสุดของเวเนซุเอลา
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 924
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 16.5 หน้ากระดาษ A4)



มหากาพย์การเมืองร่วมสมัย กรณีเวเนซุเอลา : ปริศนาของฮูโก ชาเวซ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ
ละตินอเมริกาคือดินแดนของวรรณกรรมอัตถนิยมอัศจรรย์ (magical realism) นายทหารอย่างฮูโก ชาเวซที่กลายมาเป็นประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา และทำท่าว่าจะเป็นหัวขบวนนักรบอุดมการณ์ของฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ 21 ช่างดูเหมือนตัวละครที่ก้าวออกมาจากนิยายของการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ แล้วจะมีใครเล่าปูมหลังของชาเวซได้ดีไปกว่านักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียคนนี้อีก

มาร์เกซมีโอกาสสัมภาษณ์ฮูโก ชาเวซหลังจากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหมาด ๆ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ในปี ค.ศ. 2000 มาร์เกซพูดคุย --หรือฟังชาเวซคุย-- บนท้องฟ้า...กล่าวคือ บนเครื่องบินจากเมืองฮาวานาในคิวบามุ่งตรงไปเมืองหลวงคารากัส

ฮูโก ชาเวซเกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1954 ที่เมืองซาบาเนตา บารีนัส พ่อแม่ของเขาเป็นครูโรงเรียนประถมที่มีรายได้แทบชักหน้าไม่ถึงหลัง เขาต้องช่วยครอบครัวหารายได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ โดยเข็นรถขายขนมและผลไม้ ครอบครัวชาเวซเป็นคาทอลิคที่เคร่งครัด แม่ต้องการให้ฮูโกบวชเป็นพระ แต่เขาเป็นได้แค่เด็กหน้าแท่นที่เป็นผู้ช่วยบาทหลวงในการประกอบพิธีทางศาสนา เขาสั่นระฆังได้ไพเราะเพราะพริ้งจนเป็นที่เลื่องลือติดปากชาวเมืองว่า "นั่นเสียงระฆังของฮูโก"

ไม่ว่าฮูโก ชาเวซทำอะไรก็แทบไม่เคยล้มเหลว (ยกเว้นการรัฐประหารในปี 1992)

- พออายุ 12 เขาได้ที่ 1 ในการประกวดภาพวาดระดับภูมิภาค
- ในฐานะนักดนตรี ความเชี่ยวชาญในการเล่นกีตาร์กวาโตรและเสียงร้องเสนาะโสต ทำให้งานเลี้ยงวันเกิดและวงเซรีเนดเกี้ยวสาวขาดเขาไม่ได้ - ในฐานะนักกีฬาเบสบอล เขาเป็นมือรับลูกชั้นแนวหน้า

เขาอยากเป็นอะไรหลายอย่าง แต่ที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนคือเป็นทหาร จนกระทั่งมีคนบอกเขาว่า หนทางที่ดีที่สุดในการเข้าไปเล่นในเมเจอร์ลีกคือ เข้าวิทยาลัยทหารในบารีนัส

ระหว่างเรียนในวิทยาลัยทหารยุคปฏิรูปหลักสูตร เขาศึกษาวิชารัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์และลัทธิมาร์กซ์-เลนิน เขาชื่นชมยกย่องชีวิตและผลงานของซีโมน โบลิวาร์ ถึงขนาดจำคำประกาศเอกราชของโบลิวาร์ได้ขึ้นใจ แต่จุดหักเหในชีวิตของคน มักมาจากคำถามและข้อสงสัยในชีวิตจริง ไม่ใช่ทฤษฎีในหนังสือ

และคำถามครั้งแรกในชีวิตเขามาพร้อมกับความตายของประธานาธิบดีอัลเยนเดของชิลีในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1973 ชาเวซไม่เข้าใจ "ถ้าชาวชิลีเลือกตั้งอัลเยนเดขึ้นมา ทำไมกองทัพชิลีถึงรัฐประหารล้มล้างประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งล่ะ?" เรื่องน่าขันคือตอนที่เรียนจบ เขาเข้าพิธีรับดาบนายร้อยจากประธานาธิบดีคาร์โลส อันเดรส เปเรซ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนเดียวกับที่เขาพยายามทำรัฐประหารโค่นล้มในอีก 20 ปีให้หลัง

ครั้งหนึ่งเมื่อฮูโก ชาเวซเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อตามร่องรอยในอดีตของปู่ทวดที่เคยเป็นนักรบเลื่องชื่อในยุคก่อน วันหนึ่งเขาข้ามพรมแดนเข้าไปในเขตประเทศโคลอมเบียโดยไม่ทันรู้ตัว นายทหารชาวโคลอมเบียรื้อค้นเจอข้าวของในเป้หลังของชาเวซ ที่เป็นหลักฐานเพียงพอจะตั้งข้อหาสายลับ นั่นคือกล้องถ่ายรูป, เครื่องบันทึกเทป, เอกสารลับ, แผนที่ทหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นของที่เขายืมมาจากห้องสมุด เขาถูกสอบปากคำหลายชั่วโมงในห้องที่ไม่มีอะไรเลย นอกจากรูปซีโมน โบลิวาร์บนหลังม้า

"ผมเกือบจะยอมแพ้แล้ว" ชาเวซบอกมาร์เกซ "ยิ่งอธิบาย เขาก็ยิ่งไม่เข้าใจ" จนกระทั่งชาเวซพูดประโยคที่ช่วยชีวิตตัวเองไว้ "ผู้หมวดครับ ดูสิ ชีวิตมันช่างยอกย้อน แค่ไม่ถึงร้อยปีก่อน เราคงอยู่ในกองทัพเดียวกัน และผู้ชายคนที่กำลังมองดูเราจากรูปภาพคงเป็นแม่ทัพของเรา แล้วผมจะเป็นสายลับได้อย่างไร?"

ด้วยความรู้สึกพลุ่งพล่าน นายร้อยเอกชาวโคลอมเบียเริ่มพูดถึงความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ของสาธารณรัฐ Gran Colombia ลงท้ายทั้งสองจึงดื่มเบียร์ฉลองกัน พอเช้าวันรุ่งขึ้นที่ต่างยังเมาค้าง นายร้อยผู้นั้นจึงคืนข้าวของให้ชาเวซทั้งหมด และกอดลาเขาตรงกึ่งกลางสะพานที่เชื่อมระหว่างสองประเทศ

"ไม่นานต่อมา ผมก็เริ่มเข้าใจชัดเจนว่า มีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในเวเนซุเอลา" ชาเวซได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าหน่วยทหารจำนวน 13 คน มีหน้าที่ตามกวาดล้างกองทัพจรยุทธ์

คืนฝนตกหนักคืนหนึ่ง เขากับหน่วยลาดตระเวนไปพักแรมที่ค่ายของหน่วยข่าวกรอง ในค่ายควบคุมผู้ต้องหาที่เชื่อว่าเป็นนักรบจรยุทธ์สองสามคน หน้าตาซีดเซียว เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ราว 4 ทุ่ม ตอนที่ชาเวซกำลังจะเข้านอน เขาได้ยินเสียงโหยหวนจากห้องติดกัน

"พวกทหารกำลังตีนักโทษด้วยไม้เบสบอลหุ้มผ้าเช็ดตัวเพื่อไม่ให้ทิ้งรอยไว้" ชาเวซโกรธมาก เขายื่นคำขาดกับนายพันผู้คุมค่าย ห้ามไม่ให้มีการทรมานนักโทษอีก วันรุ่งขึ้น นายทหารคนนั้นขู่ว่าจะนำตัวเขาขึ้นศาลทหาร พออีกสองสามวันต่อมา เขาเห็นทหารหลายคนตายด้วยกระสุนจากการโจมตีของฝ่ายจรยุทธ์ มีคนหนึ่งตายในอ้อมแขนของเขา

คืนนั้น ชาเวซนอนถามตัวเองว่า "ทำไมฉันถึงมาอยู่ที่นี่? ฉันเจอชาวนาใส่ชุดทหารทรมานชาวนาที่เป็นฝ่ายจรยุทธ์ แล้วก็เจอชาวนาที่เป็นฝ่ายจรยุทธ์ฆ่าชาวนาใส่เครื่องแบบทหาร" วันรุ่งขึ้น เขาตื่นขึ้นพร้อมกับตกลงใจว่าจะก่อตั้งขบวนการลับ ตอนนั้นเขาอายุ 23 ปี

ล่วงเลยมาถึงปี ค.ศ. 1982 7 ปีก่อนเกิดคารากาโซ เหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้นกับชาเวซ จู่ ๆ เขาก็ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้กล่าวปราศรัยต่อหน้านายทหารและพลทหาร 1,200 นาย บ่ายโมงตรง ทั้งกองพันมาเข้าแถวพร้อมหน้าในสนามฟุตบอล "แล้วร่างคำปราศรัยล่ะ?" ผู้บังคับบัญชาถามเมื่อเห็นเขาเดินขึ้นแท่นมือเปล่า "ผมไม่ได้เขียนร่างไว้ครับ" ชาเวซตอบ เขาเริ่มปราศรัยสด สั้น ๆ กล่าวถึงการกดขี่และความอยุติธรรมในละตินอเมริกาตลอด 200 ปีนับแต่ได้เอกราช ในหมู่ผู้ฟังมีร้อยเอกเฟลีเป อันโตนิโอ อะโคสตา คาเลซ และอูร์ดาเนตา แอร์นันเดซ รวมอยู่ด้วย

พอเขากล่าวจบ ผู้บังคับบัญชาซึ่งไม่พอใจมาก เอ่ยด้วยน้ำเสียงตำหนิที่ต้องการให้ทุกคนได้ยินว่า "ชาเวซ แกพูดเหมือนนักการเมืองเลยนะ" เฟลีเป อะโคสตา ผู้มีร่างสูงกว่า 6 ฟุต ก้าวออกมายืนจังก้าต่อหน้าผู้บังคับบัญชาและกล่าวว่า "ท่านผิดแล้วครับ ชาเวซไม่ใช่นักการเมือง เขาเป็นกัปตันของนายทหารรุ่นใหม่ และพอท่านได้ยินสิ่งที่เขาพูดในคำปราศรัย ท่านก็กลัวจนฉี่ราด..."

หลังพิธี ชาเวซออกไปวิ่งกับร้อยเอกเฟลีเป อันโตนิโอ อะโคสตา คาเลซ และอูร์ดาเนตา แอร์นันเดซ ทั้งสามไปที่ซามาน เด เกรา และทำสัตย์สาบานต่อกันด้วยคำสาบานของซีโมน โบลิวาร์ เพียงแต่เปลี่ยนคำสาบานตอนท้ายจาก "เมื่อเราทำลายโซ่ตรวนของเจ้าอาณานิคมชาวสเปนที่กดขี่เรา" เป็น "จวบจนเราทำลายโซ่ตรวนของผู้มีอำนาจที่กดขี่เราและกดขี่ประชาชน" พวกเขาร่วมกันก่อตั้งขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ (Revolutionary Bolivarian Movement-200 [MBR-200]) เลข 200 นั้นหมายถึงวาระครบรอบ 200 ปีวันเกิดของซีโมน โบลิวาร์ นับแต่นั้นมา นายทหารทุกคนที่เข้าร่วมขบวนการลับจะต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณด้วยคำสาบานนี้

อีกครั้งที่จุดหักเหสำคัญมาโดยมิได้คาดหมาย นั่นคือ เหตุการณ์คารากาโซ ทหารจำนวนหนึ่งในขบวนการ MBR-200 เข้าไปช่วยจัดระเบียบให้ประชาชนในการปล้นร้านค้า หนึ่งในนั้นคือ เฟลีเป อันโตนิโอ อะโคสตา คาเลซ เขาถูกลอบสังหารระหว่างการปราบจลาจล เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของตำรวจลับตามคำสั่งของประธานาธิบดีเปเรซ

นับแต่นั้นมา ฮูโก ชาเวซก็เริ่มวางแผนรัฐประหาร สามปีหลังเหตุการณ์คารากาโซ ในวันเดือนเดียวกัน เขาลงมือและล้มเหลว ชาเวซยอมแพ้เพื่อไม่ให้มีการนองเลือด โดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องได้ปราศรัยยอมรับการพ่ายแพ้ต่อหน้าประชาชนทางโทรทัศน์ นายทหารหนุ่มผิวคล้ำ สวมหมวกเบเรต์ เจ้าคารมคมคาย ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความวุ่นวายทั้งหมด ตบท้ายด้วยประโยคอันมีชื่อเสียงที่บอกว่า เขายินยอมรับโทษทัณฑ์ทุกประการ "สำหรับในตอนนี้" แม้จะต้องเข้าคุก แต่ชาเวซกลายเป็นขวัญใจประชาชนไปในชั่วข้ามคืน ประชาชนตีความปริศนาในคำพูดของเขาว่า นี่คือเสียงเรียกร้องถึงการปฏิวัติในอนาคต

พร้อมกันนั้น ชาเวซก็ผูกปริศนาให้ตัวเองเช่นกัน เขาก้าวมาสู่ทางแพร่งของการเป็นรัฐบุรุษ หรือเป็นแค่นักฉวยโอกาสที่อาจถูกบันทึกลงประวัติศาสตร์ในฐานะทรราชย์อีกคนหนึ่ง

โชค เคราะห์ หนทางวิบากและการฝ่าฟัน
ชัยชนะของการรัฐประหารที่ล้มเหลว

ขบวนการ MBR-200 ของกลุ่มทหารหนุ่มเริ่มต้นเล็ก ๆ ก็จริง แต่มีแผนการในการจัดตั้งอย่างดี เป็นเวลาหลายปีที่พวกเขาทำงานเครือข่ายใต้ดินทั่วทุกส่วนในกองทัพ สร้างสัมพันธ์กับทหารที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นแนวร่วมได้ ระมัดระวังไม่เปิดเผยตัว ค่อย ๆ ชักจูงสมาชิกเข้ามาทีละน้อย ๆ สร้างฐานสมาชิกที่จงรักภักดีและมีวินัยขึ้นมา ชาเวซมีบทบาทสำคัญในพัฒนาการของขบวนการนี้ โดยเฉพาะการที่เขาไม่ยอมเลื่อนตำแหน่ง เพื่อทำงานเป็นครูผู้สอนอยู่ในวิทยาลัยกองทัพต่อไป เขาสร้างอิทธิพลและเผยแพร่แนวคิดของ MBR-200 ให้ทหารรุ่นใหม่ ๆ นายทหารจำนวนมากที่เป็นลูกศิษย์ของชาเวซนี่เอง ที่ต่อมามีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1992

ผลสะเทือนจากเหตุการณ์คารากาโซทำให้ทหารจำนวนมากหันมาตอบรับแนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมในสังคม กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ว่าสมาชิกทุกคนในกลุ่ม MBR-200 จะเห็นด้วยกับการพยายามทำรัฐประหาร แต่พวกเขาเห็นพ้องกับเป้าหมาย ดังที่พันเอกเฮซุส เดล วาเย โมราโอ คาร์โดนา (ปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการกองทหารองครักษ์ของประธานาธิบดี) กล่าวไว้ว่า เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่สถาปนาระบอบการปกครองแบบทหาร แต่มีเป้าหมายที่จะชิงอำนาจมาจากชนชั้นสูงและเปิดทางให้กระบวนการประชาธิปไตยที่วางอยู่บนแนวคิดของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

กลุ่ม MBR-200 วางแผนโดยทำข้อตกลงกับหัวขบวนฝ่ายซ้าย เพื่อให้การรัฐประหารเกิดขึ้นพร้อมกับการนัดหยุดงานทั่วไป แต่องค์กรฝ่ายซ้ายในเวเนซุเอลาไม่มีพลังมากพอ ทั้งนี้เพราะพวกเขาละเลยไม่เคยสนใจที่จะเข้าไปจัดตั้งในหมู่แรงงานนอกระบบ ซี่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเวเนซุเอลา ขณะที่แรงงานในระบบส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ CTV เมื่อขาดแรงสนับสนุนจากภาคประชาชน กลุ่ม MBR-200 จำใจเดินหน้าลงมือเพราะกลัวแผนการจะรั่วไหล การขาดสายสัมพันธ์และการอธิบายต่อประชาชนนี่เอง ทำให้ประธานาธิบดีเปเรซฉวยโอกาสออกทีวี และกล่าวโทษฝ่ายก่อการว่าสร้างความปั่นป่วนแก่ประเทศ

นายทหารและทหารชั้นผู้น้อยจำนวนมากที่เข้าร่วมการรัฐประหาร รวมทั้งแกนนำเกือบทั้งหมดต้องโทษจำขังและถูกกวาดล้าง (ชาเวซมีกำลังพลในการก่อรัฐประหารประมาณ 6,000 นาย) แต่แม้จะพ่ายแพ้ การรัฐประหารครั้งนี้ก็สร้างชื่อเสียง ความนิยมและความนับถือให้พวกเขาอย่างมาก โดยเฉพาะชาเวซกลายเป็นขวัญใจชาวเวเนซุเอลาไปในชั่วข้ามคืน ทั้งนี้เพราะ

ประการแรก ชาเวซยอมแพ้เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดและออกมายอมรับผิดอย่างกล้าหาญ นี่เป็นสิ่งที่ชาวเวเนซุเอลาไม่ค่อยได้เห็นผู้นำทหารหรือผู้นำทางการเมืองคนไหนทำแบบนี้มาก่อน

ประการที่สอง วัฒนธรรมชาวบ้านของเวเนซุเอลานิยมนักเล่าเรื่องเจ้าคารม ฮูโก ชาเวซไม่เป็นสองรองใครในเรื่องนี้ เขาสามารถพูดสดได้หลายชั่วโมงโดยไม่ต้องมีสคริปต์ มิหนำซ้ำยังสามารถพูดแบบชาวบ้านกับชาวบ้านและพูดแบบปัญญาชนกับปัญญาชนได้ คุณสมบัติข้อนี้จะกลายเป็นคุณประโยชน์ที่ไม่อาจมองข้ามต่อการครองอำนาจของเขา และ

ประการสุดท้าย ชาวเวเนซุเอลาไม่รังเกียจทหารและการรัฐประหาร ซีโมน โบลิวาร์ที่เป็นวีรบุรุษของชาติก็เป็นทหาร การเป็นทหารของชาเวซกลับทำให้ประชาชนเชื่อมโยงเขาเข้ากับการปลดแอกในยุคของโบลิวาร์

ระหว่างติดคุก ชาเวซและสมาชิกกลุ่ม MBR-200 ใช้เวลาศึกษาหาความรู้และคิดหาหนทางต่อไป พวกเขาวิเคราะห์ถึงข้อผิดพลาดของตัวเองและเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของขบวนการประชาชนนอกกองทัพ หลังจากติดคุกอยู่ 2 ปี พวกเขาก็ได้รับอภัยโทษ แกนนำของกลุ่มตัดสินใจเดินเข้าหาเส้นทางการเลือกตั้ง ชาเวซและแกนนำ MBR-200 เดินทางไปทั่วประเทศ พบปะกับชุมชนต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแกนนำชุมชน ในปี ค.ศ. 1997 พวกเขาก่อตั้งพรรคขบวนการเพื่อสาธารณรัฐที่ห้า (Movimiento para la Quinta Republica--MVR หรือ Movement for the Fifth Republic)

ชื่อพรรค "ขบวนการเพื่อสาธารณรัฐที่ห้า" เป็นการอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ในสมัยประกาศเอกราชของเวเนซุเอลา

- สาธารณรัฐที่หนึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อประกาศเอกราชจากสเปนในปี ค.ศ. 1811 ภายใต้การนำของนายพลมิรันดา
- แต่เมื่อนายพลมิรันดายอมแพ้ต่อสเปน นายพลโบลิวาร์จึงประกาศปลดแอกเวเนซุเอลาจากการเป็นอาณานิคมและก่อตั้งสาธารณรัฐที่สองขึ้นในปี ค.ศ. 1813 แต่สาธารณรัฐนี้มีอายุอยู่แค่ปีเดียว
- ในปี ค.ศ. 1819 ซีโมน โบลิวาร์ก่อตั้งสาธารณรัฐที่สามขึ้นอีกครั้ง
- และอีกสองปีต่อมาก็ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐ Gran Colombia แต่ความใฝ่ฝันของโบลิวาร์ต้องพังทลายลงในปี ค.ศ. 1830 เวเนซุเอลาแยกตัวออกมาตั้งเป็นสาธารณรัฐอิสระ

พรรคการเมืองของชาเวซใช้ชื่อสาธารณรัฐที่ห้า เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างจากสาธารณรัฐที่สี่ คือช่วงเวลานับแต่เวเนซุเอลาแยกตัวออกมา มันถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารและระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนที่ความมั่งคั่งอยู่ในมือคนส่วนน้อย การตั้งพรรค MVR เป็นการประกาศจุดยืนว่า จะนำพาเวเนซุเอลาข้ามพ้นระบบการเมืองแบบสองพรรคที่ฉ้อฉล

นโยบายหลักในการหาเสียงของพรรค MVR คือ การก่อตั้งสาธารณรัฐที่ห้าขึ้น โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามอุดมการณ์โบลิวาร์ นั่นคือ

- ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
- ความเป็นไททางเศรษฐกิจ และ
- การกระจายความมั่งคั่งที่เป็นธรรม

ฮูโก ชาเวซลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1998 นับตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ชาเวซได้ชิมลางรสชาติของสงครามสื่อมวลชนจากชนชั้นปกครองเดิม สงครามนี้จะดำเนินต่อมาอย่างไม่ลดละจนถึงปัจจุบัน สื่อมวลชนโจมตีเรื่องที่เขาเป็นผู้ก่อการรัฐประหาร เย้ยหยันเมื่อโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชนสำนักหนึ่งระบุว่า จะมีคนลงคะแนนเสียงให้เขาแค่ 8% แต่สุดท้ายเขาชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ด้วยคะแนนเสียงข้างมากถึง 56%

ความยากลำบากในชัยชนะ
เก้าอี้ประธานาธิบดีของฮูโก ชาเวซในตอนนั้น เป็นแค่หัวโขนที่ไม่แตกต่างจากประธานาธิบดีลูลาแห่งบราซิลในตอนนี้ เขาโดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเลยนอกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่ว่าสภาคองเกรส รัฐบาลระดับรัฐและท้องถิ่น ตำรวจและศาล ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจฝ่ายตรงข้ามทั้งสิ้น ชนชั้นปกครองเดิมไม่หวั่นไหวมากนักที่เขาชนะการเลือกตั้ง ละตินอเมริกาเป็นดินแดนที่ "หัวหอกการปฏิวัติ" (caudillo) คนแล้วคนเล่าก้าวขึ้นสู่อำนาจ และคนแล้วคนเล่าที่กลายเป็นหอกข้างแคร่คอยทิ่มตำประชาชน

ดีเสียอีก การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นขวัญใจประชาชนชั้นล่างก้าวขึ้นตำแหน่งประธานาธิบดี มันกลับช่วยบรรเทาความตึงเครียดระหว่างชนชั้นลงชั่วคราว นโยบายเสรีนิยมใหม่จะได้ดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุดชะงัก ด้วยความคิดเช่นนี้เอง สภาคองเกรสแห่งเวเนซุเอลาก็ยื่นงบประมาณแบบเสรีนิยมใหม่ใส่มือชาเวซ

สองปีแรกที่ชาเวซครองตำแหน่ง เขาทำอะไรไม่ได้มากนัก กลไกอำนาจรัฐไม่ได้อยู่ในมือของเขา ข้าราชการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ขบวนการมวลชนก็ยังไม่มีการจัดตั้งที่ดีและไม่มีแกนนำที่เข้มแข็งเพียงพอ ชาเวซจึงต้องหันไปหากลุ่มพลังทางสังคมร่วมอุดมการณ์ ที่จะขับเคลื่อนนโยบายให้รัฐบาลได้ นั่นคือ กองทัพ

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 ซึ่งตรงกับวันลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์คารากาโซ ชาเวซประเดิมแผนการโบลิวาร์ 2000 แผนการนี้ระดมกองทัพให้ออกมาช่วยดำเนินโครงการด้านสังคม เช่น สร้างบ้านให้คนจน แก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขและโภชนาการ รวมทั้งช่วยเหลือในโครงการทางสังคมขนาดใหญ่อื่น ๆ ในชั่วเวลาแค่ 2 ปี แผนการโบลิวาร์ 2000 สามารถสร้างบ้านได้มากกว่าที่เคยสร้างกันมาตลอด 20 ปีก่อนหน้านี้

วิธีการผลักดันโครงการทางสังคมโดยอ้อมผ่านระบบราชการ มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง มันเป็นวิธีการที่ได้ผลในสังคมเวเนซุเอลา ที่ชนชั้นกระฎุมพียังกุมกลไกรัฐทั้งหมดไว้ในมือ ชาเวซใช้วิธีการนี้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน จนทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นสังคมคู่ขนาน นั่นคือ อะไรก็ตามที่กลไกอำนาจเดิมขัดขืนไม่ยอมทำตามนโยบายการปฏิวัติโบลิวาร์ ชาเวซและกลุ่มของเขาก็จะสร้างกลไกปฏิบัติการขึ้นมาใหม่ โดยอ้อมผ่านกลไกเดิมไปเสียเลย

วิธีการนี้ใช้ได้ผลในเวเนซุเอลา ก็เพราะบริบททางประวัติศาสตร์จำเพาะที่ทำให้ชาเวซสามารถมีอิทธิพลเหนือทหารบางส่วนในกองทัพ จนสามารถนำองค์กรจัดตั้งที่มีอยู่แล้วนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ (และอย่าลืมว่ากองทัพเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งอย่างดีเยี่ยมด้วย!) ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ลูลาไม่มีอยู่ในมือ

ข้อดีประการที่สองคือ แผนการโบลิวาร์ 2000 ช่วยเพิ่มสมานฉันท์ระหว่างชนชั้นแรงงานนอกระบบกับทหารในกองทัพ ชาเวซพยายามผนึกกลุ่มพลังทางสังคมสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกันให้แนบแน่น จนถึงขนาดมีความคิดที่จะทำให้ทั้งสองกลุ่มเหลื่อมซ้อนเข้าหากัน กล่าวคือ จัดตั้งองค์กรประชาชนติดอาวุธเพื่อป้องกันประเทศเหมือนในคิวบา

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของวิธีการนี้ก็คือ การที่ทหารต้องเข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติโบลิวาร์ สะท้อนให้เห็นระบบอุปถัมภ์ที่ยังคงอยู่ในเวเนซุเอลา และช่องว่างที่ยังขาดนักปฏิบัติการทางการเมืองที่เข้มแข็งในขบวนการประชาชน บทเรียนของประธานาธิบดีอัลเยนเดแห่งชิลีเมื่อ 30 ปีก่อนยังฝังอยู่ในใจชาเวซและกลุ่มของเขา

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ชาเวซทำในสองปีแรกของการดำรงตำแหน่ง คือการหาทางปรับโครงสร้างทางการเมืองของรัฐโดยอาศัยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นี่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อโยกย้ายดุลอำนาจทางการเมือง เขาใช้การลงประชามติก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ในจำนวนสมาชิก 131 คน ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่ม Polo Patriotico ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรจำนวนมากที่สนับสนุนรัฐบาลชาเวซ ชนะการเลือกตั้งเกือบทั้งหมด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับการรับรองจากสภาร่างด้วยคะแนนเสียง 129 ต่อ 2 และได้รับความเห็นชอบในการลงประชามติถึง 70% รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้พร้อมกับเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐโบลิวาร์แห่งเวเนซุเอลา (Bolivarian Republic of Venezuela)

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่วางรากฐานประชาธิปไตยให้การเมืองของเวเนซุเอลา อย่างไม่มีทางจินตนาการได้ในประเทศทุนนิยมละตินอเมริกา แนวคิดพื้นฐานก็คือ

- การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา และ
- ควบคุมอำนาจทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุการพัฒนาอย่างรอบด้าน

หลุมพรางที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการก้าวให้พ้นคือ ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนและระบบการเมืองแบบสองพรรคใหญ่ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งหมดความหมายและประชาชนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจทางด้านนโยบายของประเทศ

หลักการใหญ่ของรัฐธรรมนูญจึงเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) การลงประชามติและการระดมพลังประชาชน ส่งเสริมการจัดตั้งและการมีส่วนร่วมขององค์กรรากหญ้า โดยให้ประชาชนจัดตั้งกันเอง ให้อำนาจประชาชนเข้ามามีบทบาทด้านการเสนอกฎหมาย ไม่ได้มองว่าประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้การปกครอง แต่เป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการสร้างสรรค์ประเทศ

หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชาเวซก็ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2000 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งด้วยคะแนนเสียง 59% และที่สำคัญ ครั้งนี้พรรค MVR ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาที่เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น สมัชชาแห่งชาติ ด้วย ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลชาเวซขอให้สมัชชาแห่งชาติอนุมัติให้ฝ่ายบริหารปกครองด้วยกฤษฎีกาเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายการปกครองของเวเนซุเอลา โอกาสนี้เปิดให้รัฐบาลชาเวซสามารถประกาศใช้กฎหมายใหม่ได้ 49 ฉบับในอีกหนึ่งปีต่อมา โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาในรัฐสภา

กฎหมาย 49 ฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและระบบราชการ มีทั้งกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมทั้งปรับโครงสร้างบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา (Petroleos de Venezuela S.A.--PDSVA) ด้วย

ชนชั้นปกครองเดิมของเวเนซุเอลาเริ่มมองเห็นแล้วว่า ชาเวซเอาจริงและเป็นภัยคุกคามต่อสถานภาพของตน โดยเฉพาะการปฏิรูปที่ดินและอุตสาหกรรมน้ำมันนั้น เทียบเท่ากับเป็นการล่วงละเมิด "สิทธิในทรัพย์สิน" ของตนทีเดียว ชนชั้นกลางบางส่วนก็ไม่พอใจนโยบายทางสังคมของชาเวซ พวกเขาคัดค้านการที่ชาเวซใช้รายได้น้ำมันที่เริ่มเพิ่มมากขึ้นหลังปี ค.ศ. 1999 (ส่วนหนึ่งเป็นคุณูปการจากการที่ชาเวซผลักดันเวเนซุเอลาให้เข้าไปมีบทบาทในโอเปค) มาใช้ในโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่คนจน

- งบประมาณการศึกษาของรัฐเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ไปเป็น 5.2% ของ GNP ระหว่างปี ค.ศ. 1999-2001
- เคหะชุมชนและสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นจาก 0.8% เป็น 1.5% และ
- งบประมาณสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 1.1% เป็น 1.4%

ชนชั้นกลางย่อมไม่ชอบนโยบายนี้ เพราะพวกเขาใช้โรงเรียนและโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก อีกทั้งการปฏิรูปการศึกษาให้คนจนมีโอกาสเรียนหนังสือสูงขึ้น ย่อมสั่นคลอนสถานภาพของชนชั้นวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ

นับจากนี้เป็นต้นไป ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นจึงลุกโชนขึ้นมาทันที

สงครามเศรษฐกิจ: การหยุดกิจการประท้วง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยไม่กี่ประเทศที่ดุเดือดเร้าใจเท่าเวเนซุเอลา เพียงเดือนเดียวหลังจากรัฐบาลชาเวซประกาศใช้กฎหมาย 49 ฉบับ สมาคมหอการค้าของเวเนซุเอลา (Fedecamaras) ก็แสดงปฏิกิริยาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะต่อกฎหมายปฏิรูปที่ดิน โดยกล่าวหาว่า กฎหมายนี้เป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินเอกชน แม้ว่าตามความจริงแล้ว รัฐบาลชาเวซ พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ด้วยการมุ่งปฏิรูปที่ดินที่เป็นของรัฐหรือที่สาธารณะก่อน และถ้าไม่จำเป็นก็พยายามไม่แตะต้องที่ดินของเอกชน

กระนั้นก็ตาม การปฏิรูปที่ดินก็ยังเพียงพอที่จะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด ที่นำไปสู่การหยุดกิจการประท้วงของนายจ้าง (lock-out) ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2001 การหยุดกิจการประท้วงครั้งนี้มีสหภาพแรงงาน CTV เข้าร่วมด้วย โดยให้เหตุผลประหลาดชอบกลไม่น้อยว่า กฎหมายที่ดินและมาตรการที่เกี่ยวข้องจะสร้างความเสียหายต่อนายจ้างในการประกอบธุรกิจ แม้ว่าการหยุดกิจการประท้วงครั้งนี้ค่อนข้างล้มเหลว และเลิกราไปอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่การต่อต้านการปฏิรูปที่ดินหันไปใช้วิธีการรุนแรงในเขตชนบท ด้วยการลอบสังหารผู้นำชุมชน จนรัฐบาลต้องส่งทหารเข้าไปคุมสถานการณ์ และประชาชนบางส่วนต้องติดอาวุธเพื่อคุ้มครองตัวเอง

สงครามสื่อมวลชน
ดังที่กล่าวแล้วว่า สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่ในเวเนซุเอลาอยู่ในกำมือของชนชั้นปกครองเดิม และถูกนำมาใช้เป็นอาวุธสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลชาเวซ ผู้กุมอำนาจสื่อมวลชนไว้ในมือ มีอาทิเช่น กุสตาโว ซิสเนโรส มหาเศรษฐีเชื้อชาติคิวบา เจ้าของกลุ่มธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในเวเนซุเอลา เช่น สถานีโทรทัศน์เวเนวิชั่น และเคเบิลทีวีที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา

นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์อีกหลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกา ชิลี โคลอมเบีย เขาเคยติดอันดับที่ 64 ในคนรวยที่สุด 500 คนของโลกที่จัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ เป็นเพื่อนสนิทกับจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตระกูลซิสเนโรสมีเรื่องอื้อฉาวว่าพัวพันการฟอกเงินจากการค้าโคเคน มีข่าวลือว่า ซิสเนโรสเป็นตัวเลือกที่บุชจะผลักดันให้ลงสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับชาเวซในปี ค.ศ. 2006

นอกจากสถานีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ ๆ ในเวเนซุเอลาก็ล้วนแต่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาเวซทั้งสิ้น การโจมตีชาเวซไม่ใช่แค่การวิพากษ์วิจารณ์ธรรมดา แต่ถึงขั้นบิดเบือนและใส่ร้ายป้ายสีในบางกรณี ลองพิจารณาดูจากประเด็นหลัก ๆ ที่สื่อกระแสหลักเหล่านี้ใช้เล่นงานชาเวซ

ชาเวซถูกกล่าวหาว่า เขากำลังนำประเทศไปสู่ระบอบ "คาสโตร-คอมมิวนิสต์" โดยนิยามว่าเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และพาประเทศไปสู่หายนะ ข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง ภายใต้รัฐบาลชาเวซ ไม่เคยมีนักโทษการเมือง ไม่มีการเซ็นเซอร์ ประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมแทบไม่มีข้อจำกัด การเดินขบวนประท้วงยึดสถานที่สำคัญและปิดถนน ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลดีกว่าบางรัฐบางเมืองในสหรัฐอเมริกาเสียอีก

สื่อมวลชนสามารถเขียนข่าวโจมตีรัฐบาลได้ทั้งวันทั้งคืน ยิ่งกว่าในยุโรปหรืออเมริกาด้วยซ้ำ เวลามีการเดินขบวนปะทะกันของสองฝ่าย มีความรุนแรงเกิดขึ้นในระดับที่ถือว่าน้อยมาก โดยไม่ค่อยชัดเจนด้วยว่าเป็นความผิดของฝ่ายไหน สมัชชาแห่งชาติประชุมอย่างอิสระ ฝ่ายค้านพูดได้เต็มที่ พรรคการเมืองและขบวนการต่าง ๆ เคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ชาเวซไม่ได้มีเสียงข้างมากในสภาแบบเด็ดขาด อำนาจตุลาการก็ไม่ได้อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร

ชาเวซยังถูกกล่าวหาว่า ใช้นโยบายสุ่มเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำดิ่งเหว อันที่จริง ตอนขึ้นสู่อำนาจในปี ค.ศ. 1998 นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของเขาค่อนข้างเป็นไปตามแบบแผนเดิม ๆ เขาแต่งตั้งรัฐมนตรีการคลังคนเดิมจากรัฐบาลเก่าด้วยซ้ำ ราคาน้ำมันตอนนั้นค่อนข้างต่ำและเศรษฐกิจหดตัวระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งปีแรก แต่พอขึ้นปีที่สองและสาม เมื่อราคาน้ำมันดีดตัวขึ้น ระบบเศรษฐกิจก็ไปได้ดีพอสมควร เติบโตราว 3.2% และ 2.8% ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

จนปี ค.ศ. 2002 นั่นแหละที่เศรษฐกิจเริ่มสะดุด เนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำลงอีก และเงินทุนไหลออกเนื่องจากกรณีการหยุดกิจการประท้วงและรัฐประหาร จริงอยู่ การบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ถือว่าดีเยี่ยม มันขาดจินตนาการ ขาดประสบการณ์และยังติดยึดกับระบบอุปถัมภ์แบบเดิม ๆ แต่ความเสียหายก็ยังไม่ร้ายแรงเท่าการบ่อนทำลายของฝ่ายตรงข้าม

ข้อกล่าวหาที่อาจมีมูลอยู่บ้างคือ ชาเวซสร้างความแตกแยกขึ้นในประเทศ ทำให้คนในประเทศแบ่งแยกออกเป็นสองฝักสองฝ่ายที่ประจันหน้ากัน ชาเวซเป็นผู้นำที่แข็งกร้าวและมีลีลาปราศรัยดุเด็ดเผ็ดมัน และไม่กลัวการเผชิญหน้าทางการเมือง แต่ข้อกล่าวหานี้สะท้อนให้เห็นความกลัวบางอย่างที่ซ่อนอยู่ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือ ความกลัวทางเชื้อชาติและชนชั้น

ทั้งนี้เพราะชาเวซสื่อสารกับคนจนในเวเนซุเอลาด้วยถ้อยคำที่พวกเขาเข้าใจ แต่พอเข้าหูชนชั้นกลางและชนชั้นสูง มันฟังดูเป็นถ้อยคำไม่เหมาะสมที่ประมุขประเทศควรใช้ แม้ว่าตัวเขามีการศึกษาอย่างดีและอ่านหนังสือมาก แต่เห็นได้ชัดว่าเขามาจากวัฒนธรรมทางชนชั้นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบ ไม่ใช่มาจากชนชั้นสูง. การที่เขาเป็น pardos หรือคนที่มีผิวคล้ำยิ่งขัดหูขัดตาชนชั้นกระฎุมพี สื่อมวลชนกระแสหลักในเวเนซุเอลามักใช้พื้นที่จำนวนมากไปกับการวิพากษ์วิจารณ์บุคลิกและการวางตัวของชาเวซ มากกว่าจะวิจารณ์ในเรื่องนโยบายจริง ๆ

(ความรังเกียจชาเวซในด้านเชื้อชาตินั้น ถึงขนาดที่ขนานฉายาชาเวซว่า ไอ้ลิงดำ ครั้งหนึ่งเมื่อโคลิน พาวเวลล์มาเยือนสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงคารากัส มีการแสดงละครหุ่นโดยให้ลิงดำเล่นเป็นชาเวซ แต่เอกอัครราชทูตอเมริกันลืมไปว่าพาวเวลล์เป็นคนผิวดำ! งานนี้จึงสร้างความขุ่นเคืองใจให้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยนั้นไม่น้อย และเอกอัครราชทูตถึงกับต้องทำหนังสือขอขมา)

การประลองกำลัง: รัฐประหาร 2002
เมื่อการหยุดกิจการประท้วงในปลายปี 2001 ไม่ได้ผลมากนัก ฝ่ายตรงข้ามชาเวซที่เรียกกันว่า escualidos ยังไม่ลดละความพยายาม มีการนัดหยุดกิจการประท้วงประปรายอีกหลายครั้ง แต่ชนวนครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดการนัดหยุดกิจการ และหยุดงานประท้วงจนบานปลายกลายเป็นการรัฐประหาร เริ่มในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2002 เมื่อประธานาธิบดีชาเวซประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 20% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ศกนั้น ชาเวซยังประกาศไล่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ PDVSA ออก 7 คน สืบเนื่องจากความขัดแย้งกับกรรมการบริหารชุดใหม่ที่รัฐบาลแต่งตั้งเข้าไป

เรื่องนี้ทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่พอใจอย่างมาก สมาคมหอการค้า Fedecamaras และสหภาพ CTV ร่วมมือกันหยุดกิจการและหยุดงานประท้วง โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน การประท้วงครั้งนี้ได้รับการหนุนหลังจากนายกเทศมนตรีของเมืองคารากัส นายอัลเฟรโด เปนา ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายขวา ฝ่ายตรงข้ามชาเวซประกาศว่า จะประท้วงต่อไปจนกว่าชาเวซจะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

ในวันที่ 11 เมษายน ขบวนประท้วงของฝ่ายตรงข้ามชาเวซเคลื่อนไปที่ทำเนียบประธานาธิบดีมิราฟลอเรซ เพื่อบีบให้ชาเวซลาออก ทำให้เกิดการปะทะกับขบวนประชาชนที่สนับสนุนชาเวซ เกิดการยิงกันขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 18 คน ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายผู้สนับสนุนชาเวซ เหตุการณ์ครั้งนี้มีการกล่าวโทษกันไปมา ฝ่ายสนับสนุนชาเวซอ้างว่า ตำรวจและผู้ก่อความวุ่นวายฝ่ายตรงข้ามเป็นคนเปิดฉากยิง ในขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักเอาไปโหมประโคมว่า ชาเวซทำให้ประเทศระส่ำระสาย จนกลายเป็นข้ออ้างให้การรัฐประหาร

กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนี้ นอกจากนายกเทศมนตรีเปนาและกุสตาโว ซิสเนโรสแล้ว ก็มีอาทิเช่น เปโดร คาร์โมนา (ประธานสมาคมการค้า Fedecamaras), โลเรนโซ เมนโดซา (ตระกูลเจ้าของกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเวเนซุเอลา), เฮซุส เด โปลันโค (เจ้าของสถานีวิทยุและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา), อดีตประธานาธิบดีเปเรซกับคณะที่ปรึกษา, กลุ่มทหารระดับนายพลจำนวนหนึ่งของกองทัพเวเนซุเอลา และที่สำคัญคือ รัฐบาลสหรัฐฯ กับซีไอเอให้การสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา ตัวแทนของฝ่ายสหรัฐฯ คือ ชาร์ลส์ ชาปิโร (เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำเวเนซุเอลา), อ็อตโต ไรช์ (ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ), พันโทเจมส์ รอดเจอร์และพันเอกโรนัลด์ แมคคัมมอน แห่งกองทัพสหรัฐฯ

เย็นวันที่ 11 เมษายน ฮูโก ชาเวซถูกนายทหารฝ่ายรัฐประหารนำตัวไปคุมขังไว้ที่ฟอร์ต ทูอินา ฝ่ายรัฐประหารประกาศแต่งตั้งนายเปโดร คาร์โมนาเป็นประธานาธิบดี เขาจัดการยุบสมัชชาแห่งชาติ ปลดคณะรัฐมนตรี ยกเลิกสิทธิตามรัฐธรรมนูญหลายข้อ ออกคำสั่งให้เวเนซุเอลาถอนตัวออกจากกลุ่มโอเปค แปรรูป PDVSA ให้เป็นบริษัทเอกชน ระงับการส่งน้ำมันไปคิวบา ยกเลิกการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเปิดการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงรอบใหม่กับไอเอ็มเอฟ

เช้าวันที่ 12 เมษายน กลุ่มผู้สนับสนุนชาเวซ ทั้งชมรมโบลิวาร์, สมาชิกพรรค MVR, คณะกรรมการที่ดินและกลุ่มผู้หญิงจำนวนมาก มาประชุมลับเพื่อเตรียมการประท้วง ตกเย็นวันนั้น ประชาชนในย่าน barrios บนเนินเขาที่ล้อมรอบเมืองคารากัส ทยอยกันออกมาชุมนุมตามท้องถนน การประท้วงของประชาชนที่สนับสนุนชาเวซเกิดขึ้นทุกเมืองใหญ่ ๆ

ในวันเดียวกันนั้น มีการพูดคุยกันระหว่างกลุ่มทหารในกองทัพ ทหารบางคนเสนอให้บุกเข้าไปจับกลุ่มก่อการรัฐประหารเป็นตัวประกันเพื่อเปิดการต่อรอง แต่สุดท้ายมีมติว่า ทหารที่สนับสนุนชาเวซจะเข้าร่วมกับกลุ่มพลังอื่น ๆ เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน

บทบาทสำคัญมาจากพลเอกราอูล บาดูเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คนของผู้ก่อตั้งกลุ่ม MBR-200 ตอนนี้เขาควบคุมกองพลร่มที่ตั้งอยู่ในเมืองมาราไก เขาประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลคาร์โมนา และร่วมมือกับประชาชนในเมืองมาราไก เตรียมพร้อมประจันหน้ากับฝ่ายรัฐประหาร คำประกาศของนายพลบาดูเอล แพร่ไปถึงขบวนการประชาชนและทหารทั่วประเทศทันที ชมรมโบลิวาร์และองค์กรมวลชนอื่น ๆ จัดการเดินขบวนไปที่ค่ายทหารในเมืองต่าง ๆ และตะโกนบอกทหารในค่ายให้สนับสนุนชาเวซ

ปฏิบัติการนี้ทำให้นายทหารและทหารชั้นผู้น้อยที่กำลังวางแผนต่อต้านฝ่ายรัฐประหารมีความมั่นใจมากขึ้น พวกเขาร่วมมือกับประชาชนบุกเข้าไปยึดสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลคืนจากฝ่ายตรงข้าม

เช้าวันที่ 13 เมษายน ประชาชนหลายแสนคนออกมาเดินขบวนทั่วทั้งเมืองคารากัส เรียกร้องให้ชาเวซกลับคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ตามท้องถนนในตัวเมือง ทหารออกมาโบกธงร่วมกับประชาชนเพื่อเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญคืนจากฝ่ายรัฐประหาร กองกำลังทหารร่วมมือกับประชาชนจาก barrios ยกขบวนเข้าล้อมทำเนียบมิราฟลอเรซ ขับไล่ฝ่ายรัฐประหารออกไป รองประธานาธิบดีดีโอสดาโด คาเบโญขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน

วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 14 เมษายน ประธานาธิบดีชาเวซก็กลับมารับตำแหน่งที่ทำเนียบมิราฟลอเรซ สถานีโทรทัศน์เอกชนของเวเนซุเอลาไม่ยอมถ่ายทอดการกลับคืนตำแหน่งของเขา แต่ฉายการ์ตูนทอมกับเจอร์รี่ทั้งวันแทน ภายในเวลาแค่ 4 วัน เวเนซุเอลาได้เปลี่ยนตัวประธานาธิบดีถึง 3 คน

ความล้มเหลวในการรัฐประหารของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่มีทุน มีสื่อและมีสหรัฐฯ หนุนหลัง เผยให้เห็นจุดอ่อนของฝ่าย escualidos กลุ่มพลังทางการเมืองของชนชั้นกระฎุมพียังไม่มีผู้นำที่สามารถชนะใจชนชั้นกลางอย่างเด็ดขาด บางครั้งก็แตกแยกแก่งแย่งกันเองด้วย นอกจากอดีตประธานาธิบดีเปเรซแล้ว การชี้นำตกอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนเวเนซุเอลา นี่เป็นจุดอ่อนสำคัญ เพราะมันขาดแกนนำทางการเมืองที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลาง ซึ่งจะเป็นฐานทางสังคมให้ระบอบการปกครองหลังการรัฐประหาร ส่วนพรรคการเมืองเก่าแก่ทั้งสองพรรค กล่าวคือพรรค AD และ พรรค COPEI หมดความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนไปนานแล้ว

กลุ่มพลังเดียวที่อาจช่วยให้การรัฐประหารเดือนเมษายนน่าเชื่อถือได้บ้าง ก็เห็นจะเป็นสหภาพแรงงาน CTV แต่สหภาพถูกกลุ่มธุรกิจกีดกันจากบทบาทนำ เพราะกลุ่มนายทุนไม่ต้องการให้ฝ่ายแรงงานมีบทบาทเกินหน้า การที่ CTV เข้าไปพัวพันกับการหยุดกิจการประท้วงและการรัฐประหาร ยิ่งบั่นทอนความน่าเชื่อถือทางการเมืองของตนเองลงไปอีก

ชนชั้นกระฎุมพีที่ทำรัฐประหารเดือนเมษายนมีวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่สั้นและตื้นเขิน กล่าวคือเน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มตนเป็นอันดับแรกอย่างออกนอกหน้า นโยบายต่าง ๆ ที่พวกเขารีบร้อนประกาศออกมาทันทีที่คาร์โมนารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้ประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้าง สามารถตกลงใจได้ทันทีว่า ควรสนับสนุนประธานาธิบดีชาเวซดีกว่า

การรัฐประหารครั้งนี้ส่งผลดีต่อตำแหน่งประธานาธิบดีของชาเวซ และในขณะเดียวกันก็เผยจุดอ่อนหลายอย่างให้เขาตระหนักด้วย

เราต้องยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้การรัฐประหารล้มเหลว ก็เพราะทหารส่วนใหญ่ในกองทัพยังสนับสนุนชาเวซ การรัฐประหารครั้งนี้เป็นโอกาสให้ชาเวซได้สังคายนากองทัพ มีทหารถูกไล่ออกจากกองทัพราว 400 คน จำนวนหนึ่งเป็นระดับนายพล ที่เหลือส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งด้านบริหาร ชาเวซสามารถเข้าไปจัดการขุมกำลังในกองทัพใหม่ และแต่งตั้งนายทหารฝ่ายตนขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ

แต่กองทัพก็เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง การต้องพึ่งพากองทัพให้เป็นฐานค้ำจุนความมั่นคงทางการเมือง ไม่มีหลักประกันเลยว่ากองทัพจะแปรพักตร์เมื่อไร มันยังทำให้ระบบอุปถัมภ์ดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด ชาเวซย่อมไม่ลืมบทเรียนจากความล้มเหลวของประธานาธิบดีอัลเยนเดแห่งชิลี เขาจึงต้องขยายฐานเสียงให้กว้างออกไปจากกลุ่มทหาร ส่งเสริมองค์กรรากหญ้าของประชาชนในประเทศให้เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งปลุกความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนให้ขยายออกไป ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ

ถึงฝ่ายตรงข้ามจะล้มเหลว แต่ขุมกำลังของพวกเขาก็ไม่อาจดูเบาได้ เนื่องจากในเวเนซุเอลาไม่มีกองกำลังตำรวจแห่งชาติ นายกเทศมนตรีแต่ละเมืองเป็นผู้ควบคุมกองกำลังตำรวจในเมืองนั้น ๆ เอง และกองกำลังตำรวจในเมืองใหญ่ ๆ อย่างคารากัส ก็แสดงตัวให้เห็นชัดเจนว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายชาเวซ ถึงขนาดที่รัฐบาลต้องใช้ทหารเข้าไปล้อมสถานีตำรวจ และจับตำรวจปลดอาวุธ ตำรวจจะออกลาดตระเวนได้ต่อเมื่อมีทหารตามกำกับไปด้วย

อำนาจศาลก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายตรงข้าม ดูจากผู้นำชาวนาจำนวนมากถูกลอบสังหาร แต่ไม่เคยมีเจ้าที่ดินคนไหนต้องรับโทษ แม้แต่ในการรัฐประหารครั้งนี้ ศาลก็ตัดสินว่าไม่เคยมีการรัฐประหาร คาร์โมนายืนยันว่า มันเป็นแค่สุญญากาศของอำนาจ ผู้พิพากษาลงความเห็นว่า ชาเวซถูกนำตัวไปอารักขาเพื่อความปลอดภัยของตัวเขาเอง! เมื่อการรัฐประหารล้มเหลว กลุ่มก่อการก็ออกจากตึกบัญชาการ นั่งรถกลับบ้านเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ฮูโก ชาเวซเองรู้ดีว่า ฝ่ายเขาเองยังไม่พร้อมที่จะประจันหน้ากับฝ่ายตรงข้ามซึ่ง ๆ หน้า โดยเฉพาะพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของฝ่ายตรงข้ามที่มีอยู่มหาศาล เขาพยายามไม่แตะต้องผลประโยชน์ของคนรวยที่สุด 5% เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งปะทุรุนแรงเกินไป นักการเมืองนั้นไม่ได้ตัดสินใจในสุญญากาศ แต่ต้องตัดสินใจภายใต้แรงกดดันของกลุ่มพลังต่าง ๆ ตราบใดที่กลุ่มพลังที่เป็นฐานอำนาจที่แท้จริงของชาเวซ นั่นคือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังขาดการจัดตั้งที่ดีพอ ชาเวซก็ยังต้องประนีประนอมต่อไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ในกรณีนี้ก็คือ หลังการรัฐประหารที่มีชนวนมาจากการไล่ฝ่ายบริหารของบริษัทน้ำมัน PDVSA ออก ชาเวซกลับแต่งตั้งฝ่ายบริหารทั้งหมดที่ถูกไล่ออกไปกลับเข้ามาใหม่ ท่ามกลางความประหลาดใจถึงขั้นตระหนกของผู้สนับสนุนชาเวซ ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำเช่นนั้นทั้ง ๆ ที่กำลังได้เปรียบ

แต่ความจริงก็คือ ในช่วงรัฐประหาร แรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมัน ถ้าไม่นิ่งเฉยดูสถานการณ์ ก็มีทีท่าต่อต้านชาเวซด้วยซ้ำ เขาจึงต้องบรรเทาความไม่พอใจในภาคอุตสาหกรรม เพราะน้ำมันคือเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงเวเนซุเอลา

สำหรับผู้สนใจ อ่านบทความเกี่ยวเนื่องข้างล่างดังนี้

- เวเนซุเอลา: เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์
- มหากาพย์การเมืองเวเนซุเอลา : ปริศนาของฮูโก ชาเวซ
- โค่นประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ : เพียงแค่คลื่นลมกระทบหินผา
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : องค์กรคู่ขนานและการปฏิรูปที่ดิน
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : การเมือง เศรษฐกิจ สังคมภาคพลเมือง
- การปฏิวัติโบลิวาร์ หรือเพียงแอปเปิ้ลเน่าที่ควรกำจัดทิ้ง

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
170549
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ชาเวซถูกกล่าวหาว่า เขากำลังนำประเทศไปสู่ระบอบ "คาสโตร-คอมมิวนิสต์" โดยนิยามว่าเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และพาประเทศไปสู่หายนะ ข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง ภายใต้รัฐบาลชาเวซ ไม่เคยมีนักโทษการเมือง ไม่มีการเซ็นเซอร์ ประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมแทบไม่มีข้อจำกัด การเดินขบวนประท้วงยึดสถานที่สำคัญและปิดถนน ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลดีกว่าบางรัฐบางเมืองในสหรัฐอเมริกาเสียอีก สื่อมวลชนสามารถเขียนข่าวโจมตีรัฐบาลได้ทั้งวันทั้งคืน ยิ่งกว่าในยุโรปหรืออเมริกาด้วยซ้ำ เวลามีการเดินขบวนปะทะกันของสองฝ่าย มีความรุนแรงเกิดขึ้นในระดับที่ถือว่าน้อยมาก โดยไม่ค่อยชัดเจนด้วยว่าเป็นความผิดของฝ่ายไหน สมัชชาแห่งชาติประชุมอย่างอิสระ ฝ่ายค้านพูดได้เต็มที่ พรรคการเมืองและขบวนการต่างๆ เคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ชาเวซไม่ได้มีเสียงข้างมากในสภาแบบเด็ดขาด อำนาจตุลาการก็ไม่ได้อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร

The Midnightuniv website 2006