Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
The Midnightuniv website 2006
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การเมืองฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกา
โค่นประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ : เพียงแค่คลื่นลมกระทบหินผา
ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักแปล และ นักวิชาการอิสระ

บทความวิชาการชิ้นนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพยายามโค่นล้มประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ด้วยการหยุดกิจการน้ำมัน
แต่ต้องประสบกับความล้มเหลว และการพยายามลงประชามติเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีฯ
แต่ก็ต้องประสบกับความผิดหวังเช่นกัน เพราะเสียงสนับสนุนของประชาชนมากกว่า
หมายเหตุ : บทความขนาดสั้นนี้ต่อจากบทความลำดับที่ 923 และ 924
หากต้องการศึกษาข้อมูลโดยสมบูรณ์
กรุณาคลิกอ่านตั้งแต่เริ่มต้นจากที่นี่

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 938
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)

 



โค่นประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ : เพียงคลื่นลมกระทบหินผา
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักแปล และ นักวิชาการอิสระ

หมายเหตุ : บทความขนาดสั้นนี้ต่อจากบทความลำดับที่ 923 และ 924
หากต้องการศึกษาข้อมูลโดยสมบูรณ์ กรุณาคลิกอ่านตั้งแต่เริ่มต้นจากที่นี่

สงครามเศรษฐกิจ: การหยุดกิจการน้ำมัน
หากการหยุดกิจการประท้วงของนายทุนเป็นการลองเชิง การรัฐประหารเมษายนเป็นการประลองกำลัง การงัดข้อระหว่างชนชั้นที่แท้จริงคือการหยุดกิจการน้ำมัน ซึ่งเป็นครั้งใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของละตินอเมริกาเลยทีเดียว ครั้งนี้ฝ่าย escualidos ระดมสรรพกำลังกันมาเต็มที่ สื่อมวลชนและชนชั้นกระฎุมพียอมทุ่มเทสุดตัวอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนายทุนในธุรกิจอาหาร สื่อมวลชน การเงิน และที่สำคัญที่สุดคือ น้ำมัน การหยุดกิจการครั้งนี้กินเวลานานถึง 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2002 ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2003

นอกจากการปฏิรูปที่ดิน ประเด็นที่ทำให้รัฐบาลชาเวซขัดแย้งกับกลุ่มพลังเก่ามากที่สุดก็คือเรื่อง"น้ำมัน" ในบรรดากฎหมาย 49 ฉบับที่ออกมา มีฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างบริษัทน้ำมันแห่งชาติ PDVSA ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2003

เมื่อเวเนซุเอลาโอนกิจการน้ำมันเป็นรัฐวิสาหกิจของชาติในปี ค.ศ. 1976 มันกลายเป็นแหล่งฉ้อฉลและหาผลกำไรของบรรดานักการเมือง แทนที่ PDVSA จะรับใช้ผลประโยชน์ของชาติ มันกลับกลายเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นแต่การแสวงหากำไรและเป็นเหมือน "รัฐภายในรัฐ" ฝ่ายบริหารมีอภิสิทธิ์และผลประโยชน์ทับซ้อนสูงมาก มันขาดทั้งความโปร่งใสและการตรวจสอบจากภายนอก

ตามการจัดอันดับของนิตยสาร America Economia PDVSA เป็นกิจการที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา และเป็นกิจการที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดด้วย มันใช้ต้นทุนในการกลั่นน้ำมัน 1 บาร์เรล สูงกว่าบริษัทน้ำมันอย่างเอ็กซอนโมบิล, เชลล์หรือเชฟรอนเท็กซาโกถึง 3 เท่า

นอกจากเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ฝ่ายบริหารจ่ายให้ตัวเองสูงลิบลิ่วถึงปีละหลายล้านดอลลาร์ วิธีการฉ้อฉลทรัพยากรส่วนรวมของประเทศอย่างหนึ่งก็คือ ฝ่ายบริหารจงใจเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ มันมีเครือปั๊มน้ำมันในอเมริกาเหนือ ตั้งโรงกลั่นไว้ในยุโรปและสหรัฐฯ เป็นต้น แล้วส่งน้ำมันขายให้ธุรกิจในเครือของตนด้วยราคาถูก การซื้อขายสินค้าในเครือธุรกิจของตัวเองก็เพื่อลดค่าภาคหลวงที่ต้องจ่ายให้รัฐ ซึ่งลดลงจาก 71 เซ็นต์ต่อดอลลาร์ของรายรับทั้งหมดในปี ค.ศ. 1981 เหลือแค่ 39 เซ็นต์ในปี ค.ศ. 2000 ทำให้รายได้ของประเทศหายไปเป็นพันล้านดอลลาร์ต่อปี มิหนำซ้ำฝ่ายบริหารยังพยายามเปิดทางให้บริษัทน้ำมันต่างชาติเข้ามาในประเทศ ตัดราคาน้ำมันในกลุ่มโอเปค และเตรียมปูทางไปสู่การแปรรูป

กฎหมายน้ำมันฉบับใหม่ของรัฐบาลชาเวซจำกัดการร่วมทุนของต่างชาติไม่ให้เกิน 50% และเพิ่มค่าภาคหลวงตายตัวอีกหนึ่งเท่าตัว รวมทั้งเป็นครั้งแรกที่ออกข้อบังคับให้บริษัทต้องแสดงความโปร่งใสในด้านบัญชีและการเงิน กำหนดเงื่อนไขที่อำนวยให้รัฐบาลสามารถเข้าไปปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้ในอนาคต ฝ่ายบริหารของ PDVSA จึงไม่พอใจมาก พวกเขาร่วมมือกับสหภาพ CTV และกลุ่มอำนาจเก่านัดหยุดกิจการประท้วงครั้งแรก การแข็งข้อของฝ่ายบริหารนี่เองที่ทำให้ชาเวซไล่พวกเขาออก อันเป็นชนวนที่นำไปสู่การรัฐประหารในเดือนเมษายน

ถึงแม้การรัฐประหารจะล้มเหลว แต่ชนชั้นกระฎุมพีก็ยังไม่วิเคราะห์บทเรียนของตัวเอง แทนที่จะหาเสียงสนับสนุนจากประชาชน หรือสร้างทางเลือกทางการเมืองขึ้นมาแข่งขันกับชาเวซ พวกเขากลับเลือกใช้อำนาจทางเศรษฐกิจสร้างความปั่นป่วนขึ้นในประเทศแทน

ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 2002 กลุ่มต่อต้านรัฐบาลชาเวซลงมืออีกครั้ง แต่ฝ่าย escualidos ก็ไม่ค่อยสมหวังมากนัก พวกเขาคาดหวังว่า การหยุดกิจการประท้วงครั้งนี้จะพร้อมใจกันทำทั้งหมดในภาคธุรกิจ ทว่าช่วง 2-3 วันแรก ศูนย์กลางทางด้านการค้าเกือบทั้งหมดในย่านตะวันออกของคารากัสปิดกิจการเกือบหมดก็จริง แต่ในฟากตะวันตกเกือบทั้งหมดยังเปิดดำเนินการตามปรกติ ไม่ว่าการขนส่ง ธนาคาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา และหากขาดเหลืออะไร ธุรกิจนอกระบบก็ทดแทนให้ได้อยู่แล้ว ในส่วนของชนชั้นแรงงานนั้น สหภาพ CTV เสื่อมความน่าเชื่อถือจนไม่สามารถระดมแรงงานในสหภาพต่าง ๆ มาได้มากพอ

การหยุดกิจการประท้วงมีทีท่าว่าจะล้มเหลว แต่พอถึงวันพุธที่ 4 ธันวาคม สถานการณ์เริ่มบานปลาย เมื่อการนัดหยุดงานเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำมัน ครั้งนี้เองที่ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนแครตแสดงอิทธิฤทธิ์ของตัวเองออกมาให้เห็น เพียงแค่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคระดับสูงจำนวนหยิบมือเดียวจากคนงานทั้งหมด 45,000 คน ในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก็สามารถทำให้อุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบหยุดชะงักได้ เพียงแค่พวกเขาปิดศูนย์ควบคุมคอมพิวเตอร์ เก้าอี้ประธานาธิบดีของชาเวซก็สั่นสะเทือนจนทุกฝ่ายคาดหมายว่า เขาจะต้องกระเด็นหลุดจากวงโคจรทางการเมืองไปอย่างแน่นอน

แต่อีกครั้งที่ประชาชนออกมารวมพลังงัดข้อกับชนชั้นกระฎุมพี ในวันที่ 7 ธันวาคม ประชาชน ทั้งกรรมกรและชาวนา จำนวน 2 ล้านคนทั่วประเทศออกมาเดินขบวนในคารากัส เพื่อต่อต้านการหยุดกิจการและแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาล แรงงานระดับล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันหันมาผนึกกำลังกับประชาชน พวกเขาเข้าช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาการผลิตใน PDVSA โดยมีเป้าหมายเพื่อยึดอุตสาหกรรมนี้คืนมาจากฝ่ายบริหารและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำมาบริหารจัดการด้วยตัวเอง ชมรมโบลิวาร์ที่เป็นองค์กรประชาชนรากหญ้าเข้ามามีบทบาทเป็นแรงงานอาสาสมัคร ตั้งเป็นกลุ่มรักษาความปลอดภัยให้โรงงานน้ำมัน ติดต่ออดีตคนงานและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำมัน ให้มาช่วยปลดล็อคระบบคอมพิวเตอร์

รัฐบาลและประชาชนต้องใช้เวลาแก้ปัญหาการผลิตของ PDVSA ยาวนานถึง 2 เดือน คือตลอดเดือนธันวาคมและมกราคม พวกเขาค้นพบว่า การกลั่นน้ำมันในเวเนซุเอลาถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์จากสหรัฐฯ ผ่านทางดาวเทียม และมีผู้บริหารระดับสูงไม่กี่คนที่รู้รหัสผ่าน ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยทหาร คนงานน้ำมันทั้งที่เกษียณอายุแล้วและยังทำงานอยู่ รวมทั้งบริษัทเอกชนบางแห่ง ต้องทำงานกันทั้งวันทั้งคืนกว่าการกลั่นน้ำมันจะกลับมาดำเนินการได้

เมื่อคนงานระดับล่างในอุตสาหกรรมน้ำมันสามารถเข้าควบคุมการผลิตได้อย่างเด็ดขาด และด้วยประสิทธิภาพที่ไม่ด้อยกว่าเดิม ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซจึงถือนกหวีดออกปราศรัยทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เขาอ่านรายชื่อฝ่ายบริหารทีละคน เป่านกหวีดปรี๊ดและประกาศว่า "แกถูกไล่ออก!"

เมื่อฝ่าย escualidos ประกาศยกเลิกการปิดกิจการประท้วงในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ มันเป็นการประกาศความพ่ายแพ้ที่รุนแรงมาก กลุ่มอำนาจเก่าสูญเสียการควบคุมใน PDVSA ไปโดยสิ้นเชิง กลุ่มพลังแรงงานในระบบกลุ่มใหญ่ที่สุดหันไปเข้าร่วมกับรัฐบาล แม้กระทั่งชนชั้นกลางบางส่วนก็เริ่มไม่พอใจฝ่าย escualidos และหันไปหารัฐบาลในฐานะหลักประกันเสถียรภาพของประเทศที่ไว้ใจได้

ข้อดีของการเข้าควบคุมอุตสาหกรรมน้ำมันมีมากมาย

ประการแรก รัฐบาลสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการแปรรูป
ประการต่อมาคือ รัฐบาลสามารถนำเงินจากอุตสาหกรรมน้ำมันมาใช้ในโครงการทางสังคมได้เต็มที่ยิ่งกว่าเดิม ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2004 นักเศรษฐศาสตร์ประจำ PDVSA ยังค้นพบเงินของบริษัทถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ซุกซ่อนอยู่ในธนาคารต่างประเทศ

แต่การหยุดกิจการน้ำมันในครั้งนี้ก็ส่งผลสะเทือนสาหัสไม่น้อย จีดีพีหดตัวไปถึง 29% ในเดือนมกราคม รัฐบาลต้องใช้มาตรการทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด สั่งแช่แข็งการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตลอดสัปดาห์ ตามมาด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกับกลุ่มนายทุนที่หยุดกิจการประท้วง การซื้อดอลลาร์ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลก่อน แม้แต่การใช้บัตรเครดิตผ่านอินเทอร์เน็ตก็ไม่อนุญาต มาตรการเช่นนี้มีผลกระทบต่อชนชั้นกระฎุมพีเป็นส่วนใหญ่ ในด้านประชาชนนั้น รัฐบาลสั่งควบคุมราคาตายตัวสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน นำสินค้าจำนวนมากมาขายราคาถูกในตลาดรัฐบาล สั่งห้ามนายทุนไม่ให้ไล่คนงานออก

น้ำมันคือเส้นเลือดใหญ่ของเวเนซุเอลาและช่วยหล่อเลี้ยงการปฏิวัติโบลิวาร์ได้อย่างดีก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็บิดเบือนเศรษฐกิจของประเทศ มันทำให้เวเนซุเอลาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตลาดโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องพึ่งพิงน้ำมันมากเกินไป รัฐบาลชาเวซจึงมีเป้าหมายที่จะใช้น้ำมันนำพาประเทศให้สลัดหลุดจากแอกของน้ำมัน ด้วยการสร้างความหลากหลายให้มากขึ้นในระบบเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา

ตอกย้ำชัยชนะและความขัดแย้ง: การลงประชามติสนับสนุนประธานาธิบดี
(15 สิงหาคม 2004)
หลังจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลใช้วิธีการนอกเหนือกฎหมาย (รัฐประหาร, หยุดกิจการ) มาโค่นล้มชาเวซไม่สำเร็จ คราวนี้พวกเขาหันมาใช้อาวุธของฝ่ายชาเวซเพื่อโค่นล้มชาเวซดูบ้าง ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดทางให้มีการล่ารายชื่อ เพื่อลงประชามติถอดถอนประธานาธิบดี แน่นอน รัฐบาลบุชของสหรัฐอเมริกาสนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้อย่างเต็มที่เหมือนเช่นเคย

ฝ่าย escualidos รวมตัวกันในชื่อ "Coordinadora Democratica" โดยมีประธานกลุ่มคนใหม่มารับไม้ผลัด นั่นคือ เอดัวร์โด เมนโดซา จากตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดเป็นอันดับสองของเวเนซุเอลา และเป็นผู้ว่าการรัฐวาเลนเซีย การล่ารายชื่อเพื่อเปิดการลงประชามติถอดถอนประธานาธิบดีนั้น เป็นไปอย่างทุลักทุเลไม่น้อย และถ้าไม่อาศัยอิทธิพลของฝ่ายตุลาการที่ยังเป็นกลุ่มพลังอำนาจเก่า การลงประชามติถอดถอนอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาชนก็มีการเคลื่อนไหวกันขนานใหญ่ เพื่อระดมพลออกมาลงประชามติ สนับสนุนประธานาธิบดีชาเวซ ภายใต้ชื่อการรณรงค์ No Vote ก่อนลงประชามติหนึ่งสัปดาห์ ประชาชนอย่างน้อย 1 ล้านคน ออกมาเดินขบวนแสดงพลังสนับสนุนชาเวซ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านระดมคนออกมาได้แค่ไม่กี่พัน

วันที่ 15 สิงหาคม 2004 ซึ่งเป็นวันลงประชามติ ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์กันเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือสูงถึง 70% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด มีคนมาต่อแถวรอคิวเข้าคูหาลงคะแนนเสียงตั้งแต่ตีสามของเช้าวันที่ 15 สิงหาคม บางคนต้องเข้าแถวทนรอถึง 12 ชั่วโมง

ผลการลงประชามติที่ออกมาคือ ประธานาธิบดีชาเวซได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 60% มากขึ้นกว่าการเลือกตั้งทั้งสองคราวที่ผ่านมา แน่นอน ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโวยวายหาว่ารัฐบาลโกงการลงประชามติทันที แต่ผู้สังเกตการณ์ที่สหรัฐฯ ส่งเข้ามาคือ Carter Center โดยอดีตประธานาธิบดีคาร์เตอร์ และองค์กรของกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกา (Organization of American States--OAS) ยืนยันว่า การลงประชามติมีความโปร่งใสและไม่มีการโกงเกิดขึ้น

ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังทำใจรับได้ยาก ประธานาธิบดีบุชคงลืมไม่ลงว่า ชาเวซเป็นผู้นำไม่กี่ประเทศที่กล้าออกมาประณามสงครามที่สหรัฐฯ กระทำต่ออัฟกานิสถานและอิรักอย่างเปิดเผย (และอย่างเจ็บแสบไม่ไว้หน้าด้วย) มิหน้ำซ้ำยังไปผูกมิตรกับคิวบาอีก ถึงแม้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจำใจยอมรับชัยชนะของชาเวซอย่างเป็นทางการในอีกไม่ถึงเดือนต่อมา แต่มันก็ประกาศว่า จะระงับการให้กู้ยืมเงินเป็นจำนวน 290 ล้านดอลลาร์ ผ่านทางธนาคารเพื่อการพัฒนาภายในทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank) โดยอ้างว่า เวเนซุเอลายังลงมือปฏิบัติไม่เพียงพอในการหยุดยั้งการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและสตรี รัฐบาลเวเนซุเอลาตอบโต้อย่างไม่พอใจว่า ตนได้ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติอย่างแข็งขันเพื่อยุติการค้ามนุษย์นี้

หลังการลงประชามติอีกสองเดือนต่อมา รัฐบาลชาเวซตอกย้ำชัยชนะของตนอีกครั้งในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ผู้สมัครฝ่ายรัฐบาลได้ชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐถึง 21 รัฐจากทั้งหมด 23 รัฐ และระดับเทศบาลอีก 270 เขต จากทั้งหมด 330 เขต เมื่อนับรวมทั้งหมดตั้งแต่ ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา ฮูโก ชาเวซชนะการลงคะแนนเสียง (ทั้งเลือกตั้งและประชามติ) ถึง 9 ครั้งในเวลา 6 ปี

แต่ชาเวซไม่ได้เพิกเฉยต่อประชาชนอีก 40% ที่ลงมติให้ถอดถอนเขา เขาพยายามชักชวนให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหันมาร่วมมือด้วย "ผมพร้อมแล้วที่จะนั่งลงเจรจากับสมาชิกคนไหนก็ได้ในฝ่ายค้าน ที่สนใจจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วันพรุ่งนี้ เราน่าจะมานั่งกินอาหารเที่ยงกันที่ทำเนียบมิราฟลอเรซ มาคุยกันว่าจะก้าวไปข้างหน้าร่วมกันอย่างไร สมาชิกคนใดก็ตามของฝ่ายค้านที่เคารพในรัฐธรรมนูญและเคารพในประชาชนชาวเวเนซุเอลา เราพร้อมที่จะพูดคุยด้วย" น่าเสียดายที่ฝ่ายค้านไม่ยอมรับไมตรีและปล่อยให้อาหารเที่ยงเย็นชืด แม้ชาเวซจะกล่าวติดตลกว่า เขาเตรียมเตาไมโครเวฟไว้คอยอุ่นอาหารให้ก็ตาม

ในการปราศรัยต่อประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 16 สิงหาคม 2004 หลังจากได้รับชัยชนะในการลงประชามติ ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซประกาศชัยชนะของการปฏิวัติโบลิวาร์ว่า "การลงประชามติถอดถอนครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การลงประชามติต่อฮูโก ชาเวซเท่านั้น แต่มันเป็นการลงประชามติต่อกระบวนการปฏิวัติด้วย และเสียงส่วนใหญ่ของชาวเวเนซุเอลาแสดงพลังสนับสนุนให้เห็นแล้ว! ถึงเวลาแล้วที่จะหยั่งรากการปฏิวัติให้มั่นคง!"

+++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก : ประวัติของฮูโก ชาเวซ


ภาพประกอบนี้นำมาจากสารานุกรมฟรี wikipedia.org

Chavez Frias, Hugo Rafael

The Columbia Encyclopedia, Sixth Edition. 2001-05.
Born 1954-, Venezuelan political leader, president of Venezuela (1999-). Educated at the Military Academy of Venezuela (grad. 1975), for two decades he was a career army officer, rising to the rank of lieutenant colonel.

In 1992, Ch?vez took part in an unsuccessful coup attempt against President Carlos Andr?s P?rez and was imprisoned until 1994. A charismatic populist, he became the leader of the leftist Patriotic Pole alliance. Promising a peaceful social revolution, Ch?vez was elected president in a 1998 landslide.

In office he ended the privatization of Venezuela's state holdings, put himself in control of economic matters, and cut oil production to raise oil prices. A constituent assembly mainly made up of his supporters wrote a new constitution that granted the president increased powers and a longer possible term of office and weakened the legislature and judiciary.

Ch?vez's popularity with the country's poor increased as he took measures against rampant corruption, criticized the traditional oligarchy, and made more funds available for social programs. He also attacked his critics in business and the media and expanded the role of the military; closer ties were established with Middle Eastern oil-producing nations and Cuba.

In 2000, Ch?vez won office under the new constitution. Despite his populist rhetoric, many expressed fears that he was exhibiting the distinctively dictatorial signs of the classic Latin American military strongman, the caudillo. Although he retains strong support among the lower classes, opposition to his rule increased, and strikes and demonstrations sparked by his attempts to assert control over the state oil company led to a short-lived coup in Apr., 2002, and a prolonged strike by oil workers late in 2002. An attempt by the opposition to recall him through a referendum (Aug., 2004) resulted in a solid vote for Ch?vez.


สำหรับผู้สนใจ อ่านบทความเกี่ยวเนื่องข้างล่างดังนี้

- เวเนซุเอลา: เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์
- มหากาพย์การเมืองเวเนซุเอลา : ปริศนาของฮูโก ชาเวซ
- โค่นประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ : เพียงแค่คลื่นลมกระทบหินผา
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : องค์กรคู่ขนานและการปฏิรูปที่ดิน
- การปฏิวัติโบลิวาร์ : การเมือง เศรษฐกิจ สังคมภาคพลเมือง
- การปฏิวัติโบลิวาร์ หรือเพียงแอปเปิ้ลเน่าที่ควรกำจัดทิ้ง


 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



050649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความจากนักวิชาการอิสระ
บทความลำดับที่ ๙๓๘ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related
ข้อความบางส่วนจากบทความ
อีกครั้งที่ประชาชนออกมารวมพลังงัดข้อกับชนชั้นกระฎุมพี ในวันที่ 7 ธันวาคม ประชาชน ทั้งกรรมกรและชาวนา จำนวน 2 ล้านคนทั่วประเทศออกมาเดินขบวนในคารากัส เพื่อต่อต้านการหยุดกิจการและแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาล แรงงานระดับล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันหันมาผนึกกำลังกับประชาชน พวกเขาเข้าช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาการผลิตใน PDVSA โดยมีเป้าหมายเพื่อยึดอุตสาหกรรมน้ำมันคืนมาจากฝ่ายบริหารและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำมาบริหารจัดการด้วยตัวเอง

รัฐบาลและประชาชนต้องใช้เวลาแก้ปัญหาการผลิตของ PDVSA ยาวนานถึง 2 เดือน คือตลอดเดือนธันวาคมและมกราคม พวกเขาค้นพบว่า การกลั่นน้ำมันในเวเนซุเอลาถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์จากสหรัฐฯ ผ่านทางดาวเทียม และมีผู้บริหารระดับสูงไม่กี่คนที่รู้รหัสผ่าน ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยทหาร คนงานน้ำมันทั้งที่เกษียณอายุแล้วและยังทำงานอยู่ รวมทั้งบริษัทเอกชนบางแห่ง ต้องทำงานกันทั้งวันทั้งคืนกว่าการกลั่นน้ำมันจะกลับมาดำเนินการได้

การหยุดกิจการประท้วงมีทีท่าว่าจะล้มเหลว แต่พอถึงวันพุธที่ 4 ธันวาคม สถานการณ์เริ่มบานปลาย เมื่อการนัดหยุดงานเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำมัน ครั้งนี้เองที่ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนแครตแสดงอิทธิฤทธิ์ของตัวเองออกมาให้เห็น เพียงแค่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคระดับสูงจำนวนหยิบมือเดียวจากคนงานทั้งหมด 45,000 คน ในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก็สามารถทำให้อุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบหยุดชะงักได้ เพียงแค่พวกเขาปิดศูนย์ควบคุมคอมพิวเตอร์ เก้าอี้ประธานาธิบดีของชาเวซก็สั่นสะเทือนจนทุกฝ่ายคาดหมายว่า เขาจะต้องกระเด็นหลุดจากวงโคจรทางการเมืองไปอย่างแน่นอน