นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



วิธีการกับเป้าหมายต้องกำกับด้วยธรรม
ข้อเสนอในการผ่าทางตันระบอบทักษิณด้วยสันติวิธี
พระไพศาล วิสาโล

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ข้อความบนหน้าเว็บเพจนี้เคยได้รับการเผยแพร่แล้วบนประชาไทออนไลน์
กองบรรณาธิการได้นำมารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา
ในฐานะหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้การเมืองไทย ประกอบด้วย
๑. ผ่าทางตัน 'วิธีการกับเป้าหมาย' ต้องกำกับด้วยธรรม :พระไพศาล วิสาโล

๒. สู้ระบอบ "ทักษิณ" ด้วยสันติวิธี : ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
๓.
ภาคผนวก : สื่อนอกวิพากษ์ไทย 'พลังประชาชน' ที่เกิดขึ้นผิดเวลา
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 869
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)




ข้อเสนอในการผ่าทางตันระบอบทักษิณด้วยสันติวิธี
จากประชาไทออนไลน์ - กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวม

๑. ผ่าทางตัน 'วิธีการกับเป้าหมาย' ต้องกำกับด้วยธรรม
พระไพศาล วิสาโล
ความนำ
ยิ่งความสับสนวุ่นวายทางการเมืองผ่านไปนานวัน หลักการและเหตุผลเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายกำลัง 'พักเอาไว้ก่อน' โดยหันมามุ่งที่ 'เป้าหมาย' จนแทบทำให้ 'ไม่เลือกวิธีการ'. การเข้าถึง 'เป้าหมาย' โดยไม่คำนึงถึง 'วิธีการ' เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ควรทำหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมกำลังเรียกร้องหา 'ประชาธิปไตย' แนว 'คุณธรรม' แบบตอนนี้

เมื่อกล่าวถึง 'คุณธรรม' แล้ว ก็คงปฏิเสธการหันกลับไปดูแนวคิดทางศาสนามาประกอบไม่ได้ ดังนั้นเพื่อรีบไขข้อกังขา 'วิธีการกับเป้าหมาย' ภายใต้แนวคิดคุณธรรม 'ประชาไท' จึงไปสนทนาธรรมกับ 'พระไพศาล วิสาโล' อดีตนักกิจกรรมทางสังคม ปัจจุบันนักบวชในพุทธศาสนา ที่มักนำหลักธรรมมาประยุกต์ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางโลกเสมอ และขอนำเอาเรื่องราวในการสนทนามานำเสนอดังต่อไปนี้

(ประชาไทออนไลน์: ถาม) ศาสนาเกี่ยวข้องการเมืองได้หรือไม่
(พระไพศาล วิสาโล: ตอบ) การเมืองมีหน้าที่นำพาให้เกิดสันติสุขในสังคม ไม่ว่าจะนิยามการเมืองว่าเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ หรือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจก็ตาม แต่จุดหมายก็เป็นไปเพื่อสันติสุข ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยธรรมะเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น การเมืองจะได้ผลก็ต้องมีจุดมุ่งหมายและวิธีการที่สอดคล้องกับหลักศีลธรรม

ความวุ่นวายที่เป็นอยู่จะอธิบายทางศาสนาได้อย่างไร
ก็อธิบายได้หลายอย่าง คนที่ต่อต้านคุณทักษิณเองก็มีวัตถุประสงค์ต่างๆกัน แต่จุดประสงค์ร่วมคือการที่ผู้นำหรือคุณทักษิณ ไม่สามารถจะเป็นแบบอย่างทางจริยธรรมในฐานะผู้นำประเทศได้

ถ้ามีเป้าหมายร่วมอยู่ที่คุณทักษิณ แต่ก็ความต่างทางวิธีการ ในทางพุทธจะอธิบายแบบไหน
ในเรื่องจุดหมายก็มองต่างไป แต่ในทางศาสนาแล้วมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณทักษิณมากเท่ากับการที่เขาเป็นตัวแทนของระบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีความถูกต้องทางจริยธรรมเช่น การมีเงื่อนงำเรื่องการคอรัปชั่นแบบเก่าๆ ค่าคอมมิชชั่น คอรัปชั่นเชิงนโยบาย บางเรื่องพุ่งไปที่การให้ความสำคัญกับวัตถุกระตุ้นความโลภ โดยไม่คำนึงผลกระทบในทางจริยธรรม หรือการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหายาเสพติด

ดังนั้น ในแง่ของพุทธศาสนา ปัญหาที่ลึกกว่าคือ การที่เขาเป็นตัวแทนของความฉ้อฉลที่เริ่มกลายเป็นสถาบัน หรือระบอบซึ่งซับซ้อนกว่าแค่ตัวคุณทักษิณ สมมติคุณทักษิณเป็นโรคลมปัจจุบันหมดลมไป บ้านเมืองก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะระบอบทักษิณหรือที่ใหญ่กว่านั้นคือ ระบอบวัตถุนิยมยังอยู่โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม นี่คือปัญหาใหญ่
แต่คิดว่าตรงนี้ก็เห็นไม่ตรงกัน บางคนคิดว่าเอาทักษิณออกไปเพื่อฉันจะได้ไม่สูญเสียอำนาจ จึงเหมือนกับว่า อัปรีย์ไปจัญไรมา ก็ไม่มีประโยชน์ ตราบใดที่คนมาใหม่มาสืบทอดระบบที่มันฉ้อฉลและเป็นตัวแทนกลุ่มทุนที่ไม่คำนึงถึงจริยธรรม

ดังนั้นต้องกลับมามองกันให้ลึกว่า ความจริงแล้ว เป้าหมายก็ไม่ได้ตรงกัน สิ่งที่เราเรียกว่าโครงสร้างแห่งความรุนแรง โครงสร้างแห่งการเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงมันยังฝังลึกอยู่ในสังคม แล้วคุณทักษิณก็เป็นตัวแทนอันหนึ่งเท่านั้น แต่มันไม่ได้มีแค่คุณทักษิณคนเดียว ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหา การมองแค่ว่า คุณทักษิณเป็นปัญหาเอาเขาลงจากอำนาจก็จบ จึงไม่ใช่

มองแบบนี้จะไม่ต่างกับการที่คุณทักษิณเคยมองว่า ปัญหายาเสพติดเกิดจากคนชั่วไม่กี่คน ก็ฆ่ามันเสียพันสองพันคน แล้วจบ แต่มันไม่ใช่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล มันอยู่ที่ระบบ แล้วเราก็โจมตีคุณทักษิณว่ามองปัญหาผิด แล้วเราก็กำลังใช้วิธีนี้มาขับไล่ทักษิณ อาตมามองว่า ตัวบุคคลไม่ใช่ปัญหาเท่ากับระบบ หรือตัวโครงสร้างและวัฒนธรรม

ตอนนี้สังเกตได้ว่ามุ่งไปที่ตัวบุคคลจนทำให้เกิดอคติแล้ว
แน่นอน เพราะตัวบุคคลมันเห็นง่าย แล้วตัวบุคคลเป็นสิ่งที่กระตุ้นความตื่นตัวได้ง่ายกว่า เพราะถ้าพูดถึงระบอบหรือโครงสร้าง คนไม่เข้าใจ คนเห็นภาพไม่ชัด แต่เห็นด้วยว่า คนกำลังไปเพ่งเล็งตัวบุคคลแล้วทำให้เกิดความจงเกลียดจงชังเขามาก ความจงเกลียดจงชังนี้ทำให้สติและปัญญาเราน้อยลง. เหมือนกับเราเคยคิดว่ากำจัดจอมพลถนอม จอมพลประภาส แล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น ก็เกิด 6 ตุลาใหม่ ดังนั้นสังคมไทยต้องมีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้ความเกลียดพุ่งไปที่ตัวบุคคล แต่ใช้สติและปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงโครงสร้างซึ่งคุณทักษิณเป็นตัวแทน

ทราบมาว่าศาสนามีคำสอนเรื่องอคติ หลวงพี่ช่วยอธิบายเพิ่มเติมเตือนสติให้กับสังคมหน่อย เผื่อจะลดอุณหภูมิช่วงนี้ลงมาบ้าง
ตอนนี้มีสองอย่างคือ ฉันทาคติ อีกฝ่ายหนึ่งก็ชอบทักษิณ การที่ชอบนี้ส่วนหนึ่งก็ได้อานิสงส์จากนโยบายของคุณทักษิณเช่น แท็กซี่ ชาวบ้านในสลัม โครงการบ้านเอื้ออาทร หรือชาวบ้านในชนบท แล้วฉันทาคติบางครั้งมันก็กลายเป็นเรื่องของการนิยมตัวบุคคลโดยไม่คำนึงถึงว่า เขาทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ พูดง่ายๆคือเอาความชอบใจมากกว่าความชอบธรรม

อีกข้อคือพยาธิคติ กับโทสาคติ หรือความกลัว ความโกรธ เป็นอคติแบบหนึ่งที่ต้องการทำลาย แต่ก็เน้นเรื่องตัวบุคคลเหมือนกัน เขาอาจจะทำดีแต่เนื่องจากไม่ถูกใจฉัน ฉันไม่ชอบ ฉันก็ขับไล่ คนจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านคุณทักษิณก็เพราะว่าสูญเสียผลประโยชน์ ไม่สนใจว่าเขาทำถูกหรือไม่ แต่ฉันไม่ชอบใจเขา ไม่ได้สนใจเรื่องความชอบธรรม

ทั้งหมดนี้ก็โยงไปสู่โมหะคติหรือความหลง มีทั้งสองฝ่ายจนมองเห็นแต่ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาตัวบุคคลไม่ใช่โครงสร้างหรือระบบ ต้องมีสติจึงลดทอนได้

ในแง่พุทธศาสนาสิ่งสำคัญในตอนนี้อยู่ที่การถือธรรมาธิปไตย ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างอัตตาธิปไตย และโลกาธิปไตย. อัตตาธิปไตยคือเอาตัวเองเป็นใหญ่ ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นใหญ่ ความชอบของตัวเองเป็นใหญ่ เอาเกียรติยศหน้าตา ตัวตนอีโก้เป็นใหญ่ ส่วนโลกาธิปไตยคือ แล้วแต่คนว่าอย่างไร ฉันก็ว่าตามเขา ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามหลักธรรมะก็ได้. สิ่งที่เราจำเป็นต้องยืนหยัดในธรรมาธิปไตยคือเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เราจะได้ไม่ใช้วิธีการโกหก ปล่อยข่าวลือ ฉ้อฉลเพื่อบรรลุจุดประสงค์ ดังนั้นกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ ถ้าเห็นว่าเขาใช้ไม่ได้ในทางจริยธรรม เราก็ต้องต่อสู้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและชอบธรรมด้วย เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่ทำเพื่อชัยชนะ แต่ทำเพื่อความถูกต้อง

ต้องใช้วิธีการประชาธิปไตย สันติวิธี ที่เขาบอกว่าใช้วิธีการที่เรียกว่าแข็งขืนอย่างอารยะ(อารยะขัดขืน - civil disobedience) คือวิธีที่ถูก เพราะไม่ทำร้ายใครเพียงแต่คุณไม่ให้ความร่วมมือกับเขา. ฝ่ายที่รักทักษิณก็เช่นกัน ต้องยึดหลักธรรมาธิปไตยด้วย ไม่ใช่เขาทำให้ฉันมีบ้านเอื้ออาทร มีรถแท็กซี่เอื้ออาทร ทำให้ฉันได้ประโยชน์ก็ปกป้องคุณทักษิณโดยไม่สนใจว่าเขาจะโกง จะคอรัปชั่นอย่างไร มิฉะนั้นจะกลายเป็นอัตตาธิปไตย

ถ้าใช้วิธีการที่ถูกต้อง หากเห็นว่าทักษิณต้องออกไปก็จะทำให้เห็นทางออกที่มากขึ้น และหากเห็นว่าทักษิณไม่ยอมออกไปแน่ ก็อาจจะต้องมาถอยหลังคนละก้าวหรือเจรจา ก็เป็นอีกประเด็น

ตอนนี้มีวิธีการแบบหนึ่งที่มีบางกลุ่มกังขา คือเรื่อง 'นายกพระราชทาน' วิธีการนี้ต้องยอมรับว่ามีผลพอสมควรกับการที่ทำให้ 'ทักษิณออกไป' ตามเป้าหมาย

แต่มันจะขัดกับหลักการที่ถูกของประชาธิปไตยหรือไม่
มันก็ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอยู่แล้ว ในแง่ที่ว่าไม่ได้เป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามองว่าทำแบบนี้แล้วบ้านเมืองจะไม่นองเลือด อาตมาคิดว่า ก็น่าเสี่ยง. แต่เราก็ต้องคิดกันให้รอบคอบ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราทำแบบนี้ ถ้าทำบ่อยๆ มันจะกลายเป็นเยี่ยงอย่าง แล้วต่อไปก็จะหาทางออกทางนี้อยู่ร่ำไป แล้วคุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ในหลวงองค์ต่อๆๆ ไปจะเที่ยงธรรมอย่างในหลวงองค์ปัจจุบัน

มันเป็นวิธีการที่อิงตัวบุคคลมาก แต่ตัวบุคคลนั้นไม่มีความแน่นอน ในหลวงองค์ปัจจุบันแม้พระองค์จะเที่ยงธรรมอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะอยู่ค้ำฟ้าได้ แล้วเราไม่มีหลักประกันว่าในหลวงองค์ต่อไปจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าใช้วิธีนี้เรื่อยไปจะเกิดอะไรขึ้น มันมีความเสี่ยงอยู่

อาตมาก็มามองว่า สมัยที่คุณทักษิณเจอคดีซุกหุ้น แล้วคดีมันขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นเราก็เชียร์คุณทักษิณ ก็คิดอยู่ในใจว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญให้คุณทักษิณพ้นผิดก็ดีเหมือนกัน เพราะเราเชื่อว่าคุณทักษิณจะเป็นความหวังของบ้านเมือง เราก็ยอมประนีประนอมกับหลักการ กับกฎหมายในเรื่องผู้นำไม่ควรจะซุกหุ้น คือเราก็รู้ว่าเขาซุก แต่เราก็มองข้ามไปก่อนแล้วกัน อย่าไปถือสามาก ขอให้เขาได้เป็นนายกฯ ไอ้การที่เรายอมประนีประนอมกับหลักการเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า ตอนนี้เป็นอย่างไร ก็เดือดร้อนกันใหญ่

บางทีถ้าคุณทักษิณไปตั้งแต่ตอนนั้น บางทีบ้านเมืองจะสงบมากกว่านี้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้หรือตอนนี้ และตอนนี้อารมณ์ของสังคมก็เป็นแบบนี้ คือยอมหลับหูหลับตาสักหน่อยเพื่อให้ได้นายกฯ ที่เป็นทางออกที่ดีกว่าคุณทักษิณ แล้วมันจะดีจริงหรือ และถึงเป็นคนดีจริงก็ทำให้เกิดเยี่ยงอย่างในทางการเมืองว่า ต่อไปเอะอะอะไรก็จะใช้วิธีการขอนายกฯพระราชทาน เป็นทางออกที่ดีจริงหรือ?

มีหลักธรรมสอนบ้างไหมว่า เมื่อไหร่ควรหรือไม่ควรประนีประนอมกับหลักการ
คือถ้าประนีประนอมหลักการเพื่อตัวบุคคลไม่ค่อยน่าประนีประนอม แสดงว่าเอาบุคคลเป็นใหญ่มากกว่าหลักการ แล้ววันนี้ก็กำลังประนีประนอมหลักการเพื่อตัวบุคคล เพราะคิดอยากได้บุคคลที่ดีกว่าคุณทักษิณ ก็คือความเสี่ยง แต่ถ้าประนีประนอมหลักการเพื่อตัวบุคคล ก็หมายถึงเราทิ้งหลักธรรมาธิปไตย เพื่ออัตตาธิปไตย
แต่การประนีประนอมกับหลักการไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เราควรประนีประนอมหลักการย่อย เพื่อรักษาหลักการใหญ่ คือแล้วแต่กรณีเช่น อาจจะยอมโกหกเพื่อไม่ฆ่าใคร หรือไม่ให้ใครถูกฆ่า อันนี้คือการยอมเสียหลักการย่อยเพื่อรักษาหลักการใหญ่ เพราะถือว่าการไม่ฆ่าคนสำคัญกว่าการโกหก นี่เป็นตัวอย่างที่คิดได้แบบเฉพาะหน้า

แต่ถ้าพูดถึงธรรมะแล้วมันดูจับต้องยาก ยิ่งช่วงนี้มีคนพูดถึงประชาธิปไตยคุณธรรมกันมาก เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าใช่
ไม่ใช่ว่าจับต้องไม่ได้ หรือเป็นเรื่องยาก แต่เราไกล่เกลี่ยกับเรื่องนี้มานานแล้ว เราเลยไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ถ้าทำจนเป็นนิสัยมันก็ชัดเจน มันก็อย่างที่คุณธีรยุทธ บุญมี บอกว่า ชนชั้นนำไกล่เกลี่ยกับความชั่วร้ายมานาน มาถึงตอนนี้มันก็เลยเบลอๆ ถ้าเราดำเนินชีวิตโดยอาศัยหลักคุณธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินตลอดเวลา ทั้งในระดับบุคคลและส่วนรวม มันจะไม่สับสนแบบตอนนี้

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายถึงว่า เกณฑ์วัดทางจริยธรรมมันชัดนะ มันก็เหมือนกับการทำแท้ง บางครั้งเราก็ไม่สามารถประณามได้ แม้ความจริงจะผิดศีลก็ตาม แต่บางครั้งเขาไม่มีทางเลือก เช่นยากจน ถูกข่มขืน หรือเขาไม่พร้อม ดังนั้นจริยธรรมก็มีส่วนที่เป็นสีเทาตัดสินยาก แต่มันก็เหมือนการตัดสินในทางเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งมีประเด็นที่ตัดสินใจยาก ไม่ชัดเจนอยู่เช่นกันเช่น การทำเอฟทีเอ ระหว่างประโยชน์กับผลเสียที่จะเกิดขึ้นมันก็ตัดสินใจยาก เพราะโลกสมัยนี้มันเป็นแบบนี้ มันซับซ้อนมากขึ้น

เมื่อโลกเป็นแบบนี้ประชาธิปไตยคุณธรรมจะเป็นจริงได้หรือ เพราะประชาธิปไตยอาจมองได้ว่าไม่ใช่เรื่องคุณธรรม แต่เป็นเรื่องการยอมรับของคนส่วนมาก

ซึ่งบางครั้งอาจสวนทางกับคุณธรรมก็ได้ เช่น สังคมส่วนมากยอมรับหลักการการปราบปรามยาเสพติดด้วยการฆ่า

คนไทยเราหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่ไม่ได้มองว่าแก้ปัญหาระยะยาวได้จริงหรือไม่ นี่ก็ประกาศสงครามกับยาเสพติดมา 3 ครั้งแล้ว ก็ยังไม่รู้ต้องประกาศอีกกี่ครั้ง เราหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากเกินไป

ต้องยอมรับว่า ตอนนี้เรื่องจริยธรรมมันซับซ้อน เพราะสังคมมีคนหลายฝ่าย จริยธรรมของแต่ละฝ่ายก็มีมุมมองของเขาเอง ประชาธิปไตยคงไม่สามารถมีข้อตัดสินได้ชัดเจน ถ้าเราเปิดเวทีให้แต่ละฝ่ายได้มีโอกาสได้พูดได้แสดง ก็มีโอกาสจะหาข้อสรุปได้ในระดับหนึ่ง. จริยธรรมไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แม้กระทั่งจริยธรรมตามนิยามของชาวบ้านกับคนในเมืองก็ต่างกัน ของฆราวาสกับของพระก็ต่างกัน ต้องยอมรับความจริงอันนี้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเอามาปะทะสังสรรค์ มาเสวนากัน อย่าให้ใครคนใดมาผูกขาด ที่ผ่านมา 5 ปี เราให้คุณทักษิณมาผูกขาดว่าอะไรคือผลประโยชน์ของประเทศ

คุณทักษิณคิดว่าตัวฉันคือตัวแทนของประเทศไม่เห็นด้วยกับฉันแสดงว่าไม่ใช่คนไทย เพราะฉะนั้นต้องเปิดเวทีให้กว้างเพื่อให้คนได้ถกเถียงอภิปรายกันว่า ผลประโยชน์คืออะไร และผลประโยชน์ที่ถูกต้องชอบธรรมนั้นเป็นอย่างไร เราต้องพร้อมที่จะเปิด ไม่ต้องกลัววุ่นวาย แต่ตอนนี้มันสับสนจนคนไม่น้อยต้องการเผด็จการมาตัดสินให้ แต่ว่าถ้าต้องการความสงบที่ยั่งยืนยาวในโลกยุคปัจจุบัน ต้องยอมรับความหลากหลายในทางผลประโยชน์และทางความคิดในเรื่องระบบของจริยธรรมตามนิยามของแต่ละฝ่ายด้วย

บางฝ่ายเรียกร้องถึงขั้นว่าให้ทหารมาปฏิวัติก็เป็นวิธีชอบธรรม เรียกว่าไม่เลือกวิธีการ
มีปัญหาเดียวคือคนเขาอยากให้มันสงบแล้วใช้วิธีการอะไรก็ได้ ทั้งหมดนี้คิดแบบเดียวกันคือวิธีการอะไรก็ได้ขอให้ได้เป้าหมายที่ต้องการ เป็นวิธีคิดที่ผิดพลาด และถ้าคิดแบบนี้ คือผิดพลาดกันทุกฝ่าย

วิธีคิดคือ วิธีการจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและถูกต้องชอบธรรมด้วย คุณทักษิณใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม คือใช้วิธีการอะไรก็ได้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ อย่างที่เคยพูดว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการซึ่งก็ถูก แต่ถ้าอธิบายว่า ฉันไม่ใช้วิธีการประชาธิปไตยบ้างก็ได้ อันนั้นไม่ถูก ต้องถามว่าต้องการความสงบแล้วให้ทหารมาปฏิวัตินี่ถูกต้องหรือไม่ ให้ถามใจตัวเอง

แต่ในศาสนาพุทธก็มีหลายวิธีการเพื่อให้ถึงเป้าหมายนิพพาน ทำให้มีหลายนิกาย อย่างนิกายตันตระก็ปฏิบัติสวนทางเถรวาทสุดขั้วเลย เช่นให้เสพเมถุนจนละได้

มันเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบกับสถานการณ์ตอนนี้ได้หรือไม่

ความสุดโต่งมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว การที่เราจะเลือกทางสายกลางเป็นเรื่องยาก หรือแม้แต่ในเถรวาทก็มีสุดโต่ง เป็นเรื่องที่เราจะต้องใช้สติปัญญาให้ใกล้กับทางสายกลาง คนเราพอไปยึดมั่นถือมั่นมากเกินไปอย่างที่ภาษาทางพระเรียกว่า อุปาทาน ก็มีแนวโน้มที่จะสุดโต่ง เช่นเพื่อให้ได้ชัยชนะฉันจะทำอะไรก็ได้ อันนี้เป็นปัญหา

แล้วจะดับมันอย่างไร
คือต้องมีสติ ปัญญา และเมตตา

- สติ คืออย่าให้ความโกรธ ความเกลียดเข้ามาครอบงำ ไม่ใช่ว่าหมกมุ่นกับการต่อต้านทักษิณจนนอนไม่หลับ หรือหมกมุ่นจนเห็นใครที่คิดต่างเป็นศัตรู เขาอาจเป็นคนดีก็ได้ วันนี้เขาเห็นต่างกับเรา แต่พรุ่งนี้เขาอาจร่วมมือกับเราก็ได้ ถ้าไม่มีสติมันจะอินและจะแคบ จะมีความอดทนน้อย สติจะเตือนให้เราหลุดพ้นจากการหมกมุ่นจากความโกรธ ความเกลียด

- ปัญญา ก็คือมองไกลๆว่า วันนี้คนที่เราเห็นต่างกัน แต่หลายเรื่องเราก็เห็นเหมือนกันเช่น อาจจะเชียร์แมนยูฯเหมือนกัน ไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐมาบุกอิรักเหมือนกัน รักเทิดทูนในหลวงเหมือนกัน และที่สำคัญคือเป็นคนไทยเหมือนกัน หรือใช้ปัญญาพิจารณาว่า คุณทักษิณไม่ช้าไม่เร็วก็จะต้องไปด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง หรือเพราะแก่ชราภาพ แต่เราทุกคนต้องอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทยนี้แล้วจะทะเลาะกันทำไม อีกไม่นานก็ตายจากกันแล้ว ใช้ปัญญาพิจารณาแบบนี้บ้าง

- สุดท้ายมีเมตตา
จะทำให้จิตใจหายเร่าร้อน เพราะถ้า โกรธ เกลียด คับแคบก็จะทุกข์

แต่ตอนนี้หลายคนกำลังวิตกจนเกิดทุกข์ในนโยบายที่ทักษิณกำลังจะทำ หากมานั่งรอตามหลักศาสนาว่า เดี๋ยวก็แก่ตาย มันจะช้าเกินไปไหม 555555555
ก็ใช่ แต่นั่นคือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และต้องยอมรับว่าถึงคุณทักษิณไปแล้วได้คนใหม่มาอาจจะแย่กว่าก็ได้ เหมือนสมัยก่อนเราก็เบื่อคุณชวน แล้วได้คุณทักษิณมาบ้านเมืองมันดีขึ้นไหม ถนอม-ประภาส เราขับไล่เขาออกไป แล้วเราก็เจออีกหลายคนที่ไม่เข้าท่า หรือยิ่งกว่านั้น

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้มันเป็นวัฏจักรที่เราต้องปลงหรือ
ก็ต้องปลง ใช้ปัญญาพิจารณาว่านี่คืออนิจจังของโลก มันเป็นวัฏจักรแบบนี้ แต่เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่พอเห็นเป็นวัฏจักรแบบนี้ก็งอมืองอเท้าไม่ทำอะไร ถ้าใช้วิธีที่ถูกต้องชอบธรรมก็คือหลักประกันว่า จะมีสันติสุขอย่างแท้จริง

แต่ถ้าใช้อย่างการรัฐประหาร หรือทำให้ปะทะกันเพื่อจะได้มีนายกฯพระราชทาน วิธีการเหล่านั้นคิดว่าเสี่ยงและอาตมาอยากพูดตรงไปตรงมาว่า หากคุณทักษิณลาออก วันนี้เขาจะเป็นวีรบุรุษ คนอีก 20 ปีข้างหน้าจะนึกถึง อย่างที่ทุกวันนี้นึกถึงจอมพลสฤษดิ์ ภาพที่ปรากฏ 5 ปี มันมีความสำเร็จ แต่ถ้าให้ปกครองไปอีกสักพัก ความล้มเหลวจะปรากฏมากขึ้น คนจะเบื่อหน่ายไปเอง และคนอีก 20 ปีข้างหน้าจะไม่นึกถึงคุณทักษิณ

ดังนั้นหากให้คุณทักษิณอยู่ต่อไปก็ดีเหมือนกัน เขาจะหมดสภาพความเป็นตำนาน เพราะคนจะเห็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว และจะเป็นเรื่องดีหาก 20 ปีข้างหน้าเกิดเหตุแล้วสังคมไม่นึกถึงคนอย่างคุณทักษิณ จอมพลสฤษดิ์ โชคดีที่แกอายุสั้น เพราะถ้าแกอายุยืน แกก็จะหมดสภาพอย่างถนอม - ประภาส ที่ครองประเทศ 10 ปี แล้วใครนึกถึงบ้าง

มันต้องแลกกับความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่ และหากมีการต่อต้าน ก็อาจย้อนกลับมาสู่การใช้ความรุนแรง เหมือนการขับไล่จอมพลถนอม-ประภาส
อาตมาไม่คิดแบบนั้น เพราะมองจากตรงนี้ไป คุณทักษิณปกครองประเทศไม่ได้แล้ว จากนี้ไป ถึงเขาจะปกครองได้แค่ไหน จนถึง ปี 2550 - 2551 เขาจะมีสภาพเป็นอย่างไร เศรษฐกิจก็จะแย่ลง ภาพที่เขาสร้างมันก็จะหมดมนต์ขลัง ความรู้สึกของคนในเมืองตอนนี้ก็ไม่ยอมรับเขาแล้ว เขาไม่มีทางผูกขาดอะไรได้อีกแล้ว มันเลยเวลาไปแล้ว

เขามีโอกาสที่จะเป็นรัฐบุรุษ แต่เขาเลือกที่จะเป็นเศรษฐี มากกว่า และวันนี้แกมีโอกาสที่จะเป็นวีรบุรุษ แล้วแกก็ทิ้งโอกาส แกก็ต้องรับกรรมของแกไป อยากบอกคนที่ต้านคุณทักษิณว่าถึงเขาไม่ไปวันนี้ตอนนี้ เขาก็ต้องไปอยู่ดี และจะไปอย่างหมดสภาพด้วย เว้นแต่จะถูกรัฐประหารนะ เขาก็จะกลายเป็นฮีโร่ อาตมามองแบบนี้เลยไม่เดือดร้อนว่าเขาจะไปเมื่อไหร่ ขออย่างเดียวอย่าให้มีการนองเลือด อย่าให้มีรัฐประหาร

มีธรรมมะข้อไหนอยากเทศน์ผ่าน 'ประชาไท' ไปสู่ทั้งสองฝ่ายบ้าง
อาตมาเชื่อว่าทุกคนมีเชื้อแห่งความดีอยู่ในตัว แต่บางครั้งความดีนั้นไม่สามารถที่จะแสดงพลังออกมาได้ มันถูกกลบด้วยความกลัว ความโกรธ ความเกลียด คุณทักษิณแกมีความกลัวไม่น้อย แต่ถ้าหากเรามีเวลานั่งคิดอย่างสงบ พลังแห่งความดีอาจแสดงออกมาให้สิ่งที่ดีได้ บางครั้งความดีจะแสดงออกมาได้ อีกฝ่ายต้องไปกระตุ้นความดีของเขา ให้เบ่งบานในใจ ฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณ ต้องช่วยทำให้ความดีของเขาได้แสดงตัวออกมาและทำความดีให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง

ฝ่ายต้านคุณทักษิณ สิ่งสำคัญอยู่ที่การชนะใจผู้คนในสังคม คุณทักษิณเสียพื้นที่ไป เพราะแกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ว่าฝ่ายต้านเป็นตัวแทนที่ชัดเจนในเชิงจริยธรรม ถ้าทำตรงนี้มากขึ้น จนสามารถชนะใจเขาได้ จะได้รับความเห็นใจจากประชาชนที่เป็นกลางมากขึ้น ซึ่งการชนะใจเป็นสิ่งสำคัญกว่าการชนะด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งทำได้ด้วยสันติวิธี ที่เรียกว่าแข็งขืนอย่างมีอารยะ ถ้าทำได้ จะชนะใจคน และเป็นการปักหมุด ปักเสาเข็มแห่งจริยธรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้มั่นคงมากขึ้น

๒. สู้ระบอบ "ทักษิณ" ด้วยสันติวิธี
9 มีนาคม 2549 โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง : สมาชิกวุฒิสภา
ความรุนแรงทุกๆ ครั้ง มักจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทุกๆ ฝ่าย
การต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีงาม ย่อมสมควรจะต้องใช้วิธีการที่สง่างาม

ผมขอสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงเพื่อเอาชนะกัน ไม่ว่าความรุนแรงนั้น จะมาจากฝ่ายที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก ฝ่ายที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี หรือฝ่ายอื่นใดก็ตาม ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ตัวบุคคล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงสมควรยอมเสียสละ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อยุติปัญหาข้อขัดแย้งของทุกฝ่าย เปิดทางให้นำไปสู่การหาข้อยุติที่สังคมทุกฝ่ายสามารถยอมรับร่วมกัน และขอเรียกร้องให้ผู้ที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะลาออกเพื่อยุติปัญหา โปรดอย่านิ่งเฉย แต่ช่วยกันแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมโดยสันติวิธี ด้วยการพิจารณาวิธีการแสดงออกบนแนวทางสันติตามความเหมาะสม และช่วยกันเผยแพร่ต่อไปด้วย ดังนี้

๑) แสดงออกเพื่อประท้วงในเชิงสัญลักษณ์
เป็นวิธีการต่อสู้เรียกร้องที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ง่ายที่สุด โดยอาจจะร่วมกันพิจารณากำหนดการแสดงออก กิจกรรม หรือการกระทำบางอย่างที่มีนัยยะสื่อความหมายให้สังคมเห็นว่า ใครที่ทำเช่นนี้ แม้ไม่พูด ไม่เถียง ไม่หยุดงานไปประท้วง แต่ก็ให้เข้าใจว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรจะลาออก ตัวอย่างเช่น

(ก) รณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมกันประกวด "การเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง" ภายในกรอบของการใช้ภาษาสุภาพ พร้อมแสดงเหตุผลประกอบส่งตู้ ปณ. ที่มีองค์กรภาคประชาชนดูแลเผยแพร่ โดยส่งไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นกรรมการผู้ตัดสิน เพื่อหาว่าจดหมายฉบับใดสามารถชักจูงให้นายกรัฐมนตรีได้ลาออกได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด จะเป็นผู้ชนะ

(ข) รณรงค์ให้นักบวชในทุกศาสนา ช่วยกันแสดงเทศนาธรรมเกี่ยวกับจริยธรรมในวันพระและวันอาทิตย์โดยพร้อมเพรียงกัน ไม่ว่าจะเป็น พระ โต๊ะอิหม่าม หรือ บาทหลวง เพื่อแสดงเป็นพลังให้เห็นว่า สังคมอยู่ได้ด้วยจริยธรรม สังคมยังต้องการผู้นำที่มีจริยธรรม และปฏิเสธผู้นำที่ปราศจากจริยธรรม

(ค) ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนในประเทศไทย ช่วยกันส่งสำเนาใบเสร็จการเสียภาษีไปให้นายกรัฐมนตรีโดยผ่านตู้ ปณ. ที่มีองค์กรประชาชนดูแลเผยแพร่ เพื่อเป็นการประท้วงว่า การขายหุ้นชินคอร์ปฯ ๗๓,๐๐๐ ล้านโดยไม่เสียภาษีนั้น เป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชาชนผู้ทำมาหากินทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ชักชวนให้เด็กนักเรียนที่ไม่มีภาระเสียภาษี ร่วมกันเดินทางไปมอบดอกไม้เป็นกำลังใจให้แก่ข้าราชการกรมสรรพากร เพื่อกระตุ้นให้เกิดความกล้าที่จะจัดเก็บภาษีจากตระกูลนายกฯ นำเงินเข้าแผ่นดินมาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และดูแลอนาคตของชาติต่อไป

(ง) รณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันจุดเทียนหน้าบ้านของตนเอง ในตอนเที่ยงวันของทุกวัน เพื่อสื่อสัญลักษณ์ดังที่ท่านสมเด็จโต เคยแสดงออกเพื่อสื่อถึงความมืดมิดของบ้านเมืองยามนี้ แม้แสงแดดจะส่องจ้าเพียงใด แต่แสงปัญญาและความถูกต้อง กลับมืดสนิทในสังคม

(จ) ผู้พิพากษาทั่วประเทศ อัยการ ทนายความ นักกฎหมาย อาจารย์สอนกฎหมาย นักเรียนกฎหมาย ตลอดจนผู้มีวิชาชีพเกี่ยวกับกฎหมายทั่วประเทศ อาจจะนัดหมายกันแสดงออกถึงการประท้วงการใช้วิชากฎหมายไปรับใช้การสถาปนาอำนาจของทักษิณ การตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย ตลอดจนการหลบเลี่ยงภาษี โดยนัดกันผูกเนคไทสีดำ หรือแต่งชุดสีดำ ไปทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ อาจจะรวมไปถึงผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ เช่น หมอ พยาบาล ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ

(ฉ) การติดสติ๊กเกอร์ต่างๆ เช่น "ผมไหว้ล่ะครับ ลาออกเถอะ" หรือการกำหนดประโยคพูดคุยทักทายระหว่างประชาชนด้วยกันใหม่ เช่น แทนที่จะทักว่า "สวัสดี" ก็ทักว่า "ทักษิณ" ตอบว่า "ออกไป"

๒) การตัดความร่วมมือของเส้นสายที่เกื้อหนุนอำนาจ "ทักษิณ"
เป็นการแสดงออกเพื่อตัดความร่วมมือ หรือปฏิเสธที่จะเข้าร่วมสนับสนุน หรือร่วมสังฆกรรมกับกลไก ระบบ หรือสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนอำนาจกับระบอบ "ทักษิณ" ตัวอย่างเช่น

(ก) รณรงค์ประชาชนตัดความร่วมมือ โดยปฏิเสธ ไม่ซื้อสินค้าบริการของธุรกิจที่เกื้อหนุนระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น ยกเลิกใช้บริการบริษัทมือถือของทักษิณ ธนาคารของลูกทักษิณ ร้านมินิมาร์ทของธุรกิจที่สนับสนุนทักษิณ สายการบินต้นทุนต่ำของทักษิณ เลิกดูช่องสถานีโทรทัศน์ของทักษิณ เลิกสมาชิกเคเบิลทีวีในเครือของทักษิณ ฯลฯ โดยเลือกไปใช้สินค้าและบริการของเครือข่ายอื่นทดแทน เพื่อให้เป็นการลงโทษผ่านกลไกตลาด

(ข) รณรงค์ประชาชนใช้มาตรการทางสังคม โดยปฏิเสธ ไม่ร่วมมือ ไม่เข้าร่วมกับตระกูลของทักษิณ และตระกูลของนักการเมืองและบริวารแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ไม่ไปร่วมงานแต่งงาน ไม่ไปร่วมงานเลี้ยง หรือเจอที่ไหนก็แสดงท่าทีไม่นับถือ ไม่เคารพ เพื่อให้ญาติมิตรเหล่านั้นต้องไปช่วยสั่งสอนทักษิณต่อไป

(ค) การใช้สิทธิบอยคอตการเลือกตั้งโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และการไม่เข้าร่วมสังฆกรรมกับ กกต. โดยองค์กรภาคประชาชนและข้าราชการท้องถิ่น

(ง) รณรงค์ประชาชนให้ใช้สิทธิทางการเมืองในการเลือกตั้ง ไปในแนวทางเดียวกัน ไปเลือกโดยไม่เลือกผู้ใด เพื่อที่จะปฏิเสธว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม เกิดจากการยุบสภาที่ไม่ชอบธรรม ทำให้สิ้นเปลืองภาษีกว่า 2 พันล้าน โดยใช่เหตุ และไม่แก้ปัญหาใดๆ เลย เพราะผลของการเลือกตั้งไม่อาจบอกได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เนื่องจากผิดหรือถูกเป็นเรื่องต้องพิสูจน์ในข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรมและความน่าเชื่อถือ มิใช่เรื่องที่จะมาโหวตเอาเสียงข้างมาก

(จ) รัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีแผนจะถูกขาย อาจจะร่วมกันให้บริการประชาชานอย่างเต็มความสามารถ โดยยังไม่คิดมูลค่า ประท้วงทักษิณโดยการให้ประชาชนได้ใช้น้ำประปา ใช้ไฟฟ้า หรือใช้โทรศัพท์ได้ก่อนและจ่ายทีหลัง จนกว่านายกฯ จะลาออก เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐวิสาหกิจเหล่านี้เป็นของประชาชน ไม่ใช่แหล่งเงินที่จะมีคนมาชุบมือเปิบเอาไปขาย หรือใช้เป็นเครื่องมือหารายได้เพื่อนำไปโกงกินได้

(ฉ) ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมใจกันตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองในระบอบทักษิณ โดยนำข้อมูลข้อเท็จจริงของการกระทำไม่ถูกต้องเผยแพร่ในทางลับกับสื่อมวลชน และอาจไม่ร่วมมือปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้อง และหากจำเป็นก็ต้องลาหยุดงาน

(ช) ไม่ร่วมมือเป็นลูกค้าหรือทำธุรกิจกับบริษัทสิงคโปร์ ไม่สนับสนุนสินค้า บริการ ของสิงคโปร์ อาทิ เช่น บริษัทธุรกิจทัวร์ อาจจะพิจารณาร่วมมือกันบอยคอตประเทศสิงคโปร์ โดยไม่จัดทัวร์ไปเที่ยวประเทศสิงคโปร์

(ซ) ผู้โดยสารรถแท็กซี่ หากเห็นว่าแท็กซี่คันใดพยายามชวนพูดคุยโดนหว่านล้อมให้เชียร์ทักษิณ ซึ่งมีการทำกันเป็นขบวนการ ก็ควรจะแสดงออกให้คนขับแท็กซี่ได้เห็นว่า ตนไม่ใช่พวกที่ใครจะมาปั่นหัว โดยการขอให้หยุดรถ และขอลงจากรถในทันที (จ่ายเงินค่าแท็กซี่) เพื่อประท้วง และไม่อุดหนุนขบวนการรับจ้างเชียร์ โดยเฉพาะแท็กซี่ที่มีสังกัดองค์กรที่ถูกควบคุม

๓) การประท้วงโดยเข้าไปขวางการใช้อำนาจโดยตรง
เป็นการใช้สันติวิธีที่ผู้ตัดสินใจจะแสดงออก ต้องพร้อมรับผลของการขัดขืนต่ออำนาจที่ตามมา เช่น มีโทษตามกฎหมาย หรือต้องเสียค่าปรับ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น

(ก) การกีดขวางการจราจร การเดินขบวนไปบนท้องถนน การปิดประตูทำเนียบรัฐบาล การกีดขวางประตูสถานที่ราชการ เพื่อมิให้ปฏิบัติงานรับใช้ระบอบทักษิณ

(ข) การที่ประชาชนผู้เสียภาษีพร้อมใจกัน เลื่อนการชำระภาษีเงินได้ออกไป จนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออก เพราะไม่ต้องการให้ผู้บกพร่องทางจริยธรรมเอาเงินภาษีไปหาเสียง

(ค) การเอาตัวเข้าไปขวางรถถังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศจีน ก็จัดอยู่ในแนวทางนี้เช่นกัน สันติวิธีบางอย่างในกลุ่มสุดท้ายนี้ จึงเป็นสันติวิธีที่มีดีกรีแรง จึงไม่แนะนำ แต่เสนอไว้ให้ประกอบการพิจารณา

ท้ายที่สุดแล้ว การจะเลือกใช้สันติวิธีรูปแบบใด ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกของแต่ละบุคคล ที่จะต้องร่วมกันสื่อความหมายให้สังคมได้รู้ด้วยว่า เป็นการแสดงออกถึงจุดยืนอย่างไร
ขอให้เราร่วมกันยึดมั่นในสันติวิธี อย่าให้ความเลวร้ายของระบอบทักษิณ ทำให้เราไขว้เขวออกจากเส้นทางธรรม

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก
สื่อนอกวิพากษ์ไทย : 'พลังประชาชน' ที่เกิดขึ้นผิดเวลา

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ 'เดอะ วอชิงตัน โพสต์' เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 ที่ชื่อว่า Wrong Time for 'People Power' พลิกแง่มุมอีกด้านเพื่อชี้ให้คนไทยเห็นว่า วิธีการต่อสู้และต่อรองกับทักษิณ ชินวัตรในแบบที่เป็นอยู่ อาจเป็นเครื่องมือชั้นดีที่ทำให้ระบอบทักษิณยิ่งมีความเข้มแข็งมากขึ้น 'ประชาไท' ขอนำมาแปลและเสนอ ณ ที่นี้

Wrong Time for 'People Power'
ทักษิณ ชินวัตร ดูแลประชาธิปไตยไทยที่เปราะบางด้วยการบริหารอันอ่อนด้อย เพราะในระหว่าง 5 ปีของการเป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้ผูกขาดสื่อทีวี คุกคามหรือซื้อฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ทั้งในรัฐสภาและสื่ออิสระต่างๆ เขาได้ประกาศสงครามกับยาเสพติด ซึ่งเป็นเหตุให้มีคนถูกฆ่าตายในสงครามนี้ราว 2,500 ราย ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่า เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเท่านั้น แต่นโยบายต่อต้านกองกำลังมุสลิมแถบชายแดนภาคใต้ กลับเป็นการทารุณและละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่า เพราะมันรวมถึงการเสียชีวิตของผู้ถูกจับกุมทั้ง 78 คนที่ขาดอากาศจนตาย นอกจากนี้ทักษิณยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้นำของพม่าอีกด้วย เราได้วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณด้วยเรื่องเหล่านี้มามากแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลของบุชก็ยังให้ความโอบอุ้มเขา ทั้งๆ ที่ก็รู้ดีถึงความผิดพลาดของเขาทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม มิสเตอร์ชินวัตรถือเป็นผู้ที่ถูกเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำอีกครั้งหนึ่งด้วยคะแนนเสียงที่สูงมาก เมื่อมีผู้ออกมาชุมนุมต่อต้านคัดค้าน เขาก็ตอบโต้คนเหล่านั้นด้วยการประกาศให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้นกว่าเดิมถึงหนึ่งเดือน พรรคฝ่ายค้านจึงประกาศไม่ร่วมลงสมัครเลือกตั้งเพื่อเป็นการบอยคอต และเป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนมากพากันออกมาชุมนุมต่อต้าน รวมถึงการเดินขบวนประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งการชุมนุมครั้งที่ผ่านมาน่าจะมีผู้เข้าร่วมเดินขบวนประมาณ 100,000 คน และการชุมนุมครั้งต่อไปจะถูกจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า

ผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับทักษิณได้ประกาศไว้ล่วงหน้าว่า เขาจะขับไล่ทักษิณออกไปจากตำแหน่งให้ได้ด้วย "พลังประชาชน" ซึ่งเคยได้ผลในการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศไทย และก็ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายครั้งหลายคราในช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าคำตอบนี้อาจจะเป็นคำตอบที่ผิดก็ได้

แกนนำการชุมนุมหลายฝ่ายกล่าวว่า พวกเขาไม่อาจยอมรับการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่วิธีแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบทักษิณ ซึ่งเอื้อผลประโยชน์ให้กับตัวทักษิณเองล้วนๆ พวกเขายังกล่าวอีกด้วยว่า ทักษิณได้มอบหมายให้พันธมิตรของเขาเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับผลสำรวจความคิดเห็นหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีการแทรกแซงเกิดขึ้น และถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทักษิณก็จะประสบชัยชนะอีกอย่างง่ายดาย

ถึงแม้ว่าเขาจะไม่สามารถชนะใจนักวิชาการและชนชั้นกลางได้ แต่เขาคือขวัญใจของชาวชนบท และคนเหล่านั้นก็จะให้ความสนับสนุนแก่เขาอย่างแข็งขัน เพราะนโยบายประชานิยมของเขาทำให้ชาวบ้านเห็นว่า มีการพัฒนาเกิดขึ้นจริงๆ และในเมื่อพรรคฝ่ายค้านเลือกจะไม่ลงสมัครเลือกตั้ง นั่นก็คือหนทางที่จะทำให้ทักษิณกลับมาดำรงตำแหน่งในสภาอีกครั้งได้อย่างง่ายดาย

ส่วนการต่อต้านทักษิณด้วยการเดินขบวนประท้วงก็จะเป็นความเสี่ยงของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง เพราะพวกเขาอาจจะต้องเจอกับการปราบปรามอย่างรุนแรงจากกองกำลังทหารซึ่งเคยมีอำนาจครอบงำประเทศไทยมาจนกระทั่งถึงปี 2535 ซึ่งมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจเกิดขึ้น. การประท้วงเช่นนั้นอาจเป็นคำตอบที่ดีสำหรับใช้กับทรราชย์ แต่ขณะเดียวกัน วิธีนี้ก็อาจจะทำให้ขบวนการทางประชาธิปไตยของไทยยิ่งอ่อนกำลังลง และกระบวนการเลือกตั้งก็จะยิ่งอ่อนแอ แม้ว่าการกระทำนั้นจะเกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจอันดีของผู้ที่มีความชอบธรรมก็ตาม

หนทางที่ดีที่สุดที่จะต่อสู้กับทักษิณก็คือ การยอมรับการเลือกตั้งที่ทักษิณเสนอมาให้ รวมถึงยอมรับคำมั่นสัญญาว่า จะแก้ไขปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่เขาเคยพูดเอาไว้ด้วย เพราะถึงที่สุดแล้ว การเมืองของไทยต้องการระบบตรวจสอบและกระบวนการถ่วงดุลที่ดีกว่านี้ เพื่อที่จะได้รับมือกับการปกครองที่ผิดทำนองคลองธรรม ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยน้ำมือของ 'ว่าที่' นายกรัฐมนตรีทักษิณ แต่การประท้วงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่มีทางทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาได้

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
210349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

แน่นอน เพราะตัวบุคคลมันเห็นง่าย แล้วตัวบุคคลเป็นสิ่งที่กระตุ้นความตื่นตัวได้ง่ายกว่า เพราะถ้าพูดถึงระบอบหรือโครงสร้าง คนไม่เข้าใจ คนเห็นภาพไม่ชัด แต่เห็นด้วยว่า คนกำลังไปเพ่งเล็งตัวบุคคลแล้วทำให้เกิดความจงเกลียดจงชังเขามาก ความจงเกลียดจงชังนี้ทำให้สติและปัญญาเราน้อยลง. เหมือนกับเราเคยคิดว่ากำจัดจอมพลถนอม จอมพลประภาส แล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น ก็เกิด 6 ตุลาใหม่ ดังนั้นสังคมไทยต้องมีความยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้ความเกลียดพุ่งไปที่ตัวบุคคล แต่ใช้สติและปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงโครงสร้างซึ่งคุณทักษิณเป็นตัวแทน

The Midnightuniv website 2006