นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



ฐานความรู้เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป (๓)
บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป
เมื่อความถูกต้องทางกฎหมาย อยู่เหนือความถูกต้องทางศีลธรรม(ต่อ)

รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ
บทความขนาดยาวชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน โดยผ่านมาทาง รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์
เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป
สำหรับการขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่ต้องเสียภาษี เป็นไปได้ว่าจะมีการสมคบคิดและ
ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลและสถาบันต่างๆ ช่วยเหลือในการกระทำดังกล่าว
ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ไปในการพัฒนาประเทศนับหมื่นล้านบาท

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 825
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 42 หน้ากระดาษ A4)




เมื่อความถูกต้องทางกฎหมาย อยู่เหนือความถูกต้องทางศีลธรรม (ต่อ)
บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป

ถาม-ตอบ ประเด็นโครงสร้างการซื้อกิจการของ Temasek
1) ทำไม Temasek จึงไม่ซื้อหุ้น ADVANC ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานมือถือ โดยตรงจาก SHIN ทำไมไปซื้อหุ้น SHIN ซึ่งเป็นเพียงบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มชินคอร์ปเท่านั้น?

จริงๆ แล้ว ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางธุรกิจ เพราะในฐานะผู้ซื้อ Temasek มีสิทธิเต็มที่ที่จะเลือกว่า อยากซื้อหุ้นของบริษัทใดบ้างในกลุ่ม SHIN แต่ก็มีข้อน่าสังเกตดังนี้:

1. SHIN เป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่ม มี ADVANC เป็นบริษัทหลักที่ทำรายได้สูงถึง 94% ของรายได้ทั้งกลุ่ม

2. การซื้อหุ้นที่ระดับ SHIN ไม่ใช่ ADVANC จะช่วยให้บริษัท SHIN ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะผู้ถือหุ้นของ SHIN เป็นบุคคลธรรมดา ที่ได้รับการผ่อนผันให้ไม่ต้องเสียภาษีถ้าขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ (แต่ประเด็นนี้ก็มีข้อกังขามาก - ดูประเด็นที่ 18) ประกอบ)

3. Temasek แจ้งในคำขอผ่อนผันไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น SATTEL และ ITV ว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้าครอบงำกิจการของบริษัททั้งสองแห่ง

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางธุรกิจ ไม่ใช่ประเด็นกฎหมาย ไม่มีกฎหมายข้อใดที่บังคับว่า Temasek ต้องซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้น SHIN

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "ไม่น่าเกลียด" - เป็นประเด็นทางธุรกิจ ที่ยังไม่มีใครรู้เจตนาของ Temasek อย่างชัดเจน ต้องรอดูว่า หลังเทนเดอร์หุ้น SHIN กับ ADVANC จบแล้ว จะจัดโครงสร้างของกลุ่มชินอย่างไรต่อไป

2) ทำไม Temasek จึงต้องตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาหลายชั้น หลายบริษัทเพื่อรับซื้อหุ้น SHIN ทำไมไม่ซื้อหุ้น SHIN โดยตรง?

ประเด็นนี้ส่วนหนึ่งคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบก. มติชน ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนในบทความเรื่อง "ชินคอร์ป: บริษัทไทย - หัวใจสิงคโปร์?" จึงขออนุญาตตัดตอน เรียบเรียง และเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุผลในการตั้ง Aspen Holdings ดังต่อไปนี้:

2.1) เหตุผลในการตั้งบริษัท กุหลาบแก้ว, บริษัท Cypress Holdings, และบริษัท Cedar Holdings
SHIN ถือหุ้นอยู่ในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประกอบกิจการด้านโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชน ซึ่งถือเป็นบริการที่มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ดังต่อไปนี้ (กรุณาดูแผนผังโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่ม SHIN ข้างต้นประกอบ):

1. ADVANC : SHIN ถือหุ้นอยู่ 42.8% ในขณะที่ SingTel ของสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่ 19.2%
2. SATTEL : SHIN ถือหุ้นอยู่ 51.38%
3. ITV : SHIN ถือหุ้นอยู่ 53%

ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549 ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 มกราคม 2549 (เพียง 2 วันก่อนวันเซ็นสัญญาขายหุ้น) นั้น ADVANC และ SATTEL จะมีบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นต่างด้าวถือหุ้นเกิน 49% ไม่ได้

สำหรับ ITV ซึ่งทำธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน รัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรคห้า บัญญัติไว้ว่า "เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ซึ่งหมายความว่า ผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนต้องมีต่างด้าวไม่ถึง 50%

ถ้าครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ Temasek โดยตรง จะทำให้บุคคลต่างชาติถือหุ้นอยู่ใน SHIN ถึงกว่า 90% SHIN จะกลายเป็นนิติบุคคลต่างด้าวทันที ทำให้การถือหุ้นของ SHIN ใน ADVANC และ SATTEL ขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมทันที แม้จะมีการขยายสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่างด้าวเข้าไปถือหุ้นได้ถึง 49% แล้วก็ตาม

กล่าวคือ ADVANC จะมีบุคคลต่างด้าวถือหุ้นอยู่กว่า 62% (SHIN 42% + SingTel 19.2%) ขณะที่ SATTEL จะมีบุคคลต่างด้าวถืออยู่ 51.38%

ในขณะที่ ITV จะมีต่างด้าวถืออยู่กว่า 53% ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้ Temasek ไม่สามารถซื้อหุ้นจากครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์โดยตรง ต้องตั้งบริษัทโฮลดิ้ง (บริษัท Cedar Holdings) สัญชาติไทยขึ้นมารับซื้อหุ้นแทน เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ SHIN กลายเป็นนิติบุคคลต่างด้าว

วิธีการที่หลีกเลี่ยงมิให้ Cedar Holdings ไม่เป็นนิติบุคคลต่างด้าวก็ให้บริษัท Cypress Holdings ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Temasek สัญชาติสิงคโปร์ถือหุ้นในบริษัท Cedar Holdings เพียง 48.99% และจัดตั้งบริษัทสัญชาติไทยคือ บริษัท กุหลาบแก้ว ถือหุ้นสูงถึง 41.1% และให้ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นอีก 9.9% รวมแล้วเป็น 51.1%

แค่นี้ Cedar Holdings ก็แปลงสัญชาติเป็นนิติบุคคลไทยเรียบร้อย

2.2) เหตุผลในการตั้งบริษัท Aspen Holdings
ทีนี้ก็มาถึงคำถามสุดท้ายเกี่ยวกับโครงสร้างการถือหุ้นอันสลับซับซ้อน: ทำไม Temasek จึงตั้ง Aspen Holdings ขึ้นมาถือหุ้น SHIN อีกบริษัทหนึ่ง? ทำไมไม่ใช้ Cedar Holdings บริษัทเดียว ถือหุ้นที่รับซื้อจากครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ทั้งหมด 49.59% ไปเลย? ทำไมต้องแบ่งหุ้น 10.97% ให้ Aspen Holdings ถือ?

คำตอบน่าจะเป็นเพราะ Temasek ต้องการ "ล็อค" สัดส่วนผู้ถือหุ้นไทยใน SHIN ให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่กฎหมายอนุญาตเพื่อคงสภานภาพความเป็น "นิติบุคคลไทย" คือ 50.01%

การซื้อหุ้น SHIN จำนวน 49.59% ทำให้ Temasek มีภาระต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (mandatory tender offer) หุ้นทั้งหมดของ SHIN เพราะการเข้าซื้อหุ้นจำนวนนี้ทำให้ Temasek "ก้าวข้าม" จุดการถือหุ้น 25% ซึ่งเป็นจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อต่อผู้ถือหุ้น SHIN รายอื่นๆ (อ่านคำอธิบายเรื่อง tender offer โดยละเอียดได้ในคำตอบประเด็นที่ 6) ของบทความนี้)

ในการทำคำเสนอซื้อหุ้น 100% ของ SHIN นั้น Temasek จะต้องเตรียมเงินทุนให้เพียงพอสำหรับกรณีที่ผู้ถือหุ้น SHIN ทุกรายมาขายหุ้นคืนให้ ในราคาเสนอซื้อที่ 49.25 บาท และต้องเตรียมคำนวณไว้ล่วงหน้าว่า สัดส่วนระหว่างผู้ถือหุ้นไทย กับผู้ถือหุ้นต่างด้าวของ SHIN ในกรณีนั้น จะอยู่ที่ประมาณเท่าไร

ก่อนวันที่ 20 มกราคม 2549 มีผู้ถือหุ้นต่างด้าวใน SHIN รวมกันประมาณ 39.02% และผู้ถือหุ้นไทยอีกประมาณ 11.39% ดังนั้นถ้าหากผู้ถือหุ้นไทยทั้งหมดมาขายหุ้นให้ Cedar Holdings และไม่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติขายหุ้น ก็แปลว่าถ้า Cedar Holdings (ซึ่งโดยนิตินัยมีสัญชาติไทย) ถือหุ้นที่ซื้อมาจากครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ทั้ง 49.59% ก็จะทำให้ SHIN มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยอย่างน้อยจำนวน 49.59% + 11.39% = 60.98% ซึ่งมากเกินความจำเป็นทางกฎหมายที่จะทำให้ SHIN รักษาสถานภาพนิติบุคคลไทยได้ คือ 50.01% หากมีผู้ถือหุ้นต่างชาติขายหุ้นออกมา สัดส่วนนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ดังนั้น ถ้า Temasek ตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาอีกหนึ่งบริษัท ที่เป็นบริษัทต่างด้าว ให้ถือหุ้นจำนวน 49.99% (สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างด้าวที่กฎหมายอนุญาต) - 39.02% (สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างด้าวก่อนทำดีล โดยใช้สมมติฐานว่าไม่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติขายหุ้นออก) = 10.97% ก็จะสามารถ "ล็อค" สัดส่วนผู้ถือหุ้นไทยใน SHIN ให้อยู่ที่ระดับเพียง (49.59% - 10.97%) + 11.39% (ผู้ถือหุ้นไทยนอกเหนือจากกลุ่มชินวัตร-ดามาพงศ์) = 50.01% ซึ่งเท่ากับสัดส่วนการถือหุ้นขั้นต่ำ ที่จะทำให้ SHIN ยังถือเป็นบริษัทไทยตามกฎหมาย

บริษัท Aspen Holdings จึงถือกำเนิดขึ้นมาถือหุ้น 10.97% ด้วยประการฉะนี้!

(อนึ่ง หากท่านสงสัยว่า ทำไมการบริหารจัดการของบริษัท กุหลาบแก้ว และ Cedar Holdings จึงถูกควบคุมโดยสิงคโปร์ได้ ทั้งๆ ที่มีคนไทยถือหุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่ง เชิญอ่านคำตอบประเด็นที่ 3) ถัดไปโดยพลัน)

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถูกต้อง 100% - แหม อุตส่าห์ตั้งโฮลดิ้งขึ้นมาหลายชั้นขนาดนี้ ไม่ถูกกฎหมายเรื่องสัญชาติบริษัทก็ให้มันรู้ไป!

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "ไม่น่าเกลียด" - การใช้บริษัทโฮลดิ้งหลายชั้นหลายบริษัทในการทำดีลเทคโอเวอร์นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนหนึ่งเพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ การซื้อหุ้นครั้งนี้อาจทำให้บริษัทลูกของ SHIN ผิดกฎหมายเพราะกลายเป็นบริษัทต่างด้าวไป อย่างไรก็ตาม กรุณาพิจารณาคำตอบประเด็นที่ 3) ถัดไปประกอบ

3) ตอนนี้ SHIN ยังเป็นบริษัทไทยอยู่หรือไม่?
ประเด็นนี้คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบก. มติชน ก็ได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วเช่นกันในบทความเรื่อง "ชินคอร์ป: บริษัทไทย - หัวใจสิงคโปร์?" จึงขอตัดตอน เรียบเรียง และขยายความเพิ่มเติมอีกบางส่วนมาไว้ ณ ที่นี้:

วิธีการควบคุม SHIN อย่างถูกกฎหมาย คือต้องทำให้ SHIN ยังคงสถานภาพเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ในขณะที่ทุนและอำนาจการควบคุมบริษัทซึ่งเป็น "หัวใจ" สำคัญ จะเป็นของสิงคโปร์ก็ตาม

วิธีการดังกล่าวเริ่มจาก:
ขั้นที่หนึ่ง Temasek ต้องจัดตั้งนิติบุคคลสัญชาติไทยขึ้นมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นเกิน 50% ซึ่งในการนี้ Temasek ได้จัดตั้งบริษัท กุหลาบแก้ว (ประชุมตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 ก่อนซื้อหุ้น SHIN 11 วัน) โดยให้บริษัท Cypress Holdings (เป็นนิติบุคคลต่างด้าว) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ถือหุ้น 4,900 หุ้น หรือ 49% ในบริษัท กุหลาบแก้ว

ตามปกติแล้ว เมื่อบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างมาก ย่อมมีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นหรือมีอำนาจในการควบคุมบริษัทมากกว่าฝ่ายสิงคโปร์ แต่ในทางกฎหมาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ให้แต่ละบริษัทสามารถกำหนดให้มีหุ้นบุริมสิทธิได้ นอกเหนือจากหุ้นสามัญทั่วไป โดยหุ้นบุริมสิทธิจะด้อยสิทธิมากกว่าหุ้นสามัญทั่วไป เช่น มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นน้อยกว่า

ในการประชุมจัดตั้งบริษัท กุหลาบแก้ว ที่ประชุมมีมติให้หุ้นที่บุคคลสัญชาติไทยถืออยู่ 51% เป็นหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมด โดยหุ้นบุริมสิทธิ 10 หุ้น มีสิทธิออกเสียงได้เพียง 1 เสียง ซึ่งจะทำให้บุคคลสัญชาติไทยในบริษัทมีเสียงเพียง 510 เสียง ในการประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น

ขณะที่ Cypress Holdings ถือหุ้นสามัญอยู่ 4,900 หุ้น สามารถออกเสียงได้ 1 หุ้นต่อ 1 เสียง จึงสามารถออกเสียงในการประชุมได้ 4,900 เสียง อำนาจเบ็ดเสร็จจึงอยู่กับฝ่ายสิงคโปร์ (4,900 เสียงสิงคโปร์ ต่อ 510 เสียงไทย หรือคิดเป็น 90.6% ต่อ 9.4%)

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังจำกัดการรับเงินปันผลหุ้นบุริมสิทธิของบุคคลสัญชาติไทยไว้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น เงินปันผลที่เหลือทั้งหมดจะตกอยู่กับผู้ถือหุ้นฝ่ายสิงคโปร์

ดังนั้น แม้บริษัท กุหลาบแก้ว จะเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย แต่เสียงในการควบคุมบริษัทซึ่งเป็น "หัวใจ" สำคัญอยู่กับฝ่ายสิงคโปร์ทั้งหมด บุคคลสัญชาติไทยเป็นเพียง "ตัวแทน" ของฝ่ายสิงคโปร์เท่านั้น

ขั้นที่สอง เมื่อจัดตั้งบริษัท กุหลาบแก้ว เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยแล้ว ก็ต้องจัดตั้งนิติบุคคลสัญชาติไทยอีกแห่งเพื่อดึงพันธมิตรอื่นเข้ามาร่วม ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยนิติบุคคลแห่งที่ 2 คือบริษัท Cedar Holdings ทั้งนี้ สิงคโปร์ต้องมีอำนาจควบคุมบริษัทแห่งนี้แบบเบ็ดเสร็จ เพราะจะเป็นบริษัทที่เข้าไปซื้อหุ้น SHIN โดยตรง

บริษัท Cedar Holdings มีบริษัท Cypress เข้าถือหุ้น 48.99% เพื่อมิให้เป็นนิติบุคคลต่างด้าว ขณะที่ให้บริษัท กุหลาบแก้ว ซึ่ง Cypress Holdings ควบคุมอยู่ถือหุ้น 41.1% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ถืออยู่ 9.9%

ดังนั้น แม้ในทางรูปแบบของกฎหมาย Cedar Holdings จะมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นอยู่ 51% แต่เมื่อดูเสียงผู้ถือหุ้นในการควบคุมบริษัทซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจแล้ว Temasek ของสิงคโปร์มีเสียงผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ถึง 90% (Cypress Holdings 48.99% + กุหลาบแก้ว 41.1%) ซึ่งมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในการดำเนินกิจการบริษัท

จากข้อเท็จจริงทั้งหมด คำยืนยันของนายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร SHIN ที่ว่า "Cedar เป็นบริษัทคนไทย จึงส่งผลให้ SHIN ยังเป็นของคนไทยด้วย" นั้น ถูกต้องในรูปแบบของกฎหมาย แต่สิ่งที่นายบุญคลีไม่ได้บอกคือ "หัวใจ" นั้นกลายเป็นของสิงคโปร์เรียบร้อยไปแล้ว

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถูกต้อง 100% - กฎหมายไทยยังใช้ "จำนวนหุ้น" ในการตัดสิน "สัญชาติ" ของบริษัท มิใช่ "สิทธิออกเสียง" ของหุ้นทั้งหมด อย่างที่ควรจะเป็น (เพราะในความเป็นจริง อำนาจควบคุมบริษัทมาจาก "สิทธิออกเสียง" ของหุ้น มิใช่จำนวนหุ้น) ซึ่งกฎนี้นับว่ายังล้าหลังประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "น่าเกลียดเป็นปกติ" - การออกหุ้นบุริมสิทธิให้กับคนไทยที่ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า เพื่อให้มีสิทธิออกเสียงน้อยกว่าหุ้นที่ออกให้คนต่างด้าวนั้น เป็น "ทริค" ของบริษัทต่างด้าวในการเทคโอเวอร์บริษัทไทย ที่รู้และใช้กันมานานหลายสิบปีในหลากหลายธุรกิจ ดังนั้น ถึงการกระทำของ Temasek จะ "น่าเกลียด" ในแง่ที่มีเจตนาจะเลี่ยงกฎหมาย แต่ก็เป็นสิ่งที่มีตัวอย่างให้เห็นก่อนหน้านี้ มากมายหลายกรณี

ดังนั้นประเด็นที่สำคัญกว่าคือ เมื่อไหร่ที่เราจะแก้กฎหมาย ให้นับ "สัญชาติ" ของบริษัท ตาม "สิทธิออกเสียง" ของหุ้นเสียที เพื่อมิให้คนอาศัยช่องโหว่นี้ไปเรื่อยๆ?

4) ทำไม Temasek จึงต้องกู้เงินส่วนหนึ่งที่ใช้ซื้อหุ้น คือ 30,000 ล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์ไทยสองแห่ง?
การใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนส่วนหนึ่งในการเทคโอเวอร์ เป็นเรื่องปกติในการทำธุรกรรมแบบนี้ เพราะเป็นการลดความเสี่ยงจากการใช้เงินทุนของผู้ซื้อ (กรณีนี้คือ Temasek) และมีต้นทุนทางการเงินที่ "ถูกกว่า" การใช้หุ้นด้วย

นอกจากนี้ การกู้ยืมเงินเป็นบาทจากธนาคารในประเทศ ยังช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการซื้อหุ้น 49.59% ของครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ มีมูลค่าสูงถึง 73,000 ล้านบาท แปลว่าถ้า Temasek เอาเงินสิงคโปร์ดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาทจำนวนขนาดนี้เพื่อมาซื้อหุ้นในไทย จะต้องเผชิญกับภาวะ "บาทแข็ง" อย่างไม่ต้องสงสัย (ซึ่งแปลว่าเงินสิงคโปร์ดอลลาร์อ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ทำให้ต้นทุนของ Temasek ในรูปเงินสิงคโปร์ดอลลาร์สูงขึ้น) ดังนั้น การใช้เงินซื้อหุ้นส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้บาทจากธนาคารไทย สามารถช่วยลดความเสี่ยงในจุดนี้ได้

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางธุรกิจ ไม่ใช่ประเด็นกฎหมาย

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "ไม่น่าเกลียด" - Temasek มีสิทธิและความชอบธรรมที่จะหาแหล่งเงินทุนในการซื้อหุ้นจากที่ไหนก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย ในขณะเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพ ก็มีสิทธิที่จะปล่อยกู้ให้กับลูกค้าบริษัทใดก็ได้ ที่ธนาคารวิเคราะห์สถานะทางการเงินแล้วเห็นว่า มีความสามารถในการชำระหนี้คืน Temasek เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลสิงคโปร์ ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง จึงไม่น่าจะมีข้อครหาในเรื่องนี้

5) ทำไม Temasek จึงไม่ซื้อหุ้น 10.98% จาก Ample Rich โดยตรงในวันที่ 23 มกราคม 2549 เหมือนที่ซื้อจากผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ แทนที่จะซื้อผ่าน น.ส. พินทองทา และนายพานทองแท้ก่อนในวันที่ 20 มกราคม 2549?
ตามกฎหมายสิงคโปร์ Temasek ไม่สามารถซื้อหุ้นจากบริษัทที่เป็นนอมินีของผู้ถือหุ้นที่แท้จริงได้ แต่ถึงแม้ Temasek จะขอผ่อนผันเรื่องนี้กับรัฐบาลสิงคโปร์ Temasek ก็ไม่น่าจะอยากซื้อหุ้นจาก Ample Rich โดยตรง เพราะรู้ดีว่า Ample Rich เป็นเพียงบริษัทนอมินีของกลุ่มชินวัตร ที่จดทะเบียนอยู่ใน BVI ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็น "สวรรค์" สำหรับนักธุรกิจไม่สุจริตที่ต้องการเลี่ยงภาษี และฟอกเงิน การซื้อหุ้นโดยตรงจากบริษัทนอมินีสัญชาติ BVI อาจทำให้ Temasek ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ ตกเป็นที่ครหาของประชาชน และสื่อมวลชนในสิงคโปร์ได้ ดังนั้น Temasek น่าจะยืนกรานที่จะซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ เท่านั้น ไม่ใช่จากบริษัทนอมินีใดๆ ของกลุ่ม

สำหรับข้อสังเกตที่ว่า การขายหุ้นของ Ample Rich ผ่านน.ส. พินทองทา และนายพานทองแท้ อาจเป็นเทคนิคการหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีเงินได้ เพราะกฎหมายยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นให้เฉพาะบุคคลธรรมดานั้น ผู้เขียนคิดว่าไม่น่าจะเป็นเหตุผลหลัก เพราะการขายหุ้นของ Ample Rich มาให้น.ส. พินทองทา และนายพานทองแท้ ที่ราคา 1 บาทต่อหุ้น ก็น่าจะทำให้ Ample Rich มีภาระภาษีในส่วนนี้อยู่ดี เพราะขายหุ้นนอกตลท. ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดของหุ้น SHIN มาก (ดูคำอธิบายประเด็นนี้โดยละเอียด ในข้อ 19) ของบทความนี้)

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางธุรกิจ ไม่ใช่ประเด็นกฎหมาย การตัดสินว่าจะซื้อหุ้น SHIN จากใคร ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ Temasek และการเจรจากับผู้ถือหุ้น SHIN จริงๆ แล้วข้อนี้เราต้องขอบคุณกฎหมายสิงคโปร์ และนโยบายของ Temasek ที่บังคับให้ Ample Rich ต้องขายหุ้นคืนมาให้น.ส. พินทองทา และนายพานทองแท้ก่อน ทำให้คนไทยตาสว่างเมื่อเห็นชัดว่า Ample Rich คือนอมินีของใคร ว่าพฤติกรรม "ซุกหุ้น" ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นั้น ไม่ได้จืดจางลงในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาแม้แต่น้อย

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "ไม่น่าเกลียด" - ด้วยเหตุผลเดียวกับประเด็น "ความถูกต้องทางกฎหมาย" ข้างต้น

ถาม-ตอบ ประเด็นกระบวนการทำ tender offer และราคา tender offer
ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นที่เหลือของบทความ ควรอธิบายกฎเกณฑ์หลักๆ ของตลท. กลต. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไว้เป็นสังเขป เพื่อปูพื้นให้กับคนที่อาจไม่คุ้นเคยกับกฎของตลท. และกลต. เพราะการทำความเข้าใจประเด็นต่อไปนี้ต้องใช้กฎเกณฑ์หลายข้อประกอบกัน

มาตราทั้งสองที่จะอ้างถึงต่อไปนี้มาจาก พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปี พ.ศ. 2535 (เรียกย่อๆ ว่า "พ.ร.บ. หลักทรัพย์")

ก่อนอื่น นิยาม "บุคคลที่เกี่ยวข้องกัน" อยู่ในมาตรา 258 พ.ร.บ. หลักทรัพย์ ดังนั้น คนในแวดวงการเงินจึงมักเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนใดคนหนึ่งว่าเป็น "258" เช่น "พ.ต.ท. ทักษิณ เป็น 258 ของคุณหญิงพจมาน" เป็นต้น

มาตรานี้กำหนดให้บุคคลบางคนนับรวมเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน เช่น สามี ภรรยา ลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และบริษัทที่คนเหล่านี้ถือหุ้นรวมกันเกิน 30% ให้ถือเป็น 1 "บุคคล" และเป็น 1 หน่วยการรายงาน ต้องนำหุ้นของบริษัทเดียวกันมานับรวมกันในการรายงานต่อกลต. เป็นต้น เหตุที่กฎหมายเขียนให้มีความซับซ้อนยุ่งยากเช่นนี้ ก็เพราะกฎหมายมีเจตนาที่จะปกป้องนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมาตรา 258 นี้ปกป้องด้วยการห้ามไม่ให้นักลงทุนรายใหญ่เงินหนาปกปิดการถือหุ้นและการซื้อขายหุ้นของตัวเอง ด้วยการกระจายหุ้นให้เครือญาติให้แต่ละคนถือหุ้นปริมาณน้อยๆ เพื่อจะได้ซื้อขายสะดวก ไม่ตกเป็นเป้าสายตาของ กลต. แน่นอนว่าภายหลังพ่อค้าหัวใสก็เริ่มหลีกเลี่ยงโดยการโอนหุ้นให้คนใต้อาณัติแทนที่จะให้เครือญาติ เช่น ให้คนขับรถบ้าง ให้คนใช้บ้าง ให้คนสวนบ้าง ดังที่เคยปรากฏตัวอย่างมาแล้ว

เพราะฉะนั้น หากจะนับ 258 ในครอบครัวชินวัตร เมื่อปี 2543 นั้น เราสามารถนับได้สองกลุ่ม คือกลุ่มของนายกฯ ซึ่งคือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร + คุณหญิงพจมาน + น.ส. พินทองทา (ณ ขณะนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ) และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของนายพานทองแท้ซึ่ง ณ ขณะนั้นบรรลุนิติภาวะเรียบร้อยแล้วและมีอยู่เพียงคนเดียว ดังนั้นการโอนหุ้น Ample Rich ระหว่างนายกฯ กับลูกชายนั้น สายตาของกฎหมายจะเห็นว่าเป็นการโยนลูกกันระหว่างสองบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน นายกฯ ก็ส่วนนายกฯ และ นายพานทองแท้ก็ส่วนนายพานทองแท้

ทีนี้มาถึงมาตรา 247 เรื่องการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ มาตรานี้บังคับว่า บุคคลใด (รวม 258 ของบุคคลนั้นด้วย) ที่ซื้อหุ้นในบริษัทจดทะเบียนจนก้าวข้ามจุดการถือหุ้นจุดใดจุดหนึ่งดังต่อไปนี้คือ 25% 50% และ 75% บุคคลนั้นจะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายอื่น หรือที่เรียกว่า mandatory tender offer กล่าวคือ ถ้าเคยถืออยู่ 24% แล้วได้หุ้นอีก 2% รวมเป็น 26% จะต้องทำเทนเดอร์ ยกเว้นจะได้รับการผ่อนผันจาก กลต. หรือเข้าข่ายได้รับยกเว้น (เช่น เป็นหุ้นที่ได้มาโดยมรดก)

เกณฑ์นี้ใช้บังคับเพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทที่ถูกซื้อ ได้มีโอกาสตัดสินใจว่าอยากขายหุ้นหรือไม่ เพราะการเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 25% หรือมากกว่าของผู้ถือหุ้นรายใหม่ เป็นการเข้ามามีส่วนได้เสียในสาระสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร หรือนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ได้

การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ตามมาตรา 247 ที่เอ่ยถึง หรือ mandatory tender offer นั้น เป็นกรณีที่บริษัทผู้ซื้อถูก "บังคับ" ตามกฎหมาย ให้ทำเทนเดอร์ แต่โดยปกติ บริษัทใดๆ ก็สามารถยื่นเทนเดอร์เอง โดยที่ถือหุ้นยังไม่ถึง 25% ก็ได้ กรณีนี้เรียกว่าเป็นการ "ทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจ" (voluntary tender offer) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ Temasek ใช้ในการทำเทนเดอร์หุ้น ADVANC (จะกล่าวถึงในลำดับต่อไป)

นอกจากนี้ กลต. ยังมีกฎเกณฑ์ว่าด้วย "การครอบงำกิจการผ่านนิติบุคคลอื่น" (chain principle) ซึ่งใช้สำหรับกรณีที่กลุ่มบริษัทใดมีบริษัทจดทะเบียนในตลท. มากกว่าหนึ่งแห่ง (เช่น กลุ่ม SHIN มี SHIN, ADVANC, SATTEL, ITV และ CSL เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลท.) กฎนี้บอกว่า

ถ้าผู้ซื้อเข้ามามีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคล (เช่น SHIN) ที่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการอื่นที่จดทะเบียนอยู่ก่อนแล้ว (เช่น ADVANC ซึ่ง SHIN ถือหุ้นอยู่ 42.86%) ไม่ว่าการมีอำนาจควบคุมนั้นจะเกิดขึ้นโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ผ่านการถือหุ้นหรือการควบคุมในนิติบุคคลอื่นเป็นทอด ๆ จนถึงนิติบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ บุคคลนั้นต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ ถ้าได้หุ้นมาถึง trigger point ต่างๆ ยกเว้นว่าการได้มานั้นมิได้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการครอบงำกิจการ (เช่น สมมุติว่าถ้าการเทนเดอร์หุ้น SHIN ทำให้ Temasek กลายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมใน ADVANC ทั้งๆ ที่ไม่ได้ต้องการธุรกิจของ ADVANC กรณีนี้ Temasek ก็ขอผ่อนผันไม่ต้องทำเทนเดอร์ ADVANC ต่อกลต. ได้)

ตามกฎ กลต. ระยะเวลาในการทำเทนเดอร์ต้องไม่น้อยกว่า 25 วัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีเวลาตัดสินใจเพียงพอ ว่าอยากขายหรือไม่

6) ทำไม Temasek จึงต้องยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ SHIN?
การซื้อหุ้น 49.59% ของครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ทำให้ Temasek ต้องยื่นเทนเดอร์สำหรับหุ้น SHIN ทั้งหมด เพราะ 49.59% เกินจุดการถือหุ้นแรกที่ต้องทำคำเสนอซื้อตามมาตรา 247 คือ 25%

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถูกต้อง 100% - เรื่องนี้ Temasek ปฏิบัติตามมาตรา 247 ชัดเจน

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "ไม่น่าเกลียด" - ด้วยเหตุผลเดียวกับประเด็น "ความถูกต้องทางกฎหมาย" ข้างต้น

7) ราคาที่ Temasek เสนอซื้อหุ้น SHIN นั้น สมเหตุสมผลหรือไม่?
ตามกฎ กลต. ราคาที่ใช้ในการทำ mandatory tender offer จะต้องเป็นราคาสูงสุดที่ผู้ทำคำเสนอซื้อ (คือ Temasek ในกรณีนี้) ได้หุ้น SHIN มา ภายใน 90 วันก่อนวันยื่นเทนเดอร์ ดังนั้น Temasek จึงต้องใช้ราคาเดียวกับราคาที่ซื้อหุ้นจากครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ คือ 49.25 บาทต่อหุ้น

ต่อคำถามว่าราคา 49.25 บาทต่อหุ้น เป็นราคาที่ "เหมาะสม" หรือไม่นั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นราคาที่ค่อนข้าง "แพง" เมื่อเทียบกับดีลเทคโอเวอร์อื่นๆ ในธุรกิจโทรคมนาคม กล่าวคือ ราคานี้คิดเป็นเกือบ 4 เท่าของมูลค่าทางบัญชีของ SHIN ในขณะที่อีกสองดีลที่เกิดเมื่อเร็วๆ นี้ คือ การซื้อหุ้น 10% ในบริษัทเกาหลีใต้ชื่อ KT Freetel โดยยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมญี่ปุ่น NTT DoCoMo และการขายหุ้นของครอบครัวเบญจรงค์กุลให้กับพันธมิตรชาวนอร์เวย์คือ Telenor ASA ราคาซื้อคิดเป็นประมาณ 2 เท่าของมูลค่าทางบัญชีเท่านั้น นอกจากนี้ ข้อมูลจากบริษัท Dealogic ซึ่งเก็บข้อมูลดีลเทคโอเวอร์อย่างละเอียด ชี้ว่า อัตราส่วนราคาซื้อต่อมูลค่าทางบัญชีของบริษัทโทรคมนาคมในทวีปเอเชีย ตลอดทั้งปี 2548 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.2 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อมองว่าบริษัทลูกของ SHIN คือ ADVANC นั้นเป็นผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มว่าจะได้ใบอนุญาตให้ทำคลื่น 3G ค่อนข้างแน่นอน ราคานี้ไม่ถึงกับ "แพงจนไร้เหตุผล" ทีเดียวนัก

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถูกต้อง 100% - เรื่องนี้ Temasek ปฏิบัติตามกฎ กลต. เรื่องราคาที่ต้องใช้ในการทำ mandatory tender offer คือใช้ราคาสูงสุดที่ได้หุ้นมาภายใน 90 วัน

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "ไม่น่าเกลียด" - ดังกล่าวข้างต้น ราคา 49.25 บาทต่อหุ้นดู "แพงไป" แต่ก็ไม่ได้เป็นราคาที่สูงเสียจนทำให้ใครแคลงใจได้ว่า Temasek ได้รับ "ผลประโยชน์แอบแฝง" อื่นใดที่มีมูลค่ามหาศาล ในการซื้อหุ้นครั้งนี้หรือไม่ (จริงอยู่ นายกฯ อาจให้ "คำสัญญา" เกี่ยวกับ 3G ที่ยังไม่มีสิทธิให้ เพราะกทช. ยังไม่ได้กำหนดโครงสร้าง แต่ด้วยความแข็งแกร่งของ ADVANC ก็คงเป็นเรื่องแปลกหาก ADVANC จะไม่ได้รับใบอนุญาต 3G ดังนั้นเรื่องคำสัญญานี้ จึงไม่น่าเกลียดเท่าไรนัก)

8) ทำไม Temasek จึงต้องยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ADVANC?
ก่อนการซื้อหุ้น SHIN นั้น Temasek ถือหุ้น ADVANC อยู่ 19.26% ผ่านบริษัทลูกคือ SingTel ซึ่ง SHIN ถือหุ้น 60% ในขณะที่ SHIN ถือหุ้น ADVANC อยู่ 42.86% ดังนั้น เมื่อ Temasek มาถือหุ้น 49.59% ใน SHIN และมีเจตนาครอบงำกิจการ SHIN เพราะทำเทนเดอร์หุ้นทั้งหมดของ SHIN อยู่ จึงเท่ากับว่า Temasek และบริษัทในเครือจะถือหุ้น ADVANC รวม 42.86% + 19.26% = 62.12% ซึ่งมีอำนาจควบคุมแน่นอน และ ADVANC ก็เป็นบริษัทหลักในกลุ่ม SHIN (มีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 94% ของรายได้บริษัททั้งหมดในกลุ่ม) ที่ Temasek ต้องการครอบงำแน่นอน

ดังนั้น ตามกฎ "การครอบงำกิจการผ่านนิติบุคคลอื่น" (chain principle) ของกลต. Temasek จึงต้องเทนเดอร์หุ้นทั้งหมดของ ADVANC ด้วย เพียงแต่มีประเด็นเทคนิคเล็กน้อย คือทำเทนเดอร์ด้วยความสมัครใจ แทนที่จะรอให้ช่วงเวลาเทนเดอร์หุ้น SHIN จบลงก่อน (ซึ่งหลังจากนั้น Temasek ก็จะมีอำนาจควบคุม SHIN จริงๆ ตามกฎหมาย เพราะจะถือหุ้นเกิน 50%) ซึ่ง กลต. ได้ชี้แจงประเด็นนี้เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2549 ว่า: "การทำคำเสนอซื้อหุ้น ADVANC ในครั้งนี้มีข้อเสนอและเงื่อนไขเช่นเดียวกับการทำ mandatory tender offer ทุกประการเพียงแต่ทำเร็วขึ้นก่อนที่จะมีหน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น (จึงเรียกว่าเป็น voluntary tender offer) ซึ่งการทำคำเสนอซื้อหุ้น ADVANC โดยเร็วจะช่วยป้องกันความสับสนและการคาดการณ์ต่างๆ"

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถูกต้อง 100% - เรื่องนี้ Temasek ปฏิบัติตามกฎเรื่อง chain principle ของกลต. ถูกต้อง และการขอทำ voluntary tender offer นั้นก็ทำได้ตามกฎหมาย

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "ไม่น่าเกลียด" - ด้วยเหตุผลเดียวกับประเด็น "ความถูกต้องทางกฎหมาย" ข้างต้น

9) ราคาที่ Temasek เสนอซื้อหุ้น ADVANC นั้น สมเหตุสมผลหรือไม่?
เนื่องจากการทำเทนเดอร์หุ้น ADVANC ของ Temasek นั้น เป็นการทำภายใต้เกณฑ์ "การครอบงำกิจการผ่านนิติบุคคลอื่น" (chain principle) คือเป็นการเทนเดอร์หุ้นบริษัทลูกของบริษัทที่ Temasek ต้องการซื้อ จึงต้องใช้หลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาเทนเดอร์กรณี chain principle ซึ่งกำหนดให้ใช้เงินลงทุนของ SHIN ใน ADVANC หารด้วยส่วนผู้ถือหุ้นของ SHIN ก่อน แล้วเอาอัตราส่วนที่ได้มาคูณมูลค่าหุ้นทั้งหมดของ SHIN (market cap) ผลที่ได้ถือเป็นมูลค่าปัจจุบันของเงินลงทุนใน ADVANC ของ SHIN เมื่อเอาตัวเลขนี้หารด้วยจำนวนหุ้นของ ADVANC ที่ SHIN ถือ จะได้ราคาเทนเดอร์ ADVANC ต่อหุ้น

แน่นอน ตัวเลขที่ได้นี้ย่อมต่ำกว่าราคาตลาดของหุ้น ADVANC พอสมควร เพราะต้นทุนของ SHIN ในการซื้อหุ้น ADVANC (cost of investment) ย่อมต่ำกว่าต้นทุนของผู้ถือหุ้นที่ไปไล่ซื้อหุ้น ADVANC เอาในตลาด ในกรณีนี้ ราคาเทนเดอร์ที่ได้คือ 72.31 บาทต่อหุ้น หรือต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 30%

กลต. อธิบายหลักการเรื่องนี้ไว้เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2549 ว่า: "หลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาเสนอซื้อหุ้นบริษัทลูกมีกำหนดตั้งแต่ปี 2545 แล้ว โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหลายท่านได้เข้าร่วมพิจารณาและร่วมกันกำหนดเกณฑ์ …โดยเห็นว่า ไม่ควรใช้ราคาตลาด แต่ให้ใช้ราคาที่ได้มา ทั้งนี้ เพื่อให้สะท้อนมูลค่าหุ้นที่แท้จริงของบริษัทลูกในขณะที่มีการทำ takeover บริษัทแม่ ...โดยวิธีการคำนวณราคาลักษณะนี้เคยใช้มาแล้วในกรณีการทำคำเสนอซื้อ NPC โดย SCC ซึ่งเป็นกรณี chain principle เช่นเดียวกัน"

สรุปคือ ต้องถือเป็น "คราวเคราะห์" ของผู้ถือหุ้น ADVANC ที่เจอราคาเทนเดอร์ต่ำกว่าตลาดขนาดนี้ ซึ่งใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาที่ตรงตามข้อกฎหมายทุกประการ ทั้งๆ ที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทุกสถาบันประเมินว่า ราคาที่เหมาะสมของ ADVANC อยู่ที่ 111 บาทโดยเฉลี่ย หรือสูงกว่าราคาเทนเดอร์ถึง 53.5%

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า กฎข้อนี้ของกลต. "ไม่เป็นธรรม" กับผู้ถือหุ้นของ ADVANC เท่าไรนัก ด้วยเหตุว่า SHIN นั้น เป็นเพียงบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มชิน ที่ตั้งมาถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ของกลุ่ม ไม่มีธุรกิจอะไรเป็นของตัวเอง และมี ADVANC เป็นกิจการหลัก ทำรายได้ถึง 94% ของรายได้ทั้งกลุ่ม ดังนั้น เกณฑ์การคำนวณ "มูลค่าหุ้นที่แท้จริงของบริษัทลูก" ในกรณีนี้ ไม่ควรใช้ราคาที่บริษัทแม่ คือ SHIN ได้มา เพราะราคาตลาดของหุ้น ADVANC น่าจะเป็นตัววัด "มูลค่าหุ้นที่แท้จริงของบริษัทลูก" ได้ใกล้เคียงกว่า สะท้อนนัยยะสำคัญของ ADVANC ที่มีต่อ SHIN ได้ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า จริงๆ แล้ว Temasek น่าจะต้องการเพียง ADVANC เท่านั้น แต่ที่มาซื้อหุ้น SHIN ก็เพราะกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SHIN ไม่ต้องการให้ SHIN เสียภาษี (ดูคำอธิบายประเด็นที่ 1) ก่อนหน้านี้ประกอบ)

แผนผังด้านล่างเปรียบเทียบดีลนี้ กับดีล SCC (ปูนซิเมนต์ไทย) ที่ต้องทำเทนเดอร์หุ้น NPC ตามกฎ chain principle ทั้งๆ ที่ SCC ต้องการเทนเดอร์เฉพาะ TPC เท่านั้น จะเห็นว่าในกรณีของ SCC นั้น รายได้ของกลุ่มธุรกิจ TPC และรายได้ของกลุ่มธุรกิจ NPC นั้น มีสัดส่วนพอๆ กัน คือ 54% และ 45% นอกจากนี้ TPC ก็ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกของตัวเอง ที่ต่างจากธุรกิจของ NPC คือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ในขณะที่ SHIN ไม่มีธุรกิจของตัวเองดังที่กล่าวไปแล้ว ดังนั้น การที่ SCC สามารถเทนเดอร์หุ้นของบริษัทที่ตัวเองไม่สนใจจะครอบงำ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด จึงสมเหตุสมผลมากกว่าการที่ Temasek สามารถเทนเดอร์หุ้นของบริษัทที่ตัวเองสนใจจะครอบงำ (และที่ทำรายได้คิดเป็น 94% ของทั้งกลุ่ม) ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด

(picture4)


ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถูกต้อง 100% - เรื่องนี้ Temasek ปฏิบัติตามกฎ กลต. เรื่องเกณฑ์การกำหนดราคาเทนเดอร์กรณีเข้าข่าย chain principle ทุกประการ แม้จะทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ ADVANC เสียเปรียบอย่างมากมายมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ความ "ไม่เป็นธรรม" ของราคาเทนเดอร์ในกรณีนี้ น่าจะเป็นจุดกระตุ้นให้ กลต. หันมาทบทวนอีกครั้งว่า ควรแก้กฎ chain principle ให้เข้มงวดขึ้น (เช่น กำหนดให้ใช้เกณฑ์เดียวกับการทำ mandatory tender offer) สำหรับการเทนเดอร์บริษัทลูกของบริษัทลักษณะที่เป็น "โฮลดิ้ง" ที่บริษัทลูกทำรายได้กว่า 90% หรือไม่

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "ไม่น่าเกลียด" - ระดับความน่าเกลียดในประเด็นนี้ สืบเนื่องมาจากประเด็นที่ 1) ของบทความนี้แล้ว ใครคิดว่าเหตุผลหลักที่ Temasek มาซื้อหุ้น SHIN แทนที่จะเป็นหุ้น ADVANC นั้น คือครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ไม่ต้องการให้ SHIN เสียภาษี ก็อาจคิดว่าข้อนี้เข้าข่าย "น่าเกลียดเป็นปกติ" ได้ แต่ผู้เขียนคิดว่าต้องรอดูพฤติกรรมของ Temasek หลังจากได้อำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จในกลุ่ม SHIN ก่อน ว่าจะดำเนินธุรกิจอะไร และอย่างไร

10) ทำไม Temasek จึงไม่ต้องยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ITV, SATTEL, และ CSL ทั้งๆ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลท. และเป็นบริษัทลูกของ SHIN เช่นเดียวกับ ADVANC?
อันนี้เป็นประเด็นการครอบงำกิจการผ่านนิติบุคคลอื่น (chain principle) เหมือนกับกรณีของ ADVANC แต่ข้อแตกต่างคือ ITV และ SATTEL เป็นบริษัทที่ "เล็กมาก" ในแง่รายได้กำไรสินทรัพย์รวม และ market cap เมื่อเทียบกับ SHIN ดังนั้น มูลค่าของบริษัททั้งสอง จึงไม่มีนัยสำคัญ นอกจากนี้ Temasek ได้แจ้งความจำนงชัดเจนในคำขอผ่อนผันว่า มีเจตนาลงทุนใน SHIN และ ADVANC โดยไม่มีเจตนาที่จะมีอำนาจควบคุม ITV, SATTEL หรือ CSL แต่อย่างใด จึงเข้าข่ายที่ กลต. จะสามารถอนุมัติคำขอผ่อนผันไม่ต้องทำเทนเดอร์ได้

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถูกต้อง 100% - เรื่องนี้ Temasek ปฏิบัติตามกฎเรื่องการขอผ่อนผันการทำเทนเดอร์ ตามกฎ chain principle และกลต. ก็ผ่อนผันตามที่ขอ

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "ไม่น่าเกลียด" - ด้วยเหตุผลเดียวกับประเด็น "ความถูกต้องทางกฎหมาย" ข้างต้น

ถาม-ตอบ ประเด็นกระบวนการซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน (insider trading) และการเปิดเผยข้อมูล
11) การทยอยขายหุ้น ADVANC ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนที่จะมีการประกาศดีลนี้ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 เข้าข่าย insider trading หรือไม่?
มาตรา 241 (ข้อห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น) ในพ.ร.บ. หลักทรัพย์ เขียนชัดเจนว่า "ห้ามมิให้บุคคลใดทำการซื้อหรือขายหรือเสนอซื้อหรือเสนอขาย หรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหรือขายหรือเสนอซื้อหรือเสนอขาย ซึ่งหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชน และตนได้ล่วงรู้มาในตำแหน่งหรือฐานะเช่นนั้น และไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือนำข้อเท็จจริงเช่นนั้นออกเปิดเผยเพื่อให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวโดยตนได้รับประโยชน์ตอบแทน"

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้เป็นเพียงผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ADVANC เท่านั้น หากยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น SHIN ที่ขายหุ้นได้กับ Temasek เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ดังนั้นจึงไม่มีทางปฏิเสธว่า ตนไม่รู้เรื่องที่ Temasek จะทำเทนเดอร์หุ้น ADVANC ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดถึง 30% ก่อนวันเซ็นสัญญา

ข้อมูลจากรายการการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้บริหาร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ต่อเนื่องถึงมกราคม 2549 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ยิ่งลักษณ์ ขายหุ้น ADVANC เพื่อประโยชน์ของตัวเอง โดย "อาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชน" คือช่วงก่อนวันที่ 23 มกราคม 2549 ดังกราฟต่อไปนี้ (ปรับราคาหุ้น ADVANC และ SET ให้เท่ากับ 100% ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2548 เพื่อให้สามารถเทียบความเคลื่อนไหวของราคาได้):

(picture5)


(picture6)

คำตอบของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่า "การขายหุ้นทุกครั้งมีการแจ้งเรียบร้อย" และ "ถ้าไม่ขายก็ติด silent period ของหุ้น ESOP" จึงฟังไม่ขึ้น เพราะมันไม่ตรงประเด็นทั้งคู่

ประเด็นอยู่ที่ การขายหุ้นกว่า 288,000 หุ้นที่ราคา 103-109 บาท (ซึ่งก็ต้องบอกว่า "แม่น" เหลือเกินที่ขายได้ทั้งหมดช่วงก่อนที่ราคาหุ้น ADVANC จะขึ้นไปสูงสุด แล้วก็หล่นผล็อยลงมาเรื่อยๆ) นั้น เข้าข่าย "การขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน" (insider trading) ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือไม่

ที่อ้างว่า "ถ้าไม่ขายก็ติด silent period ของหุ้น ESOP" นั้น ก็น่าหัวเราะสิ้นดี ก็เพราะคุณจะผิดกฎหมายเรื่อง insider trading น่ะสิ คุณถึงไม่ควรขายหุ้นออกมาช่วงนั้น! ตรงนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า แกล้งโง่หรือโง่จริงๆ กันแน่...

คำ "แก้ตัวแทน" ของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ว่า "เขาก็ซื้อๆ ขายๆ อย่างสม่ำเสมอ" ก็ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน เพราะมันไม่ได้ตอบคำถามว่า ไอ้หุ้นที่ขายไปช่วงนี้ มันผิดกฎหมายหรือไม่

สรุปประเด็นนี้ได้ทางเดียวว่า:
ความถูกต้องทางกฎหมาย: ผิดกฎหมายเรื่อง insider trading 100% เต็มประตู - เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน กรณีเดียวที่ยิ่งลักษณ์จะขายหุ้น ADVANC ไป 288,400 หุ้น แล้วไม่ผิดกฎนี้ คือถ้าเธอไม่รู้เรื่องการเจรจาขายหุ้น SHIN ของพี่ชายเลย (หรือหลานชายและหลานสาว ถ้าหากว่าคุณพี่ชายจะยืนยันต่อไปว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นประการใด) อยู่ดีๆ เช้าตรู่ของวันที่ 23 มกราคม 2549 ก็มีคนมาปลุกให้ไปเซ็นสัญญาขายหุ้น SHIN ให้ Temasek เสียดื้อๆ อย่างนั้น... แต่พนันกันไหมว่า ตลท. และกลต. จะไม่กล้าเอาผิดคนนามสกุล "ชินวัตร"?

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "น่าเกลียดสุดขั้ว" - อะไรที่มัน "ผิดกฎหมาย" แบบเห็นกันชัดๆ อย่างนี้ ไม่น่าเกลียดธรรมดาแน่นอน จริงๆ แล้วถ้ากลต. ไม่เอาเรื่องยิ่งลักษณ์ข้อนี้ ก็แปลว่ากฎหมาย insider trading ของเราไม่มีความหมาย ฉีกทิ้งไปเลยดีกว่า

12) ทำไมตลท. ไม่มีการขึ้นเครื่องหมายพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราว (H) ทั้งๆ ที่เกิดข่าวลือเรื่องดีลนี้มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548?
นี่เป็นตัวอย่างค่อนข้างชัดเจน ที่แสดงให้เห็นความ "ลำเอียง" แบบกะเท่เร่ของตลท. ที่มีต่อดีลนี้ หุ้น SHIN ช่วงต้นเดือนธันวาคม 48 อยู่ในระดับราคาประมาณ 37 บาท หลังจากนั้นเมื่อมีกระแสข่าวว่า มีต่างชาติจะเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มดังกล่าว ราคาหุ้นก็ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ตลท. ไม่ได้ขึ้นเครื่องหมาย "เตือนหรือห้ามซื้อขาย" เลยแม้แต่วันเดียว ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งวันที่ 23 มกราคม 2549 คือวันที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น

ลองมาฟังความเห็นจากแหล่งข่าวในแวดวงการเงินดู: ...
"ที่ผิดปกติก็คือ ทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหุ้นต่างไม่เทกแอ็กชั่นเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ดูง่ายๆ วันที่ 23 มกราคม ทั้งๆ ที่มีข่าวว่าชินคอร์ปจะชี้แจงดีลประวัติศาสตร์ 7 หมื่นล้านบาท แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำได้แค่ขึ้นเครื่องหมาย H หยุดพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราวตอน 11.37 น. แต่ไม่ขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามการซื้อขายหุ้น แต่ทางบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ขอขึ้นเครื่องหมายเอง จึงทำให้ดูเหมือนการเลือกปฏิบัติ"

ความถูกต้องทางกฎหมาย: กฎหมายเรื่องการขึ้นเครื่องหมายนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตลท. เอง แต่ก็ต้องนับว่า ตลท. ทำให้นักลงทุนผิดหวัง เพราะเป็นการ "เลือกปฏิบัติ" ค่อนข้างชัดเจน มีอย่างที่ไหน ปล่อยให้ข่าวลือแพร่สะพัดเป็นเดือนๆ หุ้น SHIN โลดแล่นติดลมบน โดยไม่สั่งพักการซื้อขายเลยแม้แต่วันเดียว

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "น่าเกลียดสุดขั้ว" - ทุกอย่างที่แสดงพฤติกรรมการ "เลือกปฏิบัติ" ของหน่วยงานรัฐ เพื่อเข้าข้างบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นความน่าเกลียดสุดขั้วอย่างไม่ต้องสงสัย

ถาม-ตอบ ประเด็นเกี่ยวกับ Ample Rich Investments
ประเด็นเรื่อง Ample Rich นั้น ซับซ้อนและต้องใช้เวลารอข้อมูลที่ครอบครัวชินวัตรต้องชี้แจงต่อกลต. แต่จากข้อมูลล่าสุด ณ 2 กุมภาพันธ์ 2549 ก็ทำให้เห็นภาพค่อนข้างชัดเจนระดับหนึ่ง

เรื่องนี้ คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ก็เคยเขียนบทความตีแผ่อย่างละเอียดมาแล้วในชื่อ "ความลับของ Ample Rich ความลับของทักษิณ" จึงขอนำบางตอนมาเผยแพร่ และเพิ่มเติมรายละเอียดในบางประเด็น:

เมื่อนายกฯ โอนหุ้น Ample Rich ที่ตัวเองถืออยู่ 100% ให้แก่นายพานทองแท้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 นั้น เท่ากับว่านายพานทองแท้ได้กรรมสิทธิ์หุ้น SHIN ที่ Ample Rich ถืออยู่ 32.92 ล้านหุ้น หรือ 11.87% มาด้วย ซึ่งตามมาตรา 258 ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ ต้องนับรวมหุ้นที่ Ample Rich ถืออยู่กับหุ้นที่นายพานทองแท้ถืออยู่แล้ว 73.39 ล้านหุ้น หรือประมาณ 24.99% (ได้มาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543) ด้วย ซึ่งจะทำให้นายพานทองแท้ถือหุ้น SHIN รวมทั้งสิ้น 36.86% หรือประมาณ 106.3 ล้านหุ้น

13) ในการรับโอนหุ้น Ample Rich เมื่อปี 2543 นายพานทองแท้ ละเมิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์ เรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อกลต. หรือไม่?
มาตรา 246 ใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ กล่าวว่า: ...
"บุคคลใดได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการใดในลักษณะที่ทำให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการนั้น เพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนทุก 5% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการนั้น …บุคคลนั้นต้องรายงานถึงจำนวนหลักทรัพย์ในทุก 5% ดังกล่าวต่อสำนักงานทุกครั้งที่ได้มา หรือจำหน่ายหลักทรัพย์ภายในวันทำการถัดจากวันที่ได้มา หรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการนั้น เว้นแต่ในกรณีการจำหน่ายที่ไม่มีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือธุรกิจของกิจการ"

ในกรณีนี้ พานทองแท้ได้หุ้นมาข้ามเส้นทุกร้อยละ 5 คือ 25% 30% และ 35% แต่การได้มาในแต่ละครั้ง "ไม่มีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือธุรกิจของกิจการ" จึงอาจไม่มีความผิดที่ไม่ได้รายงานการได้มาของหุ้น SHIN จากการเข้าเป็นผู้ถือหุ้น 100% ใน Ample Rich ตามมาตรา 246

กลต. ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่านายพานทองแท้เข้าข่ายผิดกฎข้อนี้ เพราะมีหน้าที่ต้องรายงานการได้มา ตามมาตรา 246

ความถูกต้องทางกฎหมาย: น่าจะผิดกฎหมาย อันนี้ขึ้นอยู่กับการตีความของกลต. ด้วยว่า คำว่า "เว้นแต่ในกรณีการจำหน่าย" นั้น หมายความถึงการจำหน่ายอย่างเดียว หรือรวมการได้มาด้วย ถ้ารวมการได้มา นายพานทองแท้ก็ผิดกฎข้อนี้ ซึ่ง กลต. ก็แถลงผลการสอบเบื้องต้นแล้วว่า นายพานทองแท้เข้าข่ายผิดกฎข้อนี้

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "น่าเกลียดเป็นปกติ" - ถ้านายพานทองแท้ต้องรายงานแต่ไม่รายงาน ก็อาจนับเป็นความหลงลืม ความเข้าใจผิด หรือความประมาท แต่กลต. มีหน้าที่ที่จะต้อง "จี้" จุดนี้

14) ในการรับโอนหุ้น Ample Rich เมื่อปี 2543 นายพานทองแท้ ละเมิดพ.ร.บ. หลักทรัพย์ เรื่องการทำเทนเดอร์หุ้น SHIN หรือไม่?
การรับโอนหุ้น Ample Rich (ซึ่งถือเป็น "บุคคลเกี่ยวข้องกัน") ทำให้นายพานทองแท้ถือหุ้น SHIN รวมทั้งสิ้น 36.86% เพิ่มจาก 24.99% จึงเป็นการ "ข้ามเส้น" 25% ที่ต้องทำเทนเดอร์หุ้น SHIN ทั้งหมด ตามมาตรา 247

การโอนหุ้นจากบิดามาบุตรนี้ หากมองด้วยสายตาของคนทั่วไปอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เข้าเรื่อง เพราะก็เหมือนแค่เป็นการโอนหุ้นให้กันในหมู่ญาติครอบครัว ไม่เห็นมีอะไรแปลกใหม่ ซึ่งก็จริง และได้มีการแก้ไขในประกาศ กลต. ฉบับ กจ 58/2545 โดยเพิ่มเติมเข้าไปว่า ผู้ถือหุ้นสามารถเลือกรายงานการถือหุ้นเป็นกลุ่มได้ ซึ่งกลุ่มจะเป็นกลุ่มแบบไหนก็ได้ เช่น เพื่อน แต่โดยทั่วไปก็จะเป็นการนับตามวงศาคณาญาติ เพราะฉะนั้น ตระกูลชินวัตร และตระกูลดามาพงษ์สามารถรายงานการถือครองหลักทรัพย์ต่อ กลต. ว่าเป็นกลุ่มเดียวกันได้ ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้มีการลงนามโดยคุณ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น และมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป

ประกาศ กจ 58/2545 นั้นจะทำให้การโอนหุ้นระหว่างนายกฯ และนายพานทองแท้ ไม่เป็นปัญหา ไม่ต้องทำเทนเดอร์หุ้น SHIN เพราะถือว่าเป็นการโอนหุ้นภายในกลุ่มกันเอง แต่ว่าข้อเท็จจริงก็คือ การโอนหุ้นนั้นเกิดเมื่อปลายปี 2543 ซึ่งนับเป็นเวลา 2 ปีก่อน กจ 58/2545 จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้นจะเอาการนับรวมกลุ่มตาม กจ 58/2545 มาคิดในกรณีนี้ไม่ได้

ดังนั้น เนื่องจากนายพานทองแท้มิได้ทำเทนเดอร์หุ้น SHIN และมิได้ขอผ่อนผันการทำเทนเดอร์ จึงผิดมาตรา 247 ค่อนข้างชัดเจน

กลต. ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่านายพานทองแท้เข้าข่ายผิดกฎข้อนี้ เพราะมีหน้าที่ต้องทำ mandatory tender offer ตามมาตรา 247

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ผิดมาตรา 247 พ.ร.บ. หลักทรัพย์ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "น่าเกลียดสุดขั้ว" - ตอนนี้ก็ต้องรอดูอย่างเดียวว่า กลต. จะกล้าปรับคนนามสกุลชินวัตรหรือไม่

15) ที่ ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร แถลงว่าต้องตั้ง Ample Rich ขึ้นมาเพื่อเตรียมเอา SHIN จดทะเบียนในตลาด NASDAQ ของอเมริกานั้น เชื่อถือได้แค่ไหน?
ข้ออ้างนี้ปาหี่มาก ถ้า SHIN อยากจดทะเบียนใน NASDAQ จริง ก็ตั้งบริษัทที่อเมริกาได้ ไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนใน BVI แล้วก็มีขั้นตอนมากมายมหาศาลที่ SHIN ต้องทำ มากกว่านายกฯ โอนหุ้น 10.98% ไปไว้ในบริษัทนอมินี ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ trade ใน NASDAQ ได้ ทำไมไม่มีใครเคยรู้แผนนี้เลย? แล้วทำไมนายกฯ ไม่เคยโอนหุ้นส่วนนี้กลับมาเมืองไทยเลย ทั้งๆ ที่ตลาด NASDAQ ตกฮวบไปแล้วตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งเป็นเหตุผลที่ ดร. สุวรรณบอกว่า ทำให้ SHIN ล้มเลิกแผน?

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ไม่มีกฎหมายข้อไหนห้ามไม่ให้บริษัทไทยไปจดทะเบียนใน NASDAQ หรอก...

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "น่าเกลียดสุดขั้ว" …กฎหมายไม่ได้บังคับให้เราต้องเชื่อ ข้ออ้างข้างๆ คูๆ แบบนี้เสียหน่อย

16) นั่นสิ ทำไมนายกฯ ไม่เคยโอนหุ้นส่วนของ Ample Rich นึ้กลับมาเมืองไทยเลย?
เมื่อคำนึงว่า บริษัทที่จดทะเบียนใน BVI นั้น หลายบริษัทมีจุดประสงค์เพื่อฟอกเงิน หรือซื้อขายหุ้นในลักษณะปั่นหุ้น (ด้วยการซื้อขายหุ้นในกระดานต่างประเทศ) แล้ว เราก็อาจตั้งสมมุติฐานได้ว่า การถือหุ้น SHIN ผ่านบริษัทนอมินี ใน 4 ปีที่ผ่านมา ของครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์นั้น ไม่น่ามี "เจตนาดี"

การกระทำนี้ เป็นการซุกหุ้นแบบ "บกพร่องโดยสุจริต" ไม่ต่างจากพฤติกรรมเมื่อปี 2543

น่าสังเกตด้วยว่า หุ้นที่อยู่นอกประเทศไทย ในมือนอมินีนั้น เป็นหุ้นแบบที่สามารถใช้ปั่นหุ้นในกระดานต่างประเทศของ SHIN ได้ง่าย เวลาซื้อขายที คนจะได้นึกว่าเป็นฝรั่งอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่เป็น "ฝรั่งหัวดำ" ทั้งนั้น...

แปลว่าเราต้องติดตามการสอบสวนเส้นทางการซื้อขายหุ้น SHIN ของบริษัท Ample Rich และหุ้นในบริษัท Ample Rich เอง ของกลต. อย่างไม่กะพริบตา!

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถ้า Ample Rich เป็นนอมินีที่เอาไว้ปั่นหุ้น SHIN จริง ก็ต้องนับว่าผิดกฎหมาย insider trading ไม่รู้กี่ครั้ง อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่า กลต. มีข้อมูลการซื้อขายหุ้น SHIN ของ Ample Rich ย้อนหลัง ละเอียดขนาดไหน

ความถูกต้องทางศีลธรรม: ถ้า Ample Rich เป็น "ฝรั่งหัวดำ" ปั่นหุ้น SHIN มาตลอดจริง ก็ต้องเรียกว่า "น่าเกลียดสุดขั้ว" แน่นอน

ถาม-ตอบ ประเด็นเกี่ยวกับภาระทางภาษี
การซื้อขายหุ้นในไทยจะยกเว้นภาษีเงินได้เพียงกรณีเดียว คือการซื้อขายหุ้นของบุคคลธรรมดาในตลาดหลักทรัพย์ ถ้านอกเหนือจากกรณีนี้ ต้องเสียภาษีทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ต้องเน้นว่าตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และหลักเหตุผลทั่วๆ ไป (common sense) นั้น หุ้นอะไรที่กรมสรรพากรเคย "ตีความ" ว่าเป็นทรัพย์สินประเภทอื่นที่พึงประเมินเงินได้เพื่อการเสียภาษีแล้วไซร้ (เช่น เป็นหลักทรัพย์ที่ให้โดยเสน่หา ตาม "ธรรมจรรยา") ก็ต้องจัดว่าเป็นประเภทนั้นตลอดไป ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งสรรพากรนึกอยากตีความหุ้นนั้นว่าเป็น "หุ้น" ก็ตี แล้วอีก 4 ปีมาบอกว่าหุ้นจำนวนนั้นเป็น "หลักทรัพย์" ไม่ได้ ไม่มีเหตุผล ไม่มีสรรพากรที่ไหนเขาทำกัน

ที่สำคัญกว่านั้นคือ หุ้นของบุคคลธรรมดาที่ได้รับยกเว้นในกรณีนี้ เจตนารมณ์คือหุ้นที่บุคคลนั้นได้ "ซื้อมา" ในตลาดหลักทรัพย์ก่อนหน้าที่จะขาย ไม่ใช่ได้หุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์มา แล้วเอามาขายในตลาดหลักทรัพย์ ดูข้อ 17) ถัดไป

17) หุ้นที่ครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ขายในตลาดหลักทรัพย์ให้กับ Temasek ไม่ต้องเสียภาษีจริงหรือ?
เอาละ ถ้าคุณคิดว่า คุณกล้าพอที่จะทำความเข้าใจกับกฎหมายภาษีอันวกวนน่าเวียนหัว เชิญอ่านบางตอนจากบทความเรื่อง "ตีความเอื้ออาทร?: ว่าด้วยเรื่องส่วนต่างราคาหุ้น กับการเสียภาษี" โดยนักข่าวหัวเห็ดคนเดิม คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์:

……
[ก่อนปี 2544] ผู้ที่เคยซื้อหุ้นมาราคาพาร์เพียงหุ้นละ 1 บาท จาก พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ได้แก่ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่บุญธรรมคุณหญิงพจมาน จำนวน 268 ล้านหุ้น (แตกพาร์แล้ว) นายพานทองแท้ ชินวัตร 733 ล้านหุ้น, นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 20 ล้านหุ้น หรือแม้แต่ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้นต่อมาจากนายพานทองแท้ 367 ล้านหุ้น

ตอนนั้นก็เกิดคำถามคล้ายกับตอนนี้ คือ การซื้อหุ้นมาในราคา 1 บาท จะต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง" ระหว่างราคาหุ้นที่ซื้อ กับราคาตลาดหรือไม่

เมื่อปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมา กรมสรรพากรได้ยืนยันหลายครั้งว่า การซื้อขายหุ้นกันระหว่างเครือญาติชินวัตรในราคาต่ำกว่าราคาตลาดนั้น ไม่ต้องเสียภาษีดังนี้

ครั้งแรก นายวิชัย จึงรักเกียรติ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร (นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล-ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงการคลัง) ทำหนังสือ ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 (ที่ กค.0811/6312) ระบุว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าว ถือไม่ได้ว่า ผู้ซื้อได้รับประโยชน์จากการโอนหุ้นซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ช) ตามประมวลรัษฎากร เนื่องจากยังมิได้ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ซื้อแต่ประการใด จนกว่าผู้ซื้อจะได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงิน ได้เกินกว่าเงินที่ลงทุน

ต่อมา เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักบัญชีหุ้น บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ ซื้อจากบิดาในราคา 10 บาท จากราคาตลาด 21 บาท มีส่วนต่างประมาณ 55,000 บาท ปรากฏว่าถูกกรมสรรพากรคำนวณเป็นภาษีเงินได้ จึงมีการร้องเรียนว่า กรมสรรพากรเลือกปฏิบัติ ไม่ยอมเก็บภาษี "ส่วนต่าง" ราคาหุ้น SHIN ทำให้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2549 ว่าเป็นความผิดพลาดและเข้าใจผิดกรมสรรพากรพร้อมที่จะคืนเงินภาษีที่เก็บไปจากนายเรืองไกรไป นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กรมสรรพากรคืนเงินให้ผู้เสียภาษีโดยผู้เสียภาษีมิได้ขอคืน

ครั้งที่สอง บันทึกคำให้การของนายเรืองไกร (ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2548) ที่นายพิชเยนทร์ กองทอง นิติกร 8 กรมสรรพากรเขียนขึ้นระบุว่า สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นผลประโยชน์จากการซื้อหุ้น ยังคงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี เพราะเงินได้ในส่วนนี้ยังมิได้มีการก่อให้เกิดรายได้ต่อท่าน (นายเรืองไกร) ท่านจะเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้ก็ต่อเมื่อ ท่านได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินที่ลงทุน ทั้งนี้ ตามมาตรา 40 (4) (ช)

ครั้งที่สาม นายสุเทพ พงษ์พิทักษ์ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 ทำหนังสือ ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 (ที่ กค.0709.03 (ภค.) / 12123) ถึงนายเรืองไกร เรื่องแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2546 โดยระบุว่า ในกรณีดังกล่าว ยังไม่อาจถือได้ว่าท่านมีเงินได้พึงประเมินเพราะเป็นเพียงขั้นลงทุน หาใช่ผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ตามมาตรา 40 (4) (ช) ท่าน (นายเรืองไกร) จึงยังคงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับตัวเลขผลประโยชน์จากการซื้อหุ้น จนกว่าท่านจะได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้ เกินกว่าเงินลงทุน

สรุปแล้วทั้ง 3 ครั้งกรมสรรพากรยืนยันว่า การที่บุคคลธรรมดาซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ยังไม่ต้องเสียภาษีที่เกิดขึ้นจาก "ส่วนต่าง" ราคาดังกล่าว จนกว่าบุคคลผู้นั้นจะขายหุ้นออกไปในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมา จึงจะนำ "ส่วนต่าง" ดังกล่าวมาคำนวณภาษี ซึ่งคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรนั้น ใช้ทั้งกับกรณีนายเรืองไกรที่ซื้อหุ้นมาจากบิดามูลค่ากว่า 50,000 บาท หรือกรณีครอบครัวชินวัตรซื้อหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท (ราคาหุ้น SHIN หุ้นละ 1 บาท)

ดังนั้น นายเรืองไกรขายหุ้นไปได้กำไร 50,000 บาท ก็ต้องนำ "ส่วนต่าง" 50,000 บาท ดังกล่าวมาคำนวณเป็นภาษีเงินได้ประจำปี

เช่นเดียวกับถ้าครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์นำหุ้น SHIN ที่ซื้อมาในราคาหุ้นละ 1 บาท ไปขายให้ Temasekได้ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท เป็นเงินรวมเกือบ 70,000 ล้านบาท หรือมีส่วนต่างกว่า 60,000 ล้านบาท ก็ต้องนำ "ส่วนต่าง" กว่า 60,000 ล้านบาท ไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี ซึ่งแน่นอนว่าต้องเสียภาษีสูงสุด 37% ซึ่งเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท

การที่ทั้งนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางไพฑูรย์ เกสร รองอธิบดีกรมสรรพากร รีบออกมารับหน้าว่า การขายหุ้น SHIN ของครอบครัวชินวัตรให้ Temasek ครั้งนี้ ไม่ต้องเสียภาษีใน "ส่วนต่าง" ที่เกิดขึ้น (จากที่ซื้อมาราคาหุ้นละ 1 บาท) ด้วยเหตุผลเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว

ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นการรักษาผลประโยชน์ของใครกันแน่ และให้ดูกันต่อไปว่า จะมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังรายใดจะได้รับการปูนบำเหน็จเหมือนที่ผ่านๆ มา

แต่ดูเหมือนว่า กรมสรรพากรจะยังไม่แน่ใจว่าจะปิดช่องการเสียภาษีของการซื้อขายหุ้นชินหมดหรือยัง จึงมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 29 ธันวาคม 2548 (ที่ กค. 0709.31/18325 ลงนามโดย นางจิตรมณี สุวรรณพูล สรรพากรภาค 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร) ชี้แจงเรื่องนี้ต่อนายเรืองไกรซึ่งเป็นการพลิกคำวินิจฉัยเดิมทั้งหมดว่า การซื้อขายทรัพย์สิน (หุ้น) ราคาต่ำกว่าราคาตลาด "ส่วนต่าง" ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 ของประมวลรัษฎากรตั้งแต่ต้น

หนังสือดังกล่าวพยายามอธิบายว่า การซื้อทรัพย์สินโดยปกติจะมีราคาตลาดสำหรับซื้อทรัพย์สินนั้น โดยราคาตลาดจะมีหลายราคา หากเป็นการซื้อเพื่อนำไปใช้เองหรือเป็นผู้บริโภค ผู้ซื้อจะซื้อตามราคาของผู้ขายปลีก หากเป็นการซื้อเพื่อนำไปขายซึ่งต้องซื้อเป็นจำนวนมาก ผู้ซื้อจะต้องซื้อในราคาต่ำโดยอาจซื้อราคาตลาดที่เป็นของผู้ผลิตหรือผู้ขายส่ง

ดังนั้น ทรัพย์สินชนิดเดียวกัน อาจมีราคาซื้อแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ราคาซื้อดังกล่าวถูกกว่าราคาตลาด เช่น การส่งเสริมการขาย สินค้าตกรุ่น เลหลังสินค้า เลิกกิจการ ขายทอดตลาด ความพอใจ ความสัมพันธ์ส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไป ตามมาตรา 453 ป.พ.พ.

"การซื้อทรัพย์สินในลักษณะดังกล่าว จะเป็นเรื่องของทุนซึ่งกระทบต่อจำนวนเงินของผู้ซื้อที่มีอยู่ ทั้งจำนวนเงินที่เหลืออยู่และที่ได้จ่ายไป ดังนั้น ไม่ว่าการซื้อทรัพย์สินผู้ซื้อจะซื้อตามราคาตลาดหรือซื้อในราคาถูกกว่าตลาด ผู้ซื้อต้องเสียเงินสำหรับการซื้อตามจำนวนมากน้อยตามราคาที่ตกลงกัน...การที่ ซื้อทรัพย์สินราคาถูกจะทำให้เหลือเงินมากกว่าซื้อทรัพย์สินในราคาปกติ เงินที่เหลือดังกล่าวไม่ว่าจะเหลือมากน้อยเท่าใด ก็เป็นเงินของผู้ซื้อเอง เป็นเรื่องของทุน มิใช่เงินที่ผู้ซื้อได้รับหรือเข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับจาก ผู้อื่นแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลข้างต้น การซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ อันเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 เช่นเดียวกับส่วนลดปกติและส่วนลดพิเศษที่จะลดให้ทันที เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าตามเกณฑ์ที่กำหนด" หนังสือของกรมสรรพากรระบุ

จากนั้นสรุปว่า กรณีของนายเรืองไกรซึ่งซื้อหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพจากบิดาต่ำกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการซื้อขายทรัพย์สินกันระหว่างนายเรืองไกรกับบิดาซึ่งเป็นการซื้อขายอัน เป็นเรื่องปกติในทางการค้า ส่วนราคาที่ตกลงซื้อขายกันต่ำกว่าราคาตลาด ผู้ขายและผู้ซื้อมีสิทธิตกลงกันได้โดยผู้ซื้อต้องใช้ราคาทรัพย์สินตามที่ตกลงกันนั้นตามมาตรา 453 แห่ง ป.พ.พ.

"ดังนั้น กรณีท่าน (นายเรืองไกร) ซึ่งเป็นผู้ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาด ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น" หนังสือระบุ

จากคำชี้แจงดังกล่าวสรุปได้ว่า การซื้อขายหุ้นต่ำกว่า ราคาตลาด "ส่วนต่าง" ที่เกิดขึ้น มิได้เป็นผลประโยชน์ที่ได้รับมาตั้งแต่ต้น จึงไม่เข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินตามปกติ โดยมีเงื่อนไข เช่นความสัมพันธ์ส่วนตัว ความพอใจ ดังนั้นต่อไปไม่ว่า ผู้ซื้อจะขายหุ้นนั้นไปในราคาสูงเท่าใด ก็ไม่ต้องเสียภาษีที่เกิดขึ้นจาก "ส่วนต่าง" มาตั้งแต่ต้น

เป็นการพลิกแนวคำวินิจฉัย 3 ครั้งแรก ที่ระบุว่า ถ้าขายหุ้นไปแล้วมีกำไร เกิด "ส่วนต่าง" เกินกว่าที่ได้ลงทุน (ซื้อมา) ต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง" ดังกล่าว

การที่กรมสรรพากรเปลี่ยนคำวินิจฉัยดังกล่าวแบบกลับหลังหันช่างสอดคล้องกับห้วงเวลาการขายหุ้นชิน ให้กับ Temasek มูลค่าเกือบ 70,000 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างกว่า 60,000 ล้านบาท

เป็นการปิดทางเรียกร้องมิให้เก็บภาษี "ส่วนต่าง" ดังกล่าวกว่า 25,000 ล้านบาท!!

...
ชัดเจนว่า สรรพากรต้องพลิกลิ้นโดยอ้างหลักการของ "กฎหมายทั่วไป" คือ ประมวลกฎหมายแพ่ง ซึ่งโดยธรรมชาติเป็นกฎหมายที่ "กว้าง" และเปิดให้ตีความได้หลายแง่ แทนที่จะอ้างกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับการคำนวณภาษี คือประมวลรัษฎากร เพราะในประมวลรัษฎากรนั้นมีข้อความชัดเจนเกี่ยวกับรายได้พึงประเมิน ซึ่งก็เป็นข้อกฎหมายที่สรรพากรใช้เรียกเก็บภาษีจากประชาชนคนไทยมาตลอด รวมทั้งคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะด้วย

สรุปว่า ในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อน "ดีลประวัติศาสตร์" อยู่ดีๆ กรมสรรพากรก็เลิกอ้างอิงประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการประเมินภาษีทีเคยใช้ตลอดมา กลับไปอ้างกฎหมายทั่วไป ซึ่งกว้างกว่าและคลุมเครือกว่าโดยธรรมชาติ เพียงเพื่อต้องการสร้าง "ความชอบธรรม" ให้กับคำตอบที่สนองความต้องการของคนสี่คนในครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์

ถ้าการพลิกลิ้นครั้งนี้กลายเป็นบรรทัดฐานในการเก็บภาษี ประเทศชาติจะสูญเสียรายได้ปีละมหาศาลในปีต่อๆ ไป เพราะการซื้อขายในราคา "ต่ำกว่าราคาตลาด" นั้น เป็นเทคนิคการเลี่ยงภาษีที่นักธุรกิจทุกคนรู้ดี

เป็นการพลิกลิ้นแบบ "จับแพะชนแกะ" ที่มีราคาแพงยิ่งนัก!

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถูกต้องแต่ไร้ซึ่งศีลธรรมโดยสิ้นเชิง - พลิกลิ้น เลือกปฏิบัติขนาดนี้ แปลว่าสรรพากรอยากตะแบงหาข้อกฎหมายที่ทำให้อ้างได้ว่า "ไม่ต้องเสียภาษี" คงไม่มีใครแปลกใจ ถ้าในภายภาคหน้ากรมสรรพากรจะเลิกอ้างข้อกฎหมายแพ่ง กลับไปอ้างประมวลรัษฎากรเหมือนเดิม หลังจากที่ดีลนี้เสร็จสิ้นลงอย่างเรียบร้อยโรงเรียนชินวัตร

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "น่าเกลียดสุดขั้ว" - หน่วยงานรัฐพลิกลิ้น เลือกปฏิบัติเพื่อเอาประโยชน์เข้ากระเป๋านาย อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่า "ไร้ยางอาย" ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไร

แต่ก็ไม่แน่ ถ้ามีบางคน อาจนึกในใจว่า แหม นักธุรกิจที่ฉลาดที่ไหนเขาก็ทำอย่างนี้แหละ อะไรกัน จะมาคาดหวังให้ใครคนหนึ่งทำตัวเป็นตัวอย่างบ้าบออะไร ไร้สาระ ตำแหน่งสูงส่ง สำหรับบางคนน่ะ มันเอาไว้ให้เลี่ยงภาษี ทำธุรกิจง่ายขึ้นเท่านั้นแหละ

18) หุ้น SHIN ส่วนที่ Ample Rich ขายให้พานทองแท้และพินทองทา ในราคา 1 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ต้องเสียภาษีหรือไม่?

เมื่อตัวแทนนายพานทองแท้ ออกมายอมรับผิดว่า รายการซื้อหุ้นจาก Ample Rich ที่ตอนแรกกาเครื่องหมายว่าเป็นการทำรายการ "ผ่านตลาด" นั้น จริงๆ แล้ว "ติ๊กผิด" เพราะเอาเข้าจริง รายการนี้เกิดขึ้นนอกตลาดหลักทรัพย์

เป็นอีกหนึ่งรายการ "บกพร่องโดยสุจริต" ที่บังเอิญมีแนวโน้มที่จะช่วยประหยัดภาษีให้ตระกูลได้อีกหลายร้อยล้านบาท

เมื่อรายการนี้เกิดขึ้นนอกตลาด ก็เกิดคำถามทันทีว่า ทำไมหุ้น SHIN ที่ Ample Rich ซึ่งเป็นเพียงบริษัทนอมินีของนายพานทองแท้ ขายในราคา 1 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด (ราคาปิดหุ้น SHIN วันที่ 20 มกราคม 2549 อยู่ที่ 47.25 บาท) จึงไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี??

ทั้งๆ ที่ประมวลรัษฎากร ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สรรพากรอย่างเต็มที่ ในการใช้ "ราคาตลาด" ของสินทรัพย์ ในการประเมินภาษีเงินได้ เพราะการ "ขายในราคาต่ำกว่าทุน" นั้น เป็นหนึ่งในเทคนิคการหลบเลี่ยงภาษีที่โบราณที่สุดในโลก

และสถานภาพการจดทะเบียนของ Ample Rich ใน BVI ก็ไม่ใช่ข้ออ้าง เพราะเป็นบริษัทของคนไทย 100% แถมสิ่งที่ขายนั้นยังเป็นหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลท. คือ SHIN

กรมสรรพากรไทย ไม่เคยน้อยหน้าสรรพากรอื่นใดในโลก ในการ "ไล่บี้" ทุกคนให้มาจ่ายภาษีตรงนี้ โดยมักจะคิดรายได้ในการคำนวณภาษี จาก "ราคาตลาด" ของสิ่งที่ขายออกไปเป็นเกณฑ์ ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อกันไม่ให้มีความพยายามหลีกเลี่ยงภาษีในการทำธุรกรรม ยกตัวอย่างเช่น เวลามีการซื้อขายที่ดิน สรรพากรจะไม่ประเมินภาษีจากราคาซื้อขายจริงอย่างเดียว แต่จะเทียบกับราคาประเมินกลางที่หน่วยงานราชการทำขึ้นประกอบอีกด้วย

ขนาดที่ดินที่หาราคาตลาดได้ยาก เนื่องจากว่าที่ดินผืนหนึ่งๆ ไม่มีการซื้อขายกันบ่อย กรมสรรพากรยังอุตส่าห์สามารถหาราคาอื่นมาใช้เป็นบรรทัดฐานเปรียบเทียบ เพื่อกันไม่ให้การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างฉ้อฉลเพื่อหลบเลี่ยงภาษี

นับประสาอะไรกับหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์อย่างหุ้น SHIN ที่มีการซื้อขายคล่องและมีราคาตลาดที่ชัดเจน ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาที่สรรพากรจะหาราคาตลาดมาเทียบ เพื่อดูว่าพอมีการซื้อปุ๊บ หากราคาขาย (1 บาท) ต่ำกว่าราคาตลาด (47.25 บาท) ก็สามารถนำส่วนต่างมาเทียบคิดภาษีได้ทันที

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นตรงกันข้าม กรมสรรพากร "เข้าข้าง" ครอบครัวชินวัตรอย่างออกนอกหน้า พลิกลิ้นพลิกตำรา ตะแบงตีความข้อกฎหมายให้ประกาศว่างานนี้ "ไม่เสียภาษี"

หากเรายอมให้สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นบรรทัดฐาน จะทำให้ในอนาคต ใครที่อยากเลียงภาษีก็ทำธุรกรรมที่ฉ้อฉล แสดงใบเสร็จที่โชว์ว่าขายของทุกอย่างต่ำกว่าราคาทุน แล้วสรรพากรก็ไม่สามารถจะเรียกเก็บภาษีได้เพราะว่าการซื้อขายเป็นไปตามราคาที่ไม่มีกำไร ใครจะโกงภาษีก็โกงได้ แล้วภาษีก็จะกลายเป็นเพียงสิ่งที่คนไม่มีเงินต้องจ่าย ในขณะที่คนรวยสามารถหาวิธีการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีได้

โดยส่วนตัวผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมาย จึงอาจอ่านข้อกฎหมายแล้วเข้าใจผิดได้ แต่หลักการในเรื่องนี้ไม่น่าจะต่างจากประเด็นที่ 18) ข้างต้น มากนัก

สิ่งที่ผู้เขียนรับไม่ได้คือความจริงที่ปรากฎว่า กรมสรรพากรออกมายืนยันในทันทีว่า การซื้อขายหุ้น SHIN ไม่มีภาระภาษี ไม่มีแม้กระทั่งส่งคนเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมนี้ ทั้งๆ ที่อาจจะเก็บเงินภาษีได้เพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านบาท หรืออย่างน้อยก็เข้าไปสอดส่องว่ามีอะไรที่เป็นปัญหาหรือเปล่า

ในขณะที่กรมสรรพากรที่พวกเราประชาชนชาวไทยรู้จัก มีความสามารถเหลือเกินในการส่งคนเข้าไปตรวจนับเงินและข่มขู่ผู้ประกอบการรายย่อยให้เสียภาษี แม้จะต้องนั่งนับชามก๋วยเตี๋ยวก็เอา

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ผิดกฎหมาย - เนื่องจากการขายหุ้นในข้อนี้ไม่ได้ทำในตลาด สรรพากรจึงหาข้อตะแบงยืนยันว่า "ถูกกฎหมาย" ได้ ยากกว่าข้อ 18) ข้างต้น

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "น่าเกลียดสุดขั้ว" - หน่วยงานรัฐพลิกลิ้น เลือกปฏิบัติเพื่อเอาประโยชน์เข้ากระเป๋านาย อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่า "ไร้ยางอาย" ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร

19) หุ้นที่โอนให้เปล่า "โดยเสน่หา" เมื่อปี 2540 ให้กับ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ แล้วเป็นส่วนที่นายบรรณพจน์ นำมาขายต่อให้กับ Temasek ต้องเสียภาษีหรือไม่?
เรื่องของการเสียภาษีเงินได้ของของขวัญที่ได้รับด้วยความเสน่หา (ธรรมจรรยา): ถ้าผู้อ่านยังจำกันได้ เมื่อ พ.ศ. 2540-2544 มีการโอนหุ้นในหมู่ญาติพี่น้องทั้งสองตระกูลหลายครั้ง ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เป็นการโอนหุ้นให้เปล่าโดยอาศัยหลักธรรมจรรยา เมื่อคุณหญิงพจมาน โอนหุ้น SHIN จำนวน 4.5 ล้านหุ้น (หรือเทียบเท่ากับ 45 ล้านหุ้นในปัจจุบันภายหลังจากการแตกพาร์แล้ว) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์

ซึ่งการโอน/จำหน่าย ในครั้งนี้ กรมสรรพากรได้ตีความโดยอาศัยความตามมาตรา 42(10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นมาตราที่ระบุยกเว้นถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยระบุไว้ว่า "เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี" ไม่ต้องนำไปคิดรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

อย่างไรก็ดี อาจารย์ สุวรรณ วลัยเสถียร ปรมาจารย์แห่งกฎหมายภาษี ผู้ผันกายมาช่วยนักธุรกิจที่โด่งดังหลายคน อาทิ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร, คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี "บริหาร" ภาษีของกิจการหมื่นล้านต่างๆ เคยได้ให้อรรถาธิบายในเรื่องนี้ไว้ว่า "การที่พี่ชายโอนทรัพย์สินให้น้องชาย ผู้รับต้องเสียภาษี เพราะถือว่าเป็นมรดกที่ได้มาโดยเสน่หา ต้องนำมาแสดงรายการเสียภาษีและคุณก็ไม่มีต้นทุนด้วย หากรับโอนมา 100,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีเต็มจำนวนจากอัตราที่ใช้บังคับ" และก็เป็นธรรมเนียมบรรทัดฐานที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอดว่ากรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีของทรัพย์สินที่ให้โดยธรรมจรรยา

ในขณะนั้นหุ้น SHIN มีมูลค่าประมาณ 140 บาท มูลค่าทางตลาดของหุ้นที่โอนให้นายบรรณพจน์รวมทั้งสิ้น ประมาณ 630 ล้านบาท ถ้าหากเราคิดว่านายบรรณพจน์เสียภาษีในระดับภาษีที่สูงที่สุดอยู่แล้ว (37%) ก็เท่ากับว่าหุ้นที่รับมา ณ วันนั้นต้องเสียภาษีรวมทั้งสิ้น 233.1 ล้านบาท

แต่ปรากฎว่า วันนั้นกรมสรรพากรกลับลำ ไม่นำบรรทัดฐานที่เคยปฏิบัติมาใช้ โดยอ้างมาตรา 42(10) แห่งประมวลรัษฎากร วันนั้นประเทศชาติสูญเสียรายได้ไปกว่า 233 ล้านบาท

แต่สรรพากรก็บอกทิ้งทวนไว้ว่า หากขายหุ้นส่วนนี้เมื่อไหร่ก็ต้องชำระภาษี

ทีนี้มาวันที่ 23 มกราคม 2548 เมื่อครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์จะขายหุ้น SHIN ให้ Temasek ก็ทำให้ประเด็นทางภาษีในอดีตตามกลับมาหลอกหลอนอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าเรามาดูว่าหุ้น 4.5 ล้านหุ้นซึ่งกลายเป็น 45 ล้านหุ้นไปแล้ว ต้องเสียภาษีหรือไม่ ก่อนอื่นขอให้ผู้อ่านพิจารณาข้อความต่อไปนี้ซึ่งคัดลอกมาจากประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2509 ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมประเภทเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี โดยข้อ (17) ได้เพิ่มเติมรายการนี้เข้ามา:

เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยา หรือการปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้จากการขายในส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น

จะเห็นได้ชัดว่ามีการตั้งจำกัดวงเงินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคิดภาษีเงินได้ ขอตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้ตัวบริษัท SHIN นั้นน่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์เสียเป็นส่วนใหญ่ และน่าจะอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครด้วย แต่ใบหุ้นของ SHIN นั้นเป็นสังหาริมทรัพย์แน่นอน เคลื่อนย้ายได้ เอาไปฝากในตู้เซฟที่ธนาคารใน สวิสเซอร์แลนด์ก็ได้ เพราะฉะนั้นน่าจะอ้างได้ว่าใบหุ้นนั้นอยู่ "นอกเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยา หรือการปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ" และต้องเสียภาษีเงินได้

ซึ่งจะมีผลได้ว่าการขายหุ้นของนายบรรณพจน์ ในครั้งนี้นั้น เข้าข่ายการขายสินทรัพย์ที่ได้มาด้วยเสน่หาและต้องนำรายได้ส่วนที่เกิน 200,000 บาทไปคิดหักภาษีเงินได้ คิดเป็นมูลค่าเงินได้คือ 45 ล้านหุ้นคูณ 49.25 บาท ลบด้วย 200,000 หรือประมาณ 2,216 ล้านบาท ถ้าคิดอัตราภาษีที่ 37% เท่าเดิมก็จะเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 819.92 ล้านบาท

แต่กรมสรรพากรออกมารับประกันเสียแล้วว่า ไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากว่าเป็นการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดังนั้น หุ้นที่เคยถูกตีกรอบ นิยามไว้แล้วว่าเป็น "เงินได้จากการให้โดยเสน่หา" จึงถูกพลิกแพลง ผ่านกระบวนการ "จับแพะชนแกะ" อันแยบยลของกรมสรรพากร ให้กลายเป็น "หุ้นที่บุคคลธรรมดาขายในตลาดหลักทรัพย์" ไปด้วยประการฉะนี้

ความถูกต้องทางกฎหมาย: ถูกต้องแต่ไร้ซึ่งศีลธรรมโดยสิ้นเชิง - การพลิกลิ้น และเลือกปฏิบัติขนาดนี้ แสดงให้เห็นว่าสรรพากรอยากตะแบงหาข้อกฎหมายที่ทำให้อ้างได้ว่า "ไม่ต้องเสียภาษี"

ความถูกต้องทางศีลธรรม: "น่าเกลียดสุดขั้ว" - หน่วยงานรัฐพลิกลิ้น เลือกปฏิบัติเพื่อเอาประโยชน์เข้ากระเป๋านาย อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่า "ไร้ยางอาย" ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร

20) พฤติกรรมของนายกฯ ในเรื่องนี้ เหมาะสมแล้วหรือไม่?
อันนี้คุณต้องตอบเอง หวังว่าบทความนี้ของเราได้ช่วยทำหน้าที่ให้คุณ "ใช้เหตุผล" แยกแยะประเด็นต่างๆ ออก เพียงพอที่จะตอบข้อนี้

ย้อนกลับไปหน้าแรกของบทความนี้ (825)
เมื่อความถูกต้องทางกฎหมาย อยู่เหนือความถูกต้องทางศีลธรรม

ข้อมูลเกี่ยวเนื่องที่มีอยู่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
823. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๑) (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวมและเรียบเรียง)
824. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๒) (รายการวิทยุ - ทักษิณคุยกับประชาชน - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙)
825.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๓) (บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป)
826.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๓) (ต่อ) (บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก)

828. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๔) (แก้วสรร อติโพธิ, คำสารภาพกลางเมืองของนายกฯทักษิณ)
831. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๕) (มายาภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป)


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
060249
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

Ample Rich Investments บริษัทที่จัดตั้งโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (British Virgin Islands หรือเรียกย่อๆ ว่า BVI) ที่ซึ่งนักธุรกิจทั่วโลกรู้จักคุ้นเคยดีว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน และเลี่ยงภาษีชั้นเยี่ยม เพราะประเทศเล็กๆ นี้ไม่บังคับให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการ และไม่มีการตรวจสอบงบการเงิน และก็บังเอิญเป็นประเทศเดียวกับที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พูดถึงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ว่าเป็นแหล่งจดทะเบียนของพวก "ไม่รักชาติ" พอดี: "เมื่อวานผมดูข่าวจาก CNN ทราบว่าขณะนี้สภาของสหรัฐกำลังแก้ไขกฎหมายใหม่ ทั้งนี้เพราะบริษัทต่างๆ ไม่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ แต่ไปจดทะเบียนในประเทศอื่นๆ เช่น ในปานามาบ้าง หรือที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ไม่รักชาติ เพราะถือว่าเป็นการเลี่ยงภาษี..."

The Midnightuniv website 2006