นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University

พื้นที่และความหมายเชิงอำนาจ
ถนน เมือง และอำนาจ ในประวัติศาสตร์
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษสาขารัฐศาสตร์
ขณะนี้กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาย


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 804
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)


ถนน เมือง และอำนาจ ในประวัติศาสตร์ (การเมืองเรื่องพื้นที่)
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

เมืองคือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ จึงเป็นพื้นที่ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยธรรมชาติ แต่อาจผันผวนไปตามอำนาจในการจัดสรรพื้นที่ในช่วงต่างๆ หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าพัฒนาการของพื้นที่เมืองแสดงให้เห็นแผนผังของอำนาจในสังคม

ในโลกตะวันตกนั้น เมืองหลายแห่งถูกออกแบบเพื่อให้อำนาจบงการสังคมได้สะดวกมาตั้งแต่ต้น จึงเกิดระบบการใช้พื้นที่ซึ่งเอื้อให้ควบคุม "ความสงบเรียบร้อย" โดยวิธีอันหลากหลาย ตัวอย่างเช่นการสร้างพื้นที่สาธารณะของรัฐในลักษณะลานกว้าง ออกแบบถนนให้เป็นเส้นตรงทางเดี่ยว ขจัดสิ่งกีดขวางทางภูมิทัศน์ ฯลฯ จนไม่มีใครสามารถหลบซ่อนจากสายตาของอำนาจได้ต่อไป

ชองเอลิเซ่เป็นตัวอย่างของการก่อสร้างที่มีเป้าหมายเพื่อการควบคุมสังคมแบบนี้ เพราะเมื่อกษัตริย์นโปเลียนที่ ๓ มีอำนาจในปี ค.ศ. ๑๘๕๒ ก็ได้สั่งการให้ตัดถนนขนาดใหญ่ผ่าใจกลางกรุงปารีส โดยมีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวไว้ในย่อหน้าที่แล้ว จากนั้นก็อาศัยถนนนี้เป็นเส้นทางหลักในการเข้าถึงถนนย่อยและซอกซอยต่างๆ พร้อมกับสนับสนุนให้เป็นสถานที่ตั้งของธุรกิจการค้าและสถานที่ราชการ

เพราะฉะนั้น ถนนนี้จึงมีความสำคัญอย่างน้อย ๒ ข้อ

ข้อแรกคือ ทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสควบคุมราษฎรที่อยู่ตามมุมมืดของปารีสได้มากขึ้น และ
ข้อที่สองคือ ทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ซึ่งดึงดูดผู้คนและกิจกรรมการค้าให้ออกมาจากพื้นที่และชุมชนดั้งเดิม

นอกจากนี้โปเลียนจะตัดถนนแบบนี้แล้ว นโปเลียนยังรื้อฟื้นการสร้างลานหลวงขึ้นมา ณ ใจกลางเมืองด้วย โดยลานนี้จะใช้เป็นพื้นที่สำหรับการสวนสนามของทหารก็ได้ ใช้ในการลงโทษประหารชีวิตก็ได้ หรือจะใช้ในยามที่กษัตริย์ต้องการปรากฏตัวต่อหน้าประชาชนก็ได้อีกเช่นกัน

ในแง่นี้ ลานหลวงของกษัตริย์จึงไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งเปิดโล่งให้ใครเข้ามาทำอะไรก็ได้ แต่ลานหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างและผูกขาดโดยกษัตริย์ จึงเป็นพื้นที่สาธารณะของอำนาจ และมีบทบาทในการทำให้อำนาจของกษัตริย์ปรากฏในรูปวัตถุทางกายภาพที่คนใต้ปกครองมองเห็นได้ตลอดเวลา พูดให้สั้นขึ้นก็ได้ว่าลานหลวงคือพื้นที่เพื่อให้กษัตริย์จะนำเสนอตัวเองต่อสังคมได้ตามอำเภอใจ

โดยธรรมชาติของการสร้างและแปลงพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมอำนาจแบบนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำลายล้างชุมชน และอาคารสถานที่ซึ่งลงหลักปักฐานมาแต่ดั้งเดิม โครงการเช่นนี้จึงเป็นโครงการที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะนอกจากจะต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมหาศาลแล้ว ยังมีโอกาสเผชิญกับแรงต่อต้านทางการเมืองจากผู้คนที่ต้องถูกอพยพโยกย้ายด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ โครงการดัดแปลงพื้นที่นี้จึงถูกผลักดันให้คืบหน้าด้วยวิธีการเผด็จการจนถึงขีดสุด นั่นคือนโปเลียนแต่งตั้งให้ Georges Eugene Haussmann ดำรงตำแหน่งบารอนเพื่อเป็นขุนนางที่มีอำนาจตัดสินใจในแผนการนี้อย่างเต็มที่ นำไปสู่แผนการขับไล่ผู้คนและชุมชนขนาดใหญ่ จนปรากฏว่าโครงการนี้ได้รื้อทำลายบ้านเรือนของผู้คนในปารีสไป ๔๓ เปอร์เซ็นต์ และผลาญงบประมาณทั้งสิ้น ๒,๕๐๐ ล้านฟรังก์ ซึ่งทั้งหมดก็ได้มาจากการขึ้นภาษีอย่างมหาศาลในเวลานั้นเอง

ทั้งกษัตริย์และขุนนางของฝรั่งเศสล้วนได้ประโยชน์จากโครงการ รื้อ/ไล่ และก่อสร้างถนน เพียงแต่ขณะที่ขุนนางได้ประโยชน์จากค่าจ้างและการรับจ้างออกแบบให้แก่อาคารบนพื้นที่ข้างเคียง กษัตริย์กลับได้ประโยชน์จากค่าเช่าอาคารสถานที่บนถนนตัดใหม่ การขายที่ดินบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งประโยชน์ทางการเมืองจากการใช้ถนนเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน

แต่นโปเลียนไม่ใช่กษัตริย์พระองค์แรกที่ผนึกอำนาจการเมืองโดยวิธีควบคุมพื้นที่ในลักษณะนี้ อันที่จริง ตัวนโปเลียนได้เขียนไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งว่า ได้ความคิดเรื่องนี้มาจากจักรพรรดิออกุสตุสแห่งจักรวรรดิโรมัน และแม้เมื่อนโปเลียนสิ้นพระชนม์ไป ผู้นำเผด็จการทรราชหลายรายก็อาศัยวิธีการควบคุมพื้นที่สาธารณะแบบเดียวกันนี้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะเป็นมุสโสลินีกับการสร้าง Esposizione Universale di Roma (EUR), ฮิตเลอร์กับ Voss Strasse, สตาลินกับแผนการสร้างพระราชวังโซเวียต ฯลฯ

ประเด็นก็คือ ผู้นำทางการเมืองเหล่านี้ล้วนไม่ได้คิดถึงวิธีการนี้ในฐานะเครื่องมือเพื่อควบคุมอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว หากพวกเขายังเชื่อมโยงการควบคุมพื้นที่กับหลักการที่เป็นนามธรรมหลายต่อหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น นโปเลียนอ้างว่าการสร้างถนนและลานกว้างแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อความสวยงามของเมือง ฮิตเลอร์เชื่อว่า Voss Strasse แสดงให้โลกรู้ว่าเยอรมันยิ่งใหญ่เทียบเท่าโรมและบาบิโลน ขณะที่สตาลินเห็นว่าพระราชวังโซเวียตประกาศให้โลกเห็นว่า คอมมิวนิสต์เจริญก้าวหน้ากว่าทุนนิยม

น่าสนใจว่าผู้นำทางการเมืองเหล่านี้อยู่ในต่างสังคมต่างยุคสมัย หากกลับมีแบบแผนและพฤติกรรมการใช้พื้นที่ซึ่งคล้ายคลึงกัน นั่นคือการลุ่มหลงกับการก่อสร้างอาคารสถานที่ขนาดใหญ่ รวมทั้งหมกมุ่นกับการติดตั้งสัญลักษณ์ หรือภาพของตัวผู้นำไว้ในพื้นที่สาธารณะตลอดเวลา

ประวัติศาสตร์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชนชั้นปกครองเข้าใจ และคุ้นเคยกับการควบคุมและใช้สอยพื้นที่เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุด พื้นที่จึงเป็นผลผลิตของอำนาจ เป็นรหัสของอำนาจ รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีทางอำนาจที่ผู้ปกครองกระทำต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง พูดให้ขลังขึ้นก็ได้ว่าพื้นที่เป็น quasi-object และ quasi-subject ไปพร้อมๆ กัน

ราชดำเนินในฐานะพื้นที่ของอำนาจ
เมื่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเสนอแผนการพัฒนาถนนราชดำเนินนั้น รัฐบาลได้ให้เหตุผลว่า การพัฒนาเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะราชดำเนินคือ "เส้นทางสายประวัติศาสตร์" แล้วประวัติศาสตร์ของถนนราชดำเนินคืออะไร ?

ราชดำเนินกำเนิดจากความประทับใจที่รัชกาลที่ ๕ มีต่อถนนสำคัญ ๓ สาย คือ ชองเอลิเซ่ ในปารีส, Pall Mall ในลอนดอน และ Unter den Linden ในเบอร์ลิน นำไปสู่พระราชดำริในการจัดสร้างถนนที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกัน โดยประสงค์ให้ถนนนี้เชื่อมต่อพระบรมมหาราชวังและพระราชวังดุสิต อันเป็นที่ประทับของพระองค์ รวมทั้งเป็นท้องพระโรงสำหรับการประชุมเสนาบดีในเวลาเดียวกัน

เพราะเหตุนี้ ประวัติศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่สุดของถนนราชดำเนินก็คือ การเป็นเส้นทางสัญจรจากพระราชวังเก่าไปสู่พระราชวังใหม่ โดยที่พระราชวังใหม่นั้น ไม่ได้เป็นสถานที่ว่าราชการของพระมหากษัตริย์แต่เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นพระราชฐานของพระอัครมเหสีและเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่น โดยเฉพาะพระชายา พระราชโอรส และพระราชธิดา

การตัดถนนราชดำเนินส่งผลให้เมืองในเวลานั้นมีขนาดเปลี่ยนไป เพราะนำไปสู่การทำลายเขตที่นาดั้งเดิมซึ่งอยู่ "นอกเมือง" หรืออยู่นอกแนวป้อมค่ายและกำแพงพระนคร พร้อมกับเปลี่ยนที่นาเหล่านั้นให้เป็น "เมือง" จากการขยายถนนและพระราชวังไปยังทิศเหนือของพระนคร จึงทำให้เมืองขยายตัวขึ้น รวมทั้งทำให้ "พระนคร" กินอาณาเขตออกไปกว้างขวางกว่าเดิม

แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการขยายตัวเชิงปริมาณ ก็คือการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พื้นที่ เพราะถนนราชดำเนินเป็นปฐมบทของการก่อสร้างพระราชวังหลายแห่งในบริเวณสองข้างถนน เช่น พระราชวังจันทรเกษม ซึ่งรัชกาลที่ ๕ สร้างให้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ หรือ วังปารุสกวัน ซึ่งพระองค์สร้างให้แก่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เมื่อสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศรัสเซีย

หากนึกถึงพระราชวังของเจ้านายที่อยู่รายรอบบริเวณนั้นต่อไป ก็จะเห็นว่าถนนราชดำเนินทำหน้าที่เป็นโครงข่ายการสัญจรที่เชื่อมโยงพระราชวังสำคัญในเวลานั้นเอาไว้ทั้งหมด เช่น พระราชวังสวนสุนันทา ซึ่งเป็นตำหนักที่ประทับของมเหสี, วังกรมหลวงชุมพร, วังกรมหลวงลพบุรีราเมศร์, วังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, พระตำหนักสวนกุหลาบ และ พระที่นั่งอนันตสมาคม

น่าสนใจด้วยว่าพระราชวังที่อยู่ในเขตรายรอบถนนราชดำเนินนั้น ล้วนสร้างขึ้นโดยอิงแอบกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น พระที่นั่งอัมพรสถานกับสถาปัตยกรรมแบบ Classic Navival, พระตำหนักสวนกุหลาบกับ English Renaissance, วังปารุสกวันกับสถาปัตยกรรมแบบ Classic ฯลฯ รวมทั้งยังก่อสร้างโดยสถาปนิกชาวต่างชาติซึ่งราชสำนักว่าจ้างให้ควบคุมโครงการเหล่านี้โดยตรง

ในแง่นี้ ราชดำเนินจึงเป็นโครงการจัดสร้างพื้นที่ใหม่ซึ่งสัมพันธ์กับระบบอำนาจแบบใหม่ โดยระบบอำนาจแบบใหม่นั้น ได้อาศัยแบบแผนการใช้พื้นที่และอาคารสถานที่ เพื่อประกาศให้เห็นโลกทัศน์และความใฝ่ฝันแบบใหม่ นั่นคือการหันหน้าไปหาแสงสว่างแห่งอารยะจากโลกตะวันตกมากขึ้น พร้อมกับเดินออกจากวิธีคิดแบบจารีตที่เคยยึดถือกันมา

โดยคำนึงถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ถนนราชดำเนินจึงมีความสำคัญอย่างน้อย ๓ ข้อ กล่าวคือ

ข้อแรก ในเชิงของภูมิศาสตร์กายภาพ ถนนราชดำเนินเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในเขตเมืองครั้งใหญ่ที่สุด เพราะนำไปสู่ความจำเป็นที่จะต้องรื้อทำลายแบบแผนการใช้พื้นที่ซึ่งมีอยู่แต่เดิมในบริเวณนั้น พร้อมทั้งปรับสร้างพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงข่ายของพระราชวังแบบใหม่ขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ โครงการนี้จึงไม่ได้มีขนาดใหญ่โตในแง่พื้นที่เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นโครงการขนาดใหญ่ในแง่ของงบประมาณสำหรับการปรับแต่งพื้นที่ดั้งเดิม, การสร้างถนน, การว่าจ้างสถาปนิกชาวต่างชาติ, การสร้างพระราชวัง, การรักษาซ่อมแซม ฯลฯ จนถือได้ว่าราชดำเนินคือหนึ่งในโครงการจัดการพื้นที่โดยรัฐสยามซึ่งมีขนาดใหญ่โตที่สุดที่เคยมีมา กล่าวได้ว่าโครงการถนนราชดำเนินคือ "อภิมหาโครงการ" ในความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ข้อสอง ต่อเนื่องจากข้อแรก แต่เป็นในเชิงของรัฐศาสตร์ นั่นก็คือถนนราชดำเนินและโครงการก่อสร้างพระราชวังเหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยใกล้เคียงกัน ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่น พระที่นั่งวิมานเมฆ (๒๔๔๓), พระราชวังจันทรเกษม (๒๔๔๓), พระที่นั่งอภิเษกดุสิต (๒๔๔๗), วังปารุสกวัน (๒๔๔๙), วังกรมหลวงชุมพร (๒๔๔๙) ฯลฯ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลในรัชกาลนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาลไปเพื่อ "อภิมหาโครงการ" ของพระองค์

อัตราการบริโภคงบประมาณขนาดนี้ทำให้การผลักดันโครงการนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย และเมื่อทำได้ ก็ย่อมแสดงให้เห็นความสามารถด้านการหารายได้และความมั่งคั่งของรัฐได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เมื่อคำนึงว่ารัฐในเวลานั้นเพิ่งปรับปรุงระบบการเก็บภาษีที่นาครั้งใหญ่ รวมทั้งเพิ่งรวมศูนย์อำนาจทางภาษีและการคลังมาไว้ที่พระมหากษัตริย์ไม่นานนัก ความสำเร็จของโครงการย่อมเป็นประจักษ์พยานของความสำเร็จด้านการรวมศูนย์อำนาจทางการคลังและการเมืองข้อนี้ ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็เชื่อมโยงกับความสำเร็จในการเป็นเจ้าอาณานิคมภายในเหนือดินแดนของชนชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ (internal colonization)

มองในส่วนนี้ ถนนและอาคารสถานที่ในกรณีข้างต้น จึงไม่ได้เป็นแค่ภูมิศาสตร์ทางกายภาพที่สร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์เพื่อประโยชน์ใช้สอยบางอย่างแต่เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นวัตถุสถานที่แสดงให้เห็นถึง "หน้าตา" และความสามารถทางการปกครองของรัฐ (governmentality) ไปพร้อมๆ กัน

ข้อสาม ในเชิงของสัญลักษณ์ ถนนราชดำเนินเชื่อมต่อพระบรมมหาราชวังเดิมกับพระราชวังใหม่ รวมทั้งเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงวังเจ้านายรุ่นใหม่หลายพระองค์ จึงเป็นพื้นที่ทางกายภาพที่เป็นภาพจำลองความเปลี่ยนแปลงจากสยามเก่าไปสู่สยามใหม่ โดยเฉพาะจากโครงสร้างการเมืองแบบรัฐจารีต ไปสู่ระบอบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไว้ที่พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว

องค์ประกอบทางกายภาพหลายอย่างของราชดำเนิน ช่วยขับเน้นสถานภาพอันสูงส่งของอำนาจแบบใหม่ เริ่มต้นจากช่องทางการจราจรชั้นในสุด ๒ ช่องของถนนที่สงวนไว้สำหรับรถม้าและรถยนต์ โดยเมื่อคำนึงถึงเงื่อนไขของสังคมสยามในสมัยกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งมีคนไม่มากที่มียานพาหนะแบบนี้ การกันช่องทางจราจรย่อมมีความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการสร้างพื้นที่พิเศษเพื่อแสดงให้เห็นสถานะพิเศษในสังคม

สะพานเป็นองค์ประกอบสำคัญของถนนราชดำเนิน จนกล่าวได้ว่าถนนสายนี้คือถนนที่มีสะพานซึ่งงดงามและประณีตมากที่สุดในสยามประเทศ แต่ความงดงามทางวัตถุนั้นสัมพันธ์กับความมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ ความประณีตของสะพานจึงขับเน้นให้คนผู้สัญจรไปมาตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ ความทันสมัย และความมั่งคั่งของพระราชอำนาจในเวลานั้น สูงยิ่งขึ้นไป

ด้วยสาเหตุทั้งหมดนี้ เมื่อคำนึงถึงถนนโดยเทียบเคียงกับพระราชวัง อาคารสถานที่ และองค์ประกอบทางกายภาพซึ่งตั้งอยู่รายรอบ จึงกล่าวได้ว่าราชดำเนินไม่ได้เกิดเพื่อประโยชน์ในการสัญจรของสาธารณะ มากเท่ากับที่ทำหน้าที่เป็นลานแสดงอำนาจของชนชั้นนำสยาม ขณะที่อาณาบริเวณสองข้างทางก็คือโครงข่ายของพื้นที่ทางสังคม (social spaces) ที่แสดงถึงความมั่งคั่งของอำนาจสูงสุดในสังคมไทย

พูดให้สั้นขึ้นก็ได้ว่า ถนนราชดำเนินถือกำเนิดขึ้นในฐานะของ "นิทรรศการจัดแสดงอำนาจอธิปัตย์" ในวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน

รัฐบาลและสถาบันต่างๆ กล่าวได้ถูกต้องว่า ราชดำเนินเป็น "ถนนสายประวัติศาสตร์" แต่ "ประวัติศาสตร์" ในที่นี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การสร้างถนน ความเปลี่ยนแปลงด้านการใช้สอยพื้นที่ การทำลายที่นาดั้งเดิม ผลกระทบต่อชุมชนและผู้คนบริเวณนั้น งบประมาณที่ใช้ในการตัดถนนและสร้างพระราชวังทั้งหมด การใช้แรงงาน ฯลฯ หรือพูดอีกอย่างก็คือ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสภาพชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้แม้แต่นิดเดียว

ฉะนั้นความเป็น "ถนนสายประวัติศาสตร์" จึงวางอยู่บนการลบล้าง "ประวัติศาสตร์" ของถนนทิ้งไป คุณค่าเชิงสัญลักษณ์ของวัตถุ ได้มาด้วยการทำให้วัตถุลอยคว้างจากความเป็นจริงในเวลานั้น โยงถาวรวัตถุกับความทันสมัยและพระราชอำนาจ และเพราะเหตุนี้ ถนนก็ค่อยๆ มีอำนาจเหนือมนุษย์และความเป็นจริงในสังคม

ลองนึกถึงการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ ก็จะเข้าใจประเด็นนี้ได้อย่างดี

ความเปลี่ยนแปลงของราชดำเนิน
ถนนราชดำเนินประกอบด้วยถนนย่อย ๓ สาย คือ ราชดำเนินใน เริ่มต้นจากพระบรมมหาราชวัง ไปถึงสะพานผ่านพิภพลีลา, ราชดำเนินกลาง เริ่มต้นจากสะพานผ่านพิภพลีลา ไปถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และราชดำเนินนอก จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปสิ้นสุดที่พระราชวังดุสิต โดยข้อที่น่าสนใจก็คือถนนย่อยแต่ละสายก็มีแบบแผนของสิ่งก่อสร้างหลักๆ ที่แตกต่างกัน กล่าวคือราชดำเนินในเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง ราชดำเนินนอกเป็นที่ตั้งของพระราชวังใหม่และวังเจ้านายชั้นสูง ส่วนราชดำเนินกลางนั้นปราศจากเอกอัครถาวรวัตถุเหล่านี้ มีแต่ตึกรามและอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เรียงรายอยู่สองข้างทาง

มองในอีกแง่ ขณะที่ราชดำเนินในและราชดำเนินนอกเต็มไปด้วยอาคารสถานที่ อันแสดงความโอฬารตระการตาและวิจิตรบรรจงจนน่าพิศวง ราชดำเนินกลางกลับเป็นพื้นที่ของงานสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco และ Stijl ซึ่งให้ความสำคัญต่อประโยชน์ใช้สอยของอาคารสถานที่เป็นสำคัญ

กล่าวในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ขณะที่สิ่งก่อสร้างบนถนนราชดำเนินในและราชดำเนินนอกเต็มไปด้วยเส้นเว้าเส้นโค้งและทรวดทรงที่สลักเสลาซับซ้อน อาคารสถานที่ของราชดำเนินกลางกลับเป็นเส้นตรงที่ราบเรียบ จนดูคล้ายคลึงกับเครื่องจักรกล อาจจัดลำดับของความงามบนถนนราชดำเนินเล่นๆ ก็ได้ว่า ราชดำเนินนอกคือส่วนที่มีความงดงามที่สุด รองลงมาคือราชดำเนินใน และแน่นอนว่าส่วนที่รั้งทายนั้นย่อมได้แก่เขตถนนราชดำเนินกลาง

หากพิจารณาอาคารสถานที่โดยเชื่อมโยงกับรสนิยมทางชนชั้น ก็จะเห็นว่าราชดำเนินในและราชดำเนินนอกคือพื้นที่ของอาคารสถานที่ ซึ่งอิงแอบกับสุนทรียศาสตร์และรสนิยมของชนชั้นสูงแห่งสังคมสยาม ส่วนสถาปัตยกรรมบนถนนราชดำเนินกลางนั้น วางอยู่บนคติแบบสมัยใหม่นิยมของมวลชนชนชั้นกระฎุมพี

คำถามก็คืออาคารสถานที่บนถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งมีแบบแผนและเป็นตัวแทนของรสนิยมที่แตกต่างกันเหล่านี้ ปรากฏขึ้นบนพื้นที่ซึ่งทำหน้าที่เป็น "นิทรรศการแสดงอำนาจอธิปัตย์" ได้อย่างไร ?

ในแง่ของเวลาแล้ว อาคารสองฝั่งถนนราชดำเนินกลางสร้างขึ้นกลางทศวรรษ ๒๔๘๐ อันเป็นช่วงเวลาที่คณะราษฎรประสบความสำเร็จในการล้มล้างการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยที่น่าสนใจว่าอาคารบนถนนราชดำเนินกลางนั้นออกแบบโดยนายจิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบตึกโดมของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งอาคารที่คล้ายคลึงกันอีกมาก เช่น อาคารของโรงพยาบาลทหารบก จังหวัดลพบุรี

อาคารสถานที่แบบใหม่สัมพันธ์กับการเมืองแบบใหม่ และยิ่งการปฏิวัติผ่านไป อาคารสถานที่แบบนี้ก็ยิ่งขยายเข้าสู่พื้นที่ของพระมหากษัตริย์และเจ้านายมากขึ้น ทำให้ทศวรรษ ๒๔๘๐-๒๔๙๐ เป็นช่วงเวลาที่สิ่งก่อสร้างแบบใหม่ แทรกตัวไปอยู่ท่ามกลางพระราชวังบนสองฝั่งราชดำเนินนอก ก่อนที่จะลุกลามไปสู่ราชดำเนินใน และละแวกใกล้เคียงพระบรมมหาราชวัง

จริงอยู่ว่าแบบแผนทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่แบบแผนการใช้พื้นที่ซึ่งแตกต่างกันด้วย แต่ในกรณีถนนราชดำเนินนั้น แบบแผนทางสถาปัตยกรรมสัมพันธ์กับการเมืองและคตินิยมทางชนชั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้พื้นที่เปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ

ได้กล่าวไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าราชดำเนินนอกและใน เป็นพื้นที่ของพระบรมมหาราชวังและวังของเจ้านายชั้นสูง จึงเป็นพื้นที่ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว สงวนไว้ให้คนจำนวนน้อยในสังกัดชนชั้นนำสยามเพียงหยิบมือเดียว ส่วนราชดำเนินกลางนั้น อัดแน่นไปด้วยอาคารพาณิชย์ที่เรียงรายกันโดยต่อเนื่อง ทำให้ผูกขาดที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวไม่ได้ แต่ต้องเปิดกว้างสำหรับการเข้าถึงของคนทั่วไป

ถ้าถือว่าราชดำเนินในและนอกเป็นพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่ทางสัญลักษณ์ ราชดำเนินกลางก็คือพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ถึงตอนนี้ เมื่อผู้ใช้ถนนคนหนึ่งสัญจรบนละแวกราชดำเนิน สิ่งที่จะปรากฏต่อหน้าเขาก็ไม่ได้มีแต่พระราชวังและเขตรโหฐานของเจ้านายชั้นสูง หากยังมีสถานที่ราชการ โรงภาพยนตร์ สำนักงานทนายความ สำนักงานหนังสือพิมพ์ คาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ เรียงรายกันไปตลอด ทำให้เขาไม่ได้เป็นแค่ "ผู้ดู" สัญลักษณ์ของอำนาจอีกต่อไป แต่สามารถใช้สอยและดำเนินกิจกรรมต่างๆ บนอาคารสถานที่กลุ่มใหม่ได้ด้วย อาคารสถานที่แบบใหม่ทำให้ผู้คนเกี่ยวข้องกับพื้นที่สูงขึ้น ขณะที่ชีวิตประจำวันของพื้นที่ก็ต้องพึ่งพาอาศัยผู้คนมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน

ราชดำเนินกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ประเด็นสำคัญก็คือทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร ?

ในประวัติศาสตร์ของหลายสังคมนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่มักนำไปสู่การก่อสร้างอาคารสถานที่หรือถาวรวัตถุ เช่น หอประชุมขนาดใหญ่ สภาประชาชน หอจดหมายเหตุ หรือลานสาธารณะ ฯลฯ เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองบางอย่าง เพื่อเฉลิมฉลองความเปลี่ยนแปลง หรือเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของระบอบใหม่ โดยที่คุณลักษณะสำคัญของอาคารสถานที่เหล่านี้ก็คือ การเป็น "พื้นที่สาธารณะ" ซึ่งมีลักษณะถึงรากถึงโคนอย่างเต็มที่ (radical space) ทั้งนี้ก็เพื่อให้อาคารสถานที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดคติการเมืองบางอย่างให้ยืนยาวออกไป

อย่างไรก็ดี การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ได้นำไปสู่การสร้างพื้นที่สาธารณะที่ถึงรากถึงโคนแบบนี้ มีก็แต่อนุสาวรีย์ที่คนทั่วไปเข้าใจความหมายได้ยาก หรือไม่ก็คือการตั้งชื่อถนนบางสายตามชื่อผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองบางคน จึงเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งทำหน้าที่เยี่ยงอนุสรณ์สถาน สำหรับเหตุการณ์ที่จบสิ้นและเป็นอดีตไปแล้ว หากปราศจากการคิดถึงอาคารสถานที่ในฐานะโครงการสำหรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ปรากฏการณ์นี้สำคัญ เพราะแสดงให้เห็นว่าระบอบใหม่ไม่มีเจตจำนงในการขับเน้น "ความเป็นการเมือง" ของอาคารสถานที่กลุ่มนี้ ทำให้อาคารสถานที่เป็นแค่สัญลักษณ์ของอำนาจทางการเมืองแบบใหม่ หากในที่สุดแล้วก็ไม่ได้เติบโตขึ้นไปเป็นการต่อสู้กับสัญลักษณ์ของอำนาจการเมืองเก่า รวมทั้งไม่ได้นำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองอย่างเต็มรูปต่อไป

(อนึ่ง ควรระบุด้วยว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือพื้นที่ซึ่งมีเงื่อนไขทางกายภาพและสิ่งก่อสร้างหลายอย่าง ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการใช้พื้นที่แบบนี้ แต่โครงสร้างเหล่านี้ก็ถูกทำลายไปโดยกระบวนการแยกชุมชนและธรรมศาสตร์ออกจากกัน)

แม้อาคารสถานที่แบบใหม่ทำให้เกิดกิจกรรมการค้าและการบริการ ซึ่งคนทั่วไปเข้ามาใช้สอยได้มากขึ้น แต่เมื่อมองในอีกด้าน อาคารสถานที่แบบใหม่กลับถูกใช้สอยโดยปราศจากความมุ่งหมายในการสร้างและผลิตซ้ำความหมายทางการเมือง ผลคืออาคารเป็นแค่ถาวรวัตถุที่มีแต่หน้าที่ทางเศรษฐกิจ จนไม่อยู่ในวิสัยจะเป็น "พื้นที่สาธารณะ" ได้ และในที่สุด ก็แปรสภาพเป็นเพียงพื้นที่ "กึ่งเฉพาะ" ที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นกระฎุมพีที่มีกำลังบริโภคในเขตเมือง

ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงนี้จึงส่งผลให้การใช้พื้นที่ของราชดำเนิน มีญัตติหลักอยู่ที่ "หน้าที่ทางเศรษฐกิจ" สูงขึ้น โดยข้อที่ต้องตระหนักก็คือ พัฒนาการนี้เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับการจัดสรรกรรมสิทธิ์และผลประโยชน์จากอาคารสถานที่ ให้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตรง

น่าสนใจว่าแม้สำนักงานทรัพย์สินฯ จะเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ แต่ก็เพิ่งจะในปี ๒๔๙๑ หรือในช่วงเวลานี้เองที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นนิติบุคคล

ด้วยเหตุนี้ หลังจากอาคารสถานที่แบบใหม่ทำให้เกิดแบบแผนการใช้พื้นที่ชนิดใหม่ ก็ได้เกิดการโอนย้ายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหนือพื้นที่ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้ความเป็นทรัพย์สินซึ่งมีผู้ถือครองกรรมสิทธิ์อย่างเต็มรูปเป็นลักษณะสำคัญของอาคารสถานที่กลุ่มนี้ นั่นหมายความว่าราชดำเนินคือสินค้าซึ่งมีหน้าที่สร้างรายได้ พร้อมกับมีหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ต่อพระราชอำนาจไปพร้อมๆ กัน

เมืองและการปรับตัว
ความสำคัญทางเศรษฐกิจของถนนราชดำเนิน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจไม่มากนัก นอกจากเยาวราชและเจริญกรุงของพ่อค้าข้าวชาวจีน รวมทั้งละแวกสีลมของพ่อค้าชาวตะวันตก จึงเป็นเรื่องง่ายที่ราชดำเนินจะรักษาความสำคัญทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจในเขตเมืองเก่าและใกล้เคียง

แต่การเร่งพัฒนาทุนนิยมในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ รวมทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจเมืองในทศวรรษ ๒๕๓๐ ได้กระตุ้นให้เมืองขยายตัวไปกว้างขวาง เกิดแบบแผนการบริโภคที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งเกิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั้งจากการตั้งถิ่นฐานของประชากรอย่างเป็นไปเอง (ในกรณีถนนสุขุมวิท) หรือจากการวางแผนเมืองโดยตรง (ในกรณีของถนนรัชดาภิเษก, พระรามที่ ๙, พระรามที่ ๓ ฯลฯ) ความเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่เหล่านี้ทำให้ราชดำเนินมีความสำคัญทางธุรกิจน้อยลง เช่นเดียวกับที่ทำให้พื้นที่ละแวกใกล้เคียงราชดำเนิน มีความสำคัญทางเศรษฐกิจลดลงไปในเวลาใกล้เคียงกัน

การทุบโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยในปี ๒๕๒๘ เป็นประจักษ์พยานสำคัญของความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของราชดำเนินและพื้นที่ละแวกนี้ เพราะเฉลิมไทยในช่วงสุดท้ายนั้นมีฐานะใกล้เคียงกับโรงภาพยนตร์ชั้นสองใกล้ร้าง สภาพภายในทรุดโทรม มีผู้ชมแต่ละรอบนับหัวได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือเป็นโรงมหรสพซึ่งแทบไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจหลงเหลืออีกต่อไป

ในปัจจุบันนี้ ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจของถนนราชดำเนิน แสดงออกผ่านข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่า นอกจากศึกษาภัณฑ์และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว ก็แทบไม่มีธุรกิจขนาดใหญ่อยู่บนถนนสายนี้ ทำให้ถนนมีค่าเป็นเพียงจุดเชื่อมต่อของรถประจำทางหลายสาย หรือไม่ก็คือเป็นทางผ่านระหว่างกรุงเทพฯ ชั้นในกับเขตปริมณฑล

ทุกวันนี้ หากปิดการจราจรบนถนนราชดำเนินลงไป รวมทั้งหากปราศจากร้านอาหารบางแห่ง พ่อค้าแม่ค้าแผงลอย ควันหลงจากนักท่องเที่ยวและเด็กวัยรุ่นแถบถนนข้าวสาร การค้าประเวณีของสาวประเภทสองในยามราตรี ราชดำเนินก็คือถนนที่แทบจะไม่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนกลุ่มไหนอีกเลย

มองในแง่สังคมวิทยาแล้ว ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจ เพราะแสดงให้เห็นว่าคนระดับล่างสุดของสังคม ได้เข้ามาถือครองหุ้นส่วนในการใช้ถนนอันเต็มไปด้วยสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระราชอำนาจ พร้อมกับแปลงพื้นที่ทางธุรกิจให้เป็นพื้นที่ทำมาหากินของคนจนเมือง จึงเป็นการสอดแทรกความหมายใหม่เข้าสู่ความหมายดั้งเดิมของพื้นที่ ทำให้คนชั้นสูงและกระฎุมพีไม่ได้ยึดครองพื้นที่อยู่เพียงกลุ่มเดียว

ราชดำเนิน สถานะทางสัญลักษณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจ
คำถามคือราชดำเนินจะรักษาสถานะทางสัญลักษณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างไร ?

การกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์การทุบโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย มีประโยชน์ต่อการไขปริศนาข้อนี้ เพราะเฉลิมไทยไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ของธุรกิจมหรสพและการค้า หากยังเป็น "พื้นที่ทางสังคม" ซึ่งผูกพันกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมและผู้คน ทำให้การทุบโรงภาพยนตร์ไม่ได้เป็นแค่การทำลายถาวรวัตถุที่ประกอบเป็นสถานที่ แต่ยังเป็นการรื้อทำลายความหมายของพื้นที่ฉบับที่เขียนขึ้นโดยสังคม

ฉะนั้น การทุบเฉลิมไทยจึงไม่ได้เป็นแค่ประจักษ์พยานของความเสื่อมทรามทางเศรษฐกิจของถนนราชดำเนิน หากยังเป็นหลักฐานว่า ได้เกิดทัศนคติด้านการใช้พื้นที่แบบใหม่ขึ้นในเวลาเดียวกัน

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุดแล้ว เฉลิมไทยถูกรื้อทำลายเพื่อขับเน้นความโดดเด่นของโลหะปราสาทแห่งวัดราชนัดดา ทำให้การรื้อทำลายเป็นหลักฐานของกระบวนการจัดแต่งองค์ประกอบของพื้นที่เมือง เพื่อขับเน้นถาวรวัตถุจากอดีต นั่นหมายความว่าเมืองถูกกำกับด้วยความต้องการปรุงแต่งเมือง เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจจากการจ้องมองสูงขึ้น แต่หันหลังให้ความสัมพันธ์ทางสังคมในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ การทุบเฉลิมไทยจึงเป็นดัชนีว่าราชดำเนินไม่ได้เป็นพื้นที่ทางธุรกิจหรือพื้นที่ของสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ล้วนๆ แต่ยังเป็นพื้นที่ของการจัดแสดงทางวัฒนธรรม

แต่ความเป็นพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่ทางสัญลักษณ์ หน้าที่ทางเศรษฐกิจ และหน้าที่ทางวัฒนธรรมเช่นนี้ จะส่งผลให้การใช้พื้นที่บนถนนราชดำเนินเปลี่ยนไปเช่นไร ?

ถ้าเทียบเคียงราชดำเนินกับพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ก็จะเห็นว่าในขณะที่ราชดำเนินเผชิญกับความเสื่อมทรามหลากมุมหลายแง่ ห่างจากราชดำเนินไปนิดเดียว กลับปรากฏพื้นที่ทางธุรกิจแห่งใหม่ที่เติบโตจนน่าพิศวง กลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีชีวิตชีวา เปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังผนึกประสานเข้าเป็น complex ที่เกี่ยวโยงใกล้ชิดกันตลอดเวลา โดยมีถนนข้าวสารเป็นแกนกลางของพื้นที่นี้ ขณะที่อาณานิคมส่วนอื่นๆ ก็ได้แก่ ถนนตะนาว, หลังวัดชนะสงคราม, ท่าพระอาทิตย์ รวมทั้งบางลำพูบางส่วนในปัจจุบัน

แน่นอนว่าราชดำเนินอยู่ในสถานะทางธุรกิจที่ทำให้จำเป็นต้องควบรวมตัวเองกับพื้นที่กลุ่มนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ายอมรับว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือตัวแปรให้พื้นที่กลุ่มนี้มีพลวัตอย่างถึงที่สุด ก็จะมองเห็นว่าอะไรคือทิศทางใหญ่ของการใช้พื้นที่บนถนนราชดำเนินในอนาคต

โดยพื้นฐานแล้ว การปรับปรุงราชดำเนินโดยมีหลักใหญ่ใจความ อยู่ที่การปรุงแต่งองค์ประกอบทางพื้นที่ให้น่าตื่นตาตื่นใจตามจินตนาการเรื่องสังคมเอเชียที่นักท่องเที่ยววาดไว้ในฝัน (Tourists Oriental Exoticism) นั่นก็คือการเป็นสังคมจารีตที่เต็มไปด้วยความวิจิตรพิสดารของ วัง-วัด-อาคารสถานที่ เพราะเชื่อว่าวิธีนี้จะรักษาความสำคัญทางสัญลักษณ์ของพื้นที่เอาไว้ได้ พร้อมทั้งได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปด้วยพร้อมๆ กัน

ดังนั้น แผนการปรับปรุงถนนราชดำเนินของรัฐบาล และคณะกรรมการหลายต่อหลายชุด จึงเป็น "โครงการ" ที่อยู่ในทิศทางเดียวกับกรณีการทุบเฉลิมไทยเมื่อ ๒ ทศวรรษที่แล้ว นั่นก็คือการแปลงราชดำเนินให้เป็นพื้นที่สำหรับแสดงวัฒนธรรมให้มากขึ้น พร้อมทั้งหันหลังให้แก่ความหมายที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคม

อย่างไรก็ดี แง่มุมใหม่ของโครงการพัฒนาราชดำเนินในปัจจุบันอยู่ที่มันไม่ได้มุ่งดัดแปลงถนนราชดำเนินแต่เพียงอย่างเดียว หากยังมุ่งเปลี่ยนแปลงแบบแผนการใช้อาคารสถานที่และพื้นที่รอบข้างไปด้วย โครงการจึงนำไปสู่แผนการทำให้อาคารสองฝั่งถนนแปรสภาพเป็นห้างสรรพสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ย้ายผู้คนและชุมชนแออัดรายรอบออกไป หรือไม่อย่างนั้นก็คือการจัดระเบียบไม่ให้ขัดต่อทัศนียภาพของเมือง

ที่รัฐบาลและผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุกชุดหมกมุ่นวุ่นวายกับการขับไล่ชุมชนของคนยากจน และคนชั้นล่างจรจัดไปจากถนนราชดำเนินและพื้นที่ใกล้เคียง ในรูปของการไล่จับโสเภณี กวาดจับคนไร้บ้าน ฯลฯ ก็ด้วยเหตุผลแบบนี้เอง

มองในระดับภาพรวมแล้ว แผนการเปลี่ยนแปลงราชดำเนินกำลังทำให้กรุงเทพฯ ชั้นในตกอยู่ภายใต้กระบวนการ "สร้างใหม่" (Re-Invention) เพื่อแปลงพื้นที่ในเมืองให้เอื้อต่อการนำเสนอ วัง-วัด ที่ถูกปรุงแต่งให้เป็นตะวันออกอย่างยิ่งยวด (Re-Orientalization) จากนั้นก็จับพื้นที่ทั้งหมดไปอยู่ร่วมกับธุรกิจการท่องเที่ยว บาร์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านอาหาร คอฟฟี่ชอป ร้านเหล้า ผับ ฯลฯ ซึ่งวางอยู่บนสุนทรียศาสตร์ที่แตกต่างกัน เกิดเป็นโครงข่ายของพื้นที่ซึ่งความเป็นตะวันออกและความเป็นตะวันตก ผสมกันวุ่นวายน่าฉงน กลายเป็นเมืองชนิดใหม่ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมชนิดใหม่ ซึ่งชุมชนและผู้คนในละแวกดั้งเดิมไม่สามารถ "จัดวาง" ตำแหน่งแห่งที่ได้อย่างง่ายๆ อีกต่อไป

ไม่แปลกที่ในที่สุดแล้ว แผนพัฒนาราชดำเนินจะทำให้เกิดเมืองซึ่งมีแต่อาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อนุสาวรีย์ พระราชวัง ศาสนสถาน แต่ไม่มีคนชั้นล่าง ไม่มีคนจนเมือง รวมทั้งไม่มีชุมชน

ก้าวไปสู่ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน
ในสายตาของคนจำนวนมาก ราชดำเนินคือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย แต่ประวัติศาสตร์ของราชดำเนินแสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้กำเนิดเพื่อประชาธิปไตยอย่างใดทั้งนั้น ราชดำเนินเกิดขึ้นเพื่อแสดงสถานภาพของอำนาจ จึงเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาอำนาจ ขณะที่ความรู้สึกนึกคิดว่าราชดำเนินเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย เป็นผลผลิตมาจากการใช้และการสร้างความหมายใหม่ให้แก่ถนนในภายหลังเอง

อัจฉริยภาพของราชดำเนินอยู่ที่ความสามารถในการทำตัวเองให้เชื่อมโยงกับอุดมคติอันสูงส่ง ทำให้ผู้คนมองไม่เห็นอำนาจที่อยู่ในทุกองค์ประกอบของถนนนี้ พร้อมกับมองไม่เห็นว่านี่คืออาคารสถานที่ซึ่งมีเจ้าของกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับตึกแถวและอาคารพาณิชย์ทั่วไป จึงหลงไปว่าการพัฒนาราชดำเนินคือการทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ทำให้ชอบธรรมที่จะใช้งบประมาณของชาติได้อย่างเสรี

ด้วยการยกระดับตัวเองให้เป็นนามธรรมเช่นนี้ ราชดำเนินก็บรรลุถึงสถานะการเป็นวัตถุที่มีชีวิตขึ้นมา ถึงขั้นจะไล่รื้อชุมชนรายรอบเพื่อความสง่าของถนนก็ได้ จะกำหนดแบบแผนการใช้พื้นที่อย่างไรก็ได้ หรือจะกวาดจับคนเล็กคนน้อยเพื่อสุขอนามัยของถนนก็ได้อีกเหมือนกัน

ถ้าประชาธิปไตยหมายถึงการเปิดโอกาสให้คนได้ขัดขืนกับอำนาจ แบบวิถีของถนนราชดำเนินก็แสดงถึงการกดข่มให้คนอยู่ใต้อำนาจเรื่อยไป

แผนการพัฒนาถนนราชดำเนินเริ่มต้นด้วยการอ้างว่าราชดำเนินคือถนนสายประวัติศาสตร์ นำไปสู่การใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อโครงการนี้ การวางผังเมืองใหม่ตามอำเภอใจ การคิดอ่านโยกย้ายชุมชนโดยอิสระ ฯลฯ กลายเป็น "อภิมหาโครงการ" ที่คนเพียงหยิบมือมีอิสรภาพจะกำหนดแผนที่ส่งผลกระทบมหาศาลได้เต็มที่ โดยไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่จะตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พื้นที่เมืองขนาดใหญ่แบบนี้คือ "นโยบายสาธารณะ" ที่ต้องผ่านการพิจารณาจากสังคม

ยังไม่มีประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน




- การเมืองของความเป็นศัตรู และ ปัญหาบางประการ ในความคิดทางการเมืองของคาร์ล ชมิทท์.
- การเมืองแบบ"ทางสายที่ 3 : วาทกรรมแบบ หลังสังคมนิยม
- การสร้างปีศาจวิทยาแห่งการก่อการร้าย
- ความเกลียดชังทางโครงสร้างที่อันตราย
- คืนประชาสังคมให้คนไทยมุสลิม
- คำถาม - กุญแจสู่สังคมความรู้
- ชาติ เชื้อชาติ และดินแดน
- ปฏิรูปการเมือง : บนเส้นทางไปสู่ความเป็นขวา
- ปฏิรูปการเมือง : บนหนทางไปสู่ความเป็นอนุรักษ์นิยม
- โพสท์โมเดิร์นคืออะไร จากปฏิกริยาแบบมาร์กซ์สู่การเมืองแบบปฏิบัตินิยม
- มิเชล ฟูโกต์ : ประวัติศาสตร์ และการเมือง
- อิสลามและประชาธิปไตย
- ๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรคนแรก

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
130149
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
The Midnight University web 2006
นอกจากนโปเลียนจะตัดถนนแบบนี้แล้ว นโปเลียนยังรื้อฟื้นการสร้างลานหลวงขึ้นมา ณ ใจกลางเมืองด้วย โดยลานนี้จะใช้เป็นพื้นที่สำหรับการสวนสนามของทหารก็ได้ ใช้ในการลงโทษประหารชีวิตก็ได้ หรือจะใช้ในยามที่กษัตริย์ต้องการปรากฏตัวต่อหน้าประชาชนก็ได้อีกเช่นกัน

ในแง่นี้ ลานหลวงของกษัตริย์จึงไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งเปิดโล่งให้ใครเข้ามาทำอะไรก็ได้ แต่ลานหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างและผูกขาดโดยกษัตริย์ จึงเป็นพื้นที่สาธารณะของอำนาจ และมีบทบาทในการทำให้อำนาจของกษัตริย์ปรากฏในรูปวัตถุทางกายภาพที่คนใต้ปกครองมองเห็นได้ตลอดเวลา พูดให้สั้นขึ้นก็ได้ว่าลานหลวงคือพื้นที่เพื่อให้กษัตริย์จะนำเสนอตัวเองต่อสังคมได้ตามอำเภอใจ