นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University

เสียงเรียกร้องเพื่อความยุติธรรม
คุกคามอำมหิต : กรณีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง
เกี่ยวกับฎีกาถวายในหลวง และแถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)


ผลงานเรียบเรียงชิ้นนี้ ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก homepage ของทนายสมชาย นีละไพจิตร และสำนักข่าวไทย
โดยได้มีการเรียงลำดับการนำเสนอดังนี้
1. ฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทย ในกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร
2. ความสงสัยที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย
3. แถลงการณ์เรื่อง "การหายตัวไปของทนายความนักสิทธิมนุษยชนและปัญหาการทำผิดโดยไม่ถูกลงโทษในประเทศไทย
ที่ได้ส่งไปยังกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ
4. คำถามต่อการหายตัวไปและการวิสามัญฆาตกรรม
5. AHRC เรียกร้องศาลไทย: ไม่เปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร
6. สนับสนุนข้อเรียกร้องของอังคณา กรณีการหายไปของทนายสมชาย
7. ดีเอสไอ ต้องใส่ใจและพยายามหาคำตอบให้ได้โดยพลันว่า "ทนายสมชายอยู่ที่ไหน?"
8. ประวัติของนายสมชาย นีละไพจิตร 9. ประชาสัมพันธ์การเสวนา

10. รางวัลข่าวเจาะเพื่อสิทธิมนุษยชน รำลึกถึงการหายตัวของทนายสมชาย
11. Introduction to Memories of a father
12. แถลงการณ์ - กรณีคดีสมชาย นีละไพจิตร 12 มกราคม 2549

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 795
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 25.5 หน้ากระดาษ A4)


คุกคามอำมาหิตกรณีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร
เสียงเรียกร้องเพื่อความยุติธรรม?
ฎีกาถวายในหลวงและแถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)

ลำดับการนำเสนอ
1. ฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทย ในกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร
2. ความสงสัยที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย
3. แถลงการณเรื่อง"การหายตัวไปของทนายความนักสิทธิมนุษยชนและปัญหาการทำผิดโดยไม่ถูกลงโทษในประเทศไทย ที่ได้ส่งไปยังกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ

4. คำถามต่อการหายตัวไปและการวิสามัญฆาตกรรม
5. AHRC เรียกร้องศาลไทย: ไม่เปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร
6. สนับสนุนข้อเรียกร้องของอังคณา กรณีการหายไปของทนายสมชาย

7. ดีเอสไอ ต้องใส่ใจและพยายามหาคำตอบให้ได้โดยพลันว่า "ทนายสมชายอยู่ที่ไหน?"
8. ประวัติของนายสมชาย นีละไพจิตร
9. ประชาสัมพันธ์การเสวนา

1. ฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทย ในกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร
โดย คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) (17 มี.ค. 48, 13:30 น.) (ฉบับแปลไม่เป็นทางการ)

11 มีนาคม 2548

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำนักเลขาพระราชวัง พระราชวัง ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพ 10200

กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เรื่อง นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่หายตัวไป


ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ขอร้องเรียนมายังฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทรงมีพระราชดำรัสต่อรัฐบาลไทย แสดงความห่วงใยในคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร เพื่อความเป็นธรรมจะได้เกิดขึ้นกับครอบครัวของนายสมชาย และเพื่อพิทักษ์สิทธิและศักดิ์ศรีของพสกนิกรใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

นายสมชาย ได้ถูกลักพาตัวออกไปจากรถยนต์ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 หลังจากนั้น ไม่มีใครพบตัวอีกเลยจนกระทั่งวันนี้ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการหายตัวไป ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แจ้งกับทางข้าพระพุทธเจ้าว่า ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามหาตัวนายสมชายและนำผู้กระทำผิดมารับผิดชอบตามกระบวนการทางกฎหมายแล้ว

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกพึงพอใจต่อคำมั่นสัญญาของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นอย่างยิ่ง แต่ต่อมาข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ถึงขณะนี้ นายสมชายก็ยังคงหายตัวไป ส่วนผู้ต้องหาก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา ข้าพระพุทธเจ้าและภรรยาของนายสมชาย และหน่วยงานอื่นๆ ได้พยายามเรียกร้องให้คดีนี้ไปอยู่ภายใต้การดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สังกัดกระทรวงยุติธรรม แต่ถึงขณะนี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงเป็นผู้รับผิดชอบคดี แม้ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะเคารพการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดี แต่ยังตระหนักถึงข้อที่ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นเจ้าพนักงานของหน่วยงานดังกล่าวนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบในคดีนี้

ข้าพระพุทธเจ้าได้พยายามผลักดันเรื่องนี้ผ่านช่องทางอื่นๆ แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ดังนั้น หลังจากหนึ่งปี จึงตัดสินใจนำเรื่องกราบเรียนฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเคารพอย่างสูงสุด เพื่อที่ว่าอย่างน้อยที่สุด ภรรยาและบุตรทั้งห้าของนายสมชายจะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับสามีและบิดาของเขา และได้เห็นว่าผู้กระทำความผิดได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย

ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบเรียนว่า คดีของนายสมชายนั้นมีความสำคัญกับครอบครัวของเขา รวมถึงพสกนิกรคนไทยอื่นๆ เนื่องจากเป็นคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากสาธารณชน จึงหวังว่าหากคดีนี้ได้รับการคลี่คลาย ความเคารพศรัทธาของพสกนิกรที่มีต่อสถาบันยุติธรรมของไทยยังคงจะดำรงอยู่ไม่เสื่อมคลาย

นอกจากนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อว่า การคลี่คลายคดีของนายสมชายอาจเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ เพราะนายสมชายเองเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาของภาคใต้ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้รับรู้ถึงปัญหาของดินแดนแห่งนี้และรู้สึกเห็นใจและเป็นห่วงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคใต้นี้ด้วยเช่นกัน

ดังที่ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงทราบดีอยู่แล้วว่า คดีของนายสมชายนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนานาประเทศ ดังนั้น การคลี่คลายคดีของนายสมชายจึงมีนัยสำคัญมากต่อชื่อเสียงและความเชื่อถือของนานาอารยะประเทศที่มีต่อราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอกราบบังคมทูลมายังฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงมีพระราชดำรัสผ่านสำนักราชเลขาแสดงความกังวลในคดีนี้ต่อรัฐบาลไทย เพื่อที่ครอบครัวของนายสมชายจะได้รับการเยียวยา และพสกนิกรอื่นๆ จะได้รู้สึกภาคภูมิใจกับความยุติธรรมที่เกิดขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบบังคมทูลว่าการลักพาตัวในลักษณะนี้เป็นอาชญากรรมอันร้ายแรง ที่ถูกประณามจากสังคมอารยะทั้งมวล ในปี คริสตศักราช 1998 ได้มีการร่างกติกาสากลว่าด้วยเรื่องการปกป้องบุคคลจากการบังคับให้หายตัวไป ข้าพระพุทธเจ้าหวังด้วยใจบริสุทธิ์ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามทุกวิถีทางที่จะรับหลักการในร่างกติกาดังกล่าว และออกกฎหมายห้ามการบังคับให้หายตัวไป เพื่อบังคับใช้ในราชอาณาจักรต่อไปในอนาคตอันใกล้

ขอฝ่าละอองธุลีพระบาททรงโปรดพิจารณาข้อร้องเรียนของข้าพระพุทธเจ้า ในนามคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
Basil Fernando
ผู้อำนวยการ

ข้อมูลจาก http://www.ucl.or.th/cgi-bin/content/content1/show.pl?0009
ข้อมูลจาก สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) http://www.ucl.or.th/


2. ความสงสัยที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย
ใบแถลงข่าวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย AHRCAHRC-PL-43-2004

ศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2547
ความสงสัยที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย

(ฮ่องกง 18 มิถุนายน 2547) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย(AHRC) ได้ออกแถลงการณ์ในวันนี้แสดงถึงความสงสัยที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยในการพิจารณาคดี การหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร

จากการยืนยันที่ว่า หน่วยงานราชการของไทยไม่แยแสต่อการแกล้งพยายามที่จะคลี่คลายคดีนี้ AHRC ได้โต้แย้งในแถลงการณ์ว่า บทบาทสาธารณะควรจะทำการกดดันให้เจ้าหน้าที่ลาออกจากหน้าที่หากไม่สามารถคลี่คลายคดีดังกล่าวได้

AHRC กล่าวว่า "มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างการหายตัวไปของนายสมชายและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
และ "สมมติว่านายสมชายขณะนี้ได้เสียชีวิตแล้ว ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือรัฐบาลไทย แต่ถึงขณะนี้ ดูเหมือนรัฐบาลจะประสบความล้มเหลวในการทำหน้าที่ดังกล่าว

นายสมชาย นักกฎหมายอาวุโสและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547หลังจากกล่าวต่อสาธารณะว่าตำรวจได้กระทำการทารุณกรรมต่อลูกความของเขา แม้ว่ามีเจ้าหน้าที่ห้านายถูกระบุว่ามีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการหายตัวไปของนายสมชาย แต่พวกเขากลับไม่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำการลักพาตัว โดยถูกตั้งข้อหาเพียงแค่การสมรู้ร่วมคิด การข่มขู่และการทำร้ายร่างกาย และการปล้นทรัพย์ เท่านั้น สี่ในห้าผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว การพิจารณาคดีจะเริ่มในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน นี้

ทำไมประเทศไทยถึงไม่ทำให้การทำให้บุคคลหายสาบสูญเป็นการกระทำผิดขั้นอุจฉกรรจ์ ซึ่งสามารถทำได้ในรูปของพระราชบัญญัติ โดยให้มีผลย้อนหลัง ไม่เฉพาะคดีของนายสมชาย แต่รวมถึงการหายตัวไปของประชาชนอีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดในภาคใต้ของไทย

ในแถลงการณ์ได้สรุปโดยชี้ไปที่ข้อบกพร่องอันสำคัญต่อการพิจารณาคดีในเรื่องนี้ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของไทย และได้กล่าวถึงวิกฤติของความยุติธรรมในประเทศด้วย

Basil Fernando ประธานของ AHRC ตั้งคำถามว่า "อะไรจะเกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย หากคดีแบบนี้ไม่สามารถคลี่คลายได้อย่างถูกต้อง ทั้งที่ความจริงก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะอยู่แล้ว และประชาชนก็ได้กดดันต่อรัฐบาลเพื่อให้เกิดความยุติธรรม และถามต่อว่า "กรณีของคุณสมชายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมันจะสะท้อนถึงการทำงานของกระบวนการทั้งหมด หากความยุติธรรมที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นในคดีเช่นนี้ เราจะหวังความยุติธรรมกับคนอื่นๆ ได้อย่างไร?

แถลงการณ์ฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่ www.ahrchk.net
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย AHRC ฮ่องกง
http://thailand.ahrchk.net/mainfile.php/2004pr/20/


3. แถลงการณ์เรื่อง "การหายตัวไปของทนายความนักสิทธิมนุษยชน
และปัญหาการทำผิดโดยไม่ถูกลงโทษในประเทศไทย ที่ได้ส่งไปยังกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ


แถลงข่าว ALRC-PL-14-2005
แถลงการณ์เรื่อง "การหายตัวไปของทนายความนักสิทธิมนุษยชนและปัญหาการทำผิดโดยไม่ถูกลงโทษในประเทศไทย
ที่ได้ส่งไปยังกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ

(เจนีวา 1 เมษายน 2548) แถลงการณ์เรื่อง"การหายตัวไปของทนายความนักสิทธิมนุษยชนและปัญหาการทำผิดโดยไม่ถูกลงโทษในประเทศไทย ที่จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลทางกฎหมายแห่งเอเชีย (ALRC) (E/CN.4/2005/NGO/34) ได้รับการเผยแพร่ในวันที่ 31 มีนาคม 2548 ในการประชุมของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ที่เมืองเจนีวา

รายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์จะได้รับการเผยแพร่ตามมา

ปีนี้ ALRC ได้นำเสนอแถลงการณ์ทั้งสิ้น 40 ฉบับ ต่อคณะกรรมาธิการ ALRC ได้ยกประเด็นสำคัญเรื่องปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย เนปาล ศรีลังกา และไทย

รายละเอียดของแถลงการณ์ทั้งหมดสามารถดูได้ที่ http://www.alrc.net/doc/mainfile.php/61written .
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที Sanjeewa Liyanage + (852) 2391-2246 / 2698-6339
ศูนย์ข้อมูลทางกฎหมายแห่งเอเชีย ALRC ฮ่องกง

4. คำถามต่อการหายตัวไปและการวิสามัญฆาตกรรม
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน การประชุมครั้งที่ 61 รายการที่ 11 (b) ของกำหนดการสิทธิทางพลเมืองและทางการเมือง รวมทั้งคำถามต่อการหายตัวไปและการวิสามัญฆาตกรรม

แถลงการณ์โดย ศูนย์ข้อมูลทางกฎหมายแห่งเอเชีย (Asian Legal Resource Center)
หน่วยงานพัฒนาเอกชน ดำรงสถานภาพที่ปรึกษาทั่วไป การหายตัวไปของทนายความนักสิทธิมนุษยชนและการทำผิดอย่างลอยนวลในประเทศไทย

1. ในแถลงการณ์ที่ส่งไปยังคณะกรรมาธิการในการประชุมครั้งที่ 60 โดยศูนย์ข้อมูลทางกฎหมายแห่งเอเชีย (ALRC) ต่อกรณี"สงครามยาเสพติด ปี 2546 ที่ประกาศโดยรัฐบาลไทย อันเป็นผลให้ประชาชนกว่า 2,500 คน ถูกสังหารซึ่ง ALRC ได้เตือนว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นที่น่าเสียดายว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตามความคาดหมายภายในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่าที่ได้ประเมินเอาไว้

ALRC ได้เสนอแถลงการณ์ฉบับอื่นในปีนี้ต่อกรรมาธิการ ในเรื่องการเติบโตของการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและการเติบโตของการวิสามัญฆาตกรรม รวมทั้งการเสียชีวิต 78 ศพ ในระหว่างการกุมขังที่จังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ยังมีเรื่องสิทธิในการเข้าถึงอาหาร การถดถอยของเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น และการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทลักษณะความอาญา อันทำให้เกิดการไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และสุดท้าย ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสถาบันที่ดำรงความยุติธรรมของไทย ในแถลงการณ์นี้ ALRC ยังได้แสดงความกังวลอันใหญ่หลวงต่อการหายตัวไปของทนายความนักสิทธิมนุษยชน นายสมชาย นีละไพจิตร ด้วย

2. ก่อนที่นายสมชายจะหายตัวไป เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เขาได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง ถึงการที่ลูกความสี่คนของเขาถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ALRC ได้เสนอแถลงการณ์แสดงรายละเอียดของกรณีนี้ ต่อกรรมาธิการด้านการทรมานแล้ว จากรายงานที่ได้รับ มีข้อมูลว่า นายสมชายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายลักพาตัวไป โดยนายตำรวจทั้งหมดไม่ได้ทำงานร่วมกันมาก่อน

ผู้ต้องหาทั้งห้าถูกตั้งเพียงข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายและร่วมกันปล้นโดยใช้อาวุธ ทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัวออกไป มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นที่ทำหน้าที่สืบสวนคดีนี้ ได้ทำลายหลักฐานสำคัญๆ ไป เช่น เข้าไปนั่งในรถของนายสมชายก่อนที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจะมาเก็บข้อมูล นายตำรวจอาวุโสนายหนึ่งยังได้ให้สัมภาษณ์ว่า นายตำรวจที่เป็นผู้ต้องหาเหล่านี้เป็น "เจ้าหน้าที่ที่ดี ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกเขาจะพ้นผิดในคดีนี้

3. ภรรยาของนายสมชาย นางอังคณา วงศ์ราเชนทร์ โจทก์ร่วมในคดีนี้ก็มีข้อสันนิษฐานแบบเดียวกัน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์ นางอังคณาได้แสดงความไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถชนะคดีและเชื่อว่าการที่สามีหายตัวไป ก็เพราะเขาไปท้าทายอำนาจรัฐโดยการพูดต่อสาธารณะเรื่องที่ลูกความของเขาถูกตำรวจทรมาน นางอังคณายังได้กล่าวถึงการไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยด้วย

4. ทั้งๆที่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศต่างแสดงความสนใจต่อชะตากรรมของทนายสมชาย แต่รัฐบาลไทยกลับพยายามหันเหความสนใจของประเด็นแทนที่จะดำเนินการติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง และปฏิกิริยาของรัฐต่อเรื่องนี้ก็มีหลายรูปแบบที่อาจไม่สอดคล้องกัน จดหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงวันที่ 5 สิงหาคม 2547 ที่มีถึงคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรพี่น้องกับ ALRC รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เขียนว่า "ได้สั่งการให้หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พยายามหาให้ได้ว่านายสมชายอยู่ที่ใด และผู้ที่ทำให้เขาหายตัวไปจะต้องถูกพิจารณาคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น

สำหรับมาตรการเหล่านี้ รัฐมนตรียังได้เพิ่มเติมว่า "กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะทำงานภายใต้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขึ้นมา เพื่อทำการเก็บข้อมูล หาหลักฐานและการสอบสวนอื่นๆสำหรับคดีนี้ และยังได้ระบุด้วยว่า คณะทำงานชุดนี้ "ทำงานคืบหน้ามาก

5. อันที่จริง คดีดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนกระทั่งภรรยาของผู้สูญหายได้ร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อวันที่ 23 กันยายนให้ดำเนินการ หลังจากนั้นรายงานที่เผยแพร่ต่อสาธารณระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้ดำเนินการในคดีนี้แต่อย่างใด? และเมื่อเร็วๆนี้ นางอังคณาได้กล่าวว่า ข้อร้องเรียนของเธอถูกปฏิเสธและยังได้ทราบด้วยว่า การประชุมครั้งล่าสุดของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อหารือในเรื่องคดีสำคัญๆ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ยังไม่ได้มีการหารือกันต่อคดีการหายตัวไปของนายสมชาย

6. ความล้มเหลวของรัฐบาลที่จะหาความยุติธรรมให้กับนักสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง ดังเช่นกรณีนี้ เป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับปัญหาการบังคับให้หายตัวไป ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้ถือเป็นอาชญากรรมที่รุนแรง ได้รับการประณามจากนานาอารยะประเทศ ร่างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการให้การปกป้องบุคคลจากการถูกบังคับให้หายตัวไปปี 1998 ได้ให้นิยามของการบังคับให้หายตัวไปไว้ว่า

"เป็นการกีดกันเสรีภาพของบุคคล ด้วยวิธีการหรือเหตุผลใดก็ตาม กระทำโดยตัวแทนของรัฐหรือบุคคลหรือกลุ่มของบุคคลที่ได้รับมอบหมาย สนับสนุน หรือ ไม่ขัดขวาง โดยรัฐ ตามด้วยการหายไปของข้อมูลข่าวสารหรือการปฏิเสธการรับรู้ของเหตุการณ์หรือข้อมูล หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ที่จะพบตัวผู้สูญหาย"

7. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นายสมชาย นีละไพจิตร ได้ถูกบังคับให้หายตัวไปภายใต้นิยามนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ที่จะพบตัวผู้สูญหาย หรือออกคำสั่งให้กระทำการดังกล่าว อาจจะต้องถูกดำเนินคดีด้วย ภายใต้นิยามข้างต้นนี้ คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมผู้ต้องหาในคดีนี้ถึงได้รับข้อกล่าวหาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ALRC จึงขอเรียกร้องมายังกรรมาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะทำงานเรื่องการบังคับให้บุคคลสูญหายกระตุ้นให้รัฐบาลไทยสร้างมาตรการในประเทศ เพื่อรองรับปัญหานี้

8. ในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก ได้มีรายงานถึงการหายตัวไปของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเสียชีวิตหมู่ที่จังหวัดนราธิวาส ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่ง ALRC ได้ส่งแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมาให้กรรมาธิการด้วยแล้ว นอกจากนั้น รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในแต่ละหน่วยงานของเธอจะพบศพนิรนามประมาณ 1000 ศพ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร หลายๆศพ พบว่าเป็นการเสียชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่น่าสงสัย

ตัวเลขที่แท้จริงของผู้สูญหายในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำงานในด้านนี้โดยตรง แต่ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่สูงมาก ครอบครัวของผู้สูญหายเหล่านี้ควรจะได้รับประโยชน์ หากมีมาตรการภายในประเทศมาจัดการกับการบังคับให้หายตัวไปในประเทศไทย

9. โศกนาฏกรรมการหายตัวไปของทนายสมชาย ได้แสดงภาพรวมถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อเหยื่อของอาชญากรรมชนิดนี้ ทั้งๆ ที่ทนายสมชายเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง และสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่จนบัดนี้ ความยุติธรรมก็ยังไม่เกิดกับเขาและครอบครัว หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบกลับเงียบหาย และสาธารณชนก็เริ่มให้ความสนใจกับเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่า ทั้งเรื่องการเสียชีวิตที่นราธิวาสและหายนะภัยจากสึนามิ

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีทนายสมชายก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องที่ท้าทายกับสถาบันด้านความยุติธรรมทั้งหมด จะเป็นเช่นไรหากเรื่องนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมไทยต่อเรื่องการหายตัวไป แม้ว่าสาธารณชนจะได้รับรู้เรื่องราวด้วยก็ตาม หรือเป็นเพราะว่ารูปแบบการทำผิดโดยไม่ต้องถูกลงโทษนั้น มีความเข้มแข็งจนไม่มีอะไรไปคัดง้างได้ แม้ว่าสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศจะให้ความสนใจอย่างมากก็ตาม

เมื่อเป็นเช่นนี้ ภรรยาของทนายสมชายก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะสงสัยในกระบวนการยุติธรรม ศูนย์ข้อมูลทางกฎหมายแห่งเอเชีย ขอร่วมกังขาเช่นเดียวกับนางอังคณา ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้กรรมาธิการแสดงความเป็นห่วงอย่างสูงกับรัฐบาลไทยต่อคดีนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิสูจน์ว่าข้อสงสัยดังกล่าวไม่เป็นความจริง

Posted on 2005-04-01 http://thailand.ahrchk.net/mainfile.php/2005pr/64/

5. AHRC เรียกร้องศาลไทย: ไม่เปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร
แถลงข่าว AHRC-PL-62-2005

AHRC เรียกร้องศาลไทย: ไม่เปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร
(ฮ่องกง 26 ตุลาคม 2548) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ได้ส่งหนังสือไปยังประธานศาลฎีกาและอธิบดีศาลอาญา ในวันที่ 21 ตุลาคม เพื่อเรียกร้องให้ นายสุวิท พรพานิช ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาหลักในคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร

"AHRC มีความกังวลเป็นอย่างมากเมื่อได้ทราบว่า ผู้พิพากษาหลัก อาจมาปฏิบัติหน้าที่วันนี้เป็นวันสุดท้าย" Basil Fernando ผู้อำนวยการของหน่วยงานจากฮ่องกงแห่งนี้ ได้ระบุข้อความในจดหมาย
"หากพิจารณาจากความสำคัญของคดีนี้ อีกทั้งความซับซ้อน ความยาก การพิจารณาคดีที่ใช้เวลานาน รวมไปถึงผลที่จะเกิดต่อความยุติธรรม AHRC ขอเรียกร้องให้ท่านสร้างความมั่นใจว่า ผู้พิพากษาหลักท่านดังกล่าวยังคงรับผิดชอบคดีจนจบ" Basil กล่าว

จดหมายร้องเรียนของ AHRC ได้ส่งตามหลังจากจดหมายร้องเรียนของ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาและโจทก์ร่วม ที่ได้ส่งจดหมายไปในวันที่ 20 ตุลาคม 2548. ในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายถูกตั้งข้อหาในกรณีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการหายตัวไป แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดไม่ได้ถูกตั้งข้อหาอันเกี่ยวกับการลักพาตัว หรือการบังคับให้หายตัวไป และแม้ว่ามีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ทนายสมชาย อาจเสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่ทราบอย่างชัดเจนว่าร่างของเขาอยู่ที่ใด

กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในคดีนี้อีกครั้ง เพื่อที่จะพยายามค้นหาหลักฐานที่เหลืออยู่ของทนายสมชาย แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่แสดงออกมาทางสาธารณชนแต่อย่างใด การพิจารณาคดีจะเริ่มอีกอาทิตย์หน้า และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม วันที่ 1 และ 2 พฤศจิกายน จะเป็นการเบิกความพยานของโจทก์ร่วม และวันที่ 3 และ 4 พฤศจิกายน จะเป็นการเบิกความพยานจำเลย

Meryam Dabhoiwala ผู้ประสานงานโครงการของ AHRC ได้สังเกตการณ์การพิจารณาคดีเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่า "เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่ทราบว่าผู้พิพากษาจะไม่ได้พิจารณาคดีนี้อีกต่อไป" Meryam กล่าวต่อว่า
"อาทิตย์ที่แล้ว การพิจารณาคดีได้เปิดเผยถึง หลักฐานหลักที่สำคัญมากๆ และไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะต้องส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีอย่างแน่นอน หากมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในช่วงเวลานี้"

Meryam เพิ่มเติม ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา ศาลได้ฟังการเบิกความของประจักษ์พยานอีกสองคน ที่เห็นเหตุการณ์ ขณะที่ทนายสมชายถูกลักพาตัว และการเบิกความของเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดสืบสวน และผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทางโทรศัพท์ จากองค์การสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่ได้มาพูดถึงรายงานการใช้โทรศัพท์ของผู้ต้องหา

สำหรับการเบิกความพยานโจทก์ร่วม คาดว่า ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสมาชิกวุฒิสภาอีกสองท่าน จะมาเป็นพยานเบิกความในอาทิตย์ที่จะถึงนี้

Posted on 2005-10-27 http://thailand.ahrchk.net/mainfile.php/2005pr/93/

6. สนับสนุนข้อเรียกร้องของอังคณา กรณีการหายไปของทนายสมชาย
23 พฤศจิกายน 2548 AHRC-PL-79-2005

แถลงการณ์โดยกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)
ประเทศไทย :
สนับสนุนข้อเรียกร้องของอังคณา กรณีการหายไปของทนายสมชาย
(ฮ่องกง วันที่ 23 พฤศจิกายน 2548) กรรมการสิทธิมนุษยชนขอสนับสนุนต่อข้อเรียกร้องของภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษต้องทำงานเพื่อตามหาสามีของเธอ

เมื่อวันที่ 22 พ.ย คุณอังคณา นีละไพจิตร ได้กล่าวว่าเธอจะส่งจดหมายถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสอบถามถึงคำอธิบายว่าทำไมถึงไม่มีความก้าวหน้าในการสืบค้นหาตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร หลังจากที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 กลุ่มภาคประชาชนทุกส่วนที่มีหัวจิตหัวใจแบบประชาธิปไตยทั่วโลกควรสนับสนุนและส่งเสริมการเรียกร้องของคุณอังคณา

บาซิล เฟอร์นานโด ผู้อำนวยการบริหารของ AHRC กล่าวว่า "เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีครึ่งแล้ว ที่สาธารณะชนได้รับฟังคำมั่นสัญญาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยว่า จะทุ่มเทกับกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย แต่คำถามเดิมที่ยังต้องการคำตอบคือ ทนายสมชายหายไปไหน" บาซิล กล่าว แม้ว่าสมชายจะเสียชีวิตไปแล้วหรือไม่ก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถพบร่างหรือร่องรอยต่าง ๆ แต่อย่างใด

"เราค่อนข้างจะไม่พอใจที่รัฐบาลหรือ หน่วยงานรัฐที่มีส่วนรับผิดชอบไม่ให้ความสำคัญกับคดีนี้เท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ"บาซิล เฟอร์นานโดกล่าว

กรมสอบสวนคดีพิเศษภายใต้กระทรวงยุติธรรม ระบุว่าจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการหายไปของทนายสมชาย อย่างไรก็ตามการค้นหาหลักฐานต่าง ๆ ก็ไม่ก้าวหน้า "เราสนับสนุนคุณอังคณาร้อยเปอร์เซ็นต์และ มีความรู้สึกกดดันต่อบรรยากาศแบบนี้เหมือนกับเธอ" บาซิล เฟอร์นานโดกล่าว "AHRC ผิดหวังต่อการทำงานของอัยการคดีผู้ต้องหาตำรวจ 5 นาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชายว่า ไม่เป็นมืออาชีพ"

ผู้ต้องหาทั้ง 5 นายร่วมกันบังคับขืนใจและร่วมกันปล้นทนายสมชาย แต่เขาเหล่านี้ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาการบังคับให้บุคคลหายไป ซึ่งฐานความผิดนี้ก็ไม่ระบุอยู่ในกระบวนพิจารณาคดีอาญาของไทย

เมื่อวันพุธนี้ ทาง AHRC ได้ออกแถลงการณ์เรื่องที่ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องร่วมเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศ เกี่ยวกับการบังคับให้คนสูญหายและนำมาบังคับใช้ในกฎหมายภายในประเทศ การไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษเป็นการอนุญาตให้ตำรวจและทหารลอยนวล ต่อการรับผิดชอบต่อการอุ้มหายในประเทศไทย และปล่อยให้ญาติและครอบครัวหมดสิ้นความหวังในการค้นหาและได้รับค่าชดเชย

"ผู้ที่อุ้มสมชายไปรู้ดีกว่าระบบ ณ ปัจจุบันสามารถปกป้องพวกเขาได้ และก็จะไม่ปกป้องสิทธิของเหยื่อผู้เสียหาย"

ข้อเสนอในการจัดตั้งศูนย์คนหายกลับมีความหมายเพียงเล็กน้อย ถ้าไม่สามารถมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพต่อกรณีการอุ้มหาย AHRC กล่าวเพิ่มเติม

Posted on 2005-11-23 http://thailand.ahrchk.net/mainfile.php/2005pr/98/

6. เวทีสาธารณะจำเป็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการอุ้มหาย
23 พฤศจิกายน 2548 AS-118-2005

แถลงการณ์โดยกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)
ในปัจจุบันหลายส่วนหลายฝ่ายรวมทั้งสถาบันทางกฎหมายและองค์การระหว่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการลดและยุติการอุ้มหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ในวันที่ 23 กันยายน 2548 ที่ผ่านมาทางคณะกรรมธิการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Commission) ได้รับรองกติการะหว่างประเทศฉบับใหม่ ที่ระบุว่าการถูกอุ้มหายหรือบังคับให้บุคคลสูญหายไป เป็นอาชญกรรมที่โหดร้ายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายฉบับนี้จะถูกนำเข้าที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาติ และจะมีผลให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติลงนามเป็นรัฐภาคีและมีผลบังคับใช้ได้

กติการะหว่างประเทศฉบับนี้ห้ามไม่ให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหายภายใต้ทุกสถานการณ์ และมีการให้ความหมายการสูญหายว่า หมายถึง "การจับกุม การคุมขัง หรือ การลักพาตัวหรือการปิดกั้นอิสรภาพของบุคคล ไม่ว่าการกระทำนี้จะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวแทนของรัฐ ทั้งบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หรือได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐในทางใดทางหนึ่ง และรวมถึงการปฎิเสธที่จะรับรู้ถึงการกระทำเหล่านี้ ที่เป็นการปิดกั้นอิสรภาพของบุคคลและการเปิดเผยว่า บุคคลที่สูญหายเหล่านี้อยู่ที่ไหน"

ตามความหมายดังนี้ทำให้การบังคับให้บุคคลสูญหายในทุกๆ ประเทศทั่วโลก เป็นที่ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำนี้ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยการอนุญาตให้เกิดขึ้นในทางลับ

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาการอุ้มหายหรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย และยังคงมีสถานการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่อย่างกว้างขวาง การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหรือทหารได้รับการละเว้น และไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษ (Impunity) มาตั้งแต่ในอดีตเป็นเวลานาน รวมทั้งในช่วงปัจจุบันในสถานการณ์ภาคใต้ เป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้มีการเรียกร้องของสาธารณะต่อการอุ้มหาย และการหายไปของบุคคลจำนวนนับร้อยหรือพันในช่วงระหว่างปีสองปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยขาดซึ่งกลไกที่ครอบครัวจะสามารถส่งข้อร้องเรียนการอุ้มหายต่อระบบยุติธรรมทางอาญา เพื่อการสืบสวนสอบสวนทางอาญา, ระบบตรวจสอบภายในระบบราชการหรือต่อสาธารณะจนดูเหมือนว่าจะทำให้ทุกคนมีภาวะเงียบงันต่อปัญหาการอุ้มหายนี้

ทนายความสิทธิมนุษยชนสมชาย นีละไพจิตร เป็นเพียงไม่กี่คนที่หายไปแล้วสามารถสร้างความสนใจสาธารณะได้ การที่ทนายสมชายได้เปิดเผยการที่ผู้ต้องหาถูกทรมานในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ของไทย และนำไปสู่การหายตัวไปในวันที่ 12 มีนาคม 2547 ตำรวจทั้ง 5 นายกำลังถูกดำเนินคดีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายไปของทนายความสมชาย กรณีทนายความสมชายเป็นกรณียกเว้นและขณะเดียวกันก็พิเศษกว่าสภาพการณ์ปกติของกรณีคนหายในประเทศไทย เนื่องจากทนายสมชายเป็นบุคคลสาธารณะแต่กลับมีการอุ้มเข้าไปในรถต่อหน้าสาธารณะชนและหายไปอย่างไร้ร่องรอย

บุคคลที่มีส่วนในการละเมิดคิดว่าคงจะสามารถหลุดพ้นการถูกนำมาลงโทษตามขบวนการยุติธรรมเหมือนกรณีอื่นๆที่มักได้รับรองอย่างดีจากระบบเดิม ๆ บุคคลที่มีส่วนในการอุ้มหายรู้เข้าใจว่า ระบบและกลไกนั้นไม่ได้เป็นอิสระและมักมีการสืบสวนสอบสวนไม่ได้อย่างเต็มที่ต่อกรณีการอุ้มหาย พวกเขาเข้าใจดีกว่า กลไกเดิม ๆ เหล่านี้กำลังปกป้องพวกเขาอยู่ และขณะเดียวกันก็จะไม่ได้ปกป้องเหยื่อผู้เสียหาย

การที่กระทรวงยุติธรรมประกาศว่าจะมีการจัดตั้งศูนย์ภายในปีนี้ ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้สนับสนุนความคิดนี้อย่างเปิดเผยและอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ศูนย์คนหายอาจเป็นเพียงความหวังเล็กๆ น้อย ๆ ของครอบครัวและเพื่อนของผู้สูญหาย ถ้าไม่มีกฎหมายมารองรับเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลหายว่า เป็นฐานความผิด หรือมีกลไกในการทำให้แน่ใจว่า จะมีการทำงานเพื่อยุติการบังคับให้บุคคลสูญหายจะเกิดขึ้นจริงตามกติการะหว่างประเทศ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงคะแนนสนับสนุนกติการะหว่างประเทศฉบับนี้ ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติครั้งหน้านี้ และลงนามเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศฉบับดังกล่าว เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในประเทศอย่างเร่งด่วน การจัดพูดคุยสาธารณะในเรื่องการบังคับให้บุคคลสูญหาย มีความจำเป็นอย่างยิ่งให้สาธารณะชนตระหนักถึงสถานการณ์ว่า มีการใช้อำนาจบังคับให้บุคคลสูญหายในประเทศไทยโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่เป็นเพียงแต่การทำลายครอบครัวและชุมชนของบุคคลนั้น แต่ยังเป็นการทำลายสถาบันตำรวจและสถาบันด้านความมั่นคงที่ต้องรับประกันความปลอดภัยของชีวิตของประชาชนในประเทศไทยไปด้วย

Posted on 2005-11-23 http://thailand.ahrchk.net/mainfile.php/2005st/97/

7. ดีเอสไอ ต้องใส่ใจและพยายามหาคำตอบให้ได้โดยพลันว่า "ทนายสมชายอยู่ที่ไหน?"
2 ธันวาคม 2548 (เผยแพร่ภาษาไทย 6 ธันวาคม 2548) AS-123-2005

แถลงการณ์โดย กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ประเทศไทย: ดีเอสไอ ต้องใส่ใจและพยายามหาคำตอบให้ได้โดยพลันว่า "ทนายสมชายอยู่ที่ไหน?"

วันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายของการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร โดยศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 12 มกราคม 2549 แต่ไม่ว่าคำพิพากษาจะเป็นเช่นไร คำถามง่ายๆ ที่ว่า "ทนายสมชายหายไปไหน?" ยังคงไม่มีคำตอบ

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาคุณสมชาย ไม่ได้อยู่ที่ศาลในเช้าวันที่ 1 เพราะเธอได้ไปพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ เพื่อร้องเรียนถึงความไม่คืบหน้าของการทำงานของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่อคดีของสามีของเธอ ซึ่งได้เข้ามารับผิดชอบคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม แต่จนกระทั่งปัจจุบัน เธอก็ยังไม่ได้รับทราบความคืบหน้าจากดีเอสไอแต่อย่างใด และเป็นห่วงว่าดีเอสไอจะไม่ได้ทำอะไรกับคดีนี้

คงต้องยอมรับว่าขณะนี้สังคมฝากความหวังไว้กับดีเอสไอเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหน่วยงานเดียวที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการสืบสวนสอบสวนโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันที่จริงแล้วหน่วยงานนี้ตั้งขึ้นมาก็เพื่อทำหน้าที่สืบสวนข้อร้องเรียนที่มีต่อเจ้าพนักงานตำรวจนั่นเอง

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ดีเอสไอยังทำผลงานได้ไม่ดีนัก ตัวอย่างเช่น กรณีการเสียชีวิตของเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนมิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา ฆาตกรให้การว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้งส่วนตัว แต่ภรรยาของเจริญได้ร้องเรียนว่า ดีเอสไอไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ของฆาตรกรและผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลัง อีกกรณีหนึ่งเป็นการมรณภาพของพระสุพจน์ สุวัจจโน ที่ปรากฏว่าดีเอสไอไม่สามารถคลี่คลายปมสังหารได้ แม้ว่าจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานนี้ตั้งแต่พระสุพจน์มรณภาพเพียงไม่กี่วันก็ตาม

อีกคดีคือ การทรมานผู้ต้องหา นายเอกวัฒน์ สีมันตะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภอ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเจ้าทุกข์ได้ถอนฟ้องไปแล้ว ดูเหมือนว่าอาจเป็นเพราะผู้เสียหายได้บรรลุข้อตกลงบางอย่างกับผู้กระทำความผิด โดยเอกวัฒน์ให้เหตุผลว่า เรื่องทั้งหมดเป็นการ "เข้าใจผิด" ไม่มีข้อมูลแต่อย่างใดว่าดีเอสไอได้พยายามกระทำการใดๆ กับคดีนี้หรือไม่

ในการพยายามที่จะกระตุ้น สนับสนุนบทบาทของ ดีเอสไอ ในคดีสมชาย นีละไพจิตร กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ในวันที่ 2 ธันวาคม 2548 ได้ส่งจดหมายไปยังอธิบดีกรม พล.ต.อ. สมบัติ อมรวิวัฒน์ โดยในจดหมายมีใจความให้ดีเอสไอ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อหลายๆ ประเด็นที่เกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดี โดย AHRC ได้จัดให้มีผู้สังเกตการณ์ในศาลตลอดระยะเวลาการพิจารณาคดี และได้สรุปประเด็นหลักที่ได้จากการสังเกตการณ์มายังดีเอสไอ

จากการสังเกตการณ์เห็นว่า เจ้าพนักงานสืบสวนตำรวจนครบาลได้ทำผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การเก็บและตรวจวิเคราะห์หลักฐานที่มีอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่คำตอบของการลักพาตัว อีกทั้งยังไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบวิธีการที่ถูกต้อง และยังถูกกล่าวหาว่าขู่บังคับพยานอีกด้วย ทั้งๆ ที่การพิจารณาคดีต่อศาลได้ใช้เวลาหลายอาทิตย์ แต่คำถามหลายคำถามยังไม่มีคำตอบ กล่าวคือ

1. รถที่ใช้ลักพาตัวทนายสมชายคือรถอะไร?
คำให้การของประจักษ์พยานมีความแตกต่างกันมาก แต่ดูเหมือนจะไม่มีความพยายามจากตำรวจแต่อย่างใดในการพิสูจน์ให้ได้ว่ารถคันดังกล่าวคือรถอะไร ทำให้เห็นว่า หลักฐานที่สำคัญได้ถูกละเลยไปแล้ว

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือไม่?
ดูเหมือนว่าการรวบรวมและบันทึกคำให้การของประจักษ์พยานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เช่น การที่ประจักษ์พยานไม่ได้ไปชี้สถานที่เกิดเหตุเพื่อประกอบคำให้การ อันเนื่องมาจากความหวาดกลัว แล้วเมื่อข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุหลายอย่างปรากฏขึ้นในชั้นศาล ประจักษ์พยานจึงรู้สึกสับสน พยานสองปากให้การว่าไม่ได้อ่านเอกสารก่อนที่จะเซ็นชื่อรับรอง และให้การว่า ไม่ได้รับการแจ้งให้มาเป็นพยานในศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ประสงค์

เจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายให้การว่า ได้รับคำสั่งด้วยวาจาให้สืบสวนคดีนี้ ทำให้ไม่มีชื่อของพวกเขาปรากฏอยู่ในรายงานการสืบสวนสอบสวน ทนายฝ่ายจำเลยกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนไม่ปฏิบัติตามระเบียบการจับกุม จำเลยคนหนึ่งอ้างว่าเจ้าหน้าที่ปลอมแปลงเอกสาร แม้ว่าจะไม่ได้มีหลักฐานอื่นใดมายืนยันก็ตาม

3. จำเลยได้มีการอ้างถิ่นที่อยู่ของตนเองหรือไม่?
สื่อมวลชนรายงานว่าจำเลยได้มีการอ้างถิ่นที่อยู่ แต่ผู้สังเกตการณ์ในศาลรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนไม่ได้สอบสวนอย่างละเอียดต่อคำให้การของจำเลยในประเด็นนี้ น่าจะมีประเด็นรายละเอียดมากมายที่ควรตรวจสอบได้ว่าจำเลยพูดความจริงหรือไม่ ต่อประเด็นถิ่นที่อยู่ของตนเองตั้งแต่และภายหลังวันที่ 12 มีนาคม

4. การพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์อยู่ที่ใด?
มีเพียงแต่ พล.ต.ต.ชวน วรวณิช ผู้บัญชาการกองพิสูจน์หลักฐาน ที่ได้มาให้การต่อผลการชันสูตรทางนิติวิทยาศาสตร์ เขากล่าวว่าได้พบเพียงตัวอย่างของเส้นผมและรอยนิ้วมือที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อคดีแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นเส้นผมของใคร หลักฐานอาจมีการเคลื่อนย้าย และคำถามที่เกิดขึ้นคือการที่ยอมให้ตำรวจทำการชันสูตรทางนิติวิทยาศาสตร์ ต่อคดีที่คาดว่าจะก่อขึ้นโดยตำรวจเช่นกัน สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ก็ได้ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุและรถของผู้เสียหาย แต่ไม่มีตัวแทนจากสถาบันนี้มาให้การในศาลแต่อย่างใด

5. รายงานการใช้โทรศัพท์เป็นอย่างไร?
ดูเหมือนว่ารายงานการใช้โทรศัพท์มือถือจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดในการมัดตัวจำเลย ศาลได้รับฟังว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนได้รายงานการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยทั้งห้า ทั้งก่อนและระหว่างการหายตัวไปของทนายสมชาย โดยในระหว่างการหายตัว จำเลยได้โทรศัพท์ติดต่อกันทั้งหมด 75 ครั้ง ภายในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่เกิดเหตุ แต่พวกเขากลับแทบไม่ได้โทรหากันในวันก่อนและหลัง และเมื่อรถของทนายสมชายถูกพบในวันที่ 16 มีนาคม การโทรหากันก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นกว่า 30 ครั้ง

ตัวแทนจากบริษัทโทรศัพท์ได้ให้การในศาลว่า ระบบการบันทึกการใช้โทรศัพท์มีความแม่นยำ 99% อย่างไรก็ตามจำเลยที่ห้าก็ได้พยายามแสดงต่อศาล ด้วยคำอธิบายอันสับสนว่าทำไมรายการบันทึกการใช้โทรศัพท์จึงไม่ถูกต้อง เป็นเอกสารปลอม จำเลยต่างให้เหตุผลว่า โทรศัพท์อยู่ที่อีกคนหนึ่ง วางโทรศัพท์ไว้บนโต๊ะและอาจมีใครใช้ก็ได้ เครื่องโทรศัพท์ปิดไว้ ฯลฯ

การให้การเกี่ยวกับโทรศัพท์ก่อให้เกิดคำถามมากมายต่อผู้สังเกตการณ์ เช่น คำถามเกี่ยวกับระยะเวลาในการโทร (ควรเป็นเวลานานเท่าใด ตัวอย่างเช่น สำหรับคนๆ หนึ่งที่จะใช้โทรศัพท์ของคนอื่นที่วางไว้บนโต๊ะ ห้านาที? สิบห้านาที? หนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้น?) ทำไมจึงมีความแตกต่างเป็นอันมากต่อรายงานการใช้โทรศัพท์ที่ได้เสนอในศาลและจากคำบอกเล่าของจำเลย?

ทำไมจึงไม่มีรายงานการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ห้า ที่ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนจะเป็นหัวหน้าของจำเลยทั้งหมด? ทำไมจึงไม่วิเคราะห์การโทรทั้งรับสายเข้าและโทรออกทุกครั้งของจำเลยทั้งห้า? ฯลฯ ดูเหมือนว่า ข้อมูลการสืบสวนการใช้โทรศัพท์มือถือยังไม่รอบด้าน และยังมีข้อมูลที่ยังไม่ได้ตรวจสอบอีกหลายประเด็น

6. ประจักษ์พยานถูกข่มขู่หรือไม่? เจ้าหน้าที่สืบสวนข่มขู่ประจักษ์พยานหรือไม่?
ประจักษ์พยานทั้งหมดกลับคำให้การ หรือไม่ก็ให้การอ่อนลงในชั้นศาล ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? พยานสามคนให้การว่า ไม่สามารถระบุตัวจำเลย พยานหนึ่งคนให้การว่าไม่เคยให้การกับตำรวจว่าระบุตัวจำเลยได้ แต่ถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนกดดันให้พูดว่าสามารถระบุได้ และกล่าวว่าเป็นเพราะเขากลัวตำรวจจึงทำตามคำสั่ง และเขาก็ยังให้การกับศาลว่า มีความกลัวตัวจำเลยด้วย เพราะเป็นตำรวจเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายที่ร่วมสอบสวนในคดีได้ให้การกับศาลว่า ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ตำรวจในระหว่างการสืบสวนสอบสวน หนึ่งในสองคนได้เริ่มให้การถึงการถูกข่มขู่ต่อศาลด้วยวาจา แต่ได้รับคำสั่งให้ทำข้อร้องเรียนมาเป็นลายลักษณ์อักษร

7. ใครเป็นผู้สั่งให้มีการอุ้ม?
เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ที่มีเป้าประสงค์จะอุ้มทนายสมชาย พวกเขาเป็นแต่เพียงปฏิบัติตามคำสั่ง ถ้าเช่นนั้น แล้วใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง? มีความพยายามที่จะสืบสาวไปจนถึงต้นตอหรือไม่? ทำไมจึงไม่มีการเรียกตัวเจ้าหน้าที่อาวุโสที่สามารถตอบคำถามนี้ได้มาให้การต่อศาล? ได้มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ให้สัมภาษณ์ว่า "ได้ยิน" ข้อมูลที่เกี่ยวกับการอุ้ม ภรรยาคุณสมชายเองระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับเธอว่า สามีของเธอถูกนำตัวไปที่จังหวัดราชบุรี ท่านทราบได้อย่างไร? ได้มีการเรียกตัวท่านมาให้การที่ศาลหรือไม่? รวมทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น หรือใครก็ตามที่อาจมีข้อมูลที่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้?

นี่เป็นเพียงคำถามไม่กี่ข้อที่เกิดขึ้นจากการสังเกตการณ์การพิจารณาคดี ทนายสมชาย นีละไพจิตร และเป็นคำถามไม่เฉพาะสำหรับดีเอสไอ แต่เป็นคำถามต่อทุกสถาบันและผู้ที่ให้ความสนใจทุกคนในสังคมไทย เพราะนี่เป็นรูปธรรมของปัญหาของระบบตำรวจ และระบบการฟ้องร้องของไทย

เรื่องราวของทนายสมชาย เป็นเรื่องของเหยื่อของการอุ้มหาย การวิสามัญฆาตกรรม และการทรมาน ทุกคน ที่เกิดในสังคมไทย นี่เป็นเรื่องของปัญหาการพิจารณาคดีในศาล การทำงานโดยขาดประสิทธิภาพของตำรวจ การไม่สนใจงานด้านกฎหมาย และการขาดช่องทางในการร้องเรียนและการได้รับการเยียวยา
บทบาทของดีเอสไอในคดีนี้ และคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงคดีอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแล เป็นดังเช่น ข้อปัจฉิมเสนอแนะของ กรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่ได้ให้กับรัฐบาลไทยในเดือนกรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ที่ว่า

"ควรจะกำกับดูแลการสืบสวนอย่างเต็มที่ โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต่อ [ทุก] กรณี และควรจะจัดให้มีการดำเนินการต่อผู้กระทำผิด โดยขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยจากการสืบสวนสอบสวน... [และ] สร้างความแน่ใจว่าผู้เสียหายและญาติพี่น้อง รวมทั้งญาติของผู้ที่สูญหาย ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม..."
[CCPR.CO.84.THA, 28 July 2005, Paragraph 10]

ตามเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษมีงานที่ต้องทำ กว่าสองปีแล้ว หลังจากที่ทนายสมชายหายตัวไป ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 คำถามยังคงมีอยู่ "ทนายสมชายหายไปไหน?" และนี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ยังขอเรียกร้องให้สังคมให้การสนับสนุนคุณอังคณา นีละไพจิตร ในการเรียกร้องให้ อย่างน้อย ดีเอสไอ มีความรับผิดชอบในการให้ผู้กระทำผิดมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงเพื่อคุณอังคณาและครอบครัว แต่เพื่อเหยื่อแห่งการอุ้มหาย ทรมานและฆาตกรรมทุกคนในสังคมไทย ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

Posted on 2005-12-06 http://thailand.ahrchk.net/mainfile.php/2005st/99/

หมายเหตุ
1. homepage ทนายสมชาย นีละไพจิตร (กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย - Asian Human Rights Commission) http://www.ahrchk.net/somchai/

2. กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ที่ทำงานด้านการตรวจสอบและรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย AHRC ก่อตั้งปี 2527 และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฮ่องกง

8. ประวัติของนายสมชาย นีละไพจิตร
(ข้อมูลจากสำนักข่าวไทย http://rdd.mcot.net/bio/query.php?id=5362)

ชื่อ นายสมชาย นีละไพจิตร
ตำแหน่ง เจ้าของสำนักงานทนายความสมชาย นีละไพจิตร (ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม)
เกิด วันที่ 13 พฤษภาคม 2494
สถานที่เกิด กรุงเทพมหานคร
สถานที่ติดต่อ สำนักงานทนายความสมชาย เลขที่ 24/157 ซอยอาภาภิรม ถ.รัชดาภิเษก จตุจักร กทม.
สถานภาพ สมรสกับ นางอังคณา "วงศ์ราเชน" นีละไพจิตร
การศึกษา
-โรงเรียนวัดหนองจอก
-มัธยมปลายจากอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
-ปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก
-เรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายอิสลามที่มหาวิทยาลัยปัญจาบ ประเทศปากีสถาน
ศึกษาอยู่ประมาณ 2 ปี แต่ยังไม่สำเร็จต้องเดินทางกลับมาประเทศไทยก่อน

การทำงาน
- หลังศึกษาจบ ได้ประกอบอาชีพทนายความตั้งแต่ พ.ศ.2519 ที่สำนักงานทนายความณัฐ เศรษฐบุตร
- ปี 2530 ก่อตั้งสำนักงานทนายความ สมชาย นีละไพจิตต์ รับว่าความคดีทั่วไป แต่โดยมากมักจะเป็นคดีของมุสลิมและการเมืองในภาคใต้
- คดีสำคัญที่เคยทำ อาทิ คดีคอมมิวนิสต์, คดีฆ่าทูตซาอุดีอาระเบีย, คดีวางระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังว่าความให้กับแกนนำกลุ่มพูโลดาโอ๊ะ ท่าน้ำ และสะมะแอ ท่าน้ำ

- เป็นทนายผู้รับอาสาว่าความให้กับ 3 ผู้ต้องหาสมาชิกเครือข่าย "เจไอ" ครั้งหนึ่งเคยสร้างชื่อโด่งดังมาแล้ว โดยเป็นทนายให้กับผู้ต้องหาชาวไทยมุสลิม 4 คน ในคดีเผาโรงเรียน เมื่อปี 2536 ซึ่งประกอบด้วย กูเฮง กอตอนีลอ, ดอฮะ เจะหามะ, สะมะแอ เจ๊ะสะนิ และหมัดรูดิง เจ๊ะโวะ สำหรับ "โต๊ะกูเฮง" หนึ่งในผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้บงการในฐานะสมาชิกกลุ่มพูโล หลังเสร็จคดีดังกล่าวสมชายได้เขียนหนังสือชื่อ "กูเฮง เผาโรงเรียน:คดีประวัติศาสตร์แบบอย่างการต่อสู้อันชอบธรรม" ขึ้นมาเผยแพร่

- ปัจจุบันนอกเหนือจากทำงานที่สำนักงานทนายความของตนเองแล้วยังเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ชาวมุสลิมโดยทั่วไป โดยรวบรวมอาสาสมัครพรรคพวกทนายความที่มีความเสียสละมาช่วยเหลือในชมรมเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่คิดค่าจ้าง

- 12 มี.ค.2547 หายตัวไปอย่างลึกลับ

คดีสำคัญที่เป็นทนายความ ได้แก่
1. คดีนักศึกษา ม.รามคำแหง ตกเป็นผู้ต้องหาคดีวางระเบิดใน กทม.เกี่ยวโยงขบวนการบี.อาร์.เอ็น. ปี 2526
2. คดีประท้วง-เกิดจลาจลที่มัสยิดกือเซะ จ.ปัตตานี ปี 2532
3. คดีฆ่านักการทูตซาอุฯ ปี 2532
4. คดีเผาโรงเรียนภาคใต้ ปี 2536 สู้คดีจน "โต๊ะกูเฮง กอตอนีรอ" จำเลยคดีเผาโรงเรียนกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกา
5. คดีวางระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีการจับกุม 4 โต๊ะครูภาคใต้ ปี 2537
6. คดีวางระเบิดซีโฟร์กลางกรุงเทพ ปี 2537
7. คดีจับหัวหน้าขบวนการพูโล นายหะยี สะมาแอ ท่าน้ำ และนายหะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ปี 2541
8. คดียาบ้าที่นิสิตจุฬาฯ ตกเป็นผู้ต้องหา ปี 2544 (นำไปสู่การได้รับรางวัลทนายความดีเด่น ปี 2546)
9. คดีจับผู้ก่อการร้ายเจไอ (อิสลามิยาห์) ซึ่งมี น.พ.แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ, นายมัยสุรุ หะยี อับดุลเลาะ, นายมุญาฮิด หะยีอับดุลเลาะ และนายสมาน แวกะจิ

9. ประชาสัมพันธ์งานเสวนา บทบาทกระบวนการยุติธรรมกรณีคนหาย
ขอเรียนเชิญร่วมงานการเสวนาทางวิชาการเรื่อง "บทบาทกระบวนการยุติธรรมกรณีคนหาย"
ห้องประชุมเกษมอุทยานิน อาคารเกษมอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2549 เวลา 13.00-16.00น.

และร่วมเรียกร้องความยุติธรรมกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร
ร่วมเรียกร้องความยุติธรรม ทนายสมชายหายไปไหน -
Calling for Justice Where is Somchai?

ทนายความสิทธิมนุษยชน นายสมชาย นีละไพจิตรถูกลักพาตัวไป ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 ขณะที่กำลังเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้ต้องหาที่ถูกทรมาน เขาถูกอุ้มหายในกรุงเทพและต่อมามีการจับกุมนายตำรวจผู้ต้องสงสัย 5 คนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไป คดีกำลังพิจารณาในศาลชั้นต้นและจะมีตัดสินในวันที่ 12 มกราคม 2549

Human Rights Lawyer Mr. Somchai Neelaphaijit was forcibly disappeared on 12 Mar 2004 while representing men who alleged that they had been tortured. He was abducted in Bangkok allegedly by five police officers. The criminal court heard the evidence and the verdict will be delivered on 12 Jan 2006.

การหายไปของบุคคลคือการหายไปของกระบวนการยุติธรรม
The Disappearance of a Person is the Disappearance of Justice.

www.ahrchk.net/somchai

10. รางวัลข่าวเจาะเพื่อสิทธิมนุษยชน รำลึกถึงการหายตัวของทนายสมชาย
กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร
ตู้ปณ.๖๑ ปณฝ.รัฐสภา ดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๕
โทร: ๐ ๙๘๙๓ ๒๓๓๗ อีเมล์: [email protected]

รางวัลข่าวเจาะเพื่อสิทธิมนุษยชน รำลึกถึงการหายตัวของทนายสมชาย
กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร เตรียมมอบรางวัลสื่อมวลชนที่มีผลงานเชิงสืบสวนในด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการรำลึกถึงการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร

นายจอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานกองทุนรางวัลสมชายฯ กล่าวว่า ไม่ว่าสื่อมวลชนหรือประชาชนในสังคมไทย ต่างก็ยังต้องเผชิญอยู่ในสถานการณ์ที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะปรากฏออกมาในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงของรัฐ การละเมิดสิทธิในด้านทรัพยากรของชุมชน หรือแม้แต่การละเมิดสิทธิสื่อ โดยที่คนในสังคมยังขาดการตื่นตัวและขาดความเข้าใจในความหมายของสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นแบบอย่างของบุคคลที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคดีสุดท้ายก่อนทนายสมชายจะหายตัวไป ที่ทนายสมชายออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในการสอบสวนผู้ต้องหา ๕ คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในเหตุการณ์ ๓ จังหวัดภาคใต้ และยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้ง ๕ ไม่มีความผิด แต่ต้องรับสารภาพเนื่องจากถูกตำรวจทารุณกรรมอย่างน่าสังเวช

แต่หลังจากการเปิดเผยข้อมูล ทนายสมชายก็ถูกลักพาตัวไปอย่างลึกลับ "การหายตัวไปของทนายสมชาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิที่ใช้ความรุนแรง ที่ดูเหมือนภาครัฐไม่ได้ให้ความสนใจกับการจัดการกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังเลยแม้แต่น้อย" นายจอนกล่าว กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๘ โดยมีเงินเริ่มต้นส่วนหนึ่งจากเงินรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ ที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ได้รับ เพื่อผลักดันให้การตรวจสอบสังคมผ่านกลไกของสื่อมีความเข้มแข็ง

โดยกองทุนฯจะจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การให้รางวัลยอดเยี่ยมแก่สื่อประเภทต่างๆ การจัดอบรมทักษะการเจาะข้อมูลเชิงลึกแก่เยาวชน และจัดสัมมนาประเด็นทางสังคมต่างๆ รางวัลสมชาย นีละไพจิตร จะพิจารณาให้รางวัลแก่นักข่าว ทีมข่าว ประชาชนทั่วไป และเยาวชน ที่มีผลงานเผยแพร่เป็นข้อเท็จจริงเชิงสืบสวนสอบสวน อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และยังผลให้เกิดสำนึกและความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน

โดยผลงานดังกล่าวต้องได้รับการเผยแพร่แล้วตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม ๔๘ ผลงานที่จะได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประกอบด้วยรางวัล ๕ ประเภทคือ สื่อสิ่งพิมพ์ยอดเยี่ยม สื่อวิทยุยอดเยี่ยม สื่อโทรทัศน์ยอดเยี่ยม สื่อออนไลน์ยอดเยี่ยม และ ผลงานเยาวชนยอดเยี่ยม รางวัลเป็นเงินสดประเภทละ ๕๐,๐๐๐ บาท โดยสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปส่งผลงานเข้าประกวดได้ ภายในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๔๙

ปัจจุบัน กองทุนรางวัลสมชายฯ มียอดเงินทั้งสิ้น ๙๐๑,๒๐๕ บาท เป็นเงินทุนตั้งต้น ๘๐๐,๐๐๐ บาท ได้รับบริจาคจากประชาชนอีก ๑๐๑,๒๐๕ บาท และมีผู้แจ้งความประสงค์ว่าจะบริจาคอีกอย่างน้อย ๕๔,๐๐๐ บาท

ร่วมสมทบกองทุนได้ที่ "กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขางามวงศ์วาน บัญชีออมทรัพย์ หมายเลข ๓๑๙-๒-๘๔๕๐๓-๙ และขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ๐๙-๘๙๓-๒๓๓๗

คณะกรรมการกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประกอบด้วย
๑. นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการฯ
๒. นางจิรพร วิทยศักดิ์พันธ์ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๓. นายธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
๔. นางสาวรสนา โตสิตระกูล เครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น
๕. นายรุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๖. นางสาวสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
๗. นางวลักษณ์กมล จ่างกมล คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
๘. นางสาวอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ
๙. นางอังคณา นีละไพจิตร

11. Introduction to Memories of a father (ภาษาไทยคลิก)
Early in 2005 I read Memories of a father by Professor T.V. Eachara Varier in English and am glad that this book has been translated into Thai while retaining the beauty of its words. This book is not only valuable as literature reflecting part of a human being, but also this book is a life, a fact and a truth elaborately narrating the pain, misery and cruelty that humans inflict on humans.

Prof. T.V. Eachara Varier and I may not be very different. He lost a beloved son while I myself lost not only a husband but also a father of five children, the one who was the main provider and head of the family. No one can imagine the cost of this loss until one has the direct experience.

In this region, countries such as India, Sri Lanka, Indonesia and Thailand have the image that they are undergoing material growth, are proud about the human rights given on paper and the international treaties with which leaders try to show off that they are worldly. In reality, in the darkness of society there are still the traces of loss, teardrops and suffering of people who have not had the chance to be heard by anyone, whose wounds have never healed, and who have never felt justice. These are the truths of these suffering people the sound of even whose loudest noise never reaches the powerful.

What happened to my family as well as Prof. T.V. Eachara was due to the unlawful practices of state authority: authority that is used to harm anybody, anywhere-in the middle of the street, in the middle of the city, in front of many people; authority that can make anyone disappear from their family, society, from the ones that loved them and from the ones that they loved.

From the testimony of eyewitnesses in court, the image of [my husband] Khun Somchai being pushed into [his abductors'] car returns to my mind. I know very well what Somchai would have been thinking about at the moment that death was at hand. Nevertheless, I believe that a human rights defender such as Khun Somchai would never have surrendered his ideals, aims, hopes, and principles to save his life. The culprits have never recognized their wrongdoing. They are still too arrogant because of the protection and support of the powerful. This leads to nothing but more and more violence. Disappearances will be repeated with impunity.

On the surface Thailand appears to have beauty, peace and material development, but deep down violence and misuse of authority are still taking place. Suppression and torture are so common that people are used to them. The violence and discrimination of state authority against the powerless has caused pain to innocent people. No one knows how grief and misery from loss and injustice cause more pain than that from a death. This is a wound that is deep in the heart, which cannot be seen nor touched but reflects well those injustices in the society.

I am writing this piece while Bangkok is getting cold. But deep in my heart, I am freezing, lonesome, solitary. Encouragement and hope for justice are getting less. I am asked to receive compensation instead of justice. I am forced to be convinced that there is no justice in this world. However, I always believe that I will find my husband, the father of my children, today or tomorrow, in this world or the next. I believe that beyond human laws there are universal laws and what goes around will come around. Finally, I strongly believe that there is justice in the hands of God.

Angkhana Neelapaijit
November 2005

(11). แถลงการณ์ ประเทศไทย : เปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับการอุ้มหาย ฉบับภาษาไทย
กรุงเทพฯ วันที่ 8 มกราคม 2549 กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) เปิดตัวหนังสือฉบับภาษาไทย เรื่อง ความทรงจำของพ่อ ซึ่งเขียนโดยศาสตราจารย์ ที วี อีชะรา วาเรียร์ ซึ่งเป็นบันทึกเกี่ยวกับลูกชายที่ถูกตำรวจในอินเดียจับตัวไปและถูกทรมาน รวมทั้งการต่อสู้ของพ่อเพื่อให้ได้ความยุติธรรมต่อการละเมิดที่เกิดขึ้น

นิก ชีสแมน เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ ประจำที่ฮ่องกงที่เป็นสำนักงานของ AHRC กล่าววันนี้ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เราเล็งเห็นความจำเป็นของกฎหมายและความเคลื่อนไหวที่จะยุติการถูกบังคับให้หายตัวไปหรือการอุ้มหายในประเทศไทย "หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนไทยเพราะเป็นเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดทั้งในแง่มุมทางด้านกฎหมาย บทบาทสถาบันต่าง ๆ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลที่ใกล้ชิดกับคนที่ถูกอุ้มหายไป" นิก ชีสแมนกล่าว

คุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายความที่ถูกอุ้มหายตัวไป เขียนบทนำในหนังสือ ความทรงจำของพ่อ ฉบับภาษาไทยนี้ด้วยว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของฉันและครอบครัวของศาสตราจารย์ ที วี อีชะรา วาเรียร์ เป็นเรื่องของการกระทำนอกกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการทำลายชีวิตของบุคคล ไม่ว่าประเทศใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถทำให้บุคคลหายไปจากครอบครัว สังคม และจากคนที่รักเขาและจากคนที่เขารัก" คุณอังคณาเขียนไว้ในคำนิยมหนังสือฉบับภาษาไทย

เกี่ยวกับการถูกลักพาตัวไปและหายไปของสามี คุณอังคณา กล่าวว่า "ผู้ที่กระทำผิดยังไม่เคยสำนึกเลยว่าพวกเขาได้กระทำผิด เพราะพวกเขาเหล่านี้ได้รับการปกป้องและสนับสนุนจากผู้ที่มีอำนาจ"

เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย เธอกล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์ในเรื่องสันติภาพและความรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริง "เจ้าหน้าที่รัฐยังคงใช้อำนาจปราบปรามและทรมานอย่างเป็นปกติต่อประชาชน"

ในวันที่ 12 มกราคม 2549ที่ศาลอาญากรุงเทพจะมีการอ่านคำพิพากษาของคดีเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการลักพาตัวทนายสมชาย อย่างไรก็ตามชะตากรรมของทนายสมชายยังคงเป็นปริศนา และคุณอังคณาหมดสิ้นซึ่งความหวังในเรื่องความยุติธรรมต่อเรื่องนี้ "ขณะที่ความหวังและกำลังใจว่าจะได้ความยุติธรรมในเรื่องนี้จะน้อยลง น้อยลง ฉันกลับถูกขอให้รับค่าชดเชยแทนการได้รับความยุติธรรม ฉันถูกเกลี้ยกล่อมให้เชื่อว่าความยุติธรรมไม่มีในโลกนี้"
.
วันพุธที่ 4 มกราคม 2549 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกรายงานระบุถึงความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทยในการสืบสวนสอบสวนและการนำคนผิดมาลงโทษต่อกรณีการอุ้มหายและกรณีการละเมิดต่างๆ ในภาคใต้ของไทย

ทาง AHRC ได้กล่าวย้ำหลาย ๆ โอกาสว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงมักจะลอยนวลและไม่ได้รับการลงโทษ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ยังคงไม่มีกฎหมายใดๆ ภายในประเทศที่จะห้ามการบังคับคนให้หายไปหรือยุติการอุ้มหาย และกฎหมายที่จะยุติการทรมาน

ในเดือนกรกฎาคม ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย และเรียกร้องให้รัฐบาบไทยดำเนินการสืบสวนอย่างเต็มประสิทธิภาพและอย่างเป็นอิสระในเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้น และสร้างกระบวนการในการดำเนินการต่อผู้ประทำการละเมิดทั้งหมด

คำแปลของคำนิยมที่เขียนโดยคุณอังคณา และรายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งซื้อหนังสือ ความทรงจำของพ่อ รายละเอียดกรุณาดูที่ http://thailand.ahrchk.net.

คำนิยม โดย อังคณา นีละไพจิตร
ดิฉันมีโอกาสได้อ่านหนังสือ " ความทรงจำของพ่อ " ซึ่งเขียนโดย ศ.ท.ว. อีชะรา วาเรียร์ ในภาคภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อต้นปี 2548 และรู้สึกดีใจที่หนังสือเล่มนี้ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรก โดยยังคงสามารถรักษาอรรถรส และความงดงามของภาษาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม หนังสือเล่มนี้คงมิได้มีค่าเพียงวรรณกรรมที่สะท้อนภาพชีวิตมนุษย์ในแง่มุมหนึ่งเท่านั้น หากหนังสือเล่มนี้คือชีวิต คือความจริง คือสัจจธรรม ที่บอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวด ขมขื่น ความโหดเหี้ยมทารุณที่มนุษย์สามารถกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง

ดิฉัน และ ศ. ท.ว. อีชะรา วาเรียร์ คงมีสภาพไม่แตกต่างกันนัก ศ. วาเรียร์ สูญเสียบุตรชายอันเป็นที่รัก แต่ดิฉันนอกจากสูญเสียสามีแล้ว ยังสูญเสียพ่อของลูกๆ 5 คน สูญเสียเสาหลักและผู้นำครอบครัว คงไม่มีใครรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายทางจิตใจได้มากมายเพียงใด จนกว่าจะได้ประสบด้วยตนเอง

ในภูมิภาคเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย หรือประเทศไทย ภายใต้ภาพของความเจริญงดงามทางวัตถุ ลายลักษณ์อักษรที่บอกกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนอันน่าภาคภูมิใจ ปฏิญญาสากลต่างๆที่บรรดาผู้นำประเทศพยายามอวดอ้างถึงความเป็นสากล แต่ในความเป็นจริง ในมุมมืดมุมอับของสังคม ยังคงปรากฏร่องรอยของความสูญเสีย คราบน้ำตา และความปวดร้าวของผู้คนอีกมากมายที่ไม่มีโอกาสบอกเล่าให้เพื่อนร่วมโลกได้รับรู้ ไม่เคยได้รับการเยียวยา ไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า ความยุติธรรม

สิ่งต่างๆเหล่านี้แหละคือความเป็นจริงซึ่งผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานเหล่านี้ แม้จะตะโกนให้ดังขนาดไหน ก็ไม่เคยได้ยินไปถึงหูของผู้มีอำนาจสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของดิฉัน และศ. วาเรียร์ เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ อำนาจที่จะทำอะไรกับใครก็ได้ กลางถนน ในเมืองหลวง ต่อหน้าผู้คนมากมาย
อำนาจที่จะทำให้ใครก็ได้หายไปจากครอบครัว และสังคม จากคนที่เขารัก และจากคนที่รักเขา โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกและความสูญเสียของคนที่อยู่ข้างหลัง

ดิฉันนึกถึงภาพของคุณสมชายที่ถูกผลักเข้าไปในรถ ตามคำให้การของประจักษ์พยานในชั้นศาล ดิฉันทราบดีว่าวินาทีนั้นคุณสมชายจะคิดถึงอะไร เมื่อความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ไม่ว่าจะอย่างไรดิฉันเชื่อว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิ - มนุษญชนอย่างคุณสมชาย ไม่มีวันจะยอมละทิ้งสัจจธรรม ความมุ่งมั่น ความหวัง และอุดมการณ์ เพียงเพื่อแลกกับชีวิต ที่สำคัญผู้ที่กระทำความผิดเหล่านี้ ไม่เคยสำนึกถึงความผิดที่ได้กระทำลงไป คนพวกนี้ยังคงเหิมเกริมเพราะมีคนคอยปกป้อง คุ้มครอง สนับสนุน และส่งเสริมให้มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นไปอีก ที่สุดการทำให้คนๆหนึ่งต้องหายไปก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่เคยมีใครต้องรับโทษ และไม่ต้องมีคนรับผิดชอบ

ในประเทศไทยแม้ภายนอกดูสงบร่มรื่น มีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ แต่เบื้องหลังความสวยงามนี้ยังปรากฏเงาของความรุนแรงควบคู่ไปด้วย การใช้อำนาจอันมิชอบ การกดขี่ข่มเหง การทรมาน กลายเป็นเรื่องปกติจนผู้คนในสังคมพากันชาชิน ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจ มีอาวุธ กับประชาชนผู้ไร้อำนาจก่อให้เกิดบาดแผลในใจของผู้บริสุทธิ์มากมาย ไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บปวดและความขมขื่นจากความสูญเสีย การพลัดพราก และความไม่เป็นธรรมนั้นสร้างความเจ็บช้ำและความทุกข์ทรมานทางจิตใจมากกว่าความตายเสียอีก บาดแผลนี้อยู่ลึกในใจ มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มันจะบอกเล่าและสะท้อนถึงความไม่ชอบธรรมต่างๆที่กิดขึ้นในสังคมได้เป็นอย่างดี

ดิฉันเขียนคำนิยมของหนังสือเล่มนี้ ในขณะที่อากาศกรุงเทพฯเริ่มหนาว แต่ภายในจิตใจของดิฉันนั้นหนาวเย็นยิ่งกว่า ยังอ้างว้าง โดดเดี่ยว กำลังใจและความหวังในการแสวงหาความเป็นธรรมเริ่มลดลงทุกที ดิฉันถูกร้องขอให้รับความช่วยเหลือแทนที่จะแสวงหาความเป็นธรรม ถูกพยายามทำให้เชื่อว่าความเป็นธรรมไม่เคยมีในโลกนี้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรดิฉันยังเชื่อมั่นเสมอว่า ดิฉันจะต้องได้พบกับสามี และพ่อของลูกๆอีกไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่วันนี้ ก็วันหน้า… ไม่โลกนี้ ก็โลกหน้า

ดิฉันเชื่อว่าเหนือกฎหมาย ยังมีกฎแห่งกรรม และกรรมจะสนองผู้ประพฤติกรรม และท้ายที่สุดดิฉันเชื่ออย่างมั่นคงว่าจะต้องได้พบความยุติธรรม…ต่อหน้าเบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นที่รักและนิรันดร์

อังคณา นีละไพจิตร
พฤศจิกายน 2548

12. แถลงการณ์ - กรณีคดีสมชาย นีละไพจิตร 12 มกราคม 2549
ตามที่ในวันนี้ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 4 คน และลงโทษจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวในคดีการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2547 นั้น คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ติดตามและสังเกตการณ์พิจารณาคดีนี้ รวมทั้งได้เคลื่อนไหวให้รัฐบาลรับผิดชอบสืบสวนสอบสวนคดีนี้อย่างจริงจังตลอดมานั้น ขอแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1. ถึงแม้ว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นจะสามารถลงโทษจำเลยคนที่ 1 ได้ แต่รัฐบาลคงไม่สามารถปฏิเสธถึงความรับผิดชอบที่ต้องคลี่คลายคดีนี้ต่อไป สิ่งที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ต้องตอบปัญหาสำคัญๆ คือ ทำไมผู้ร่วมกระทำผิดอื่นๆ จึงยังลอยนวลอยู่ได้ แน่นอนว่าในคดีนี้ มิใช่มีผู้กระทำผิดเพียงคนเดียวแน่นอน คำถามลำดับต่อไปที่รัฐบาลจะต้องตอบก็คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายไปไหน

การมีคำพิพากษาของศาลอาญาในวันนี้ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยการจำคุก 3 ปี เต็มตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด คงไม่เป็นข้อให้นายกรัฐมนตรีทักษิณ แก้ตัวได้ว่าเรื่องนี้จบแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ปัญหาที่ยังคั่งค้างคาใจของครอบครัว เพื่อนฝูง ประชาชนทั้งในและต่างประเทศ และกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายไปไหน

2. การที่พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยที่ 2-5 ไม่สามารถจับกุมฟ้องร้องดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ รวมทั้งไม่สามารถติดตามหาตัวทนายสมชาย นีละไพจิตรได้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ขาดความจริงใจในการดำเนินคดี

การขาดความจริงใจในการดำเนินคดี ทั้งนี้จะเห็นได้จากท่าทีของตัวผู้นำรัฐบาลเอง ที่ไม่ได้แสดงความเอาใจใส่อย่างเพียงพอต่อเรื่องดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นคดีสะเทือนขวัญ เกิดขึ้นกลางกรุง เกิดกับทนายความนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งคือกลไกหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญเป็นคดีที่ส่งผลอย่างมากต่อปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่ชัดเจนว่า ตัวนายกรัฐมนตรีเองเริ่มให้ความสนใจในคดีขึ้นบ้าง ก็ต่อเมื่อต้องมีแรงกดดันอย่างมาก จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

3. คดีนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการยุติธรรมในชั้นสืบสวนสอบสวน ในคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้กระทำผิด ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายไปนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำต่อประชาชน และกลไกยุติธรรมของรัฐไม่สามารถเข้าไปเยียวยาได้

สิ่งนี้เป็นโชคร้ายที่เกาะกินสังคมไทยมากขึ้นทุกวัน ดังที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดขึ้นเป็นประจำในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มแก๊งอิทธิพลต่างๆ ของบุคคลในเครื่องแบบที่ใช้อำนาจและกลไกในมือ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนายสมชาย นีละไพจิตรนี้ หากไม่มีปัญหาดังกล่าว ย่อมไม่นอกเหนือความสามารถของเจ้าหน้าที่ซึ่งจะคลี่คลายได้

แต่จากรูปการณ์ ข้อมูล และข้อเท็จจริงที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไป น่าเชื่อได้ว่า คนร้ายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อิทธิพลในการกลบเกลื่อน ทำลายพยานหลักฐาน มีการช่วยเหลือพรรคพวกกันเองโดยจงใจ ไม่เก็บและพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ไม่มีการคุ้มครองปกป้องพยาน จนทำให้พยานหลักฐานอ่อน ไม่พอที่จะให้การลงโทษผู้กระทำความผิดได้

คณะทำงานฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล นอกจากจะต้องใช้ความจริงใจและจริงจังในการคลี่คลายคดีนี้ต่อไป จนได้คำตอบว่า ทนายความสมชาย นีละไพจิตร อยู่ที่ไหน และสืบสวนต่อไปถึงผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องแล้ว รัฐบาลจะต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมใหม่ ให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเร่งรีบด้วย

คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน


 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
050149
release date
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ
1234567890 -A12345678
ทนายความสิทธิมนุษยชนสมชาย นีละไพจิตร เป็นเพียงไม่กี่คนที่หายไปแล้วสามารถสร้างความสนใจสาธารณะได้ การที่ทนายสมชายได้เปิดเผยการที่ผู้ต้องหาถูกทรมานในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ของไทย และนำไปสู่การหายตัวไปในวันที่ 12 มีนาคม 2547 ตำรวจทั้ง 5 นายกำลังถูกดำเนินคดีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายไปของทนายความสมชาย
บุคคลที่มีส่วนในการละเมิดคิดว่าคงจะสามารถหลุดพ้นการถูกนำมาลงโทษตามขบวนการยุติธรรมเหมือนกรณีอื่นๆที่มักได้รับรองอย่างดีจากระบบเดิม ๆ บุคคลที่มีส่วนในการอุ้มหายรู้เข้าใจว่า ระบบและกลไกนั้นไม่ได้เป็นอิสระและมักมีการสืบสวนสอบสวนไม่ได้อย่างเต็มที่ต่อกรณีการอุ้มหาย พวกเขาเข้าใจดีกว่า กลไกเดิม ๆ เหล่านี้กำลังปกป้องพวกเขาอยู่ และขณะเดียวกันก็จะไม่ได้ปกป้องเหยื่อผู้เสียหาย