นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

วิจารณ์ภาพยนตร์แนวหลังอาณานิคม
เพศ ชาติพันธุ์ และปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์
ในภาพยนตร์เรื่อง Touch of Pink

นัทธนัย ประสานนาม
นิสิตปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บทความนี้ได้รับมาจากผู้เขียน

ทางกองบรรณาธิการได้รวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เพื่อใช้ในการอ้างอิงทางวิชาการ

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 738
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

คลิกดูรายละเอียดภาพ



ความนำ
เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ในตลาดหนังสือมีเรื่องราวของคนพลัดถิ่น (diaspora) ตีพิมพ์เผยแพร่จำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้สมควรนับเป็นอานิสงส์จากกระแสแนวคิดหลังอาณานิคม (Postcolonialism) ที่ยังคงแผ่ซ่านอยู่ทั้งในวงวิชาการวรรณกรรมและในหมู่นักเขียนทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศที่ไม่มีประสบการณ์ของการตกเป็นอาณานิคมก็ตาม

อัตลักษณ์คนพลัดถิ่นที่นำเสนอในระยะหลังนี้ แท้จริงแล้วมีนักเขียนนำไปใช้จำนวนมากเพื่อเป็นการกล่าวยืนยันความเป็นลูกผสม (hybridity) ของพวกเขาในแง่ดี (Ashcroft, Grifiths, and Tiffin, 2000: 70) กระแสการสร้างสรรค์ดังกล่าวส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งใช้เรื่องเล่าเป็นสื่อเช่นเดียวกับวรรณกรรม เราจึงมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิตของคนพลัดถิ่นผ่านสื่อภาพยนตร์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

Touch of Pink (2004) ผลงานกำกับของเอียน อิกบาล ราชิด (Ian Iqbal Rashid) เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่บอกเล่าประสบการณ์ของคนพลัดถิ่นได้อย่างน่าสนใจ ภายใต้เปลือกของความเป็นสุขนาฏกรรม (comedy) ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แฝงเร้นเสียงร่ำร้องอันขมขื่นคับข้องของคนพลัดถิ่นเอาไว้ การต่อสู้กับความรู้สึกแปลกแยกที่มีต่ออัตลักษณ์ (identity) ของตนเองและการรับแรงปะทะจากคนในครอบครัวที่ยังคงหนักแน่นและย้อนย้ำอัตลักษณ์ดังกล่าว สิ่งนี้สร้างความเจ็บปวดที่ยากจะอธิบายแก่ตัวละครเอกในเรื่อง

บทความนี้จึงมุ่งหมายที่จะใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา เพื่อแกะรอยความรู้สึกดังกล่าวของคนพลัดถิ่น โดยเน้นที่ประเด็นเพศ ชาติพันธุ์ และปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์

โลกที่แปลกแยกของอาลีม: ความรู้สึกขาดไร้ทางใจของคนพลัดถิ่น
Touch of Pink เสนอเรื่องราวของอาลีม เกย์เชื้อสายอินเดียผู้ประกอบอาชีพช่างถ่ายภาพนิ่งในอังกฤษ นูลูแม่ของเขาเดินทางมาหาเขาหลังจากที่ไม่ได้พบกันนานหลายปี อาลีมมีคนรักชื่อไจลส์ที่ทำงานเป็นเศรษฐกรขององค์การยูนิเซฟ ไจลส์กับนูลูเข้ากันได้ดี จนกระทั่งนูลูรู้ความจริงว่าอาลีมเป็นเกย์และมีไจลส์เป็นคนรัก นูลูจึงกลับแคนาดา อาลีมตามไปปรับความเข้าใจกับแม่ เขาเรียนรู้และประนีประนอมกับอัตลักษณ์ของตนเองได้ในที่สุด

อาลีมในฐานะคนพลัดถิ่นมีความแปลกแยกที่ซับซ้อนหลายชั้น อาลีมมีเชื้อสายชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม ครอบครัวของเขาอพยพจากเคนยาไปอยู่แคนาดา (เข้าใจว่าเขาอาจสืบเชื้อสายจากชาวอินเดียที่ไปทำการเกษตรในทวีปแอฟริกา) เมื่อเขาโตขึ้นเขาจึงย้ายมาทำงานในอังกฤษ

มิติที่สองคือเพศวิถี (sexuality) ของเขา อาลีมเป็นเกย์ซึ่งขัดต่อวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิม

มิติที่สามคือความขาดทั้งพ่อและแม่ของเขา พ่อของอาลีมเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก ส่วนแม่ของเขาทิ้งเขามาเรียนวิชาเลขานุการที่อังกฤษระหว่างที่อาลีมยังอยู่แคนาดา ชีวิตที่มีแต่การพลัดพรากของเขาเป็นสิ่งตัวละครตัวหนึ่งกล่าวว่าเขาเรียนรู้คำว่าลาก่อนก่อนคำว่าสวัสดี "When he's baby, he learned 'bye bye' before he learned 'hello', remember?"

"ปม" ซ้ำซ้อนของอาลีม ทำให้เขาสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา นั่นคือแครี แกรนท์ นักแสดงที่มีชื่อเสียงในอดีต ภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของเขาคือ The Philadelphia Story (1940) และชื่อเรื่อง Touch of Pink ก็น่าจะมาจาก That Touch of Mink (1962) ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่แครี แกรนท์แสดง นอกจากนั้น สาเหตุที่เพื่อนในจินตนาการของอาลีมต้องเป็นแครี แกรนท์ อาจเป็นเพราะว่าเขามีประวัติเรื่องการเป็นรักร่วมเพศด้วย (http://en.wikipedia.org/wiki/Cary_Grant)

อาลีมมักจะนั่งชมภาพยนตร์เก่าๆกับแครี อาลีมพูดคุยกับเขา โอบกอดเขา เสมือนหนึ่งว่าแครีเป็นตัวแทนแห่งความรักที่เขาไม่ได้รับในวัยเด็ก แม้ว่าเขาจะมีไจลส์อยู่ทั้งคนแล้วก็ตาม

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแก่อาลีมแสดงให้เห็นความลื่นไหลของความเป็นชาติพันธุ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าชาติพันธุ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสืบเชื้อสายหรือลักษณะทางกายภาพ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการที่คนๆนั้นพูดถึงตนเอง นิยามตนเองว่าอย่างไรซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับอัตลักษณ์ ดังที่ พิศิษฎ์ คุณวโรตม์ (2546: 306-307) สรุปเอาไว้อย่างชัดเจนว่า

อัตลักษณ์ (identity) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเองว่า "ฉันคือใคร" ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิสังสรรค์ระหว่างตัวเรากับคนอื่น โดยผ่านการมองตนเอง และการที่คนอื่นมองเรา อัตลักษณ์ต้องการความตระหนัก (awareness) ในตัวเราและพื้นฐานของการเลือกบางอย่าง นั่นคือเราจะต้องแสดงตนหรือยอมรับอย่างตั้งใจกับอัตลักษณ์ที่เราเลือก ความสำคัญของการแสดงตนก็คือ การระบุได้ว่าเรามีอัตลักษณ์เหมือนกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร และ "ฉันเป็นใคร"

ในเบื้องต้น อาลีมไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นมุสลิมที่มีเชื้อสายอินเดีย เขาขาดความรู้สึกเชื่อมต่อกับรากเหง้าของตนเอง ทั้งนี้ การนิยามตนเองขึ้นใหม่ของอาลีมไม่ได้ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดพร่องในจิตใจของเขา สังเกตได้จากการที่เขายังต้องอาศัยแครีให้คอยเป็นที่ปรึกษาและให้กำลังใจแก่เขาอยู่ตลอดเวลา

อาลีมมีโลกส่วนตัวที่ตัดขาดจากโลกภายนอกบางขณะ ในเวลาพักระหว่างงานและเวลาที่ไจลส์ไม่อยู่บ้าน เขาจะแยกตัวออกมาอยู่กับแครีในโลกของเขาเอง การแยกตัวจากสังคมเป็นรูปแบบหนึ่งของความแปลกแยก (alienation) แม้ว่าอาลีมไม่ได้แสดงให้เห็นถึงขนาดที่ว่า "ตัวละครมีความสัมพันธ์ด้านลบกับตัวละครอื่น รู้สึกเหมือนตนมิได้เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ขาดการยอมรับนับถือจากผู้อื่น และประสบความล้มเหลวในความพยายามจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น" (ปริศนา แหล่งรัศมี, 2543: 197)

แต่การมีอยู่ของเพื่อนในจินตนาการก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับสังคมตลอดเวลา เพราะเขายังคงรู้สึกอย่างเต็มที่ว่าแครีเท่านั้นที่เข้าใจเขาอย่างแท้จริง และนั่นอาจหมายความว่ามีเพียงตัวเขาเท่านั้นที่จะเข้าใจตัวเองได้

ลักษณะเช่นนี้ทำให้สังเกตเห็นได้ว่า นิยามใหม่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่อาลีมบัญญัติให้ตัวเองก็ไม่ใช่คนอังกฤษ ครั้งหนึ่งเขาไปซื้อของที่ร้านค้าของชาวอินเดีย เจ้าของร้านถามเขาว่ามาจากไหน? อาลีมกลับบอกว่าถนนลาเนลซึ่งเป็นที่พักของเขา เมื่อเจ้าของร้านถามย้ำอย่างเจาะจงว่าต้องการคำตอบว่าอาลีมเป็นคนอินเดียที่มาจากประเทศไหน "Where you're born?" อาลีมทำหน้าสงสัยแล้วตอบว่า "What's difference…" แล้วแม่ของเขาก็เป็นผู้มาให้ความกระจ่างว่าอาลีมมาจากเคนยาและย้ายไปอยู่โตรอนโต

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นความรู้สึกว่างเปล่า ความแปลกแยกของอาลีมที่เขาเองก็ลำบากใจที่จะระบุว่าตนเองเป็นชาติพันธุ์ไหนกันแน่ เนื่องจากเงื่อนไขของความรู้สึกที่ไม่ผูกพันความเป็นอินเดีย ความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่ใช่คนอังกฤษ และเพศวิถีที่แย้งกับความเป็นมุสลิม นูลู แม่ของอาลีมจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดตัวตนของอาลีม ดังที่จะขยายความในหัวข้อต่อไป

การมาเยือนของนูลู: เสียงเพรียกจากตัวตนที่ถูกปฏิเสธ
นูลู แม่ของอาลีมเปิดตัวที่บ้านของดอลลีเพื่อนสนิทที่กำลังเตรียมงานหมั้นให้กาเลด ลูกชายของเธอ ดอลลีมีทุกอย่างพร้อมสรรพ มีสามีที่น่ารักและมีลูกชายที่ "ได้อย่างใจ" กาเลดประกอบอาชีพเป็นทันตแพทย์ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดี เขากำลังจะแต่งงานกับคนที่แม่เขาหมั้นหมายให้ นูลูมองชีวิตของเพื่อนแล้วรู้สึกสะท้อนใจ การเผชิญหน้ากับคำถามของบรรดา "ขาเมาท์" ในสังคมของเธอที่คอยเอาลูกมาเปรียบเทียบกัน ในใจของเธอรู้สึกว่างเปล่า ที่แคนาดาเธอไม่มีใคร นูลูวิ่งออกมาร้องไห้ เธอตัดสินใจเดินทางไปหาอาลีมที่อังกฤษแล้วพูดขึ้นว่าถึงคราวที่เธอต้องชนะแล้ว "It's my turn to win."

เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะตีความคำพูดของนูลู นูลูกล่าวถึงชัยชนะแสดงว่าที่ผ่านมาเธอพ่ายแพ้มาตลอด สิ่งที่เธอพ่ายแพ้ที่เห็นชัด น่าจะหมายถึงตัวดอลลีที่เป็นเหมือนสิ่งที่มาเปรียบให้เห็นความด้อยของตัวเอง รวมทั้งเพื่อนผู้หญิงคนอื่นที่คอยถามถึงอาลีมและคนรักของเขา (ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นผู้หญิงที่เป็นศัลยแพทย์ด้านสมองตามที่นูลูแต่งเรื่องขึ้นมา) หรืออาจเป็นได้ว่าสิ่งที่นูลูพ่ายแพ้คือความรู้สึกผิดของตัวที่ทำให้เธอไม่อาจสู้หน้าอาลีมได้ ชัยชนะของนูลูคือการยืนขึ้นเผชิญหน้าและแก้ไขสิ่งที่เคยผิดพลาดให้ถูกต้อง ซึ่งนั่นหมายถึงการดึงอาลีมกลับเข้ามาสู่วิถีของลูกชายมุสลิม ที่มีหน้าที่ต่อครอบครัวและสังคมอย่างที่กาเลดทำ

นูลูนับเป็นตัวละครที่สำคัญของเรื่องเพราะเธอเป็นผู้สร้างความขัดแย้งและเป็นผู้ที่คลี่คลายความขัดแย้งเองด้วยในตอนปลายเรื่อง เมื่อนูลูมาถึงเธอไม่ชอบใจความเป็นอยู่ของอาลีม อาลีมบอกว่าไจลส์เป็นเพื่อนร่วมห้องของเขา แม่ของเขากลับบอกว่าแดกดันเป็นภาษาอื่นที่ไจลส์ไม่เข้าใจว่า ไม่มีเด็กมุสลิมที่ไร้ที่อยู่บ้างเลยหรือ

นูลูโน้มน้าวให้อาลีมมีครอบครัว เธอทำความสะอาด ทำอาหารและบอกให้อาลีมนำรูปของกาลาข่านมาแขวน นอกจากนั้นนูลูยังมาพร้อมกับ "เรื่องเล่า" เกี่ยวกับคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับเธอมาถ่ายทอดให้อาลีมฟัง อันที่จริงอิทธิพลของนูลูปรากฏขึ้นก่อนที่เธอจะมาถึงลอนดอนด้วยซ้ำ อาลีมต้องซ่อนสิ่งของต่างๆที่บ่งแสดงความเป็นเกย์ของเขาเป็นการใหญ่ การจัดการกับพื้นที่ในบ้านและรูปแบบชีวิตของอาลีมแสดงให้เห็นความพยายามของนูลูในฐานะ "อัตลักษณ์ดั้งเดิม" หรืออีกนัยหนึ่งคือตัวตนพื้นฐานที่อยู่ในความคาดหวังของคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับเธอ

ตัวตนดังกล่าวสร้างอำนาจขึ้นมาต่อรองกับ "อัตลักษณ์ใหม่" ของอาลีมที่เป็นอยู่ และดูเหมือนว่านูลูจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เมื่ออาลีมนำภาพเปลือยของไจลส์ที่เขาเป็นคนถ่ายมาให้นูลูดู เธอเข้าใจความหมายและบินกลับโตรอนโตทันที ในคืนที่เธอเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวชมลอนดอนกับไจลส์อย่างมีความสุขนั้นเอง

การเผชิญหน้ากันระหว่างอัตลักษณ์ดั้งเดิมกับอัตลักษณ์ใหม่ อาลีมเองเป็นผู้ที่ตกที่นั่งลำบากที่สุด ปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ปรากฏการที่ผิดประหลาด หากอาลีมไม่ใช่คนพลัดถิ่นเขาก็ยังมีโอาสเผชิญปัญหาในรูปแบบเดียวกันนี้ด้วย เพราะไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ใดที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มจะเห็นพ้องกับความเป็นชาติพันธุ์ของกลุ่ม และไม่มีลักษณะอันเป็นแก่นแท้ของชาติพันธุ์ใดๆที่จะพบได้ในสมาชิกทุกคนในกลุ่ม (Ashcroft, Grifiths, and Tiffin, 2000: 84)

อย่างไรก็ตาม อาลีมเองไม่ปรารถนาให้แม่ต้องเสียใจ แต่ไจลส์ต้องการให้อาลีมบอกความจริง เมื่ออาลีมบอกความจริงเขากลับโกรธมาก โดยกล่าวว่าวิธีการของอาลีมนั้นผิด แท้จริงแล้วไจลส์มองจากมุมของคนที่มีพ่อแม่ที่เข้าใจเขาทุกอย่าง (เห็นได้จากฉากงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดของเขา) เขาลืมเงื่อนไขของอาลีมที่แตกต่างจากเขา เมื่อทั้งแม่และไจลส์ไปจากเขา อาลีมตัดสินใจเดินทางไปโตรอนโตเพื่อปรับความเข้าใจกับนูลู

ทางกลับบ้านของอาลีม: จากอัตลักษณ์ที่ขัดแย้งสู่การประนีประนอม
การมาเยือนโตรอนโตของอาลีมสร้างความยินดีให้แก่ทุกคนโดยเฉพาะนูลู ขณะนั้นเพื่อนๆของเธอกำลังเตรียมงานแต่งงานของกาเลด เรื่องราวระหว่างที่อยู่ในโตรอนโตนี้เต็มไปด้วยพิธีกรรมและวิถีชีวิตของชาวมุสลิมที่อาลีมคอยเฝ้าดูด้วยความตื่นใจ เช่น การรวมตัวกันของกลุ่มผู้หญิงเพื่อเลือกเครื่องประดับให้แก่เจ้าสาว และนั่งวาดเฮนนาอันเป็นศิลปะบนเรือนร่างที่โดดเด่นของชาวอินเดีย หรือแม้กระทั่งพิธีที่ให้ญาติและผู้มาร่วมงานนำผงสีเหลืองมาป้ายตัวเจ้าบ่าว นัยว่าเพื่อความเป็นสิริมงคล

อาลีมตื่นเต้นกับพิธีเหล่านั้นเพราะเขาเหมือนถูกตัดออกจากวงจรนี้เป็นเวลานาน การกลับเข้ามา "เชื่อมต่อ" กับวงจรที่เคยถูกตัดขาดครั้งนี้เต็มไปด้วยความยินดี จึงกล่าวได้ว่าการกลับมาโตรอนโตของอาลีมครั้งนี้คือการกลับมาเพื่อค้นพบอัตลักษณ์ที่เคยสาบสูญของเขา

ในคืนก่อนงานแต่งงาน กาเลดเมามาที่บ้านของอาลีม เขาพยายามลวนลามอาลีม เมื่ออาลีมปฏิเสธและบอกว่ามีคนรักแล้ว กาเลดกลับกล่าวว่าอาลีมมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายได้แต่ห้ามรัก กาเลดยังกล่าวอีกว่าอาลีมทำให้ทุกคนผิดหวัง ต่างจากเขาที่สามารถประกอบอาชีพที่ดีและมีภรรยาที่เหมาะสมที่จะทำให้เขามี "หน้าตา" ในสังคมต่อไปได้ นูลูกลับมาเห็นการกระทำของกาเลดเข้า กาเลดพยายามแก้ตัวว่าเขามีคู่หมั้นแล้ว "I have a fianc?, remember?" นูลูย้อนได้อย่างสมใจผู้ชมว่า แม่ของกาเลดก็มีเปียโนตัวใหญ่ที่เล่นไม่เป็น "Your mother has a very grand piano, she can't play…"

การได้มาเห็น "ความไม่สมบูรณ์แบบ" ของครอบครัวดอลลีทำให้นูลูเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า แม้ว่าอาลีมจะไม่ได้เป็นอย่างที่เธอหวังทุกอย่าง แต่เขาก็ยังเป็นลูกของเธอ เป็นคนที่ทำให้เธอรู้สึก "เต็ม" และทำให้เธอได้สัมผัส "ชัยชนะ" ที่เธอเฝ้าแสวงหามาตลอด

ระหว่างอยู่ในโตรอนโต "เรื่องเล่า" เกี่ยวกับชีวิตวัยเด็กของอาลีมที่เขาพูดกับเพื่อนที่ไม่มีตัวตนตั้งแต่แม่ทิ้งเขาไป รวมทั้งความระลึกถึง "พ่อ" ของอาลีม เรื่องเล่าเหล่านี้ประกอบกับความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของกลุ่มชนทำให้อาลีมกลับมารู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (to belong) กับที่ๆเขาเคยอยู่ และทำให้ทั้งเขาและนูลูเรียนรู้ที่จะสร้างความหมายของอัตลักษณ์ขึ้นใหม่เท่าที่เงื่อนไขต่างๆจะอำนวย ดังจะเห็นได้จากในงานแต่งงานที่นูลูต่อว่าดอลลี เพราะดอลลีรู้พฤติกรรมของกาเลดมาโดยตลอดแต่ก็ยังให้เขาแต่งงานเพื่อรักษาหน้าเอาไว้

นอกจากนั้นไจลส์ก็ยังปรากฏตัวขึ้นในงานและจูบกับอาลีมอย่างดูดดื่มสร้างความตกตะลึงให้แก่ทุกคคนในงาน นูลูยิ้มและเปล่งเสียงออกมาอย่างมั่นใจให้คนที่อยู่ใกล้ๆเธอได้ยินอย่างชัดเจนว่า "It's not she, it's he, the economist for the UNICEF." การยอมรับว่าคนรักของอาลีมเป็นใครก็เท่ากับว่านูลูยอมรับอัตลักษณ์ใหม่ด้านหนึ่งของอาลีมเอาไว้ด้วยความเต็มใจ และเมื่อเรื่องเดินมาถึงจุดนี้แครี แกรนท์ เพื่อนในจินตนาการของอาลีมก็หายไป

เราอาจวิเคราะห์ปัญหาของอาลีมและนูลูได้ด้วยสี่เหลี่ยมสัญศาสตร์ (semiotic square) ของเกรมาส (Greimas) นักวิชาการสายโครงสร้างนิยม เขากล่าวถึงหลักการของแผนผังนี้ไว้ใน Structural Semantics (1966)โดยอาจสรุปได้ว่า องค์ประกอบต่างๆ ภายในเรื่องเล่าต่างก่อรูปความหมายขึ้นมาจากอรรถลักษณ์ (seme หรือ semic element) จำนวนหนึ่ง และเมื่อวิเคราะห์อรรถลักษณ์เหล่านี้อย่างถึงที่สุด ก็จะพบว่ามันเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์เชิงคู่แย้งของอรรถลักษณ์มูลฐานที่สำคัญคู่หนึ่ง (เสนาะ เจริญพร, 2547: 113)

การวาดแผนผังอาจทำได้โดยหยิบอรรถลักษณ์สำคัญ 2 ประการของเรื่องขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ในเรื่องนี้อรรถลักษณ์ดังกล่าวน่าจะเป็น "เพศ" กับ "ชาติพันธุ์" ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความขัดแย้งในเรื่อง ทั้งนี้ มีความคาดหวังกับสิ่งที่ปรากฏจริงเป็นความหมายที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังด้วย แสดงเป็นแผนผังได้ดังนี้



สี่เหลี่ยมสัญศาสตร์ข้างต้นอาจอธิบายได้ว่า "ชายแท้ชาวอินเดีย" คือสิ่งที่นูลูคาดหวังว่าลูกจะเปลี่ยนแปลงได้หลังจากที่รู้ความจริงว่าเขาเป็นเกย์ก็ตาม เพราะสิ่งนี้เป็น "อุดมคติ" ที่ยังคงหลงค้างอยู่ในความคิดของเธอ

"ชายแท้ชาวต่างชาติ" คือสิ่งที่นูลูคิดว่าอาลีมเป็นแต่เดิม การที่อาลีมอยู่อังกฤษทำให้นูลูคิดแค่ว่าเขาทำตัวเป็นคนอังกฤษ แต่ยังคงเป็นชายแท้ที่สามารถกลับบ้านมาแต่งงานให้เธอชื่นใจได้

หน่วยความหมาย "เกย์ชาวต่างชาติ" คือสิ่งที่อาลีมเป็นก่อนการมาเยือนของนูลู เขาไม่คิดว่าตนเองเป็นอินเดียกอปรกับเพศวิถีของเขาด้วย ตัวตนของอาลีมที่ปรากฏแต่เดิมแย้งกับทั้งอุดมคติและความเข้าใจของนูลู

"เกย์ชาวอินเดีย" คือสิ่งที่ปรากฏในตอนท้าย ความหมายนี้คือตัวตนของอาลีมหลังจากผ่านการประนีประนอมแล้ว ในที่สุดนูลูยอมรับความเป็นเกย์ได้ ส่วนอาลีมก็ยอมรับความเป็นอินเดียของตัวตามที่นูลูคาดหวังได้เช่นกัน การพบกันครึ่งทางนี้ทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายและจบลงตามขนบของสุขนาฏกรรม

บทสรุป
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจศึกษาด้วยกระบวนทัศน์หลังอาณานิคม เช่นการที่แครี แกรนท์คอยบอกอาลีมว่า แม่ของเขาไม่อาจเข้าใจเขาได้เพราะเธอเป็น "ผู้หญิงโลกที่สาม" และพยายามโน้มน้าวให้อาลีมกลับอังกฤษตลอดเวลาที่อยู่โตรอนโต เหมือนกับเขาไม่ต้องการให้อาลีมค้นพบอัตลักษณ์ของตนเอง นอกจากนั้นแครียังมาในงานของกาเลดโดยใส่ชุดซาฟารีแบบที่ชาวอังกฤษใส่ล่าสัตว์ในป่าของประเทศอาณานิคม ผู้กำกับอาจต้องการเสียดสีจักรวรรดินิยมอังกฤษอยู่ก็เป็นได้ รวมทั้งแสดงให้เห็นด้วยว่าจักรวรรดินิยมอาจแฝงมากับ "อุตสาหกรรมของการหย่อนใจ" (Leisure Industry) อย่างภาพยนตร์ Classic ทั้งหลายที่อาลีมดูซ้ำไปซ้ำมาอยู่เสมอ

นอกจากนั้น ตอนที่ไจลส์รับประทานไข่ที่นูลูเตรียมไว้ให้อาลีมโดยเขาอ้างว่า เขาคิดว่าเธอเตรียมอาหารไว้สำหรับทุกคน นูลูย้อนว่าก็เป็นเช่นนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นไข่ อินเดีย แอฟริกา หรือว่าตะวันออกกลาง ส่วนนี้ก็เป็นบทที่แทรกการเสียดสีเช่นกัน หรือตอนที่ไจลส์พานูลูเที่ยวชมความสวยงามของลอนดอน ก็กลายเป็นว่านูลู "ลอกคราบ" ตนเอง เปลี่ยนชุด ดื่มเหล้า เต้นรำ และรู้สึกเอ็นดูไจลส์ในที่สุด ปรากฏการณ์นี้อาจตีความได้ว่าความโอ่อ่าอลังการของจักรวรรดิทำให้ผู้คิดแข็งข้อยอมสยบก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่วิจารณ์ไปทั้งหมดข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคนพลัดถิ่น ยังคงเป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำมาใช้สร้างสรรค์ได้อีกมาก อาลีมเป็นตัวอย่างของคนพลัดถิ่นที่ไม่อาจนิยามตนเองได้ จึงหันไปอิงกับความหมายอื่นที่ทำให้เขารู้สึกเชื่อมั่นมากกว่า แต่ก็นับว่าน่ายินดีที่ในที่สุดเขาก็ค้นพบตัวตนของเขา ซึ่งไม่ใช่ตอนจบเดียวกันกับของคนพลัดถิ่นทุกคนในความเป็นจริงแน่

สิ่งที่ควรนำไปใคร่ครวญต่อก็คือ การไหลบ่าเข้ามาของวัฒธรรมต่างถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์ อาจทำให้เกิดผลมากกว่าที่เราคาดคิด ไม่มีใครทราบได้ว่าวันหนึ่งเราอาจตื่นขึ้นมาพร้อมกับคำถามว่า "เราคือใคร?" และกลายเป็นคนพลัดถิ่นทางใจในดินแดนของตนเองไปโดยปริยาย

รายการอ้างอิง
ปริศนา แหล่งรัศมี. "ความแปลกแยกของคนผิวดำในนวนิยายของโทนี มอร์ริสัน." วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

พิศิษฎ์ คุณวโรตม์. "อัตลักษณ์และกระบวนการต่อสู้เพื่อชีวิตของผู้ติดเชื้อ HIV." ใน อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุยวิทยาสิรินธร, 2546.

เสนาะ เจริญพร. "เสราดารัล ดอกไม้ในอุ้งมือนักมานุษยวิทยาหญิง." สารคดี 20, 236 (ตุลาคม 2547): 110-113.

Ashcroft, Bill, Gareth Griffiths, and Helen Tiffin. Post-Colonial Studies:The Key Concepts. London and New York: Routledge, 2000.

"Cary Grant" [Online] Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Cary_Grant [1 October 2005].

Ian Iqbal Rashid (Director). Touch of Pink [Video compact disc, 86 min.]. Sony Pictures Classic, 2005.

"Touch of Pink" [Online] Available from: http://www.sonyclassics.com/touchofpink/site.html [1 October 2005].

 

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ในตลาดหนังสือมีเรื่องราวของคนพลัดถิ่น (diaspora) ตีพิมพ์เผยแพร่จำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้สมควรนับเป็นอานิสงส์จากกระแสแนวคิดหลังอาณานิคม (Postcolonialism) ที่ยังคงแผ่ซ่านอยู่ทั้งในวงวิชาการวรรณกรรมและในหมู่นักเขียนทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศที่ไม่มีประสบการณ์ของการตกเป็นอาณานิคมก็ตาม

 

R
related topic
131148
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้

อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง

อัตลักษณ์คนพลัดถิ่นที่นำเสนอในระยะหลังนี้ แท้จริงแล้วมีนักเขียนนำไปใช้จำนวนมากเพื่อเป็นการกล่าวยืนยันความเป็นลูกผสม (hybridity) ของพวกเขาในแง่ดี กระแสการสร้างสรรค์ดังกล่าวส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งใช้เรื่องเล่าเป็นสื่อเช่นเดียวกับวรรณกรรม เราจึงมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิตของคนพลัดถิ่นผ่านสื่อภาพยนตร์มากขึ้นด้วยเช่นกัน