ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




19-02-2552 (1686)

Representation, Globalization, Consumerism, cultural capital
หลังสมัยใหม่: การสร้างภาพแทน โลกาภิวัตน์ การบริโภค และทุนวัฒนธรรม
เอกรัฐ เลาหทัยวาณิชย์ : นักวิจัย
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่: การสร้างภาพแทน โลกาภิวัตน์ การบริโภค
และทุนวัฒนธรรม
ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้

๑. แนวคิดการสร้างภาพแทน (Representation)
- การศึกษาภาพแทน สามารถแบ่งเป็น ๓ แนวทาง
- การประกอบสร้างภาพแทน สามารถแบ่งออกได้ ๒ แนวทาง
ก. แนวทางสัญญวิทยา (semiology)
ข. แนวทางศึกษาวาทกรรม (Discursive approach)
- ฟูโกต์กับสมมุติฐานเรื่องความจริง ๓ ข้อ

๒. แนวคิดโลกาภิวัตน์ (Globalization)
- ซูซาน สเตรนจ์: โลกาภิวัตน์
- แอนโทนี กิดเดนส์: โลกาภิวัตน์
- อาจัน อัปพาดูไร: โลกาภิวัตน์

๓. แนวคิดการบริโภคหลังสมัยใหม่
- ตรรกแห่งการบริโภคของโบดริยาร์ด
- การสร้างภาพเสมือนจริง 4 ขั้นตอน

๔. แนวคิดทุนทางวัฒนธรรม
- ประการที่หนึ่ง "อาณาบริเวณหรือปริมณฑล" (field)
- ประการที่สอง "ทุน" (capital)
- ประการที่สาม "ปัจเจกผู้กระทำการ" (agents)
- ประการที่สี่ "ฮาบิตุส" (habitus)
- ประการที่ห้า "ปฏิบัติการ" (practices)
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๘๖
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๕.๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Representation, Globalization, Consumerism, cultural capital
หลังสมัยใหม่: การสร้างภาพแทน โลกาภิวัตน์ การบริโภค และทุนวัฒนธรรม
เอกรัฐ เลาหทัยวาณิชย์ : นักวิจัย
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

๑. แนวคิดการสร้างภาพแทน (Representation)
ภาพแทน (Representation) คือ ผลผลิตความหมายของสิ่งที่คิด (concept) ในสมองของเราผ่านภาษา เป็นการเชื่อมโยงระหว่างความคิดและภาษา ซึ่งทำให้เราสามารถอ้างอิงถึงโลกวัตถุจริงๆ ผู้คน เหตุการณ์ หรือจินตนาการถึงโลกสมมุติ ผู้คน และเหตุการณ์สมมุติได้

การสร้างภาพแทนนั้น ประกอบไปด้วยกระบวนการ 2 กระบวนการ หรือ ระบบการสร้างภาพแทน 2 ระบบ ด้วยกัน คือ

ระบบแรก คือ ระบบที่จะช่วยในการจัดจำแนกวัตถุ ผู้คน และเหตุการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับชุดความคิด (a set of concept) หรือ ภาพแทนในความคิด (mental representation) ซึ่งมีอยู่ในสมองของเรา ถ้าไม่มีระบบนี้ เราจะไม่สามารถตีความโลกแห่งความหมายได้ ความหมายนั้นขึ้นอยู่กับระบบความคิด และภาพ (image) ที่ถูกสร้างขึ้นในความคิดของเราซึ่งสามารถใช้แทนที่หรืออ้างอิงโลกวัตถุ ทำให้เราสามารถที่จะอ้างอิงถึงสิ่งต่างๆ ทั้งที่อยู่ในสมองและนอกสมองของเราได้

การที่เราเรียกระบบที่ช่วยจำแนกแยกแยะว่าเป็นระบบการสร้างภาพแทน ก็เพราะว่า มันไม่ได้ประกอบไปด้วยความคิดที่เป็นปัจเจกเท่านั้น แต่มีความหลากหลายในการรวบรวม การจัดกลุ่ม การจัดหมวดหมู่ การจัดประเภทของความคิด และสร้างความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างกันได้ ยกตัวอย่างเช่น เราใช้หลักเกณฑ์ความคล้ายคลึงและความแตกต่างในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างความคิดหรือสร้างความแตกต่างของความคิดจากสิ่งต่างๆ เช่น เรามีความคิดว่า ในบางประการ นกเหมือนกับเครื่องบินบนท้องฟ้า ซึ่งความคิดนี้ตั้งอยู่บนฐานของความจริงที่ว่า พวกมันเหมือนกันเพราะพวกมันบินได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีความคิดว่า มันมีความแตกต่างในประการอื่นๆ อีก คือ นกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ในขณะที่เครื่องบินเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ การผสมและจับคู่ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดต่างๆ เพื่อก่อรูปของความเข้าใจ (idea) และความเห็นอย่างซับซ้อนนั้นเป็นไปได้ ก็เพราะ ความคิดของเราถูกจัดการด้วยระบบการจัดจำแนกความแตกต่าง

จากตัวอย่างข้างต้น ในการแยกแยะครั้งแรก อยู่บนฐานของความแตกต่างระหว่างสิ่งที่บินได้กับบินไม่ได้ และในการแยกแยะครั้งที่สองอยู่บนฐานของความแตกต่างระหว่างสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมากับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์อื่นๆ อีกในการจัดการแยกแยะซึ่งทั้งหมดทำงานภายใต้ระบบความคิด เช่น การจัดลำดับก่อนหลัง ความคิดใดมาก่อนและความคิดใดมาทีหลัง หรือ การจัดลำดับตามหลักเหตุผล อะไรเป็นสาเหตุของอะไร เป็นต้น ความคิดนั้นไม่ได้ถูกเก็บรวบรวมแบบสุ่ม แต่ความคิดถูกรวบรวม จัดการ และจำแนกเข้าสู่ความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับสิ่งอื่นๆ

แผนที่ความคิด (conceptual map) ซึ่งเรามีในสมองนั้นย่อมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล นั่นทำให้เราตีความโลกและทำความเข้าใจโลกแตกต่างกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเราแต่ละคนเข้าใจและตีความโลกในลักษณะเฉพาะและเป็นปัจเจก แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถที่จะสื่อสารกันได้ก็ เพราะเราแบ่งปันแผนที่ความคิดที่มีความเหมือนกัน และทำความเข้าใจหรือตีความหมายโลกในแนวทางที่คล้ายคลึงกันแบบกว้างๆ นั่นคือความหมายที่แท้จริงเมื่อเราพูดว่า เราอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน เพราะเราตีความโลกแบบกว้างๆ เหมือนกัน ทำให้เราสามารถสร้างความหมายในเชิงวัฒนธรรมร่วมกันได้ และสร้างโลกทางสังคมซึ่งพวกเราอาศัยอยู่ร่วมกันได้

ระบบที่สอง อย่างไรก็ตาม แผนที่ความคิดร่วมกันก็ยังไม่พอ เราจะต้องสามารถอ้างอิงหรือแลกเปลี่ยนความหมายและความคิดได้ด้วย เราจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเราใช้ภาษาร่วมกัน ซึ่งเป็นเพียงวิธีการเดียวเท่านั้น ดังนั้น ภาษา ก็คือ ระบบการสร้างภาพแทนระบบที่สอง ซึ่งเกี่ยวข้องในกระบวนการสร้างความหมายทั้งหมด แผนที่ความคิดที่เรามีร่วมกันจะต้องถูกแปลไปเป็นภาษาที่เราใช้ทั่วไป เราจึงจะสามารถจับคู่ความคิดและความเข้าใจต่างๆ เข้ากับคำที่ต้องการเขียน เสียงที่ต้องการพูด หรือภาพที่ปรากฏได้อย่างแน่นอน โดยทั่วๆ ไป เราเรียกคำ เสียง หรือภาพที่มีความหมายว่า "สัญญะ" สัญญะเหล่านี้แทนที่หรืออ้างอิงความคิดหรือความสัมพันธ์ระหว่างความคิดต่างๆ ที่เรามีในสมอง พร้อมๆ กับ การสร้างระบบความหมายทางวัฒนธรรมของเราขึ้นมา

สัญญะ ถูกจัดการโดยภาษา ทำให้เราสามารถแปลงความคิดของเราไปสู่ถ้อยคำ เสียงหรือภาพ และทันทีที่มีการใช้สัญญะ มันจะปฏิบัติการในฐานะภาษา แสดงความหมายและสื่อสารความคิดของเราไปยังคนอื่นๆ คำว่า "ภาษา" ในที่นี้นั้น มีความหมายกว้างขวาง ระบบการเขียนที่มีความเฉพาะ หรือระบบการพูดที่มีความเฉพาะทั้งสองสิ่งนี้ถูกจัดเป็น "ภาษา" อย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ภาษายังรวมถึงภาพต่างๆ ที่เห็น แม้ว่าจะสร้างขึ้นมาโดยใช้มือ เครื่องจักร อิเลกทรอนิกส์ ดิจิตอล หรืออื่นๆ เมื่อพวกมันถูกใช้แสดงความหมาย ก็จัดเป็นภาษา และยังรวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ "ภาษาศาสตร์" ซึ่งใช้แสดงความรู้สึกโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น "ภาษา" ของการแสดงความรู้สึกทาง สีหน้า ท่าทาง หรือ "ภาษา" ของแฟชั่น เสื้อผ้า ไฟจราจร เป็นต้น แม้กระทั่ง บทเพลงก็เป็น "ภาษา" ที่มีความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างเสียง และคอร์ดต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน เสียง คำ ภาพ หรือสิ่งใดๆ ที่ทำหน้าที่ในฐานะสัญญะ และถูกจัดการด้วยสัญญะเข้าไปสู่ระบบ ซึ่งสามารถบรรจุและแสดงความหมายได้ ในมุมมองนี้ล้วนถูกจัดเป็น "ภาษา" ทั้งสิ้น

กล่าวโดยสรุป แก่นกลางของกระบวนการสร้างความหมายในวัฒนธรรมนั้น มีระบบการสร้างภาพแทน 2 ระบบเกี่ยวข้องอยู่

ระบบแรก ทำให้เราสามารถให้ความหมายกับโลกผ่านการสร้างชุดของความสัมพันธ์ หรือห่วงโซ่ของการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน วัตถุ เหตุการณ์ ความคิดทางนามธรรมต่างๆ กับระบบความคิดหรือแผนที่ความคิดของเรา

ระบบที่สอง ขึ้นอยู่กับการสร้างชุดของความสัมพันธ์ระหว่าง"แผนที่ความคิดของเรา"กับ"ชุดสัญญะ" โดยการจัดการหรือรวบรวมมันเข้าสู่ภาษาที่หลากหลาย ซึ่งแทนที่หรืออ้างอิงถึงความคิดเหล่านั้น. ความสัมพันธ์ระหว่าง "สิ่งต่างๆ" ความคิด และสัญญะ วางอยู่บนแก่นกลางของการผลิตความหมายในภาษา กระบวนการที่เชื่อมโยงองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน คือ สิ่งที่เราเรียกว่า "ภาพแทน" (Stuart Hall, 1997 : 17-19)

การศึกษาภาพแทน สามารถแบ่งเป็น ๓ แนวทาง
แนวทางการศึกษาในเรื่องภาพแทนนั้นสามารถแบ่งเป็นแนวทางหลักๆ ได้ 3 แนวทางด้วยกัน ซึ่งได้แก่

(1). ภาพสะท้อน (reflective approach) แนวทางการศึกษาภาพแทนที่เชื่อว่าภาพแทน คือ "ภาพสะท้อน" (reflective approach) แนวทางนี้เชื่อว่า ความหมายอยู่ในวัตถุ ผู้คน ความคิด หรือเหตุการณ์ที่อยู่บนโลกแห่งความจริง และภาษาทำหน้าที่เหมือนกับกระจก เพื่อสะท้อนความหมายที่แท้จริงซึ่งปรากฏบนโลก

(2). เจตจำนง (intentional approach) แนวทางการศึกษาภาพแทนที่เชื่อว่าภาพแทน คือ "ความตั้งใจหรือเจตจำนง" (intentional approach) แนวทางนี้เชื่อว่า ผู้แต่ง ผู้พูด เป็นคนกำหนดความหมายต่างๆ บนโลก ผ่านภาษา คำต่างๆ จึงมีความหมายตามที่ผู้แต่งตั้งใจที่จะให้มีความหมาย

(3). การประกอบสร้าง (constructionist approach) แนวทางการศึกษาภาพแทนที่เชื่อว่าภาพแทน คือ "การประกอบสร้าง" (constructionist approach) ความหมายผ่านภาษา แนวทางนี้เชื่อว่า ไม่มีสิ่งใด หรือแม้กระทั่งปัจเจกผู้ใช้ภาษาคนใดสามารถจะคงความหมายต่างๆ ในภาษาไว้ได้ สิ่งต่างๆ ไม่ได้มีความหมายใดๆ แต่เป็นเราที่สร้างความหมายขึ้นมา โดยการใช้ระบบภาพแทน ซึ่งได้แก่ ความเข้าใจ (concept) และสัญญะ (sign) ต่างๆ

การศึกษาตามแนวทางนี้ เราจะต้องไม่สับสนกับโลกวัตถุ ที่ซึ่งสิ่งของและผู้คนดำรงอยู่ ต้องไม่สับสนกับปฏิบัติการเชิงสัญญะ (symbolic practice) ใดๆ ที่ทำงานผ่านภาพแทน ความหมาย หรือระบบภาษา แนวทางการศึกษานี้ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของโลกวัตถุ แต่โลกวัตถุนั้นไม่ได้มีความหมายใดๆ บรรจุอยู่ มันคือระบบภาษาหรือระบบใดๆ ก็ตามที่เรานำมาใช้เพื่อเป็นตัวแทนความคิดของเรา มันคือ เรา ในฐานะผู้กระทำในทางสังคม (social actor) ซึ่งใช้ระบบความคิดที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรม ภาษา และระบบภาพแทนอื่นๆ ในการสร้างความหมายขึ้นมา ทำให้โลกมีความหมาย และทำการสื่อสารโลกแห่งความหมายนี้ให้กับผู้อื่น (Stuart Hall, 1997 : 24-26)

การประกอบสร้างภาพแทน สามารถแบ่งออกได้ ๒ แนวทาง
สำหรับแนวทางศึกษาการประกอบสร้างภาพแทนนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ "แนวทางสัญญวิทยา" และ"แนวทางวาทกรรม"

ก. แนวทางสัญญวิทยา (semiology) จะทำการศึกษาสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพื่อค้นหาว่าสัญลักษณ์ทำหน้าที่สื่อความหมายในทางสังคมอย่างไร แนวทางนี้พัฒนามาจากแนวคิดของนักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ แฟร์ดินองซ์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) ที่เชื่อว่า "ภาษา"เป็นระบบของสัญญะที่สังคมสร้างความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ จากการเปรียบเทียบความหมายของสิ่งนั้นกับสิ่งที่มีความหมายตรงข้าม นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสัญญะตัวหนึ่งกับสัญญะตัวอื่นๆ เกิดขึ้นโดยตรรกะของความแตกต่าง สัญญะแต่ละตัวจะมีความหมายได้ก็จากการเปรียบเทียบว่าตัวมันแตกต่างจากสัญญะตัวอื่นๆ ในระบบเดียวกันอย่างไร. โซซูร์ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์โครงสร้างของภาษา เพื่อค้นหากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดโครงสร้างและความหมายของภาษา โซซูร์เชื่อว่า การเข้าใจโครงสร้างของความหมาย จะทำให้เข้าใจกฎเกณฑ์ที่ควบคุมการเข้าใจความจริงของสังคม

นักทฤษฎีที่พัฒนาวิธีการศึกษาสัญญวิทยาในเวลาต่อมา คือ โรล็อง บาร์ตส์ (Roland Barthes) เขาเสนอว่า ภาพแทนความจริงเป็นที่มาของกระบวนการสร้างความรู้ทางสังคม จึงควรวิเคราะห์ระบบภาพแทนความจริงในฐานะตัวบท (text) เชื่อมโยงกับบริบททางสังคม (context) เพื่อทำความเข้าใจว่า กระบวนการสร้างภาพแทนความจริงเกิดขึ้นเพื่ออะไร

ในงานศึกษาเรื่อง "มายาคติ" (Mythologies) บาร์ตส์ได้สาธิตวิธีการใช้สัญลักษณ์ทางภาษาสร้างมายาคติทางสังคม โดยวิธีการที่เรียกว่า "การเปิดโปงมายาคติ" (Demythification) เขาได้ชี้ให้เห็นว่า การสร้างความหมายเชิงมายาคติเกี่ยวโยงกับการสร้างความจริง ในแง่ที่ว่ามายาคติถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิควิธีที่ทำให้ดูเป็นธรรมชาติ ทำให้เกิดความเชื่อว่า มายาคติเป็นสิ่งที่สมเหตุผล และเป็นตัวแทนความจริง ทั้งนี้ก็เพื่อให้แนวคิดที่นำเสนอ ไม่ถูกตั้งคำถามถึงเป้าหมายที่มันถูกสร้างขึ้นมา (เนตรดาว แพทย์กุล, 2543)

ข. แนวทางศึกษาวาทกรรม (Discursive approach) สำหรับแนวทางศึกษาที่สอง คือ "แนวทางศึกษาวาทกรรม" (Discursive approach) แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่าง "อำนาจ" กับ "ความหมาย" เพื่ออธิบายถึงกระบวนการสร้างภาพแทนความจริงกับนัยยะทางการเมืองที่เกิดขึ้น ผู้นำการศึกษาวาทกรรมคนสำคัญ ได้แก่ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)

ในบทความเรื่อง Subject and Power (Michel Foucault, 1982 : 208-226) ฟูโกต์ แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา รัฐสร้างอำนาจด้วยการทำให้พลเมืองกลายเป็นปัจเจก โดยการใช้กลไกเชิงอำนาจสมัยใหม่ควบคุมการเข้าถึงความจริง เพื่อควบคุมวิจารณญาณและการตัดสินใจของปัจเจก โดยการให้คำมั่นสัญญาว่า รัฐจะให้หลักประกันด้านเสรีภาพแก่ปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการมีสุขภาพที่ดี การมีชีวิตที่ดี การกินดีอยู่ดี การมีความงามของร่างกาย การมีความปลอดภัย เสรีภาพในการคิดและตัดสินใจ ฯลฯ การทำให้มนุษย์กลายเป็นปัจเจก ทำให้มนุษย์กลายเป็นหน่วยที่ถูกควบคุม ถูกจัดการ ถูกทำให้สยบยอม และมีฐานะพึ่งพิง อำนาจรัฐจึงแทรกลึกลงสู่ความคิดของปัจเจก และการตัดสินใจของปัจเจกได้อย่างลึกซึ้ง

ฟูโกต์กับสมมุติฐานเรื่องความจริง ๓ ข้อ
ในหนังสือ Discourse on Language ฟูโกต์ตั้งคำถามถึงที่มาของ "อำนาจ" ที่สร้างความจริง และในหนังสือ The Order of Thing เขาได้ชี้ให้เห็นถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการสร้างภาพแทนขึ้นมาว่า เกิดจากความปรารถนาที่ผู้สร้างภาพ ต้องการให้ภาพแทนที่ถูกสร้างขึ้นเป็นตัวแทนความรู้ และเป็นสิ่งที่ปราศจากข้อสงสัย เพื่อสถาปนาตัวผู้สร้างให้มีอำนาจ ฟูโกต์ได้เสนอสมมุติฐานในการศึกษาความจริงไว้ 3 ข้อ คือ

1. ความจริงกับกระบวนการสร้าง ความจริงเป็นระบบความเข้าใจที่เกิดจากกระบวนการสร้างและกฎเกณฑ์ที่เผยแพร่ความจริง
ไม่มีความจริงใดเกิดขึ้นเอง โดยไม่มีเหตุสร้างขึ้น

2. ความจริงกับอำนาจ ความจริงเชื่อมโยงกับระบบอำนาจที่สร้างและรักษาความจริง และเกิดจากความพยายามในการใช้อำนาจสร้าง และยืนยันความจริงให้แผ่กว้างออกไป

3. ความจริงกับความเป็นอื่น ปริมณฑลของอำนาจที่สร้างความจริง มิได้จำกัดอยู่ที่สถาบันทางสังคม แต่อยู่ที่กระบวนการสร้างภาพ "คนอื่น" และ "ความเป็นอื่น" ให้กับสิ่งต่างๆ ในโลกของความจริง (เนตรดาว แพทย์กุล, 2543)

โดยสรุป ภาพแทน คือ กระบวนการที่สมาชิกของวัฒนธรรมนั้นๆ ใช้ภาษา (ภาษาในที่นี้รวมถึงระบบสัญลักษณ์และระบบสัญญะต่างๆ) เพื่อผลิตความหมายต่างๆ ขึ้นมา การนิยามเช่นนี้แสดงถึงนัยยะสำคัญที่ว่า สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุ ผู้คน เหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่บนโลกนั้น ไม่มีความหมายในตัวของมันเอง ไม่มีความหมายที่คงที่แน่นอน ไม่มีความหมายที่เป็นสุดท้าย และไม่มีแม้กระทั่งความหมายที่จริงแท้ ความหมายเกิดขึ้นจากพวกเรา จากวัฒนธรรมของมนุษย์ ผู้ที่ทำให้สิ่งต่างๆ มีความหมายขึ้นมา ดังนั้น ความหมายจึงมีการเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรม และจากช่วงเวลาหนึ่งสู่อีกช่วงเวลาอยู่เสมอ มันไม่มีหลักประกันว่า วัตถุต่างๆ ในวัฒนธรรมหนึ่งจะมีความหมายเหมือนกันกับวัฒนธรรมอื่น นั่นก็เพราะว่า วัฒนธรรมแตกต่างกันตรงรหัส (code) ซึ่งปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ

ในมุมมองของ"การประกอบสร้าง"นั้น ภาพแทนเกี่ยวพันกับการสร้างความหมายโดยการเชื่อมโยงความแตกต่างในการจำแนกแยกแยะสรรพสิ่ง 3 ประการ

ประการแรก คือ อะไรก็ตามที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าโลกทางวัตถุ ผู้คน เหตุการณ์ และประสบการณ์ต่างๆ
ประการที่สอง คือ โลกทางความคิด ซึ่งหมายถึง ความคิดที่อยู่ในความทรงจำที่เรามีอยู่ในสมองของเรา และ
ประการที่สาม คือ สัญญะ ซึ่งถูกจัดเข้าสู่ภาษาต่างๆ ซึ่งใช้เป็นตัวแทนหรือใช้ในการสื่อสารความคิดเหล่านี้

การผลิตความหมายขึ้นอยู่กับรหัส (code) ในการเปลี่ยนวัตถุและสิ่งต่างๆ เป็นรหัส เรียกว่า "การใส่รหัส (encoding)" และบุคคลซึ่งอยู่ปลายทางจะต้องทำ "การถอดรหัส (decoding)" จึงจะเข้าใจความหมายที่ถูกสร้างขึ้นมา. แต่เราต้องระลึกไว้เสมอ ความหมายมีการเปลี่ยนแปลงและเลื่อนไหลเสมอ รหัสเหมือนกับข้อตกลงทางสังคม (social conventions) มากกว่ากฎหมายที่แน่นอนตายตัวหรือกฎที่ไม่สามารถฝ่าฝืนได้ ขณะที่ความหมายเกิดการเปลี่ยนและเลื่อนไหล จะทำให้รหัสทางวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Stuart Hall, 1997 : 61-62)

๒. แนวคิดโลกาภิวัตน์ (Globalization)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546) ได้ให้ความหมายของ "โลกาภิวัตน์"ไว้ว่า โลกาภิวัตน์ แปลว่า "การแพร่กระจายไปทั่วโลก การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ"

ซูซาน สเตรนจ์: โลกาภิวัตน์
Susan Strange อธิบายว่า โลกาภิวัตน์เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลง 3 ประการด้วยกัน คือ (สุพจน์ บุญวิเศษ, 2546 : 336 - 337)

1. การมีสินค้าร่วมกันในตลาดโลก โดยเป็นการร่วมกันผลิตจากหลายประเทศ

2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศ เกิดจากการผลิตและการค้าสินค้าและบริการในระดับชาติ โดยมีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วกว่าอดีตมากมายมหาศาล อันเนื่องมาจากมีหลายชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลทั้งต่อกำไรและการขาดทุนในระดับวงเงินที่สูงมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

3. การปรับเปลี่ยนความแตกต่างทางความคิด ทัศนคติ กระแสนิยมให้เข้ามารวมกันเป็นแบบเดียวในระดับโลก (Global Hegemonization)

แอนโทนี กิดเดนส์: โลกาภิวัตน์
Anthony Giddens เสนอว่า เราจะเข้าใจเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ได้ดีขึ้น หากพิจารณาประเด็นเรื่อง "การห่างไกลทางเวลาและพื้นที่" ซึ่งหมายถึงเงื่อนไขที่เวลาและพื้นที่ถูกจัดระบบใหม่ให้ "สิ่งที่เห็นมีอยู่" เชื่อมโยงกับ "สิ่งที่ไม่อยู่ไม่เห็น" (to connect present and absent) กิดเดนส์ เสนอว่า การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

- การติดต่อที่ต้องเจอหน้าค่าตาพบปะกัน ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมก่อนสมัยใหม่ และ
- การสัมพันธ์ที่ติดต่อกันจากระยะไกล โดยมีระบบสื่อสารและคมนาคมสมัยใหม่เข้ามาช่วย ทำให้ผู้คนสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ข้ามเวลาและพื้นที่

การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมประเภทแรกนั้น กำหนดครอบงำโดย "สิ่งที่เห็นมีอยู่" (present) หรือกิจกรรมในแต่ละที่แต่ละแห่ง แต่ด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความทันสมัย การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมประเภทที่สองกลับเพิ่มความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ความทันสมัยได้ทำให้ชีวิตทางสังคมของผู้คนในที่ต่างๆ เป็นอิสระจากข้อจำกัดของแต่ละท้องถิ่น แต่ละสถานที่ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง "พวกอื่นที่ไม่อยู่ไม่เห็น" ("absent" others) ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงแค่การติดต่อที่ต้องเจอหน้าค่าตากันแบบเดิมๆ อีก (นิติ ภวัครพันธุ์, 2550)

โลกาภิวัตน์เป็นกระบวนการที่เกี่ยวพันกับการจัดความสัมพันธ์เวลาและพื้นที่ใหม่ กิดเดนส์ ให้ความสำคัญกับเรื่องการขยายชีวิต หรือความสัมพันธ์สังคมข้ามเวลาและพื้นที่ หรือที่เรียกว่า "การจัดความสัมพันธ์ข้ามเวลาและพื้นที่" (time - space distanciation) เนื่องจากสังคมเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิม หรือวิถีชีวิตที่ยึดติดถิ่นที่และมีการติดต่อกันใกล้ชิด ไปสู่สังคมสมัยใหม่ ที่ผู้คนสามารถติดต่อสัมพันธ์ทางไกลกับคนอื่นๆ ข้ามเวลาและพื้นที่ ผ่านระบบคมนาคมและการสื่อสาร สังคมสมัยใหม่จึงแยกชีวิตสังคมออกจากขอบเขตจำกัดของสถานที่และช่วยผลักดันให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างคนที่ "อยู่" ในพื้นที่กับผู้คนที่ "ไม่อยู่" ในพื้นที่ พูดอีกอย่างก็คือ สังคมสมัยใหม่ "แยก" หรือ "ยก" ความสัมพันธ์สังคมออกจากบริบทท้องที่ หรือ ท้องถิ่นหนึ่งๆ แล้วนำไปจัดเป็นระบบความสัมพันธ์ใหม่ ข้ามมิติเวลาที่ยาวนานและพื้นที่กว้างขวางกว่าเดิม

นี่หมายถึงว่า ในเงื่อนไขชีวิตสังคมสมัยใหม่ สิ่งที่อยู่ในที่หนึ่งจะถูกรบกวนด้วยสิ่งที่ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน ชะตาชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในที่หนึ่งๆ ถูกกำหนด ไม่ใช่แค่จากสิ่งที่ปรากฏอยู่ให้เห็นและสัมผัสรับรู้ได้ใกล้ๆ แต่รวมถึงสิ่งที่อยู่ไกลหูไกลตาออกไปด้วย สถานที่และถิ่นที่ตั้งในสังคมใหม่ จึงเป็นที่ตั้งของความสัมพันธ์ทางไกลที่ขยายขอบเขตข้ามเวลาและพื้นที่ โลกาภิวัตน์จึงเป็นกระบวนการที่เร่งระบบความสัมพันธ์ข้ามเวลาและพื้นที่ให้ขยายกว้างและเข้มข้นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการยืดขยายความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกิจกรรม หรือการกระทำและเหตุการณ์ที่เกิดในท้องถิ่นและที่เกิดในถิ่นที่ห่างไกลออกไป

กิดเดนส์ จึงให้นิยามโลกาภิวัตน์ว่า "ความสัมพันธ์ทางสังคมทั่วโลกที่ใกล้ชิดและเข้มข้นมากขึ้น อันส่งผลให้ผู้คนและสถานที่ที่ห่างไกลกัน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จนกระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแห่งหนึ่งแห่งใด สามารถก่อให้เกิดผลหรือมีอิทธิพลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกที่หนึ่งห่างไกลออกไปและในทางกลับกัน" (วัฒนา สุกัณศีล, 2548 : 18 อ้างอิงจาก Anthony Giddens, 1990 : 64)

กิดเดนส์ อธิบายภาพรวมของกระแสโลกาภิวัตน์ ไว้ว่า "การติดต่อสัมพันธ์กันของคนทั่วโลกเป็นไปอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดการเชื่อมโยงท้องถิ่นต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลกันเข้าด้วยกัน (ในมิติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์) อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์อื่น ที่เกิดขึ้นอยู่ในที่อื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป แต่ในทางตรงกันข้าม สังคมแต่ละท้องถิ่นทั้งหลายก็ส่งผลกระทบต่อสังคมระดับโลกเช่นกัน" (พัฒนา กิติอาษา, 2456)

James N Rosenau: โลกาภิวัตน์
Resenau (หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเรื่อง World system structure : continuity and change)(1981) นักวิชาการอาวุโสแขนงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้ให้ความหมายแก่โลกาภิวัตน์ว่า โลกาภิวัตน์ คือ "การที่คน กิจกรรม บรรทัดฐาน ความคิด สินค้า บริการ เงินตรา ฯลฯ ลดบทบาทที่เคยอยู่ภายในความจำกัดของขอบเขตทางภูมิศาสตร์ หรือเคยมีวิธีปฏิบัติดั้งเดิมที่แตกต่างกัน ให้มาอยู่ร่วมกันในขอบเขตระดับโลก และมีวิธีปฏิบัติอย่างเดียวกัน"

R. Robertson: โลกาภิวัตน์
R. Robertson, Globalization: Social Theory and Global Culture (1992 อ้างใน Hoogvelt, 1997) ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงของทฤษฎีทางสังคมวิทยากับระบบของสังคม โดยอธิบายถึงระบบที่มีความเชื่อมโยงกัน 4 ประเภท ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันในการค้ำจุนระบบโลก คือ

- ระบบทางเศรษฐกิจ
- ระบบทางการเมือง
- ระบบทางสังคม และ
- ระบบทางวัฒนธรรม

การสร้างระบบสังคมในระดับโลกมีมานานแล้ว ในทางเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นมาก่อนระบบทุนนิยมด้วยซ้ำ Robertson ได้กล่าวยืนยันถึงอุปสรรคอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น จนทำให้กระบวนการโลกาภิวัตน์เกิดการชะงักงัน นั่นคือ อุปสรรคทางด้านวัฒนธรรมที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่ทำให้ไม่สามารถประสานเข้าเป็นระบบเดียวกันได้ โดยกระบวนการของโลกาภิวัตน์ส่งผลทำให้เกิดปัญหาและเกิดความวุ่นวายทางวัฒนธรรมซึ่งเกิดจากปัญหาการขัดขวางการพัฒนาที่เพิ่มมากขึ้น อันนำไปสู่ปัญหาใหญ่ 3 ประการ คือ

- ความบาดหมางกันในด้านศาสนา (ระหว่างอิสลามและคริสต์)
- ระบบของกฎหมายและระบบการปกครอง (ระหว่างประชาธิปไตยและลัทธิเผด็จการ) และ
- ทางด้านอุตสาหกรรม (ระหว่างวัฒนธรรมที่ไม่ต้องการสูญเสียรากเหง้าเดิมกับการพัฒนาระบบอุตสาหกรรม)

Robertson เห็นว่า โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม เริ่มเกิดขึ้นมาด้วยสาเหตุ 2 ประการที่นำเข้ามาพิจารณาความหมายของโลกาภิวัตน์นั่นคือ การบีบย่อโลกให้เล็กลงและการเกิดจิตสำนึกของการเป็นโลกใบเดียวกัน. จากประสบการณ์จริงที่การพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจของโลกในลักษณะที่การดำเนินชีวิตของคนเราในซีกหนึ่งของโลก อาจไปมีผลกระทบต่ออีกภูมิภาคหนึ่งของโลก การเปลี่ยนความนิยมในการบริโภคในยุโรปและอเมริกาอาจไปมีผลกระทบต่อการมีงานทำในเอเชียตะวันออก กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศหนึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านนิเวศวิทยากับประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงอาจส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง หรือการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา การแผ้วถางป่าในประเทศบราซิลอาจมีผลกระทบปฏิกิริยาเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก. ดังที่กล่าวมา คือ ความหมายของ "การบีบย่อโลก" ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่า ทัศนะเรื่องโลกาภิวัตน์จากแนวคิดของ Robertson เห็นว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นมานานแล้ว อาจจะก่อนระบบทุนนิยมและความเป็นสมัยใหม่ เพียงแต่ว่าเพิ่งจะถูกทำให้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อถูกแทรกลึกเข้าไปในระดับจิตสำนึก เมื่อประมาณทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง (ชูศักดิ์ วิทยาภัค, 2547)

อาจัน อัปพาดูไร: โลกาภิวัตน์
Arjun Appadurai เสนอว่า กระแสโลกาภิวัตน์ได้พัดพาให้คนต่างชาติพันธุ์ ต่างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ต่างสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ ข่าวสารข้อมูล เงินทุน แนวคิดและอุดมการณ์ข้ามพรมแดนรัฐชาติด้วยอัตราความเร็ว ปริมาณและทิศทางที่อำนาจรัฐไม่อาจจะควบคุมได้อีกต่อไป โลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดวัฒนธรรมมวลชนในระดับโลก การค้นหา ต่อสู้ และการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ในขณะเดียวกันโลกาภิวัตน์ก็เป็นกระแสที่ทำให้ประชากรโลกที่ต่างชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ผิวพรรณ และวัฒนธรรม ได้มีโอกาสติดต่อเชื่อมโยงถึงกันและกันมากขึ้น และได้แบ่งกระแสการไหลเวียนของวัฒนธรรมโลก (Global Cultural Flows) ออกเป็น 5 มิติด้วยกัน (วัฒนา สุกัณศีล, 2548 : 49 อ้างอิงจาก Arjun Appadurai, 1990) ได้แก่

1. Ethnoscapes เป็นกระแสความเคลื่อนไหวของผู้คน เช่น นักท่องเที่ยว กลุ่มคนย้ายถิ่น ผู้ลี้ภัย ผู้หนีภัยการเมือง แรงงานข้ามประเทศ เป็นต้น

2. Technoscapes หมายถึง การเคลื่อนย้ายและการไหลเลื่อนข้ามพรมแดนประเทศและขอบเขตอื่นๆ ของเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงและชั้นต่ำ เทคโนโลยีการผลิตและเทคโนโลยีการสื่อสาร

3. Finanscapes เป็นเรื่องของการไหลเวียนเงินจำนวนมหาศาลด้วยเวลาอันรวดเร็ว ผ่านตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลาดหุ้นในประเทศและตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า

4. Mediascapes เป็นมิติของการกระจายและขยายตัวของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการผลิต สร้างและแพร่ข่าวสาร สัญลักษณ์ต่างๆ ไปทั่วทุกมุมโลก

5. Ideoscapes เป็นการเคลื่อนย้าย การกระจายตัวและการไหลเวียนของความคิด ความเข้าใจและอุดมการณ์ความเชื่อต่างๆ ผ่านภาพและสัญลักษณ์หลากหลายที่แพร่กระจายโดยสื่อออกไปทั่วโลก

โลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดกระแสของการไหลเวียนวัฒนธรรม การไหลเวียนดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องไหลไปตามทิศทางหรือเส้นทางที่กำหนด หรือควบคุมโดยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่กระแสการไหลเวียนของวัฒนธรรมสามารถที่จะไหลไปได้หลายๆ ทิศทางพร้อมๆ กัน ดังเช่น การแพร่กระจายของแฟชั่น การแต่งกาย เพลง ซึ่งมีทั้งการไหลเข้ามาทั้งของตะวันตก และขณะเดียวกันก็ไหลบ่ามาจากตะวันออกด้วย การไหลบ่าเหล่านี้ไม่มีทิศทางที่แน่นอนแต่อย่างใด

ปรากฏการณ์การแพร่กระจายของสื่อกอรปกับระบบเครือข่ายที่ครอบคลุมไปทั่วโลกในยุคโลกาภิวัตน์ มีนัยยะสำคัญหลายประการ ดังที่ Lash และ Urry ได้กล่าวไว้ดังนี้ รูปลักษณ์และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยีสื่อสารข้ามโลกกลายเป็นสาระและองค์ประกอบสำคัญสำหรับรูปแบบองค์ประกอบต่างๆ ของวัฒนธรรมร่วมสมัยพัฒนาการของระบบสื่อสารโลก ช่วยแพร่กระจายสัญลักษณ์ต่างๆ ออกไปในวงกว้างและทำให้พื้นที่ความคิด ความหมาย ความเข้าใจ หรืออุดมการณ์ต่างๆ (ทั้งแบบตะวันตกและแบบอื่นๆ) ขยายครอบคลุมอาณาบริเวณและผู้คนกว้างขวางขึ้น ทั้งในแง่เวลาและพื้นที่ การกระจายและการขยายพื้นที่ของสัญลักษณ์และความหมายนี้ ก่อให้เกิดรูปแบบและลักษณะการปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ ขึ้นและที่สำคัญคือ ภาพลักษณ์ (Image) ต่างๆ ที่หลากหลาย ซับซ้อน และท่วมท้น (วัฒนา สุกัณศีล, 2548 : 48 อ้างอิงจาก Lash and Urry, 1994)

S.Castles and A.Davidson: โลกาภิวัตน์
ทั้งคู่กล่าวว่า โลกาภิวัตน์ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ (Castle และ Davidson, 2002 : 4-9)

1. การปรากฏขึ้นของระบบเศรษฐกิจโลก โดยมีกิจกรรมพื้นฐานจากการเคลื่อนย้ายและความร่วมมือทางการตลาดและทุนในระดับนานาชาติ ทั้งทางด้านสินค้าและบริการ

2. ความก้าวหน้าเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ได้นำมาสู่การปฏิวัติการระบบการสื่อสาร ภาคการผลิตและการค้า และการเผยแพร่คุณค่าทางวัฒนธรรมในระดับชาติเป็นได้โดยง่าย และสะดวกรวดเร็วขึ้น

3. เกิดการเคลื่อนย้ายเศรษฐกิจ การตลาด ทุน สินค้า แรงงงานข้ามรัฐชาติ หรือพรมแดน เกิดเขตเสรีทางการค้าต่างๆ

4. เกิดการพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันเหนือรัฐชาติ(supra-nation institutions) กฎหมายพื้นฐาน กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการเมือง เช่น การเกิด EU ศาลโลก และศาลยุติธรรมยุโรป และองค์การการค้าโลก (WTO)

5. การเติบโตของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานสากล

6. การเกิดข้อผูกมัดพื้นฐานของโลกอันว่าด้วยพื้นฐานของการรับรู้/การแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรม

๓. แนวคิดการบริโภคหลังสมัยใหม่
ฌอง โบร์ดริยาร์ด (Jean Baudrillard ) เห็นว่า ในเศรษฐศาสตร์แบบเดิมนั้น ไม่สามารถอธิบายเรื่องการบริโภคในสังคมปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ สังคมปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนเป็นสังคมแห่งการบริโภคไปเสียแล้ว ในสังคมแห่งการบริโภคนี้ ประโยชน์ใช้สอยถูกทำให้หมดบทบาทลงอย่างสิ้นเชิง ด้วยเรื่องของความแตกต่างและการบริโภคเชิงสัญญะ ซึ่งวัตถุจะถูกกำหนดในฐานะที่เป็นส่วนประกอบในการสร้างบรรยากาศของระบบคุณค่าในสังคมสมัยใหม่ ดังนั้นการอธิบายการบริโภคโดยเศรษฐศาสตร์แบบเดิม จึงไม่เพียงพอในปัจจุบัน แต่การบริโภคจะเป็นปรากฏการณ์ของมิติทางสังคมและวัฒนธรรม

โบดริยาร์ด มีความเห็นว่าทฤษฎีเกี่ยวกับวัตถุและการบริโภคในสังคมปัจจุบันไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าด้วยเรื่องของอรรถประโยชน์ (utility) หรือทฤษฎีแห่งความพึงพอใจ ( pleasure) โดยทั่วไป แต่น่าจะวางอยู่บนรากฐานของการสร้างคุณค่าและความหมายของวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นมาในสังคม ซึ่งตั้งอยู่บนตรรกะแห่งความแตกต่าง (difference) และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้มนุษย์ก้าวเข้าสู่การบริโภคเชิงสัญญะ (อธิคม โกมลวิทยาธร, 2548 : 16-29 )

การศึกษาวัฒนธรรมการบริโภคของโบดริยาร์ด จึงเน้นประเด็นหลักไปที่ "การบริโภค" เนื่องจาก "ความจริงเกี่ยวกับการบริโภคไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความรื่นรมย์ หากเป็นหน้าที่หนึ่งของการผลิต ดังนั้น มันจึงไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องของส่วนรวมโดยตรงทั้งหมด เช่นเดียวกับการผลิตเชิงวัตถุ" กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อสินค้าชนิดหนึ่งถูกผลิตขึ้นมา มันย่อมต้องมีคุณค่าทางการใช้สอย ฉะนั้นมันย่อมถูกผลิตซ้ำเพื่อตอบสนองทั้งความต้องการและความจำเป็นต้องใช้ของเรา ดังนั้นการบริโภค คือ ปัจจัยสำคัญที่อยู่ควบคู่กับการผลิตนั่นเอง

โบดริยาร์ด นิยามการบริโภคว่า เป็นการกระทำอันเป็นระบบของการจัดการกับสัญญะ ("a systematic act of the manipulation of signs") กล่าวคือ ในระบบบริโภคนิยม สินค้าหรือวัตถุไม่ได้หมายถึงแต่ตัวของมันเองอีกต่อไป หากแต่เป็นสัญญะสื่อไปถึงสถานภาพหรือวิถีชีวิตหนึ่ง นอกจากนั้นสินค้าและหน้าที่ในการเป็นสัญญะ ยังเชื่อมโยงกันในสายสัมพันธ์ที่ไร้ซึ่งเหตุผลหรือกฎเกณฑ์ แต่ถูกทำให้ดูเป็นเรื่องธรรมชาติที่ใครต่อใครก็เห็นพ้องต้องกัน (สุรเดช โชติอุดมพันธ์ 2550 : 168-169)

ในหนังสือ For a Critique of the Political Economy of the Sign (1981 อ้างใน เกษม เพ็ญพินันท์ 2550 : 39) โบดริยาร์ดได้จัดวางระนาบของคุณค่าทางการใช้สอยและคุณค่าทางการแลกเปลี่ยนใหม่ ด้วยการสอดแทรกระบบสัญญะเข้ามาในการวิเคราะห์การบริโภค ที่ความหมายทางสังคมที่ปรากฏอยู่ในสินค้า ได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่มาควบคุมการแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ โบดริยาร์ด จึงได้จัดวางระนาบความสัมพันธ์ออกเป็น 2 ชุด คือ

1. ระหว่างคุณค่าการแลกเปลี่ยนและคุณค่าการใช้สอย หรือสินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยนและประโยชน์ใช้สอยของมัน
2. ระหว่างรูปลักษณ์ทางสัญญะ และความหมายของสัญญะ

เขาได้จัดวางคู่ความสัมพันธ์เหล่านี้ใหม่ให้เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่เราบริโภค โดยพิจารณาจาก "หน้าที่ในเชิงช่วงชั้น ระหว่างรูปแบบที่ครอบงำอยู่และรูปแบบที่อ้างอิง (หรือสิ่งที่กล่าวถึง)" ดังนั้นคุณค่าทางการแลกเปลี่ยนกับรูปแบบทางสัญญะจึงเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะว่าสิ่งที่เรานำมาแลกเปลี่ยนไม่ใช่ความเป็นวัตถุ (materiality) หรือแรงงานที่ผลิตมันขึ้นมาแล้วให้มูลค่าแก่สินค้านั้นๆ หากขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ปรากฏให้เราได้เห็น ในขณะเดียวกันคุณค่าทางการใช้สอยกับความหมายทางสัญญะเทียบเคียงได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะมันบ่งบอกถึงสิ่งที่เราตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับ หรือความหมายที่กำกับสามัญสำนึกของเราว่า มันมีนัยทางสังคมวัฒนธรรมของสินค้า

โบดริยาร์ดแจงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันนี้ว่า จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจถึงระบบตรรกของสินค้า ที่มูลค่าของคุณค่าทางการแลกเปลี่ยนและคุณค่าทางการใช้สอยเป็นตัวบ่งชี้ว่าสินค้าเป็นสินค้าที่มีราคาเพียงใด ในขณะที่ระบบตรรกของสัญญะบ่งบอกรูปลักษณ์ทางสัญญะและความหมายทางสัญญะเป็นตัวบ่งชี้นัยต่างๆ ที่ทำให้เราบริโภคสินค้า

ตรรกแห่งการบริโภคของโบดริยาร์ด
โบดริยาร์ด (1981) กล่าวว่า มีตรรกวิทยาอยู่ 4 ชุดที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับตรรกแห่งการบริโภค (logic of consumption) อันได้แก่

1. ตรรกวิทยาเชิงหน้าที่ของการใช้ (A functional logic of use value) ซึ่งเป็นตรรกวิทยาในเชิงปฏิบัติของวัตถุหรือเป็นตรรกวิทยาเชิงอรรถประโยชน์ (utility) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การมองวัตถุในฐานะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ (tool/instrument)

2. ตรรกวิทยาเชิงเศรษฐศาสตร์ของค่าการแลกเปลี่ยน (An economic logic of exchange value) ซึ่งเป็นตรรกวิทยาเชิงเปรียบเทียบค่า (equivalence) หรือถ้าพูดในเชิงตลาด คือ การมองวัตถุในฐานะสินค้า (commodity)

3. ตรรกวิทยาค่าสัญญะ (A logic of sign value) ซึ่งเป็นตรรกวิทยาแห่งความแตกต่างหรือตรรกวิทยาของสถานะ (status) โดยวัตถุจะถูกมองในฐานะที่เป็นสัญญะ (sign) ที่บ่งบอกสถานภาพทางสังคม (standing) อัตลักษณ์ (identity) รูปแบบการใช้ชีวิต (style) เกียรติภูมิ (prestige) หรืออำนาจ (power) ของบุคคลหนึ่ง

4. ตรรกวิทยาการแลกเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ (A logic of symbolic exchange) ซึ่งเป็นตรรกวิทยาหลายความหมาย (ambivalence) โดยวัตถุจะอยู่ในฐานะที่เป็นของขวัญ (gift) หรือเป็นสัญลักษณ์ แทนความสัมพันธ์

นอกจากนี้โบดริยาร์ด ยังเสนอว่า วัฒนธรรมของโลกยุคหลังสมัยใหม่มีเนื้อหาหลักอยู่ที่ (พัฒนา กิติอาษา, 2546 : 128-129)

1. เศรษฐกิจที่เน้นเรื่องการผลิตกับวัฒนธรรมที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงแบบแผนหรือวิถีชีวิตกลายเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เศรษฐกิจกับวัฒนธรรมไม่มีเส้นแบ่งแยกกันอีกต่อไป วัฒนธรรมสมัยใหม่กลายมาเป็นวัฒนธรรมของสัญญะ (Culture of Sign) ที่สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้า ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในท้องตลาด เศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดและมีความยั่งยืนมากที่สุดมีฐานมาจากวัฒนธรรมแทบทั้งสิ้น เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องสำอางเสริมความงาม

2. เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ กล่าวคือ สินค้าที่มีมูลค่าที่สุดในตลาดโลกไม่ใช่สินค้าและบริการในความหมายดั้งเดิม หากแต่เป็นข่าวสารข้อมูล โดยเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าและบริการที่มีฐานอยู่ที่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นการผลิตความรู้และข่าวสารข้อมูล

3. ลักษณะที่โดดเด่นของวัฒนธรรมโลกยุคหลังทันสมัยอย่างหนึ่ง คือ การสร้างความจริงที่เหนือจริง (hyperreality) โดยผ่านกระบวนการผลิตซ้ำแบบจำลองหรือปลอมแปลงเลียนแบบ (simulation) โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าซับซ้อนเข้าช่วย ความจริงไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ตาย แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และถูกสร้างขึ้นได้หลายรูปแบบ ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ความจริงที่เหนือความจริงที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ได้แก่ การติดต่อสื่อสารผ่านโทรทัศน์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ภาพยนตร์ การจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ การโฆษณาผ่านสื่อมวลชนต่างๆ การเดินทางท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งการจัดสวนสนุกกลางแจ้ง เช่น ดิสนีย์แลนด์

ในความคิดของโบดริยาร์ด ความเสมือนจริง (simulation) คือ ความเป็นจริงที่เราสัมผัสกันอยู่นั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นอย่างที่เป็นจริงได้ เมื่อการรับรู้ของเราต่อความเป็นจริงไม่ได้เกิดขึ้นจากการเข้าถึงเนื้อแท้หรือเนื้อในของความเป็นจริงนั้นๆ แต่การรับรู้ของเราเกิดขึ้นจากความเสมือนจริง ที่ความเป็นจริงได้กลายเป็นองค์ประกอบของการทำให้สมจริง นี่ไม่ได้หมายความว่า ความเสมือนจริงคือภาพลวงตา แต่เป็นความจริงที่ยิ่งกว่าจริง

ในบทสัมภาษณ์ของโบดริยาร์ด เขาได้แจกแจงนัยยะของความเสมือนจริงคือการทำให้เป็นจริง ในขณะที่เรารับรู้มันอย่างที่เป็นจริง "การทำให้มองเห็นโลกอย่างที่เป็นจริงผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ ความเสมือนจริง - กระบวนการทำให้เห็นโลกอย่างที่เป็นจริงนี้ หมายถึง การไล่ตะเพิดพื้นที่ของภาพลวงตาให้สูญหายไป"

สำหรับโบดริยาร์ดแล้ว ความเสมือนจริงไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนความจริง ปกปิดความจริง หรือแม้กระทั่งกลายเป็นความจริงแทน แต่ความเสมือนจริงคือสิ่งที่เป็นจริงอย่างที่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ดังเช่นที่โบดริยาร์ด ยกตัวอย่างว่า ความสำเร็จของดิสนีย์แลนด์ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างจินตนาการและความคิดฝันในโลกแบบเด็กๆ ให้กับผู้เข้าเที่ยวชม โดยการปกปิดหรือหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอความจริงที่ว่า โลกของผู้ใหญ่และชีวิตจริงนั้นอยู่แยกต่างหากออกไป ในห้วงเวลานี้ ผู้ที่เข้าเที่ยวชมสวนสนุกกำลังอยู่ในดินแดนเนรมิต ดินแดนในนิทานหรือจินตนาการเท่านั้น จงทำตัวให้สนุกสนานแบบเด็กๆ ให้ถึงที่สุด (เกษม เพ็ญพินันท์, 2550 : 79-79)

การสร้างภาพเสมือนจริง 4 ขั้นตอน
ภาพเสมือนจริงเกิดขึ้นได้ในกระบวนการที่มีขั้นตอน 4 ขั้นตอน ดังนี้ (สุภางค์ จันทวานิช, 2551 : 299)

ขั้นที่หนึ่ง รูปจำลอง (image หรือ simulation) เป็นภาพสะท้อนของความจริง ในขั้นนี้ยังมีการปรากฏตัวของความจริง
หรือต้นแบบของรูปจำลองอย่างชัดเจน

ขั้นที่สอง รูปจำลองปิดบังและเปลี่ยนแปลงลักษณะของความจริง ในขั้นนี้ความจริงยังปรากฏตัวอยู่อย่างเลือนราง

ขั้นที่สาม
รูปจำลองปิดบัง การหายไป (absence) หรือการไม่มีอยู่ของความจริง รูปจำลองทำเสมือนตัวมันเองคือความจริง

ขั้นที่สี่ รูปจำลองกลายเป็นภาพเสมือนจริงโดยสิ้นเชิง ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับความเป็นจริง ไม่มีการปรากฏตัวใดๆ ของต้นแบบ
มีแต่แบบจำลองที่ไม่มีต้นแบบเท่านั้น

โบดริยาร์ดเชื่อว่า การสร้างความเสมือนจริงเป็นหัวใจของความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่อาศัยอำนาจของเทคโนโลยีการสื่อสารในการสร้างจินตนาการ กระตุ้นความอยาก และเร้าความอยากรู้อยากเห็นของคนจำนวนมาก ความจริงแบบนี้อยู่เหนือความจริง และจะอยู่เหนือจริงได้ก็เพราะความสามารถในการปกปิดสิ่งที่เป็นจริงไว้อย่างมิดชิด แล้วปล่อยให้ผู้คนใช้จินตนาการและความคิดฝันของตัวเองไปขยายต่อ เพื่อสนองความอยากของตนเอง

๔. แนวคิดทุนทางวัฒนธรรม
ปิแอร์ บูร์ดิเยอร์ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้ใช้เครื่องมือที่สำคัญ 5 ประการในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจสังคม ซึ่งได้แก่

- ประการที่หนึ่ง "อาณาบริเวณหรือปริมณฑล" (field)
- ประการที่สอง "ทุน" (capital)
- ประการที่สาม "ปัจเจกผู้กระทำการ" (agents)
- ประการที่สี่ "ฮาบิตุส" (habitus)
- ประการที่ห้า "ปฏิบัติการ" (practices)

ประการที่หนึ่ง "อาณาบริเวณหรือปริมณฑล" (field)
เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่าง"บุคคล/ปัจเจก"กับ"สถาบัน" มโนทัศน์เรื่องอาณาบริเวณนี้ มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นการอำนวยพื้นที่ให้เกิดปฏิบัติการภายใต้ตรรกชุดหนึ่งของมัน อาณาบริเวณนี้เป็นเขตแดนของการต่อสู้ เป็นปริมณฑลของการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร หรือแม้กระทั่งเป็นแหล่งของการต่อสู้เพื่อการยึดพื้นที่ ขยายขอบเขตอำนาจเหนือพื้นที่นั้นด้วย. บูร์ดิเยอร์ใช้คำอุปมาในการอธิบายอาณาบริเวณว่า เป็น"สนามของการเล่นเกม" ("field"as the playing field) การแข่งขันกันนั้นไม่เพียงเอาชนะคู่ตรงข้ามเท่านั้น แต่เพื่อจะครองกฎหรือออกกฎในการควบคุมแข่งขัน ควบคุมผู้เล่นครองเกมการแข่งขันและการขยายพื้นที่ของการแข่งขันออกไป

ประการที่สอง "ทุน" (capital)
คือ แรงงานที่ถูกสะสมในรูปแบบที่กลายเป็นวัตถุ เป็นส่วนหนึ่งของปัจเจกหรือกลุ่มของปัจเจก ทำให้เขาสามารถเข้าครอบครองพลังทางสังคมในรูปของแรงงานที่เปลี่ยนสภาพจากนามธรรมเป็นรูปธรรม (reified labour) หรือแรงงานแท้ๆ ได้ ทุนถือเป็นมรดกที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีลักษณะทั้งสัมผัสได้และสัมผัสไม่ได้ เป็นปัจจัยในการกำหนดตำแหน่งทางสังคมของบุคคล

เมื่อ "ทุน" มีขอบเขตที่กว้างขวางมาก บูร์ดิเยอร์จึงแบ่งทุนออกเป็น 4 แบบ คือ ทุนทางเศรษฐกิจ, ทุนทางวัฒนธรรม, ทุนทางสังคม, และทุนทางสัญลักษณ์

(1). ทุนทางเศรษฐกิจ (economic capital) ประกอบด้วยทุนตามความหมายของมาร์กซ์ รวมถึงการครอบครองทางเศรษฐกิจที่ช่วยเพิ่มความสามารถของผู้กระทำในสังคม ขณะเดียวกันก็สามารถเปลี่ยนรูปไปเป็น "เงิน" ได้อย่างตรงไปตรงมาและทันทีทันใด และอาจถูกทำให้เป็นสถาบันในรูปของสิทธิในทรัพย์สิน

(2). ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) มี 3 รูปแบบ คือ

1) ทุนที่เป็นฮาบิตุส ได้แก่ การแสดงออกของร่างกายและจิตใจ มักปรากฏในชีวิตทางวัฒนธรรม และต้องใช้ระยะเวลาในการก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ทุนแบบนี้สามารถเปลี่ยนความ มั่งคั่งภายนอกให้กลายเป็นทุนที่อยู่ในตัวคนได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนได้อย่างทันทีทันใด หากต้องขึ้นอยู่กับเวลา สังคม และชนชั้นทางสังคม

ทุนที่เป็นฮาบิตุสนี้ เป็นการส่งผ่านทางพันธุกรรมในครอบครัวและเป็นมรดกที่คนมักไม่ได้นึกถึง เช่น ความสวย ผิวพรรณ สีผม ดวงตา ฯลฯ ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของทุนทางวัฒนธรรมอื่นๆ การส่งผ่านทุนฮาบิตุสอาศัยเวลา และสามารถเชื่อมโยงไปยังทุนทางเศรษฐกิจได้ ฮาบิตุสอาจลดลงหรือหายไปได้ด้วย

2) ทุนที่ถูกทำให้เป็นรูปธรรม (objectified state) ทุนวัฒนธรรมแบบนี้มีคุณสมบัติมากมาย เป็นคุณสมบัติที่มีความสัมพันธ์กับทุนทางวัฒนธรรมในแบบอื่นๆ แสดงออกเชิงวัตถุในรูปของสื่อหรือสิ่งของ อาทิ รูปภาพ งานเขียน หนังสือ พจนานุกรม อนุสาวรีย์ เครื่องมือ เครื่องจักร ฯลฯ ความเป็นทุนทางวัฒนธรรมดังกล่าวสามารถส่งผ่านความเป็นวัตถุได้ เช่น ด้วยการสะสมภาพวาด การสะสมทุนสามารถถูกส่งผ่านได้เหมือนกับทุนทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่จะสามารถส่งผ่านได้ คือ ความเป็นเจ้าของภาพ ซึ่งคือ ความเป็นเจ้าของในวิถีการบริโภคภาพเขียน ฉะนั้นสินค้าในเชิงวัฒนธรรมจึงเป็นได้ทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุและสัญลักษณ์ คนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตจึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการสะสมรวบรวมทุน

3) ทุนที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน (institutionalization state) คือ ทุนที่ถูกทำให้เป็นวัตถุหรือรูปธรรมที่ชัดเจน เป็นการอ้างอิงถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของทุนทางวัฒนธรรมในลักษณะการรับประกัน โดยแสดงออกในรูปของประกาศนียบัตร หนังสือรับรอง และการสอบวัดคุณสมบัติ ทุนทางวัฒนธรรมจึงสามารถเปลี่ยนรูปได้ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ คืออาจเปลี่ยนรูปเป็นทุนทางเศรษฐกิจ เช่น เงินเดือน หรือเปลี่ยนรูปกลายเป็นสถาบันในรูปของคุณสมบัติทางการศึกษา

ทุนแบบนี้ได้สร้างความแตกต่างระหว่าง ความรู้ที่เป็นทางการที่ได้รับการรับรองความสามารถ กับทุนทางวัฒนธรรมแบบธรรมดา ทุนนี้ยังทำให้เกิดการสับเปลี่ยนระหว่างทุนทางวัฒนธรรมกับทุนทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย โดย "การรับประกันทุนทางการศึกษา" ด้วย "มูลค่าของเงิน" เพราะผลผลิตของการแลกเปลี่ยนทุนทางเศรษฐกิจไปเป็นทุนทางวัฒนธรรมได้สร้างมูลค่าในรูปของทุนทางวัฒนธรรมให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติทางการศึกษา ผลกำไรในรูปวัตถุและสัญลักษณ์ที่คุณสมบัติทางการศึกษารับรอง ขึ้นกับ ความหายาก การลงทุนในแง่เวลา และความพยายาม

(3). ทุนทางสังคม (social capital) ประกอบด้วยทุน 2 แบบ ดังนี้

1) ทรัพยากรที่มีความสัมพันธ์กับสมาชิกของกลุ่ม (relationship) เป็นความสัมพันธ์ของกลุ่มและเครือข่ายของสังคม ทุนทางสังคมขึ้นอยู่กับขนาดของเครือข่าย และการติดต่อสัมพันธ์ที่บุคคลจะสามารถระดมมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คุณภาพของทุนทางสังคมในส่วนนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากผลรวมของการมีความสัมพันธ์กันระหว่างบุคคล มากกว่าจะเป็นเพียงแค่คุณภาพของกลุ่มเท่านั้น

2) การรับรู้และการยอมรับ (cognition and recognition) การได้มาซึ่งการรู้และการยอมรับ เป็นเรื่องของคุณลักษณะเชิงสัญลักษณ์ และสามารถเปลี่ยนรูปไปเป็นทุนทางสัญลักษณ์ได้ (symbolic capital)

สำหรับบูร์ดิเยอร์ "ทุนทางสังคม" ถูกสร้างโดยอำนาจทางสังคม และขึ้นอยู่กับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอของความไม่เท่าเทียมกันรวมถึงความใกล้ชิดในสังคม "การคงอยู่ของเครือข่ายความสัมพันธ์" มิได้เป็นไปโดยธรรมชาติหรือได้มาโดยสังคมสร้าง หากเป็นผลผลิตของความพยายามที่ไม่สิ้นสุดของสถาบันทางสังคม

(4). ทุนทางสัญลักษณ์ (symbolic capital)
ทุนแบบนี้เกิดขึ้นเกือบทุกที่ที่บุคคลรับรู้และยอมรับว่ามีอยู่ อาทิ ศักดิ์ศรี สถานภาพ อำนาจ ทุนทางสัญลักษณ์อาจมาจากการที่ปัจเจกมีทุนทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน และเมื่อมีทุนทางสัญลักษณ์ก็สามารถเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งทุนทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน แต่การเปลี่ยนรูปอีกครั้งหนึ่งของทุนทางเศรษฐกิจไปเป็นทุนทางสัญลักษณ์ จะไม่สามารถสำเร็จได้หากปราศจากการสมรู้ร่วมคิด (complicity) ของทุกกลุ่ม แรงขับในการให้ได้มาและต่อสู้เพื่อรักษาทุนทางสัญลักษณ์ มาจากการแสดงออกมา (disposition) ที่ถูกสร้างขึ้นจากฮาบิตุส เป็นกระบวนการสืบทอดมาตั้งแต่เกิด และค่อยๆ ถูกทำให้เพิ่มขึ้นโดยครอบครัวและโรงเรียน

ทั้งนี้ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม และทุนทางสัญลักษณ์ เป็นทุนที่อยู่ในตัวบุคคลและไม่สามารถลดทอนลงให้เท่ากับทุนทางเศรษฐกิจ แต่ทุนทุกชนิดสามารถมาได้จาก "ทุนทางเศรษฐกิจ" การเปลี่ยนรูปของทุนไม่ได้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ แต่จะต้องใช้ความพยายามและจะแสดงให้เห็นผลในระยะยาว (สุภางค์ จันทวานิช, 2551 : 242-246)

ประการที่สาม "ปัจเจกผู้กระทำการ" (agents)
ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติการอยู่ในอาณาบริเวณ คนที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันก็อาจจะมีความคิดคล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว หรืออาจมีกลุ่มทุนที่คล้ายคลึงกันได้

ประการที่สี่ "ฮาบิตุส" (habitus)
หมายถึง กิริยาท่าทาง ความคิด มารยาทของบุคคลที่ได้มา และสั่งสมอยู่ในตัวโดยไม่รู้ตัวว่ามันดำรงอยู่ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของความคิดความอ่านในชีวิตประจำวัน อยู่ในจิตไร้สำนึก ทำให้เราทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องคิด

บูร์ดิเยอร์ ได้ให้คำอธิบายฮาบิตุสไว้ต่างๆ กันดังนี้

1) เป็นระบบแบบแผนเพื่อสร้างการกระทำบางอย่างโดยเฉพาะ ได้มาจากการรับมรดกทุนทางวัฒนธรรมผ่านสิ่งแวดล้อมในครอบครัว ผู้ที่ได้รับมรดกทุนทางวัฒนธรรมจะมีความรู้ ความเข้าใจ และรสนิยมที่ถูกหล่อหลอมโดยไม่รู้ตัว เพราะไม่มีการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ

2) การแสดงออกของคุณสมบัติต่างๆ ในพื้นที่ทางสังคม

3) การแสดงออกของการลงทุน (โดยไม่รู้ตัว) ของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องอำนาจ

4) เป็นกฎของการกระทำที่ระบุชั้นทางสังคมของผู้กระทำในสนามทางสังคม (social field) ระหว่างชนชั้นที่เป็นผู้ครอบงำกับชนชั้นที่ถูกครอบงำ

5) เป็นหลักการที่กระตุ้นให้บุคคลมีการกระทำที่เด่นชัดและโดดเด่นไม่เหมือนคนอื่น บูร์ดิเยอร์ยกตัวอย่าง เช่น สิ่งที่คนงานกินและมารยาทในการกินอาหารของเขา กีฬาของคนงานและวิธีเล่น ความคิดเห็นทางการเมือง และวิธีแสดงความคิดเห็นเหล่านั้น วิธีจำแนกหรือจัดประเภทสิ่งต่างๆ การรับรู้และการแจกแจงตลอดจนรสนิยม

ฮาบิตุสเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความโดดเด่นของชนชั้นนำ โดยที่ฮาบิตุสทำให้ชนชั้นนำมีลักษณะนิสัยที่ต่างไปจากคนโดยทั่วๆ ไป และแสดงออกผ่านสิ่งที่เรียกว่า "รสนิยม" รสนิยมไม่ใช่เรื่องที่ขึ้นอยู่กับรายได้ แต่เป็นเรื่องของการสั่งสมที่ตกทอดมาเป็นมรดกของครอบครัวและวงศ์ตระกูล. นอกจากนี้ฮาบิตุสยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับแบบแผนการใช้ชีวิตอย่างมาก เพราะ ฮาบิตุสเป็นตัวกำหนดแบบแผนการใช้ชีวิตของบุคคล และแบบแผนการใช้ชีวิตนั้นบางครั้งก็ไม่ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ ดังจะพบว่า ผู้ที่มีทุนทางเศรษฐกิจสูงอาจมีทุนทางวัฒนธรรมต่ำ และมีฮาบิตุสที่คล้ายคลึงกับชนชั้นแรงงานทั้งๆ ที่มีฐานะดี

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่เรียกว่า กระฎุมพี (bourgeoisie) คือ กลุ่มคนรวยใหม่ กลุ่มคนรวยใหม่เป็นกลุ่มที่ต้องการทำตัวให้เหมือนคนที่มีรสนิยมและวัฒนธรรมสูง แต่เนื่องจากขาดทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นมรดกมาแต่ดั้งเดิม การแสดงออกของคนกลุ่มนี้จึงเป็นการแสดงออกเพื่อเลียนแบบแต่ไม่เหมือน (สุภางค์ จันทวานิช, 2551 : 246-250)

ประการที่ห้า "ปฏิบัติการ" (practices)
ซึ่งเป็นการกระทำ เป็นสิ่งที่เราเลือกทำหรือเป็นสิ่งที่เราทำได้ ซึ่งได้รับอิทธิพล แรงผลักดันภายในอาณาบริเวณหนึ่ง ภายใต้ระบบฮาบิตุสชุดหนึ่งของเรา ดังกรณีการเล่นเกมที่บูร์ดิเยอร์ยกตัวอย่าง ผู้เล่นจะมีทิศทางและความเข้าใจกฎของเกมอยู่ชุดหนึ่ง รวมกับความสามารถของเขาที่มีอยู่ในการเล่นเกม ในวินาทีของการเล่น ผู้เล่นจะคาดการณ์หรือตอบสนองโดยอัตโนมัติตามสมรรถภาพของฮาบิตุสของเขา ดังนั้นเราสามารถเข้าใจปฏิบัติการได้อย่างถ่องแท้ก็เฉพาะในอาณาบริเวณหนึ่ง และจะพบห็นความหลากหลายตามฮาบิตุสของเขาแต่ละคน หากคนหนึ่งต้องการที่จะเล่นอยู่ในอาณาบริเวณหนึ่งโดยไม่มีระบบฮาบิตุสเป็นตัวนำทาง ก็จะไม่สามารถมีส่วนร่วมในเกมได้อย่างสมบูรณ์

บูร์ดิเยอร์มักจะเปรียบเทียบปฏิบัติการทางสังคมว่า เหมือนดังการเล่นเกมชนิดหนึ่ง สนามแข่งขันจึงเป็นพื้นที่/ปริมณฑลที่ปัจเจกแต่ละคนเข้ามาแข่งขันต่อสู้ เพื่อจะได้ทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งต่างต้องรู้ถึงวิธีเล่น (The feel for the games) เพื่อการหลบหลีกหรือครองเกมการแข่งขันเพื่อความเป็นต่อเสมอ ดังนั้นปัจเจกแต่ละคนเข้ามาในสนามการแข่งขันโดยมีเป้าหมายของการแข่งซึ่งที่จริงถูกกำหนดโดยสังคมอยู่แล้ว

ในส่วนของการศึกษาทางมิติวัฒนธรรม บูร์ดิเยอร์ มองว่าวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานของการสื่อสาร ทำหน้าที่เป็นสื่อที่สร้างความเข้าใจสารที่มนุษย์ต้องการสื่อให้แก่กัน เป็นระบบของความเข้าใจร่วมกันเพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ อีกทั้งยังเป็นตัวถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด มโนทัศน์เกี่ยวกับโลก เพื่อที่จะสามารถมีหลักปฏิบัติต่อโลกได้อย่างถูกต้อง วัฒนธรรมจึงเป็นการนำพาวิถีชีวิตแบบหนึ่งของคนรุ่นหนึ่งส่งผ่านสืบสานให้กับผู้คนอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติหรือเป็นช่องทางในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ และสร้างพื้นฐานของการดำรงชีวิตในอนาคตต่อไป

แต่วัฒนธรรมมิได้ทำหน้าที่เพียงเพื่อการสื่อสารอย่างเดียวเท่านั้น วัฒนธรรมยังทำหน้าที่ครอบงำผ่านระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ ภาษา พิธีกรรม ศาสนา หรือภูมิปัญญา ล้วนมีมิติของการครอบงำและจำแนกความแตกต่างของคนทั้งสิ้น คือ ทำหน้าที่จัดหมวด แยกแยะ ลำดับความแตกต่าง ชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมให้อยู่ในลำดับขั้นของฐานานุกรมทางสังคม (Social Hierarchy) ตามตำแหน่งแห่งที่ที่แตกต่างกันไป (Bourdieu, 1993) ดังนั้นการทำความเข้าใจวัฒนธรรม หรือกระบวนการผลิตทางวัฒนธรรม (Cultural Production) นั้น จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับอำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ในแต่ละพื้นที่ทางสังคมเสมอ

บูร์ดิเยอร์จึงได้พัฒนาแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยปฏิบัติการของอำนาจเชิงสัญลักษณ์ (Political Economy of Symbolic Power) ที่มีมโนทัศน์หลักว่าด้วยผลประโยชน์เชิงสัญลักษณ์ แนวคิดว่าด้วยทุนประเภทต่างๆ และทฤษฎีว่าด้วยความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ เพื่ออธิบายว่า มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อเป็นการสะสมผลประโยชน์เชิงสัญลักษณ์ เขาเห็นว่า วัฒนธรรมก็เป็นทุนอย่างหนึ่ง สามารถสะสมงอกเงย แลกเปลี่ยน และกระจายได้ ตามหลักตรรกของทุนทางเศรษฐกิจ

เมื่อวัฒนธรรมมีศักยภาพเป็นทุนที่สามารถนำมาลงทุนในปริมณฑลของเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยปฏิบัติการของอำนาจเชิงสัญลักษณ์ได้ จึงจำเป็นต้องมีปฏิบัติการเชิงอำนาจ (Exercise of power) เพื่อจะครองความชอบธรรมในการมีอำนาจโดยปราศจากข้อกังขาและปราศจากการตั้งคำถามใดๆ การสะสมทุนทางวัฒนธรรมนั้นผ่านการลงทุนแรงงานและเวลา ความหมายของแรงงานไม่เพียงแต่เป็นการออกแรงทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงการลงแรงทางด้านสังคม การเมือง ศาสนา และการคุ้นเคย ซึ่งเป็นการสะสมทุนในรูปแบบต่างๆ เอาไว้ และสามารถเรียกใช้ปรับเปลี่ยนในยามที่ต้องการ

บูร์ดิเยอร์ไม่เพียงแบ่งทุนออกเป็นประเภทต่างๆ และชี้ให้เห็นถึงรูปแบบของทุนแต่ละประเภทเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่า ทุนประเภทต่างๆ นั้นสามารถสลับสับเปลี่ยนและแปลงตนจากทุนประเภทหนึ่งไปสู่ทุนอีกประเภทหนึ่งได้ และรูปแบบของการแปลงทุนจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสังคมวัฒนธรรม

โดยปกติแล้ว เราสามารถแปลงทุนทางเศรษฐกิจไปเป็นทุนทางสังคมและทุนวัฒนธรรมได้ง่ายกว่าการแปลงทุนทางวัฒนธรรมหรือทุนทางสังคมไปเป็นทุนทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเราอาจจัดหาหรือได้มาซึ่งสินค้าและบริการบางอย่างโดยการใช้ทุนทางเศรษฐกิจ ในขณะที่สินค้าและบริการบางอย่าง อาจแลกมาได้ด้วยการใช้ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมเท่านั้น. นักการเมืองบางคนอาจใช้ทุนทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานสำคัญของการหาเสียง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้ทุนทางสังคมในรูปของเครือข่ายหัวคะแนน และทุนทางวัฒนธรรมในแง่ของการเป็นคนท้องถิ่น เพื่อเป็นทุนในการต่อสู้ทางการเมืองให้ได้รับการเลือกตั้ง เป็นต้น

แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของทุน ช่วยทำให้เราตระหนักถึงมิติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แฝงอยู่ในทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพของการที่ทุนวัฒนธรรมจะปรับเปลี่ยนหรือแปลงเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ บูร์ดิเยอร์เสนอว่า ในสังคมอุตสาหกรรมนั้น รูปแบบหลักของอำนาจและการครอบงำได้ปรับเปลี่ยนจากการใช้กำลังบังคับและการใช้ความรุนแรง ไปสู่การใช้สัญลักษณ์เป็นยุทธวิธีในการหลอกล่อและครองงำประชาชนกลุ่มต่างๆ ด้วยเหตุนี้ บูร์ดิเยอร์จึงสนใจบทบาทของกระบวนการทางวัฒนธรรม ตลอดจนผู้ผลิตวัฒนธรรม (cultural producers) เช่น ผู้นำ ครู นักเขียน นักวิชาการ ฯลฯ และสถาบันต่างๆ ในกระบวนการครอบงำเชิงสัญลักษณ์และการสถาปนาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหลื่อมล้ำในสังคม

ตามทัศนะของบูร์ดิเยอร์ อำนาจเชิงสัญลักษณ์มีความสำคัญแทบจะเท่าเทียมกับอำนาจทางเศรษฐกิจเลยทีเดียว อำนาจเชิงสัญลักษณ์เป็นอำนาจในการครอบงำผ่านการสร้างความชอบธรรม (legitimacy) หรือที่มาร์กเรียกว่าอุดมการณ์ (ideology) เขานิยาม"อุดมการณ์"หรือที่เขาเรียกว่าความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ (symbolic violence) ว่า เป็นศักยภาพในการสร้างและยัดเยียดรูปแบบและวิธีการทำความเข้าใจและปรับตัวเข้ากับสังคม ด้วยการนำเสนออำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบที่กลบเกลื่อนหรือปิดปังซ่อนเร้นอำนาจที่แท้จริงเอาไว้

การใช้อำนาจจำเป็นต้องมีความชอบธรรมบางอย่างที่สร้างให้เกิด "ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน" หรือสำนึกที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้อำนาจนั้น บูร์ดิเยอร์มองว่า สำนึกที่ผิดพลาดเกิดจากการ "แสร้ง" ปฏิเสธผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่แฝงอยู่ในกิจกรรมทุกประเภท นั่นคือ ตรรกของผลประโยชน์ที่เป็นพื้นฐานของกิจกรรมทุกอย่าง ถูกทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปว่าเป็นเรื่องของการไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง. ปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์หลอกล่อหรือบิดเบือนความสนใจไปจากผลประโยชน์ที่อยู่ในกิจกรรมเหล่านั้น และทำให้ดูราวกับว่ากิจกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นและดำเนินไปโดยไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง. กิจกรรมหรือการกระทำบางอย่างอาจสร้างให้เกิดอำนาจเชิงสัญลักษณ์หรือความชอบธรรมขึ้นมาได้ เมื่อกิจกรรมนั้นถูกนำเสนอในลักษณะที่แยกต่างหากจากผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลัง และทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงเลยแม้แต่น้อย

ปัจเจกบุคคลและกลุ่มที่สามารถกลบเกลื่อน และปรับเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตนไปสู่การนำเสนอว่าไม่มีผลประโยชน์อะไรเกี่ยวข้องในกิจกรรมบางอย่าง สามารถสะสมหรือเพิ่มพูนทุนสัญลักษณ์ของตนได้ "ทุนสัญลักษณ์"จึงหมายถึง"ทุนในเชิงนิเสธ" (denied capital) นั่นคือ ผลประโยชน์ถูกกลบเกลื่อนภายใต้การกระทำที่ดูเผินๆ แล้วไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง. ความสำคัญของทุนสัญลักษณ์เกิดจากการปฏิเสธทุนทางเศรษฐกิจ ทุนสัญลักษณ์เป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจซึ่งคนทั่วไปมักไม่มองว่าเป็นอำนาจ หากแต่เป็นการยอมรับ เป็นความจงรักภักดีและความซื่อตรงมั่นคง ในความสัมพันธ์ทางสังคมชุดใดชุดหนึ่ง

บูร์ดิเยอร์ยกตัวอย่างการแลกเปลี่ยนของขวัญของกำนัลในสังคมชาวนาคาบิเลีย ซึ่งแบบแผนของการแลกเปลี่ยนกลบเกลื่อนหรือทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายแท้จริงของการแลกเปลี่ยน ในทำนองเดียวกัน ปฏิบัติการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการไปงานแต่งงาน ไปช่วยงานศพ ล้วนแล้วแต่ถูกนำเสนอว่าเป็นการแสดง "น้ำใจ" แก่คนคุ้นเคย ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวคือการเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจ ในรูปของเงินและสิ่งของช่วยเหลือต่างๆ ให้กลายเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ นั่นคือ การสร้างภาพของคนดีมีน้ำใจ ซึ่งอาจเปลี่ยนไปเป็นความชอบธรรมที่จะได้รับเลือกตั้ง ในทำนองเดียวกับ การแจกผ้าห่มของบริษัทเบียร์ยี่ห้อดัง หรือการเป็นเจ้าภาพถ่ายทอดฟุตบอล ก็คือความพยายามที่จะสะสมทุนเชิงสัญลักษณ์ โดยการปรับเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจไปสู่การจัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสร้างภาพลักษณ์และการยอมรับจากสาธารณชน (ยศ สันตสมบัติ, 2546 : 99-101)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ : Release date 19 February 2009 : Copyleft MNU.

สำนึกที่ผิดพลาด บูร์ดิเยอร์มองว่า คือสำนึกที่"แสร้ง" ปฏิเสธผลประ โยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่แฝงอยู่ในกิจกรรม ปัจเจกบุคคลและกลุ่มที่สามารถกลบเกลื่อน และปรับเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตนไปสู่การนำเสนอว่าไม่มีผลประโยชน์อะไรเกี่ยวข้องในกิจกรรมบางอย่าง สามารถสะสมหรือเพิ่มพูนทุนสัญลักษณ์ของตนได้ "ทุนสัญลักษณ์" จึงหมายถึง"ทุนในเชิงนิเสธ" (denied capital) นั่นคือ ผลประ โยชน์ถูกกลบเกลื่อนภายใต้การกระทำที่ดูเผินๆ แล้วไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง. ความสำคัญของทุนสัญลักษณ์เกิดจากการปฏิเสธทุนทางเศรษฐกิจ ทุนสัญลักษณ์เป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจซึ่งคนทั่วไปมักไม่มองว่าเป็นอำนาจ หากแต่เป็นการยอมรับ เป็นความจงรักภักดีและความซื่อตรงมั่นคง ในความสัมพันธ์ทางสังคมชุดใดชุดหนึ่ง ...

H