ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




27-01-2552 (1680)

ชุดความรู้เที่ยงคืน: ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยคดีการทำร้ายกันในครอบครัว
บทวิเคราะห์คำพิพากษาคดี"ผัวเมีย"กับการลงโทษของศาลไทย
รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล : เขียน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

หมายเหตุ: บทความนี้เดิมชื่อ"ความเป็น "ผัว/เมีย" กับการลงโทษ"
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารจุดยืน : Stance ปีที่ 2, 2551(ได้รับมาจากผู้เขียน)

บทความนี้ ประกอบด้วยโครงเรื่องดังนี้
ความเป็น "ผัว/เมีย" กับการลงโทษ
"ผัว" ในฐานะของอาชญากร
- ก. กรณีกระทำต่อภรรยา
- ข. กรณีกระทำต่อบุคคลอื่น
"เมีย"ในฐานะของอาชญากร

ข้อพิจารณาแนวทางวินิจฉัย คดีว่าด้วยสามี-ภรรยา
หญิงกับชายในเงื้อมมือของกันและกัน (บทสรุป)
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๘๐
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘.๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ชุดความรู้เที่ยงคืน: ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยคดีการทำร้ายกันในครอบครัว
บทวิเคราะห์คำพิพากษาคดี"ผัวเมีย"กับการลงโทษศาลไทย
รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล : เขียน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word


บทนำ: ความเป็น "ผัว/เมีย" กับการลงโทษ


การกระทำซึ่งเป็นการล่วงละเมิดต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่น เช่น การทำร้าย การฆ่า เป็นสิ่งที่กฎหมายได้บัญญัติห้ามไว้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลทั่วไป อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งลงโทษแก่บุคคลที่กระทำการใดๆ อันมีผลต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่น หากมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำความผิดก็ควรต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้

มักเป็นที่เข้าใจกันว่าในการตัดสินใจลงโทษบุคคลที่ได้กระทำความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น จะเป็นการตัดสินที่ดำเนินไปอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการคำนึงสถานะบางอย่างของบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับในแวดวงกฎหมายของไทยไม่ค่อยปรากฎการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า สถานะหรือความสัมพันธ์ของบุคคลมี "ความหมาย" ในการวินิจฉัยเพื่อกำหนดการลงโทษต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด. ในบทความชิ้นนี้จะได้มีการพิจารณาถึงกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้เสียหายในฐานะของสามีภรรยา เช่น การที่สามีทำร้ายภรรยา หรือภรรยาทำร้ายสามี สถานะของการเป็นสามีหรือภรรยานั้น จะมีผลอย่างไรต่อแนวทางการตัดสินชี้ขาดในคำพิพากษาของศาล คำตัดสินที่บังเกิดขึ้นจะเหมือนกับกรณีของความผิดต่อชีวิตและร่างกายซึ่งกระทำโดยบุคคลทั่วไปหรือไม่ หรือว่ามีความแตกต่างเกิดขึ้นในการตัดสินและความแตกต่างนั้นวางอยู่บนเหตุผลอย่างไร ซึ่งในที่นี้จะแยกพิจารณาเป็น 2 ลักษณะ คือ

ประเภทแรก คดีที่สามีเป็นผู้ลงมือกระทำ และ
ประเภทที่สอง เป็นกรณีที่ภรรยาเป็นผู้ลงมือกระทำ

"ผัว" ในฐานะของอาชญากร
ในคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายนั้นจะหมายความถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิตโดยสามีเป็นผู้กระทำ พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันหรือเป็นสาเหตุมาจากการที่ภรรยาไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับชายอื่น อันเป็นผลให้เกิดการทำร้ายหรือการฆ่ากันเกิดขึ้น สำหรับบุคคลที่ถูกกระทำนั้นนอกจากจะเกิดกับภรรยาแล้ว บุคคลภายนอกที่เข้าเกี่ยวข้องกับภรรยาก็อาจตกเป็นเป้าหมายของการกระทำจากสามีได้เช่นกัน

ก. กรณีกระทำต่อภรรยา
(พ.ศ.2493) สามีกลับบ้านพบภรรยากับชายอื่นกำลังมีเพศสัมพันธ์กันในห้อง สามีพังประตูเข้าไปและชายชู้วิ่งหนีจากห้อง สามีใช้ปืนยิงชายนั้นจนหมดกระสุน 5 นัด แล้วหยิบพร้าฟันภรรยาเป็นแผลฉกรรจ์อาจตายทันที 3 แผล บาดเจ็บ 9 แผล ความเห็นของศาลในการพิจารณาข้อเท็จจริงนี้ "แสดงว่าฟันอย่างไม่ไว้ชีวิต ตั้งใจฆ่าโดยไม่ต้องสงสัย ภรรยาจำเลยก็ตายในขณะนั้นเอง" อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของศาลถือว่า… "เป็นการกระทำเพราะถูกกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายแรง โดยมิเป็นธรรมและบันดาลโทสะ กระทำขึ้นในขณะนั้นเรียกได้ว่ากระทำผิดโดยถูกยั่วโทสะ" (1)

(1) คำพิพากษาฎีกาที่ 1390/2493

จะเห็นได้ว่าในคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่รับฟังว่า สามีตั้งใจฆ่าภรรยา "โดยไม่ต้องสงสัย" เนื่องจากการพิจารณาจากอาวุธและลักษณะบาดแผล ผู้กระทำจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ในการกำหนดโทษได้มองว่า การกระทำนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุบันดาลโทสะ จึงทำให้การกำหนดโทษอยู่ในระดับเบาที่สุดของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 249 (2) ซึ่งกำหนดโทษไว้ 3 ประเภท ตั้งแต่ระดับที่รุนแรงที่สุดคือโทษประหารชีวิต ประเภทที่สองคือจำคุกตลอดชีวิต ประเภทที่สามจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และในการลงโทษจำคุกประเภทที่สามก็เป็นการกำหนดโทษที่ต่ำสุด คือ สิบห้าปี เมื่อพิจารณาว่าเป็นการฆ่าที่เกิดขึ้นโดยบันดาลโทสะ ก็จึงได้กำหนดโทษกึ่งหนึ่ง เท่ากับ 7 ปี 6 เดือน(3) และในขั้นสุดศาลก็เห็นว่ามีเหตุอันควรปราณี (4) จึงลดโทษให้อีกหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุก 5 ปี

(2) กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 249 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำโดยเจตนา ให้ผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตาย ท่านว่ามันฆ่าคนโดยเจตนา มีความผิดให้ลงอาญาแก่มันตามโทษานุโทษเป็นสามสฐาน คือ สฐานหนึ่งให้ประหารชีวิตร์ให้มันตายตกไปตามกัน สฐานหนึ่งให้จำคุกไว้จนตลอดชีวิตร์ สฐานหนึ่งให้จำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี". กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ต่อมาได้ถูกยกเลิกหลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 ซึ่งได้ถูกใช้บังคับต่อมาจนปัจจุบัน

(3) มาตรา 55 บัญญัติว่า "เมื่อผู้ใด ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม แลมันบันดาลโทสะขึ้นในขณะนั้น ถ้าแลมันกระทำผิดในขณะนั้นไซ้ ท่านให้ลงอาญาตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น แก่มันเพียงกึ่งหนึ่ง"

(4) มาตรา 59 บัญญัติว่า "เมื่อใดความปรากฏ ว่ามีเหตุอันควรปราณีแก่ผู้กระทำผิดไซ้ ถึงว่าศาลจะได้เพิ่มหรือลดกำหนดโทษ ตามความในมาตราอื่นของกฎหมายนี้แล้วก็ดี ศาลยังลดโทษฐานปราณีได้อีกโสตหนึ่งไม่เกินกว่ากึ่งอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นๆ

ที่เรียกว่าเหตุอันควรปราณีนั้น ท่านประสงค์ในเหตุเหล่านี้ คือ ผู้กระทำผิดจริตไม่ปรกติก็ดี ผู้กระทำผิดเป็นผู้มีคุณความดีมาแต่ก่อนก็ดี ผู้กระทำผิดเมื่อกระทำลงแล้วมันรู้สึกตัวกลัวผิด แลได้พยายามแก้ไขให้บรรเทาผลร้ายที่มันทำนั้นลงดี ผู้กระทำผิดมาลุแก่โทษก่อนที่ความผิดของมันได้ปรากฏก็ดี ผู้กระทำผิดรับสารภาพให้ความสัจความรู้ต่อศาล ให้เป็นประโยชน์ในทางพิจารณาคดีนั้นก็ดี แลความชอบอย่างอื่นๆ ซึ่งศาลพิเคราะห์เห็นว่าเปนทำนองเดียวกับที่กล่าวมานี้ก็ดี ท่านให้ถือว่าเปนเหตุอันควรปราณีแก่ผู้กระทำผิดดุจกัน"

(พ.ศ.2509) สามีมาพบภรรยากำลังทำชู้ในห้องครัว ชู้หลบหนีไป สามีเข้าไปด่าว่าและตบตีภรรยาแต่ภรรยาได้ต่อสู้ สามีจึงโกรธและใช้ไม้ฟืนตีภรรยาจนถึงแก่ความตาย ในคดีนี้ศาลเห็นว่าภรรยาและชายชู้ "ได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม" และเมื่อสามีว่ากล่าวตบตี ภรรยากลับต่อสู้ การกระทำของภรรยาเช่นนี้ "ย่อมเป็นเหตุให้จำเลย (สามี) บันดาลโทสะในเหตุนั้นยิ่งขึ้น จำเลยจึงใช้ไม้ฟืนตีผู้ตายจนถึงแก่ความตาย "การกระทำของสามีจึงได้กระทำลงไปโดยเหตุบันดาลโทสะ (5) ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี (6)

(5) ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 มาตรา 72 บัญญัติว่า "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" เหตุลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ด้วยการกำหนดให้การลงโทษต่อผู้กระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่าใดก็ได้ ขณะที่ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 กำหนดให้ลงโทษเพียงกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้

(6) คำพิพากษาฎีกาที่ 551/2509

ทั้ง 2 คดีข้างต้น มีข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงกันจากการที่สามีพบว่าภรรยากำลังทำชู้กับชายอื่น จึงได้ฆ่าภรรยาของตน ซึ่งตามคำพิพากษาถือว่ากระทำลงด้วยเหตุบันดาลโทสะที่จะได้รับการลดโทษ แม้ว่าอาจมีความแตกต่างกันอยู่ โดยคดีแรกภรรยาไม่ได้ต่อสู้ใดๆ ส่วนในคดีหลังภรรยาได้ต่อสู้เมื่อถูกตบตี การพบเห็นภรรยามีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นเป็นเหตุผลเพียงพอต่อการรองรับเหตุบันดาลโทสะของสามีได้แล้ว การต่อสู้ของภรรยาไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตัวหรือด้วยเหตุผลอื่น ก็จะกลายเงื่อนไขให้เหตุบันดาลโทสะนั้นมีความหนักแน่นมากขึ้น

นอกจากการกระทำของสามีที่เป็นผลมาจากการพบเห็นภรรยาและชายอื่นมีความสัมพันธ์ทางเพศกันแล้ว มีข้อพิพาทซึ่งสามีทำร้ายภรรยาของตน อันเนื่องมาจากภรรยาต้องการจะเลิกอยู่กินกับสามีและไปแต่งงานใหม่กับชายอื่น แม้ในกรณีนี้จะมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับกรณีที่หญิงได้ทำชู้กับชายอื่น อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษาของศาลก็ถือว่าต่างเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชายสามารถบันดาลโทสะได้ ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

ในคืนเกิดเหตุ สามีกับภรรยาทะเลาะเบาะแว้งกัน และสามีใช้ไม้ตีพริกยาวประมาณ 1 ศอก ตีศีรษะภรรยาหลายครั้ง กะโหลกศีรษะข้างขวาส่วนหน้าแตกเป็นทางยาวและรอยประสานของกะโหลกศีรษะข้างขวาส่วนหน้าแตกแยก และใช้มีดปลายแหลมแทงบริเวณหน้าอกของภรรยาจำนวน 2 แผล ยาว 1.5 เซนติเมตร กว้าง 0.2 เซนติเมตร ลึกเข้าช่องอก มีลมออกที่ช่องอกทั้ง 2 ข้าง จนภรรยาสลบไป หากไม่สามารถนำไปให้แพทย์รักษาได้ทันท่วงทีก็อาจถึงแก่ความตายได้ ศาลได้วินิจฉัยของสามีว่า

"การที่จำเลย (สามี) ใช้อาวุธของกลางดังกล่าวทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ที่ 1 (ภรรยา) นั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลว่าผู้เสียหายที่ 1 อาจถึงแก่ความตายได้ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา"

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือ สามีได้กระทำลงโดยบันดาลโทสะหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้สามีลงมือทำร้ายภรรยาอย่างรุนแรงว่ามีเหตุผลต่อการกล่าวอ้างเหตุบันดาลโทสะหรือไม่ ศาลวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงดังนี้…

"ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 (ภรรยา) กับจำเลย (สามี) ก็มีปากเสียงกันมาก่อนแล้ว เมื่อจำเลยกลับมาที่ห้องเกิดเหตุก่อนและผู้เสียหายที่ 1 กลับมาทีหลัง โดยดื่มสุรามึนเมา ก็ยังมามีปากเสียงกันอีกก่อนเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่าผู้เสียหายที่ 1 พูดว่าจะทิ้งและเลิกจากการเป็นภริยาของจำเลย และจะนำบุตรชายของจำเลยไปให้มารดาภริยาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำเลยจึงโมโหและได้ใช้ไม้ตีพริกและมีดปลายแหลมเข้าทำร้ายผู้เสียหายจริง เห็นได้ว่าตามพฤติการณ์ที่จำเลยเป็นสามีของผู้เสียหายที่ 1 มา 4 ปีเศษ มีบุตรด้วยกัน 1 คนเป็นชาย ก่อนเกิดเหตุมีชายอื่นมาติดพันผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 1 จะเลิกร้างกับจำเลยและไปอยู่กินกับชายคนใหม่ และจะพาบุตรไปจากจำเลย จำเลยพูดขอร้องไม่ให้พาบุตรไป แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ไม่ยินยอม และพูดยืนยันทำนองว่าจะพาบุตรไปจากจำเลยให้ได้ ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 มึนเมาสุรา ทำให้จำเลยเกิดความโมโห การกระทำของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าว เป็นการข่มเหงน้ำใจอย่างแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยได้ใช้ไม้ตีพริกและมีดแทงผู้เสียหายที่ 1ในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ" (7)

(7) คำพิพากษาฎีกาที่ 1519/2544

ข. กรณีกระทำต่อบุคคลอื่น
การมี "ชายอื่น" หรือการมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น โดยเฉพาะกับการกระทำที่บาดตาบาดใจสามี เป็นเหตุผลที่ได้รับการยอมรับในคำพิพากษาว่าจะทำให้สามีลงมือทำร้าย หรือรวมถึงการฆ่าหญิงผู้เป็นภรรยาด้วยเหตุบันดาลโทสะ การนอกใจของภรรยาได้ถูกจัดให้เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุไม่เป็นธรรมต่อสามี ประเด็นสืบเนื่องต่อมาก็คือ หากสามีได้กระทำต่อชายอื่น แนวคำพิพากษาของศาลจะพิจารณาการกระทำนี้ต่างไปจากที่สามีกระทำภรรยาตนเองหรือไม่

(พ.ศ.2492) สามีฟันชายชู้ตายที่บ้านของตนเอง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… "ผู้ตาย (ชายชู้) และภรรยาของจำเลยได้หลับนอนกระทำชู้กันที่เรือนของจำเลย จำเลย (สามี) ได้กลับมาถึงบ้านพบผู้ตายกับภรรยาจำเลยนอนกอดกันอยู่ จำเลยได้เรียกภรรยาให้จุดตะเกียง ผู้ตาย(ชายชู้)ยืนขึ้นถือมีดปลายแหลม พอจำเลยเดินเข้าไป ผู้ตายก็กระโดดแทงจำเลย จำเลยจึงใช้มีดฟัน คดีฟังได้ว่าจำเลยฟันผู้ตายโดยป้องกันตัวและชื่อเสียงพอสมควรแก่เหตุ ยังไม่ควรได้รับโทษ" (8)

(8) คำพิพากษาฎีกาที่ 1599/2492 ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 บทบัญญัติในเรื่องป้องกันที่ศาลนำมาปรับใช้คือ มาตรา 50 "บุคคลที่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่พอสมควรแก่เหตุ โดยมีความจำเป็นเพื่อป้องกันชีวิตร์ เกียรติยศ และชื่อเสียงหรือทรัพย์ของตัวมันเองก็ดี หรือองผู้อื่นก็ดี เพื่อให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดโดยผิดด้วยกฎหมาย ท่านว่าไม่ควรลงอาญาแก่มัน"

ในคดีนี้ศาลได้วินิจฉัยว่า การที่สามีฆ่าชายอื่นเป็นการป้องกันตัวเองและชื่อเสียงพอสมควรแก่เหตุ ข้อเท็จจริงในคดีมีเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การมีเพศสัมพันธ์ของภรรยากับชายอื่น และการที่ชายอื่นใช้มีดแทงจำเลย. การปรับกฎหมายเข้ากับคดีนี้จึงอยู่บนฐานของการป้องกันตัวเองจากการทำร้ายของสามีด้วย แต่อย่างไรก็ดี หากเป็นการตอบโต้บุคคลที่จะมาทำร้ายตามปกติ คงไม่อาจให้เหตุผลได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันชื่อเสียง คำวินิจฉัยของศาลที่เห็นว่าการกระทำของสามีที่กระทำชายอื่นในฐานะเป็นการ "ป้องกันตัวและชื่อเสียง" จึงย่อมรวมเอาเหตุของการเห็นภาพบาดตาบาดใจของชายอื่นกับภรรยาของสามีเอาไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย แม้ว่าตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 จะกำหนดการกระทำโดยบันดาลโทสะไว้ด้วยก็ตาม แต่ศาลก็ไม่ได้นำมาปรับในเหตุการณ์นี้

แต่ในกรณีที่ภรรยาไปมีชายอื่นและไปอยู่กินกับชายผู้นั้น โดยที่ผู้เป็นสามีได้ทราบเรื่องราว แต่ไม่ได้เห็นภาพบาดตาบาดใจของภรรยาตนเองกับชายอื่น หากสามีทำร้ายหรือฆ่าชายอื่นก็ยังไม่อาจถือว่าเป็นเหตุบันดาลโทสะในการกระทำของตน ดังกรณีที่สามีโกรธชายผู้ตายที่พาภรรยาของตนไปค้างหลับนอนที่อื่น เมื่อสามีไปพบก็ได้แทงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย…(พ.ศ.2514)

"น่าเชื่อว่าเหตุเกิดขึ้นเพราะจำเลย (สามี) โมโหที่ผู้ตาย (ชายอื่น) หลบหนีหน้าทำความยุ่งยากให้แก่จำเลย จำเลยจึงมีความโกรธขึ้นที่ผู้ตายพาภรรยาจำเลยไป แล้วมาขอพบยังหลบหน้า จึงทำร้ายผู้ตาย ส่วนที่จำเลยอ้างว่า แทงผู้ตายขณะบันดาลโทสะ โดยอ้างข้อเท็จจริงว่าผู้ตายพูดดูหมิ่นจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ารับฟังข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้" (9)

(9) คำพิพากษาฎีกาที่ 1932/2514

การจะอ้างเหตุบันดาลโทสะในการลงมือกับชายที่ภรรยามีความสัมพันธ์ทางเพศ หรือไปอยู่กินด้วย หากไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริง ก็ไม่สามารถอ้างบันดาลโทสะได้ดังคดีที่กล่าวมา ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าชายผู้นั้นได้กระทำการ ซึ่งเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้เป็นสามี จึงจะจัดเป็นบันดาลโทสะ

(พ.ศ.2504) ชายอื่นรู้อยู่แล้วว่าหญิงมีสามีแล้ว แต่ก็ยังติดต่อพยายามจะเอาหญิงคนนี้มาเป็นภรรยา สามีได้ว่ากล่าวตักเตือนและขอร้องชายผู้นี้แล้ว แต่ก็ไม่เชื่อฟัง สามีต้องเซ้งร้านตัดผมที่ระยองไปอยู่ที่กรุงเทพ แต่ชายคนดังกล่าวก็ยังลักลอบไปพบกับหญิง และในที่สุดฝ่ายหญิงก็หนีไปอยู่กับชายคนนี้ ต่อมาสามีไปพบภรรยากับชายเดินเที่ยวด้วยกัน ได้พูดขอให้ภรรยากลับไปอยู่ด้วยกัน แต่ถูกสบประมาท จนสามีทนไม่ไหวใช้ปืนยิงชายตาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…

"การกระทำของผู้ตาย (ชายอื่น) อย่างนี้กระทบกระเทือนต่อจิตใจของจำเลยผู้เป็นสามีอย่างยิ่ง และเนื่องจากจำเลยยังมีเยื่อใยตัดไม่ขาดจากนางสุนันท์ (ภรรยา) จึงได้ติดตามไปพบนางสุนันท์ กับผู้ตายไนวันเกิดเหตุ ผู้ตายได้กล่าวสบประมาทจำเลยว่า 'เป็นหน้าตัวเมีย ผู้หญิงเขาไม่รักจะตามมาทำไม' คำกล่าวเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นถ้อยคำที่รุนแรงในกรณีของจำเลย ซึ่งต้องถูกพรากเมียของตนไปโดยชู้รัก เป็นเหตุให้จำเลยบันดาลโทสะ เพราะถูกสบประมาทอย่างร้ายแรง ที่จำเลยยิงผู้ตายเป็นเพราะบันดาลโทสะ เนื่องจากถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม" (10). ซึ่งสามีก็ได้ถูกตัดสินลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นตาย แต่การกระทำขณะบันดาลโทสะได้รับการลดโทษให้จำคุก 4 ปี การพิจารณาคดีจำเลยรับสารภาพมีประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี

(10) คำพิพากษาฎีกาที่ 1135/2504

"เมีย"ในฐานะของอาชญากร
นอกจากการมีชายอื่นของภรรยาจะเป็นเหตุให้สามีกระทำต่อภรรยาหรือชายอื่นโดยบันดาลโทสะ ในทางกลับกันหากปรากฏว่าสามีมี "หญิงอื่น" ก็เป็นเหตุให้ภรรยาลงมือกระทำต่อสามีได้เช่นเดียวกัน

(พ.ศ.2526) ชายกับหญิงเป็นสามีภรรยามาประมาณ 11 ปี มีบุตรชาย 1 คน พักอาศัยที่จังหวัดจันทบุรี ก่อนเกิดเหตุประมาณ 7 เดือน สามีไปทำเหมืองพลอยที่จังหวัดตราด ส่วนภรรยาไม่ได้ไปอยู่ด้วยเพราะต้องดูแลบุตร และไปที่เหมืองเป็นครั้งคราว วันเกิดเหตุภรรยาไปหาสามีที่เหมืองเวลาประมาณ 21.00 น. เห็นบ้านพักปิดอยู่จึงแอบดูตามช่องประตูไม้เห็นสามีนอนอยู่กับหญิง เปลือยกายทั้งคู่ จึงเคาะประตูเรียก เมื่อสามีเปิดประตูห้องออกมา ภรรยาจึงใช้อาวุธปืนที่นำติดตัวมาไปยิงสามี 3 นัด จนถึงแก่ความตาย จากข้อเท็จข้างต้นศาลวินิจฉัยว่า

"การที่จำเลยเห็นผู้ตาย (สามี) กับผู้หญิงนอนเปลือยกายกันอยู่ในห้องสองต่องสอง ทั้งยังปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของนางจีรารักษ์ หญิงซึ่งนอนอยู่กับผู้ตายในขณะนั้นว่า เมื่อมีเสียงเคาะประตู นางจีรารักษ์ได้ตะโกนถามว่าเคาะทำไม ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้กระทบกระเทือนจิตใจของจำเลยผู้เป็นภรรยาอย่างมาก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในขณะนั้นเชื่อว่า จำเลยได้กระทำไปด้วยอารมณ์หึงหวงและโกรธแค้น ควบคุมสติไม่ได้และได้กระทำไปในขณะที่ยังไม่สามรถควบคุมสติและระวังอารมณ์โกรธได้ ถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงทางด้านจิตใจด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแล้ว กรณีเช่นนี้จึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ" (11)

(11) คำพิพากษาฎีกาที่ 2394/2526

เช่นเดียวกับการที่สามีได้เห็นภาพบาดตาบาดใจ ถ้าภรรยาเป็นผู้ประสบกับเหตุการณ์ด้วยตนเอง ศาลก็จะถือว่าเป็นเหตุให้บันดาลโทสะเช่นเดียวกัน. แม้ว่าในคดีนี้ภรรยาอาจไม่ได้พบสามีและหญิงอื่นในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ข้อเท็จจริงก็ทำให้เข้าใจได้ว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน แม้อาจมีข้อสังเกตว่าภรรยาได้ไปหาสามีในเวลากลางคืนพร้อมกับพกอาวุธปืนไป ซึ่งอาจมีการล่วงรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวล่วงหน้ามาก่อน การกระทำนี้จึงอาจไม่ใช่ปฏิกิริยาตอบโต้ในทันทีทันใดโดยไม่ได้ยั้งคิด หากแต่มีการตระเตรียมมาในบางส่วน อย่างไรก็ตามอาจมีความแตกต่างกันในคำพิจารณาของศาลระหว่างการยิงสามีตายด้วยเงื่อนไขข้อเท็จจริงว่า ภรรยาเห็นหรือไม่ได้เห็นภาพบาดตาของสามีกับหญิงอื่น

(พ.ศ.2535) แม้จะไม่ได้เห็นภาพระหว่างสามีกับหญิงอื่น แต่การที่ภรรยารับรู้ว่าสามีมีหญิงอื่นก็อาจทำให้ข้อเท็จจริงนี้กลายเป็นเหตุบันดาลโทสะได้ หากมีข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำอื่นๆ ของสามีในลักษณะของการเหยียดหยามดูถูกต่อภรรยา ภรรยานอนเฝ้าห้างนาคนเดียว ส่วนสามีไปดื่มสุรากับเพื่อนกลับมาเวลา 24 นาฬิกา และให้ภรรยาไปหาข้าวมาให้ตนรับประทาน ภรรยาเดินไปหาข้าวที่บ้านซึ่งอยู่ห่างห้างนา 3 เส้น เมื่อเอามาแล้วสามีก็ไม่ยอมรับประทานกลับบ่นว่าภรรยา และยังพูดถึงภรรยาน้อย… "การกระทำของผู้เสียหาย (สามี) เป็นการข่มเหงน้ำใจจำเลย (ภรรยา) อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยใช้ปืนยิงผู้เสียหายในขณะนั้นเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ" (12)

(12) คำพิพากษาฎีกาที่ 1249/2535

(พ.ศ.2503) นอกจากเหตุที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาวแล้ว การที่ภรรยาลงมือต่อสามีนั้น สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งเป็นผลมาจากความรุนแรงภายในครอบครัว ดังจะพบว่าในคดีซึ่งภรรยาฆ่าสามีของตนเอง มีแนวโน้มที่จะมีประวัติใช้ความรุนแรงโดยสามีเกิดขึ้นมาก่อน ดังเช่นในคดีดังต่อไปนี้… สามีจะทำร้ายภรรยาด้วยไม้หลักแจว ภรรยาหนีเข้าห้อง แต่สามีก็ติดตามเข้าไปจะทำร้ายให้ได้ ภรรยาจึงยิงปืนไป 1 นัดถูกสามีตาย ศาลวินิจฉัยว่า… "เห็นว่านายฉิ่งมิใช่ใครอื่น แท้จริงก็เป็นสามีของจำเลย (ภรรยา) อยู่กินทราบอัธยาศัยกันมาช้านานแล้ว และเคยมีเรื่องกัน ทุบตีกันเสมอๆ ก็ไม่ปรากฏว่านายฉิ่งได้เคยทำอันตรายแก่จำเลยถึงขนาดรุนแรงหรือมากมายอย่างใด ทั้งขณะนั้นภายในห้องก็มีบุตรสาวของจำเลยอยู่เป็นเพื่อนด้วย จำเลยน่าจะทราบดีว่าแม้นายฉิ่งตามเข้าไปได้ ก็คงไม่เป็นอันตรายแก่จำเลยยิ่งไปกว่าที่เคยๆ กันมา จำเลยใช้วิธีป้องกันตัวโดยหมายเอาชีวิตนายฉิ่งเช่นนี้ ราวกับว่ามิใช่ภรรยานายฉิ่ง และหนักไปมาก จึงต้องนับว่าเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ" (13)

(13) คำพิพากษาฎีกาที่ 1320/2503

(พ.ศ.2529) สามีด่าและตบเตะทำร้ายภรรยาจนได้รับอันตราย ภรรยาจึงใช้มีดปลายแหลมแทงสามี เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ศาลรับฟังข้อเท็จจริงและมีคำวินิจฉัยดังนี้… "จำเลย (ภรรยา) กับผู้ตายเป็นสามีภริยากัน ผู้ตายชอบดื่มสุราจนมึนเมาและทุบตีทำร้ายร่างกายจำเลยเป็นประจำ วันเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายนัดกันไปจดทะเบียนหย่า ณ ที่ว่าการเขตบางกะปิ จำเลยไปรอผู้ตายตามนัดแต่ผู้ตายผิดนัด เมื่อผู้ตายมาถึงที่ว่าการเขตบางกะปิ จำเลยต่อว่าผู้ตาย ผู้ตายจึงด่าและตบเตะจำเลย จำเลยจึงใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายหลายครั้ง พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้จำเลยกับผู้ตายจะเป็นสามีภริยากัน ผู้ตายก็ไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะทำร้ายจำเลย ฉะนั้น เมื่อผู้ตายก่อเหตุด่าและตบเตะทำร้ายจำเลยก่อนจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นการประทุษร้ายจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะป้องกันตัวได้ ดังนั้น การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายดังกล่าวเพื่อยับยั้งผู้ตายมิให้ทำร้ายจำเลยอีก จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากการถูกทำร้าย

แต่ขณะเกิดเหตุผู้ตายเพียงแต่ตบเตะจำเลยโดยไม่มีอาวุธแต่อย่างใด การที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายหลายครั้ง จนปรากฏบาดแผลที่ตัวผู้ตายถึง 5 แผล คือ ที่ลำตัวข้างซ้าย หน้าอกข้างซ้าย บริเวณลิ้นปี่ เอวข้างซ้ายและหลังด้านขวา คมมีดทะลุเข้าช่องท้องถูกตับ ตับอ่อน กระเพาะอาหาร และไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ" (14)

(14) คำพิพากษาฎีกาที่ 1579/2529

(พ.ศ.2529) สามีภรรยาทะเลาะเบาะแว้งกัน สามีข่มขู่และไล่ภรรยาให้ออกจากบ้าน ภรรยาใช้ปืนยิงสามีตาย ศาลวินิจฉัยดังนี้… "จำเลย (ภรรยา) กับผู้ตายเป็นสามีภรรยากันมาประมาณ 7 ปี มีบุตรด้วยกัน 3 คน และมีปากเสียงทะเลาะกันเสมอๆ ในวันเกิดเหตุก่อนจำเลยใช้อาวุธยิงผู้ตาย จำเลยกับผู้ตายก็มีปากเสียงกันทะเลาะกันอีกเช่นเคย การที่ผู้ตายบ่นว่าจำเลย กล่าวหาว่าจำเลยพาชายชู้มานอนที่เตียงและไล่จำเลยออกจากบ้าน ทั้งขู่ว่าหากจำเลยไม่ไปจากบ้านจะฆ่าจำเลยนั้น ก็เป็นเรื่องสามีภรรยาเป็นปากเสียงทะเลาะกันตามปกติที่เคยเป็นมา จะถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมนั้นหาได้ไม่ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมิใช่เหตุเพราะบันดาลโทสะ หากแต่เพราะจำเลยโกรธเคืองผู้ตายที่ผู้ตายด่าว่าจำเลย" (15). โดยในที่สุดจำเลยได้ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 15 ปี ฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา

(15) คำพิพากษาฎีกาที่ 3874/2529


ข้อพิจารณาแนวทางวินิจฉัย คดีว่าด้วยสามี-ภรรยา
จากคำพิพากษาฎีกาซึ่งภรรยาได้ลงมือกระทำต่อสามี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทะเลาะของทั้งสองฝ่าย หรือการข่มขู่และทำร้ายจากสามี สามารถพิจารณาแนวทางวินิจฉัยและเหตุผลที่ปรากฏในคำตัดสินของศาลดังต่อไปนี้…

ประการแรก จากคำพิพากษาที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า การกระทำของภรรยาต่อสามีนั้น มีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงประเภทหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในครอบครัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซ้ำซากระหว่างสามีกับภรรยา ไม่ว่าจะเป็นการดุด่าว่ากล่าว การข่มขู่หรือการลงมือทำร้ายจากสามี สามารถเรียกการกระทำในลักษณะเช่นนี้ว่าเป็นความรุนแงในครอบครัวต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าการกระทำของหญิง จึงเป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจแยกความรุนแรงในครอบครัวแบบต่อเนื่อง ออกจากเหตุการณ์ซึ่งกลายเป็นคดีมาสู่การพิจารณาของศาล หรืออาจถือได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้ภรรยาลงมือฆ่าสามีของตน

อย่างไรก็ตาม จากเหตุผลที่ปรากฏในคำพิพากษามองว่าการทะเลาะเบาะแว้ง ระหว่างสามีภรรยา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว ดังจะเห็นได้เมื่อมีการพิจารณาถึงเหตุการณ์ภายในครอบครัวก็จะมองการ "มีปากเสียงทะเลาะกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาระหว่างสามีภริยา" รวมไปถึงการใช้กำลังของสามีต่อภรรยา ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระทบกระทั่งระหว่างลิ้นกับฟัน และในกรณีที่แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง การไล่ภรรยาออกจากบ้าน การขู่ว่าจะฆ่าหากไม่ยอมออกจากบ้าน ก็เป็นเรื่องปกติตามที่เคยเป็นมา แม้กระทั่งการทุบตีของสามีก็ควรนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาประการหนึ่งในครอบครัวนั้น ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า เมื่อมีคดีที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยาเกิดขึ้น แม้จะมีแผล 6 แห่ง รักษาให้หายได้ภายใน 5 วัน ศาลจะมีความเห็นว่า "ไม่ส่งผลให้เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจภรรยา" (16) ลงโทษปรับ 100 บาท

(16) คำพิพากษาฎีกาที่ 1078/2511

ประการที่สอง เหตุผลในการพิจารณาว่าการกระทำของภรรยา เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือเกินสมควรแก่เหตุ. การพิจารณาในประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากเห็นว่าการกระทำของหญิงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ก็จะถือว่าบุคคลนั้นไม่มีความผิด (17) เมื่อไม่มีความผิดก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการลงโทษแต่อย่างใด. ในทางตรงข้าม หากเห็นว่าเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดซึ่งได้รับการลงโทษ โดยศาลมีอำนาจที่จะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ รวมทั้งจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ (18) แต่ยังถือว่าการป้องกันในลักษณะเช่นนี้เป็นการกระทำที่เป็นความผิด

(17) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า…"ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

(18) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 บัญญัติว่า… "ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 และมาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พบว่าปัจจัยในการวินิจฉัยว่า การกระทำของภรรยาเป็นการป้องกันพอสมควรหรือไม่นั้น จะพิจารณาลักษณะการกระทำของสามีกับการใช้อาวุธของภรรยาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ศาลเห็นว่า หากสามีได้ลงมือทำร้ายภรรยาด้วยมือเปล่าปราศจากอาวุธ แต่ภรรยาป้องกันตนเองโดยอาวุธ เช่น สามีเพียงแค่ตบ เตะจำเลย (ภรรยา) โดยไม่มีอาวุธแต่อย่างใด ภรรยาใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายหลายครั้ง, สามีถีบ เตะภรรยาโดยไม่มีอาวุธ ภรรยาใช้เคียวฟันเพื่อป้องกัน, สามีตามไปทำร้ายภรรยา ภรรยาใช้ปืนยิงกลับไป 1 นัด การกระทำของภรรยาโดยใช้อาวุธในการป้องกันตนเองจากการถูกทำร้ายโดยสามี จะถือว่าเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ โดยไม่ได้นำเอาลักษณะของการใช้อาวุธเข้ามาพิจารณาประกอบ ดังนั้นการใช้ปืนยิงเพื่อป้องกันตัวเพียง 1 นัด หรือการใช้เคียวฟันสามีเพียง 1 ครั้ง ก็ถือว่าเป็นเหตุที่ "หนักไปมาก" เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

หญิงกับชายในเงื้อมมือของกันและกัน
จากการพิจารณาถึงคดีที่เป็นการล่วงละเมิดต่อชีวิตและร่างกาย ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นระหว่างสามีกับภรรยา จะพบว่าสถานะของการเป็นสามีและภรรยาจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อการวินิจฉัยชี้ขาดในการกระทำนั้นๆ ว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดหรือเป็นสิ่งที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และรวมถึงการกำหนดโทษกับบุคคลผู้กระทำ แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้มีการกำหนดสถานะของการเป็นสามีภรรยาเอาไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด

หากพิจารณาจากสาเหตุของคดี ที่เป็นความผิดฐานล่วงละเมิดต่อชีวิตและร่างกายระหว่างสามีภรรยา จะพบว่ามีสาเหตุสำคัญ 2 ประการที่ทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้น ประการแรก จะเป็นเหตุมาจากความสัมพันธ์ทางด้านชู้สาว และสาเหตุประการที่สอง เป็นผลหรือเกี่ยวข้องกับความรุนแรงภายในครอบครัว

สำหรับการล่วงละเมิดต่อชีวิตและร่างกายระหว่างสามีภรรยาอันมาจากสาเหตุของความสัมพันธ์ด้านชู้สาว เป็นมาจากการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประพฤติตัวนอกใจจากสามีหรือภรรยาของตน โดยปรากฏให้เห็นนับตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์นอกการสมรส การแสดงเจตนาจะเลิกรากับอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการกล่าวถ้อยคำเยาะเย้ยจากบุคคลที่สาม การกระทำต่างๆ ในลักษณะเช่นนี้ คำพิพากษาฎีกาได้ถือว่าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเป็นผลให้เกิดความรู้สึกโกรธและได้กระทำการบางอย่างตอบโต้กลับไปต่อสามีหรือภรรยา และรวมถึงกรณีที่ผู้มีส่วนร่วมเป็นบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี

การกระทำที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ซึ่งปรากฏในคำพิพากษาฎีกาที่ภรรยากำลังมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นแล้วสามีมาพบเข้า การกระทำในลักษณะดังกล่าวถือว่า เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงต่อชายผู้เป็นสามี อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แต่เพียงการพบเห็นภรรยาขณะมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นเท่านั้น การที่ภรรยาจะเลิกรากับสามีเพื่อไปอยู่กินกับชายอื่นก็ถูกนับเข้ามาให้เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงโดยเหตุไม่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงฝ่ายชายผู้เป็นสามีจึงสามารถกระทำการโต้ตอบได้. การพิจารณาข้อเท็จจริงไปในลักษณะเช่นนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เมื่อหญิงแต่งงานเป็นภรรยาของชายใดแล้ว ชายผู้เป็นสามีก็ย่อมเป็นเจ้าของประเวณีของหญิงนั้น หากมีการล่วงประเวณีหญิงผู้เป็นภรรยาโดยชายอื่นก็ย่อมมีผลต่อสามีด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการล่วงละเมิดต่อชีวิตและร่างกายโดยที่ภรรยาเป็นผู้กระทำอันมีสาเหตุที่มาจากความสัมพันธ์ด้านชู้สาว เมื่อภรรยาพบเห็นสามีนอนอยู่กับหญิงอื่น หรือการที่สามีบ่นด่าภรรยาขณะที่กล่าวถึงเมียน้อย เมื่อภรรยาทำร้ายหรือฆ่าสามี แนวคำตัดสินของศาลฎีกาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ฝ่ายสามีกระทำต่อภรรยาในเหตุด้านชู้สาว ด้วยการให้เหตุผลว่า การกระทำของภรรยาเกิดขึ้นจากการถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ภรรยาจึงได้กระทำไปด้วยเหตุบันดาลโทสะ ซึ่งสามารถได้รับโทษเช่นเดียวกับกรณีที่ฝ่ายชายเป็นผู้ลงมือกระทำ

ดังนั้น ในการละเมิดต่อชีวิตและร่างกายระหว่างสามีภรรยาอันมีเหตุจากความสัมพันธ์ชู้สาวนอกการสมรส ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นฝ่ายภรรยาหรือสามี ในคำพิพากษาฎีกามีบรรทัดฐานว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดบันดาลโทสะได้ การให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวกับทั้งสองฝ่ายจึงสะท้อนให้เห็นคำอธิบายที่อยู่บนรากฐานของระบบครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) อันเป็นระบบครอบครัวที่ฝ่ายชายและหญิงสามารถมีภรรยาหรือสามีได้คราวละคนเดียวเท่านั้น การเป็นสามีภรรยาก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างกันในด้านต่างๆ และรวมไปถึงการมีสิทธิเหนือประเวณีของอีกฝ่าย หากมีบุคคลใดมาล่วงละเมิดประเวณีของสามีหรือภรรยาก็ย่อมจัดว่าเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นการข่มเหงต่อตนเองด้วย คำพิพากษาฎีกาที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เป็นเพียงการยอมรับสิทธิของสามีเหนือประเวณีของหญิงผู้เป็นภรรยาเท่านั้น หากยังยอมรับสิทธิของภรรยาเหนือประเวณีของชายผู้เป็นสามีด้วยเช่นกัน

ส่วนการล่วงละเมิดต่อชีวิตและร่างกายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความรุนแรงในครอบครัว คดีส่วนมากที่เกิดขึ้นจะมีภรรยาเป็นผู้ลงกระทำต่อสามีจนได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย และภรรยาถูกดำเนินการในฐานะของจำเลยผู้กระทำความผิด มีข้อสังเกตต่อแนวทางของคำวินิจฉัยและการให้เหตุในคำพิพากษาฎีกา ดังต่อไปนี้

ประการแรก การให้คำอธิบายกับความรุนแรงในครอบครัวว่าเป็นเรื่อง "ธรรมดา", "ปกติตามที่เคยเป็นมา", "ที่เกิดขึ้นเสมอ" โดยมองไม่เห็นว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่การตอบโต้ของภรรยา การแยกขาดระหว่างเหตุการณ์ที่สั่งสมติดต่อกันมากับเหตุการณ์ที่เป็นผลสุดท้าย ย่อมเป็นเสมือนการให้ความชอบธรรมกับการทุบตีหรือการทำร้ายซึ่งสามีได้กระทำลง เพราะเมื่อเป็นเรื่องปกติก็หมายความว่าทั้ง 2 ฝ่าย ได้ตระหนักและยอมรับถึงความปกติของการกระทำดังกล่าว แต่ไม่ได้มีการพิจารณาว่าเรื่องธรรมดาๆ ที่เคยเกิดขึ้น อาจสร้างการสั่งสมความไม่พึงพอใจระยะยาวของฝ่ายภรรยาซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ จนกระทั่งวันหนึ่ง อาจเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมให้เป็นเรื่องปกติได้อีกต่อไป แม้การกระทำของสามีอาจไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมก็ตาม

ประการที่สอง นอกจากนี้ยังเป็นการมองความรุนแรงภายในครอบครัวแบบต่อเนื่องในลักษณะคงที่ ดังเมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้น ความรุนแรงที่อาจจะเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ของภรรยา จึงไม่ได้มีความหมายแตกต่างจากการกระทำในครั้งอื่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้า มีการให้เหตุผลสนับสนุนไว้อย่างชัดเจนว่า สามีภรรยาอยู่ด้วยกันมา เคยมีเรื่องทุบตีกันเสมอๆ แต่สามีไม่เคยทำร้ายภรรยาถึงขนาดรุนแรง ดังนั้น วันเกิดเหตุถ้าสามีตามภรรยาที่หนีเข้าไปในห้องได้ "ก็คงไม่เป็นอันตรายแก่จำเลย (ภรรยา) ยิ่งไปกว่าที่เคยๆ กันมา"(19)

(19) คำพิพากษาฎีกาที่ 1320/2503

ซึ่งการมองความรุนแรงที่สามีกระทำต่อภรรยาในลักษณะคงที่ เช่น ถ้าแต่เดิมเคยเพียงตบเตะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็จะไม่มากไปกว่าที่ได้เคยกระทำมา อาจเป็นสิ่งที่ขัดกับข้อเท็จจริงว่า สถานการณ์ที่เป็นสาเหตุอาจมีรายละเอียดหรือลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้การกระทำอาจมีความรุนแรงแตกต่างออกไป และไม่อาจคาดหมายได้โดยง่าย เช่น สามีว่ากล่าวภรรยา แต่ภรรยาไม่เชื่อและโต้แย้ง เกิดการวิวาทกับสามี สามีใช้มีดฟันภรรยา 11 แผลจนถึงแก่ความตาย (20) สามีภรรยาโต้เถียงกันเรื่องกล้วยที่เก็บไว้ สามีเกิดความโมโหจึงใช้ไม้ตีภรรยา แต่ไปโดนหญิงอื่นที่ภรรยายืนเกาะหลังอยู่ เป็นเหตุให้หญิงนั้นถึงแก่ความตาย (21)

(20) คำพิพากษาฎีกาที่ 837/2496
(21) คำพิพากษาฎีกาที่ 447/2510

ประการที่สาม ในการป้องกันตัวของภรรยาจะพบข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ต้องมีการใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ เหตุของการใช้อาวุธคงเป็นที่ตระหนักกันดีว่า เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ผู้หญิงจะมีสรีระร่างกายที่เสียเปรียบต่อผู้ชายในด้านของพละกำลัง ความแข็งแรง เพราะฉะนั้น หากต้องการตอบโต้ต่อการข่มขู่หรือทำร้ายของฝ่ายชาย จึงยากที่จะกระทำด้วยมือเปล่า แต่เมื่อมีการใช้อาวุธในการป้องกันตัว กรณีเช่นนี้ก็มีแนวโน้มที่จะถูกตัดสินว่าเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ การวินิจฉัยเรื่องการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ เป็นประเด็นที่เกี่ยวพันถึงหลักในการพิจารณาเรื่องการป้องกันโดยทั่วไป ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำขนาดไหน จึงจะถือว่าพอสมควรในการป้องกันสิทธิ ต้องพิจารณาจากลักษณะของภัย (22) เช่น หากเขาจะทำให้ถึงตายก็มีสิทธิป้องกันถึงตายด้วย โดยเป็นการเทียบสัดส่วนแห่งภัย หากภัยนั้นทำให้ถึงตายได้ ผู้ป้องกันมีสิทธิป้องกันด้วยสิ่งที่ทำให้ถึงตายได้ ไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุ หรือกรณีที่ไม่ได้สัดส่วนแห่งภัยก็อาจเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุได้ ถ้าเป็นการป้องกันด้วยไม่มีทางเลือกอื่น

(22) ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, กฎหมายอาญา หลักและปัญหา. พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2547) หน้า 263-264

หากนำเอาแนวทางวินิจฉัยดังกล่าวมาปรับใช้กับกรณีการป้องกันตัวของหญิงผู้เป็นภรรยา ซึ่งต้องเผชิญกับความรุนแรงภายในครอบครัวแบบต่อเนื่อง ก็เป็นไปได้ยากที่จะเกิดการป้องกันอันถือว่าการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ เพราะส่วนใหญ่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ด้วยการใช้กำลังของสามี และเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ หากฝ่ายภรรยาต้องการยุติการกระทำของอีกฝ่ายก็จำเป็นต้องใช้อาวุธเข้ามาช่วย เมื่อประกอบกับทัศนะที่มองว่าการทะเลาะตบตีระหว่างสามีภรรยาเป็นเรื่อง "ธรรมดา" ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว การใช้อาวุธไม่ว่าจะทำให้สามีถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บ ก็เป็นสิ่งที่เกินความเหมาะสมที่ภรรยาไม่ควรกระทำ หากกระทำไปก็อาจเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ หรืออาจเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาก็ได้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๒ : Release date 27 January 2009 : Copyleft MNU.

ดังเช่นในคดีดังต่อไปนี้… สามีจะทำร้ายภรรยาด้วยไม้หลักแจว แต่ภรรยาหนีเข้าห้อง แต่สามีก็ติดตามเข้าไปจะทำร้ายให้ได้ ภรรยาจึงยิงปืนไป 1 นัดถูกสามีตาย ศาลวินิจฉัยว่า… "เห็นว่านายฉิ่งมิใช่ใครอื่น แท้จริงก็เป็นสามีของจำเลย (ภรรยา) อยู่กินทราบอัธยาศัยกันมาช้านานแล้ว และเคยมีเรื่องกัน ทุบตีกันเสมอๆ ก็ไม่ปรากฏว่านายฉิ่งได้เคยทำอันตรายแก่จำเลยถึงขนาดรุนแรงหรือมากมายอย่างใด ทั้งที่ขณะนั้นภายในห้องก็มีบุตรสาวของจำเลยอยู่เป็นเพื่อนด้วย จำเลยน่าจะทราบดีว่าแม้นายฉิ่งตามเข้าไปได้ ก็คงไม่เป็นอันตรายแก่จำเลยยิ่งไปกว่าที่เคยๆ กันมา จำเลยใช้วิธีป้องกันตัวโดยหมายเอาชีวิตนายฉิ่งเช่นนี้ ราวกับว่ามิใช่ภรรยานายฉิ่ง และหนักไปมาก จึงต้องนับว่าเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ" (คัดมาบางส่วนจากบทความ)

H