ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




20-08-2551 (1643)

Fragments of an Anarchist Anthropology
ประชาธิปไตยในสายตาของนักมานุษวิทยาอนาธิปไตย

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจากงานของ David Graeber
นักวิชาการและนักแปลอิสระ โครงการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
สื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้เรียงลำดับหัวข้อสำคัญดังต่อไปนี้
(1) โลกาภิวัตน์กับการขจัดความไม่เท่าเทียมระหว่างซีกโลกเหนือ-ใต้
(2) การรณรงค์ต่อต้านการทำงาน
(3) ประชาธิปไตย โลกใหม่ที่กำลังสร้างขึ้นในเปลือกโลกเก่า
- กระบวนการแสวงหาฉันทามติ
- ลัทธิสากลนิยมระลอกที่สอง

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๔๓
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Fragments of an Anarchist Anthropology
ประชาธิปไตยในสายตาของนักมานุษวิทยาอนาธิปไตย

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจากงานของ David Graeber
นักวิชาการและนักแปลอิสระ โครงการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

ถาม: ต้องใช้ผู้ลงคะแนนเสียงกี่คนถึงจะเปลี่ยนหลอดไฟได้?
ตอบ: ไม่ต้องใช้สักคนเดียว เพราะผู้ลงคะแนนเสียงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก

แน่นอน โครงการของชาวอนาธิปไตยย่อมไม่ได้มีโครงการเดียว-คงมีไม่ได้ด้วย แต่น่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง หากให้แนวคิดบางประการแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับทิศทางของความคิดและการจัดตั้งในปัจจุบัน

(1) โลกาภิวัตน์กับการขจัดความไม่เท่าเทียมระหว่างซีกโลกเหนือ-ใต้

ดังที่ผู้เขียนกล่าวไปแล้ว "ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์" ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดอนาธิปไตยมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว จุดยืนของฝ่ายอนาธิปไตยที่มีต่อโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่ชัดเจนมาก หากรัฐชาติถูกลบทิ้งไป พรมแดนระหว่างชาติก็ย่อมถูกลบทิ้งไปด้วย นี่คือโลกาภิวัตน์ที่แท้จริง นอกนั้นเป็นโลกาภิวัตน์กำมะลอทั้งนั้น แต่สำหรับเวลาเฉพาะหน้านี้ มีคำแนะนำเป็นรูปธรรมมากมายหลายแบบว่าจะปรับปรุงสภาพการณ์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องถอยหลังกลับไปหาลัทธินิยมอำนาจรัฐหรือลัทธิคุ้มครองอีก ตัวอย่างประการหนึ่งคือ:

ครั้งหนึ่ง ระหว่างการประท้วงเวทีเศรษฐกิจโลก ซึ่งที่จริงเป็นการเลี้ยงดูปูเสื่อบรรดานักธุรกิจใหญ่ นักประชาสัมพันธ์ของบรรษัทและนักการเมือง จัดเวทีให้พวกเขามารวมตัวเป็นเครือข่ายและชนแก้วค็อกเทลกันที่โรงแรมวัลดอร์ฟอัสโตเรีย พร้อมกับเสแสร้งทำเป็นถกเถียงกันถึงวิธีบรรเทาความยากจนในโลก ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปวิวาทะทางวิทยุกับตัวแทนคนหนึ่งจากเวทีเศรษฐกิจโลก แต่การณ์ปรากฏว่า ภารกิจนี้ตกเป็นของนักเคลื่อนไหวอีกคนหนึ่งแทน แต่ผู้เขียนก็เตรียมหัวข้อไว้แล้ว 3 ประเด็น ซึ่งเชื่อว่าน่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนโลกได้ดังนี้:

- ยกเลิกหนี้สินระหว่างประเทศในทันที (ความจริง การยกเลิกหนี้สินของตัวบุคคลก็ไม่ใช่ความคิดที่เลวร้ายนัก แต่นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)
- ยกเลิกสิทธิบัตรทั้งหมดทันที รวมทั้งยกเลิกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีอายุมากกว่าหนึ่งปี
- ยกเลิกกฎเกณฑ์ทั้งหมดที่จำกัดเสรีภาพการเดินทางหรือการอยู่อาศัยทั่วทั้งโลก

ปัญหาที่เหลือนอกจากนี้ก็คงคลี่คลายไปเองได้ไม่ยาก เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนชาวแทนซาเนียหรือลาว สามารถย้ายไปพำนักในเมืองมินนีแอโพลิสหรือรอตเทอร์ดามได้โดยไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป รัฐบาลของประเทศมั่งคั่งมหาอำนาจทุกประเทศในโลกย่อมตัดสินใจว่า ไม่มีอะไรอีกแล้วที่สำคัญกว่าการหาทางทำให้ประชาชนในแทนซาเนียและลาว ยินดีอยู่ประเทศตัวเองต่อไปดีกว่า คุณคิดจริงๆ หรือว่า รัฐบาลพวกนี้จะคิดวิธีการเด็ดๆ อะไรไม่ออกเลย ?

ประเด็นก็คือ แม้จะมีโวหารพร่ำพรรณนาถึง "ปัญหาซับซ้อน อ่อนไหว แก้ไขยาก" ให้ฟังจนเมื่อยหู (เพื่ออ้างความชอบธรรมให้พวกนักวิชาการว่านอนสอนง่ายและได้รับค่าจ้างเป็นกอบเป็นกำมีงานวิจัยราคาแพงให้ทำไปอีกหลายทศวรรษ) โครงการแบบอนาธิปไตยน่าจะแก้ปัญหาเกือบทั้งหมดได้ในเวลาแค่ 5-6 ปี คุณอาจจะบอกว่า ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่มีทางเป็นจริงได้เลย! ก็จริงอยู่ แต่ทำไมมันถึงเป็นจริงไม่ได้ล่ะ? เหตุผลหลักๆ ก็เพราะบรรดามหาเศรษฐีที่เลี้ยงฉลองกันอยู่ในโรงแรมวัลดอร์ฟไม่ยอมน่ะสิ นี่คือเหตุผลที่เราบอกว่า พวกเขานั่นแหละคือตัวปัญหา

(2) การรณรงค์ต่อต้านการทำงาน

การรณรงค์ต่อต้านการทำงาน เป็นหัวใจสำคัญของการจัดตั้งตามแนวทางอนาธิปไตยเสมอมา คำว่า "การรณรงค์ต่อต้านการทำงาน" ในที่นี้ ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงการต่อสู้เพื่อสภาพการทำงานที่ดีขึ้นหรือค่าจ้างที่สูงขึ้น แต่หมายถึงการต่อสู้เพื่อล้มล้างการทำงานที่เป็นความสัมพันธ์ของการครอบงำให้หมดสิ้น ด้วยเหตุนี้เอง IWW (1) จึงมีคำขวัญว่า "ต่อต้านระบบค่าจ้าง" แน่นอน นี่ย่อมเป็นเป้าหมายระยะยาว ส่วนในระยะสั้นนั้น หากเรายังไม่สามารถล้มล้างสิ่งใด อย่างน้อยก็สามารถลดทอนสิ่งนั้นให้น้อยลงได้ ในช่วงเปลี่ยนไปสู่ศตวรรษที่ 20 ชาว Wobblies และนักอนาธิปไตยกลุ่มอื่นๆ มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้จนลดชั่วโมงการทำงานเหลือสัปดาห์ละ 5 วัน และวันละ 8 ชั่วโมง

(1) IWW เป็นชื่อย่อขององค์การแรงงานอุตสาหกรรมของโลก (Industrial Workers of the World---IWW ซึ่งมีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า Wobblies) อันเป็นสหภาพแรงงานที่ก่อตั้งขึ้นมาในชิคาโก ตั้งแต่ ค.ศ. 1905 มีอุดมการณ์ในแบบสหการนิยม (syndicalism) และใช้ "ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า" อย่างเป็นระบบ

IWW เปิดกว้างให้แรงงานทุกคนเป็นสมาชิกองค์กรได้หมด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานมีฝีมือหรือไร้ฝีมือ ไม่มีข้อจำกัดในด้านเชื้อชาติ, อาชีพ, การเป็นชนกลุ่มน้อย หรือเพศ แนวทางของสหการนิยมคือการพยายามเข้าไปควบคุมอุตสาหกรรมด้วยองค์กรแรงงาน รัฐเป็นตัวแทนของการกดขี่ สหภาพแรงงานควรเข้ามาแทนที่รัฐ ในฐานะองค์ประกอบที่เป็นหัวใจของสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ IWW ประกาศใช้ direct action ที่มีวิธีการหลากหลาย นับตั้งแต่การนัดหยุดงาน, การเฉื่อยงาน, การเผยแพร่ความคิด, การคว่ำบาตร, การอารยะขัดขืน, การเดินขบวน, เพลง ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ IWW ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง, การไกล่เกลี่ยด้วยอนุญาโตตุลาการ หรือการรวมตัวกันเจรจาต่อรอง IWW ขยายตัวสูงสุดในราว ค.ศ. 1923 โดยมีสมาชิกถึง 100,000 คน ในปัจจุบัน แม้องค์กรนี้ยังมีอยู่ แต่ก็หดเล็กลงไปมากและเหลือสมาชิกเพียง 2,000 คนเท่านั้น

ในยุโรปตะวันตก รัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตยกำลังลดเวลาการทำงานในแต่ละสัปดาห์ลงอีกเป็นครั้งแรกในรอบเกือบศตวรรษ ถึงแม้จะลดลงเพียงเล็กน้อย (จากสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เหลือ 35 ชั่วโมง) แต่ในสหรัฐอเมริกา ไม่มีใครเอ่ยถึงเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ ที่แย่กว่านั้นคือมีการเอ่ยถึงการยกเลิกอัตราค่าทำงานล่วงเวลาที่มากกว่าเวลาทำงานปรกติ 1.5 เท่าแทน ทั้ง ๆ ที่เดี๋ยวนี้ชาวอเมริกันมีชั่วโมงการทำงานมากกว่าประชาชนในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย ด้วยเหตุนี้ ชาว Wobblies จึงกลับมาปรากฏตัวอีก พร้อมกับข้อเสนอขั้นต่อไปในโครงการระยะยาว หรืออย่างน้อยก็ย้อนกลับไปสู่ข้อเสนอในทศวรรษ 1920 กล่าวคือ ชั่วโมงการทำงาน 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ("4 วันต่อสัปดาห์ วันละ 4 ชั่วโมง")

จริงอยู่ หากมองโดยผิวเผินแล้ว ข้อเสนอนี้ดูเหมือนไม่มีทางเป็นจริงได้โดยสิ้นเชิง อาจถึงขั้นเสียสติไปแล้วด้วยซ้ำ แต่มีใครเคยศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้บ้างไหม? นอกจากนี้ เคยมีการพิสูจน์มาครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เวลาทำงานจำนวนมากในอเมริกาเกิดขึ้นเพียงเพราะความจำเป็นที่ต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการที่ชาวอเมริกันทำงานมากเกินไป (ลองนึกถึงงานหลาย ๆ อย่าง อาทิเช่น พนักงานส่งพิซซาตลอดคืน พนักงานอาบน้ำสุนัข หรือพนักงานผู้หญิงที่ต้องทำงานในศูนย์ดูแลเด็กเล็กตอนกลางคืน เพื่อเลี้ยงลูก ๆ ของนักธุรกิจหญิงทั้งหลายที่ต้องทำงานในตอนกลางคืน.... นี่ยังไม่ต้องพูดถึงชั่วโมงทำงานอีกไม่รู้เท่าไร ที่แพทย์และจิตแพทย์ต้องเสียไปกับการตามล้างตามเช็ดความเสียหายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งเกิดจากการทำงานมากเกินไป ปัญหาการบาดเจ็บ การฆ่าตัวตาย การหย่าร้าง พฤติกรรมอันตราย การผลิตยาเพื่อระงับอารมณ์เด็ก....) ถ้าเช่นนั้น งานอะไรบ้างที่จำเป็นจริง ๆ

ก่อนอื่น มีงานจำนวนมากที่หากยกเลิกให้หมด เกือบทุกคนคงเห็นพ้องกันว่า น่าจะเป็นผลดีต่อมนุษยชาติ อาทิเช่น เซลส์ขายของทางโทรศัพท์ บริษัทผลิตรถเอสยูวีคันยาว ตลอดจนนักกฎหมายของบริษัททั้งหลาย ถ้าให้ดีเราน่าจะกำจัดอุตสาหกรรมโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้สิ้นซาก ไล่นักการเมืองและบริวารออกไปให้หมด ไล่ทุกคนที่เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับ HMO (2) แค่นี้ไม่กระเทือนกลไกสังคมที่สำคัญจริง ๆ หรอก หากยกเลิกการโฆษณาทั้งหมดลงได้ จะช่วยลดการผลิต การขนส่งและการขายสินค้าที่ไม่จำเป็น ส่วนสินค้าที่จำเป็นหรือประชาชนต้องการจริง ๆ นั้น ประชาชนย่อมหาวิธีเข้าถึงได้เอง

(2) หมายถึง Health Maintenance Organization ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การประกันสุขภาพในสหรัฐอเมริกา HMO จะจ่ายค่าประกันเฉพาะคนไข้ที่รักษากับแพทย์และโรงพยาบาลที่ทำสัญญากับ HMO ไว้เท่านั้น โดยที่ HMO จะมีเงื่อนไขและคู่มือการรักษาที่แพทย์ต้องปฏิบัติตาม HMO ถูกวิจารณ์มากว่า ทำให้การประกันสุขภาพในสหรัฐฯ มีคุณภาพที่แย่มาก

หากขจัดความไม่เท่าเทียมให้หมดสิ้นลง ย่อมหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องมีงานบริการที่จ้างคนหลายล้านคนอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นยามเฝ้าประตู ยามรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคล พัศดี หรือหน่วยสวาท ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกองทัพ ส่วนงานอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ เราต้องลองค้นคว้าวิจัยดู พวกนักการเงิน นักธุรกิจประกันภัยและนายธนาคารเพื่อการลงทุน ล้วนแล้วแต่เป็นพวกพยาธิเกาะกิน แต่อาจมีกลไกลบางอย่างในภาคส่วนนี้ที่ยังมีประโยชน์อยู่ ซึ่งไม่อาจใช้ซอฟท์แวร์มาแทนที่ได้ง่าย ๆ กล่าวโดยสรุปคือ ถ้าเรากำหนดได้ว่างานอะไรบ้างที่จำเป็นต้องทำจริง ๆ เพื่อธำรงมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สะดวกสบายและมีความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา จากนั้นก็กระจายจัดสรรชั่วโมงการทำงานให้ทุก ๆ คน เราอาจค้นพบว่า นโยบายของชาว Wobblies สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างสมบูรณ์

โดยเฉพาะถ้าระลึกไว้เสมอว่า ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ใครเลิกทำงานหลังจากครบ 4 ชั่วโมงแล้วหากเขายังไม่อยากเลิก มีคนจำนวนมากที่รื่นรมย์กับการทำงานมากกว่าจะให้พวกเขาทอดหุ่ยไม่ทำอะไรทั้งวัน (เพราะเหตุนี้เอง คุกจึงลงโทษนักโทษด้วยการพรากสิทธิในการทำงานไป) และยิ่งถ้าเราขจัดความไร้ศักดิ์ศรีและการเล่มเกมซาดิสต์-มาโซคิสต์ที่เกิดจากการบริหารงานแบบบนลงล่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้หมดสิ้นไปด้วย คาดว่าจะมีคนอีกจำนวนมากที่ยินดีกับการทำงานมากขึ้น ผลลัพธ์อาจปรากฏด้วยซ้ำไปว่า ไม่มีใครที่ต้องทำงานมากกว่าที่ตนเองต้องการทำจริง ๆ

ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ:
คงต้องยอมรับว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้หมายถึงการปรับเปลี่ยนระบบการจัดการงานทั้งหมด เปรียบเสมือนการจินตนาการถึงเค้าโครง "หลังการปฏิวัติ" ซึ่งผู้เขียนได้ให้เหตุผลมาแล้วว่า มันเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการเริ่มต้นคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ต่าง ๆ ของมนุษย์ ถึงแม้การปฏิวัติอาจไม่มีวันเกิดขึ้นในรูปแบบที่ทำนายผลขั้นสุดท้ายได้ก็ตาม แน่นอน ข้อเสนอนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า "แล้วใครจะเป็นคนทำงานชั้นต่ำล่ะ?" นี่เป็นคำถามที่นักอนาธิปไตยหรือนักอุดมคติอื่น ๆ มักถูกถามใส่หน้าเสมอ

ปีเตอร์ โครพอตกิน (Peter Kropotkin) ชี้ให้เห็นความเป็นเหตุผลวิบัติ (fallacy) ของคำถามนี้มานานแล้ว ไม่มีเหตุผลใด ๆ เลยว่า งานชั้นต่ำจำเป็นต้องมีอยู่ หากทุก ๆ คนแบ่งกิจภาระที่ไม่ชวนรื่นรมย์อย่างเท่าเทียมกัน นั่นย่อมหมายความว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นนำของโลกก็ต้องทำงานชั้นต่ำเหมือนกัน แค่นี้เราก็คงคาดหมายได้ทันทีว่า จะมีการค้นคิดประดิษฐ์สร้างครัวที่ทำความสะอาดตัวเองและหุ่นยนต์สำหรับทำงานในเหมืองถ่านหินขึ้นมาแน่นอน

แต่ทั้งหมดนี้เป็นแค่เรื่องเบ็ดเตล็ดเท่านั้น เพราะสิ่งที่ผู้เขียนต้องการเขียนถึงจริง ๆ ในส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้มีจุดศูนย์รวมอยู่ที่:

(3) ประชาธิปไตย โลกใหม่ที่กำลังสร้างขึ้นในเปลือกโลกเก่า

หัวข้อนี้คงช่วยให้ผู้อ่านมีโอกาสทำความเข้าใจว่า ระบบการจัดตั้งตามแนวทางอนาธิปไตยหรือได้รับแรงบันดาลใจจากอนาธิปไตยมีลักษณะอย่างไรกันแน่ ผู้อ่านจะได้เห็นโฉมหน้าลาง ๆ ของโลกใหม่ที่กำลังสร้างขึ้นในเปลือกโลกเก่า รวมทั้งบรรยายให้เห็นด้วยว่า ทัศนะแนวประวัติศาสตร์-ชาติพันธุ์ที่ผู้เขียนพยายามพัฒนาขึ้นมา ตลอดจนวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่มีอยู่ของเรา จะช่วยสร้างคุณูปการให้แก่หัวข้อนี้ได้อย่างไรบ้าง

สื่อมวลชนยังคงดันทุรังเรียกการต่อต้านขัดขืนระดับโลกครั้งใหม่ว่า "ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์" ทั้ง ๆ ที่เป็นชื่อเรียกที่ผิดพลาดอย่างน่าขบขันสิ้นดี วงจรแรกของการต่อต้านขัดขืนระดับโลกครั้งใหม่นี้เริ่มต้นขึ้นที่เขตปกครองตนเองในรัฐเชียปัสและพุ่งขึ้นสู่จุดวิกฤตด้วย asambleas barreales (neighbourhood assemblies-สมัชชาละแวกบ้าน) ในกรุงบัวโนสไอเรสและเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศอาร์เจนตินา ในที่นี้คงไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะเล่าเรื่องทั้งหมด นับตั้งแต่ซาปาติสตา ปฏิเสธแนวคิดการยึดอำนาจ และพยายามสร้างโมเดลการจัดตั้งตัวเองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาแทน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ภาคส่วนอื่น ๆ ในประเทศเม็กซิโก พวกเขาริเริ่มเครือข่ายระหว่างประเทศ (People's Global Action หรือ PGA) ซึ่งต่อมารณรงค์เรียกร้องจนเกิดวันปฏิบัติการต่อต้านดับเบิลยูทีโอ (ในซีแอตเทิล) ไอเอ็มเอฟ (ในวอชิงตัน, ปราก....) ฯลฯ

และท้ายที่สุดคือ การพังทลายของระบบเศรษฐกิจอาร์เจนตินา การลุกฮือของประชาชนจำนวนมหาศาล ซึ่งปฏิเสธแนวความคิดว่าเราสามารถค้นพบทางออกด้วยการผลัดเปลี่ยนนักการเมืองจากชุดหนึ่งไปสู่อีกชุดหนึ่ง คำขวัญของขบวนการชาวอาร์เจนตินาตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ que se vayan todos หรือ "ไล่พวกมันไปให้หมด" แทนที่จะเรียกร้องหารัฐบาลชุดใหม่ ชาวอาร์เจนตินาหันมาสร้างเครือข่ายสถาบันทางเลือกที่ครอบคลุมกว้างขวาง นับตั้งแต่สมัชชาประชาชนสำหรับบริหารละแวกบ้านแต่ละแห่ง (ขีดจำกัดในการมีส่วนร่วมเพียงประการเดียวคือ ห้ามคนที่ทำงานกับพรรคการเมืองมาจุ้นจ้าน) การยึดโรงงานมาบริหารโดยคนงานเป็นร้อย ๆ แห่ง ระบบการ "แลกเปลี่ยนสิ่งของ" อันซับซ้อนและระบบเงินตราทางเลือกที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เอี่ยมเพื่อให้การแลกเปลี่ยนดำเนินไปได้ กล่าวสั้น ๆ ได้ว่า ทั้งหมดนี้คือหลักการประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ที่มีรูปแบบหลากหลายไม่สิ้นสุด

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเบื้องล่างที่ต่ำเกินกว่าจอเรดาร์ของสื่อมวลชนธุรกิจทั้งหลายจะสอดส่องเห็น สื่อเหล่านี้ไม่เข้าใจประเด็นของความเคลื่อนไหวภาคประชาชนอันยิ่งใหญ่นี้ด้วย องค์กรปฏิบัติการเหล่านี้ มุ่งหมายที่จะทำหน้าที่เป็นตัวอย่างมีชีวิตที่สาธิตให้เห็นว่า โลกประชาธิปไตยที่แท้จริงน่าจะมีหน้าตาแบบไหน นับตั้งแต่นักเชิดหุ่นผู้รื่นเริงไปจนถึงการจัดตั้งอย่างระมัดระวังของกลุ่มเครือสหายและสภาวาจก ทุกกลุ่มปฏิบัติการโดยไม่มีโครงสร้างการบังคับบัญชา ตั้งมั่นอยู่บนหลักการของประชาธิปไตยทางตรงที่ใช้กระบวนการแสวงหาฉันทามติ นี่เป็นองค์กรแบบที่ประชาชนเกือบทุกคนคงนึกว่าเป็นแค่ความเพ้อฝัน หากฟังแต่ข้อเสนอเฉย ๆ แต่ความจริงแล้ว นี่เป็นองค์กรที่ใช้การได้ ทั้งยังทำงานได้มีประสิทธิภาพถึงขนาดที่กรมตำรวจเมืองแล้วเมืองเล่า งงงันเป็นไก่ตาแตกจนไม่รู้จะจัดการกับองค์กรเหล่านี้อย่างไร

แน่นอน ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากกลยุทธ์ที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน (เช่น นักกิจกรรมหลายร้อยคนใส่ชุดนางฟ้าจั๊กจี้ตำรวจด้วยไม้ขนไก่ หรือใช้ยางอัดลมและแผ่นยางพันรอบตัวหลายชั้นจนดูเหมือนมนุษย์มิชลิน กลิ้งข้ามเครื่องกีดขวาง ไม่สามารถทำอันตรายใครได้ก็จริง แต่กระบองตำรวจก็ทำอันตรายพวกเขาไม่ได้เช่นกัน....) กลยุทธ์เหล่านี้ทำให้เส้นแบ่งความรุนแรงกับความไม่รุนแรงตามแบบจารีตดั้งเดิมสั่นคลอนสับสนไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงในซีแอตเทิลตะโกนคำขวัญว่า "ประชาธิปไตยต้องเป็นแบบนี้" พวกเขาหมายความตรงตามคำพูดเลย จารีตของปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าที่ดีที่สุดนั้น ไม่ใช่เพียงการเผชิญหน้ากับอำนาจบางอย่าง ไม่ใช่เพียงการเปิดโปงให้เห็นกลไกของอำนาจและพยายามยับยั้งการทำงานของกลไกอำนาจเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า เหตุใดความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นพื้นฐานของอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีอยู่อีกด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมข้อติติงของบรรดาคนที่วางตัวสูงส่ง ซึ่งวิจารณ์ว่าขบวนการถูกครอบงำด้วยเด็กวัยรุ่นไม่มีหัวคิดที่ไม่มีอุดมการณ์เป็นเรื่องเป็นราว จึงเป็นคำวิจารณ์ที่พลาดเป้าไปอย่างสิ้นเชิง ความหลากหลายคือกลไกขององค์กรที่มีลักษณะกระจายอำนาจ และองค์กรแบบนี้นี่แหละ คือ อุดมการณ์ของขบวนการ

กระบวนการแสวงหาฉันทามติ
คำที่เป็นกุญแจสำคัญในขบวนการสังคมใหม่ก็คือ "กระบวนการ" ซึ่งหมายถึงกระบวนการตัดสินใจ ในอเมริกาเหนือ การตัดสินใจเกือบทั้งหมดของขบวนการใช้กระบวนการแสวงหาฉันทามติ ดังที่ผู้เขียนกล่าวมาแล้วว่า กระบวนการนี้ไม่ใช่การยัดเยียดเชิงอุดมการณ์ เพราะสมมติฐานเบื้องหลังกระบวนการแสวงหาฉันทามติที่ดีก็คือ ไม่ว่าใครก็ไม่ควรพยายามเปลี่ยนความคิดคนอื่นให้หันมาเห็นด้วยกับจุดยืนทั้งหมดของตนเอง ประเด็นสำคัญของกระบวนการแสวงหาฉันทามติคือ การเปิดโอกาสให้กลุ่มได้ตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติการ แทนที่จะลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับข้อเสนอ กระบวนการแสวงหาฉันทามติจะสร้างข้อเสนอและปรับปรุงแก้ไข ตัดทอนหรือเปลี่ยนข้อเสนอใหม่ จนกระทั่งได้ข้อเสนอที่ทุกคนพอจะเห็นพ้องต้องกันได้

เมื่อมาถึงขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นการ "แสวงหาฉันทามติ" จริง ๆ มีวิธีการคัดค้านทำได้สองระดับด้วยกัน กล่าวคือ

- ผู้คัดค้านอาจ "หลีกทาง" (stand aside) ซึ่งเท่ากับบอกว่า "ฉันไม่ชอบข้อเสนอนี้และจะไม่เข้าร่วม แต่หากคนอื่นเข้าร่วม ฉันก็ไม่ขัดขวาง" หรือ

- "ขวางทาง" (block) ซึ่งมีผลเท่ากับการวีโต้ การขวางทางจะทำได้ต่อเมื่อผู้คัดค้านรู้สึกว่าข้อเสนอนั้นละเมิดหลักการพื้นฐานหรือเหตุผลพื้นฐานของการรวมกลุ่ม อาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มีกลไกในการโอนอำนาจการตัดสินใจไปไว้ที่ศาล โดยให้ศาลวินิจฉัยมติของฝ่ายนิติบัญญัติว่า ขัดต่อหลักการในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนในขบวนการมีกลไกการโอนอำนาจการตัดสินใจให้ใครก็ตาม ที่กล้าพอจะลุกขึ้นยืนคัดค้านเจตจำนงรวมหมู่ของกลุ่ม (ถึงแม้มีวิธีการต่าง ๆ ในการคัดค้านการขวางทางที่ไร้หลักการด้วยเช่นกัน)

เราสามารถสาธยายได้ยืดยาวถึงวิธีการอันซับซ้อนละเอียดลอออย่างน่าทึ่ง ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้กระบวนการทั้งหมดดำเนินไปได้ อาทิเช่น การแสวงหาฉันทามติหลายรูปแบบที่ปรับประยุกต์สำหรับใช้กับกลุ่มคนจำนวนมาก กระบวนการแสวงหาฉันทามติเองช่วยส่งเสริมหลักการกระจายอำนาจ โดยยึดหลักว่า ไม่มีใครอยากโยนข้อเสนอให้คนกลุ่มใหญ่มาก ๆ นอกจากจำเป็นจริง ๆ รวมทั้งวิธีการต่าง ๆ ในการสร้างหลักประกันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและการคลี่คลายความขัดแย้ง.... ประเด็นสำคัญคือ นี่คือประชาธิปไตยทางตรงรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากประชาธิปไตยแบบที่เราคุ้นเคยกัน กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ นี่คือรูปแบบประชาธิปไตยที่นักอนาธิปไตยรุ่นก่อนในยุโรปและอเมริกาเหนือเคยใช้มาก่อน หรือที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น ใน asambleas (สมัชชา) ตามเมืองต่าง ๆ ในอาร์เจนตินา เป็นต้น

ในอเมริกาเหนือ มีการนำกระบวนการแสวงหาฉันทามติมาใช้กันมากในขบวนการเฟมินิสต์ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้ต่อลัทธิการนำแบบชายเป็นใหญ่ บ้าอำนาจ น่ารังเกียจ ของขบวนการซ้ายใหม่ยุคทศวรรษ 1960 กระบวนการแสวงหาฉันทามติมีจุดกำเนิดมาจากกลุ่มเควกเกอร์ (3) รวมทั้งกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชาวเควกเกอร์ ส่วนชาวเควกเกอร์เองนั้นอ้างว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจาก การปฏิบัติของชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงอเมริกันอีกทีหนึ่ง ข้ออ้างประการหลังนี้มีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนในเชิงประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่ยากจะชี้ชัดลงไปได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการตัดสินใจของชาวพื้นเมืองอเมริกัน มักใช้การแสวงหาฉันทามติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

(3) Quakers หรือชื่อที่เป็นทางการคือ The Religious Society of Friends (สมาคมศาสนาของกัลยาณมิตร) เควกเกอร์เป็นนิกายทางศาสนาที่ก่อตั้งขึ้นในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 17 และแพร่หลายออกไปในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สมาชิกสมาคมจะเรียกตัวเองว่า เควกเกอร์ ซึ่งแปลว่า "มิตร" หลักปฏิบัติที่เควกเกอร์ยึดถืออย่างเคร่งครัดคือ การใช้สันติวิธีและการไม่มีโครงสร้างบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้น ชาวเควกเกอร์มีบทบาทมากในการเลิกทาส การต่อต้านสงคราม การไม่ยอมรับการเกณฑ์ทหาร นอกจากนี้ยังก่อตั้งองค์กรกิจกรรมที่สำคัญจำนวนมาก อาทิเช่น กรีนพีซ, OXFAM, องค์การนิรโทษกรรมสากล ฯลฯ

อันที่จริง สมัชชาประชาชนส่วนใหญ่ในโลกตอนนี้ก็ใช้กระบวนการนี้ นับตั้งแต่ชุมชนชาวพื้นเมืองที่พูดภาษา Tzeltal หรือ Tzotzil หรือ Tojolobal ในรัฐเชียปัส ไปจนถึงชนเผ่า fokon'olona บนเกาะมาดากัสการ์ ผู้เขียนเคยอาศัยอยู่ในเกาะมาดากัสการ์สองปี หลังจากนั้น ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (Direct Action Network--DAN) ในนิวยอร์ก ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจและสะดุดใจมาก ที่กระบวนการที่นี่คล้ายกับกระบวนการของชาวพื้นเมืองบนเกาะมาดากัสการ์มาก ความแตกต่างที่สำคัญอยู่ตรงที่กระบวนการของ DAN มีแบบแผนและชัดเจนกว่า ทั้งนี้เนื่องจากทุก ๆ คนใน DAN ต้องประชุมไปพลางนึกไปพลางว่าจะสร้างกระบวนการตัดสินใจแบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ดังนั้น ทุก ๆ อย่างจึงต้องระบุออกมาให้ชัดเจน ในขณะที่ชาวพื้นเมืองมาดากัสการ์ทุกคนใช้กระบวนการนี้เป็นมาตั้งแต่หัดพูดแล้ว

ดังที่นักมานุษยวิทยาทั้งหลายตระหนักดีว่า แท้ที่จริงแล้ว ในบรรดาชุมชนมนุษย์เท่าที่เรารู้จักเกือบทั้งหมด เมื่อใดก็ตามที่ชุมชนนั้นจำต้องอาศัยการตัดสินใจเป็นหมู่คณะ ชุมชนย่อมใช้สิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า "กระบวนการแสวงหาฉันทามติ" ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสมอ ในที่นี้หมายถึงทุก ๆ ชุมชนที่ไม่ได้รับเอาจารีตแบบกรีกโบราณมาในทางใดทางหนึ่ง โดยทั่วไปแล้ว ยากนักที่ระบอบประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่ (majoritarian democracy) หรือรูปแบบประชาธิปไตยที่อธิบายไว้ในหนังสือ Roberts Rules of Order (4) จะเกิดขึ้นมาได้เอง ช่างน่าสงสัยว่าเหตุใดจึงแทบไม่มีใครเคยถามตัวเองว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นักมานุษยวิทยาก็ไม่เคยถามตัวเองเช่นกัน

(4) หนังสือเล่มนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Pocket Manual of Rules of Order for Deliberative Assemblies แต่บนปกใช้ชื่อว่า Robert's Rules of Order เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดย Major Henry Martyn Robert (1837-1923) อธิบายถึงกระบวนการที่ใช้ในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ

สมมติฐาน
ต้นกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่สถาบันกองทัพ

แน่นอน ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตกมีอคติว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ถือเป็น "ประชาธิปไตย" จริง ๆ มีรูปแบบเดียวเท่านั้น เรามักได้รับการสั่งสอนว่า ระบอบประชาธิปไตยมีต้นกำเนิดในกรุงเอเธนส์ยุคโบราณ ระบอบประชาธิปไตยเป็นนวัตกรรมของชาวกรีก เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์และปรัชญา แต่ไม่เคยมีการอธิบายให้ชัดๆ ว่า ความเชื่อนี้มีความหมายว่าอะไรกันแน่ จะให้เราเชื่อว่า ก่อนยุคของชาวเอเธนส์ ไม่เคยมีใครสักคนที่ไหนในโลกเคยฉุกคิดว่า น่าจะรวบรวมสมาชิกทั้งหมดในชุมชนของตนมาประชุมกัน เพื่อตัดสินใจร่วมกันโดยให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากันอย่างนั้นหรือ? นี่มันตลกสิ้นดี จริงๆ แล้วมีสังคมสมภาคนิยมมากมายในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความเสมอภาคยิ่งกว่ากรุงเอเธนส์มาก และมีหลายสังคมที่เกิดขึ้นก่อน 500 ปีก่อนคริสต์ศักราชเสียอีก แน่นอน สังคมเหล่านี้ย่อมต้องมีกระบวนการบางอย่างในการลงมติในประเด็นที่สำคัญต่อชุมชนส่วนรวม กระนั้นก็ตาม ด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ กระบวนการเหล่านี้กลับไม่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็น "ประชาธิปไตย" ที่แท้จริงเลย

แม้กระทั่งนักปราชญ์นักวิชาการที่ขึ้นชื่อว่าหัวก้าวหน้าอย่างไร้ที่ติ ทั้งยังเป็นผู้ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยทางตรงอย่างแข็งขัน ก็ยังทำตัวอ่อนปวกเปียกด้วยการพยายามอ้างความชอบธรรมให้ทัศนะเช่นนี้ อาทิเช่น Murray Bookchin (*) อ้างว่า ชุมชนสมภาคนิยมที่ไม่ได้อยู่ในโลกตะวันตกมีลักษณะแบบ "เครือญาติ" (แล้วกรีกไม่ใช่หรือ? จริงอยู่ การประชุมของชาวเอเธนส์อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนเครือญาติก็จริง แต่ชาว fokon'olona ในมาดากัสการ์หรือชาว seka ในเกาะบาหลีก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนเครือญาติเช่นกัน แล้วอย่างไรล่ะ?) "บางคนอาจพูดถึงระบอบประชาธิปไตยของสันนิบาติอีโรควอยส์หรือชาวเบอร์เบอร์" (5) Cornelius Castoriadis กล่าวไว้ "แต่นี่เป็นการใช้คำผิด ๆ สังคมของคนเหล่านี้เป็นสังคมบุพกาลที่เชื่อว่าเทพเจ้าหรือผีเป็นผู้ประทานระเบียบสังคมแก่พวกเขา ไม่ได้มีสำนึกในการปกครองตัวเองเหมือนอย่างประชาชนในเอเธนส์" (จริงหรือ? อันที่จริง "สันนิบาติแห่งชาติอีโรควอยส์" เป็นองค์กรเชิงสนธิสัญญา โดยเป็นข้อตกลงร่วมกันที่สร้างขึ้นตามเวลาในประวัติศาสตร์ และสามารถปรับเปลี่ยนข้อตกลงได้เรื่อยๆ) เหตุผลเหล่านี้ฟังไม่ขึ้นเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องฟังขึ้นหรอก เพราะจริงๆ แล้ว เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความมีเหตุผลเลย

(*)Murray Bookchin (January 14, 1921 - July 30, 2006) was an American libertarian socialist, political and social philosopher, speaker and writer. For much of his life he called himself an anarchist[2]. The founder of the social ecology movement within libertarian socialist and ecological thought, Bookchin is noted for his synthesis of the libertarian socialist tradition with modern ecological awareness. He was the author of two dozen books on politics, philosophy, history, and urban affairs as well as ecology.

Bookchin was a radical anti-capitalist and vocal advocate of the decentralisation of society. His writings on libertarian municipalism, a theory of face-to-face, grassroots democracy, had an influence on the Green Movement and anti-capitalist direct action groups such as Reclaim the Streets. He was a staunch critic of biocentric philosophies such as deep ecology and the biologically deterministic beliefs of sociobiology, and his criticisms of "new age" Greens such as Charlene Spretnak contributed to the divisions that affected the American Green movement in the 1990s.

(5) สันนิบาตอีโรควอยส์ (Iroquois) คือสันนิบาตของชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง 6 ชนชาติ กล่าวคือ ชาว Mohawk, Oneida, Seneca, Onondaga, Cayuga และ Tuscarora ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ราว ค.ศ. 1570. ส่วน "ชาวเบอร์เบอร์" (Berber) หมายถึงชาวพื้นเมืองในอัฟริกาเหนือ

เหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่เต็มใจยอมรับว่าสภาหมู่บ้านของชาวซูลาเวซีหรือชาวทัลเลนซี (6) เป็น "ระบอบประชาธิปไตย" ก็เพราะชาวบ้านเหล่านี้ไม่ได้ลงคะแนนเสียง นี่ไม่นับเหตุผลเพราะความเชื่อในลัทธิเชื้อชาตินิยม หรือความไม่เต็มใจยอมรับว่า คนเชื้อชาติใดๆ ที่ชาวตะวันตกเคยฆ่าล้างผลาญอย่างสบายมือจะมีระดับทางปัญญาเทียบเท่าเปริคลิส (7)

(6) ซูลาเวซี คือชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนเกาะขนาดใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนทัลเลนซีเป็นชาวพื้นเมืองทางตอนเหนือของประเทศกานา
(7) Pericles (495-429 ก่อนคริสตกาล) รัฐบุรุษชาวเอเธนส์ มีนโยบายแบบจักรวรรดินิยม และเป็นผู้อำนวยการสร้างวิหารพาร์ธีนอนในยุคทองของเอเธนส์

เอาล่ะ นี่นับว่าเป็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ทำไมถึงยอมรับไม่ได้ล่ะ? ถ้าเรายอมรับว่า การยกมือหรือการที่กลุ่มคนที่สนับสนุนญัตติหนึ่งไปยืนรวมกันที่ด้านหนึ่งของจัตุรัส ส่วนกลุ่มที่คัดค้านก็ไปยืนออกันอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่แนวคิดที่ซับซ้อนยุ่งยากเลยแม้แต่น้อย คงเป็นไปไม่ได้ที่ไม่มีมนุษย์คนไหนเลยเคยคิดออก จนต้องรอให้มนุษย์อัจฉริยะยุคโบราณบางคนมา "ประดิษฐ์คิดค้น" ขึ้น ถ้าอย่างนั้น ทำไมวิธีการนี้จึงมีใช้กันน้อยมาก? อีกครั้งที่ดูเหมือนเรามีตัวอย่างโต้แย้งอย่างชัดเจน ในเกือบทุกชุมชนทั่วโลก นับตั้งแต่ออสเตรเลียไปจนถึงไซบีเรีย ชุมชนสมภาคนิยมนิยมใช้กระบวนการแสวงหาฉันทามติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมากกว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำอธิบายที่ผู้เขียนจะนำเสนอในที่นี้ก็คือ ในชุมชนที่สมาชิกใกล้ชิดกัน การแสวงหาสิ่งที่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชนต้องการ เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการหาวิธีโน้มน้าวฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้หันมาเห็นด้วย กระบวนการแสวงหาฉันทามติเป็นรูปแบบที่พบได้ทั่วไปในสังคมที่ไม่มีหนทางบีบบังคับให้คนกลุ่มน้อยเห็นพ้องกับมติของเสียงส่วนใหญ่ ไม่ว่าเป็นเพราะการไม่มีรัฐผูกขาดการใช้กำลังบีบบังคับ หรือเป็นเพราะรัฐไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจของท้องถิ่นก็ตาม หากเราไม่มีหนทางใดที่จะบีบบังคับกลุ่มคนที่ไม่เห็นพ้องให้ปฏิบัติตามมติของเสียงส่วนใหญ่ ถ้าเช่นนั้น สิ่งสุดท้ายที่เราอยากทำก็คือการลงคะแนนเสียง เพราะนั่นเป็นการต่อสู้บนเวทีสาธารณะที่คนบางกลุ่มจะพ่ายแพ้ต่อหน้าธารกำนัล การลงคะแนนเสียงจึงเป็นวิธีการประจานให้เกิดความอับอาย ความขุ่นเคือง ความเกลียดชัง และการทำลายความสามัคคีของชุมชนลงในที่สุด กระบวนการแสวงหาฉันทามติที่หลายฝ่ายมองว่าซับซ้อนและยากลำบากนั้น อันที่จริงก็คือกระบวนการยืดยาวที่สร้างหลักประกันว่า จะไม่มีใครเดินจากไปด้วยความรู้สึกว่าทัศนะของตนถูกเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิง

ส่วนระบอบประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยสองประการเกิดขึ้นพร้อมกันพอดี กล่าวคือ

1. ความรู้สึกว่าประชาชนควรมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกันในการตัดสินใจของกลุ่ม และ
2. กลไกการข่มขู่บีบบังคับที่สามารถบังคับใช้มติของเสียงส่วนใหญ่ได้

เกือบตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์นั้น การมีทั้งสองปัจจัยพร้อมกันเป็นเรื่องที่พบได้ยากเย็นอย่างยิ่ง ที่ใดก็ตามที่มีสังคมสมภาคนิยมดำรงอยู่ สังคมนั้นก็มักจะเห็นว่าการใช้กำลังบีบบังคับอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งที่ผิด ส่วนที่ใดก็ตามที่มีกลไกการข่มขู่บังคับดำรงอยู่ กลุ่มคนที่กุมอำนาจก็มักไม่เคยคิดว่า ตนเองจำเป็นต้องนำเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่มาใช้ให้เมื่อย

เห็นได้ชัดว่า กรีซโบราณเป็นสังคมที่นิยมการแข่งขันมากที่สุดสังคมหนึ่งเท่าที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์ กรีซเป็นสังคมที่นิยมทำให้ทุกเรื่องเป็นการต่อสู้ในที่สาธารณะ นับตั้งแต่การแข่งกีฬา การโต้แย้งทางปรัชญา ไปจนถึงละครโศกนาฏกรรม หรือกล่าวได้ว่าทุกๆ เรื่อง ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจนักที่ชาวกรีกนิยมทำให้การตัดสินใจทางการเมืองเป็นการต่อสู้ในที่สาธารณะเช่นกัน แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การตัดสินใจนั้นกระทำโดยประชากรที่พร้อมรบ

อริสโตเติลกล่าวไว้ใน Politics ว่า ธรรมนูญการปกครองของนครรัฐกรีกแต่ละแห่งมักขึ้นอยู่กับอาวุธหลักในกองทัพ หากกองทัพเป็นทหารม้า นครรัฐนั้นจะปกครองแบบอภิชนาธิปไตย (aristocracy) ทั้งนี้เพราะม้ามีราคาแพง หากกองทัพเป็นหน่วยทหารราบติดอาวุธหนัก นครรัฐนั้นจะปกครองแบบคณาธิปไตย (oligarchy) ทั้งนี้เพราะมีคนเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถมีอาวุธหนักและได้รับการฝึกฝน หากอำนาจของนครรัฐตั้งอยู่บนกองทัพเรือหรือกองทหารราบติดอาวุธเบา เราก็คาดหมายได้ว่านครรัฐนั้นจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะประชาชนคนไหนก็สามารถพายเรือหรือใช้สลิงยิงได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ หากคน ๆ หนึ่งมีอาวุธ เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของเขา

ประเด็นนี้เห็นได้ชัดที่สุดในละครเรื่อง Anabasis ของเซโนฟอน ซึ่งเล่าเรื่องของกองทัพทหารรับจ้างชาวกรีก คนเหล่านี้เสียผู้นำไปอย่างกะทันหันและหลงทางกลางอาณาจักรเปอร์เซีย พวกเขาจึงเลือกตั้งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ จากนั้นก็จัดให้ลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในกรณีแบบนี้ ต่อให้คะแนนเสียงออกมา 60/40 ก็ไม่ยากที่จะเห็นดุลกำลังของแต่ละฝ่าย และอะไรจะเกิดขึ้นหากมีการต่อสู้กันเพราะความเห็นไม่ลงรอย ในความหมายที่แท้จริงนั้น แต่ละคะแนนเสียงก็คือการพิชิตอีกฝ่ายลงนั่นเอง

กองทัพของอาณาจักรโรมันก็มีความเป็นประชาธิปไตยแบบเดียวกัน นี่คือเหตุผลสำคัญที่กองทัพไม่เคยได้รับอนุญาตให้ย่างกรายเข้ามาในกรุงโรม และเมื่อมาเคียเวลลีรื้อฟื้นแนวคิดเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยในช่วงรุ่งอรุณของยุค "โมเดิร์น" มาเคียเวลลีจึงย้อนกลับไปพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับประชากรพร้อมรบทันที

ในทางกลับกัน ตัวอย่างข้างต้นอาจช่วยอธิบายความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" (democracy) ได้ด้วย ชนชั้นสูงฝ่ายปฏิกิริยาเป็นผู้บัญญัติคำคำนี้ขึ้นมาโดยมีความหมายเชิงลบ คำว่า democracy ตามตัวอักษรแปลว่า "กำลัง" หรือ "ความรุนแรง" ของประชาชน มันคือ kratos (*) ไม่ใช่ archos (8) ชนชั้นสูงที่บัญญัติคำนี้ มักมองว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ต่างอะไรนักกับการจลาจลหรือการปกครองโดยม็อบ แน่นอน ทางออกที่พวกชนชั้นสูงเสนอไว้ก็คือ การให้ใครสักคนจัดการปราบปรามประชาชนอย่างถาวร เรื่องที่น่าขันก็คือ เมื่อใดที่ชนชั้นสูงปราบปรามประชาธิปไตยได้สำเร็จ ผลที่ตามมาก็คือ วิธีเดียวที่เจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นที่รับรู้ ก็ต้องอาศัยการจลาจลเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่กลายเป็นสถาบันไป เช่น ในยุคจักรวรรดิโรมัน หรือประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 18

(*) In Greek mythology, Cratos (English translation: "strength") was a son of Pallas and Styx, and he was the personification of strength and power. Cratos and his siblings, Nike, Bia and Zelus, were all companions of Zeus. The spelling Kratos would be more faithful to the original Greek spelling. The Latinized spelling Cratus has also been used.

(8) The name is an anagram of Crohas' last name, and it is also Greek for 'master'

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า ระบอบประชาธิปไตยทางตรงดังที่มีปฏิบัติกันในบางสังคม เช่น ในนครยุคกลางหรือการประชุมเมืองของนิวอิงแลนด์ (9) ไม่ได้มีระเบียบแบบแผนและกระบวนการอันมีเกียรติ ถึงแม้เราคงคาดหมายได้ว่า ในการปฏิบัติจริงๆ นั้น ย่อมมีกระบวนการแสวงหาฉันทามติเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย กระนั้นก็ตาม การมีกองทัพอยู่เบื้องหลังนี้เองที่ทำให้กลุ่มผู้เขียน Federalist Papers (10) ทึกทักเช่นเดียวกับผู้มีการศึกษาเกือบทั้งหมดในยุคนั้นว่า "ประชาธิปไตย" ตามที่พวกเขาเรียกขานกันนั้น หมายถึงระบอบประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว เป็นรูปแบบการปกครองที่ไร้เสถียรภาพและปั่นป่วนวุ่นวายที่สุด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เป็นอันตรายต่อสิทธิของคนกลุ่มน้อย (คนกลุ่มน้อยที่พวกเขาเป็นห่วงในที่นี้ก็คือคนรวยนั่นเอง) จวบจนกระทั่งคำว่า "ประชาธิปไตย" มีความหมายเปลี่ยนไป โดยหันไปเน้นในหลักการของตัวแทน (representation) เกือบสิ้นเชิงนั่นแหละ คำ ๆ นี้จึงกลับมาเป็นที่นิยมในสายตาของนักทฤษฎีการเมืองชนชั้นสูงอีกครั้ง และมีความหมายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ทั้งๆ ที่คำว่า "ตัวแทน" มีประวัติความเป็นมาที่น่าฉงนไม่น้อย ดังที่ Cornelius Castoriadis ตั้งข้อสังเกตว่า ความหมายดั้งเดิมนั้นหมายถึง ตัวแทนของประชาชนเพื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์ หรืออันที่จริงก็คือ คณะทูตภายในประเทศนั่นเอง หาใช่ผู้ใช้อำนาจแต่อย่างใดไม่

(9) การประชุมเมือง (town meetings) ของนิวอิงแลนด์ เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่ใช้กันมาในภูมิภาคนิวอิงแลนด์ตั้งแต่ยุคอาณานิคม ในการประชุมนั้น ประชาชนจะมาร่วมหารือปัญหาต่างๆ กับสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชนและลงคะแนนเสียงกัน ถือเป็นระบอบประชาธิปไตยทางตรงในสหรัฐอเมริกา แต่กระบวนการเช่นนี้เคยถูก James Madison (*) วิจารณ์ไว้ใน Federalist No. 55 (*)James Madison, Jr.[1] (March 16, 1751 - June 28, 1836) was an American politician, the fourth President of the United States (1809-1817), and one of the Founding Fathers of the United States.

ส่วนนครยุคกลางหรือ medieval cities นั้น หมายถึง เมืองหลาย ๆ เมืองที่เจริญขึ้นมาด้วยการค้าและวิทยาการในสมัยยุคกลาง เช่น เวนิซ เจนัว ฯลฯ เมืองเหล่านี้มีการปกครองแยกออกไปจากระบอบราชาธิปไตยและศาสนจักร โดยมักมีผู้ปกครองเป็นนคราภิบาลหรือ magistrate และมีการปรึกษาหารือกับชาวนครโดยตรง

(10) Federalist Papers หมายถึงบทความ 85 ชิ้นที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา มีการตีความรัฐธรรมนูญและนำเสนอปรัชญาและรูปแบบของรัฐบาล บทความจำนวน 77 ชิ้นแรกถูกตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องใน The Independent Journal และ The New York Packet ระหว่าง ค.ศ. 1787-88 ต่อมามีการรวมบทความเหล่านี้บวกกับบทความอื่นอีก 8 ชิ้นตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Federalist ใน ค.ศ. 1788 เจมส์ เมดิสัน เป็นหนึ่งในผู้เขียนบทความชุดนี้

ในแง่นี้ นักอนาธิปไตยจึงคิดว่า คำพูดของนักทฤษฎีการเมืองฝ่ายขวาที่ยืนกรานว่า "อเมริกาไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นสาธารณรัฐต่างหาก" เป็นคำพูดที่ถูกต้องทีเดียว สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ นักอนาธิปไตยเห็นว่านั่นคือปัญหา พวกเขาคิดว่าอเมริกาควรเป็นประชาธิปไตย ถึงแม้มีคนจำนวนมากขึ้นที่เริ่มยอมรับว่า คำวิจารณ์ของชนชั้นสูงดั้งเดิมที่มีต่อประชาธิปไตยทางตรงเสียงส่วนใหญ่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผลโดยสิ้นเชิง

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่า ระเบียบสังคมทุกระบบต้องต่อสู้กับตัวมันเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สังคมที่ไม่ต้องการสร้างกลไกความรุนแรงเพื่อบังคับใช้การตัดสินใจ จำเป็นต้องพัฒนากลไกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อสร้างและรักษาฉันทามติในสังคมเอาไว้ (อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อสร้างหลักประกันว่า ฝ่ายที่ไม่พอใจยังคงรู้สึกว่าตนเองมีเสรีภาพในการเลือกที่จะยอมอ่อนข้อให้การตัดสินใจที่ไม่ดี) มิฉะนั้นแล้ว สงครามภายในจะกลายเป็นการต่อสู้ยามค่ำคืนและความรุนแรงไร้ที่สิ้นสุด

ประชาธิปไตยทางตรงเสียงส่วนใหญ่มีการข่มขู่ถึงการใช้กำลังอย่างชัดเจนเสมอ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ระบอบประชาธิปไตยแบบนี้จึงมีแนวโน้มที่จะไร้เสถียรภาพ หรือกล่าวให้ถูกต้องยิ่งกว่านั้นก็คือ หากระบอบนี้ดำรงอยู่ได้ ก็เป็นเพราะรูปแบบเชิงสถาบันของมัน (เช่น นครยุคกลาง การประชุมสภาเมืองของนิวอิงแลนด์ การสำรวจความคิดเห็นของ Gallup Poll (11) การลงประชามติ....) มักฝังอยู่ในโครงสร้างการปกครองที่ชนชั้นสูงผู้มีอำนาจใช้ความไร้เสถียรภาพนั้นมาอ้างความชอบธรรมให้แก่การผูกขาดเครื่องมือการใช้ความรุนแรงเอาไว้ ในท้ายที่สุด ภัยคุกคามของความไร้เสถียรภาพก็กลายเป็นข้ออ้างให้ใช้รูปแบบ "ประชาธิปไตย" ในระดับต่ำสุด ซึ่งไม่เหลืออะไรมาก นอกจากยืนยันว่าชนชั้นปกครองควรปรึกษา "สาธารณชน" เป็นครั้งคราว โดยจัดฉากอย่างระมัดระวังให้ดูเหมือนมีการต่อสู้แข่งขัน เต็มไปด้วยการชิงชัยและการรณรงค์หาเสียงที่ไร้ความหมาย เพื่อตอกย้ำสิทธิของชนชั้นปกครองในการดำเนินกระบวนการตัดสินใจแทนประชาชน
99999999999
(11) Gallup Organization เป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดย George Gallup องค์กรนี้ทำโพลล์หรือการสำรวจความคิดเห็นทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ อีก 140 ประเทศทั่วโลก สื่อมวลชนมักอ้างอิง Gallup Poll ในฐานะการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่น่าเชื่อถือ

นี่คือกับดัก เมื่ออำนาจถูกโยนกลับไปกลับมาระหว่างสองพรรค จนแน่ใจว่าเป็นไปได้ยากที่จะมีใครคิดฝันว่า ประชาชนสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจาก "ผู้แทน" ด้วยเหตุนี้เอง ขบวนการสังคมใหม่จึงเริ่มต้นด้วยการรื้อฟื้นความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย การทำเช่นนั้นหมายถึงการยอมรับความจริงว่า "เรา" ไม่ว่าจะหมายถึง "ตะวันตก" (ไม่ว่าคำๆ นี้หมายถึงอะไรก็ตาม) หรือ "โลกสมัยใหม่" หรืออะไรก็ตาม ไม่ได้มีความพิเศษอย่างที่เราชอบคิด เราไม่ใช่มนุษย์กลุ่มเดียวที่เคยใช้กระบวนการประชาธิปไตย แท้ที่จริงแล้ว แทนที่จะเผยแผ่ระบอบประชาธิปไตยออกไปทั่วโลก รัฐบาล "ตะวันตก" กลับใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเข้าแทรกแซงชีวิตของประชาชน ที่ใช้กระบวนการประชาธิปไตยมาหลายพันปี พร้อมกับใช้วิธีใดวิธีหนึ่งบอกประชาชนเหล่านั้นว่า พวกเขาควรเลิกใช้กระบวนการประชาธิปไตยเสียที

ลัทธิสากลนิยมระลอกที่สอง
กำลังใจที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่เราได้รับจากขบวนการสังคมใหม่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอนาธิปไตยนี้ก็คือ การที่ขบวนการนำเสนอลัทธิสากลนิยมรูปแบบใหม่ ลัทธิสากลนิยมแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิมมีอุดมคติที่งดงามมากเช่นกัน แต่ในแง่ของการจัดตั้งแล้ว ทุกๆ คนต้องเดินเรียงแถวไปในเส้นทางเดียวกันหมด มันกลายเป็นวิธีการที่ระบอบการปกครองนอกยุโรป และอาณานิคมของผู้ตั้งถิ่นฐานใช้เรียนรู้องค์กรแบบยุโรป ทั้งโครงสร้างพรรค การประชุมใหญ่ การกวาดล้าง ระบบราชการที่ลดหลั่นเป็นลำดับชั้น ตำรวจลับ....

แต่ลัทธิสากลนิยมครั้งใหม่ ซึ่งเราอาจเรียกว่า ลัทธิสากลนิยมระลอกที่สอง หรือไม่ก็เรียกง่าย ๆ ว่า โลกาภิวัตน์แบบอนาธิปไตย รูปแบบการจัดตั้งของขบวนการเดินไปในอีกทิศทางหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่กระบวนการแสวงหาฉันทามติ แนวคิดของปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าของมวลชนซึ่งพัฒนาขึ้นมาในอัฟริกาใต้และอินเดียเป็นครั้งแรก รูปแบบเครือข่ายยุคใหม่ที่นำเสนอก่อนใครโดยประชาชนขบถในรัฐเชียปัส แม้กระทั่งแนวคิดของกลุ่มเครือสหายที่ได้มาจากสเปนและละตินอเมริกา ผลพวงที่เราได้จากชาวพื้นเมืองและกลยุทธ์ของชาวพื้นเมือง น่าจะเป็นคุณูปการอย่างมาก หากว่านักมานุษยวิทยาจะยอมก้าวข้ามความลังเลใจ ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ก็มักมีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมอันน่ารังเกียจของตนเอง

นักมานุษยวิทยาควรลืมตามองให้เห็นว่า ความรู้ที่พวกเขานั่งทับอยู่นั้น ไม่ใช่ความลับที่ทำให้รู้สึกผิด (ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นความลับที่ทำให้นักมานุษยวิทยาเท่านั้นแหละรู้สึกผิด คนอื่น ๆ เขาไม่รู้สึกด้วยหรอก) แต่เป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๑ : Release date 20 August 2008 : Copyleft MNU.

ประชาธิปไตยทางตรงเสียงส่วนใหญ่มีการข่มขู่ถึงการใช้กำลังอย่างชัดเจนเสมอ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ระบอบประชาธิปไตยแบบนี้ จึงมีแนวโน้มที่จะไร้เสถียรภาพ หรือกล่าวให้ถูกต้องยิ่งกว่านั้นก็คือ หาก ระบอบนี้ดำรงอยู่ได้ ก็เป็นเพราะรูปแบบเชิงสถาบันของมัน มักฝังอยู่ในโครงสร้างการปกครอง ที่ชนชั้นสูงผู้มีอำนาจ ใช้ความไร้เสถียร ภาพนั้นมาอ้างความชอบธรรมให้แก่การผูกขาดการใช้ความรุนแรงเอาไว้ ในท้ายที่สุด ภัยคุกคามของความไร้เสถียรภาพก็กลายเป็นข้ออ้างให้ใช้รูปแบบ "ประชาธิปไตย" ในระดับต่ำสุด ซึ่งไม่เหลืออะไรมาก นอกจากยืนยันว่าชนชั้นปกครองควรปรึกษา "สาธารณชน" เป็นครั้งคราว โดยจัดฉากอย่างระมัดระวังให้ดูเหมือนมีการต่อสู้แข่งขัน เต็มไปด้วยการชิงชัยและการรณรงค์หาเสียงที่ไร้ความหมาย

H