ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




12-08-2551 (1638)

ชุดความรู้เที่ยงคืน: แนวคิดทฤษฎีกายา โลกมีชีวิต
ภาวนาและสติ: บทคั่นรายการโทรทัศน์และเนื้อสมองของเรา?
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความนี้ แปลจาก ผลงานเขียนเกี่ยวกับโลกธรรมชาติอันงดงาม ชวนพิศวงของ Jeremy W. Hayward
เรื่อง Letters to Vanessa: On Love, Science and Awareness in an Enchanted World
สาระสำคัญของงานเขียนนี้ พยายามชี้ให้เห็นถึงโลกธรรมชาติอันมีชีวิตชีวา ตายลงได้อย่างไร?
แน่นอนด้านหนึ่งคือคำอธิบายโลกฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ แต่มันมีอย่างอื่นที่ซับซ้อนมากกว่านั้น
งานเขียนอันงดงามอธิบายโลกมีชีวิตนี้ ได้แสดงออกผ่านงานเขียนในรูปจดหมาย และใช้ภาษาที่เรียบง่าย
ทำให้เราหันกลับมาทบทวนกับความเชื่อ คำอธิบายที่เราได้รับจากโรงเรียน และกระบวนทัศน์แบบยุคสว่าง
สู่การภาวนา และตรวจดูจิตใจภายใน

ในส่วนของบทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วยจดหมายสองฉบับ คือ
๑. จดหมายฉบับที่ 6 บทคั่นรายการที่ 1
๒. จดหมายฉบับที่ 7 สมองมองเห็นหรือไม่?

บทความก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวเนื่อง
1448. โลกตายหรือโลกเป็น: อำนาจของฟิสิกส์กับความดิบงามของธรรมชาติ
1450. Enchanted World: โลกที่มีชีวิตอันชวนพิศวง โลกที่มีวิญญาน

1603. จดหมายถึงวาเนสสา: โลกพิศวงแต่เดิมเป็นอย่างไร?

1621. เวลาและอากาศสัมบูรณ์ ลางสังหรณ์ และช่วงปัจจุบันขณะ

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๖๓๘
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ชุดความรู้เที่ยงคืน: แนวคิดทฤษฎีกายา โลกมีชีวิต
ภาวนาและสติ: บทคั่นรายการโทรทัศน์และเนื้อสมองของเรา?
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

จดหมายฉบับที่ ๖
บทคั่นรายการที่ 1

วาเนสสาลูกรัก
ตอนที่พ่อเป็นเด็ก ในประเทศอังกฤษเมื่อทศวรรษ 1950 ทุกชั่วโมงจะมีการสลับฉากเป็นเวลาห้านาที เพื่อคั่นระหว่างรายการโทรทัศน์ (ตอนนั้นยังไม่มีโฆษณาเสียด้วย!) รายการสลับฉากเหล่านี้มักเป็นภาพง่ายๆ ที่ดูสบายตา บางภาพก็เป็นภาพปลากำลังว่ายเข้าไปยังตู้ปลา อีกภาพหนึ่งที่พ่อชอบมากในตอนนั้นคือ ภาพผู้ชายสองคนกำลังเรียงฟืนบนกองไฟขนาดใหญ่ ในภาพจะเป็นฉากที่พวกเขาเดินกลับไปกลับมา เพื่อนำกิ่งไม้มากองให้สูงขึ้นสูงขึ้นกว่าที่เป็น และทุกครั้งเปลวไฟก็จะลามเลียสูงขึ้นและมีเสียงปะทุของไม้เป็นระยะ มันเป็นภาพที่เงียบสงบชวนให้ผ่อนคลายสำหรับคั่นรายการโทรทัศน์ เหมือนกับช่วยให้เรากลับมาอยู่กับตัวเองเป็นเวลาสักห้านาที เป็นการหยุดพักในท่ามกลางความตื่นเต้นของรายการบันเทิง. ในชีวิตประจำวันของเรา เรามักไม่ค่อยมีโอกาสหยุดพักจากชีวิตที่ยุ่งเหยิง เราไม่มีเวลากลับมาเป็นตัวของเราเอง ซึ่งคงเป็นเหตุที่ให้เกิดความเครียดและความเศร้าหมอง

สำหรับบทคั่นรายการบทนี้ พ่อจะเล่าให้ลูกฟังเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ช่วยให้สามารถเห็นโลกที่มีชีวิตและปฏิบัติไปตามสิ่งที่ลูกเห็นได้ พวกเราต่างคุ้นเคยกับความคิดที่ว่าเพื่อให้เก่งกาจสามารถ เราก็ต้องหัดปฏิบัติฝึกฝน อย่างเช่น การหัดเล่นเปียโน วาดภาพ เล่นฟุตบอล เล่นสกีและอื่นๆ ลูกเองอาจจะคิดไม่ถึงว่าการจะเห็นโลกตามวิถีทางใหม่ ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติฝึกฝนเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สำหรับบางคนที่ตาบอดมาตลอดชีวิต หากมีการผ่าตัดและทำให้มองเห็นได้อีกครั้ง คน ๆ นั้นอาจไม่สามารถมองเห็นโลกแบบที่เราเห็น ในตอนต้น เธออาจจะเห็นรูปทรงและสีสันที่ขุ่นมัวจนแยกจากกันไม่ออก คนที่ผ่านประสบการณ์แบบนี้บางคนเกิดอาการท้อถอยอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่สามารถมีประสบการณ์ต่อโลกทั้งในแง่ของเสียงและการสัมผัสแบบที่พวกเขาเคยทำได้อีกต่อไป พวกเขาต้องฝึกฝนอย่างหนักเพื่อให้สามารถเห็นโลกได้อีกครั้ง หรือลองรับฟังคำอธิบายของไมเคิล โพลันยี (Michael Polanyi) นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งที่พูดไว้ในระหว่างฝึกฝนที่จะอ่านภาพถ่ายเอ็กซเรย์ว่า

"ลองคิดถึงนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งซึ่งกำลังเรียนรู้การวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ของโรคปอดสิ เขาจ้องมองเงามืดบนภาพภายในห้องมืดบนแผงหลอดไฟที่วางอยู่บนหน้าอกของคนไข้ และได้ยินแต่นักรังสีวิทยาให้ความเห็นกับผู้ช่วยในภาษาเทคนิคเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของเส้นเงาเหล่านั้น ในตอนแรกนักศึกษาคงรู้สึกงงงวยอย่างมาก เพราะสิ่งที่เขาเห็นบนภาพเอ็กซเรย์หน้าอกเป็นแค่เงาของหัวใจและซี่โครง และมีเส้นสายคล้ายใยแมงมุมที่เชื่อมโยงระหว่างอวัยวะเหล่านั้น ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเอาแต่คุยฟุ้งเกี่ยวกับภาพที่เขาเห็นตามจินตนาการของเขา แต่นักศึกษาแพทย์กลับไม่เห็นสิ่งที่พวกเขากำลังพูดถึงเลย

แต่หลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์เมื่อมีการฟังเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อเขาได้เพ่งพิจารณาภาพเอ็กซเรย์ของคนไข้รายใหม่ ๆ มากขึ้น เขาก็เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น เขาจะเริ่มลืมเลือนซี่โครงและเริ่มมองเห็นปอด และท้ายที่สุดถ้าเขาเพียรพยายามอย่างมาก เขาก็จะเห็นภาพมุมกว้างที่ให้รายละเอียดอย่างมาก เป็นรายละเอียดในเชิงกายภาพและสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยา มองเห็นแผลเป็น การติดเชื้อเรื้อรังและสัญญาณที่แสดงถึงความรุนแรงของโรค เขากำลังเข้าสู่โลกใบใหม่ เขายังคงมองเห็นเพียงส่วนเดียวของที่ผู้เชี่ยวชาญมองเห็น แต่ภาพเหล่านี้เริ่มเป็นที่เข้าใจต่อเขามากขึ้น เช่นเดียวกับความเห็นต่าง ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญพูดถึง เขากำลังเริ่มเข้าใจสิ่งที่ได้รับการสั่งสอน มันเหมือนกับการปิ๊งขึ้นมา"

การสามารถเห็น/รู้สึกกับโลกที่มีชีวิตเริ่มขึ้นได้จากการเข้าใจตนเอง ดังนั้นการปฏิบัติแบบง่าย ๆ ที่มีส่วนช่วยให้เราเข้าใจตนเองจึงเป็นขั้นแรกของการปฏิบัติที่พ่ออยากเล่าให้ลูกฟังในบทคั่นรายการฉบับนี้ พ่อรู้ว่าลูกได้เริ่มปฏิบัติตามแนวทางนี้บ้างแล้ว แต่ก็ไม่เสียหายอะไรที่จะทบทวนสิ่งนั้น และอาจเป็นประโยชน์ต่อใครก็ตามที่อ่านจดหมายเหล่านี้ ลองหยุดพักจากกิจกรรมและนั่งเงียบ ๆ อยู่กับตนเองซึ่งเป็นการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เป็นมนุษย์ที่แท้ หากไม่ทำเช่นนี้เราก็แทบไม่สามารถเข้าใจตนเองได้ และการทำเช่นนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกฝนด้านจิตวิญญาณ บางคนเรียกว่าเป็นการเข้าเงียบ บางคนเรียกว่าเป็นวิปัสสนา บางคนเรียกว่าการฝึกสติ

พ่อตื่นขึ้นมาตอนย่ำรุ่งวันนี้เพื่อปฏิบัติสมาธิก่อนอาหารเช้า ซึ่งเป็นกิจที่ทำทุกวันในระหว่างเข้าเงียบเพื่อเขียนหนังสือ การปฏิบัติในขั้นแรกคือการฝึกสติ หรือบางครั้งเราเรียกว่าเป็นการนั่งสมาธิ ตามวิธีการก็คือการนั่งอย่างสงบ ในการปฏิบัติเช่นนี้ พ่อจะนั่งขัดสมาธิ โดยมือทั้งสองข้างวางอยู่บนขาอ่อน พยายามให้หลังตรงและผ่อนคลายบริเวณหัวใจ ตายังเปิดอยู่ ในระหว่างนั่ง พ่อจะสำรวจร่างกายที่วางอยู่บนเบาะ รับรู้เสียงหัวใจเต้นตรงกึ่งกลางหน้าอก เสียงชีพจรทั่วร่างกาย รับรู้ต่อความมั่นคงและความเป็นธรรมชาติของร่างกาย เราเพียงแค่เพ่งความสนใจไปยังความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้น ปล่อยให้ความคิดและความรู้สึกเกิดขึ้นและดับไปเมื่อมันต้องการจากไป เราเพียงแค่พยายามซื่อตรงและซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่พยายามหลบหนีจากความคิดที่เราเห็นว่าไม่ดี ไม่พยายามติดยึดกับความรู้สึกที่เราคิดว่าดี ปฏิบัติต่อความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างนุ่มนวล อย่างมีเมตตาแต่ก็ไม่ไปกระตุ้นความคิดและความรู้สึกโดยไม่จำเป็น เพียงแต่ปล่อยวางให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นอย่างที่มันควรเป็น

เมื่อเกิดความฟุ้งซ่าน และลืมไปว่ากำลังจดจ่ออยู่กับความคิดและอารมณ์ และเมื่อเราหลงเข้าไปในการคิดบางเรื่อง เราก็จะพยายามดึงความจดจ่อกลับมาสู่ลมหายใจอย่างนุ่มนวล เราจะจดจ่อกับลมหายใจตอนที่มันออกจากร่าง ทำให้ความจดจ่อเป็นเสมือนสมอเรือที่ยึดโยงตัวเราไว้กับที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในขณะที่ความคิดและอารมณ์ที่แตกต่างกันเกิดขึ้น การปฏิบัติเช่นนี้อาจเป็นเรื่องน่าเบื่อมากในบางครั้ง มันเหมือนกับการเพ่งความจดจ่อไปยังความคิดเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งเป็นขั้นตอนที่ดูจะไม่มีเป้าหมาย บางครั้งมันทำให้เกิดความเจ็บปวดเพราะความคิดและความรู้สึกที่เราได้ลืมเลือนไปแล้ว หรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เราไม่ได้คิดถึงเป็นเวลานานแล้วกลับฟื้นคืนขึ้นมาอีก บางครั้งเราอาจรู้สึกตื่นเต้นกับความคิดดี ๆ ที่เกิดขึ้นจนจิตใจเราฟุ้งซ่านไปในทุกที่ จนทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะกระโดดและขึ้นมาเขียน บางครั้งมันก็เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขอย่างมาก เป็นช่วงเวลาที่รู้ตัวทั่วพร้อม ทำให้เกิดความอบอุ่นและความกระจ่างชัดขึ้นในจิต

มันเหมือนกับร่างกายและความคิด และอารมณ์วิ่งไปในหลายทิศทางเกือบตลอดเวลา บางทีก็คิดไปถึงวันข้างหน้า บางทีร่างกายก็เกิดอาการง่วงและเชื่องช้า บางทีก็เกิดอารมณ์คาดหวังต่อบางสิ่งที่ยังไม่มีในตอนนี้ (อย่างเช่น อยากอาบน้ำให้ชื่นใจ) และบางทีก็เกิดความรู้สึกทั้งสามอย่างขึ้นในเวลาเดียวกัน ในชั่วขณะนั้นพ่อจะรู้สึกเหมือนเป็นมนุษย์ที่เต็มสมบูรณ์ เหมือนกับเข้าถึงสภาวะที่มนุษย์ควรจะเป็น นั่นคือสภาพที่ร่างกาย ความคิดและอารมณ์ ต่างทำงานผสมผสานกันเป็นเอกภาพ เหมือนกับกีตาร์ที่ขึ้นสายไว้อย่างดี ชั่วขณะนั้นเองที่แผ้วถางให้เกิดประสบการณ์แบบที่แคเธอลีน เรน (Kathleen Raine) (*) สัมผัสได้แบบที่พ่อพูดถึงในจดหมายฉบับแรก

(*)Kathleen Jessie Raine (June 14, 1908 - July 6, 2003) was a British poet, critic and independent scholar writing in particular on William Blake and W. B. Yeats.

แต่มันไม่สำคัญหรอกว่าพ่อจะรู้สึกเบื่อ หรือผิดหวัง หรือตื่นเต้น หรือมีความสุข สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติสมาธิภาวนาให้เป็นกิจวัตรประจำวัน พ่อเห็นว่ามันเป็นวิธีเดียวที่เราจะปฏิบัติต่อตัวเราอย่างมีเมตตามากที่สุด ให้ตัวเรามีโอกาสช้าลงและเข้าใจว่าเราคือใคร ครั้งแล้วครั้งเล่า. มันเหมือนกับนักธรรมชาตินิยมที่จ้องมองหนูแพรรี่ด็อกที่ผลุบโผล่ในหลุมของมันเป็นเวลาครั้งละหลายชั่วโมง หรือครั้งละหลาย ๆ วัน จนกระทั่งเขามีความคุ้นเคยกับการเคลื่อนไหวของมัน และเขาได้สูญเสียความรู้สึกที่แยกขาดจากพวกมันไป จากนั้นเขาก็จะเริ่มเข้าใจถึงแบบแผนพฤติกรรมของหนูแพรรี่ด็อก รวมทั้งเกิดความรู้สึกใกล้ชิดกับสมาชิกแต่ละตัวของฝูงแพรรี่ด็อกที่เขาจ้องมอง ณ จุดนั้นเอง นักธรรมชาตินิยมเริ่มมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของหนูแพรรี่ด็อกแล้ว

ในการนั่งสมาธิก็เช่นกัน เราพยายามทำความเข้าใจกับกระบวนการที่เกิดขึ้นในจิตของเราจนกระทั่งเราไม่ได้กลายเป็น "ผู้เฝ้ามอง" อีกต่อไป เราได้สูญเสียความรู้สึกที่แยกตัวเองออกจากจิตไป ณ จุดนั้น เราจะเห็นธรรมชาติของความคิดและอารมณ์อย่างแท้จริง เราจะเห็นกระบวนการรับรู้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด แน่นอนว่าการพูดง่ายกว่าทำ เพราะเรามักจะมีมายาคติที่หลอกตัวเองและมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงที่จะค้นหาว่าแท้จริงว่าเราคือใคร แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้หากเรามีความกล้าหาญพอที่จะซื่อสัตย์ต่อตนเอง

การฝึกสติมีองค์ประกอบสองประการ ซึ่งสอดคล้องกับแง่มุมการทำงานของจิตในสองแบบ กล่าวคือ การจดจ่ออยู่กับกิจกรรมหรือความคิด และการเปิดรับประสบการณ์อันไพศาล ในแง่ของความรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นการจดจ่ออยู่กับความคิด อารมณ์ ความรู้สึกทางร่างกายที่เกิดขึ้น เป็นการจดจ่ออย่างเต็มที่อยู่กับร่างกาย ความคิดและอารมณ์จนไม่มีสิ่งอื่นหลงเหลืออยู่ ไม่มีตัวตน ไม่มีผู้ดู ไม่มีจิตที่แยกจากกาย อันที่จริงสิ่งที่เราทำไม่ใช่การเฝ้ามอง แต่เป็นการอยู่ร่วมกับสิ่งที่เราทำ คิด และรู้สึกแม้ในสิ่งที่ละเอียดที่สุด

ความรู้ตัวทั่วพร้อมจะยังมีอยู่ต่อไปแม้จนเลิกนั่งสมาธิ เมื่อจิตของเรา ความจดจ่อของเรายังคงอยู่กับการกระทำทุกอย่างที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้ การเช็ดถ้วยชา การล้างรถ การโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ ความจดจ่อต่อรายละเอียดต่าง ๆ เป็นไปอย่างระมัดระวังและกึ่งตั้งใจ ความรู้ตัวทั่วพร้อมจะขึ้นอยู่กับความมีสติ เมื่อเราอยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มที่ มีใจที่เปิดกว้าง ทัศนะที่เปิดออกต่อชีวิตจะบังเกิดขึ้น เราจะเกิดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นฉากหลังการกระทำและความคิดของเรา และจะใส่ใจต่อความไพศาลและบางเบาแห่งสภาวะจิต ด้วยความมีสติ เราจะตระหนักถึงความคิด อารมณ์ และการรับรู้ซึ่งไม่ใช่สิ่งแข็งกระด้าง ไม่ใช่ "วัตถุ" ที่หนักหน่วง หากเป็นแบบแผนของพลังงานอย่างหนึ่ง

ความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในช่องว่างที่เปิดออกของสายธารความคิดหรือความฟุ้งซ่าน เป็นเหมือนความสดชื่นที่แวบขึ้นมาทันทีทันใด เราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน เราไม่สามารถยึดเหนี่ยวมันไว้ และเราไม่สามารถสร้างมันขึ้นมาใหม่อย่างง่ายดาย ด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม เราอาจจะเห็นดอกไม้หรือใบหน้าผู้คนด้วยมุมมองใหม่ มันอาจจะเป็นอารมณ์ขันที่เกิดขึ้นมาแวบหนึ่งในท่ามกลางความโกรธ

ความมีสติและความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นกระบวนการง่าย ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติในทุกขณะของชีวิต ไม่ว่าจะเกิดขึ้นน้อยหรือมาก แต่มันอาจอยู่ในสภาพที่กระจัดกระจายและถูกซ่อนจากตัวเรา และมักเป็นเครื่องมือที่เราหาไม่ค่อยจะพบในยามที่ต้องการใช้ แต่บางคนก็สามารถใช้เครื่องมือนี้ได้โดยสัญชาตญาณ การมีสติคือการจดจ่อ เรามักจะเกิดความจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อมีสิ่งที่ดึงดูดใจ อย่างเช่น ได้ยินเสียงประหลาดหรือเห็นคนที่สวย แม้เราจะพยายามจดจ่อรับฟังบทเรียนที่น่าเบื่อหน่าย แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสักพักสมาธิของเราก็จะฟุ้งซ่านไปที่เรื่องอื่นอยู่บ่อย ๆ แม้ในตอนที่เรามีความตั้งใจจะเรียนรู้อย่างแท้จริง แต่บ่อยครั้งที่เรามักไม่สามารถรวบรวมสมาธิได้

ความรู้ตัวทั่วพร้อมคือการเปิดจิตของเราออกในแต่ละขณะ เปิดออกเพื่อสัมผัสกับการรับรู้และความรู้สึกอันไพศาล ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เหมือนตอนที่เราเล่นเครื่องดนตรีในวงออเคสตร้า เราอาจจดจ่ออยู่กับเครื่องดนตรีในส่วนที่เราเล่น แต่ในขณะเดียวกันเราก็เปิดใจกว้างรับรู้เสียงของเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ ในวง และรับรู้สัญญาณมือของวาทยกร

ครั้งหนึ่งพ่อมีโอกาสพูดกับคนซึ่งรับผิดชอบอบรมผู้ควบคุมจราจรทางอากาศในแคนาดา เมื่อพ่อเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับความมีสติ-ความรู้ตัวทั่วพร้อม เขาถึงกับอุทานว่า "นี่แหละสิ่งที่ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศต้องการ!" เขาอธิบายว่า คุณสมบัติทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างเร่งด่วน พวกเขาต้องการที่จะสามารถจดจ่อกับหน้าจอและเครื่องบินที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ หมายถึงการมีสติกับสิ่งนั้น ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องการที่จะรับรู้ภาพกว้างของห้วงอากาศโดยรวม นั่นคือความรู้ตัวทั่วพร้อม

หรือสมมติว่าลูกกำลังทำอาหารมื้อเย็นอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่การกินมักกะโรนีหรือเนยแข็งแบบเดิม สมมติว่าลูกกำลังทำอาหารเย็นสำหรับวันขอบคุณพระเจ้า ลูกกำลังหั่นแครอทด้วยมีดคม ลูกก็ต้องจดจ่ออยู่กับการหั่นซึ่งหมายถึงการมีสติ แต่ในขณะเดียวกันลูกก็กำลังอุ่นน้ำซอสอยู่ ลูกจะต้องทาน้ำมันลงบนไก่งวง ส่วนผักแครนเบอรี่ก็กำลังเดือด เสร็จแล้วลูกยังจะต้องเอาไวน์ออกมาและเปิดขวด และยังต้องทำอื่น ๆ อีก ลูกก็ต้องมีความรู้ตัวทั่วพร้อมเกี่ยวกับสภาพการจัดอาหารเย็นโดยรวม และมีความจดจ่อหรือมีสติอยู่กับงานแต่ละอย่างที่กำลังทำในชั่วขณะนั้น ๆ ด้วย

วาเนสสา ลูกคงจะรู้ว่าคนจำนวนมากมองว่าการภาวนาเป็นเรื่องของวัฒนธรรมอื่น เป็นของตะวันออก เป็นเรื่องทางศาสนาคร่ำครึ เป็นการเพ่งมองยุบหนอพองหนอที่ไร้สาระ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่เคยคิดจะศึกษาให้เข้าใจการปฏิบัตินี้อย่างแท้จริง การเพิกเฉยต่อการฝึกปฏิบัติสติ-ความรู้ตัวทั่วพร้อม อาจเป็นผลมาจากความกลัวโดยพื้นฐานที่จะรู้ว่าเราคือใคร

แต่อันที่จริงการภาวนาไม่ใช่เรื่องของวัฒนธรรมอื่นหรือเรื่องต่างชาติแต่อย่างใด วิลเลียม เจมส์ (William James) (*) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 กล่าวไว้ว่า "ความสามารถในการเหนี่ยวรั้งความจดจ่อที่ฟุ้งซ่านให้กลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นรากเหง้าที่แท้จริงของการพินิจพิจารณา บุคลิกภาพและเจตจำนง การศึกษาที่ช่วยพัฒนาความสามารถเช่นนี้ ย่อมเป็นการศึกษาอันดีเลิศ แต่การพูดถึงคุณลักษณะในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ง่ายกว่าการบ่งบอกถึงวิธีการที่จะพัฒนาสิ่งนี้ขึ้นมา"

(*) William James (January 11, 1842 - August 26, 1910) was a pioneering American psychologist and philosopher trained as a medical doctor. He wrote influential books on the young science of psychology, educational psychology, psychology of religious experience and mysticism, and the philosophy of pragmatism. He was the brother of novelist Henry James and of diarist Alice James.

วิธีการทำแบบนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ และช่วยให้เราพัฒนาความสามารถเช่นนั้นขึ้นมาได้ มันเป็นเรื่องน่าเศร้าเกี่ยวกับความเข้าใจต่อจิตในสังคมของเรา เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จิตเป็นสิ่งที่ถูกฝึกได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ที่โรงเรียนมีใครบอกหนูเรื่องนี้หรือเปล่า? ไม่มีหรอก! มันแย่อะไรอย่างนั้น! แต่การฝึกเข้าเงียบอย่างเช่น การฝึกสติ-ความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นสิ่งจำเป็นหากเราต้องการรู้จักตัวเอง รู้จักจิต ร่างกาย อารมณ์ ความคิด และเพื่อเข้าใจว่าเราคือใครกันแน่ และการปฏิบัติเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากเราต้องการเข้าใจและไปพ้นจากการปรุงแต่งที่ติดยึดตัวเรา และทำให้เราไม่สามารถรับรู้ต่อโลกสามัญอย่างที่ควรเป็น ทำให้ไม่สามารถรับรู้ต่อความพิศวงและความศักดิ์สิทธิ์ในโลก

วาเนสสา เราได้ฟังบทคั่นรายการไปแล้ว ในจดหมายฉบับต่อไปเราจะพูดเรื่องนี้กันอีก สำหรับจดหมายห้าฉบับแรก พ่อได้ปูพื้นฐานด้วยการเล่าเรื่องให้ฟังสองเรื่อง คือเรื่องของโลกที่มีชีวิตและโลกที่ตายแล้ว พ่อบอกว่ามีอยู่สองอย่างที่เราต้องทำเพื่อจะเปิดโลกที่มีชีวิตออกมา เราจะต้องเข้าใจและมองเห็นการปรุงแต่งที่ผูกเราติดไว้กับโลกที่ตายแล้ว เพื่อให้มองเห็นทางเลือกที่เป็นไปได้ และเราจะต้องฝึกฝนปฏิบัติบางอย่าง เพื่อที่จะทำความเข้าใจต่อการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา อย่างเช่น การฝึกสติ-ความรู้ตัวทั่วพร้อม

ในจดหมายฉบับต่อ ๆ ไป เราจะเดินทางร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจการปรุงแต่ง และในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างเรื่องราวของโลกที่มีชีวิตขึ้นมาใหม่ ขั้นแรกซึ่งเราจะทำในจดหมายฉบับต่อไป คือการเฝ้ามองการเต้นรำของการรับรู้ ซึ่งเป็นตัวกำหนดโลกของเราในลักษณะของความบังเอิญอย่างมีความหมายในแต่ละขณะ แต่ก่อนที่เราจะเดินทาง ลองมาท่องคำขวัญกันหน่อยไหม

นั่งและหายใจเอาอากาศอันสดชื่นเข้าไปซะ!

จดหมายฉบับที่ ๗
สมองมองเห็นหรือไม่

วาเนสสาลูกรัก
เช้าวันนี้พ่ออยากเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของโลก "ที่อยู่ข้างนอก" กายและจิตของเราสร้างให้เกิดประสบการณ์เช่นนั้นขึ้นมาได้อย่างไร? โปรดสังเกตว่าพ่อใช้ "a world" แทนที่จะเป็น "the world" เพราะพ่ออยากให้ลูกรู้ว่า โลกที่เราสัมผัสไม่ได้มีแค่โลกเดียว เพียงแต่มันเป็นโลกตามแบบฉบับความคิดของเราเท่านั้น และพ่อใช้คำว่า "สร้าง" แทนที่จะใช้คำว่า "รับรู้" เพราะเรามักคิดว่าการรับรู้เป็นสภาพความรู้สึกที่ไม่สร้างสรรค์ เป็นการรับรู้สิ่งต่าง ๆ แบบกลไก

มีเหตุผลสองประการที่พ่ออยากเล่าให้ลูกฟังบ้าง เกี่ยวกับการเต้นรำอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกาย-จิตกับโลก สิ่งแรกก็คือพ่ออยากให้ลูกรู้ว่าโลกที่เราสร้างขึ้นมาในแต่ละชั่วขณะนั้นได้รับการปรุงแต่งอย่างลึกซึ้งจากความคิดที่เราซึมซับระหว่างที่โตขึ้นมามากเพียงใด พ่ออยากให้ลูกรู้ถึงสิ่งนี้ก่อนที่เราจะพิจารณาความคิดที่สร้างให้เกิดโลกที่ตายแล้วขึ้นมา เมื่อลูกเห็นการปรุงแต่งที่ทำให้เกิดโลกที่ตายแล้วขึ้นมา ก็เป็นโอกาสที่ลูกจะปลดปล่อยตัวเองออกจากความคิดเหล่านั้นตามที่ต้องการ

หลังจากนี้ พ่อจะเขียนเพิ่มเติมว่าเราจะสามารถปฏิบัติสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะสามารถมีประสบการณ์อย่างแท้จริงกับกระบวนการสร้างโลกที่เกิดขึ้นในกาย-จิตของเรา และอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการนั้นได้อย่างไร วิธีการหนึ่งที่ทำได้ก็คือการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติ-ความรู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งพ่อได้เขียนถึงในจดหมายฉบับก่อนหน้านี้

เหตุผลที่สองที่พ่ออยากเล่าให้ลูกฟัง เกี่ยวกับการเต้นรำอย่างสร้างสรรค์ของการรับรู้ก็คือ พ่ออยากให้ลูกมองดูโลกด้วยวิถีทางอันอัศจรรย์อย่างใหม่ พ่ออยากให้ลูกรู้ว่าในแต่ละชั่วขณะของชีวิต กาย-จิตของลูกกำลังเต้นรำไปพร้อมกับโลก และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา กระบวนการสร้างสรรค์เช่นนี้มีความสดใหม่และเปิดกว้างตลอดเวลา ทำให้ลูกสามารถเติมสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิตได้ ไม่จำเป็นเลยที่ลูกจะต้องติดอยู่ในโลกที่ตายแล้วอันคับแคบ เนื่องจากการติดยึดอยู่กับความคิดที่เติบโตมาพร้อมกับลูก

คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่า การมีประสบการณ์กับสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างไร อย่างเช่น ถ้าลูกถามเขาว่า "คุณเห็นได้อย่างไร?" เขาก็อาจจะบอกว่า ก็เพราะตาทำหน้าที่เหมือนกับเลนส์ของกล้องวิดีโอ และตาก็บันทึกภาพเคลื่อนไหวของโลกที่ถูกถ่ายทอดเข้าสู่สมอง ในสมองก็จะมีการประมวลผลภาพเหล่านั้น จนเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของเราที่มีต่อโลก เหมือนกับการใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูล คนส่วนใหญ่เหมาเอาว่ามีโลกของสิ่งต่าง ๆ อยู่แล้ว "ข้างนอกโน้น" ไม่ว่าจะเป็นโลกของต้นไม้ รถ ผู้คนและวัตถุอื่น ๆ สมองมีหน้าที่แค่ผลิตซ้ำภาพที่ใกล้เคียงกับโลก และนั่นคือสิ่งที่เรารับรู้เหมือนกับตอนดูภาพยนตร์ เราเรียกความรู้นี้ว่าทฤษฎีถ่ายทอดการรับรู้ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่บอกว่า ภาพของโลกจะถูกสะท้อนหรือถ่ายทอดโดยผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ เข้ามาในตัวเรา แต่อันที่จริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

อันที่จริงสิ่งที่เรารับรู้เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ของข้อมูลที่ส่งผ่านระบบประสาทเข้ามาในสมอง ยกตัวอย่างเช่น เซลรูปแท่งในจอตา (เพียงเซลเดียว) สามารถจับภาพแสงเทียนที่อยู่ห่างออกไป 17 ไมล์ได้ เซลขนที่อยู่ในหูสามารถจับความสั่นไหวที่เล็กกว่าความสั่นไหวเนื่องจากการไหลของเลือดในเส้นเลือดในหู และสามารถจับความเคลื่อนไหวของโมเลกุลที่ชนกับแก้วหูได้ และเซลรับความรู้สึกในจมูกมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกลิ่นที่มีขนาดเล็กเพียงสี่โมเลกุล อันที่จริงแล้ว การรับรู้อย่างแยกแยะเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตตามปรกติ หากระบบประสาทของเราไม่สามารถเลือก จำกัดและจัดการกับอุปสรรคที่ขัดขวางการสื่อสารจาก "ภายนอก" สู่ภายในแล้ว ชีวิตของเราก็คงเต็มไปด้วยความยุ่งยาก แต่การที่เราตกเป็นทาสของการปรุงแต่งน้อยลงบางส่วน จะทำให้เรามีพลังเพิ่มขึ้นที่จะวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากที่เข้ามาสู่ตัวเรา และสามารถตอบสนองอย่างเหมาะสม

เอาล่ะ ลองมาดูว่าสมองทำอะไรบ้าง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีงานศึกษาที่น่าตื่นใจเกี่ยวกับบทบาทของสมองที่สนับสนุนกาย-จิตให้สร้างโลกของเราขึ้นมา และเพื่อทำความเข้าใจกับตัวเราเองอย่างเต็มที่ เราก็ควรทำความเข้าใจการทำงานของสมองอยู่บ้าง ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองสามารถจัดทำแผนที่ซึ่งค่อนข้างละเอียดเกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ทำงานตอนที่เราคิด มีประสบการณ์กับอารมณ์บางอย่าง หรือกำลังทำงานบางอย่าง

เพื่อให้เข้าใจว่าสมองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างการรับรู้ต่อโลกของเราขึ้นมาอย่างไร พ่อจะอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับเส้นทางของการรับรู้ภาพซึ่งเป็นการทำงานของสมอง ประเด็นสำคัญที่พ่ออยากให้ลูกเข้าใจก็คือ ภาพสุดท้ายที่ปรากฏในสมองได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอารมณ์ สิ่งที่เราต้องการเห็นและสิ่งที่เราไม่ต้องการเห็น ทัศนะเดิม ๆ ที่มีต่อโลก ความคาดหวังถึงสิ่งที่ต้องการเห็นและอื่น ๆ ความคิดที่เข้าไปผสมปนเปกับข้อมูลที่มาจากภายนอก เริ่มต้นตั้งแต่จุดแรกที่แสงตกกระทบตา

ยกตัวอย่างว่าลูกกำลังมองหน้ามาร์กาเร็ต เพื่อนของลูก เกิดอะไรขึ้นหลังจากที่แสงจากหน้าของมาร์กาเร็ตส่องผ่านเข้าไปในแก้วตาทั้งสองข้างของลูก และทำให้เกิดภาพขนาดเล็กขึ้นบนจอตา

ประการแรก ภาพที่เกิดขึ้นบนจอตาเป็นภาพกลับหัว กลับด้านซ้ายขวา และอาจแยกออกเป็นประจุไฟฟ้าเป็นร้อยล้านประจุที่เกิดขึ้นบนเซลประสาทหลายล้านเซลของจอตาแต่ละข้าง เซลประสาทที่แตกต่างกันบนจอตาจะมีปฏิกิริยาแตกต่างกันต่อคุณลักษณะของภาพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสี ความเข้ม รูปทรง ความลึก การเคลื่อนไหวและอื่น ๆ และเซลประสาทเหล่านั้นก็เริ่มจะแยกภาพเหล่านี้ออกเป็นชิ้น ๆ ข้อมูลที่เป็นประจุไฟฟ้านับล้าน ๆ ชิ้นแยกกันเหล่านี้จะผ่านกระบวนการประมวลผลที่ซับซ้อนอย่างมากของสมอง จนกระทั่งลูกมีการรับรู้ต่อภาพใบหน้าของมาร์กาเร็ต การรับรู้ต่อใบหน้าของเพื่อนเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในขณะที่ประจุไฟฟ้านับล้าน ๆ ประจุผ่านเข้ามาในจอตาและเดินทางไปตามเส้นทางต่าง ๆ ในสมอง?

สมองประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่แยกกันหลายส่วน พ่อจะพูดถึงเพียงบางส่วน ได้แก่ ส่วนของเปลือกสมอง ธาลามัสและลิมบิก เปลือกสมองหรือส่วนที่เป็นเปลือกนอกสุดมีลักษณะคล้าย ๆ เม็ดวอลนัท หรือเป็นส่วนของเปลือกซึ่งเป็นเหตุให้มีชื่อเรียกเช่นนี้ และรากศัพท์เดิมของเปลือกสมองในภาษากรีกก็หมายถึง "เปลือก" (bark) ส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับประสาทการสัมผัสและการเคลื่อนไหวจะอยู่ในส่วนบนของเปลือกสมอง ซึ่งเป็นแบบแผนที่รับผิดชอบต่อโครงสร้างหลักของร่างกาย เปลือกสมองยังแบ่งออกเป็นส่วนขวาและซ้าย ซึ่งควบคุมการรับรู้และการเคลื่อนไหวในฝั่งตรงข้ามของร่างกาย กล่าวคือซีกซ้ายจะควบคุมแขนขาด้านขวา เป็นต้น

เปลือกสมองยังทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษา การใช้เหตุผล การตีความและ "การคิด" ทั้งหมด เปลือกสมองทั้งซีกขวาและซ้ายจะควบคุมการคิดในลักษณะที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน เปลือกสมองซีกซ้ายจะเกี่ยวข้องกับการคิด วิเคราะห์ ในแง่ของจำนวนและปริมาณ, ส่วนซีกขวาในแง่ของคุณภาพและนามธรรม เป็นลักษณะของญาณทัศนะมากกว่า ส่วนภาษาและสติสัมปชัญญะเกี่ยวข้องกับเฉพาะซีกซ้ายเท่านั้น

พื้นที่บางส่วนของเปลือกสมองเป็นจุดที่รับข้อมูลผ่านการรับรู้ทั้งการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่นและลิ้มรสและส่งข้อมูลกลับไป และยังมีส่วนที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกที่ก่อตัวขึ้น พื้นที่รับรู้ความรู้สึกและการคิดในเปลือกสมองจะทับซ้อนกันเป็นหลายล้านส่วน และมีการเชื่อมโยงกับอีกหลายล้านส่วนของในสมองส่วนล่าง

ก่อนที่เศษเสี้ยวของภาพนับล้าน ๆ ชิ้นจากจอตาจะเคลื่อนไปถึงบริเวณเปลือกสมอง ภาพส่วนเหล่านี้จะต้องผ่านด้านในของสมองส่วนที่เรียกว่า ธาลามัส (ซึ่งเป็นภาษากรีกแปลว่า "ห้องด้านใน" (inner chamber)) จากจุดนั้นจะมีหลายเส้นทางที่นำส่วนต่าง ๆ ของภาพที่เห็นไปยังหลาย ๆ ส่วนของเปลือกสมอง สำหรับภาพแต่ละส่วนจากจอตาที่เข้าสู่ธาลามัส จะทำให้เกิดสัญญาณสะท้อนมากถึงแปดเท่าจากส่วนของเปลือกสมองไปยังจุดเดิม ธาลามัสจึงทำหน้าที่เหมือนสถานีหน่วงสัญญาณ เป็นจุดที่ภาพของใบหน้ามาร์กาเร็ตที่ส่งมาจากจอตาจะได้รับการปรุงแต่งตามการสั่งการของสมองส่วนบน ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความคิด การวางแผน ความคาดหวังและการตีความ

ส่วนรับภาพของเปลือกสมอง เชื่อมโยงโดยตรงกับส่วนของลิมบิกที่อยู่ภายใต้เปลือกสมอง ทั้งในส่วนของความสุขและความทุกข์ อารมณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น ความโกรธและความรัก ความรู้สึกต่าง ๆ และความทรงจำ ส่วนของลิมบิกจะรับข้อมูลจากโลกภายนอกโดยผ่านอายตนะและจากโลกภายใน ข้อมูลทั้งหลายจากภายนอกจะต้องผ่านระบบลิมบิกก่อนจะไปถึงเปลือกสมอง ดังนั้นอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ จึงมีอิทธิพลต่อภาพของมาร์กาเร็ตในขณะที่ผ่านจากระบบลิมบิกเข้าไปสู่เปลือกสมอง ส่วนรับภาพหลักของเปลือกสมองยังมีการเชื่อมโยงกับอีกบริเวณหนึ่งของเปลือกสมองอันได้แก่ กลีบสมองส่วนหน้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผนในอนาคตและความรู้สึกรับรู้ความหมายต่าง ๆ

โดยรวมแล้ว จะมีวงจรการส่งสัญญาณสะท้อนกลับอย่างซับซ้อนนับร้อย ๆ วงที่เชื่อมโยงส่วนรับภาพของเปลือกสมองไปยังส่วนอื่น ๆ ของสมอง และมีการนำอารมณ์และความคิดเข้าไปปรุงแต่งภาพของใบหน้าส่วนที่รับภาพที่รับเข้ามา จนทำให้เกิดเป็นภาพที่เราเห็นจริง ๆ

ยังมีอีกส่วนหนึ่งของเปลือกสมองที่สำคัญที่พ่ออยากจะพูดถึง เป็นส่วนที่เรียกว่า เวอร์นิก (Wernicke) ซึ่งเรียกตามชื่อของแพทย์ชาวเยอรมันที่เป็นผู้รายงานข้อมูลนี้เป็นคนแรก ส่วนของเวอร์นิกซึ่งอยู่ด้านซ้ายของเปลือกสมองเกี่ยวข้องกับภาษา และความสามารถในการกำหนดความหมายหรือชื่อ ผู้ป่วยที่สมองส่วนนี้เสียหายจะเกิดความยากลำบากในการทำความเข้าใจความหมายของคำต่าง ๆ จุดที่น่าสนใจของบริเวณนี้ได้แก่ บริเวณนี้ยังเป็นส่วนที่ถูกใช้เพื่อเชื่อมโยงระหว่างอายตนะต่าง ๆ ดูเหมือนว่าความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลจากอายตนะสองส่วนอย่างเช่น ระหว่างข้อมูลจากตาและการสัมผัส เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น และจุดนี้เป็นส่วนที่ความเชื่อมโยงระหว่างความกลมและสีส้มแห่งรุ่งอรุณสัมพันธ์กัน รวมทั้งรสหวานจี๊ดเกิดขึ้น และความสามารถตรงนี้เป็นส่วนสำคัญในการรับรู้ต่อ "วัตถุ" อย่างเป็นองค์รวม ทำให้สามารถตั้งชื่อให้กับวัตถุต่าง ๆ ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของบริเวณเวอร์นิก

วาเนสสา ลูกคงเห็นจากคำอธิบายง่าย ๆ นี้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับภาพของมาร์กาเร็ตที่ปรากฏบนจอตาของลูก จะต้องเดินทางผ่านวงจรที่เชื่อมโยงกันจนซับซ้อนอย่างเหลือเชื่อ เครือข่ายเหล่านี้เชื่อมโยงสิ่งที่เราเห็นกับอายตนะด้านต่าง ๆ อารมณ์ การตีความ ความสนใจและการตั้งชื่อให้กับสิ่งต่าง ๆ และข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่รับข้อมูลด้านภาพเข้ามาสู่ประสาทตา หมายถึงว่า เปลือกสมองได้ทำหน้าที่ปรุงแต่งข้อมูลที่ส่งเข้ามาจากดวงตาก่อนที่ลูกจะรู้เสียอีก ทำให้ชายหนุ่มเหลียวมองสาวสวยก่อนที่เขาจะรู้สึกตัวว่ามีเธออยู่เสียอีก และแน่นอนว่า ระบบเช่นนี้เกิดขึ้นกับอายตนะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเช่นกัน

ประสบการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเครือข่ายที่เป็นวงจรและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เป็นแบบแผนของการเคลื่อนตัวของกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นวงจร แบบแผนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ลูกเห็นว่าเป็นหน้าของมาร์กาเร็ต แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าแบบแผนของกระแสไฟฟ้าเช่นนี้ได้แปรสภาพเป็นภาพที่เรารับรู้ได้อย่างไร แล้วทำไมเราถึงไปคิดว่าตาของเราทำหน้าที่เหมือนกล้องที่รับภาพจาก "โลกภายนอก" โดยไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ ล่ะ?

ตอนนี้เราจะทำอย่างไรกับความคิดที่ว่ามีโลกของ "สิ่งต่าง ๆ" ที่เป็นของจริง และจับต้องได้อยู่ภายนอกร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันสมองของเราก็สามารถจะสร้างภาพ ซึ่งเป็น "ตัวแทน" ของโลกภายนอกโดยผ่านโครงสร้างทางเดินอันซับซ้อนเหล่านี้ได้ล่ะ? ภาพที่เกิดขึ้นนั้นมีความ "จริงแท้" มากน้อยเพียงใด? ในจดหมายฉบับต่อ ๆ ไปเราจะมองอย่างลึกซึ้งขึ้นว่ากาย-จิตของเรารับรู้และสร้างโลกที่เราอาศัยอยู่อย่างไร

ก่อนที่เราจะเลยไปจากเรื่องของสมอง พ่ออยากจะเน้นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อส่วนหนึ่งของสมองตื่นตัวขึ้นในขณะที่เรากำลังทำอะไรบางอย่าง หรือเกิดอารมณ์บางอย่างขึ้นมา ก็ไม่ได้หมายความว่าสมองมีส่วนทำให้เกิดการกระทำหรืออารมณ์นั้นขึ้นมา พูดอีกอย่างหนึ่งส่วนของสมองที่ตื่นตัวขึ้นมาในขณะที่เราทำงานบางอย่าง ก็เหมือนกับห้องที่สว่างขึ้นมาเมื่อเรากดสวิตซ์เปิดไฟ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสวิตซ์ไฟหรือหลอดไฟหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสายไฟที่เชื่อมโยงสวิตซ์และหลอดไฟ เป็นตัวที่ทำให้ห้องสว่างขึ้น แม้ว่ามันจะมีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม เราต้องมองให้ลึกซึ้งกว่านั้น ทั้งยังมีกระแสไฟฟ้าอยู่ด้วยซึ่งไม่ว่าเราจะสับสายไฟและหลอดไฟออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ มากเพียงใดเราก็หามันไม่เจอ

ผู้รู้ในทางวิทยาศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ในสังคมของเราได้พยายามอย่างมากที่จะทำให้เราเชื่อว่า จิตไม่มีอะไรแตกต่างจากสมอง ซึ่งถ้าคนเชื่อเช่นนั้น จิตก็มีสภาพไม่แตกต่างไปจากวัตถุต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นชัยชนะขั้นสุดท้ายของโลกที่ตายแล้ว ในขณะเดียวกันมีนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมากที่ไม่เห็นคล้อยตามกับความคิดนี้ พวกเขาบอกว่าสมองเป็นเพียงเครื่องมือของจิตหรือสติ มากกว่าจะมีสถานะเหมือนกับจิต

นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองได้ทำการศึกษาอย่างกว้างขวางเพื่อวิเคราะห์ส่วนต่าง ๆ ของสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเห็น โดยบางส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการวิเคราะห์ภาพ ส่วนอื่นเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เสียงหรือการเคลื่อนไหว หรือส่วนที่เกี่ยวกับการพูด อารมณ์และอื่น ๆ ชัดเจนว่าหน้าที่ของจิตในส่วนที่เป็นการวิเคราะห์การเห็นและอายตนะอื่น ๆ อยู่ใต้การสั่งการของร่างกาย แต่ประเด็นสำคัญก็คือประสบการณ์ของเรา และการรับรู้ของเราที่มีต่อโลก

การรับรู้ สติสัมปชัญญะหรือความรู้สึกรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่มีหน้าที่อื่นใดนอกจากการทำงานตามคำสั่งของสมองหรือร่างกายทั้งหมดเลยหรือ? นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีความเห็นที่ชัดเจนว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราเกิดขึ้นได้อย่างไร การรับรู้ภาพของเพื่อนเป็นสิ่งที่สมองสร้างขึ้นมาภายในสมองหรืออย่างไร หรือสมองเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้ความมีสติสามารถสัมผัสได้ถึงภาพที่เห็น?

ความแตกต่างระหว่างสมองในฐานะเป็นเครื่องมือของจิต และสมองที่มีสถานะเป็นเหมือนจิตเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย แต่เราต้องตระหนักถึงข้อนี้เมื่อเราคิดหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับสมอง เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้ ลองจินตนาการว่าลูกมีโทรทัศน์สองเครื่องวางอยู่บนโต๊ะข้างหน้า สมมติว่าโทรทัศน์เครื่องหนึ่งได้รับไฟจากแบตเตอรี่ในเครื่อง ส่วนโทรทัศน์เครื่องที่สองมีเครื่องแปลงแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าและได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ เมื่อลูกเปิดทีวีทั้งสองเครื่องเพื่อดูรายการเกมโชว์ อย่างเช่นรายการ "Jeopardy" (*) เสร็จแล้วลูกก็เปลี่ยนช่องเพื่อไปดูสารคดีเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ หรืออาจจะเป็นรายการ "Seinfeld" (**) และอื่น ๆ ลูกรู้สึกเหมือนกับโทรทัศน์ทั้งสองเครื่องทำงานแบบเดียวกัน

(*)Jeopardy! is a popular quiz show featuring trivia in topics such as history, literature, pop culture, and science. The show has a decades-long broadcast history in the United States since its creation by Merv Griffin in the early 1960s. It first ran on NBC from March 30, 1964 until January 3, 1975, concurrently ran in a weekly syndicated version from September 9, 1974 to September 7, 1975, and subsequently ran in a revival from October 2, 1978 to March 2, 1979. Its most successful incarnation is the Alex Trebek-hosted syndicated version, which has aired continuously since September 10, 1984. It has also been adapted internationally.

(**)Seinfeld is an American situation comedy that originally aired on NBC from July 5, 1989, to May 14, 1998, lasting nine seasons. Many of its catchphrases have entered into the popular culture lexicon. The show led the Arthur Nielsen Media Research Ratings in its sixth and ninth seasons and finished among the top two (along with NBC's ER) every year from 1994 to 1998. In 2002, TV Guide named Seinfeld as the greatest television program of all time.

แต่อันที่จริงโทรทัศน์ทั้งสองเครื่องมีความแตกต่างกันอย่างมากซึ่งเราทราบดี โทรทัศน์เครื่องแรกผลิตพลังงานด้วยตัวเอง โดยมีความสามารถที่จะให้ประสบการณ์กับเราจากพลังภายใน ส่วนโทรทัศน์เครื่องที่สองต้องรับพลังที่มาจากแสงอาทิตย์ โทรทัศน์ทั้งสองเครื่องสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างการมองว่าสติเป็นสิ่งที่เหมือนกับสมอง (หรือร่างกายทั้งหมด) และสมองหรือร่างกายเป็นเพียงเครื่องมือของสติ โทรทัศน์เครื่องแรกซึ่งมีแบตเตอรี่ในตัวเป็นตัวแทนของร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดสติ ในขณะที่โทรทัศน์เครื่องที่สองเป็นตัวแทนของร่างกายในฐานะเป็นเครื่องมือของสติ โทรทัศน์เครื่องแรกสร้างพลังงานขึ้นภายในตัว เช่นเดียวกับที่ร่างกายสร้างสติขึ้นมาภายในตัว และโทรทัศน์เครื่องที่สองได้รับพลังจากอากาศ เช่นเดียวกับที่ร่างกายอาจเลือกเข้าไปรับรู้ความรู้สึกด้านพลัง-สติของอากาศ

สิ่งที่พ่อกำลังพูดหมายถึงการสัมผัสกับสิ่งที่เราเรียกว่าจิต ซึ่งเป็นการมีสติรับรู้โดยตรงหรือการรับรู้ต่อประสบการณ์ของเราเอง แน่นอนว่าร่างกายมีส่วนสัมพันธ์อย่างมากกับโลกแบบที่เราอาศัยอยู่ ไม่เป็นที่สงสัยเลย แต่แล้วร่างกายเป็นสาเหตุทำให้เกิดประสบการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาหรือเปล่า? หากสติเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยร่างกาย การเปรียบเทียบสติกับโทรทัศน์เครื่องแรกก็มีความใกล้เคียง แต่หากสติเป็นคุณสมบัติที่แพร่กระจายอยู่ทั่วอากาศ ร่างกายก็จะเป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำให้เราซึ่งมีร่างกายแตกต่างกัน ได้สัมผัสกับโลก เช่นเดียวกับการที่โทรทัศน์เครื่องที่สองได้รับพลังจากภายนอก ทำให้มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกสามารถสัมผัสกับรายการ "Seinfeld"

แต่อย่ามองการเปรียบเทียบแบบนี้เพียงผิวเผิน ให้คิดถึงว่าดวงอาทิตย์มีบทบาทอย่างไรด้วย ประเด็นสำคัญของการเปรียบเทียบด้วยโทรทัศน์ก็คือ เรามีวิธีการมองต่าง ๆ เนื่องจากส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้บางอย่าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าส่วนของสมองส่วนนั้นสร้างให้เกิดการรับรู้เช่นนั้นขึ้นมา

อีกวิธีการหนึ่งในการเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างกายและจิตได้แก่ การจินตนาการถึงการรับรู้ต่อความรู้สึกที่เป็นพื้นผิวของแม่น้ำสายใหญ่ สิ่งต่าง ๆ แต่ละสิ่งไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ต้นไม้ สุนัข มนุษย์ เทวดานางฟ้าหรือตราลาก็เป็นเหมือนวังน้ำวนในแม่น้ำ ยิ่งสิ่งเหล่านั้นมีความซับซ้อนมากเท่าไรไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือตราลาที่ทำให้เกิดวังน้ำวนที่ลึก ก็ยิ่งสะท้อนถึงความมีสติที่ลึกซึ้งมากขึ้นเท่านั้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกเป็นวังน้ำวนในลักษณะหนึ่งที่ปรากฏในกระแสธารแห่งสติ ไม่ว่าจะเป็นวังน้ำวนขนาดเล็กจนเราแทบจะมองไม่เห็น หรือเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ที่มีพลังมาก สิ่งต่าง ๆ ล้วนแต่มีสติในระดับใดระดับหนึ่ง และโปรดระลึกไว้ว่าร่างกายของเราเป็นเพียงภาพการรับรู้ที่เกิดขึ้นภายในสตินั่นเอง ดังนั้นร่างกายจึงเป็นส่วนหนึ่งของสติ เช่นเดียวกับวังน้ำวนที่เป็นลักษณะหนึ่งของแม่น้ำ ในตัวอย่างที่ผ่านมา โทรทัศน์ไม่เพียงรับพลังจากแสงอาทิตย์ หากยังเป็นสิ่งที่กำเนิดขึ้นจากแสงอาทิตย์นั้นด้วย

ประเด็นสำคัญที่พ่ออยากบอกลูกได้แก่ ไม่มีองค์ความรู้อันเป็นที่ยอมรับได้ใด ๆ เลยที่แสดงให้เห็นว่าสมอง/กายเป็นสาเหตุทำให้เกิดประสบการณ์ การรับรู้ หรือเป็นเพียงเครื่องมือในการรับรู้ ความเชื่อของวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิมที่ว่าสติไม่แตกต่างจากสมอง เป็นความเชื่อในเชิงปรัชญาหรือศาสนา แต่ขาดหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และทำให้เกิดความมืดบอดอย่างกว้างขวางในวงการวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิม

ในจดหมายฉบับต่อ ๆ ไปพ่อจะบอกลูกถึงประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่สะท้อนให้เห็นว่า การรับรู้เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในอากาศ โดยเป็นการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด ถึงอย่างนั้นนักวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิมก็ยังปฏิเสธที่จะพิจารณาถึงหลักฐานของการทดลองเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่เพื่อนร่วมงานของกาลิเลโอปฏิเสธที่จะมองผ่านกล้องของเขา

พ่อได้เริ่มการวิเคราะห์ถึงการรับรู้ในจดหมายฉบับนี้ โดยการพิจารณาบทบาทของสมอง การเข้าใจถึงกระบวนการรับรู้ข้อมูลของสมองทำให้เราเข้าใจกระบวนการรับรู้ความคิด การตีความและปฏิกิริยาด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากสิ่งที่เราเห็น ได้ยินและอื่น ๆ ในจดหมายฉบับวันต่อไป เราจะมองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงการรับรู้เช่นนี้ ซึ่งจะทำให้เราเห็นอารมณ์ การตีความ ความเชื่อดั้งเดิมและความคาดหวังที่เกิดขึ้นในทุกชั่วขณะของการมีชีวิตอยู่ของเรา

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๑ : Release date12 August 2008 : Copyleft by MNU.

อันที่จริงสิ่งที่เรารับรู้เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ของข้อมูลที่ส่งผ่านระบบประสาทเข้ามาในสมอง ยกตัวอย่างเช่น เซลรูปแท่งในจอตา (เพียงเซลเดียว) สามารถจับภาพแสงเทียนที่อยู่ห่างออกไป 17 ไมล์ได้ เซลขนที่อยู่ในหูสามารถจับความสั่นไหวที่เล็กกว่าความสั่นไหวเนื่องจากการไหลของเลือดในเส้นเลือดในหู และสามารถจับความเคลื่อนไหวของโมเลกุลที่ชนกับแก้วหูได้ และเซลรับความรู้สึกในจมูกมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกลิ่นที่มีขนาดเล็กเพียงสี่โมเลกุล อันที่จริงแล้ว การรับรู้อย่างแยกแยะเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตตามปรกติ หากระบบประสาทของเราไม่สามารถเลือก จำกัดและจัดการกับอุปสรรคที่ขัดขวางการสื่อสารจาก "ภายนอก" สู่ภายในแล้ว ชีวิตของเราก็คงเต็มไปด้วยความยุ่งยาก (คัดลอกมาบางส่วนจากบทความ)

H