ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




05-06-2551 (1577)

ประชาไท: เสวนาที่เชียงใหม่ (ตอนที่ ๑) (ตอนที่ ๒)
ตาบอดคลำช้าง เห็นต่างคือศัตรู - ลิเกอภิสิทธิ์ชน ที่สะพานมัฆวานฯ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทรายงานต่อไปนี้ นำมาจากประชาไทออนไลน์ และได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่ง
ในโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

รายงานเสวนาที่เชียงใหม่ต่อไปนี้ ประกอบด้วยหัวข้อ และผู้ร่วมรายการดังต่อไปนี้
เสวนาที่เชียงใหม่ (ตอนที่ ๑): เรากำลังอยู่ในภาวะ 'ตาบอดคลำช้าง เห็นต่างคือศัตรู'
๑. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๒. ชำนาญ จันทร์เรือง : คอลัมนิสต์และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๓. สมศักดิ์ โยอินชัย : แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ
๔. สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ : มูลนิธิเพื่อนหญิง
๕. สมชาย ปรีชาศิลปกุล : คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เสวนาที่เชียงใหม่ (ตอนที่ ๒): ลิเกอภิสิทธิ์ชนที่สะพานมัฆวานฯ
๖. สมเกียรติ ตั้งนโม : อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๗๗
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประชาไท: เสวนาที่เชียงใหม่ (ตอนที่ ๑) (ตอนที่ ๒)
ตาบอดคลำช้าง เห็นต่างคือศัตรู - ลิเกอภิสิทธิ์ชน ที่สะพานมัฆวานฯ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รายงานประชาไทนี้ สามารถ download ได้ในรูป word


เสวนาที่เชียงใหม่ (ตอนที่ ๑):
เรากำลังอยู่ในภาวะ 'ตาบอดคลำช้าง เห็นต่างคือศัตรู'

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และองค์กรประชาสังคมต่างๆ ในเชียงใหม่ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา "วิกฤตการเมืองไทย รัฐประหาร และทางออก?" ที่ห้องประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, นายสมศักดิ์ โยอินชัย กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.), นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อนหญิง, รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และรศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ดำเนินรายการโดยนายสืบสกุล กิจจนุกร นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต่อไปนี้เป็นการอภิปรายของผู้ร่วมเสวนา

๑. รศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ :
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"การล้างไพ่ใหม่ คือแก้รัฐธรรมนูญโดยให้มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพราะทำให้แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ สามารถมองเห็นตำแหน่งแห่งที่ซึ่งกันและกันในสังคมการเมือง การมีส่วนร่วม หมายความว่า แต่ละกลุ่มสามารถบอกความต้องการทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม รู้ความต้องการทางการเมืองซึ่งกันและกัน และแต่ละกลุ่มจะเข้าใจกันและกันมากขึ้น"

๐ สถานการณ์การเมืองปัจจุบันไม่ใช่แค่ความขัดแย้งกับชนชั้นนำ แน่นอนเราดูเหมือนเป็นเรื่องระหว่างกลุ่ม 'พันมิตรฯ กับ กลุ่มนำ' กับ 'ทักษิณ กับ นอมินี' แต่จริงๆ แล้วความขัดแย้งนี้ ลากลงไปถึงรากเหง้าสังคม โดยแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา ได้สร้างกองทัพคนจนขึ้นมา คนจนเหล่านี้ครั้งหนึ่งไม่รู้สึกว่าเขาจน แต่มาวันนี้เขารู้สึกว่าเขาจน

การ 'เป็นคนจน' นั้นไม่สำคัญเท่ากับ 'รู้ตัวเองจน' ขอใช้คำว่า ได้เกิดสำนึกทางชนชั้นขึ้นมา จากเดิม 'Class by itself' เป็น 'Class for itself' กระบวนการตรงนี้เอง ถามว่า ความขัดแย้งนี้ ที่อาจหมายถึงความขัดแย้งทางชนชั้นนี้ นำไปสู่อะไร? ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ถอย เพราะเป็นจุดยืนการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อชนชั้นตัวเอง คนจนอาจนึกถึงทักษิณ แต่ไม่ได้แปลว่าทักษิณเป็นผู้นำ แต่ทักษิณเป็นผู้เปิดความหวัง เปิดโลกให้เขา

ในความขัดแย้งของชนชั้นนำที่วางอยู่บนฐานนี้ มันทำให้คู่ความขัดแย้งทางสังคมที่เราเห็นเป็นว่า ต่างคนต่างไม่ถอย และทำให้ภาวะความตึงเครียดมีสูงมากขึ้น ผมเชื่อว่าการตั้งขบวนการต่อต้านพันธมิตรฯ ในจังหวัดต่างๆ จะทวีมากขึ้น หลายคนอาจบอกว่าจัดตั้ง แต่มันไม่มีการจัดตั้งลอยๆ ได้โดยไม่มีเชื้ออยู่ เชียงใหม่มีแล้วเมื่อวานนี้ แต่หลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยจะเกิดขึ้น

พร้อมๆ กันนั้น พันธมิตรฯ ก็มีจัดตั้งเหมือนกัน ในเชียงใหม่ก็มีการเคลื่อนไหว ทางใต้ก็มี ภาวะแบบนี้สังคมจะหาทางออกได้ยากขึ้น สิ่งที่เป็นข้อเสนอของ 137 นักวิชาการ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นข้อเสนอที่เป็นกลางที่สุด คือ การล้างไพ่ใหม่ ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญโดยให้มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะทำให้แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ สามารถมองเห็นตำแหน่งแห่งที่ซึ่งกันและกันในสังคมการเมือง การมีส่วนร่วม หมายความว่าแต่ละกลุ่มสามารถบอกความต้องการทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม รู้ความต้องการทางการเมืองซึ่งกันและกัน และแต่ละกลุ่มจะเข้าใจกันและกันมากขึ้น ทางออกนี้เสนอโดย 137 นักวิชาการ และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ผมคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีในสถานการณ์อันนี้ คือทำให้ชนชั้นต่างๆ เห็นกันชัดขึ้นเข้าใจกันชัดขึ้น และหวังว่าการเห็นซึ่งกันและกัน จะโน้มน้าวจิตใจที่กระเหี้ยนกระหือรือให้ลดลง ซึ่งผมหวังไว้แค่นั้น มิติการเมืองแบบนี้เกิดจากรากเหง้าของการพัฒนาที่เหยียบคนจนกลุ่มหนึ่งเอาไว้ การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกแน่ๆ และไม่ต้องอธิบายอีกว่ารัฐประหารไม่ดีอย่างไร แต่ที่แน่ๆ การรัฐประหารไม่ใช่ทางแก้ปัญหานี้ได้

๒. ชำนาญ จันทร์เรือง :
คอลัมนิสต์และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

"ในเงื่อนไขทางรัฐศาสตร์ ปัจจุบันไม่มีทางที่จะเกิดการรัฐประหาร ทำรัฐประหารไม่ได้ นอกเสียจากจะมีการสร้างเงื่อนไขให้เข้าเค้า และการรัฐประหารในเมืองไทยก็ประหลาด คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นทางออก ก็พยายามสร้างเงื่อนไขให้ได้ ทั้งที่มีตัวอย่างจากการรัฐประหารของ คณะ รสช. ในปี 2534 และ คปค. ในปี 2549 ซึ่งเป็นตัวอย่างแห่งความล้มเหลว"

การเมืองไทยไม่ได้มีแค่สองขั้ว ขั้วอื่นยังมีอีกเยอะ การชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่เกิดขึ้นเป็น Political Marketing เป็นการออกมาขายไอเดียให้ได้รับความสนับสนุน และการทำให้ความขัดแย้งหายไปเป็นไม่ได้ เพราะมนุษย์อย่างไรก็ต้องขัดแย้งกัน แต่จะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งมีน้อยที่สุดและอยู่ร่วมกันให้ได้ อย่ารุกไล่ใครให้จนตรอก เพราะคนเราถ้าไม่มีที่ไปก็ต้องหันมาสู้กัน และเขากล่าวต่อว่า การกลับมาบนท้องถนนของพันธมิตรฯ จะสร้างจุดขัดแย้งใหม่ และเกิดบาดแผลใหม่ที่ยาวนาน พอๆ กับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เขากล่าวต่อไปว่า เสรีภาพของการชุมนุมต้องไม่ละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล แม้การชุมนุมจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่อย่าลืมว่าในรัฐธรรมนูญได้จำกัดเสรีภาพการชุมนุมเอาไว้ด้วย โดยในมาตรา 63 วรรค 2 ได้คุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ เช่นกัน

ในเงื่อนไขทางรัฐศาสตร์ ปัจจุบันไม่มีทางที่จะเกิดการรัฐประหาร ทำรัฐประหารไม่ได้ นอกเสียจากจะมีการสร้างเงื่อนไขให้เข้าเค้า และการรัฐประหารในเมืองไทยก็ประหลาด คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นทางออก ก็พยายามสร้างเงื่อนไขให้ได้ ทั้งที่มีตัวอย่างจากการรัฐประหารของ คณะ รสช. ในปี 2534 และ คปค. ในปี 2549 ซึ่งเป็นตัวอย่างแห่งความล้มเหลว โดยการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร มี 3 ประการ

- หนึ่ง การคอรัปชั่น พูดไปเถอะ รัฐบาลไหนไม่คอรัปชั่นไม่มี แม้แต่รัฐบาลแห่งชาติที่ว่าคือรัฐบาลเผด็จการเพราะไม่มีฝ่ายค้าน ก็คอรัปชั่น
- สอง ล้มเหลวในการบริหารประเทศ
- สาม จาบจ้วงสถาบันฯ ซึ่งข้อนี้คงไม่เหมือนประเทศอื่น
สุดท้ายถ้าเกิดจลาจลขึ้นเมื่อไหร่ จะทำให้เกิดการรัฐประหาร

เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาที่ผ่านมา ทำให้การเมืองถอยหลัง ที่จริงแล้วก่อนการรัฐประหารทักษิณก็เน่าอยู่แล้ว เพราะคดีขายหุ้น 73,000 ล้านกำลังฉาวโฉ่, มีทั้งทุจริตซีทีเอ็กซ์, และศาลก็สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้ว กกต. ก็โดนสำเร็จโทษแล้ว, แต่พอเกิดการรัฐประหารขึ้น กลายเป็นว่าการรัฐประหารไปสร้างภาพให้ทักษิณกลายเป็นวีรบุรุษในดวงใจ และพรรคพลังประชาชนก็กลับมาหลังการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณ หรือรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ตาม พื้นที่การเมืองที่เคยเป็นของคนชั้นกลาง นักวิชาการ คนชั้นสูง นายทุน นักการเมืองในระบอบผู้แทน ได้ถูกแบ่งพื้นที่ทางการเมืองไปแล้วโดยประชาชนรากหญ้า แม้หลายๆ ฝ่ายที่ต่อสู้กันอยู่ จะดูถูกประชาชนว่าไม่รู้เรื่อง ถูกซื้อมา ใครซื้อเสียงมา อย่างไรก็แล้วแต่ การเมืองของประเทศไทยก้าวไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว จะปล่อยให้สู้กันเฉพาะกลุ่มที่อยู่บนถนนราชดำเนินกับกลุ่มที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาลไม่ได้

๓. สมศักดิ์ โยอินชัย : แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ

"รัฐประหารสามารถเกิดได้ไม่ยาก รัฐประหารในเมืองไทยเกิดได้ทุกเมื่อ เหมือนภาวะโลกร้อนปัจจุบันนี้ และการรัฐประหารไม่ใช่เรื่องที่พวกเรากำหนด ผมไม่แน่ใจว่าวันนี้ วันพรุ่งนี้จะเกิดรัฐประหารหรือไม่ เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน อยู่ไหนไม่รู้ในประเทศไทย แต่สามารถบอกว่าจะทำนั่นจะทำนี่"

ขอตั้งคำถามว่า วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้ เป็นวิกฤตการของใคร ก่อน 6 ตุลาคม 2519 เป็นวิกฤตของชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันเข้มแข็ง แต่มีปัญหากับผู้มีอำนาจจนเกิด 6 ตุลาคม 2519 รัฐประหารเกิดจากวิกฤตทางการเมือง รัฐประหารจะเกิดจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ ผมไม่เคยเห็น อย่างน้ำมันแพงแล้วจะเกิดรัฐประหารนั้น ผมไม่แน่ใจ

ที่พูดกันว่า"ทุนนิยมสามานย์"กับ"ศักดินาล้าหลัง"นั้น ถ้าดูข่าวช่วงที่ผ่านมาไม่กี่วัน อดีตนายกรัฐมนตรี(ทักษิณ) พากลุ่มทุนอาหรับไปที่สุพรรณบุรี บอกว่าจะจ้างชาวนาไทยทำนาได้คนละ 5,000 บาทต่อไร่ ชาวนาในภาคกลางต้องเช่าที่นา ในแต่ละครั้งชาวนาอยากทำนาไปเช่าที่นาไร่ละ 1,000 กว่าบาท ถ้าให้เลือก ชาวนาต้องเลือกเอาการรับจ้างจ้างทำนาไร่ละ 5,000 บาทดีกว่า ไปทำนาเสียค่าเช่าไร่ละ 1,000 กว่าบาท และไม่แน่ว่าจะขายข้าวได้ราคาแพงหรือไม่

ที่ผมพูดมา ผมคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร การที่ทักษิณพาแขกมาดูการทำนา กับเจ้าที่ดินที่เก็บค่าเช่านาไร่ละพันกว่าบาทนั้น สองกลุ่มนี้มันเกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ถ้าความขัดแย้งทางเศรษฐกิจมันไม่ลงตัว รัฐประหารสามารถเกิดได้ไม่ยาก รัฐประหารในเมืองไทยเกิดได้ทุกเมื่อ เหมือนภาวะโลกร้อนปัจจุบันนี้ และการรัฐประหารไม่ใช่เรื่องที่พวกเรากำหนด ผมไม่แน่ใจว่าวันนี้ วันพรุ่งนี้จะเกิดรัฐประหารหรือไม่ เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน อยู่ไหนไม่รู้ในประเทศไทย แต่สามารถบอกว่าจะทำนั่นจะทำนี่

อาจารย์ในเมืองไทยพยายามคัดค้านรัฐประหาร แต่เขาจะฟังปัญญาชนของประเทศหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ สิ่งที่อาจารย์หลายท่านนำเสนอทางออกทางการเมือง ทางออกของประเทศไม่ให้บอบช้ำจากการยึดอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า ทางออกที่ทุกฝ่ายเดินไปข้างหน้า พวกชาวบ้านจะได้ทำไร่ทำนา แม้จะลำบากหน่อย แต่ไม่ต้องไปหวาดวิตกว่ารัฐบาลหน้าจะเอาอย่างไรกับราคาข้าว ไม่หวั่นไหวเรื่องการเมืองไม่นิ่ง

พี่น้องกำลังเข้าไร่เข้าสวน ไม่ได้วิตกเรื่องการเมือง การเมืองในวันนี้แทบจะไกลตัวพี่น้อง เรื่องรัฐธรรมนูญตอนแรกรัฐบาลโดนด่าว่าจะแก้ทำไมรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ราคากระเทียบมก็ถูก ข้าวถูก ทำไมไม่มาแก้ตรงนี้ แก้รัฐธรรมนูญพวกเราก็อยู่เหมือนเดิม ถ้าแก้ราคาพืชผลก็ดี เขาคิดแบบนี้. ดังนั้นจะทำอย่างไรที่เป็นทางออกของวิกฤตการเมืองขณะนี้ อยากให้ทุกฝ่ายมาพูดจากัน คุยเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นหัวใจของความขัดแย้งน่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้

การที่ฝ่ายพันธมิตรฯ ยกระดับการชุมนุมเป็นการไล่รัฐบาล โดยบอกว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดนั้น ชาวบ้านไม่ได้สนใจ และหากนายกรัฐมนตรีจะเอาเงิน 2,000 ล้านมามาทำประชามติ กลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งอีกรอบ เกิดสีเขียว สีแดง บ้านเดียวกันมีสองสีกลัวบ้านแตก ดังนั้นน่าจะทำอย่างไรให้หลายๆ ส่วนเข้ามาคุยกัน มาดูเรื่องรัฐธรรมนูญ น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศได้

๔. สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ : มูลนิธิเพื่อนหญิง

"ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้คนงานต้องมีสิทธิเลือกตั้งในโรงงาน
เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลือกตัวแทนในท้องถิ่นสามารถทำประโยชน์ให้กับพวกเขาได้"

ประชาชนผู้ทุกข์ยากมักถูกหยิบยกเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารหลายครั้ง แต่การรัฐประหารแต่ละครั้งส่งผลกระทบกับภาคส่วนต่างๆ และการรัฐประหารจะส่งผลกระทบกับผู้ใช้แรงงานสูง เช่น การรัฐประหารโดยคณะ รสช. ในปี 2534 มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานเอกชน ซึ่งเป็นการทำลายความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน

และในการรัฐประหาร 19 กันยา ก็มีกฎหมายหลายฉบับ ที่ออกมาโดยไม่มีการกลั่นกรอง ไม่มีการเข้าไปมีส่วนร่วมของพี่น้องแรงงาน เช่น กฎหมายของผู้ทำงานต่างด้าว แทบไม่มีการรณรงค์เคลื่อนไหวใดๆ ก่อนออกกฎหมาย และพอกฎหมายออกมาก็สร้างปัญหากับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ หรือ พรบ.คุ้มครองแรงงานปี 2541 ที่มีการปรับปรุงโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลายข้อ และมีผลกระทบกับผู้ใช้แรงงาน และจะส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มของขบวนการแรงงาน

นอกจากนี้กฎหมายที่แรงงานผลักดัน ก็ไม่ได้รับความสนใจจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่น พรบ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพ ก็ไม่ได้รับการผลักดัน มีแต่การออกกฎหมายที่ไม่มีประโยชน์กับคนงาน. ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้คนงานต้องมีสิทธิเลือกตั้งในโรงงาน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลือกตัวแทนในท้องถิ่นเพื่อทำประโยชน์ให้กับพวกเขาได้

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงการชุมนุมของพันธมิตรฯ ว่า ทราบข่าวจากเพื่อนคนหนึ่งของเขา เดินทางไปสังเกตการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีประกาศสลายการชุมนุมและมีแกนนำคนหนึ่งเห็นเพื่อนของเขา จึงมีการประกาศว่า "คนๆ นี้แสดงความเห็นโจมตีพันธมิตรจะเข้ามาทำไม ขอให้พวกเราเฝ้าระวัง" ซึ่งเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกันทางการเมืองคบกันไม่ได้ ต้องเอาให้ตายทางการเมือง

นอกจากนี้คนขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ผมสังเกตว่าคนขับแท็กซี่สัก 5 คันจาก 10 คัน จึงจะกล้าพูดเรื่องการเมือง โดยคนขับรถแท็กซี่คันหนึ่งบอกผมว่าอยากให้ 5 เสือพันธมิตรฯ และนายสุริยะใสกลับไปเยี่ยมทางบ้านบ้าง โดยคนขับรถแท็กซี่และคนขับรถสิบล้อในกรุงเทพยินดีไปส่งแกนนำถึงบ้านโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งคงไม่ใช่การส่งฟรีแน่ แต่ต้องการแสดงเจตนาทางการเมืองบางอย่าง นายสุชาติกล่าว

๕. สมชาย ปรีชาศิลปกุล :
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"คนตีกันที่ราชดำเนินที่เกิดขึ้นเป็นประปราย จะเป็นม็อบรับจ้างหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ในแง่หนึ่งการที่คนจะตีกัน ต้องมีบรรยากาศความเกลียดชังดำรงในสังคมนั้นๆ ด้วย จึงจะทำให้คนลงไม้ลงมือต่อกันได้ เราจึงอยู่ในยุคที่มีความเกลียดชังค่อนข้างสูงระหว่างฝ่ายที่เห็นต่าง

เราพูดถึงรายการวิทยุคลื่นหนึ่งในกรุงเทพฯ บอกให้ไปชกปากโชติศักดิ์ แต่วิทยุอีกฟากหนึ่งก็มองอีกฝ่ายในลักษณะบั่นทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นนี่เป็นยุคที่เรามองคนที่เห็นต่าง นี่เป็นเรื่องสำคัญ คือก่อนจะพบหน้าใครได้ จึงจะทำร้ายเขาได้ ต้องทำให้เขามีความเป็นมนุษย์น้อยลง ทำให้เป็นไส้เดือน กิ้งกือ หรืออะไรบางอย่าง"

สังคมไทยขณะนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีตำแหน่งแห่งที่ของความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องเด็กสองคนแย่งขนมกัน สังคมต้องมองด้วยบริบทที่กว้างกว่ามีม็อบบนท้องถนน สิ่งนี้จะทำให้เรามองเห็นตำแหน่งแห่งที่ของความขัดแย้งชัดเจนขึ้น มีตำแหน่งแห่งที่ทางการเมือง 5 จุดทางการเมืองที่จะช่วยทำความเข้าใจได้คือ หนึ่ง รัฐบาลทักษิณหลังปี 2548, สอง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, สาม การลงประชามติ 19 สิงหาคม 2550, สี่ การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550, และห้า สมาชิกรัฐสภายื่นรายชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 21 พฤษภาคม 2551.

ถ้าพิจารณาจากตำแหน่งแห่งที่ทั้ง 5 จุด จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลสืบเนื่องมา ตำแหน่งแห่งที่ทั้ง 5 จุด ทำให้สังคมไทยแบ่งออกเป็นสองขั้ว คนที่ยืนอยู่ซีกใดซีกหนึ่งจะเป็นคนที่อยู่อีกขั้วหนึ่งจะอยู่ฝ่ายนั้นตลอดไป เช่น สนับสนุนทักษิณ, จะต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยา, จะ 'โหวตโน' ในการลงประชามติ, จะเลือกพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้ง, และสนับสนุนการแก้ยื่นไขรัฐธรรมนูญปี 2550. ขณะที่ถ้าเป็นอีกฝ่ายหนึ่งก็จะมีจุดยืนตรงข้าม

ถ้าเราทำความเข้าใจนี้ หากแบ่งอย่างกว้างๆ จะมีคนสองฝ่าย

- หนึ่ง พันธมิตรประชาชน บวกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญบางส่วน, พรรคประชาธิปัตย์, นักวิชาการบางปีก และที่สำคัญคือชนชั้นกลาง
- อีกฝ่ายคือ พรรคไทยรักไทย, นักวิชาการบางปีก, แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ, สภาประชาชน และที่สำคัญคือกลุ่มรากหญ้า

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่เรื่องไกลเกินความคาดหมาย หากมองในแง่ของจุด หรือที่มาทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในระยะเวลาอันใกล้ ทักษิณได้ทำให้เกิดพลังชนชั้นล่างขึ้นมา และมีความหมายทางการเมือง เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งสำคัญ. ตำแหน่งแห่งที่ของความขัดแย้งได้พาสังคมไทยมาสู่สภาวะ 'ตาบอดคลำช้าง เห็นต่างคือศัตรู'

ตาบอดคลำช้าง คือ เห็นว่าสองฝ่ายยืนอยู่ด้านหนึ่ง อีกฝ่ายยืนอยู่ด้านหนึ่ง

- ฝ่ายหนึ่งปิดตา คลำไปที่ช้างบอกว่า รัฐบาลทักษิณ พรรคไทยรักไทยเลวสุด ชั่วช้าสามานย์ เป็นเผด็จการทุนนิยม ทุนนิยมสามานย์ หันมาสนับสนุนระบอบอำมาตยาธิปไตย รวมถึงการดึงเอาอำนาจสถาบันตามจารีตมาเห็นด้วย โดยมองไม่เห็นด้านลบของระบบชนชั้นนำที่ปราศจากการตรวจสอบ เช่น มี ส.ว.แต่งตั้ง หรือเรียกร้องอำนาจนอกระบบ

- อีกฝ่ายเห็นว่าทักษิณดีสุด ประเสริฐสุด ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางต่อเนื่อง แต่ไม่มองเห็นอีกด้านของทักษิณ เช่นการใช้อำนาจรุนแรงต่อประชาชนหรือการแทรกแซงองค์กรอิสระ

สังคมไทยอยู่ในภาวะตาบอดคลำช้าง ต่างฝ่ายต่างยืนอยู่คนละจุด ไม่คำนึงว่ามุมของตัวเองที่มองเข้าไปก็มีปัญหาเหมือนกัน ตาบอดคลำช้าง. ถ้าใครไม่เห็นด้วย ฝ่ายแรกบอกว่ารัฐบาลทักษิณชั่วสุด เลวสุด ใครไม่เห็นด้วย เป็นพวกทักษิณ, ในขณะที่อีกฝ่ายชอบทักษิณ ดีที่สุด ใครไม่เห็นด้วย เป็นพวกสนับสนุนรรัฐประหาร. ภาวะที่น่ากลัวตอนนี้ นอกจากตาบอดคลำช้าง ก็คือการมองเห็นฝ่ายที่คิดไม่เหมือนตนเป็นศัตรู

คนตีกันที่ราชดำเนินที่เกิดขึ้นเป็นประปราย จะเป็นม็อบรับจ้างหรืออะไรก็ตาม แต่ในแง่หนึ่งการที่คนจะตีกัน ต้องมีบรรยากาศความเกลียดชังดำรงในสังคมนั้นๆ ด้วย จึงจะทำให้คนลงไม้ลงมือต่อกันได้ เราจึงอยู่ในยุคที่มีความเกลียดชังค่อนข้างสูงระหว่างฝ่ายที่เห็นต่าง

เราพูดถึงรายการวิทยุคลื่นหนึ่งในกรุงเทพฯ บอกให้ไปชกปากโชติศักดิ์ แต่วิทยุอีกฟากหนึ่งก็มองอีกฝ่ายในลักษณะบั่นทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นนี่เป็นยุคที่เรามองคนที่เห็นต่าง นี่เป็นเรื่องสำคัญ คือก่อนจะพบหน้าใคร และจะทำร้ายเขาได้ ต้องทำให้เขามีความเป็นมนุษย์น้อยลง ทำให้เป็นไส้เดือน กิ้งกือ หรืออะไรบางอย่าง

ภายใต้ภาวะ"ตาบอดคลำช้าง เห็นต่างเป็นศัตรู" นั้น นอกจากเรากำลังเข้าสู่ยุคไร้เหตุผล ไร้ปัญญาอย่างสิ้นเชิง เป็นเรื่องที่อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง ถูกกล่าวหาว่าหากินกับสมัชชาคนจน ซึ่งอาจารย์ประภาสถูกกล่าวหามานานแล้ว อาจารย์ประภาสเข้าใจได้ถ้าถูกกล่าวหาข้อหานี้จากรัฐบาลหรือฝ่ายขวาจัด แต่อาจารย์ประภาสทำความเข้าใจไม่ได้กับการที่นักวิชาการที่ไปยืนอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง แล้วด่ากราดว่าอาจารย์ประภาสหากินกับสมัชชาคนจน

ตอนนี้ถึงยุคที่เอาเข้าจริงๆ ผมใคร่จะเตือนว่า นักวิชาการทั้งหลาย หรือ ศ.ดร. ทั้งหลาย สังคมพึงฟังด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกัน ไม่ว่ายืนอยู่บนเวทีพันธมิตรหรือนอกเวทีก็ตาม เพราะนักวิชาการจำนวนมากปากไว กำลังสาดน้ำมันเข้าสังคมไทยโดยไม่มีเหตุผล เป็นจุดหนึ่งที่น่ากลัว. กับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะด่าว่าคิดโง่ คิดผิด ด่าว่าไม่เข้าใจทางการเมืองก็ด่าได้ แต่การด่าในหลายๆ เรื่องตอนนี้ สะท้อนว่าไม่เพียงแต่เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ไร้เหตุผลทางการเมือง แต่สติสัปปชัญญะก็กำลังจะขาดลง เพราะเราด่ากันได้ด้วยอะไรก็ไม่รู้. ภาวะตาบอดคลำช้าง เห็นต่างเป็นศัตรู จะขยายตัวไปอย่างไร ผมไม่รู้ มันจะไปไกลอย่างไร ผมก็ไม่รู้

เราจะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างไร ?
จะเห็นได้ชัดว่ามือข้างมากในพรรคพลังประชาชนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนแรกอาจคิดว่าจำนวนมือที่มากในสภาจะแก้ปัญหานี้ได้ เอาเข้าจริงก็ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ ส่วนจำนวนเท้านอกสภาก็ไม่หนักแน่นเพียงพอเช่นกัน ภาวะของสังคมไทยจึงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง. ท่ามกลางภาวะนี้ ผมคิดว่ามีสองอย่างที่ขยายตัวเกิดขึ้น

- หนึ่ง มีการดึงสถาบันฯ มาใช้ในทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง โดยที่เราไม่รู้ว่าคนนั้นถูกหรือผิด. พูดตรงไปตรงมาที่สุด ผมไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคประชาธิปัตย์โดดลงมาใช้สถาบันเป็นข้ออ้างมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม

- สอง การเมืองมวลชนขยายตัว มีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในจังหวัดต่างๆ และในขณะเดียวมีการจัดตั้งฝ่ายไม่เอาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในจังหวัดต่างๆ เช่นกัน. อันนี้เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่อะไร จะเป็นความขัดแย้งหรือไม่ ผมไม่รู้ เพราะสังคมไทยคงใช้เหตุผลมาคาดคั้นได้ยาก

โจทย์หลักของสังคมไทยในขณะนี้คือ เราจะสร้างสถาบันทางการเมืองที่มีความชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายได้อย่างไร? ผมเขียนคำถามขึ้นมา ดูง่ายๆ บอกว่าให้เปิดตาที่ปิดไว้, มองเห็นจุดอ่อนของแต่ละฝ่าย, เปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด, เห็นต่างไม่ใช่ศัตรูคู่อาฆาต. เขียนมาแบบนี้ มันพูดได้ แต่ในความเป็นจริง ผมคิดว่ามันยังห่างไกล

ผมคิดว่าตอนนี้ไม่มีใครพร้อมจะเปิดตา และไม่มีใครพร้อมที่จะเปิดใจ สองฝ่ายที่ยืนอยู่แตกต่างกันกำลังทำให้สังคมไปสู่ทิศทางที่น่าเป็นห่วง ทางออกทางเดียวที่อาจเป็นไปได้คือ ทำอย่างไรให้สังคมไทยเข้าไปล้อมความขัดแย้งอันนี้ ข้อเสนอของ 137 นักวิชาการเป็นทางเลือกอันหนึ่ง กับความพยายามเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช้สังคมเป็นเจ้าภาพแก้รัฐธรรมนูญ

แต่ทางเลือกนี้มีปัญหา เช่น ถ้าเราเสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุด 3 (สสร.3) เกิดขึ้น มีปัญหาแน่ สมมติว่า เอาแบบที่เคยถูกเลือกในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้จากการเลือกตั้งบางส่วน ผมคิดว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและชนชั้นกลางจำนวนมากเขาไม่ไว้ใจการเลือกตั้ง สสร.ชุด 3 จะเกิดขึ้นได้ สังคมไทยต้องใช้สติปัญญากับเรื่องนี้มากขึ้น

เสวนาที่เชียงใหม่ (ตอนที่ ๒) :
ลิเกอภิสิทธิ์ชน ที่สะพานมัฆวานฯ


ต่อไปนี้เป็นการอภิปรายของผู้ร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่ง คือ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่เตรียมหัวข้อการอภิปรายที่ชื่อว่า 'มองพันธมิตรกับพลังประชาชน ผ่านแนวพินิจปรากฏการณ์วิทยา' ซึ่ง รศ.สมเกียรติเสนอว่า การชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์เป็นเพียงคณะลิเกของอภิสิทธิ์ชน เป็นเกมที่ไม่จบด้วยการถอยคนละก้าว, ไม่ใช่ริบบิ้นสีขาว, เพราะเป็นเรื่องของคนที่มีความแค้นส่วนตัวเนื่องจากถูกถีบตกจากขบวนรถไฟสาย'โลกาภิวัตน์'

๖. สมเกียรติ ตั้งนโม : อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

"เหตุการณ์ประท้วงที่สะพานมัฆวานฯนั้นไร้ความหมาย เพราะคนที่อยู่ในเกมนี้ ยังไม่รู้ว่าตัวเองว่า ตัวเองอยู่ในเกมที่มันพัวพันสูงกว่ารัฐชาติ ที่เรียกว่าประเทศไทย มันเป็นความพัวพันที่คุณไม่อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการประท้วง เพราะคุณตกจากขบวนรถไฟ เกมนี้ไม่จบ เกมนี้ไม่สิ้นสุดด้วยการถอยกันคนละก้าว, เกมนี้ไม่จบด้วยการใช้ริบบิ้นสีขาว, เกมนี้เป็นเกมของความไม่พอใจ เพราะถูกถีบตกจากขบวนรถไฟ เป็นความแค้นส่วนตัว"

"ที่สะพานมัฆวานฯ นั้นไม่ใช่เป็นลิเกบ้านนอก แต่เป็นลิเกอภิสิทธิ์ชน สามารถยึดพื้นที่สาธารณะ และแสดงลิเกได้ไปวันๆ โดยเปลี่ยนบทประพันธ์ไปได้เรื่อยๆ บทประพันธ์แรกคืออย่าแก้รัฐธรรมนูญ, บทประพันธ์ที่สอง อย่าหมิ่นเจ้า, บทประพันธ์ที่สาม คือ ล้มรัฐบาล, ซึ่งจะมีบทประพันธ์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ต่อไปอีก นี่คือลิเกอภิสิทธิ์ชนที่ไม่มีใครกล้าจัดการ. ขอโทษ ถ้าสมัชชาคนจน, กลุ่มต่อต้านท่อก๊าซ, กลุ่มที่ดินลำพูนยึดถนน ผมคิดว่าไม่เกินสามวันถูกตีแล้ว แน่นอนเจ็บตัวแน่นอน และคุณก็เลือดอาบไปโรงพยาบาลโดยไม่เป็นข่าว"

ลิเกอภิสิทธิ์ชนเล่นได้ไปวันๆ แต่ลิเกฉากนี้มันไม่จบด้วยพล็อตเรื่องง่ายๆ ว่า "ความดี ชนะความชั่ว" เพราะมันไปเกี่ยวกับจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัตน์ด้วย ทางออกไม่สั้น, ยาวแน่, ความขัดแย้งนี้มีต่อไปแน่ อย่าฝันถึงสังคมอุดมคติที่เป็นเอกภาพเพราะมันไม่มีแล้ว"

๖.๑ ขอเริ่มต้นการพูดคุยการพูดคุยวันนี้ ด้วยหัวข้อที่ผมเตรียมมาพูดเรื่อง 'พันธมิตรกับพลังประชาชนผ่านแนวพินิจปรากฏการณ์วิทยา' ฟังแล้วชวนให้นึกถึงเรื่อง โอ้โห... ผมเล่าให้ฟังง่ายๆ คือ แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา เป็นแนวคิดที่มอง"ปรากฏการณ์เฉพาะหน้า" ด้วยการพยายามไปค้นถึง"แก่นของปรากฏการณ์"นั้นว่าเกิดอะไรขึ้น ? อ.เกษียร เตชะพีระ เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ในหนังสือสารคดีว่า "เลิกฝันกันเสียที เลิกคิดแบบอุดมคติว่าสังคมเป็นเอกภาพ" ซึ่งผมเห็นด้วย

- สังคมไทยเริ่มแตกออกเป็นสองฝ่าย ตั้งแต่ พ.ศ.2475 โดย "กษัตริย์"แตกกับ"ขุนนาง"

- 14 ตุลา 16 หลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแบบที่ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์พูด เกิดชนชั้นกลางเกิดขึ้น เกิดการแตกแยกครั้งที่สองเรียกว่า การแตกแยกระหว่าง"ขุนนาง"กับ"ชนชั้นกลาง" หลังจากนั้นมาสิบกว่าปี คุณจะเห็นว่า นายพลใหญ่ๆ ที่เคยมีชื่ออยู่ในรัฐวิสาหกิจ, รวมถึงธนาคารต่างๆถอนตัวไปมากหลัง 14 ตุลา การแตกครั้งที่สองนี้คือ 14 ตุลา ยาวนานมาจนกระทั่งถึงถึงเหตุการณ์พฤษภา 35 คือจุดสิ้นสุดของการรบกันระหว่าง"ขุนนาง"และ"ชนชั้นกลาง"

- เกิดกรณีใหม่ของความขัดแย้งที่สะสมเพิ่มศักยภาพของตัวมันเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ทุนโลกาภิวัตน์ปะทะทุนโลกาภิวัตน์ด้วยกันเอง ตอนนี้เราอยู่ในช่วงของความขัดแย้งชุดปัจจุบันคือ ระหว่าง"ทุนนิยมที่ตกขบวนรถไฟสายโลกาภิวัตน์" กับ"ทุนนิยมที่สามารถโดยสารขบวนรถไฟสายโลภาวัฒน์ได้"

ใครที่ตกขบวนรถไฟสายนี้
คนที่ตกขบวนรถไฟสายนี้คือกลุ่มของสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อนหน้านี้เขาโดยสารรถไฟขบวนนี้หรือไม่ โดยสารครับ ถ้าคุณเห็นรัฐบาลทักษิณ 1, คุณจะเห็นว่าการเจรจาการค้าต่างประเทศเกือบทุกครั้ง สนธิ ลิ้มทองกุล ถูกหนีบให้อยู่ภายใต้วงแขนของทักษิณไปในต่างประเทศหลายครั้ง มีรายการในสถานีโทรทัศน์เป็นกระบอกเสียง สนธิประกาศนานแล้วว่าสื่อไม่เคยเป็นกลาง ยกตัวอย่างสถานี FOX TV ที่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแจ่มชัด

ผมกำลังเล่าให้คุณเห็นภาพให้ชัดเจนว่า ภายใต้ปรากฏการณ์ของพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานฯ มันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เหตุการณ์นี้แก่นแท้ของมันคือ ทุนนิยมที่โดยสารรถไฟขบวนนี้ คนๆ หนึ่งเคยโดยสารไปด้วย แต่อยู่มาวันหนึ่งอยากได้ที่นั่งที่ดีขึ้นในขบวนรถไฟสายโลกาภิวัตน์ดังกล่าว จึงถูกทักษิณถีบตกจากรถไฟ หลังจากที่ถูกถีบตกจากรถไฟแล้ว ก็คือคนที่ไม่สามารถไปกับขบวนรถไฟสายโลกาภิวัตน์ได้อีก

ผมขอเล่าย้อนให้ฟังว่า รถไฟสายโลกาภิวัตน์คืออะไร และกระบวนการประชานิยมเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

๖.๒ ต่อไปนี้คือฉากที่สอง ภายใต้กระบวนการโลกาภิวัตน์ โดยภาพรวมคือมีกลุ่มผู้นำอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งขอเรียกว่า"จักรวรรดิทุนนิยมโลกกาภิวัตน์" ขอโทษ จักรวรรดินี้ไม่ใช่รัฐชาตินะครับ ไม่ใช่สหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน แต่เป็นจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่รวมตัวกันเกิด WTO เกิด IMF เกิด World Bank เกิด FTA เกิดอะไรอีกหลายอย่างเต็มไปหมด กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล เป็นจักรวรรดิโลกาภิวัตน์ที่เรียกว่ากลุ่ม G8

G8 คือประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นแนวหน้าของมหาอำนาจ ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีพลังทางเศรษฐกิจระดับโลกเท่านั้น แต่มีพลังทางการเมืองระดับโลกด้วย เพราะ 7 ใน 8 ของ G8 นั้นมีมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งสิ้น ทักษิณอยู่ที่ไหน ทักษิณอยู่ในโบกี้รถไฟของขบวนการทุนนิยมโลกาภิวัตน์นี้ คนถูกถีบตกลงมาคือสนธิ ลิ้มทองกุล สถานีรถไฟที่คนเหล่านี้จะไปถึงคือจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัตน์

ถามว่าทักษิณทำสิ่งใดให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำไมทักษิณจึงเรียกหามวลชนที่เป็นรากหญ้า อันที่จริงทักษิณไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่เดินตามกระบวนการและกลไกสายทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ระบุไว้ว่า 'คุณควรทำอะไรบ้าง'

G8 ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไม่ชอบประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไร้ความสงบ เพราะสังคมใดไร้ความสงบมันทำให้ทุนที่ไปลงทุนประเทศนั้นเสี่ยง วิธีการสยบให้สังคมสงบและปราศจากความเสี่ยงคือการป้อนอาหารให้กับคนที่มีแนวโน้มจะวุ่นวาย "หลักการประชานิยม' คือหลักการของการให้เหล้าไวน์ และขนมปังแบบจักรวรรดิโรมันเคยทำ"

อะไรคือเหล้าไวน์ และขนมปัง?
เหล้าไวน์คือความมัวเมาบนช่องสัญญาณทีวีและสื่อสาธารณะ ซึ่งจะเห็นว่า ในยุคของทักษิณได้ปลดรายการเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, สุทธิชัย หยุ่น, สมเกียรติ อ่อนวิมล, รายการสาระทางการเมืองออกทั้งสิ้น เหลือแต่รายการเกมโชว์, ทศกัณฐ์พันหน้า, และห่าเหวเฮงซวยอะไร, ไม่รู้จัก ไม่เคยดู แต่เกิดรายการแบบนี้ นี่คือเหล้าไวน์. ขนมปังคือประชานิยม นี่คือแบบฉบับของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัตน์เก็บมาใช้

นโยบายไทยรักไทยคือ "ข้างล่างประชานิยม ข้างบนโลกาภิวัตน์"
ทักษิณและกลุ่มสมัครพรรคพวกได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ โดยกลุ่มที่ผมเรียกซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า 'แก๊งค์สี่คน' ของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย แก๊งค์อะไหล่รถยนต์, แก๊งค์สื่อมวลชน, แก๊งค์ทีวี, และแก๊งค์อาหารสัตว์. ข้างล่างได้อะไรครับ ? FTA คือแก๊งอาหารสัตว์และเกษตรได้ประโยชน์, รวมถึงอะไหล่รถยนต์, สื่อ, ทีวีดาวเทียม, หอมกระเทียมที่ภาคเหนือเป็นอย่างไรครับ คำถามง่ายๆ เห็นไหมครับ ประชานิยมข้างล่าง บนโลกาภิวัตน์ ข้างล่างต้องราบคาบอยู่ภายในระบบ ต้องเชื่อง ข้างบนจึงจะค้าขายได้คล่อง

นี่คือภาพที่ผมทำให้พวกเราเห็นทั้งหมดว่า เหตุการณ์ประท้วงที่สะพานมัฆวานฯ นั้นไร้ความหมาย เพราะคนที่อยู่ในเกมนี้ ยังไม่รู้ตัวเองว่า ตัวเองอยู่ในเกมที่มันพัวพันสูงกว่ารัฐชาติที่เรียกว่าประเทศไทย มันเป็นความพัวพันที่คุณไม่อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการประท้วง เพราะคุณตกจากขบวนรถไฟ เกมนี้ไม่จบครับ เกมนี้ไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการถอยกันคนละก้าว, เกมนี้ไม่จบด้วยริบบิ้นสีขาว, เกมนี้เป็นเกมของความไม่พอใจเพราะถูกถีบตกจากขบวนรถไฟ เป็นความแค้นส่วนตัว

ทั้งหมดนี้ ใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้างในเกมดังกล่าว ผมขอยกตัวอย่างว่า เกมนี้ไม่อาจสิ้นสุดด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือใช้คำตอบแบบตรรกะเชิงเดี่ยว เพราะตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเกมนี้มีอยู่อย่างน้อย 5 ฝ่าย หนึ่ง พันธมิตรฯ, สอง พรรคพลังประชาชน หรือ รัฐบาล, สาม สื่อมวลชนที่ประโคมข่าว, สี่ ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ, ห้า นักวิชาการ, (และยังมี หก เจ็ด แปด คือคนที่อยู่เบื้องหลังฉากฯ ทั้งภายใน และภายนอกโลกาภิวัตน์)

คุณเอาตัวละครเหล่านี้ทั้งหมดมาอยู่บนเวที ตัวละครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ขยับตัว ย่อมมีผลต่อตัวละครตัวอื่นทั้งสิ้น เช่น รัฐบาล วันที่ 31 พฤษภาคม 2551 เวลา 9 โมงเช้าเศษๆ ประกาศจะสลายการชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ เกิดอะไรขึ้น, พันธมิตรฯ ขยับ, สื่อมวลชนประโคมข่าว, นักวิชาการตื่นเต้น, เหยื่อหรือประชาชนหวาดกลัว. เห็นไหมครับว่าเรื่องไม่จบง่ายๆ มันพัวพันกับตัวละครเยอะมาก และละครเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อตัวละครตัวอื่นทั้งสิ้น

๖.๓ ฉากที่สามชื่อว่า "ลิเกอภิสิทธิ์ชน" คุณจะเห็นว่าที่สะพานมัฆวานฯ นั้นไม่ใช่เป็นลิเกบ้านนอกครับ แต่เป็นลิเกอภิสิทธิ์ชน ซึ่งสามารถยึดพื้นที่สาธารณะ และแสดงลิเกได้ไปวันๆ โดยเปลี่ยนบทประพันธ์ไปได้เรื่อยๆ บทประพันธ์แรกคืออย่าแก้รัฐธรรมนูญ, บทประพันธ์ที่สอง อย่าหมิ่นเจ้า, บทประพันธ์ที่สาม คือ ล้มรัฐบาล, ซึ่งจะมีบทประพันธ์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ต่อไปอีก นี่คือลิเกอภิสิทธิ์ชนที่ไม่มีใครกล้าจัดการ. ขอโทษ ถ้าสมัชชาคนจน, กลุ่มต่อต้านท่อก๊าซ, กลุ่มที่ดินลำพูนยึดถนน ผมคิดว่าไม่เกินสามวันถูกตีแล้ว แน่นอนเจ็บตัวแน่นอน และคุณก็เลือดอาบไปโรงพยาบาลโดยไม่เป็นข่าว

ลิเกอภิสิทธิ์ชนเล่นได้ไปวันๆ แต่ลิเกฉากนี้มันไม่จบด้วยพล็อตเรื่องง่ายๆ ว่า "ความดี ชนะความชั่ว" เพราะมันไปเกี่ยวกับจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัตน์ด้วย ทางออกไม่สั้น ยาวแน่ ความขัดแย้งนี้มีต่อไปแน่ อย่าฝันถึงสังคมอุดมคติที่เป็นเอกภาพเพราะมันไม่มีแล้ว

ทางออกของผมหลังจากที่พูดมาทั้งหมด มันมีทางออกไหม ? มีครับ และเป็นทางออกหนึ่ง ในฐนะหุ้นส่วนของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งอาจมีทางออกอื่นๆ อยู่ด้วย ผมในฐานะตัวแทนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และ 137 นักวิชาการมีคำตอบ. คำตอบมีอย่างไร ?

๖.๔ ฉากที่ 4

ทางออกที่หนึ่ง ผมย้อนกลับไปที่ข้อเสนอของ อ.เกษียร เตชะพีระ ที่ว่า เราควรมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมซึ่งมีอยู่ 3 มาตราหลักๆ

- มาตราที่หนึ่ง งดเว้นการใช้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยการฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อไปนี้
ต้องฟ้องจากคณะรัฐมนตรีและต้องรับผิดชอบ

- มาตราที่สอง ที่ อ.เกษียรเสนอคือ ทหารต้องถูกกันออกไปจากเกมการเมืองนี้อย่างเด็ดขาด

- มาตราที่สาม คือ "เสรีภาพ"และ"ประชาธิปไตย" ต้องเป็นพื้นที่เปิด และไม่มีใครสามารถย่ำยีได้
นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่อาจารย์เกษียรเสนอ

ทางออกที่สอง ในขณะที่เราอยู่ในโลกที่มันไม่ใช่รัฐชาติที่เป็นเจ้าของอธิปไตยอีกต่อไป แต่มาจากจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทางออกของเราข้อนี้คือ เราต้องเตรียมพร้อมสังคมเราให้เป็นรัฐสวัสดิการ. รัฐสวัสดิการจะขยายสวัสดิการไปถึงภาคประชาชนทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง. ในกลุ่มชนชั้นล่างต้องไม่ป้อนอาหารให้เกษตรกรอิ่มท้องเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ใช้แรงงานด้วย รวมถึงการขยายไปสู่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงทางสังคม เศรษฐกิจ. เป็นสังคมที่มีมาตรฐานขั้นต่ำ (social minimum) รองรับ ที่จะไม่มีใครอดตาย มีการศึกษา ได้รับการรักษาพยาบาล นี่คือทางออกที่สอง

ทางออกที่สาม รัฐธรรมูญจะต้องไม่ระบุเหมือนปี 2540 ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สยบยอมกับลัทธิทุนนิยม เท่านั้น เราต้องระบุให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีทางเลือกเศรษฐกิจ หรือมีเศรษฐกิจทางเลือกได้ ทั้งหมดนี้คือทางออกที่ถาวรของสังคมไทย

ลิเกอภิสิทธิ์ชนที่สะพานมัฆวานฯ ไม่อาจเป็นคำตอบสำหรับทางออกของสังคมไทยได้ การเชิญชวนปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือการข่มขืนประเทศชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่เราได้คือทายาทปีศาจ เพราะเกิดขึ้นมาจากการข่มขืน ปี 2549 เราได้ทายาทปีศาจมา 2-3 ตัว ตัวที่หนึ่ง คือรัฐธรรมนูญปี 2550, ตัวที่สองคือ เราได้ คตส. ในส่วนของ คตส. คือกระบวนการยุติธรรมในระดับขั้นของการไต่สวน คำถามง่ายนิดเดียว คือกระบวนการยุติธรรมที่ไหนในโลกที่โจทย์และจำเลยเป็นฝ่ายไต่สวนกันเอง, เพราะ คตส. หลายคน เป็นคนที่มาจากเวทีสนามหลวงก่อน 19 กันยา นี่คือทารกปีศาจอีกหนึ่งตัว... ส่วนตัวที่สาม สี่ ห้า ผมทำโพยหาย จึงขอยุติแต่เพียงเท่านี้

รายงานประชาไทนี้ สามารถ download ได้ในรูป word


++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ : Release date 5th May 2008 : Copyleft by MNU.

"ลิเกอภิสิทธิ์ชน" คุณจะเห็นว่าที่สะพานมัฆวานฯ นั้น ไม่ใช่เป็นลิเกบ้านนอกครับ แต่เป็นลิเกอภิสิทธิ์ชน ซึ่งสามารถยึดพื้นที่สาธารณะ และแสดงลิเกได้ไปวันๆ โดยเปลี่ยนบทประพันธ์ไปได้เรื่อยๆ บทประ พันธ์แรกคืออย่าแก้รัฐธรรมนูญ, บทประพันธ์ที่สอง อย่าหมิ่นเจ้า, บทประพันธ์ที่สาม คือ ล้มรัฐบาล, ซึ่งจะมีบทประพันธ์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ต่อไปอีก นี่คือลิเกอภิสิทธิ์ชนที่ไม่มีใครกล้าจัดการ. ขอโทษ ถ้าสมัชชาคนจน, กลุ่มต่อต้านท่อก๊าซ, กลุ่มที่ดินลำพูนยึดถนน ผมคิดว่าไม่เกินสามวันถูกตีแล้ว แน่นอนเจ็บตัวแน่นอน และคุณก็เลือดอาบไปโรงพยาบาลโดยไม่เป็นข่าว. ลิเกอภิสิทธิ์ชนเล่นได้ไปวันๆ แต่ลิเกฉากนี้มันจะไม่จบด้วยพล็อตเรื่องง่ายๆ ว่า "ความดี ชนะความชั่ว" เพราะมันไปเกี่ยวกับจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัตน์ด้วย ทางออกไม่สั้น ยาวแน่ ...่

H