ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




01-05-2551 (1549)

รวมบทความสื่อทางเลือกจากชายขอบ
สังคมนิยม วันกรรมกรสากล คาร์บอนเครดิต และวิกฤตอาหารโลก
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความขนาดสั้น ๔ เรื่องต่อไปนี้ รวบรวมมาจากสื่อทางเลือกภาคเหนือ ได้แก่
สำนักข่าวประชาธรรม เว็บไซต์โลคัลทอล์ค จุลสารเสมอภาค และอื่นๆ ประกอบด้วย
๑. "สังคมนิยม" ทางเลือกที่เป็นไปได้
๒. "วันกรรมกรสากล" กับการปฏิวัติเพื่อการอยู่ร่วมและอยู่รอด
๓. ขายคาร์บอน ลดหรือเพิ่มโลกร้อน
๔. สงครามเย็น "วิกฤตอาหารโลก" ปะทุแล้ว !
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๔๙
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รวมบทความสื่อทางเลือกจากชายขอบ
สังคมนิยม วันกรรมกรสากล คาร์บอนเครดิต และวิกฤตอาหารโลก
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๑. "สังคมนิยม" ทางเลือกที่เป็นไปได้
เขียนโดย อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ สำนักข่าวประชาธรรม
เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑, www.newspnn.com

ความย่อ : บทบรรยายของวอลเดน เบลโล(*) ผู้อำนวยการโฟกัสซีกโลกใต้ ในการจัดเสวนาเรื่อง "แนวคิดสังคมนิยม ทางเลือกที่เป็นไปได้" กล่าวถึงคุณประโยชน์ของแนวคิดการวิเคราะห์ทางชนชั้นของมาร์กซ์ ที่ช่วยทำให้เข้าใจทุนนิยมมากขึ้น และการสร้างมุมมองใหม่เรื่องเศรษฐศาสตร์ทางเลือก โดยไม่ติดกับดักของเศรษฐกิจที่ต้องเน้นเพียงประสิทธิภาพอย่างเดียว โดยละเลยเรื่องชุมชน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

(*)Walden Bello (born 1945) is a left-wing author, academic, and political analyst. He is a professor of sociology and public administration at the University of the Philippines, as well as executive director of Focus on the Global South. Born in Manila, Philippines, he became a political activist following the declaration of Martial Law by Ferdinand Marcos on September 21, 1972. In 2003, he was awarded the Right Livelihood Award; www.rightlivelihood.org describes him as "one of the leading critics of the current model of economic globalisation, combining the roles of intellectual and activist."
Bello is also a fellow of the Transnational Institute, based in Amsterdam and is a columnist for Foreign Policy In Focus.

...สังคมทางเลือกที่เรากำลังคิด กำลังจะทำไม่ได้หมายความว่าจะต้องล้มเลิกระบบตลาด แต่ว่าเราจะต้องทำให้ระบบตลาดมารับใช้คุณค่าสังคมให้ได้"

เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ อาคารวิศิษฏ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาเรื่อง "แนวคิดสังคมนิยม ทางเลือกที่เป็นไปได้" โดยกลุ่มศึกษาสังคมทางเลือก สถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬา ฯ โดยหนึ่งในผู้เสวนาคือ วอลเดน เบลโล ซึ่งได้เสนอแนวคิดสังคมนิยม และมุมมองต่อสถาณการณ์โลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน

สังคมนิยมล้มเหลวจริงหรือ?
ถึงแม้ว่าแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ไม่ได้ขึ้นสู่อำนาจในประเทศต่างๆ แต่ว่าแนวความคิดของพรรคก็สามารถจะกดดันให้พรรครัฐบาลที่ได้เข้าไปบริหารประเทศต่างๆ นำเอาแนวคิดดักงล่าวไปปฏิบัติ ฉะนั้น จึงเป็นการยากที่จะเหมารวมว่าสังคมนิยมนั้นล้มเหลวหรือว่าประสบความสำเร็จ แต่ในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวคิดเรื่องความเป็นธรรมมีแรงกดดันที่สูงมาก เกิดแนวคิดหลายหลากขึ้นมา. สำหรับรัฐบาลในประเทศยุโรป นโยบายของรัฐอย่างเช่นเรื่องรัฐสวัสดิการนั้น คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีแรงกดดันจากแนวคิดสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์

สิ่งที่น่าสนใจคือแนวคิดการวิเคราะห์ทางชนชั้นของมาร์กซ์ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจระบบทุนนิยมมากขึ้น นำเราไปสู่ทางเลือกอื่นๆ แต่ว่าในที่สุดแล้วการวิเคราะห์ข้อเท็จจริง กับการเสนอทางเลือกนั้นกลับเป็นคนละส่วนกัน

ระบบทุนและตลาด ต้องรับใช้สังคม
ในปัจจุบันนี้ระบบทุนนิยมกำลังวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ ความเสมอภาคแย่ลง ที่สำคัญคือการที่ไม่สามารถจัดการกับเรื่องภูมิอากาศ หรือว่าสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมอันเป็นผลมาจากการกระทำของระบบทุนนิยมได้ ทางเลือกที่เราคิดคือ "เศรษฐศาสตร์ทางเลือก" ซึ่งที่ผ่านมา มีคนคิดถึงเรื่องนี้เอาไว้มาก และเราควรต้องมาพิจารณาว่า มันจะเป็นหลักการหรือทางเลือกที่เรากำลังจะสร้างขึ้นใหม่ได้อย่างไรบ้าง

ปัญหาคือเมื่อเวลาเราพูดถึง"ทางเลือก" เราก็จะถูกวิพากษ์ในแง่ของประสิทธิภาพ เพราะว่าในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ประสิทธิภาพ คือ การลดต้นทุนลงให้ต่ำที่สุด ฉะนั้นเมื่อเราคิดถึงประสิทธิภาพแล้วเราก็จะไม่สามารถจะหลุดพ้นออกจากทุนนิยมได้ เราจึงต้องคิดออกนอกกรอบแนวคิดนี้ เราต้องคิดเรื่องประสิทธิผล คิดถึงระบบที่จะจัดรูปแบบของคน และกลับลำระบบเศรษฐกิจที่เน้นประสิทธิภาพเป็นหลักที่ดำเนินมาแล้วกว่าร้อยปี

หลักการอีกอย่างหนึ่งที่เราจะต้องคิดก็คือเรื่อง"รูปแบบ" เพราะไม่มีรูปแบบใดที่สามารถใช้ได้ดีกับทุกระบบ ไม่ว่าในระบบทุนนิยมที่ใช้ตลาดเป็นตัวนำ หรือว่าในระบบสังคมนิยมที่ให้รัฐนำ หมายความว่าสิ่งที่เราจะต้องลงมือทำก็คือการสร้างรูปแบบอื่นๆ ที่ผสมผสานสิ่งที่คิดว่ามันเป็นประโยชน์เข้าด้วยกัน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ สังคมทางเลือกที่เรากำลังคิดกำลังจะทำนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องล้มเลิกระบบตลาด แต่เราจะต้องทำให้ตลาดมารับใช้คุณค่าของสังคมให้ได้

ชุมชนท้องถิ่นเป็นประเด็นสำคัญ
ส่วนทางเลือกในระดับสากลนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การสลายโลกาภิบาลซึ่งนำโดยองค์กรระหว่างประเทศที่มีแนวนโยบายอย่างเดียวกัน และมุ่งไปในทิศทางเดียวกันคือ การเอารัดเอาเปรียบ กดขี่. เราต้องเปลี่ยนให้มีระบบอภิบาลที่หลากหลายเพื่อขึ้นมาจัดการในบางส่วนได้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการเปิดให้มีทางเลือกอื่นๆ. ที่สำคัญช่วงนี้เป็นช่วงที่เราต้องรีบทำอะไร เพราะว่าประเทศจักรวรรดินิยมนั้นกำลังอ่อนกำลังลง

ส่วนในระดับภูมิภาคนั้น คิดว่าลาตินอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดี มีการสร้างแนวร่วมที่จัดระบบระเบียบทางสังคมระหว่างประเทศใหม่ สร้างความร่วมมือทางเลือกในระดับภูมิภาคขึ้นมา เพื่อแทนที่ระบบทุนนิยม เราควรจะศึกษาดูว่ามันสามารถเป็นตัวอย่างให้กับทางเลือกของเราได้หรือไม่

ส่วนในระดับชาติเราจะต้องเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เร่งการกระจายทรัพย์สิน ปฏิรูปที่ดินทำกิน ปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่มีการจัดองค์กรที่เล็กๆ ในท้องถิ่นของตนเอง โดยยึดท้องถิ่นเป็นหลักเพื่อไปสร้างระบบข้างนอก ตัดการระดมทุนหรือการลงทุนจากต่างประเทศออกไป ในส่วนของรูปแบบรัฐวิสาหกิจยังคงมีความสำคัญ แต่ที่สำคัญคือจะต้องไม่มีการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติเกิดขึ้น

สุดท้ายที่แน่นอนคือ ทางเลือกที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นพหุนิยมโดยไม่ใช้ความคิดใดความคิดหนึ่งอย่างเดียว เส้นทางของทางเลือกอาจจะใช่เส้นซึ่งอาจจะคดเคี้ยวบ้าง และในที่สุดแล้วสังคมทางเลือกนั้นต้องสร้างโดยประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก เราต้องมาพิจารณาบทเรียนที่ได้จากลาตินอเมริกา การสร้างมวลชนเพื่อเดินทางไปบนทางเลือกอาจจะต้องมองถึงการสร้างเครือข่ายที่หลากหลาย เน้นความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย อาจจะเป็นพรรคการเมือง ประชาชน นักการเมือง ต้องเอาพลังหลายๆ ฝ่ายมารวมกันให้ได้

สร้างวาทกรรมทางเลือกที่ไม่ใช่ทุนเสรี
ส่วนบทบาทของประชาธิปไตยในความคิดส่วนตัวแล้ว เป็นทั้งเป้าหมายและกระบวนการในการสร้างทางเลือก กระบวนการที่เราจะใช้ในการสร้างเครือข่ายก็คือ กระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งในที่สุดแล้วจะสามารถปกป้องพวกเราได้ ในเวเนซุเอลาที่ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายต่างๆ สามารถบอกได้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีรากฐานมาจากความชอบธรรม

ลักษณะเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ในปัจจุบันกำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนัก ซึ่งเห็นผลแล้วว่ามันเป็นระบบที่เลวร้าย ความยากจนเพิ่มขึ้น คนยากจนเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยขยายกว้าง โดยวิธีการแก้ปัญหาที่สหรัฐอเมริกาทำก็คือ การโยนเงินเข้าไปเพื่อแก้ปัญหา แต่ว่ามันไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้จริง และสิ่งนี้คือวิกฤตในระบบเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน

ทางแก้ไขที่เราต้องทำ จะต้องไม่ใช่แค่การเสนอวิสัยทัศน์ เราจะต้องสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกิดความชอบธรรมของทางเลือก วาทกรรมสำคัญมากๆ เพราะจะทำให้คนไม่ติดอยู่ในทางเลือกเดิม การสร้างวาทกรรมทางเลือกหมายถึงหยิบสิ่งที่เราทำมา สิทธิชุมชน เศรษฐกิจชุมชน ต้องสร้างวาทกรรมเหล่านั้นขึ้นมา

ทางเลือกที่เราพูดถึงต้องรวมเอาระบบคุณค่าอื่นๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชุมชน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ให้เข้ามาอยู่ในวาทกรรม แต่สิ่งเดียวที่ต้องไม่กลับไปก็คือเศรษฐกิจที่ต้องมีประสิทธิภาพ คือหมายความว่า เราต้องพูดถึงเศรษฐกิจโดยที่ไม่ต้องพูดคำของฝ่ายนั้นให้ได้ ต้องไม่กลับไปติดกับของทุนนิยมอีก

๒."วันกรรมกรสากล" กับการปฏิวัติเพื่อการอยู่ร่วมและอยู่รอด
เขียนโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ ชื่อบทความเดิม "ภัควดี เล่าเรื่องกำเนิดวันแรงงาน"
ตีพิมพ์ครั้งแรกในจุลสารเสมอภาค ฉบับที่ ๒ พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๕๑

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา การผลิตในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีสภาพเปรียบเสมือน "โรงสีปีศาจ" ชนชั้นแรงงานถูกขูดรีดอย่างหนัก เพื่อการสั่งสมทุนในระบบทุนนิยม คนงานต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-18 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยหรือสวัสดิการใดๆ ทั้งสิ้น

ความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานเพื่อปลดแอกตัวเองเกิดขึ้นเป็นระยะๆ นับครั้งไม่ถ้วน การต่อสู้เรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานปะทุขึ้นทั้งในยุโรป ละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์. ใน ค.ศ. 1840 ที่อาณานิคมเวลลิงตันในนิวซีแลนด์ ช่างไม้ชื่อ ซามูเอล พาร์เนลล์ ยืนกรานไม่ยอมทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง พาร์เนลล์เรียกร้องให้ช่างฝีมือคนอื่นๆ สนับสนุนเวลาทำงานแปดชั่วโมงนี้ และในเดือนตุลาคมของปีนั้น การประชุมของแรงงานในอาณานิคมเวลลิงตันก็ลงมติสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว

ใน ค.ศ. 1872 ที่ประเทศแคนาดา ช่างพิมพ์คนหนึ่งในเมืองโตรอนโตลุกขึ้นเรียกร้องเวลาทำงาน 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในสมัยนั้น ความเคลื่อนไหวของแรงงานเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย กระนั้นก็ไม่ทำให้กรรมกรกว่า 10,000 คน ยุติการออกมาเดินขบวนประท้วง จนกดดันให้เซอร์จอห์น แมคโดนัลด์ นายกรัฐมนตรีของแคนาดาในสมัยนั้น ต้องยอมยกเลิกกฎหมายต่อต้านสหภาพแรงงานในที่สุด

ช่วง ค.ศ. 1882 มีการนัดหยุดงานของคนงานรถไฟในกรุงโตเกียว คนงานไร่ในประเทศรัสเซีย และคนงานเหมืองแร่ในประเทศฝรั่งเศส ตลอดช่วง ค.ศ. 1884-1886 มีการนัดหยุดงานในสหรัฐอเมริกาหลายพันครั้ง และมีคนงานเข้าร่วมชุมนุมเดินขบวนนับแสนคน ถึงแม้จะต้องเผชิญการปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐและฝ่ายนายทุน แต่ขบวนการกรรมกรก็มิได้ย่อท้อ

จุดกำเนิดวันกรรมกรสากล
เหตุการณ์ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจและต้นกำเนิดของวันกรรมกรสากลก็คือ เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "การจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต" เหตุครั้งนี้สืบเนื่องมาจากสหพันธ์แรงงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 เป็นวันนัดหยุดงานครั้งใหญ่ และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง "ระบบสามแปด" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง

การเดินขบวนของแรงงานเกิดขึ้นทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ประมาณกันว่ามีผู้ออกมาชุมนุมประท้วงราว 10,000 คน ในนิวยอร์ก 11,000 คนในดีทรอยต์ อีก 10,000 คนในเมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน แต่ศูนย์กลางการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองชิคาโก ซึ่งมีกรรมกรออกมาประท้วงถึง 40,000 คน และมีกรรมกรโรงงานแปรรูปไม้อีก 10,000 คนที่จัดเดินขบวนต่างหาก การชุมนุมประท้วงครั้งนี้น่าจะมีแรงงานชาวอเมริกันเข้าร่วมรวมทั้งหมด 300,000 - 500,000 คน การประท้วงยืดเยื้อมาอีกสองสามวัน วันที่ 3 พฤษภาคม มีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจชิคาโกกับขบวนการแรงงาน ทำให้กรรมกรเสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บอีกหลายคน

กลุ่มผู้นำแรงงานแนวอนาธิปไตยนัดชุมนุมในวันถัดมาที่จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต ซึ่งในสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของชิคาโก การชุมนุมที่เริ่มขึ้นท่ามกลางสายฝนปรอยๆ ในวันที่ 4 พฤษภาคมดำเนินไปอย่างสงบ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังไว้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ปราศรัยคนสุดท้ายกำลังกล่าวปิดการชุมนุมในเวลาราวสี่ทุ่มครึ่ง ตำรวจก็สั่งให้ผู้ชุมนุมสลายตัว แต่ทันใดนั้นเอง โดยไม่มีใครคาดคิด มีคนโยนระเบิดลูกหนึ่งใส่แถวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิตทันที ตำรวจจึงเปิดฉากยิง มีคนงานยิงตอบโต้บ้าง เหตุจลาจลครั้งนี้กินเวลาน้อยกว่าห้านาทีด้วยซ้ำ. ถึงแม้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายได้รับบาดเจ็บจากระเบิด แต่ตำรวจอีกหลายคนที่เสียชีวิตนั้นเป็นเพราะการยิงกันเองในหมู่ตำรวจด้วยความผิดพลาดเนื่องจากความมืด การจลาจลครั้งนี้ทำให้ตำรวจ 7 นายและกรรมกร 4 รายเสียชีวิต กรรมกรที่บาดเจ็บมีเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีตัวเลขแน่นอน จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงของฝ่ายกรรมกรอาจสูงกว่านี้ก็เป็นได้

ล่วงมาถึง ค.ศ.1889 ในการประชุมสมัชชาสังคมนิยมของสภาสากลที่สอง ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมถึง 20 ประเทศ มีมติให้ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องเพื่อให้มีการลดชั่วโมงทำงานลงอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 และเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต การเดินขบวนครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนทำให้ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกพร้อมใจกันกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันกรรมกรสากล"

การแทรกแซงของภาครัฐ
วันกรรมกรสากลจึงกลายเป็นวันแสดงพลังของชนชั้นแรงงานทั่วโลก เป็นวันนัดพบของทั้งนักสังคมนิยม คอมมิวนิสต์และอนาธิปไตย การเดินขบวนของกรรมกรมีการปะทะกับฝ่ายรัฐหลายครั้งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิเช่น ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ค.ศ. 1929 ขบวนของกรรมกรถูกตำรวจบุกเข้าปราบปราม จนมีผู้ร่วมชุมนุมและคนนอกถูกลูกหลงเสียชีวิตถึง 32 ราย และมีอีกอย่างน้อย 80 รายที่บาดเจ็บสาหัส ตำรวจเมืองเบอร์ลินยิงกระสุนออกไปถึง 11,000 นัด โศกนาฏกรรมครั้งนี้มีชื่อเรียกขานว่า Blutmai หรือ "พฤษภาเลือด"

การสำแดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทำให้ภาครัฐหวาดหวั่น ด้วยเหตุนี้ รัฐในหลายๆ ประเทศจึงพยายามเข้ามาแทรกแซงความหมายของวันกรรมกรสากล อาทิเช่น ในสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ประเทศนี้เป็นต้นกำเนิดของวันกรรมกรสากล แต่ "วันกรรมกร" อย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ กลับกำหนดไว้ที่วันจันทร์แรกของเดือนกันยายน การกำหนด "วันกรรมกร" เช่นนี้เป็นการร่วมมือกันของสหภาพแรงงานที่เข้าข้างรัฐกับประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ถึงแม้จะถูกสหภาพแรงงานและกรรมกรอเมริกันจำนวนมากคัดค้านก็ตาม อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. 2006 แรงงานอพยพจากละตินอเมริกาเลือกวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อสำแดงให้รัฐบาลสหรัฐฯ รับรู้ถึงความสำคัญของแรงงานอพยพ

วันกรรมกรสากลในประเทศไทย
ในประเทศไทย มีการจัดงานวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพร่วมกับสมาคมไตรจักร์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 3 พันคน. ปีต่อมา การชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ.2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญ "กรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน" ถือเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพไทยครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ "สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย" วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน

แต่แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ รัฐบาลเผด็จการได้ห้ามจัดงานวันกรรมกรสากลอีก กระทั่งในปี พ.ศ. 2499 กรรมกรในประเทศไทยรวมตัวกันเป็น "กรรมกร 16 หน่วย" มีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่างๆ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลถือเอาวันกรรมการสากลเป็นวันกรรมกรแห่งประเทศไทย ให้กรรมกรเฉลิมฉลองในวันนี้ได้ รวมทั้งให้กรรมกรทั่วประเทศหยุดงานโดยไม่ถูกตัดค่าแรง แต่ผลการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้กรรมกรจำต้องยอมรับเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อจาก "วันกรรมกรสากล" เป็น "วันแรงงานแห่งชาติ"

จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น ทำให้วันกรรมกรสากลของไทยถูกแทรกแซงจากรัฐบาลมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบัน เนื้อหา และรูปแบบของการจัดงานมักถูกควบคุมโดยรัฐบาลและบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งเน้นไปในเรื่องกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน ไม่มีการสะท้อนปัญหาและวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันที่ 1 พฤษภาคม ก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวติดตามอย่างจริงจัง ทำให้ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานกลายเป็นเพียงพิธีการประกอบเท่านั้น อีกทั้งในบางปียังให้นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานเพื่อให้โอวาทอบรมด้วย

ก้าวให้พ้นประเด็นค่าแรงและชั่วโมงการทำงาน
ผู้ได้รับอานิสงส์จากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ ส่วนใหญ่กลับเป็นมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลางทั้งหลาย ไม่ว่าชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมง สวัสดิการต่างๆ ทั้งที่ได้จากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งศักดิ์ศรีของการเป็น "คนทำงาน" ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงมาจากการต่อสู้อย่างอดทนของแรงงานทั้งสิ้น ทว่าชนชั้นแรงงานเองกลับไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ระบบทุนนิยมขับเคลื่อนด้วยแรงงานเหมาช่วง และแรงงานนอกระบบ ชนชั้นแรงงานก็ยิ่งตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นทุกที

กระนั้นก็ตาม ชนชั้นแรงงานในหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังคงเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ ที่จะข้ามพ้นการเป็นเพียงผู้ร้องขอเศษเดนจากระบบทุนนิยม โดยเฉพาะในละตินอเมริกา ในอาร์เจนตินา มีสถานประกอบการหลายแห่งที่แรงงานเข้ากอบกู้ ด้วยการผลิต บริหารและขายเอง โดยไม่ต้องมีชนชั้นผู้จัดการ ทั้งยังประสบความสำเร็จอย่างดีด้วย. ในอีกหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในเวเนซุเอลา เรามักได้เห็นขบวนพาเหรดของชนชั้นแรงงานในวันกรรมกรสากล ถือป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "หากปราศจากการร่วมบริหารงาน ก็ไม่มีการปฏิวัติ" หรือ "การร่วมบริหารงานคือการปฏิวัติ"

การร่วมบริหารงาน หรือในภาษาสเปนเรียกว่า autogestion หมายถึง การที่แรงงานมีสิทธิ์ตัดสินใจในการบริหารสถานประกอบการ มิใช่ปล่อยให้เจ้าของทุนหรือชนชั้นผู้จัดการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว หากแรงงานสามารถเข้ามาร่วมบริหารงานในสถานประกอบการได้ เป้าหมายของการผลิตก็จะเปลี่ยนไปจากการผลิตเพื่อทำกำไรสูงสุด มาเป็นเป้าหมายของการผลิตเพื่อรับใช้ชุมชนและสังคม เป้าหมายที่กำกับการผลิตควรกำหนดขึ้นมาด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ทั้งในชุมชนและสถานประกอบการ เพื่อให้การผลิตนั้นตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เป้าหมายนี้จะบรรลุได้ก็ด้วยการเปิดโอกาสให้ชนชั้นแรงงานมีสิทธิ์ในการร่วมบริหารงานเท่านั้น

ด้วยสมองและสองมือ ชนชั้นแรงงานไม่จำเป็นต้องพิชิตโลก แค่สร้างโลกใบใหม่ที่มีเป้าหมายให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสพัฒนาเป็นมนุษย์เต็มคน เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

๓. ขายคาร์บอน ลดหรือเพิ่มโลกร้อน
เขียนโดย ธีรมล บัวงาม : สำนักข่าวประชาธรรม

ความย่อ : สิ่งคาดไม่ถึงคือการพลิกผันพิธีสารเกียวโต จากการร่วมมือแก้ปัญหาโลกร้อนกลับกลายเป็นการค้าขายคาร์บอน เหมือนงานเทรดแฟร์ที่มีการซื้อมาขายไประหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา จนกระทั่งบดบังเนื้อหาใจความของการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งโหมแรงให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าเดิม

พิธีสารเกียวโต กำเนิดขึ้นบนโต๊ะการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีฉันทามติรับรองพิธีสารเกียวโตเมื่อปี พ.ศ.2540 เนื้อหาสำคัญของพิธีสารเกียวโตคือ ประเทศที่ร่วมลงนามจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Annex 1) กลุ่มที่ 2 ประเทศกำลังพัฒนา (Non Annex 1) รวมทั้งประเทศไทย โดยมีผลบังคับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548

เนื้อหาของพิธีสารเกียวโต ระบุไว้ว่า ภายในปี 2551-2555 กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 5 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีฐานคือ ปี 2533 และเมื่อถึงปี 2593 ต้องลดให้ได้ ร้อยละ 75 ส่วน. ประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโต แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยสมัครใจ ตามแต่ศักยภาพของประเทศ กล่าวโดยย่อพิธีสารเกียวโตจะขับเคลื่อนผ่าน 3 มาตรการสำคัญ คือ

- การซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading: ET)
- การดำเนินการร่วม (Joint Implementation: JI) และสุดท้าย
- กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)

สำหรับประเทศไทย มาตรการการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (ET) และการดำเนินการร่วม (JI) ไม่อยู่ในขอบข่ายที่ไทยต้องเกี่ยวข้อง เนื่องจากกลไกทั้งสองเป็นสิ่งที่กำหนดไว้สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น ขณะที่กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM ถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นช่องทาง สำหรับประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในรูปแบบของการซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ เรียกกันว่า "คาร์บอนเครดิต"

Nicholas Stern อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า มูลค่าของ คาร์บอนเครดิตหรือสิทธิ์ในการแพร่คาร์บอน ที่ซื้อขายกันในขณะนี้ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 28,000 ล้านดอลลาร์ จะพุ่งขึ้นเป็น 40,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2553 ฉะนั้น "คาร์บอน" กำลังจะเป็นสินค้าสุดฮอตในตลาดโลก อย่างไรก็ดีผู้ที่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเกี่ยวเนื่องกับสาระของ "พิธีสารเกียวโต" หลายครั้ง สะท้อนตรงกันว่ามันไม่ใช่เวทีประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอีกต่อไป แต่เป็น "มหกรรมแสดงสินค้า" ที่เรียกว่า "คาร์บอน" หรือ "Carbon Trade Fair" มากกว่า

ยกตัวอย่างการบรรยายในหัวข้อ "โลกร้อนหลังการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่บาหลี อินโดนีเซีย" ซึ่งจัดโดยโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ดร.ไมเคิล ดอร์ซีย์ นักวิชาการและนักกิจกรรมชาวแอฟริกัน-อเมริกัน จากคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยดาร์ดเมาธ์ สะท้อนว่า ผู้ชนะในการประชุมที่บาหลีคือ สมาคมการค้าการปล่อยก๊าซนานาชาติ (ไออีทีเอ) โดยบทบาทที่ผ่านมาคือ การสนับสนุนการใช้กลไกตลาดหรือคาร์บอนเทรดดิ้งเป็นตัวแก้ปัญหาโลกร้อน และประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีน และอินเดีย ที่สามารถยื้อการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วยังมีกลุ่มผู้ค้าคาร์บอนทั้งหลาย บรรษัทข้ามชาติที่ไม่ต้องการทำอะไรมากในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ยิ่งไปกว่านั้น แลร์ลี่ โลห์แมนน์ นักวิจัยจาก เดอะ คอร์เนอร์ เฮาส์ ประเทศอังกฤษ และเจ้าของหนังสือเรื่อง "Carbon Trading" ได้ร่วมเสนอมุมมองในการแก้ปัญหาโลกร้อนในงานครั้งนี้ว่า พิธีสารเกียวโตเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ มีรัฐบาล นักธุรกิจ พ่อค้า เอ็นจีโอสหรัฐฯ ช่วยกันเขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่าง เนื้อหาหลักเป็นการสร้างกลไกตลาดคาร์บอน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อนช้าลง และไม่กระทบกำไรธุรกิจระยะสั้น

สำหรับภาคเอกชนอยากให้วิกฤติโลกร้อนเป็นแหล่งทำกำไรใหม่ สร้างผลประโยชน์ ใครๆ ก็ยอมรับว่าพิธีสารเกียวโตเป็นข้อตกลงทางการค้า ไม่ใช่ทางด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซยังไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซ และมีแนวโน้มจะไม่ลดด้วย เพราะข้อตกลงนี้ใช้บังคับไม่ได้ สิ่งที่เป็นจริงคือตลาดคาร์บอนเครดิตที่สร้างขึ้นมาไม่ได้แก้ปัญหา ผลจากโครงการซีดีเอ็มทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มสูงขึ้น เป็นการซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนให้ย่ำแย่ลง

ที่สำคัญมีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า การซื้อขายสิทธิ์การแพร่ก๊าซเรือนกระจก ใช้ไม่ได้ผลในการลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกในชาติกำลังพัฒนา เพราะวิธีการนี้เป็นประโยชน์แก่เจ้าของโรงงานที่แพร่ก๊าซเรือนกระจกในชาติกำลังพัฒนา แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลับยิ่งดูสับสนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากชาติกำลังพัฒนาไม่ถูกผูกมัดด้วยพิธีสารเกียวโต และไม่ต้องกำหนดเพดานจำกัดการแพร่ก๊าซเรือนกระจก บริษัทในชาติกำลังพัฒนาจึงสามารถสร้าง carbon credit เพื่อขายให้แก่ชาติพัฒนา และสามารถนำเงินนั้นไปสร้างโรงงานแห่งใหม่ๆ ที่ยังคงใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงที่ได้จากซากพืชซากสัตว์อื่นๆ อันเป็นตัวการแพร่ก๊าซคาร์บอนต่อไปอีก

นอกจากนี้ การซื้อขายสิทธิ์ในการแพร่คาร์บอนยังไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้พลังงานสะอาดและดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเงินลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์จากชาติพัฒนาแล้ว กลับไหลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของเจ้าของโรงงานก่อมลพิษในชาติกำลังพัฒนา ทำให้โครงการพัฒนาพลังงานที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ กลับไม่ได้รับเงินลงทุนเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง

ในกรณีประเทศไทย ภายหลังการประชุมโลกร้อนที่บาหลีปิดฉากลงไม่นาน ก็มีการประชุม "Bangkok Climate Change Talk" หรือประชุมเชิงปฏิบัติการโลกร้อนครั้งที่ 14 ซึ่งไทยประกาศอย่างชัดเจนว่า พร้อมอ้าแขนรับโครงการ CDM จากประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงใน 2 ปีข้างหน้าจะนำผืนป่าเข้าสู่ตลาดการซื้อขายคาร์บอนด้วย. ท่าทีประการหลังนี้สร้างความยินดีให้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ไม่น้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้ อ.อ.ป.ออกมาชี้แจงว่า ไทยมีป่าปลูกที่ใช้การได้อยู่ประมาณ 1.2 ล้านไร่ โดยพื้นที่ป่าปลูก (ไม่รวมป่าขึ้นเองธรรมชาติ) ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ประมาณ 150,000 ไร่ ซึ่งเฉลี่ยพื้นที่ป่าปลูก 1 ไร่ จะมีต้นไม้ 100 ต้น หากไทยตัดสินใจขายคาร์บอนเครดิตจากป่าปลูกจำนวน 150,000 ไร่ที่มีอยู่ จะมีรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ด้วยผลประโยชน์ในรูปของเงินจำนวนมหาศาล จึงอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า "กระแสตื่นคาร์บอน" จะทำให้เกิดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่ามากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นป่าชุมชน หรือชุมชนต้องการเป็นผู้บุกรุกป่า จากการวางผืนป่าด้วยการขีดเส้นลงบนแผนที่ เป็นต้น

ด้วยเหตุปัจจัยข้างต้น จึงถึงเวลาที่ต้องตอบคำถามว่ากลไกหรือมาตรการต่างๆ เป็นการกอบกู้ หรือกอบโกยกันแน่ เพราะหากพิธีสารฯ ยังอาศัย "ผลตอบแทน" เป็นแรงจูงใจ มากกว่าการสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนแล้ว ขบวนการกู้โลกด้วยพิธีสารเกียวโต ย่อมไม่แตกต่างอะไรไปจากการต่อลมหายใจให้กับระบบที่กดขี่ เอารัดเอาเปรียบผู้คนและธรรมชาติ

4. สงครามเย็น 'วิกฤตอาหารโลก' ปะทุแล้ว !
เรื่องโดย กองบรรณาธิการโลคัลทอล์ค

ความย่อ :
ภาวะอาหารราคาแพงเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้เนื่องมาจากการปลูกพืชเพื่อนำไปผลิตพลังงานทดแทน และการนำเข้าอาหารจำนวนมากของจีนและอินเดีย นี่กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พืชในตลาดโลกสูงขึ้น เช่น ธัญพืช เมล็ดพืช และพืชอาหาร อย่าง อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน. พืชพันธุ์หลายชนิด ไม่ใช่ถูกผลิตเพื่อกินอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ผลผลิตเหลานี้ถูกนำไปทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม ฉะนั้นวันนี้ ยุคของอาหารราคาถูกกำลังจะถึงจุดอวสาน

- "การเปลี่ยนที่ดินเกษตรกรรม เพื่อนำไปปลูกพืชที่จะเอาไปเผาสำหรับน้ำมัน ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เสนอให้ระงับการผลิตพืชน้ำมันเพื่อการค้าเป็นเวลา 5 ปี"
Jean Ziegler ผู้ตรวจการสหประชาชาติด้านสิทธิทางอาหาร

- "ปัญหาวิกฤติขาดแคลนอาหารในประเทศแถบคาริเบียน อาจจะส่งผลกระทบทางด้านความมั่นคงในประเทศได้ในที่สุด"
Ban Ki-moon (บัน คี-มูน) เลขาธิการของสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา ประชาชนชาวเอลซัลวาดอร์ ราว 400 คน ได้ออกมาชุมนุมหน้าธนาคารกลาง ต่างพากันเคาะหม้อกระทะ พร้อมกับป่าวร้อง ประท้วงราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2007 จนถึงเดือนมกราคมปี 2008 นี้ ราคาขายปลีกถั่วที่เอลซัลดอร์ พุ่งสูงขึ้นกว่า 68 เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวเพิ่มขึ้นว่า 56.2 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพดเพิ่มขึ้นราว 37.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แต่ละครอบครัวต้องใช้เงินเพิ่มสูงขึ้นในการหาซื้ออาหารให้พอกับความต้องการของสมาชิกในครอบครัว

- "ฉันสิ้นหวังแล้ว เราทนไม่ได้อีกต่อไป เราไม่เพียงตกงาน แต่ต้องพยายามหาเงินมาซื้ออาหารเลี้ยงลูกๆ และต้องส่งเสียลูกเล่าเรียนด้วย" Guadalupe Lopez แม่บ้านที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพังคนเดียวกล่าว

- "เราเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค และต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำด้วย ไม่เช่นนั้นพวกเราคงไม่รอด เราต้องการอธิปไตยทางอาหารคืนมา เราต้องการความมั่นคงในชีวิต" Francisco Marroquin ชายหนุ่มที่เข้าร่วมชุมนุม ประกาศก้อง

ไม่เพียงคนจนจะเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้นแล้ว ด้วยราคาที่สูงขึ้นอย่างมาก หากแต่โดยรวมราคาอาหารทั่วทุกมุมโลกก็ทะยานสูงขึ้นเช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สภาวะนี้มีมาจากสาเหตุหลักอย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน คือ แนวโน้มการนำเข้าอาหารจำนวนมากจากจีน และอินเดีย อัตราการเพิ่มการบริโภคของคนในประเทศที่สูงขึ้น และรัฐบาลเองของทั้งสองประเทศ ก็พยายามสนับสนุนการบริโภคเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนนั่นเอง กอปรกับความต้องการนำพืชอาหารไปผลิตเป็นพลังงานไบโอดีเซล หรือเอทานอลในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาพืชอาหารเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ Sandra Guevara หัวหน้าขบวนเคลื่อนไหวเพื่อสตรี ยังกล่าวว่า ปัญหานี้ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับผู้หญิงที่มีรายได้ต่ำ และยังต้องหาเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารสำหรับลูกๆ และคนในครอบครัว บางครัวเรือนมีเงินเพียงหนึ่งดอลล่าร์ (30 กว่าบาท) เท่านั้น ที่จะนำไปซื้ออาหารมาประทังชีวิต

ภาพสะท้อน จากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ประชาชนลุกขึ้นมาเดินบนท้องถนน หลังราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลายครั้งด้วยกัน ทั้งที่เมืองซาน ซัลวาดอร์ เมืองหลวงของประเทศเอลซัลวาดอร์ นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการชุมนุมอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา อย่างเช่นที่เมืองอบิดจัน เมืองหลวงของประเทศไอวอรี่ โคสต์ แอฟริกาตะวันตก. ที่นิวอัมสเตอร์ดัม, เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้. เฮติ, กรุงไคโร อียิปต์, เซนัลกัลป์, มัวริทาเนีย, แคมมารูน, ซิมบัมเว, เม็กซิโก, และอินเดีย เหล่านี้คือส่วนหนึ่งอันเป็นผลพวงมาจากวิกฤตราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น การค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมไปถึงปัญหาความยากจนที่เรื้อรังในประเทศเหล่านี้มานาน ส่งผลให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเพื่อความอยู่รอด

ไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่หลายแห่ง ได้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มประชาชน และตำรวจที่ต้องการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงและกำลังอาวุธ อันนำมาสู่ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย ซึ่งความคับแค้นที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในเวลานี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนจนในเมืองและชนบทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนทำงาน และชนชั้นกลางในเมืองอีกด้วย ยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2008 ที่ผ่านมา เหตุจลาจลที่ประเทศเฮติ ซึ่งเป็นประเทศที่จนที่สุดในทวีปอเมริกา มีประชากรทั้งหมด 8.5 ล้านคน ประชากร 80% ดำรงชีพด้วยเงินที่ต่ำกว่าวันละ 2 ดอลลาร์ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความยากจนที่สหประชาชาติกำหนดไว้, ซึ่งก่อนหน้านี้ เลขาธิการของสหประชาชาติ นายบัน คี-มูน (Ban Ki-moon) เคยกล่าวไว้ว่า "ปัญหาวิกฤติขาดแคลนอาหารในประเทศแถบคาริเบียน อาจจะส่งผลกระทบทางด้านความมั่นคงในประเทศได้ในที่สุด"

ด้าน Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาพิเศษของเลขาธิการยูเอ็น ถึงกับเอ่ยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นี้เป็นวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังพบว่า หลายประเทศได้ลดกำลังการส่งออกข้าวแล้ว หรือจำกัดไม่ให้ประชาชนในประเทศซื้อข้าวจำนวนมากเพื่อกักตุน

"มันเป็นกลียุคอย่างแท้จริง" ประธานาธิบดี Elias Antonio Saca ของเอลซัลวาดอร์ กล่าวในที่เวทีการประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า เราจะสามารถทนกับสถานการณ์แบบนี้ไปได้นานสักเท่าไร มันอาจเป็นภัยที่ไม่เพียงแต่ทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศเรา หรือท้าทายรัฐบาลต่างๆ ที่นั่งบนเก้าอี้แห่งอำนาจในขณะนี้เท่านั้น แต่มันกำลังสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของทุกประเทศในโลกอีกด้วย และด้วยความกลัวว่าจะมีประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วง เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลประเทศอินโดนีเซียเองได้เพิ่มงบประมาณอุดหนุนด้านอาหารในประเทศ เป็นกว่า 280 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

โครงการอาหารโลก หรือ World Food Programme ระบุว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลราคาอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเบื้องหลังเหตุการณ์นี้ ความต้องการพืชเพื่อนำไปผลิตพลังงานหมุนเวียน ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พืชในตลาดโลกสูงขึ้นเช่นเดียวกัน และโปรดอย่าลืมว่า ธัญพืช เมล็ดพืช (อย่างเมล็ดทานตะวัน) พืชอาหาร อย่าง อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไม่ใช่ถูกผลิตเพื่อกินอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เรากำลังจะผลิตมันเพื่อไปทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม ฉะนั้น "ยุคของอาหารราคาถูก กำลังจะถึงจุดอวสาน"

นอกจากนี้ฝันร้ายที่ว่า ด้วยราคาอาหารที่แพงขึ้น และภาวะไม่มีการจ้างงาน กำลังเกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ฝันร้ายกลับเกิดขึ้นซ้ำๆ ในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ประสบกับภาวะยากจนขาดแคลนมากที่สุดในโลก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ชาวเซนัลกัล และชาวมัวริทาเนียก็ได้ออกมาเดินประท้วงบนถนน กับปัญหาข้าวและธัญพืชที่มีราคาแพงขึ้นไปยกหนึ่งแล้ว

บนพื้นป้ายผ้า และป้ายไม้ที่ถูกแต้มสีเป็นคำว่า "Fight hunger, demand food security for all" (ต่อสู้กับความหิวโหย - เรียกร้องความมั่นคงทางอาหารเพื่อเราทุกคน) ถูกชูขึ้นหลา ท่ามกลางขบวนเดินประท้วงที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้. "พวกเราโกรธมาก กับสิ่งที่เราต้องเผชิญและทุกข์ทนมานานเหลือเกิน ด้วยค่าแรงที่แสนต่ำและกำลังจะถูกขโมยออกไปจากกระเป๋าของพวกเรา โดยราคาอาหารที่สูงลิบลิ่ว พวกเรากำลังหมดหนทาง เพราะรัฐบาลที่บริหารงานล้มเหลว แรงงานและคนยากจนต้องไม่มารับกรรมกับสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ก่อ" หนึ่งในผู้ชุมนุมประท้วง กล่าวขึ้น

ขณะนี้ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในแอฟริกาและต่างประเทศ กำลังร่วมมือกัน สร้างเครือข่ายและแรงกดดันมากขึ้น เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นที่รับรู้ของคนทั่วโลก ทั้งมุ่งเน้นให้รัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมถึงองค์กรการค้า และอาหารที่สำคัญระดับโลก เล็งเห็นถึงปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย. ความน่ากลัวที่เรา มนุษย์ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงแค่วิกฤตอาหารเท่านั้น แต่ด้วยความแปรปรวนของภูมิอากาศโลก ภาวะโลกร้อน ภัยแล้งรุนแรงที่ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ หรืออุทกภัยที่แอฟริกาตะวันตก หรือภัยหนาวสุดๆ ในจีน และอุณหภูมิร้อนที่พุ่งทะลุปรอท ที่ต้องบันทึกไว้ในยุโรปเหนือ คงเป็นปรากฏการณ์อ้างอิงได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนขึ้นว่า โลกเรากำลังตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน และน่ากลัวเพียงใด แน่นอนว่าจากปัญหาความเปลี่ยนแปลงนี้ ได้กระทบต่อการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิตของพืชผัก ผลไม้ หรืออาหารต่างๆ ได้น้อยลงด้วย

"สงครามเย็น" ได้เริ่มขึ้นแล้ว อันเป็นการปะทะกันระหว่างการแย่งพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชอาหารและพืชพลังงาน ปัญหาแย่งชิงน้ำ ทั้งสำหรับใช้ในการเพาะปลูก และในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล ไบโอดีเซล รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร ที่มีสาเหตุจากราคาที่พุ่งสูงขึ้น คนจนไม่มีเงินซื้อ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย อัตราคนตกงานมากขึ้น คนยิ่งเข้าไม่ถึงอาหาร ประกอบกับภัย(ที่ไม่)ธรรมชาติ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ยิ่งเป็นผลให้ผลผลิตทางเกษตรมีจำนวนลดน้อยลง จึงต้องแย่งชิงอาหารกันมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ การลุกลามของการปลูกพืชพลังงาน ด้วยราคาขายต่อหน่วยที่สูง เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้บรรดาเกษตรกรหันไปปลูกพืชพลังงานมากขึ้น เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อถางที่ทำเกษตรกรรมพืชพลังงานมากขึ้นทุกขณะ. เมื่อป่าที่สมบูรณ์ แหล่งปัจจัยสี่ของมนุษย์กำลังถูกทำลายมากขึ้นทุกวัน ทำให้เชื่อว่าอนาคตของมนุษยชาติคงยิ่งมืดมน, เทคโนโลยี - วิทยาศาสตร์ - นวัตกรรมใดจะเข้ามาแก้ไขหายนะนี้ได้อย่างเหมาะสม และยั่งยืน รวมไปถึงภาวะอำนาจในการพึ่งพาตนเองของมนุษย์กำลังถูกบั่นทอน เนื่องจากความคิดที่ครอบงำเราทุกคนให้หันไปปลูกพืชที่สร้างรายได้ สร้างกำไร ได้เงินมาก เพื่อนำเงินไปซื้อข้าว ซื้อสิ่งที่เราต้องการ ทุกสิ่งทุกอย่างแลกมาได้ด้วยเงินเสมอใช่หรือไม่

เกษตรกรที่ ณ วันหนึ่งเกิดปลูกข้าวไว้กิน เหลือไว้ขาย ได้ล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว ชาวนาต้องปลูกข้าวขายจากที่ได้กิโลกรัมละ 7-8 บาท เป็น 16-18 บาท แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อข้าวกิโลกรัมละกว่า 40 บาท... ภาพความอดยาก และความเดือดร้อนกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ในขณะที่ลัทธิบริโภคนิยม ที่ถูกขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ กำลังถูกโหมกระหน่ำและส่งเสริมอย่างเอาเป็นเอาตาย ภาพความขัดแย้งเหล่านี้ จะยิ่งผลักดันให้ความคับแค้น ความโกรธเคืองปะทุขึ้น และปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องต่อไป.จากนี้ไป สงครามเย็นที่มีเชื้อเพลิงคุกกรุ่นอยู่แล้ว กำลังทยอยเผยโฉมออกมา ก่อขึ้นเป็นเปลวไฟเด่นชัดมากขึ้นทุกขณะแล้ว...

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

- Four killed at Haiti anti-poverty demo (AFP via Yahoo! News - April 4, 2008)
- Food riots turn deadly in Haiti (BBC News - April 4, 2008)
- www.prachatai.com
- http://ipsnews.net/print.asp?idnews=41586
- http://www.iht.com/bin/printfriendly.php?id=12109190
- http://newsvote.bbc.co.uk/mpapps/pagetools/print/news.bbc.uk/2/hi/uk_news/7288460
- http://www.irinnews.org/printreport.aspx?ReportId=77538
- http://www.time.com/time/printout/0,8816,1717572,00.html
- http://www.stabroeknews.com/?p=1432&print=1
- http://www.mg.co.za/articlepage.aspx?area=/breaking_news/breaking_news_business/&articleid=337219&referrer=RSS
- http://newsvote.bbc.co.uk/mpapps/pagetools/print/news.bbc.co.uk/2/hi/africa/7352756.stm

คลิกไปอ่านบทความเกี่ยวเนื่อง กรณีศึกษาในบราซิล: กับดักเชื้อเพลิงเกษตร ด้านมืดเชื้อเพลิงชีวภาพ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 01 May 2008 : Copyleft by MNU.
กลุ่มผู้นำแรงงานแนวอนาธิปไตยได้นัดชุมนุมในวันถัดมา ที่จัตุรัสเฮย์ มาร์เก็ต ซึ่งในสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของชิคาโก การชุม นุมที่เริ่มขึ้นท่ามกลางสายฝนปรอยๆ ในวันที่ ๔ พฤษภาคมดำเนินไปอย่างสงบ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังไว้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ปราศรัยคนสุดท้าย กำลังกล่าวปิดการชุมนุมในช่วงเวลาราวสี่ทุ่มครึ่ง ตำรวจก็สั่งให้ผู้ชุมนุมสลายตัว แต่ทันใดนั้นเอง โดยไม่มีใครคาดคิด มีคนโยนระเบิดลูกหนึ่งใส่แถวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิตทันที ตำรวจจึงเปิดฉากยิง มีคนงานยิงตอบโต้บ้าง เหตุจลาจลครั้งนี้กินเวลาน้อยกว่าห้านาทีด้วยซ้ำ. ถึงแม้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายได้รับบาดเจ็บจากระเบิด แต่ตำรวจอีกหลายคนที่เสียชีวิตนั้นเป็นเพราะการยิงกันเองในหมู่ตำรวจด้วยความผิดพลาด
H