ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




15-04-2551 (1533)

คอมมิวนิสต์ทุนนิยมเสรีจีน และปัญหาข้อเสนอเกี่ยวกับเขตปกครองตนเองทิเบต
แมลงวันในจานปูของหูจิ่นเทา จดหมายจากทิเบต และบทสัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความต่อไปนี้ นำมาจากจดหมาย และเว็บไซต์ออนโอเพ่น และประชาไท
๑. แมลงวันในจานปูของหูจิ่นเทา โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
๒. จดหมายจากทิเบต โดย สุขทวี สุวรรณชัยรบ
๓. สัมภาษณ์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ความต้องการแห่งทิเบต โดย ประชาไท
เรื่องแรกเกี่ยวกับปัญหาของจีนในยุคประธานาธิบดีหูจิ่นเทา หลังพัฒนาอุตสาหกรรม
พร้อมชีวประวัติโดยสังเขปของผู้นำจีน ส่วนเรื่องที่สองเกี่ยวกับปัญหาทิเบตในรอบเดือนที่ผ่านมา
รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ของสื่อต่อสถานการณ์ดังกล่าว และข้อเรียกร้องเขตปกครองตนเองทิเบต
ในเรื่องสุดท้ายคือบทสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในปัญหาทิเบต และโอลิมปิกจีน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๓๓
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



คอมมิวนิสต์ทุนนิยมเสรีจีน และปัญหาข้อเสนอเกี่ยวกับเขตปกครองตนเองทิเบต
แมลงวันในจานปูของหูจิ่นเทา จดหมายจากทิเบต และบทสัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๑. แมลงวันในจานปูของหูจิ่นเทา
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : เขียน
http://www.onopen.com/2008/editor-spaces/2762

China is going through a wide-ranging and deep-going transformation.
(Hu Jintao)

ปูในฤดูชิวเทียน
คนจีนแผ่นดินใหญ่นิยมกินปูในช่วงฤดูชิวเทียน ด้วยปูในฤดูใบไม้ร่วงช่วงเดือนตุลาคมกำลังเติบโตได้ที่ มีไข่มาก ไข่ปูเป็นอาหารอันโอชะ แม้กินกับข้าวสวยร้อนๆ ไม่ปรุงแต่งรสชาติก็ยังอร่อยล้ำ ยิ่งถ้าได้น้ำพริกเกลือกระเทียมสดอย่างไทยเข้าคลุกเคล้า กินกับข้าวใหม่ได้ไม่รู้อิ่ม

เมื่อแก๊งสี่คนถูกจับได้โดยละม่อม หวงหย่งอี้ศิลปินจีนได้บรรจงวาดรูปปูขนาดใหญ่มอบให้นายพลเยี่ยเจี้ยนยิง ในฐานะที่เป็นผู้นำในการจับปูใส่กรงขังอย่างนิ่มนวล จีนที่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวมานานจึงกลับเข้าสู่ภาวะสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างบ้านแปงเมืองกันใหม่. คนจีนเป็นนักคิด ยิ่งในยามยากลำบากยิ่งชอบคิด จากปูธรรมดาในภาพเขียน เมื่อมีโอกาสสั่งอาหาร คนจีนหลังยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจึงสั่งปูตัวผู้สาม ตัวเมียหนึ่ง เพื่อจะได้กินปูสี่ตัวเหมือนกินเนื้อแก๊งสี่คนให้หายแค้น เพียงแต่ว่าความแร้นแค้นในยุคนั้น น่าจะทำให้คนจีนทั่วไปมีปูกินไม่มากนัก ผิดกับในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจจีนเฟื่องฟู นักธุรกิจเดินเข้าภัตตาคารหรู สั่งปูมากินเป็นว่าเล่น

เศรษฐศาสตร์บนโต๊ะอาหาร
ชาวตะวันตกนิยมประชุมกันในที่ทำงาน เสร็จธุระแล้วพากันไปดื่มกินเลี้ยงฉลอง ส่วนคนจีนนิยมเจรจาธุรกิจบนโต๊ะอาหาร ตกลงหลักการกันได้ค่อยไปคุยรายละเอียดต่อในสำนักงาน สายสัมพันธ์ทางการค้า มารยาท และวัฒนธรรมจึงถูกจำลองเอาไว้ในห้องอาหารของภัตตาคารชั้นนำ. เถาจูกง ปรมาจารย์ทางการค้าที่คนจีนนับถือเป็นเทพเจ้า ได้เขียนตำราทางการค้าไว้เล่มหนึ่ง เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว โดยข้อที่หนึ่งของกฎ 12 ข้อ กล่าวว่า "การทำการค้าต้องรู้จักนิสัยใจคอของผู้คนที่ค้าขายด้วย ไม่เช่นนั้น การเงินอาจจะมีปัญหา". บนโต๊ะอาหารเมื่อยามเจรจา สรวลเสเฮอา รวมถึงเมื่อเวลาเมามาย จึงเป็นเครื่องบ่งบอกนิสัยของผู้คนได้เป็นอย่างดี ธุรกิจในจีนจึงเริ่มต้นหลังหมดเหล้าแก้วแรกที่ดื่มเพื่อให้เกียรติแก่กัน - กานเปย (/upload/tien.jpg/upload/tien.jpg)

โต๊ะอาหาร: การติดสินบน การคอร์รัปชั่น และมลภาวะ
การเจรจาธุรกิจอย่างเป็นส่วนตัวในห้องอาหาร ด้านหนึ่งเป็นความละเมียดละไมและความเข้าใจในชีวิต แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการเปิดช่องว่างให้แก่การติดสินบน การคอร์รัปชั่น การจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่อให้งานเดินหน้าไปอย่างง่ายดาย ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน จีนเป็นสังคมที่บริหารด้วยคนหาใช่ตัวบทกฎหมาย ถ้าคนดีมีคุณธรรมสังคมย่อมเจริญก้าวหน้า จีนในยุคคอมมิวนิสต์แม้จะเน้นเรื่องความเท่าเทียม หากแต่ได้ละทิ้งคุณธรรมเก่าแก่ของปราชญ์ทั้งหลายไปอย่างไม่ใยดี เมื่อเผชิญหน้ากับอามิสสินจ้าง ความฉ้อราษฎร์บังหลวงจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมจีนปัจจุบัน

เศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตเต็มที่ได้สร้างเศรษฐีใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก พร้อมด้วยกำลังซื้อมหาศาล อาหารจานแล้วจานเล่าถูกลำเลียงสู่โต๊ะ เพียงเพื่อให้เหล่าพ่อค้ากินทิ้งกินขว้างอย่างไม่แยแส ในขณะที่คนจีนในดินแดนห่างไกลแถบตะวันตกยังมีอาหารไม่พอกิน นักธุรกิจจีนจากฝั่งตะวันออก กลับโยนอาหารทะเลทั้งปลาปูทิ้งลงถังให้แมลงวันตอมไต่ ไม่ต่างจากการปล่อยน้ำเสียและควันพิษเข้าสู่ชุมชนอย่างไร้มาตรการป้องกัน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างผู้ประกอบการ รัฐบาล และประชาชน

ปัญหาทั้งประเทศจึงถูกจำลองมาไว้ให้เห็นในภัตตาคารจีน ทั้งปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำเสียและควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาค่านิยมผิดๆ คิดแต่หาประโยชน์ใส่ตัว โดยไม่ใส่ใจผลกระทบทางสังคม จนนำไปสู่การโกงกินในทุกระดับอย่างกว้างขวาง. สังคมจีนทุกวันนี้คนรวยจึงนั่งสบายกินอร่อยอยู่ในภัตตาคาร ปล่อยให้คนจนต้องล้างถ้วยล้างชามสกปรกอยู่ภายนอก โดยมีแมลงวันบินว่อนตอมเศษอาหารที่ติดมากับจานปู อันเป็นปัญหาที่น่าอดสู และดูจะรบกวนจิตใจผู้นำอย่างหูจิ่นเทามากที่สุด (/upload/Hu Jintao1.jpg/upload/Hu Jintao1.jpg)

หูจิ่นเทา เข้าแทน เจียงเจ๋อหมิน
หูจิ่นเทาจึงเคยประกาศเอาไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า ภารกิจสำคัญของเขาคือ การปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาของประเทศจีนอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้เกิดความสมดุลและลดการทำลายสิ่งแวดล้อมลง.
เมื่อเจียงเจ๋อหมินต้องก้าวลงจากอำนาจ การเลือกหูจิ่นเทาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีจีนต่อจากเจียงนั้น สะท้อนให้เห็นว่าคณะผู้นำอาวุโสของจีนที่ยังมีบทบาททางการเมืองอยู่ขณะนั้น เล็งเห็นแล้วว่าหลังจากเร่งเครื่องการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมย่อมจะตามมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง การจะนำพาประเทศให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงในระยะยาว จึงจำเป็นต้องเลือกใช้ผู้ที่เข้าใจปัญหาและเคยผ่านประสบการณ์การทำงานมาอย่างโชกโชน จากที่เคยเลือกใช้เจียงเจ๋อหมินจากเซี่ยงไฮ้เมืองที่เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากที่สุด คณะผู้นำจีนได้พลิกกลับไปเลือกคนหนุ่มอดีตผู้บริหารจากกุ้ยโจวมณฑลยากจนของจีน ให้ขึ้นมารับบทบาทสำคัญที่สุดของประเทศ นับเป็นการปรับทีท่าและพลิกทิศทางการเลือกผู้นำครั้งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์

หูจิ่นเทา: จากร้านชา สู่ชิงหัว
หูจิ่นเทาเกิดในเดือนธันวาคม ปี1942 เป็นบุตรของหูจิ้งจือ พ่อค้าชาจากมณฑลอันฮุย ชีวิตตอนเด็กของหูค่อนข้างยากลำบาก เพราะเขาเกิดมาในช่วงที่จีนกำลังเกิดสงครามกลางเมือง รวมทั้งเผชิญหน้าการรุกรานจากญี่ปุ่น บิดาจึงต้องลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในแถบชนบท เมื่อกลับมาตั้งหลักใหม่หลังสงครามสงบ มารดาก็เสียชีวิตจากไปด้วยโรคภัยเบียดเบียน ครอบครัวจึงต้องอพยพไปอยู่กับย่าที่เมืองไท่โจว ไม่ไกลจากเซี่ยงไฮ้มากนัก การศึกษาเล่าเรียนของหูจึงเริ่มต้นขึ้นที่นั่นเรื่อยมาจนจบชั้นมัธยม ก่อนจะสอบเข้าเรียนต่อด้านวิศวกรรมชลประทานที่มหาวิทยาลัยชิงหัว - มหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์อันโด่งดังของกรุงปักกิ่ง เคียงคู่เป่ยต้าหรือมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งขึ้นชื่อด้านศิลปศาสตร์

ในยุคก่อร่างสร้างประเทศ วิศวกรจากชิงหัวได้ถูกกลไกการสร้างผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนดึงตัวเข้าสู่ตำแหน่งบริหารคนแล้วคนเล่า ทั้งหลี่เผิง, เจียงเจ๋อหมิน, และจูหรงจี, ล้วนจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยชิงหัว หูจิ่นเทาเองก็ถูกดึงเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา โดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคในปี 1964 แต่ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นภัยการเมืองช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม หูเองต้องถูกส่งไปใช้แรงงานสร้างเขื่อนหลิวเจียที่มณฑลกานซูเป็นเวลาร่วมหนึ่งปี ก่อนจะขยับมารับตำแหน่งนายช่างที่เขื่อนปาผานเสีย หลังจากเขื่อนหลิวเจียแล้วเสร็จ

ชีวิตการทำงานในช่วงต้นแทนที่จะได้เป็นวิศวกร หูกลับต้องไปใช้แรงงานไม่ต่างจากกรรมกร ประสบการณ์ชีวิตทำให้เขาแกร่งกล้า ความสามารถในการทำงานชนิดหนักเอาเบาสู้ของหูเริ่มเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรค ปี 1974 แทนที่จะถูกย้ายไปตามสายงานหลังเขื่อนสร้างเสร็จ เขากลับถูกขอตัวไว้เพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาประจำมณฑล ก่อนที่ปีต่อมาจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานออกแบบของมณฑล

ปี 1980 หลังเติ้งเสี่ยวผิงกลับมาครองอำนาจทางการเมืองได้อีกครั้ง ความพยายามในการบ่มเพาะนักบริหารรุ่นใหม่เพื่อเข้ามาสืบสานงานปฏิรูปและเปิดประเทศดำเนินไปอย่างเข้มข้น เติ้งต้องการผู้ที่มีความพร้อมสี่ด้าน คือ มีความเป็นนักปฏิวัติที่เข้มข้น และมีภูมิคุ้มกันแนวคิดเสรีนิยมที่จะไหลเข้ามาตามการเปิดประเทศได้อย่างเข้มแข็ง มีอายุน้อยกว่า 55 ปี มีความรู้ระดับปริญญาตรี และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน. การวางโครงสร้างผู้บริหารไว้ที่คนรุ่นใหม่ทำให้โอกาสของคนรุ่นหูจิ่นเทาเปิดกว้าง แม้อยู่ในวัย 38 แต่เมื่อทำงานเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรค ก็สามารถได้รับเลือกเป็นรองประธานคณะกรรมการพัฒนาประจำมณฑลได้

ปี1981หูถูกเรียกตัวเข้าสู่ปักกิ่งฐานอำนาจของพรรคเพื่อเข้ารับการอบรมในโนโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน และปีถัดมาได้รับเลือกให้เข้าเป็นคณะกรรมการประจำในคณะกรรมการกลางของสันนิบาตเยาวชนของพรรค อันเป็นอีกองค์กรหนึ่งสำหรับการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ของจีน. ปี 1985 หลังจากบ่มเพาะจนได้ที่ หูจิ่นเทาถูกส่งไปทำงานที่ท้าทายมากที่สุด นั่นคือการเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกุ้ยโจว มณฑลที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดของจีน

ฟื้นฟูมณฑลกุ้ยโจว
ปีนั้นหูจิ่นเทามีอายุเพียง 43 ย่าง 44 แต่กลับต้องมารับภาระในการฟื้นฟูมณฑล ที่ถูกเปรียบเปรยจากคนจีนว่า มีอากาศดีไม่เกินสามวัน มีที่ราบไม่เกินสามลี้ และผู้คนมีเงินในกระเป๋าไม่เกินสามสลึง. กุ้ยโจวมีประชากรประมาณ 30 ล้านคน แต่มีคนจนเสียหนึ่งในสาม หูจิ่นเทาหมดเวลาไปสองปีกับการสำรวจพื้นที่ 86 อำเภอของกุ้ยโจว เพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

แม้จะเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้จากการเร่งพัฒนาผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม รวมทั้งเร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ด้วยกุ้ยโจวเป็นที่ตั้งของน้ำตกหวงกว่อซู่ น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน แต่สิ่งที่หูเห็นว่าเป็นภารกิจสำคัญนั้นกลับอยู่ที่การศึกษา และการอบรมบ่มวิชาให้ความรู้กับประชาชน แม้จะเป็นการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว แต่ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงมือทำทันที ทั้งนี้เพื่อปรับฐานความคิดและทัศนคติของประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้

หูเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างมณฑลจำนวนมากให้เดินทางมาเพื่อฝึกอบรมคนในกุ้ยโจว ตัวเขาเองลงไปนั่งเรียนหลายวิชากับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย การทำงานอย่างเอาจริงเอาจังแต่ไม่เอาหน้า ทำให้ในช่วงเวลาที่หูบริหารกุ้ยโจวอยู่ ตัวเลขของภาคการผลิตเติบโตขึ้นเกือบเท่าตัว เนื้อวัวชั้นดีจากอำเภอกวนหลิ่งกลายเป็นสินค้าส่งออกอันขึ้นชื่อของมณฑลให้ผู้คนได้ลิ้มลอง แต่หูลิ้มรสความสำเร็จอย่างเงียบๆ ได้ไม่นาน เหตุการณ์จลาจลในทิเบตก็ทำให้หูจิ่นเทาได้รับคำสั่งใหม่ให้เดินทางด่วนเพื่อแก้ปัญหาที่ทับถมมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีของทิเบต

ทิเบต (ซีจ้าง) หนามตำใจรัฐบาลจีน
"ทิเบต"หรือ"ซีจ้าง"ในภาษาจีน เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งต้นน้ำ มีภูมิประเทศงดงาม และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความลุ่มลึกของศาสนาพุทธนิกายวัชรยานที่ได้ฝังรากลึกลงในจิตใจคนทิเบต ศาสนาและการเมืองได้ถูกหลอมรวมให้เป็นระบบเดียวกันภายใต้การปกครองขององค์ดาไลลามะ ที่สืบทอดตำแหน่งกันด้วยกระบวนการคัดเลือกแบบเสี่ยงทายตรวจสอบทางจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง ผิดแผกแตกต่างจากกระบวนการสรรหาผู้นำสูงสุดของทุกประเทศในโลก
(/upload/26tibet-600.jpg/upload/26tibet-600.jpg)

หลังจากเหมาเจ๋อตงยึดอำนาจได้ในปี 1949 สองปีถัดมาในปี 1951 จีนได้ส่งกองทัพแดงยาตราเข้าสู่ทิเบต แม้จะรู้ล่วงหน้า แต่กองกำลังทหารของทิเบตก็มิอาจต้านทานแสนยานุภาพทางการทหารของจีนได้ ทิเบตจึงต้องตกอยู่ภายใต้การยึดครองโดยจีนนับจากนั้นเป็นต้นมา. หลังจากต่อรองกับรัฐบาลจีนอยู่พักใหญ่และเห็นว่าไม่เป็นผล ในที่สุดดาไลลามะองค์ปัจจุบัน ได้หลบหนีการติดตามไล่ล่าของทหารจีนเข้าสู่พรมแดนอินเดีย ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลเนรูห์ องค์ดาไลลามะและคณะผู้ปกครองได้รับพื้นที่ในบริเวณธรรมศาลาพัฒนาขึ้นเป็นเมืองใหม่ ต้อนรับผู้อพยพชาวทิเบตที่หลั่งไหลมารวมตัวกันตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเรียกร้องเอกราช. ปัญหาทิเบตจึงเป็นหนามตำใจรัฐบาลจีนในเวทีโลกมานับแต่นั้น และมีความลึกซึ้งพอกันกับปัญหาไต้หวัน
(/upload/15n_lama_wideweb__430x274.jpg/upload/15n_lama_wideweb__430x274.jpg)

ยิ่งองค์ดาไลลามะได้รับความนิยมมากขึ้นในโลกตะวันตกเท่าใด ยิ่งรบกวนจิตใจรัฐบาลจีนมากขึ้นเท่านั้น. ในปี 1959 ชาวทิเบตที่ไม่พอใจการปกครองของรัฐบาลจีน ได้รวมตัวกันประท้วงจนเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้น จีนได้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก. เมื่อย่างเข้าใกล้ปี 1989 อันเป็นช่วงเวลาครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว กระแสเรียกร้องเอกราชในทิเบตเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อผสานกับการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปีเดียวกัน ทิเบตได้กลายเป็นจุดอ่อนไหวขึ้นในทันที

ในจังหวะที่เจียงเจ๋อหมินถูกเรียกตัวจากเซี่ยงไฮ้ให้เข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ หูจิ่นเทาเองได้ถูกส่งตัวมาเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในทิเบต การเรียกใช้ผู้นำที่เด็ดขาดเพื่อประคองช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของจีน ดำเนินไปอย่างลึกซึ้งภายใต้การตรวจสอบท่าทีอย่างเข้มข้นของคณะผู้นำอาวุโสในพรรคนำโดยเติ้งเสี่ยวผิง. ทิเบตภายใต้การนำของหูจิ่นเทาได้ถูกเร่งพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างเอาจริงเอาจัง วัดวาอารามได้รับการฟื้นฟูเพื่อรับการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ การคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในชีวิตของประชาชน ติดตามมาด้วยการอพยพคนจีนจำนวนมากเข้าสู่ทิเบต ทำให้ชาวทิเบตที่เคยมีอยู่เพียงสองล้านคนค่อยๆ กลายเป็นประชากรส่วนน้อยในประเทศของตนเองไปในที่สุด

การกลืนชาติจึงมีหลายวิธี ทั้งการใช้กำลังทหารเข้าหักหาญบังคับ ใช้วัฒนธรรมการบริโภคปรนเปรอหลอกล่อ รวมทั้งใช้การกลืนกินทั้งตัวและหัวใจ ด้วยการส่งผู้คนเข้าแต่งงานสร้างเผ่าพันธุ์ใหม่ อันเป็นการทำให้เผ่าพันธุ์เดิมค่อยๆ หายไปอย่างช้าๆ จนไม่สามารถสืบหารากเหง้าได้

หูจิ่นเทาสู่ปักกิ่ง
แม้จะไม่ได้เป็นที่ชื่นชมในสายตาชาวโลก แต่การดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของจีนเป็นสิ่งที่หูจิ่นเทาใช้กับทิเบตอย่างได้ผล ทำให้เมื่อถึงวาระที่จะต้องเตรียมการล่วงหน้า ก่อนที่เจียงเจ๋อหมินจะต้องลงจากอำนาจในปี 2002 หูจิ่นเทาได้ถูกดึงเข้าสู่วงจรอำนาจสูงสุดอย่างเต็มตัว เมื่อได้รับการคัดเลือกให้เข้าเป็นหนึ่งในกรรมการประจำคณะกรรมการกรมการเมืองในยุคที่ยังมีสมาชิกเจ็ดคน และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ที่จะติดต่องานกับผู้นำต่างประเทศ

นับเป็นเวลา10ปีเต็มที่หูจิ่นเทาได้ถูกกระบวนการสร้างผู้นำในแบบฉบับพรรคคอมมิวนิสต์จีนขัดเกลาฝึกฝน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จีนก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งมีเงินทุนสำรองอย่างล้นเหลือ ภายใต้การสานต่อนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศจากเติ้งสู่เจียง (/upload/hu jieng.jpg/upload/hu jieng.jpg) มรดกที่เจียงทิ้งไว้ให้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้านหนึ่งคือความมั่งคั่ง แต่ด้านหลังบ้านที่ไม่ได้รับการกล่าวขานถึงนั้น คือกองขยะที่มาพร้อมกับความเจริญ ทั้งขยะทางวัตถุและขยะทางจิตใจ. สิ่งที่หูต้องทำ ใช่แต่เพียงสืบสานการพัฒนาต่อไปเท่านั้น แต่หูจำเป็นต้องสร้างสมดุลใหม่สำหรับมอบเป็นมรดกให้ผู้นำรุ่นที่ 5 ที่จะต้องรับไม้ต่อจากเขาในปี 2012 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า

ภาวะผู้นำ
กล่าวสำหรับผู้นำ สิ่งที่ตัดสินใจทำวันนี้ล้วนส่งผลดี-ผลเสียถึงวันข้างหน้าอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ผู้นำที่ดีจึงมิได้เพียงหมกมุ่นอยู่กับการบริหารคะแนนนิยมในปัจจุบัน หากแต่ต้องมีความกล้าหาญวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีไว้เป็นต้นทุนในการบริหารสำหรับผู้นำรุ่นต่อไป มิใช่ทิ้งไว้แต่เพียงมรดกบาป ทั้งค่านิยมผิดๆ การทุจริตคอร์รัปชั่น การทำให้สังคมแตกแยกแบ่งฝ่าย เพียงเพื่อให้ตัวเองสามารถดำรงสถานะและรักษาอำนาจเอาไว้ได้ ผู้นำชั่วร้าย สังคมย่อมวิปริต สังคมใดมีผู้นำเยี่ยงนี้ นับเป็นเคราะห์กรรมของแผ่นดิน แม้ยามมีชีวิตอยู่ผู้คนจะยังไม่กล้าติฉิน แต่เมื่อดับดิ้นสิ้นชีวา ผู้คนก็จะพากันก่นด่าสาปแช่งให้ดวงวิญญาณไร้ความสุข ลูกหลานมิอาจสู้หน้าสาธารณชน แม้จะมีอำนาจล้นฟ้า เงินทองท่วมดิน แต่หากมิอาจหาความสงบในชีวิตได้ สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายย่อมทำให้ชีวิตสูญเปล่าเมื่อความตายมาเยือน

ในวันที่สังคมจีนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหารุมเร้ารอบด้านพัฒนาการทางวัต ถุกำลังทำให้คุณค่าทางจิตใจของผู้คนในสังคมตกต่ำ คำสอนของขงจื้อที่เคยถูกกล่าวหาว่าล้าสมัยได้รับการปัดฝุ่นออกมาใช้อีกครั้ง ในยุคที่จีนสามารถส่งดาวเทียมไปยังดวงจันทร์ จีนกลับต้องเรียกหาไม้ตีแมลงวันโบราณแห่งสำนักหยู ด้วยแมลงวันในจานปูช่างบินรบกวนจิตใจหูจิ่นเทาเสียเหลือเกิน

๒. จดหมายจากทิเบต
สุขทวี สุวรรณชัยรบ : เขียน
อาจารย์วิชาสันติภาพและการแก้ไขข้อขัดแย้ง, มหาวิทยาลัยอเมริกานา, ประเทศนิคารากัว


เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การที่รัฐบาลจีนปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในทิเบตอย่างรุนแรงโดยไม่แยแสต่อความกังวลของสังคมโลก ทำให้สำนักข่าวหลายสถานีได้ภาพมาฉายเป็นข่าวให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกลุ่มนักรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องทิเบตได้มีโอกาสปลุกประเด็นปัญหาทิเบตขึ้นมาเป็นกระแสได้อีกครั้ง หลังจากที่เงียบหายไม่มีใครสนใจอยู่หลายปี นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่ายินดีและน่าเป็นห่วงในเวลาเดียวกัน น่ายินดีคือผู้คนหันมาสนใจปัญหาดังกล่าวอีกครั้ง แต่น่าเป็นห่วงคือสิ่งที่นำผู้คนหันมามองปัญหาคือความรุนแรงและการใช้กำลัง

วิพากษ์สื่อ ในฐานะ Sensational Media
ย้อนกลับไปกว่ายี่สิบปีที่แล้ว เมื่อองค์ดาไลลามะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ.2532 ชาวโลกต่างยกย่องวิธีการของท่านว่าเป็นการใช้หลักอหิงสาและเมตตา แม้แต่กับศัตรูผู้กดขี่ แต่ในปัจจุบันหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ข่าวและความสนใจในประเด็นด้านสันติภาพและความขัดแย้งในโลกถูกจำกัดลงให้เหลือเพียงประเด็นปัญหาการก่อการร้ายและความรุนแรงภายในประเทศ สื่อปัจจุบันได้กลายเป็นเพียงสื่อที่เสนอข่าวเพื่ออรรถรส (Sensational Media) ยิ่งประเด็นข่าวที่จะนำมาออกอากาศมีภาพหรือคำพูดที่สร้างผลกระทบต่อโสตประสาทรุนแรงมากเท่าใด ยิ่งถือว่าน่าสนใจมากเท่านั้น เช่นภาพสงคราม การนองเลือด ภาพการระเบิด หรือคำสบถของผู้นำบางประเทศ เป็นต้น การดูข่าวในปัจจุบันจึงไม่ต่างอะไรกับการรับชมความบันเทิงดาดๆ เช่นการเชียร์บอล ดูเกมส์โชว์หรือฟังสรยุทธ์. การดูข่าวชาวทิเบตประท้วงจึงเหลือเพียงการสังเกตการณ์หรืออย่างมากก็คอยลุ้นเชียร์ อย่างแย่คือเบื่อเอือมกับปัญหาความวุ่นวาย

เหตุการณ์การประท้วงและการปราบปรามในทิเบตเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีพระสงฆ์และประชาชนเสียชิวิตเกือบมากกว่าหนึ่งร้อย (ข่าวล่าสุดระบุว่าประมาณ 140 คน) สื่อนานาชาติและสื่อไทยโหมโรงอย่างพร้อมเพรียงจนเป็นข่าวต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถเสนอประเด็นปัญหาเชิงลึกได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันเอาเลย ระดับของปัญหาในเชิงโครงสร้างและนโยบาย ถูกลดทอนเหลือเพียงแค่ความน่าสนใจในประเด็นการต่อสู้กับอำนาจรัฐและการปราบปรามที่รุนแรง การเสนอข่าวในรูปแบบนี้มีประสิทธิภาพสูงในการดึงดูดความสนใจและเร้าอารมณ์ผู้รับสาร แต่ไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการคิดแก้ปัญหา อันจะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงแนวคิดของตัวบุคคลผู้รับสารหรือโครงสร้างแห่งปัญหาได้ ปัญหาเรื่องทิเบตจึงอาจจะน่าสนใจสำหรับผู้ชม แต่ไม่มีใครมองเห็นว่าตัวปัญหาที่แท้จริงหรืออะไร และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไร เป็นที่น่าเสียดายว่า หลายคน "รู้เรื่อง" แต่ไม่เข้าใจอะไรเลย

หลายปีที่ผ่านมา หนุ่มสาวทิเบตที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว พวกเขาใช้ยุทธวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างจากองค์ดาไลลามะ เช่นการเดินขบวนประท้วง การยั่วยุตำรวจ การเผาธงชาติจีน หรือการอดอาหารจนตาย เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกหันมาสนใจประเด็นปัญหาเรื่องทิเบตอีกครั้ง แต่นี่ก็เป็นอีกความพยายามที่ตกอยู่ในหลุมพรางของสื่อที่มักง่าย สื่อเหล่านี้ไม่เคยออกแรงขยับตัวเพื่อเรียนรู้ประเด็นปัญหาอันซับซ้อนและลึกซึ้ง มีเพียงเหตุการณ์และประเด็นที่ก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมอย่างสูงเท่านั้นที่พวกเขาสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อโทรทัศน์ บ่อยครั้งที่พวกเขาละทิ้งประเด็นสำคัญด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่า "ไม่มีภาพ"

ข่าวสารระดับปรากฏการณ์
สังคมปัจจุบันรับรู้ข่าวสารได้ในเพียงแค่ "ระดับปรากฏการณ์"จากสื่อกระแสหลักเหล่านี้ หลายคนบอกว่านี่คือปัญหางูกินหาง หากประชาชนไม่พัฒนาวัฒนธรรมการรับฟังข่าวสาร สื่อก็ไม่พัฒนา และในทางเดียวกัน เมื่อสื่อไม่ปรับปรุงวัฒนธรรมการเสนอข่าว คุณภาพของสังคมก็ย่ำอยู่กับที่ไม่เดินหน้าไปไหน แต่ผู้เขียนมองว่า มุมมองเช่นนี้ไร้สาระ สังคมมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา สื่อก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือชั่วลง ความคิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงให้มีสิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราทั้งสิ้น

แนวคิดที่กลัวว่าเมื่อเสนอข่าวหนักแล้วประชาชนจะรับฟังน้อยลงนั้น เป็นความคิดของนักข่าวที่ไม่เอาไหนเสียเลย เขาตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่แรก เมื่อเอาปริมาณเรทติ้งเป็นตัวตั้ง ความตั้งใจที่จะเสนอข่าวที่มีสาระก็เป็นประเด็นรอง แต่หากสื่อคิดใหม่ โดยเอาประเด็นปัญหาและสาระที่สำคัญเป็นปัจจัยหลัก แม้เนื้อเรื่องและภาพจะไม่หวือหวา แต่ก็ต้องมุ่งมั่นนำเสนอต่อประชาชนให้ได้เนื่องด้วยความรับผิดชอบ เมื่อมีมุมมองเช่นนี้ ประเด็นเรื่องเรทติ้งจะกลายเป็นความท้าทายให้มีการพัฒนาปรับปรุงกลวิธีการนำเสนอข่าวให้มีประสิทธิภาพ เพราะการนำเสนอเรื่องราวที่สำคัญให้ลึกซึ้งและรอบด้านเป็นสิ่งจำเป็นหลัก วิธีการคิดเช่นนี้จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และก่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวม. สำหรับประเด็นปัญหาทิเบต ผู้เขียนมีความเป็นห่วงว่า หากสื่อกระแสหลักยังคงมีรูปแบบการหาและนำเสนอข่าวดังเช่นที่เป็นอยู่ กลุ่มผู้เรียกร้องอิสรภาพและสังคมทิเบตจะไม่สามารถยึดมั่นกับการต่อสู้แบบอหิงสาและเมตตาได้อีกต่อไป

เมื่อสองปีที่แล้ว ข้าพเจ้าทำงานอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตแห่งองค์ดาไลลามะในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย (*) แน่นอนว่าประเด็นเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสระภาพนั้นเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุยของคนที่นี่ แม้สังคมของพวกเขาจะได้ใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยมาเกือบห้าสิบปีแล้วก็ตาม

(*)ข้าพเจ้าใช้เวลาประมาณสามเดือนกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตในธรรมศาลา ผลิตสารคดีเรื่อง ทางสายกลางแห่งทิเบต (The Tibetans' Middle Way) เป็นสารคดียาวสามสิบนาทีเกี่ยวกับการนำแนวคิดพุทธศาสนามาใช้เป็นนโยบายในประเด็นปัญหาจีน-ทิเบต และนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต นอกจากนั้นยังได้เขียนบทความวิชาการ เกี่ยวกับแนวคิดนโยบายทางสายกลางแบบพุทธของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เปรียบเทียบกับรูปแบบแนวคิดการแก้ไขข้อขัดแย้งแบบตะวันตกที่สอนกันตามมหาวิทยาลัย

เท่าที่พบเห็นโดยทั่วไป ชาวทิเบตส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในวิถีพุทธศาสนามหายานที่เน้นหลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งช่วยให้พวกเขามีความอดทนในการเรียกร้องอิสรภาพแบบอหิงสา แต่ก็มีหลายคนเริ่มเป็นห่วงถึงวันที่ไม่มีองค์ดาไลลามะ บ้างก็ว่าเวลาเหลือน้อยเต็มที ต้องหาทางออกในการลงมือทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง หนุ่มสาวทิเบตโดยเฉพาะกลุ่มที่โตและได้รับการศึกษาสมัยใหม่ในอินเดียและตะวันตก พวกเขาเริ่มที่จะเรียนรู้ว่าเมตตาและอหิงสานั้น "ไม่เป็นข่าว" แต่การเดินขบวน เผาธง ปีนสถานทูต และด่ารัฐบาลจีนนั้น "เป็นข่าว" กลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วง และต่อต้านรัฐบาลจีนในทุกสถานการณ์และรูปแบบเท่าที่จะทำได้

เจรจากับจีนเพื่อเรียกร้องรูปแบบเขตปกครองตนเองทิเบต (Greater Autonomy)
องค์ดาไลลามะ รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต และประชาชนทิเบตส่วนใหญ่นั้นสนับสนุนการเจรจากับจีนเพื่อเรียกร้องรูปแบบเขตปกครองตนเองทิเบต (Greater Autonomy) มิใช่เรียกร้องการแยกประเทศ แนวคิดการเจรจานี้เรียกว่า นโยบายทางสายกลางแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต (The Middle Way Policy) โดยองค์ดาไลลามะมองว่าสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนยิ่งกว่าการมีประเทศอิสระนั้น คือการที่ชาวทิเบตได้มีโอกาสอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งแวดล้อมในทิเบต

ห้าสิบปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของจีน วิถีชีวิต สภาพบ้านเมือง และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในทิเบตถูกทำลายลงไปมาก สิ่งที่องค์ดาไลลามะเป็นห่วงและต้องการมากยิ่งกว่าการได้ประเทศคืนคือการได้ปกป้องทิเบตจากการถูกคุกคามทำลายธรรมชาติและริดรอนสิทธิในการมีชีวิตและความเชื่อแบบทิเบต. แม้ว่าสิทธิในการเรียกร้องอิสรภาพเป็นประเทศอิสระนั้น เป็นของชาวทิเบตและองค์ดาไลลามะอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมองจากมุมมองหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใด แต่องค์ดาไลลามะและชาวทิเบตส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะรักษาสิ่งที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนยิ่งกว่าการมีประเทศเป็นของตนเอง

รูปแบบเขตปกครองตนเองที่องค์ดาไลลามะเรียกร้องนั้นคือ การที่จีนอนุญาตให้ทิเบตมีรูปแบบการดำรงชีวิตวัฒนธรรมและความเชื่อของตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นกับแนวคิด"คอมมิวนิสต์ทุนนิยมเสรี"จากรัฐบาลจีน. ทิเบตต้องการเป็นเขตปลอดทหารและอาวุธ รวมถึงการทดลองนิวเคลียร์. องค์ดาไลลามะต้องการให้ทิเบตมีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย และมีคณะรัฐมนตรีที่ทำงานบริหารเขตปกครองตนเอง ในประเด็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่ยินดีมอบอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศและการตัดสินใจส่วนกลางอื่นๆ ให้กับรัฐบาลจีน โดยถือว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ท้ายจดหมาย
ข้าพเจ้าขอจบท้ายจดหมายด้วยการชวนเชิญให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจประเด็นปัญหาจีน-ทิเบต ติดต่อขอข้อมูลเรื่องการร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม INEB (International Network of Engaged Buddhists) ซึ่งกำลังหารือกับชาวทิเบตในประเทศไทย และคนไทยที่ห่วงใยกับประเด็นจีน-ทิเบต เพื่อจัดกิจกรรมร่วมกันในเร็วๆ นี้ในรูปแบบการเสวนา การแสดงภาพยนตร์สารคดี และอาจมีการเดินขบวนหรือยื่นจดหมายส่งข้อเรียกร้อง ฯลฯ

นอกจากงานในประเทศ INEB ยังทำงานกับกลุ่มคนทิเบตลี้ภัยในอินเดีย และนักกิจกรรมชาวพุทธทั่วโลก ขอเชิญมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แลกเปลี่ยนและการแสดงพลังแห่งอหิงสาด้วยใจ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวทิเบต เรียกร้องด้วยความจริงและความเห็นใจแม้แต่ต่อรัฐบาลจีน ซึ่งได้ทำร้ายชาวทิเบตมานานหลายทศวรรษ. เรียกร้องด้วยความนิ่งและความมุ่งมั่นโดยไม่ต้องพึ่งพาความรุนแรงหรือความเกลียดชังเป็นพลังขับ แต่ใช้ความรักความเข้าใจและความหวังดีแสดงออกให้ประทับใจมวลชนด้วยความงาม เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้สื่อมวลชนได้เข้าใจว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องไม่ได้ทำเป็นแค่การเดินขบวนสร้างสีสรร หรือกิจกรรมหวือหวารุนแรงเพื่อให้นักข่าวได้ภาพไปทำข่าว แต่เรียกร้องด้วยใจและสื่อความต้องการแห่งสันติภาพไปยังมนุษย์ทุกคนด้วยความจริงใจ

3. สัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์: ความต้องการแห่งทิเบต "เหนือเอกราช คือสันติภาพ"
สัมภาษณ์โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์, จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์
(สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 มี.ค.51)

การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงในลาซา เขตปกครองทิเบตกับทางการจีนจะยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ ประเด็นต่างๆ ซึ่งเกี่ยวพันกับจีนถูกหยิบมาพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการบอยคอตโอลิมปิก 2008 ในเดือนสิงหาคม หรือความกล้าในการลุกขึ้นคัดค้านจีนของนานาประเทศ หรือแม้แต่ประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก. 'ประชาไท' ตามไปคุยกับ 'สุลักษณ์ ศิวรักษ์' นักคิดนักเขียน ผู้นำคำสอนขององค์ดาไลลามะมาเผยแพร่ในเมืองไทย ถึงมุมมองต่อเรื่องเหล่านี้

ผู้สัมภาษณ์ - คิดอย่างไรต่อการลุกฮือประท้วงรัฐบาลจีนครั้งล่าสุดที่กรุงลาซา

ส.ศิวรักษ์ - เรื่องประท้วงเป็นปัญหาของมนุษย์ ที่คนทิเบตถูกรังแกมาก เมื่อเห็นโอกาสก็ประท้วง และที่จีนมีปฎิกิริยารุนแรงก็ไม่แปลก เพราะจีนมีความอ่อนแอทางจริยธรรมมาก คนที่อ่อนแอมากก็ใช้ความรุนแรงมาก คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากก็ใช้ความรุนแรงน้อย นี่เป็นสัมพันธภาพ เช่นเดียวกับกรณีของคนในพม่าที่ออกมาประท้วง พม่าอ่อนแอมากก็ต้องใช้วิธีรุนแรง นี่จึงไม่มีความแปลกประหลาด แต่ที่น่าดีใจก็คือการประท้วงครั้งนี้ก่อให้เกิดกระแสขึ้นทั่วโลก เช่นที่ฮอลแลนด์ก็ดี ที่ฝรั่งเศสก็ดี

ผมว่าจีนนั้นคงจะมีจิตสำนึกพอสมควร เพราะโอลิมปิกเป็นเรื่องใหญ่ของเขา แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าโอลิมปิกนั้น คนจีนเองก็เดือดร้อนมาก ถูกไล่ที่เป็นแสนๆ คน ถูกพลัดที่นาคาที่อยู่ แต่อันนี้ก็เป็นแนวโน้มของโลกสมัยใหม่ โลกาภิวัตน์ เมืองไทยเองก็เช่นเดียวกัน สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ไล่คนเหมือนหมูเหมือนหมา เมืองไทยเล็กกว่าประเทศจีน ก็เดือดร้อนน้อยกว่าประเทศจีน ปัญหาก็คือจีนต้องการมีภาพลักษณ์ที่ดี ช่วงนี้ก็คงจะต้องประคับประคองหน่อย เพราะเดือนสิงหาคม(วันแข่งขันกีฬาโอลิมปิก)ใกล้เข้ามาแล้ว

ฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า ดาไลลามะ ท่านมีจุดยืนของท่าน ซึ่งพวกที่ใจร้อนคงไม่พอใจ ท่านใช้น้ำเย็น แต่ในระยะยาวน้ำเย็นจะชนะน้ำร้อน ท่านใช้อหิงสาธรรม ใช้ความรักความเมตตากรุณา ซึ่งผมว่านี่เป็นจุดเด่นของทิเบต ไม่ใช่ท่านองค์เดียว หลายคนที่ถูกจีนรังแกก็ใช้วิธีนี้ นี่เป็นวิธีเดียวที่จะนำโลกไปสู่สันติภาพได้ในระยะยาว. ดาไลลามะได้รับสั่งแล้วว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นในโลกไม่ได้ เว้นแต่เราจะสร้างสันติภาวะภายในตนเอง แม้นี่จะยากเย็นเพียงใดก็ตาม แต่เป็นวิธีเดียว และผมว่าตอนนี้คนก็เริ่มเห็นด้วยกับท่านมากขึ้นทุกที แน่นอนไม่ใช่เห็นด้วยทั้งหมด ยังมีพวกใจร้อนไม่พอใจ ก็ไม่ได้ว่าอะไร

ผู้สัมภาษณ์ - ทางการจีนอ้างว่า ผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง ทำร้ายชาวฮั่น และทำลายสิ่งของ

ส.ศิวรักษ์ - ต้องฟังหูไว้หู เพราะจีนก็บิดเบือนอยู่เรื่อย ยกตัวอย่างเช่นของเราเองที่แม่รำพึง ทางนั้น(ฝั่งสนับสนุน)ก็กล่าวหาว่าชาวบ้านฆ่าคนของตัวเอง แต่อาจจะยิงใส่กันเองก็ได้ ผมไม่ได้ปกป้องคนทิเบต เขาอาจจะทำก็ได้ แต่ผมอยากให้ฟังหูไว้หู เพราะวิธีของจีนนั้นก็เหมือนกับวิธีของผู้กดขี่ทั้งหลายที่มักจะบิดเบือนอยู่เสมอ

ผู้สัมภาษณ์ - มีการถกเถียงว่าควรจะบอยคอตโอลิมปิกหรือเปล่า อาจารย์มองว่าสำคัญแค่ไหน

ส.ศิวรักษ์ - สำหรับผม การบอยคอตโอลิมปิกเป็นของดีมาก แต่เกรงว่าพลังในการบอยคอตจะมีไม่เพียงพอ เพราะโอลิมปิกเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิบริโภคนิยม ทุนนิยมไปแล้ว เวลานี้กีฬาไม่ได้แปลว่ากีฬาอีกต่อไปแล้ว เป็นเรื่องค้าขายเซ็งลี้กัน เพราะคนที่ลงทุนไปก็ต้องการเงินคืน ต้องการโฆษณาชวนเชื่อ คงสำเร็จได้ยาก แต่ถ้ามีกระแสต่อต้านมากโดยใช้เหตุใช้ผลชี้ให้เห็นโทษ เพราะโอลิมปิกนั้นเริ่มจากการกีฬา ซึ่งมุ่งความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรี แต่ตอนนี้มันบิดเบือนไปหมดแล้ว และถ้าชี้ประเด็นให้ชัดขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ประโยชน์มากเท่านั้น ไม่เพียงแต่เฉพาะกับทิเบต แต่รวมถึงจีนเองด้วย เพราะคนจีนก็ถูกรังแก

ผู้สัมภาษณ์ - การผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงในทิเบต ในฐานะรัฐบาลต่อรัฐบาลด้วยกัน ดูจะไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ประชาชนทำอะไรได้บ้าง การประท้วงจะได้ประโยชน์อะไรหรือไม่

ส.ศิวรักษ์ - การประท้วงไม่ได้เปลี่ยนทันทีทันใด อย่างไรก็ตาม ถ้ามีจุดยืนว่ารักเพื่อนมนุษย์ ความหวังอยู่ในคนทิเบตและคนจีน. รัฐบาลส่วนใหญ่นั้นป่าเถื่อน อยู่ฝ่ายทุน อยู่ในลัทธิบริโภคนิยม ถ้าปลุกมโนสำนึกให้แพร่หลายได้จะสำคัญมาก เพราะจะเอาชนะแนวโน้มนี้ได้มีอย่างเดียวคือราษฎรจะต้องตื่นตัว และต้องมีจุดยืนทางจริยธรรม รวมตัวกัน ไม่หวังประโยชน์ระยะสั้น ไม่เกลียดรัฐบาลจีน พยายามปลุกตัวของเราเอง ไม่ให้เห็นทิเบตดี จีนเลว

ผู้สัมภาษณ์ - ส่วนตัวอาจารย์จะไม่ไปประท้วง (วันที่ 19 ที่หน้าสถานทูตจีน) หรือ

ส.ศิวรักษ์ - ผมไม่น่าจะต้องออกไปประท้วงกับเขา เพราะจีนเขาเห็นว่าผมอยู่ฝ่ายทิเบตเต็มตัวอยู่แล้ว เล่นไพ่ต้องเก็บใบสำคัญเอาไว้ ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้อุดหนุนเพราะรัฐบาลเขาเห็นว่าผมอยู่ฝ่ายราษฎร ฝ่ายดาไลลามะชัดเจน การที่มีคนออกไปมากๆ ยิ่งดี จุดสำคัญของการประท้วงไม่ใช่เรื่องแพ้ชนะ แต่คือการสร้างมโนธรรมสำนึกให้แพร่หลายมากขึ้น เพราะรัฐก็ดี ทุนก็ดี สื่อกระแสหลักก็ดี อยู่ฝ่ายชนชั้นบน ฝ่ายผู้เอาเปรียบทั้งนั้น ถ้าปลุกให้คนเห็นคุณค่าได้ ชัยชนะอยู่ตรงนี้

ผู้สัมภาษณ์ - รัฐบาลไทย กระทรวงต่างประเทศ รวมถึงอาเซียนก็ยังไม่ได้ออกมาพูดเรื่องนี้ มองเรื่องนี้อย่างไร ควรออกมาแสดงความห่วงใยอย่างไร

ส.ศิวรักษ์ - รัฐบาลนี้อยู่ในอาณัติของจีน และเป็นนอมินีของทักษิณ ซึ่งจีนอุดหนุนเต็มที่ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งอุดหนุนทักษิณเต็มที่ เพราะฉะนั้นพวกนี้เขาจะอยู่ในกระแสหลัก อยู่ฝ่ายกดขี่ประชาชน จะไม่มีจุดยืนทางคุณธรรมทั้งสิ้น ไปพม่าก็บอกจะไปช่วยด้านภาพพจน์พม่า ทั้งที่ไม่ได้ตักน้ำใส่กระโหลกชะโงกดูเงา คนที่ไม่มีจุดยืนทางคุณธรรมอาจจะดีกว่าที่นิ่งเสียตำลึงทอง ไม่ออกมาพูด

ผู้สัมภาษณ์ - เวลาดาไลลามะเคลื่อนไหวนอกประเทศ มักเป็นการเรียกร้องสิทธิทางอ้อม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปด้วยวิธีที่นุ่มนวล แต่ทำไมจึงเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมกับทางการจีน

ส.ศิวรักษ์ - นี่ชัดเจนว่า คนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเองจะใช้ความรุนแรง ทั้งนี้อย่าลืมนะครับ จีนกับทิเบตเจรจากันมา 6 ครั้งแล้ว และครั้งที่ 6 เป็นครั้งแรกที่จีนยอมรับว่าสิ่งที่ทิเบตต้องการนั้น เป็น autonomy (ปกครองตนเอง) ไม่ใช่ independent (เป็นอิสระ) และมีท่าทีดีมาก แต่หลังจากนั้นก็กระหน่ำดาไลลามะมากขึ้น. อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีความหวังในนักปราชญ์ในจีน หรือโดยเฉพาะประธานาธิบดีจีน เพราะเคยคุมทิเบตมาก่อน ผมเชื่อว่า ท่านน่าจะแก้ปัญหาทิเบตได้ตกก่อนที่จะลงจากตำแหน่ง ถ้าสังเกตดูประธานาธิบดีจีนคนนี้ยังไม่เคยพูดอะไรถึงทิเบตเลย เป็นไปตามวิธีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีจุดยืนออกมาชัดเจน หรืออีกแง่เป็นการสงวนท่าที ซึ่งหากใช้ให้เหมาะสมก็อาจเป็นคุณประโยชน์ เพราะการแก้ปัญหาทิเบตเป็นผลประโยชน์ของจีนเอง เพื่อรักษาทิเบตให้เป็นหลังคาโลกที่มีสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่เหมาะสม เป็นดินแดนแห่งสันติภาพ อย่างไรก็ตาม ในพรรคยังมีอีกหลายพวก เมื่อหูจิ่นเทามั่นใจก็คงทำอะไรที่มีประโยชน์

ผู้สัมภาษณ์ - ข้อมูลจากหนังสือ Tyrants ที่พูดถึงเผด็จการทั่วโลก นายหูจิ่นเทา ประธานาธิบดีของจีนอยู่ในลิสต์นี้ด้วย เมื่อปี 1989 ตอนที่หูจิ่นเทาเป็นผู้ว่ารัฐทิเบต ได้ไปออกงานพร้อมกับปันเชนลามะ ซึ่งปันเชนลามะได้พูดต่อหน้าสาธารณะและนายจิ่นเทาว่า จีนได้กดขี่ชาวทิเบตและทำลายอะไรต่างๆ ไปมากมาย ปรากฎว่าหลังจากนั้น 5 วัน องค์ปันเชนลามะก็มรณะอย่างลึกลับ โดยที่ชาวทิเบตจำนวนมากเชื่อว่าถูกวางยาพิษ ขณะที่ทางการอ้างว่าหัวใจวายตาย สำหรับอาจารย์แล้ว ข้อมูลตรงนี้ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับหูจิ่นเทาหรือไม่ เพราะสมัยหูจิ่นเทาเป็นผู้ว่าทิเบต มีการปราบปรามค่อนข้างหนักหน่วงทีเดียว

ส.ศิวรักษ์ - อันนี้เราต้องให้ประโยชน์จำเลย ผมเชื่อว่า ท่านปันเชนลามะคงจะถูกวางยาพิษ แต่ยังไม่เชื่อว่านายหูจิ่นเทาเป็นคนทำ เพราะในพรรคเองมันซับซ้อน และคิดว่าหูจิ่นเทาคงจะไม่เลวร้ายถึงเพียงนั้น ในสายตาของผม ตราบใดที่เรายังไม่มั่นใจ เราต้องไม่ประณาม ผมจะประณามต่อเมื่อผมมั่นใจ

ผู้สัมภาษณ์ - นักวิเคราะห์ชาวตะวันตกมองว่า การกดดันจีนตอนนี้อาจจะสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เพราะจีนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และยังมีอาวุธนิวเคลียร์อีกจำนวนมาก หากจีนไม่พอใจอาจไปขายอาวุธนิวเคลียร์ให้กับประเทศที่ตะวันตกมองว่า เป็นประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้าย จึงไม่ควรกดดันจีน เพราะตะวันตกอาจจะเสียใจด้วยซ้ำไป อาจารย์คิดว่าอย่างไร

ส.ศิวรักษ์ - คือวิธีของตะวันตก มองอะไรเป็นดำเป็นขาว และเห็นแก่ตัวตลอดเวลา การเจรจากับจีนนั้นต้องใช้อุปายโกศล จีนรู้ดีว่าตะวันตกนั้นเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นจีนไม่ได้กลัวตะวันตกเลย จีนจะเกรงใจตะวันออกมากกว่า

ผู้สัมภาษณ์ - ในสภาพที่คาดการณ์ว่า ในที่สุดจีนจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะในอุษาคเนย์ทดแทนสหรัฐฯ จะมีผลอย่างไรต่อประเทศไทย

ส.ศิวรักษ์ - ตอนนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ไปพม่า เมืองมัณฑะเลย์ เป็นเหมือนเมืองจีนไปแล้ว ลาว ไทย สยบยอมต่อจีนขนาดไหน รัฐบาลต่างๆ สยบยอมต่อจีน เพราะฉะนั้นคนในประเทศต้องตื่นตัวขึ้นมา ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ แม้กระทั่งลาว เวียดนาม ที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์. เพราะฉะนั้นมีความหวังอยู่ที่ราษฎร ไม่ใช่ว่าให้เกลียดจีน แต่ควรเป็นมิตรเสมอบ่าเสมอไหล่ ไม่ไปเน้นความสำเร็จทางอาวุธ การค้า เทคโนโลยี หันมาสนใจสิ่งที่ภูฎานเรียกว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH). จีน หรือแม้แต่สหรัฐฯ ก็จะเป็นประเทศที่น่ารักขึ้น หมดความเป็นจักรวรรดิ. การฆ่าคนในทิเบต ทำต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยน เพราะเขาไม่ได้โง่ แต่การจะเปลี่ยน, ราษฎรต้องช่วยเขา ถ้าออกมาโดยไม่ใช้ความรุนแรงจะช่วยได้มาก

ผู้สัมภาษณ์ - จะคลี่คลายไปในทางที่ดีไหม เพราะดูเหมือนทิเบตจะเป็นรัฐกันชนระหว่างจีนกับอินเดีย

ส.ศิวรักษ์ - ไม่เป็นปัญหาเรื่องรัฐกันชน เพราะทิเบตอยู่ในอุ้งเท้าจีนเต็มที่เลย แล้วอินเดียเองก็ใม่ได้สนใจเรื่องทิเบต เช่นเดียวกับไม่สนใจเรื่องพม่าอีกต่อไป ซึ่งสมัยหนึ่ง อินเดียเคยสนใจ อยากให้มีประชาธิปไตยในพม่า แต่ตอนนี้อินเดียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอเมริกันไปแล้ว ต้องการเพียงค้าขายร่ำรวย นี่จึงเป็นความขัดแย้งภายในระหว่างทิเบตกับจีน

ผู้สัมภาษณ์ - ทิเบตควรเป็นประเทศเอกราชไหม หรือแค่เขตปกครองตัวเองก็น่าจะพอแล้ว

ส.ศิวรักษ์ - เป็นไปไม่ได้ และเขาก็ไม่ต้องการเป็น [ประเทศเอกราช] คนรุ่นใหม่อาจมีความเห็นด้วย. เช่นเดียวกัน ปัตตานีก็ต้องการเป็น autonomy ไม่ได้ต้องการเป็นเอกราช ถ้าเราเข้าใจอันนี้เราก็จะให้เกียรติเพื่อนของเราที่ปัตตานี ที่เป็นมุสลิมมลายู. ทั้งนี้ อำนาจและอิทธิพลที่มหาศาลของจีนนั้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แยกเป็นเอกราชไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่คิดอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เป็นแล้วทำอะไรได้ เป็นเอกราช ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ตั้งสถานทูต มีสายการบิน คือเด็กพวกนั้นที่เรียกร้องไม่เข้าใจความเป็นจริงเหล่านี้

ผู้สัมภาษณ์ - ถ้าเช่นนั้น ที่ควรจะเป็นคืออะไร

ส.ศิวรักษ์ - ตามที่ดาไลลามะขอร้องว่า อย่าก้าวก่ายในทางวัฒนธรรม ศาสนา การศึกษา และขอให้เป็นโซนแห่งสันติภาพเท่านั้นเอง ซึ่งคิดว่านี่เป็นเหตุเป็นผล และจีนก็น่าจะเริ่มรับได้มากขึ้น ขณะนี้ก็ถือว่าแสดงฤทธิ์ไปพลางก่อน และฤทธิ์นี้ก็จะล้มเหลวไป

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 15 April 2008 : Copyleft by MNU.
องค์ดาไลลามะ รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต และประชาชนทิเบตส่วนใหญ่นั้นสนับสนุนการเจรจากับจีนเพื่อเรียกร้องรูปแบบเขตปกครองตนเองทิเบต(Greater Autonomy) มิใช่เรียกร้องการแยกประเทศ แนวคิดการเจรจานี้ เรียกว่า นโยบายทางสายกลางแห่งรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต (The Middle Way Policy) โดยองค์ดาไลลามะมองว่าสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนยิ่งกว่าการมีประเทศอิสระนั้น คือการที่ชาวทิเบตได้มีโอกาสอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งแวดล้อมในทิเบต ห้าสิบปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของจีน วิถีชีวิต สภาพบ้านเมือง และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในทิเบตถูกทำลายลงไปมาก สิ่ง ที่องค์ดาไลลามะเป็นห่วงและต้องการมากยิ่งกว่าการได้ประเทศคืนคือ การได้ปกป้องทิเบตจากการถูกคุกคามทำลายธรรมชาติ และ…
H