บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๗๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
16-11-2549



Law and Politics
The Midnight University

สถานะของตุลาการรัฐธรรมนูญ
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกับความเป็นองค์กรตุลาการ
ชนินทร์ ติชาวัน
นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง


บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีขึ้นมานับตั้งแต่รัฐธรรมนูญไทยในอดีตหลายฉบับ
แต่คงมีสถานภาพเป็นเพียงคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
ซึ่งเพิ่งจะมีสถานะศาลรัฐธรรมนูญที่แท้จริงเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี ๔๐ มานี้เอง
บทความนี้กำลังแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับที่ชัดเจนเกี่ยวกับตุลาการรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1071
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)

 



คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกับความเป็นองค์กรตุลาการ
ชนินทร์ ติชาวัน : นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรนิติ ศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้สถาปนาศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์รักษาปกป้องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีอำนาจอื่นอีกทั้งสิ้น 16 ประการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการยึดอำนาจการ ปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้มีประกาศฉบับที่ 3

ข้อ 1 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง
ข้อ 2 ให้วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ
ข้อ 3...ข้อ4 ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามบทกฎหมายตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในทันทีที่ได้รับทราบว่ามีประกาศของคณะปฏิรูปฯฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้มีความแปลกใจใดๆ เกี่ยวกับการให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง เพราะดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จสำหรับการปฏิวัติหรือรัฐประหารที่จะต้องให้รัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้อยู่ในเวลานั้นเป็นอันยกเลิกไป

แต่ผู้เขียนก็ยังคงรู้สึกเสียดายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช พ.ศ.2540 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะต้องมีอันยกเลิกไป เพราะถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และเป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุดเท่าที่เคยมีรัฐธรรมนูญมา ตลอดจนมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น ซึ่งจะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น

สำหรับการที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 3 ข้อ 2 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาคือ สถานะความเป็นศาล หรือความเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญนั้นได้สิ้นสุดลง ผู้เขียนก็ยังคงไม่กล้าที่จะคาดเดาว่าคดีต่างๆ ที่ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

เช่น คดีสำคัญๆ อย่างคดียุบพรรคการเมือง จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ได้มีบทบัญญัติในมาตรา 35 ที่ได้กำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วย

ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธาน ผู้พิพากษาในศาลฏีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 5 คนเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยบรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และให้โอนบรรดาอรรถคดีหรือการใดที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้อยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

หากจะกล่าวไปแล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นมิได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยแต่อย่างใด คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น ได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ โดยกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ และให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มาตรา 89 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานตุลาการคนหนึ่งและตุลาการอีกสิบสี่คน โดยให้มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 มาตรา 106 กำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสามคนซึ่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยให้มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2492 มาตรา 168 กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คนซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยนอกจากจะกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีอำนาจในการวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือไม่ด้วย

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2511 มาตรา 164 กำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คนซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจในการวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือไม่

5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2517 มาตรา 218 กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวนเก้าคนโดยรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ เป็นผู้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนฝ่ายละสามคน ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเลือกตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่งเป็นประธาน คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

5.1 ควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ
5.2 วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือไม่
5.3 วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภานั้น มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการยับยั้งของวุฒิสภาหรือไม่

5.4 วินิจฉัยถึงการสิ้นสุดลงเฉพาะตัวของความเป็นรัฐมนตรี
5.5 วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลอื่นหรือระหว่างศาลอื่นด้วยกัน
5.6 วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว แต่ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย มีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 184 กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ 6 ประการเช่นเดียวกันกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2517

7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 200 กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ หรือสาขารัฐศาสตร์อีกหกคนซึ่งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งสภาละสามคน ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจหน้าที่ 9 ประการ ดังนี้

7.1 วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือไม่
7.2 วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภานั้น มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการยับยั้งของวุฒิสภาหรือไม่

7.3 วินิจฉัยถึงการสิ้นสุดลงเฉพาะตัวของความเป็นรัฐมนตรี
7.4 วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลอื่นหรือระหว่างศาลอื่นด้วยกัน
7.5 วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว แต่ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย มีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมตลอดถึงการตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

7.6 วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
7.7 วินิจฉัยว่าข้อบังคับของวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
7.8 วินิจฉัยว่าร่างพระราชกำหนดเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่
7.9 การตีความรัฐธรรมนูญ โดยได้มีการตัดอำนาจการตีความรัฐธรรมนูญของรัฐสภาลงทั้งหมด และมอบอำนาจการตีความให้แก่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแทน

จะเห็นได้ว่าตุลาการรัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 แม้ตลอดช่วงระยะเวลาของการเมืองการปกครองไทย ที่ผ่านมา บางช่วงอาจจะมีตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือบางช่วงไม่มีตุลาการรัฐธรรมนูญเลย ก็ตามแต่ในช่วงที่มีนั้น มักจะมีการจัดระบบเป็นระบบ "ตุลาการรัฐธรรมนูญ" ที่มิใช่ "ศาล" โดยตรง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของระบบ "ที่ไม่ใช่ศาล" มาสู่ระบบ "ศาล" เต็มรูปแบบ เกิดศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งสถานะของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ นั้น ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นองค์กรศาล หรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการแต่อย่างใด คงมีรูปแบบสถานะเป็นเพียงคณะกรรมการเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้เอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จึงได้ยกระดับจากรูปแบบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งลักษณะขององค์กรศาลหรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการนั้น มีข้อพิจารณาดังนี้

1. องค์กรตุลาการในทางรูปแบบ หมายถึง องค์กรศาลที่ได้รับการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี หากพิจารณาองค์กรตุลาการในทางรูปแบบของไทยในปัจจุบันซึ่งก็คือ ศาลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลทหาร ศาลปกครอง แต่ไม่รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญเพราะได้มีประกาศคณะปฏิรูปให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญแล้ว

2. องค์กรตุลาการในทางเนื้อหา หมายถึง องค์กรของรัฐที่มีความเป็นกลางที่มีอำนาจในการวินิจฉัยข้อพิพาทโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายโดยการดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาที่ได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นการยุติข้อพิพาทดังกล่าว(1) ซึ่งจากการให้ความหมายขององค์กรตุลาการในทางเนื้อหาดังกล่าว จึงอาจแบ่งสาระสำคัญขององค์กรตุลาการในทางเนื้อหาได้ ดังนี้ (2)

(1) องค์กรนั้นจะต้องเป็นองค์กรที่วินิจฉัย ข้อพิพาท ระหว่างคู่กรณี กรณีที่เป็นข้อพิพาทนั้นได้แก่ กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งองค์กรตุลาการจะต้องตรวจสอบว่า ข้อเท็จริงที่เป็นกรณีข้อพิพาทนั้นว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ หากเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดไว้ องค์กรตุลาการจะต้องวินิจฉัยกรณีดังกล่าวให้เป็นไปตามผลของกฎหมายที่กำหนดไว้ ลักษณะของการใช้กฎหมายขององค์ตุลาการดังกล่าวจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับองค์กรฝ่ายปกครอง เพราะองค์กรทั้งสองต่างเป็นองค์กรที่ใช้ข้อกฎหมายปรับกับข้อเท็จจริงทั้งคู่ แต่องค์กรตุลาการจะใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริงที่มีลักษณะเกิดข้อพิพาทขึ้นแล้ว จากลักษณะของการใช้กฎหมายอันมีพื้นฐานจากพิพาทนี่เอง ที่ทำให้องค์กรตุลาการมีความแตกต่างจากองค์กรฝ่ายบริหารที่มีอำนาจในการใช้และตีความกฎหมายโดยไม่จำเป้นต้องมีข้อพิพาทเกิดขึ้นก่อน

(2) ผลของการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าวจะต้องมีผลเป็นที่สุดหรือมีลักษณะที่เรียกว่า "res judicata" ถึงแม้ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วบุคคลนั้นๆ อาจอุทธรณ์ ฎีกาไปยังศาลสูงได้ก็ตาม แต่หากไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา หรือเป็นกรณีที่ศาลสูงวินิจฉัยแล้ว กรณีนี้ย่อมมีผลให้คำวินิจฉัยของศาลนั้นๆ มีผลเป็นที่สุด มิอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ ลักษณะดังกล่าวทำให้องค์กรตุลาการมีความแตกต่างจากองค์กรกึ่งตุลาการ

(3) องค์กรดังกล่าวจะต้องมีวิธีพิจารณาที่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้มีโอกาสในการเสนอข้อโต้แย้ง หรือเสนอพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อคัดค้านของตน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนวิธีพิจารณาขององค์กรนั้นจะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย อันเป็นหลักประกันในการคุ้มครองคู่กรณีในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล

(4) สมาชิกขององค์กรที่วินิจฉัยข้อพิพาทนั้นจะต้องมีหลักประกันความอิสระให้แก่สมาชิกขององค์กร หลักประกันความเป็นอิสระถือว่าเป็นสาระสำคัญขององค์กรตุลาการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้ที่เสนอข้อพิพาทให้แก่องค์กรนั้นพิจารณาว่า ตนจะได้รับการพิจารณาจากองค์กรที่มีความเป็นกลาง ที่มีความยุติธรรมในการวินิจฉัย ชี้ขาดข้อพิพาท ด้วยเหตุนี้เองในวิธีพิจารณาขององค์กรดังกล่าว จึงได้กำหนดให้มีกระบวนการคัดค้านผู้พิพากษาที่อาจจะขาดความเป็นกลางในการวินิจฉัยในเรื่องนั้นๆ ได้

จากที่กล่าวข้างต้นทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วสถานะของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 นี้ จะมีสถานะเช่นไร เพราะหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่ามิได้มีลักษณะของความเป็นองค์กรตุลาการในทางรูปแบบเลย และการกำหนดให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธาน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 5 คน และผู้พิพากษาในศาลปกครองสูงสุดที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 2 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น ก็มิได้หมายความว่าการที่ทั้ง 9 ท่าน ซึ่งต่างก็เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา และเป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พิจารณาตัดสินเรื่องใดๆ แล้วจะเป็นการใช้อำนาจตุลาการเสมอไปไม่ เพราะตราบใดที่องค์กรนั้นๆ ไม่ได้มีลักษณะเป็นองค์กรตุลาการเสียแล้ว การกำหนดให้ผู้พิพากษา ไม่ว่าจะกี่คนก็ตามมาพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องใดๆ ก็ไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตุลาการ

ประเด็นต่อมาคือหากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยอย่างใดๆ แล้ว ความผูกพันและผลของคำวินิจฉัยจะเป็นเช่นไรนั้น ก็อาจจะมีปัญหาตามมาอีกเพราะขนาดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งบัญญัติไว้โดยชัดเจนว่าให้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่มากมายว่าผูกพันแค่ไหน บุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการสรรหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป เมื่อองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยนั้น ให้เป็นเด็ดขาดและผูกพันทุกๆ องค์กรของรัฐ แต่เมื่อตัดสินไปแล้วกลับไม่ปฏิบัติตามและไม่ยอมผูกพันตามคำวินิจฉัย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วหากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 พิจารณาวินิจฉัยเรื่องใดแล้วความผูกพันตามคำวินิจฉัยจะเป็นเช่นไร หลักความเป็นที่สุดของคำวินิจฉัย ( res judicata ) จะได้รับความเคารพหรือไม่

ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่จะประกาศใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 นั้น จะได้มีการสถาปนาและมีบทบัญญัติที่กำหนดรูปแบบอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่รูปแบบของคณะกรรมการที่ไม่ได้เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการอย่างเต็มรูปแบบดังเช่นที่ผ่านๆ มา

++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ

(1) Hans J.Wolf, Otto Bachof,Rolf Stober, Verwaltungsrecht I,10 Aufl.,Muenchen 1994,S 175.
(2) สมคิด เลิศไพฑูรย์ และบรรเจิด สิงคะเนติ, เขตอำนาจศาลรัฐธรรมไทยตามมาตรา 264 และมาตรา 266 เมษายน 2543 หน้า 22-23


 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของระบบ "ที่ไม่ใช่ศาล" มาสู่ระบบ "ศาล" เต็มรูปแบบ เกิดศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งสถานะของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ นั้น ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นองค์กรศาล หรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการแต่อย่างใด คงมีรูปแบบสถานะเป็นเพียงคณะกรรมการเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้เอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จึงได้ยกระดับจากรูปแบบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งลักษณะขององค์กรศาลหรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการนั้น

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น