บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๕๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
03-11-2549



Crisis of Humanities
The Midnight University

การประชุมทางวิชาการมนุษยศาสตร์
ช่วงคำถามคำตอบ : วิกฤตสังคมศาสตร์ - วิกฤติมนุษยศาสตร์
โครงการวิจัยวิกฤตมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์
โดยการสนับสนุนของ สกว.

บทความถอดเทปต่อจากนี้ไป จะเป็นการไล่เลียงเนื้อหาในการสัมนาในหัวข้อ
วิกฤตมนุษยศาสตร์
: ความเป็นชาติ โลกของตลาด และความรู้สึก
โดยในส่วนต่อไปนี้เป็นบทความถอดเทปช่วงของการสนทนาซักถามในที่ประชุมสัมนา
รายการสัมนาที่จัดขึ้นเมื่อ
วันที่ ๒๔-๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
ที่บ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1058
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 16 หน้ากระดาษ A4)

 

ช่วงคำถามคำตอบ : วิกฤตสังคมศาสตร์ - วิกฤติมนุษยศาสตร์
โครงการวิจัยวิกฤตมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของ สกว.
วันที่ ๒๔ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
จัดขึ้น ณ ราชาวดีรีสอร์ท (ที่บ้านกรูด) ตำบลธงชัย
อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
(ย้อนกลับไปยังปาฐกถานำรายการนี้)


สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ผมได้อ่านบทความของอาจารย์สายชล และรู้สึกเห็นด้วยในเรื่องการมองมนุษยศาสตร์ในแง่ร้าย ผมมีคำถามว่า มนุษยศาสตร์ไทยกระแสหลักก็มีการปรับตัว ซึ่งทิศทางอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คิด แต่ปรับตัวไปตามตลาด หรือปรับตัวเพื่อรับใช้รัฐ จึงคิดว่านอกจากอะไรร้ายๆ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้มนุษยศาสตร์ไทยแบบนี้ดำรงอยู่ได้ อันนี้คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญซึ่งเราต้องให้ความสนใจใช่หรือเปล่า

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกาภิวัตน์ เปลี่ยนไปสู่ระบบตลาด ซึ่งได้ทำให้กระแสต่างๆ มันต้องเปลี่ยน แล้วมนุษยศาสตร์ไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน เปลี่ยนไปในทางที่ทำให้ความเชื่อหรืออุดมคตินี้เข้มแข็งมากขึ้น หรือเปลี่ยนไปในทางที่จะทำลายกรอบความเชื่ออันนี้

ชำนาญ จันทร์เรือง : มนุษยศาสตร์ไทยได้ให้ความสำคัญกับภาษาไทยมาตรฐาน ทำให้นักภาษาไทยหรือนักภาษาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยที่คนไทยกลุ่มต่างๆ ใช้หรือผลิตขึ้นมาใหม่ แต่เพราะความคิดของมนุษยศาสตร์ด้วยหรือเปล่าที่ทำให้คนซึ่งใช้ภาษาถิ่น เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน หรืออะไรก็แล้ว ปลูกฝังลูกหลานไม่ให้ใช้ภาษาถิ่น ให้ใช้ภาษาไทยกลาง ภาษาไทยมาตรฐาน แม้แต่ในครอบครัวเดียวกันก็ให้พูดภาษาไทยกลาง

สายชล สัตยานุรักษ์ : ขอตอบคุณชำนาญก่อน ภาษาไทยมาตรฐานไม่ได้หมายถึงภาษาไทยภาคกลาง แต่เป็นภาษาไทยที่ชนชั้นนำได้พัฒนาให้มันซับซ้อน เพื่อที่จะทำให้คนที่ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องได้ตระหนักว่าตนอยู่ในสถานภาพไหน จะเขียน จะพูด จะสื่อสารไปยังคนที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าตนเองอย่างไรบ้าง อันนี้คือภาษาไทยมาตรฐาน

สำหรับคำถามของ อ.สมชาย เรื่องความเปลี่ยนแปลงมนุษยศาสตร์ไทยที่มันตอบสนองโลกาภิวัตน์ ตอบสนองตลาด ในยุคหลังๆ มันทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในทางมนุษยศาสตร์ไทยอยู่บ้าง ด้านหนึ่งคือการเน้นไปสอนภาษาต่างประเทศมากขึ้น เพื่อทำให้คนไทยไปเป็นล่าม หรือติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้ดีขึ้น

อีกด้านหนึ่งคือกระแสโลกภิวัตน์ กระแสทุนนิยมที่มากระทบสังคมไทย ทำให้นักมนุษยศาสตร์จำนวนน้อยจำนวนหนึ่ง เช่น อย่างอ.ชูศักดิ์ เห็นว่า มนุษยศาสตร์แบบเก่าไม่สามารถจะตอบสนองชีวิตคนไทย ตอบสนองตัณหา อารมณ์ความรู้สึกของคนไทยอีกแล้ว อ.ชูศักดิ์ ก็รับ postmodern เข้ามา และนักมนุษยศาสตร์ไทยรุ่นใหม่ๆ จำนวนหนึ่งก็เอาวิธีคิดแบบ postmodern เข้ามา ไม่ยึดติดกับมุมมองใดมุมมองหนึ่งตายตัว อันนี้ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงเพื่อจะทำให้คนแต่ละคนที่ได้เรียนรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์มีวิจารณญานมากขึ้น มองเห็นความสลับซับซ้อนของชีวิต ของสังคม ของทางเดินต่างๆ ทางสังคมได้ดีขึ้น แต่ด้านนี้คิดว่ายังมีพลังน้อย

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : ขอความรู้เพิ่มเติมจาก อ.สายชล และอาจารย์ท่านอื่นๆ อย่างที่ อ.สายชล ได้พูดถึงเรื่องความเป็นไทย ซึ่งดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกับความเป็นสากล ในที่นี้อยากเข้าใจมากขึ้นว่า ปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริงของสิ่งที่เป็นความนิยมฝรั่ง หรือค่านิยมแบบตะวันตก ซึ่งอาจจะผ่านมาทางสื่อหรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่บุคลิกภาพแบบใหม่ของคนไทย ที่มีความทันสมัย แต่งตัวแบบนี้ มีรสนิยมแบบนี้ ซึ่งเห็นได้จากแฟชั่นทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น"ความเป็นไทยนี้ดี" ทำให้"เมืองไทยนี้ดี" มันทำงานอย่างไรกับยุคสมัยขณะนี้ หรือมันทำงานไม่ได้ผลแล้วเพราะว่าความเป็นไทยที่ทำให้เมืองไทยนี้ดี มันไม่ได้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่แถวๆ สยามพารากอน หรือแม้แต่คนไทยรุ่นใหม่หน้าตาจมูกโด่ง ผมไม่ดำสนิทแล้ว หรือความเป็นไทยนี้ดีมันทำงานได้กับกลุ่มคนในระดับชนบทหรือท้องถิ่นเท่านั้น

เกษียร เตชะพีระ : เรื่องที่คุณสุชาดาถามเป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่ คือผมคิดว่า ความเป็นไทยที่สยามพารากอนที่มีการแต่งตัวบ้าบอคอแตกและย้อมผมสีทั้งหลาย มีการแคร์ความเป็นไทยมากน้อยแค่ไหน อันนี้คิดว่า สิ่งที่เราเห็นเป็น cultural schizophrenia อาการวัฒนธรรมเภท กล่าวคือเราจะเจออันนี้เยอะมาก ในแง่หนึ่งมันจะแบ่งเหมือนกับคนที่มีสองบุคลิก มันจะมีหน้าที่ทันสมัยเป็น postmodern แบบบ้าบอคอแตก แต่ทันทีที่จะต้องแสดงความเป็นไทย มันจะกลับไปสู่ mode นี้กลับไปสู่ชุดไทยแล้วนั่งร้อยพวงมาลัย สองอย่างนี้ดูราวกับว่าไม่สัมพันธ์กัน…

ที่สำคัญและน่าสลดก็คือ ความเป็นไทยทำไมมีอยู่แบบเดียว ไม่มีแบบอื่น ทำไมความเป็นไทยมีอยู่แบบเดียวคือ"ความเป็นไทยนี้ดี"

อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างสองบุคลิก ผมคิดว่า คุณจะ modern หรือ postmodern ก็ทำของคุณไป แต่เมื่อถึงปริมณฑลของอุดมคติ มีอยู่แบบเดียว สิ่งที่ความเป็นไทยกระแสหลัก หรือสิ่งที่ความเป็นไทยทำให้เมืองไทยนี้ดีไม่สามารถอนุญาตให้มีได้คืออุดมคติอื่น

อย่างที่ อ.ธงชัย เคยพูดมานานแล้วว่า เมืองไทยเป็นเหมือนดีสนีย์แลนด์ ในแง่หนึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ประเทศไทยฆ่ากันเยอะมาก ประทานโทษโสเภณีมากด้วย ทั้งชายและหญิง ตอนที่ผมได้ยินว่าผู้หญิงมีหน้าที่สืบทอดวัฒนธรรมไทย ผมนึกถึงเมืองไทยโสเภณีเยอะมาก สองอย่างนี้อยู่ร่วมกันอย่างไร อยู่ร่วมกันโดยลดระดับบรรดาพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับอุดมคติทั้งหลายลงไปในปริมณฑลที่เรียกว่า the real แต่เมื่อไหร่ต้องก้าวสู่ the ideal อุดมคติ ก็จะกลับมาสู่ mode นี้ แล้วคนไทยก็อยู่กันแบบนี้แหละ และยินดีที่จะอยู่แบบนี้ด้วย

ผมคิดว่านี่เป็นความสัมพันธ์ที่บ้าบอคอแตกและสลับซับซ้อนดี แต่ว่านี่คือไทยที่พยายามประคองความเป็นเมืองบัดซบ เป็นเมืองท่องเที่ยว แล้วต้อนรับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาติไหนที่เข้ามาเมืองไทยมากที่สุด คำตอบคือมาเลย์ เข้ามาทำไม ก็เข้ามาแผะๆ ซึ่งเราก็รู้ แล้วบอกว่าเมืองไทยวัฒนธรรมไทยของเราดีงาม ต้องพูดไทยให้ชัด ร-เรือ

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวนิชย์ : ผมอยากจะต่อประเด็นเรื่องแต่งฝรั่งแล้วทำไมยังเป็นไทยอยู่ อันนี้เป็นการมองในระดับที่ practical มากกว่าที่อาจารย์เกษียรมอง คือถ้าเราลองย้อนกลับไปดูว่า ความเป็นไทยถูกนิยามด้วยอะไร สมมุติว่าถูกนิยามด้วยชนชั้นสูง ก็ตอบได้ง่ายมากว่าชนชั้นสูงในบ้านเราตามฝรั่ง ลอกฝรั่ง ดังนั้นชนชั้นที่ต่ำลงมาเรื่อยๆ ก็คิดว่านี่แหละคือการที่จะแสดงความเป็นไทย คือคิดว่าเขาไม่ได้เลียนแบบฝรั่ง แต่เขาเลียนแบบชนชั้นสูงมากกว่า และนั่นคือสิ่งที่เขาไม่ได้รู้สึกว่าสูญเสียความเป็นไทย ก็ในเมื่อมาตรฐานหรือสิ่งซึ่งเป็นตัวกำหนดความเป็นไทยเขาทำอย่างนั้น สิ่งที่เขาทำก็คือเลียนแบบคนที่กำหนดความเป็นไทยมากกว่า

ผมขอถามประเด็นอื่นเพิ่มไปด้วยแล้วกัน มีอยู่ 2-3 ประเด็นคือ เรื่องวิกฤต ก็รู้สึกอยู่เหมือนกันและเคยคุยกับ อ.อรรถจักร ว่าทำไมหัวข้อนี้มาอีกแล้ว อันนี้พูดกันมาตั้ง 20-30 ปีแล้วไม่ใช่หรือ ทำไมมันวิกฤตซ้ำซากจัง เหมือนกับหมู่บ้านแห้งแล้งซ้ำซากหรือเปล่า ว่าทำไมมนุษยศาสตร์ต้องมาพูดเรื่องวิกฤตอยู่เรื่อยๆ อันนี้อยากจะเปิดประเด็นว่าทำไม เราถึงคิดอยู่ในกรอบนี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าจะคิดในแง่ดี อาจจะเป็นลักษณะของนักมนุษยศาสตร์หรือเปล่าว่า ตระหนักรู้อยู่ในตัวเองตลอดเวลา ก็เลยต้องถามตัวเองเรื่องวิกฤตอยู่เรื่อย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าวิทยาศาสตร์เขาวิกฤตกันหรือเปล่า เขาเคยมาสัมนาเรื่องวิกฤตวิทยาศาสตร์ไหม ทำไมมนุษยศาสตร์จะต้องอยู่ในสภาวะที่จะต้องลุกขึ้นมาถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่ามันเกิดวิกฤตแล้วเราจะทำอย่างไรดี ซึ่งก็ยาวนานมา 20-30 ปีก็ยังอยู่รอดมาได้

สืบเนื่องมาประเด็นที่ 2 เรื่อง Road Runner ของ อ.เกษียร ผมก็ชอบ แต่ขอเสนอเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง คือจะมองแบบอาจารย์เกษียรก็น่าสนใจ ในที่นี้ขอเสนอว่ามองอีกแบบหนึ่งได้ไหม คือแวบแลกรู้สึกว่านี่เป็น propaganda ที่จะขายเทคโนโลยีให้กับชาติอื่นหรือเปล่า เรื่องทั้งหมดมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เทคโนโลยีที่นำมาใช้ทั้งหมด แต่มันก็ไม่ประสบผลสำเร็จ และก็ไม่หยุดที่จะใช้ มันน่าจะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าอยู่ซึ่งต้องลองไปเรื่อยๆ

คือตามเนื้อเรื่อง Coyote จับ Road Runner ไม่ได้ก็จริง backfire (เกิดผลที่ไม่ต้องการให้เกิด) และทุกครั้งที่เริ่มต้นใหม่ ทั้งสองฝ่ายก็กลับมาอยู่ในสถานะเดิมเท่ากัน คือไม่ได้บาดเจ็บล้มตายอะไรทั้งสิ้นเลย ผมจึงมองว่าในเรื่องพยายามจะเชิดชูหรือพยายามที่จะคิดว่า คุณพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซิ เทคโนโลยีที่ดีมันจะต้องมาแน่ อะไรทำนองนี้ซึ่งก็เป็นการมองไปอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ไม่ได้มองไปถึงเรื่องความล้มเหลวของเทคโนโลยี จริงๆแล้วกำลังพยายามที่จะเชิดชูเทคโนโลยีมากกว่า ถ้าคุณพยายามมากกว่านี้อีกสักหน่อย ถ้าคุณคิดมากขึ้นอีก จะต้องมาแน่ๆเลยในท้ายที่สุด ดีๆ ชั่วๆ คุณก็เริ่มต้นใหม่ได้ทุกครั้งไป โดยที่คุณไม่ได้เจ็บตัวอะไร

ส่วนประเด็นสุดท้ายติดใจที่เรื่องผู้หญิงกับพระสงฆ์ทำหน้าที่สืบทอดความเป็นไทย ความจริงอยากให้อาจารย์สายชลหรืออาจารย์ท่านอื่นขยายความ อันนี้โดยส่วนตัวค่อนข้างรู้สึกแปลกซึ่งพอฟังแล้วรู้สึกติดใจขึ้นมาทันที คือรู้ๆ อยู่ว่าในหมู่ feminist พยายามจะพูดถึงบทบาทของผู้หญิง พยายามจะเชิดชูบทบาทของผู้หญิง และถ้าในกรณีอย่างนี้ feminist จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ถ้าเราพยายามจะฟื้นฟูว่าผู้หญิงมีบทบาทบางอย่างที่สำคัญ เช่น สืบทอดวัฒนธรรม อันนี้ดูจะขัดแย้งอยู่ในตัวในแง่ที่ว่า ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงก็จะกลายเป็นพวกที่ในสังคมไทย most conservative ที่สุดเลยหรือเปล่า อะไรทำนองนี้

สมเกียรติ ตั้งนโม : ผมขอเริ่มต้นในฐานะนักมนุษยศาสตร์ในฝ่ายทัศนศิลป์ คิดว่าวิกฤตมนุษย์ศาสตร์ภายใต้ความเป็นชาติซึ่งเรียนมาทางศิลปะโดยตรง คิดว่าเรากำลังเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เราไม่ได้เปลี่ยนแปลง คือ

อดีต : ข้างล่างชาตินิยม ข้างบนสากลนิยม,
ส่วนปัจจุบัน : ข้างล่างประชานิยม ข้างบนโลกาภิวัตน์

ผมใคร่ขออนุญาตอธิบายในรายละเอียดว่า ผมเป็นเด็กบ้านนอก เวลาที่ผมเรียนศิลปะที่บ้านนอก เขาแข่งขันกับวาดภาพพระนเรศวรชนช้าง และเมื่อตอนที่ผมเข้ามาเรียนที่กรุงเทพครั้งแรกที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ผมต้องเตรียมตัวอยู่ 2-3 อย่างคือ คุณรู้จักดินสอ EE ของ Staedtler หรือgเปล่า ซึ่งมีไว้สำหรับ drawing อันที่สอง วิชา composition (องค์ประกอบศิลป์) คุณรู้จักไหมว่าเขาทำกันอย่างไร?

สองอย่างนี้ผมต้องเข้าโรงเรียนติว เพื่อฝึกฝนและทำความรู้จัก เพราะว่ามันเป็นคนละเรื่องกับการแข่งขันรูปพระนเรศวรชนช้างอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่เข้าเรียนจนกระทั่งมาจบ ม.ศิลปากรแล้ว ผมยังไม่รู้ว่าตัวเองเรียนอะไร จนกระทั่งในที่สุดก็รู้ว่า ทั้งหมดที่ผมเรียนที่ช่างศิลป์ และมหาวิทยาลัยศิลปากรมันเป็น Eurocentric, มันเป็นอิตาเลี่ยนเรอเนสซองค์, ซึ่งข้างบนสากลนิยม ข้างล่างชาตินิยมกันไป

แล้วข้างล่างชาตินิยมไม่ได้สะท้อนเฉพาะทางทัศนศิลป์อย่างเดียวเท่านั้น ผมจำได้ว่าครูที่สอนมาทุกวิชาก็สอนแบบชาตินิยมทั้งนั้น แล้วสื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุท้องถิ่น ก็ทำอย่างเดียวกัน แต่พอมาถึงกรุงเทพเป็นคนละเรื่อง เปิดวิทยุ FM มีแต่เพลงฝรั่งในสมัยนั้น กรุงเทพเป็นเรื่องของสากล เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วสิ่งที่เราเรียนจากกรุงเทพ เราเอากลับไปที่บ้านไม่ได้ เราถอยหลังกลับไม่ได้ แล้วสิ่งที่เราเรียนทั้งหมดของตะวันตกมันตั้งต้นที่ the Enlightenment คือเป็นเรื่องของยุคตื่น ยุคใหม่ ยุคของความก้าวหน้า ยุคแห่งเหตุผล ยุคของวิทยาศาสตร์ ยุคของทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน

ในวงการศิลปะยุค Modern ซึ่งผมเคยเรียนให้ อ.นิธิ ฟัง เราสนใจคำนามที่เป็นกริยา 3 อย่างคือ Novelty, invention, และ creation ทั้งหมดเป็นกริยา ไม่มีกรรมหรือเป้าหมาย แต่ต้องทำ 3 อย่างนี้ถึงจะเป็น Modern Art คือต้องทำให้แปลกใหม่ยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น คุณเคยแสดง performance art ด้วยการแก้ผ้า ครั้งต่อไปต้องแก้ผ้าอย่างเดียวไม่พอแล้ว คุณแก้ผ้าและต้องตัวเปียกด้วย หรือไม่ก็เอาอุจาระลาดรดลงบนตัวด้วย อันนี้ทำด้วยเป้าหมายอะไร? ไม่รู้ แต่จะต้องแปลกยิ่งๆ ขึ้นไป

อันต่อมา invention คือเราได้ประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ๆ หรือไม่ หรือเพียงแค่ลอกสิ่งที่คนอื่นๆ ได้ประดิษฐ์คิดค้นกันขึ้นมา. อันที่สามคือ creation ถามว่าสร้างสรรค์ไหม. นี่คือสิ่งที่วงการศิลปะในบ้านเราเรียนและได้พบเห็นในกรุงเทพ แล้วงานเหล่านี้เมื่อนำออกสู่ต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือจะไปแสดงที่หาดใหญ่ ก็จะมีคนมาดูเพียงแค่วันเดียวคือวันเปิดนิทรรศการศิลปะ เพราะเขามีสูจิบัตรแจกฟรี มีวิสกี้และกับแกล้มแจกให้กับแขกทุกๆ คนกินฟรี ซึ่งผมก็ต้องดื่มกินด้วยความเคารพทางวัฒนธรรม แล้วหลังจากนั้นห้องนิทรรศการก็จะเหงา เปิดไฟและเปิดแอร์ฟรีๆ แม้แต่กรุงเทพเองก็มีบรรยากาศไม่ได้ต่างไปจากนี้มากนัก

เกรียงศักดิ์ เชษฐ์พัฒนวนิช : ผมฟัง อ.เกษียร กับ อ.สายชล พูดแล้ว ดูเหมือนพูดกันคนละเรื่องในทางสังคมศาสตร์กับในทางมนุษยศาสตร์ แต่ว่ารู้สึกมันมีอะไรคล้ายๆ กันอยู่คือ อ.เกษียร พูดถึงอุดมคติในคริสตศตวรรษที่ 19 อ.สายชล พูดเรื่องความเป็นไทย ผมรู้สึกว่ามันสร้าง universal ขึ้นมาเพื่อครอบงำคน ดังนั้นตรงนี้ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นก็วิกฤตเหมือนกัน

ที่นี้วิกฤตที่เกิดขึ้นถูกสร้างจากอะไร สร้างจากใคร ถ้าเราดูตรงนี้มันก็ถูกสร้างจากนักวิชาการ ชนชั้นกลาง หรืออะไรต่างๆขึ้นมาเอง ที่สร้างความหมายหรือสถาปนาความคิดของตัวเองขึ้นมา ทางที่จะหลุดพ้นจากวิกฤตนี้คืออะไร ในความคิดของผมซึ่งอาจจะผิดก็ได้คือ ทำไมเราต้องไปสนใจพวกนี้อีก เลิกสนใจมันได้ไหม เพื่อจะได้ไปสนใจในการผลิตความหมายอื่นๆ ที่คนกลุ่มอื่นๆผลิตความหมายขึ้นมา

คือถ้าพูดอย่างนี้แล้ว ชาวบ้านมีการผลิตความหมาย มีการผลิตความรู้ของตัวเองบ้างไหม, ต้องเป็นนักวิชาการเท่านั้นเองหรือที่เป็นคนผูกขาดการผลิตความรู้อะไรต่างๆ จริงๆแล้วหากเราใช้วิธีการอื่นๆ ในแง่ของการเช่น การไปดูที่พิธีกรรม การไปดูที่การผลิตงานศิลปะของชาวบ้าน ตรงนั้นเป็นช่องทางใช่ไหมที่ชาวบ้านจะผลิตความหมายหรืออะไรต่างๆของตนเอง ซึ่งก็เป็นความหมายที่ชาวบ้านผลิตมันอยู่ตลอดเวลาด้วย แต่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมา เพราะว่ามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มัวแต่ไปอธิบายความหมายและความรู้ของตัวเอง แต่ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับชาวบ้าน หรือเปิดพื้นที่ให้กับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ให้เขาผลิตความหมายต่างๆ ของพวกเขาออกมาอย่างหลากหลาย

คือในด้านหนึ่งมีนักวิชาการที่ผลิตความหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งความหมายที่ชาวบ้านผลิต ซึ่งไม่สามารถจะมาพูดด้วยภาษาชนชั้นกลาง ด้วยภาษาของอำนาจ หรือด้วยภาษาของนักวิชาการได้ แต่เขาได้สื่อสารผ่านตัวกลางต่างๆ ออกมาอย่างมีความหมายมากมาย

วีระ สมบูรณ์ : ผมได้เคยไปคุยกับนักวิชาการหลายประเทศด้วยกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีอยู่ session หนึ่งเขาตั้งหัวข้อว่า "มรดกของลัทธิอาณานิคม". ชาติอื่นๆ ก็พูดได้หมดว่าเขามีมรดกลัทธิอาณานิคมอะไร และรวมทั้งความพยายามที่จะปลดแอกตนเองจากลัทธิอาณานิคม รวมทั้งมีความสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า หลายต่อหลายเรื่องยังปลดแอกตนเองไม่สำเร็จ อันนี้เขาพยายามพูดคุยกัน

สำหรับคนไทยได้ไปร่วมด้วยอยู่หลายคน แล้วเราก็ทราบดีว่า คนไทยส่วนใหญ่ก็ต้องบอกว่า เมืองไทยของเรานี้ไม่เคยเป็นอาณานิคม เพราะฉะนั้นเราไม่มีหรอกมรดกอาณานิคม เพราะเราเป็นอิสระมาโดยตลอด ซึ่งในงานนั้นผมก็ถกเถียงกับคนไทยด้วยกันว่า ไปๆมาๆสงสัยว่า เราเองจะอยู่ในลัทธิอาณานิคมมากที่สุด และก็ไม่เคยมีการปลดแอกตัวเองจากลัทธิอาณานิคมได้เลย

ซึ่งอันนี้ทำให้ผมนึกถึงมนุษยศาสตร์ไทย คือรัฐไทยผมรู้สึกว่าเป็นมรดกตกทอดของโครงสร้างรัฐแบบอาณานิคม ซึ่งก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นออกไปได้ แล้วมนุษยศาสตร์ไทย ใช่หรือไม่ ที่มันก็คือผลผลิตของ Colonialism. ในแง่หนึ่งมันเป็น Orientalism ในลัทธิบูรพนิยม แบบที่เราเอามาแล้วพยายามที่จะสร้างมันขึ้นมาในแบบของเรา เอามาในการ manipulate ใช้ในการสร้างอำนาจ ใช้ในการที่จะจัดการเรื่องราวสิ่งต่างๆ ให้มันอยู่ในร่องในรอยของโครงสร้างอำนาจของลัทธิอาณานิคม เพราะฉะนั้นผมจึงนึกตรงนี้ว่า ปัญหาของมนุษยศาสตร์ไทยอาจจะอยู่ตรงนี้ เหมือนกับกลายๆ อย่างของเมืองไทยที่เรายังไม่ได้หลุดออกจากลัทธิอาณานิคมเลย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ขออนุญาตแลกเปลี่ยนกับ อ.ชูศักดิ์นิดเดียว คือคิดว่าอย่างนี้เนื่องจากเคยทำงานอยู่กับแวดวงมนุษยศาสตร์ คิดว่ามีความสำนึกเรื่องวิกฤตเยอะมาก แต่มันไม่ชัดเจนเนื่องจากเหตุผลที่ว่า ผมไม่ทราบว่าพวกวิทยาศาสตร์คิดว่าวิกฤตหรือเปล่า ในทางปฏิบัติแล้วคนที่สอนทางด้านมนุษยศาสตร์จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตัวกำลังทำในสิ่งที่ใครๆ ไม่เห็นคุณค่า เริ่มต้นก็คือว่า ทุกคนก็รู้อยู่ว่า นักเรียนคนไหนที่สมัครเรียนทางด้านมนุษยศาสตร์ คือคนที่ไปสมัครเรียนอย่างอื่นไม่ได้ แล้วพวกครูก็รู้ว่า เราได้เด็กแบบนี้มา แล้วก็สอนกันไปจนกระทั่งจบสี่ปี

อย่างที่ อ.สายชล พูดด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของชาติ ก็มีผลอยู่มากพอสมควร ผมไม่ทราบว่าครูภาษาไทยเวลาสอนขุนช้างขุนแผนคิดอย่างไร แต่เด็กพูดเสมอว่าไม่รู้ว่าตัวเองจะอ่านวรรณคดีไปทำไม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นวิกฤต แต่ที่เรามองไม่เห็นชัดก็เพราะว่า จริงที่อาจารย์บอกว่า แล้วเราทำไมอยู่ได้ ก็แน่นอน รัฐบาลเลี้ยงเราอยู่

คือภาพทางวิชาการของเราได้ถูกบิดเบือนโดยการ คือไม่ได้ถูกบิดเบือน ภาพทางวิชาการของเราไม่ได้อาศัยตลาดเป็นตัวตั้ง แต่เราอาศัยรัฐเป็นตัวตั้ง เพื่อเราจะได้เสริมสิ่งที่อ.สายชล พูดหรืออะไรก็ตามแต่ หรือจะเสริมให้อาณานิคมมันดำรงอยู่ก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นรัฐจะเป็นคนจ่ายสิ่งเหล่านี้ตลอดมา

ปัจจุบันนี้เมื่อรัฐเริ่มจะจ่ายน้อยลง ครูมนุษยศาสตร์มากทีเดียวเริ่มรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามชีวิตมากๆ คืออาจจะตกงาน พูดง่ายๆ ฉะนั้นผมคิดว่าสำนึกในมนุษยศาสตร์ในเรื่องวิกฤตจึงค่อนข้างสูงมาก แล้วทุกครั้งที่มีการสัมนา ผมก็ไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกันบ้าง ผมเองก็พยายามเกร็งว่าครั้งนี้ต้องไม่ซ้ำกับเขา เข้าใจว่าทุกครั้งที่มีการสัมนา ถ้ามีการนำเสนอทางออกอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าไม่มีใครกล้าทำ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเสนอทางออก มันก็จะไปรื้อตัวระบบ รื้อตัวอาณานิคมออก แล้วก็จะไม่มีคนกล้าทำ อันนี้เป็นประเด็นแรกที่อยากจะแลกเปลี่ยน ซึ่งคงจะมีการพูดถึงวิกฤตกันต่อไปเรื่อยๆ ไม่ทราบว่า สกว.จะเข็ดแล้วหรือยังถ้าจะมีการจัดอีก

อันที่สองที่อยากจะพูดก็คือว่า ผมคิดว่าเรื่อง Road Runner ที่อาจารย์เกษียรนำมาฉาย ตีความได้ 2,500 อย่าง อันนั้นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือว่าอ.เกษียร ใช้เป็นสื่อที่จะอธิบายสิ่งที่อาจารย์อยากจะพูด แต่คุณอยากจะตีความเรื่อง Road Runner เป็นอย่างไรเชิญตามสบาย ไม่เกี่ยว แล้วสิ่งที่อ.เกษียร ตีความนั้น มันอาจจะไม่จริงเลย ไม่เกี่ยว แต่ว่าการตีความแบบนี้แล้วมันจะช่วยทำให้การอธิบายวิกฤตสังคมศาสตร์ในทัศนะของอ.เกษียรชัดเจนขึ้น อันนี้ใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป็นวิธีตีความ

อคิน รพีพัฒน์ : ที่ อ.สายชลพูดเรื่องภาษาไทยมาตรฐาน สมัยผมเรียนอยู่ที่อังกฤษ เวลาพูดภาษาอังกฤษจะต้องออกเสียงให้ถูก ถ้าออกเสียงไม่ถูกจะโดนดูถูก แล้วเวลากินอาหารจับช้อนส้อมผิดนิดเดียวก็จะถูกดูถูกเช่นเดียวกัน เขาจะเคี่ยวเข็ญให้ทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง อันนี้ผมไม่รู้ว่าไทยเอาอย่างเขามาหรือเปล่า อังกฤษสมัยที่ผมอยู่เป็นอย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าสมัย อ.ปริตตา เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

เรื่องที่สองซึ่ง อ.เกษียรพูดเกี่ยวกับ Cultural Schizophrenia ประเดี๋ยวเป็นไทย ประเดี๋ยวเป็นเทศ ผมสังเกตว่าแบบญี่ปุ่นเมื่อเขาออกจากบ้านแต่งเป็นสากล พอกลับถึงบ้านใส่ชุดประจำชาติ สวมกิโมโน อันนี้จะต่างอย่างไรกับคนไทย

สุเทพ สุนทรเภสัช : ผมก็เป็นผลิตผลของสังคมศาสตร์ แต่เป็นคนที่สนใจทางด้านวรรณกรรม มีบางอย่างในงานวรรณกรรมที่ถูกแช่แข็ง ถูก freeze เอาไว้… หน้าที่ของวรรณคดีสโมสรคืออะไร มีการเน้นแต่เรื่อง form เรื่องของ formalism อะไรที่เสื่อมศีลธรรม จรรยาบรรณที่ดีงาม จะถูกกวาดทิ้งไปจนเลียบ วรรณกรรมไทยก็เลยเป็นซาก คนอย่างเฮนรี มิลเลอร์ ถ้าเป็นเมืองไทยไม่ได้เกิดหรอก วรรณกรรมที่เป็น realism เพราะมันถูกล้อมกรอบ

และที่น่าสนใจจะพูดก็คือในเรื่องของ Criticism นั้นไม่มี ผมอยู่ในอังกฤษ อเมริกา นวนิยายของคนนั้นคนนี้ออกมาแล้วมีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และมันทำให้วรรณกรรมนั้นไปได้ ผมอ่านงานของพระองค์จุล วิจารณ์หม่อมเจ้าอากาศ ดำเกิง อันนี้คลาสสิคที่สุด กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตหาว่าเป็นการเอาเรื่องของครอบครัวมาขาย อย่างนี้ก็ทนกันไม่ได้เลย แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นในสังคม

ศรีศักร วัลลิโภดม : ขณะนี้ผมมองเห็นว่ามันเป็นวิกฤต เป็นความสิ้นหวัง เป็นวิกฤตความเป็นอิสระของเราจากอำนาจ ขณะผู้คนในเมืองไทยถูกกรอบใหญ่ๆ ของโลกาภิวัตน์ครอบงำ มนุษย์คือทรัพยากร ตัวเราเองยอมเป็นหรือเปล่า ผมว่ามนุษย์เป็นจุลจักรวาล แต่เวลาเรียนในมหาวิทยาลัยเสือกให้มนุษย์เป็นทรัพยากร

ที่อ.เกษียร พูดเมื่อสักครู่เรื่องปัญหาของโลกสมัยใหม่ มนุษย์เป็น individual วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมันเปลี่ยนพื้นที่บนโลกให้เป็น Cyberspace หมด สมองกลที่เกิดขึ้นมาทำให้เกิดมนุษย์พันธุ์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้คิดแบบเรา ผมคิดว่าพวกอาจารย์เป็นพวกกึ่งๆกลางๆ ส่วนอ.นิธิ กลางๆเก่าๆ ส่วนอาจารย์สุเทพเก่าหมด อันนี้ต้องระวัง เพราะพวกกึ่งๆกลางๆจะเจอเด็กสมัยใหม่ถลกหนังหัวเอา เพราะคิดกันคนละแบบ

ทีนี้กลับไปที่การมองสังคมไทย มันถูกครอบงำโดยสถาบันใหญ่ๆ ตอนเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมกับอ.นิธิ เห็นภาพเลย เราอยู่ภายใต้ธงสีเทา(สีของคณะอักษรศาสตร์) แต่ว่าคณะอักษรศาสตร์ไม่รู้จักว่าสีเทาคืออะไร รู้จักแต่ขาว-ดำเท่านั้นเอง มองอะไรเป็นอุดมคติหมด อ่านวรรณกรรมยังอ่านไม่รู้เรื่อง เพราะอาจจะชาตินิยม และราชานิยมอะไรก็แล้วแต่

เรื่องตะเลงพ่าย กวีที่แต่งขึ้นขาไม่ได้มีสำนึกชาตินิยม เขาสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ ตัวเอกของเรื่องตะเลงพ่ายคือพระมหาอุปราชา แต่พอเรามองผ่านความคิดชาตินิยม พระนเรศวรจึงเกิด แล้วพระนเรศวรสวมเกราะอย่างกับนักรบโรมัน ดูแล้วทนไม่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ได้เรียนวรรณคดีที่มันเป็นของโลก แม้แต่เรื่องพระลอ ก็อ่านกันไม่เป็น ทำให้วรรณคดีที่มันมีความเป็นสากล เราถอดระหัสมันไม่ได้ เพราะเราถูกครอบงำ

ปรัชญาตะวันออกคือเรื่องของดุลยภาพ คือมองในเรื่องอุดมคติก็จริง แต่ในชีวิตความเป็นจริงเป็นเรื่องของดุลยภาพระหว่างความชั่วกับความดี ผมยังคุยกับ อ.ปริตตา ว่า ไปดูบาหลี มันมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ต้องอยู่ด้วยกันเพราะเป็นของคู่กัน… ขณะนี้สังคมวิกฤตมันไม่มีดุลยภาพ คณะอักษรศาสตร์ไม่เข้าใจสีเทาๆ มันคือการผสมกันระหว่างขาวกับดำ มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ไหนจะกลมกลืนกันอย่างไร

เกษียร เตชะพีระ : เรื่อง Road Runner อ่านได้ร้อยแปด คือถ้ามัน work มันก็ work แต่ถ้ามันไม่ work เป็นการอ่านที่ไม่เข้าท่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการอ่านอย่างเดียวที่เป็นไปได้ เกี่ยวกับเรื่องที่ อ.ชูศักดิ์พูด ผมเห็นด้วยคือมานั่งคิดดู ถึงแม้ Coyote จะล้มเหลว แต่มันไม่เคยออกนอก mode นั้นเลย ในที่สุดมันกลับมาพยายามใช้เทคโนโลยีต่ออีก ก็คือในแง่ความคิดมันต้องใช้เทคโนโลยีตลอด กล่าวคือมันไม่เคยคิดว่าทำไมไม่ไปกินอย่างอื่น เช่น แฮมเบอร์เกอร์ มัวแต่ไปซื้อเทคโนโลยีแล้วมาไล่จับ อันที่สองคือว่า ทำไมไม่ลองใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านดูบ้าง แทนที่จะใช้แต่เทคโนโลยี

ทีนี้มาถึงของ อ.เกรียงศักดิ์ ประเด็นที่ว่าอันนี้เป็นวิกฤตของปัญญาชน นักวิชาการ ที่สร้างวาทกรรมเหล่านี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่มันมีการผลิตและให้ความหมายมากมายของชาวบ้าน ทำไมเราไม่พยายามเปิดพื้นที่นี้ให้กับชาวบ้าน อันนี้ผมเห็นด้วยทั้งหมด แต่อยากจะบอกว่าเพราะรัฐ รัฐมันชอบเรา มันเอาวาทกรรมที่เราผลิตไปใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เสรีประชาธิปไตย ที่มันเป็นเรื่องความเดือดร้อน ที่มันเป็นเรื่องฆ่ากันตายฉิบหายวายป่วง อำนาจรัฐเข้ามาจัด

ที่ความคิดชาวบ้านไม่มีพื้นที่เท่าไหร่ในที่ผ่านมา เพราะรัฐไม่รู้จะทำอะไรกับมัน คือไม่เป็นชุดความคิดหรือ project ที่รัฐจะเอาไปทำหรือใช้อย่างอื่นได้ คำถามคือมีโอกาสไหมที่พื้นที่เหล่านี้จะเกิด ผมคิดว่ามีโอกาส แต่อาจจะไม่ใช่เริ่มจากรัฐ ทว่าเริ่มจากชาวบ้านมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ถ้าเมื่อไหร่ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองมากขึ้น พื้นที่ผลิตความหมายของชาวบ้านก็คงจะมีมากขึ้นด้วย แล้วอาจจะมาแข่งกับพวกนี้ แต่ไม่แปลกที่ว่า ที่ผ่านมาความคิดชุดพวกนี้มันครอบงำ มันมีรัฐ เวลาชาวบ้านผลิตสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เรื่องยุ่งมากเลยก็คือ เราจะฟังชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ล่ามสำคัญมาก ล่ามที่สามารถแปลวาทกรรมชาวบ้านมาเป็นวาทกรรมคนเมือง นักวิชาการ ที่เสียตัวให้กับวาทกรรมแบบครอบโลกไปแล้วสามารถเข้าใจได้

เรื่องซึ่ง อ.อคิน พูดเกี่ยวกับญี่ปุ่น ผมเห็นด้วยครับคือ ตอนที่ผมไปพูดเรื่องนี้ที่สิงคโปร์ เรื่องวัฒนธรรมเภท(cultural schizophrenia)ของเมืองไทย พอพูดจบนักวิชาการของอินเดียเข้ามาบอกว่า ประเทศอินเดียก็แบบนี้ คือทำให้รู้สึกว่าอาการ cultural schizophrenia มันไม่ใช่โรคเฉพาะของเมืองไทย มันเป็นโรคระะบาดไปทั่วโลก คือมันหยิบเอาชิ้นส่วนวัฒนธรรมของพื้นที่ของมันเอง กับชิ้นส่วนทางวัฒนธรรมของโลกมาผสม แต่ในส่วนที่น่าสนใจคือ มันผสมอย่างไร แล้วมันจัดความสัมพันธ์ระหว่างการผสมนั้นอย่างไรบ้าง อันนี้แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

ในกรณีประเทศเรา มีกลุ่มอำนาจ มีสถาบันหลักจำนวนหนึ่ง และรัฐเข้ามาจัดการเป็นแบบนี้ วิธีจัดการก็คือ ขูดเนื้อในทิ้งหมด ที่เป็นแหล่งกำเนิดของครอบกรอบโครงของวัฒนธรรมนี้ ขูดทิ้งหมด แล้วเอาทุนนิยมใส่ แล้วขายทุนนิยมในนาม"ความเป็นไทย" ในขณะเดียวกันก็ใช้ความเป็นไทยนั้น… ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ขัดกับการมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ต้องล้างบางแล้วจัดความสัมพันธ์ใหม่ ให้ประชาธิปไตยแบบที่เมืองไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ได้

ดังนั้นชื่อที่ตั้งจึงตรงมาก คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำไมจึงต้องปฏิรูป เพราะแบบที่มีมาก่อน 2 อย่างมันขัดกัน ขัดกันถึงขั้นปัจจัยประชาธิปไตยไปล่วงละเมิดปัจจัยหลัก อันนี้ต้องมาจัดใหม่ ตบประชาธิปไตยให้กลับเข้าไปอยู่ในกรอบของมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่จะออกมา อันอื่นเราจะพยายามผลักดันอะไรก็แล้วแต่ นี่คือปมเงื่อนใจกลางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขาจะต้องทำให้ประชาธิปไตยกลับมาเชื่องให้ได้ ให้อยู่ในกรอบโครงประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้

พูดแบบนี้แล้วดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเลวร้ายทั้งหมด ผมอยากจะมองมุมกลับคืออย่างนี้ สิ่งที่เราเรียกว่าความไม่เป็นไทยหรือโลกาภิวัตน์ ผลที่สุดคืออะไร? คือทุนนิยม บริโภคนิยม ซึ่งเมื่อมันเข้าสู่พื้นที่ประเทศไทย เข้าสู่พื้นที่ทางวัฒนธรรมไทย มันกระตุ้นความต้องการ ความปรารถนา กระตุ้นกิเลสตัณหามาก แล้วถ้าเราไม่สามารถบริหารกิเลสตัณหานี้ได้ สังคมนี้อยู่ไม่ได้ มันจะเกิดสงครามชนชั้น มันจะเกิดสงครามฆ่าฟันกันจนแหลก เพราะมันเข้าไปอยู่ในสภาพที่สร้างให้คนมีกิเลสตัณหา แต่มีความไม่เสมอภาค ซึ่งไม่อนุญาตให้คนชั้นล่างมีพื้นที่ที่จะไปบรรลุความฝันนั้นได้

คือทุนนิยมกับบริโภคนิยม ได้สร้างความฝันร่วมกันให้กับสังคมขึ้นมา พวกเราทุกวันนี้มีความฝันแบบชนชั้นกลาง แต่ไม่ใช่คนชั้นกลางเท่านั้นที่ฝัน คนชั้นล่างก็ฝันแบบเราด้วย เพราะทีวีโฆษณาความฝันอยู่ทุกวัน ทีวีบอกว่าการมีชีวิตเป็นคนไทยที่ดีจะต้องมีมือถือ จะต้องมีเครื่องเล่นDVD ต้องมีทีวี ต้องมีรถปิกอัพ แต่เขาไม่ได้มีรายได้อย่างเรา ดังนั้นเขาจึงต้องขายยาบ้า แล้วเขาขายยาบ้าไปทำไม ก็เพื่อไปซื้อเครื่องอรรถบริขารของการเป็นคนชั้นกลาง ก็กูอยากเป็นอย่างมึง แต่กูไม่มีตังค์

ดังนั้น ในความหมายที่ดีที่สุดของความเป็นไทย คือกรอบโครงที่จะมาบริหารจัดการกิเลสตัณหาที่เกิดจากการกระตุ้นของทุนนิยม บริโภคนิยม อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในเชิงอุดมคติมันน่าจะทำอย่างนี้ ในทุกสังคมจะต้องมีชุดวัฒนธรรมความเชื่อที่จะต้องมารับมือกับอันนี้ให้ได้ ถ้าคุณรับทุนนิยมเข้ามาแล้ว ทุนนิยมจะถูกกระตุ้น แล้วคนไม่เท่ากัน แต่ปัญหาคือว่าความเป็นไทยแบบที่เราอุ้มเอาไว้ แบบเมืองไทยนี้ดี ผมคิดว่าไม่มีพลัง มันไม่สามารถบริหารจัดการกิเลสตัณหาที่เกิดจากทุนนิยมได้ มันทำไม่ได้

มันบอกว่าอย่าขายยาบ้า เพราะเป็นการทำลายชาติ แต่กูอยากได้ DVD มันบอกว่ามึงอย่าโกงชาติ เพราะมันจะทำลายชาติ แต่กูอยากได้อย่างที่มึงมี ผมคิดว่าวิกฤตที่น่ากลัวในแง่มุมนี้ก็คือว่า เราเข้าไปอยู่ใน mode ของทุนนิยมเต็มที่แล้ว mode บริโภคนิยมเต็มที่แล้ว และชุดเครื่องมือทางอุดมการณ์ที่เราจะ cope หรือจัดการรับมือกับกิเลสอันนี้เปื่อย และเราหาชุดใหม่ไม่ได้ แล้วรัฐบาลของคุณสุรยุทธ์ก็จะกลับไปหาเครื่องมือชุดเก่า จริยธรรม หลักธรรมความเป็นไทยซึ่งมันไม่ work จะจัดการกับอันนี้อย่างไร

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล : อยากจะขอแลกเปลี่ยนกับวงสนทนานิดหน่อย คล้ายๆกับ อ.ศรีศักร คือตั้งแต่เริ่มทำงานมา 30 ปี ส่วนใหญ่ที่คนเขาจัดการสัมนาเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตมนุษยศาสตร์ ดิฉันก็จะได้รับเชิญให้เข้าไปร่วมรับฟังเป็นประจำ ก็จะได้รับรู้เรื่องวิกฤตจากหลายๆ เวที ดิฉันมีข้อสังเกตคือว่า ที่พูดกันมาทั้งหมดโดยส่วนตัวก็มีความเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ แต่ดิฉันมีความรู้สึกว่า มันเป็นภาษาทางวิชาการมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่ไม่ค่อยมีเมตตาต่อมนุษย์ เป็นภาษาที่หาผู้ร้าย แล้วก็มีความสุขที่จะประณามผู้ร้ายบางอย่าง อันนี้เป็นความรู้สึกจากการที่ได้ฟัง แล้วคนที่พูดก็มีความสะใจที่ได้ค้นพบผู้ร้ายบางตัว ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม โลกาภิวัตน์ อำนาจรัฐ มนุษยศาสตร์อนุรักษ์นิยม หรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้ดิฉันก็เข้าใจและตัวเองก็ทำอยู่เป็นประจำ เวลาที่ได้ฟังก็รู้สึกสะใจมาก อยากจะใช้คำพวกนี้เวลาเข้าประชุมกับกระทรวงวัฒนธรรม ดิฉันจะรู้สึกสะใจมาก

แต่ดิฉันก็มีความรู้สึกว่า เราอาจจะต้องการภาษาทางมนุษยศาสตร์บางอย่างที่สามารถจะเปิดให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างชาวมนุษย์ศาสตร์ เราจะใช้ภาษาแบบไหนที่จะเปิดเวที เปิด dialogue กับมนุษย์ศาสตร์แบบอื่น มากกว่าที่จะใช้สร้างกำแพงล้อมตัวเรา แล้วก็บอกว่าไอ้ข้างนอกมันไม่ถูก มันไม่ดี เราจะทะลุกำแพงนี้ได้อย่างไร

ประการที่สองคือ เวลาเราพูดถึงคนก็ดี มนุษย์ก็ดี เราพูดในเชิงที่เป็นป้าย เช่น เป็นชนชั้นกลาง เป็นคนชั้นนำ เป็นคนชั้นสูง เป็นฝรั่ง เป็นไทย ซึ่งเป็นการพูดถึงมนุษย์ที่ก็เข้าใจได้ แต่คิดว่าการพูดแบบนี้ทำให้เราไม่ได้เห็นตัวมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น นาย ก. นาย ข. ปริตตา หรือหม่อมราชวงศ์อคิน อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมนุษย์พวกนี้ไม่มีใครที่บริสุทธิ์ ไม่มีใครเลวอย่างบริสุทธิ์ มนุษย์ก็สีเทาๆ แบบนี้แหละ ดีบ้างเลวบ้าง เราจะมีภาษาทางมนุษยศาสตร์อย่างไรที่ทำให้มนุษยเหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้

ขอยกตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ ที่ผ่านมาในชีวิต ดิฉันมีครูที่สอนรำ อายุ 88 ปี ครูท่านนี้แน่นอน ท่านก็ได้สมาทาน อุดมการณ์ชาติ อุดมการณ์ชนชั้นนำ ท่านไม่สนใจหรอกประชาธิปไตยหรืออะไรก็แล้วแต่ จะมาพูดเรื่องปฏิวัติอะไรไม่เข้าหูเลย อะไรที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ อะไรที่เกี่ยวกับกรมศิลปากร หรืออาจจะสำนักรำของท่านที่นาฏศิลป์ ก็เป็นของที่ดีงาม แล้วเรารู้สึกอย่างไรกับคนเหล่านี้ คนเหล่านี้เป็นทาสของระบบบางอย่างที่ครอบงำเขาหรือ อย่างนั้นหรือเปล่า

ในอีกทางหนึ่งครูท่านนี้ยากจน อยู่ในสลัม บ้านไม่มีเป็นของตัวเอง อยู่กับลูกสาวสองคน แล้วลูกสาวทุกครั้งที่จะออกจากบ้านก็จะไหว้คุณแม่อย่างงามมาก ไม่ใช่ไหว้แบบที่ครูในโรงเรียนสอน แต่เป็นการไหว้ที่เขาแสดงความเคารพมาก เป็นความงามแห่งชีวิตของเขา ครูคนนี้ไม่ว่าจะยากจนอย่างไร คนไปเรียน ครูก็จะไม่คิดเงิน เขาบอกว่าครูจะไม่คิดเงินกับศิษย์ ภาพของครูคนนี้ทุกอย่างจะไปบอกว่าเป็นอาการ schizophrenia คือบางที่จะบอกว่ามีคุณธรรมอย่างที่เรารู้สึกชื่นชมงดงาม บางที่ก็เป็นทาสซึ่งถูกครอบงำโดยระบบอำนาจอะไรต่างๆ ดิฉันรู้สึกว่าอันนี้ไม่เพียงพอที่จะมองคนๆ นี้ และเราต้องการภาษา แนวคิดอย่างอื่น วิธีคิดอย่างอื่น หรือการพูดถึงอย่างอื่นที่เราจะเข้าใจคนๆ นี้ พร้อมทั้งรับศักดิ์ศรีของเขา พร้อมทั้งรับบางอย่างซึ่งเราไม่อยากจะรับ

ดิฉันคิดว่านี้เป็นปัญหาของโลกในปัจจุบันนี้ ที่เราพูดถึงความแตกต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราต้องอยู่กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา มีทัศนคติที่เรารังเกียจมาก เราประณามอย่างยิ่ง แต่ถามว่าเราจะอยู่กันอย่างไร เราจะมีวิธีพูดกับเขาอย่างไร ที่เราจะร่วมกันในโลกใบนี้ให้ได้ อันนี้น่าจะเป็นประเด็นปัญหาหลักอันหนึ่ง ท่ามกลางปัญหาต่างๆ

สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ : เรื่องวิกฤตมนุษย์ศาสตร์เท่าที่ฟังๆมา จริงๆมันต้องวิกฤต คือมันต้องเปลี่ยนตลอดเวลา ถ้าสังคมมนุษย์มีอยู่เมื่อใด สังคมศาสตร์ก็ต้องวิกฤต เว้นแต่มนุษย์จะตายหมดแล้วเท่านั้นสังคมจึงจะไม่มีวิกฤต

ผู้ที่ทำหน้าที่ในทางสังคมศาสตร์เท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่ภูมิใจที่จะสยบยอม เข้าไปอยู่ภายใต้จักกระแร้ของความคิดกระแสหลัก กระแสหลักเองก็มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด กระแสหลักที่ว่าก็คือรัฐนิยมที่เราว่า แต่เดี๋ยวนี้มันเริ่มจะเป็นกระแสสังคมนิยมเป็นกระแสหลักขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่านักวิชาการส่วนหนึ่งพยายามที่จะสร้างความมีคุณภาพของตัวเอง

ถ้าเราต้องการให้การพูดคุยในเรื่องของวิกฤตมนุษยศาสตร์ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ผมคิดว่าเราน่าจะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้กับความเป็นมนุษย์ของพื้นถิ่นให้มากขึ้น ให้มีการสนทนากับกระแสหลักให้มากขึ้น เดี๋ยวนี้เวลาเราสนทนากันในห้องเรียน เวลาเราสนทนากันในเวทีสัมนาก็ตามแต่ จะเห็นว่าความคิดกระแสหลักจะเป็นผู้นำอยู่ตลอดเวลา ทีนี้ ถ้าเราพยายามจะเปิดพื้นที่ของท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่น อันนี้ผมคิดว่ามันมีความเป็นมนุษยศาสตร์ที่แท้จริง

ผมขอยกตัวอย่างที่เราพูดกันมาเมื่อเช้า หลังจากที่ผมไปศึกษาวรรณคดีท้องถิ่น มันมีความเป็นไทยในแต่ละท้องที่ที่น่าสนใจอย่างมากมาย แต่ส่วนใหญ่ที่เรารับรู้กับในสถาบันการศึกษา มันเป็นวรรณคดีที่ถูกกำหนดโดยคนกลุ่มเดียว ซึ่งหลายเรื่องมันเต็มเหยียดแล้ว อย่างเช่นวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เปิดหน้าไหนคนก็รู้กันหมดแล้ว หยิบประเด็นไหน ตัวละครใด การสะท้อนทางวัฒนธรรม มันรู้ไปหมด แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นหลายๆ พันเรื่อง ซึ่งมันมีมุมมองที่ต่างไปจากนั้น แล้วเป็นมุมมองซึ่งเป็นพื้นบ้านจริงๆ เป็นชีวิตของเขาจริงๆ อันนี้ยังไม่มีใครรู้เลย รู้ก็รู้น้อยมาก ผมจึงขอยกตัวอย่างนี้ ถ้าหากว่าเราจะเปลี่ยนภาษาศาสตร์ให้เป็นภาษาถิ่นเข้ามา ในวรรณกรรมให้นำเอาวรรณกรรมท้องถิ่นเข้ามา อะไรที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระ / แนวความคิดของแต่ละพื้นที่เข้ามามากขึ้น ตรงนี้ก็จะเป็นการสร้างทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่

ผมคิดว่ามนุษย์ทุกยุคทุกสมัย เขาต้องการทางเลือก แต่เดี๋ยวนี้มีลักษณะที่ว่าคุณเลือกตามที่ฉันเลือกให้เท่านั้นเอง มันก็เลยมีปัญหา ดังนั้นถ้าจะให้มันขับเคลื่อนไปอีกขั้นตอนหนึ่ง ต้องเอาเรื่องของท้องถิ่นเข้ามา เพื่อทำให้เรารู้จักคนหลายระดับ รู้จักคนหลายวัฒนธรรม รู้จักคนหลายความต้องการมากขึ้น แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นว่าความต้องการมันจำกัด อยู่ภายใต้จักกระแร้ของใครบางคน มันจึงเกิดวิกฤต

สุเทพ สุนทรเภสัช : ต่อประเด็นอ.สุทธิวงศ์พูด คือเรื่องวรรณกรรมชาติกับวรรณกรรมท้องถิ่น ขออนุญาตพูดถึงสมัยอ.อุดม พิมพ์หนังสือที่ สกว. แล้วเขาให้ผมเป็น reader ผมอ่านแล้วก็ไม่ให้ผ่าน เพราะอะไร ก็เพราะว่าที่เราไปแยกวรรณกรรมท้องถิ่น คือเราไปถือว่าวรรณกรรมจะต้องเป็นระดับชาติ วรรณกรรมท้องถิ่นพูดง่ายๆ คือมันเป็นลูกเมียน้อย มาตรฐานมันต่ำกว่าความเป็นจริงมาก แล้วผมศึกษามานุษยวิทยาผมรู้นี่ พวกที่ศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น เขาศึกษาเรื่องของคติชน คติชนนี้เป็นเรื่องของคนที่อยู่นอกระบบ ตราบใดที่เรายังแยกประเภทของวรรณกรรมแบบนี้อยู่ วรรณกรรมดีๆ อย่างท้าวรุ่งขุนเจืองก็ไม่มีวันได้เกิด มันมีอะไรที่ซ่อนอยู่ในวรรณกรรมพื้นถิ่นอีกมากมาย

สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ : อย่างที่ผมเรียนแล้วว่า เดี๋ยวนี้เรารู้จักวรรณกรรมอยู่เพียงไม่กี่เล่ม แต่ถ้าเราไปศึกษาจริงๆ แต่ละพื้นที่มันมีวรรณกรรมอยู่มากมาย ทั้งในส่วนที่ดีมาก และในส่วนที่ไม่ได้เรื่องเลย ผมกำลังอ่านและแสวงหาวรรณกรรมท้องถิ่น 500 กว่าเรื่อง จาก 5,000 กว่าเรื่อง ตอนนี้เราเพียงแค่เคาะประตูหน้าเท่านั้น ยังไม่ได้เจาะลึกเข้าไปมาก แต่ในการเพียงแค่เคาะประตู พอเปิดปังออกมา มันมีเสน่ห์อย่างมหาศาล และถ้าเราค้นให้ลึกลงไปเราก็จะพบความจริงอื่นๆ มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าวรรณกรรมท้องถิ่นทุกเรื่องมันดี แต่มันช่วยให้เกิดความหลากหลายในวงวิชาการ ซึ่งอันนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของความงอกงาม

สายชล สัตยานุรักษ์ : เห็นด้วยกับอาจารย์หลายๆ ท่านที่ว่า เรายังศึกษาวรรณกรรม ศึกษาศิลปะของประชาชนไม่มากพอ ดิฉันจึงอยากจะตอบ อ.ปริตตา นิดหนึ่งว่า เห็นด้วยที่ควรจะมีมนุษยศาสตร์แบบอื่น ที่จะทำให้เราเข้าใจครูสอนรำของ อ.ปริตตา ให้ลึกซึ้งว่า ทำไมท่านถึงสอนนาฏศิลป์อย่างที่ไม่นึกถึงเรื่องของเงินทอง ทำไมท่านถึงยอมอยู่อย่างยากจน ดิฉันคิดว่ามนุษยศาสตร์ยังตอบตรงนั้นไม่ได้ จึงคิดว่าตรงนี้ล่ะที่สะท้อนว่ามนุษยศาสตร์มันวิกฤต และอยากจะให้มีมนุษยศาสตร์หลากหลายแบบที่จะทำให้เราเห็นอะไรจากหลายๆ มุมมอง

แต่เท่าที่ดิฉันพูดมา มันเป็นมุมมองซึ่งเป็นวิธีคิดกระแสหลัก ซึ่งคิดว่าถ้าเราไม่วิเคราะห์ให้ดี เราจะมองไม่เห็นพลังครอบงำของมัน ซึ่งดิฉันคิดว่ามันมีผลทำให้เกิดวิกฤต แล้วไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา จนกระทั่งต้องพูดเรื่องวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำอีก

เสียดายที่ไม่สามารถจะยกตัวอย่างข้อความของการวิเคราะห์ทางมนุษยศาสตร์ที่มันจะทำให้สิ่งที่นำเสนอวันนี้ได้ชัดเจนมากไปกว่านี้ แต่ดิฉันคิดว่าเท่าที่ได้อ่านงานของนักมนุษยศาสตร์ซึ่งไม่มากนัก และอยู่ในวงการมนุษยศาสตร์มาหลายสิบปี ดิฉันคิดว่าการครอบงำของความเป็นไทยกระแสหลัก มันมีผลร้ายต่อมนุษยศาสตร์และต่อสังคมไทยด้วย ถ้าเราทำให้มนุษยศาสตร์พ้นจากวิกฤตของวิธีคิดได้ ทำให้เกิดวิธคิดที่แตกต่างและหลากหลาย ซึ่งเห็นคุณค่าของประชาชนมากขึ้น ก็เชื่อว่ามนุษยศาสตร์ก็ยังคงมีคุณค่ากับสังคมไทยอยู่

เกษียร เตชะพีระ : ผมอยากจะคุยกับพี่ปริตตา ผมรู้จักสหายคนหนึ่งที่ผมรักมากตอนที่เข้าป่า เขาชื่อสหายสัก ตัวดำๆ เป็นคนลาวอีสานใต้ สหายสักสอนผมเลี้ยงควาย สอนผมพูดภาษาลาว เขาสอนผมขนาดที่ผมสามารถอธิบายสถานการณ์โลก ด้วยภาษาลาวให้ชาวนาที่ไม่รู้ว่าโลกกลมเข้าใจได้ ผมชื่นชมมากที่สหายสักสอนผมได้ขนาดนี้

หลังจากป่าแตกผมไม่เคยเจอสหายสักอีกเลย เมื่อ 2-3 ปีก่อนเขามีการรวมกลุ่มกันในบรรดาสหายเก่า มีการนัดพบกันที่อีสานใต้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และผมได้มีโอกาสเจอสหายสัก สหายสักโทรมลงมาก เขาพาเมียและหลาน 2 คนมาหาผม แล้วพูดคุยกันด้วยความสนิมสนม แล้วสหายสักก็ถามผม… เห็นได้ชัดว่าแกยากจนกว่าเรา แกบอกว่าแกเป็นหนี้เยอะ อยากจะหางานทำที่กรุงเทพ แกถามผมว่า ผมมีบริษัทของตัวเองที่จะจ้างงานแกให้ไปทำงานที่กรุงเทพไหม? นึกออกไหมครับว่านี่คือสหายที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมา แล้วมีบุญคุณกับผมมาก ผมต้องบอกแกตรงๆ ว่าผมไม่มีบริษัท

แกบอกว่าหลานแกป่วย ไปหาหมอแล้วฉีดยา แต่ยังไม่หาย ผมนี่สามารถฉีดยาให้หลานแกได้ไหม? ผมบอกแกว่าไม่ได้ ผมไม่รู้เรื่องหมอและผมไม่มียาด้วย แกก็รู้สึกว่า… นึกออกไหมครับว่าไม่ได้แล้ว แกก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ซื้อเหล้าเลี้ยงแกหน่อยได้ไหม? ผมก็เลยซื้อเหล้าขาวสองกระบอก ซึ่งคงช่วยให้แกเมาได้

วรดุลย์ ตุลารักษ์ : ผมขอกลับไปที่ประเด็นโลกาภิวัตน์ ไม่นานมานี้ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งค่อนข้างสนับสนุนโลกาภิวัตน์ รู้สึกว่ามันมีสาระที่ค่อนข้างจะโน้มน้าวคนอ่านได้ในเรื่องของโลกาภิวัตน์ทำให้โลกเล็กลง แบน และแคบลง อันที่สองได้อ่านประเด็นที่ใกล้เคียงคือว่า โลกาภิวัตน์ทำให้สินค้าวัฒนธรรมหลากหลายขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในการทำเพลง ก็เอาเพลงพื้นเมืองมาผสมกับดนตรีของยุโรปแล้วนำมาขาย เช่นในนีโอเดอจาเนโรก็เกิดการ mixed อย่างนี้ขึ้น ในส่วนของภาพยนตร์ก็เช่นกัน ภาพยนตร์ฮ่องกง เกาหลีใต้ ได้รับความนิยมมาก ในส่วนของหนังสือก็คือว่า นวนิยายหรือวรรณกรรมซึ่งได้รับความนิยม อย่างนวนิยายที่ได้รับรางวัลโนเบลก็ไม่ใช่นวนิยายของคนอเมริกัน

สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงก็คือ ผู้บริโภคมี menu of choice มากขึ้น ได้เสพสิ่งต่างๆ ที่เป็นสินค้ามากขึ้น ข้อสรุปที่หยาบคายมากของหนังสือเล่มนี้ก็คือว่า แม้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว อันนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ แต่สุดท้ายหนังสือเล่มนี้ก็ยอมรับว่า มันมีความเศร้าเกิดขึ้นก็คือ มันมีภาษาบางภาษาที่ได้หายไปจากโลก

 


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

วิธีจัดการก็คือ ขูดเนื้อในทิ้งหมด ที่เป็นแหล่งกำเนิดของครอบกรอบโครงของวัฒนธรรมนี้ ขูดทิ้งหมด แล้วเอาทุนนิยมใส่ แล้วขายทุนนิยมในนาม"ความเป็นไทย" ในขณะเดียวกันก็ใช้ความเป็นไทยนั้น… ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ขัดกับการมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ต้องล้างบางแล้วจัดความสัมพันธ์ใหม่ ให้ประชาธิปไตยแบบที่เมืองไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ได้ ดังนั้นชื่อที่ตั้งจึงตรงมาก คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำไมจึงต้องปฏิรูป เพราะแบบที่มีมาก่อน 2 อย่างมันขัดกัน ขัดกันถึงขั้นปัจจัยประชาธิปไตยไปล่วงละเมิดปัจจัยหลัก อันนี้ต้องมาจัดใหม่ ตบประชาธิปไตยให้กลับเข้าไปอยู่ในกรอบของมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่จะออกมา อันอื่นเราจะพยายามผลักดันอะไรก็แล้วแต่ นี่คือปมเงื่อนใจกลางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขาจะต้องทำให้ประชาธิปไตยกลับมาเชื่องให้ได้

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น