บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๕๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙
01-11-2549



Crisis of Social Science
The Midnight University

การประชุมทางวิชาการมนุษยศาสตร์
วิกฤตสังคมศาสตร์ : Globalization - International Terrorism
โครงการวิจัยวิกฤตมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์
โดยการสนับสนุนของ สกว.

บทความถอดเทปต่อจากนี้ไป จะเป็นการไล่เลียงเนื้อหาในการสัมนาในหัวข้อ
วิกฤตมนุษยศาสตร์
: ความเป็นชาติ โลกของตลาด และความรู้สึก
โดยในส่วนที่ ๒ ของบทความถอดเทปนี้ เป็นปาฐกถานำของ
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ - จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งจะได้กล่าวถึงภาพของวิกฤตสังคมศาสตร์
รายการสัมนาที่จัดขึ้นเมื่อ
วันที่ ๒๔-๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
ที่บ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1056
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

 

วิกฤตสังคมศาสตร์ : Globalization - International Terrorism
โครงการวิจัยวิกฤตมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของ สกว.
วันที่ ๒๔ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
จัดขึ้น ณ ราชาวดีรีสอร์ท (ที่บ้านกรูด) ตำบลธงชัย
อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
(ย้อนกลับไปยังปาฐกถานำรายการนี้)


วิกฤตสังคมศาสตร์ : Globalization - International Terrorism
เกษียร เตชะพีระ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
วิกฤตสังคมศาสตร์ที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ไม่ใช่วิธีเดียวในการมองว่าสังคมศาสตร์ในระดับโลกโดยทั่วไปมีปัญหาอะไรบ้าง นี่เป็นเพียงวิธีมองวิธีหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้แล้วยังมีวิธีมองอย่างอื่นอีก เพียงแต่นี่เป็นวิธีมองที่ผมคิดว่า สำหรับนักรัฐศาสตร์แล้วมันมีพลัง เพราะมันแตะเข้าไปในปัญหาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในศตวรรษที่ ๒๐ ที่เพิ่งผ่านไป ผมจึงเลือกวิธีการนี้

หัวข้อที่ผมเตรียมมามีด้วยกัน ๔ หัวข้อ

๑. การ์ตูน Road Runner และวิกฤตของปฏิบัติการพลิกเปลี่ยนสังคมแห่งคริสตศตวรรษที่ ๒๐. อันนี้เป็นการใช้วิธีการอุปมาอุปมัยจากผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมตะวันตก นั่นคือการ์ตูนมาช่วยสร้างความเข้าใจ เป็นบทเรียนของผมในการสอนวิชาปรัชญาการเมืองเบื้องต้น เพราะการพูดถึงวิกฤตการพลิกเปลี่ยนสังคมในคริสตศตวรรษที่ ๒๐ เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ผมลองใช้การ์ตูน Road Runner ฉายให้นักศึกษาดู ปรากฏว่าทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ง่ายขึ้น

๒. วิกฤตอันนี้เป็นวิกฤตของอะไร ผมคิดว่าเป็นวิกฤตของโครงการสังคมศาสตร์แห่งยุครู้แจ้งของตะวันตก (the Enlightenment)


๓. ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ : Structure without a Subject


๔. ปรากฏการณ์การก่อการร้ายสากล : Subject without Structure

สำหรับข้อที่ ๓ และ ๔ จะเป็นตัวอย่างสืบเนื่องมาจากอันที่ ๑ ซึ่งเป็นอาการของสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนอันที่ ๒ เป็นสมุตฐานของอาการ วิกฤตการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นก็เพราะโครงการสังคมศาสตร์แห่งยุครู้แจ้ง อันที่ ๓ และอันที่ ๔ คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้น โดยพยายามดูตัวอย่างของสังคมศาสตร์ ปัญหาของความพยายามดังกล่าวในการที่จะพูดหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ๒ ปรากฏการณ์ใหญ่ของโลกปัจจุบัน คือโลกาภิวัตน์และการก่อการร้ายสากล

การ์ตูน Road Runner และวิกฤตของปฏิบัติการพลิกเปลี่ยนสังคมแห่งคริสตศตวรรษที่ ๒๐.
ก่อนที่จะเข้าหัวข้อที่หนึ่ง ผมขอฉาย VCD เรื่อง Road Runner ให้พวกเราดู… เป็นการ์ตูนชุดของ Warner Brothers USA เริ่มออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ CBS ในปี ค.ศ.1966 ผู้สร้างคือ Chuck Jones เป็นเรื่องของตัวละคร Wile E.Coyote (หมาจิ้งจอก)หิวจัดไล่จับกิน Road Runner ซึ่งวิ่งเร็วมากในทะเลทราย

Coyote ใช้สารพัดวิธีไล่จับ Road Runner โดยเฉพาะใช้ผลิตภัณฑ์ไฮเทคจาก Acme แต่จับไม่เคยได้เลย มิหนำซ้ำยังเข้าเนื้อเจ็บตัวเองทุกทีไป กระนั้น Coyote ก็ยืนหยัดไม่ยอมเลิกรา พล็อตเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องง่ายๆ ซึ่งมีเพียงเท่านี้ ตอกย้ำซ้ำซากเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน เปลี่ยนแต่มุขลูกไม้ทีเด็ดแต่ละตอน เป็นการ์ตูนชุดที่รุนแรงมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่นิยมสูงสุดเรื่องหนึ่งในอเมริกา เพราะเข้าใจง่ายโดยไม่มีบทสนทนา

ผมคิดว่าวิกฤตของปฏิบัติการพลิกเปลี่ยนสังคมของคริสตศตวรรษที่ ๒๐ สามารถดูได้จากการ์ตูนเรื่องนี้ เจ้าตัวนก Road Runner ที่ถูกวิ่งไล่จับ เอาเข้าจริงก็คืออุดมคติพระศรีอาริย์ หรือเราจะเรียกว่า Utopianism หรือจะเรียกว่า Utopian Ideal ทั้งหลายก็ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือโครงการสังคมศาสตร์ที่มีเป้าหมายพลิกเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น

อุดมคติ Utopian เหล่านี้ หรือโครงการเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ ๑๙ ลองคิดถึงนักคิดใหญ่ๆ ของลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิสังคมนิยม หรือลัทธิเสรีประชาธิปไตยต่างๆ มักจะวาดวางสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ ๑๙. ส่วน Coyote ก็คือมนุษย์ผู้กระทำการในคริสตศตวรรษที่ ๒๐ วิ่งไล่จับอุดมคติหรือ Utopian เหล่านี้ วิ่งไล่จับหรือพยายามทำตามโครงการสังคมศาสตร์เหล่านี้ เพื่อบรรลุอุดมคติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสังคมคอมมิวนิสต์, เสรีประชาธิปไตย, อาณาจักรไรส์ที่ ๓, วงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา, หรือกัมพูชาประชาธิปไตย. นึกต่อไปได้เรื่อยๆ ครับ

มนุษย์ในคริสตศตวรรษที่ ๒๐ ได้ระดมใช้สารพัดเทคโนโลยี เหมือนกับ Coyote ใช้เครื่องไม้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีต่างๆ ของบริษัท Acme และด้วยความรุนแรงอย่างยิ่งเพื่อพยายามจะบรรลุอุดมการณ์ต่างๆ หรือโครงการเหล่านี้ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ

- the Gulag ในโซเวียตรัสเซีย ซึ่งเป็นค่ายกักกันบรรดาชาวนาหรือผู้ต้องหาทางการเมืองทั้งหลาย ซึ่งรัฐสตาลินพิจารณาแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อสังคมนิยม

- The Holocaust เพื่อบรรลุอาณาจักรไรส์ที่ ๓ เป็นอุดมคติอันดีงามของเผ่าพันธุ์อารยันบริสุทธิ์ ก็สังเวยชีวิตคนยิวไปในค่ายกักกันนับเป็นจำนวนหลายล้านคน หรือ

- ทางรถไฟสายมรณะข้ามแม่น้ำแคว ก็เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะเพื่อบรรลุวงศ์ไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา

- คุก Toul Sleng ในกัมพูชาเป็นค่ายกักกัน ค่ายไต่สวน และค่ายสังหารผู้ต้องหาของเขมรแดงจำนวนเป็นพันๆ คน

- คุก Abu Graib หรือคุก Guantanomo Bay ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อบรรลุโครงการเสรีระชาธิปไตยของบรรดา Neo-con (นีโอ-คอน / อนุรักษนิยมใหม่) ของอเมริกัน

ในกรณีของไทยเราก็มีอะไรทำนองนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน ผมจำได้ว่าหลังพฤษภาทมิฬ 2535 หลังจากที่มีการลุยปราบและมีคนตาย เช้าวันนั้นผมเข้ามาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีใครก็ไม่รู้ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใครเขียนกลอนบทหนึ่งติดเอาไว้ที่หน้า อมธ.ว่า

ผ่านหกสิบปีไปเปล่าๆ ฝันใดได้เล่าเฝ้าวาดหวัง
สังคมมีแต่แผลเรื้อรัง กับซากปรักหักพังประชาธิปไตย

คือคล้ายๆกับมนุษย์ลงแรงไปเยอะเพื่อบรรลุ Utopia เพื่อบรรลุโครงการสังคมศาสตร์ทั้งหลายในคริสตศตวรรษ ๒๐ แล้วมันก็ลงเอยคล้ายๆ กับ Road Runner นี้ คือไม่เคยจับได้ เจ็บตัวเองทุกที โดยใช้เทคโนโลยีและความรุนแรงอย่างยิ่ง

พูดอีกอย่างด้วยภาษาเป็นวิชาการยิ่งขึ้นคือ อะไรคือข้อสรุปของคริสตศตวรรษที่ ๒๐
ข้อสรุปก็อาจจะเป็นได้ทำนองนี้คือ ความพยายามของมนุษยชาติที่จะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น รังแต่จะลงเอยเป็นความเลวร้ายบัดซบ พฤติกรรมของมนุษย์กำกับด้วยหลัก ๒ ประการ ในภาษาอังกฤษคือ Perversity & Futility (ความวิปริตผิดปรกติ และความไร้ผล)

Perversity หรือความวิปริต ก็คือหลักนี้ประกันว่าเจตนาดี ย่อมจะแผ้วถางทางไปลงนรก บรรดายูโธเปียทั้งหลายเริ่มต้นด้วยเจตนาดีทั้งนั้น อยากให้มนุษย์มีความสมบูรณ์พูนสุขหรือมีเสรีภาพอะไรก็แล้วแต่ พอปฏิบัติการไปแล้วมันแผ้วถางทางไปลงนรก และความพยายามที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น มันรังแต่จะก่อให้เกิดความเลวร้ายลงไปมากยิ่งขึ้น

Futility หลักที่สองคือ Futility หรือความเหลวเปล่า หลัการนี้ให้ความมั่นใจว่า ถนนทุกสายที่ติดป้ายว่า"ความก้าวหน้า" หรือ"การปฏิรูป", อันนี้ผมเขียนก่อนที่จะมี คปค.(คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข), ย่อมไม่นำพาไปที่ไหนเลยสักแห่ง และมีแต่วิ่งหายลับไปในผืนทราย อะไรที่มันวิ่งหายลับไปในผืนทรายมันก็ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ เพราะพอลมที่ซัดสาดมา อะไรก็ตามที่เราทิ้งรอยประทับเอาไว้บนผืนทรายมันก็อันตรธานหายไป

ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ก้าวหน้าขึ้น มันไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย เหลวเปล่าๆ… แผนที่ใดบ่งชี้เป็นอื่น แผนที่นั้นย่อมไม่ใช่ของโลกใบนี้ (สตีเว่น ลุคส์, การิทัตผจญภัย, บทที่ ๖ เผชิญหน้า)

หรือพูดด้วยถ้อยคำของ Alain Badiou ซึ่งเป็นนักปรัชญาฝ่ายซ้ายมาร์กซิสท์ ว่า "The 20th century did not take place"นี่ไม่ใช่ความคิดเขา แต่นี่เป็นวิธีเข้าใจและเป็นวิกฤตของสังคมศาสตร์ในศตวรรษนี้ ตัวเขาอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับทัศนะนี้ สรุปก็คือ "The 20th century did not take place" ราวกับว่าคริสตศตวรรษที่ ๒๐ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเลย ราวกับว่าการ์ตูน Road Runner ทุกตอนไม่ได้เกิดขึ้นเลย นึกออกไหมครับ เพราะว่ามันจบตอนหนึ่งแล้วขึ้นตอนใหม่ คือมันเริ่มต้นที่จุดเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง คือการวิ่งไล่จับ แล้วก็วิ่งหนีไปได้ตลอดโดยที่ไม่เคยจับได้ และลงเอยด้วยการเจ็บตัวทุกที พอขึ้นตอนที่สองก็เป็นเช่นดังเดิม ราวกับว่าคริสตศตวรรษที่ ๒๐ ไม่ได้เกิดขึ้นเลย

คือมนุษย์ไม่ได้ achieve หรือบรรลุผลสัมฤทธิ์อะไรในความพยายาม ในความรุนแรงอย่างยิ่ง โดยความพยายามด้วยการใช้เทคโนโลยีที่สูงอย่างยิ่งที่จะบรรลุอุดมคติของตน ที่จะบรรลุโครงการสังคมศาสตร์ของตน

อะไรคือที่มาของโครงการสังคมศาสตร์
ผมคิดว่าที่มาของมันคือยุครู้แจ้ง(the Enlightenment)ของตะวันตก ซึ่งก็คือกระแสความคิดทางสังคมที่เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกาในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ สรุปง่ายๆ ก็คือ คงมีผู้ที่รู้และเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ละเอียดลึกซึ้งกว่าผมแน่ อ.วีระ สมบูรณ์ คงเป็นท่านหนึ่ง แต่ผมอยากจะหยิบเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวพันกับความเข้าใจและวิกฤตสังคมศาสตร์ของผมตอนนี้ก็คือว่า ความคิดนี้เห็นว่า ศาสนาและปรัชญาที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนามันไม่พอเพียง ความรู้ที่เป็นใหญ่สุดของมนุษย์คือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และอิทธิพลของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ของนิวตัน ซึ่งทั้งหมดนำมาสู่ความหวังว่า วิทยาศาสตร์ธรรมชาติคือคำตอบ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติคือแบบจำลอง

คล้ายๆ แบบนี้ครับ ตอนนั้นมนุษย์เพิ่งฆ่ากันขนานใหญ่ในยุโรปและตะวันออกกลาง เพราะนับถือพระเจ้ากันคนละองค์ ฝั่งหนึ่งนับถือ God ส่วนอีกฝั่งหนึ่งนับถือพระอัลเลาะห์ และด้วยความเข้าใจและนับถือพระเจ้ากันคนละองค์ จึงทำให้เกิดการฆ่าฟันกันจนแหลกลาน นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้ค้นพบความจริงบางอย่างซึ่งเป็นสากล

๑ เซนติเมตรยาวเท่ากันทั่วโลก อันนี้เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มาก ถ้าเราสามารถตกลงร่วมกันได้ว่า ๑ เซนต์เมตรยาวเท่ากันทั่วโลก เราก็ไม่ต้องฆ่ากัน ไม่ต้องทะเลาะกัน เพราะว่าที่ไหนๆ วัดแล้วมัน ๑ เซนติเมตรเท่ากันหมด มนุษย์ได้มาถึงจุดที่ไม่ต้องฆ่ากันเพราะความแตกต่างกันทางความคิดความเชื่อกันอีกต่อไปแล้ว วิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้ค้นพบคำตอบแล้ว ถ้าเพียงแต่เราสามารถยกเอาแบบจำลองนั้นมาใช้ในการศึกษาสังคม และให้คำตอบแก่ปัญหาของมนุษย์ ทำให้ปัญหาของสังคมและปัญหาของมนุษย์เป็น ๑ เซนติเมตรยาวเท่ากันทั่วโลกเหมือนกัน อย่างนี้เราก็ไม่ต้องฆ่ากัน

ประชาธิปไตยก็แปลว่าอย่างนี้เหมือนกันหมดทั่วโลก สังคมนิยมก็แปลว่าอย่างนี้เหมือนกันหมดทั่วโลก. ความดี จริยธรรมแปลว่าอย่างนี้เหมือนกันหมดทั่วโลก ซึ่งมันจะนำไปสู่ความคิดทางสังคมการเมืองที่มีลักษณะสากล(universalism).

- Objectivism คือเริ่มต้นจากความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น มนุษย์ไม่เกี่ยว และ
- Scientism มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ อันนี้คือแก่นของความเชื่อที่ปรากฏในตอนนั้น

หรือถ้าจะสรุปประมวลความเชื่อแบบนั้นก็คือว่า

Optimism + Idea of Progress + Humanism + Rationalism
สรุปเป็นประโยคก็คือ "มองโลกในแง่ดีว่าจะก้าวหน้าไปด้วยเหตุผลที่ดีของมนุษย์"

มองโลกในแง่ดี ไม่ใช่แง่ร้าย ไม่ได้มองโลกว่าเป็นเรื่องราวของ The Fall ของมนุษย์จาก Garden of Eden ของพระผู้เป็นเจ้า แล้วรอวันที่พระผู้เป็นเจ้ามาไถ่บาป. ไม่ใช่! มันเป็นเรื่องที่มนุษย์เขียนเอง และมีแต่จะก้าวหน้าขึ้น ไม่ใช่ The Fall

มองโลกในแง่ดีว่าจะก้าวหน้าไป อะไรคือปัจจัย คือพลังหรือพลวัตของความก้าวหน้า คำตอบคือ"เหตุผล" มนุษย์มีดีตรงนี้ ดังนั้นโดยความเชื่อฐานอันนี้จึงเชื่อว่า ถ้าเราสามารถเรียนรู้โลกทั้งโลกสังคมและโลกธรรมชาติ หากฎเกณฑ์ของมันให้พบ กฎเกณฑ์ไม่เพียงแต่เฉพาะของวิทยาศาสตร์ กฎเกณฑ์ความโน้มถ่วง กฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ แต่หากฎเกณฑ์ของประชาธิปไตย กฎเกณฑ์ของการเมือง กฎเกณฑ์ของเศรษฐกิจ กฎเกณฑ์ของสังคม จะทำให้เราสามารถทำนายได้ ซึ่งหมายถึงเมื่อค้นพบกฎเกณฑ์ต่างๆ จะทำให้สามารถทำนายได้ คือ

If มีเหตุปัจจัยเหล่านี้มาประชุมกัน then อย่างนี้จะเกิดขึ้น

ถ้าคุณอยากได้ผลประชาธิปไตย คุณก็จะต้องพยายามสร้างเหล่าปัจจัยต่างๆ ที่มันเกี่ยวพันเพื่อให้มาประชุมกันให้ครบ และ then มันก็จะได้อย่างนั้นมา เพื่อควบคุมสังคมเพื่อวิศวกรรมทางสังคม เพื่อควบคุมการเมือง เพื่อวิศวกรรมทางการเมือง. Political Engineering, Social Engineering, Legal Engineering อะไรก็แล้วแต่ นี่คือฐานความเชื่อที่มา ซึ่งนำมาสู่การพยายามครั้งใหญ่ของมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๐ และลงเอยเป็นความล้มเหลว

ทีนี้ตัวอย่าง ผมอยากจะลองยกตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาวิกฤตสังคมศาสตร์ปัจจุบัน คือผมคิดว่ามี ๒ ประเด็นหลักของโลกปัจจุบัน มีปัญหาในความพยายามทำความเข้าใจคือ

- ปรากฏการณ์ Globalization (โลกาภิวัตน์) กับ
- ปรากฏการณ์ International Terrorism (ก่อการร้ายสากล)

พวกเราทั้งหลายพอเดินไปเฉียดคณะสังคมวิทยา แล้วรู้ว่าพวกสังคมวิทยาเขาทะเลาะกันเรื่องอะไร ประเด็นหลักที่พวกนักสังคมวิทยาทะเลาะกันก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง subject กับ structure กับการพยายามที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมอันหนึ่ง เราควรจะเริ่มต้นและให้น้ำหนักกับโครงสร้าง และเหล่าปัจจัยทั้งหลายที่เป็นตัวกำหนด และแวดล้อมต่างๆ เป็นบริบท และตัวมนุษย์เองหรือผู้กระทำการเอง ด้วยน้ำหนักที่มากน้อยต่างกัน นี่เป็นปัญหาในทางสังคมวิทยาที่ทะเลาะกันไม่เลิกว่า subject แค่ไหน structure แค่ไหน

ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ : มนุษย์ไม่เกี่ยว
ผมรู้สึกว่าความพยายามจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ของนักสังคมศาสตร์ แม้จะไม่ทั้งหมดแต่จำนวนมาก โลกาภิวัตน์ถูกนำเสนอราวกับว่าเป็น structure without a Subject เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งอาจจะรวมไปถึงการเมืองที่มันครอบโลก แล้วในนั้นมนุษย์ไม่เกี่ยว มันต้องเป็นไปเช่นนี้

"TINA" - there is no alternative แม้จะไม่ชอบแต่ก็จะต้องเป็นไปเช่นนี้ ต่อให้มีการต่อต้านก็เป็นแบบนี้ ดังนั้นจะไปต้านให้เสียเวลาทำไม เพราะมันต้องเป็นไปอย่างนี้

โดยเชื่อว่า determinism นี้ ประกาศิตว่าโลกจะต้องเป็นไปอย่างนี้ มีที่มาจากเศรษฐกิจ มันต้องเป็นตลาดเสรี มีที่มาจากเทคโนโลยี และต้องเป็นไปอย่างนี้เพราะไอที (IT - information technology) มนุษย์ไม่เกี่ยว โลกาภิวัตน์มันจะต้องเป็นไปเช่นนี้เพราะเศรษฐกิจมันต้องเป็นไปเช่นนี้ เห็นไหมสังคมนิยมล่มไปแล้วเพราะมันไม่เดินตามแบบเศรษฐกิจเสรี ตลาดเสรี เห็นไหมพอมีไอที (IT - information technology) มันต้องเป็นไปแบบนี้

ในความหมายนี้ตลกดี ลองคิดดูบทบาทฐานะของสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ ในวิธีคิดแบบนี้มันคล้ายๆ God คือมันสามารถบงการทุกอย่างในโลก มันเหมือนเป็นพรหมลิขิต ในฉากนี้ทั้งหมดไม่มี subject เลย ไม่มีมนุษย์อยู่เลย มนุษย์ทำอะไรกับมันไม่ได้เลย อันนี้ผมดึงแง่คิดต่างๆ มาจากบทความของ Noam Chomsky อย่างเช่น "Power in the Global Arena" NlR 1/230, July-August 1998, 3-27

การก่อการร้ายสากล : โครงสร้างไม่เกี่ยว
ทีนี้ในแง่กลับกัน ปัญหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายสากล(International Terrorism) ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่หลังจากเหตุการณ์ 9/11 อัลเกด้าส่งพรรคพวกเข้าไปถล่มตึก World Trade Center. ถ้ามานั่งคิดดูวิธีและพยายามจะทำความเข้าใจปัญหา International Terrorism โดยเฉพาะที่มาจากผู้พยายามจะวางนโยบายในอเมริกา มันราวกับว่าปัญหา International Terrorism เป็น Subject without Structure คือมันไม่เกี่ยวกับโครงสร้างสักเท่าไหร่ มันมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อ แล้วถ้ามันเชื่อแบบนี้มัน evil แล้วคุณไม่มีทางที่จะไปปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอะไรให้มันดีขึ้นได้สักเท่าไหร่ ตราบใดที่คนแบบนี้มีความเชื่อแบบนี้อยู่

มันเชื่อในแนวคิดอิสลามแบบนี้ มีหัวรุนแรงแบบนี้ มันก็จะก่อการร้ายเรื่อยไป ดังนั้นวิธีการก็คือต้องทำลายมันให้หมด หรืออย่างน้อยกักกันมันไว้มิให้มันก่อเรื่องได้ อันนี้จึงเป็นที่มาของวิธีเข้าใจว่า ปัญหา International Terrorism มาจาก Axis of Evil แล้ววิธีการที่จะรบกับมันก็คือ คุณไม่สามารถที่จะดัดแปลงเงื่อนไขที่จะทำให้มันไม่เกิดได้ คุณได้แต่รบกับมันไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะหมด ดังนั้นมันจึงเป็น war without end ซึ่งในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญามนุษย์ war without end ที่มนุษย์เคยทำที่ผ่านมาก็คือ war without end กับ Satan
(Fred Halliday, Terrorism in Historical perspective" openDemocracy, 22 April 2004. www.openDemocracy.net)

เราเป็นแต่เพียงผู้เสพข่าวสาร รู้ว่าเกิดระเบิดที่นั่นที่บาหลี ระเบิดที่โน่นไม่รู้ว่าเกี่ยวโยงกับภาคใต้หรือเปล่า แล้วเราทำอะไรได้บ้างไหม อันที่จริงทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่นั่งดูระเบิดและการฆ่ากัน คือไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เลยที่บุคคลในทางสังคม ถูกทำให้รู้สึกว่าไร้อำนาจ (powerless) แบบนี้

สังคมศาสตร์มีวิกฤต : อะไรคือทางออก
ไม่ว่าต่อเบื้องหน้า Globalization หรือต่อเบื้องหน้า International Terrorism ก็ตาม เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย คือในความหมายนี้ผมรู้สึกว่า พูดได้ว่าสังคมศาสตร์มีวิกฤต คราวนี้ถ้าจะฝ่าวิกฤตนี้ออกไป มีลู่ทางอย่างไรได้บ้าง

คุณคงต้องพยายามอธิบายว่า อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามครั้งใหญ่ของมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๐ ในการบรรลุโครงการเปลี่ยนสังคมเหล่านั้น แล้วมันลงเอยเป็นโศกนาฏกรรมทุกที คุณต้องอธิบายมันได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่ให้กลายเป็นเรื่องของ Perversity กับ Futility (ความวิปริตและความเหลวเปล่า) ถ้าสังคมศาสตร์ไม่สามารถ come up หรือให้คำอธิบายที่เชื่อมโยงระหว่างความพยายามอย่างยิ่งใหญ่ของตัว ราคาแพงมากของตัว ใช้เทคโนโลยีเยอะแยะของตัว ใช้ความรุนแรงมากของตัว กับผลลงเอยที่เป็นโศกนาฏกรรมนี้ได้ สังคมศาสตร์ก็ไม่มีอนาคต เราก็กลับไปสู่ศาสนาดีกว่า เหมือนกับที่คนจำนวนมากกลับไปสู่ศาสนา

แล้วสมมุติว่าเชื่อมโยงตรงนั้นได้ จึงจะเริ่มการเรียนใหม่ เพราะว่าถ้าเชื่อมโยงตรงนั้นไม่ได้ ประทานโทษจะทำการเมืองไปทำอะไรครับ เพราะทุกครั้งที่ทำ มันเหมือนกับการไล่จับ Road Runner เพราะจับอย่างไรก็จับไม่ได้ จับอย่างไรก็เจ็บตัวทุกที


คลิกไปอ่านต่อบทความถอดเทปเกี่ยวเนื่อง 1057

 


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H

หรือพูดด้วยถ้อยคำของ Alain Badiou ซึ่งเป็นนักปรัชญาฝ่ายซ้ายมาร์กซิสท์ ว่า "The 20th century did not take place"นี่ไม่ใช่ความคิดเขา แต่นี่เป็นวิธีเข้าใจและเป็นวิกฤตของสังคมศาสตร์ในศตวรรษนี้ ตัวเขาอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับทัศนะนี้ สรุปก็คือ "The 20th century did not take place" ราวกับว่าคริสตศตวรรษที่ ๒๐ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเลย ราวกับว่าการ์ตูน Road Runner ทุกตอนไม่ได้เกิดขึ้นเลย เพราะว่ามันจบตอนหนึ่งแล้วขึ้นตอนใหม่ คือมันเริ่มต้นที่จุดเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง คือการวิ่งไล่จับ แล้วก็วิ่งหนีไปได้ตลอดโดยที่ไม่เคยจับได้ และลงเอยด้วยการเจ็บตัวทุกที พอขึ้นตอนที่สองก็เป็นเช่นดังเดิม ราวกับว่าคริสตศตวรรษที่ ๒๐ ไม่ได้เกิดขึ้นเลย

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น