บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๕๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙
30-10-2549



Anti - Coup d' atat
The Midnight University

อธิบายวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทยร่วมสมัย
วัฒนธรรมทีวีและวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียง
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมบทความของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

บทความอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัยนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์
เป็นผลงานของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ :
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ประกอบด้วย ๑. วัฒนธรรมทีวี และ ๒. วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพี้ยง

midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1054
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

 

วัฒนธรรมทีวีและวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียง (รวบรวมบทความการเมืองของนิธิ เอียวศรีวงศ์)
รวบรวมโดย : กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๑. วัฒนธรรมทีวี
หลายปีมาแล้ว เมื่อตอนจีนเพิ่งแง้มประตูออกสู่โลกภายนอก ผมได้มีโอกาสรู้จักกับศาสตราจารย์จีนท่านหนึ่งที่ญี่ปุ่น เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมบ้านกันเป็นเดือน ในสังคมที่พูดกับคนอื่นไม่ค่อยรู้เรื่อง เราจึงค่อนข้างใกล้ชิดสนิทสนมกัน

วันหนึ่ง ผมถือวิสาสะถามสิ่งที่ค้างคาในใจผมกับท่านว่า ความผันผวนทางการเมืองในจีนซึ่งทำให้วีรบุรุษและผู้ร้ายพลิกบทบาทกันไปมาในสายตาของสาธารณชน ซึ่งมีช่องทางของข่าวสารจากรัฐอยู่เพียงช่องเดียว วันนี้แก๊งสี่คนคือผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านประธานเหมา เป็นวีรบุรุษซึ่งต่อสู้กับพวกลัทธิแก้ อันมีผู้ร้ายชื่อ เติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นผู้นำ พรุ่งนี้ แก๊งสี่คนกลายเป็นอันธพาลที่ตั้งแก๊งขึ้นทำลายการปฏิวัติ เติ้งกลายเป็นวีรบุรุษ ท่านประธานกลายเป็นเทพเจ้า ซึ่งทำอะไรไม่ได้นอกจากรับการเซ่นไหว้ ทั้งๆ ที่ท่านเพิ่งสนับสนุนพระเอกอันได้กลายเป็นผู้ร้ายไปแล้วหยกๆ

ภาพที่ผันผวนอย่างนี้ คนจีนรับไปได้อย่างไร เพราะภาพที่ออกมาทางสื่อแก่ชาวโลก คนจีนเป็นนักดูละครเชื่องๆ ที่พร้อมจะเฮไปตามคิวที่เขาส่งให้เท่านั้นหรือ ท่านเงียบไปพักหนึ่ง แล้วก็ตอบด้วยเสียงที่ทำให้ผมรู้ว่าท่านใช้ความเงียบเมื่อครู่เพื่อระงับอารมณ์โกรธ(ผม) นั่นเอง ท่านพูดว่า คนจีนก็เป็นคนเหมือนกันในความหมายว่าไม่ได้กินแกลบ แล้วท่านก็ข่มอารมณ์อธิบายต่อว่า ถึงเรารู้ว่านี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนเลวหรือดีขนาดนั้น เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น

ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นได้เมื่อดูข่าวทีวีหลังการรัฐประหาร ต้องสารภาพว่าผมไม่ได้สนใจเนื้อหาของข่าวทีวีหรอกครับ ก็รู้อยู่ว่าข่าวทีวีเป็นอย่างไร แต่ผมอยากหาความสะใจจากการดูหน้าของโฆษก แล้วผิดหวังครับ ไม่ได้รับความสะใจที่ต้องการเลย

คืออย่างนี้ครับ ก็โฆษกเหล่านี้แหละทั้งหญิงและชาย ภายใต้รัฐบาลทักษิณ ได้ใช้เวทีข่าวสำหรับการประจบประแจงทักษิณและบริวารอย่างออกหน้าออกตา ก็จริงหรอกครับว่าเขาเป็นเพียง "นักแสดง" เพราะอ่านตามบทที่ฝ่ายข่าวเขียนมาให้ แต่เขา "แสดง" ได้ถึงใจกว่าบทมากมายนัก เพราะจะมีความเห็นสั้นๆ ตบท้ายข่าว หยอกล้อระหว่างกันเพื่อเสริมส่วนที่อยู่ "ระหว่างบรรทัด" ของบทให้ชัดเจนขึ้น บิดประเด็นของข่าวเกี่ยวกับฝ่ายต่อต้านทักษิณเสียด้วยคำพูดหรือท่วงท่าที่เหยียดให้ประเด็นนั้นไร้ความสำคัญ ฯลฯ

เลี่ยนครับ เลี่ยนจนผมสงสัยว่าคุณทักษิณเองอาจแอบอ้วกก็ได้

ผมก็อยากจะดูว่า พวกเขาจะใช้ลิ้นที่เพิ่งละเลงเกือกคู่เก่ามาละเลงเกือกคู่ใหม่ได้ฉับพลันอย่างไร คาดว่าหน้าตาของเขาคงแสดงความผะอืดผะอมน่าดู แล้วก็ผิดหวังอย่างว่าแหละครับ เกือกคู่ไหนๆ เขาก็ไม่เกี่ยง ยังคงเลี่ยนเหมือนเดิม

เช่น เมื่อรายงานข่าวปฏิกิริยาของประชาชนในกรุงเทพฯ ต่อการรัฐประหาร ฝ่ายข่าวก็พยายามให้ภาพของความเป็นมิตรระหว่างทหารและประชาชน มีคนอุ้มลูกจูงหลานไปถ่ายรูปร่วมกับรถถังเยอะแยะ แล้วโฆษกก็ตบท้ายว่าคนไทย "รู้รักสามัคคี" ก็เขาเพิ่งยึดอำนาจบ้านเมืองไปไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้นด้วยเหตุผลว่า เกิดความแตกแยกในบ้านเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แล้วจะมาพูดว่าคนไทย "รู้รักสามัคคี" กันโดยไม่หวั่นเลยว่าผู้ฟังจะเลี่ยนหูได้อย่างไร

คนไทยก็เป็นคนเหมือนกันนะครับ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็เพิ่งสำนึกได้ว่าที่ผมถามศาสตราจารย์จีนนั้นเป็นคำถามที่งี่เง่า ในความหมายที่ว่าไร้เดียงสามาก เพราะคนจีนก็เหมือนคนไทยเวลานี้ คือแยกได้ว่าข่าวในสื่อทุกชนิดย่อมเป็นเพียงบางมุมของสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ทำข่าวเลือกมาเสนอเท่านั้น จะเลือกด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ความงี่เง่านี้ไม่ได้มาเองตามธรรมชาติ (ผมหวังว่าอย่างนั้นนะครับ) แต่มีสาเหตุจากสภาวะทางการเมืองที่ต่างกันระหว่างจีนและไทยในช่วงนั้น

ในขณะที่จีนกำลังอยู่ในภาวะผันผวนทางการเมืองหลังปฏิวัติทางวัฒนธรรม การเมืองไทยกลับมี "เสถียรภาพ" กว่ากันมาก เสถียรภาพทางการเมืองของไทยไม่ได้หมายความว่าไม่เปลี่ยนรัฐบาลโดยการยึดอำนาจ แต่หมายความว่าอำนาจที่แท้จริงในการตัดสินทางการเมืองตั้งมั่นคงอยู่กับสถาบันเดียวคือกองทัพ นับตั้งแต่หลัง 2475 มาเลยก็ได้ แม้ว่าในภายหลังจะมีสถาบันอื่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ทั้งกองทัพและสถาบันอื่นมีความคิดทางการเมืองหลักๆ ไปในทางเดียวกัน และเสริมพลังกันและกันจนแยกออกจากกันไม่ได้ด้วย

สถาบันที่ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองร่วมกับกองทัพเข้ามาแทรกได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น สถานการณ์เพิ่งจะเริ่มเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดใน พ.ศ.2529 นี่เอง แม้ว่าจุดเริ่มต้นอาจย้อนกลับไปได้ถึง 2516 ก็ตาม ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงเติบโตมากับข่าวทีวีที่มีผู้อ่านหน้าตาขึงขัง พูดอะไรที่เป็นภาษาทางการเสียจนไม่มีใครอยากดู และในความเป็นจริงรายการข่าวก็เป็นรายการที่เด็กๆ ได้มีเวลาทำการบ้าน เพราะส่วนใหญ่แล้วจะปิดทีวีเสียเกือบทุกหลังคาเรือน

ทฤษฎีทีวีในตอนนั้นก็คือ คนอ่านข่าวต้องมีบุคลิกน่าเชื่อถือ ท่วงทำนองการอ่านก็ต้องเคร่งเครียดเพราะกำลังพูดความจริง เพื่อที่ว่าโฆษกจะได้ไม่ต้องย้ำว่าพูดจริงนะโว้ย ก่อนจบรายการ

ความเป็นรายการโฆษณาชวนเชื่อของข่าวทีวี ทำให้ผมเข้าใจผิดว่าคนไทยมีความคิดความเข้าใจที่สลับซับซ้อน (sophistication) ทางการเมืองเสียจนปิดทีวีหรือไม่ถือเนื้อหาของข่าวทีวีว่าสำคัญ ประหนึ่งว่ารู้เท่าทันสื่อ จนใจไม่ตามไปยกย่องคนที่ทีวียกย่อง หรือสาปแช่งคนที่ทีวีประณาม และด้วยเหตุดังนั้น การกระโดดโลดเต้นเชียร์พระเอกวันนี้ แล้วเชียร์ผู้ร้ายพรุ่งนี้ จึงเป็นการกระทำที่รู้เท่าทัน แต่ต้องทำตามใจผู้มีอำนาจ เพราะส่วนใหญ่ของการกระโดดโลดเต้นมักมีราชการเป็นผู้นำ เบื้องหน้าให้นายเห็นบ้าง เบื้องหลังให้นายรู้บ้าง ประชาชนผู้ดูทีวีถูกเกณฑ์ให้ไปกระโดดโลดเต้นตามเท่านั้น ผู้อ่านข่าวหน้าเครียดไม่สามารถสั่งใครได้จริง

และอันที่จริง ถึงจะกระโดดโลดเต้นต่างจังหวะจากเดิมอย่างไร ผู้ให้จังหวะก็เจ้าเก่า คือกองทัพที่อยู่กับการเมืองไทยมานานแล้วนั่นเอง

พระเอกผู้ร้ายในเมืองไทยไม่เปลี่ยนหน้ากันรวดเร็วนักในช่วงนั้นก็เพราะ "เสถียรภาพ" ทางการเมืองที่มาจากการผูกขาดอำนาจค่อนข้างเด็ดขาดของกองทัพ แล้วเลยทำให้ดูเหมือนคนไทยจะมีความคิดความเข้าใจทางการเมืองที่สลับซับซ้อน จนทำให้ผมมองไม่เห็นว่าคนจีนก็อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องกระโดดโลดเต้นไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเหมือนกัน ต่างกันแต่ว่าผู้มีอำนาจไม่ใช่สถาบันที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง อาจเปลี่ยนจากแก๊งหนึ่งไปยังอีกแก๊งหนึ่งได้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ข่าวทีวีซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้มีอำนาจใช้สำหรับการกำหนดจังหวะการกระโดดโลดเต้นของพลเมือง เป็นรายการที่ไม่ค่อยมีคนดู นั่นคือเหตุผลที่เมื่อจะเปลี่ยนจังหวะการกระโดดโลดเต้นแต่ละครั้งจึงต้องยกเลิกรายการปกติทั้งหมดเหลือเพียงรายการเดียว คือรายการจังหวะเสมอ

เราเคยนึกว่าที่คนไทยไม่ค่อยดูข่าว เป็นเพราะคนไทยไม่ "พัฒนา" แต่ที่จริงแล้วรายการข่าวทีวีมีปัญหาทั้งโลก กล่าวคือ หลังจากหมดเหตุการณ์น่าตื่นเต้นไปแล้ว (เช่น สงคราม) ก็ไม่ค่อยมีใครอยากดูนัก นักเล่นหุ้นอยากดูเฉพาะบางส่วน, ประชาชนทั่วไปอยากดูเฉพาะตอนผู้ร้ายจี้ตัวประกัน ฯลฯ "การแสดง" ของรายการข่าวทีวีจึงเปลี่ยนไป เพื่อเรียกคนดูให้ได้มากๆ ข่าวทีวีในเมืองไทยทุกวันนี้ที่ยังอ่านโดยโฆษกหน้าตายเหลือน้อยลง ส่วนใหญ่มักมีโฆษกสองคน และเพิ่มบทสนทนาหยอกล้อและหยอดท้ายระหว่างโฆษกทั้งสองเพื่อทำให้เพลิดเพลินยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ข่าวกุ๊กกิ๊กก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

ประสบความสำเร็จนะครับ เพราะดูจากโฆษณาที่สนับสนุนรายการข่าว ก็จะเห็นว่ามีเพิ่มขึ้น และมักเป็นสินค้าสำหรับคนชั้นกลางขึ้นไปด้วย แสดงว่าอย่างน้อยก็ประสบความสำเร็จในการดึงคนดูบางชั้นมาสู่ข่าวได้ แม้กระนั้น ข่าวก็ยังเป็นการกำหนดจังหวะการกระโดดโลดเต้นของสังคมอยู่ดี นักแสดงในรายการข่าวจึงต้องทำสามอย่างพร้อมกัน คือ ทำให้สนุก, ทำให้ตรงจังหวะ และทำให้น่าเชื่อถือ

สามอย่างนี้ขัดกันเอง เพราะทำให้ตรงจังหวะอาจทำลายความน่าเชื่อถือลงไป และผมออกจะเชื่อว่าคนดูข่าวทีวีส่วนใหญ่ไม่สนใจกับความน่าเชื่อถือของข่าวทีวีนัก แต่ดูเพื่อจะรู้ว่าผู้มีอำนาจกำหนดจังหวะอะไร แล้วไปคิดค้นต่อเอาเองว่าเขากำหนดจังหวะอย่างนี้เพื่ออะไร ด้วยเหตุดังนั้น รายการข่าวทีวีจึงมุ่งตอบสนองสองอย่างแรก คือสนุก กับตรงจังหวะ สองอย่างนี้สอดคล้องกันนะครับ เพราะถ้าไม่ตรงจังหวะ สถานี (หรือนายทุน-ผู้บริหาร) ก็จะถูกกลั่นแกล้งหรือปลดออก อันนี้ไม่สนุกแน่ครับ โฆษกหรือผู้แสดงในรายการข่าว ทำสองอย่างนี้ไม่สำเร็จก็ไม่สนุกเหมือนกันนะครับ

สรุปก็คือ รายการข่าวทีวีก็เป็นเพียงอีกรายการหนึ่ง ที่มุ่งจะให้ความบันเทิง อันเป็นสินค้าที่ทีวีขายหากำไร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบทางธุรกิจ ทั้งผลประโยชน์และผลประโยชน์บริษัท ที่จะต้องทำหน้าที่พ่อค้าให้ดีเท่านั้น และผมเชื่อว่า สังคมจะเรียนรู้เรื่องนี้ได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันตรายของข่าวทีวีที่ไม่ได้เสนอความจริงจึงลดลงไปพร้อมกัน (แต่อาจไปสร้างอันตรายอย่างอื่นแทนก็ได้ แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกัน)

คิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องขอลุแก่โทษกับโฆษกข่าวทีวีทั้งหลายด้วย ที่เคยไปรู้สึกสมเพชกับท่านทั้งหลายมาก่อน ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าท่านก็ทำงานตามหน้าที่ของท่านที่มีต่อบริษัทไปเท่านั้น เชิญเปลี่ยนไปตามสบายเลยครับ ผมเข้าใจ

๒. วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพี้ยง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (ซึ่งตอนที่เขียนบทความนี้ยังเป็น ผู้ว่าการธนาคารชาติ) กล่าวในการประชุม ซึ่งหอการค้าไทยจัดขึ้น ว่า "เศรษฐกิจพอเพียง...เป็นปรัชญามากกว่าวิธีการ" ผมเห็นด้วยเกิน 100% เลยครับ ที่ต้องเกินร้อย ก็เพราะเห็นยิ่งกว่านั้นอีกว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวัฒนธรรม คือมากกว่าปรัชญาด้วญซ้ำ กล่าวคือ ไม่ใช่แค่แนวคิดที่ตนเลือกปฏิบัติตาม แต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเอื้อให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเพียงปรัชญาที่ผู้คนเอาไปเขียนไว้บนเสื้อยืด โดยไร้ความหมายในชีวิตจริงตลอดไป

แน่นอนครับว่า มีบางคนที่อาจยึดถือ "ปรัชญา" แบบนี้ แล้วดำเนินชีวิตในเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแข็งขัน ท่ามกลางสังคมทุนนิยม-บริโภคนิยมที่เข้มข้นได้ อย่างเดียวกับที่มีฤษีชีไพร, ฮิปปี้ส์ และเดวิด โธโร ในสังคมอะไรก็ได้เสมอ

แต่การที่เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก (แม้เพียง 25%) ได้ก็ต้องมีสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคมเอื้ออำนวยให้เป็นไปได้ ผมคิดว่ามีโครงสร้างอย่างน้อยสี่อย่างที่เอื้อหรือค่อนข้างจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของเศรษฐกิจพอเพียง คือ

- โครงสร้างทางนิเวศน์
- โครงสร้างทางสังคม
- โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ
- โครงสร้างทางการเมืองของความพอเพียง

ทั้งหมดนี้ต้องการงานศึกษาอย่างจริงจังและลุ่มลึกทั้งนั้น ผมจึงขอพูดถึงอย่างหยาบๆ เพียงเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของโครงสร้างเหล่านี้กับเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น

ระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ลดต้นทุนการผลิตและให้ผลผลิตบางอย่างที่ไม่ต้องลงทุนเลย เช่น ป่าให้ความชุ่มชื้น และอาหาร ตราบเท่าที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรไม่จำเป็นต้องลงทุนกับเรื่องน้ำมากนัก และยังมีหลักประกันด้านอาหารและยาที่มั่นคงด้วย จึงง่ายที่จะมองเห็นว่ามีข้าวเกินยุ้ง ก็กินได้แค่อิ่มเดียวเหมือนกัน เช่นเดียวกับป่า น้ำดื่มที่สะอาด, ที่อยู่อาศัยซึ่งอากาศถ่ายเทได้ดี, สภาพการทำงานที่ปลอดภัย, เมืองที่ไร้มลภาวะ ฯลฯ ย่อมเอื้อต่อการใช้ชีวิตที่พอเพียงของกรรมกรอย่างแน่นอน

ในด้านโครงสร้างทางสังคมของความพอเพียง เรามักให้ความสำคัญเพียงอย่างเดียวกับสันตุฏฐิธรรม หรือรู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวมี ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจก ถ้าจะขยายไปถึงสังคมก็จะเน้นการต่อต้านวัฒนธรรมบริโภคนิยม สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญแน่ครับ แต่ผมคิดว่ายังไม่พอ เพราะถ้ามองจากปัจเจกด้านเดียว ย่อมยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่อย่างพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงนั้นตั้งอยู่บนฐานของชีวิตทางสังคม ไม่ใช่ปัจเจก ยกเว้นแต่เราทุกคนจะพากันไปบวชในนิกายสยามวงศ์หมด ซึ่งทำให้ไม่เหลือใครไว้ตักบาตรอีกเลย

ทั้งนี้ เพราะว่าในฐานะปุถุชน คนเราคงต้องการความมั่นคงในชีวิตอย่างน้อย 4 ด้านด้วยกัน คือความมั่นคงด้านอาหาร, สุขภาพ, ที่อยู่อาศัย, และความก้าวหน้า (ซึ่งต้องมีความหมายทั้งด้านที่เป็นวัตถุและด้านที่เป็นจิตวิญญาณด้วย ไม่อย่างนั้นก็ต้องตีกันตายเพื่อให้ได้มาซึ่งความก้าวหน้าทางวัตถุอย่างเดียว) แต่ทั้งสี่ด้านนี้อาจบรรลุได้ ไม่ใช่จากการกระทำของตัวคนเดียว แต่รวมถึงการกระทำของสังคมควบคู่ไปด้วย

ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายให้ดูเพียงบางด้าน ในอีสานสมัยโบราณ หากบ้านไหนประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในบางปี ก็จะออกไปขอทานข้าวจากบ้านอื่นมาประทังชีวิต การกระทำเช่นนี้เป็นไปตามประเพณี กล่าวคือ ผู้ให้ก็ถือเป็นหน้าที่ต้องทาน ผู้รับก็ถือเป็นหน้าที่ว่าต้องทำอย่างเดียวกันเมื่อบ้านอื่นประสบภัยพิบัติเหมือนกัน ฉะนั้น มองในแง่นี้ ความมั่นคงทางอาหารจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหมั่นเพียรทำกินของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเครือข่ายทางสังคมที่ช่วยรองรับวิกฤตได้ในบางปีด้วย

หรือในสังคมที่ไม่มีกฎหมายรองรับความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยเลย ชาวสลัมไม่มีวันนอนเป็นสุข เพราะไม่รู้ว่าจะถูกไล่รื้อเมื่อไร จำเป็นต้องหาช่องทางค้ายาม้าเพื่อเก็บเงินไว้สำหรับหาที่อยู่ใหม่ในคราวจำเป็น. เช่นเดียวกับชาวเขาซึ่งรู้เต็มอกว่าเขตอุทยานซึ่งประกาศทับที่ทำกินของตัว ทำให้ชีวิตหาความมั่นคงอะไรไม่ได้สักอย่าง จะมานั่งพอเพียงอยู่ไม่ได้ มีทางจะดิ้นให้หลุดจากความไม่มั่นคงนี้ด้วยวิธีใด ก็ต้องคว้าเอาไว้ ไม่ว่าจะขายตัว, ขนยาเสพติด, รับตัดไม้เถื่อน ฯลฯ ก็ต้องรับ

อำนาจทางการเมืองก็เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเรามีโครงสร้างทางการเมืองที่กระจุกอำนาจไว้ในคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น การเมืองก็กลายเป็นเรื่องได้-ได้หมด เสีย-เสียหมด เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นสิ่งที่คนเล็กๆ ต้องใช้เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ในขณะที่ถูกปล้นสะดมทรัพยากรที่ตัวมีอยู่หรือเข้าถึงไปทุกวัน ในที่สุดก็ไม่อาจ "พอเพียง" ต่อไปได้ ต้องไปตายดาบหน้าด้วยการแทงหวย, กู้หนี้ยืมสิน, หรือเมาเพราะจน-เครียด และก่ออาชญากรรม

โครงสร้างทางการเมืองที่จะเอื้อต่อเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องทำให้การเมืองเป็นการต่อรอง ยืดหยุ่น มีได้มีเสียกับคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มหนึ่งมีแต่ได้ กลุ่มหนึ่งมีแต่เสียตลอดไป ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือก (ไม่ใช่บังคับเลือก) ที่เป็นไปได้แก่คนที่อยากเลือก

ผมคิดว่าถ้าเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้แก่สังคมไทย ต้องกินความกว้างขวางกว่าปัจเจกหรือครอบครัว กล่าวคือ ต้องมีปัจจัยทางสังคมที่เอื้อให้เป็นได้ด้วย

และตรงปัจจัยทางสังคมนี่แหละครับที่ผมรู้สึกว่าได้รับความใส่ใจจากบุคคลและหน่วยงานที่ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่พอเพียง จนบางครั้งก็พูดกันง่ายๆ ว่าจะใช้เศรษฐกิจพอเพียงคู่ขนานกันไปกับเศรษฐกิจทุนนิยม-เสรีนิยม

ดังเช่นท่านผู้ว่าการธนาคารชาติ ก็บอกว่า การส่งออกจะยังเป็นหัวจักรดึงการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป เพียงแต่ว่าธุรกิจเอกชน (เหมือนครอบครัวและรัฐบาล) คือไม่ใช้จ่ายเกินตัวด้วยการขยายกำลังการผลิตเกินขีดความสามารถของตัว

ความรู้ของผมไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่า เราสามารถแยกวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงออกไปต่างหากจากระบบเศรษฐกิจโดยรวม, การเมืองโดยรวม, สังคมโดยรวม ฯลฯ หรือเอามันมาคู่ขนานกันเป็นสองระบบได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่ความรู้ของผมไม่พอคนเดียวนะครับ แต่ผมสงสัยว่าความรู้ของคนพูดแบบนั้นก็ไม่พอด้วย เพราะเราเอาแต่พูดพอเพียง-พอเพี้ยง โดยไม่ศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ให้ดี

ฉะนั้น ทุกครั้งที่ใครพูดคำว่าพอเพียงทีไร หูผมผ่าไปได้ยินพอเพี้ยงทีนั้น เหมือนจะเสกให้สังคมเป็นโน่นเป็นนี่ได้ด้วยการเอ่ยวาจาสิทธิ์คำเดียว อย่างเช่น หากบริษัทเอกชนไม่ขยายกำลังการผลิตเกินขีดความสามารถนั้นเป็นความพอเพียงจริงหรือ? นั่นเป็นคำสอนพื้นฐานของการบริหารธุรกิจอยู่แล้วไม่ใช่หรือครับ แต่ก็เหมือนคำสอนพื้นฐานทั่วไป คือถูกทุกทีจนใช้จริงในทางปฏิบัติไม่ได้

เนื่องจาก "ขีดความสามารถ" จะมีแค่ไหนนั้น ไม่ได้มีเส้นแดงขีดไว้ให้ แต่ต้องมาจากการวิเคราะห์ปัจจัยหลายอย่าง และขึ้นชื่อว่าวิเคราะห์แล้ว อย่ามาพูดเลยครับว่ามีใครทำได้อย่างเป็นภววิสัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเลขและความสัมพันธ์ของตัวเลขต่างๆ นั้นจะมีความหมายอย่างไร ผู้วิเคราะห์เป็นคนให้ทั้งนั้น ความโลภของผู้วิเคราะห์ก็อาจให้น้ำหนักแก่ความต้องการสินค้านั้นๆ ในตลาดไว้เกินกว่าความเป็นไปได้ จึงตัดสินใจขยายการผลิต

ในทางตรงกันข้าม ความขี้ขลาดของผู้วิเคราะห์ก็อาจให้ความสำคัญแก่ความต้องการของตลาดน้อยเกินไป จนตัดสินใจไม่ยอมกู้เงินเขามาขยายการผลิต ปรากฏว่าน้ำขึ้นเต็มตลิ่ง แต่บริษัทตักไม่ทัน จากบริษัทยักษ์ใหญ่กลายเป็นบริษัทคนแคระไปในพริบตา อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงนะครับ

เพราะการวิเคราะห์ขีดความสามารถของบริษัทในเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ใช่มาดูตัวเองเพียงคนเดียว แต่ต้องดูสังคมโดยรวม และว่าที่จริง ดูไปถึงดาวเคราะห์โลกทั้งใบเลย เพราะการผลิตอะไรก็ล้วนต้องอาศัยฐานทรัพยากรทั้งนั้น ขีดความสามารถในการผลิตจึงต้องเกี่ยวกับว่า การใช้ทรัพยากรนั้นๆ แล้วจะไปกระทบต่อคนอื่น ชีวิตอื่นอย่างไร ถ้าเพิ่มการใช้เข้าไปอีกจะกระทบอย่างไร ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะเป็นธรรมชาติหรือเป็นคนก็ตาม

อยู่ๆ คิดจะขุดแร่โพแทสใต้ดินมาใช้ก็เห็นมันนอนอยู่เฉยๆ ไม่มีใครใช้ ฉันจึงขอใช้โดยไม่ต้องคำนึงว่า แล้วกระบวนการนั้นจะไปกระทบต่อคนอื่นและชีวิตอื่นอย่างไร จะเรียกว่าวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร แม้ว่าบริษัทอาจไม่ได้ overexpand หรือขยายการผลิตเกินขีดความสามารถเลยก็ตาม

ฐานทรัพยากรคือฐานชีวิตของคนและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดนะครับ คุณทำลายมันแล้วดูแต่ว่าบริษัทไม่เจ๊งแน่ จึงไม่ใช่วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงแน่ เพราะอะไรหรือครับ? ก็เพราะว่าหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงคือการคิดถึงคนอื่น, สัตว์อื่น, และอะไรอื่นๆ ทั้งหลายนอกตัวเราออกไป รวมทั้งการคิดถึงพระเจ้าหรือพระนิพพานก็เป็นฐานสำคัญของวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน

แม้แต่เห็นด้วยกับผม ทั้งหมดที่ผมพูดถึงตรงนี้ก็เป็นแค่ฝอยน้ำลาย เพราะเอาไปปฏิบัติจริงไม่ได้ เช่น หากมีบริษัทใดที่คิดถึงฐานทรัพยากรในการวิเคราะห์ขีดความสามารถของตัว ปัญหาแรกที่ต้องเผชิญก็คือ จะไปหานักวิเคราะห์ดังกล่าวที่ไหน ด๊อกเตอร์ด๊อกตีนจากเมืองอเมริกาทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครเขาสอนให้คิดแบบนี้ มหาวิทยาลัยไทยก็ไม่ได้ผลิตบัณฑิตถึงดุษฎีบัณฑิตแบบนี้เหมือนกัน ฉะนั้น เราจึงไม่มีข้อมูลอะไรในมือพอที่จะเอาไปวิเคราะห์ได้ นั่งเก็บข้อมูลเดี๋ยวนี้ บริษัทก็เจ๊งเสียก่อนที่จะตัดสินใจได้

วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงจึงไปเกี่ยวกับอะไรที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวเลย คือการศึกษา ไม่ใช่สอนให้รู้จักความสันโดษอย่างเดียวนะครับ ยังต้องสอนทักษะในการสร้างความรู้ที่จะเอื้อต่อเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ผมจึงเชื่อว่า ตราบเท่าที่เราไม่มองให้รอบด้านอย่างนี้ วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นเพียงเศรษฐกิจพอเพี้ยงอยู่ตราบนั้น

มีประโยชน์สำหรับเป็นไม้กระดานสร้างเวทีหาเสียง ซึ่งก็ต้องรื้อลงเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จเสมอไป

 


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H
ในขณะที่จีนกำลังอยู่ในภาวะผันผวนทางการเมืองหลังปฏิวัติทางวัฒนธรรม การเมืองไทยกลับมี "เสถียรภาพ" กว่ากันมาก เสถียรภาพทางการเมืองของไทยไม่ได้หมายความว่าไม่เปลี่ยนรัฐบาลโดยการยึดอำนาจ แต่หมายความว่าอำนาจที่แท้จริงในการตัดสินทางการเมืองตั้งมั่นคงอยู่กับสถาบันเดียวคือกองทัพ นับตั้งแต่หลัง 2475 มาเลยก็ได้ แม้ว่าในภายหลังจะมีสถาบันอื่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ทั้งกองทัพและสถาบันอื่นมีความคิดทางการเมืองหลักๆ ไปในทางเดียวกัน และเสริมพลังกันและกันจนแยกออกจากกันไม่ได้ด้วย
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น