บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๐๔๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
21-09-2549

women's right
The Midnight University

การประชุมนานาชาติ ว่าด้วยผู้หญิงกับเหมืองแร่
ผู้หญิงกับนิยาย 'เหมืองแร่' ฉบับโลกาภิวัตน์
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
นักวิชาการอิสระ นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน

บทความที่ปรากฎบนหน้าเว็บเพจนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่ใช้แรงงานทั้งชายหญิงอย่างหนัก
โดยเฉพาะผู้หญิงภายใต้โลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ต้องได้รับการทนทุกข์อย่างแสนสาหัส
นอกจากประเด็นเพศสภาพแล้ว เหมืองแร่ยังนำมาซึ่งหายนะภัยของสิ่งแวดล้อมนานาชนิด
เพื่อกำไรของคนส่วนน้อยในยุคโลกาภิวัตน์
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 1042
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

 

ผู้หญิงกับนิยาย 'เหมืองแร่' ฉบับโลกาภิวัตน์
เขียนโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล - ๑๒ กันยายน ๒๕๔๙

ตัดต่อและเรียบเรียงจาก "Defending our lives Demanding our rights นิยาย 'เหมืองแร่' ฉบับโลกาภิวัตน์"
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร a day weekly ฉบับที่ ๒๔ ปี ๒๕๔๗


ความย่อ :
จากการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยผู้หญิงกับเหมือง ครั้งที่ 3 ที่เมืองวิชกาปัทนัม รัฐอันตระประเทศ ประเทศอินเดีย พบว่ามีชุมชนที่ต้องทนอยู่กับเหมืองอยู่ทั่วทุกมุมโลก เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง เช่น ในอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, แอฟริกา, ปาปัวนิวกินี, ออสเตรเลีย, และหลายประเทศในยุโรปตะวันออก ผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากชุมชนเหล่านี้ต่างพูดตรงกันว่า "พวกเขาโชคร้ายที่เกิดมาอยู่บนแผ่นดินที่มีทรัพยากรดีเกินไป"

ผลประโยชน์โลกาภิวัตน์ได้
ทุกวันนี้ พื้นที่ใหม่ ๆ และใหญ่กว่าเดิมแทบทุกมุมโลก ถูกแบออกให้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ควบคู่ไปกับการเติบโตของความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การเมืองระดับโลก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และบรรดานายหน้าการเงินต่าง ๆ หากพิจารณากันจริง ๆ จะพบว่า ผลกระทบอันเลวร้ายที่เกิดกับผู้หญิงจะหนักหนาสาหัสกว่ากลุ่มอื่น ๆ ยิ่งในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ด้วยแล้ว ดังนั้น การรวมกันสร้างเครือข่ายพันธมิตร เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และยุทธศาสตร์ เพื่อให้เสียงของผู้หญิงมีความหมาย เพื่อต่อต้านความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบ

"กรอบนโยบายทั้งระดับชาติและระดับโลกที่กำลังเร่งเปิดเสรีทางการค้า (Trade Liberalization) แปรรูปทรัพยากรให้เป็นของเอกชน (Privatization) และการลดกฎระเบียบ (Deregulation) ที่ถูกผลักดันและกดดันโดย ธนาคารโลก, ไอเอ็มเอฟ, ธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค, และได้รับการปฏิบัติอย่างเชื่อง ๆ โดยรัฐบาลของเรา เพื่อประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ และนายทุนในชาติ ได้ทำลายสิ่งจำเป็นร่วมกันของโลก, การพัฒนาของสังคม และสุขภาวะที่ดีของโลกใบนี้"

ประเทศแถบอเมริกาใต้หลายประเทศ ตัวอย่างของชุมชนที่จะเอาเหมือง เพราะเศรษฐกิจของประเทศทุกด้านถูกผูกติดกับการขุดแร่ขายมานานนับศตวรรษ ตั้งแต่เมื่อครั้งอาณานิคม จนไม่เหลือทางออกอื่นใดให้กับประชาชน โจทย์หลักที่กลุ่มอเมริกาใต้และคนที่เอาเหมืองต้องคิดก็คือ ทำอย่างไรให้เหมืองดีขึ้น และทำอย่างไรจึงสามารถแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรม

ในโบลิเวีย ประเทศเล็ก ๆ ที่เศรษฐกิจทั้งประเทศล้วนเกี่ยวเนื่องกับกิจการเหมือง ประชาชนลุกขึ้นมาต่อรองกับรัฐบาลให้ยกเลิกการให้สัมปทานกับเอกชนทั้งในชาติและต่างชาติ หลังจากสู้มานานนับปี ขณะนี้เหมืองทุกแห่งในโบลิเวียเป็นของสหกรณ์ชุมชน ที่มีการรวมตัวกันเป็นสหพันธ์ระดับชาติเพื่อต่อรอง ซึ่งผู้หญิงเป็นกำลังแข็งขันในการต่อสู้เพื่อสวัสดิการที่ดีขึ้นสำหรับคนงานเหมือง สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นสำหรับชุมชนรอบข้าง แม้ว่าคำว่า 'ดีขึ้น' ในที่นี้จะหมายความถึงการ 'ดีขึ้น' ตามอัตภาพรอบเหมืองก็ตาม แต่อย่างน้อยโบลิเวียก็เป็นตัวอย่างที่ดีกว่าในโคลัมเบียและเปรู ที่ยังมีการใช้กองกำลังกึ่งทหารไล่ฆ่า ไล่ฟัน คนที่คัดค้านเหมือง

คนทุกข์ก็โลกาภิวัตน์ได้เช่นกัน
เจ้าของเหมือง ไม่ว่านายทุนในชาติก็ต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันกำลังเบียดบี้ทุนในชาติอย่างขมีขมัน แม่น้ำหลายสายในปาปัวนิวกินี ไม่เหมาะสำหรับการกินการใช้อีกแล้ว สัตว์น้ำและคนที่อาศัยรอบอ่าวบูยัต ประเทศอินโดนีเซีย เริ่มมีปุ่ม หนอก และเนื้องอกผิดปกติ หากจะถามว่ารัฐบาลให้ความสนใจหรือไม่ แม้แต่แพทย์ในพื้นที่ยังให้ความเห็นว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ สภาพคงไม่ต่างจากชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และเหมืองคลิตี้ ที่จังหวัดกาญจนบุรี แต่ที่แย่ที่สุด เห็นจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในประเทศ เพราะชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวที่อินโดนีเซีย กำลังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทอเมริกัน ข่าวที่ยืนยันได้ก็คือ ทูตอเมริกันเข้าพบรัฐบาลอินโดนีเซียล็อบบี้เพื่อล้มคดี

กลุ่มสุดท้ายก็คือพวกไม่เอาเหมือง อย่างที่บอก อุตสาหกรรมเหมืองกำลังกระหายที่จะเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อทำกำไร หลายพื้นที่ที่มีความเป็นอยู่ดีอยู่แล้วกลับถูกตราหน้าว่าไม่พัฒนา ต้องเอาเหมืองเข้าไปเป็นเครื่องมือการพัฒนา แต่ข้อดีของโลกาภิวัตน์อยู่ตรงนี้ที่ว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไรที่ไหนในโลก ความเลวเหล่านั้นไม่มีวันปิดมิด ชุมชนต่าง ๆ มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกัน ไปลงพื้นที่ให้เห็นจริงว่า มีเหมืองแล้วดีจริงไหม ส่วนใหญ่กลับมาแล้วค้านหนักขึ้นกว่าเดิมทั้งนั้น เพราะไม่เคยมีที่ไหนในโลกที่มีเหมืองแล้วประชาชนเป็นสุข ผู้ร่วมประชุมจากอุดรธานีของไทย(กรณีเหมืองโปแตสฯ) ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ รวมทั้งหลายพื้นที่ของชนเผ่าในอินเดีย, ฟิลิปปินส์, และกรีซ

รูปแบบการต่อสู้ที่หยิบยกมาแลกเปลี่ยนกัน ก็มีตั้งแต่ใช้วิธีทางกฎหมาย สันติวิธี ใช้สาธารณชนกดดัน เล่นกับสำนึกของผู้บริโภค ไปจนถึงไม่สันติวิธี เช่น รุมกระทืบผู้นำชุมชนที่ไปรับสตางค์จากบริษัท หรือถึงขั้นจับอาวุธขึ้นสู้ก็มีไม่น้อย แต่นั่นก็สะท้อนว่า พวกเขาถูกบีบจนไม่เหลือทางเลือกแล้วจริง ๆ

เรื่องโกหกของเหมืองแร่ ๗ เรื่อง
ด้วยว่าเสียงของคนทุกข์แทบไม่มีใครได้ยิน ไม่ว่าเขาจะตะโกน หรือเอาความทุกข์ที่เป็นรูปธรรมมาเป็นหลักฐานเท่าไรก็ตาม พวกเขาจึงต้องมารวมตัวกัน สาเหตุสำคัญก็คือ รัฐและนายทุนมีความพยายามอย่างแข็งขันที่จะสร้างเรื่องโกหกให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า เหมืองแร่จำเป็นและดี ซึ่งส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่า การโกหกนี้ประสบความสำเร็จมาก จนกลบเสียงคนทุกข์ได้เกือบหมด ลองไปสำรวจดูว่า เรื่องโกหกของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ 7 ประการมีอะไรกันบ้าง

1. เหมืองเป็นแค่เรื่องการขุดแร่ธาตุเท่านั้น
ขณะนี้มีบริษัทอุตสาหกรรมเหมืองแร่จำนวนมากที่ไม่ได้ทำเหมืองเลย แต่ต้องการใบประทานบัตรไปเพื่อปั่นราคาหุ้น แล้วขายต่อ อย่างเช่น การทำธุรกิจของบริษัทเอนรอน (Enron) ที่เพิ่งล้มละลายไป เอนรอนไม่ใช่บริษัทผลิตไฟฟ้า แต่เป็นบริษัทที่ลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเชี่ยวชาญในหุ้นกลุ่มพลังงาน นั่นแหละคือรูปแบบที่กำลังพูดถึงอยู่ บางบริษัทก็อาจจะทำเหมืองจริง แต่ทำเพราะว่า รัฐบาลส่วนใหญ่จะให้การอุดหนุน เช่น การลดภาษีศุลกากร จึงอาศัยใช้การอุดหนุนเหล่านั้น มาลดค่าใช้จ่ายของตัวเอง ถึงที่สุดแล้วพอราคาแร่ต่ำลง หรือไม่ก็โกยพอแล้ว บริษัทพันธุ์นี้จะเปิดแน่บทิ้งเหมือง ให้เป็นภาระของชุมชนนั้น ๆ ไป

มองในแง่ที่กล่าวมา น่าแปลกที่รัฐบาลประเทศร่ำรวยและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ มักแนะนำให้รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลาย ยกเลิกกฎระเบียบต่าง ๆ ในการควบคุมเหมือง ในนามของการเปิดเสรีการลงทุน และหันไปให้การอุดหนุนการทำเหมือง เช่น ให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ (แบบว่า เชื้อเชิญกันสุด ๆ) น่าแปลกที่คนพวกนี้ไม่เคยคิดสนับสนุนหรืออุดหนุนการรีไซเคิล แม้แต่ประเทศร่ำรวยสัดส่วนการอุดหนุนการรีไซเคิลก็ต่ำมาก ทั้งที่จริง หากได้รับการอุดหนุนและส่งเสริมในจำนวนเท่า ๆ กัน เราอาจไม่จำเป็นต้องขุดมากมายขนาดนี้ เพราะสามารถนำทรัพยากรแร่ธาตุหลายอย่างกลับมาใช้ใหม่ได้

2. เหมืองมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ภาษาฝรั่งก็ต้องเรียกว่า "แค่ฝากรอยเท้าเล็กๆ ไว้บนผืนโลก" อันนี้ถือว่าเป็นการโกหกคำโตทีเดียว เพราะการทำเหมืองไม่ใช่แค่เจาะลงไปท่อหนึ่ง แล้วก็ขุดแร่ธาตุออกมาโดยที่สามารถฟื้นฟูพื้นที่ให้เหมือนเดิมได้ไม่ยากนัก เพราะความเป็นจริงแล้ว การทำเหมืองนอกจากตัวเหมืองยังมีถนนเชื่อมต่อ ที่ต้องตัดป่า ผ่าภูเขา กากหางแร่ สารเคมีที่ใช้ในการแต่งแร่ แม่น้ำไม่รู้กี่สาย ทะเลกี่แห่ง ที่อยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ การปนเปื้อนสารพิษ ที่ปาปัวนิวกินี ยันไปถึงเซียรา ลีออง บอกว่า ทุกข์มากที่มีเพชรและทองในผืนดิน

เหมืองแร่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง เพราะใช้น้ำในทุกกระบวนการ โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้น้ำใต้ดินลดลง แหล่งน้ำเสียหาย และปนเปื้อนมลพิษ ที่สำคัญที่สุด เหมืองแร่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน เพราะใช้พลังงานในการขุดและแต่งแร่ การผลิตอลูมิเนียม 1 ตัน ผลิตก๊าซเรือนกระจกถึง 4 ตัน, เหล็ก 1 ตัน ผลิตก๊าซเรือนกระจก 0.8 ตัน

เมื่อโลกร้อนขึ้น อากาศไม่เพียงร้อนขึ้น แต่แปรปรวนอย่างหนัก ปีที่แล้วยุโรปเผชิญอากาศร้อนสูงสุดในรอบ 250 ปี มีประชาชนจำนวนมากตายเพราะคลื่นความร้อน ในสหรัฐอเมริกาเกิดพายุทอร์นาโด ในอินเดียและจีน เกิดน้ำท่วมหนักยาวนาน จนประชาชนล้มตายและไร้ที่อยู่อาศัยนับล้านคน

3. ชุมชนอยากได้เหมือง
ข้ออ้างนี้มักเป็นข้ออ้างที่ใช้อย่างแพร่หลายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลและบริษัทเจ้าของเหมือง ส่วนใหญ่จะอ้างว่ามี "การหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว" แต่หากไปดูประสบการณ์ทั่วโลกจะพบว่า มีทั้งแบบใช้เหล้ายาปลาปิ้งเข้าไปซื้อผู้นำชุมชน ส่วนใหญ่ผู้ชายจะถูกซื้อง่ายกว่าผู้หญิง เพราะใช้การจ้างงานเป็นแรงจูงใจ

ความแตกแยกในชุมชนเป็นข้อพิสูจน์อย่างดี บางส่วนอาจ 'หารือ' แบบหนักมือหน่อย เช่น เริ่มจากการข่มขู่ ลอบทำร้าย และยิงทิ้ง อย่างนี้หรือที่เรียกว่าการหารือ ไม่มีแม้แต่ข้อมูลของโครงการ หากมีข้อมูลให้ก็ให้ไม่ครบ บ้างก็ให้แบบปิด ๆ บัง ๆ "รัฐบาลกับบริษัท เขาคิดเขาทำเหมือนกันทั่วโลกเลย" แม่ใหญ่จากอุดรธานี ถอนหายใจเมื่อได้ฟังเรื่องราวจากประเทศต่าง ๆ

อุตสาหกรรมเหมืองทุ่มเงินจำนวนมาก ไม่ใช่เพื่อเตรียมชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ หรือทำแผนรองรับความเสียหาย แต่เงินส่วนใหญ่ทุ่มไปกับการจ้างบริษัทโฆษณาประชาสัมพันธ์ เลี้ยงดูปูเสื่อสื่อมวลชนและข้าราชการ และอีกหลายประเทศที่ใช้จ้างทหาร ตำรวจ หรือกองกำลังรับจ้างออกไปทำร้ายชาวบ้าน ประสบการณ์จากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และโคลัมเบีย มีนับไม่ถ้วน แล้วอีกส่วนก็ทุ่มสำหรับการล็อบบี้ในขั้นต่าง ๆ ในแคนาดา มีพวกที่ทำงานด้านล็อบบี้เรื่องเหมืองอย่างเดียว ถึง 120 คน

4. รัฐบาลจะปกป้องพวกเรา
มีกฎหมายและกฎระเบียบที่จะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบอยู่แล้ว คำโกหกข้อนี้เป็นการสร้างฝันโดยแท้ เพราะในความเป็นจริง ตั้งแต่เมื่อปี 2535 ธนาคารโลกบังคับ 70 กว่าประเทศทั่วโลก ให้เปลี่ยนกฎหมายของตัวเองเพื่อเปิดรับการทำเหมืองโดยต่างชาติแบบเสรี. ฟิลิปปินส์ เป็น 1 ใน 70 กว่าประเทศนั้น กฎหมายแร่ ปี 2538 เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและเอากำไรกลับไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม โดยไม่ต้องเหลืออะไรไว้ให้ประเทศเจ้าของทรัพยากรเลย ขณะที่กฎหมายถูกแก้เสียจนรัฐบาลไม่สามารถดูแลประชาชนได้ ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ พื้นที่กว่าครึ่งของฟิลิปปินส์ ถูกออกประทานบัตรให้แก่ต่างชาติทำการขุดได้ทันที

ปี 2543 อุตสาหกรรมเหมืองแร่เริ่มรวมตัวเป็นสมาคมระดับโลก ทำเอกสาร Global Mining Initiative เสนอในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในปี 2545 ให้ช่วยยืนยันและสนับสนุนว่าเหมืองเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นทางเลือกของการพัฒนา และยังช่วยความหลากหลายทางชีวภาพด้วย น่าตกใจและเหลือเชื่อที่ว่า ในที่สุดผลการประชุมก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ตอนนี้กลุ่มอาเซียนก็อ้างเรื่องนี้ แล้วจะมาทำโครงการ Partnership Initiative เพื่อสานฝัน 'การพัฒนาที่ยั่งยืน'

ข้างฝ่ายประชาชนที่ต้องทนทุกข์จากเหมือง ก็พยายามกดดันให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิสูจน์ความจริงว่า เหมืองมันดีหรือเลวกันแน่ เอาแค่ในส่วนที่ธนาคารโลกไปสนับสนุนการลงทุน ก็ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวที่เรียกว่า Extractive Industrial Review ที่ใช้ระยะเวลาศึกษานาน 1 ปีเต็มจากผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่าย ชี้ชัดถึงความเลวร้ายของเหมือง และสรุปด้วยว่า เหมืองแร่ไม่ใช่ทางออกของการพัฒนา แต่สุดท้ายตอนจบก็เป็นแบบที่ทุกคนพอเดากันได้ ธนาคารโลกไม่รับรายงานฉบับดังกล่าว

5. ชุมชนรอบข้างจะได้ผลประโยชน์
หากใครมาพูดโกหกแบบนี้กับคุณ ช่วยถามกลับไปทีว่า ใครได้ประโยชน์กันแน่ ตัวอย่างจากแคนาดา ประเทศพัฒนาแล้วที่มีเหมืองแร่จำนวนมาก แต่มีประชากรอยู่น้อย ประชากรในพื้นที่เหมืองก็เป็นอินเดียนแดงที่รัฐบาลไม่อยากดูแลอยู่แล้ว ซึ่งตัวเลขทั้งประเทศมีการจ้างงานในภาคนี้น้อยกว่า 23,400 คน ทั้งในเหมืองและโรงแต่งแร่ อีกทั้งเหมืองมีอายุแค่ 10-15 ปี

ทีแรกก็พอให้ชุมชนพึ่งพาอาศัยทางเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ขณะเดียวกันเหมืองก็จะสร้างผลกระทบจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้ เช่น เกษตรกรรม ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เรียกได้ว่าปิดทางเลือกอื่นจนหมด แต่พอแร่ธาตุน้อยลงหรือไม่คุ้มที่จะขุด บริษัทก็จะทิ้งเหมือง เมืองถูกทิ้งมีสภาพไม่ต่างจากเมืองร้าง ไม่มีทางเลือกหรือทางออกเหลือให้กับประชาชน

จากข้อมูลพบว่า ปีที่แร่ราคาสูงสุด อุตสาหกรรมเหมืองจ่ายภาษีให้กับประเทศแคนาดาแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรมทั้งหมด จ่ายให้รัฐบาลกลาง 251 ล้านเหรียญแคนาดา จ่ายให้รัฐบาลท้องถิ่น 147 ล้านเหรียญแคนาดา แต่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลในแต่ละปี ไม่ต่ำกว่า 510 ล้านเหรียญ ไม่นับค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องเสียไปกับการฟื้นฟูสภาพเหมืองที่ถูกทิ้งกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ

6. เราต้องการทรัพยากรแร่ ฉะนั้นต้องขุดใหม่
มีแร่จำนวนมากที่ควรอนุรักษ์ รีไซเคิล และบางอย่างควรนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะแร่สำคัญหลายตัวถึงนำกลับมาใช้ใหม่ก็ยังมีคุณภาพดีไม่ต่างกับแร่ที่ขุดใหม่ โดยเฉพาะแร่โลหะ และยังลดการใช้พลังงานได้อย่างมาก เช่น สังกะสีที่นำกลับมาใช้ใหม่สามารถลดการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับการขุดใหม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์, เหล็ก 74 เปอร์เซ็นต์, อลูมิเนียม 95 เปอร์เซ็นต์, นี่ยังไม่นับรวมตัวเลขของการลดใช้น้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งลดจำนวนคนตาย คนเจ็บป่วยจากการทำเหมือง

งานวิจัยของสถาบันเพื่อการศึกษาการใช้จ่ายงบประมาณจากแคนาดาชี้ว่า ระบบภาษีเอาอกเอาใจการใช้แร่ใหม่ มากกว่าที่จะให้นำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ และนโยบายของรัฐจำนวนมากยังมีอคติต่อการรีไซเคิลด้วย และถ้ายังจำกันได้ โฆษณาประชาสัมพันธ์นี่แหละเป็นตัวการในการโหมการใช้แร่. งานวิจัยชี้ว่า ถ้าการอุดหนุนเปลี่ยนไปที่การฟื้นฟูเหมืองและการรีไซเคิล แทนที่จะอุดหนุนการขุดแร่ใหม่ โลกจะมีโฉมหน้าที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

7. เหมืองแร่น่าจะทำได้สำหรับบางที่ แต่ไม่ใช่ที่นี่
นี่คือการสร้างความเป็นอื่นที่ชัดเจนที่สุด เราอาจนึกในใจว่าเหมืองไม่ควรอยู่ในป่าที่มีลักษณะเป็นป่าทึบ แต่ไม่คิดว่าถ้ามันอยู่ในชุมชนล่ะ ไม่ใช่บ้านคุณก็เป็นไปได้ใช่ไหม แต่จะเป็นบ้านใครก็ช่าง เป็นการแยกความเป็นเขาเป็นเรา ทำนองว่า น่าจะมีคนต้องเสียสละบ้าง แต่ไม่ใช่เรา มันทำให้สังคมอ่อนแอ ทั้งๆ ที่เราน่าจะร่วมกันทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีความรับผิดชอบต่อสังคมจริงๆ มากกว่านี้ได้

ขอจีนและอินเดียบริโภคมั่ง
เท่าที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ชุมชนต่างๆ ทั่วโลกก็ต้องผจญกับอะไรต่อมิอะไรมากมายแล้ว แต่นั่นยังไม่ใช่ความขนหัวลุก ปัจจัยใหม่ที่ดูน่ากลัวที่สุด และเสมือนไร้การควบคุมคือการลุกขึ้นมาบริโภคของจีนและอินเดีย เคยมีงานวิจัยระดับโลกชิ้นหนึ่งระบุว่า คนอเมริกันบริโภคเกินขนาดมากที่สุดในโลก หากให้คนทุกคนบริโภคเท่าคนอเมริกัน จะต้องใช้ทรัพยากรโลกอีก 3-5 ใบมารองรับการบริโภคที่บ้าคลั่งเช่นนี้ได้

จากตัวเลขที่ค่อนข้างเก่าในปี 2542 ไทย มีประชากรประมาณ 61 ล้านคน ใช้พลังงานประมาณ 83,991 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งตัวเลขในปีนี้น่าจะอยู่ที่กว่า 90,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง, สหรัฐอเมริกา มีประชากรประมาณ 278 ล้านคน ใช้พลังงานประมาณ 3.45 ล้านล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง, ญี่ปุ่น มีประชากรประมาณ 126 ล้านคน ใช้พลังงานประมาณเฉียด 1 ล้านล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง, จีน มีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน ใช้พลังงานประมาณ 1 ล้านล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง, อินเดีย มีประชากรประมาณ 1,000 ล้านคน ใช้พลังงานประมาณ 424,032 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง "ข่าวร้ายคือ เรากำลังอยู่ในภาวะที่ต้องหาโลกอีก 3-5 ใบมารองรับการลุกขึ้นมาบริโภคของ 2 ยักษ์ใหญ่นี้"

ถนนในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ขณะนี้มีสภาพไม่ต่างกับพระราม 4 สีลม ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนแทบกลายเป็นลานจอดรถเฉย ๆ ไปเลย แค่ในปักกิ่งมีรถยนต์ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคัน ทั่วทั้งประเทศมีรถส่วนบุคคลประมาณ 10 ล้านคัน ในปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 120 ล้านคัน(เท่านั้นเอง)

จีนกำลังกลายเป็นผู้บริโภคทรัพยากรหลักของโลก เช่น เหล็ก, น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, แร่โลหะ, ทองแดง, อลูมิเนียม, ปูนซีเมนต์, ไฟฟ้า, น้ำ, สารเคมี, ทำให้จีนต้องเร่งไปขุดทรัพยากรของเพื่อนบ้าน จากการนำเสนอของหลายประเทศ เช่น ไทย, ฟิลิปปินส์, และพม่า, เหมืองแย่ๆ โทรมๆหลายโครงการที่กำลังจะล้มละลาย ฟื้นขึ้นมาเดินหน้าบดบี้ประชาชนในท้องถิ่นได้ เพราะได้รับคำสั่งซื้อแร่จากจีน เช่นกรณีพม่า รัฐคะฉิ่นที่อยู่ติดชายแดนมณฑลยูนาน มีสภาพไม่ต่างจากเมืองจีน นักธุรกิจจีนมีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลทหาร สามารถขุดได้โดยไม่ต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม บางแห่งมีรายงานการใช้แรงงานทาส

สำหรับอินเดีย จากเวบไซต์ของกระทรวงถ่านหินและพลังงานของอินเดีย ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญและมีเหลือเฟือในอินเดีย คิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ เป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมของประเทศ ขณะนี้ การบริโภคพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นปฐมภูมิ เพิ่มขึ้น 700 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 40 ปี คนอินเดียต่อหัวต่อคนใน 1 ปี ใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นปฐมภูมิ เทียบเท่ากับ 350 พันตันน้ำมันดิบ และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 450 พันตันน้ำมันดิบต่อหัวต่อปี ในปี 2553 และคาดว่าอินเดียจะเพิ่มการใช้ไฟจาก 100,000 เมกกะวัตต์ เพิ่มเป็น 380,000 เมกกะวัตต์ ต้องใช้ถ่านหินถึง 1,300 ล้านตัน ฉะนั้นหน้าที่ของบริษัทจึงต้องเร่งผลิต

การเร่งการผลิตที่เห็นคือ มีการผุดโครงการใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย บางพื้นที่ขุดแบบใต้ดินแล้วก็มีขุดบนดินอีกเพื่อกวาดให้เกลี้ยง โครงการที่กำลังเป็นคดีความกันอยู่แบบละเมิดรัฐธรรมนูญก็คือ การขุดแร่ยูเรเนียมอ้างว่าเพื่อใช้พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ อีกโครงการที่น่าหวาดเสียวไม่น้อยคือ การกวาดพื้นทะเล ลอกปะการังออก ตั้งแต่ช่องแคบระหว่างศรีลังกาขึ้นไปจนเกือบถึงบังคลาเทศ เพื่อการเดินเรือทะเล (คนไทยคงต้องเงี่ยหูฟังโครงการนี้ให้ดี เพราะทุกวันนี้ อาหารทะเลของเรามาจากพื้นที่แถบนั้นทั้งหมด หลังจากที่เรากวาดจนเกลี้ยงอ่าวไทยไปแล้ว)

พร้อมแล้วหรือ สำหรับหายนะร่วมกันของโลก
คำถามก็คือว่า โลกพร้อมแล้วใช่ไหมที่จะเผชิญแนวโน้มแบบนี้ เราจะปล่อยให้แนวโน้มของโลกเป็นแบบนี้ใช่ไหม คนรวยก็ไม่รอด คนจนก็ไม่รอด หรือว่า...เราจะหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ฉะนั้นข้อสรุปจากที่ประชุมนานาชาติว่าด้วยผู้หญิงกับเหมืองครั้งที่ 3 เห็นว่า สำนึกของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักว่าเราบริโภคเกินจำเป็นหรือไม่

หากจะมีการทำเหมือง การทำเหมืองที่น่าจะเป็นไปได้ ต้องมีขนาดไม่ใหญ่มากเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม ชุมชน วัฒนธรรม การทำโครงการเหมืองแร่ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ชุมชน ต้องได้รับข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง รวมทั้งแผนประเมินความเสี่ยง และมีสิทธิชี้ขาดหลังการพิจารณาข้อมูลแล้วว่าจะให้ทำหรือไม่

บรรษัทเหมืองที่เคยมีประวัติเสียหายจากที่อื่น ไม่มีสิทธิได้รับอนุญาตทำเหมืองอีกจนกว่าจะฟื้นฟูของเก่าให้ดีเสียก่อน ต้องมีแผนปิดเหมืองให้พิจารณาก่อนตั้งแต่เริ่มสร้าง บริษัทต้องวางเงินสดในบัญชีธนาคารเทียบเท่าเงินที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูบวกอีก 15 เปอร์เซ็นต์ และจะต้องมีการทบทวนแผนฟื้นฟูทุก 5 ปี ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับคนงานเหมืองและชุมชนรอบข้าง

เหมืองแร่เป็นไปเพื่อกำไรของคนเพียงส่วนน้อย โดยให้แรงผลักดันทางการตลาดให้ผู้บริโภคเร่งบริโภคมากขึ้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง หลายประเทศที่มีเหมืองมาก ๆ มีตัวเลขการพัฒนาในระดับเลวร้ายที่สุด ผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อของสังคมที่ต้องการบริโภคสินแร่ต่าง ๆ ค่าของแร่ในตลาดโลกไม่ได้รวมค่าความเป็นมนุษย์ที่มันได้ทำลายลงไป สังคมถูกทำให้เชื่อแบบผิด ๆ ว่าโลกจะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีการทำเหมืองขนาดใหญ่เพื่อขุดแร่ธาตุมาบริโภคกันอย่างเต็มที่

เราขอต่อต้าน ระบบเศรษฐกิจและกระบวนการ ที่กำลังเร่งเปิดเสรีทางการค้า (Trade Liberalization) แปรรูป (Privatization) และการลดกฎระเบียบ (Deregulation) เพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุของเรา เราขอท้าทาย กระบวนทัศน์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนของบรรษัทข้ามชาติที่สมคบกับรัฐบาลของเรากำลังหยิบยื่นเหมืองแร่ให้เกิดขึ้นในชุมชนของเรา

เราโกรธแค้นที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ระดับโลกกำลังกดดันให้รัฐบาลของเรา ซึ่งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาแก้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายสวัสดิการสังคมต่าง ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เข้าไปกอบโกยทรัพยากรสะดวกยิ่งขึ้น กระบวนการนี้มีสถาบันการเงินระหว่างประเทศและธนาคารต่างๆ สมคบด้วย

"ท้ายนี้เราหวังว่า รัฐบาล, อุตสาหกรรม, องค์กรระดับโลก, และผู้บริโภค, จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้หญิงในโลกใบนี้ที่ถูกทำร้ายโดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่"

เพราะ "เมื่อประชาชนรวมตัวกัน เราจะไม่มีวันพ่ายแพ้" (When People United, We Never Be Defeated)

++++++++++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

- คำประกาศ เอกสารและข้อมูลในการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยผู้หญิงและเหมือง ครั้งที่ 3 ที่เมืองวิชากาปัทนัม รัฐอันตระประเทศอินเดีย
ระหว่างวันที่ ๑-๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๗ ซึ่งสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่
http://www.mmpindia.org
http://iwam.net
http://www.jatam.org และ
http://www.mineandcommunities.org

- Mining Myths โดย Joan Kuyek ผู้ประสานงานในประเทศของ Mining Watch ประเทศแคนาดา http://www.miningwatch.ca

- ๒๕ ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ๒๐๐๓-๒๐๐๔ โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ a day weekly ฉบับที่ ๒๒

- หนังสือพิมพ์มติชน และกรุงเทพธุรกิจ


 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1000 เรื่อง หนากว่า 17000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

H
ทุกวันนี้ พื้นที่ใหม่ ๆ และใหญ่กว่าเดิมแทบทุกมุมโลก ถูกแบออกให้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ควบคู่ไปกับการเติบโตของความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การเมืองระดับโลก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และบรรดานายหน้าการเงินต่าง ๆ หากพิจารณากันจริง ๆ จะพบว่า ผลกระทบอันเลวร้ายที่เกิดกับผู้หญิงจะหนักหนาสาหัสกว่ากลุ่มอื่น ๆ ยิ่งในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ด้วยแล้ว ดังนั้น การรวมกันสร้างเครือข่ายพันธมิตร เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และยุทธศาสตร์ เพื่อให้เสียงของผู้หญิงมีความหมาย เพื่อต่อต้านความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบ
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R