Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

การเมืองและเรื่องพระพุทธศาสนา
พรรคมลายู ครูจูหลิง และพุทธศาสนาถูกท้าทาย
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว ประกอบด้วย
๑. พรรคการเมืองของชาวมลายู
๒. สื่อกับโครงสร้างแห่งความรุนแรง (กรณีครูถูกทำร้าย)
๓. พุทธศาสนาไทยกับความท้าทายใหม่

บทความแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างอำนาจแทนตน(representation)ได้ในหลายรูปแบบ
เรื่องที่สองเกี่ยวกับกรณีครูถูกทำร้าย ซึ่งสื่อเพียงรายงานแง่มุมของเหยื่อ โดยไม่สนใจปัญหาความรุนแรงระดับโครงสร้าง
ส่วนเรื่องที่สามเกี่ยวกับองค์กรพระพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทย
ยังไม่อาจเผชิญหน้ากับความท้าทายของโลกสมัยใหมภายใต้ลัทธิบริโภคนิยมได้

midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 939
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)

 



พรรคมลายู ครูจูหลิง และพุทธศาสนาถูกท้าทาย
รวมบทความของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : โดยกองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน

1. พรรคการเมืองของชาวมลายู
พรรคพวกที่ปัตตานีชวนคุยว่า ประชาชน (จำนวนหนึ่ง) ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่อยากเลือกทั้งพรรคไทยรักไทย และประชาธิปัตย์ จึงจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ของตนเอง เรียกชื่อว่าพรรคมุสลิม เขาถามผมว่าคิดอย่างไร? ผมก็ตอบเขาว่าทำไมไม่ตั้งชื่ออย่างตรงไปตรงมาว่าพรรคมลายู (หรือจะเป็นชื่ออื่นที่ให้ความหมายเดียวกัน เช่น พรรคออแฆนายู) เพราะนั่นคือตัวประเด็นปัญหาทั้งหมดที่อยากจะตั้งพรรคการเมืองของตัวขึ้นมา ก็อย่างที่กลายเป็นข่าว และผู้สื่อข่าวก็รายงานได้เที่ยงตรง ผมเองต่างหากที่ไม่ได้อธิบายความคิดของตัวมากไปกว่านั้น

มุสลิมส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่นอกเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเขาไม่รู้สึกว่าเขาขาด representation หรือขอใช้คำไทยของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ว่า "อำนาจแทนตน" ในระบบการเมืองไทยเหมือนพี่น้องในสามจังหวัด ผมจึงไม่เชื่อว่าชื่อพรรคใหม่ว่า "มุสลิม"จะดึงการสนับสนุนจากเขาได้ อย่างไรก็ตาม ความคิดของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่อยากจะมี "อำนาจแทนตน" ในระบบการเมืองไทยนั้น แสดงให้เห็นอะไรอยู่สองสามอย่างที่น่าสนใจ

ประการแรก ก็คือ แสดงว่าเขาอยาก "แทนตน" ในระบบการเมืองไทยนะครับ แปลว่าเขารู้สึกว่าอนาคตของเขาผูกอยู่กับระบบการเมืองนี้ และเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองนี้ จึงต้องการปรับเปลี่ยนมันให้ตอบสนองความต้องการของเขา ตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญไทยเปิดไว้ให้

ประการที่สอง
การที่อยากมี "อำนาจแทนตน" ก็แสดงว่าเขาไม่มี "อำนาจแทนตน" อยู่ในเวลานี้ อย่างน้อยก็ในหมู่คนที่อยากตั้งพรรคการเมือง หรืออย่างน้อยคนกลุ่มนี้ต้องคิดว่า การมี "อำนาจแทนตน" ในระบบการเมืองที่เป็นทางการ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับตัว และเวลานี้ตัวไม่มีสิ่งนี้อยู่

อันที่จริง "อำนาจแทนตน" นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ผ่านพรรคการเมือง คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มักใช้สื่อเป็น "อำนาจแทนตน" มากกว่าพรรคการเมือง ถ้าใช้ไม่ได้ก็ไม่คิดจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่หันไปใช้สนามหลวงแทน เป็นต้น

ว่ากันที่จริงแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ใช้ "อำนาจแทนตน" ผ่านพรรคการเมืองน้อยมาก แต่เราใช้ผ่าน "เส้น" ต่างหาก "เส้น" ใหญ่ก็แทนตนไปได้ถึงระดับสูง "เส้น" เล็กก็แทนตนในระดับต่ำที่กระทบต่อชีวิตอันมีผลประโยชน์เล็กๆ ของตัวไว้ให้ปกป้อง คนไทยเข้าถึง "เส้น" ได้หลายวิธี นับตั้งแต่ลงทุนด้วยเงินหรือแรงงานไปจนถึง ใช้ "เส้น" เล็กๆ ที่ตัวมีอยู่ค่อยๆ ต่อกันไปจนถึง "เส้น" ที่ใหญ่กว่าอันสามารถแก้ปัญหาให้เราได้

ปฏิเสธไม่ได้นะครับว่า ระบบ "เส้น" เป็น "อำนาจแทนตน" ที่กระจายไปไม่ทั่วถึง และใช้งานได้ไม่เต็มที่สำหรับคนชายขอบ ด้วยเหตุดังนั้น ในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นคนเล็กๆ ในเมืองไทยลุกขึ้นมาสร้างขบวนการมวลชนของตนเอง เพื่อเป็น "อำนาจแทนตน" ในการต่อรองกับคนกลุ่มอื่นๆ เช่น สมัชชาคนจน (ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับคาราวานคนจนที่เชียร์คุณทักษิณ), กลุ่มต่อต้านท่อก๊าซที่กาญจนบุรีและจะนะ, กลุ่มเชียงของรักษาแก่ง, ฯลฯ นับได้เป็นร้อย

สมัยที่ยังมี ศอ.บต.ชาวบ้านในเขตสามจังหวัด อย่างน้อยก็จำนวนหนึ่ง สามารถใช้ "เส้น" เป็น "อำนาจแทนตน" ได้ในระดับหนึ่ง แม้ไม่กระจายทั่วถึง แต่ก็ยังดีที่มี "อำนาจแทนตน" ให้แก่คนบางกลุ่มบางเหล่าในพื้นที่ได้บ้าง แต่พอ ศอ.บต.ถูกยกเลิก "อำนาจแทนตน" นี้ก็หายไปหรือหดไปด้วย ครั้นจะสร้างขบวนการมวลชนขึ้นมาเปิดพื้นที่สำหรับให้เกิด "อำนาจแทนตน" ขึ้นเหมือนประชาชนไทยเล็กๆ ในภูมิภาคอื่น ก็ทำไม่ได้ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถึงทำได้ก็มีอันตรายสูงเกินไป ไม่รู้ว่าจะถูก "เก็บ" จากฝ่ายใด ผมคิดว่านี่คือที่มาของความคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมือง

ถ้ามีพรรคการเมืองของคนในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม และสามารถได้ที่นั่งในสภาสัก 4-6 ที่นั่ง ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นน้ำหนักทางการเมือง ใครตั้งรัฐบาลก็อยากจะได้พรรคนี้มาร่วมด้วย เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่ดีของการประนีประนอมกับภาคใต้ แม้แต่ตกเป็นฝ่ายค้าน หากวางตัวเป็นกลาง ไม่ไปเกาะกลุ่มกับพรรคใหญ่ ความเห็นของตนในกรณีภาคใต้ก็จะมีน้ำหนักมาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นพรรคเล็กที่มีน้ำหนักทางการเมืองมาก (อย่างที่กลุ่มวาดะห์เคยมีน้ำหนักมากมาก่อน)

แต่อย่ามองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะพรรคการเมืองที่จะเป็น "อำนาจแทนตน" ของประชาชนได้จริงนั้น ประชาชนต้องมีอำนาจในการกำกับพรรคการเมืองได้จริงด้วย ไม่ใช่เฉพาะผ่านบัตรเลือกตั้งเท่านั้นนะครับ แต่หมายถึงกำกับควบคุมได้ตลอดเวลา มีองค์กรประชาชนระดับรากหญ้าที่สามารถส่งผ่านนโยบายของตัวมาให้พรรค และบังคับให้พรรคปฏิบัติตามได้ จะลงมติสนับสนุนหรือค้านร่างกฎหมายใดๆ ในสภา ก็มาจากคำสั่งของประชาชน

ถ้าการจัดองค์กรในสังคมยังอ่อนแอ พรรคการเมืองก็ไม่ฟัง และนักการเมืองของพรรคก็จะคิดว่าตัวเป็นเทวดา คือคิดอะไรแทนคนอื่นที่ตัวไม่รู้จักจริงได้ตลอดเวลา (อย่างที่พรรคการเมืองไทยเป็นอยู่เวลานี้) ถึงตอนนั้น พรรคการเมืองก็ไม่ได้เป็น "อำนาจแทนตน" ของประชาชนเสียแล้ว กลายเป็นอำนาจแทนผลประโยชน์ของนักการเมืองไปเสียฉิบ (อย่างที่พรรคการเมืองไทยเป็นอยู่เวลานี้)

พรรคการเมืองจะเป็น "อำนาจแทนตน" ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถกำกับมันได้ แต่เท่าที่เป็นอยู่ในเมืองไทย พรรคการเมืองต่างหากที่เป็นฝ่ายกำกับประชาชน ด้วยเงินซื้อเสียง, ด้วยนโยบายโป้ปดมดเท็จ, ด้วยการคุมเครือข่ายหัวคะแนนโดยอาศัยเงินของรัฐ, และด้วยการขายบริการของพรรคแก่นักธุรกิจ ทั้งที่เป็นนายทุนชาติและข้ามชาติ

ถามว่าประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ ได้จัดองค์กรของตนเองที่เข้มแข็งพอจะกำกับควบคุมพรรคการเมืองหรือยัง ก็เห็นได้ชัดว่ายัง ไม่ต่างจากประชาชนไทยในจังหวัดอื่นๆ ฉะนั้นถึงจะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น ในที่สุดก็ลงรอยเดิม คือไม่ได้เป็น "อำนาจแทนตน" ของประชาชนจริง ช้ำใจเปล่าๆ

ยิ่งได้ยินว่า มีนักการเมืองเก่าออกมาร่วมให้ความเห็นกับการตั้งพรรคใหม่ด้วย ก็ยิ่งน่าหวาดระแวง ก็เขาเป็น ส.ส.มาตั้งหลายสมัย ยังไม่สามารถเป็น "อำนาจแทนตน" ให้ประชาชนได้ นอกจากกลุ่มที่เป็นหัวคะแนนของตัว แล้วคนอย่างนี้น่ะหรือ ที่จะมาร่วมตั้งพรรคประชาชนขึ้นใหม่ ผมจึงคิดว่า การเริ่มต้นด้วยคำถามว่าจะสร้าง "อำนาจแทนตน" ขึ้นได้อย่างไรนั้นเป็นคำถามที่ถูก แต่คำตอบว่าตั้งพรรคการเมืองเป็นคำตอบที่รวบรัดเกินไป

ควรจะเริ่มสร้าง "อำนาจแทนตน" จากการจัดองค์กรของภาคประชาชนก่อน และในความเป็นจริง ก็มีการจัดองค์กรของประชาชนระดับรากหญ้าเพื่อเป็น "อำนาจแทนตน" ในการต่อรองหลายรูปแบบอยู่แล้ว เช่น กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรี ต่อรองจนสามารถหยุดการสร้างเขื่อนไปได้ กลุ่มประมงพื้นบ้านต่อรองจนได้พลังทั้งในรูปวัตถุ (เช่น เรือตรวจ และการสร้างปะการังเทียมด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน) และองค์กร พอจะทุเลาการทำลายทรัพยากรชายฝั่งของนายทุนประมงพาณิชย์ได้บ้าง, ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของประชาชนอีกหลายกรณี ที่เกิดขึ้นโดยการจัดองค์กรที่ยั่งยืน เช่น การปกป้องปอเนาะจากการถูกอนารยชนทำลาย การผลักดันให้รัฐยอมรับอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่บ้าง เช่น ในระหว่างเดือนรอมฎอน มีการเรียกให้ละหมาดทางวิทยุ เป็นต้น

นี่คือ "อำนาจแทนตน" ที่เป็นจริง และประชาชนสามารถกำกับได้โดยตรง เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนสามารถจัดองค์กรได้เข้มแข็งขึ้น "อำนาจแทนตน" ของประชาชนก็จะยิ่งขยายมากขึ้น ถึงตอนนั้น พรรคการเมืองก็จะตามมาเองโดยธรรมชาติ จะเป็นพรรคใหม่หรือพรรคเก่าก็ตาม แต่เป็นพรรคที่ประชาชนสามารถกำกับควบคุมได้จริง
ชื่อพรรคอะไรก็ได้ แต่เป็น "อำนาจแทนตน" ของประชาชนที่จะเข้ามาต่อรองในระดับประเทศได้จริง

2. สื่อกับโครงสร้างแห่งความรุนแรง
เรื่องที่จะคุยต่อไปนี้แทบไม่มีข้อมูลเลย เพราะสื่อไม่สนใจจะค้นหาข้อมูลมารายงาน ในขณะเดียวกันผู้รับสื่อ (ผู้บริโภค) ก็คงจะไม่อยากรู้ด้วยก็เป็นได้ แต่ผมคิดว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับข่าวได้ลึกกว่าความเวทนาสงสาร หรือความแค้นเคือง อันเป็นอารมณ์ที่มีคนอยาก"ซื้อ"ไปบริโภค ความเข้าใจที่ลึกขึ้นจะทำให้เรามองเห็นทางออกอื่นๆ นอกจากการป้องกันเชิงกายภาพ (เช่นล้อมรั้วโรงเรียนให้แข็งแรง,การตั้งกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว,ฯลฯ) หรือการตอบโต้ด้วยความรุนแรงซึ่งอาจมีผลกระทบต่อ"ผู้บริสุทธิ์"อีกกลุ่มหนึ่ง

ข่าวการทำร้ายคุณครูสองคนที่บ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ นราธิวาสเป็นข่าวสะเทือนขวัญเพราะเหยื่อเป็นผู้หญิง ผู้ทำร้ายได้พบหน้าเหยื่ออย่างจะจะ จนแม้มีการสื่อสารด้วยคำพูดระหว่างกันด้วย แปลว่าในสถานการณ์ปกติ จะไม่มีใครในหมู่ผู้ทำร้ายขาดสำนึกว่าเหยื่อคือมนุษย์ ลองเปรียบเทียบกับการลอบยิง หรือจู่โจมเข้าไปยิง,วางระเบิด,ฟันหรือแทงเหยื่อ ซึ่งเกิดในสามจังหวัดมานาน ผู้กระทำแทบจะไม่ทันได้เห็นเหยื่อในระหว่างลงมือกระทำ ไม่มีการสื่อสารใดๆ ระหว่างกัน สำนึกความเป็นมนุษย์ของเหยื่อไม่ถูกกระตุ้นให้ประจักษ์ชัดเท่า

จะเป็นสัญชาตญาณ หรืออารยธรรมที่สั่งสมมานานก็ตาม การจะทำร้ายมนุษย์คนอื่นอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของเขา เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ทุกคน มือปืนอาชีพคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในการลงมือปฏิบัติการ เขาไม่พูดพล่ามทำเพลงเหมือนในหนัง แต่กดโป้งเลย แม้กระนั้นเขาก็ทันได้เห็นดวงตาของเหยื่อในวินาทีที่จะลั่นกระสุนเขามีข้อสังเกตว่าดวงตาอย่างนั้น เหมือนกันทุกคู่ ผมอ่านแล้วอยากถามลูกพี่ว่า แล้วทำไมลูกพี่ถึงจำการสื่อสารครั้งสุดท้ายของเหยื่อได้แม่นขนาดนี้เล่า ผมตอบเองว่า เพราะลูกพี่วิ่งหนีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อไม่พ้น กดโป้งแล้วเผ่นรวดเร็ว แต่ยังหนีไม่ทันความเป็นมนุษย์ของเหยื่อ

สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ ในการทำร้ายคนอื่นนั้น เงื่อนไขแรกคือทำให้เขาเป็นมนุษย์น้อยลง หรือไม่เป็นเลยได้ยิ่งสะดวกขึ้นไปอีก วัยรุ่น"ประมาณ 3 คน" (ตามคำสัมภาษณ์ของคุณครูสินีนาฏ ถาวรสุขทางทีวี) ที่รุมทำร้ายคุณครูทั้งสอง ต้องมีเหตุที่ทำให้มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเหยื่อ เหตุที่ว่านั้นคืออะไร?

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคไทยรักไทยยกเหตุนั้นให้แก่บุคคลตลอดมา เช่นถูกยุยงส่งเสริมโดยคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ อันมีตั้งแต่กลุ่มนอกกฎหมายต่างๆ ไปจนถึงอุดมการณ์ทางการเมืองหรือศาสนาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ หรือมิฉะนั้นก็ได้รับการจ้างวานมาจากคนอื่น หรือคนในระเทศอื่น หากใครถูกยุยงส่งเสริมหรือจ้างวานให้ทำอะไรก็ได้ โดยไม่มีสำนึกผิดชอบชั่วดีในตัวเลย เขาจะต่างจากสัตว์อย่างไร เราก็ยุยงส่งเสริมหรือจ้างวานให้สุนัขที่เราเลี้ยงไว้ทำตามใจเราทุกวันไม่ใช่หรือ ฉะนั้นวิธีที่รัฐบาลอธิบายเหตุร้ายต่างๆ ที่เกิดในสามจังหวัดภาคใต้ (จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) ก็คือการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้กระทำการร้ายลงไปนั่นเอง

แต่วิวัฒนาการทางชีววิทยาที่ผ่านมาหลายแสนปี ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเป็นสัตว์อย่างสิ้นเชิงเช่นนั้นได้อีกแล้ว ฉะนั้นสาเหตุที่ทำให้คนหนึ่งเชื่อฟังคำยุยงส่งเสริมหรือรับจ้างวาน กับอีกคนหนึ่งปฏิเสธ จึงแน่นอนว่าไม่ได้อยู่ที่บุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเหตุที่สลับซับซ้อนมาตั้งแต่เกิด เพราะเขาเกิดในครอบครัวอย่างนั้น,เขาโตมาท่ามกลางสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น, เขาต้องมีชีวิตในเศรษฐกิจอย่างนั้น, ฯลฯ มีส่วนสำคัญกว่าในการตัดสินใจรับจ้างวานหรือเชื่อคำยุยง และทั้งหมดเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่เขาเลือกไม่ได้ หรือไม่ได้เลือกเหมือนอย่างที่เราทุกคนไม่ได้เลือกพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรา และไม่ได้เลือกอะไรอีกหลายอย่างในชีวิต

จนกระทั่งในสถานการณ์หนึ่งๆ นั้น ช่องทางเลือกสำหรับแต่ละบุคคลไม่ได้มีมากนัก ถ้าคุณเป็นคนอย่างที่คุณเป็น คุณก็ต้องเลือกช่องทางนั้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งๆ ที่ถ้าไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น แล้วให้คุณเลือกบนแผ่นกระดาษ ก็จะมีช่องทางให้เลือกมากมาย นั่นก็คือ เราทุกคนล้วนไม่ได้เกิดมาเป็นเสรีชนที่มีอำนาจจะเลือกทางเดินได้อิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราล้วนเกิดมาในโครงสร้าง ซึ่งเป็นกรอบที่กำหนดทางเลือกของเราไว้แล้ว

ความรุนแรงที่เกิดในภาคใต้มากว่า 2 ปี ก็เกิดขึ้นในโครงสร้างแห่งความรุนแรงเช่นกัน แต่การแก้ปัญหาของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็ยังคงเน้นอยู่อย่างเดียว คือการปราบ, ขจัด หรือแก้ไขตัวบุคคลที่มีส่วน (หรือเสี่ยงที่จะมีส่วน) ในการก่อความรุนแรง ในแง่หนึ่งก็ไม่ผิด เพราะการจัดการปราบปรามจับกุมผู้ก่อความไม่สงบ ตามกระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด และเท่าเทียมกัน ก็คือการเข้าไปทำให้การเลือกใช้ความรุนแรงในโครงสร้างแห่งความรุนแรง กลายเป็นทางเลือกที่ไม่น่าเลือกนั่นเอง

ไม่ผิด แต่ไม่พอ เพราะแม้แต่ใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม (ซึ่งรัฐบาลทำไม่ได้หรือไม่ได้พยายามทำ) ก็ยังไม่พอที่จะยุติความรุนแรงลงได้ เนื่องจากความรุนแรงแฝงฝังอยู่ในโครงสร้าง แม้แต่การกระทำที่ถูกกฎหมาย เช่นการกระทำของรัฐเอง,ของทุน,ของผู้นำในท้องถิ่น,ของการให้บริการทุกชนิด ฯลฯ ก็มีความรุนแรงแฝงฝังอยู่ทั้งสิ้น เพราะคนบางกลุ่มบางเหล่าไม่ได้พอใจกับการกระทำเหล่านั้น แต่เขาถูกบังคับโดยโครงสร้างให้ต้องยอมรับโดยไม่อาจโต้แย้งต่อรองได้

ทั้งๆ ที่เจตนาของผู้กระทำ อาจไม่ได้ต้องการให้เป็นความรุนแรงเลย แต่กระทำด้วยเจตนาดีโดยแท้ (เช่นห้องคลอดในโรงพยาบาลไม่อนุญาตให้พ่อเด็กอยู่ในห้องคลอด เพื่อกระซิบบอกฮาซานแก่ลูกแรกเกิดของตนเอง)

ข้อมูลที่สื่อนำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ก็เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล นั่นคือไม่ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ในภาคใต้ ผลก็คือสังคมไทยโดยรวมมองสถานการณ์เป็นเรื่องของการกระทำของบุคคลเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นจึงไร้พลังที่จะชี้นำและกำกับนโยบายที่ล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลได้

ดังกรณีความรุนแรงที่เกิด ณ หมู่บ้านกูจิงลือปะในครั้งนี้ สื่อให้ความสนใจแก่คุณครูที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเพียงฝ่ายเดียว ตามไปถึงบ้านเกิดและรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของญาติพี่น้อง รายงานข่าวนี้ดีแน่และเป็นข้อมูลที่คนไทยควรรับรู้อย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะทำให้เรามองเห็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรงเป็น"คน"เต็มคน แต่ข่าวคราวและเรื่องราวของเหยื่อฝ่ายเดียว ไม่อาจทำให้เรามองเห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้

ตรงกันข้าม ข่าวคราวและเรื่องราวของผู้ทำร้ายต่างหาก ที่จะทำให้เรามองเห็นโครงสร้างแห่งความรุนแรงได้ชัดเจนกว่าบางคนถูกจับกุมได้แล้ว จึงเป็นช่องทางให้สามารถเจาะลงไปที่ชีวิตของเขา จากญาติใกล้ชิดและเพื่อนบ้านได้ เขาได้ผ่านอะไรมาในชีวิตประสบการณ์ในชีวิตชาวบ้านที่เผชิญกับอำนาจรัฐโดยตรง เป็นอย่างไรในสายตาชาวบ้าน แม้สถานการณ์ในวันที่เป็นฝันร้ายวันนั้น ก็น่าจะเจาะเรื่องราวจากมุมมองของชาวบ้านบ้าง

มีคนจำนวนไม่น้อยในหมู่บ้านรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดเขาจึงไร้อำนาจที่จะระงับยับยั้ง เหตุใดทุกคน รวมทั้งผู้ลงมือกักขังหน่วงเหนี่ยว และทำร้ายคุณครูทั้งสอง จึงตกเป็นเหยื่อของโครงสร้างแห่งความรุนแรงเช่นนี้ อันที่จริง แม้แต่เพื่อนครูในโรงเรียนได้ทำอะไรอีกหลายอย่างเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่สื่อก็ไม่สนใจรายงานหรือเจาะลึก ทั้งๆ ที่สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของระบบป้องกันภัยที่ทางการได้จัดวางไว้อย่างมาก ฉะนั้น แม้แต่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ที่ไม่ใส่ใจกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างเลย สังคมก็ขาดข้อมูลเพียงพอที่จะกำกับควบคุมนโยบายนั้นได้ด้วยซ้ำ (จึงไม่ประหลาดอะไรที่สังคมต้องวางใจไว้ที่บุคคลเพียงคนเดียว…ก็เราอยู่ท่ามกลางคุณภาพของสื่ออย่างนี้ "ระบอบทักษิณ"ย่อมเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)

ทั้งหมดนี้ ผมไม่ต้องการให้เข้าใจว่า ผู้ทำร้ายคุณครูไม่มีความผิด เขาทำความผิดและควรถูกลงโทษตามกฎหมายอย่างแน่นอน แต่การลงโทษเขาเพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้เราสามารถยุติความรุนแรงในภาคใต้ได้ จำเป็นที่เราต้องเข้าใจเขาในฐานะที่เป็น"เหยื่อ"ของความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วย เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ในภาคใต้อย่างไร เพื่อทำให้ความรุนแรงบรรเทาลงหรือยุติลงเสียที. สื่อช่วยได้มาก ถ้าให้ความสนใจแก่ผู้กระทำผิดอย่างที่เขาเป็น"คน"เต็มคน ไม่ใช่ผู้ร้ายที่โผล่เข้ามาในฉาก เพียงเพื่อขับบทบาทของเหยื่อให้เป็นที่สะเทือนใจมากขึ้น สำหรับพระเอกจะได้ขี่ม้าขาวมาปราบได้อย่างสะใจ

3. พุทธศาสนาไทยกับความท้าทายใหม่
วลาดิมีร์ สเตห์ลิก ชาวออสเตรียนซึ่งทำงานอยู่ในสำนักประสานงานการพัฒนาแห่งออสเตรียประจำภูฐาน กล่าวถึงประเทศไทยไว้ในคำวิจารณ์ของเขาเกี่ยวกับเป้าหมาย "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ของภูฐานว่า

"ในโลกที่ถูกครอบงำจากตะวันตกซึ่งมีพื้นฐานจากลัทธิบริโภคนิยมปัจเจกแบบชาวคริสต์ และมีกระบวนทัศน์ของเบรตตันวู้ดส์เป็นแบบอย่าง ศาสนาพุทธจะค่อนข้างเปราะบางต่อการรุกรานของความมั่งคั่งทางวัตถุที่อยู่เหนือความจำเป็นพื้นฐาน อย่างน้อยก็ท้าทายต่อจิตวิทยาในบางส่วน เช่น การดำรงชีพ ในที่นี้ขอระบุให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างแห่งหนึ่ง ซึ่งจนปัจจุบันศาสนาพุทธก็ยังไม่สามารถรวบรวมคำตอบให้กับความท้าทายนี้ได้"

คนอื่นอ่านแล้วจะคิดอย่างไรไม่ทราบ แต่ผมอ่านแล้วยอมรับว่าจริงเลย โดยเฉพาะเมื่อนำสังคมไทยไปเปรียบกับสังคมภูฐานหรือสังคมมุสลิมอีกหลายแห่ง แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ ผมไม่แน่ใจว่าองค์กรพระพุทธศาสนาในประเทศไทยปัจจุบันจะสามารถ "รวบรวมคำตอบให้กับความท้าทายนี้ได้" เพราะอยู่ในสถานะที่อ่อนแอเกินกว่าจะทำได้เสียแล้ว

ในการเผชิญการท้าทายจากอารยธรรมตะวันตกระลอกแรกคือ นับตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งองค์กรและปัญญาชนไทยร่วมมือกันนิยามพระพุทธศาสนาเสียใหม่ให้สอดคล้องกับอารยธรรมตะวันตกตามความเข้าใจของยุคสมัยนั้น โดยเปลี่ยนจุดเน้นของคำสอนมาเป็นด้านโลกียธรรมเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ทำให้อภิปรัชญาของพระพุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์

เรามักพูดกันถึงการตั้งธรรมยุติกนิกาย, หนังสือกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, การปฏิรูปองค์กรปกครองคณะสงฆ์โดยการนำของพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ฯลฯ เป็นเหมือนตัวแทนของความเคลื่อนไหวทางศาสนา เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งตะวันตกกดดันให้สังคมไทยต้องเผชิญ และเป็นความสำเร็จของไทย

ก็จริงในแง่ความสำเร็จ ตรงที่ทำให้เราทุกคนยังนับถือพระพุทธศาสนามาได้ถึงทุกวันนี้ โดยไม่รู้สึกอึดอัดขัดข้องใจกับความเป็นจริงที่เราต้องเผชิญกับโลกปัจจุบัน แต่เราไม่ค่อยพูดถึงจุดอ่อนบางอย่างของการตอบสนอง ซึ่งกลายเป็นความอ่อนแอในภายหลัง เช่น กลุ่มที่นำการเคลื่อนไหวเพื่อนิยามพุทธธรรมกันใหม่ เป็นกลุ่มที่มีความเป็นปึกแผ่นภายในอย่างแน่นแฟ้น โดยมีผู้นำทางการเมืองเป็นผู้นำ ผลในแง่ดีก็คือ การ "ปฏิรูป" ศาสนาไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม แต่นั่นย่อมหมายความว่า ทั้งแนวคิดและแนวทางที่ผลิตออกมาย่อมแข็งทื่อ ไม่อาจปรับเปลี่ยนได้ง่ายๆ

แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะถาโถมเข้ามาในลักษณะอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมสักเพียงไรก็ตาม การที่ไม่มีแนวคิดและแนวทางที่เป็นปรปักษ์ก็คือไม่มีทางเลือกอื่นนั่นเอง

ร้ายไปกว่านั้น แนวคิดและแนวทางที่กลุ่มปัญญาชนเหล่านี้ผลิตขึ้นยังถูกนำเอาไปรับใช้เป้าหมายทางการเมืองในสมัยต่อมาด้วย กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น จุดยืนของคณะสงฆ์ที่สนับสนุนการนำประเทศเข้าสู่สงครามในสมัย ร.6 โดยตีความศานติธรรมของพระพุทธศาสนาให้เอื้อต่อการรบราฆ่าฟัน หากเป้าหมายคือประโยชน์ของชาติ ตลอดจนการที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนา "เจิม" อาวุธยุทธภัณฑ์ของกองทัพในปัจจุบัน

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้น ผมคิดว่า "ความท้าทาย" ของอารยธรรมตะวันตกที่สังคมไทยต้องเผชิญเมื่อก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้นแตกต่างกันมาก แม้มีรากเหง้ามาจากคติอันเดียวกันก็จริง ฉะนั้น การตอบสนองต่อความท้าทายนั้นในทางศาสนาของกลุ่มปัญญาชนดังกล่าว จึงมีข้อจำกัดมากเมื่อนำมาใช้กับกระแสอารยธรรมตะวันตกที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ปัญญาชนกลุ่มนั้นเลือกที่จะเผชิญกับ "ความท้าทาย" ด้วยการตีความว่าพุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่ปัญญาชนไทยไม่ได้ระแวงว่าวิทยาศาสตร์ตะวันตกนั้น ตั้งอยู่บนระบบคุณค่าบางอย่าง ซึ่งเป็นอริกับศาสนธรรมของทุกศาสนา เช่น การผลักให้สิ่งที่ไม่อาจอธิบายหรือเข้าใจได้เพราะไม่เป็นวัตถุวิสัยให้พ้นไปจากวิทยาศาสตร์ (ซึ่งเกือบจะเท่ากับว่าไม่มีอยู่จริง หรือถึงมีอยู่จริงก็ไม่ใช่ "ความรู้" เพราะรู้ไม่ได้)

และด้วยเหตุดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงมีนัยยะว่า สิ่งสำคัญที่สัมพันธ์กับเราอยู่ในโลกนี้เท่านั้น พ้นจากนี้ไปไม่เกี่ยวกับเรา จุดมุ่งหมายในชีวิตจึงเหลือเพียงแต่ละคน แสวงหาความสุขกับการเสพสิ่งที่วิทยาศาสตร์ประดิษฐ์มาให้ ซึ่งก็คือความสะดวกสบายในชีวิตนี้นั่นเอง

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม วิทยาศาสตร์จึงเปิดทางให้แก่ลัทธิบริโภคนิยม ยิ่งวิทยาศาสตร์กลายเป็นแกนหลักของลัทธิพาณิชยนิยมอย่างปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ก็ยิ่งส่งเสริมการบริโภคแบบปัจเจกอย่างที่ฝรั่งออสเตรียนคนนั้นพูดถึงมากเข้าไปอีก และในแง่นี้แหละครับที่พุทธศาสนาไทยหมดพลังที่จะตอบสนอง "ความท้าทาย" ของโลกปัจจุบันไปเสียแล้ว

"ความท้าทาย" ของโลกปัจจุบันที่คุกคามการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ เท่าที่มีนักปราชญ์พูดถึงกันมากได้แก่

1. การใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน จนมีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนแล้วว่าอาจทำให้ดาวโลกไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ หรืออารยธรรมของมนุษย์ได้อีกต่อไป

2. ความเหลื่อมล้ำในทุกทางของมนุษย์ ทั้งระหว่างสังคมและแม้ภายในสังคมเดียวกัน เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่โลกาภิวัตน์ทำให้เราทุกคนเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหมด นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิด

3. ความรุนแรงทางกายภาพและทางวัฒนธรรมกระจายไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผมเชื่อว่า พระพุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) มีคำตอบแก่ "ความท้าทาย" นี้อย่างแน่นอน และก็มีนักการศาสนาจำนวนไม่น้อยในโลกได้พยายามประยุกต์ศาสนธรรมในศาสนาที่ตัวนับถือเข้ามาตอบ "ความท้าทาย" นี้อยู่มาก แต่ไม่มีคำตอบจากองค์กรพุทธศาสนาไทย

ที่เรียกว่าคำตอบนั้นไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปของความคิดหรือข้อเสนอเสมอไป อาจออกมาในรูปกิจกรรมหลากหลายประเภทได้ เช่น อาจสะท้อนออกมาในการศึกษาของพระสงฆ์ (ทุกระดับ), ออกมาในศาสนกิจและศาสนพิธี, ออกมาในรูปของการจัดองค์กรของวัดหรือแม้แต่ของคณะสงฆ์ทั้งหมด ฯลฯ เป็นต้น และทั้งหมดเหล่านี้เราไม่พบในความเคลื่อนไหวทางศาสนาของคณะสงฆ์ไทย

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีพระภิกษุไทยบางรูปที่ตอบสนอง "ความท้าทาย" ใหม่นี้ อย่างชนิดที่มีพลังพอจะเป็นอิทธิพลหนึ่งในโลก เพราะมีงานแปลนิพนธ์ของท่านออกเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ, ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ หรือสำนักอาจารย์ชา เป็นต้น แต่การตอบสนองของท่านเหล่านั้นกระทำกันขึ้นอย่างเป็นอิสระจากองค์กรคณะสงฆ์ แม้ได้รับการยอมรับขององค์กรคณะสงฆ์ในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้นำเอาการตอบสนองของท่านเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในการอื่นได้อีก สำนักสันติอโศกยิ่งแล้วใหญ่ เพราะถูกอัปเปหิออกจากคณะสงฆ์ไทยไปเลย

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตอบสนองต่อ "ความท้าทาย" ดังกล่าวในเมืองไทยเวลานี้ ส่วนใหญ่แล้วอยู่นอกองค์กรทางศาสนาที่เป็นทางการเกือบทั้งนั้น และมักเป็นการดำเนินการของฆราวาส ใครอยากรับการศึกษาที่มีฐานอยู่ที่ศาสนธรรมของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ไปเรียนมหามงกุฏฯ หรือมหาจุฬาฯ แต่ต้องไปเรียนที่เสมสิกขาลัย

คนชั้นกลางที่อยากเรียนรู้การดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันที่สอดคล้องกับพุทธธรรม นับตั้งแต่เรื่องสุขภาพไปถึงเรื่องการครัว ต้องไปร่วมการอบรมต่างๆ กับอาศรมวงศ์สนิท พุทธธรรมที่เป็นฐานให้แก่ "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งทำได้จริงอยู่ในไร่นาของท่านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม หรือผู้ใหญ่ผาย สร้อยสระกลาง. อยากหาทุนทำอะไรที่นำเอาพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน ต้องไปขอทุนกับ สสส. (ซึ่งเป็นที่รังเกียจของมุสลิม เพราะไปเอาเงินของสิ่งที่ต้องห้าม เช่น เหล้า บุหรี่ มาใช้) ไม่ใช่มูลนิธิของวัดใด หรือกองทุนใดๆ ของคณะสงฆ์

ย้อนกลับไปที่คำวิจารณ์ของฝรั่งข้างบน ในแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่าจริง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ต้องปฏิเสธว่าไม่จริง เพราะหากมองสังคมไทยในวงกว้างแล้ว ก็จะพบว่ามีความเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนอง "ความท้าทาย" ดังกล่าวอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ยากที่จะเป็นพลังสำคัญแก่สังคมได้ เพราะขาดการจัดองค์กรที่จะทำให้เกิดพลังในสังคมได้ ฉะนั้น หากดูสังคมไทยโดยรวมก็เป็นอย่างที่ฝรั่งวิจารณ์

แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีชาวพุทธไทยมองเห็น "ความท้าทาย" ที่ว่า แล้วพยายามตอบสนองเสียเลย





สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 900 เรื่อง หนากว่า 13000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



060649
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
บทความจากนักวิชาการอาวุโส
บทความลำดับที่ ๙๓๙ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
พรรคการเมืองจะเป็น "อำนาจแทนตน" ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถกำกับมันได้ แต่เท่าที่เป็นอยู่ในเมืองไทย พรรคการเมืองต่างหากที่เป็นฝ่ายกำกับประชาชน ด้วยเงินซื้อเสียง, ด้วยนโยบายโป้ปดมดเท็จ, ด้วยการคุมเครือข่ายหัวคะแนนโดยอาศัยเงินของรัฐ, และด้วยการขายบริการของพรรคแก่นักธุรกิจ ทั้งที่เป็นนายทุนชาติและข้ามชาติ

... ควรจะเริ่มสร้าง "อำนาจแทนตน" จากการจัดองค์กรของภาคประชาชนก่อน และในความเป็นจริง ก็มีการจัดองค์กรของประชาชนระดับรากหญ้าเพื่อเป็น "อำนาจแทนตน" ในการต่อรองหลายรูปแบบอยู่แล้ว เช่น กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรี ต่อรองจนสามารถหยุดการสร้างเขื่อนไปได้ กลุ่มประมงพื้นบ้านต่อรองจนได้พลังทั้งในรูปวัตถุ (เช่น เรือตรวจ และการสร้างปะการังเทียมด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน) และองค์กร พอจะทุเลาการทำลายทรัพยากรชายฝั่งของนายทุนประมงพาณิชย์ได้บ้าง, ฯลฯ เป็นต้น

วลาดิมีร์ สเตห์ลิก ชาวออสเตรียนซึ่งทำงานอยู่ในสำนักประสานงานการพัฒนาแห่งออสเตรียประจำภูฐาน กล่าวถึงประเทศไทยไว้ในคำวิจารณ์ของเขาเกี่ยวกับเป้าหมาย "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ของภูฐานว่า "ในโลกที่ถูกครอบงำจากตะวันตกซึ่งมีพื้นฐานจากลัทธิบริโภคนิยมปัจเจกแบบชาวคริสต์ และมีกระบวนทัศน์ของเบรตตันวู้ดส์เป็นแบบอย่าง ศาสนาพุทธจะค่อนข้างเปราะบางต่อการรุกรานของความมั่งคั่งทางวัตถุที่อยู่เหนือความจำเป็นพื้นฐาน อย่างน้อยก็ท้าทายต่อจิตวิทยาในบางส่วน เช่น การดำรงชีพ ในที่นี้ขอระบุให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างแห่งหนึ่ง ซึ่งจนปัจจุบันศาสนาพุทธก็ยังไม่สามารถรวบรวมคำตอบให้กับความท้าทายนี้ได้"

 

Midnightuniv
website 2006