นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



จากภาพยนตร์เรื่อง mona lisa smile
ศิลปะ, ความเป็นตัวตน, การประดิษฐ์สร้างความเป็นผู้หญิง
สมชาย บำรุงวงศ์
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

งานเขียนเชิงวิชาการบนเว็บเพจนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับความประทับใจจากการชมภาพยนตร์
ซึ่งสะท้อนถึงการสลัดหลุดจากค่านิยมแบบอนุรักษ์ฯ ของความเป็นผู้หญิง

ความเป็นแม่บ้าน และการเป็นภรรยาที่ดีของสามี
ผ่านครูสอนศิลปะที่เป็นตัวแบบของความคิดอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในโลกการกำกับของผู้ชาย

midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 873
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7.5 หน้ากระดาษ A4)




ศิลปะ, ความเป็นตัวตน, การประดิษฐ์สร้างความเป็นผู้หญิง
จากภาพยนตร์เรื่อง mona lisa smile

สมชาย บำรุงวงศ์ : นักวิชาการอิสระ

เพื่อนผมได้แนะนำให้ผมได้ดูหนังดีอีกเรื่อง mona lisa smile หนังปี 2004 ดูแล้วเห็นว่ามีประเด็นน่าเขียนถึง ด้วยหนังได้จุดประกาย-ตั้งคำถามให้ชวนขบคิดไว้ไม่น้อยต่อประเด็นระบบการเรียนการสอนวิชาศิลปศึกษา, ความเป็นตัวตนของคนแต่ละคน, การประดิษฐ์สร้าง "ความเป็นผู้หญิง" (กุลสตรีแบบอเมริกัน) ตามคติอนุรักษ์นิยมอันเก่าแก่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

เรื่องเริ่มขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1953 ...เริ่มเปิดปีการศึกษาใหม่

แคทเธอรีน แอน วัตสัน อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ เดินทางโดยรถไฟเพื่อมารับงานสอน ณ วิทยาลัยเวสลีย์ (Wellesley college) วิทยาลัยนักเรียนหญิงล้วนอันเก่าแก่อายุร่วมร้อยปี ที่อนุรักษ์นิยมที่สุดในอเมริกา ให้การศึกษากุลธิดา แน่นอน... ในแนวอนุรักษ์ประเพณีอันเก่าแก่ แต่วัตสันนั้นตรงกันข้าม เธอคืออาจารย์สาวหัวคิดอิสระ เธอสมัครมาสอนที่นี่ไม่ใช่เพื่อทำตัวกลมกลืน แต่ด้วยหัวใจอันเร่าร้อนที่จะเปลี่ยนแปลง !

ก่อนรถไฟจะมาถึงสถานีในเช้าวันนั้น วัตสัน ในตู้นอนบนรถไฟ หยิบสไลด์ภาพงานศิลปะขึ้นส่องดูที่หน้าต่าง กลางแดดยามเช้าอันสดใส ภาพสไลด์ที่หนังนำเสนออย่างจงใจคือภาพ "หญิงสาวแห่งเมืองอาวีญอง" เป็นภาพสไตล์คิวบิสม์อันมีชื่อเสียงของปิคัสโซ่ สายตาของวัตสันครุ่นคิด เธอคงกำลังคิดถึง "สถานภาพของความเป็นผู้หญิง" ผู้หญิงร่วมยุคสมัยเดียวกับเธอ และรุ่นที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นในวันข้างหน้า

ในชั่วโมงบรรยายครั้งแรกของเธอ เธอฉายสไลด์ประกอบการบรรยาย เริ่มด้วยภาพเขียนรูปวัวบนผนังถ้ำ และยังไม่ทันที่เธอบรรยายจบคำ นักเรียนต่างยกมือแย่งกันตอบ และไม่ว่าเธอจะเลื่อนสไลด์ไปกี่ภาพ เธอแทบไม่ต้องอ้าปากเลย เพราะนักเรียนต่างแย่งกันตอบเร็วปรื๋อ ว่าคือ ภาพ... ค้นพบที่... โดย... .สร้างเมื่อปี ค.ศ... .มันคือภาพที่บอกถึง... .ฯลฯ

วัตสันตกตะลึงต่อความเป็นไปนี้... ไม่มีใครเคยเรียนวิชานี้มาก่อน แต่ที่ทุกคนตอบได้เพราะอ่านตำรามาล่วงหน้าแล้วนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าเหล่านักเรียนถูกปลูกฝังมาว่า "ความรู้" คือสิ่งที่อยู่ในตำรา และการจะได้มันมาก็คือการท่องจำนั่นเอง

การบรรยายครั้งต่อมา วัตสันเลือกใช้สไลด์ภาพเขียนของ ซูทีน (chaim soutine - ดูภาพประกอบท้ายบทความ) ศิลปินยุคคริสตศตวรรษที่ 20 ที่ชื่อ "ซากศพ" เพียงภาพเดียว (ต่างจากครั้งแรกที่เธอฉายสไลด์งานศิลปะยุคประวัติศาสตร์ทั้งหมด) มันคือภาพเนื้อวัวทั้งตัวที่ถูกชำแหละ ผ่าครึ่งตัวตามยาว เห็นซี่โครงและสีแดงสดๆ ของเนื้อปนเลือด ทั้งภาพมีเพียงเท่านี้ ช่างชวนสยอง มันไม่ใช่ภาพสวยๆงามๆ เลิศลอยด้วยอุดมคติสูงส่ง อย่างที่เธอฉายให้ดูครั้งแรก มันตัดกันอย่างรุนแรงกับครั้งนี้

นักเรียนทุกคนอึ้งและพลิกตำราตรงหน้ากันจ้าละหวั่น และไม่พบว่ามันมีอยู่ในตำรา สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่นี่ถูกปิดกั้นต่อโลกแห่งความเป็นจริง โลกแห่งยุคสมัยใหม่ที่พวกเธอมีชีวิตอยู่ ความจริงพวกเธอไม่ได้ถูกปิดกั้นไปเสียทั้งหมดหรอก พูดเสียใหม่ก็คือ ...อยู่ภายใต้การกำกับว่า อะไรคือสิ่งที่เธอควรรู้ ต้องรู้ อะไรไม่ควร-ไม่ได้รับอนุญาตให้รู้ เพื่อต่อไปพวกเธอจะได้เป็นผู้หญิงที่คิดและปฏิบัติอย่างอยู่ในลู่ในกรอบ อย่างที่ "อะไรบางอย่างที่กำกับอยู่" ต้องการ

"เธอว่ามันสวยไหม" วัตสันถาม คราวนี้เธอไม่ได้ยืนอยู่ที่แท่นบรรยายเช่นคราวก่อน แต่มานั่งอยู่ฝั่งเดียวกับนักเรียนของเธอ

เงียบ! เมื่อไม่มีตำราคอยบอก พวกเธอก็ไม่รู้จะตอบอะไรออกมา

"ตอบสิ ตอบอะไรก็ไม่ผิด ไม่มีตำรามาบังคับเธอนะ ไม่ง่ายเลยใช่ไหม" วัตสันทั้งกระตุ้นและท้าทาย บางความเห็นจึงหลุดจากปากบางคน ...ไม่สวย ...ไม่ใช่ศิลปะ ...มันเพี้ยน ...น่าสะอิดสะเอียน ...ดูก้าวร้าวแต่เย้ายวน ...น่าหลงใหล ฯลฯ
"ศิลปะคืออะไร อะไรทำให้มันดีหรือแย่ ใครเป็นคนกำหนด?" วัตสันรุกด้วยคำถาม

สไลด์เลื่อนไปภาพต่อไป เป็นรูปวัวน่ารัก ฝีมือแบบเด็กวาด วัตสันบรรยายว่า นี่คือภาพวาดฝีมือเธอเองเมื่อ 25 ปีก่อน และแม่ของเธอบอกว่ามันยอดเยี่ยม สไลด์เลื่อนต่อไป... เป็นภาพถ่ายขาว-ดำครึ่งตัว คือภาพแม่ของเธอเอง

"รูปแม่ของครูเป็นศิลปะไหม" เธอถาม
"มันเป็นภาพถ่าย" นักเรียนคนหนึ่งตอบ
"ถ้าเป็นแอนเซล อาดัมส์ถ่าย มันจะเป็นไหม" วัตสันอ้างชื่อนักถ่ายภาพชื่อดังชาวอเมริกัน
"ศิลปะไม่ใช่ศิลปะ จนกว่าจะมีคนบอกว่าใช่" เบตตี้ตอบ
"แล้วใครล่ะจะบอก" วัตสันถาม
"คนที่เหมาะสม" เบตตี้ตอบ
"ใครล่ะ...?" วัตสันทิ้งคำถามไว้

สไลด์เลื่อนกลับไปที่ภาพ "ซากศพ" อีกครั้ง
"ดูให้ลึกลงไปกว่าสี พยายามเปิดความคิดของเราเพื่อเปิดรับไอเดียใหม่ๆ" วัตสันทิ้งประโยคสุดท้าย ก่อนจบคำบรรยาย

นี่คือช่วงตอนที่ผมเห็นว่าทรงพลังอย่างมาก ทรงพลังพอๆ กับครั้งแรกที่นักเรียนแย่งกันบรรยายสไลด์แทนเธอ แต่ครั้งนี้คือพลังของการโต้กลับ ต่ออำนาจของตำราแบบปิดกั้นที่กดทับอยู่บนหัวของเหล่านักเรียน เป็นพลังกระตุ้นให้กล้าตั้งคำถาม ต่อความคิดเดิมๆ ต่อคำว่า "ศิลปะ"

ประเด็นนี้ทำให้ผมคิดต่อไปว่า ในโลกแห่งศิลปะอันหลากหลาย มีอะไรบางอย่าง จะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังโลกแห่งศิลปะ-องค์ความรู้ว่าด้วยศิลปะ คอยกำหนด-กำกับ ประดิษฐ์สร้างความหมาย-รสนิยมบางชนิดขึ้น เพื่อเป็นแบบให้มหาชนยึดถือ เชิดชูศิลปินบางคน ศิลปะบางชิ้นให้โดดเด่น

ในทางกลับกันก็กระทำการกดข่ม - กลบเกลื่อน - กีดกัน - บ่ายเบี่ยงศิลปะบางชิ้น(เช่นโจษจันกันแต่ภาพ "ดอกทานตะวัน" ของแวนโก๊ะห์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่ามีดีอยู่เพียงภาพนี้ภาพเดียว แต่อีกหลายๆ ภาพของเขาที่แสดงชีวิตของสามัญชนที่อยู่กับผืนแผ่นดิน ที่ต้องทำงานราวกับทาส เช่นภาพ "คนกินมัน" มีใครพูดถึงบ้างสักกี่มากน้อย?) ศิลปินบางคนให้ออกห่าง-จมหายไปจากความหมายของคำว่า "รสนิยมที่ดี"

อะไรบางอย่างดังว่านี้ คล้ายนิ้วศักดิ์สิทธิ์ที่จะคอยชี้บอกแก่มหาชนว่า ...นี่คือศิลปะที่ดี แต่นั่นไม่ใช่ หรือนั่นน่ะ เป็นได้แค่ศิลปะชั้นเลว ซึ่งน่าคิดว่าอะไรคือ "เนื้อหา" ที่อยู่เบื้องหลังคำเชิดชู-ดูแคลน-ปฏิเสธนั้น มันถูกชี้นำโดยอะไร? โดยใคร?

มีการประเมินการสอนของเธอ โดยอาจารย์ผู้สังเกตการณ์ วัตสันถูกเรียกตัวมารับฟังการประเมิน มีการตั้งข้อสงสัยต่อวิทยานิพนธ์ของเธอด้วย ในข้อที่เธอมีความเห็นว่า "...ปิคัสโซ่มีผลต่อคริสตศตวรรษที่ 20 แบบเดียวกับที่ไมเคิลแองเจโลมีผลต่อยุคเรอนาซองค์ ..." อาจารย์ผู้สังเกตการณ์ตีความความเห็นของเธอพร้อมลงความเห็นว่า เธอจงใจเปรียบเทียบว่า ผลงานของปิคัสโซ่มีความสำคัญเทียบเท่า ภาพในโบสถ์ซีสทีนของไมเคิลแองเจโล ซึ่งเป็นความเห็นที่(สถาบันแห่งนี้)ไม่อาจยอมรับได้ แม้เธอปฏิเสธว่าไม่ได้เปรียบเทียบในความหมายนั้น เธอเพียงเปรียบเทียบในแง่อิทธิพลเคลื่อนไหว(ในวงการศิลปะ) แต่คำชี้แจงของเธอก็ยังถูกตีความว่า "...เธอเห็นว่าภาพเขียนที่เป็นรอยด่างดวงของปิคัสโซ่ มีคุณค่าเทียบเท่าภาพในโบสถ์ซีสทีน?..."

ความที่ปิคัสโซ่มีความโดดเด่น เปรียบดั่งเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะแห่งยุคสมัยใหม่ ความกล้าคิดกล้าสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ อย่างหลากหลายแก่วงการศิลปะของเขานั่นเองที่ "ความเป็นเวสลีย์" ไม่อาจทนรับได้ เวสลีย์ต้องการคนประเภท "เดินตามผู้นำ" ไม่ใช่คนที่ "มีความคิดอิสระ กล้าเป็นตัวของตัวเอง" นี่เป็นประเด็นที่ไม่เคยล้าสมัย ไม่ว่าโลกจะก้าวมาไกลแค่ไหนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ขึ้นสู่ขีดขั้นจนยากจะบรรยายได้ หากมนุษย์ในฐานะสัตว์โลก "อันมีตัวตน" มีเอกลักษณ์เฉพาะอันหลากหลายของแต่ละคน ก็ยังไม่ได้รับการเสริมส่ง มีแต่ถูกขัดขวางทำลาย ถูกกลบกลืนให้จมหาย ให้กลายเป็น "แบบเดียวกัน"

เกิดเหตุการณ์ในหอพักนักเรียน เมื่อเบตตี้พบว่าจีเซล (บุคลิกเจนโลก) เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเธอ ได้รับแจกห่วงคุมกำเนิดจากอาเมนด้าอาจารย์พยาบาลประจำวิทยาลัยฯ ซึ่งเบตตี้ไม่อาจยอมรับได้ (เบตตี้มีแม่เป็นประธานชมรมศิษย์เก่าฯ ซึ่งแน่นอนหัวอนุรักษ์ มีส่วนสำคัญในการบริหารความเป็นไปในวิทยาลัยฯ) เธอจึงเขียนเรื่องร้องเรียนลงในบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ของวิทยาลัยฯ กล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันฯ จนเกิดเป็นกรณีอื้อฉาวขึ้น ส่งผลให้อาเมนด้าถูกไล่ออก!

ภารกิจของเวสลีย์คือ การเตรียมบรรดานักเรียนสาวทั้งหลาย เพื่อการเป็นแม่บ้านและภรรยา "ที่ดี" ในอนาคต จึงต้องมีการสอนสิ่งที่เรียกว่า การเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี, มารยาทในโต๊ะอาหาร, การจะลุกจะนั่งต้องวางท่าทีอย่างไร ฯลฯ ไปจนถึงต้องรู้วิธีที่จะสนับสนุนสามีให้ไต่เต้าก้าวหน้าในงานอาชีพ แม้ในสถานการณ์ที่ต้องแก่งแย่งแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน เพื่อตำแหน่งงานที่สูงขึ้น พวกเธอศิษย์แห่งเวสลีย์ก็ต้องรู้ว่าจะทำให้เป็นผลสำเร็จได้อย่างไร

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ "พรหมจรรย์" แห่งความเป็นหญิง สิ่งประดิษฐ์สร้างทางวัฒนธรรม ที่ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่า "กุลสตรี" พึงยึดถือ แทบจะมีความหมายเป็นดั่งศักดิ์ศรีขั้นสูงสุด หญิงใดรักษาไว้ไม่ได้ ก็เท่ากับเธอไม่เหลือศักดิ์ศรีของความเป็นผู้หญิง "ที่ดี" แล้วนั่นเอง ก็น่าคิดว่าข้อยึดถือที่ไม่ได้รวมผู้ชายเข้าไปด้วยนี้ อะไรคือเหตุที่อยู่เบื้องหลังความต่างกันนี้?

พูดถึงเรื่องเพศเรื่องกามารมณ์แล้ว ผมจำได้ว่าเคยอ่านเจอมาว่า ชนบางกลุ่มผู้หญิงมีเสรีที่จะมีสามี (เพื่อก่อลูกเกิดหลานสืบเผ่าพันธุ์ และคงด้วยเหตุผลอื่นๆด้วย) มากกว่าหนึ่งคน และที่ฟังดูทั้งน่าประหลาดและน่าตกใจต่อวัฒนธรรมของเราก็คือ ชนกลุ่มที่เรียกว่าโทรเบรียน (อาศัยอยู่บนเกาะโทรเบรียน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค) มีวัฒนธรรมทางเพศที่เปิดเผยขนาดที่เด็กๆ สามารถดูการร่วมเพศของพ่อแม่ได้ ดูการคลอดและการตายได้ โดยไม่ได้รับการกระทบกระเทือนใดๆ อย่างที่บางวัฒนธรรมกลัวว่าเด็กจะช็อค! ชาวโทรเบียนไม่มีคนเป็นรักร่วมเพศ ไม่มีการข่มขืน ไม่มีอาชญากรรมทางเพศ จนกระทั่งพวกมิชชันนารีได้เข้าไป และแยกเด็กชาย-หญิงออกจากการอยู่ร่วมกันแล้วนั่นเอง

เรื่องเพศ เรื่องกามารมณ์อันเป็นธรรมชาติ-ธรรมดาติดตัวมนุษย์มา ยังคงเป็นปัญหา ที่ไม่ว่าเมื่อใดหากหยิบยกขึ้นมาพูด กลับกลายเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นธรรมดาของชีวิต สร้างความกระอักกระอ่วนใจได้ทุกคราวไป (ปัจจุบันอาจน้อยลงหน่อย)

ขณะอาเมนด้าเก็บข้าวของเพื่อออกจากเวสลีย์ เธอพูดกับวัตสันว่า
"มันมาถึงจุดที่ เราไม่รู้ว่าใครปกป้องใครจากอะไร หรือจะเป็นจากใคร ช่างเถอะ ใครสน!"

คำพูดระบายความอัดอั้นสั้นๆเพียงเท่านี้ ผมเห็นว่าได้อธิบายภาวะของสังคมที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างมากมายรอบด้านได้อย่างครอบคลุม สังคมดูเหมือนไม่รู้ว่าจะทำอะไรและอย่างไรกับสารพันปัญหาที่เผชิญอยู่ดี เช่นสังคมปัจจุบันที่คล้ายตกอยู่ในสภาพ "งงเป็นไก่ตาแตก" เพราะไม่รู้จะเอาอะไรเป็นข้อยึดถือ สิ่งเดียวกันเป็นได้ทั้งถูกและผิดในเวลาเดียวกัน เราจึงมีฝ่ายหนึ่งที่ออกมาแจกถุงยาง และมีอีกฝ่ายออกมาบอกว่าให้รักนวลสงวนตัว ที่สำคัญ ดูๆไปทั้งสองฝ่ายนั้นคลับคล้ายว่าจะเป็นฝ่ายเดียวกันนั่นเอง?

วัตสันไม่ถือว่าการแต่งงานเป็นหน้าที่ที่ผู้หญิงต้องทำ เธอมีความเร่าร้อนที่จะกระตุ้นให้บรรดาลูกศิษย์ของเธอใฝ่ศึกษาหาความรู้ เพื่อที่จะพึ่งตัวเองได้ เป็นผู้นำตัวเองได้ ไม่ใช่เป็นได้แค่ภรรยาผู้นำ อย่างที่เวสลีย์พยายามปลูกฝัง เบตตี้เป็นลูกศิษย์คนแรกในชั้นที่ลาพักเรียนไปแต่งงาน (ที่นี่ไม่มีข้อห้ามนักเรียนแต่งงานระหว่างเรียน) เธอเป็นคนเดียวในชั้นที่ความคิดอยู่คนละฟากฝ่ายกับวัตสันชัดเจน เธอถูกปลูกฝังมาอย่างแน่นหนา ...จากแม่ของเธอ มรดกแห่งเวสลีย์

เมื่อเบตตี้กลับจากฮันนีมูนมาเข้าชั้นเรียน วัตสันออกไม่พอใจที่เบตตี้ขาดเรียนไปนาน เธอพูดกระทบกระเทียบ "การแต่งงาน" จนเบตตี้ไม่พอใจ เธอจึงโต้ตอบด้วยข้อเขียนในหนังสือพิมพ์อีกครั้ง เธอโจมตีวัตสันว่า ...เป็นอาจารย์สาวที่ประกาศสงครามกับชีวิตแต่งงาน วิธีสอนของเธอกระตุ้นให้สาวๆ เวสลีย์ ปฏิเสธบทบาทของเธอที่เกิดมาเพื่อปฏิบัติ ซึ่งทำเอาวัตสันไม่พอใจเช่นกัน เธอถึงกับเดือดดาล และโต้ตอบเบตตี้ซึ่งเป็นดั่งตัวแทนความเป็นเวสลีย์

คราวนี้เธอใช้สไลด์เป็นภาพแจ้งความโฆษณาสินค้า แบบที่เห็นกันทั่วไปในหนังสือพิมพ์ สินค้าที่ผลิตกันออกมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน สำหรับแม่บ้านแม่เรือน เพื่อการทำความสะอาด เพื่อเสื้อผ้าที่รีดเรียบ ผลิตภัณฑ์อาหาร เนื้อวัว ซอสมะเขือเทศ ฯลฯ ไปจนถึงผ้ารัดเอวเพื่อความงามของเรือนร่าง ...ที่จะปลดปล่อยผู้หญิง! (ทำให้อดนึกถึงโฆษณาครีมหน้าเด้ง-หน้าขาว-รักแร้ขาวของยุคนี้ไม่ได้) วัตสันเรียกโฆษณาเหล่านี้ว่าศิลปะร่วมสมัย ความหมายของมันคือ ศิลปะเพื่อสร้างภาพลักษณ์มอมเมาผู้หญิงยุคใหม่นั่นเอง!

เบตตี้ซึ่งชีวิตแต่งงานเริ่มส่อเค้าลางไปในทางไม่ดี เริ่มเข้าใจสิ่งที่วัตสันต้องการบอก

มีฉากหนึ่งที่เบตตี้พูดจาตำหนิติเตียนพฤติกรรมในทางชู้สาวของจีเซล เธอพูดและพูดจนกลายเป็นการระเบิดอารมณ์เก็บกดอันไม่อาจกลั้นของตัวเองออกมา เป็นสิ่งบ่งบอกว่า ชีวิตแต่งงานที่เพิ่งเริ่มต้นไม่นานของเธอ กำลังใกล้ถึงการล้มเหลว จีเซลซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเพียงคนเดียว (ที่ไม่เกรงบารมีว่าเบตตี้มีแม่ที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลในเวสลีย์) และดูเป็นคนที่เข้าใจชีวิตมากกว่าเพื่อน (ครั้งหนึ่งได้เข้าไปทำธุระในเมือง และโดยบังเอิญเธอแอบเห็นสามีของเบตตี้กำลังหวานชื่นอยู่กับหญิงอื่น)

จีเซลขณะกอดและปลอบเบตตี้อย่างเข้าใจ เมื่อเธอระเบิดปัญหาที่เธอมีกับสามีออกมา แต่ปิดปากไม่เอ่ยสิ่งที่เธอเห็นมาต่อเบตตี้ จีเซลซึ่งปกติมักชอบกระแนะกระแหนนิสัยอวดโอ่ถือดีของเบตตี้ น่าจะใช้โอกาสนี้ซ้ำเติมเบตตี้ได้ แต่กลับไม่ทำ ...แม่ของเบตตี้เสียอีก ต่อลูกของตัวเองแท้ๆ กลับไม่ยอมรับฟังปัญหาใดๆ เธอมีกรอบแน่นอนตายตัว ที่จะตะล่อมให้เบตตี้เดินไป ซึ่งในที่สุดไม่ได้ผล เมื่อต่อมาเบตตี้ตัดสินใจทลายกรอบนั้นลง และประกาศความเป็นไทแก่ตัว

หากแม่ของเธอก็ใช่ว่าเป็นผู้หญิงที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ง่ายๆ บุคลิกของตัวแม่เหมือนจะถูกวางไว้อย่างนั้น เมื่อเบตตี้ประกาศกับแม่ของเธอว่า เธอทำเรื่องหย่ากับสามีแล้ว และจะออกไปหาห้องเช่าอยู่กับจีเซล เธอไม่ตีโพยตีพาย แต่ควบคุมอารมณ์ได้ดี สีหน้าของเธอแสดงออกว่า ยังเชื่อมั่นในวิธีของเธอที่จะพลิกสถานการณ์ดึงเบตตี้กลับมาได้ แต่ไม่ใช่เวลานี้ ครั้งหนึ่งเธอเคยสอนเบตตี้ว่า "ภรรยาที่ดีต้องทำให้สามีคิดว่าทุกสิ่งเป็นความคิดของเขา แม้ว่ามันจะไม่ใช่"

แบบฝึกหัดอย่างหนึ่งที่นักเรียนต้องปฏิบัติคือ การฝึกลอกภาพของศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีต ภาพ "ดอกทานตะวัน" ของแวนโก๊ะห์ถูกเลือกใช้ในการนี้ มันมาในรูปของแผ่นลอกที่ถูกกำหนดด้วยลายเส้นเค้าโครงสำเร็จรูป แบ่งเป็นช่องๆ ละเอียดยิบระบุความแตกต่างของสี เพียงลงสีให้ถูกต้องในแต่ละช่อง "...ใครๆ ก็เป็นแวนโก๊ะห์ได้ง่ายๆ แค่ทำตามขั้นตอนง่ายๆ ใช้เวลาไม่กี่นาทีคุณก็จะได้เป็นจิตรกร..." คือคำโฆษณาบนกล่องบรรจุแผ่นลอกสำเร็จรูป

วัตสันพูดถึงแวนโก๊ะห์กับเหล่าลูกศิษย์ของเธอว่า "ดูสิว่าเราทำอะไรกับคนที่ไม่ยอมลดอุดมการณ์ ให้เข้ากับรสนิยมของคนทั่วไป ไม่ยอมลดศักดิ์ศรีของตัวเอง เราจับเขามาใส่ในกล่องเล็กๆ ให้พวกเธอก๊อปปี้เขา พวกเธอเลือกเอาเองว่า เธอจะทำตามที่คนทั่วไปคาดหวังเอาไว้ หรือจะเป็นตัวเอง"

ในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม เครื่องจักรได้เข้ามามีบทบาทต่อวงการศิลปะในแง่หนึ่งคือ มันสามารถทำการผลิตซ้ำผลงานศิลปะได้ ซึ่งแต่เดิมไม่อาจทำได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีการถ่ายภาพและการพิมพ์ ศิลปะจึงถูกทำซ้ำเป็นโปสเตอร์, โปสการ์ด, หนังสือภาพ, แสตมป์ ฯลฯ ข้อจำกัดของศิลปะที่ว่า "มีเพียงชิ้นเดียว" ได้ถูกยกเลิกไป (แม้ว่ารูปแบบในการทำซ้ำเช่นโปสเตอร์ จะไม่เหมือนต้นฉบับจริงเสียทีเดียว แต่ก็ใกล้เคียงอย่างมาก) ผู้คนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เพื่อชมผลงานจริง เพียงจ่ายเงินไม่กี่สตางค์ซื้อโปสเตอร์ก็ได้ทั้งชม และเป็นเจ้าของในคราวเดียว

ความแพร่หลายของการผลิตซ้ำได้นี่เอง ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเคยชินกับการ "ชม" ศิลปะในรูปของ "รูปแทน" จนความต้องการที่จะชม "ของจริง" คลายมนต์ลงไปมาก

ผมเห็นว่า หนังได้หยิบเอาประเด็นนี้มาใช้อย่างน่าประทับใจ ในฉากที่วัตสันพานักเรียนของเธอออกนอกวิทยาลัยฯ เพื่อไปชมงานศิลปะชิ้นจริงที่ (เข้าใจว่าเป็นโกดังเก็บงานศิลปะของนายหน้าค้างานศิลปะคนหนึ่ง) เป็นวันที่ภาพเขียนชิ้นใหญ่โตชิ้นหนึ่งของแจ๊คสัน พอลล็อค ถูกส่งมาถึงพอดี อยู่ในลังไม้ที่ห่อหุ้มมาแน่นหนา และกำลังจะถูกเปิดออกเมื่อวัตสันและนักเรียนของเธอมาถึง

นับเป็นฉากน่าประทับใจ...
...ภายในโกดังบรรยากาศทึมๆ มีแสงจากด้านหนึ่งส่องมายังลังใส่ภาพที่วางยืนอยู่ มุมกล้องแสดงให้เห็นถึงความใหญ่โตของลังไม้... และพลันที่ฝาลังถูกเปิดออก กลางแสงสว่างนั้น ภาพเขียนแบบหยด-สาดสีของพอลล็อค ก็เปล่งพลังเจิดจ้าขึ้นทันใด ทุกคนยืนอยู่ห่างออกมาจากภาพนั้นและเงียบ...

สายตาทุกคู่มองไปยังภาพอันซับซ้อนยุ่งเหยิงนั้น วัตสันมองอย่างไม่กะพริบตา ก้าวตรงไปยังภาพ กิริยาของเธอราวกับกำลังเดินเข้าไปสัมผัสสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงค่า เธอหยุดยืนอยู่เกือบชิดภาพ จ้องมอง-ดื่มด่ำกับรายละเอียดของรอยหยด-สาดของสี... รอยแปรง... ทุกอย่างที่อยู่ในภาพนั้น

ด้วยฉากนี้ หนังเหมือนจะบอกว่า การจะพูดว่าได้ชมงานศิลปะที่แท้จริงนั้น เหนืออื่นใด ในเบื้องแรกก็คือ การได้ยืนอยู่เบื้องหน้าชิ้นงานจริงนั่นเอง วัตสันบอกลูกศิษย์ของเธอเพียงสั้นๆว่า "ไม่ต้องเขียนรายงาน ไม่ต้องชอบภาพนี้ด้วย แต่จงพิจารณาภาพ ถ้าเสร็จแล้วก็ไปได้"

จบสิ้นปีการศึกษา แม้วิทยาลัยฯจะมีมติรับให้วัตสันได้สอนต่อไป แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเธอไม่อาจรับได้ จึงตัดสินใจลาออก หากเมล็ดความคิดอิสระที่เธอได้หว่านไว้แก่เหล่าลูกศิษย์ ได้แทงหน่ออ่อนขึ้นมาบ้างแล้ว

เบตตี้เขียนอุทิศให้กับวัตสันว่า "...อาจารย์ของฉันใช้ชีวิตที่กำหนดขึ้นเอง ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใคร แม้แต่เวสลีย์ เธอผู้มีชีวิตเป็นแบบอย่าง และทำให้เราทุกคนมองโลกในแง่มุมใหม่ ...ขณะที่เขียนนี้เธอคงกำลังเดินทางไปยุโรป ไปหากำแพงใหม่เพื่อพังมันลง แล้วเอาความคิดใหม่ๆ ไปใส่แทนที่..."

ขอบคุณไมค์ นีเวล ผู้กำกับภาพยนตร์ และทุกคนผู้มีส่วนในภาพยนตร์เรื่องนี้


chaim soutineศิลปินยุคคริสตศตวรรษที่ 20 ที่ชื่อ "ซากศพ"
ภาพเนื้อวัวทั้งตัวที่ถูกชำแหละ ผ่าครึ่งตัวตามยาว เห็นซี่โครงและสีแดงสดๆ ของเนื้อปนเลือด




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
250349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

คราวนี้เธอใช้สไลด์เป็นภาพแจ้งความโฆษณาสินค้า แบบที่เห็นกันทั่วไปในหนังสือพิมพ์ สินค้าที่ผลิตกันออกมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน สำหรับแม่บ้านแม่เรือน เพื่อการทำความสะอาด เพื่อเสื้อผ้าที่รีดเรียบ ผลิตภัณฑ์อาหาร เนื้อวัว ซอสมะเขือเทศ ฯลฯ ไปจนถึงผ้ารัดเอวเพื่อความงามของเรือนร่าง ...ที่จะปลดปล่อยผู้หญิง! วัตสันเรียกโฆษณาเหล่านี้ว่าศิลปะร่วมสมัย ความหมายของมันคือ ศิลปะเพื่อสร้างภาพลักษณ์มอมเมาผู้หญิงยุคใหม่นั่นเอง

The Midnightuniv website 2006