นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



สหรัฐฯกับการรังแกประเทศที่อ่อนแอที่สุด
บทสัมภาษณ์นอม ชอมสกี : อิรักคือการทดสอบขั้นแรก
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
V.K. Ramachandran : ผู้สัมภาษณ์

บทความวิชาการบนเว็บเพจนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการก่อสงครามของประเทศสหรัฐอเมริกา กับ ประเทศอิรัก
หลังจากที่อิรักถูกคว่ำบาตรจนอ่อนแอและหมดทางสู้

midnightuniv(at)yahoo.com


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 872
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)




บทสัมภาษณ์ นอม ชอมสกี: อิรักคือการทดสอบขั้นแรก
นอม ชอมสกี ให้สัมภาษณ์แก่ V.K. Ramachandran เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๖

V.K.R. : การรุกรานอิรักในขณะนี้ถือเป็นความสืบเนื่องของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือถือเป็นโฉมหน้าที่มีเนื้อหาสาระใหม่ในนโยบายต่างประเทศ?

ชอมสกี: มันเป็นโฉมหน้าใหม่ที่มีนัยสำคัญ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีมาก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องถือว่ามีความแปลกใหม่อย่างมีนัยสำคัญ

เราควรถือว่าการรุกรานครั้งนี้เป็นการทดสอบขั้นแรก อิรักเป็นเป้าหมายที่จัดการได้ง่ายมากและไม่มีความสามารถในการป้องกันตัวเองโดยสิ้นเชิง มีการตั้งสมมติฐานซึ่งน่าจะถูกต้องว่า สังคมอิรักจะล่มสลาย กองทหารจะบุกเข้าไปได้และสหรัฐอเมริกาจะเข้าไปมีอำนาจควบคุม และจะก่อตั้งระบอบการปกครองตามใจตน รวมทั้งสร้างฐานทัพไว้ด้วย หลังจากนั้น สหรัฐจึงจะก้าวไปจัดการกับประเทศอื่น ๆ ที่ยากกว่านี้ซึ่งจะตามมาทีหลัง เป้าหมายต่อไปอาจเป็นประเทศในเขตเทือกเขาแอนดีส (ในอเมริกาใต้ น่าจะหมายถึงเวเนซูเอลา -ผู้แปล) อาจเป็นอิหร่าน อาจเป็นประเทศไหนก็ได้

การทดสอบขั้นแรกนี้ก็เพื่อพยายามวางรากฐานสิ่งที่สหรัฐอเมริกาเรียกว่า "บรรทัดฐานใหม่" ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บรรทัดฐานใหม่นี้คือ "สงครามป้องกัน" (preventive war) สังเกตดูสิว่าบรรทัดฐานใหม่นี้มีไว้สำหรับสหรัฐอเมริกาเพียงผู้เดียว ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออินเดียรุกรานปากีสถานตะวันออกเพื่อยุติการสังหารหมู่อันน่าหวาดสยอง นี่ไม่ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการรุกรานเพื่อมนุษยธรรม เพราะอินเดียเป็นประเทศที่ผิด นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกายังคัดค้านปฏิบัติการครั้งนั้นอย่างแข็งขันด้วย

นี่ไม่ใช่สงครามชิงลงมือก่อน (pre-emptive war) มีความแตกต่างอย่างสำคัญทีเดียว สงครามชิงลงมือก่อนมีความหมาย มันหมายถึงอย่างเช่น ถ้าหากมีเครื่องบินบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อมาทิ้งระเบิดที่สหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกามีสิทธิ์ยิงให้เครื่องบินตก ตั้งแต่ก่อนที่เครื่องบินจะทิ้งระเบิด รวมทั้งมีสิทธิ์โจมตีฐานทัพอากาศที่ส่งเครื่องบินนั้นมาด้วย สงครามชิงลงมือก่อนคือการตอบโต้การโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือเป็นภัยฉุกเฉิน

ส่วนแนวคิดของสงครามป้องกันแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง แนวคิดนี้ถือว่าสหรัฐอเมริกา --เพียงประเทศเดียว เพราะประเทศอื่นไม่มีสิทธิพิเศษนี้-- มีสิทธิโจมตีประเทศใดก็ได้ที่ สหรัฐอเมริกาอ้างว่ามีศักยภาพคุกคามต่อมัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากสหรัฐอเมริกาอ้างด้วยเหตุผลอะไรก็ตามว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งอาจคุกคามต่อมันในเวลาใดเวลาหนึ่ง มันก็มีสิทธิ์โจมตีประเทศนั้นได้

หลักการสงครามป้องกันได้รับการประกาศอย่างชัดเจนในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว มันก่อให้เกิดอาการหวาดสะดุ้งไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งผมบอกได้ว่า กระแสคัดค้านสงครามพุ่งสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ยุทธศาสตร์ความมั่นคงบอกว่า โดยสรุปแล้ว สหรัฐอเมริกาจะปกครองโลกด้วยกำลังทหาร ซึ่งเป็นด้านเดียวที่มันเหนือกว่าทุกประเทศในโลก นอกเหนือจากนั้น สหรัฐอเมริกาจะทำเช่นนี้ต่อไปในอนาคตโดยไม่จำกัดระยะเวลา เพราะถ้ามีแนวโน้มการต่อต้านใด ๆ ต่อการครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐ สหรัฐจะทำลายมันก่อนที่มันจะกลายเป็นการคุกคามจริง ๆ

นี่คือการปฏิบัติตามหลักการนี้เป็นครั้งแรก ถ้าหากมันประสบความสำเร็จตามที่คาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้ เพราะเป้าหมายไม่มีทางป้องกันตัวเองเลย หากเป็นเช่นนั้น บรรดานักกฎหมายระหว่างประเทศและปัญญาชนตะวันตก รวมทั้งฝ่ายต่าง ๆ ก็จะเริ่มพูดถึงบรรทัดฐานใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เต็มปากเต็มคำ การสร้างบรรทัดฐานนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณอยากปกครองโลกด้วยกำลังทหารในอนาคตที่มองเห็นได้

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ครั้งนี้ก็ยังถือว่าผิดปรกติอยู่พอสมควร ผมจะยกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าความคล้ายคลึงต่อเนื่องมีในบริบทแคบ ๆ ในปี 1963 ดีน เอชชีสัน (Dean Acheson) ซึ่งเป็นรัฐบุรุษอาวุโสที่ได้รับความนับถือมากและเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาลเคนเนดี้ เขาเคยแสดงปาฐกถาครั้งสำคัญแก่สมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งอเมริกา ในการปาฐกถาครั้งนั้น เขาอ้างเหตุผลว่าสหรัฐมีความชอบธรรมที่บุกโจมตีคิวบา

การโจมตีคิวบาของรัฐบาลเคนเนดี้เป็นการก่อการร้ายระหว่างประเทศขนาดใหญ่และเป็นสงครามเศรษฐกิจ ช่วงเวลาก็น่าสนใจ มันเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์ขีปนาวุธนิวเคลียร์พอดี ขณะที่โลกกำลังจักแหล่นจะเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ครั้งสุดท้าย ในปาฐกถาของเขา เอชชีสันกล่าวว่า ไม่มี "ประเด็นทางกฎหมาย" ใด ๆ ที่จะมาคัดง้างทั้งสิ้น ในเมื่อสหรัฐอเมริกาต้องตอบโต้ภัยคุกคามที่มีต่อ "อำนาจ สถานภาพหรือเกียรติภูมิ" ของประเทศ หรืออะไรทำนองนี้

คำแถลงการณ์ของลัทธิบุชก็คล้าย ๆ กัน แม้ว่าเอชชีสันเป็นคนสำคัญ แต่สิ่งที่เขาพูดไม่เคยเป็นนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นทางการในช่วงหลังสงครามโลกเลย มาบัดนี้สิ มันกลายเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการไปแล้วและการบุกโจมตีอิรักคือตัวอย่างอันดับแรก การโจมตีครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้เป็นเยี่ยงอย่างสำหรับอนาคต

"บรรทัดฐาน" ประเภทนี้ เป็นบรรทัดฐานได้ต่อเมื่อมหาอำนาจตะวันตกลงมือทำอะไรสักอย่าง แต่ไม่มีทางเป็นบรรทัดฐานหากประเทศอื่นเป็นผู้ลงมือกระทำ นี่เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิเชื้อชาตินิยมที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมตะวันตก สืบย้อนกลับไปได้ตลอดเวลาหลายศตวรรษของลัทธิจักรวรรดินิยม และฝังลึกเสียจนอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก ดังนั้น ผมคิดว่าสงครามครั้งนี้เป็นก้าวใหม่ที่สำคัญ และพวกเขาตั้งใจที่จะให้เป็นเช่นนั้นด้วย

V.K.R.: มันเป็นโฉมหน้าใหม่ด้วยหรือเปล่ากับการที่สหรัฐอเมริกา ไม่สามารถลากประเทศอื่น ๆ เข้ามาร่วมมือด้วย?

ชอมสกี: นี่ไม่มีอะไรใหม่ ตัวอย่างเช่น ในกรณีสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาไม่เคยแม้แต่พยายามหาความสนับสนุนจากนานาชาติเลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม คุณพูดถูกในแง่ที่ครั้งนี้มันผิดธรรมดา ครั้งนี้เป็นกรณีที่สหรัฐอเมริกาถูกบีบด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้สหรัฐฯ ต้องพยายามบังคับโลกทั้งโลกให้ยอมรับจุดยืนของตน แต่ไม่สามารถทำได้ ซึ่งนับว่าไม่ธรรมดาทีเดียว โดยปรกติที่ผ่านมา โลกยอมจำนนมาโดยตลอด

V.K.R.: ถ้าอย่างนั้น มันสะท้อนถึง "ความล้มเหลวทางการทูต" หรือเป็นการนิยามกระบวนการทางการทูตใหม่กันแน่?

ชอมสกี: ผมไม่เรียกมันว่าการทูตเลยด้วยซ้ำ --มันเป็นความล้มเหลวของการขู่เข็ญบังคับต่างหาก
ลองเปรียบเทียบกับสงครามอ่าวครั้งแรก ในสงครามอ่าวครั้งแรก สหรัฐอเมริกาบีบบังคับให้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยอมรับจุดยืนของตนจนได้ แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะคัดค้านก็ตาม นาโต้ก็พลอยยอมไปด้วย ส่วนประเทศเดียวในสภาความมั่นคงที่ไม่ยินยอม นั่นคือเยเมน ก็ถูกลงโทษอย่างรุนแรงในทันที

ในระบบกฎหมายใด ๆ ก็ตามที่ยึดถือกันอย่างจริงจัง คำตัดสินที่เป็นการบังคับขู่เข็ญย่อมถือเป็นโมฆะ แต่เมื่อมหาอำนาจดำเนินนโยบายต่างประเทศ คำตัดสินที่เป็นการบังคับขู่เข็ญกลับถือว่าถูกต้อง แล้วเรียกมันว่านโยบายทางการทูต

สิ่งที่น่าสนใจในกรณีนี้ก็คือ การบังคับขู่เข็ญใช้ไม่ได้ผล มีมากมายหลายประเทศ --อันที่จริงก็เกือบทุกประเทศ-- ที่ยืนกรานรักษาจุดยืนตามเสียงของประชาชนส่วนใหญ่

กรณีที่น่าทึ่งที่สุดคือตุรกี ตุรกีเป็นประเทศอ่อนแอ มีจุดอ่อนที่สหรัฐสามารถลงโทษหรือโน้มน้าวได้ง่าย กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่าทุกคนต้องประหลาดใจที่เห็นรัฐบาลชุดใหม่ของตุรกี ยอมรักษาจุดยืนตามมติมหาชนที่ท่วมท้นถึง 90% ตุรกีจึงถูกสหรัฐฯ ก่นด่าอย่างสาดเสียเทเสีย เช่นเดียวกับฝรั่งเศสและเยอรมนีที่ถูกก่นด่า เพราะประเทศเหล่านี้ยึดจุดยืนตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ส่วนประเทศที่สหรัฐฯ ยกย่องเชิดชูก็คือประเทศอย่างอิตาลีกับสเปน ซึ่งมีผู้นำที่ยอมทำตามคำสั่งจากวอชิงตัน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนที่อาจสูงถึง 90%

นั่นถือเป็นก้าวที่แปลกใหม่ ผมนึกไม่ออกว่าจะมีกรณีอื่นใดที่ความเกลียดชังและดูถูกเหยียดหยามระบอบประชาธิปไตยถูกแสดงออกมาอย่างเปิดเผยชัดแจ้งเพียงนี้ ไม่เพียงแต่รัฐบาลเท่านั้น แต่รวมถึงบรรดานักวิเคราะห์สายเสรีนิยมและฝ่ายอื่น ๆ ด้วย ตอนนี้มีข้อเขียนออกมามากมายที่พยายามอธิบายว่า ทำไมฝรั่งเศส เยอรมนีและที่เรียกรวมกันว่า "ยุโรปเก่า" อีกทั้งตุรกีกับประเทศอื่น ๆ จึงพยายามบ่อนทำลายสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ไม่ยอมเข้าใจว่า ประเทศทั้งหลายเขาทำเช่นนั้น เพราะพวกเขายึดถือระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง และคิดว่าเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนมีมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างท่วมท้น รัฐบาลก็ควรปฏิบัติตาม

นั่นคือการดูถูกประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สหประชาชาติคือการดูถูกระบบกฎหมายระหว่างประเทศโดยสิ้นเชิง อันที่จริง ตอนนี้มีเสียงเรียกร้อง --จากนิตยสารวอลล์สตรีทเจอร์นัล จากคนในรัฐบาล ฯลฯ-- ให้ยกเลิกองค์การสหประชาชาติไปเสียเลย

ความหวาดกลัวสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นทั่วโลกจนผิดสังเกต มันรุนแรงเสียจนมีการกล่าวถึงเรื่องนี้ในสื่อมวลชนกระแสหลัก ประเด็นพาดหน้าปกของนิวสวีคฉบับที่กำลังจะออกนี้ เป็นเรื่องว่าทำไมโลกจึงเกรงกลัวสหรัฐอเมริกากันนัก (วอชิงตัน) โพสต์พาดหน้าปกด้วยประเด็นนี้ไปแล้วเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน

แน่นอน สหรัฐอเมริกาถือว่าเรื่องนี้เป็นความผิดของโลก มีอะไรบางอย่างผิดปรกติไปในโลกซึ่งเราต้องจัดการให้ได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่สมควรรับรู้ด้วย

V.K.R.: ความคิดว่าอิรักเป็นอันตรายที่ชัดเจนและฉุกเฉิน มันไม่มีสาระอะไรเลยแน่นอน

ชอมสกี: ไม่มีใครสนใจคำกล่าวหานั้น ยกเว้นประชาชนในสหรัฐฯ เอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล-สื่อมวลชน ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ เห็นได้ชัดในการสำรวจความคิดเห็น การสำรวจความคิดเห็นในนานาประเทศชี้ให้เห็นว่า การสนับสนุนสงครามในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าในประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม มันอาจชวนให้เข้าใจผิดไปได้ เพราะถ้าคุณมองให้ชัดขึ้นอีกหน่อย คุณจะพบว่า สหรัฐอเมริกามีบางแง่มุมที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในโลกด้วย นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2002 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชากรถึง 60% เชื่อว่า อิรักเป็นภัยคุกคามฉุกเฉิน นี่เป็นสิ่งที่แม้แต่ประชาชนในคูเวตหรืออิหร่านเขายังไม่เชื่อกันเลย (คูเวตและอิหร่านเคยรบกับอิรักมาก่อน)

นอกจากนั้น ประชากรราว 50% ยังเชื่อด้วยว่า อิรักมีส่วนรับผิดชอบต่อการก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ ความเชื่อนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2002 อันที่จริง หลังจากการก่อวินาศกรรม 11 กันยายน ตัวเลขสำรวจบอกว่ามีคนเชื่อเพียง 3% การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล-สื่อมวลชนทำให้ความเชื่อนี้พุ่งขึ้นไปถึง 50% ถ้าหากประชาชนเชื่อจริง ๆ ว่า อิรักอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายครั้งใหญ่ต่อสหรัฐอเมริกาและวางแผนที่จะลงมืออีก แน่นอน ในกรณีแบบนี้ ประชาชนย่อมสนับสนุนสงคราม

อย่างที่ผมพูดแล้วว่า ความเชื่อนี้เกิดขึ้นหลังจากเดือนกันยายน 2002 กันยายน 2002 คือเวลาที่รัฐบาล-สื่อมวลชนเริ่มรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อ ประจวบกับเป็นเวลาที่การหาเสียงเลือกตั้งกลางเทอมเริ่มต้นด้วย รัฐบาลบุชจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งยับเยินแน่ หากหยิบยกประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก แต่รัฐบาลบุชสามารถกดความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ลงไป โดยชูประเด็นด้านความมั่นคงขึ้นมาแทน ประชาชนก็เลยเบียดเสียดกันเข้ามาอยู่ใต้ร่มของมหาอำนาจ

นี่แหละคือวิธีการบริหารประเทศที่เหมือนกับในยุคทศวรรษที่ 1980 อย่าลืมว่าคนในรัฐบาลบุชหลายคนเป็นคนเดียวกับที่อยู่ในรัฐบาลเรแกนและรัฐบาลบุชผู้พ่อ ตลอดช่วงทษวรรษ 1980 คนพวกนี้ดำเนินนโยบายภายในประเทศที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนส่วนใหญ่ และเรารู้จากการสำรวจความคิดเห็นว่าประชาชนไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลยังสามารถควบคุมประชาชนไว้ได้ด้วยการขู่ให้กลัว ขู่ว่ากองทัพของนิคารากัวอยู่ห่างจากเท็กซัสเพียงแค่สองวัน และฐานทัพอากาศในเกรนาดาคือฐานทัพที่พวกรัสเซียจะใช้ถล่มเรา เรื่องแล้วเรื่องเล่า ทุก ๆ ปี ทุก ๆ เรื่องไร้สาระ รัฐบาลเรแกนถึงกับประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติในปี 1985 เพราะภัยคุกคามต่อความมั่นคงของ สหรัฐอเมริกาที่เกิดจากรัฐบาลนิคารากัว ถ้ามีคนนั่งดูเรื่องพวกนี้จากดาวอังคาร พวกเขาคงไม่รู้จะหัวเราะหรือร้องไห้ดี

ตอนนี้รัฐบาลกำลังทำอย่างเดียวกัน และคงจะทำอย่างเดียวกันนี้อีกในการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จะต้องมีมังกรตัวใหม่มาให้เชือด เพราะถ้าหากรัฐบาลปล่อยให้ประเด็นปัญหาภายในประเทศเป็นจุดเด่นขึ้นมา รัฐบาลชุดนี้เจอศึกหนักแน่

V.K.R.: คุณเขียนเอาไว้ว่า สงครามรุกรานครั้งนี้มีอันตรายที่จะตามมาในภายหลัง ทั้งที่เป็นการก่อการร้ายระหว่างประเทศ และภัยคุกคามของสงครามนิวเคลียร์

ชอมสกี: ผมไม่อาจอ้างว่าตัวเองเป็นคนแรกที่จุดประเด็นนี้ ผมเพียงแต่อ้างมาจากรายงานของซีไอเอและหน่วยข่าวกรองอื่น ๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในกิจการระหว่างประเทศและการก่อการร้าย ไม่ว่าผู้เชี่ยวชาญในกิจการระหว่างประเทศ นโยบายต่างประเทศ การศึกษาของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน และคณะกรรมาธิการระดับสูงของฮาร์ต-รัดแมน ว่าด้วยภัยคุกคามของการก่อการร้ายที่มีต่อสหรัฐอเมริกา ล้วนแล้วแต่เห็นพ้องต้องกันว่า สงครามครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการก่อการร้ายมากขึ้น และการขยายตัวของอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง

เหตุผลง่าย ๆ : ส่วนหนึ่งคือล้างแค้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพียงเพื่อป้องกันตัว ไม่มีทางอื่นที่จะป้องกันตัวเองจากการโจมตีของสหรัฐฯ ความจริงแล้ว สหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนมาก และกำลังสอนบทเรียนที่น่าเกลียดที่สุดแก่โลก

ลองเปรียบเทียบเกาหลีเหนือกับอิรัก อิรักไม่มีทางสู้และอ่อนแอ อันที่จริง อิรักเป็นประเทศที่อ่อนแอที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ต่อให้มีปิศาจร้ายเป็นผู้นำประเทศ อิรักก็ไม่ได้สร้างภัยคุกคามแก่ใครทั้งนั้น ในทางตรงกันข้าม เกาหลีเหนือต่างหากที่เป็นภัยคุกคาม แต่เกาหลีเหนือไม่ถูกสหรัฐฯ โจมตีด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ มันมียุทธปัจจัยที่ยับยั้งการโจมตีได้ เกาหลีเหนือมีหัวรบจำนวนมากเล็งเป้าไปที่กรุงโซล หาก สหรัฐอเมริกาโจมตีเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือสามารถทำลายพื้นที่ขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ให้ราพณาสูรได้

เพราะฉะนั้น สหรัฐอเมริกากำลังบอกกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่า ถ้าคุณไม่มีทางสู้ เราก็จะโจมตีคุณตามความพอใจ แต่ถ้าคุณมียุทธปัจจัยยับยั้งการโจมตี เราก็จะอ่อนข้อให้ เพราะเราโจมตีเฉพาะเป้าหมายที่ไม่มีทางสู้เท่านั้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกากำลังบอกประเทศทั้งหลายว่า ทางที่ดีควรพัฒนาเครือข่ายก่อการร้ายและอาวุธทำลายล้าง หรือยุทธปัจจัยที่น่าเชื่อถืออย่างอื่น มิฉะนั้น ประเทศทั้งหลายจะมีจุดอ่อนที่เปิดช่องให้ "สงครามป้องกัน"

ด้วยเหตุผลข้างต้นเพียงประการเดียว ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สงครามครั้งนี้มีแนวโน้มนำไปสู่การขยายตัวของการก่อการร้ายและอาวุธทำลายล้าง

V.K.R.: คุณคิดว่าสหรัฐอเมริกาจะจัดการกับปัญหาของผู้คน และปัญหาทางด้านมนุษยธรรม ที่เป็นผลพวงภายหลังสงครามอย่างไร?

ชอมสกี: แน่นอน ไม่มีใครบอกได้หรอก นั่นคือเหตุผลที่คนดี ๆ และซื่อสัตย์เขาไม่ใช้ความรุนแรงเป็นทางออก เพราะไม่มีใครบอกอะไรได้น่ะสิ. หน่วยงานบรรเทาทุกข์และกลุ่มคณะแพทย์ที่ทำงานในอิรักชี้ให้เห็นว่า ผลพวงที่ตามมาน่าจะสาหัสสากรรจ์มาก ทุกคนหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่มันน่าจะสร้างผลกระทบแก่คนหลายล้านคน การใช้ความรุนแรง แม้เมื่อผลพวงที่เลวร้ายยังเป็นแค่ความเป็นไปได้ ก็ถือเป็นอาชญากรรมแล้ว

กระทั่งก่อนสงคราม มันก็มีหายนะทางมนุษยธรรมในอิรักแล้ว จากการประเมินขั้นต่ำ เวลาสิบปีของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจฆ่าคนไปแล้วหลายแสนคน ถ้าหากมีความซื่อสัตย์กันบ้าง สหรัฐอเมริกาควรจ่ายค่าชดเชยต่อการคว่ำบาตรนั้นด้วยซ้ำ

สถานการณ์ก็คล้ายกับการถล่มอัฟกานิสถาน อย่างที่คุณกับผมก็เคยพูดกันมาแล้วเมื่อการทิ้งระเบิดยังอยู่ในช่วงแรก เห็นได้ชัดว่า สหรัฐอเมริกาไม่เคยสนใจเข้าไปสำรวจความเสียหายที่ตามมาเลย

V.K.R.: หรือลงทุนในสิ่งที่จำเป็น

ชอมสกี: ไม่มีหรอก ประการแรก ไม่เคยมีการตั้งคำถาม ดังนั้น จึงไม่มีใครรู้ว่าผลพวงที่ตามมาหลังการทิ้งระเบิดเป็นอย่างไรในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ หลังจากนั้น ก็แทบไม่มีใครบอกอะไรเลย ประการสุดท้าย มันตกข่าวไปแล้ว ไม่มีใครจำเรื่องนี้ได้อีกแล้ว

ในอิรัก สหรัฐอเมริกาจะเล่นละครตบตาให้เห็นว่ามีการฟื้นฟูทางด้านมนุษยธรรม แล้วก็จะแต่งตั้งรัฐบาลที่อุปโลกน์ว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีความหมายเพียงแค่การทำตามคำสั่งของวอชิงตัน แล้วมันก็จะลืมไปเลยว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น และเสาะหาเป้าหมายใหม่ต่อไป

V.K.R.: ครั้งนี้ สื่อมวลชนทำตัวสมกับเป็นแบบอย่างของการโฆษณาชวนเชื่ออย่างไรบ้าง?

ชอมสกี: ตอนนี้สื่อมวลชนกำลังทำตัวเป็นเชียร์ลีดเดอร์ให้ทีมเจ้าบ้าน ดู CNN สิ มันน่ารังเกียจ และเหมือนกันไปหมด นั่นคือสิ่งที่คาดหมายได้ในยามสงคราม สื่อมวลชนคอยบูชาฝ่ายที่มีอำนาจเสมอ

ที่น่าสนใจกว่าก็คือความเป็นไปที่เกิดขึ้นในการสร้างสถานการณ์ไปสู่สงคราม ข้อเท็จจริงคือ การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล-สื่อมวลชนสามารถโน้มน้าวจนประชาชนหลงเชื่อว่า อิรักคือภัยคุกคามฉุกเฉิน และอิรักเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ 11 กันยายน เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ประสบความสำเร็จมาก และอย่างที่ผมพูดไปแล้วว่า มันทำสำเร็จได้ในเวลาแค่สี่เดือน ถ้าคุณไปถามคนในวงการสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาจะพูดว่า "เฮ้ย เราไม่เคยพูดแบบนั้น" ก็จริงอยู่ พวกเขาไม่เคยพูดออกมาตรง ๆ ไม่เคยมีการพูดอย่างชัดเจนว่า อิรักจะบุกสหรัฐอเมริกาหรืออิรักเป็นคนลงมือโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ มันเป็นแค่การมอมเมาทีละน้อย พูดเป็นนัยครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งในที่สุดก็ทำให้ประชาชนหลงเชื่อจนได้

V.K.R.: แต่ลองดูการประท้วงสิ ทั้ง ๆ ที่มีการโฆษณาชวนเชื่อ ทั้ง ๆที่มีการใส่ร้ายป้ายสีสหประชาชาติ รัฐบาลบุชก็ยังทำได้ไม่ราบรื่นเสียทีเดียว

ชอมสกี: คุณไม่รู้หรอก สหประชาชาติตกอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมมาก สหรัฐอเมริกาอาจหาทางทำลายองค์การสหประชาชาติทิ้ง แต่ผมไม่คาดว่าจะเป็นอย่างนั้นหรอก แต่อย่างน้อยก็ต้องพยายามลดบทบาทของสหประชาชาติลง เพราะในเมื่อสหประชาชาติไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แล้วมีประโยชน์อะไรจะเอาไว้ล่ะ?

V.K.R.: นอม คุณได้เห็นขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยมมาเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่สงครามเวียดนาม อเมริกากลาง สงครามอ่าวครั้งที่หนึ่ง คุณคิดอย่างไรต่อลักษณะ ความกว้างและความลึกของขบวนการต่อต้านการรุกรานของสหรัฐฯ ในครั้งนี้? เรามีกำลังใจกันมากขึ้นจากการที่มีพลังมวลชนเพิ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อทั่วโลก

ชอมสกี: ใช่ ถูกต้อง ไม่เคยมีอะไรเหมือนอย่างนี้มาก่อน การประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นขบวนการใหญ่อย่างที่ไม่มีใครเคยเห็น รวมทั้งในสหรัฐอเมริกาเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวานนี้ ผมอยู่ในการเดินขบวนประท้วงที่ย่านธุรกิจของบอสตัน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมไปประท้วงที่นั่น ครั้งแรกที่ผมไปเข้าร่วมการประท้วงที่นั่น ซึ่งผมต้องขึ้นพูดปราศรัยด้วยคือในเดือนตุลาคม 1965 นั่นเป็นเวลาสี่ปีหลังจากสหรัฐอเมริกาเริ่มทิ้งระเบิดใส่เวียดนามใต้ พื้นที่ครึ่งหนึ่งของเวียดนามใต้ถูกทำลายไปแล้วและสงครามขยายวงไปสู่เวียดนามเหนือ เราไม่สามารถดำเนินการประท้วงได้ เพราะถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนใหญ่โดยพวกนักศึกษานี่แหละ โดยได้แรงยุจากหนังสือพิมพ์และวิทยุเสรีนิยม ซึ่งคอยป่าวประณามประชาชนที่กล้าออกมาประท้วงต่อต้านสงครามของอเมริกัน

แต่ในครั้งนี้ มีการประท้วงใหญ่ตั้งแต่ก่อนสงครามจะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ และประท้วงอีกครั้งในวันที่เริ่มทำสงคราม โดยไม่ต้องเผชิญกับขบวนต่อต้านการประท้วง นี่คือความแตกต่างอย่างมาก และถ้าไม่ใช่เพราะความกลัวที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว การประท้วงน่าจะมีมากกว่านี้

รัฐบาลรู้ดีว่า ไม่สามารถรุกรานและสร้างความหายนะเป็นระยะเวลานานเหมือนในสงครามเวียดนาม เพราะประชาชนจะไม่ยินยอม

การทำสงครามในสมัยนี้มีอยู่วิธีเดียว ประการแรก จงเลือกศัตรูที่อ่อนแอกว่ามาก ๆ ศัตรูที่ไม่มีทางสู้ จากนั้นก็ใช้ระบบโฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพว่า ศัตรูตนนั้นกำลังจะรุกรานเราหรือเป็นภัยคุกคามฉุกเฉิน หลังจากนั้น คุณต้องได้ชัยชนะแบบสายฟ้าแลบ มีเอกสารสำคัญฉบับหนึ่งรั่วออกมาในสมัยรัฐบาลบุชผู้พ่อในปี 1989 บรรยายว่าสหรัฐอเมริกาควรทำสงครามอย่างไร มันบอกว่า สหรัฐอเมริกาต้องรบกับศัตรูที่อ่อนแอกว่ามาก ๆ และชัยชนะต้องรวดเร็วและเด็ดขาด เพราะเสียงสนับสนุนของสาธารณชนจะจางหายไปอย่างรวดเร็ว มันไม่เหมือนสมัยเมื่อทศวรรษ 1960 อีกแล้ว สมัยนั้นสามารถทำสงครามได้หลายปีโดยไม่มีการคัดค้านเลย

แต่ในหลายๆ แง่มุม การเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคทศวรรษ 1960 และหลังจากนั้น ช่วยทำให้หลาย ๆ ส่วนในโลกนี้ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาเองด้วย มีความเป็นอารยะมากขึ้นในหลายด้าน





บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
240349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

เพราะฉะนั้น สหรัฐอเมริกากำลังบอกกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่า ถ้าคุณไม่มีทางสู้ เราก็จะโจมตีคุณตามความพอใจ แต่ถ้าคุณมียุทธปัจจัยยับยั้งการโจมตี เราก็จะอ่อนข้อให้ เพราะเราโจมตีเฉพาะเป้าหมายที่ไม่มีทางสู้เท่านั้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกากำลังบอกประเทศทั้งหลายว่า ทางที่ดีควรพัฒนาเครือข่ายก่อการร้ายและอาวุธทำลายล้าง หรือยุทธปัจจัยที่น่าเชื่อถืออย่างอื่น มิฉะนั้น ประเทศทั้งหลายจะมีจุดอ่อนที่เปิดช่องให้ "สงครามป้องกัน"

The Midnightuniv website 2006