The Midnight University
ภาษาชวนเชื่อ : Collateral Language
บทสัมภาษณ์นอม ชอมสกี : ภาษาชวนเชื่อ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
เดวิด
บาร์ซาเมียน : ผู้สัมภาษณ์
(กรกฎาคม / สิงหาคม ๒๐๐๓)
บทความวิชาการบนเว็บเพจนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับสื่อ การโฆษณาชวนเชื่อ และการจูงใจให้ทำสงคราม
เทคนิคที่สหรัฐอเมริกันเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญสูง
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 871
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
10.5 หน้ากระดาษ A4)
ภาษาชวนเชื่อ
: Collateral Language
บทสัมภาษณ์นอม ชอมสกี โดยเดวิด
บาร์ซาเมียน
นอม ชอมสกีเป็นศาสตราจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์และปรัชญาที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์
(MIT)
หนังสือเล่มล่าสุดของชอมสกีคือ Power and Terror และ Middle East Illusions
หนังสือเรื่อง 9/11 ของเขาเป็นหนังสือขายดีในหลาย ๆ ประเทศ
บาร์ซาเมียน:
ในระยะหลัง เพนตากอน แล้วก็สื่อมวลชน มักใช้คำว่า "ความเสียหายข้างเคียง"
(collateral damage) เพื่อกล่าวถึงความตายของพลเรือนในสงคราม เราลองมาคุยกันถึงบทบาทของภาษาในการเสกสรรปั้นแต่งความเข้าใจของประชาชนต่อเหตุการณ์ต่าง
ๆ
ชอมสกี: เอาล่ะ เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแก่พอ
ๆ กับประวัติศาสตร์ มันไม่ค่อยเกี่ยวกับภาษานักหรอก ภาษาคือหนทางที่เรามีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกัน
ดังนั้น เป็นธรรมดาที่เครื่องมือในการสื่อสารและภูมิหลังทางความคิดที่อยู่เบื้องหลัง
ซึ่งสำคัญกว่า จึงถูกนำมาใช้เพื่อปั้นแต่งทัศนคติและความคิดเห็นของมหาชน ชักจูงให้เกิดความคล้อยตามและเชื่อฟังไปในทิศทางเดียวกัน
ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่วิธีการนี้ถูกคิดค้นขึ้นในสังคมที่ค่อนข้างมีความเป็นประชาธิปไตยมาก
กระทรวงที่เป็นศูนย์กลางการโฆษณาชวนเชื่อแห่งแรกมีชื่อว่า กระทรวงข่าวสาร ตั้งขึ้นในอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ว่ากันว่ากระทรวงนี้มีภารกิจในการควบคุมความคิดของโลก สิ่งที่คนในกระทรวงให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือความคิดของอเมริกา และเจาะจงลงไปอีกก็คือความคิดของปัญญาชนอเมริกัน อังกฤษคิดว่าถ้าสามารถโน้มน้าวปัญญาชนอเมริกันให้เชื่อว่าการทำสงครามของอังกฤษเป็นภารกิจอันสูงส่ง เมื่อนั้น ปัญญาชนอเมริกันย่อมสามารถไล่ต้อนประชาชนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นคนรักสันติและไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับสงครามในยุโรป ให้ตกสู่ภาวะคลุ้มคลั่งและหน้ามืดตามัวจนยอมเข้าร่วมสงคราม
อังกฤษต้องการการหนุนหลังจากสหรัฐ ดังนั้น อังกฤษจึงให้กระทรวงข่าวสารตั้งเป้าไปที่ความคิดเห็นของชาวอเมริกันและกลุ่มที่เป็นผู้นำทางความคิด รัฐบาลของประธานาธิบดีวิลสันตอบรับโดยตั้งหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อระดับรัฐขึ้นเป็นครั้งแรกที่นี่ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า คณะกรรมการข่าวสารสาธารณะ
มันประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยเฉพาะกับปัญญาชนอเมริกันสายเสรีนิยม นักวิชาการในแวดวงสถาบันจอห์น ดิวอี้ ซึ่งภาคภูมิใจเหลือเกินกับข้อเท็จจริงตามความคิดของพวกเขาว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ความคลั่งไคล้ในสงครามถูกสร้างขึ้นมา ไม่ใช่ด้วยฝีมือของผู้นำทหารและนักการเมือง แต่ด้วยฝีมือของสมาชิกในชุมชนที่จริงจังและมีความรับผิดชอบมากกว่า นั่นคือ ปัญญาชนนักคิด พวกเขาลงมือปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อ ภายในไม่กี่เดือนก็ประสบความสำเร็จในการหันเหประชาชนที่ค่อนข้างรักสันติให้กลายเป็นฝูงชนที่ต่อต้านเยอรมันอย่างบ้าคลั่ง กระทั่งต้องการทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเยอรมัน ถึงขนาดที่วงบอสตันซิมโฟนีออร์เคสตร้าเล่นดนตรีของบ๊าคไม่ได้ ทั้งประเทศตกอยู่ในอาการฮิสทีเรีย
สมาชิกในหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของประธานาธิบดีวิลสัน ประกอบด้วยคนอย่าง เอ็ดเวิร์ด เบอร์เนย์ส์ (Edward Bernays) ซึ่งกลายเป็นปรมาจารย์ในวงการประชาสัมพันธ์ และวอลเตอร์ ลิปป์มันน์ (Walter Lippmann) ปัญญาชนสาธารณะระดับหัวแถวของศตวรรษที่ 20 เป็นบุคคลในวงการสื่อมวลชนที่ได้รับการยกย่องนับถือมากที่สุด คนเหล่านี้เรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนี้มาก
ถ้าคุณลองอ่านงานเขียนในยุคทศวรรษ 1920 ของพวกเขา คุณจะอ่านเจอที่พวกเขาเขียนไว้ว่า เราเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนี้ว่า เราสามารถควบคุมความคิดของสาธารณชนได้ เราสามารถควบคุมทัศนคติและความคิดเห็น ตรงนี้แหละที่ลิปป์มันน์บอกว่า "เราสามารถปั้นแต่งมติมหาชนได้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ" ส่วนเบอร์เนย์ส์บอกว่า "สมาชิกในสังคมที่มีสติปัญญามากกว่าสามารถต้อนประชาชนไปในทิศทางไหนก็ได้ตามต้องการ" ด้วยสิ่งที่เขาเรียกว่า "วิศวกรรมมติมหาชน" เขาบอกว่า นี่แหละคือ "หัวใจของประชาธิปไตย"
มันยังนำไปสู่ความรุ่งเรืองของภาคธุรกิจประชาสัมพันธ์ เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะลองดูวิธีคิดในสมัยทศวรรษ 1920 ตอนที่มันเพิ่งเริ่มต้น สมัยนั้นเป็นยุคของ Taylorism ในแวดวงอุตสาหกรรม เมื่อคนงานถูกฝึกให้ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ มีการควบคุมทุกความเคลื่อนไหว มันทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง โดยที่มนุษย์กลายเป็นจักรกล พวกบอลเชวิคชอบอกชอบใจกับความคิดนี้มากเช่นกัน ก็เลยพยายามลอกเลียนแบบ
อันที่จริง ลัทธินี้ถูกเอาไปใช้ทั่วโลก แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญการควบคุมความคิดรู้ดีว่า เราไม่เพียงสามารถควบคุมมนุษย์ระหว่างปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ยังสามารถควบคุมนอกเวลาปฏิบัติงานได้ด้วย นี่พูดตามสำนวนของพวกเขา ควบคุมคนนอกเวลาปฏิบัติงานโดยมอมเมาด้วยปรัชญาของความไร้แก่นสาร ตะล่อมความสนใจของประชาชนให้หมกมุ่นอยู่กับความฉาบฉวยของชีวิต เช่น การบริโภคตามกระแสนิยม และกันประชาชนออกไปให้พ้นทางในที่สุด
จงปล่อยให้กลุ่มคนที่ควรเป็นผู้บริหารความเป็นไปทำงานโดยไม่ต้องเผชิญกับการแทรกแซงของคนหมู่มาก ซึ่งไม่มีธุระที่สมควรมายุ่งเกี่ยวกับเวทีการตัดสินใจในเรื่องสาธารณะอยู่แล้ว จากแนวความคิดนี้แหละที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย นับตั้งแต่การโฆษณาไปจนถึงมหาวิทยาลัย ทุกวงการยึดมั่นอย่างมีสำนึกอยู่กับแนวความคิดที่ว่า เราต้องควบคุมทัศนคติและความคิดเห็น เพราะประชาชนอันตรายเกินไปนั่นเอง
สิ่งที่สะดุดใจเป็นพิเศษก็คือ กระบวนการนี้พัฒนาขึ้นมาในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่อื่น มีการพยายามเอาไปลอกเลียนแบบทั้งในเยอรมนี รัสเซียยุคบอลเชวิค แอฟริกาใต้ และในที่อื่น ๆ แต่ก็ยังเห็นชัดว่าต้นแบบส่วนใหญ่เป็นของอเมริกันอยู่ดี มีเหตุผลรองรับในข้อนี้ ถ้าคุณใช้กำลังควบคุมประชาชนได้ การควบคุมความคิดและความรู้สึกของประชาชนก็ไม่สำคัญมากนัก แต่ถ้าคุณไม่สามารถควบคุมประชาชนด้วยกำลัง การควบคุมทัศนคติและความคิดเห็นย่อมมีความจำเป็นมากขึ้น
นั่นพาเรากลับมาสู่ยุคปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ สาธารณชนไม่ยอมรับหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เอง สำนักสาธารณสัมพันธ์ (Office of Public Diplomacy) ของรัฐบาลเรแกนจึงถูกประกาศว่าขัดต่อกฎหมาย และรัฐบาลต้องลดเลี้ยวไปหาวิธีอื่นมาใช้แทน สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือบริษัททรราชเอกชน โดยพื้นฐานก็คือระบบบรรษัท ซึ่งเล่นบทบาทเป็นผู้ควบคุมความคิดเห็นและทัศนคติ โดยไม่ต้องรับคำสั่งจากรัฐบาล แต่แน่นอนว่ามีสายสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น นี่คือระบบของเราในปัจจุบัน รับรู้กันอย่างดีด้วย คุณไม่ต้องนึกเดานักหรอกว่าพวกเขากำลังทำอะไร เพราะพวกเขาใจดีพอที่จะบอกอย่างชัดเจนในสื่อสิ่งพิมพ์ของอุตสาหกรรมนี้ รวมทั้งในตำราวิชาการด้วย
ลองย้อนกลับไปดูในทศวรรษ 1930 ดูอย่างคนที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold Lasswell) ผู้เชื่อมั่นในนโยบายแบบวิลสันสายเสรีนิยม ในปี ค.ศ. 1933 เขาเขียนบทความชื่อ "การโฆษณาชวนเชื่อ" ไว้ในสารานุกรมสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นการจัดพิมพ์ครั้งใหญ่ โดยมีใจความว่า [หมายเหตุ: ข้อความทั้งหมดนี้เป็นการอ้างอิง]
"เราไม่ควรศิโรราบต่อลัทธิเคร่งคัมภีร์ประชาธิปไตยที่บอกว่า ประชาชนเป็นผู้ตัดสินผลประโยชน์ของตัวเองที่ดีที่สุด" ไม่ใช่ประชาชนหรอก พวกเราต่างหาก ในเมื่อประชาชนโง่เง่าเต่าตุ่นเกินไปที่จะเข้าใจผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของตัวเองหรือรู้ว่าอะไรดีไม่ดีสำหรับตัวเอง -เนื่องจากเราเป็นคนที่มีมนุษยธรรมมาก- เราก็ต้องกันประชาชนออกไปและควบคุมพวกเขาไว้
วิธีการที่ดีที่สุดคือการโฆษณาชวนเชื่อ การโฆษณาชวนเชื่อไม่มีอะไรไม่ดีสักหน่อย มันเป็นของธรรมดาเหมือนคันโยก จะใช้มันในทางดีหรือทางร้ายก็ได้ ในเมื่อพวกเราเป็นคนที่มีจิตใจสูง เป็นคนดีวิเศษ เราย่อมใช้มันในทางที่ดี เพื่อเป็นหลักประกันว่า มวลชนที่โง่เง่าเต่าตุ่นถูกกันออกไปพ้นทางและไม่อยู่ในสถานะที่จะตัดสินใจ
หลักการของลัทธิเลนินก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน มีความคล้ายคลึงกันมาก พวกนาซีก็หยิบฉวยไปใช้เหมือนกัน ถ้าคุณอ่านหนังสือเรื่อง Mein Kampf ฮิตเลอร์ประทับใจมากกับการโฆษณาชวนเชื่อแบบแองโกล-อเมริกัน เขาอ้างโดยมิใช่ไร้เหตุผลเสียทีเดียวว่า นั่นแหละคือปัจจัยที่ทำให้ชนะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และตั้งปณิธานว่าในครั้งต่อไป ชาวเยอรมันจะต้องเตรียมพร้อมเช่นกัน และพัฒนาระบบโฆษณาชวนเชื่อของตัวเองขึ้นมา โดยจำลองมาจากประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย พวกรัสเซียลองเอาไปใช้ แต่หยาบเกินไปจนไร้ประสิทธิภาพ แอฟริกาใต้ก็เคยนำไปใช้ ประเทศอื่น ๆ ก็ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน แต่หัวขบวนที่แท้จริงคือสหรัฐอเมริกา เพราะมันเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เสรีที่สุด การควบคุมทัศนคติและความคิดเห็นจึงยิ่งสำคัญมาก
คุณอ่านเรื่องนี้ได้ใน นิวยอร์กไทมส์ มันลงบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับคาร์ล โรฟ (Carl Rove) ผู้จัดการของประธานาธิบดี พูดอีกทีก็คือผู้ดูแลประธานาธิบดีนั่นเอง เป็นคนที่คอยสอนประธานาธิบดีให้พูดหรือทำอะไร บทความนี้บรรยายถึงสิ่งที่คาร์ล โรฟกำลังทำอยู่ในขณะนี้ เขาไม่ได้มีส่วนในการวางแผนสงครามโดยตรง แต่ตัวบุชเองก็ไม่มีส่วนเหมือนกัน เรื่องนี้อยู่ในกำมือของคนอื่น แต่โรฟบอกว่าเป้าหมายของเขาคือ การนำเสนอประธานาธิบดีในภาพของผู้นำยามสงครามที่เข้มแข็งทรงอำนาจ โดยตั้งเป้าไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้า เพื่อให้ฝ่ายรีพับลิกันเข็นวาระของนโยบายในประเทศให้ผ่านให้จงได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมาก
นโยบายที่ว่านี้หมายถึงการลดภาษี พวกเขาบอกว่าทำไปเพื่อเศรษฐกิจ แต่จริง ๆ แล้วทำไปเพื่อลดภาษีให้คนรวย รวมทั้งโครงการอื่น ๆ ที่เขาคร้านจะแจกแจง แต่วางแผนมาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนจำนวนหยิบมือที่ร่ำรวยมหาศาลและมีอภิสิทธิ์อยู่แล้ว และจะส่งผลกระทบในทางเลวร้ายต่อประชากรหมู่มาก
แต่นัยยะที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในบทความก็คือ มันเป็นการพยายามทำลายรากฐานทางสถาบันของระบบเกื้อหนุนทางสังคม พยายามรื้อทิ้งสิ่งต่าง ๆ เช่น โรงเรียน สวัสดิการสังคม และอะไรก็ตามที่ตั้งอยู่บนแนวความคิดที่ว่า ประชาชนต้องใส่ใจดูแลซึ่งกันและกัน เพราะนั่นเป็นความคิดที่เลวร้าย ต้องขจัดไปจากจิตใจของประชาชนให้หมดสิ้น ความคิดที่ว่าคุณควรมีความเห็นอกเห็นใจและสามัคคีกัน ควรแยแสว่าแม่ม่ายพิการที่อยู่อีกฟากของเมืองมีอะไรกินบ้างหรือเปล่า ความคิดแบบนี้ต้องขจัดออกไปจากจิตใจของประชาชนให้หมด
บาร์ซาเมียน:
เห็นได้ชัดว่า ในแง่ที่เกี่ยวกับสงครามอิรัก มีช่องว่างขนาดมหึมาระหว่างความคิดเห็นของสาธารณชนในสหรัฐอเมริกากับส่วนอื่น
ๆ ในโลก คุณว่ามันเกิดมาจากการโฆษณาชวนเชื่อหรือเปล่า?
ชอมสกี: ไม่ต้องสงสัยเลย การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับอิรักเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
มันชัดเจนแจ่มแจ้งจนถึงขนาดเอามาถกกันในสื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลัก เช่น หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ข่าวการเมืองของสำนักยูพีไอ
มาร์ติน เซียฟ (Martin Sieff) เขียนบทความขนาดยาวบรรยายว่ากระบวนการดำเนินกันมาอย่างไรบ้าง
ในเดือนกันยายน ซึ่งบังเอิญเป็นช่วงเปิดฉากการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสกลางเทอมพอดี
นั่นแหละคือตอนที่เสียงลั่นกลองรบเรียกหาสงครามเริ่มขึ้น มีเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวที่ใช้กันเป็นประจำอยู่สองเรื่อง โกหกคำโตเรื่องแรกคืออิ รักเป็นภัยคุกคามฉุกเฉินต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา เราต้องหยุดยั้งมันเดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นมันจะทำลายเราในวันพรุ่ง โกหกคำโตเรื่องที่สองคืออิรักอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ไม่มีใครพูดออกมาตรง ๆ ก็จริง แต่เป็นการชี้นำแบบหนึ่ง
ลองดูการสำรวจความคิดเห็นเป็นตัวอย่าง มันสะท้อนถึงการโฆษณาชวนเชื่อได้ตรงมาก สื่อมวลชนเป็นผู้ประโคมโฆษณาชวนเชื่อ สื่อมวลชนไม่ได้เป็นคนกุเรื่องขึ้นมา แต่ทำหน้าที่แค่กระจายข่าว คุณจะยกให้ต้นตอเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงหรือใครก็ตามแต่ แต่การโฆษณาชวนเชื่อนี้สะท้อนออกมาอย่างรวดเร็วในผลสำรวจความคิดเห็น นับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ประมาณ 60% ของประชากร -ตัวเลขขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่แถว ๆ นั้น- เชื่อว่าอิรักเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของเรา
ถ้าคุณดูแถลงการณ์ในเดือนตุลาคมของสภาคองเกรส เมื่อสภาให้อำนาจประธานาธิบดีในการใช้กำลังทหาร แถลงการณ์บอกว่าอิรักเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา พอมาถึงตอนนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากร อาจมากกว่านั้นแล้วก็ได้ เชื่อว่าอิรักมีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์ 11 กันยายน เชื่อว่าชาวอิรักเป็นคนจี้เครื่องบิน เชื่อว่าอิรักกำลังวางแผนวินาศกรรมครั้งใหม่
ไม่มีใครอื่นอีกแล้วในโลกที่เชื่อเรื่องนี้ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มองว่าอิรักเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศตน คูเวตกับอิหร่าน ทั้ง ๆ ที่เคยถูกอิรักรุกราน ยังไม่ถือว่าอิรักเป็นภัยคุกคามความมั่นคง อิรักเป็นประเทศที่อ่อนแอที่สุดในภูมิภาค ผลลัพธ์ของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ คร่าชีวิตประชาชนไปหลายแสนคน และราวสองในสามของประชากรทั้งหมดอยู่บนริมเส้นของความอดอยาก อิรักจึงมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุดและกองทัพที่อ่อนแอที่สุดในภูมิภาค
เศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายในกองทัพของอิรักมีขนาดแค่ประมาณหนึ่งในสามของคูเวต ซึ่งมีจำนวนประชากรเพียง 10% เมื่อเทียบกับอิรัก และถือเป็นขนาดที่เล็กกว่าประเทศอื่น ๆ มาก แน่นอน ทุกคนในภูมิภาคนั้นรู้ดีว่า มีมหาอำนาจอยู่ที่นั่น มีฐานทัพอเมริกันที่ตั้งอยู่นอกประเทศ นั่นก็คืออิสราเอล ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์หลายร้อยลูก มีกองทหารติดอาวุธขนาดใหญ่ และมีอำนาจครอบงำเหนือทุกประเทศโดยสิ้นเชิง
แต่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นแหละที่มีความกลัวหรือความเชื่อแบบนั้นอยู่ คุณสามารถสืบหาต้นตอที่ทำให้เกิดการขยายตัวของความเชื่อนั้นได้จากการโฆษณาชวนเชื่อ น่าสนใจที่สหรัฐอเมริกาช่างเป็นประเทศที่ตกหลุมพรางได้ง่ายเหลือเกิน มันมีภูมิหลัง ภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบดูแล้ว สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ขวัญหนีดีฝ่อง่ายมาก ระดับความกลัวในประเทศนี้เกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม มนุษย์ต่างดาว ฯลฯ คุณยกเรื่องไหนมาก็ได้ มันเกินระดับปรกติเสมอ คุณอาจโต้แย้ง อาจค้นหาเหตุผล แต่ภูมิหลังนั้นมีอยู่
บาร์ซาเมียน:
อะไรที่ทำให้สหรัฐอเมริกาหลงกลไปกับการโฆษณาชวนเชื่อได้ง่าย?
ชอมสกี: นั่นเป็นคำถามที่ดี ผมไม่อยากพูดว่า
สหรัฐอเมริกาตกหลุมพรางของการโฆษณาชวนเชื่อได้ง่าย มันตกหลุมพรางของความกลัวได้ง่ายต่างหาก
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ขี้ตื่นตกใจ เหตุผลในเรื่องนี้ กล่าวกันตามตรงแล้ว
ผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไร แต่มันเป็นอย่างนั้น และเป็นอย่างนี้มานานในประวัติศาสตร์อเมริกัน
มันอาจเกี่ยวกับวิธีการเข้าครอบครองทวีปนี้ ในเมื่อคุณต้องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมือง
มันอาจเกี่ยวกับระบบทาส ในเมื่อคุณต้องคอยควบคุมประชากรที่ถือว่าเป็นอันตราย
เพราะคุณไม่รู้ว่าเมื่อไรพวกเขาจะหันมาตอบโต้คุณ หรือมันอาจเป็นแค่ผลสะท้อนของการมีความมั่นคงมากเกินไป
ความมั่นคงของสหรัฐอเมริกามีเหนือประเทศอื่น ๆ
สหรัฐอเมริกาควบคุมได้ถึงครึ่งโลก ควบคุมสองมหาสมุทร มันควบคุมได้ทั้งสองฟากสมุทร ไม่เคยถูกคุกคาม ครั้งสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกาถูกคุกคามคือสงครามในปีค.ศ. 1812 นับแต่นั้นมา มันก็รู้จักแต่เอาชนะประเทศอื่น ด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ความมั่นคงเกินไปนี้ก่อให้เกิดความระแวงว่า มีใครกำลังตามหลังเรามา ประเทศนี้จึงกลายเป็นประเทศที่ตื่นตูมมาก
มีเหตุผลว่าทำไมคาร์ล โรฟจึงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในรัฐบาล เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญการประชาสัมพันธ์ที่รับผิดชอบการปั้นแต่งภาพพจน์ เพื่อให้คุณสามารถเข็นวาระของนโยบายในประเทศให้ผ่านจนได้ ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ขู่ขวัญประชาชนและสร้างภาพว่า ผู้นำที่เข้มแข็งจะช่วยนำพาคุณให้รอดพ้นหายนภัยที่กำลังตั้งเค้า ไทมส์ ถึงได้พูดออกมาตรง ๆ เพราะมันเป็นเรื่องที่ปิดบังยาก มันกลายเป็นสันดานไปแล้ว
บาร์ซาเมียน:
ศัพท์บัญญัติคำใหม่อีกคำหนึ่งที่ผมอยากให้คุณวิจารณ์ก็คือคำว่า "นักข่าวฝังตัว"
(embedded journalists)
ชอมสกี: นั่นเป็นคำที่น่าสนใจ น่าสนใจตรงที่พวกนักข่าวเต็มใจยอมรับสถานะนั้นด้วย
ไม่มีนักข่าวที่ซื่อตรงคนไหนเต็มใจยอมให้ตัวเอง "ฝังตัว" การพูดว่า
"ฉันเป็นนักข่าวฝังตัว" เท่ากับพูดว่า "ฉันเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล"
แต่มันกลับเป็นที่ยอมรับกัน และมันช่วยปลูกฝังความเชื่อว่า ไม่ว่าเราทำอะไรก็ถูกต้องและชอบธรรมทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณฝังตัวไปกับกองทัพอเมริกัน คุณก็เป็นกลาง อันที่จริง เรื่องแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในกรณีของปีเตอร์
อาร์เนตต์ ในบางแง่ออกจะโจ่งแจ้งกว่าด้วยซ้ำ ปีเตอร์ อาร์เนตต์เป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์
ได้รับความนับถือ มีความสำเร็จมากมายเป็นเครื่องยืนยันความน่าเชื่อถือ สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาเกลียดขี้หน้าเขาเพราะเหตุนี้นี่เอง
เหตุผลเดียวกับที่เกลียดขี้หน้าโรเบิร์ต ฟิสค์
บาร์ซาเมียน:
ฟิสค์เป็นอังกฤษ
อาร์เนตต์เดิมมีรกรากมาจากนิวซีแลนด์
ชอมสกี: ฟิสค์เป็นนักข่าวสายตะวันออกกลางที่ได้รับความนับถือและมีประสบการณ์มากที่สุด
เขาอยู่ในภูมิภาคนั้นมาตลอด ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม รู้จักภูมิภาคนั้นทะลุปรุโปร่ง
เป็นผู้สื่อข่าวชั้นยอด แต่เขากลับถูกเหยียดหยามในสหรัฐอเมริกา คุณแทบไม่เคยเห็นคำพูดของเขาสักคำได้ตีพิมพ์ที่นี่เลย
ถ้ามีใครหยิบยกชื่อเขาขึ้นมา ก็เพื่อด่าว่าเสีย ๆ หาย ๆ อะไรสักอย่าง เหตุผลเพียงเพราะเขาอิสระเกินไป
เขาไม่มีวันยอมเป็นนักข่าวฝังตัว ปีเตอร์ อาร์เนตต์ถูกประณาม เพราะเขาให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ของอิรัก
มีใครถูกประณามเพราะให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกาบ้างไหม? ไม่มี มีแต่บอกว่าเยี่ยมมาก
บาร์ซาเมียน:
การโจมตีอัฟกานิสถานในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2001 ทำให้เกิดศัพท์ที่น่าสนใจสองคำ
และคุณเคยวิจารณ์มันมาแล้ว ศัพท์หนึ่งคือคำว่า ปฏิบัติการเสรีภาพยืนยง (Operation
Enduring Freedom) และอีกคำหนึ่งคือ "นักรบผิดกฎหมาย" (unlawful
combatant) ช่างเป็นนวัตกรรมทางภาษาในวิชากฎหมายระหว่างประเทศจริง ๆ
ชอมสกี: ยุคหลังสงครามโลกต่างหากที่มีนวัตกรรมใหม่
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง มีการสร้างกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศที่ค่อนข้างใหม่ขึ้นมา
รวมถึงสนธิสัญญาเจนีวาด้วย ซึ่งไม่อนุญาตให้มีแนวคิดอย่างเช่น นักรบฝ่ายศัตรู
อย่างที่ใช้กันอยู่ในตอนนี้ คุณมีเชลยสงครามได้ แต่ห้ามไม่ให้มีการจัดประเภทใหม่
อันที่จริง ศัพท์คำนี้เป็นการจัดประเภทแบบเก่าตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ในสมัยที่คุณยังทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แต่ภายใต้สนธิสัญญาเจนีวา ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเอาผิดทางอาญากับอาชญากรรมของนาซีอย่างเป็นทางการ
สิ่งนี้จึงเปลี่ยนแปลงไป เราถือว่าเชลยสงครามมีสถานะพิเศษ
ส่วนรัฐบาลบุช ด้วยความร่วมมือของสื่อมวลชนและศาล ถอยหลังกลับไปที่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยที่ยังไม่มีกรอบกฎหมายระหว่างประเทศมาเอาผิดอาชญากรรมที่ทำต่อมนุษยชาติ และอาชญากรสงครามอย่างจริงจัง รัฐบาลบุชไม่เพียงประกาศสงครามรุกราน แต่ยังจัดประเภทประชาชนที่มันถล่มระเบิดใส่และจับเป็นเชลย ให้เป็นคนที่ไม่มีสิทธิมนุษยชนใด ๆ เลยด้วย
พวกเขายังทำเลยเถิดไปกว่านั้นอีก ตอนนี้รัฐบาลบุชอ้างสิทธิ์ที่จะจับกุมใครก็ได้ที่นี่ไปคุมขังโดยไม่มีกำหนด รวมทั้งพลเมืองชาวอเมริกัน ไม่ให้ติดต่อครอบครัวและทนาย สามารถคุมตัวไว้โดยไม่มีข้อหาจนกว่าประธานาธิบดีตัดสินใจว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือเขาเรียกมันว่าอะไรก็ตาม จะสิ้นสุดลง นี่เป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน และศาลยอมรับในระดับหนึ่งด้วย
ยังมียิ่งกว่านั้นอีก สิ่งที่บางครั้งเรียกกันว่า กฎหมายรักชาติฉบับ 2 (PATRIOT 2 Act) ซึ่งยังไม่ได้อนุมัติในขณะนี้ มันอยู่ในกระทรวงยุติธรรม แต่มีข่าวรั่วออกมา ตอนนี้มีบทความสองชิ้นเขียนถึงกฎหมายฉบับนี้ลงในหนังสือพิมพ์ เขียนโดยศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายกับใครอีกคนหนึ่ง มันน่าตกใจมาก กฎหมายนี้อ้างสิทธิ์ที่จะถอนสัญชาติ สิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอนุมาน...ไม่ต้องมีหลักฐาน...เพียงแค่อนุมานว่า บุคคลคนนั้นมีส่วนพัวพันทางใดทางหนึ่งในการกระทำที่อาจเป็นอันตรายต่อสหรัฐอเมริกา คุณต้องถอยหลังกลับไปดูในประเทศเผด็จการถึงจะเจออะไรแบบนี้
นักรบฝ่ายศัตรูก็เหมือนกัน การปฏิบัติต่อเชลย... สิ่งที่เกิดขึ้นในกวนตานาโม คือการละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดของกฎหมายทางด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการละเมิดอย่างหน้าด้าน ๆ ทั้ง ๆ ที่อาชญากรรมแบบนี้ถือเป็นความผิดทางอาญาเพื่อเอาผิดกับพวกนาซีแท้ ๆ
บาร์ซาเมียน:
คุณคิดอย่างไรกับการที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
โทนี่ แบลร์ กล่าวในรายการ "Nightline" เมื่อวันที่ 31 มีนาคมว่า
"นี่ไม่ใช่การรุกราน"
ชอมสกี: โทนี่ แบลร์เป็นเจ้าหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อชั้นดีให้แก่สหรัฐอเมริกา
เขาพูดเก่ง พูดจาเข้าท่า ประชาชนก็ชอบหน้าตาเขา เขาเจริญรอยตามสถานะที่อังกฤษตั้งใจยึดถืออย่างรู้ตัวมาตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษยอมรับสิ่งที่เห็นกันอยู่ชัด ๆ -เรามีเอกสารวงในจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องนี้-
อังกฤษเคยเป็นมหาอำนาจในโลกและจะไม่เป็นอีกแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐต่างหากที่จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ
อังกฤษต้องเลือก: มันจะยอมเป็นแค่ประเทศธรรมดาประเทศหนึ่ง หรือมันจะเป็นอย่างที่เรียกกันว่า
หุ้นส่วนย่อยของสหรัฐอเมริกา? มันยอมรับบทบาทของหุ้นส่วนย่อย และเป็นมาตลอดนับแต่นั้น
อังกฤษถูกตบหน้าครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างน่าอดสูที่สุด แต่พวกเขาก็ยังนั่งนิ่ง
กล้ำกลืนฝืนทนและพูดว่า "โอเค เราจะเป็นหุ้นส่วนย่อย เรามีสิ่งที่ 'พันธมิตร'
เรียนรู้จากเราได้ นั่นคือประสบการณ์หลายศตวรรษในการฆ่าและใช้ความป่าเถื่อนต่อประชาชนต่างชาติ
เราเก่งเรื่องนี้" นั่นแหละบทบาทของอังกฤษ ช่างน่าอดสู
บาร์ซาเมียน: หลาย ๆ ครั้งในการบรรยายของคุณ
มักมีคนตั้งคำถามหนึ่งเสมอว่า "ฉันควรทำอะไรดี?" นี่คือคำถามที่คุณได้ยินในหมู่ผู้ฟังชาวอเมริกัน
ชอมสกี: คุณพูดถูก นั่นคือคำถามของผู้ฟังชาวอเมริกัน
คุณไม่เคยได้ยินคำถามแบบนี้ในประเทศโลกที่สามหรอก
บาร์ซาเมียน:
ทำไมล่ะ?
ชอมสกี: เพราะเวลาที่คุณไปตุรกี หรือโคลอมเบีย
หรือบราซิล หรือที่อื่น ๆ ไม่มีใครถามคุณหรอกว่า "ฉันควรทำอะไรดี?"
พวกเขาจะบอกคุณต่างหากว่า พวกเขากำลังทำอะไรอยู่ มีแต่ในวัฒนธรรมที่มีอภิสิทธิ์อย่างสูงเท่านั้นที่คนถึงตั้งคำถามว่า
"ฉันควรทำอะไรดี?" เรามีทางเลือกมากมายเปิดกว้างสำหรับเรา เราไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเหมือนอย่างปัญญาชนในตุรกีหรือ
campesino ในบราซิล หรืออะไรแบบนั้น เราทำอะไรก็ได้
แต่สิ่งที่ประชาชนอเมริกันถูกปลูกฝังให้เชื่อก็คือ เราต้องมีสิ่งที่เราทำได้ง่าย ๆ ได้ผลทันตาเห็น แล้วเราจะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปรกติ ไม่มีอะไรแบบนั้นหรอก ถ้าคุณอยากทำอะไรสักอย่าง คุณก็ต้องอุทิศตัว ผูกมัด อยู่กับมันทุกวัน คุณรู้ดีว่ามันคืออะไร มันก็คือโครงการให้ความรู้ การจัดตั้ง การเคลื่อนไหว นั่นคือวิถีทางในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ คุณอยากได้สิ่งที่เป็นกุญแจวิเศษแก้ไขปัญหา ที่จะทำให้คุณกลับไปนั่งดูโทรทัศน์ได้ในวันพรุ่งนี้น่ะหรือ? มันไม่มีหรอก
บาร์ซาเมียน:
คุณทำงานเคลื่อนไหวและเป็นปัญญาชนหัวแข็งมาตั้งแต่สมัยยุคทศวรรษ 1960 ที่ต่อต้านการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในอินโดจีน
คุณได้เห็นทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นและสิ่งที่เป็นไปในตอนนี้ ช่วยบรรยายหน่อยว่า
ปัญญาชนหัวแข็งมีความคลี่คลายอย่างไรในสหรัฐอเมริกา
ชอมสกี: อันที่จริง มีบทความอีกบทหนึ่งใน นิวยอร์กไทมส์
ที่เขียนว่า พวกอาจารย์เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม ในขณะที่พวกนักศึกษานิ่งเฉย
ไม่เหมือนสมัยก่อนที่นักศึกษาเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม สิ่งที่นักข่าวคนนี้กำลังพูดถึงก็คือ
ในสมัย 1970 และเป็นเรื่องจริงที่ในสมัย 1970 นักศึกษามีบทบาทในการประท้วงต่อต้านสงคราม
แต่นั่นเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับเวียดนามใต้มาตั้งแปดปี ซึ่งตอนนั้นสงครามขยายไปทั่วทั้งอินโดจีนแล้ว
และทำลายล้างภูมิภาคนั้นจนราพณาสูร
ในช่วงปีแรก ๆ ของสงคราม -สงครามประกาศในปี ค.ศ. 1962- เครื่องบินสหรัฐทิ้งระเบิดถล่มเวียดนามใต้ มีการใช้ระเบิดนาปาล์ม สงครามเคมีเพื่อทำลายธัญญาหาร และโครงการขับต้อนประชาชนหลายล้านคนเข้าไปอยู่ใน "หมู่บ้านยุทธศาสตร์" ซึ่งอันที่จริงก็คือค่ายกักกันดี ๆ นี่เอง ทั้งหมดนี้ทำกันอย่างเปิดเผยครึกโครม ไม่มีการประท้วง ไม่มีทางทำให้ใครยอมมาถกกันถึงเรื่องนี้ เป็นเวลาหลายปี
แม้แต่ในสถานที่อย่างบอสตัน เมืองเสรีนิยม คุณไม่มีทางจัดชุมนุมต่อต้านสงคราม เพราะพวกนักศึกษาจะเข้ามาก่อกวนโดยมีสื่อมวลชนให้การสนับสนุน คุณต้องอาศัยตำรวจของรัฐหลายร้อยคนมาช่วยคุ้มกัน เพื่อให้ผู้ปราศรัยอย่างผมหนีรอดมาได้โดยไม่บาดเจ็บ การประท้วงเกิดขึ้นหลังจากสงครามผ่านมาตั้งหลายปีแล้ว ตอนนั้นมีคนตายไปหลายแสนคน พื้นที่ส่วนใหญ่ในเวียดนามถูกทำลายราบ ตอนนั้นแหละถึงมีการประท้วงเกิดขึ้น
แต่เรื่องทั้งหมดนี้ถูกกวาดทิ้งไปจากประวัติศาสตร์
เพราะมันบอกความจริงมากเกินไป มันต้องใช้เวลาหลายปีที่คนจำนวนมากทำงานหนัก
ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ซึ่งในที่สุดก็สร้างขบวนการประท้วงสงครามขึ้นมาจนได้
ตอนนี้มันผ่านมานานแล้ว แต่นักข่าวของ นิวยอร์กไทมส์ ไม่เข้าใจเรื่องนั้น ผมแน่ใจว่านักข่าวคนนี้จริงใจมาก
นักข่าวพูดในสิ่งที่ผมคิดว่าเธอถูกสอนมาว่า มีขบวนประท้วงสงครามครั้งใหญ่...จบ
เพราะประวัติศาสตร์ที่แท้จริงต้องถูกลบทิ้งไปจากจิตสำนึกของประชาชน อย่าให้พวกคุณได้เรียนรู้ว่า
การทุ่มเท การผูกมัด สามารถนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของจิตสำนึกและความเข้าใจ
การยอมให้ประชาชนมีความคิดเช่นนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวด
++++++++++++++++++++++++++++++
เดวิด บาร์ซาเมียน เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถานีวิทยุ
Alternative Radio เขาเขียนหนังสือหลายเล่ม อาทิเช่น Decline & Fall of
Public Broadcasting รวมทั้งหนังสือที่เป็นบทสัมภาษณ์ เช่น Propaganda and
the Public Mind with Noam Chomsky, Culture and Resistance with Edward Said
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
อังกฤษเคยเป็นมหาอำนาจในโลกและจะไม่เป็นอีกแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐต่างหากที่จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ อังกฤษต้องเลือก: มันจะยอมเป็นแค่ประเทศธรรมดาประเทศหนึ่ง หรือมันจะเป็นอย่างที่เรียกกันว่า หุ้นส่วนย่อยของสหรัฐอเมริกา? มันยอมรับบทบาทของหุ้นส่วนย่อย และเป็นมาตลอดนับแต่นั้น. อังกฤษถูกตบหน้าครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างน่าอดสูที่สุด แต่พวกเขาก็ยังนั่งนิ่ง กล้ำกลืนฝืนทนและพูดว่า "โอเค เราจะเป็นหุ้นส่วนย่อย เรามีสิ่งที่ 'พันธมิตร' เรียนรู้จากเราได้ นั่นคือประสบการณ์หลายศตวรรษในการฆ่าและใช้ความป่าเถื่อนต่อประชาชนต่างชาติ เราเก่งเรื่องนี้" นั่นแหละบทบาทของอังกฤษ ช่างน่าอดสู