นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



วิถีชนบทและการถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากร
หมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ความล้มเหลวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
โอฬาร อ่องฬะ : นักวิชาการอิสระ
โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่
อัตลักษณ์ที่สะท้อนมายาคติว่าด้วยเรื่อง ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา

ทางกองบรรณาธิการได้มีการตัดทอนเนื้อหาออกไปบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมและความเข้าใจสำหรับผู้อ่าน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 861
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)




หมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ความล้มเหลวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
โอฬาร อ่องฬะ : โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิง อำเภอเชียงดาว

แนวคิดหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ เสมือนภาพลักษณ์ที่สะท้อนการจัดการที่ ล้มเหลวในอดีตที่ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
มาตราที่ 46 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้กล่าวไว้ว่า
"บุคคลที่รวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

ในเนื้อหาได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนถึงการยอมรับและเคารพสิทธิของชุมชมในอันที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากร วัฒนธรรมประเพณี และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

เช่นเดียวกัน ภายหลังจากการเลือกตั้งเมือต้นปี 2544 ที่ผ่านมานั้น พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร (หัวหน้าพรรคไทยรักไทย) ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งและเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แถลงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไว้กับรัฐสภาในวันจันทร์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

"ในการป้องกันการเสื่อมโทรมและสูญสิ้นไป รวมถึงฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตเกิดความสมดุลในการพัฒนาและเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยบริหารและจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และบูรณาการ โดยยึดหลัก ธรรมาภิบาล และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม "

นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวคัดค้านของพี่น้องชาวบ้าน และองค์กรพันธมิตรในภาคอีสานประมาณปี 2518- 2536 ต่อการเข้ามาดำเนินการของโครงการหมู่บ้านป่าไม้ (ปี พ.ศ.2518-2534) และ กรณี"โครงการจัดสรรที่ดินทำกิน"ให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม หรือที่เรารู้จักในนามของ คจก. (ปีพ.ศ.2534 -2535 ) จนนำไปสู่การยกเลิกโครงการฯ ดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี 4 พฤษภาคม 2536 ไปนั้น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐได้มีความพยายามในการกำหนดมาตรการแก้ไขเองมาโดยตลอด ทั้งการวางกรอบนโยบาย แผนงานระดับพื้นที่ รวมถึงการแก้ไขเฉพาะหน้าในรายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม บทเรียนสำคัญในการดำเนินการของรัฐ พบว่าการแก้ไขและจัดการต่างๆนั้นประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งเรื้อรังมาจนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้สามารถชี้วัดได้จากปรากฏการณ์ชุมนุมเรียกร้องของชาวบ้านเพื่อคัดค้านโครงการฯเหล่านี้ของประชาชน

10 ปี ให้หลัง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงใหม่ภายใต้เจตนารมย์ในการปฎิรูปโครงสร้างระบบราชการ) ได้กระทำการปลุกผี คจก.เดิมและโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ภายใต้ภาพลักษณ์เสมือนใหม่ กับแนวคิด"โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่" โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ได้แสดงจุดเน้นวัตถุประสงค์หลัก เพื่อที่จะหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าและฟื้นฟูสภาพป่าไม้ รวมทั้งให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันดูแลเฝ้าระวังรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน จนนำไปสู่ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี มติคณะรัฐมนตรี 27 กรฎาคม 2547 และมติคณะรัฐมนตรี 10 สิงหาคม 2547 รองรับ ตามลำดับ

"หมู่บ้านป่าไม้เดิม ทำในเขตป่าสงวน นอกเขตพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ทำทั่วประเทศ เขตชายฝั่งและอื่นๆ และหมู่บ้านป่าไม้เดิม ต้องการให้ผู้ที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าอยู่เป็นหลักแหล่ง มีการอพยพออกจากเขตอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำ โดยรวมชาวบ้านไปอยู่นอกเขตป่า ชายป่า และที่รัฐจัดสรรให้ และสนับสนุนให้ทั้งสาธารณูปโภค อุปโภค รัฐจ้างราษฎรปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ซึ่งสมัยนั้นคิดได้แบบนั้น แต่ปัจจุบัน ได้ยึดแนวพระราชดำรัส เป็นคัมภีร์ในการดำเนินงาน

อะไรที่แตกต่าง มาพูดมาคุยกัน ชาวบ้านอยู่ด้วยความร่าเริงใจ อะไรเป็นที่ขัดใจ ชาวบ้านคงไม่ร่าเริงใจ และที่สำคัญอยู่บนความมีเหตุมีผล โดยไม่ใช่อยู่ที่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องเกรงการถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ทุกคนมีส่วนร่วม และตกลงกันอย่างไรว่าไปตามนั้น หากกฏไม่ชัดแก้ไขไปตามนั้น หมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ชาวบ้านมีส่วน มีสิทธิมากขึ้น ชาวบ้านดำเนินการเองได้ ในกรณีหากทำไม่ได้ รัฐสามารถสนับสนุนได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้ "คุณไพรัช บุญน้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กล่าวกับชาวบ้านเครือข่ายป่าชุมชนลุ่มน้ำแม่ปิง ในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ฯและการจัดการป่าชุมชน วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ ศาลาประชาคม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

คงต้องยอมรับกันจริงๆว่า กรอบแนวคิดดังกล่าวข้างต้น และตามเอกสาร คู่มือโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ฯ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กุมภาพันธ์ 2548) นั้นเป็นสิ่งที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกรอบคิดหลักดังกล่าว ได้พยายามที่จะเปิดแนวทาง กระบวนทัศน์ นวัตกรรมใหม่ๆที่จะเป็นทางเลือกในการจัดการความขัดแย้งได้อีกทางหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นกรอบคิดหลักการ คนอยู่กับป่าได้ ขั้นตอนการปฏิบัติการ การบริหารจัดการพื้นที่ที่มุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม และการใช้รูปแบบประชาคม รวมถึงการมีอาสาสมัครทรัพยากรฯประจำหมู่บ้าน(ทสม.) และเปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน "กรอบแนวคิดหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ คือ คนอยู่ร่วมกับป่า ไม่เบียดเบียนกัน ทำอย่างไรถึงจะมีการพัฒนาคน พัฒนาชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลย์และยั่งยืน" คุณเฉลียว แก่นจันทร์ หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยแก้ว จ. เชียงใหม่ ได้พยายามอธิบายตอกย้ำแนวคิดดังกล่าวอีกครั้ง

แต่เมื่อได้ลงมือและวิเคราะห์จากเอกสารคู่มือโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักในการนำไปใช้จัดการกับชุมชน ในโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ตามเอกสารช่วงกลางๆ ในบทที่ 4 ที่ว่าด้วย ขั้นตอนการดำเนินงาน และบทที่ 5 การบริหารจัดการโครงการแบบมีส่วนร่วม กลับพบว่า สิ่งที่น่าจะเป็นทิศทางในการจัดการ การแก้ไขปัญหา ที่ก่อรูปความขัดแย้งและปรากฏมายาวนาน ตามที่ทางฝ่ายรัฐหลายฝ่ายได้กล่าวอ้างมานั้น ไม่ได้เป็นจริงดังที่กล่าว แต่กลับเป็นปัญหาอุปสรรค เพิ่มความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับกลไกการแก้ไขปัญหาของรัฐ ซึ่งมีประเด็นและแง่มุมหลายประการด้วยกัน คือ

ประการที่ 1. เกณฑ์ กระบวนการ การคัดสรรชุมชน หรือหมู่บ้านเป้าหมาย
หมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมายโครงการป่าไม้แผนใหม่นี้ได้ถูก จำแนกออกมาเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1. หมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับเขตป่าและอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ได้แบ่งออกเป็นอุทยานแห่งชาติ
และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า 2,348 หมู่บ้าน 63 จังหวัด
กลุ่มที่ 2. หมู่บ้านที่มีพื้นที่อยู่ติดเขตป่าและอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484
และป่าตามมติ คณะรัฐมนตรี 7,600 หมู่บ้าน 67 จังหวัด
กลุ่มที่ 3. หมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดเขตป่าและอยู่ในเขตพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี 918 หมู่บ้าน 23 จังหวัด

จากประเด็นข้างต้นจะเห็นว่าประมาณ 10,866 หมู่บ้าน จาก 70 จังหวัด ที่ตกเป็นชุมชนเป้าหมายรองรับโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ดังกล่าวฯ โดยทางรัฐบาลได้กำหนดงบประมาณในการดำเนินการในช่วงปี 2548 - 2551 ทั้งสิ้น 1,510.12 ล้านบาท มีคำถามว่า กระบวนการในการคัดเลือกชุมชนต่างๆเหล่านี้ ชุมชนได้รับรู้ข้อมูลเพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมหรือปฎิเสธได้หรือไม่ หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพียงแค่เสนอหรือยัดเยียด ชื่อหมู่บ้านต่างๆเข้าไป เพื่อให้มีหมู่บ้านในพื้นที่ป่าที่ตนเองรับผิดชอบทำงานให้ได้มาซึ่งงบประมาณในแต่ละปี แค่นั้นหรือ ?

ประการที่ 2. เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่
เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ต่อกระบวนการพิสูจน์สิทธิอยู่ก่อน-อยู่หลังการประกาศเขตป่า นั้นคือ มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ถือได้ว่าเป็นเฟืองหลักหรือกุญแจที่สำคัญ ของการนำไปใช้ตามโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ และกลายเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในการจัดการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการทำงาน ซึ่งมีประเด็นที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น อย่างน้อย 4 - 5 ประเด็นด้วยกัน คือ

ประเด็นที่ 1. มติ คณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เกิดจากแนวคิดที่มองว่าประชาชนคือตัวการทำลายป่า และเป็นอุปสรรคของการดูแลป่า ทั้งๆที่สาเหตุของการทำลายป่านั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากประชาชนเท่านั้น แต่มีสาเหตุอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เรามองข้ามไป เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ทั้งป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และส่งออกภายนอกประเทศ หรือแม้กระทั่งโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน การสัมปทานป่า เป็นต้น ที่สำคัญกลไกของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการป่าไม้ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 ฯลฯ ที่ผ่านมานั้นเป็นการผูกขาดอำนาจของหน่วยงานบางหน่วยงานเท่านั้น และมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อการอนุรักษ์แต่ก็ไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้

ประเด็นที่ 2. รัฐเองไม่พยายามยอมรับว่า การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ที่ผ่านมานั้น ได้ประกาศทับที่ดินทำกินของชุมชน และมองว่าชุมชนเป็นผู้บุกรุกเขตป่าอนุรักษ์มาโดยตลอด ชุมชนท้องถิ่นตกเป็นผู้ต้องหาทางสังคม ไม่มีสิทธิที่จะเข้าถึงฐานทรัพยากรฯ หรือบอกกับหน่วยงานภาครัฐหรือสังคมว่า ผืนป่า ที่ดินทำกินของชุมชนท้องถิ่นนี้ เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมที่สืบทอดมานาน แม้ว่า จะมีการเรียกร้องสิทธิครั้งแล้วครั้งเล่า แต่รัฐเองก็ไม่มีสำนึกที่จะยอมรับสิ่งที่เหตุเป็นผลต่างๆ กลับยืนอยู่บนความจริงของแต่ละชุดความคิด

จากประเด็นนี้เองภายใต้มติ คณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 หากตรวจสอบว่าราษฎรอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่า แต่ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ ล่อแหลม ราษฎรก็ยังคงต้องถูกจำกัดการพัฒนา แต่ให้พัฒนาได้เฉพาะ ความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งไม่รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อชุมชนด้านอื่นที่จำเป็นเช่น ถนน ไฟฟ้า โรงเรียน เป็นต้น จึงเท่ากับว่าเป็นการกดดัน บีบบังคับให้ชาวบ้านต้องเคลื่อนย้ายอพยพออกจากพื้นที่อย่างสมยอมเชิงบังคับ และที่น่าจับตาในประเด็นนี้คือการนิยามเพื่อกำหนด พื้นที่ล่อแหลม เพื่อกันคนออกจากป่า โดยยังเป็นการให้อำนาจกับกรมป่าไม้เป็นผู้กำหนด โดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่จะเข้ามาร่วมกันตัดสินใจ ซึ่งเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานความคิดที่ไม่ยอมรับสิทธิและละเมิดสิทธิของผู้มาอยู่ก่อน

ประเด็นที่ 3. กระบวนการในการพิสูจน์สิทธินั้น มติ คณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ได้กำหนดในการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์สิทธิ์การทำกินของชาวบ้านได้ แม้ว่าทางราชการจะกล่าวอ้างว่า ภาพถ่ายทางอากาศ หรือภาพถ่ายทางดาวเทียมเป็นเครื่องมือมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วไป แต่ในหลักวิชาการของการใช้เครื่องมือชนิดนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยอมรับว่า ยังมีข้อจำกัดทางเทคนิคในการตีความและแปลความหมายของสัญลักษณ์หรือสีต่างๆที่ปรากฏในภาพถ่าย อีกทั้งจำเป็นต้องทำ GROUP CHECK เพื่อตรวจสอบความแม่นยำในการตีความ และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญสูงในการตีความ

ประการสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ลักษณะการใช้ที่ดินของชาวบ้านโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือนั้น มีความซับซ้อนภายใต้เงื่อนไขของสภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นเขตป่าบนพื้นที่สูง เช่น ระบบป่าเมี่ยง ซึ่งเป็นระบบเกษตรที่ต้นเมี่ยงจะต้องอาศัยไม้ใหญ่ในการป้องกันแสงแดด และเป็นอาหารหล่อเลี้ยงลำต้นของเมี่ยง ซึ่งถ้าหากใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาตรวจสอบแล้ว ในภาพถ่ายก็จะแสดงสัญลักษณ์พื้นที่ป่าเมี่ยงเป็นพื้นที่ป่าทั้งหมด

"ประเด็นคือ พื้นที่หมู่บ้านและสวนเมี่ยงตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว แล้วตามมติ คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ได้กำหนดให้บริเวณหมู่บ้าน เป็นเขตป่าต้นน้ำโซน A โดยมีอาชีพทำเมี่ยง คำถาม คือ หากเป็นหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ที่ดินทำกินของชาวบ้าน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่พิสูจน์ว่าเป็นที่ดั้งเดิม จึงมีคำถามว่าแล้วจะทำอย่างไร หรือการใช้ประโยชน์จากป่า เนื้อไม้ เพื่อนำมาสร้างบ้าน ไม้ฟืน หากเป็นหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ จะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ หรือจะให้ชาวบ้านปลูกเอง และการนำมาใช้กำหนดความลาดชันของที่ดินทำกินของชาวบ้าน หากลาดชันเกิน 30 องศา จะเป็นอย่างไร

เนื่องจากบ้านป่าเมี่ยงนั้น ตั้งอยู่บริเวณที่ลาดชันแทบจะไม่มีที่ราบให้เห็นเลย หมู่บ้านที่มีการจัดการป่าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง มีการต่อสู้ ดูแลรักษาอย่างดี จะทำอย่างไร ชาวบ้านจะไม่เข้าร่วมหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ได้หรือไม่ หากไม่ทำ จะทำเป็นป่าชุมชนอย่างเดิมได้ไหม" พ่อหลวงอินทร ใจระวัง ผู้ใหญ่บ้านบ้านปางมะโอ หมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเมี่ยง และตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1A ได้พยายามสะท้อนความคิดเห็นต่อกรณีข้อจำกัดของกระบวนการพิสูจน์สิทธิ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ

และรวมไปถึงระบบไร่หมุนเวียน ไร่เหล่า ซึ่งมีการทำในลักษณะของการหมุนเวียนเป็นลักษณะแปลง เช่น มี 5 แปลง เมื่อทำแปลงที่ 1 แล้ว ทิ้งไว้ เมื่อครบ 5 แปลงแล้ว จึงกลับมาทำที่เดิม ซึ่งหากว่า รัฐใช้ภาพถ่ายทางอากาศในขณะที่ชาวบ้านกำลังหมุนเวียนไปยังพื้นที่แปลงอื่นๆแล้ว แปลงที่ทิ้งไว้ เพื่อที่จะกลับมาทำที่เดิมนั้นก็จะเกิดปัญหาในการตรวจสอบ

ดังนั้นกระบวนการในการพิสูจน์สิทธิควรให้ความหลากหลายในมิติหรือแง่มุมต่างๆประกอบกัน และเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวบ้านมากกว่าการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาชี้ขาดตัดสินโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน

ประเด็นที่ 4. มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ได้ขัดขวางกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างราชการกับชาวบ้านในพื้นที่ ที่ผ่านมานั้นทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ ได้รวมตัวกันในการเรียกร้องเพื่อให้เกิดกลไกในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาป่าไม้ ที่ดิน หนี้สิน ราคาพืชผล ชนเผ่า โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาป่าไม้-ที่ดินในเขตป่า จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรี 9 เมษายน 2545 กำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างราชการกับชาวบ้าน ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน ซึ่งกำหนดไว้ 3 ระดับ คือ

1) คณะทำงานระดับอำเภอมีนายอำเภอเป็นประธาน
2) คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และ
3) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ระดับภาค มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน

ในขณะที่มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 กำหนดให้เฉพาะกรมป่าไม้เท่านั้นในการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และประการสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ แนวทางเดิมของมติ คณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ให้อำนาจกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดำเนินการ

แต่ภายหลังนั้นได้มีการปฎิรูประบบราชการใหม่ ทำให้ส่วนต่างๆในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ถูกปฎิรูปไปด้วย และมีการจัดตั้งกระทรวงใหม่คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าและป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเข้าไปอยู่ในกลไกความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้เองรับผิดชอบเฉพาะ ป่าสงวนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาของมติ คณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เลย ทำให้เกิดความสับสนว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ดังกล่าว จะสามารถใช้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ และที่ดินในเขตป่าทั้งระบบในปัจจุบันได้หรือไม่ ?

"หากตรวจสอบพบว่า พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินในเขตพื้นที่ป่ากันชน บริเวณแนวเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย (อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า) หรือป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี(พื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1และ 2) ซึ่ง เป็นพื้นที่คุกคามต่อระบบนิเวศน์ หรือมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงภัยดินถล่ม เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการให้ข้อมูลและความรู้แก่ราษฎร เพื่อทำประชาคมของหมู่บ้านในการพิจารณาในการเคลื่อนย้ายมารวมกลุ่มหมู่บ้าน หรืออพยพสู่พื้นที่รองรับที่รัฐจัดให้ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของราษฏร" (เอกสารคู่มือโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ, กุมภาพันธ์ 2548 ข้อ 2.2 แนวทางปฏิบัติ การตรวจพิสูจน์การครอบครอง)

อีกประการหนึ่ง กระบวนการรับรองสิทธิอยู่อาศัยและทำกิน กล่าวไว้ว่า การรับรองสิทธิอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน มีหลักการและแนวปฏิบัติ คือ จะไม่นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฏหมายและป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี ไปดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยเด็ดขาด

การรับรองสิทธิอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆนั้น ถ้าชุมชนพิสูจน์ได้ว่า ได้ปฏิบัติตามที่รัฐกำหนดหลักเกณฑ์ความสำเร็จของการมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ รัฐจะดำเนินการรับรองสิทธิอยู่อาศัยและทำกินในรูปแบบ "แปลงรวม" โดยคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นคณะผู้ยื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 , 16 ทวิ , 16 ตรี และเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการ

ส่วนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ให้ประมวลเรื่องการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฏหมาย (พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ต้องเพิกถอนพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน ที่ทำกิน และพื้นที่ป่าไม้หมู่บ้านออกจากเขตอนุรักษ์ตามกฏหมายก่อน ตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้ แล้วจึงจะขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ต่อไป)

สรุป
จะเห็นได้ว่า จากหลายๆประเด็นที่หยิบยกมานั้นไม่ว่าจะเป็น แนวคิด การแลกเปลี่ยน หรือ ข้อมูลเอกสารคู่มือหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่หลายๆข้อ ต่างมีเหตุผลชัดเจนว่าสิ่งที่ได้พยายามวิเคราะห์เชื่อมโยงให้เห็นนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นความพยายามของรัฐอีกเช่นเคยที่จะกีดกัน ควบคุมการเข้าถึงฐานทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การใช้ประโยชน์จากป่า ดิน น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ ของชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยการผลิต การดำรงชีพหลักของคนในชุมชน และรวมถึงการริดรอนสิทธิและเสรีภาพที่ชุมชนต้องได้รับการปฎิบัติ ส่งเสริมจากรัฐ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้ว่าการอพยพคนออกจากป่านั้น จะไม่สามารถทำได้ในทันที แต่ก็ไม่ได้มีนัยยะว่าจะไม่เกิดขึ้นเลยจากโครงการหมู่บ้านแผนใหม่ นั้นหมายความว่า เนื้อหา เจตนารมย์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 ในมาตราที่ 46 ตามที่กล่าวอ้างมาแล้ว การแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภาที่เน้นหลักการมีส่วนร่วม ธรรมาภิบาล หรือแม้แต่วาทะคำพูดจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ชี้แจงให้ชาวบ้าน หรือ สังคมฟังนั้น แทบจะไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการในการแก้ไขปัญหาได้เลย ซึ่งกรณีบ้านห้วยปลาหลด จ.ตาก คงจะเป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวของโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง
1.ปราโมทย์ ผลภิญโญ - ศูนย์นิเวศฯ
2.สันติ ธรรมประชา หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือรายสัปดาห์ ฉบับที่ .. ระหว่างวันที่ 4-10 กรกฏาคม 2548 คอลัมพื้นที่ทางสังคม "ห้วยปลาหลดและภูผาแดง ความล้มเหลว หมู่บ้าน ป่าไม้แผนใหม่ "
3.อานุภาพ นุ่นสูง หนังสือพิมพิ์กรุงเทพธุรกิจ คอรัมส์ จุดประกาย ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2548 "หมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ล้อมรั้วด้วยสำนึกแบบเก่า"





บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
130349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

มติ คณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เกิดจากแนวคิดที่มองว่าประชาชนคือตัวการทำลายป่า และเป็นอุปสรรคของการดูแลป่า ทั้งๆที่สาเหตุของการทำลายป่านั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากประชาชนเท่านั้น แต่มีสาเหตุอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เรามองข้ามไป เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ทั้งป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และส่งออกภายนอกประเทศ หรือแม้กระทั่งโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน การสัมปทานป่า เป็นต้น ที่สำคัญกลไกของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการป่าไม้ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 ฯลฯ ที่ผ่านมานั้นเป็นการผูกขาดอำนาจของหน่วยงานบางหน่วยงานเท่านั้น และมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อการอนุรักษ์แต่ก็ไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้

The Midnightuniv website 2006