The Midnight University
ฤดูกาล เกษตรกร
และเกษตรกรรม
ตำนานปฏิทินในโลกที่สาม
เกษตรกรในโลกที่หนึ่ง
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมมาจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยวันศุกร์
และ
www.localtalk2004.com
หมายเหตุ
: บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจ
2 ชิ้นนี้ เคยได้รับการเผยแพร่แล้ว
บนหน้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยวันศุกร์ และ www.localtalk2004.com
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานปฏิทินและวิถีเกษตรที่กำลังเผชิญหน้ากับแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่
ในแถบลาตินอเมริกาและตะวันออกไกล
๑. ตำนานปฏิทิน ๒. ชาวนาญี่ปุ่นกับ WTO
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 860
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
7.5 หน้ากระดาษ A4)
ตำนานปฏิทินในโลกที่สาม
เกษตรกรในโลกที่หนึ่ง
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: รวบรวม
1. ตำนานของปฏิทิน
รองผู้บัญชาการมาร์กอส : 10 พฤษภาคม 1999
รุ่งสาง!
พี่น้องทั้งหลาย,
มันคือเดือนพฤษภาคมและรุ่งสางเป็นสัญญาณบอกถึงความร้อนและแดดวูบวาบ แต่มันไม่ใช่พฤษภาคมเดือนนี้หรือรุ่งสางวันนี้
ไม่ใช่ หรือว่าใช่ มันคือเดือนพฤษภาคมนี้และรุ่งสางนี้แหละ แต่เมื่อสิบปีก่อน
แสงไฟจากกองฟืนฉายเงามืดและสว่างทาบบนผนังกระท่อมของพ่อเฒ่าดอนอันโตเนียว พ่อเฒ่าดอนอันโตเนียวนั่งเงียบมาพักใหญ่แล้ว
เฝ้าดูดอนญาฮวนนิตาที่จับจ้องมองมือของนางเอง ผมนั่งอยู่ด้านข้าง มีกาแฟถ้วยหนึ่งวางตรงหน้า
ผมมาถึงได้ครู่ใหญ่แล้ว
ผมเอาหนังกวางผืนหนึ่งมาฝากพ่อเฒ่าดอนอันโตเนียว เพื่อดูว่าแกรู้วิธีฟอกมันหรือเปล่า ดอนอันโตเนียวแทบไม่ชำเลืองแลหนังผืนนั้นเลย แกเอาแต่เพ่งตามองดอนญาฮวนนิตาที่กำลังดูมือตัวเอง สองชรากำลังคอยอะไรบางอย่าง ผมหมายถึงว่า พ่อเฒ่าดอนอันโตเนียวกำลังคอยอะไรบางอย่างจากการเฝ้ามองดูดอนญาฮวนนิตาเนิ่นนาน และดอนญาฮวนนิตากำลังคอยอะไรบางอย่างจากการจ้องดูมือตัวเองเนิ่นนาน ผมนั่งเคี้ยวก้านไปป์และคอยเช่นกัน แต่ในบรรดาสามคนที่อยู่ในกระท่อม ผมเป็นคนเดียวที่ไม่รู้เลยว่า เรากำลังคอยอะไร ทันใดนั้นเอง ดอนญาฮวนนิตาถอนใจลึก เงยหน้าขึ้นและเขม้นมองดอนอันโตเนียว พลางพูดว่า:
"น้ำจะมาตรงเวลา"
"มันจะมาตรงเวลา" พ่อเฒ่าอันโตเนียวพูดตาม แล้วจากนั้น แกก็หยิบที่มวนบุหรี่ออกมาและเริ่มมวนบุหรี่สูบ ผมรู้ทันทีว่าหมายถึงอะไร จึงรีบเติมยาเส้นลงกล้อง จุดไฟและผ่อนตัวตามสบายเพื่อฟังและจดจำ ดังที่ผมกำลังจะเล่าให้คุณฟัง ณ บัดนี้....
ตำนานของปฏิทิน
ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาวุโสที่สุดในผู้เฒ่าผู้แก่ของชนเผ่าเราเล่าว่า ในสมัยยุคแรก
ๆ เวลายังไม่มีระเบียบแบบแผนและมันเดินสะเปะสะปะเหมือนขี้เมาในงานฉลองวันนักขัตฤกษ์ที่เมืองซันตาครูซ
ทั้งผู้ชายผู้หญิงต้องทุกข์ทรมานอย่างมากและสับสนจนหัวหมุน เพราะเวลาไม่ได้เดินไปอย่างสม่ำเสมอ
แต่เดี๋ยวก็เดินเร็วรี่ เดี๋ยวก็เดินเชื่องช้า กะโผลกกะเผลกราวกับคนแก่ขาพิการก็ไม่ปาน
บางครั้งพระอาทิตย์ก็เป็นหนังผืนใหญ่ที่ปกคลุมทุกสรรพสิ่ง แต่บางทีก็มีแต่น้ำ
น้ำข้างบน น้ำข้างล่างและน้ำตรงกลาง หรือไม่ทุกอย่างก็ยุ่งเหยิงมั่วไปหมด และคนแทบไม่สามารถปลูกพืชผัก
ล่าสัตว์หรือเอาฟางมุงหลังคา หรือเอาไม้กับดินเหนียวมาทำผนังกระท่อมได้เลย
เทพเจ้าทั้งหลายทอดตามองดูสิ่งต่าง ๆ และเพียงแต่มองดู เพราะเทพเจ้าเหล่านี้ ซึ่งเป็นเทพเจ้ายุคแรกสุดที่ให้กำเนิดแก่โลก พวกท่านเพียงแต่เดินเล่นไปเรื่อย ๆ จับกุ้งในแม่น้ำ เคี้ยวอ้อย และบางครั้งก็ช่วยคัดเมล็ดข้าวโพดมาทำแป้งตอร์ตีญา ด้วยประการฉะนี้ พวกท่านเหล่าเทพเจ้าที่ให้กำเนิดแก่โลก เทพเจ้าในยุคแรกสุด จึงทอดตาดูสรรพสิ่ง เทพเจ้าคิด ไม่ได้คิดรวดเร็ว แต่ใช้เวลาเนิ่นนาน เพราะเทพเจ้าเหล่านี้ไม่รีบร้อน ด้วยประการฉะนี้เอง พวกท่านจึงใช้เวลานานแสนนานเฝ้ามองดูเวลาเดินสะเปะสะปะไปทั่วแผ่นดิน และหลังจากอ้อยอิ่งมานานนมแล้ว เทพเจ้าก็คิดขึ้นมาจนได้
หลังจากคิดเรียบร้อยแล้ว เพราะพวกท่านใช้เวลามากมายในการคิดเช่นกัน เหล่าเทพเจ้าจึงแวะไปหาท่านแม่ที่มีชื่อว่า อิกซ์มูคาเน แล้วกล่าวแก่นางว่า:
"ท่านแม่อิกซ์มูคาเน เวลาที่เดินอยู่ทั่วแผ่นดินนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ให้ดี บางทีมันก็กระโดดข้าม บางทีก็วิ่ง บางทีก็เดินเฉื่อยแฉะ ไปข้างหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง ด้วยเหตุนี้เอง คนจึงปลูกอะไรไม่ได้เลย ท่านแม่จะเห็นว่า พวกเขาเก็บเกี่ยวเมื่อต้องการก็ไม่ได้ ทั้งผู้ชายผู้หญิงต่างโศกเศร้า และตอนนี้พวกเราหลายคนก็รบพุ่งกันเองเพื่อหากุ้ง ส่วนอ้อยก็ไม่ได้อยู่ตรงที่ที่เราทิ้งมันไว้ ดังนั้น เราจึงมาบอกท่านแม่ เราไม่รู้ว่าท่านแม่คิดอะไร ท่านแม่อิกซ์มูคาเน แต่ไม่ใช่เรื่องดีเลยที่เวลาเดินสะเปะสะปะแบบนี้ ไม่มีใครตั้งหลักได้ว่า ต้องไปที่ไหน เมื่อไรและมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง นี่คือสิ่งที่เรากำลังคิดอยู่ ท่านแม่อิกซ์มูคาเน เราไม่รู้ว่า ท่านแม่จะบอกเราอย่างไรเกี่ยวกับปัญหานี้ที่เรากำลังบอกท่านแม่อยู่"
ท่านแม่อิกซ์มูคาเนถอนใจนิดหน่อย แล้วนางเอ่ยว่า:
"ไม่ใช่เรื่องดีที่เวลาไม่มีระเบียบแบบนี้ สร้างความวุ่นวายและความเดือดร้อนแก่คนดี ๆ ทั้งหลาย"
"ใช่ ถูกแล้ว ไม่ดีเลย" เทพเจ้ากล่าว
และเทพเจ้าก็รอคอยสักหน่อย เพราะพวกท่านต่างรู้ดีว่า ท่านแม่อิกซ์มูคาเนยังพูดไม่จบ นางยังไม่ทันเริ่มต้นด้วยซ้ำ นั่นคือเหตุผลที่นับแต่นั้นมา ดูเหมือนแม่ทุกคนพูดจบแล้วตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มพูดกับเรา
ท่านแม่อิกซ์มูคาเนถอนใจอีกครู่หนึ่ง แล้วจึงพูดต่อว่า:
"บนโน้น ในท้องฟ้า มีนิทานที่เวลาจะยอมฟัง และเวลาจะตั้งใจฟังถ้ามีใครสักคนอ่านให้ฟัง และคอยเล่าให้เวลาฟังว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป อย่างไร เมื่อไรและที่ไหน"
"ถ้าเวลาอยู่ที่นั่นและถ้ามันยอมตั้งใจฟัง" เหล่าเทพเจ้าพูด
ท่านแม่อิกซ์มูคาเนถอนใจอีกเฮือก และในที่สุดนางก็กล่าวว่า:
"แม่เต็มใจอ่านนิทานให้เวลาฟัง เวลาจะได้รู้จักเดินไปตรง ๆ แต่สายตาแม่ไม่ดีแล้วและแม่มองท้องฟ้าไม่เห็น แม่ก็อ่านไม่ได้"
"แม่อ่านไม่ได้"
"แน่ะ ถ้าแม่อ่านได้" ท่านแม่อิกซ์มูคาเนกล่าว "แม่ก็ทำให้เวลาเดินตรงได้ แต่แม่ไม่สามารถมองและอ่านท้องฟ้า เพราะสายตาแม่ไม่ดีแล้ว"
"เฮ้อ" เทพเจ้าคราง
"เฮ้อ" ท่านแม่อิกซ์มูคาเนคราง
พวกท่านจึงนิ่งกันอยู่อย่างนั้น ทั้งท่านนี้และท่านอื่น ๆ ได้แต่ครางว่า "เฮ้อ" จนกระทั่งในที่สุด เหล่าเทพเจ้าเริ่มคิดอีกครั้งและเอ่ยว่า:
"นี่แน่ะ ท่านแม่อิกซ์มูคาเน ข้าไม่รู้ว่าท่านแม่คิดอย่างไร แต่เราคิดว่า มันคงดีไม่น้อยถ้าเรานำท้องฟ้าลงมาให้ท่านแม่ข้างล่างนี้ ท่านแม่จะได้เห็นมันใกล้ ๆ ชัด ๆ จนอ่านได้และชักนำให้เวลาเดินตรงทาง"
ท่านแม่อิกซ์มูคาเนถอนใจหนักหน่วงเมื่อพูดว่า:
"ถ้าแม่มีที่เก็บท้องฟ้าก็คงดีหรอกนะ? ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ เจ้าไม่เห็นหรือว่ากระท่อมแม่เล็กแค่ไหน? ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้"
"ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้" เทพเจ้าพูดตาม
แล้วพวกท่านทั้งหมดจึงนิ่งกันไปอีกนานพร้อมกับคราง "เฮ้อ" "เฮ้อ" จากนั้น เทพเจ้าครุ่นคิดอีกครั้งและกล่าวว่า:
"ท่านแม่อิกซ์มูคาเน ข้าไม่รู้ว่าท่านแม่กำลังคิดอะไร แต่เราคิดว่า มันคงดีไม่น้อยถ้าเราคัดลอกนิทานที่จารึกไว้บนท้องฟ้า แล้วนำมาให้ท่านแม่คัดลอกไว้ที่นี่ ท่านแม่จะได้อ่านนิทานและทำให้เวลาเดินตรง"
"วิธีนี้ดีมาก" ท่านแม่อิกซ์มูคาเนเห็นพ้อง
เหล่าเทพเจ้าจึงขึ้นไปบนท้องฟ้าและคัดลอกนิทานที่ท้องฟ้าเล่าไว้ลงในสมุดบันทึก พวกท่านกลับลงมาอีกครั้งและไปหาท่านแม่อิกซ์มูคาเนพร้อมสมุดบันทึก พลางกล่าวแก่นางว่า:
"ดูนี่สิ ท่านแม่อิกซ์มูคาเน นี่คือนิทานที่ท้องฟ้าเล่า เราจดลงในสมุดบันทึกแล้ว แต่มันไม่คงทนหรอก ท่านแม่จะต้องคัดลอกมันไว้ที่ไหนสักแห่ง เพื่อให้นิทานที่ทำให้เวลาเดินตรงจะคงอยู่ไปชั่วกัลปาวสาน"
"ใช่ ใช่ ใช่" ท่านแม่อิกซ์มูคาเนกล่าว "จงคัดลอกนิทานลงบนมือของแม่ แล้วแม่จะทำให้เวลาเดินตรงและไม่เที่ยวเดินสะเปะสะปะเหมือนตาแก่ขี้เมาอีก"
บนฝ่ามือและหลังมือของท่านแม่อิกซ์มูคาเน เทพเจ้าจดจารนิทานที่บอกเล่าไว้บนท้องฟ้าที่จะทำให้เวลาเดินตรง และนี่เองคือเหตุผลว่า ทำไมแม่ที่รอบรู้ทุกคนบนโลกจึงมีริ้วรอยมากมายอยู่บนสองมือของนาง พวกนางอ่านปฏิทินที่จารึกไว้บนมือ และด้วยวิธีนี้เอง พวกนางจึงดูแลให้เวลาเดินตรง และพืชผลที่ประวัติศาสตร์ปลูกฝังไว้ในความทรงจำจึงไม่ถูกหลงลืม
พ่อเฒ่าดอนอันโตเนียวนิ่งเงียบไป และดอนญาฮวนนิตาพูดซ้ำอีกครั้ง นัยน์ตายังจับจ้องดูมือของนาง "น้ำจะมาตรงเวลา"
โดย ภัควดี
http://www.fridaycollege.org/index.php?file=forum&obj=forum.listing(owner=19)
วันที่ 8 มี.ค. 2549 14:19:34 น. จากเว็บไซต์วิทยาลัยวันศุกร์
2. ชาวนาญี่ปุ่นกับ
WTO
ความย่อ แม้ว่าการประชุมองค์การการค้าโลก
จะเกิดขึ้นกลางเดือนธันวาคม 2548 นี้ แต่เกษตรกรรายย่อยในญี่ปุ่นอย่าง ยูจิ
โคชิโนะ กลับไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีตลาดการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ที่มีชาวนาผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันกว่า
3 ล้านครอบครัว ขณะที่ไทยซึ่งผลักดันตัวเองเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก
แต่สิบปีที่ผ่านมา ชาวนาไทยได้รับส่วนแบ่งเพียงไม่ถึงหนึ่งในสี่ของมูลค่าการส่งออก
นี่คือภาพสะท้อนของตลาดเสรีที่ต้องสืบสาวไปให้ถึงว่า ใครเสียประโยชน์และได้ประโยชน์มากที่สุด
...............................................................
การประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) ระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 6 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 13-18 ธันวาคม 2548 นี้ ไม่ได้มีเพียงนักเจรจาจาก 149 ประเทศทั่วโลกที่จะต้องไปต่อรองกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดเท่านั้น แต่ยังมีเกษตรกรจากทั่วโลกที่จะตามไปกดดันการเจรจา หรือหากจำเป็น ก็ต้องถึงขั้นล้มการเจรจาเพื่อรักษาชีวิตของพวกเขาและลูกหลานเอาไว้
ชะตากรรมเกษตรกรรายย่อย
สำหรับชาวนาอย่าง ยูจิ โคชิโนะ การประชุม WTO ครั้งนี้ สามารถเป็นคำพิพากษาเพื่อต่อชีวิตหรือจะฆ่าเขาทั้งเป็นได้
จากเงื่อนไขที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องยอมลดเลิกการกีดกันการนำเข้าสินค้าเกษตร
ภาคเกษตร เป็นภาคที่ได้รับการปกป้องและคุ้มครองจากรัฐบาลญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน "ทุกวันนี้ ชะตากรรมของชาวนาญี่ปุ่นกำลังย่ำแย่ลงทุกขณะ แต่อย่างน้อยเรายังคาดหวังได้ว่ารัฐบาลจะปกป้องตลาดข้าวญี่ปุ่น" นี่คือความเห็นซื่อ ๆ ของ โคชิโนะ เจ้าของนาข้าว 3 เฮคแตร์ (ประมาณ 18 ไร่) ในหมู่บ้านนิอิกาตะ ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น
โคชิโนะ อายุ 52 ปีแล้วเขาทำนาร่วมกับพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ขณะที่ภรรยาของเขาต้องไปทำงานในเมือง เพื่อนำเงินมาจุนเจือรายจ่ายของครอบครัว ที่รายได้จากการทำนาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ
ทุกวันนี้ ไม่เพียงชาวนาของญี่ปุ่นจะต้องกังวลกับแรงกดดันในการเจรจาองค์การการค้าโลก ที่บีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรเท่านั้น แต่ยังหวาดผวากับการเจรจาระดับทวิภาคี (FTA) โดยเฉพาะกับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก อีกไม่นานข้อตกลงนี้ก็จะได้ข้อยุติแล้ว
ที่ผ่านมา ชาวนาญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาและแรงกดดันต่าง ๆ มากมาย เมื่อปี 2547 พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกฎหมายที่ระบุให้ข้าวที่อยู่นอกการประกันราคาของรัฐบาล จะถูกซื้อในราคาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตามในปี 2550 มีนโยบายให้ชาวนาที่มีที่ดินขนาดใหญ่ จะต้องปรับโครงสร้างการผลิตให้เข้ากับระบบตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร จะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อชาวนารายย่อยอย่าง โคชิโนะ มากขึ้น
"เกษตรกรเคยมีความมั่นใจในการผลิตเพราะมีระบบประกันราคาของรัฐบาล ถ้าไม่มีความช่วยเหลือจากรัฐบาลในส่วนนี้ พวกเราคงไม่สามารถสู้กับสินค้านำเข้าราคาถูกได้ ทั้งจากเหตุผลที่ชาวนาส่วนใหญ่เป็นคนชรา และราคาขายที่ต่ำเกิน" ความกังวลของโคชิโนะ ไม่ได้แตกต่างจากเพื่อนชาวนาร่วมชาติอีก 3 ล้านครอบครัวว่า ชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นไรหลังการประชุม WTO
ปกป้องภาคการเกษตร-เปิดแข่งขันเสรี
ความเห็นที่แตกต่างในการเจรจาครั้งนี้ อยู่ที่ประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรต้องการให้ประเทศต่าง
ๆ เปิดตลาดในกลุ่มนี้มีทั้งประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และประเทศกำลังพัฒนาอย่าง
บราซิล ไทย จีนและอินเดีย ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เกรงว่า ภาคเกษตรของตนเองจะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าเกษตรราคาถูกจากต่างประเทศได้
และต้องล่มสลายไปในที่สุด ขณะเดียวกันประเทศร่ำรวยอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่ยอมเปิดตลาดสินค้าตัวเอง
แต่ก็ยังต้องการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและบริการในประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย
ในกรณีของญี่ปุ่นนั้น แม้จะเป็นประเทศร่ำรวย แต่เมื่อเข้าสู่ประเด็นสินค้าเกษตร จุดยืนของญี่ปุ่นจะใกล้เคียงกับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการปกป้องตลาดมากกว่า
โยโกะ คิตาซาวะ ประธานกลุ่มเครือข่ายความยากจนและหนี้สิน ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นองค์กรรากหญ้าที่จับตาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศกล่าวว่า "ภาคเกษตรของญี่ปุ่นเป็นภาคที่ขาดไม่ได้ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ดังนั้น การประชุมที่ฮ่องกง รัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องปกป้องภาคเกษตรของตนเองมากกว่าจะไปเที่ยวกดดันประเทศยากจนให้เปิดตลาดสินค้าอื่น ๆ " ปัจจุบัน ญี่ปุ่นส่งสินค้าเกษตรออกไปเพียง ร้อยละ 1 เท่านั้น โดยส่งไปยังตลาดบนในสหรัฐฯ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์
จากตัวเลขล่าสุด ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง เพราะสำหรับประเทศที่เคยผ่านช่วงสงครามยาวนานนั้น ย่อมทราบดีว่า การที่ประเทศไม่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ในเรื่องอาหารจะมีจุดจบเป็นเช่นไร
สำหรับโยโกะ โตมิยามา ประธานองค์กรผู้บริโภคในญี่ปุ่น "ของถูกไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น ผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายในราคาที่แพงกว่า เพราะพวกเขารู้สึกว่า ข้าวญี่ปุ่นควรได้รับการปกป้อง เพราะมันเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของชาวญี่ปุ่น" ปัจจุบัน ภาษีนำเข้าข้าวของญี่ปุ่นอยู่ที่ 490%
ไทย ผู้ส่งออกข้าวของโลก
หันกลับมาดู เกษตรกรไทยซึ่งเกษตรกรญี่ปุ่นกลัวนักหนาว่ามีชีวิตความเป็นอยู่เช่นไรภายใต้คำยกย่อง
"ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับต้น ๆ ของโลก" จากบทความ "หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น:
ถลำลึกหรือโอกาสในการกลับใจ" จักรชัย โฉมทองดี จาก กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
(FTA Watch) ระบุว่า การที่ตัวแทนฝ่ายไทยพยายามเจรจาเพื่อเปิดตลาดสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น
แล้วโฆษณาว่าเราจะมีแต่ได้กับได้นั้น ไม่ใช่ทัศนะที่สอดคล้องกับเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากของประเทศไทย
"หากเราพิจารณาความเข้าใจโดยทั่วไปของนักนโยบาย กระบวนทัศน์ทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศของไทยเริ่มต้นจากความเข้าใจที่ว่าโดยทั่วไปแล้ว เรามีความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรที่สูงกว่าคนอื่นเขา เป็นผลให้พืชผลของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ผู้เจรจาการค้าของไทยจึงมุ่งที่จะเปิดตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี การลดการอุดหนุน และยกเลิกมาตรการกีดกันต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น
น่าเสียดายที่นับวันเป้าหมายสูงสุดทางการค้าระหว่างประเทศจะหยุดลงเพียงเท่านี้ (ส่งออกให้ได้มากที่สุด) แล้วปล่อยให้เป้าหมายที่แท้จริงซึ่งก็คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน เป็นเพียงผลพลอยได้จากสิ่งที่เรียกว่า "Trickle down effect" หรือ 'การกระจายผลประโยชน์จากบนลงล่างผ่านทางกลไกตลาด' เป็นหลัก การลัดวงจรทางเศรษฐกิจโดยสรุปเอาเองว่า ส่งออกสินค้าได้มากขึ้นแล้ว ชีวิตเกษตรกรจะดีขึ้น โดยขาดการพิสูจน์อย่างเป็นระบบ เป็นการก้าวพลาดทางนโยบายที่สำคัญยิ่ง"
จากตัวเลขที่รัฐบาลไทย ไม่เคยรายงานให้สาธารณะรับทราบเลย ท่ามกลางการส่งออกสินค้าเกษตรมากมายว่า ใครเป็นผู้ที่ 'ได้' จากการส่งออกกันแน่
จากงานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า "การส่งออกข้าวของไทยเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกข้าวโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปีที่ผ่านมาเราก็ส่งออกในปริมาณสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก แต่สิบปีที่ผ่านมารายได้ที่แท้จริงเฉลี่ยจากการขายข้าวของชาวนาไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ชาวนาได้รับส่วนแบ่งเพียงไม่ถึงหนึ่งในสี่ของมูลค่าการส่งออก แล้วหากปีไหนราคาในการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งของชาวนากลับหดน้อยลงไป
ผู้ที่กำลังผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก และสร้างชาติให้เป็นครัวของโลกตามแนวความฝันของผู้นำประเทศ กลับพบว่า ลูกที่บ้านยังขาดสารอาหาร และหนี้สินของครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นทุกวัน สำหรับเขาเหล่านี้ การค้าเสรีไม่เคยหมายถึงชีวิตที่ดีกว่า
แน่นอนว่าความเป็นจริงในแต่ละรายสินค้า อาจมีความแตกต่างกันออกไป ภายใต้บางเงื่อนไข การส่งออกอาจช่วยเกษตรกรได้ แต่ปัญหาก็คือว่า ไม่เคยมีความพยายามที่จะศึกษาอย่างจริงจังกับพืชหลากหลายชนิด ในการชี้ถึงประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การผลิตและการค้าสินค้าเกษตรของไทย"
การเจรจาการค้าเสรีไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก ดูเหมือนว่า คนเล็กคนน้อยดูจะห่างไกลจากการได้รับผลประโยชน์เสียเหลือเกิน และแน่นอนที่สุด พวกเขานั่นแหล่ะ คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการค้าเสรีอย่างแสนสาหัสก่อนใคร
21 ธันวาคม
2548
http://www.localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=&code=c1_21122005_01
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
แม้ว่าการประชุมองค์การการค้าโลก
จะเกิดขึ้นกลางเดือนธันวาคม 2548 นี้
แต่เกษตรกรรายย่อยในญี่ปุ่นอย่าง ยูจิ โคชิโนะ กลับไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีตลาดการเกษตร
โดยเฉพาะข้าว ที่มีชาวนาผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันกว่า 3 ล้านครอบครัว ขณะที่ไทยซึ่งผลักดันตัวเองเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก
แต่สิบปีที่ผ่านมา ชาวนาไทยได้รับส่วนแบ่งเพียงไม่ถึงหนึ่งในสี่ของมูลค่าการส่งออก
นี่คือภาพสะท้อนของตลาดเสรีที่ต้องสืบสาวไปให้ถึงว่า ใครเสียประโยชน์และได้ประโยชน์มากที่สุด