The Midnight University
ความฉ้อฉลที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ให้ทัน
หลากหลายความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับระบอบทักษิณ
วิทยากร เชียงกูล, สุวินัย ภรณวิลัย, ลัดดาวัลย์
ตันติวิทยาพิทักษ์
รวบรวมจากอีเมล์ที่ส่งมาถึง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
: บทความแสดงความคิดเห็นเหล่านี้
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ได้รับมาจาก ทั้งผู้เขียนโดยตรง นักวิชาการ และสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งทางกองบรรณาธิการฯ จะทยอยนำเสนอบนเว็บเพจของมหาวิทยาลัยตามลำดับ
สำหรับเฉพาะบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วยบทความ ๓ เรื่องคือ
๑. ระบอบทักษิณฉุดให้เศรษฐกิจดีขึ้น หรือจะเร่งไปตกเหว
๒. ระบอบทักษิณสุดยอดเชื้อไฟ เร่งการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง
๓. ประชาธิปไตยกับการเมืองระบบตัวแทน : เมื่อโจรเข้าบ้าน
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 857
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
9 หน้ากระดาษ A4)
หลากหลายความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับระบอบทักษิณ
วิทยากร
เชียงกูล, สุวินัย ภรณวิลัย, ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
1. ระบอบทักษิณฉุดให้เศรษฐกิจดีขึ้น
หรือจะเร่งไปตกเหว ?
วิทยากร เชียงกูล : วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
ประชาชนไทยกำลังถูกสถานะการณ์แบ่งเป็น
2 ขั้ว ระหว่างผู้ที่เรียกร้องให้คุณทักษิณลาออก และผู้ที่ชอบ/เชียร์คุณทักษิณ
ถ้าสังคมไทยมีใจกว้าง และอดกลั้นพอที่จะอภิปรายโต้แย้งกันด้วยเหตุผล น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ประชาชนสนใจ
และเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจการเมืองมากขึ้น แต่ความเป็นจริงทางการเมืองคือ คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดจากผลประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้น
และใช้อารมณ์ความรู้สึก มากกว่าการคิดวิเคราะห์อย่างวิพากษ์วิจารณ์ สภาพเช่นนี้มีแนวโน้มจะนำไปสู่การปะทะกันของกลุ่มคนที่เชื่อแบบ
2 ขั้วสุดโต่ง มากกว่าการที่ประชาชนจะได้เรียนรู้และฉลาดขึ้น
ประเทศไทยผ่านการปะทะกันอย่างรุนแรงของกลุ่มที่เชื่อแบบ 2 ขั้ว สุดโต่งมาหลายครั้งแล้ว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษา และข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่ำ การศึกษามีแต่สอนให้ท่องจำ ไม่สอนให้คนคิดวิเคราะห์เป็น ข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่ครอบงำโดยรัฐบาลนี้ ซึ่งเก่งในเรื่องการสร้างภาพมากได้แต่โฆษณาให้คนเชื่อตามด้านเดียวว่า รัฐบาลนี้ เก่งทุกอย่าง ดีทุกอย่าง แม้แต่กรณีซุกหุ้น และถ่ายเทหุ้น 7.3 หมื่นล้านบาท เพื่อเลี่ยงภาษี 2 หมื่นล้านบาท ก็จะมีคำอธิบายว่าเป็นเรื่องที่ใครๆเขาก็ทำกัน โดยไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารที่เร้าอารมณ์มากกว่าเหตุผลว่า นักการเมืองก็โกงด้วยกันทั้งนั้น แต่คนที่ทำงานเก่ง ย่อมดีกว่าคนที่ทำงานไม่เป็น
ประชาชนควรได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร 2 ด้านว่า นโยบายการบริหารแบบทักษิณในรอบ 5 ปีที่ว่าทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟูได้ ประชาชนได้กู้ยืมมีเงินจับจ่ายใช้สอยกันคล่องมือในระยะสั้นๆนั้น มีข้อเสียอะไรบ้าง ทั้งในระยะกลางและระยะยาว เพราะถ้ามองแต่ข้อดีระยะสั้นด้านเดียว ก็จะหลงทางแน่ๆ ระบอบทักษิณ (หรือนโยบายการบริหารแบบทักษิณ) ไม่ใช่มีความผิดพลาดเฉพาะแค่เรื่องการซุกหุ้น เลี่ยงภาษี ขาดคุณธรรม จริยธรรม ในฐานะผู้นำเท่านั้น
แต่นโยบายการบริหารประเทศแบบทักษิณที่เน้นการเปิดเสรี เอื้อประโยชน์การลงทุน และการค้าให้กับทุนข้ามชาติ และทุนขนาดใหญ่อย่างกอบโกยล้างผลาญนั้น กำลังทำให้ประเทศเสียหายอย่างน้อย 7 ประเด็น คือ
1. การที่ตระกูลชินวัตรปกปิด โยกย้ายถ่ายเท และขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป 73,000 ล้านบาท โดยเลี่ยงการเสียภาษีที่อาจต้องจ่ายถึง 30% ถ้าเป็นกรณีที่บริษัทหนึ่ง ขายให้อีกบริษัทหนึ่งส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงหลักการว่าผู้ได้ประโยชน์จากแผ่นดินควรเสียภาษีให้แผ่นดินส่วนรวม ไม่คำนึงถึงจริยธรรม และความรับผิดชอบในฐานะผู้นำประเทศ แม้แต่นักธุรกิจทั่วไปก็ควรรับผิดชอบเรื่องการเสียภาษีในฐานะพลเมืองดี ยิ่งเป็นผู้นำประเทศ ยิ่งควรมีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่านักธุรกิจทั่วไป ไม่ใช่อ้างว่าใครๆเขาก็ทำกัน
2. การขายกิจการทั้งบริการดาวเทียม และสถานีโทรทัศน์ให้กับต่างชาติทั้งๆที่เป็นกิจการเกี่ยวกับสาธารณสมบัติ ที่สงวนไว้สำหรับคนไทย เพราะเกี่ยวพันกับทั้งความมั่นคง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ของประเทศ เป็นการมุ่งหากำไรส่วนตัว จนลืมคิดประเด็นที่ว่า นี่เป็นการทำลายสาธารณะสมบัติ และผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งผู้นำไม่ควรทำเช่นนั้น แม้แต่นักธุรกิจที่รักชาติโดยทั่วไปก็ไม่ควรทำ
3. หาผลประโยชน์ทับซ้อนจากการใช้อำนาจหน้าที่การเป็นเจ้าหน้าที่ไปเอื้ออำนวยผลประโยชน์ส่วนตัวของตนทุกวิถีทาง เช่น ลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทเอไอเอส ที่รับสัมปทานคลื่นโทรศัพท์ ด้วยการออกกฎหมายให้เปลี่ยนจากการจ่ายสัมปทานตามส่วนแบ่งกำไรเป็นการจ่ายภาษีสรรพสามิต (ซึ่งเป็นการกีดกันคู่แข่งรายใหม่ไปในตัว) ลดภาษีอุปกรณ์ดาวเทียมให้ชินแซทเทลไลท์ ลดค่าสัมปทาน และปรับผังรายการไอทีวี บีบการบินไทยให้ขาดทุนเพื่อเปิดทางให้สายการบินแอร์เอเซียทำกำไรเพิ่มขึ้น ให้สินเชื่อแก่รัฐบาลพม่าเพื่อให้มาซื้อบริการของชินแซทเทลไลท์ รีบเปิดเจรจาการค้าเสรีกับบางประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจโทรคมนาคม รถยนต์ และกิจการอื่นๆของบริษัทตนเอง และพรรคพวก ทำให้บริษัทของตนเอง และพรรคพวกมีทั้งผลกำไร และทรัพย์สินจากราคาหุ้นเพิ่มหลายเท่าในรอบ 5 ปีที่ได้เป็นรัฐบาล
4. ใช้อำนาจหน้าที่การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ การเงิน การธนาคาร การซื้อขายที่ดิน การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ด้วยวิธีการใช้อภิสิทธิรู้ข้อมูลภายใน ฉ้อฉล หาคอมมิชชัน และกำไรเกินควร การหาผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยวิธีการต่างๆแบบใช้เล่ห์เหลี่ยมสูง แม้จะไม่ผิดกฎหมาย หรือเลี่ยงกฎหมาย แต่เป็นผลเสียหายทั้งในแง่ความไม่เป็นธรรม และการไม่ส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพ และการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้เกิดตัวอย่างที่เลวต่อภาคธุรกิจเอกชน ดึงให้นักธุรกิจต้องวิ่งเข้าหาอำนาจรัฐ และกลั่นแกล้งธุรกิจที่ไม่ยอมสยบให้ หรือแบ่งผลประโยชน์ให้น้อย ก่อให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่มีหลักเกณฑ์ที่โปร่งใส การขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ
5. ดำเนินนโยบายโครงการประชานิยมแบบสร้างภาพ หาเสียง และหมุนเงินให้ไหลกลับมาให้ตัวเอง และพวก ทั้งที่เป็นงบประมาณจากภาษีของประชาชน และการกู้ยืม และออกพันธบัตรเพื่อเอาเงินอนาคตมาใช้ แต่วิธีการจ่าย และการประชาสัมพันธ์ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณคุณทักษิณ และพรรคไทยรักไทย โครงการส่วนใหญ่ เป็นโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภค และการลงทุนแบบเร่งผลิตสินค้ามาขาย เพื่อให้เงินหมุนเวียนกลับมาสู่ธุรกิจค้าขายของตน และพรรคพวก (เช่นโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ บริษัทเงินทุนปล่อยสินเชื่อ ฯลฯ) และเพิ่มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมแบบฉาบฉวย ไม่ได้มุ่งพัฒนาคน และชุมชน ให้มีความรู้ความสามารถด้านการจัดการ มีการรวมกลุ่ม เพิ่มความเข้มแข็งที่จะมีอำนาจต่อรอง กับระบบพ่อค้าผูกขาดได้อย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้แต่บริโภค และเป็นหนี้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าการเพิ่มของรายได้ที่แท้จริง ทั้งยังติดนิสัยพึ่งพาอยู่ภายใต้อุปถัมภ์นักการเมือง และรัฐบาล โดยไม่ตระหนักว่า งบประมาณโครงการเหล่านั้นมาจากภาษี และการถลุงสาธารณะสมบัติของประชาชนเอง
6. การอ้างว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายแบบ 2 ทางไปพร้อมกัน คือ ทั้งส่งเสริมการลงทุน และการค้ากับต่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น เป็นความจริงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เพราะรัฐบาลใช้งบประมาณ และกำลังคนส่วนใหญ่ทุ่มเทด้านส่งเสริมการลงทุน และการค้ากับต่างประเทศ ทำให้ต่างชาติ ทั้งสิงคโปร์และประเทศอื่นเข้ามายึดครองกิจการในไทยร่วมกับนายทุนใหญ่ กลุ่มรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปี การค้าระหว่างประเทศเริ่มกลับมาขาดดุลการค้า เพราะนโยบายและโครงสร้างการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมแบบประกอบรูป คือเงื่อนไขที่ยิ่งทำให้ส่งออกมาก ก็ต้องสั่งเข้าเครื่องจักร น้ำมัน วัตถุดิบมาก และยิ่งการลงทุนเป็นของต่างชาติมากขึ้น พวกเขาก็จะสั่งซื้อจากบริษัทเครือข่ายของเขามากขึ้น ดังนั้นเงินที่ไหลเข้ามาจึงเป็นของชั่วคราว แต่ต่อไปเงินจะไหลออกนอกประเทศมากขึ้น ขณะที่ทรัพยากรในประเทศถูกทำลาย แรงงานถูกเอาเปรียบทั้งรัฐบาลภาคธุรกิจ และประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น
7. นโยบายการบริหารประเทศทั้งหมดของรัฐบาล เป็นการพัฒนาที่เน้นความเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลชนแบบกอบโกย (ผลประโยชน์ส่วนตัว) และล้างผลาญ (ทรัพยากรส่วนรวม) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับการพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยสิ้นเชิง นโยบายที่มุ่งแปลงทุกอย่างเป็นสินค้า ทำลายทรัพยากรส่วนรวมอย่างมหาศาล รวมทั้งการขายทรัพย์สมบัติสาธารณะ เช่น รัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนทั้งต่างชาติและนายทุนใหญ่
นโยบายที่เน้นแต่เรื่องการค้า การลงทุน การบริโภค และใช้สื่อโหมเรื่องนี้ตลอดเวลา ทำให้ประชาชน และโดยเฉพาะเยาวชนถูกครอบงำเรื่องการบริโภค การเป็นหนี้ การแสวงหาเงินทองทุกวิถีทาง จนเกิดปัญหาสังคม และความเสื่อมเสียทางด้านจริยธรรม ศีลธรรมไปทั่วประเทศ เป็นความเสียหายร้ายแรงทั้งด้านทรัพยากร และจิตใจของผู้คน ซึ่งไม่อาจแก้ไขแบบแยกส่วน เช่น เพิ่มงบประมาณให้พระ หรือ โรงเรียนอบรมศีลธรรมเพิ่มขึ้นได้ เพราะตัวนโยบายการบริหารแบบทักษิณ คือตัวการสร้างปัญหาความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมให้เยาวชน และประชาชนทั้งประเทศ
ถ้าประเทศไทยยังไม่รู้จักเปลี่ยนนโยบายการบริหารแบบทักษิณเป็นนโยบายทางเลือกอื่น เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ระบบสหกรณ์ ทุนนิยมที่มีการแข่งขันเป็นธรรม และรัฐสวัสดิการแล้ว ประเทศไทยมีโอกาสเกิดวิกฤติรอบ 2 ได้ในไม่ช้า และเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำไปเป็นประเทศเมืองขึ้นสมัยใหม่ ที่มีความขัดแย้งและปัญหาสังคมเลวร้ายกว่าที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้อีกหลายเท่า
2. ระบอบทักษิณสุดยอดเชื้อไฟ
เร่งการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง
ดร.สุวินัย ภรณวิลัย : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จากผู้จัดการ : "สุวินัย ภรณวิลัย"
ชี้ระบอบทักษิณที่สร้างความเลวร้ายและความเสียหายให้ประเทศชาติกว่า 5 แสนล้านบาท
ได้สร้างคณูปการในมุมกลับเร่งให้ขวนการภาคประชาชนลุกขึ้นสู้เผด็จการทุนนิยม
โค่นล้มระบอบทักษิณ แผ่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งมีพลวัตเร็วกว่าและมากกว่ายุค
14 ตุลาฯ แนะใช้โอกาสยกระดับออกแบบกติกาการเมืองใหม่ให้กลุ่มการเมืองจากประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น
ก่อนซ้ำรอย "ตีงูให้กากิน" เข้าสู่วงจรการเมืองอุบาทว์เหมือนเคย
ดร.สุวินัย ภรณวิลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ติดตามศึกษา
"ระบอบทักษิณ" มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า
เป็นการต่อสู้ระหว่างการเมืองภาคประชาชนกับการเมืองนายทุนซึ่งแตกต่างไปจากรวมพลังต่อสู้ของประชาชน
2 ครั้งใหญ่ คือ 14 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ ที่เป็นการต่อสู้ของประชาชนกับรัฐบาลเผด็จการทหาร
และจบลงด้วยการกลับเข้าสู่วงจรการเมืองอุบาทว์เหมือนเดิม
ดร.สุวินัย กล่าวว่า หากจะมองการเมืองเวลานี้ให้เข้าใจ ต้องย้อนกลับไปดูการก่อเกิดของระบอบทักษิณ
เติบโตขึ้นมาหลังเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เป็นทุนจำแลงที่อาศัยการปั้นฟองสบู่รอบใหม่และนโยบายประชานิยม
ผสมกับอำนาจนิยมกลายพันธุ์ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของระบอบทักษิณ ได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมทรัพยากรของชาติในทุกมิติ
ทำให้โจทย์ของทักษิณวันนี้เป็นกลุ่มก้อนที่ถูกแย่งชิงทรัพยากรไป ไม่ว่าจะเป็นเอฟทีเอ
หรือรัฐวิสาหกิจ ครู ฯลฯ
"การโค่นระบอบทักษิณ คือการคลายเกลียว เป็นการเคลื่อนย้ายอำนาจไปสู่การปฏิรูปรอบสอง
เพื่อป้องปรามเผด็จการนายทุน" ดร.สุวินัย กล่าว และขยายความว่า การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ต้องสอดคล้องกับสังคม
เศรษฐกิจ และการเมืองภาคประชาชน เป็นการออกแบบการเมืองที่มีความหลากหลาย ดังเช่น
การชูธงเศรษฐกิจพอเพียง ฟื้นนายทุนชาติ หรือการตั้งโจทย์น้ำมันจะหมดโลกในอีก
40 ปีข้างหน้า รัฐธรรมนูญที่ออกมาต้องรู้การฟื้นชุมชน การใช้เทคโนโลยีเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
เป็นการออกแบบตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์ ยังชี้ว่า การเมืองในวันนี้ไม่ใช่การต่อสู้ที่จำกัดอยู่แต่ในระบบพรรคการเมืองระหว่างพรรคฝ่ายค้าน
พรรครัฐบาล ที่ใช้ยุทธวิธีชิงความได้เปรียบในสนามการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นการเมืองภาคประชาชนที่กำลังใช้องค์ความรู้และเครือข่าย
ใช้เทคโนโลยี ต่อสู้ในเชิงความคิด เป็นการนำด้วยความรู้และปัญญา และร่วมกันออกแบบการเมืองที่สามารถควบคุมพรรคการเมืองและทุนการเมืองได้
การเมืองของภาคประชาชนต้องพึ่งสื่อที่เป็นอิสระ และมีสื่อของตนเองที่จะกระจายความรู้นั้นๆ
ออกไป
เขายังบอกว่า ความเลวร้ายของระบอบทักษิณ ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ
ประเมินกันว่ามากกว่า 500,000 ล้านบาท ทั้งการคอร์รัปชั่นทั้งการใช้เงินอีลุ่ยฉุยแฉก
ในมุมหนึ่งก็สร้างคณูปการให้แก่สังคมไทย เพราะระบอบทักษิณ ทำให้ต้อง "ทุบทิ้งบ้านทั้งหลัง"
ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญ กติกา ปรัชญาแนวคิดต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่เป็นแต่เพียงการต่อเติมซ่อมแซมของเก่าแล้วอยู่กันไป
นั่นหมายถึงว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ไม่ใช่ให้การร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในมือของนักกฎหมายเท่านั้น นักกฎหมายจะเป็นเพียงผู้เขียนในสิ่งที่สังคมต้องการจะให้เป็น
ไม่ใช่ผู้กำหนดว่ารัฐธรรมนูญจะต้องเป็นอย่างไร หากไม่สามารถขับเคลื่อนจุดนี้ออกไปได้
ก็เท่ากับ "ตีงูให้กากิน" คือพรรคการเมืองหน้าเดิมๆ กลับมามีอำนาจและวนเวียนอยู่แบบเดิม
ซึ่งการโค่นล้มอำนาจเผด็จการสองครั้งที่ผ่านมาประชาชนก็น่าจะได้บทเรียน
"ถ้าไม่มีทักษิณ ขบวนการการเมืองภาคประชาชนไม่ได้มาไกลขนาดนี้ สังคมต้องร่วมกันออกแบบการเมืองใหม่ให้ได้
ไม่เช่นนั้นก็จะสูญเปล่า เราต้องฝ่าทะลวงผ่าทางตันให้ก้าวขึ้นไปสู่อีกขั้นหนึ่งโดยมีทักษิณ
เป็นตัวเร่ง การขับเคลื่อนของการเมืองภาคประชาชนที่มีทุนทางปัญญามีเทคโนโลยี
มีเครือข่าย จะมีพลวัตไปเร็วกว่าและมากกว่ายุค 14 ตุลาฯ แต่ถ้าประเมิน ณ เวลานี้ในเบื้องต้นประชาชนชนะแล้ว"
นักวิชาการคนเดิม ยังบอกว่า การเมืองหลังยุคทักษิณ ต้องเป็นการเมืองหลายมิติ
เหมือนในต่างประเทศ เช่น เยอรมัน จะแข่งกันในแง่นโยบายและแบ่งเก้าอี้กันตามเสียงที่ได้
พรรคการเมืองที่เป็นปากเสียงให้แต่ละกลุ่มผลประโยชน์ เช่น พรรคกรีน ที่ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม
ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นกลุ่มการเมืองที่สามารถสะท้อนปัญหาออกไปได้ ซึ่งจะเป็นอำนาจใหม่
และหลังโค่นทักษิณ ขบวนการการเมืองภาคประชาชนจะยกระดับเป็นสถาบัน
3. ประชาธิปไตยกับการเมืองระบบตัวแทน
: เมื่อโจรเข้าบ้าน
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ : นักวิชาการอิสระ
ความเข้าใจของผู้คนโดยทั่วไป เห็นว่า ประชาธิปไตย คือ การที่อำนาจในการตัดสินใจเป็นของประชาชน
และเมื่อไม่สามารถให้คนหกสิบสองล้านคนทั่วประเทศ มาร่วมประชุมเพื่อตัดสินใจ
จึงเป็นความจำเป็นต้องมีผู้แทนมาทำหน้าที่ให้
ทราบไหมว่า รูปแบบการจัดการอำนาจภายใต้แนวคิดประชาธิปไตย นั้น มีหลายรูปแบบ ในยุโรป อเมริกา เป็นแบบหนึ่ง ตะวันออกกลาง แบบหนึ่ง เอเชีย ก็เป็นแบบหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบท วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ความเป็นมาในการพัฒนาการทางการเมืองของแต่ละประเทศ คงไม่มีใครจะมาตัดสินได้ว่า รูปแบบประชาธิปไตยของใครดีที่สุด เพราะแต่ละรูปแบบย่อมมีปัญหาข้อจำกัดของมัน ที่ต่างพยายามหยิบสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดมาปรับใช้ในบริบทประเทศของตนเอง ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นไปจากแนวคิดนี้ได้ ปัญหาของประเทศไทยคงอยู่ที่ว่า เราไปหยิบรูปแบบการจัดการอำนาจรูปแบบหนึ่ง แล้วนำมาสวมใส่ให้ประเทศ โดยได้ดูหรือไม่ว่าเมื่อสวมไปแล้ว จะไปได้กับจิตวิญญาณประชาธิปไตยของประเทศได้แค่ไหน อย่างไร
รูปแบบการจัดการอำนาจที่เรานำมาใช้ และนักการเมืองใช้อ้างเป็นความชอบธรรมมาโดยตลอด คือ ระบบที่ให้อำนาจผู้แทนในการบริหารจัดการประเทศ และดูเหมือนจะกลายเป็นอำนาจสิทธิขาดอยู่ตรงนั้นว่า เมื่อได้รับเลือกตั้งมาแล้ว อำนาจที่เป็นของประชาชน ได้ถูกถ่ายโอนมาแล้วโดยเด็ดขาด จึงกลายเป็นความชอบที่ผู้มีอำนาจ จะกระทำการใด ๆ แม้นการใช้อำนาจตรากฎหมาย ให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องรับประกันการกระทำต่าง ๆให้เป็นความชอบไปได้ในที่สุด การถ่วงดุลอำนาจจึงเป็นหลักการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
เรื่องของอำนาจ นั้น ความจริง จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะกระทบต่อคนทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นเรื่องที่คนทุกคนต้องใส่ใจ และไม่ควรมอบอำนาจของตนเองให้กับใครง่าย ๆ โดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง น่าเสียดายที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและไม่สนใจใส่ใจ ไม่รู้ว่าอำนาจทางการเมืองของตนที่ตนมอบให้กับนักการเมืองคนหนึ่งนั้น สำคัญและมีความหมายมากมหาศาลยิ่งนัก
และหากจะเปรียบเทียบแบบง่าย ๆ แม้นการที่บุคคลหนึ่งประสงค์จะมอบอำนาจการกระทำการแทน ด้วยการลงนามทำสัญญามอบอำนาจให้ใครทำการแทน ดูเหมือนว่าการกระทำนั้นจะถูกพิจารณาให้ความสำคัญมากกว่า เพราะบางครั้งถึงกับต้องว่าจ้างทนายความมาดำเนินการให้ ผู้คนจึงดูเหมือนให้ความสำคัญในการพิจารณาการลงนามทำสัญญามอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทน มากกว่าการมอบอำนาจทางการเมืองด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ด้วยเหตุที่ไม่อาจแยกแยะได้ว่าเรื่องของส่วนรวมนั้นสำคัญกว่าเรื่องของส่วนตน และที่สำคัญกว่า เพราะปัญหาส่วนรวมนั้น สร้างผลกระทบกับตนกว้างขวาง ยาวไกล และลึกซึ้ง กว่าปัญหาส่วนตน ที่มีผลกระทบสั้น และแคบ
เมื่อเจ้าของประเทศหรือเจ้าของอำนาจให้อำนาจทางการเมืองโดยขาดความใส่ใจ และผู้รับมอบอำนาจฉกฉวยโอกาสนำอำนาจที่ได้รับไปปู้ยี่ปู้ยำสนองประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวก จึงเกิดปรากฏการณ์การจัดการอำนาจที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนานต่อเนื่อง เห็นได้นับแต่การได้มาของผู้แทนที่มีปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การนำระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมชุมชนมาใช้อย่างบิดเบือน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง จนถึงการดำรงอยู่ของผู้แทนในการใช้อำนาจโดย มิชอบและตามอำเภอใจ
รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ถูกแก้ไขปรับปรุงครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อพยายามตามแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทนมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่า การตามแก้ตามเช็ดไม่อาจเท่าทันนักการเมืองผู้มีอำนาจอยู่ในมือ เพราะการที่บทบัญญัติต่าง ๆในรัฐธรรมนูญจะมีค่าและศักดิ์สิทธิ์ได้ ผู้มีอำนาจต้องบังคับใช้ด้วยความชอบ และต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายแม่บทของประเทศ
การเมืองแบบผู้แทนในระบอบทักษิณ
ทำให้ภาพการเมืองแบบผลประโยชน์ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเมื่อนักธุรกิจที่คำนึงถึงผลกำไรอยู่ในสายเลือด
ได้อำนาจมาบริหารประเทศจากเจ้าของประเทศที่ไม่สนใจใส่ใจในอำนาจที่มีอยู่ เปรียบเหมือนผู้บริหารที่ได้อำนาจมาบริหารบริษัทที่เจ้าของบริษัท
หรือบรรดาหุ้นส่วนทั้งหลายไม่สนใจใส่ใจในบริษัทของตนเอง ก็ย่อมหวานคอแร้งผู้ใช้อำนาจเป็นธรรมดา
ตราบใดที่เจ้าของอำนาจยังหลับตาไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น
การพยายามอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้โดยใช้ตรรกะทางธุรกิจ อาจดูเข้าใจได้ยากยิ่ง
เพราะดูไม่น่ามีเหตุผลที่ผู้เป็นเจ้าของอำนาจจะมอบอำนาจให้ใครอย่างง่าย ๆ ทั้งที่รู้ว่าคนที่ได้รับเลือกให้ได้รับความไว้วางใจไปใช้อำนาจ
ย่อมเข้าไปกอบโกยหาประโยชน์ได้อีกนับเป็นล้านเท่าก็ว่าได้ แต่ถ้าใส่แว่นวัฒนธรรมชุมชนมาทำความเข้าใจ
อาจพออธิบายได้ว่า เมื่อประชาธิปไตยแบบผู้แทน ไม่เคยมีอยู่ในชุมชน เพราะสำหรับชุมชนในหมู่บ้าน
วิถีประชาธิปไตยที่คุ้นเคยอยู่มีแต่ประชาธิปไตยแบบ "ลงแขก" คือ ประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม
ส่วนรับผิดชอบ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันผลิต ช่วยกันใช้ ทุกคนล้วนมีส่วนในชุมชนที่ตนอยู่อาศัย
ต่างคนต่างมีบทบาทหน้าที่ตามความถนัด ความชอบ และเข้าร่วมช่วยเหลือโดยไม่ต้องมีคนมาสั่งมาบงการ
วิถีประชาธิปไตยเช่นนี้ เป็นวิถีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะธรรมชาติของการผลิต และการมีชีวิตอยู่ ธรรมชาติที่ทำให้คนต้องช่วยเหลือพึ่งพากัน ต้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จึงก่อกำเนิดของความเป็นชุมชนที่ต้องอยู่ร่วมกัน เป็นวิถีของการใช้ชีวิตรับผิดชอบร่วมกันที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับวิถีชีวิตแบบปัจเจกชนในโลกทุนนิยมที่ต้องอยู่อย่างแข่งขันฟาดฟันกัน ซึ่งคล้องจองไปได้อย่างดีในบริบทของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
การแข่งขันกันในวิถีประชาธิปไตยแบบตัวแทน จึงแปลกแยกและมีปัญหามาโดยตลอดกับวิถีประชาธิปไตยแบบ"ลงแขก"`ของชุมชน เมื่อพิจารณาอดีตที่ผ่านมา การจัดการอำนาจของชุมชน โดยวิถีประชาธิปไตยแบบลงแขก ได้ดำเนินกันมานานหลายร้อยปีโดยไม่มีปัญหา จนเมื่อมีคนภายนอกเข้าไปเพื่อหวังประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ภายใต้วาทกรรม "ความเจริญ"
และเมื่อไม่อาจตกลงกันเองได้ว่า ใครควรเป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ในการเข้าไปจัดการทำประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ภายใต้วาทกรรม "การพัฒนา" การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกออกแบบมาให้เจ้าของทรัพยากรออกมาลงคะแนนเสียง ให้ผู้ได้รับเลือกมีความชอบธรรมในการ "พัฒนา" สร้าง "ความเจริญ" `ให้ชุมชน ชุมชนที่แท้จริงนั้นมีความอุดมสมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว
การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอำนาจด้วยการให้มีการเลือกตั้งทุก 4 ปี จึงมักมีปรากฏการณ์ที่มีนักนิรมิตทั้งหลายที่มาหว่านล้อมผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหลาย ด้วยถ้อยคำสวยหรูนานา พร้อมปันเศษเงินเป็นน้ำใจเล็กน้อยให้แก่ผู้เลือกที่เสียเวลามาลงคะแนนให้ เพราะหวังว่าผู้ที่ได้รับคะแนนจากตนจะเป็นผู้วิเศษสามารถเนรมิตรสิ่งต่าง ๆให้ได้ดังที่คุยโอ่อวดไว้
แต่เวลาที่ผ่านมาสอนให้เริ่มรู้แล้วว่า ลมปากเหล่านั้น จะจางหายไปหลังวันเลือกตั้ง ผลที่เกิดขึ้นทำให้มูลค่าการเสียเวลาไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ เพราะโดยทั่วไปจะเห็นกันว่า การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังที่ถูกทำให้วาดหวังไว้ ดังนั้น การรับเงินค่าเสียเวลาไปลง คะแนนย่อมถือเป็นการแลกเปลี่ยนที่ชอบ เพราะรู้อยู่ว่าคนที่ได้รับเลือกจะได้รับผลประโยชน์ อย่างน้อยเงินเดือนที่จะได้รับอยู่ทุกเดือน ขณะที่คนไปเลือกไม่ได้อะไร โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบทที่ไม่มีเงินมาใช้กินทุกเดือน (แม้นชาวบ้านในชนบท มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินเดือน แต่เมื่อกระดาษถูกทำให้มีมูลค่ามากกว่าแรงงานการผลิต จึงเกิดเป็นค่านิยมที่ให้คุณค่าแก่เงิน มากกว่าข้าวที่อยู่ในนา หรือธัญญาหารนานาที่มีอยู่ตามธรรมชาติ)
บนฐานของวิถีที่แตกต่างดังกล่าว การเลือกตั้ง จึงยังคงเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่สู่วงจรอุบาทว์ ให้ผู้คนเข้ามาใช้ทำมาหากินมาหลายยุคหลายสมัย ดังนั้น หากเรายอมรับมุมมองต่อสภาพการณ์ของปัญหาดังกล่าว เราอาจต้องพิจารณาถึงการคืนการจัดการอำนาจไปให้ชุมชน ให้ชุมชนจัดการดูแลกันเองให้มากขึ้น สอดคล้องไปกับวิถีเดิมที่ชุมชนคุ้นเคย เพราะมันไม่มีหรอก ผู้วิเศษ หรือกลุ่มผู้วิเศษ ผู้เสียสละที่จะแสนใจดี มาดูแลทรัพย์สินแทนเรา
มีแต่เรา ตัวเราเท่านั้น ที่ต่างต้องออกมา มาช่วยกันดูแลบ้านของเรา เมืองของเรา ชุมชนของเรา เพราะถ้าเราไม่ทิ้งบ้าน ดูแลรักษาบ้านอย่างดี คงมีโจรน้อยหลายรายที่จะอาจหาญเข้ามาปล้นบ้านเราไปได้
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 850 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
หาผลประโยชน์ทับซ้อนจากการใช้อำนาจหน้าที่การเป็นเจ้าหน้าที่ไปเอื้ออำนวยผลประโยชน์ส่วนตัวของตนทุกวิถีทาง เช่น ลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทเอไอเอส ที่รับสัมปทานคลื่นโทรศัพท์ ด้วยการออกกฎหมายให้เปลี่ยนจากการจ่ายสัมปทานตามส่วนแบ่งกำไรเป็นการจ่ายภาษีสรรพสามิต (ซึ่งเป็นการกีดกันคู่แข่งรายใหม่ไปในตัว) ลดภาษีอุปกรณ์ดาวเทียมให้ชินแซทเทลไลท์ ลดค่าสัมปทาน และปรับผังรายการไอทีวี บีบการบินไทยให้ขาดทุนเพื่อเปิดทางให้สายการบินแอร์เอเซียทำกำไรเพิ่มขึ้น ให้สินเชื่อแก่รัฐบาลพม่าเพื่อให้มาซื้อบริการของชินแซทเทลไลท์ รีบเปิดเจรจาการค้าเสรีกับบางประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจโทรคมนาคม รถยนต์ และกิจการอื่นๆของบริษัทตนเอง และพรรคพวก