นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University



การเมืองเรื่องวุ่นๆ และชุลมุนกับการไล่ทักษิณ
กับปัญหาคาใจในการเมืองไทยไล่ทักษิณ
ชำนาญ จันทร์เรือง
อาจารย์พิเศษ นักวิชาการทางด้านกฎหมาย

หมายเหตุ
ข้อมูลในหน้าเว็บเพจนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
ประกอบด้วยบทความวิชาการกฎหมาย ๓ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยร่วมสมัย
๑. ปัญหาคาใจในการเมืองไทยปัจจุบัน
๒.
อัลตระ รอแยลลิสต์ (Ultra Royalist)
๓.
คำถามถึงศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบกล่าวหากับระบบไต่สวน
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 848
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)




กับปัญหาคาใจในการเมืองไทยไล่ทักษิณ
ชำนาญ จันทร์เรือง : นักวิชการทางกฎหมาย

1. ปัญหาคาใจในการเมืองไทยปัจจุบัน
ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันพลิกผันเปลี่ยนแปลงกันทุกชั่วโมงในปัจจุบันนี้ กว่าบทความชิ้นนี้จะเผยแพร่ออกมาก็คงอาจจะล้าสมัยไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหลักที่ค้างคาใจของประชาชนที่ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน เอ็นจีโอหรือเครือข่ายทั้งหลาย ฯลฯ ต่างก็ออกมาให้ความเห็นตีกันจนอีนุงตุงนังไปหมด ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วมันควรเป็นอย่างไร

ประเด็นปัญหาคาใจที่ว่านี้ก็คือ
1. ถ้าฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งคราวนี้จะมีผลตามมาอย่างไร
2. เราจะขอรัฐบาลพระราชทานโดยอาศัยมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญฯได้หรือไม่
3. นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้วรักษาการณ์ในตำแหน่งอยู่ จะสามารถประกาศสาออกจากตำแหน่งอีกได้หรือไม่ ถ้าได้แล้ว ครม.จะต้องพ้นไปไหม ถ้าไม่พ้นไปทั้งคณะแล้วใครจะมาทำหน้าที่เป็นนายกฯแทน ฯลฯ
ปัญหาต่างๆเหล่านี้ผมเชื่อว่าประชาชนคงต้องการคำตอบแต่เป็นคำตอบที่ไม่ต้องเป็นวิชาการมากนัก เพราะเท่าที่ผ่านๆมาผู้ที่ออกมาให้ความเห็นส่วนใหญ่แล้วก็จะอ้างมาตราโน้นมาตรานี้พัลวันพัลเกจนสุดท้ายก็สรุปไม่ลงว่าตกลงแล้วจะเป็นอย่างไรกันแน่ ผมจึงขอเสนอความเห็นแบบง่ายๆว่า

ประเด็นแรก กรณีที่ฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งคราวนี้แล้วผลจะตามมาอย่างไรนั้น อยากจะขอย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาคราวที่ผ่านมาที่ได้สมาชิกไม่ครบ ๒๐๐ คน ขาดไปเพียง ๑ คน ก็ไม่สามารถเปิดเปิดประชุมได้ต้องรอให้ครบเต็มจำนวนเสียก่อนจึงจะเปิดประชุมได้ ในคราวนี้ก็เช่นกันหากพรรคฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าบางเขตเลือกตั้งคงจะมีผู้สมัครเพียงคนเดียว หรืออาจจะไม่มีผู้สมัครเลยก็ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้

กรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว มิได้หมายความว่าจะได้รับการเลือกตั้งโดยอัตโนมัติเหมือนการเลือกตั้งนายกสมาคมทั้งหลาย แต่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องมีผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น

ฉะนั้น หากไม่มีผู้สมัครเลยหรือมีผู้สมัครเพียงคนเดียวแล้วผู้มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละยี่สิบก็เป็นอันว่ามี ส.ส.ไม่ครบ เมื่อมี ส.ส.ไม่ครบก็เปิดสภาไม่ได้ เมื่อเปิดสภาไม่ได้ก็เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เมื่อไม่ได้เลือกนายกฯก็ตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศไม่ได้ ฯลฯ นายกฯก็ต้องรักษาการณ์กันต่อไปโดยไม่สามารถประชุมคณะรัฐมนตรีได้ คิดแล้วก็หนาวขึ้นมาจับใจครับ

ประเด็นที่สอง เราจะขอรัฐบาลพระราชทานโดยอาศัยมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญฯได้หรือไม่

ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ก็คงต้องตอบคำถามที่ว่าแล้วเราเคยมีรัฐบาลพระราชทานมาแล้วหรือไม่ บางคนก็บอกว่าเคยมีมาแล้วในสมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์คราวเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ไง บางคนก็บอกว่ามีมากกว่านั้นอีกคือรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร สมัย พ.ศ.๒๕๑๙ และรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน พ.ศ.๒๕๓๕ ที่เปลี่ยนโผกันอย่างกระทันหันจนมีหลายคนแต่งชุดขาวรอกันเก้อพร้อมกับเสียงโห่ร้องกันทั้งประเทศคราวนั้น

แต่อย่าลืมว่าเหตุการณ์ทั้งสามเกิดขึ้นในสมัยก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ที่ มาตรา ๒๐๑ วรรคสองกำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผูแทนราษฎรหรือผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่พ้นสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๑๘(๗) ในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน(หมายความว่าไปเป็นรัฐมนตรีแล้วต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.นั่นเอง)

ส่วนมาตรา ๒๐๒ ก็กำหนดให้สภาผู้แทนราษฏรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรองและมติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา ผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยเปิดเผย

พูดง่ายๆก็คือการตั้งนายกรัฐมนตรีไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้ อ้าว แล้วที่มาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญฯบัญญัติไว้ว่าในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขล่ะ คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าการตั้งนายกรัฐมนตรีนั้นมีบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วอย่างชัดเจน จะว่าไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๗ ได้อย่างไร เว้นเสียแต่จะล้มรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางอื่นที่มิใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งคงไม่มีใครต้องการเป็นแน่

ประเด็นที่สาม เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาไปแล้ว นายกรัฐมนตรีที่รักษาการณ์ในตำแหน่งอยู่จะประกาศลาออกจากจากการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์นี้ได้หรือไม่ คำตอบก็คือว่า "ได้" แน่นอน เพราะเมื่อไม่ประสงค์จะทำหน้าที่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยเหตุอันใดก็ตาม เช่น เบื่อ ถูกบีบ ฯลฯ ก็ย่อมที่จะไม่มีใครไปบังคับขืนใจให้ทำหน้าที่ได้

แล้วหากนายกฯประกาศลาออกแล้วผลจะเป็นเช่นไร ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันมาก บ้างก็ว่าต้องพ้นไปทั้งคณะตามมาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๒๑๖ แห่งรัฐธรรมนูญฯ แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ดีตามมาตรา ๒๑๕ วรรคหนึ่ง(๒) บอกว่ารัฐมนตรีทั้งคณะพ้นตำแหน่งเมื่ออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่าเมื่อยุบสภา รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่ทำหน้าที่รักษาการณ์รอเท่านั้นเอง

ฉะนั้น หากนายกรัฐมนตรีลาออกจากจากการรักษาการณ์ ก็ไม่มีผลอันใดที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นไปอีกครั้ง(พูดง่ายๆก็คือตายได้ครั้งเดียวเท่านั้น) อ้าว แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องยึดถือตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินทั่วไปคือ เมื่อเบอร์ ๑ ไม่มีหรือไม่อยู่ก็ต้องให้เบอร์ ๒ รักษาการณ์หรือรักษาราชการแทน ฉะนั้น คำตอบก็คือก็ต้องให้รองนายกฯที่มีอาวุโสอันดับ ๑ ที่ได้จัดลำดับไว้แล้วเป็นผู้ที่ทำหน้าที่นายกฯแทนนั่นเอง

และหากคิดมากไปกว่านั้นว่าหากรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะล่ะ จะทำอย่างไร คำตอบก็ต้องว่ากันไปตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั่นแหละครับ เพียงแต่ไม่มีรัฐมนตรีรักษาการณ์ แต่กลไกของข้าราชการประจำก็ทำหน้าที่ต่อไปเพียงแต่อำนาจหน้าที่ไหนที่เป็นอำนาจเฉพาะรัฐมนตรีจะทำไม่ได้เท่านั้นเอง

กล่าวโดยสรุปทั้งสามประเด็นนี้ก็คือว่าการตีความกฎหมายต้องตีความให้ปฏิบัติได้ ไม่ใช่ตีความแล้วปฏิบัติไม่ได้ อย่างที่เราเรียกว่าตีความหาเรื่องนั่นเอง

2. อัลตระ รอแยลลิสต์ (Ultra Royalist)
กระแสถวายคืนพระราชอำนาจถูกปลุกเร้าอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ.2500 ภายใต้การยึดครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมักใช้กันประจำในหมู่ผู้ที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หรือการเลือกตั้ง เพราะเป็นวิธีป้องกันตนเองจากภัยของอำนาจรัฐได้ดีที่สุด

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ที่เรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เปรียบเสมือนพินัยกรรมที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจอธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ทรงมอบอำนาจที่พระองค์ทรงอยู่ให้แก่ปวงชนชาวสยามดังปรากฏอยู่ในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของไทย ที่ไม่ต้องมีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะในขณะที่พระองค์ทรงลงพระนามมอบอำนาจสูงสุดของประเทศให้เป็นของราษฎรนั้น พระองค์ยังทรงพระราชอำนาจสมบูรณ์ โดยพระองค์ยังทรงรับผิดชอบการกระทำ ทั้งหลายด้วยพระองค์เอง

แต่หลังจากที่ทรงลงพระนามในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 แล้ว การใช้อำนาจอธิปไตยก็เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการหรือรับผิดชอบแทนพระองค์ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 3 ก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

"อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" และมาตรา 7 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

เป็นที่ตระหนักแก่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ว่า พระราชอำนาจในความเป็นจริงที่เป็นทางพระราชอำนาจทางประเพณี วัฒนธรรม สังคม หรือเศรษฐกิจ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากมาย แต่ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ก็คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ มีผู้คนพยายามนำพระราชอำนาจตามกฎหมาย พระราชอำนาจทางประเพณี วัฒนธรรม สังคม หรือเศรษฐกิจ และพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันและในฐานะส่วนบุคคลมาปะปนกัน

ความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีอยู่ในสายเลือดของทุกผู้ทุกคน แต่การแสดงความจงรักภักดีอย่างที่ได้ชื่อว่า Ultra Royalist ที่แปลว่า ผู้ที่เกินกว่าพระราชาหรือโดยนัยก็คือพวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น แทนที่จะเป็นผลดีต่อพระมหากษัตริย์กลับจะเป็นการทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ

การที่เราเชิดชู ยกย่อง เทิดทูนพระมหากษัตริย์ให้ทรงอยู่เหนือการเมือง คือการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะการเมืองมีทั้งพระเดชและพระคุณ การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง จึงมีทั้งคนรักและคนเกลียด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองจึงมีแต่พระคุณ มีแต่คนรักคนบูชาดังที่พระองค์ทรงได้รับอยู่ในขณะนี้
การพยายามที่จะดำเนินการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" นั้น อาจจะต้องตอบคำถามที่ว่า เราต้องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองกระนั้นหรือ ถ้าจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์จริง ก็ให้พระองค์ท่านทรงปกเกล้าแต่อย่างเดียว อย่าให้พระองค์ท่านทรงปกครองเลย

กษัตริย์ที่ปกครองแต่มิได้ปกเกล้าไม่ช้าก็ล่วงลับดังเช่นกรณี ชาห์ เรซา ปาเลวี ของอิหร่าน ถ้าพระเจ้าชาห์ไม่ปกครองเสียเอง อยาโตลาห์ โคไมนี ก็ล้มท่านไม่ได้ ตัวอย่างของเหตุการณ์ร่วมสมัยก็คือการจับกุมและทรมานผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของกษัตริย์จียาเนนทราแห่งเนปาล

ในหนังสือของ สุพจน์ ด่านตระกูล (2548) ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนตำหนิพวกที่ทำตัวเป็น Ultra Royalist ไว้พอที่จะสรุปได้ว่า นับแต่นโปเลียนที่ 3 ได้สละราชสมบัติแล้ว รัฐสภาก็ได้จัดให้มีการลงมติว่า ฝรั่งเศสจะปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐ หรือระบอบราชาธิปไตยต่อไป โดยอัญเชิญรัชทายาทแห่งราชวงศ์บูร์บองขึ้นครองราชย์

เสียงราษฎรส่วนมากขณะนั้นปรารถนาตามวิธีหลังนี้ แต่พวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น ได้อ้างพระราชหฤทัยรัชทายาทที่จะได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ และเรียกร้องเกินเลยไปแม้เรื่องธงชาติก็จะให้เปลี่ยนจากธงสามสีมาใช้ธงสีขาว ประกอบด้วย รูปดอกไม้สามแฉก ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศส ว่า "Fleurs De Lis" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เฉพาะราชวงศ์บูร์บอง

ก่อนที่รัฐสภาฝรั่งเศสจะลงมติ สมเด็จเจ้าแห่งมาจองตา (Due De Magenta) ได้มีรับสั่งเตือนผู้ที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี และอ้างว่ารู้พระราชหฤทัย แต่พวกนั้นก็หัวรั้นไม่ยอมฟังคำเตือนของสมเด็จเจ้าฯ จึงเป็นเหตุให้เสียงในรัฐสภาที่เดิมมีส่วนมาก ปรารถนาสถาปนาราชวงศ์บูร์บองขึ้นมาอีกนั้นต้องลดน้อยลงไป เมื่อถึงเวลาลงมติ ฝ่ายที่นิยมสาธารณรัฐจึงกลับมาชนะเพียง 1 เสียงเท่านั้น

ถ้าผู้ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีไม่อวดอ้างเอาดีเอาเด่นแล้ว ราชวงศ์บูร์บองก็จะได้กลับขึ้นครองราชย์อีก ดังนั้น พวกที่เป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี จึงมิเพียงแต่เป็นพวกที่ทำให้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสต้องสะเทือนเท่านั้น หากยังทำให้ราชวงศ์บูร์บองสลายไปตั้งแต่ครั้งนั้น

ใครชอบใคร เชียร์ใครก็เชียร์ไป ใครจะคัดค้านต่อต้านใครก็ต่อต้านไป เพราะการชุมนุมโดยสงบและสันติเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง แต่จงใคร่ครวญกันให้ถ้วนถี่ว่าการพยายาม "ถวายคืนพระราชอำนาจ" ของคนบางกลุ่มไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ หรือสื่อมวลชน บางส่วน จะเป็นการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

3. คำถามถึงศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบกล่าวหากับระบบไต่สวน
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ ๘ ต่อ ๖ ไม่รับคำร้องของนายแก้วสรร อติโพธิ สมาชิกวุฒิสภาและคณะที่ประธานวุฒิสภาส่งไปให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๖ มาตรา ๒๑๖ และมาตรา ๒๐๙ หรือไม่นั้น นอกเหนือจากที่จะเป็นปัจจัยเร่งของการชุมนุมของฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลจนในที่สุดต้องยุบสภาดังที่ทราบกันทั่วไปแล้ว แต่ยังได้จุดประเด็นของการถกเถียงในปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาอีกอย่างกว้างขวาง

โดยฝ่าย ที่เห็นด้วยก็บอกว่าถูกแล้วเพราะเป็นดุลพินิจของศาล ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็โต้แย้งว่า ไหนว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบวิธีพิจารณาคดีแบบไต่สวนไง ยังไม่ทันได้ไต่สวนหาข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอก็มี มติไม่รับคำร้องเสียแล้ว จึงอยากจะเรียนว่าในระบบวิธีพิจารณาคดีในศาลที่ใช้กันนั้น มีระบบวิธีพิจารณาคดีอยู่ ๒ ระบบ เรียกว่า

- ระบบกล่าวหา(Accusatiorial System)
- ระบบไต่สวน(Inquisitorial System)

ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายไว้ในหนังสือบทบัณฑิตย์ เล่มที่ ๑๒ พอที่จะสรุปได้ว่า
ระบบกล่าวหา มีที่มาจากประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมาย
ระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่นสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา รวมทั้งกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ หลักการของระบบกล่าวหา มีวิวัฒนาการจากการแก้แค้นกันระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยตนเอง แล้วรวบรวมพยานหลักฐานมานำสืบความผิดของจำเลยในศาล ส่วนศาลหรือผู้พิพากษาจะวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีแนวความคิดมาจากการพิจารณาคดีในสมัยโบราณ ซึ่งใช้วิธีทรมาน (trial by ordeal) และทำให้ทั้งสองฝ่ายต่อสู้คดีกันเอง (trial by battle) ส่วนศาลจะทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือกรรมการ ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นการเอาพยานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยฝ่ายโจทก์จะเอาพยานที่เป็นพรรคพวกของตนมาเบิกความกล่าวหาจำเลย ส่วนจำเลยก็เอาพวกของตนมาเบิกความรับรองความบริสุทธิ์ของตนให้ศาลฟังแล้วตัดสินคดีไปตามน้ำหนักพยานของแต่ละฝ่าย จากการที่ใช้วิธีการต่อสู้คดีกันนั้นเอง ระบบกล่าวหาจึงให้ความสำคัญอย่างสูงต่อหลักเกณฑ์ต่อไปนี้คือ

๑. หลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง
๒. ถือหลักสำคัญว่าโจทก์และจำเลยมีฐานะในศาลเท่าเทียมกัน
๓. ศาลจะวางตนเป็นกลางโดยเคร่งครัด ทำหน้าที่เหมือนกรรมการตัดสินกีฬาคอยควบคุมให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายลักษณะพยานโดยเคร่งครัด การปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์อาจถูกศาลพิพากษายกฟ้องได้
๔. ศาลจะมีบทบาทค้นหาความจริงน้อยมาก เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของคู่กรณีหรือ คู่ความจะต้องแสวงหาพยานมาแสดงต่อศาลด้วยตนเอง

ระบบไต่สวน ในทางทฤษฎียอมรับกันว่าระบบไต่สวนมีที่มาจากศาลทางศาสนาของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิกในสมัยกลาง ซึ่งทางศาสนจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสันตะปาปาแห่งกรุงโรม มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักรคือ กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ในสมัยกลาง ศาลศาสนาของยุโรปมีวิธีการพิจารณาคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายของทางศาสนาด้วยวิธีการซักฟอกพยาน ในรูปของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรง คือ

พระผู้ทำการไต่สวนกับผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ถูกไต่สวน โดยไม่ต้องมีผู้พิพากษาเป็นคนกลาง ดังนั้น ในศาลศาสนา ผู้ไต่สวนจึงต้องทำหน้าที่แสวงหาพยานหลักฐาน ซักถามพยานและชำระความโดยไต่สวนคดีด้วยตนเองตลอด และด้วยที่ศาสนจักร์มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักร ระบบศาลของฝ่ายอาณาจักร์จึงได้รับอิทธิพลและได้วิวัฒนาการมาเป็นระบบไต่สวนในปัจจุบัน

ตามระบบไต่สวน ศาลไม่ได้ทำหน้าที่วางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเหมือนระบบกล่าวหาแต่จะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเอง ศาลจะมีบทบาทในการดำเนินคดีอย่างสูง ผิดกับในระบบกล่าวที่ศาลมีบทบาทน้อยมากเพราะต้องวางตัวเป็นกลาง โดยที่ระบบไต่สวนเน้นในเรื่องการค้นหาความจริงเป็นหลัก ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการดำเนินคดี เช่น การสืบพยาน การดำเนินการต่างๆ ในศาลจึงยืดหยุ่นกว่าระบบกล่าวหา

จากที่มาของระบบกล่าวหากับระบบไต่สวนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นจะทำให้เราเห็น หลักการสำคัญที่ว่าเมื่อใดที่คู่ความหรือคู่กรณีมีสถานะเท่าเทียมกันแล้ว การใช้ระบบกล่าวหาจะเกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายเพราะ เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างต้องปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง แต่ถ้าเมื่อใดที่คู่กรณีหรือคู่ความมีสถานะไม่เท่าเทียมกันแล้ว การใช้ระบบไต่สวนย่อมจะเหมาะสมและเป็นธรรมแก่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งอยู่ในสถานะเสียเปรียบ เช่นกรณีพิพาทระหว่างราษฎรหรือเอกชนกับรัฐ เป็นต้น เพราะพยานหลักฐานต่างๆมักจะอยู่ในการครอบครองของฝ่ายรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นการยากที่ฝ่ายราษฎรจะนำสืบหรืออ้างพยานหลักฐานตามระบบกล่าวหาที่มีหลักว่า "ผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นนำสืบ" โอกาสที่จะชนะคดีสำหรับราษฎรหรือเอกชนจึงเป็นไปได้ยาก

สำหรับประเทศไทยเรานั้นได้มีการใช้ระบบกล่าวหาสำหรับคดีแพ่งและคดีอาญา(เว้นในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) และใช้ระบบไต่สวนในคดีที่ใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชนในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ฉะนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของนายแก้วสรร และพวกไว้วินิจฉัยโดยให้เหตุผลว่าคำร้องมิได้แสดงให้เห็นว่าการกระทำใดของนายกรัฐมนตรีเป็นการเข้าไปบริหาร จัดการเกี่ยวกับหุ้น ฯลฯ แต่มิได้ไต่สวนแสวงหาเท็จจริงจนเป็นที่ยุติเสียก่อน จึงสร้างความกังขาต่อบรรดานักฎหมายทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายมหาชนเป็นอย่างยิ่งว่า ตกลงแล้วศาล รัฐธรรมนูญใช้ระบบกล่าวหาหรือระบบไต่สวนในการพิจารณาคดีกันแน่ เพราะการกระทำเช่นนี้เสมือนหนึ่งเป็นการตัดฟ้องหรือยกฟ้องเพราะเหตุคำฟ้องเคลือบคลุมในระบบกล่าวหาซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ในระบบไต่สวนได้

จึงเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญควรจะต้องมีคำอธิบายให้กระจ่างชัดกว่านี้ นอกเหนือจากเพียงการยกข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญฯมาเป็นเหตุผลในการที่จะไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยเท่านั้น

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
010349
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์ เปิดชั้นเรียนฟรีสำหรับ น.ศ. และผู้สนใจ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีมลายูมุสลิมอย่างรอบด้าน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ที่เรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เปรียบเสมือนพินัยกรรมที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจอธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ทรงมอบอำนาจที่พระองค์ทรงอยู่ให้แก่ปวงชนชาวสยามดังปรากฏอยู่ในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของไทย ที่ไม่ต้องมีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะในขณะที่พระองค์ทรงลงพระนามมอบอำนาจสูงสุดของประเทศให้เป็นของราษฎรนั้น พระองค์ยังทรงพระราชอำนาจสมบูรณ์ โดยพระองค์ยังทรงรับผิดชอบการกระทำ ทั้งหลายด้วยพระองค์เอง

The Midnightuniv website 2006