The Midnight University
หลังฉากนักการเมืองในยุคสื่อโทรทัศน์
สปินด็อกเตอริ่ง : นวัตกรรมประชาสัมพันธ์ทางการเมือง
สมเกียรติ
ตั้งนโม : เรียบเรียง
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้เรียบเรียงจากเรื่อง
The Innovators of PR-ized Politics
จากหนังสือ
The Media and Political Process
P. Eric Louw, SAGE Publications
First published 2005
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 837
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
18 หน้ากระดาษ A4)
นักนวัตกรรมเกี่ยวกับการทำประชาสัมพันธ์ทางการเมือง
สมเกียรติ
ตั้งนโม : เรียบเรียง
แม้ว่าการทำประชาสัมพันธ์ทางการเมืองจะถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแต่เฉพาะในอเมริกาอีกต่อไป เพราะการทำให้การเมืองให้เป็นไปในลักษณะอเมริกัน ปัจจุบันได้กลายเป็นผลผลิตส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งมีอิทธิพลต่อทั้งโลกประชาธิปไตยของชาวแองโกลทั้งหลายและสังคมประชาธิปไตยอื่นๆอย่างกว้างขวาง(see Swanson and Mancini, 1996)
สำหรับ Swanson และ Mancini "การทำให้เป็นอเมริกัน"(Americanization)ได้เป็นตัวแทนการเมืองสมัยใหม่ไปแล้วนั่นเอง. กรณีศึกษาต่างๆของพวกเขาได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ต่างกันได้ดูดซับและบูรณาการอิทธิพลต่างๆของอเมริกันในลักษณะเลือกสรรกันอย่างไร และในวิธีการต่างๆเฉพาะตัว กระทั่งแสดงให้เห็นว่า บางประเทศได้สรรสร้างนวัตกรรมท้องถิ่นต่างๆของตนขึ้นมาอย่างไรด้วย
1. นักบุกเบิกการเมืองบนจอทีวี
(The pioneers of televisualized politics)
Jamieson (1984) ได้ให้เหตุผลว่า มันเป็นการมาถึงของยุคสมัยแห่งการรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ทางโทรทัศน์ ที่ได้จัดให้มีเวทีสำหรับการถ่ายทอดกระบวนการทางการเมืองในรูปแบบใหม่.
นักบุกเบิกทั้งหลายซึ่งได้ใช้ประโยชน์จากความเป็นไปได้ของทีวีต่างๆ คือบรรดาคนที่อยู่ในทีมรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในยุคของ
Eisenhower และ Nixon ในช่วงปี ค.ศ.1952 - 1956
อย่างมีนัยะสำคัญ พวกเขาได้บ่ายเบนบรรดาตัวแทนนักโฆษณาในระดับสุดยอดบนถนนเมดิสันของนิวยอร์คไป สไตล์ทางการเมืองใหม่ๆซึ่งพวกเขาพัฒนาขึ้นมา เกี่ยวพันกับการปรับเปลี่ยนจากการกล่าวสุนทรพจน์ในประเด็นปัญหาต่างๆ ไปสู่พัฒนาการของการใช้คำพูดที่จับใจ(sound bites - แหลมคมและดุเดือด), การปรากฏตัวต่อสายตา, และการนำเอาสโลแกนต่างๆมาใช้
อันนี้เกิดขึ้นเพราะว่า สาระสำคัญของการพูดจาผ่านทางโทรทัศน์ ต้องหลีกเลี่ยงข้อถกเถียงต่างๆที่มีความสลับซับซ้อน และภาพนิ่งต่างๆ(กล่าวคือ ผู้พูดจะต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด) (ยกตัวอย่างเช่น ภาพที่ถ่ายเฉพาะส่วนหัวลงมาถึงไหล่ที่พูดพร่ำ(talking heads)อย่างยืดยาว และกล้องได้จับภาพนั้นโดยไม่เปลี่ยนแปลงมุมกล้องอยู่เป็นเวลานานๆ การทำเช่นนั้นจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อ)
การเสนอภาพทางโทรทัศน์ชอบคำพูดที่พูดออกมาง่ายๆ ผสมผสานกับความตื่นเต้น(การเคลื่อนไหว), และการอุปมาอุปมัยให้เห็นเป็นภาพ. การรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งของ Eisenhower ได้ใช้ประโยชน์จากโทรทัศน์อย่างได้ผล โดยเล็งไปที่การจูงให้ผู้คนทั้งหลายเห็นว่า Eisenhower เป็นวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 2
สโลแกนที่ง่ายๆอย่างเช่น "I like Ike"(Ike คือชื่อเล่นของ Eisenhower)ได้ถูกแปรไปสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่. เท่าๆกัน ทีมของ Eisenhower เรียนรู้ว่า การใช้ประโยชน์จากโทรทัศน์ ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของสื่อประเภทนี้ - ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ที่จะใช้คนบอกบททางโทรทัศน์(teleprompter) เพื่อส่งทอดสคริพท์คำพูดในลักษณะจูงใจผู้คนที่เฝ้าดู
ทีมงานของ Eisenhower ยังปรับเปลี่ยนแบบแผนไปตามความต้องการของผังรายการโทรทัศน์ และปฏิบัติการของนักรายงานข่าวต่างๆทางโทรทัศน์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น Nixon (ขณะนั้นเขาสมัครรับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีในสมัย Eisenhower) บินจาก Portland ไปยัง Los Angeles อย่างง่ายดาย เพื่อไปปรากฎตัวในรายการโทรทัศน์เครือข่าย เป็นต้น
ตามข้อเท็จจริง, Nixon คือนักบุกเบิกคนหนึ่งซึ่งเข้าใจคุณค่าและประสิทธิภาพของโทรทัศน์ - บรรดาคนที่ตรวจแก้สุนทรพจน์ของเขา ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในระดับปรมาจารย์ในช่วงแรกๆของโทรทัศน์ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของม่านควันและกระจกเงา(อุปกรณ์สำหรับการแสดงมายากลยุคจอแก้ว)อย่างหนึ่ง. การแสดงผ่านจอทีวีนี้ทำให้ Nixon ปรากฏตัวในฐานะคนที่มีความถ่อมตน สุภาพเรียบร้อย ดังที่เขาดูเหมือนเป็นคนที่เปิดเผยตัวเอง ขณะที่ความเป็นจริงนั้นเขาไม่ได้เปิดเผยอะไรออกมาเลย. บางทีอันนี้เราไม่ต้องประหลาดใจเลยว่า Nixon ได้แสดงบทบาทสำคัญอันหนึ่งในการสนับสนุนวิวัฒนาการที่ก้าวไกลไปข้างหน้า เกี่ยวกับสปินด็อกเตอริ่งใน 20 ปีต่อมาหลังจากนั้น เมื่อเขากลายเป็นประธานาธิบดีตัวจริงของสหรัฐฯ
2. การประชาสัมพันธ์ของเคนเนดี
(Kennedy's PR)
การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในปี ค.ศ.1960 ผู้ได้รับชัยชนะคือ John F.
Kennedy ถือเป็นช่วงขณะที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งในพัฒนาการของการทำประชาสัมพันธ์
และการเมืองบนจอโทรทัศน์. ปัญหาหนึ่งของทีมประชาสัมพันธ์ของ Kennedy ที่ต้องขบก็คือการเป็นคาธอลิคของเขา.
โทรทัศน์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแปรเปลี่ยนลักษณะะที่เป็นไปในเชิงลบนี้ให้กลายเป็นเรื่องบวก
โดยการปรับให้เรื่องทางศาสนาไปสู่ประเด็นหนึ่งของความอดทน อดกลั้น และการมีใจกว้าง
- นั่นคือ หากไม่ลงคะแนนเสียงให้ Kennedy ก็เท่ากับว่าอยู่ข้างความไม่รู้จักความอดทน
อดกลั้น และความใจกว้าง
อันนี้ค่อนข้างจะสัมฤทธิผลผ่านรายการโทรทัศน์สั้นๆ ชุดหนึ่ง ที่ได้รับการนำเสนอในรูปแบบคำถาม-คำตอบ ซึ่งแปรไปสู่การพูดคุยในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทางด้านศาสนา. ทีมประชาสัมพันธ์ของ Kennedy ยังเขียนสคริพท์การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทางโทรทัศน์ประมาณ 30 นาที ระหว่างตัวเขากับ Franklin Roosevelt Jr. ในประเด็นเกี่ยวกับคาธอลิค อันนี้ตามมาด้วยการแสดงในระดับชั้นครูใน Houston ที่ซึ่ง Kennedy ได้เข้าร่วมการชุมนุมของบาทหลวงนิกายโปรเตสแตนท์ และตอบคำถามต่างๆ ของบาทหลวงเหล่านั้น
Jamieson ได้ยกเอาคำพูดของ Halbersam ที่กล่าวว่า อันนี้คือการแสดงถึงศิลปสมัยใหม่ของวิธีการทางจอโทรทัศน์ที่ดีที่สุดอันหนึ่ง: "มันยินยอมให้คนบางคนได้กำหนดหรือควบคุมบางสิ่งบางอย่างที่สวนทางกับที่คุณเป็นได้อย่างสุขุม ซึ่งในข้อเท็จจริง มันถูกกำหนดควบคุมเอาไว้แล้วสำหรับคุณ . บรรดาผู้ชมใน Houston คือผู้ชมจำนวนมากที่รู้สึกประหลาดใจในตนเอง เกี่ยวกับการเป็นผู้ชมที่ให้การสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้" (1984: 130)
ทีมงานประชาสัมพันธ์ของ Kennedy ได้บันทึกรายการที่ Houston และนำมันออกฉายบนจอโทรทัศน์ในอีก 39 มลรัฐในสหรัฐฯ. สำหรับในเมืองที่มีความสำคัญต่างๆ มันได้รับการออกอากาศซ้ำถึงสองหน. ยิ่งไปกว่านั้น ทีมงานประชาสัมพันธ์ของ Kennedy ยังได้ตระเตรียมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประสบการณ์หลายอย่างของ Kennedyในฐานะนาวิกโยธินสหรัฐฯ บนเรือรบ PT109 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเรือรบที่มีภารกิจจู่โจมความเร็วสูง ที่ถูกใช้ในมหาสมุทรแปซิฟิค
Kennedy ได้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาในฐานะวีรบุรุษสงคราม โดยผ่านการสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีการนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงการทำเป็นแผ่นพับโฆษณาด้วย. สำเนานับเป็นพันๆชิ้น ของบทความเกี่ยวกับเรือรบ PT109 จากนิตยสาร Reader' s Digest ได้ถูกผลิตซ้ำและเผยแพร่โดยทีมงานประชาสัมพันธ์ของเขา
ทีมทำงานสื่อของ Kennedy ได้ปฏิบัติการอย่างฉลาดหลักแหลม แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่ Jameison (1984: 162-5) บันทึกไว้, แม้ว่าทีมงานนี้จะได้บุกเบิกเทคนิคต่างๆที่ทันสมัยบนจอทีวีจำนวนมากก็ตาม แต่มันยังไกลห่างจากเครื่องมือการประชาสัมพันธ์ทางการเมืองที่ได้รับการหยอดน้ำมันให้ดูราบรื่นขึ้นมากในทุกวันนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงหนึ่งที่มีนัยสำคัญในการเลือกตั้งปี ค.ศ.1960 คือการถกเถียงอภิปรายกันครั้งแรกทางทีวีระหว่าง Kennedy กับ Nixon. ถึงแม้ว่า Nixon จะเป็นผู้บุกเบิกในการใช้ประโยชน์จากโทรทัศน์ในช่วงทศวรรษที่ 1950s แต่เขาก็ต้องพ่ายแพ้การอภิปรายที่สำคัญนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเขาไม่ได้ให้ความสนใจกับการปรากฏตัวทางทีวีมากพอนั้นเอง - เขาไม่ได้แต่งหน้าและแต่งตัวให้ดีพอสำหรับหน้าจอทีวี เช่น เสื้อผ้าที่เขาสวมใส่มันดูใหญ่เทอะทะเกินไป, สูทที่เขาสวมก็ผิดสี ผิดกาละเทศะ, และเขาดูหงอๆมากไปหน่อย
ขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น การปรากฎตัวของ Kennedy เป็นไปอย่างได้ผลและดูดีมาก ผู้คนที่ดูอยู่นับล้านทางบ้านเห็นถึงความหงุดหงิด ความรู้สึกกังวลใจของ Nixon ผู้ชมมองเห็นเขาซูบซีดและดูแห้งเหี่ยว มีอาการเหงื่อตก ซึ่งตัดกับภาพของ Kennedy ที่ดูผ่อนคลาย เข้มแข็ง และเชื่อมั่น. "สิ่งที่ทั้งสองคนอภิปรายกันในฐานะคู่แข่งในการเข้าชิงชัยประธานาธิบดี ไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป"(Maltese, 1994: 16)
ผลลัพธ์ต่อมาคือ Kennedy ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ส่วน Nixon ได้เรียนรู้แบบเรียนสำหรับอนาคต. บรรดานักการเมืองอื่นๆด้วยเช่นกัน ได้ให้ความสนใจการอภิปรายระหว่าง Kennedy และ Nixon ในฐานะเกณฑ์มาตรฐาน(ในเชิงเปรียบเทียบ)เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ พวกเขาต่างเรียนรู้ถึงสิ่งที่จะต้องทำ และอะไรที่พวกเขาไม่ควรจะทำ สำหรับการปรากฏตัวบนจอทีวี
3. การประชาสัมพันธ์ของ
Nixon (Nixon' s PR)
บางที Richard Nixon และทีมงานด้านสื่อของเขาจะเป็นนักนวัตกรรม ซึ่งมีนัยะสำคัญที่สุดที่ให้ความเอาใจใส่ต่อการเมืองเกี่ยวกับเรื่องการประชาสัมพันธ์
- โดยท้ายที่สุดแล้วคือ Nixon นั่นเองที่สร้างที่ทำการสื่อต่างๆ(office of
Communications)ขึ้นมาในทำเนียบขาว(White House) ในปี 1969. เหตุผลอย่างเป็นทางการ
ซึ่งเขาได้ประสานสปินด็อกเตอริ่งกับบรรดานักบริหาร/ปกครองของสหรัฐฯ เข้าด้วยกัน
เป็นเรื่องไม่ยากเลยที่จะหาคำอธิบาย กล่าวคือ - บรรดานักการเมืองอเมริกันกำลังเผชิญหน้ากับความล้มเหลวอันน่าตกใจในเรื่องของความชอบธรรม
และการยอมรับ อันเป็นที่ต้องการสำหรับการบริหาร การปกครอง ให้มีบทบาทหน้าที่ต่อไป
ในปี ค.ศ.1968 Martin Luther King Jr. และ Robert Kennedy ได้ถูกลอบฆ่า, มีการจลาจลทางด้านเชื้อชาติเกิดขึ้น, มีการเดินขบวนของบรรดานักศึกษา, และการประท้วงของฝูงชนเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม. ฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านสงครามได้แผ่ขยายไปถึงชนชั้นกลางอเมริกัน หลังจากการรุกฮือในวันปีใหม่ ปี 1968 ของเวียดกง
Ewen (1996) ยืนยันว่าการประชาสัมพันธ์ เดิมทีได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อจัดการกับวิกฤตกาลต่างๆของสหรัฐฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของคริสตศตวรรษที่ 20: ปี ค.ศ.1968 ถือเป็นช่วงวิกฤตกาลอีกครั้งหนึ่ง และ Nixon ขานรับโดยการทำให้สปินด็อกเตอร์เป็นสถาบันขึ้นมา ณ ศูนย์กลางการบริหารการปกครองของสหรัฐฯ. ในกระบวนการดังกล่าว เครื่องไม้เครื่องมือทางด้านสื่อของ Nixon ได้พัฒนาเทคนิควิธีการต่างๆเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์นี้ขึ้นมาอย่างได้ผล และกว้างขวาง (Maltese, 1994: 15-74) รวมทั้งประเด็นดังต่อไปนี้:
- การโฆษณาที่ช่ำชอง
- จดหมายไดเร็คท์เมล์ (ระบุตรงถึงผู้รับ)
- มีการใช้สื่ออย่างประสานครบวงจรด้วยความระมัดระวัง รวมไปถึงการล็อบบี้คอลัมนิสท์ และบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย; พัฒนาความผูกพันกับสิ่งพิมพ์และผู้กระจายข่าวท้องถิ่น; และส่งจดหมายกระตุ้นถึงบรรณาธิการ
- การใช้ประโยชน์โทรทัศน์เครือข่ายผนวกกับสื่อท้องถิ่น เพื่อสื่อสารกับมวลชนอเมริกันข้ามหัวสื่อที่เป็นฝ่ายปรปักษ์ นั่นคือ ทำให้บรรดานักหนังสือพิมพ์ที่มีปัญหาถูกแช่แข็ง
- การปรากฏตัวบนจอทีวีทั้งหมดจะต้องมีการวางสคริพท์อย่างรัดกุม และได้รับการประสานงานอย่างดี. สำนักงานกิจการฝ่ายโทรทัศน์ได้ถูกสร้างขึ้น Nixon ให้เวลากับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์อย่างเต็มที่ ซึ่งบรรดาผู้ผลิตรายการมีภาระหน้าที่ในการให้คำแนะนำแก่เขา กับการแสดงต่างๆบนเวทีของเขาที่ออกอากาศทางจอทีวี
- เรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆบนจอทีวีจะใช้สคริพท์ในรูปแบบคำถาม-คำตอบต่างๆ ที่ซึ่ง Nixon จะตอบคำถามต่างๆ จากแง่มุมของ"คนธรรมดา" (สิ่งที่เขาเรียกมัน แนวคิดของ"คนที่อยู่บนสังเวียน"). สื่อจะถูกกันออกไปจากการตั้งคำถามต่างๆ เพื่อป้องกันความยุ่งยาก
- การประชุมนักหนังสือพิมพ์เพื่อให้ข่าว(press conferences)จะได้รับการหลีกเลี่ยง (แต่จะใช้วิธีการปรากฏตัวตามสคริพท์โทรทัศน์มากกว่า)
- การไหลของข่าวสารจะได้รับการประสานจากทุกหน่วยงานในระดับกรม กอง และจากบรรดาคณะรัฐมนตรี
- การเดินทางออกไปปราศรัย(speaking tour)จะได้รับการปฏิบัติทั่วทั้งประเทศ, บรรดาโฆษกต่างๆจะถูกคัดสรรอย่างระมัดระวัง และกระทำการอย่างฉับไว เพื่อว่าสื่อท้องถิ่นจะได้เก็บเอาเรื่องราวต่างๆไปใช้. สิ่งเหล่านี้ได้ถูกวางสคริพท์และมีการปฏิบัติอย่างระมัดระวังด้วยบันทึกรายละเอียดสั้นๆ และมีการตระเตรียมคำถาม-คำตอบเอาไว้อย่างพร้อมมูล
- สมาชิกรัฐสภาและสมาชิกวุฒิสภาจะได้รับเนื้อหาและคำพูดต่างๆ ที่ตระเตรียมไว้ให้อย่างสั้นๆ และด้วยเนื้อหาที่เป็นไปในเชิงโจมตี ที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยการวิจัยถึงจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม
- Nixon และคณะรัฐมนตรีของเขา รวมไปถึงทีมงานทำเนียบขาว จะถูกฝึกให้รู้จักการแสดงบนหน้าจอทีวี
- ข่าวโทรทัศน์จะได้รับการตรวจสอบบนพื้นฐานของการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย (เชิงบวกและเชิงลบ) ที่ได้รับการนำเสนอโดยสถานีต่างๆทางโทรทัศน์และเครือข่ายต่างๆ
- พลังเงียบของคนส่วนใหญ่ (ซึ่งให้การสนับสนุน Nixon) จะได้รับการสรรค์สร้างขึ้นมา โดยทำงานประสานกันทั้งในส่วนของจดหมายที่ส่งไปถึงบรรณาธิการต่างๆ, การโทรศัพท์เข้าไปในรายการวิทยุ, โทรทัศน์, รวมไปถึงโทรเลขที่แสดงการสนับสนุนต่อประธานาธิบดี
- ดารานักแสดงฮอล์ลีวูดถูกนำมาใช้เพื่อรับรอง Nixon ด้วย
- ทีมงานสื่อของ Nixon เรียนรู้ที่จะวางสคริพท์การประชุมของพรรค Republican สำหรับออกรายการทีวี โดยไม่ทิ้งโอกาสอะไรไปเลย
หลังจาก Nixon แล้ว การเมืองทำเนียบขาว จะไม่อาจเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป. ความช่ำชองของเครื่องจักรสื่อได้รับการสาธิตโดยการแบ่งแยกการทำงานในรูปของหน่วยงานต่างๆ - เช่นแผนกสิ่งพิมพ์ ที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อทางด้านนี้, แผนกติดต่อสื่อสารกับสาธารณชนซึ่งทำงานกับกลุ่มคนที่สนใจเป็นพิเศษต่างๆ, ขณะที่หัวใจสำคัญของการปฏิบัติการคือ สำนักงานประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร(the Office of Communications)ซึ่งจะทำหน้าที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์, การวางแผนในระยะยาว, และการพัฒนาในด้านยุทธวิธีการใช้ประโยชน์จากสื่อ
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการประชาสัมพันธ์ทางการเมืองจะเฟื่องฟูในยุคนี้ แต่อาชีพของ Nixon ก็ต้องยุติลงอย่างสมบูรณ์โดยวารสารและสิ่งพิมพ์ต่างๆ(กรณี water gate) เครื่องจักรประชาสัมพันธ์ของเขาไม่อาจพิสูจน์ได้ถึงการปกป้องเขา. แต่อย่างไรก็ตาม มรดกตกทอดที่เขามีให้กับวอชิงตันก็คือ หน่วยงานอันหนึ่งของสปินด็อกเตอร์ ที่มีความสามารถและปฏิบัติการทั้งหลายที่คนอื่นๆ อย่างเช่น Reagan, Clinton และ Bush รู้สึกมีความสุขมาก ที่ได้หยิบยืมมันมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
4. การประชาสัมพันธ์ของ
Reagan (Reagan's PR)
Ronald Reagan ถือเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับประโยชน์อย่างมากเกี่ยวกับการปฏิวัติของ
Nixon โดยทีมงานของ Reagan ได้รับเอาเทคนิคสปินต่างๆของ Nixon มาใช้ประโยชน์อย่างได้ผล.
ถึงแม้ว่าทีมงานของ Reagan จะไม่ใช่นักนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่นัก แต่พวกเขาได้กลั่นกรองกลยุทธต่างๆ
ทางด้านสปินด็อกเตอร์มาใช้ และแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง
ความสำเร็จของพวกเขาอันนั้นก็คือ ศัพท์คำว่า"สปิน-ด็อกเตอร์" ในข้อเท็จจริงได้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกด้วยการอ้างอิงถึงทีมงานทางด้านสื่อของ Reagan ในบทบรรณาธิการของ New York Time ในปี ค.ศ.1984 (Patterson, 1997). เช่นเดียวกับ Nixon, ทีมของ Reagan ได้วางความสำคัญช่องทางสื่อผ่านจอทีวีไว้เป็นลำดับแรก แต่พวกเขาก็ได้ทุ่มเทพลังงานเข้าไปในการสร้างความสัมพันธ์กับสื่อท้องถิ่น และองค์กรรากหญ้าต่างๆด้วยเช่นกัน
พวกเขาค่อนข้างที่จะประสบผลสำเร็จกับอย่างหลัง ซึ่งได้มีการระดม"ความร่วมมือสำหรับการเริ่มต้นใหม่อันหนึ่ง" ที่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อแพร่ขยายคำที่เกี่ยวกับโปรแกรมเศรษฐกิจของ Reagan โดยการใช้จดหมายส่งตรง(direct mail) และการออกปราศรัยในที่ต่างๆ(speaking tours)(Maltese, 1994: 194). ณ กึ่งกลางหัวใจยุทธศาสตร์ของทีมงานด้านสื่อนี้ ก็คือการธำรงรักษาภาพของ Reagan ไว้บนจอทีวีให้ปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เกร็ดเล็กๆที่ได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับการนำเสนอภาพยุทธศาสตร์เหล่านี้ก็คือ เรื่องของ Lesley Stahl แห่ง สถานีโทรทัศน์ CBS ที่ได้นำเสนอเรื่องราวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ Reagan. หลังจากนั้นเธอได้รับโทรศัพท์ที่โทรมาจากทำเนียบขาว เธอคาดหวังเอาไว้ว่า คงจะถูกขยำขยี้ในสิ่งที่เธอได้แสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ไป แต่กลับกลายเป็นว่าเธอได้รับการยกย่องสรรเสริญจากทำเนียบขาวอย่างมาก
เธอสอบถามไปว่า"ทำไม?" เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวตอบว่า: "ผู้คนที่ดูโทรทัศน์รายการคุณคงไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่คุณพูดเท่าใดนัก เพราะพวกเขาไม่ค่อยได้สนใจในสิ่งที่คุณพูดนั่นเอง ทั้งนี้เพราะผู้คนต่างจ้องมองไปที่ภาพของประธานาธิบดี ซึ่งนั่นคือคุณค่าทั้งหมดไม่ใช่หรือ ภาพที่ทรงพลังดังกล่าวได้ไปกลบและลดทอนคำพูดต่างๆ นั้นลงไป (Fallows, 1997: 62) ดังนั้น เครื่องจักรสปินของ Reagan จึงพัฒนาเทคนิคต่างๆขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้มั่นใจได้ว่านักหนังสือพิมพ์ทั้งหลายจะป้อนภาพที่ทรงพลังของประธานาธิบดีสู่สาธารณชนเสมอ
หนึ่งในการค้นคิดที่ประสบผลสำเร็จมากสุดสำหรับการบรรลุถึงเรื่องนี้คือ "ยุทธศาสตร์สวนกุหลาบ"(Rose garden strategy) นั่นคือ - Reagan ได้บินไปยังสวนกุหลาบของทำเนียบขาวด้วยเฮลิคอปเตอร์(ซึ่งดูโดดเด่น สง่า แต่เป็นมิตร). เขาจะต้องเปล่งเสียงคำพูดที่แหลมคมที่สคริพท์เอาไว้แล้วสั้นๆ กับบรรดานักข่าวที่รออยู่ ณ ที่นั่น ซึ่งไม่สามารถที่จะตั้งคำถามใดๆได้ เพราะเขากำลังเร่งรีบที่จะกระทำบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ
และสำหรับการประชาสัมพันธ์, ที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Reagan ก็คือ(ในฐานะนักแสดงในอดีต) เขารู้ว่าทำอย่างไรจึงจะดูเป็นประธานาธิบดี และดำเนินตามสคริพท์ที่วางไว้ได้อย่างสมบูรณ์ (Maltese, 1994: 179). ทีมงานประชาสัมพันธ์ของเขาทำงานหนักเพื่อพัฒนาถ้อยคำที่แหลมคมสั้นๆขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จะได้รับการประเมินกับบรรดากลุ่มคนที่โฟกัสเอาไว้แล้วสำหรับการทดสอบ ก่อนที่จะกระทำในขั้นตอนจริง(1994:213). ยุทธศาสตร์สวนกุหลาบ เป็นยอดรวมของไอเดียและการกระทำของทีมงานประชาสัมพันธ์ของ Reagan ที่ "ควบคุมประเด็นได้, ควบคุมการเข้าถึงของนักข่าว, ควบคุมคำพูดที่แหลมคม, และควบคุมภาพลักษณ์ต่างๆเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์"(1994: 214)
นอกจากยุทธศาสตร์สวนกุหลาบ ทีมงานของ Reagan ยังทำการปรับปรุงปฏิบัติการของ Nixon ในอย่างอื่นๆที่กระทำมาด้วย อันนี้รวมถึง (1994: 200-3)
- การนำเอาอินเตอร์เน็ทเข้ามาใช้ประโยชน์
- การใช้ประโยชน์จากสัญญานดาวเทียมเพื่อออกแถลงการณ์สดๆของประธานาธิบดีทางโทรทัศน์
- ใช้เทคนิคการตลาดแบบมุ่งไปยังกลุ่มเป้าโดยตรง(niche-ized marketing) โดยใช้สื่อที่เจาะจงซึ่งเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย(niche media)ในการรับรู้
- สร้างเครือข่ายโทรทัศน์ของ Republican ขึ้นมา - ซึ่งจะเสนอภาพลักษณ์ที่ดีมีคุณภาพของการประชุมของพรรค Republican. กล้องหลายตัวได้วางเอาไว้ในตำแหน่งที่ดีที่สุด เพื่อที่จะนำเสนอภาพได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ได้นำเสนอจุดเด่นของการประชุมอย่างเป็นธรรมชาติ ในหนทางที่เติมเต็มวาระการประชุมที่สคริพท์ไว้แล้วโดยทีมงานประชาสัมพันธ์ได้อย่างสมบูรณ์.
พวกเขายินดีที่จะส่งพิธีกรมืออาชีพไปยังสถานีโทรทัศน์ต่างๆ และหากล้องถ่ายภาพคุณภาพสูงให้กับสถานีโทรทัศน์เหล่านั้นด้วย (โดยไม่คิดค่าเช่า) เพื่อจะนำกล้องไปติดตั้งในตำแหน่งที่ดีที่สุดในห้องประชุม(หรือห้องส่ง) สำหรับการปฏิบัติการหรือการนำเสนอการสัมภาษณ์ต่างๆ. สถานีโทรทัศน์นับพันได้ถ่ายทอดผลลัพธ์ที่ได้มีการเตรียมการอย่างดีเหล่านี้ของทีมประชาสัมพันธ์ออกไปสู่สาธารณชน. คนอื่นๆอีกจำนวนมากต่อมา ได้หยิบเอายุทธวิธีเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนา เพื่อทำให้ภาพลักษณ์บนจอทีวีเป็นที่นิยมชมชอบ อันนี้รวมไปถึงนักแสดงๆต่างๆ(หมายถึงนักการเมือง)นอกแผ่นดินอเมริกาด้วย (ดู Louw and Chitty, 2000)
ทั้งหมดของการประชาสัมพันธ์ชั้นยอดนี้ หากอธิบายด้วยคำพูดของ Reagan ก็คือ - การปฏิวัติของ Nixon ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว. โดยไม่ต้องรู้สึกประหลาดใจว่า ความสำเร็จเกี่ยวกับทีมประชาสัมพันธ์ของ Reagan ได้ไปกระตุ้นให้เกิดการแพร่ขยายของการเมืองที่ถูกทำให้เป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์(PR-ized politics) และการตลาดเกี่ยวกับการเมือง(political marketing) ซึ่งไม่เพียงกับส่วนอื่นๆเกี่ยวกับระบบบริหารและการปกครองของอเมริกันเท่านั้น แต่มันยังไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่นๆด้วย - รวมทั้งอังกฤษและออสเตรเลีย
5. การทำประชาสัมพันธ์ของ
Thatchar (Thatcher's PR)
Margaret Thatcher ได้บุกเบิกการนำเกี่ยวกับเทคนิคสปินอเมริกันและการตลาดทางการเมืองเข้ามาสู่ประเทศอังกฤษ
ความใกล้ชิดในเชิงอุดมการณ์ของ Thatcher กับ Reagan และการบริหารงานของเธอสำหรับความสำเร็จในด้านการประชาสัมพันธ์
น้อมนำให้เธอเป็นปัจจัยที่สำคัญเกี่ยวกับสไตล์การทำประชาสัมพันธ์ของเขา
แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่ Scammell (1995: 271) ได้บันทึกเอาไว้ ถึงแม้ Thatcher จะเปิดประตูรับเอาการตลาดทางการมเมืองสไตล์อเมริกันเข้ามา แต่เธอก็ไม่เคยนำมันมาใช้ทั้งหมด(holus bolus); ไม่เคยถอดแบบทุกแง่มุมของเครื่องจักร Reagan มาใช้ในประเทศอังกฤษ และไม่ยอมให้เครื่องมือประชาสัมพันธ์ของเธอ ปฏิบัติการหรือมีอิทธิพลเหนือกว่าตัวเธอ มากเท่ากันกับที่ Reagan ยอมให้เป็นเช่นนั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Thatcher ไม่มีผู้เชี่ยวชาญการประชาสัมพันธ์นั่งอยู่ในที่ประชุมในการวางแผนเกี่ยวกับนโยบายของเธอในอย่างเดียวกันกับที่ Reagan ทำ และไม่ได้ลอกเลียนระบบควบคุมวาระทางการเมืองของสหรัฐฯ - ระบบคอมพิวเตอร์สำหรับติดตามความเห็นสาธารณะ ที่สนองตอบต่อการกระทำของประธานาธิบดี ก็ไม่ได้มีการนำมาใช้เช่นเดียวกัน (Scammell, 1995: 271-2)
โดยสาระแล้ว ในพรรคการเมืองต่างๆของอังกฤษ บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการสื่อสารไม่ได้เลื่อนไหลอย่างง่ายๆและราบรื่นไปสู่ตำแหน่งต่างๆ ของการควบคุมบังคับบัญชาเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์(Blumler et al., 1996: 65). สำหรับ Thatcher การตลาด / การประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องไม้เครื่องมือของเธอ ไม่ใช่คนที่มีมาเป็นนายควบคุมเธอ(Scammell, 1995: 286). แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคของ Thatcher การดำเนินตามเงื่อนไขปัจจัยต่างๆเกี่ยวกับสปินด็อกเตอร์ และการตลาดทางการเมืองได้ถูกนำเข้าสู่ระบบของอังกฤษ:
- มีการนำเอาโพลความคิดเห็นสาธารณชน และการวิจัยตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากกลุ่มทดสอบเพื่อประเมินการตัดสินใจ(focus group) และนำเอาวิธีการเชิงปริมาณอื่นๆมาใช้ อย่างไรก็ตาม Thatcher ไม่เคยยอมให้การวิจัยตลาดมาบงการนโยบายของเธอ; เธอยินยอมเพียงรับฟังคำแนะนำการใช้สุ้มเสียงและการเน้นเสียง เกี่ยวกับนโยบายต่างๆของเธอเท่านั้น(1995: 272). Blumler et al.(1996: 64) เห็นด้วยว่า นักสำรวจโพล/ความคิดเห็น มีอำนาจน้อยในการเมืองของอังกฤษ ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกากลับเป็นไปในทางตรงข้าม
- การโฆษณาทางการเมืองอย่างน่าตื่นเต้น เพิ่มมากขึ้นภายใต้ยุคของ Thatcher (1996: 50)
- เทคนิคการตลาดทางการเมือง ได้ตระเตรียมไปสู่ประชากรกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ เจาะจง (niches) (1996: 52) ยกตัวอย่างเช่น สื่อที่เฉพาะเจาะจง(niche media) และจดหมายส่งตรงถึงผู้รับ เป็นต้น
- มีการใช้เทคนิคประชาสัมพันธ์ที่พุ่งเป้าไปที่บรรดานักหนังสือพิมพ์ ด้วยทัศนะหนึ่งที่ชักใยเนื้อหาสื่อ. เลขาฯทางด้านสิ่งพิมพ์ของ Thatcher กล่าวว่า เธอพยายามที่จะจัดการควบคุมข่าว (มากกว่าที่จะให้มันเป็นไปในลักษณะตรงข้าม)(Ingham, 1991: 187)
- ที่ปรึกษาทางด้านภาพลักษณ์ มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบรรดานักการเมืองทั้งหลาย นอกจากนี้ยังชำนาญในการปรับปรุงภาพลักษณ์ของนักการเมืองเพื่อทำให้พวกเขาขายได้มากขึ้นด้วย - ด้วยเหตุนี้ ความจริงในเชิงวัตถุวิสัยจึงถูกคร่อมหรือสวมทับโดยภาพที่ถูกรับรู้ (Blumler., 1996: 52)
- ที่ปรึกษาทางด้านภาพลักษณ์ ยังมีความเชี่ยวชาญในการจัดการประชุมต่างๆของพรรคและการชุมนุมต่างๆ. พรรคอนุรักษ์นิยมได้ว่าจ้าง Harvey Thomas (ซึ่งก่อนหน้านั้น เขาทำงานให้กับนักเชิญชวนทางศาสนา Billy Graham) เพื่อทำให้การชุมนุมและการประชุมต่างๆของพวกเขาน่าตื่นเต้นมากขึ้นด้วย สโลแกน, แสงสี, ภาพฉายวิดีโอ, ม่านที่เต็มไปด้วยสีสรร, ธงต่างๆ, ดนตรี, และจัดให้มีการซ้อมใหญ่ เพื่อเป็นการเตรียมตัวต่างๆ (Scammell, 1995: 275)
- Gordon Reece ได้ให้การฝึก(coached)แก่ Thatcher และบรรดาคณะรัฐมนตรีของเธอเกี่ยวกับการปรากฏตัวหน้าจอทีวี และได้ให้คำแนะนำพวกเขาให้กระตุ้นตัวเองกับจอโทรทัศน์ ซึ่งทีมงานของ Reece เรียกว่า "เครื่องจักรความจริงใจ"(sincerity machine) (B.Franklin, 1994: 148).
- ภาพลักษณ์ของ Thatcher ได้รับการสคริพท์ใหม่ หลังจากการทำโพลซึ่งเผยว่าสุ้มเสียงของเธอค่อนข้างแหลมเกินไป และมีสำเนียงของชนชั้นสูง สไตล์ของเธอออกจะเป็นการข่มขู่มากไป และการปรากฏตัวของเธอคล้ายคลึงกับครูใหญ่ ดังนั้นเธอจึงถูกเปลี่ยนไปสู่ความเป็นแม่บ้านธรรมดาคนหนึ่ง โดยการสคริพท์คำพูดขึ้นมาใหม่, การใช้สุ้มเสียงแบบติวเตอร์(ไม่ใช่ครู), เปลี่ยนแปลงเสื้อผ้า, รวมทั้งเครื่องเพชรและสไตล์การเมคอัพ, และมีการย้อมสีผม รวมไปถึงการครอบฟัน (1994: 149-50)
- ในโอกาสต่างๆที่มีการถ่ายรูปบนเวที จะถูกออกแบบโดย Reece (Scammell, 1995: 281-2)
- ความเจริญเติบโตของการเมืองแบบป๊อปปิวล่าร์ ทำให้ได้เห็นบรรดานักการเมืองปรากฏตัวในรายการทีวีซึ่งเป็นที่สนใจของผู้คน อย่างเช่น The Jimmy Young Show (1995: 275)
- มีการการเขียนสคริพท์อย่างระมัดระวัง ด้วยการให้นักการเมืองใช้คำพูดที่สาธยายออกมาได้อย่างแหลมคม และจะไม่ยอมให้พวกเขามีโอกาสพูดอะไรออกไปในลักษณะที่ไม่ได้มีการสคริพท์เอาไว้ล่วงหน้า (1995: 276)
- ระบบการจัดการข่าว ได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้ประสานเข้าด้วยกันกับการเผยแพร่สื่ออื่นๆ ทั้งหมดของรัฐบาล, การโฆษณาและการเชื่อมโยงกันระหว่างคณะรัฐมนตรี และการล็อบบี้นักหนังสือพิมพ์. ระบบอันนี้เกี่ยวกับการจัดการด้านข่าวได้ถูกริเริ่มขึ้น (ด้วยการมอบหมายของ Thatcher) โดยให้เป็นหน้าที่ของ Angus Maude แต่ไปสมบูรณ์พร้อมโดยฝีมือของเลขาฯทางด้านสิ่งพิมพ์ของ Thatcher, Bernard Ingham (1991)
การนำเสนอเรื่องการเมืองที่ทำให้เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ในอังกฤษ แน่นอนได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นการเมืองแบบอังกฤษ แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติของ Thatcher ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนสมบูรณ์แบบของการเมืองอังกฤษ ยิ่งกว่านั้น มันกลับแสดงถึงการแปรรูปที่เปลี่ยนไปจากเดิมของระบบแบบอังกฤษ เพราะว่า:
- ปัจจัยที่เป็นแกนหลักของกระบวนการแบบอังกฤษยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง - ยกตัวอย่างเช่น บรรดาข้าราชการยังคงไม่สนใจในการใช้ประโยชน์จากสื่อเท่าใดนัก เมื่อเปรียบเทียบกับอเมริกัน
- พรรคการเมืองอังกฤษยังคงแบ่งลำดับชั้นสูงต่ำมากกว่าพรรคการเมืองอเมริกัน โดยบรรดาผู้นำพรรคการเมืองอังกฤษ ยังคงมีบทบาทควบคุมการปฏิบัติการเหนือเครื่องจักรประชาสัมพันธ์ของพรรค
- เหล่านักการเมืองอังกฤษยังมีความโน้มเอียงน้อยกว่าบรรดานักการเมืองอเมริกัน ที่จะให้การยอมรับต่อความคิดที่ว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านความเห็นของสาธารณชน รู้อะไรมากมายเกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งยิ่งกว่าพวกเขา (1996: 65)
แม้ว่าการปฏิวัติของ Thatcher จะไม่ได้เป็นตัวแทนความเป็นแบบอเมริกันอย่างเต็มที่ของการเมืองอังกฤษ แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงแก่นสารเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของกระบวนการดังกล่าว. หนึ่งในสาระสำคัญของอันนี้คือ สไตล์ของ Thatcher กลายเป็นท่อธารอันหนึ่งสำหรับการไหลถ่ายเทเทคนิคการตลาดทางการเมืองมากมาย เข้าสู่ส่วนที่เหลือของสหภาพยุโรป และหลั่งไหลไปสู่ประเทศต่างๆ อย่างเช่น ออสเตรเลีย - ยกตัวอย่างเช่น สไตล์การประชาสัมพันธ์ของ Thatcher ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการรณงค์หาเสียงเลือกตั้งของออสเตรเลียในปี ค.ศ.1996 ซึ่งทำให้พรรค Liberal Party ของ John Howard ได้รับชัยชนะ (ดู Williams, 1997)
6. การประชาสัมพันธ์ของ
Blair (Blair's PR)
พรรคแรงงานภายใต้การนำของ Tony Blair ได้นำเอาการประชาสัมพันธ์นี้มาใช้ในเวลาต่อมากับการเมืองอังกฤษมากยิ่งขึ้น.
สปินด็อกเตอร์ 3 คน ประกอบด้วย Peter Mandelson, Alastair Campbell และ Charlie
Whelan - แสดงบทบาทอย่างสำคัญในกระบวนการประชาสัมพันธ์อันนี้. เนื่องจากความสำเร็จของพวกเขา
ทั้งสามคนนี้จึงกลายเป็นคนที่มีอิทธิพลอยู่ในพรรคแรงงาน
ทีมทำงานสื่อของพรรคแรงงาน นำโดย Mandelson ได้จัดการให้พรรคแรงงานเปลี่ยนแปลงไปจากภาพลักษณ์เก่าๆของชนชั้นแรงงาน (ซึ่งกำลังแปลกแยก และกระทั่งคุกคามต่อคนที่ไม่ใช่ชนชั้นแรงงาน) และเขาได้ทำให้พรรการเมืองนี้น้อมไปสู่ภาพลักษณ์ของสังคมประชาธิปไตยแบบซ้ายกลาง(center-left) ที่ครอบคลุมถึงชนชั้นอื่นๆ (B.Franklin, 1994: 132). ทีมงานของ Mandelson ได้เปลี่ยนแปลงไม่เพียงพรรคแรงงานไปเท่านั้น แต่การเมืองของอังกฤษก็ยังถูกเปลี่ยนไปด้วย โดยการนำเสนอ"การตลาดทางการเมือง"และการสื่อสาร"ในแบบมืออาชีพ" เข้ามาสู่หัวใจของเครื่องจักรพรรคการเมือง (Bartle and Griffiths, 2001)
Mandelson ได้สร้างเค้าโครงใหม่ของพรรคแรงงานขึ้นมา รายรอบสัญลักษณ์ของกุหลาบแดง. เพื่อให้บรรลุถึงการแปรสภาพไปอันนี้ อันดับแรกสุด เขาจะต้องเอาชนะความรู้สึกที่ไม่ง่ายนักของบรรดาสมาชิกในพรรคแรงงานจำนวนมาก ให้รู้สึกยอมรับเรื่องของ"การตลาด". Mandelson ซึ่งก่อนหน้านี้คือผู้ผลิตรายการโทรทัศน์คนหนึ่ง ได้สร้างทีมอาสาสมัครขึ้นมา ชื่อว่า The Shadow Communications Agency (SCA). สำหรับ SCA นั้น ได้ทำงานใกล้ชิดกับ Blair วันต่อวันเลยทีเดียวเพื่อสคริพท์การปรากฏตัวของเขา ท่ามกลางม่านหมอกและกระจกเงาของจอโทรทัศน์
ภายใต้การทำงานของ Mandelson, SCA ได้ประสบผลสำเร็จอย่างมากในการฝึกการแสดง และฝนภาพลักษณ์ทางโทรทัศน์ต่างๆให้กับบรรดานักการเมืองพรรคแรงงานทั้งหลาย ทำให้พวกเขาปรากฏตัวเป็นที่ดึงดูดสายตาเหมือนกันกับ Blair ในตำแหน่งที่สำคัญและเป็นที่สังเกต (B.Franklin, 1994: 133). ผลลัพธ์คือว่า Blair กลายเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ไปยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การเมืองอังกฤษได้กลายเป็นเรื่องราวทางโทรทัศน์, การเมืองได้กลายเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ไปแล้ว
อย่างมีนัยะสำคัญ การแสดงที่ถูกสคริพท์ของ Blair, Clinton และ Bush เผยให้เห็นถึงแนวโน้มที่กำลังเจริญเติบโตไปสู่การหยิบยืมที่ข้ามผ่านมหาสมุทรแอตแลนติค - ดังที่เทคนิคสปินด็อกเตอริ่งใหม่ๆได้เดินทางในทั้งสองทิศทาง. แนวโน้มอันนี้ได้รับการยกระดับขึ้นโดยการสคริพท์ร่วมกันระหว่าง Bush - Blair เกี่ยวกับเหตุผลต่างๆในการบุกตลุยเข้าไปในอิรัค ในปี ค.ศ.2003
แต่ทีมประชาสัมพันธ์ของ
Blair ก็ถูกคุกคามจากแรงกดดันมหาศาล อันเป็นผลเนื่องมาจากสงครามอิรัค โดยสปินด็อกเตอร์ของเขา
Alastair Campbell ได้รับการบีบคั้นให้ลาออกในปี ค.ศ. 2003. Campbell เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติของ
Mandelson เขาเป็นสปินด็อกเตอร์ส่วนตัวของ Blair นับจากปี ค.ศ.1994 จนกระทั่งถึงปี
ค.ศ. 2001 ซึ่งในช่วงหลัง เขาได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ของพรรคแรงงาน
การลาออกของ Campbell
ได้เผยให้เห็นถึงอะไรมากมายเกี่ยวกับการเมืองอังกฤษว่า เป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์อย่างไร.
การลาออกของเขาเป็นผลอันเนื่องมาจากรายงานข่าวของผู้สื่อข่าว BBC ที่ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธของกระทรวงกลาโหมคนหนึ่ง
ยืนยันถึงเอกสารทางทหารเกี่ยวกับอาวุธทำลายล้างสูงของอิรัคต่างๆ เป็นเรื่องที่ผิดพลาด
ในฐานะส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวไปสู่การแก้ตัวเกี่ยวกับการทำสงครามอิรัคในปี
2003 อันนี้ได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นไปในลักษณะลูกโซ่ ซึ่งได้พลิกผันสปินด็อกเตอริ่งไปสู่ประเด็นปัญหาหนึ่งในการเมืองของอังกฤษ
และน้อมนำเหตุการณ์ปี 2004 ที่ Hutton Commission of Inquiry (กรรมการเกี่ยวกับการสืบสวน/สอบสวน)สู่การฆ่าตัวตายของผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาวุธ
(ภายหลังรัฐบาลของ Blair ได้แพร่งพรายชื่อของเขาไปสู่สื่อต่างๆ)
รายงานจาก The Hutton Report (www.the-huttoninquiry.org.uk) ได้ทำให้ Blair พ้นผิดและโจมตี BBC แทน เกี่ยวกับปฏิบัติการเกี่ยวกับงานข่าวที่ไร้ประสิทธิภาพ. แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า BBC จะถูกบีบคั้นให้ขอโทษต่อรัฐบาล Blair สำหรับการจัดการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ - อันนี้ได้จุดประกายให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมากขึ้นมาในหมู่นักข่าว (ดู British Journalism Review, 14 (3) 2003) - แต่ความน่าเชื่อถือทางการเมืองของ Blair ก็ได้ถูกทำลายลงด้วยเรื่องราวของเอกสารลับที่ผิดพลาดอย่างมหันต์. การลาออกของ Campbell คือความพยายามจะลดแรงกระแทกที่ส่งผลไปถึง Blair - และได้เผยให้เห็นอะไรมากมายเกี่ยวกับสปินด็อกเตอริ่ง นั่นคือ
- การประชาสัมพันธ์จะต้องเป็นเรื่องไม่โปร่งใสเพื่อที่จะทำงานได้. (การประชาสัมพันธ์ต่างๆจะต้องไม่ฉวยเอาวิธีการล่อหลองฝูงชนมาปฏิบัติ. เมื่อมันฉวยโอกาสดังกล่าวครั้งหนึ่ง การประชาสัมพันธ์ก็หมดหน้าที่หรือยุติบทบาทของตนเองลงไป)
- สปินด็อกเตอริ่งถูกโฟกัสลงไปที่การสร้าง และธำรงรักษาภาพในเชิงบวกสำหรับรรดานักการเมือง ซึ่งใช้และว่าจ้างสปินด็อกเตอร์ให้กระทำการดังกล่าว. การกระทำของ Campbell เผยให้เห็นว่า เมื่อภาพลักษณ์ของนักการเมืองตกอยู่ในอันตราย การประชาสัมพันธ์จะต้องถูกทำให้เป็นแพะรับบาป เพื่อพยายามและรักษาหน้าของนักการเมืองที่ได้รับการสร้างขึ้นเอาไว้
- การโต้ตอบของสื่อต่อเอกสารลับที่ผิดพลาด และการสืบสวนของ Hutton ได้เผยให้เห็นถึงขอบเขตที่นักข่าวบางคนมีความยุ่งยาก ที่จะยอมรับความร่วมมือที่ผิดพลาดของพวกเขากันเองในลักษณะความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันและกัน ระหว่างสื่อต่างๆกับบรรดาสปินด็อกเตอร์ทั้งหลาย. ก่อนสงครามอิรัค-สหรัฐฯ, สปินด็อกเตอร์ของรัฐบาลอังกฤษและออสเตรเลีย ได้ใช้สื่อเพื่อทำให้ประชากรของพวกเขาเชื่อมั่นได้อย่างสัมฤทธิผล นั่นคือ อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงของอิรัค(WMD - weapons of mass destruction)มีท่าทีคุกคามอย่างแท้จริงต่อสันติภาพของโลก
- การโจมตีของสื่อต่างๆที่มีต่อ Campbell, Blair หรือ Hutton ได้สร้างรูปแบบของสปินอันหนึ่งขึ้นมา - นั่นคือ ปฏิบัติการอันหนึ่งที่โฟกัสการประณามลงไปที่สปินด็อกเตอร์และบรรดานักการเมืองทั้งหลาย ซึ่งในช่วงนั้นได้เบี่ยงเบนความสนใจไปจากความผิดร่วมกันของบรรดาสื่อทั้งหลายเองอย่างง่ายๆ ในการทำให้เรื่องโกหกเกี่ยวกับอาวุธทำลายสูงเป็นไปได้
การลาออกของ Campbell ไม่ได้ทำให้การประชาสัมพันธ์ทางการเมืองของอังกฤษจบลง เขาได้ถูกแทนที่อย่างง่ายดายโดยสปินด็อกเตอร์ใหม่คนหนึ่งของพรรคแรงงาน ซึ่งในช่วงเวลานั้นได้เผชิญกับการท้าทายเกี่ยวกับ ความพยายามที่จะกอบกู้หน้าตาที่ถูกทำลายลงของ Blair ขึ้นมาใหม่ หรืออย่างน้อยที่สุดพยายามที่จะรักษาความน่าเชื่อถือของพรรคแรงงานขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป
ในอีกด้านหนึ่งนั้น การทำงานของการประชาสัมพันธ์สำหรับพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ โดยธรรมชาติแล้วได้ทำงานหนักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในความพยายามที่จะชักใยในอีกแนวทางอันหนึ่งในเชิงทำลายพรรคแรงงาน โดยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับการปิดป้ายฉลากว่า Blair และทีมงานของเขาว่าชั่วร้ายอย่างไร
7. การประชาสัมพันธ์ของ
Clinton (Clinton's PR)
Bill Clinton คล้ายๆกับ Reagan ซึ่งได้สืบทอดมรดกเกี่ยวกับการปฏิวัติการประชาสัมพันธ์ในยุคของ
Nixon ต่อมา. Clinton ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดเกี่ยวกับวิถีทางที่การเมืองได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอันนี้
ทั้งนี้เนื่องมาจากสไตล์ของเขาและวิธีการแสดงออกส่วนตัวที่ค่อนข้างดี กับการปฏิวัติในแนวทางสปินทางโทรทัศน์
Clinton เป็นแบบจำลองของนักการเมืองที่มีชื่อเสียงทางจอโทรทัศน์ เนื่องจากพรสวรรค์ของเขาสำหรับการแสดงทางทีวี และความสามารถที่จะดำเนินรอยตามสคริพท์ของสปินด็อกเตอร์ได้ในสถานการณ์วิกฤต. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาสามารถแสดงให้คนดูทีวี ซึ่งหมายถึงคนหมู่มากที่ชมรายการโทรทัศน์รู้สึก(เทียม)เป็นกันเองกับเขา เข้าใจเขา และเคารพซึ่งกันและกัน - กล่าวคือ Clinton คล้ายกันกับ "นักการเมืองที่มีสไตล์เก่าแก่ ซึ่งเป็นนักศึกษาโดยธรรมชาติ และโฟกัสไปยังผู้ลงคะแนนเสียงที่อยู่ตรงหน้าเขา"
รางวัลพิเศษอยู่ที่การพบปะเป็นการส่วนตัว แต่ไม่เหมือนกับสไตล์ของนักการเมืองรุ่นเก่า นั่นคือ Clinton สามารถที่จะแสดงมารยานี้ได้ต่อหน้ากล้อง" (Blumenthal, quoted in Maltese, 1994: 225). ความสำเร็จของ Clinton สืบทอดมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เขาคือคนที่ขึ้นกล้องและเป็นพ่อมดการแสดง(ทางทีวี)ในเวลาเดียวกันนั่นเอง. แต่อย่างไรก็ตาม อันนี้ไม่ควรหันเหไปจากเครื่องจักรการประชาสัมพันธ์อันน่าประทับใจที่ Jame Carville สร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุน Clinton
เครื่องจักรการประชาสัมพันธ์นี้ ได้ถอดแบบลักษณะต่างๆอันโดดเด่นของเครื่องจักรของ Reagan ซึ่งได้ให้ภาพเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ที่ทำให้เป็นธรรมชาติว่า มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองของอเมริกันได้อย่างไร (1994: 225-7)
- เมื่อตอนที่ Clinton เป็นประธานาธิบดีครั้งแรก ภาพลักษณ์ของเขาได้รับการสร้างขึ้นโดยทีมงานประชาสัมพันธ์ เมื่อผลโพลได้เผยให้เห็นว่าเขามีปัญหาทางด้านภาพลักษณ์. กลุ่มทดสอบพบว่าบรรดาผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนที่ไม่เป็นมิตร อาจถูกเปลี่ยนความคิดไปโดยการบอกกับคนเหล่านั้นว่า พ่อเลี้ยงของเขาเป็นคนที่ติดสุราเรื้อรัง; เขาได้รับการอบรมเลี้ยงดูขึ้นมาจากเมืองเล็กๆ; ช่วงตอนเป็นเด็ก เขาต้องเผชิญชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจน; เขาสร้างตัวขึ้นมาจากการเรียนมหาวิทยาลัยอย่างไร; และเกี่ยวกับภรรยาและลูกสาวของเขา. ผลลัพธ์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นการรณรงค์หาเสียง (The Manhattan Project) เพื่อส่งเสริมภาพต่างๆอันนี้ (Bennett, 1995: 108)
- ทีมงานของ Clinton ได้จัดให้มีการพบปะกันใน war room (สถานที่ที่ใช้ในการดำเนินการทางยุทธวิธี)สองครั้งในทุกๆวัน การพบปะกันนี้ก็เพื่อวิเคราะห์ข่าวที่ปรากฏบนสื่อต่างๆ เพื่อสนทนากันว่า จะวางสคริพท์ในการโต้ตอบต่อข่าวต่างๆเหล่านั้นให้ Clinton อย่างไร และขบกันถึงแผนการทางยุทธวิธีสำหรับการขานรับต่างๆ
- ลักษณะที่เป็นแกนหลักอันหนึ่งของทีมงานด้านสื่อของ Clinton (ทั้งช่วงระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และหลังจากเป็นประธานาธิบดีแล้ว) คือ ยุทธวิธีการตอบโต้อย่างรวดเร็ว(rapid response strategy). อันนี้ไปเกี่ยวพันกับหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยฝ่ายตรงข้าม และหน่วยงานสร้าง"เหตุการณ์พิเศษ"(special events unit)(ลูกไม้สกปรก-dirty trick). การวิจัยฝ่ายตรงข้ามจะทำการตรวจสอบบรรดานักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเสมอ (รวมถึงการวิจัยเบื้องหลังความเป็นมา, ผนวกกับการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่ไม่มีการถ่ายทอดสัญญานดาวเทียม และช่วงที่มีการถ่ายทอดสัญญานดังกล่าว). งานวิจัยเหล่านี้สามารถทำให้ทีมงานของ Clinton ทำนายอนาคตได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม และมียุทธวิธีในการสื่อสารอยู่แล้วก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆจะเกิดขึ้น. ทีมงานของ Clinton จะมีการคาดเดา"ข่าวร้าย" เพื่อว่าเมื่อเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น ทีมงานสปินด็อกเตอร์จะสามารถรับมือได้อย่างทันควัน
- ผู้อำนวยการสื่อสารของ Clinton จะมีการจัดประชุมพบปะอย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละสองครั้ง กับบรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์งานบริหารทุกหน่วยงานของรัฐบาล เพื่อพยายามที่จะฉายภาพให้ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว
- Clinton จะไม่ปรากฏตัวทางทีวี จนกว่าทีมงานของเขาจะได้เจรจากับบรรดาผู้ผลิตรายการทั้งหลาย โดยเอาใจใส่กับหัวข้อต่างๆซึ่งสามารถนำมาสนทนาได้ และหัวข้อซึ่งไม่ยอมให้มีการหยิบยกขึ้นมาสนทนา
- ทีมงานของ Clinton จะมีการทำวิจัยเบื้องหลังเกี่ยวกับสื่อ ในฐานะที่เป็นยุทธวิธีอันหนึ่งที่จะพยายามกำหนดประเด็นและจัดการเกี่ยวกับเนื้อหาต่างๆ
- ทีมงานของ Clinton จะเน้นเรื่องการนำเสนอต่อสื่อท้องถิ่นมาก และสื่อที่ส่งถึงผู้ดูในฐานะผู้เชี่ยวชาญ (narrowcasting) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของพวกเขา ที่จะส่งสารต่างๆไปยังเป้าหมายที่เป็นผู้ชมที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ. นอกจากนี้ ยังใช้การเผยแพร่สื่อไปถึงเป้าหมายท้องถิ่น โดยทีมงานของเขาจะมีการรวบรวมบรรดาโฆษกซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนทั้งหลาย เพื่อนำเอาสารของ Clinton ไปสู่ชุมชนท้องถิ่นต่างๆโดยตรง. ยุทธวิธีของ Nixon เกี่ยวกับการกระโดดข้ามหัวหนังสือพิมพ์วอชิงตัน / นิวยอร์ค ได้ถูกนำมาใช้. ในท้ายที่สุด ทั้งทีมงานของ Clinton และ Nixon ต่างก็ประเมินความสำคัญของการทำงานกับนักข่าว และนักสื่อสารมวลชนเอาไว้ต่ำจนเกินไป
- การเผยแพร่ข่าววิดีโอได้ถูกผลิตขึ้นในสตูดิอโอโทรทัศน์ของทำเนียบขาว สิ่งเหล่านี้ได้ถูกแพร่กระจายออกไปโดยการป้อนผ่านสัญญานดาวเทียม
- ประโยชน์เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ผู้คนทั้งหลายสามารถสื่อสารโดยตรงกับทำเนียบขาวได้โดยผ่านจดหมายอิเล็คทรอนิค
- ความคิดริเริ่มเชิงนโยบายของประธานาธิบดีทุกคน จะได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นความต้องการที่จะรรณรงค์หาเสียงผ่านการสื่อสารต่างๆ. ทีมงานของ Clinton ได้มีการปฏิบัติงานบนฐานที่มั่นที่มีการรณรงค์หาเสียงอย่างถาวรตลอดไป
ช่วงระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งของ Clinton การเมืองเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ถือได้ว่าถึงจุดที่บรรลุนิติภาวะ นั่นคือ ทั้งพรรค Democrat และพรรค Republican ต่างก็เล่นเกมเดียวกัน
- ความพยายามที่จะนำเสนอเรื่องในเชิงบวกต่อกิจกรรมต่างๆของพวกเขาเอง และนำเสนอเรื่องเชิงลบให้กับฝ่ายตรงข้าม
- ความพยายามที่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามด้วยลูกไม้สกปรกอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- แปรเทคนิคสปินมาใช้เพื่อขจัดงานทำลายล้าง ด้วยการใช้ลูกไม้สกปรกโดยตรงกับพวกเขา
ยิ่งไปกว่านั้น การแต่งตั้ง Mark Gearan เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ทำเนียบขาวของ Clinton ซึ่งเผยให้เห็นว่า การประชาสัมพันธ์ทางการเมืองอเมริกันเป็นเรื่องของมืออาชีพมากน้อยขนาดไหน - ทั้งนี้เพราะ Gearan ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานรับใช้ Nixon แห่งพรรค Republican, รวมไปถึงประธานาธิบดี Ford และ Reagan. การแต่งตั้งเขาให้เป็นส่วนหนึ่งของสต๊าฟพรรค Democrat ได้แสดงให้เห็นว่า การเมืองได้เคลื่อนคล้อยไปจากการถูกควบคุมโดยพรรคการเมืองต่างๆที่อยู่ภายใต้หลักการอย่างไร. สิ่งที่นับว่าเป็นกระบวนการใหม่ทางการเมืองก็คือการสื่อสารอย่างมืออาชีพ ไม่ใช่เรื่องของผู้เลื่อมใส สาวก หรือกลุ่มก๊กที่มีอิทธิพลของพรรค
โดยทั่วไป ทีมงานของ Clinton ไม่ได้เป็นพวกนักนวัตกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่แต่ประการใด อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่า เทคนิคด้านการประชาสัมพันธ์ต่างๆที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Nixon และ Reagan สามารถถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อวางสคริพท์ทางการเมืองอย่างได้ผล โดยมีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดประชานิยม(populism)
ทีมงานประชาสัมพันธ์ของ Clinton เรียนรู้ที่จะระดมเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับตัวเขา เช่นการเป่าแซกโซโฟ, การกบฎของเขาตั้งแต่เด็ก และกระทั่งความเลินเล่อทางเพศ เพื่อมาทำให้เขาเป็นทั้งคนที่ทันสมัยและเป็นคนดี. พวกเขาช่ำชอง ชำนิชำนาญในการแปรเทคนิคการประชาสัมพันธ์และเรื่องของประชานิยมมาใช้ เพื่อจัดการควบคุมความเห็นของสาธารณชนอย่างได้ผล
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
และสำหรับการประชาสัมพันธ์, ที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Reagan ก็คือ(ในฐานะนักแสดงในอดีต) เขารู้ว่าทำอย่างไรจึงจะดูเป็นประธานาธิบดี และดำเนินตามสคริพท์ที่วางไว้ได้อย่างสมบูรณ์ (Maltese, 1994: 179). ทีมงานประชาสัมพันธ์ของเขาทำงานหนักเพื่อพัฒนาถ้อยคำที่แหลมคมสั้นๆขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จะได้รับการประเมินกับบรรดากลุ่มคนที่โฟกัสเอาไว้แล้วสำหรับการทดสอบ ก่อนที่จะกระทำในขั้นตอนจริง(1994:213). ยุทธศาสตร์สวนกุหลาบ เป็นยอดรวมของไอเดียและการกระทำของทีมงานประชาสัมพันธ์ของ Reagan ที่ "ควบคุมประเด็นได้, ควบคุมการเข้าถึงของนักข่าว, ควบคุมคำพูดที่แหลมคม, และควบคุมภาพลักษณ์ต่างๆเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์"(1994: 214)