The Midnight University
ฐานความรู้เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป
(๓)
บทวิเคราะห์
20 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป
เมื่อความถูกต้องทางกฎหมาย อยู่เหนือความถูกต้องทางศีลธรรม
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
บทความขนาดยาวชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน โดยผ่านมาทาง รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์
เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป
สำหรับการขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่ต้องเสียภาษี
เป็นไปได้ว่าจะมีการสมคบคิดและ
ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลและสถาบันต่างๆ ช่วยเหลือในการกระทำดังกล่าว
ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ไปในการพัฒนาประเทศนับหมื่นล้านบาท
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 825
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
42 หน้ากระดาษ A4)
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป
(๓)
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เมื่อความถูกต้องทางกฎหมาย อยู่เหนือความถูกต้องทางศีลธรรม
บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป
โดย "ม้านอก" และ "เด็กนอกกรอบ"
บทความขนาดยาว(มาก) ชิ้นนี้พยายามอธิบายโครงสร้างดีลการขายหุ้นบมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ให้กับ Temasek Holdings ของรัฐบาลสิงคโปร์ สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับข้อกฎหมาย และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเทคโอเวอร์บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ "ความถูกต้องทางกฎหมาย" และระดับ "ความถูกต้องทางศีลธรรม" ของพฤติกรรมผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ขายหุ้นในครั้งนี้ ในประเด็นหลักต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของสังคม เท่าที่ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 และประสบการณ์ในแวดวงการเงินของผู้เขียนทั้งสอง จะเอื้ออำนวย
บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาเสนอหรือพิสูจน์ว่าการขายหุ้นครั้งนี้ "ไม่ควรทำ" เพราะเป็นการ "ขายสมบัติชาติ" หรือด้วยเหตุผลใกล้เคียงอื่นใด ที่คนไทยจำนวนหนึ่งยึดเป็นสรณะในการต่อต้านรัฐบาลไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนเชื่อมั่นในประโยชน์ของการเปิดเสรีโทรคมนาคม และเชื่อว่าการขายหุ้นในครั้งนี้เป็นก้าวย่างที่สำคัญของการเปิดเสรี ซึ่งน่าจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของบริการโทรคมนาคม หากการเปิดเสรีนำไปสู่การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง
ผู้เขียนเขียนบทความนี้ขึ้น เพราะมีความแคลงใจ และไม่พอใจอย่างมาก ต่อ วิธีการ ที่กลุ่มชินวัตร-ดามาพงศ์ เลือกใช้ในการขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ที่ผู้อยู่นอกแวดวงการเงินอาจยังไม่ทราบ หรือกำลังสับสนกับการชี้แจงของหลายฝ่าย ว่าอะไรจริง อะไรเท็จกันแน่
ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ต่อ กรุณาถามใจคุณเองก่อนว่า คุณคิดว่า:
...ประเด็นเรื่องศีลธรรม คุณธรรม ศักดิ์ศรี และความเหมาะสม เป็นเรื่องล้าสมัย ไม่สำคัญ หรือไม่เกี่ยวกับดีลนี้เลยหรือไม่?
...การที่บุคคลสำคัญระดับนายกรัฐมนตรีของประเทศ ใช้คำว่า "ถูกกฎหมาย" เป็น "คำตอบสุดท้าย" และทนายของครอบครัวอ้างว่าไม่มี "หน้าที่" ตอบคำถามเกี่ยวกับศีลธรรม โดยเฉพาะเจตนา "เลี่ยงภาษี" ที่นายกฯ คนนี้ย้ำนักย้ำหนาในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ว่าเป็นพฤติกรรมของ "ผู้ไม่รักชาติ" นั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องดีแล้วหรือไม่?
...พฤติกรรมการ "เลี่ยงภาษีสุดกู่" ของนายกฯ นั้น เข้าข่าย "บกพร่องโดยสุจริต" หรือเป็นเรื่อง "ปกติธรรมดา" ที่ "ใครๆ เขาก็ทำกัน" ฉะนั้นคนที่เรียกร้องให้นายกฯ ทำตัวดีกว่านักธุรกิจทั่วไป ที่หาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อเลี่ยงภาษีได้ทุกเมื่อนั้น เป็นแค่พวก "ช่างตะแบง" หรือ "ขี้อิจฉา" หรือไม่?
ถ้าคำตอบของคุณ ต่อคำถามข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นคือ "ใช่" แล้วละก็ กรุณาหยุดอ่านบทความนี้ทันที แล้วโยนมันลงถังขยะไปได้เลย เพราะไม่มีอะไรในนี้ที่จะทำให้คุณเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ หรือความคิดได้
....
บทความชิ้นนี้จะแบ่งการวิจารณ์ออกเป็นสองข้อในแต่ละประเด็น: "ความถูกต้องทางกฎหมาย"
และระดับ "ความถูกต้องทางศีลธรรม" เพราะทุกคนย่อมรู้ดีว่า การกระทำที่
"ถูกกฎหมาย" บ่อยครั้งมิใช่เป็นการกระทำที่ "ถูกศีลธรรม"
เสมอไป เพราะการอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อตักตวงผลประโยชน์ส่วนตัว กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในสังคมวัตถุนิยมสุดขั้วเช่นประเทศไทยในยุคทักษิโนมิคส์
"ความถูกต้องทางกฎหมาย": มีความเป็นไปได้เพียงสองทางเท่านั้น คือ "ถูกกฎหมาย" หรือ "ผิดกฎหมาย" กฎหมายที่คลุมเครือบางประเด็นอาจต้องอาศัยการตีความของนักกฎหมาย ในประเด็นเหล่านี้ ผู้เขียนจะใช้"เจตนารมณ์ของกฎหมาย" ซึ่งสะท้อนให้เห็นส่วนหนึ่งผ่าน "พฤติกรรม" ที่ผ่านๆ มาของหน่วยงานรัฐ อาทิเช่นกรมสรรพากร เป็นตัววัดระดับความผิดถูกของการกระทำ
"ความถูกต้องทางศีลธรรม"
ระดับความน่าเกลียด ของแต่ละประเด็นนั้น แบ่งได้เป็นสามระดับดังนี้คือ
- "ไม่น่าเกลียด" : เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
- "น่าเกลียดเป็นปกติ" : เป็นการกระทำที่ส่อ "เจตนาทุจริต" เช่น เลี่ยงภาษี แต่ก็เป็นสิ่งที่นักธุรกิจทั่วไปทำกันเป็น "ปกติ"
เป็น "เรื่องธรรมดา" ในสังคม- "น่าเกลียดสุดขั้ว" : เป็นการกระทำที่น่าเกลียดแบบไร้ยางอาย เพราะนอกจากจะมีเจตนาทุจริตแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือ การแกล้งไม่รู้ไม่เห็น หรือความช่วยเหลืออย่างออกนอกหน้าของหน่วยงานรัฐ เช่น กรมสรรพากร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ ในการพลิกตำรา พลิกลิ้นยืนยันว่าการกระทำนั้น "ถูกกฎหมาย" ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นดีลอื่น คนอื่น จะไม่พูดแบบนี้
ผู้เขียนหวังว่า บทความชิ้นนี้จะช่วยตีแผ่ข้อเท็จจริง และประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับดีลประวัติศาสตร์นี้ ความหวังที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ช่วยให้ประชาชนคนไทยสามารถแยกแยะประเด็น "ความถูกต้องทางกฎหมาย" ออกจากประเด็น "ความถูกต้องทางศีลธรรม" และแยก "ความถูกต้องทางศีลธรรม" ออกเป็นระดับต่างๆ นับตั้งแต่ "ไม่น่าเกลียด" ไปจนถึง "น่าเกลียดสุดขั้ว" ได้
ความหวังที่สำคัญที่สุดคือ ประเด็นต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นในบทความนี้ จะกระตุ้นเตือนสติให้เราหันมาถามกันเองว่า
...ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะเรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศ มี "มาตรฐานทางศีลธรรม" ที่ดีกว่านักธุรกิจส่วนหนึ่ง ที่หาช่องทางเลี่ยงภาษีเป็นกิจวัตร?
...ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะเลิกใช้คำว่า "ใครๆ เขาก็ทำกัน" เป็นเหตุผลในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง
...ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะเรียกร้องให้ผู้ใช้อำนาจในทางมิชอบ ต้องรับโทษที่ตัวเองก่อไว้ ไม่ใช่ปล่อยคนชั่วให้ลอยนวล เหมือนที่เราปล่อยทรราชย์แทบทุกคนที่ผ่านมา?
...และถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะแสดงพลังประชาชนที่ "ตาสว่าง" พอที่จะทวงคืนอำนาจ กลับมาจากรัฐบาลที่ไร้ซึ่งความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศอีกต่อไป
ตัวย่อที่ใช้ในบทความ และอภิธานศัพท์โดยย่อ:
ตลท. = ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กลต. = คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
SHIN = บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น (จดทะเบียนในตลท.)
ADVANC = บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (จดทะเบียนในตลท.)
ITV = บมจ. ไอทีวี (จดทะเบียนในตลท.)
SATTEL = บมจ. ชินแซทเทลไลท์ (จดทะเบียนในตลท.)
CSL = บมจ. ซีเอส ล๊อกซอินโฟ (จดทะเบียนในตลท.)
Temasek = Temasek Holdings บริษัทโฮลดิ้งของรัฐบาลสิงคโปร์
บริษัทโฮลดิ้ง = บริษัทที่มีนโยบายลงทุนในบริษัทอื่นเท่านั้น ไม่ประกอบธุรกิจใดๆ ด้วยตัวเอง
นอมินี = บริษัทที่ทำหน้าที่ "ถือหุ้น" และ "เล่นหุ้น" แทนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เทคโอเวอร์ = takeover คือการเข้าครอบงำกิจการ เช่น โดยการซื้อหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่
เทนเดอร์ = ย่อมาจาก tender offer คือคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลท. ที่บริษัทผู้
ซื้อยื่นต่อผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทผู้ขาย
ตารางสรุปข้อวิจารณ์ในประเด็นต่างๆ (picture1)
โครงสร้างดีล SHIN ก่อนวันที่ 20 มกราคม 2549 กลุ่ม SHIN มีโครงสร้างดังนี้: (picture2)
(สีฟ้าคือบริษัทในการควบคุมของ
Temasek เส้นประแสดงการถือหุ้นทางอ้อม ตัวเอนคือบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลท.)
จากแผนผังข้างต้นจะเห็นว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาของ SHIN ที่ขายหุ้นให้กับ Temasek นั้น ถือหุ้นรวมกันเพียง 38.63% เท่านั้น ก่อนวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา
อีก 10.98% เป็นหุ้นที่ถือโดย Ample Rich Investments บริษัทที่จัดตั้งโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (British Virgin Islands หรือเรียกย่อๆ ว่า BVI) ที่ซึ่งนักธุรกิจทั่วโลกรู้จักคุ้นเคยดีว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน และเลี่ยงภาษีชั้นเยี่ยม เพราะประเทศเล็กๆ นี้ไม่บังคับให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการ และไม่มีการตรวจสอบงบการเงิน
และก็บังเอิญเป็นประเทศเดี่ยวกับที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พูดถึงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ว่าเป็นแหล่งจดทะเบียนของพวก "ไม่รักชาติ" พอดี:
"เมื่อวานผมดูข่าวจาก CNN ทราบว่าขณะนี้สภาของสหรัฐกำลังแก้ไขกฎหมายใหม่ ทั้งนี้เพราะบริษัทต่างๆ ไม่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ แต่ไปจดทะเบียนในประเทศอื่นๆ เช่น ในปานามาบ้าง หรือที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ไม่รักชาติ เพราะถือว่าเป็นการเลี่ยงภาษี..."
รายงานประจำปี 2547 ของ SHIN ระบุว่า Ample Rich เป็นบุคคลในกลุ่มเดียวกับชินวัตร-ดามาพงศ์ แต่ก็ไม่เคยปรากฏต่อใคร แม้แต่ในระบบของกลต. เอง ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ขายหุ้นในบริษัทนี้เมื่อปี 2543 ให้กับใคร จนกระทั่ง ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร ทนายของครอบครัวชินวัตร ชี้แจงในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ผ่านมาว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ขายหุ้นทั้งหมดที่ตนถือในบริษัทนี้ คือทั้ง 100% ไปให้ลูกชาย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ต่อมาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2548 Ample Rich ได้เพิ่มทุน 20% ให้กับน.ส. พินทองทา ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของนายพานทองแท้ลดลงเหลือ 80% จวบจนวันที่ 20 มกราคม 2549 วันที่ Ample Rich ขายหุ้น SHIN ทั้งหมดที่ตนถือ ไปให้น.ส. พินทองทา และนายพานทองแท้ ในราคา 1 บาทต่อหุ้น ไป "ขายต่อ" ให้กับ Temasek ในราคา 49.25 บาทต่อหุ้น
หลังวันที่
23 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นวันลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น และกลุ่มผู้ขายและ SHIN
แจ้งตลท. เรื่องดีลนี้เป็นครั้งแรก
กลุ่ม SHIN มีโครงสร้างใหม่ดังนี้: (picture3)
(สีฟ้าคือบริษัทในการควบคุมของ Temasek เส้นประแสดงการถือหุ้นทางอ้อม ตัวเอนคือบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลท.)
จะเห็นจากแผนผังข้างต้นว่า บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด อยู่ในความควบคุมของ Temasek ทั้งๆ ที่คนไทย 2 คนถือหุ้นรวมกันเกินกึ่งหนึ่ง คือ 51% ซึ่งเป็นผลให้ Cedar Holdings ซึ่งบริษัทกุหลาบแก้วถือหุ้นอยู่ 41.1% นั้น กลายเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ Temasek ไปด้วย อ่านคำอธิบายโครงสร้างสิทธิออกเสียงของหุ้น ที่ทำให้กุหลาบแก้วเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย แต่มี "หัวใจ" เป็นสิงคโปร์ ได้ในคำตอบประเด็นข้อที่ 3) ของบทความนี้
คลิกไปอ่านต่อในเรื่องเกี่ยวกับ
บทวิเคราะห์
20 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป
(826)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
Ample Rich Investments บริษัทที่จัดตั้งโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (British Virgin Islands หรือเรียกย่อๆ ว่า BVI) ที่ซึ่งนักธุรกิจทั่วโลกรู้จักคุ้นเคยดีว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน และเลี่ยงภาษีชั้นเยี่ยม เพราะประเทศเล็กๆ นี้ไม่บังคับให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการ และไม่มีการตรวจสอบงบการเงิน และก็บังเอิญเป็นประเทศเดียวกับที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พูดถึงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ว่าเป็นแหล่งจดทะเบียนของพวก "ไม่รักชาติ" พอดี: "เมื่อวานผมดูข่าวจาก CNN ทราบว่าขณะนี้สภาของสหรัฐกำลังแก้ไขกฎหมายใหม่ ทั้งนี้เพราะบริษัทต่างๆ ไม่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ แต่ไปจดทะเบียนในประเทศอื่นๆ เช่น ในปานามาบ้าง หรือที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ไม่รักชาติ เพราะถือว่าเป็นการเลี่ยงภาษี..."