นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University


แต่ละย่างก้าวคือชีวิตของป่าและชุมชน
แถลงการณ์ธรรมยาตรา และจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน
เรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลธรรมยาตรา

หมายเหตุ
หน้าเว็ปเพจนี้เป็นการนำเสนอแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึก รวมทั้งสาระอื่นๆที่เกี่ยวข้องรายวัน
ซึ่งส่งมาโดยพันธมิตรภาคประชาชน ธรรมยาตรา-การเดินเพื่อฟื้นชีวิตผืนป่าและชุมชน
ข้อความทั้งหมดนี้ อนุญาตให้เผยแพร่ได้บนสื่อทุกชนิด

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 772
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๘



แถลงการณ์ธรรมยาตรา และ
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี



แถลงการณ์ฉบับที่ ๑
ขอสนับสนุนรัฐบาลและรัฐสภา
ให้ยืนยันร่างกฎหมายพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร


ประชาชนตัวแทนชุมชนผู้คุ้มครองรักษาป่าต้นน้ำลำธารหลายสิบล้านไร่ทั่วประเทศ ได้เดินทางด้วยเท้าจากเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๘ เป็นเวลา ๓๗ วัน ระยะทาง ๙๐๐ กิโลเมตร มาที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้กำลังใจ ฯ พณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๕ ว่า

"รัฐบาลยืนยันจะผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าจะมีการปฏิบัติได้…" และมาที่รัฐสภาเพื่อให้กำลังใจแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติ ด้วยการยืนยันสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ อีกครั้งหนึ่ง

เหตุผลสำคัญที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลและรัฐสภายืนยันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วในสมัยประชุมนี้ เพราะ

๑) ป่าต้นน้ำลำธารถูกทำลายลงไปปีละไม่น้อยกว่า ๕ แสนไร่ด้วยกลไกการรักษาป่าของหน่วยงานภาครัฐแต่เพียงลำพังในปัจจุบัน การสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตการอยู่กับป่ารักษาป่าอย่างพอเพียงในรูปแบบป่าชุมชนเท่านั้น จึงจะช่วยให้ป่าต้นน้ำลำธารของชาติอยู่รอด

๒) การพิจารณาแก้ไขกฎหมายในรัฐสภา ผิดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพราะไปแก้ไขสาระสำคัญ ซึ่งขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติ และไม่เป็นธรรมเพราะไม่มีตัวแทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๕๒๙๖๘ รายชื่อซึ่งเป็นเจ้าของร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ป่าชุมชนเข้าร่วมพิจารณา

๓) การที่กรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาแก้ไขหลักการสำคัญแห่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน เป็นการละเมิดเจตนารมย์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๖ ที่สนับสนุนให้ชุมชนห้องถิ่นอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้ง ๗๖ จังหวัด มาร่วมมือกันป้องกันรักษาป่าต้นน้ำและทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของชาติ ไม่ให้ถูกอิทธิพลทำลาย ด้วยการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๕๒๙๖๘ รายชื่อ
และเครือข่ายองค์กรพันธมิตรสนับสนุนพระราชบัญญัติป่าชุมชน ๙ ธันวาคม ๒๕๔๘

แถลงการณ์ฉบับที่ ๒
ขอให้รัฐบาลยืนยันร่างกฎหมายพระราชบัญญัติป่าชุมชน
ฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร


ขณะที่ขบวนธรรมยาตราของประชาชนตัวแทนชุมชนผู้คุ้มครองรักษาป่าต้นน้ำลำธารหลายสิบล้านไร่ทั่วประเทศ ได้เดินทางด้วยเท้าจากขุนเขาจุดกำเนิดต้นน้ำเจ้าพระยามากว่า ๘๐๐ กิโลเมตรใกล้ถึงรัฐสภาเข้ามาทุกขณะ แต่ข้อเรียกร้องภาคประชาชนที่ขอให้รัฐบาลสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญและของประชาชน ผู้ดูแลรักษาป่ายังไม่ได้รับการตอบสนอง เหลือเวลาอีกเพียง ๑ สัปดาห์ก็จะปิดการประชุมสมัยสามัญ เพื่อพิจารณากฎหมายของรัฐสภา แต่รัฐบาลยังคงนิ่งเฉยมิได้ส่งสัญญาณหรือแสดงท่าทีขานรับต่อข้อเรียกร้องของประชาชนแต่อย่างใด

การนิ่งเฉยของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นถึงการจงใจที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๖ ในการให้สิทธิชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ป่าอย่างสมดุลยั่งยืน และนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้มีกฎหมายป่าชุมชน ตลอดจนคำมั่นสัญญาของฯ พณฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ไว้กับประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๕ ว่า "รัฐบาลยืนยันจะผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าจะมีการปฏิบัติได้…"

ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้รับผิดชอบในฝ่ายรัฐบาล ถูกครอบงำด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอกุศลจิตต่อชุมชนในป่า ไม่คิดสนับสนุนให้ชุมชนคนดีๆที่รักษาป่ามาแล้วได้รักษาต่อไป แต่กลับไปให้ความสำคัญกับการนำป่า และระบบนิเวศที่เป็นต้นน้ำลำธารสำคัญมาจัดการเชิงพานิช เช่นไนท์ซาฟารี รวมทั้งจะนำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาส่งเสริมการท่องเที่ยว บนฐานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของชุมชน โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม

จึงขอเรียกต้องให้ ฯ พณฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงจุดยืนในฐานะหัวหน้ารัฐบาลให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าจะ

๑) นำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนเข้าพิจารณาในวันที่ ๑๔ - ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ เพื่อให้ทันสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยนี้
๒) ลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับคณะกรรมาธิการร่วมกัน
๓) ยืนยันร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร

เครือข่ายประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๕๒๙๖๘ รายชื่อ
ผู้เสนอร่าง พรบ.ป่าชุมชน และเครือข่ายองค์กรพันธมิตรสนับสนุนพระราชบัญญัติป่าชุมชน ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๘


จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

ที่ พิเศษ/๒๕๔๘ เครือข่ายป่าชุมชน
๔๐๙ ซ.โรหิตสุข ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ
ห้วยขวาง กรุงเทพฯ๑๐๓๒๐
วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๘

เรื่อง ขอให้เร่งรัดผลักดัน(ร่าง)พ.ร.บ.ป่าชุมชนเข้าสู่สภาและให้การสนับสนุน(ร่าง)พ.ร.บ.ป่าชุมชน
ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร)
อ้างถึง หนังสือที่ พิเศษ/๒๕๔๘ เรื่องขอให้สั่งการผู้รับผิดชอบเร่งรัดผลักดัน (ร่าง)พ.ร.บ.ป่าชุมชน

ตามหนังสือที่อ้างถึง เครือข่ายป่าชุมชนและองค์กรภาคประชาชนสนับสนุนป่าชุมชนได้ขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเร่งรัดผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน นั้น เครือข่ายฯ ได้เฝ้าติดตามการพิจารณาร่าง พรบ.ป่าชุมชนอย่างใกล้ชิดตลอดมา ด้วยตระหนักว่าความอยู่รอดและความมั่นคงของป่าและฐานทรัพยากรธรรมชาติคือความมั่นคงของชาติ จึงได้รณรงค์เพื่อการรักษาป่ามาอย่างต่อเนื่อง


แต่เครือข่ายฯ ต้องขอเรียนว่า การรักษาป่าด้วยพลังชุมชนแต่เพียงลำพัง เริ่มมาถึงทางตันเนื่องจากไม่สามารถต้านอิทธิพลนอกกฎหมายได้ ตัวอย่างล่าสุด นายสมยงค์ อุ่นแก้ว ผู้นำเครือข่ายป่าชุมชนน้ำหนาวกว่า ๑๕๐๐๐ ไร่ได้ขัดขวางการจับจองถางป่าขายให้นายทุนทำรีสอร์ท เพิ่งถูกยิงตายเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ศกนี้จากผู้มีอิทธิพลทั้งมีสีและไม่มีสี

ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้วนายสุพล ศิริจันทร์ผู้ใหญ่บ้านผู้นำเครือข่ายลุ่มน้ำแม่มอก รักษาป่ากว่า ๑๐๐๐๐ ไร่ก็ถูกยิงตายเมื่อ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ จากผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และจนทุกวันนี้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองยังไม่สามารถจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้ ชาวบ้านเสียขวัญกำลังใจเป็นอย่างมาก แนวโน้มป่าถูกทำลายจึงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพของกลไกและเจ้าหน้าที่รัฐและการขาดกฎหมายรองรับการรักษาป่าของชุมชน

แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนของคณะกรรมาธิการร่วมกันมีปัญหาในเชิงหลักการและสาระสำคัญหลายประการ เครือข่ายป่าชุมชนจึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ผ่านการพิจารณาจากกรรมาธิการร่วมกัน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑) ขาดการมีส่วนร่วม
คณะกรรมาธิการร่วมกันประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและข้าราชการประจำ ซึ่งมีส่วนได้เสียในผลประโยชน์ของหน่วยงานตนเองมาเป็นกรรมาธิการ โดยไม่มีตัวแทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๕๒๙๖๘ รายชื่อผู้เสนอกฎหมายเข้าร่วมพิจารณาด้วย ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เสนอกฎหมาย

๒) ขัดหลักการแห่งพระราชบัญญัติ

๒.๑) การพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน ได้เสนอให้รัฐกำหนดพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ และกันออกไม่อนุญาตให้ชุมชนขออนุญาตจัดตั้งป่าชุมชน จึงขัดหลักการสำคัญแห่งพระราชบัญญัติที่กำหนดไว้ในหลักการเหตุผลว่า "..สมควรส่งเสริมให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูและพัฒนาสภาวะแวดล้อม โดยให้ราษฎรรวมตัวกันเพื่อจัดการดูแลรักษาและใช้ทรัพยากรป่าด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ราษฎรมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของทรัพยากรป่า อันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการช่วยรักษาระบบนิเวศธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม ลดการทำลายป่า และเป็นการฟื้นฟูสภาพป่า"

๒.๒) การพิจารณาพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์อยู่ในดุลพินิจอยู่กับข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมือง โดยหลักการเมื่อชุมชนขอจัดตั้งป่าชุมชน จะต้องเสนอแผนจัดการป่าชุมชนโดยจะต้องกำหนดบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ หรือการใช้สอยให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ และวัตถุประสงค์ของป่าชุมชน ซึ่งเป็นการกำหนดร่วมกันของสมาชิกในชุมชน และเมื่อยื่นขอจัดตั้งป่าชุมชนจะมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และพิจารณาโดยคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับชาติ ในกระบวนการป่าชุมชนตามร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรจึงมีพื้นที่อนุรักษ์เกิดขึ้นจาก ๒ แนวทาง

แนวทางแรก คือ พื้นที่อนุรักษ์ในส่วนพื้นที่ป่าที่ชุมชนไม่ได้ดูแลรักษาใช้ประโยชน์มาก่อน และปัจจุบันก็มีกฎหมายป่าอนุรักษ์คุ้มครองอยู่แล้ว และ

แนวทางที่สอง
พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ในเขตป่าชุมชน ซึ่งจะมีการคุ้มครองโดยกฎหมายป่าชุมชนและกฎหมายป่าอนุรักษ์เดิมคุ้มครองอีกชั้น การให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมากำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษไว้ก่อน และห้ามไม่ให้ขอจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ จึงเป็นการพิจารณากำหนดพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในดุลพินิจอยู่กับข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองเท่านั้น ผลกระทบคือจะไปประกาศทับกับพื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลรักษาอยู่แล้ว เท่ากับเป็นการลงโทษชุมชนที่รักษาป่าดีอยู่แล้ว จึงขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติ

เครือข่ายฯ ขอเรียนว่าการเร่งรัดสนับสนุนให้ออกกฎหมายป่าชุมชนตามเจตนารมย์ของประชาชนโดยเร็วเท่านั้น จึงจะช่วยให้ป่าพ้นจากการถูกทำลายและชุมชนอยู่รอดพึ่งตนเองได้ จึงขอเสนอให้ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาดังนี้
๑) ขอให้นำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนเข้าพิจารณาในวันที่ ๑๔ - ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ เพื่อให้ทันสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยนี้ หากนำเข้าไม่ทันขอให้เสนอให้เปิดประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณากฎหมายป่าชุมชนเป็นกรณีพิเศษ หรือให้หลักประกันกับประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลจะนำร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน บรรจุเข้าวาระการประชุมเป็นอันดับแรกๆ

๒) ลงมติยืนยันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ เพื่อให้เป็นไปตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้รับปากประชาชนไว้เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๕ ว่า "รัฐบาลยืนยันจะผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าจะมีการปฏิบัติได้…"

๓) ส่งตัวแทนรัฐบาลที่ตัดสินใจได้ มาเจรจากับเครือข่ายป่าชุมชนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขบวนธรรมยาตราของประชาชนมารวมตัวกันอยู่ที่หน้ารัฐสภา

เครือข่ายประชาชนผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนและเครือข่ายองค์กรพันธมิตรหวังว่า ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นของประชาชนนี้ จะได้รับการพิจารณาดูแลจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติเป็นอย่างดี

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
เครือข่ายประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๕๒๙๖๘ รายชื่อ
ผู้เสนอร่าง พรบ.ป่าชุมชน และเครือข่ายองค์กรพันธมิตรสนับสนุนพระราชบัญญัติป่าชุมชน


 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี