นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร


The Midnight University

แต่ละย่างก้าวคือชีวิตของป่าและชุมชน
ธรรมยาตรา : ก้าวย่างเพื่อชีวิตผืนป่า
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน
เรียบเรียงจากแหล่งข้อมูล ๓ องค์กร

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้เป็นบทรายงาน ข้อเขียน และการสัมภาษณ์
เกี่ยวกับธรรมยาตราของเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ
ประกอบด้วย
๑. โครงการธรรมชาติยาตราเพื่อ ป่าชุมชนของคนทั้งประเทศ
๒. ส.ศิวรักษ์ นำทัพธรรมยาตราเครือข่ายป่าเหนือเข้ากรุง
๓. วิถีชีวิตผมทำให้ผมต้องมาเดิน : บทสัมภาษณ์ พฤ โอ่โดเชา


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 770
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12.5 หน้ากระดาษ A4)




Walk for life 2005

ธรรมยาตราเพื่อชีวิตผืนป่า

1. โครงการธรรมชาติยาตราเพื่อ ป่าชุมชนของคนทั้งประเทศ
สืบเนื่องจากเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ เครือข่ายป่าชุมชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 52,698 คน ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ในการเข้าชื่อ เสนอร่างพรบ. ป่าชุมชน ฉบับประชาชน ต่อประธานรัฐสภา ซึ่งต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารับหลักการร่างพรบ. ป่าชุมชน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 และผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนนเสียง 341 เสียง โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งร่าง พรบ.ดังกล่าวให้วุฒิสภาพิจารณาตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 พตท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นเวที ปราศรัยที่ หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ยืนยันว่า จะดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงทั้ง 6 ข้อ ที่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลคือนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้ทำไว้กับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ต่อหน้าสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนนับหมื่นคนมีความตอนหนึ่งว่า

"รัฐบาลยืนยันและให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร จนกว่าจะมีผลบังคับใช้ "

วุฒิสภาได้พิจารณาร่างพรบ. ป่าชุมชน จนแล้วเสร็จในวันที่ 15 มีนาคม 2545 และมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขในสาระสำคัญ คือ"ห้ามมิให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์" และส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างพรบ. ป่าชุมชน ของวุฒิสภาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภาจำนวน 24 คน เพื่อหาข้อยุติในประเด็น การขอจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่สองสภามีความเห็นไม่ตรงกันก่อนนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้ง

คณะกรรมาธิการร่วมฯ ฝ่ายวุฒิสภาได้เสนอให้เพิ่มเติมเรื่องการประกาศ "เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ไว้ในร่างกฎหมายป่าชุมชนในการประชุมครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ทั้งที่ได้มีกรรมาธิการหลายท่านได้แสดงความเห็นว่า การเพิ่มเติมเรื่องดังกล่าวไว้ในร่างกฎหมาย ไม่น่าจะอยู่ในอำนาจที่คณะกรรมาธิการร่วมจะกระทำได้ เนื่องจากการแก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหาในประเด็นดังกล่าว จะกระทบต่อหลักการและเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายที่ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

นอกจากนี้ยังขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกด้วย แต่ในที่สุดกรรมาธิการเสียงข้างมากก็อาศัยความได้เปรียบเสนอให้มีการโหวต และปรากฏว่า มีผู้โหวตเห็นด้วยให้เพิ่มหลักการเรื่องป่าอนุรักษ์พิเศษไว้ในกฎหมายป่าชุมชนด้วยคะแนน 11 ต่อ 4 เสียง โดยที่คณะกรรมาธิการที่เห็นด้วยยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า"เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" มีหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นอย่างไร

จากการติดตามผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนอย่างใกล้ชิด ในนามของชุมชนที่รักษาป่าทั่วประเทศและในฐานะผู้เสนอกฎหมาย และในภาวะที่กระบวนการออกกฎหมายตามระบบรัฐสภาไทย ยังไม่สามารถกระทำได้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กระบวนการการเมืองนอกระบบรัฐสภาจึงเป็นสิ่งจำเป็นของภาคประชาชน เพื่อเป็นการแสดงความคิดเห็น ความต้องการของประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบตาม(ร่าง)พระราชบัญญัติฯดังกล่าวต่อฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นการบอกกล่าวต่อสาธารณะให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงความจำเป็นดังกล่าว

การจัดกิจกรรม ธรรมชาติยาตราฯ เป็นการแสดงออกของภาคประชาชนที่ต้องการบอกกล่าวต่อสาธารณะตามวิธีการสันติ เพื่อยืนยันการพิทักษ์รักษาทรัพยากร และอยู่ร่วมกับทรัพยากรอย่างเกื้อกูลกันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้ว่ากติกาหรือกฎหมายจะไม่เอื้ออำนวยให้ก็ตาม

ระยะเวลาในการดำเนินงาน
ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน - 15 ธันวาคม พ.ศ.2548

(ข้อมูลจาก http://www.thaiknowledge.org/board/board-show.php?brd_id=14&bdt_id=553
webmaster วิทยาลัยการจัดการทางสังคม)

2. ส.ศิวรักษ์ นำทัพธรรมยาตราเครือข่ายป่าเหนือเข้ากรุง
ส.ศิวรักษ์ นำทัพธรรมยาตราเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ เดินเท้าจากเชียงดาว เข้ากรุงเทพฯ เพื่อยันยันเจตนารมณ์ของ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เดิม โดยคัดค้าน และไม่เห็นด้วยที่ กมธ.ร่วม 2 สภา เสนอให้เพิ่มเติมมาตราเกี่ยวกับการประกาศ ' เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ' ที่เอื้อต่อการใช้อำนาจรัฐ และเป็นเครื่องมือในการประกาศเขตป่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหนัก

จากกรณี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 48 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ได้ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน โดยมีการเพิ่มเติม ' เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ' เข้าไปในภายหลัง หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการร่วมจึงมีมติ 11 ต่อ 4 ให้เพิ่มเติมเขตอนุรักษ์พิเศษ ซึ่งมีผลเป็นการไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตนี้ได้
ทั้งนี้ การนิยามเขตอนุรักษ์พิเศษว่า เป็นเขตพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ที่รัฐมนตรีประกาศโดยการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีลักษณะคือ

1. พื้นที่ต้นน้ำลำธารที่มีสภาพป่าสมบูรณ์
2. พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
3. พื้นที่ที่มีความเปราะบางทางกายภาพและชีวภาพ หรือแหล่งศึกษาธรรมชาติ
4. พื้นที่ที่มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ เช่น มีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์

ซึ่งหลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการเพิ่มเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษเข้าไปในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ด้วยนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศอยู่ 81 ล้านไร่ เป็นป่าต้นน้ำ ซึ่งตรงตามตามนิยามเขตอนุรักษ์พิเศษถึง 72 ล้านไร่ และส่วนใหญ่ชาวบ้านก็ดูแลพื้นที่เหล่านี้ในฐานะป่าชุมชนกันมานาน


ล่าสุด เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือประมาณ 1,000 คน ได้มีการรวมตัวกัน ที่บริเวณลานกิจกรรมริมฝั่งแม่น้ำปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ร่วมเดินธรรมยาตรา เดินเท้าจากเชียงดาว เข้ากรุงเทพฯ เพื่อยันยันเจตนารมณ์ของ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เดิม โดยมี ส.ศิวรักษ์ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเดิน ไม่เห็นด้วยที่ กมธ.ร่วม 2 สภา เสนอ

- นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม กล่าวว่า…
"วันนี้ถือว่าเป็นวันสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องที่อยู่
ณ ที่นี้ แต่มีความสำคัญกับพี่น้องทั้งประเทศ การที่จะเดินจากเชียงดาวไปถึงกรุงเทพฯนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ
จริงอยู่อาจจะมีพี่น้องจำนวนน้อยที่เดินตลอด หรืออาจจะมีพี่น้องมาคอยให้กำลังใจ และร่วมเดินเป็นช่วงๆ
แต่ถึงกระนั้นก็ถือว่าสำคัญมากเช่นกัน

การงานทุกอย่างจะสำเร็จได้ ประกอบไปด้วย องค์ 4 ประการ ต้องมี ฉันทะ รักในสิ่งที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องท่านทั้งหลาย ต้องถือว่าเป็นคนที่มีฉันทะที่มาร่วมกันในวันนี้ โดยเฉพาะการที่เดินไปกรุงเทพฯ เป็นฉันทะที่สำคัญที่สุด
นอกจากนี้ประกอบไปด้วย วิริยะ คือ ความเพียร เก่งกล้า ตั้งใจเต็มที่ ที่เรียกว่า จิตติ มีความรักที่จะทำ
มีความเพียรที่จะทำ มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทำ และวิมังสา หาเหตุที่จะทำให้ถูกต้องดีงามให้ได้ชัยชนะในที่สุดที่สำคัญ อย่าลืมว่าบ้านเมืองเป็นของราษฎร เป็นของพวกเรา แต่ถูกแย่งชิงไป ถูกยื้อแย่งเอาไป ด้วยนายทุน ด้วยขุนศึก ตอนนี้ขุนศึกนั้นมีอำนาจลดน้อยลงไปแล้ว" นายสุลักษณ์ กล่าว

- นายสุลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า…
"นายทุนในห้วงเวลานี้ ถือว่าเป็นสุนัขรับใช้บริษัทข้ามชาติ รับใช้จักวรรดินิยมอเมริกา ดังนั้น โอกาสนี้เป็นโอกาสสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้แล้ว มันจะพังเร็วๆ นี้ เพราะมันไม่ฟังด้วยกระบวนการรัฐสภา แม้กระทั่งไม่ยอมรับฟังองค์กรต่างๆ ไม่ว่าองค์กรสิทธิมนุษยชน ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง แต่มันจะแพ้ภัยตัวเองอยู่ประเด็นเดียว คือเมื่อราษฎรตื่นตัวขึ้นมา โดยเอาธรรมะมาเป็นพื้นฐาน ต่อสู้โดยหลักอิทธิบาท 4 โดยสันติวิธี"

- ด้านนายสุรสีห์ โกศลนาวิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า...
"ถือว่าการเดินธรรมยาตราในครั้งนี้ เป็นการรวมพลของภาคประชาชนครั้งใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่แสดงพลังประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะที่ผ่านมา เราใช้รัฐธรรมนูญเพียงแค่ตัวหนังสือ ไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในนามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จึงขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวบ้านที่เดินธรรมยาตราในครั้งนี้
รวมทั้งประชาชนที่ไม่ได้ร่วมเดิน แต่มีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน ได้บรรลุตาม
เจตนารมณ์เดิม"

- ด้าน นายต่าแยะ ยอดฉัตรวิบูลย์ ตัวแทนชาวบ้าน จาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า...
"ธรรมชาติยาตราเป็นการลงมนต์ในป่าชุมชน และให้ชุมชนรับรู้ว่าคนอยู่กับป่า เคยดูแลป่ามาหลายชั่วอายุคน ซึ่งบางคนนั้นยังไม่ยอมรับในเรื่องของคนอยู่กับป่า เพราะคิดว่า การอยู่กับป่าของคนนั้นไม่ได้รักษาป่า และทำลายป่า แต่การเดินธรรมชาติยาตราในครั้งนี้นั้น เพื่อต้องการให้คนรับรู้ว่า เราจะอยู่กับป่าและพร้อมที่จะดูแลรักษาป่า การเดินครั้งนี้ตนมาด้วยความจริงใจและมาด้วยใจศรัทธา และจะเดินไปให้ถึงกรุงเทพฯ ซึ่งตนคาดหวังว่า จะได้ป่าชุมชนฉบับประชาชน อีกอย่างหนึ่งอยากให้สังคมรับรู้ในเรื่องของป่าไม้ด้วยว่า สำคัญมากเพียงใด"

- นายสำรวย เรืองใส ชาวบ้านจาก อ.เถิน จ.ลำปาง กล่าวว่า
"ต้องการยืนยันเจตนารมณ์ในการร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน จึงได้มาร่วมเดินธรรมยาตราในครั้งนี้ และคิดว่าพร้อมจะเดินไปให้ถึงกรุงเทพฯ จนกว่าจะไม่ไหว ก็จะให้คนอื่นมาเปลี่ยนแทน"

- นายกลาง ศิริ ชาวบ้านจาก อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
ในขณะที่ นายกลาง ศิริ ซึ่งเป็นเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร อ.ดอยสะเก็ด กล่าวว่า "การเดินธรรมยาตราครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการสื่อให้สังคมรู้ว่า จริงๆ แล้ว คนอยู่ร่วมกับป่าชุมชนได้ ไม่ใช่ตัวปัญหา ต้องการยืนยันจะเอา พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน. อย่างไรก็ตาม หาก ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ไม่ผ่านสภา ชาวบ้านทุกคนก็ยังย้ำที่จะร่วมกันทำป่าชุมชนต่อไป"

ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ จำนวน 99 คนประกาศยืนยันที่จะเดินเท้าตั้งแต่ อ.เชียงดาว ไปจนถึงกรุงเทพฯ เป็นแกนนำหลัก นอกจากนั้น ยังมีประชาชนในเขตภาคเหนืออีกเกือบ 1,000 คนได้ทยอยกัน
เข้ามาร่วมเดินธรรมยาตรากันอย่างต่อเนื่อง โดยยึดการเดินทางในวันที่ 7 พ.ย.48 เพราะถือว่าเป็นวันที่สภาฯ
ได้เคยรับพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง 341 เสียง

รายงานแจ้งว่า ผู้เข้าร่วมเดินขบวน จะเป็นชาวบ้านพื้นราบและชาวไทยภูเขา อายุตั้งแต่ 15 - 85 ปี โดยเคลื่อน
ขบวนจากลานกิจกรรมริมฝั่งแม่น้ำปิง

(ข้อมูลจาก http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1502&
SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai
เขียนโดย : องอาจ เดชา) [มีการปรับปรุงข้อมูลเล็กน้อยเพื่อความเหมาะสมกับช่วงเวลาที่เผยแพร่โดย บก. ม.เที่ยงคืน]

3. วิถีชีวิตผมทำให้ผมต้องมาเดิน : บทสัมภาษณ์ พฤ โอ่โดเชา
ธรรมชาติยาตราของคนอยู่ป่าเริ่มต้นที่เชียงดาวเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 48 ผ่านไป 10 วัน ขบวนชาวบ้านเดินทางมาถึงจังหวัดลำปาง …อีกหลายร้อยกิโลกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่กรุงเทพฯ

หากมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น คำว่า "ป่าชุมชน" เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมไทยตั้งแต่ปี 2533 เมื่อชาวบ้าน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร นับถึงวันนี้ กฎหมายฉบับแรกที่เสนอโดยประชาชน ใช้เวลาเดินทางยาวนานถึง 15 ปี ยังไม่ถึงจุดหมาย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 คณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ได้ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน กันอีกครั้ง และมีการเพิ่มเติม 'เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ' ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ พี่น้องในเครือข่ายป่าชุมชนต่างรู้สึกว่า การต่อสู้เพื่อผลักดันให้รัฐรับรองสิทธิของคนอยู่ป่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาถูกทำให้สูญเปล่า เพียงเพราะวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นใหม่นี้ การเดินภาวนาเพื่อเผยแพร่ความเข้าใจเรื่องป่าชุมชนและยืนยันเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่เคยผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2544 ด้วยคะแนนโหวตที่สูงถึง 341 เสียง จึงเกิดขึ้น

ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เส้น ลำปาง - เถิน ขณะที่ขบวนธรรมชาติยาตราหยุดพัก เราได้ไปนั่งคุยกับพฤ โอ่โดเชา ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นของพะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ปกากะญอผู้ชี้ให้สังคมไทยเข้าใจภูมิปัญญาเรื่องระบบนิเวศของชุมชนปกากะญอ หรือกะเหรี่ยง พฤพบเจออะไรมาบ้างตลอดเส้นทางการต่อสู้เพื่อป่าชุมชน? แล้วเส้นทางธรรมชาติยาตราที่เขากับเพื่อนร่วมเดินในวันนี้ จะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้หรือไม่?

เขาพูดว่า "พ.ร.บ.ป่าชุมชนมันไม่ใช่เฉพาะหมู่บ้านผม มันเป็นของคนทั้งประเทศไทย ทั้งประเทศไทยต้องการธรรมชาติและต้องการธรรมะ" เขากำลังบอกอะไรกับสังคมไทย?

พฤเข้าร่วมการต่อสู้เรื่องป่าชุมชนมาตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่ประมาณปี 2536 ตอนนี้อายุ 34 ก็ประมาณ 11 ปี ตั้งแต่ขบวนชาวบ้านเริ่มต่อสู้เรื่องหยุดสัมปทานป่า เรื่องป่าชุมชน แล้วก็มาบวชป่าชุมชน 50 ล้านต้น เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 50,000 รายชื่อ และคัดค้านการอพยพชาวบ้านออกจากเขตอุทยาน คัดค้านการจับกุมชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่า

การต่อสู้ที่ผ่านมากับธรรมชาติยาตราครั้งนี้แตกต่างกันอย่างไร
จริงๆ หัวใจมันก็อันเดียวกัน ครั้งก่อนเรามาชุมนุมบ้าง มายื่น 50,000 รายชื่อบ้าง เราก็ใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญ ในใจลึกๆ คือต้องการอยู่ในหมู่บ้านอยู่ในชุมชนนั่นแหละ มีป่ามีอะไรตามวิถีชีวิตของเรา ถามว่าต่างกันอย่างไรคือเมื่อก่อนเราใช้การชุมนุมเป็นกลุ่ม แต่ตอนนี้เราคิดว่าคนในเมืองเขาไม่ยอมรับคำว่าม็อบ เขาไม่ยอมรับการชุมนุม เขาไม่ชอบ แล้วมันก็เหนื่อยด้วย จริงๆ เดินอย่างนี้เหนื่อยกว่า แต่มันเหนื่อยอีกแบบหนึ่ง

ม็อบมันเหนื่อยทางใจ เพราะคนเมืองเขาจะเกลียดมากกว่า เดินแบบนี้ใจเราสบาย เราไปหมู่บ้านไหนเขาก็ถามเราได้ เขาก็ให้กำลังใจ ให้เดินไปที่ไหนก็ได้ถ้าเป็นแบบนี้ เดินอย่างนี้มันสอดคล้องกับวิถีเรา ค่อยๆ พูดค่อยๆ จากันกับคนข้างทางกับพระสงฆ์ ใช้ความจริงใจ มันเป็นนิสัยของชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ร่วมกันอยู่แล้ว

ผมไม่อยากให้คนเข้าใจว่าจริงๆ เราอยากจะม็อบอยู่ แต่ว่าคนในเมืองไม่ยอมรับเรา เราเลยมาเดินอย่างนี้ อันที่จริงเราอาจจะม็อบต่อไปก็ได้ อีกกลุ่มหนึ่งเขาก็ม็อบเขาก็เผาหุ่น ผมเห็นในทีวี ที่ผมมาเดินก็เพราะไม่มีทางเลือกด้วย ทำความเข้าใจกับคนไม่เป็น คนที่อคติกับม็อบจะมีช่องมีรั้วกั้นหนามาก แต่ถ้าเดินอย่างนี้เราใช้ความเป็นธรรมชาติของเราเดิน ใช้ความเป็นชุมชน เราเสียสละออกมาจากหมู่บ้าน แล้วก็ฝึกจิตฝึกใจอีกอย่างหนึ่ง เรียนรู้ภายในเหมือนพระด้วยอีกอย่างหนึ่ง

ครั้งนี้ทำไมเลือกใช้การเดิน การเดินจะสื่อสารอะไรได้
ขบวนพวกเราที่เดินมานี้ก็เกิดจากการที่เราค่อยๆ คุยกันไปจนรูปแบบมันเป็นอย่างนี้ เดินอย่างนี้มันใช้ความจริง เราแสดงความจริงใจได้ทางเดียว เราไม่มีวิธีการอื่นให้สาธารณะชนมาเข้าใจวิถีชีวิตเรา แล้วผู้นำอย่างพะตีจอนิ พะตีมูเสาะ พะตีต่าแยะ ก็เคยเดินป่าธรรมยาตรากับเสมสิกขาลัยมาบ้าง เดินครั้งนี้ก็อยากจะบอกคนในเมืองว่า เราขออยู่ในป่าเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่เดินนี่ก็ล่อแหลมมาก ผมเดินไปก็มีคนถามว่าจ้างมาเดินเท่าไหร่ ถ้าเขาจะเดินด้วยเขาจะให้เงินเท่าไหร่ แล้วเขาก็ถามว่าขึ้นรถด้วยไหม เดินไปๆ พอลับตาก็ขึ้นรถใช่ไหม ผมบอกว่าไม่มีคนจ้างหรอก แต่ว่าหมู่บ้านผมจ้างผมมา ไม่ใช่จ้างด้วยเงิน แต่วิถีชีวิตผมนั่นแหละทำให้ผมต้องมาเดิน คือจ้างผม เขาจ้างด้วยสิ่งที่ค่ามากกว่าเงิน วิถีชีวิตเราอยู่ในป่า มันซื้อด้วยเงินไม่ได้

เรามาเดินอย่างนี้ ไม่ถูกจ้าง ไม่มีเงิน แล้วก็มาเอง แต่ว่าในหมู่บ้านก็มีคนมาช่วยตีข้าวให้ผม ตั้งแต่ผมเดินมานี่ยังไม่เคยขึ้นรถ หลายคนไม่ยอมขึ้นรถ เรามาแต่ละที่ก็ไหว้พระมาตลอดทาง เราตั้งใจจริง หวังว่าบุญกุศลของเรา สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองเรา จะช่วยเราอีกทางหนึ่ง เราคิดว่ามันยังมีสิ่งที่เหนือกว่าเราอีกที่สามารถทำอะไรได้ สิ่งที่อยู่ในธรรมชาติจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้เสมอ หรือดลบันดาลใจได้เสมอ ชาวบ้านอย่างเราอยู่ภายใต้ภาวะธรรมชาติหรือว่าพระเจ้าหรือว่าธรรมะอยู่แล้ว

เจออะไรที่น่าประทับใจระหว่างทางบ้าง
บางคนที่เราเจอ เขาก็บอกว่าอ้อ นี่กลุ่มป่าชุมชนใช่ไหม ผมรู้แล้วอ่านหนังสือพิมพ์เจอ อย่างนี้เราก็ชื่นใจ บางคนเราเดินไปแล้วเขาเรียกเรากลับมาขอบริจาคเงิน บางคนเขาไม่มีเงิน เขามีของกินขายหน้าถนนเขาก็เอามาให้เรา โดยเฉพาะผู้เฒ่า เวลาเขาได้ยินเสียงฆ้องมาโต่งๆ เขาก็คิดว่าเป็นขบวนทำบุญอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ถามว่าเราจะไปไหน แล้วก็อวยพรให้เราโชคดีเน้อ ขอให้ประสบความสำเร็จตามความตั้งใจเน้อ ส่วนมากคนที่ไม่เข้าใจอาจจะมีสัก 2% มั้ง เรายื่นใบปลิวไป 10 คน เขาอาจจะไม่รับสัก 2 คน

บอกอะไรกับคนข้างทางที่พบเจอระหว่างการเดิน
เราใช้การเดินเพื่อไปบอกว่าธรรมชาติก็คือธรรมมะ พระพุทธเจ้าก็ได้ความรู้มาจากในป่าจากธรรมชาติ เราเดินมาแบบธรรมะ คือเอาธรรมะมาบอก พ.ร.บ.ป่าชุมชนมันไม่ใช่เฉพาะหมู่บ้านผม มันเป็นของคนทั้งประเทศไทย ทั้งประเทศไทยต้องการธรรมชาติและต้องการธรรมะ คิดว่าพวกเราอยู่กับธรรมชาติมากกว่า อาจจะมีมุมของธรรมชาติมาบอก เราอยู่ด่านแรกเวลาอะไรเกิดขึ้นเราเจอก่อน เราก็เดินมาบอกคนทั้งประเทศให้มาสนใจเรื่องธรรมชาติที่กำลังจะไม่เป็นธรรมชาติ

บางคนถามว่าชาวบ้านที่ดูแลป่าเข้มแข็งหมดไหม รู้ทั้งหมดไหม ไม่ใช่ไง เพราะว่าชาวบ้านเราอาจจะมีความรู้เรื่องป่า แต่ไม่มีความรู้เท่าทันคนข้างนอกก็มี มีพวกหนึ่งมาหลอกเรา ให้เราปลูกนั่นปลูกนี่ อาจารย์ที่เรียนสูงๆ รู้จักสารเคมีเยอะๆ มาแนะนำบ้าง หรืออาจจะเป็นพ่อค้านายทุนมาบอกว่า นี่แหละใช่ ชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่นเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาแล้วก็จะจับทันที มันไม่มีกลุ่มที่มาแบบมีความรู้ มาแบบธรรมชาติ มาแบบปัญญา มันไม่มี

สำหรับคนในเมือง 62 ล้านคน ผมก็อยากบอกว่า ป่าที่ผมดูแลก็เป็นของเขาด้วย แล้วก็เป็นของผมด้วยนะ เพราะว่าผมสร้างมาอย่างอบอุ่นและผมก็อยู่ข้างในมัน ถ้าวันหนึ่งมีคนบอกให้ผมออกจากบ้าน แล้วบอกว่าบ้านนี้เป็นของเขาทั้งหมดเลย พวกเขาไม่ให้ผมมีสิทธิที่จะอยู่ มาไล่มาจับผม ไล่ผมออกไป อย่างนี้มันก็ไม่เป็นธรรม บ้านเราเป็นตัวอย่างที่ดี เขามาดูแล้วเอาไปใช้ เราก็พร้อมที่จะให้ความรู้ หรืออาจมาบอกว่าบ้านที่อยากให้ดีกว่านี้มันเป็นอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่มาจับมาไล่เราออกไป บ้านของผมคือป่า คน 62 ล้านคนที่กังวลว่าคนที่อยู่ในนั้นจะดูแลบ้านไม่ดี อยากให้รู้ว่าบ้านเราเอง เรานอน เราอยู่ เราก็ดูแล

คิดว่าเพราะอะไรคนในเมืองจึงกลัวว่าป่าจะหมดไป
คนในเมืองเขาไม่มีป่าแล้ว เขาใช้ในหมู่บ้านในชุมชนของเขาจนหมด คนที่มือยาวก็เอาไปๆ คนที่มือสั้นก็ไม่ได้ไป คนในเมืองเขาก็เลยไม่มีป่าเหลือเลย แต่ป่าที่พระเจ้าให้มา ธรรมชาติให้มา ในหมู่บ้านผมมันยังอยู่เพราะว่าพวกผมแบ่งกันกินแบ่งกันใช้เล็กๆ น้อยๆ จัดการให้ดีมันก็ยังมีป่าอยู่ แต่เขากินจนหมด แล้วคน 62 ล้านคนในเมืองมาบอกว่า ป่าตรงนี้เขาจะมาแย่งกินอีกโดยการประกาศอุทยาน ใช้กติกากฎหมายมารีดไถ มาเอาไป มันไม่ยุติธรรม

ถ้าเขาจะเอาหน่วยงานรัฐหน่วยงานเดียวมาดูแล รัฐเองตอนนี้ก็ดูแลไม่ได้ในหลายๆ เรื่อง ดูแลไปป่าก็น้อยลงๆ เขาอ้างว่าคนในเมืองเสียภาษี ผมก็เสียภาษี แล้วผมก็ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าอยู่แล้วก็อยู่ร่วมกับป่าด้วย ป่าของเราจะถูกคนเพียงบางกลุ่มมาจัดการไม่ได้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนจะเป็นกฎหมายที่ให้คน 62 ล้านคนเข้ามามีส่วนในการจัดการด้วย ถ้าอ่านกฎหมายดู หลายๆ ฝ่ายจะเข้ามาร่วมจัดการ ก็ย่อมดีกว่าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมาผูกขาดการดูแลจัดการป่า

เรากลุ่มเล็กๆ จะมาบอกธรรมะแบบนี้ แล้วก็ขอความเห็นใจจากคนทั่วประเทศ ถ้าท่านจะมาเดินด้วยก็ได้ หรือเดินผ่านริมทางก็ไถ่ถามบ้าง ให้กำลังใจบ้าง อย่างนี้เราก็ขอบคุณ หรือว่าท่านจะมีส่วนร่วมมาช่วยดูว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไร มาทบทวน มาถกเถียงกันอีกทีหนึ่ง มาสนใจกับสิ่งที่ทุกคนหายใจ ออกซิเจนและชีวิตของเราทุกวันที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ คนที่อยู่ในตึกอาจจะคิดว่าเขาใช้ธรรมชาติน้อยกว่า แต่โรงแรมๆ หนึ่ง เขาใช้ปูนก็ต้องถล่มภูเขาไปใช้ แล้วเมื่อไหร่มันจะงอกออกมา แต่ไม้ที่เราตัด มันแตกหน่อแตกกอออกมาได้ ก็อยากให้คนที่อยู่ในคอนกรีตสนใจธรรมชาติด้วยว่า เขาก็ใช้ ผมก็ใช้

ขอให้มีกติกาที่ยุติธรรม แบ่งปันกัน เหมือนข้าวห่อหนึ่ง ทุกคนก็จะต้องได้กินเท่าๆ กัน

หวังอะไรจากการเดินธรรมชาติยาตราครั้งนี้
เดินครั้งนี้ก็หวังว่าจะได้กำลังใจจากคนในเมือง เพราะว่าคนที่อยู่ในสภาเขาแคร์คนในเมืองมากเลย พวกผมเป็นแค่คนส่วนน้อย คนที่ดูแลรักษาป่าอย่างพวกผมยังไม่มีเครื่องมือ ไม่มีกฎหมายรองรับเพื่อไปจัดการกับคนไม่ดี คนไม่ดีเขาก็จะมาหาคนที่ไม่ดีในชุมชนซึ่งมันก็มีไง ถ้ามีกฎหมายแล้วพลังดีๆ พลังธรรมะก็จะจัดการกับคนไม่ดีได้

ผมเดินครั้งนี้ก็พยายามกลับมาดูภายในตัวเองเหมือนกันว่า ที่เราเดิน เราเดินเพื่ออะไร เราไม่ใช่เดินเพื่อ
อยากเท่ห์หรืออยากดัง แต่เราเดินเพราะว่ามันเป็นชีวิตของเราทุกคน ลมหายใจก็ใช่ ผมเผ้าก็ใช่ อาบน้ำ ตื่นขึ้นมาแปรงฟันก็ใช่ กินนู่นกินนี่ก็ใช่ หุงข้าวก็ใช่ ที่ทำกินก็ใช่ ความรู้ที่อยู่ในป่าก็ใช่ ความรู้ที่ออกมาเรียนรู้กับคนในเมืองสองข้างทางก็ใช่ ผมก็จะเดินไปแล้วก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ

ถ้าไม่มีกฎหมายป่าชุมชนจะเป็นยังไง
ถ้าไม่มีกฎหมาย คนที่อยู่ในป่าก็จะถูกจับกุม มันลำบากแล้วก็มันทุกข์ คน 1 ล้านคนนี้ไม่มีเครื่องมืออะไรไปต่อสู้กับคนที่จะมาทำลายป่าเลย ป่าที่คน 1 ล้านคนดูแลอยู่ก็จะถูกปู้ยี่ปู้ยำ ถูกทำลายและถูกแปรเป็นวัตถุ จริงๆ แล้วธรรมะธรรมชาติมันซื้อด้วยเงินไม่ได้ มันคิดค่าเป็นเงินไมได้ อย่างหน่อไม้ 1 ต้นอายุประมาณ 80 ปี แตกหน่อแตกกอขยายพันธุ์ ผมอยากจะบอกว่าธรรมชาติมันมีค่ามาก

ทุกวันนี้คนมองป่าเป็นเรื่องท่องเที่ยว แต่ไม่ได้เห็นคุณค่าของป่าที่ให้ชีวิตพวกเรา มองข้ามรายละเอียดที่ลึกซึ้ง ถ้ามีกฎหมาย เราก็จะมีเครื่องมือช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศ ช่วยเหลือโลกในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติได้ ตอนนี้เราอยู่ในสภาพที่เป็นจำเลยทางสังคม แล้วก็ต้องต่อสู้กับคนไม่ดีในสังคมที่มาหลอกมาล่อเราอีก จริงๆ แล้วสังคมไทยมีปัญญาไหม ผมเชื่อว่ามีปัญญามากมายที่จะทำให้ชาวบ้านมีชีวิต มีความสุข และมีทางเลือกที่เป็นมิตรกับป่าได้ มีชุมชนตัวอย่างมากมายที่สร้างทางเลือก ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนายทุน

คนในเมืองจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนได้อย่างไร
ถ้าคนในเมืองจะมาช่วยเราจัดการ เราจะไม่ว่าเลย แต่เขาไม่ว่าง เขาก็ทำงานของเขาเช้าเย็นๆ หาเงินส่งลูกเรียน อ.อานันท์ (อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) บอกว่าสิทธิมีอยู่ 3 ตัว -

- สิทธิที่หนึ่งคือสิทธิปัจเจก
- สิทธิที่สองคือสิทธิเรื่องการจัดการ
- สิทธิที่สามคือเรื่องการตรวจสอบ

สิทธิปัจเจกมันก็คือเรื่องโฉนด เหมือนเราไปเช่าบ้านเขาอยู่มันไม่ใช่สิทธิในการเป็นเจ้าของแต่เป็นสิทธิในการจัดการได้ระดับหนึ่ง แล้วก็มีคนมาคอยตรวจสอบเรา พูดถึงสิทธิปัจเจกเราไม่ใช่ต้องการแบ่งแยกประเทศ มันก็เป็นประเทศไทยที่มีคน 63 ล้านคน ป่าเป็นของทุกคน เป็นของส่วนรวม ชาวบ้านอย่างเราที่อยู่ในป่ามีสิทธิจัดการ กฎหมายจะเปิดโอกาสให้แต่ละส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

นักวิชาการ ประชาชนทั่วไปเข้ามาหารือร่วมว่าจะทำอย่างไร แต่คนที่ลงมือจัดการอาจจะเป็นชาวบ้านหรือกรมป่าไม้ ถ้าชาวบ้านจัดการดีแล้วก็ว่ากันไป ใครก็ได้มาตรวจสอบได้ใน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ชาวบ้านดูแลรักษาป่าอย่างไร ทำไมสวนนายทุนมันใหญ่อย่างนี้ มีที่กี่ล้านกี่พันไร่ในป่าได้อย่างไร คณะกรรมการมีตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนกระทั่งอธิบดี แล้วคณะกรรมการทุกระดับร่วมกันทำลายป่าทั้งหมดเลยเป็นไปได้ไหมล่ะ สมมติว่ากรรมการบ้านผมบอกว่าจะตัดป่าตรงนี้แล้วปลูกพืชเศรษฐกิจ กรรมการหมู่บ้านก็ยกมือเฮ ตำบลก็ยกมือเฮ อำเภอก็ยกมือ จังหวัดก็เฮ ผู้ว่าก็เฮ นักการเมือง ป่าไม้ ประชาชน แล้วก็ประเทศไทยก็เฮ อันนี้ก็หมดท่า

มันยากกว่าตอนนี้ที่หน่วยงานป่าไม้หน่วยเดียวมาดูแล เป็นยังไงครับ ป่าก็หมดลงๆ เจอชาวบ้านไปเก็บหน่อไม้ ไปเก็บเห็ดก็ถูกจับ อันนี้มันเป็นกฎหมายที่ใช้กับประเทศไทยไม่ได้ เพราะว่ามันไม่หลากหลาย ความเป็นจริงธรรมชาติมันหลากหลาย กรุงเทพฯ เป็นอย่างหนึ่ง ภาคเหนือก็เป็นอย่างหนึ่ง บนดอยทำไร่หมุนเวียน ลงมาอาจจะมีนาข้าวบ้าง ลงไปทะเลก็ต้องหาปลา กฎหมายจะต้องยอมรับความหลากหลาย กฎหมายเมืองไทยมันเก่าไปแล้ว แล้วมันก็ไม่มีชีวิต มันไม่มีเวทีให้เกิดความรู้ เรียนรู้กับสถานการณ์โลก มันไม่มีปัญญาในกฎหมาย มันไม่มีวิญญาณ

มีกฎหมายแล้วก็ไม่ใช่จะทำอะไรง่ายๆ ต้องลงไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านกับชุมชน มีกฎหมายแล้วก็ต้องช่วยกันทำรูปธรรมให้เป็นจริง เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ถ้าไม่มีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้คนมาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คนก็จะไม่เข้าใจกัน มีปัญหาเหมือนภาคใต้ ฝ่ายรัฐใช้ความรุนแรงและฝ่ายต่อสู้ก็ใช้ความรุนแรง ถ้าสังคมสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงต่อไป ปัญหาก็จะแก้ไขไม่ได้

แล้วทำไมเราไม่ใช้ความรุนแรงบ้างล่ะ ทำไมคิดว่าความรุนแรงไม่ใช่วิธีการต่อสู้เรื่องป่าชุมชน
บรรพบุรุษเรามีบทเรียนมา การใช้ความรุนแรงมันไม่แก้ไขปัญหา และชุมชนก็เรียนรู้มาหลายร้อยปี ถ้ามีปัญหาก็พูดก็คุยกัน แล้วก็เกิดความรู้ เกิดภูมิปัญญากลายเป็นวิถีเป็นวัฒนธรรม ถ้ามีคนมาบอกเราว่าให้ใช้อาวุธ เราก็มาคิดต่อว่าเราใช้ปืนแล้วยังไงล่ะ จะแก้ปัญหายังไง ไม่มีเงินซื้อปืน ลูกปืนก็ไม่มีเงินซื้อ ถ้าเราไปยิงเขา เขาก็ยิงเรา แล้วเขาไม่เสียใจหรือ

เขาก็มีลูกมีเมีย คนที่ตายก็ตายไป คนที่เหลือก็เสียใจ เราฆ่าพ่อเขา ลูกเขาก็เสียใจ เราฆ่าลูกเขา พ่อเขาก็เสียใจ ถ้าเขามาฆ่าเรา เราก็เสียใจ มันเป็นคนเหมือนกัน เราก็คิดง่ายๆ อย่างนี้ เราเป็นคน เราก็เสียใจได้ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งสูญเสีย สามี พ่อ แม่ ลูก ความเสียใจมันเรียนรู้กันได้ทุกเผ่าพันธุ์ทั่วโลก ฝรั่งเขาเสียใจได้ไหม ก็เสียใจได้ คนไทยเสียใจได้ไหม ก็เสียใจได้ คนจีนก็ได้ ไม่ได้เรียนปริญญามันก็เสียใจได้ ดังนั้นความรุนแรงมันไม่แก้ปัญหา

พวกเราบางทีเวลาเสียใจมากๆ ก็พูดกันลอยๆ ว่าทำแบบภาคใต้ไหม เราก็พูดกันลอยๆ แต่ไม่มีปัญญาทำได้ โดยเฉพาะพวกเราได้รับความรู้จากนักวิชาการด้วย อ.นิธิ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)บอกว่า เราอย่าใช้ความรุนแรงเลย แม้แต่คิดก็อย่าคิดเลย เพราะอะไร เพราะว่าเราน่ะเล็กนิดเดียว ไม่มีศักยภาพอะไร แค่คิดก็ผิดแล้ว ถ้าเขาใช้ความรุนแรงเขาชนะ เขาฆ่าเราได้ ถ้าเราไปใช้ความรุนแรงแบบเขา เขาก็ได้ที โจรก็ดี กลุ่มก่อการร้ายเล็กๆ ก็ดี ใช้ความรุนแรงหนึ่งเท่า จะได้รับความรุนแรงกลับไปอีกพันเท่า อันนี้ก็อย่าไปตกหลุม เพราะมันไม่ใช่วิถี ไม่ใช่วัฒนธรรมเรา

บางคนก็มองว่าการเดินธรรมชาติยาตราของชาวบ้านมันเล็กๆ ใครจะมาสนใจ พฤรู้สึกอย่างไรกับการเดินครั้งนี้ มันไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนกับการใช้ความรุนแรง
ก็คิดดูว่าเด็กคนหนึ่งกว่าจะเกิดมาได้ อยู่ในท้อง 9 เดือน คลอดออกมาก็ค่อยๆ โตขึ้นๆ รับเอาเรื่องดีๆ ของพ่อแม่ของคนเฒ่า คนรุ่นแรกก็ตายไป มันก็ค่อยๆ ไปอย่างนี้เป็นหลายร้อยหลายพันปี มันไม่มีอะไรเปรี้ยงปร้าง มีสุภาษิตที่ว่า อะไรที่มันโตเร็วก็ตายเร็ว แล้วอะไรร้อนๆ ถ้าเรากินทันที มันก็ทำให้ปากของเราโดนลวก เราต้องค่อยๆ เคี้ยวแล้วกลืนลงไป เรื่องพวกนี้มันเป็นความจริง ถึงแม้เราค่อยๆ ทำไปเป็นจุดเล็กๆ สิ่งที่ทำถ้า พ.ศ.นี้ไม่ใช่ พ.ศ.ต่อไป ถ้ามันเหมาะสม มันก็จะเกิดขึ้น

ธรรมะที่เราเดินไปทุกวันนี้มันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่กฎหมายเก่าที่มีมันไม่รับใช้แล้ว มันก่อให้เกิดปัญหา มันก็จะค่อยๆ ผุ ค่อยๆ พังไป โลกนี้มันมีสัจธรรมอยู่ มันก็จะจัดการตัวมันเอง ครั้งนี้เราเดินเล็กๆ ก็จริงแต่ว่ามีคนสนใจเยอะ คนที่ไม่เดินเขารู้ เขาก็บอกต่อๆ กัน ก็ทำให้เรื่องของเรามีคนรู้มากขึ้น วันก่อนก็มีคนกรุงเทพฯ เป็นวิศวกร เรียนที่ลาดกระบัง เขารู้ข่าวได้ยังไงไม่รู้ เขาก็มาเดินกับเรา เขาบอกบ้านเขาอยู่กรุงเทพฯ อยากเดินกลับบ้านด้วย

ระหว่างทางก็เจอฝรั่งอเมริกันมาเรียนปริญญาโทที่นี่ เขาก็ร่วมเดินกับเราด้วย แล้วก็ถามอะไรมากมาย กฎระเบียบชาวบ้านเป็นยังไง สิ่งแวดล้อมกับผู้หญิงเป็นยังไง เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ชาวบ้านกลุ่มองค์กรกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร นโยบายอะไร ทำไม เยอะแยะไปหมด ถ้าสิ่งที่เราทำอยู่มันใช่ คนที่มาเจอก็จะบอกต่อๆ ไปว่าใช่ คนที่เข้าใจเรามันก็จะใหญ่ขึ้นๆ

ไม่คิดหรือว่าการค่อยๆ พูดค่อยๆ จามันจะเห็นผลช้า
เราต้องคอย เพราะมันจะขัดเกลาไปในทิศทางที่ถูกต้องขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็นทางโค้งแล้วเราพุ่งไป มันก็ออกนอกทาง เราต้องค่อยๆ คลำหาทาง หาร่องที่เราจะไป โลกนี้มันไม่ได้มีทางให้เราเห็นโล่งๆ เราต้องถาม แลกเปลี่ยนกัน ศึกษาบรรพบุรุษ ศึกษาโลกนั้นอย่างไร ประเทศนี้อย่างไร วันนี้ตรงนี้อาจจะเป็นศูนย์กลาง แต่สักวันหนึ่งถ้ามีอุกาบาตตกลงมา จุดศูนย์กลางก็ย้ายได้

แต่ละวันจุดศูนย์กลางมันต่างกัน วันนี้ผมตั้งใจจะไปกรุงเทพฯ ให้ถึง ถ้าเกิดว่าพรุ่งนี้ลูกผมไม่สบาย ผมอาจจะต้องกลับบ้าน แต่ละวันเราวางความเคลื่อนไหวไว้ใกล้ตัวไม่ได้นะในโลกนี้ กฎธรรมชาติมันสอนให้บรรพบุรุษผมมีชีวิตอย่างนี้ แม้แต่คนในเมืองบอกว่าพรุ่งนี้จะต้องไปงานนั้นให้ได้เลย แต่ถ้าเกิดลูกเมียเขาไม่สบายขึ้นมา เขาก็ต้องเลือกไปทางโน้น นี่ล่ะคือความจริงของโลกนะ ผมว่า

ถ้าไปถึงกรุงเทพฯ แล้วคำตอบเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด
เราก็กลับบ้าน ถ้าไม่ได้วันนี้วันหน้าเราก็อาจจะได้ ถ้ามันไม่ใช่ เขาเอาไปใช้มันก็เกิดปัญหากับเขาเอง เราทำหน้าที่ดีที่สุดก็คือบอกว่าใช่ เรายืนยันว่าใช่ พอเราตายไปแล้ว สมมติว่าคนที่เดินนี่ตายไปหมดเลย ไม่เหลือความเชื่อสักคนเลย แต่คนที่บอกว่าไม่ใช่ สักวันหนึ่งเขาเจอปัญหา เขาก็จะสร้างปัญหาให้ลูกหลานๆ ต่อไป แล้วถ้าเขารู้ว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำทะเลแน่นอน เขาจะอพยพคนขึ้นมาไว้บนดอยในป่าไหม ผมว่าถ้าเป็นแบบนี้เขาก็ต้องเอาคนกรุงเทพฯ อพยพเข้ามาในเขตอุทยาน

ถ้าเขามาจะให้เขาอยู่ไหม
อยู่สิ มันก็ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะว่าข้าวมันเหลือน้อย เราก็ต้องแบ่งให้เท่าๆ กัน ถ้าไปถึงกรุงเทพฯ เราไม่ได้อย่างที่เราตั้งใจ เราก็กลับบ้าน เราก็เสียใจ คิดว่าทำไมเขาไม่เข้าใจ ลูกเมียเราที่บ้านก็เสียเวลา ไม่ได้เกี่ยวข้าว ไม่ได้ทำมาหากิน เรามาที่นี่แต่ละก้าวก็คือชีวิต ก้าวหนึ่งก้าวจะไปหุงข้าว ก้าวหนึ่งก้าวไปเกี่ยวข้าวได้หลายต้นแล้ว เลี้ยงลูกได้หลายชั่วโมงแล้ว อาจจะไปจูงควาย อาจจะไปตักน้ำ อาจจะมีความสุขกับลูกไปหลายสุขแล้ว อาจจะหัวเราะร่าเริง อาจจะไปช่วยพี่น้องได้หลายคน มาเดินที่นี่ มานั่งที่นี่ แต่ละก้าว แต่ละวันมันก็คือชีวิต

ที่เราไปบอกให้คนในประเทศเขาแล้ว เขาไม่เข้าใจ เพราะว่าเราบอกเขาไม่เป็น หรือว่าเขาอาจจะหูหนวกหรือตาพร่าไปแล้ว เขาอาจจะไม่สนใจธรรมะแล้ว ไม่สนใจความจริงแล้ว เราก็ต้องยอมรับและให้เกียรติเขาว่าท่านพร่าไปแล้ว

พฤจะมีวิธีปลอบใจเพื่อนๆ ทั้งหมดอย่างไร ถ้ารัฐบาลยังยืนยันที่จะไม่ให้มีชุมชนอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์
จริงๆ แล้วใจผมก็อ่อนนะจะบอกให้ ถ้าผมรู้ว่าไม่ได้ ก็ยังคิดทำใจไม่ได้ว่าจะบอกเมียอย่างไร บอกทางบ้านอย่างไร เพราะว่าการทำความดี เราทำเหมือนน้ำหยด ทำแล้วให้ความรู้แล้ว ให้ความหวังแล้ว บางทีคนอื่นเขาก็อาจจะเยาะเย้ย ว่าบอกแล้วไม่เชื่อ สังคมก็อาจจะเยาะเย้ย อาจจะมีบางส่วนที่เข้าใจ ผมคิดถึงเพื่อนๆ ที่เดินด้วยกันทุกวันนี้ ตอนนี้เรามีความหวังว่าจะได้ก่อน ผมคิดว่าทางนี้น่าจะใช่ มีบันได 10 ขั้น เราเดินครั้งนี้เดินได้ 1 ขั้นก็เอา 1 ขั้น 2 ขั้นก็เอา 2 ขั้น อย่างน้อยเราก็รู้วิธีว่าเราจะเดินขึ้นไปอย่างไร

เราไปไหว้วัดทุกวัด ไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกที่ ถ้าเราไม่ได้ เราจะกลับมาแบบเชื่อว่าพระไม่มีแล้ว พระเจ้าไม่มีแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีแล้ว ความดีไม่มีแล้วไหม ถามเพื่อนที่เดินกันมา เขาก็เงียบ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนี่ถูกใจพระ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์หรือศาสนาพุทธ มันสอนให้เรารู้จักแบ่งปันและเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกนี้

เดินครั้งนี้ให้ความสำคัญกับระหว่างทางหรือจุดหมายปลายทางมากกว่ากัน
ให้ความสำคัญทั้งหมดเลย กับตัวเอง กับครอบครัวที่อยู่ที่บ้าน คนๆ หนึ่งจากครอบครัวไปเขาจะทำใจอย่างไร ทุกวันทุกคืน แทนที่คนหนึ่งทำกับข้าว คนหนึ่งจะเลี้ยงลูก ก็ต้องเหนื่อยเพิ่ม ครอบครัวก็ต้องสู้ แต่ละคนที่เราเจอข้างทางก็สำคัญ คนที่อ่านหนังสือพิมพ์ จนระดับประเทศเขาจะคิดอย่างไร ระดับโลกจะคิดอย่างไร แต่ว่าสำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องภายในของคนที่เดิน ให้คนที่เดินมีกำลังใจ มีความเชื่อมั่นว่าจะไปถึง ตรงนี้สำคัญ เพราะว่าถ้าไม่มีตรงนี้ ตรงอื่นก็จะหายไปด้วย สำคัญที่ภายในของเราและกลุ่มพวกเราที่มาเดินร่วมกัน กำลังใจที่จะทำให้เราเป็นตัวเหตุที่จะทำให้เกิดผล ถ้าไม่มีต้นเหตุ มันก็จะไม่มีผล ต้นเหตุจึงสำคัญ

(ข้อมูลจาก www.localtalk2004.com สัมภาษณ์/เรียบเรียงโดย : อัญชลี มณีโรจน์ /บุญตา สืบประดิษฐ์)


 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

ถ้าไปถึงกรุงเทพฯ แล้วคำตอบเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด
เราก็กลับบ้าน ถ้าไม่ได้วันนี้วันหน้าเราก็อาจจะได้ แล้วถ้าเขารู้ว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำทะเล แน่นอน เขาจะอพยพคนขึ้นมาไว้บนดอยในป่าไหม ผมว่าถ้าเป็นแบบนี้เขาก็ต้องเอาคนกรุงเทพฯ อพยพเข้ามาในเขตอุทยาน
ถ้าเขามาจะให้เขาอยู่ไหม
อยู่สิ มันก็ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะว่าข้าวมันเหลือน้อย เราก็ต้องแบ่งให้เท่าๆ กัน ถ้าไปถึงกรุงเทพฯ เราไม่ได้อย่างที่เราตั้งใจ เราก็กลับบ้าน เราก็เสียใจ คิดว่าทำไมเขาไม่เข้าใจ ลูกเมียเราที่บ้านก็เสียเวลา ไม่ได้เกี่ยวข้าว ไม่ได้ทำมาหากิน เรามาที่นี่แต่ละก้าวก็คือชีวิต ก้าวหนึ่งก้าวจะไปหุงข้าว ก้าวหนึ่งก้าวไปเกี่ยวข้าวได้หลายต้นแล้ว เลี้ยงลูกได้หลายชั่วโมงแล้ว อาจจะไปจูงควาย อาจจะไปตักน้ำ อาจจะไปช่วยพี่น้องได้หลายคน มาเดินที่นี่ มานั่งที่นี่ แต่ละก้าว แต่ละวันมันก็คือชีวิต

R
related topic
121248
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้


อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง