บทนำเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง
นีโอ-มาร์กซิสต์
: สำหรับผู้เริ่มต้น
สาคร
สมเสริฐ
นิสิตปริญญาโท สาขาสังคมวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เรียบเรียง
เดิมชื่อ
Neo-Marxian :
ชาวมาร์กซีสต์แนวใหม่
ทางกองบรรณาธิการได้มีการปรับปรุงและตัดทอนเล็กน้อยเพื่อความเหมาะสม
และที่ท้ายบทความมีการแสดงความคิดเห็น
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 764
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)
บทนำ
แนวคิดนีโอมาร์กซีสต์ที่ปรากฎอยู่ในเอกสารภาษาไทยนั้น ต่างกระจัดกระจายอยู่ในตำรา
วารสาร ฯลฯ ทางสังคมศาสตร์หลายๆเล่ม บทความชิ้นนี้จึงมีความพยายามรวบรวมแนวคิดที่กระจัดกระจายดังกล่าว
ให้เป็นระบบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพื่อให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
สำหรับการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาในบทความนี้จะเริ่มจากการให้ความหมายเบื้องต้นของ Neo-Marxian การวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือนความต่างของมาร์กซีสต์เดิม และมาร์กซีสซ์แนวใหม่ ต่อด้วยการบรรยายถึงบริบทแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อลัทธิมาร์กซีสซ์แนวใหม่นี้ จากนั้นจะอธิบายแนวคิดหลักสำคัญของกลุ่มลัทธิดังกล่าวซึ่งมี 4 กลุ่มลัทธิด้วยกัน
ความหมายเบื้องต้นของ
Neo-Marxian
Neo-Marxian หากแปลอย่างตรงๆ คำว่า Neo แปลว่า "ใหม่" Marxian
แปลว่า "ชาวมาร์กซีสต์" ดังนั้น Neo-Marxian หมายถึง "ชาวมาร์กซีสต์ใหม่"นั่นเอง
ขยายความให้เข้าใจก็คือ(1) เป็นกลุ่มนักคิดที่มีพื้นฐานแห่งแนวคิดมาจากมาร์กซีสต์เดิม
แต่ได้นำมาขยายความ ปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นหรือการขยายขอบเขตของการศึกษาออกไปอย่างกว้างขวาง
กว่าการศึกษามาร์กซีสต์แบบเดิมๆ โดยการรับเอาแนวคิดทางสังคมศาสตร์ด้านอื่นๆ
ที่ไม่มีความขัดแย้งกับลัทธิมาร์กซีสต์เดิมมาใช้ และนำเอาประเด็นใหม่ๆมาศึกษา
รวมทั้งพยายามพัฒนากรอบทฤษฎีมาร์กซีสต์ให้มีระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้น
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ(2) Neo-Marxian เป็นกลุ่มนักคิดมาร์กซีสต์แนวใหม่ ที่นำเอาแนวคิดมาร์กซีสต์เดิมมาปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการในความเป็นจริง และพัฒนาการทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้
การที่เราจะทำความเข้าใจในแนวคิด Neo-Marxist ของนักคิดกลุ่ม Neo-Marxian ได้ดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวิเคราะห์ถึงความเหมือนและความแตกต่าง ในหลักคิดของมาร์กซีสต์เดิมและมาร์กซีสซ์แนวใหม่ เพราะจะทำให้เราทราบถึงขอบเขตหรือเส้นแบ่งของแต่ละหลักคิด ซึ่งจะได้เป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม
ความเหมือน
และความต่างของมาร์กซีสต์เดิม และมาร์กซีสต์แนวใหม่
สำหรับความเหมือนกันของมาร์กซีสต์เดิม และมาร์กซีสต์ใหม่นั้นคือ(3) ทั้ง
2 กลุ่มยังมุ่งเน้นว่าสังคมและวัฒนธรรมมักจะมีความขัดแย้งกันอยู่เป็นนิจ
ซึ่งความขัดแย้งนั้นได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงมักจะเป็นสภาวะใหม่ที่แตกต่างจากภาวะเดิม
และทั้ง 2 กลุ่มก็ยังมีความเห็นตรงกันว่า สังคมมนุษย์นั้นมีความไม่เท่าเทียมกัน
กลุ่มคนส่วนน้อยที่มีอำนาจ จะครอบงำคนส่วนใหญ่ที่ไร้อำนาจ โดยมีเครื่องมือแห่งการครอบงำที่แตกต่างกันไป
ส่วนความต่างของ 2 กลุ่มคือเครื่องมือ หรือเงื่อนไขของการครอบงำ ลักษณะการครอบงำ การต่อสู้และเป้าหมายทางชนชั้น โดย"กลุ่มมาร์กซีสต์เดิม"มองว่า เครื่องมือหรือเงื่อนไขดังกล่าวคืออำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นลักษณะการครอบงำโดยตรง และการต่อสู้ทางชนชั้นก็ต่อสู้โดยตรงเช่นกัน ชนชั้นกรรมมาชีพที่ต่างมีสำนึกทางชนชั้นร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญ(4) เพื่อต้องการปฏิวัติสังคมอย่างถอนรากถอนโคน ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ปราศจากชนชั้น สังคมแห่งความเท่าเทียมกัน หรือสังคมคอมมิวนิสต์นั่นเอง
ส่วน"กลุ่มมาร์กซีสต์แนวใหม่"กลับมองว่าเครื่องมือ หรือเงื่อนไขของการครอบงำนั้น คืออุดมการณ์ทางการเมือง อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมหรือความรู้ โดยมีลักษณะการครอบงำทางอ้อม และการต่อสู้ทางชนชั้นก็ต่อสู้โดยทางอ้อมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง(5) การสร้างพลังขับเคลื่อนผ่านกลุ่มตัวแทนสังคมต่างๆ กลุ่มประชาสังคม กลุ่มเครือข่าย โดยมีเป้าหมายพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปสังคมสู่สังคมที่มีความยุติธรรม อย่างค่อยเป็นค่อยไป
การที่ลัทธิมาร์กซีสต์แนวใหม่มีความเชื่อเช่นนี้ บริบทแวดล้อมแห่งห้วงเวลานั้นๆ ย่อมมีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำให้พวกเขามีความเชื่อดังกล่าว ดังนั้นการทำความเข้าใจในบริบทแวดล้อมนี้ จะทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของแนวคิดได้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันเราจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์ทางสังคมไปพร้อมกันด้วย
บริบทแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อลัทธินิโอมาร์กซีสต์
ลักษณะโดยรวมของบริบทแวดล้อม ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของแนวคิดนีโอมาร์กซีสต์นั้น
เป็นภาพของการปฏิเสธลัทธิอำนาจนิยม ที่กดขี่ผู้ด้อยโอกาสอย่างไร้ความยุติธรรมรวม
ภาพของความไม่เท่าเทียมกันของลักษณะสังคมที่ขัดแย้งกัน จนนำไปสู่สภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลง
ที่ทำให้เกิดความสับสนในการดำรงอยู่ในสังคมของมนุษย์ ที่ยากในการอธิบาย ดังนั้นการเกิดขึ้นของนีโอมาร์กซีสต์จึงเป็นการถอดรหัสในการอธิบายภาวะสังคมดังกล่าว
รวมทั้งการเสริมสร้างพลังแนวคิด อุดมการณ์ และปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรม
และสันติสุข
จากการค้นคว้าพบว่า บริบทแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มนีโอมาร์กซีสต์ คือการปฏิเสธลัทธิมาร์กซีสต์-เลนิน กล่าวคือ(6) การที่กลุ่มลัทธิมาร์กซีสต์-เลนิน ได้นำแนวคิดมาร์กซีสต์เดิมมาตีความให้สอดคล้องกับบริบทแวดล้อมของสังคมประเทศตน ซึ่งเป็นการตีความที่ผิดเพี้ยนไปจากมาร์กซีสต์เดิม โดยโซเวียตภายใต้การนำของเลนิน - สลาติน จีนภายใต้การนำของเมาเซตุง และคิวบาภายใต้การนำของเรยีส เดอร์เบ โดยเน้นการปฏิวัติแบบใช้กำลัง ผ่านองค์การแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ที่เข้มงวด เพื่อเผยแพร่การศึกษาในแนวคิดมาร์กแก่ประชาชน โดยหวังให้เกิดสำนึกทางชนชั้นเพื่อนำสู่การปฏิวัติสังคม
ด้วยเหตุที่เชื่อว่าประชาชน กรรมกร ชาวนาไม่สามารถสำนึกทางชนชั้นด้วยตนเองได้ จะต้องผ่านการให้การศึกษาดังกล่าว และภายหลังปฏิวัติพรรคคอมมิวนิสต์จะยังดำรงอยู่ต่อไป จนกว่าชนชั้นกรรมาชีพจะสามารถปกครองตนเองได้ พรรคคอมมิวนิสต์จึงจะสลายไป. ซึ่งแตกต่างจากมาร์กซีสต์ต้นตำหรับอย่างสิ้นเชิงที่เน้นให้ ชนชั้นกรรมาชีพมีความสำนึกทางชนชั้นได้เอง สามารถลุกฮือขึ้นปฏิวัติได้ด้วยตนเอง และภายหลังของการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ ก็จะปกครองบริหารเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น ท้ายที่สุดก็จะไม่มีกลุ่มคนใดมาควบคุม ปกครอง บริหาร เพราะสังคมประเทศก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่มีแต่ความเท่าเทียมกัน เป็นสังคมที่ปราศจากชนชั้น ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกันและกันอีกต่อไป
การพัฒนาทฤษฎีขึ้นมาในช่วงการตายของสลาตินผู้นำรัสเซียในช่วงปี ค.ศ.1953 และชัดเจนยิ่งขึ้นจากการประชุมใหญ่ครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ในปี ค.ศ.1956 ซึ่งระบบการใช้อำนาจของสลาตินได้ถูกเปิดเผยและถูกโจมตี ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์รับแนวนโยบายใหม่ว่า เส้นทางที่นำไปสู่สังคมนิยมนั้นมีหลายทาง(Different road to socialism) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างระบบคอมมิวนิสต์ กับระบบนายทุนเป็นไปได้ และสงครามมิใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวนโยบายใหม่นี้เท่ากับเป็นการผ่อนคลายความเข้มข้นของลัทธิมาร์กซีสต์เลนินนิสม์ เป็นการยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีเป็นไปได้ ไม่จำเป็นต้องใช้การปฏิวัติและใช้กำลังเสมอไป(7) จากแนวคิดนี้ได้นำมาสู่การพัฒนาลัทธินีโอมาร์กซีสต์ขึ้นมา โดยเฉพาะลัทธินีโอมาร์กซีสต์แนวมนุษยนิยม(humanism) และลัทธินีโอมาร์กซีสต์แนวซ้ายใหม่(New left) ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดของลัทธิทั้งสอง ในหัวข้อถัดไป
นอกจากนี้ ประมาณช่วงปี ค.ศ.1930 อิทธิพลของกระบวนการนาซี ในเยอรมันโดยการนำของฮีตเลอร์ ที่เน้นการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ รุนแรง ยังผลให้ประชาชนชาวเยอรมันในช่วงนั้น ขาดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครอบงำประชาชนเยอรมันอย่างไม่สงสัย ของพรรคนาซีภายใต้การนำของฮีตเลอร์ มีผลให้ปัญญาชนชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่งแห่งเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ได้ครุ่นคิดเพื่อที่จะอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว รวมทั้งได้พยายามสร้างพลังเพื่อทัดทานอำนาจการครอบงำดังกล่าวในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีผลให้เกิดลัทธินีโอมาร์กซ์ซีสต์ขึ้นมา เรียกว่า"ลัทธินีโอมาร์กซีสต์สำนักแฟรงเฟิร์ต"(8)
และในช่วงเวลาที่ไกล้เคียงกันนี้ ได้เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศยุโรปตะวันตก และอเมริกา จากอิทธิพลของเศรษฐศาสตร์แนวนีโอคลาสสิค ที่ปฏิเสธการแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐ โดยใช้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน และเน้นการบริโภคของปัจเจกชน มีผลให้เกิดวิกฤตการที่สำคัญคือ การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน การรวมตัวกันของนายทุนก่อให้เกิดทุนรวมขนาดใหญ่ที่ผูกขาดการลงทุนและการผลิต มีผลให้ทุนขนาดย่อมหรือนายทุนน้อยถูกทำลาย ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้ เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมากขึ้น และจำนวนประชากรเองก็เพิ่มสูงขึ้น เกิดปัญหาต่างๆมากมายตามมา
และภายหลังสังครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศที่เคยอยู่ในอาณานิคมของประเทศตะวันตก ได้ประกาศตัวเป็นเอกราช ซึ่งยังผลให้การพัฒนาประเทศในช่วงนั้นเป็นภารกิจหลักแห่งนโยบายที่มุ่งเน้นการวางแผนการพัฒนาประเทศจากศูนย์กลาง การพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจและความทันสมัย พร้อมทั้งการเข้ามาแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากต่างชาติในรูปบริษัทลงทุนข้ามชาติ ซึ่งบริบทนี้ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อลัทธินีโอมาร์กซีสต์แนวเฮลเกล
กลุ่มลัทธินีโอมาร์กซีสต์
และแนวคิดสำคัญ
1. ลัทธินีโอมาร์กซีสต์แนวมนุษยนิยม(humanism)(9)
โดยนักคิดสำคัญของลัทธินี้ เช่น อดัม ชาฟ (Adam Schaff,1913-) และ เลสเช็ก
โคลาโกสกี้ (Leszek Kolakowski,1927-) ในโปแลนด์, คาเรล โกสิก(Karel Kosik,1926-),
ไอวาน สวิตัก(Ivan Svitak ,1925-) ในเชโกสโลวาเกีย, กาโจ เปโตรวิก (Gajo
Petrovic,1927) เป็นต้น แนวคิดสำคัญของลัทธินี้มุ่งที่มนุษย์แต่ละคนเป็นจุดหมาย
มิใช่มุ่งที่วัตถุหรือมุ่งเฉพาะระบบเศรษฐกิจการเมือง การเปลี่ยนวัตถุและระบบเศรษฐกิจการเมืองก็เพื่อความสุขของมนุษย์
ลัทธินี้ให้ความสำคัญในสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะทำให้ตนสมบูรณ์ได้โดยการที่ตัวมนุษย์เป็นฝ่ายกระทำ(Subject
- ประธาน) มิใช่มนุษย์เป็นผู้ถูกกระทำ(Object - กรรม) เพราะเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีความรับผิดชอบทางศีลธรรม
จะใช้ศีลธรรมของชนชั้นมาบดบังมิได้ แม้พัฒนาการทางประวัติศาสตร์จะมีแนวทางเสมอ
แต่ภายใต้กรอบแนวทางนั้น มนุษย์แต่ละคนมีสิทธิ์เลือกด้วยตนเองว่าจะปฏิบัติอย่างไร
2. ลัทธินีโอมาร์กซีสต์แนวซ้ายใหม่(New left)(10)
โดยนักคิดสำคัญของลัทธินี้ได้แก่ เฮอร์เบอร์ต มาคูส (Herbert Macuse,1898-),
อังเดร กอร์(Andr'e Gorz,1924-), และหลุยส์ อัลทูแซร์ (Louis Althusser)
เป็นต้น และยังมีผู้นำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย แนวคิดของลัทธินี้อาศัยแนวคิดมาร์กซีสต์มนุษยนิยมเป็นพื้นฐาน
การต่อสู้ทางชนชั้นในแนวคิดนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่ต้องการเป็นอิสระจากอำนาจทางการ
นายทุน/รัฐบาลเผด็จการ ด้วยการขับเคลื่อนของเยาวชน นิสิตนักศึกษาและปัญญาชน
โดยเฉพาะเยาวชนนั้นเป็นกลุ่มที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม แทนที่กรรมกรหรือชนชั้นกรรมาชีพ
เพราะเยาวชนโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษานั้นยังมิได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมจริงๆ
พวกเขายังอยู่นอกระบบ ยังมิได้ถูกซื้อหรือถูกหลอมด้วยการโฆษณา อย่างชนชั้นกรรมาชีพซึ่งได้ตกอยู่ภายใต้ของระบบทุนนิยมเสียแล้ว
นอกจากนี้ลัทธิซ้ายใหม่ยังสนับสนุนการจัดระบบสังคมนิยมขนาดเล็ก กระจายอำนาจเป็นแห่งๆขนานกันไปกับระบบนายทุน
หรือระบบคอมมิวนิสต์แบบสลาติน
3. ลัทธินีโอมาร์กซีสต์แนวเฮเกล(11) นักคิดลัทธินี้ในสมัยต้นๆ พยายามที่จะรักษาหลักวิภาษวิธีระหว่างแนวทางจิตวิสัยและวัตถุวิสัยของชีวิตทางสังคมเอาไว้ ความสนใจของนักคิดลัทธินี้ที่มีต่อตัวการทางด้านจิตวิสัย เป็นการปูพื้นฐานสำหรับพัฒนาการของทฤษฎีเชิงวิจารณ์ในสมัยต่อมา โดยนักคิดที่สำคัญ ได้แก่ จอร์จ ลูแคส (1885-1971) ชาวฮังกาเลี่ยน และแอนโตนิโอ แกรมชี(1891-1937) ชาวอิตาเลี่ยน โดยลูแคส ได้ให้แนวคิดที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก การสร้างตัวตนทางความคิด(reification) หมายถึงการตกเป็นทาสของวัฒนธรรมของมนุษย์ โดยลุ่มหลงอย่างไร้สติ ไร้ความทรงจำว่ามนุษย์เองนั่นแหละเป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา โดยเฉพาะลัทธิคลั่งไคล้สินค้า (fetishism of commodities)
ประการที่สอง คือสำนึกที่ผิดพลาดทางชนชั้น (False consciousness)คือการคิดว่าชนชั้นอื่นดี ทั้งๆที่ชนชั้นนั้นกำลังครอบงำชนชั้นตนอยู่ การคิดเช่นนี้ทำให้อุดมการณ์แห่งชนชั้นได้บิดเบี้ยวไป ขาดความซื่อสัตย์แห่งสำนึกของชนชั้นตน เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิวัติจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ส่วน แอนโตนิโอ แกรมชี(12) ได้ให้แนวคิดนีโอมาร์กซีสต์ที่สำคัญคือ การครอบงำทางอุดมการณ์ (Hegemony) ซึ่งเป็นการครอบงำชนชั้นในสังคมของนายทุนผ่านอำนาจรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการที่นายทุนและรัฐมีความสัมพันธ์กัน เอื้อประโยชน์ให้กันและกัน โดยเฉพาะการที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนในการดำเนินกิจการต่างๆ ทำให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวมีผลต่อการครอบงำประชาชน
อีกแนวคิดหนึ่งของแอนโตนิโอ แกรมชี คือ แนวคิดประชาสังคม (Civil Society) ซึ่งแกรมชีหมายถึง สถาบันที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อครอบงำความคิดของพลเมือง เช่น โรงเรียน ศาสนา สื่อ ครอบครัว ในสังคมที่พัฒนาระบบประชาธิปไตยมานาน แกรมชีคิดว่าจำเป็นต้องแย่งชิงอำนาจครอบงำ(Hegemony)จากชั้นชั้นปกครองมาให้ชนชั้นแรงงาน
สำหรับแนวคิดประชาสังคมในความหมายปัจจุบัน หมายถึงเป็นเวทีแห่งชีวิตสังคม มีการจัดตั้งเองเป็นเอกเทศจากรัฐ และนอกเวทีทางการเมือง มีกลุ่มและบุคคลที่หลากหลายมาร่วมกระทำการทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความคิด สร้างเอกลักษณ์และความเชื่อร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่จุดหมายในการสร้างอำนาจต่อรองพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มตน
4. ลัทธินีโอมาร์กซีสต์สำนักแฟรงเฟิร์ต(13)
เป็นแนวคิดเชิงวิพากษ์ (Critical theory) นักคิดลัทธินี้ได้แก่ เฮอร์เบอร์ต
มาคูส (1989-1979) อะดอร์โน (1903-) ฮาเบอร์มาส (1929-) ดาเรนดอร์ฟ (1928-)
อัลทูแซร์ (1918-1990) ฯลฯ ทั้งหมดเป็นชาวเยอรมัน ยกเว้น อัลทูแซร์ที่เป็นชาวฝรั่งเศส.
แนวคิดของลัทธินี้ ประกอบขึ้นด้วยข้อวิพากษ์ด้านต่างๆ ของชีวิตทางสังคม โดยแนวคิดหลักนี้ให้ความสนใจอย่างเข้มข้นต่อโลกทางวัฒนธรรม
ว่าเป็นตัวที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
การสนใจในลักษณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างส่วนบน(superstructure)
มากกว่าให้ความสนใจพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ในการกำหนดการเปลี่นแปลงของสังคม โดยมีแนวคิดสำคัญดังนี้
1. One Dimensional Man เป็นแนวคิดของ Herbert Marcuse หมายถึง มนุษย์มิติเดียว มิติที่ว่าคือ มิติแห่งความกว้าง ยาว แต่ขาดมิติของความหนา และลึก กล่าวคือ มนุษย์ในสังคมทุนนิยมมักจะทำอะไรฉาบฉวย ขาดความลึกซึ้ง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมนุษย์ถูกควบคุม ครอบงำ โดยเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ผ่านกิจกรรมกีฬา และเรื่องเพศ ซึ่งเป็นการสยบคนให้สูญเสียความเป็นปัจเจก ขาดความอิสระ
2. Commercialization of Art เป็นแนวคิดของ Adorno หมายถึง การทำให้ศิลปะกลายเป็นเรื่องพาณิชย์ โดยเขามองว่าศิลปะในสังคมอุตสาหกรรมทุนนิยมนั้นเป็นผลิตผลเชิงพาณิชย์สำหรับการบริโภคของคนจำนวนมาก เป็นศิลปะแบบเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนลึกซึ้ง ถึงขั้นแบบสุกเอาเผากิน เพียงแต่ผลิตเพื่อขาย มิใช่ศิลปชั้นสูง (High Arts)
3. Ideal speech situation เป็นแนวคิดของ Habermas หมายถึง การแลกเปลี่ยนความคิดอย่างอิสระเพื่อให้เกิดความรู้ เพราะเขาเชื่อว่าความรู้นั้นเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่มีการแลกเปลี่ยนความคิด (Dialogue) โดยเสรีและเปิดกว้าง มีการวิพากษ์กันได้
4. ความขัดแย้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เป็นแนวคิดของ Dahrendorf เขามองว่าพื้นฐานของสังคมทุกสังคม คือความขัดแย้ง และความขัดแย้งนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่สร้างสรรค์ มีความสมานฉันท์
5. Culture Industry ในที่นี้เป็นแนวคิดของ Freedman (รวมทั้ง Adorno ด้วย) หมายถึง อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม โดยเขาเชื่อว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวจะสร้างวัฒนธรรมที่จอมปลอมแบบสมัยใหม่ มิได้เกิดจากการตอบสนองความต้องการของคนในสังคมอย่างแท้จริง แต่มีตัวตนอย่างจอมปลอม จะทำให้เกิดการรวมศูนย์หรือผูกขาดอำนาจในการผลิตวัฒนธรรม และอาจมอมเมาประชาชน โดยการทำให้ประชาชนเคยชิน ยินยอม ซึ่งจะไม่เกิดการสร้างศิลปะใดๆ ให้แก่สังคม
ประการแรก ให้ภาพของชนชั้นที่มีอิทธิพลเหนือกว่าชนชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพลที่ชัดเจนซึ่งได้แก่ รัฐ นายทุน ที่มีความสัมพันธ์กัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีผลต่อการครอบงำชนชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพล ได้แก่ แรงงาน ชนชั้นกลาง ปัญญาชน โดยผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองเศรษฐกิจ
ประการที่สอง การให้ความสำคัญกับมนุษย์ว่าเป็นผู้กระทำมากกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ และ
ประการที่สาม ให้ภาพของชนชั้นที่มีอิทธิพลเหนือกว่าชนชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพลที่ไม่ชัดเจน จะเป็นใครก็ได้ รัฐ นายทุน อื่นๆ ที่มีอำนาจของเทคโนโลยี สื่อมวลชน และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีผลต่อการครอบงำชนชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพล ซึ่งจะเป็นชนชั้นไหนก็ได้ โดยผ่านอุดมการณ์ทางวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์
เชิงอรรถ
(1) อนุสรณ์ ลิ่มมณี.ทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองยุคปัจจุบัน.พิมพ์ครั้งที่ 5 : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหงกรุงเทพ,2543
(2) วิทยากร เชียงกูล.ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพ:สำนักพิมพ์สายธาร,2548
(3) สุภาวดี มิตรสมหวัง.คำบรรยายการสอนวิชาสัมมนาทฤษฎีสังคมวิทยา. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.สิงหาคม,2548
(4) ฉัตรทิพย์ นาถสุภา.ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง.พิมพ์ครั้งที่ 5 .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2546
(5) สุภางค์ จันทวานิช.เอกสารคำสอนวิชา 2403453 ทฤษฎีสังคมวิทยา.โครงการผลิตตำราและเอกสารคำสอน งานบริการการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548
(6) ฉัตรทิพย์ .อ้างแล้ว
(7) ฉัตรทิพย์ .อ้างแล้ว
(8) สุริชัย หวันแก้ว.คำบรรยายการสอนวิชาสังคมวิทยาการพัฒนา.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.สิงหาคม, 2548
(9) ฉัตรทิพย์ .อ้างแล้ว
(10) ฉัตรทิพย์ .อ้างแล้ว
(11) สุเทพ สุนทรเภสัช.ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย.เชียงใหม่: โกลบอลวิชั่น,2540
(12) สุภางค์ จันทวานิช.เอกสารคำสอนวิชา 2403453 ทฤษฎีสังคมวิทยา.โครงการผลิตตำราและเอกสารคำสอน งานบริการการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548
(13) สุภางค์ .อ้างแล้ว
ข้อมูลจาก
dictionary มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - คำศัพท์ลำดับที่ 8
Neo-Marxism
หมายถึง
Neo-Marxism (นีโอ-มาร์กซิสม์) เป็นสกุลความคิดในคริสตศตวรรษที่ 20 ที่หวนกลับมาพูดถึงงานเขียนในช่วงต้นๆของมาร์กซ์ก่อนการมีอิทธิพลของ
Engels ซึ่งได้โฟกัสลงไปที่จิตนิยมวิภาษวิธี (dialectical idealism) มากกว่าวัตถุนิยมวิภาษวิธี
(dialectical materialism), และปฏิเสธเรื่องของนิยัตินิยมทางเศรษฐกิจของมาร์กซ์ในช่วงต้นๆ
โดยได้โฟกัสไปที่การปฏิวัติในทางจิตวิทยา ไม่ใช่เรื่องกายภาพหรือวัตถุ
แนวคิดนี้ค่อนข้างมีลักษณะของนักเสรีนิยม และสัมพันธ์กับสายพันธุ์ทั้งหลายของลัทธิอนาธิปไตยมาก. มันยังเสนอเกี่ยวกับการเน้นที่ความชั่วร้ายต่างๆของลัทธิทุนนิยมโลก. บรรดานักนีโอ-มาร์กซิสท์ที่โดดเด่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเช่น Marcuse คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นนักสังคมวิทยาและนักจิตวิเคราะห์ นอกจากนี้มันยังได้ไปผูกมัดอย่างเหนียวแน่นกับขบวนการนักศึกษาของช่วงปีทศวรรษที่ 60s. นีโอ-มาร์กซิสม์เป็นที่รู้จักภายใต้ป้ายฉลากกว้างๆว่า ความคิดซ้ายใหม่(New Left thinking)
ในด้านสังคมวิทยา,
นีโอมาร์กซิสม์ได้ผนวกความเข้าใจกว้างๆของ Max Weber เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมของสังคมเข้ามาด้วย
อย่างเช่น สถานภาพและอำนาจ สู่ปรัชญามาร์กซิสท์. สายพันธุ์ต่างๆของนีโอ-มาร์กซิสท์รวมถึง
Hegelian-Marxism, Critical Theory, Analytical Marxism, and French-Structural
Marxism (or structuralism)
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ข้อความแสดงความเห็นจากกระดานข่าว
หมายเลข 9398 ต่อบทความชิ้นนี้
- คำว่า neo-marxism
/ neo-marxists อันที่จริงมีลักษณะเป็นคำแบบ "หนังสือพิมพ์" (journalistic)
หรือ ถ้าจะมี "นักวิชาการ" ใช้บ้าง ก็เป็นนักวิชาการระดับที่ไม่ใช่ซีเรียสนักเรื่องงานเชิงปรัชญาทฤษฎี
(คำแรกหมายถึง "ลัทธิ" คำหลังหมายถึง "กลุ่มคน" ส่วน
Marxian นั้น ไม่ใช่ หมายถึง "ชาวมาร์กซิสต์" เวลาฝรั่งเขียนว่า
Marxian หมายถึง "เหมือนอย่าง (หรือ แบบ) คาร์ล มาร์กซ" คือ เน้นที่ตัวบุคคลที่ชื่อ
มาร์กซ ถ้า "ชาวมาร์กซิสต์" ใช้ marxists หมายถึงคนที่ทำตาม "ลัทธิ"
มาร์กซ (ซึ่งกว้างกว่า ตัวคาร์ล มาร์กซ)
งานเกี่ยวกับ marxism หลัง karl marx ที่ดีที่สุด ยังคงเป็น Marxism after Marx ของ David McLellan (ปัจจุบันเป็น Third Edition) แล้ว หรือ (เล่มเล็กกว่า และเน้นเฉพาะยุโรปตะวันตก) Perry Anderson's Considerations on Western Marxism ทั้งสองเล่มนี้ ไม่ถึงกับยากนัก น่าจะพออ่านได้ (ขอให้สังเกตว่า ในทั้งสองเล่มนี้ ซึ่งถือเป็นงานวิชาการมาตรฐานด้านนี้ ที่ได้รับการยอมรับทัวไป ไม่มีคำ "neo-marxism" อยู่ ดังที่บอกว่า คำนีร้ ปกติในแวดวงวิชาการเรื่องนี้ในระดับซีเรียสจริงๆ (ไม่ใช่ระดับที่พูดถึงเรื่อง marxism อย่างผิวเผิน จะไม่ใช้กัน)
ยกตัวอย่าง ที่เขียนมาว่า althusser เป็น neo-marxism นั้น ผู้รู้จักอัลทูแซร์ จริงๆ ย่อมไม่เรียกเช่นนี้ (คำที่นิยมเรียกกันคือ structuralist marxism) กลุ่ม Frankfurt School ทั้งกลุ่ม ก็เช่นกัน งานที่พูดถึงคนเหล่านี้อย่างซีเรียส มาตรฐานจริงๆ จะไม่ใช่คำนี้เช่นกัน (แต่งานระดับ นสพ. หรือระดับห่างๆ อาจจะเรียกบางคน เช่น marcuse ว่า neo-marxist บ้าง แต่ก็เฉพาะ marcuse มากกว่าคนอืน อันที่จริง หนังสือเกี่ยวกับ Frankfurt School (ชื่อที่พวกนี้นิยม หรือนักวิชาการนิยม คือ Critical Theory) มีอยู่มาก ที่ไมใหญ่นัก ก็มีหลายเล่ม
อย่างไรก็ดี
ถ้าซีเรียสจะศึกษา marxism หลัง marx ขอเสนอว่า ไม่มีที่ไหนที่เริ่มต้นได้ดีกว่า
หนังสือของ McLellan (เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่เกษียร ยังไม่ไปเรียนนอก เคยพยายาม
หรืออย่างน้อยมีไอเดีย ที่จะแปลเล่มนี้อยู่ ร่วมกับพวกรุ่นน้องบางคน แต่สุดท้าย
ดูเหมือนไม่ได้แปล)
อย่างที่บอกว่า
หากซีเรียสเรื่องนี้จริงๆ ลองเอา McLellan มาพลิกๆดู จะได้ประโยชน์มาก (มีทั้งที่ห้องสมุดรัฐศาสตร์จุฬา
และรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์)
(สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล)
- ต้องขอบคุณสมศักดิ์
อย่างน้อยก็ทำให้คนอ่านระมัดระวังมากขึ้น รวมทั้งเจ้าของบทความด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่มหาลัยเที่ยงคืนน่าจะพิจารณาคือ การกลั่นกรองงานก่อนจะนำมาเผยแพร่ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
ถึงแม้จะเป็นที่เข้าใจกันว่าเจ้าของผลงานจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองเสนอโดยที่มหาลัยเที่ยงคืนไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
แต่มันก็กระทบต่อความน่าเชื่อถือของเวบเหมือนกัน มันสะท้อนว่าเอาจริงเอาจังกับงานวิชาการแค่ไหน
ถ้าเป็นไปได้ก่อนจะนำบทความมาเผยแพร่ มหาลัยเที่ยงคืนน่าจะส่งบทความนั้นไปให้คนที่รู้ดีในเรื่องนั้น
ๆ ลองช่วยอ่านดูซักหน่อย ก่อนจะตัดสินใจว่าจะลงให้หรือไม่หรือไม่ก็แจ้งให้เจ้าของบทความแก้ไขเพิ่มเติมเสียก่อนน่าจะดี
ทำแบบเดียวกับวารสารทางวิชาการ
ถ้ามหาลัยเที่ยงคืนทำเป็นประจำอยู่แล้วในสิ่งที่ผมกล่าวมา ก็ต้องขออภัยด้วย
(ข้อความ 9)
- ขอขอบคุณในการชี้แนะที่น่าสนใจของข้อความที่
9 และขอชี้แจงดังนี้...
ในการพิจารณาบทความดังกล่าวเผยแพร่บนเนื้อที่เว็ปไซต์
ม.เที่ยงคืน ได้คำนึงถึงเหตุผลหลายประการ นอกไปจากมาตรฐานความถูกต้องทางวิชาการในฐานะที่เป็นสถาบันที่เคี่ยวกรำทางวิชาการแบบ
absolutism ทั่วไป
ในที่นี้ บทความชิ้นดังกล่าวเป็นระดับ preresearch และมีลักษณะเป็นงาน comparative introduction เมื่ออ่านแล้วพร้อมตรวจดูเชิงอรรถ จะเห็นได้ชัดเจนว่ายังขาดความหลากหลายของข้อมูลที่นำมาใช้อ้างอิง แต่เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับนิสิตที่กล้านำเสนอ จึงเปิดพื้นที่สาธารณะของ ม.เที่ยงคืนให้เพื่อเป็นการสนับสนุน เช่นดังที่เว็ปไซต์นี้ได้เคยทำมาเป็นประจำ
พร้อมกันนี้
ขอขอบคุณ อ.สมศักดิ์ ที่ช่วยให้คำแนะนำนิสิตที่เขียนบทความชิ้นนี้ด้วย ขอบคุณครับ
(สมเกียรติ ตั้งนโม)
ผมเห็นคล้ายๆ
กับ ความเห็น 6 และ 7 ที่ใช้นาม "สมศักดิ์" (ไม่แน่ใจว่า อาจารย์ตัวจริงท่านเข้ามา
comment เองหรือไม่)
ก็คง Perry
Anderson กับ David McLellan ล่ะครับ ขอฝาก Thomas Bottomore ไว้อีกท่านแล้วกันครับ
อย่างว่าล่ะครับ เวลาเราจะเขียนประวัติศาสตร์ของเรื่องอะไรสักเรื่อง มันก็ต้องเลือกเขียนตาม Theme ซึ่งมันก็ทำให้เราต้องตีความเชิงลากเข้า เช่นกรณีของ สถาบันเพื่อการวิจัยสังคมแห่งมหาวิทยาลัยแฟรงเฟิร์ต ผมเองกลับตีความว่า สถาบันนี้นับตั้งแต่รุ่น ฮอร์คไฮม์เมอร์ มาจนถึงรุ่น อดอร์โน มีความเป็น marxist น้อยเต็มที โดยเฉพาะอดอร์โน บางท่านไปไกลถึงกับกล่าวว่า เผลอๆ เอาเข้าจริงอดอร์โนอาจจะเป็นนิทต์เชี่ยนมากกว่าที่จะเป็นชาวมาร์กซิสต์ด้วยซ้ำ
นี่แหละครับ การเขียนอธิบายเรื่องบางอย่างมันก็หลีกไม่พ้นอาการแบบที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ดีนี่ครับ ที่เปิดโอกาสให้มีการตีความกันได้ต่อไป ไม่ใช่จะหยุดอยู่ที่นักวิชาการผู้ทรงพลานุภาพในการอธิบายคนใดคนหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ผมจึงค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อชี้แจงของอาจารย์สมเกียรติครับ
แต่สุดท้ายแล้วก็ขอร้องให้ทุกท่านทำการบ้านให้หนักที่สุดครับเสียก่อนครับ
เมื่องานออกมาจะผิดจะเพี้ยนอย่างไร ก็ถือซะว่าเป็นครู เป็นโจทย์ให้เราตามแก้ต่อไป
ขอให้กำลังใจกับทุกท่านครับ
(ข้อความที่ 11)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ด้วยเหตุที่เชื่อว่าประชาชน กรรมกร ชาวนาไม่สามารถสำนึกทางชนชั้นด้วยตนเองได้ จะต้องผ่านการให้การศึกษาดังกล่าว และภายหลังปฏิวัติพรรคคอมมิวนิสต์จะยังดำรงอยู่ต่อไป จนกว่าชนชั้นกรรมาชีพจะสามารถปกครองตนเองได้ พรรคคอมมิวนิสต์จึงจะสลายไป. ซึ่งแตกต่างจากมาร์กซีสต์ต้นตำหรับอย่างสิ้นเชิงที่เน้นให้ ชนชั้นกรรมาชีพมีความสำนึกทางชนชั้นได้เอง สามารถลุกฮือขึ้นปฏิวัติได้ด้วยตนเอง และภายหลังของการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ ก็จะปกครองบริหารเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น ท้ายที่สุดก็จะไม่มีกลุ่มคนใดมาควบคุม ปกครอง บริหาร เพราะสังคมประเทศก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่มีแต่ความเท่าเทียมกัน เป็นสังคมที่ปราศจากชนชั้น ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกันและกันอีกต่อไป (คัดลอกมาจากบทความ)