แก้ผ้ามหาอำนาจ - อเมริกันล่อนจ้อน
นาวาเศรษฐกิจสหรัฐฯ
: ฤาจะเป็นเรือไททานิค?
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
นักวิชาการและนักแปลอิสระ
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เรียบเรียง
เรียบเรียง จาก
THE NAKED HEGEMON
Andre Gunder Frank
Part 1: Why the emperor has no clothes
PART 2: The center of the doughnut
www.atimes.com; Jan 6, 2005
หมายเหตุ
:
อังเดร กุนเดอร์ ฟรังก์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน เป็นหนึ่งในเจ้าสำนักทฤษฎีพึ่งพาที่เคยมีอิทธิพลอย่างมากในสมัยทศวรรษ
1960
มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและละตินอเมริกา ผลงานได้รับการแปลไปกว่า
30 ภาษาทั่วโลก
เขามีความรู้ความเชี่ยวชาญไม่เฉพาะในสาขาเศรษฐศาสตร์ แต่ยังสอนและทำงานวิจัยทั้งในสาขา
มานุษยวิทยา, สังคมวิทยา, ภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์, รัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
จัดว่าเป็นนักวิชาการในแนวสหวิทยาการอย่างแท้จริง
และ
What Could Go Wrong in 2005?
Marshall Auerback
www.TomDispatch.com; January 21, 2005
มาร์แชล เอาเออร์แบ็ค เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงินของ David W. Tice & Associates
มีผลงานเขียนให้ Japan Policy Research Institute.
มีงานเขียนเป็นประจำทุกสัปดาห์ที่ prudentbear.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 763
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8.5 หน้ากระดาษ A4)
นาวาเศรษฐกิจสหรัฐฯ : ฤาจะเป็นเรือไททานิค? และอะไรคือภูเขาน้ำแข็ง?
ค่าเงินดอลลาร์ที่ดิ่งลง หนี้ต่างประเทศและการขาดดุลการค้าอย่างมโหฬาร สงครามที่ยืดเยื้อในอิรัก
กำลังสร้างความประหวั่นแก่นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินว่า ประวัติศาสตร์
อาจย่ำรอยเดิม ไม่มีใครอยากเห็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เหมือนในช่วงทศวรรษ
1930 หรือความซบเซาทางเศรษฐกิจเป็นเวลายาวนานหลังสงครามเวียดนาม แต่ที่ร้ายกว่านั้น
หากนาวาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชนภูเขาน้ำแข็งล่มลง เรือไททานิคยักษ์คงไม่จมลงไปลำเดียว
แต่ฉุดลากเรือเล็กเรือน้อยทั่วโลกให้จมลงไปพร้อมกันด้วย
อังเดร กุนเดอร์ ฟรังก์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับเจ้าสำนักทฤษฎีพึ่งพา กล่าวว่าอำนาจของสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนเสาหลักสองเสา นั่นคือเพนตากอนและดอลลาร์กระดาษ หากโลกเปรียบเสมือนโดนัทที่มีรูตรงกลางกลวงโบ๋ รูตรงกลางที่ว่างเปล่านั่นแหละคือระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประเทศอื่น ๆ ในโลกที่เป็นเนื้อวงแหวนโดนัทต้องทุ่มเททุกอย่าง เพื่อเป่าให้รูตรงกลางคงรูปคงร่างและลอยอยู่ได้ มิฉะนั้น โลกโดนัทโลกนี้จะต้องยุ่ยสลายกลายเป็นฝุ่นแป้งไปในพริบตา
หรือมันอาจจะเป็นอย่างที่มาร์แชล เอาเออร์แบ็ค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เปรียบไว้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ คือกองฟางที่ราดน้ำมันจนชุ่มโชก รออยู่แต่ว่าปัจจัยตัวไหนจะกลายเป็นไม้ขีดไฟที่โยนลงไปจุดฟางกองนี้ให้ลุกพรึ่บขึ้นเท่านั้น ขณะที่บนเรือไททานิคเพิ่งเสร็จสิ้นจากการถ่ายทอดสดการแข่งขันเทนนิสระหว่างยอร์จ ดับเบิลยู บุช และจอห์น แคร์รี ซึ่งดำเนินไปอย่างดุเดือดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้โดยสารเรือ (โดยที่ผู้โดยสารลืมดูไปว่า ผู้แข่งขันทั้งสองไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย) เราลองเบนสายตาออกไปนอกเรือและพิจารณาภูเขาน้ำแข็งใหญ่ ๆ บางลูกดีกว่า
ภูเขาหนี้สิน
ภูเขาน้ำแข็งลูกแรกคือปัญหาหนี้สินในสหรัฐฯ สมมติฐานที่มักเชื่อตาม ๆ กันก็คือ
การเพิ่มปริมาณสินเชื่อจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของผู้บริโภค มันอาจใช้ได้ในระยะสั้น
แต่ในระยะยาวนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อดูจากระดับหนี้สินในสหรัฐฯ ที่สูงอยู่แล้ว
การขยายสินเชื่อกลับกลายเป็นตัวถ่วงระบบเศรษฐกิจได้เหมือนกัน สัญญาณมีมาให้เห็นแล้ว
กล่าวคือ แม้จะมีการขยายสินเชื่อครั้งมโหฬารในประวัติศาสตร์ แต่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ภายใต้ประธานาธิบดีบุชสมัยที่แล้วกลับขยายตัวได้อย่างกระปลกกระเปลี้ยเต็มทน
หนี้สินครัวเรือนของลุงแซม เช่น หนี้บัตรเครดิต สูงถึง 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ส่วนรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตอนนี้มีหนี้ถึง 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่สะสมมาตลอดสามสิบปี แต่เพียงแค่สองปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ สร้างหนี้เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ นี่หมายถึงดอกเบี้ยมูลค่า 300 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เท่านี้ยังไม่พอ ล่าสุด สภาคองเกรสอนุมัติเพดานเงินกู้ขึ้นไปเป็น 8.2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อให้เห็นภาพกันชัด ๆ เงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์เทียบได้กับธนบัตรใบละพันดอลลาร์กองสูง 100 กิโลเมตร
ถ้ารวมหนี้สินของภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน กล่าวคือหนี้ครัวเรือน เช่น บัตรเครดิต การจำนอง ฯลฯ หนี้ของผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน หนี้พันธบัตร ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ หนี้ของรัฐบาลทั้งส่วนกลาง มลรัฐและท้องถิ่น จำนวนหนี้ทั้งหมดจะมหึมาจนจินตนาการไม่ออก โดยมีมูลค่าประมาณ 37 ล้านล้านเหรียญ
ในขณะเดียวกัน ชาวอเมริกันที่ถูกกระตุ้นให้บริโภคอยู่ตลอดเวลา มีเงินออมลดลงไปจนเหลือเพียง 0.2% ของรายได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนในประเทศยากจนที่มักมีเงินออม 20-30% ของรายได้ เงินออมของชาวอเมริกันหายไปในมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังโป่งพองเป็นฟองสบู่ หากฟองสบู่แตกเมื่อไร มันจะสร้างผลกระทบเป็นโดมิโนขึ้นมาทันที แค่ตัวแปรตัวนี้ก็สามารถทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะถดถอยเป็นเวลานานได้
ภูเขาเจ้าหนี้ต่างประเทศ
เจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ นั้น ก็คือบรรดาประเทศที่เป็นเนื้อโดนัทของระบบเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เฟื่องฟูมาได้ก็ด้วยการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีปัญญาซื้อสินค้านำเข้า
ซึ่งเท่ากับไปเพิ่มการขาดดุลการค้าอีกทีหนึ่ง โดยที่ชาวอเมริกันไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย
แต่ความมั่งคั่งของสังคมอเมริกันนั้นได้มาจาก "ความเอื้ออาทรของคนแปลกหน้า"
หาใช่ความสามารถทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด (สินค้าเพียงสองอย่างที่สหรัฐฯ สามารถส่งออกคือ
สินค้าทางการเกษตรและอาวุธสงคราม ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอเมริกันจำนวนมหาศาล)
สหรัฐฯ สามารถรีดเร้นเอาความเอื้ออาทรมาจากประเทศต่าง ๆ ก็เพราะมันเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถพิมพ์เงินสำรองของโลกออกมาได้ตามใจชอบ หากมองในแง่เศรษฐกิจล้วน ๆ เงินดอลลาร์ไม่ได้มีมูลค่าอะไรเลยนอกจากแผ่นกระดาษกับน้ำหมึก ลุงแซมสามารถผลักภาระเงินเฟ้อที่เกิดจากการพิมพ์ดอลลาร์ล้นเกิน (ซึ่งเฟ้อไปแล้วอย่างน้อยสามเท่า) ไปไว้ที่ประเทศอื่น ๆ และอย่าลืมว่าหนี้ "ต่างประเทศ" ของสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด เป็นหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ เอง ประเทศอื่น ๆ ทั้งที่เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างก็ต้องมารุมซื้อเงินดอลลาร์จากสหรัฐฯ
ดังนั้น ลุงแซมจึงมีชีวิตมั่งคั่งด้วยการบริโภคความอุดมสมบูรณ์และหยาดเหงื่อแรงงานจากประเทศที่เหลือในโลก สหรัฐฯ ไม่วิตกกังวลเรื่องเงินออมก็เพราะมันดูดซับเงินออมไปจากประชาชนประเทศอื่น ๆ ที่ยากจนกว่า โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่ธนาคารกลางใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ ยังไม่นับนักลงทุนเอกชนที่เอาเงินมาลงทุนในวอลล์สตรีท หากดูเฉพาะธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ในปีหนึ่ง ๆ สหรัฐฯ ได้มากกว่า 100 พันล้านดอลลาร์จากยุโรป กว่า 100 พันล้านดอลลาร์จากจีน 140 พันล้านดอลลาร์จากญี่ปุ่น และอีกหลายสิบพันล้านดอลลาร์จากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงโลกที่สาม
แต่เจ้าหนี้ต่างประเทศที่คอยค้ำชูสหรัฐฯ มาตลอด อาจกลายเป็นภูเขาล่มเรือไททานิคลงได้ ถ้าเพียงแค่เจ้าหนี้บางราย โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ อย่างญี่ปุ่น จีนและยุโรป เกิดตัดสินใจลดการให้เงินกู้ยืมแก่สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ (เรื่องการทวงคืนหนี้เดิมนั้นเป็นอันตัดไปได้ เพราะประเทศเหล่านี้รู้แก่ใจดีว่า มันเป็นไปไม่ได้ และสหรัฐฯ เองก็ไม่เคยคิดจะคืนหนี้ให้ใครเลย แม้ตัวเองจะเรียกร้องให้ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะโลกที่สาม เข้มงวดในการชำระหนี้ก็ตาม)
ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า ประเทศเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น เต็มใจที่จะค้ำจุนสภาพที่เป็นอยู่นี้ไปตลอดกาล เพราะการส่งออกสินค้าและการจ้างงานในประเทศมีมูลค่าเกินกว่าจะยอมเสี่ยงให้ตลาดผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดล่มสลายลง แต่ลองจินตนาการดูว่า หากมีชนวนอะไรสักอย่างที่ส่อเค้าลางให้เห็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น
เกิดวิกฤตการณ์ธนาคารในจีน (ซึ่งโป่งพองเป็นฟองสบู่อยู่แล้วในขณะนี้) ปักกิ่งอาจไม่มีทางเลือก นอกจากเริ่มเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ บางส่วนออกไป เพื่อนำเงินส่วนนี้มาแก้ปัญหาระบบการเงินของตน หรือบรรเทาความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดจากการว่างงานในประเทศ โครงสร้างสถาปัตยกรรมการเงินโลกอันง่อนแง่น อาจพังครืนลงมาทันที
อันที่จริง มีสัญญาณส่อเค้ามาแล้วว่า จีนอาจมีความตั้งใจระยะยาวบางอย่างเกี่ยวกับเงินดอลลาร์ นับแต่ปี ค.ศ. 2001 จีนเน้นการถือครองดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักมาตลอด แต่พอมาปีที่แล้ว ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นถึง 112 พันล้านดอลลาร์ อัตราส่วนของเงินจำนวนนี้ที่เป็นดอลลาร์กลับมีแค่ 25% หรือ 25 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
ปักกิ่งเริ่มแสดงท่าทีว่า มันต้องการกระจายสกุลเงินในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศออกไป และให้ความสำคัญแก่ดอลลาร์น้อยลง ในฐานะเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของอเมริกา หากจู่ ๆ จีนตัดสินใจเคลื่อนย้ายเงินทุนไปที่อื่น สินเชื่อที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันเคยได้มาง่าย ๆ ย่อมเหือดหายลงทันใด อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อาจพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้มาตรฐานการครองชีพของชาวอเมริกันจำนวนมากตกต่ำลงอย่างเฉียบพลัน
ต่อให้จีน
ญี่ปุ่นและประเทศเอเชียตะวันออกอื่น ๆ ร่วมใจกันเป่าฟองสบู่การเงินสหรัฐฯ
ไปเรื่อย ๆ แต่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็อาจถูกจุดชนวนขึ้นมาจากการบริโภคล้นเกินจนส่งผลกระทบต่อการเงิน
การจัดทำงบประมาณขาดดุลและเงินออมครัวเรือนที่เหลือแค่ศูนย์เป็นส่วนผสมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์
ในสมัยทศวรรษ 1980 เมื่อการขาดดุลงบประมาณของส่วนกลางอยู่ในระดับเดียวกัน
แต่ตอนนั้นอัตราเงินออมครัวเรือนยังอยู่ที่ 9% ลองนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้น
หากเกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ขณะที่ไม่มีเงินออมในประเทศเลย
ภูเขาสงคราม
สงครามอิรักที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อเรื้อรังออกไปคล้ายสงครามเวียดนามคือภูเขาลูกต่อไป
หากลองย้อนกลับไปดูสงครามเวียดนาม ในสมัยประธานาธิบดีจอห์นสันและนิกสัน รัฐบาลของสองประธานาธิบดีในสมัยนั้น
หาเงินมาสนับสนุนการทำสงครามด้วยการกู้ยืมและปล่อยให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเช่นกัน
โดยไม่ยอมเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพราะกริ่งเกรงจะเสียความนิยมทางการเมือง ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาจากสงครามเวียดนามคือ
ภาวะวิกฤตซ้ำซ้อนที่ต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 เรื่อยมาจนถึงปี
ค.ศ. 1982
ในแง่หนึ่ง การที่ค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ตลอดปีที่แล้ว (โดยเฉพาะในอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินยูโร) ทั้ง ๆ ที่ธนาคารกลางของหลายประเทศพยายามเข้ามาแทรกแซงแล้วก็ตาม มันสะท้อนถึงการสูญเสียความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการผูกโยงเงินดอลลาร์กับเพนตากอนเพื่อออกไปล่าอาณานิคมยุคใหม่ ประเทศที่ไม่สามารถผลิตสิ่งที่ตัวเองต้องการและหันไปลงทุนในด้าน "ความมั่นคง" ทางการทหารแทน ลงท้ายมันจะพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ต้องใช้กำลังทหารบังคับ หรือขู่บังคับสิ่งที่ต้องการจากคนอื่นร่ำไป
วิธีการแบบจักรวรรดินิยมอาจใช้ได้ผลในช่วงแรก ๆ แต่มันไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน มันก็เหมือนการน้าวสายคันธนูไปเรื่อย ๆ ซึ่งต้องสุดล้าเข้าสักวันหนึ่ง สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับข้อเท็จจริงว่า มันไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ทั้งหมดของตนในโลกได้พร้อมกัน ขณะที่มันทุ่มเทความสนใจไปที่ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกากำลังจะแข็งข้อ สหรัฐฯ ที่มีจีดีพี 11 ล้านล้านดอลลาร์และงบประมาณการทหารเฉียด 500 พันล้านเหรียญ (ไม่นับงบพิเศษเพิ่มเติมอีกหลายสิบพันล้าน) ยังไม่สามารถเผด็จชัยชนะเด็ดขาดเหนือกองกำลังติดอาวุธกระจอก ๆ 10,000-20,000 คน ในอิรักที่มีจีดีพีก่อนสงครามน้อยกว่าบรรษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ เสียอีก
และหากพิจารณาประวัติศาสตร์ให้ดี สหรัฐฯ ไม่เคยทำสงครามชนะประเทศใหญ่ ๆ ประเทศไหนในโลก และแม้แต่ประเทศเล็ก ๆ ก็มีน้อยมากที่สหรัฐฯ ชนะอย่างเด็ดขาด ถ้าจะหลับหูหลับตาอ้างตามหนังฮอลลีวู้ดว่า สหรัฐฯ ชนะญี่ปุ่นและชนะสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในทางประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นขอยอมแพ้สงครามตั้งแต่ก่อนที่สหรัฐฯ จะทิ้งระเบิดปรมาณู และชัยชนะขั้นเด็ดขาดของฝ่ายพันธมิตรที่มีเหนือฝ่ายอักษะเกิดขึ้น เมื่อกองทัพรัสเซียรบชนะกองทัพนาซีที่เมืองสตาลินกราดในปี ค.ศ. 1943 ต่างหาก สหรัฐฯ จะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองหรือไม่ แทบไม่มีผลต่อการยุติสงครามโลกเลย (แต่มีผลอย่างมากต่อโฉมหน้าของโลกหลังสงคราม)
นอกจากเวียดนามที่กลายเป็นความอดสูของมหาอำนาจลุงแซม สหรัฐฯ เคยบุกเกรนาดา (มีประชากรทั้งหมด 300,000 คน) นิคารากัว (โดยอาศัยความร่วมมือจากอิหร่าน) ปานามา (ฆ่าพลเรือนไป 7,000 คนในคืนเดียว เพื่อจับตัวเพื่อนเก่าของบุชผู้พ่อที่มีชื่อว่า มานูเอล นอริเอกา) อิรัก, โซมาเลีย และยูโกสลาเวีย (ยูโกสลาเวียยอมแพ้ก็ต่อเมื่อรัสเซียถอนความช่วยเหลือไปแล้ว) อัฟกานิสถาน (ด้วยความช่วยเหลือของรัสเซียเช่นกัน) และอิรักในปัจจุบัน นอกจากเกรนาดาแล้ว แทบไม่มีประเทศไหนที่สหรัฐฯ เอาชนะได้ด้วยกำลังทหารเพียงอย่างเดียว และในเกือบทุกประเทศที่กล่าวถึงข้างต้น ลงท้ายสหรัฐฯ ก็ต้องไปขอร้องสหประชาชาติให้เข้าไปช่วยเก็บเศษซากที่หลงเหลือจากสงครามทุกครั้ง
ภูเขาน้ำแข็งสีดำที่เรียกว่า
น้ำมัน
แม้ว่าประธานาธิบดีบุชไม่เคยเอ่ยคำว่า น้ำมัน ในคำปราศรัยครั้งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอิรัก
แต่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจดีว่า ปัญหาน้ำมันครอบงำการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ
ดังที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ นายเจมส์ เบเกอร์ กล่าวไว้ในปี ค.ศ. 2001 ว่า
"...โลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะหมิ่นเหม่ต่อการใช้ความสามารถในการผลิตน้ำมันจนถึงขีดสุด มีโอกาสเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงยิ่งกว่าครั้งใดในรอบสามทศวรรษ ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางนโยบายของสหรัฐฯ ในทุก ๆ ด้าน ทั้งนโยบายที่มีต่อตะวันออกกลาง อดีตสหภาพโซเวียตและจีน รวมทั้งการต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ"
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยเสมอ ในสภาพที่รุงรังด้วยหนี้สิน หากราคาน้ำมันยังขึ้นไปเรื่อย ๆ มันอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ โดยเฉพาะถ้าประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่บางราย อาทิเช่น รัสเซีย เริ่มส่งออกน้ำมันเป็นเงินยูโร มันจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวอยู่แล้วดิ่งลงเหวทันที
ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นไม่ได้เป็นเพียงผลสะท้อนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และความขัดแย้งในตะวันออกกลางเท่านั้น ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นต่อไปตลอดสองถึงสามทศวรรษหน้า ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากคือ ความต้องการบริโภคน้ำมันของเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย
แม้ว่าในปัจจุบัน จีนยังคงเป็นเหมือนเพื่อนตายของสหรัฐฯ (คือถ้าใครคนใดคนหนึ่งตาย ย่อมฉุดอีกคนตายตามไปด้วย) แต่ปัญหาการแย่งชิงพลังงาน อาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างเพื่อนตายได้ในอนาคตข้างหน้า. Yukon Huang ที่ปรึกษาอาวุโสของธนาคารโลก ตั้งข้อสังเกตเมื่อไม่นานมานี้ว่า การที่จีนต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมัน (รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง) จะกลายเป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะเวลาอันใกล้นี้ นั่นคือ ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า
จีนเองก็สำเหนียกถึงเค้าลางนี้ดี และเริ่มดำเนินนโยบายระยะยาวที่อาจขัดขาสหรัฐฯ ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี อูโก ชาเวซของเวเนซุเอลา เพิ่งกลับจากการเยือนประเทศจีนในช่วงคริสต์มาส พร้อมกับสัญญาการซื้อขายน้ำมันกับจีน (โปรดอย่าลืมว่า ชาเวซคือหนามยอกอกของสหรัฐฯ ที่ยังบ่งไม่ออก ตอนนี้เวเนซุเอลา คิวบา และบราซิลกำลังได้รับเกียรติเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่ง "อักษะของความชั่วร้าย" ชุดที่สอง) แม้แต่แคนาดาก็กำลังต่อรองที่จะขายหนึ่งในสามของปริมาณน้ำมันสำรองให้จีน
กลุ่มบริษัท CNOOC ซึ่งเป็นบรรษัทด้านน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของจีน กำลังพิจารณาข้อเสนอมูลค่ากว่า 13 พันล้านเหรียญ เพื่อซื้อหุ้นของบริษัทอเมริกันคู่แข่ง-ยูโนแคล เมื่อดูจากขนาดของการทำธุรกรรม เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจีนต้องมีบทบาทอยู่เบื้องหลัง สะท้อนให้เห็นเงาตะคุ่มของการแข่งขันแย่งชิงพลังงานโลกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
น้ำมันกำลังจะเป็นปัจจัยขีดเส้นตายให้เกิดสงครามเย็นระดับโลกครั้งที่สอง ความต้องการพลังงานอย่างไม่สิ้นสุด กำลังผลักดันให้ประเทศผู้ผลิตและบริโภคน้ำมันจับกลุ่มเป็นแนวพันธมิตร มีแนวโน้มให้เห็นว่า การจับกลุ่มเพื่อตั้งประจันกับมหาอำนาจอเมริกันกำลังอยู่ในระยะตั้งไข่ กลุ่มพันธมิตรนี้น่าจะประกอบด้วย บราซิล, จีน, อินเดีย, อิหร่าน, รัสเซีย และเวเนซุเอลา
ประธานาธิบดี ปูตินตอบโต้ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่เข้ามาตั้งฐานทัพในดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรทางด้านอุตสาหกรรมน้ำมันกับอิหร่าน โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดเส้นทางขนส่งน้ำมันจากเขตทางใต้ของทะเลสาบแคสเปียนไปยังอิหร่าน พร้อมกับเสนอหุ้นในบริษัทน้ำมันยูคอส (อดีตบริษัทน้ำมันเอกชนของรัสเซีย ที่รัฐบาลปูตินบีบให้ล้มละลายและยึดมาเป็นของรัฐ) ให้จีน
(นี่อาจเป็นเหตุผลให้ประธานาธิบดีบุชเปรยว่า อิหร่านอาจเป็นเป้าหมายต่อไป เพราะในบรรดากลุ่มพันธมิตรนี้ อิหร่านเป็นข้อต่อที่อ่อนแอที่สุด)
ในโลกมหาอำนาจขั้วเดียว ท่าทีของประเทศเหล่านี้เป็นการท้าทายอย่างน่าหวาดเสียว แต่มันก็เป็นอาการที่ส่อให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาอาจกำลังเป็นยักษ์ในช่วงขาลงเสียแล้ว แต่มันก็ยังเป็นยักษ์ที่พร้อมจะฟาดโลกให้แหลกลาญหากเข้าตาจนขึ้นมา การครองความเป็นใหญ่ทางทหารและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังคงเป็นแกนหลักที่เหวี่ยงโลกไปในทิศทางต่าง ๆ แต่ขีดจำกัดของมันก็เริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ เราคงต้องจับตาดูและตั้งรับให้ดี
หากเรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็ง...?
อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเรือไททานิคของลุงแซมชนภูเขาลูกใดลูกหนึ่ง มันย่อมไม่จมลงไปเงียบ
ๆ ลำเดียว แต่คงระเบิดกัมปนาทไปทั่วโลก การตกต่ำของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งแค่ชะลอตัวหรือถดถอย
จะลดทอนปริมาณการบริโภคของชาวอเมริกันลงสู่ระดับของความเป็นจริง ซึ่งหมายถึงสร้างความเจ็บปวดแก่ประเทศผู้ส่งออกและผู้ผลิตเกือบทั่วโลก
มันอาจขยายกลายเป็นการปรับขบวนเศรษฐกิจโลกขั้นพื้นฐานอย่างถึงรากถึงโคนก็เป็นได้
เมื่อใดที่รูโหว่ตรงกลางขนมโดนัทระเบิดออก เนื้อโดนัทย่อมขาดกระจุยเป็นชิ้น ๆ คนหลายร้อยล้านคนจะต้องประสบกับภาวะวิกฤตอย่างไม่เคยเห็นและนึกภาพไม่ออก เพราะเหตุนี้เอง คนส่วนใหญ่ ไม่ว่ารวยหรือจน มีอำนาจหรือไร้อำนาจ ต่างก็มีส่วนได้ส่วนเสียที่ผูกติดกับระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดังนั้น หากไม่ถึงที่สุด ทุกประเทศที่เป็นเนื้อโดนัทต่างต้องพยายามเป่าลุงแซมต่อไป ถึงจะเป่าจนโป่งเป็นลูกบอลลูนก็ต้องยอม หรือหากจะเปรียบอีกอุปมาหนึ่งก็คือ ทุกคนต้องเสแสร้งต่อไปจนถึงที่สุดว่า จักรพรรดิยังฉลองพระองค์เต็มยศ แม้ความจริงจะแก้ผ้าล่อนจ้อนก็ตาม
การพังทลายของระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งนี้ ย่อมฉุดลากให้โลกทั้งโลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ขณะที่ระบบเศรษฐกิจโลกปรับตัวขนานใหญ่ คนยากไร้ย่อมโดนผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด เมื่อผนวกกับปรากฏการณ์ความแห้งแล้งเอลนีโญ ที่กำลังคุกคามหลาย ๆ ประเทศ ภัยพิบัติคงเลวร้ายสุดคาดคิด
ภูมิภาคที่อาจเอาตัวรอดได้ดีกว่าส่วนอื่น ๆ ในโลก คงจะเป็นเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีปริมาณการผลิตล้นเกิน แต่มีการบริโภคภายในประเทศต่ำเกินไป จีนอาจต้องปรับตัวครั้งใหญ่ และแทนที่จะส่งสินค้าราคาถูกเหมือนของฟรีให้ชาวอเมริกันบริโภค จีนคงต้องหันมาหาตลาดภายในประเทศแทน แต่นั่นหมายถึงการปรับเปลี่ยนทางการเมืองและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในแดนมังกร
หลังจากเรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็ง โลกย่อมเปลี่ยนโฉมหน้าไปโดยสิ้นเชิง แป้งร่วน ๆ ที่เคยเป็นขนมโดนัทจะถูกปั้นเป็นขนมอะไร ย่อมขึ้นอยู่กับมือใครเป็นคนปั้น (หมายถึงถ้ายังมีแป้งและมือคนเหลืออยู่บ้าง!)
ภัควดี วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจาก
Andre Gunder Frank, THE NAKED HEGEMON
Part 1: Why the emperor has no clothes
PART 2: The center of the doughnut, www.atimes.com; Jan 6, 2005
(อังเดร กุนเดอร์ ฟรังก์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน เป็นหนึ่งในเจ้าสำนักทฤษฎีพึ่งพาที่เคยมีอิทธิพลอย่างมากในสมัยทศวรรษ 1960 มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและละตินอเมริกา ผลงานได้รับการแปลไปกว่า 30 ภาษาทั่วโลก เขามีความรู้ความเชี่ยวชาญไม่เฉพาะในสาขาเศรษฐศาสตร์ แต่ยังสอนและทำงานวิจัยทั้งในสาขามานุษยวิทยา, สังคมวิทยา, ภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์, รัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จัดว่าเป็นนักวิชาการในแนวสหวิทยาการอย่างแท้จริง)
Marshall Auerback, "What Could Go Wrong in 2005?", www.TomDispatch.com; January 21, 2005
(มาร์แชล เอาเออร์แบ็ค เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเงินของ David W. Tice & Associates มีผลงานเขียนให้ Japan Policy Research Institute. มีงานเขียนเป็นประจำทุกสัปดาห์ที่ prudentbear.com)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
หนี้สินครัวเรือนของลุงแซม เช่น หนี้บัตรเครดิต สูงถึง 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ส่วนรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตอนนี้มีหนี้ถึง 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่สะสมมาตลอดสามสิบปี แต่เพียงแค่สองปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ สร้างหนี้เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ นี่หมายถึงดอกเบี้ยมูลค่า 300 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เท่านี้ยังไม่พอ ล่าสุด สภาคองเกรสอนุมัติเพดานเงินกู้ขึ้นไปเป็น 8.2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อให้เห็นภาพกันชัด ๆ เงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์เทียบได้กับธนบัตรใบละพันดอลลาร์กองสูง 100 กิโลเมตร
ถ้ารวมหนี้สินของภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน กล่าวคือหนี้ครัวเรือน หนี้ของผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน จำนวนหนี้ทั้งหมดจะมหึมาจนจินตนาการไม่ออก โดยมีมูลค่าประมาณ 37 ล้านล้านเหรียญ