นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ



The Midnight University

รวบรวมบทความวิชาการ ๒ เรื่อง
๗๖๐. ความรู้เศรษฐศาสตร์หลังยุคออทิสติก
๗๖๑. สนามบินใกล้ชุมชน บทเรียนจากสหรัฐฯ
บทความลำดับที่ ๗๖๐ เขียนโดย
พลเรือโทสุธน หิญชีระนันทน์
บทความลำดับที่ ๗๖๑ เขียนโดย
จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 760-761
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)




๗๖๐. เศรษฐศาสตร์หลังยุคออทิสติก
พลเรือโทสุธน หิญชีระนันทน์, สมาชิกอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การใช้คำ "ออทิสติก" (autistic) ในกรณีนี้ เป็นแบบไม่เป็นทางการ หมายถึง ใจปิด ใจแคบ หรือ หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตนเอง (closed-minded หรือ self-absorbed) และได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจทำร้ายความรู้สึกของผู้ที่มีความผิดปกติในกลุ่มออทิสติก เช่น กลุ่มอาการ Asperger มีบางส่วนที่วิจารณ์ว่าการใช้คำ "ออทิสติก" ในความหมายว่า ใจปิด หรือ ใจแคบ กับเศรษฐศาสตร์ที่สอนกันในปัจจุบันนั้น ไม่เป็นธรรม เพราะเศรษฐศาสตร์หลังยุคนวนิยม(หลังสมัยใหม่) (post-modern economics) หลายสาขาได้ละทิ้งโลกทัศน์ที่คับแคบและการพึ่งพาคณิตศาสตร์มากเกินไปอยู่แล้ว

ขบวนการเศรษฐศาสตร์หลังยุคออทิสติก (Post-Autistic Economics ย่อว่า PAE) เกิดขึ้นมาจากผลงานของ Bernard Guerrien นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Sorbonne (ชื่อที่ใช้เรียกกันทั่วไป หมายถึงมหาวิทยาลัยแห่งปารีส) กลุ่มนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ของฝรั่งเศสชั้นหัวกะทิที่ไม่พอใจ ได้เริ่มขบวนการนี้และเป็นที่รับรู้กันมากขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2000 เมื่อมีการให้สัมภาษณ์ใน นสพ.รายวันชื่อ Le Monde และกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษได้สนับสนุนในปีต่อมา โดยจัดพิมพ์เรื่อง "Opening Up Economics: A Proposal By Cambridge Students" มีนักศึกษาลงชื่อ 797 คน

ขบวนการนี้ถือได้ว่าเป็นที่แสดงออกของกลุ่มต่างๆ ที่ไม่พอใจกลุ่มนีโอคลาสสิกซึ่งเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบัน นับตั้งแต่กลุ่มเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เศรษฐศาสตร์นอกกระแส (heterodox) ไปถึง กลุ่มสิทธิสตรี เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และ econo-physics

กลุ่มเศรษฐศาสตร์หลังยุคออทิสติก ได้ท้าทายข้อสมมุติต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานของกลุ่มนีโอคลาสสิก และได้นำความคิดจากสังคมวิทยาและจิตวิทยามารวมในเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ด้วย ส่วนที่มีการวิจารณ์คือ ทฤษฎีอรรถประโยชน์ (การเลือกของผู้บริโภค), ทฤษฎีการผลิตและประสิทธิภาพ (ความเหมาะสมแบบพาเรโต หรือ Pareto optimality) รวมไปถึง ทฤษฎีเกม บทความที่อภิปรายกันมากคือ Is There Anything Worth Keeping in Standard Microeconomics? เรื่องอื่นๆ ก็มี Gross National Happiness, Realism vs. Mathematical Consistency, Thermodynamics and Economics และ Irrelevance and Ideology ผู้เขียนคือ Bruce Caldwell, James K. Galbraith, Robert L. Heilbroner, Bernard Guerrien, Emmanuelle Benicourt, Ha-Joon Chang, Herman E. Daly และ Richard Wolff

สิ่งที่กลุ่ม นศ.เศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสประท้วงในเว็บในเดือน มิ.ย. ค.ศ. 2000
คัดค้าน :

- การขาดความสมจริงในการสอนเศรษฐศาสตร์
- "การใช้ที่ไม่มีการควบคุม" และการปฏิบัติต่อคณิตศาสตร์ในทางเศรษฐศาสตร์ราวกับเป็น "จุดหมายปลายทางในตัวเอง" ทำให้เศรษฐศาสตร์กลายเป็น "autistic science" หลงทางอยู่ใน "โลกแห่งจินตภาพ"
- การครอบงำของทฤษฎีนีโอคลาสสิก และวิธีการที่เป็นสิ่งสืบเนื่องในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และ
- การสอนเศรษฐศาสตร์แบบเผด็จการทางความคิด ทำให้ไร้โอกาสใช้ความคิดแบบวิจารณ์และไตร่ตรอง

สนับสนุน :

- การเน้นในด้านความเป็นจริงทางเศรษฐกิจเชิงประจักษ์และรูปธรรม
- การให้ความสำคัญแก่ศาสตร์ (science) มากกว่าศาสตรนิยม (scientism)
- การมีพหุนิยม (pluralism) ในวิธีการต่างๆ ที่ดัดแปลงให้เข้ากับความซับซ้อนของเรื่องทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจสำคัญส่วนมาก และ
- การให้ศาสตราจารย์ของพวกเขาริเริ่มการปฏิรูปเพื่อกู้เศรษฐศาสตร์ให้พ้นจากฐานะออทิสติก และความไม่รับผิดชอบทางสังคม

บางทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์หลังยุคออทิสติก

" . . . ฐานะใกล้ผูกขาดของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก เข้ากันไม่ได้กับความคิดปกติเกี่ยวกับประชาธิปไตย เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ (science) ในความหมายบางประการ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคตินิยมหรืออุดมการณ์ (ideology) ด้วย การจำกัดขอบเขตเศรษฐศาสตร์ไว้กับแบบแผนความคิด หรือกระบวนทัศน์ (paradigm) แบบนีโอคลาสสิกหมายถึง การตั้งข้อจำกัดทางอุดมการณ์อย่างร้ายแรง ภาควิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นศูนย์โฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง . . . "
Peter Soderbaum

"รายวิชาส่วนมากกล่าวถึง 'โลกในจินตภาพ' และไม่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เป็นรูปธรรมเลย"
Emmanuelle Benicort

"มีความต้องการเร่งด่วนสำหรับเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ใช้การได้จริงจัง พร้อมทั้งทฤษฎีและการวิเคราะห์ที่สามารถช่วยให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม"
Frank Ackerman

" . . . แนวคิดเรื่องการเติบโตที่ผิดหลักการประหยัด ความยากจนที่สะสมเพิ่มขึ้น และขนาดที่ไม่สามารถทำให้ยั่งยืนได้ จะต้องรวมอยู่ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ถ้าจะให้สามารถแสดงว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในโลก นี่คือสิ่งที่นักนิเวศเศรษฐศาสตร์กำลังพยายามทำ"
Herman E. Daly

"การประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ล้มเหลว เพราะอาศัยการเปรียบเทียบที่ชวนให้เข้าใจผิดระหว่างเศรษฐศาสตร์กับฟิสิกส์ เศรษฐศาสตร์จะดีขึ้นมากถ้าทำตามแบบการแพทย์ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดี และถ้าทำตามวิธีวิทยาหาสาเหตุเชิงคุณภาพ"
Donald Gillies

"รายวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจได้หายไปจากห้องเรียนทั่วโลก ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในภาคบังคับของการศึกษาเศรษฐศาสตร์ แต่ถูกปล่อยให้ไปอยู่ในมุมไกลของวิชาเลือกและบางครั้งก็ปิดไปเลย"
Ha-Joon Chang

"ใน [แอดัม] สมิธ คือบทเรียนที่ถูกลืมที่ว่าฐานรากแห่งความสำเร็จของการก่อตั้งสังคมเสรีแบบคลาสสิก ขึ้นอยู่กับการยึดมั่นของแต่ละบุคคลในจริยธรรมสังคมร่วมกัน"
Charles K. Wilber

ท่านที่สนใจจะดูเพิ่มเติมได้จาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Post-autistic_economics
Post-Autistic Economics Network ที่ http://www.paecon.net และ
A Brief History of the Post-Autistic Economics Movement ที่ http://www.paecon.net/PAEhistory02.htm


๗๖๑. สนามบินใกล้ชุมชน บทเรียนจากสหรัฐฯ
บทเรียนจากสหรัฐ"สนามบินยักษ์ใหญ่"ใกล้ชุมชน มลพิษป่วนสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ
จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 8 พย.48
ข้อมูล : นิตยสารไทม์, ARECO, CAAP

ระหว่างขั้นตอนในการวางแผนโครงการก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่ทั่วโลก ปัจจัยความเสี่ยงและผลประโยชน์ด้านต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างคร่ำเคร่ง ประกอบด้วย ปัจจัยด้านความปลอดภัย, ผลประโยชน์ทางการเมือง, การค้าขายระหว่างประเทศ, และการทำธุรกิจในพื้นที่

ส่วนปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่มักได้รับการพิจารณาหลังสุด

อย่างไรก็ตาม ในรอบหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้กับสนามบิน เริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านแผนการขยายสนามบินมากขึ้น ส่งผลให้การก่อสร้างสนามบินใหม่ๆ ต้องหนีออกไปในนอกเขตที่อยู่อาศัย ล่าสุด เมื่อรัฐบาลไทยจะผลักดันให้มีการตั้ง "ชุมชนเมือง" ขึ้นมาโดยรอบสนามบิน "สุวรรณภูมิ" ก่อให้เกิดคำถามถึงความโปร่งใสของนโยบาย รวมทั้งความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อมและผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน

ในสหรัฐอเมริกานั้นมีสนามบินเชิงพาณิชย์มากกว่า 500 แห่ง ในจำนวนนี้ 50 แห่งมีปริมาณเครื่องบินขึ้นลงถี่ยิบประมาณ 4 นาทีต่อเครื่อง

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 หรือ 10 กว่าปีก่อนที่ผ่านมา มีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันเพิ่มอำนาจต่อรองกับสนามบินและสายการบิน เช่น กลุ่ม "ARECO" ซึ่งเรียกร้องให้สนามบิน "โอแฮร์" ในนครชิคาโก ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมอย่างดี และกลุ่มพลเมืองต่อต้านมลพิษจากสนามบิน "CAAP" ที่พยายามเข้าไปควบคุมให้สนามบินซานโฮเซ่ จัดตารางบินใหม่เพื่อลดมลภาวะทางเสียง

กลุ่มประชาชนเหล่านี้รวมตัวเป็นเครือข่าย คอยให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อจะได้ตัดสินใจถูกว่าจะสนับสนุนโครงการขยาย หรือสร้างสนามบินแห่งใหม่ในชุมชนของตนหรือไม่ นอกจากนั้น ยังคอยกดดันให้สนามบินดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน

"สนามบิน"จุดรวมมลพิษ
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า สนามบินเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษรายใหญ่ ทั้งมลพิษทางเสียง น้ำ และอากาศ
สนามบินเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 : ต้นเหตุโลกร้อน) สารอินทรีย์ไอระเหย (VOCs) และไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) สู่ชั้นบรรยากาศ และยังปล่อยสารเคมีเป็นพิษที่เกิดจากการทำความสะอาดเครื่องบินลงสู่แหล่งน้ำอีกด้วย

ปัญหามลพิษทางอากาศของพื้นที่โดยรอบสนามบินไม่ได้มาจากเครื่องบินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมาจากรถยนต์และยวดยานพาหนะต่างๆ ที่แออัดเข้ามารับส่งสินค้าและผู้โดยสาร ส่วนมลพิษทางเสียงจากสนามบิน คือ วิบากกรรมอันดับต้นๆ ที่คนบ้านใกล้สนามบินต้องเผชิญ

ศาสตราจารย์อาร์ลีน บรอนซาฟต์ นักวิชาการมหาวิทยาลัย "เลห์แมน คอลเลจ" นครนิวยอร์ก สหรัฐ ศึกษาพบว่า… บุคคลที่บ้านตั้งอยู่ในเส้นทางการบินขึ้นลงของเครื่องบิน และรู้สึกรำคาญต่อเสียงดังที่เกิดขึ้น จะมีสุขภาพแย่กว่าคนทั่วไป

งานวิจัยของศาสตราจารย์แกรี่ อีวานส์ นักวิเคราะห์สภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยคอร์แนล นิวยอร์ก เมื่อหลายปีก่อน พบว่า… เด็กที่เติบโตขึ้นมาในย่านชุมชนใกล้กับสนามบิน หรือต้องเรียนหนังสือในย่านดังกล่าว ซึ่งมีเสียงเครื่องบินดังบ่อยครั้งจะเรียนรู้ช้า เพราะการรับฟังไม่สมบูรณ์ ฟังและแยกแยะความต่างของคำต่างๆ ไม่ออก

งานวิจัยชิ้นอื่นๆ ยังชี้ด้วยว่า มลพิษทางเสียงจากสนามบินส่งผลทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ และขาดความสุขจากการได้ยิน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะส่งผลทำให้ "สุขภาพจิต" ของคนๆ นั้นไม่ดีตามไปด้วยในเวลาต่อมา นอกจากนั้น เสียงอึกทึกปวดแก้วหูของสนามบินจะทำให้ "ราคาที่ดิน" โดยรอบตก

บทเรียนจากสหรัฐฯ
ในส่วนของการปล่อยสารเคมีเป็นพิษออกมาปนเปื้อนสภาพแวดล้อม กลุ่ม "ARECO" และพันธมิตรในสหรัฐ เช่น สภาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และกลุ่มประชาชนเฝ้าระวังธุรกิจการบิน (US-CAW) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลสารพิษที่ปล่อยออกจากสนามบินและเครื่องบินได้นับร้อยรายการ

ยกตัวอย่างเช่น Freon 11, Methyl Bromide, Trimethybenzene, Benzene, Nitric Acid, Nitrogen Oxide, Sulfulric Acid, Carbonmonoxide, Acethane, Styrene, Nitrites, Phenol, 4-Ethyl Toulene, 1-8 Dinitropyrene และ 3-Nitrobenzanthrone ซึ่งสารตัวหลังสุดนี้เป็น "สารก่อมะเร็ง" มีพิษร้ายแรง

นอกจากนี้ สนามบินเป็นแหล่งพ่นสารกลุ่ม "อินทรีย์ไอระเหย" (VOCs) จำนวนมาก โดยท่าอากาศยานใหญ่ๆ อาทิ สนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ. เคเนดี้ ของสหรัฐเพียงแห่งเดียวปล่อยสาร VOCs และไนโตรเจนออกไซด์ในปริมาณสูงถึง 100 ตัน ภายใน 1 ปี สาร VOCs ส่งผลกระทบทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบประสาท และอาจก่อให้เกิดมะเร็งถ้าได้รับสารประเภทนี้เป็นเวลานานๆ อาการเจ็บป่วยเพราะมลพิษทางอากาศจากสนามบินไม่ใช่สิ่งที่จะปรากฏให้เห็นช่วงข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาสะสมพิษนานนับสิบปี

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2540 สำนักงานสาธารณสุขสหรัฐประจำเขตซีแอตเติล-คิง ออกสำรวจสถิติผู้ป่วยตามโรงพยาบาลหลายเขตของเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน พบว่า… ประชากรย่านจอร์จทาวน์ เมืองซีแอตเติล ซึ่งมีบ้านพักอาศัยรายล้อมรอบท่าอากาศยานนานาชาติ "คิงเคาน์ตี้" มีสถิติล้มป่วยสูงกว่าประชากรย่านอื่นในเมืองซีแอตเติล ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด ปอดอักเสบ โรคทางเดินหายใจ และโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่น่าวิตกก็คือ สถิติเด็กทารกแรกคลอดและเสียชีวิตในย่านจอร์จทาวน์สูงกว่าย่านอื่นร้อยละ 50 และประชากรย่านนี้มีอายุขัยเฉลี่ย 70.4 ปี นับว่าน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ในซีแอตเติลที่มีอายุ 76 ปี

การรุกรานแหล่งน้ำ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญอีกข้อหนึ่งที่กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและกลุ่มภาคประชาชนวิตก ได้แก่ เรื่องของสารเคมีเป็นพิษที่ไหลลงไปในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาร "ไกลคอล" (Glycol) ซึ่งทางสนามบินต้องนำมาผสมกับน้ำและฉีดพ่นตัวเครื่องบิน เพื่อละลายคราบน้ำแข็งและป้องกันไม่ให้น้ำแข็งก่อตัวขึ้นมาขัดขวางการทำงานของปีกขณะทำการบินอยู่ที่ระดับสูงๆ

มาร์ก วิลเลียมส์ ผู้ช่วยโครงการดูแลสิ่งแวดล้อมประจำสำนักงานควบคุมการบินรัฐแมรี่แลนด์ของสหรัฐ ยอมรับว่า ถ้าสนามบินไม่มี "ระบบบำบัดน้ำเสีย" ที่ดีพอ ก็มีความเป็นไปได้ที่สารไกลคอล จะหลุดรอดออกไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนรอบๆ สนามบิน พิษภัยของสารไกลคอลที่ว่านี้คือ ทำลายออกซิเจนในน้ำ ฆ่าสัตว์น้ำ ถ้าเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ในปริมาณมากๆ เกิน 3 ออนซ์ในครั้งเดียวอาจถึงตาย ถ้าได้รับน้อยๆ พิษจะค่อยๆ สะสมทำลายไต และทางอุตสาหกรรมการบินก็รู้ถึงอันตรายของสารตัวนี้ดี จึงกำลังทดลองพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อสร้างความร้อนแก่โครงสร้างเครื่องบนป้องกันน้ำแข็ง โดยหนึ่งในนั้นคือวิธียิงแสง "อินฟราเรด" เพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายนอกตัวเครื่องบิน

ผลกระทบจากการสร้างสนามบินขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่รัฐควรเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ เพราะเกี่ยวพันโดยตรงกับชีวิตคนในพื้นที่รอบๆ ที่ตั้งสนามบิน

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 760 เรื่อง หนากว่า 11000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่านหากนำบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไปใช้ประโยชน์ กรุณาอ้างอิงถึงแหล่งที่มาและ email ถึง midnight2545(at)yahoo.com
R
นักศึกษา สมาชิก สามารถคลิกที่ชื่อเรื่องเพื่อนำไปสู่บทความได้