The Midnight University
ทัศนะของสองนักวิทยาศาสตร์ไทย
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการขยายสนามบินเชียงใหม่
ประสาท
มีแต้ม
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ชัชวาล
ปุญปัน
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ
บทความวิชาการ ๒ ชิ้น เป็นบทวิพากษ์เรื่องวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสังคม
ประกอบด้วย
๑. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย?
๒. จับตาการก่อการร้ายทางสิ่งแวดล้อม
กรณีขยายรันเวย์ สนามบินเชียงใหม่
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 749
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)
"โครงการการจัดการความรู้เรื่องพลังงาน" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพลังงานที่เชื่อมโยงไปถึงผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน จึงขอถือโอกาสนำเสนอบทความชิ้นนี้ว่า ทำไมรัฐบาลจึงได้เสนอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ในขณะเดียวกันก็กีดกันการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าเล็กๆที่ผลิตจากขี้หมูหรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านคนทั่วไป
โดยในตอนนี้ผมจะนำเสนอปัญหากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการพลังงานไฟฟ้า ทำให้รัฐบาลทักษิณอ้างว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการของทั้งประเทศ จนต้อง "ปัดฝุ่น" โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมา ทั้งๆที่กระแสสังคมทั่วโลกต่างรู้สึกกลัวอันตรายหลังจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศยูเครนเมื่อปี 2529
กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการพลังงานไฟฟ้า
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียงประเด็นเดียวที่สำคัญมากและเป็นอุปสรรค คือกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
กับผู้ผลิต ไฟฟ้ารายย่อยที่ผลิตจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวมวล เช่น จากขี้หมู ชานอ้อย
ด้วยกฎหมายนี้จึงส่งผลให้กิจการดังกล่าว ไม่สามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น
จากนั้นจะนำเสนอให้เห็นว่ากฎหมายในประเทศเยอรมนีที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของกังหันลม
และเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านนับหลายแสนราย และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้อย่างไร
เชื้อเพลิงจากขี้หมู ชานอ้อย กังหันลมและแสงอาทิตย์ ถูกจัดให้เป็นพลังงานหมุนเวียน(Renewable Energy) เพราะใช้แล้วไม่มีวันหมดหรืองอกใหม่ขึ้นมาแทนที่ตนเองได้(replace itself) ตรงกันข้ามกับพลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้หมดแล้วก็หมดเลย งอกหรือสร้างขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้
การนำขี้หมูมาหมักให้ได้ก๊าซแล้วนำก๊าซไปผลิตไฟฟ้า นอกจากจะได้ใช้ไฟฟ้าสมใจนึกแล้วยังช่วยลดปัญหากลิ่นและมลพิษตลอดจนการทำลายแหล่งน้ำอันเป็นที่มาของปลา แหล่งโปรตีนอันโอชะของผู้คนจำนวนมากอีกด้วย แต่ทำไมเรื่องที่ดีงามอย่างนี้จึงกลายเป็นปัญหาในบ้านเรา
คุณสมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มหมูขนาด 5 หมื่นตัว จากตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้กล่าวในเวทีเสวนาแห่งหนึ่งด้วยความน้อยใจว่า "ทาง กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าที่ผมผลิตได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ก๊าซที่เหลือผมต้องปล่อยทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย" นอกจากนี้คุณสมชายยังได้เสริมอีกว่า "ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีในการนำเข้าเครื่องจักร เพราะได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่กรณีของผมต้องเสียภาษีนำเข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถึงร้อยละ 20 และต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 นี่เป็นความไม่เป็นธรรม"
ในกรณีการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยของโรงงานน้ำตาล ผู้ประกอบการโรงน้ำตาลท่านหนึ่ง ที่อดีตเคยเป็นรัฐมนตรีช่วย ได้เล่าให้ผมฟังว่า "ทาง กฟผ. ถือว่าโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากชานอ้อยเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่แน่นอน คือมีชานอ้อยเพียงบางฤดูเท่านั้น ดังนั้น กฟผ.จะรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่ต่ำกว่าของโรงไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอดทั้งปี แล้วผมจะเอาชานอ้อยที่ไหนมาป้อนโรงงานได้ทั้งปี อย่างนี้ถือว่าไม่เป็นการส่งเสริมจริง"
ท่านผู้อ่านอาจคิดว่า ขี้หมูและชานอ้อยที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างปัญหานั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดจำนวนมหึมา แต่กฎหมายในลักษณะนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการผลิตไฟฟ้าที่จากกังหันลมและจากแสงอาทิตย์ ซึ่งมีจำนวนมหาศาลที่สามารถได้มาฟรีโดยไม่ต้องซื้อ
ในประเทศเยอรมนีรวมทั้งอีกหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีกฎหมายที่เรียกว่า "ฟีดอินลอ (Feed in Law)" สาระสำคัญของกฎหมายนี้มี 2 ประเด็น คือ
- หนึ่ง
ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกังหันลม แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวมวล หรืออื่นๆ ไม่ว่าโดยใครก็ตาม
ทางผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า ต้องรับซื้อหรืออนุญาตให้ส่งกระแสไฟฟ้านั้นเข้าสู่ระบบสายส่งรวมได้ทั้งหมด
การมีกฎหมายข้อนี้จะช่วยให้ ผู้มีแผงเซลล์แสงอาทิตย์(หรือโซลาร์เซลล์)บนหลังคาบ้าน
ของตนเองสามารถขายไฟฟ้าที่ตนผลิตได้แต่ไม่ได้ใช้ในตอนกลางวันที่ยาวนานถึง 10
ชั่วโมงได้ ครั้นถึงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่ตนต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ก็สามารถซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการได้
ทำนองเดียวกันทำให้เจ้าของกังหันลมที่ผลิตได้เยอะในช่วงที่ลมพัดแรง สามารถขายไฟฟ้าได้เงินจำนวนมาก ครั้น ถึงเวลาจะใช้เอง(ซึ่งอาจไม่มีลมแล้ว)ก็ซื้อไฟฟ้าจากสายส่งได้ การเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ในภายหลังจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆก็คล้ายกับตลาดสดในชนบท ใครผลิตได้เหลือใช้ก็นำสินค้ามาขาย อะไรที่ตนไม่มีก็ซื้อกลับบ้าน
- สอง พื้นที่ที่ใดที่มีลมไม่แรงนัก แต่มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ เขาจะรับซื้อไฟฟ้าในราคาแพงกว่าพื้นที่ซึ่งลมพัดแรงดีมาก นอกจากนี้ในช่วง 5 ปีแรกของสัญญาเขาจะรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าช่วง 15 ปีสุดท้าย ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าของกังหันลมได้ทุนคืนเร็วขึ้น ส่วนผู้ประกอบการไฟฟ้าซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่จะได้กำไรมากขึ้นในช่วง 15 ปี หลังเพราะคาดว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นกว่าเดิมด้วย
สำหรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งมีต้นทุนสูง(แต่กำลังจะถูกลงกว่าเดิมถึง 5 เท่าตัวในเร็วๆ นี้ เพราะเทคโนโลยีใหม่) เขาต้องรับซื้อในราคาที่แพงมาก เช่น สมมุติว่า ในขณะที่ราคาไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่ายหน่วยละ 10 บาท กฎหมายฉบับนี้บังคับให้ผู้ประกอบการรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ถึงหน่วยละ 50 บาท ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงหน่วยละ 5 บาทเท่านั้น (หมายเหตุ - ตัวเลขที่ยกมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการประมาณเพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ เท่านั้น)
จากที่กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นว่า "ฟีดอินลอ" เป็นกฎหมายที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะต่อสังคมโดยรวมดีขึ้นได้ กล่าวคือ ไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์ช่วยลดมลพิษที่เกิดจากถ่านหิน มีการเกลี่ยเฉลี่ยความได้เปรียบ-เสียเปรียบจากธรรมชาติให้แก่ทุกภาคส่วน. ผมอยากจะเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า "กฎหมายเอื้ออาทร" อย่างแท้จริงเพราะใช้กลไกของธรรมชาติอยู่เหนือกลไกการตลาด ไม่ใช่เอื้ออาทรในความหมายที่รัฐบาลทำอยู่
กับดักพลังงาน
การที่กฎระเบียบของไทยเราเป็นไปในลักษณะกีดกันไม่ให้คนทำธรรมดา รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องพลังงานนั้น จะมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการวางแผนหรือสร้าง
"กับดัก" ให้คนทั้งหลายต้องยอมจำนนต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั่นเอง
พร้อมๆกับการสร้างกับดักดังกล่าวก็คือ การปล่อยชุดความคิดออกมาครอบสังคมให้เชื่อตาม เช่น เมืองไทยเราลมไม่แรงพอที่จะทำไฟฟ้าได้ (ทั้งๆที่มีการศึกษาวิจัยโดยกระทรวงพลังงานเองแล้วว่า ทำได้ถึง 1,600 เมกะวัตต์) ต้นทุนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังแพงอยู่ เป็นต้น
กิจการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ว่าใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือสารนิวเคลียร์ ล้วนแต่เป็นกิจการที่ผูกขาดและรวมศูนย์ตามธรรมชาติของธุรกิจ นอกจากผลประโยชน์ทางธุรกิจจะตกอยู่กับพ่อค้าและนักการเมืองจำนวนน้อยและก่อมลพิษต่างๆนานาต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีปัญหาต่อการจ้างงานของคนอีกด้วย
เอกสารที่ชื่อ "Solar Generation" โดย กรีนพีช(ค้นได้ทั้งฉบับจาก google.com) พบว่าปัจจุบันกิจการแผงเซลล์แสงอาทิตย์สามารถสร้างงานได้ถึง 1 ล้านคนทั่วโลก และจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคนในปี 2563 ในขณะที่กิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถจ้างคนได้จำนวนนิดเดียว ปัญหาพลังงานจึงเกี่ยวพันถึงการว่างงานของคนที่กำลังวิกฤตมากขึ้นทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นตรงกันว่า เรื่องพลังงานเชื่อมโยงอย่างแน่นเหนียวกับปัญหาความยากจน ไม่มีรัฐบาลใดสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้โดยไม่นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้
สังคมไทยจะข้ามพ้นกับดักได้อย่างไร
เราต้องช่วยกันทำให้สังคมได้รู้เท่าทันถึงแผนกลยุทธ์ของกลุ่มพ่อค้าพลังงานทุกระดับ
ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายพลังงานของรัฐ คนพวกนี้จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะบอกสังคมว่า
พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม เป็นพลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนแพง ไม่มั่นคง
"แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาสามารถผูกขาดดวงอาทิตย์ได้ เมื่อนั้นพวกเขาคงจะพูดอีกอย่างที่ตรงกันข้ามกับวันนี้"
นอกจากสังคมไทยจะต้องรู้เท่าทันให้ได้แล้ว เรายังต้องร่วมกันผลักดันเชิงนโยบายด้วยครับ
๒. จับตาการก่อการร้ายทางสิ่งแวดล้อม กรณีขยายรันเวย์
สนามบินเชียงใหม่
ชัชวาล ปุญปัน
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ลองนึกดูว่า คุณนอนเล่นตามปกติอยู่ดีๆ จู่ๆ มีคนมาบอกว่า บ้านที่คุณอาศัยอยู่นี้
จะได้รับผลกระทบจากเสียงขึ้นลงของเครื่องบินอย่างจัง เขายินดีทำประกันสุขภาพให้
ยินดีติดตั้งเครื่องป้องกันเสียงที่จะแผดดังในชุมชนของคุณไม่ต่ำกว่า 50 ครั้งต่อวัน
และจะขยายไปถึง 100 ครั้งต่อวันในอนาคตอันใกล้ หนักกว่านั้นเขายินดีย้ายบ้านให้คุณเลย
ยินดีและยินดี ที่จะทำอะไรก็ได้ ที่จะใช้เงินฟาดหว่านไปให้ แต่ขออย่างเดียว
ขอขยายทางวิ่งของสนามบินออกมาทางชุมชนของคุณ เพื่อต้อนรับเที่ยวบินตรงจากลอนดอนและทั่วโลก
เพื่อความเป็นสนามบินนานาชาติให้ได้. เขาบอกว่า นี่ยังดีที่เขารับผิดชอบทำ
EIA หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย เขาจะไม่ทำ EIA ก็ได้ถ้าไม่ขยายรันเวย์
แม้ไม่ขยายเครื่องบินก็ลงได้อยู่แล้ว และเพราะทำ EIA คุณจึงจะได้รับความอนุเคราะห์ต่างๆจากเขาไง
และไม่ว่าคุณจะเห็นอย่างไร หน่วยงานเทวดาที่จะตัดสินให้โครงการนี้ได้รับอนุมัติ เขาก็ไม่สนใจเสียงของคุณหรอก เขาจะต้องผ่านให้ตามระเบียบราชการอยู่แล้ว ฉะนั้น คุณควรยอมจำนน เข้ารับการอุปถัมภ์ เยียวยาความเสียหายจากเขาเสียแต่โดยดี และเขาเองก็จะพิจารณาข้อเรียกร้องของคุณตามความเหมาะสม
เมื่อท่านรวบรวมสติ
ปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดมาตรองดูแล้ว ก็เริ่มมองเห็นว่าทุกอย่างถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ
และที่สุดแล้วไม่สามารถเรียกเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่านี่คือกระบวนการก่อการร้ายทางสิ่งแวดล้อม
ที่ก่อความหายนะให้กับสังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่จนทุกวันนี้
เรื่องจริงมีอยู่ว่า
บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. ต้องการจะขยายทางวิ่งของสนามบินเชียงใหม่
ให้ยาวไปทางทิศเหนืออีก 300 เมตร แน่นอนว่าพื้นที่ทางทิศเหนือที่ติดสนามบิน
จะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะจากเสียงอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนตลาดต้นพยอม
,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วัด, มหาวิทยาลัยสงฆ์ ,โรงเรียนอนุบาลถึงมัธยม ,โรงพยาบาล
รวมทั้งหมู่บ้านรอบสนามบินทั้งหมด แผ่ไปจนถึงบริเวณที่ไม่เคยกระทบ ก็จะได้รับผลไปด้วย
เมื่อจะขยายทางวิ่ง ก็ต้องทำ EIA ตามกฎหมาย ทาง ทอท. ได้ว่าจ้างบริษัทเซ๊าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด หรือบริษัทซีเทค ด้วยเงิน 3 ล้านกว่าบาท ให้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 5 เดือน นับแต่พฤศจิกายน 2546 จนถึง เมษายน 2547 รายงานEIA นี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแห่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547
ถามว่า มีผู้คนที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบจำนวนเท่าไร ที่ทราบเรื่องเหล่านี้ แทบไม่มีใครรู้เลย จนเมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แสดงท่าที "ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง" กับโครงการนี้ และอาจเป็นได้ว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้บริษัทมาหยั่งเสียงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดู ว่าจะเอาอย่างไร จึงเกิดมีการนัดหมายประชุมขึ้น นั่นก็เมื่อผ่านไปอีกเกือบปี คือเมื่อ 30 กันยายน 2548 นี่เอง
มหาวิทยาลัยจึงให้แต่ละคณะและสถาบัน ส่งผู้แทนมาร่วมปรึกษาหารือ โดยมีรองผู้จัดการบริษัทท่าอากาศยานฯมาชี้แจง ร่วมกับบริษัทที่ทำ EIA น่าสังเกตว่า บริษัทได้นำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วและไม่มีเอกสารแจกให้ศึกษา ทาง ทอท.ชี้แจงกับที่ประชุมว่า การขึ้นลงของเครื่องบินยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่ได้เกี่ยวกับการขยายรันเวย์ออกไป คือไม่ว่าจะขยายรันเวย์ไปทางตลาดต้นพยอมอีก 300 เมตร แต่เครื่องก็ยังลงจุดเดิม เหมือนกับตอนที่ไม่ขยาย จึงไม่มีปัญหาอะไรมาก
ฟังแล้วชวนให้สงสัยว่า แล้วจะขยายไปทำไม? จะขยายรันเวย์เพื่อจะต้องทำ EIA เพื่ออะไร ?
ประการต่อมา มีข้อเสนอต่อกรรมการ ตัวแทนของมหาวิทยาลัยว่า หากหน่วยงานใดที่คิดว่าจะได้รับผลกระทบจากเสียงจนทำอะไรไม่ได้ จะย้ายไปสร้างใหม่ ก็จะพิจารณาสร้างให้ เช่น หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มช. เป็นต้น หรือที่อื่นๆก็ให้มาเจรจากัน จะได้ติดตั้งอุปกรณป้องกันเสียง จะเยียวยา จะดูแลตลอดไป
ภายหลังซักถามและหารือ ที่ประชุมมีมติยืนยัน ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ บางท่านเสนอให้ย้ายสนามบินออกไป โดยมีข้อมูลจากผลการวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ทำไว้แล้วเป็นต้น
กรรมการมีความเห็นว่า ในกรณีนี้ มหาวิทยาลัยควรทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม, ผลกระทบทางเศรษฐกิจ, ผลกระทบทางสังคม และผลกระทบทางสุขภาพ เองอย่างเป็นอิสระ เพื่อเผยแพร่คู่ขนานไปกับอีไอเอของบริษัท โดยให้สาธารณชนเป็นผู้วินิจฉัย กำหนดอนาคตของตนเองต่อไป
โดยหวังว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะรับฟังเสียงจากประชาคมต่างๆของเชียงใหม่ รวมทั้งบุคคลทั่วไป ที่ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงที่สุด แต่ไม่ทราบว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะฟังหรือไม่ ? การพิจารณาอนุมัติ ให้รายงาน EIA ของบริษัทผ่านในขั้นตอนสุดท้ายเร็วๆนี้ โดยไม่ฟังใคร ก็คงเป็นเครื่องพิสูจน์จุดยืนของคณะกรรมการชุดนี้ได้อย่างดี
มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น หลังการประชุมหารือดังกล่าว นั่นคือภายหลังรองอธิการบดีฝ่ายจัดการระบบกายภาพ มช.ในฐานะประธาน ได้ปิดประชุม และนำเอกสารข้อสรุปออกไปพิมพ์ เพื่อเอากลับมาแจกให้กรรมการนั้น ตัวแทนของบริษัทซีเทค ได้นำรายชื่อของผู้เข้าร่วมประชุม มาให้กรรมการแต่ละคนเซ็น ซึ่งไม่ทราบว่า ตัวแทนบริษัทได้รายชื่อไปอย่างไร ทำไมต้องเอามาให้เซ็น ที่สำคัญหัวกระดาษไม่ได้เขียนว่า "รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม" หากแต่เขียนทำนองว่า กรรมการตัวแทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ร่วมทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ที่สุดแล้ว ขอถามรัฐบาลทักษิณ,คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด(มหาชน)ว่า เด็กแรกเกิดที่ตลาดต้นพยอม จะได้ยินเสียงแสบแก้วหูของเครื่องบิน ประมาณ 50 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 18,250 ครั้งต่อปี และเมื่ออายุถึง 10 ขวบ ถ้าหูไม่พิการ เขาคงจะมีวาสนาได้ยินมันไม่ต่ำกว่า 182,500 ครั้ง เป็นลูกหลานของท่านจะทำอย่างไร ?
น่าสนใจด้วยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จะสู้กับกระบวนการเหล่านี้ และปกป้องคุ้มครองไม่แค่เฉพาะตนเอง แต่ต้องรวมไปถึงเป็นปากเสียง
ให้กับชุมชนชาวบ้านทั้งหลายได้ด้วยหรือไม่? หรือว่าควรยอมจำนน.
พฤหัส ๒๗ ตค. ๔๘
เพิ่มเติม :
เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว [ประมาณปี ค.ศ.1958] หลังจากได้มีการพัฒนาการบินพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาขึ้น
เรื่องมลภาวะทางเสียงเป็นปัญหาอย่างมากต่อสุขภาพของผู้คนและชุมชน ทั้งในทางจิตวิทยาและสรีรวิทยา
รวมถึงพฤติกรรม ดังนั้นจึงมีการใช้กฎหมาย ใช้หลักวิศวกรรม และหลักสถาปัตยกรรมท่าอากาศยานสากลทั่วโลกมาแก้ปัญหา
โดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางด้านเสียงและมลภาวะอื่นๆที่มีต่อผู้คนและชุมชน
ด้วยเหตุนี้จึงมีการวางนโยบายให้สร้างสนามบินห่างไกลจากชุมชน เป็นเรื่องปรกติ
ในส่วนของการขยายสนามบินในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ดังปรากฏในบทความข้างต้นนี้
จึงขัดกับหลักการที่กล่าวมาแล้ว และน่าสังเกตว่าเป็นเรื่องที่ผิดปรกติอย่างยิ่ง
จนต้องมีการเยียวยาและย้ายสถานที่ของทางราชการบางส่วน
ผู้สนใจสามารถหาอ่านเรื่องเพิ่มเติมดังกล่าว
สามารถค้นหาได้จากเรื่อง
Airport noise pollution: Is there a solution
in sight
Boston College Environmental Affairs Law Review, Summer
1999 by Falzone, Kristin L
http://www.findarticles.com/p/articles/mi_qa3816/is_199907/ai_n8847747
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
Free Documentation
License
Copyleft : 2005, 2006, 2007
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies
of this license document, but changing it is not allowed.
ลิขซ้าย 2548, 2549,
2550 : สมเกียรติ
ตั้งนโม
ผู้ที่นำข้อมูลวิชาการฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เผยแพร่ หรืออ้างอิง โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ได้รับความยินยอมจากผู้เรียบเรียง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
โดยกรุณาระบุถึงเว็ปไซต์ และ URL มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org