The Midnight University
ประวัติศาสตร์จีนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
จีนกับการปฏิวัติวัฒนธรรมและภาพยนตร์เกี่ยวเนื่อง
ภาคินัย
แก้วน้ำ
นักศึกษาปริญญาตรีปีสุดท้าย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเหตุ
: บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานประวัติศาสตร์การปฏิวัติวัฒนธรรม
กระบวนวิชา ประวัติศาสตร์จีนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2548
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำชี้แจงของกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รายงานฉบับสมบูรณ์ชิ้นนี้ยาวประมาณ 25 หน้า ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายบท
ทางกองบรรณาธิการเว็ปไซต์ ได้คัดเลือกมานำเสนอเป็นบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมดังนี้
ส่วนที่ ๑. ทศวรรษแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม,
๑๙๖๖-๑๙๗๖ และ
ส่วนที่ ๒. ว่าด้วยภาพยนตร์กับประวัติศาสตร์การปฏิวัติวัฒนธรรม
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 758
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)
ประวัติศาสตร์จีนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ว่าด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรม
ส่วนที่
1.
ทศวรรษแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม, 1966-1976
ในปี ค.ศ.1962 เหมาเจ๋อตุงเริ่มออกโรงโจมตี เนื่องจากความไม่สบายใจว่าแนวโน้ม
"ทุนนิยม" และแรงต้านสังคมนิยมกำลังคืบคลานเข้ามามากขึ้นเรื่อย
ๆ ในประเทศจีน. ฝ่ายตรงข้ามกับเหมาเป็นพวกเดินสายกลาง เช่น หลิวเส้าฉี เติ้งเสี่ยวผิง
ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของเหมา รัฐมนตรีกลาโหมหลินเปียวก้าวขึ้นมาที่ศูนย์กลางอำนาจ
พร้อมกับเรียกร้องให้กองทัพและพรรคยึดถือความคิดของเหมาเป็นหลัก นำในขบวนการศึกษาสังคมนิยมและการดำเนินการปฏิวัติต่าง
ๆ ในประเทศจีน
มีการปฏิรูประบบโรงเรียนขนานใหญ่ การปฏิรูปมุ่งไปที่การทำงานและศึกษาไปในตัว ขบวนการลงสู่ชนบทใหม่ จุดประสงค์ร่วมอยู่ 2 ประการ คือ การให้การศึกษาแก่ประชาชนโดยให้สิ้นเปลืองน้อยลง และในขณะเดียวกันก็เป็นการให้ปัญญาชน และนักวิชาการยอมรับความจำเป็นในการเข้าร่วมใช้แรงงาน
เหยาเหวินหยวน หนึ่งในกลุ่ม "เซี่ยงไฮ้มาเฟีย" ซึ่งมีเหมาเป็นผู้นำ เขียนข้อความโจมตีหวูฮั่น ซึ่งเป็นรองนายกเทศมนตรีนครปักกิ่ง. กลางปี 1966 การรณรงค์ของเหมาปะทุขึ้นเป็น "การปฏิวัติทางวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพ" ซึ่งเป็นกระแสมวลชนที่ก่อขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อโจมตีกลไกของพรรคคอมมิวนิสต์เอง
มีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับการปฏิวัติวัฒนธรรมภายในพรรคคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งได้แก่กลุ่ม เหมา-หลินเปียว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพปลดแอก อีกฝ่ายหนึ่งได้แก่ หลิวเส้าฉี และเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งมีแรงสนับสนุนจากองค์กรปกติภายในพรรค นายกโจวเอินไหลผู้มีความจงรักภักดีต่อเหมาเป็นส่วนตัว พยายามที่จะไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมกับทั้งสองฝ่าย
ต้นปี 1967 กระแสความรุนแรงลดลง หลิวเส้าฉี เติ้งเสี่ยวผิงและพวก "ลัทธิแก้" และ "เดินสายนายทุน" ล้วนถูกปลดออกจากตำแหน่ง พวกของเหมาเข้ากุมอำนาจทางการเมือง แต่เหมายังคงไม่เห็นถึงความไร้ประโยชน์ ปล่อยให้ความรุนแรงของการปฏิวัติดำเนินต่อไปจนกลางปี 1968 หลังปี 1969 นโยบายที่ได้รับการเน้นคือการฟื้นฟูประเทศ โดยการสร้างพรรคขึ้นใหม่
กองทัพปลดแอกซึ่งเป็นสถาบันอำนาจเดียวที่รอดพ้นจากการโจมตีจากการปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นตัวจักรสำคัญของการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านและการฟื้นฟู แต่กองทัพประกอบด้วยคนหลากหลายจำพวก ช่วงปี 1970-1971 โจวเอินไหลสามารถเชื่อมโยงกลุ่มฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายขวาเข้ากับกลุ่มนายทหารผู้บังคับการระดับภูมิภาค ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของหลินเปียวบางอย่างขึ้นได้ แนวร่วมนี้ได้เปิดทางให้เกิดผู้นำสายกลางในพรรค และรัฐบาลในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และ ทศวรรษ 1980
ช่วงต้นทศวรรษ 1970 จีนตัดสินใจฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกา ดังแสดงให้เห็นจากการเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสันในเดือนกุมภาพันธ์ 1972
จุดหักเหของทศวรรษแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมคือการก่อรัฐประหารของหลินเปียวซึ่งล้มเหลวและการตายของหลินเปียวเนื่องจากเครื่องบินตกขณะที่หนีออกนอกประเทศ ในเดือนกันยายนปี 1971 ผลที่ตามมาทันทีคือการสลายของอิทธิพลของพวกฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง พวกที่ใกล้ชิดกับหลินเปียวต่างถูกปลด มีความพยายามที่จะลดการเมืองลงและสนับสนุนความเป็นมืออาชีพในกองทัพ รวมทั้งการคืนตำแหน่งให้ผู้ที่ถูกขึ้นศาลหรือถูกให้ออกในช่วงปี 1966-1968
ปี 1976 เจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลเสียชีวิตถึง 3 คน โจวเอินไหลเสียชีวิตในเดือนมกราคม จูเต๋อ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานของคณะกรรมการประจำ ในคณะกรรมการการเมือง ประธานสภาประชาชน และประมุขของประเทศ) เสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม และเหมาเจ๋อตุงเสียชีวิตในเดือนกันยายน
กลุ่มหัวรุนแรงที่มีความใกล้ชิดกับเหมาและการปฏิวัติวัฒนธรรมเผชิญสถานการณ์อันตรายหลังการตายของเหมาเช่นเดียวกับเติ้งเมื่อโจวตาย
ในเดือนตุลาคม ไม่ถึงเดือนหลังการตายของเหมา นางเจียงชิงและพวก 3 คน ซึ่งได้รับการขนานนามว่า
แก๊ง 4 คน ถูกจับโดยความช่วยเหลือของสมาชิกอาวุโสในคณะกรรมการการเมือง 2
คน คือรัฐมนตรีกลาโหม Ye Jianying (1897-1986) และ Wang Dongxiang ผู้บังคับหน่วยคุ้มกันบุคคลสำคัญของบพรรคคอมมิวนิสต์
ไม่กี่วันหลังจากนั้น มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า ฮว่ากว๋อเฟิงเข้าดำรงตำแหน่งประธานพรรค
ประธานคณะกรรมาธิการทหารของพรรค และนายกรัฐมนตรี (1)
การปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ และวัฒนธรรมศักดินาดั้งเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่โดยเรียกรวมว่า
"สิ่งเก่า 4 อย่าง" ได้แก่ นิสัยเก่า, ความคิดเก่า, ประเพณีเก่า,
และวัฒนธรรมเก่า. ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเขียนและบทความที่เคยโจมตีเหมาเจ๋อตงทางอ้อมด้วย
มีการปลุกระดมและจัดตั้งนักศึกษาและเยาวชนเป็น "ผู้พิทักษ์แดงหรือยามแดง
(Red Guards)" เพื่อจะได้มีประสบการณ์ในการปฏิวัติ โดยเยาวชนเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำพรรค
ที่ถูกประนามว่ากำลังรื้อฟื้นลัทธิทุนนิยมและเป็นลัทธิแก้ ผู้นำระดับสูงหลายคน
เช่น หลิวเส้าฉี และเติ้งเสี่ยวผิงก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และปลดออกจากตำแหน่ง
ความวุ่นวายได้ขยายออกไปอย่างมากมายในหลายพื้นที่ เพราะแม้แต่ในกลุ่มผู้พิทักษ์แดงก็เกิดความขัดแย้งและต่อสู้กันเอง ในที่สุดเหมาเจ๋อตงและผู้สนับสนุนต้องใช้กองทัพปลดแอกประชาชนภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลหลินเปียว ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นเข้าควบคุมสถานการณ์ และปลดอาวุธผู้พิทักษ์แดง ตลอดจนส่งตัวหนุ่มสาวหลายหมื่นคนเหล่านี้ออกไปรับใช้มวลชนในชนบท ความวุ่นวายจึงค่อยสงบลง (2)
ไม่เพียงแต่ Jung Chang ที่มีการบอกเล่าถึงเรื่องราวความทุกข์ยากและความอยุติธรรมที่ครอบครัวของเธอประสบมา 3 ชั่วคน ในห้วงเวลาแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมดังที่ได้เล่าไว้ในเรื่อง Wild Swans: Three Daughers of China ใน Red Azalea ของ Anchee Min ก็ถือเป็นหนังสือขายดีที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำส่วนตัว ขณะที่เป็นผู้พิทักษ์แดง เธอได้โจมตีครูที่เธอรักว่าเป็นพวกปฏิกิริยา มีภาพยนตร์ของ Joan Chen เรื่อง Xiu Xiu: The Sent-Down Girl ซึ่งนำมาจากนวนิยายของ Yan Geling เรื่อง Tianyu (Heavenly Bath) นอกจากนี้ยังมี To Live ของ Zhang Yimou, Farewell To My Concubine ของ Chen Kaige, The Blue Kite ของ Tian Zhuangzhuang (3) ที่ได้สะท้อนถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้น
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เหมามีความเชื่อว่าเขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ 2 สิ่งด้วยกัน อย่างแรกคือการขับไล่เจียงไคเช็กออกไปพ้นจากผืนแผ่นดินจีน อีกสิ่งคือ การผลักกันการปฏิวัติวัฒนธรรม เหมาคือ "นักสุญนิยมแห่งการปฏิวัติ" (Revolutionary nihilist)
ความคิดทางการเมืองของเหมามีส่วนคล้ายกับของ Jean Jacques Rousseau เป็นอย่างมาก. Rousseau ต่อต้าน พวกชนชั้นสูงว่าเป็นปัจเจกชนผู้ฉ้อฉลในโลกอารยะ ในขณะที่เหมาเชื่อว่าชนชั้นสูงที่สุดคือพวกที่โง่เง่ามากที่สุด ชนชั้นต่ำที่สุดคือพวกที่มีสติปัญญามากที่สุด ดั่งที่เขาได้ปฏิบัติตามความเชื่อนี้ โดยการส่งเยาวชนที่มีการศึกษาไปศึกษาอีกครั้งจากพวกชาวนาในชนบท
Rousseau เชื่อว่า วิทยาศาสตร์และศิลปะนำไปสู่การเสื่อมถอยของชีวิตทางศีลธรรมของมนุษย์ ส่วนเหมาก็เห็นเป็นเช่นเดียวกันโดยมีประโยคของเขาว่า "เมื่อดาวเทียมอยู่บนท้องฟ้า ธงแดงจะตกลงสู่พื้น" เหมาเหมือนกับ Rousseau เขายกย่องคุณค่าทางศีลธรรมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด เขาเชื่อว่าการแสวงหาความมั่งคั่งทางวัตถุเป็นอันตราย วัตถุนิยมเป็นเพียงการกักขังความพึงพอใจทางจิตวิญญาณ (4)
ส่วนที่
2.
ว่าด้วยภาพยนตร์กับประวัติศาสตร์การปฏิวัติวัฒนธรรม
บันทึกของการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน เหมือนกับบันทึกของเหตุการณ์บาดแผลทางการเมืองของนาซีในเยอรมันและสตาลินในรัสเซีย
มีภาพยนตร์หลายเรื่องด้วยกันที่กล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ ภาพยนตร์จีนที่ว่าด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรม
เช่นเรื่อง In the Heat of the Sun ของ Jiang Wen
ใน The Sublime Figure of History: Aesthetics and Politics in Twentieth-Century China, Wang Ban ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของฝูงชนว่า "อะไรอยู่ในหัวของปัจเจกชน?" Wang ประยุกต์การอ่านของ Adorno ที่อ่าน "group psychology" ของ Freud ที่ว่าถึง superego ซึ่งส่งผลทางตรงต่อ id โดยข้ามผ่าน ego ในพฤติกรรมรวมหมู่ที่สนับสนุนอุดมการณ์หลักเช่น fascism
ความรักอย่างปราศจากเงื่อนไข ของชาวจีนที่มีให้กับประธานเหมา ชักจูงให้พวกเขาเข้าร่วมในความบ้าคลั่งรวมหมู่ Adorno คิดว่าคนเยอรมันไม่เคยบูชาผู้นำนาซีอย่างจริงใจ และก็ไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์ fascism อย่างเคร่งครัด ข้อเสนอของ Adorno คือ พวกเขาทำราวกับว่าพวกเขาคือผู้เชื่อในอุดมการณ์นั้น พวกเขารักษาระยะห่างจากอุดมการณ์หลักขณะที่กำลังแสดงพิธีกรรมของมัน.(5)
In the Heat of the Sun นำมาจากนวนิยายเรื่อง Ferocious Animals (Dongwu xiongmeng) ของ Wang Shuo ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงกลุ่มเด็กชายในวัยไฮสกูล ระหว่างช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เนื่องจากครูไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งกับพวกเขาได้อีกต่อไป และพ่อแม่ของพวกเขาก็อยู่นอกปักกิ่งเสมอเพื่อปฏิบัติภารกิจ เด็กหนุ่มจึงมีอิสระที่จะทำสิ่งที่พวกเขาต้องการ
Ma Xiaojun เด็กหนุ่มอายุ 15 ปีเป็นตัวแสดงนำในเรื่อง วันหนึ่งเขาได้พบกับ Mi Lan เขาได้ขอให้เธอรับเขาเป็น "น้องชาย" แล้วพวกเขาก็สนิทกันมากขึ้น จนเขาได้ชักชวนเธอให้เข้ามาสู่กลุ่มของเขา ทำให้ Mi Lan มีความใกล้ชิดกับ Liu Yiku ผู้นำของกลุ่ม จนเธอตีตัวออกห่างจาก "น้องชาย". ในตอนท้ายเรื่อง Ma Xiaojun พยายามข่มขืน Mi Lan ผลก็คือ ชีวิตวัยรุ่นของ Ma Xiaojun จบลงที่การแยกตัวโดดเดี่ยว (isolation)(6)
The
Blue Kite ภาพยนตร์ของ Tian Zhuangzhuang ในปี 1993
ว่าวสีน้ำเงินของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ ซึ่งมันถูกทำลายซ้ำ ๆ ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ว่าวนี้หมดหวังที่จะขึ้นสู่ท้องฟ้าอีก นี่คือการที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ารุกล้ำ
โลกมายาภาพ (Fantasy world)
Jiang ให้ภาพของการปฏิวัติวัฒนธรรมที่แตกต่างจาก Blue Kite ของ Tian นั่นคือ การขาดตอนของความต่อเนื่องระหว่างผู้กำกับรุ่นที่ห้ากับรุ่นที่หก ผู้ซึ่งโตมาในยุคโลกาภิวัตน์
ซึ่งหากเปรียบ The Blue Kite ของ Tian กับ Xiu Xiu ของ Joan Chen แล้ว จะเห็นได้ว่ามีประเด็นที่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้อยู่ นั่นคือ เรื่องของ Repetition และ Despair โดยที่ว่าวสีน้ำเงินซึ่งเป็นตัวแทนของเสรีภาพถูกทำลายซ้ำ ๆ จนหมดหวังที่จะขึ้สู่ท้องฟ้าได้อีก เทียบได้กับ การที่ Xiu Xiu ถูกกระทำย่ำยีทางเพศอย่างซ้ำ ๆ หรือกล่าวได้ว่า ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาและความหวังของเธอที่จะได้ "กลับบ้าน" ตามคำสัญญาของรัฐ (ในร่างของเจ้าหน้าที่พรรค)
ความสัมพันธ์ของเธอกับรัฐนั้นก็แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐสมัยใหม่ทั้งหมด นั้นคือความสัมพันธ์แบบจ่ายก่อน รับของทีหลัง โดยรัฐจะให้คำสัญญากับประชาชนถึงสิ่งที่มันคิดว่าคนทุกคนต้องการ เช่น ความมั่งคั่ง ความสุขสบาย ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน......ซึ่งประชาชนนั้นถูกเรียกร้องราคาที่ต้องจ่ายให้กับรัฐก่อนที่จะได้รับสินค้าที่ตนต้องการ เช่น การเชื่อฟัง การรับผิดชอบต่อหน้าที่ของพลเมือง ศีลธรรมของพลเมือง การจ่ายภาษี การสละเสรีภาพบางส่วนของตน...
ทั้งนี้การที่ว่าวสีน้ำเงินถูกทำลายซ้ำ ๆ ก็ดี หรือการที่ เด็กสาวถูกย่ำยีซ้ำ ๆ ก็ตามมันย่อมจะตีความได้ว่าเป็นตัวแทนของความไม่สมหวังของประชาชนชาวจีนจากการไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาของรัฐที่ให้ไว้ จนในที่สุดจบลงด้วยความท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต อย่างเช่นที่ Xiu Xiu เลือกที่จะจบชีวิตตัวเองเพื่อหนีจากความผิดหวังซ้ำซากที่เธอได้รับจากรัฐ.
Voice-over
ของ Jiang-Wen ได้พูดถึงความทรงจำของเขากับ fantasy ไว้ว่า
"เรื่องราวทั้งหมดของข้าพเจ้าเกิดขึ้นในฤดูร้อนเท่านั้น ในความร้อนแรงแห่งสุริยา
ประชาชนถูกบังคับให้เปิดเผยร่างก่ายของพวกเขามาก และนั่นมันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะซ่อนเร้นความต้องการของพวกเขา
ในความทรงจำของข้าพเจ้า ระหว่างช่วงเวลานี้สุริยาฉายแสงอย่างโชติช่วงราวกับว่ามันมีเพียงฤดูเดียวคือ
ฤดูร้อน อันที่จริงแล้ว มันสว่างเหลือเกิน นั่นทำให้สายตาของข้าพเจ้ามีโอกาสได้เห็นสิ่งที่ถูกปกปิดซ่อนเร้น."
(All My story happened only in summer. In the Heat of the sun, people were fored to reveal more their bodies and it was more difficult to conceal their desires. In my memory, the sun always shone brightly during this period, as if there were only one sesson, summer. In fact, it was too bright, so that my vision has occasionally been obsrured.) (7)
หนึ่งในอุปมาที่รู้จักกันที่สุดของประธานเหมา ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติวัฒนธรรมก็คือ ดวงตะวันแดง. แทนที่จะให้ภาพของการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดหรือยุคมืดในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ voice-over บรรยายช่วงเวลานี้ว่า ร้อน, สว่างไสว, และความรู้สึกที่รุนแรง น้ำเสียงที่โหยหาอดีต ยกย่องฤดูร้อนที่ไม่มีวันสิ้นสุดนี้ อะไรที่หมายถึงสว่างเกินไป? ความรู้สึกรุนแรงทางอุดมการณ์หรือความรู้สึกรุนแรงทางเพศ?
ปี 1993 Jiang Wen ได้กล่าวไว้ว่า "ผู้คนในตะวันตกลืมว่ายุคนั้นมีความสนุกอยู่มาก....การปฏิวัติวัฒนธรรมเหมือนกับคอนเสิร์ตร็อคแอนด์โรลขนาดใหญ่ โดยมีเหมาเป็นศิลปินร็อคพี่ใหญ่สุด และชาวจีนทุกคน ก็คือแฟนเพลงของเขา..." ความเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ทำให้ผู้คนนับล้านต้องตายและอีกมากมายต้องตกอยู่ความทุกข์ทรมาน เหตุใดเจียงจึงพูดถึงบาดแผลของส่วนรวมนี้ในทางที่เกี่ยวกับความสนุกสนาน (enjoyment)? (8)
Chen Kaige ผู้กำกับรุ้นที่ห้า เคยเปรียบเทียบการปฏิวัติวัฒนธรรมกับเกมส์ "Wheel of Fortune" เหมาพูดหลายครั้งถึง "ศัตรูของประชาชน" ว่าเป็นเพียงเป้าหมายเดียวของการปฏิวัติวัฒนธรรมและเป็นเพียงเปอร์เซ็นต์เล็ก ๆ ของประชากรจีนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ศัตรูของประชาชนได้ถูกเปลี่ยนไปเรื่อย จากชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีดแห่งสังคมก่อนคอมมิวนิสต์ไปสู่ปัญญาชน จากปัญญาชนไปสู่เจ้าหน้าที่ของพรรคในหลายระดับ จากเจ้าหน้าที่พรรคไปสู่ผู้พิทักษ์แดงจำนวนมาก
ระหว่างช่วงเวลานั้น
ผู้คนจำนวนมากที่ต้องกลายเป็นเป้าหมาย เป็นศัตรูของประชาชน เหมือนกับเกมส์
"Wheel of Fortune" แทบจะทุกคนได้รับโอกาสให้แสดงบทบาทศัตรูของประชาชน
ขณะที่ส่วนที่เหลือรู้สึกถึงความมีเกียรติและการถูกปลดปล่อย ห้วงเวลานั้น
พวกเขามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวในฐานะผู้จู่โจม มิใช่เป้าหมาย. การจู่โจมศัตรูของประชาชนได้กลายเป็น
"กีฬา" ของชาติในช่วงแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่ซึ่งแทบทุกคนต้องตกเป็นเหยื่อ.(9)
(อาจมีความคล้ายคลึงกันกับในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ของไทย ที่คนแทบจะไม่เชื่อในภาพที่ได้เห็นว่า
ผู้ที่เป็นฆาตกรสังหารหมู่นักศึกษา จะดูเสมือนกับมี ความสนุกสนาน (enjoyment)
ในภารกิจที่มี"เกียรติ" อันนี้ เช่น ภาพนายตำรวจที่มือนึงกำลังถือปืนเล็งไปที่เหยื่อ
โดยปากก็คาบบุหรี่อย่างสบายอารมณ์)
ผู้คนจำนวนมากเหวี่ยงตัวของพวกเขาอย่างสุดจิตสุดใจ ลงไปสู่กิจกรรมที่ถูกพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรม สิ่งนี้เป็นเพราะความกลัวการลงโทษของ Big Other กระนั้นหรือ? เหตุใดผู้คนจำนวนมากทำเกินขอบเขตจากการถูกกระตุ้น และแม้แต่เกินจากการได้รับอนุญาตจากรัฐ
ในฉากที่ Ma ทุบตีเด็กชายที่ไม่รู้จักอย่างรุนแรงเพื่อการยอมรับของกลุ่ม Ma ตีเขาด้วยก้อนอิฐอย่างแรงที่หัว จากนั้นเขายังได้เตะร่างที่ปราศจากสำนึกของเด็กชาย หลังจากที่เล่นงานร่างกายนั้น Ma จะมองไปที่ข้าง ๆ ราวกับว่าเขากำลังอยู่บนเวที กำลังรอคอยเสียงปรบมือจากผู้ชมของเขา ความรุนแรงของ Ma แสดงถึงการทรมานระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งความเกลียดส่วนบุคคลไม่ใช่ประเด็นของฉากนี้เลย. (10) (Franz Fanon กล่าวถึงประโยชน์ของ "ความรุนแรง" ไว้ หนึ่งในหลายข้อนั้นคือ "การปลดปล่อย")
การวิพากษ์วิจารณ์อุดมการณ์หลักเป็นเรื่องง่าย แต่อุดมการณ์หลักนั้นมันต้องการการมีส่วนร่วมของผู้คนในการจะขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ณ์หลัก การมีส่วนร่วมในยุคหลังอุดมการณ์ณ์นี้มักจะเป็นของผู้ที่ไม่เชื่อ โดยภายใต้นามของ ความสนุกสนาน (enjoyment) ที่ทำให้พวกเขามีส่วนร่วมไปกับพิธีกรรมอันว่างเปล่าของอุดมการณ์ราวกับว่าพวกเขาเชื่อจริง ๆ
ในปี 1957 ผู้เชื่อในพรรคคอมมิวนิสต์ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อการเรียกร้องของพรรคให้วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อที่จะได้มีการปรับปรุง ด้วยผลของการทำตามอย่างซื่อสัตย์ ผู้ที่เชื่อจริง ๆ เหล่านี้ก็ได้กลับกลายเป็นศัตรูของพรรคในที่สุด (11)
เชิงอรรถ
(1) รสสุคนธ์ ขันธ์นะภา "ทศวรรษแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม,1966-76" เอกสารประกอบคำบรรยายวิชา ประวัติศาสตร์จีนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, ปีการศึกษา 2548 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,กรุงเทพฯ, 2548.
(2) ธนิต ธนะกุลมาส การวิเคราะห์ภาพยนตร์ของจางอี้โหมวในเชิงบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและแนวคิดแบบอุดมคติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต , วิทยานิพนธ์วารศาสตร์ศาสตร์มหาบัณฑิต คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์;กรุงเทพฯ,2547. อ้างใน ภาคินัย แก้วน้ำ, การวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง To Live ในเชิงประวัติศาสตร์ ,รายงานไม่ได้ตีพิมพ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์;กรุงเทพฯ,2548.
(3) Stanley Rosen "Foreword" in Yarong Jiang and David Ashley : Mao's Children in the New China ; Routledge ,(London,.2000.)
(4) Zhu Xueqin , The interviewee no. 8 in Yarong Jiang and David Ashley : Mao's Children in the New China ; Routledge ,(London,.2000.)
(5) Tonglin Lu , Fantacy and Ideology in a Chinese Film: A ZiZekian Reading of the Cultural Revolution; http://muse.jhu.edu , 2004. p.540-541.
(6) Tonglin Lu , Fantacy and Ideology in a Chinese Film: A ZiZekian Reading of the Cultural Revolution; http://muse.jhu.edu , 2004. p.545-546.
(7) Tonglin Lu , Fantacy and Ideology in a Chinese Film: A ZiZekian Reading of the Cultural Revolution; http://muse.jhu.edu , 2004. p.553-555.
(8) Tonglin Lu , Fantacy and Ideology in a Chinese Film: A ZiZekian Reading of the Cultural Revolution; http://muse.jhu.edu , 2004. p.555-556.
(9) Tonglin Lu , Fantacy and Ideology in a Chinese Film: A ZiZekian Reading of the Cultural Revolution; http://muse.jhu.edu , 2004. p.557-558
(10) Tonglin Lu , Fantacy and Ideology in a Chinese Film: A ZiZekian Reading of the Cultural Revolution; http://muse.jhu.edu , 2004. p.559-560.
(11) Tonglin Lu , Fantacy and Ideology in a Chinese Film: A ZiZekian Reading of the Cultural Revolution; http://muse.jhu.edu , 2004. p.560-561.
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
การปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะ
และวัฒนธรรมศักดินาดั้งเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่โดยเรียกรวมว่า "สิ่งเก่า
4 อย่าง" ได้แก่ นิสัยเก่า, ความคิดเก่า, ประเพณีเก่า, และวัฒนธรรมเก่า.
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเขียนและบทความที่เคยโจมตีเหมาเจ๋อตงทางอ้อมด้วย
มีการปลุกระดมและจัดตั้งนักศึกษาและเยาวชนเป็น "ผู้พิทักษ์แดงหรือยามแดง
(Red Guards)" เพื่อจะได้มีประสบการณ์ในการปฏิวัติ โดยเยาวชนเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำพรรค
ที่ถูกประนามว่ากำลังรื้อฟื้นลัทธิทุนนิยมและเป็นลัทธิแก้ ผู้นำระดับสูงหลายคน
เช่น หลิวเส้าฉี และเติ้งเสี่ยวผิงก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และปลดออกจากตำแหน่ง
Free Documentation License
Copyleft : 2005, 2006, 2007