The Midnight University
ประชาชนเป็นเจ้าของพลังงาน
หนังโกหกของ
กฟผ.และการปลดพนักงานไฟฟ้าสหรัฐฯ
ประสาท
มีแต้ม
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาลัยวันศุกร์
หน้าเว็ปเพจนี้ประกอบด้วยบทความ
๒ เรื่องดังนี้
๑. ความจริงที่หายไปในหนังโฆษณาชุดล่าสุดเรื่อง กฟผ.
๒. ปลดพนักงานไฟฟ้าสหรัฐอเมริกา:บทเรียนที่พนักงานไฟฟ้าไทยต้องรับรู้
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 757
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)
ความจริงที่หายไปในหนังโฆษณาชุดล่าสุดเรื่อง
กฟผ.
ประสาท มีแต้ม : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กลุ่มศึกษาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สงขลา
1. คำนำ
ผมได้ชมหนังโฆษณาชุดล่าสุดในโทรทัศน์ ที่พยายามบอกถึงเหตุผลของรัฐบาลในการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
แล้วรู้สึกว่าต้องเขียนบทความชิ้นนี้ทันที ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลสำคัญบางอย่างได้ถูกบิดเบือนและทำให้คิดต่อไปได้ว่า
แล้วสิ่งอื่นๆ ที่รัฐบาลจะทำในอนาคตจะถูกบิดเบือนอีกไหม
ในฐานะที่ได้ติดตามข้อมูลด้านพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและกิจการไฟฟ้ามานาน ผมจึงสามารถจับได้ไล่ทันว่าข้อมูลใดบ้างได้ถูกบิดเบือนหรือถูกทำให้หายไป ดังนั้นผมจึงขอนำเสนอข้อมูลที่ได้หายไปเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ใช้ประกอบการพิจารณา สำหรับข้อมูลดิบที่ผมใช้ในการวิเคราะห์นี้ มาจากกระทรวงพลังงานซึ่งท่านที่สามารถใช้อินเตอร์เนตค้นหาได้ที่ www.eppo.go.th/vrs/VRS61.pdf (หน้าที่ 63)
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมจะเปรียบเทียบกิจการไฟฟ้าที่มีความซับซ้อน(และมีตัวเลขเยอะแยะ) กับกิจการคิวรถแท็กซี่ซึ่งจะทำให้เข้าใจได้ง่าย และสามารถนำไปเล่าสู่กันฟังภายใต้การผูกขาดการใช้สื่อแต่เพียงผู้เดียวของภาครัฐ
2. สาระสำคัญของหนังโฆษณา
เนื้อความในโฆษณาดังกล่าวมีสาระสำคัญว่า "ขณะนี้ทาง กฟผ. มีโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เพียงประมาณ
50% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่คนไทยทั้งประเทศใช้ ที่เหลืออีก 50% เป็นการผลิตของโรงไฟฟ้าของเอกชน
ดังนั้นถ้าไม่มีการระดมทุนแล้วจะเอาทุนที่ไหนมาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นสัดส่วนการผลิตของ
กฟผ.ก็จะลดต่ำลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ทาง กฟผ.ยังมีหนี้สินถึง 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท
จึงจำเป็นต้องระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์"
3. ความจริงที่หายไป
จากสาระดังกล่าว เราพบว่ามีความจริง 2 ประการที่หายไป
ประการแรก คือทรัพย์สินของ กฟผ. มีอยู่ถึง
4 แสนล้านบาท การมีหนี้สินถึง 1.4 แสนล้านบาทก็ต้องถือว่ายังมีความมั่นคงทางการเงินอยู่และมีกำไรทุกปี
ดีกว่ารัฐวิสาหกิจอื่นๆ อีกจำนวนมาก อาจจะดีกว่าฐานะของคนไทยทั้งประเทศที่มีหนี้สาธารณะถึง
52% ของรายได้ต่อปีเสียอีก หรือว่าจะต้องนำประเทศไทยไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย!
ประการที่สอง เรื่องที่ทาง กฟผ.มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงประมาณ 50% เรื่องนี้ต้องอาศัยข้อมูลประกอบการพิจารณา ขอท่านผู้อ่านโปรดอ่านอย่างช้าๆสักนิด
3.1 นับถึงเดือนมิถุนายน 2546 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันถึง 25,647 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการสูงสุดของทั้งปีเพียงที่ 18,121 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังผลิตสำรองอยู่ถึง 42% เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ผมจะเปรียบโรงไฟฟ้าเป็นรถแท็กซี่ ส่วนจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้เทียบเป็นจำนวนผู้โดยสาร และเพื่อให้เห็นสัดส่วนของการใช้งานของรถแท็กซี่ ผมขอเปรียบให้จำนวนผู้โดยสารในวันที่มีมากสูงสุดมีจำนวน 100 คน (18,121 เมกะวัตต์) ดังนั้นในวันนั้นประเทศไทยมีรถแท็กซี่อยู่ทั้งหมด 142 คัน (รถ 1 คันเทียบเท่าโรงไฟฟ้า 180 เมกะวัตต์คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,300 ล้านบาท)
จากตัวเลขดังกล่าวทำให้เรารู้สึกได้ว่า คิวนี้มีรถมากเกินไป เพราะมีสำรองถึง 42 คัน หากคิดย้อนกลับไปคิดเป็นกิจการโรงไฟฟ้า การมีโรงไฟฟ้าสำรองถึง 42% นั้นต้องถือว่ามีมากเกินไป (ซึ่งปกติเขามักสำรองที่ 15% ท่านนายกฯทักษิณเคยกล่าวเมื่อต้นปี 2545 ว่า "ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าสำรองคิดเป็นมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท เนื่องจากการคำนวณที่ผิดพลาด ทำให้คนไทยต้องเสียค่าไฟฟ้าแพง")3.2 ในจำนวนรถทั้งหมด 142 คัน ปรากฏว่าเป็นของ กฟผ. 84 คันหรือคิดเป็น 59% ของจำนวนรถทั้งหมดของคิว ที่เหลือ 41%(หรือ 58 คัน) เป็นของบริษัทเอกชน
3.3 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2546 พบว่ารถของ กฟผ. ได้รับผู้โดยสารรวมเพียง 52% (แต่มีรถอยู่ 59%) ในขณะที่รถของเอกชนได้รับผู้โดยสาร 48%(แต่มีรถอยู่ 41%) จากข้อมูลนี้ทำให้เราได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า "นายคิว" นี้ไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง คำถามก็คือว่า ใครคือนายคิว จึงได้ปล่อยให้รถของ กฟผ. หรือของคนไทยทุกคนต้องว่างงานเป็นจำนวนมาก
5.
กฟผ. เสียรายได้ปีละ 17,500 ล้านบาท
ในปี 2546 ทั้งปี คนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 1 แสน 1 หมื่นล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ
275,000 ล้านบาท ดังนั้นปริมาณไฟฟ้า 1% มีค่าเท่ากับ 2,750 ล้านบาท
จากหัวข้อ
3.3 ที่รถของ กฟผ. มีอยู่ถึง 59% แต่ได้รับผู้โดยสารเพียง 52% คือหายไปถึง
7% (เพราะไปเพิ่มให้รถของเอกชน) ดังนั้นด้วยการจัดคิวที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้ทำให้
กฟผ. ขาดรายได้ไปถึงปีละ 17,500 ล้านบาท
เงินรายได้ที่หายไปจาก กฟผ.จำนวน 19,250 ล้านบาทนี้ เป็นค่าเชื้อเพลิงประมาณ
11,900 ล้านบาท(หรือประมาณ 68%ของรายได้) ดังนั้นรายได้ที่เหลืออีกประมาณ
6,000 ล้านบาทจึงถือได้ว่าเอากำไรล้วนๆ ของ กฟผ.ไปให้กับบริษัทเอกชนนั่นเอง
เพราะว่าต้นทุนค่าสายส่งและค่าบริหารไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มอีกแล้ว
เงินก้อนนี้ตกปีละ 6,000 ล้านบาทนี้เป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้จ่าย ได้หายไปจาก
กฟผ. ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน แต่กลับไหลไปสู่กระเป๋าของบริษัทเอกชนเพราะนโยบายการจัดคิวที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทย
ที่กล่าวมาแล้วเป็นข้อมูลปี 2546 แต่ที่ทางราชการไทยได้วางแผนไว้สำหรับปี
2547 กลับสาหัสมากกว่านี้คือ รถของ กฟผ. จะได้รับผู้โดยสารเพียง 48% (ทั้งๆที่มีโรงไฟฟ้าหรือรถเพิ่มขึ้นอีก
2 คันที่จังหวัดกระบี่ รวมรถของ กฟผ.มี 60%) รถของบริษัทเอกชนจะได้รับผู้โดยสาร
52%
ความอยุติธรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 7% ในปี 2546 เป็น 12% ในปี 2547 เฉพาะส่วนที่ไม่เป็นธรรมนี้คิดเป็นกำไรล้วนๆ
ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี
5. สรุป
ที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นว่าในหนังโฆษณาชุดนี้รัฐบาลทักษิณได้หลอกลวงคนไทยไว้
3 ประเด็น คือ (1) บอกแต่จำนวนหนี้สินแต่ไม่บอกจำนวนทรัพย์สินที่มีมากกว่า
(2) จำนวนโรงไฟฟ้าล้นเกินถึง 42% แทนที่จะเป็น 15% และ (3) ปิดบังความจริงเรื่องการจัดคิวที่ไม่เป็นธรรมซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลเอง
ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้และเอกชนได้ประโยชน์ถึงปีละ 6,000 ล้านบาท
ผมคิดว่าสิ่งที่คนไทยต้องตั้งคำถามอีก 4 ข้อ คือ
(1) ยังมีสิ่งที่หลอกลวงที่บทความนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกไหม
(2) นี่เป็นการหลอกลวงครั้งสุดท้ายของรัฐบาลหรือไม่
(3) เงินค่าโฆษณาทางโทรทัศน์มาจากไหน ใครเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ซึ่งรับเงินค่าโฆษณาแล้วนำความเท็จมาให้ประชาชน และ
(4) แล้วเราจะเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้การปิดกั้นข่าวสารได้อย่างไร
ข้อมูลจาก http://www.fridaycollege.org/index.php?file=forum&obj=forum.view(cat_id=en,id=17)
วิทยาลัยวันศุกร์ http://www.fridaycollege.org
๒. ปลดพนักงานไฟฟ้าสหรัฐอเมริกา:บทเรียนที่พนักงานไฟฟ้าไทยต้องรับรู้
"ทั้งๆที่ความต้องการไฟฟ้าของชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้น
25% นับจากเริ่มการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าในปี 1990
แต่จำนวนพนักงานกลับลดลงจากเดิมถึง 24%หรือ 1 แสน 5 พันคน ในปี 2000 "
บทความนี้จะนำผลการศึกษาวิจัยในการปลดพนักงานไฟฟ้ากว่า 1 แสนคนในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังการปฏิรูประบบการกำกับดูแลระบบไฟฟ้าในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1990-2000 มาเตือนสติพนักงานการไฟฟ้าไทยทั้งระบบ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านการแปรรูปการไฟฟ้าในบ้านเราในปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงพนักงานการไฟฟ้าเราหมายรวมถึง พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ที่ทำหน้าที่การผลิตและส่งกระแสไฟฟ้า พนักงานการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และพนักงานการไฟฟ้าภูมิภาค(กฟภ.) ซึ่งพนักงานในสองส่วนหลังนี้ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนในเขตของตนเอง แต่ที่กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในบ้านเราก็คือพนักงานของ กฟผ. เพราะได้รับอนุญาตให้ซื้อหุ้น กฟผ. คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท ในราคาพาร์ซึ่งมีราคาเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของราคาเข้าตลาดเท่านั้น
ความจริงแล้วพนักงานการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานข้างต้นได้ร่วมกันคัดค้านการแปรรูป กฟผ.มาตลอด แต่อาจจะเป็นเพราะคิดเอาเองว่า "ต้านไม่ไหวแล้ว" หรือเพราะ "ผลประโยชน์ที่ทางรัฐบาลหยิบยื่นให้" ก็ไม่อาจทราบได้ พนักงาน กฟผ. ส่วนใหญ่จึงได้ยุติการคัดค้านร่วมกับประชาชนกลุ่มต่างๆในขณะนี้ นอกจากนี้ทางรัฐบาลอาจจะมีคำมั่นสัญญาลับๆกับพนักงาน กฟผ.ว่าในอนาคตจะไม่ปรับลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนทุกหน่วยงานต่างก็รู้สึกกลัวกันทั้งนั้น
บทความนี้ผมจะนำเสนอข้อมูลบางส่วนที่ได้มีการศึกษาวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องที่คล้ายกัน แต่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว เพื่อเป็นการเตือนสติว่า "คำมั่นสัญญา" ของรัฐบาลที่มีฐานคิดเพื่อกำไรของนายทุนนั้นเชื่อถือไม่ได้. ข้อมูลส่วนใหญ่ต่อไปนี้มาจาก Monthly Labor Review ฉบับเดือนพฤษภาคม 2546(2003) เรื่อง "Regulatory reform and labor outcomes in the U.S. electricity sector" เขียนโดย M. Scott Niederjohn ท่านที่สนใจสามารถค้นได้ google.com ครับ
นับตั่งแต่ปี พ.ศ.2533(1990) เป็นต้นมา หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นแผน "การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า" เหตุผลหลักที่ใช้อ้างในการปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวก็คล้ายกับในบ้านเราบางส่วนคือ "เพื่อกระตุ้นการแข่งขันสำหรับการขายส่งในตลาดกิจการไฟฟ้า" (สำหรับรายละเอียดและผลสัมฤทธิ์ด้านอื่นๆเราจะไม่สนใจ แต่บทความนี้จะสนใจเฉพาะที่เกี่ยวกับการปลดพนักงานและเงินเดือนพนักงาน รวมทั้งที่เกี่ยวกับกิจการสหภาพแรงงานเท่านั้น)
ตอนเริ่มต้นการปฏิรูป ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกามีพนักงานการไฟฟ้า(ที่ทำหน้าที่เหมือนกับ 3 หน่วยงานของบ้านเรา) รวมกันประมาณ 4 แสน 5 หมื่นคน ในปีถัดมามีการปลดพนักงานออกเพียงเล็กน้อย เมื่อผ่านไป 2 ปี พนักงานถูกปลดไปถึง 25,000 คน และก็ถูกปลดต่อมาเกือบทุกปี เมื่อนับจำนวนพนักงานไฟฟ้าจนถึงปี 2543 พนักงานของกิจการไฟฟ้าลดลงถึง 1 แสน 5 พันคน หรือลดลงถึง 24% ของจำนวนพนักงานในตอนเริ่มต้นปฏิรูป ทั้งๆที่ ในช่วงเวลาดังกล่าว คนอเมริกันใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 25% (ข้อมูลจาก Energy Information Administration)
ในด้านรายได้ของพนักงาน ผลการศึกษาพบว่า ผลจากการปฏิรูปดังกล่าวไม่ได้ทำให้รายได้ของพนักงานลดลง กล่าวคือรายได้ที่แท้จริงเพิ่มจากสัปดาห์ละ $482 ในปี 2335 เป็น $529 ในปี 2543 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.2% เท่านั้นหลังจากหักค่าเงินเฟ้อไปเรียบร้อยแล้ว
ในด้านเปอร์เซ็นต์ของพนักงานการไฟฟ้าที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานก็ลดลงมาอยู่ที่ 30% จากเดิมที่เคยมีถึงเกือบ 40% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด จำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานย่อมสะท้อนอำนาจในการต่อรองของพนักงานกับเจ้าของกิจการนั่นเอง
ในปี 2544 คนอเมริกันทั่วประเทศ(293 ล้านคน) ใช้พลังงานไฟฟ้า 3.8 ล้านล้านหน่วย (ล้านสองครั้ง) โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 9 แสน 5 พันเมกกะวัตต์ มีพนักงานไฟฟ้าทั้งสิ้น 339,000 คน
ลองนำมาเปรียบเทียบกับประเทศในปี 2547 แม้ข้อมูลคนละปีกันแต่ก็พอจะเห็นอะไรได้บ้าง
คนไทยทั่วประเทศ(63 ล้านคน) ใช้พลังงานไฟฟ้า 1.25 แสนล้านหน่วย โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 26,000 เมกกะวัตต์ มีพนักงานไฟฟ้าที่เป็น กฟผ.(25,700 คน) กฟน.(9,913 คน) และ กฟภ.(26,970 คน) รวมทั้งสิ้นรวม 62,583 คน (ไม่นับพนักงานของบริษัทผลิตไฟฟ้าของเอกชน-เพราะผมไม่ทราบ ในการวิเคราะห์ต่อไปจะถือ พนักงานไฟฟ้าทั้งประเทศมี 64,000 คน)
จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า ทุกๆ หนึ่งหน่วยเมกกะวัตต์ของกำลังการผลิต สหรัฐอเมริกาว่าจ้างพนักงานเพียง 0.37 คนเท่านั้น(ในประเทศญี่ปุ่นเท่ากับ 0.5 คน) ในขณะที่ของประเทศเราใช้พนักงานถึง 2.46 คน. หรือทุกๆ หนึ่งเมกกะวัตต์ของกิจการไฟฟ้าไทยใช้พนักงานมากเป็นเกือบ 7 เท่าของสหรัฐอเมริกา. จริงอยู่ครับว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศเรากับของสหรัฐอเมริกา มีความแตกต่างกันในการกำหนดจำนวนพนักงานในการบริการประชาชนในชนบท แต่ตัวเลขที่แตกต่างกันขนาดนี้ย่อมเป็นเงื่อนไขให้เจ้าของกิจการไฟฟ้าอ้างได้
ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะทำลายเครดิตของพนักงานการไฟฟ้าแต่อย่างใด ตรงกันข้ามผมกลับยกย่องว่าองค์ทั้ง 3 นี้เป็นองค์กรชั้นเลิศของประเทศไทยเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ. ปัญหาประสิทธิภาพที่ต่ำไปเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเพราะปัจจัยต่างๆมากมาย รวมทั้งการแทรกแซงของนักการเมือง ในการจัดซื้อ จัดจ้าง และนโยบายด้านเชื้อเพลิงที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ค่าไฟฟ้าแพง มากกว่าค่าแรงงานของพนักงานหลายเท่านัก
แม้ว่าค่าแรงมีสัดส่วนไม่ถึง 6% ของต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมด แต่ด้วยแนวคิดของของผู้ประกอบการที่มีเป้าหมายเพื่อกำไรสูงสุดของผู้ถือหุ้น วิธีการปลดพนักงานที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกาผู้เป็นต้นแบบ ทำไมเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทยผู้เดินตามลูกพี่ใหญ่เกือบทุกกระเบียดนิ้ว
แต่ที่ต่างกันอย่างชัดเจน ก็คือดัชนีความโปร่งใสในการบริหารประเทศของไทยเราต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกามาก กล่าวคือ ในปี 2547 สหรัฐได้คะแนน 7.5 แต่ไทยได้ 3.6 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ในสถานการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนร่วมกันคัดค้านและยื่นต่อศาลปกครอง
เพื่อให้รัฐบาลระงับการขายกิจการไฟฟ้า พนักงาน กฟผ. ควรจะต้องเก็บรับบทเรียนจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ
มาพิจารณาผลประโยชน์ที่ทางรัฐบาล หยิบยื่นมาให้นั้น เป็นเพียงเพื่อให้วัตถุประสงค์ของเขาได้บรรลุไปก่อนเท่านั้น
หลังจากนั้นเขาก็ถีบไสไล่ส่งพวกท่านอย่างแน่นอน ผมคิดคร่าวๆจากข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วว่าน่าจะมากกว่า
24% เยอะเลย
http://www.fridaycollege.org/
ประสาท มีแต้ม : วันที่
25 พ.ย. 2548
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
Free Documentation
License
Copyleft : 2005, 2006, 2007
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies
of this license document, but changing it is not allowed.
ลิขซ้าย 2548, 2549,
2550 : สมเกียรติ
ตั้งนโม
ผู้ที่นำข้อมูลวิชาการฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เผยแพร่ หรืออ้างอิง โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ได้รับความยินยอมจากผู้เรียบเรียง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
โดยกรุณาระบุถึงเว็ปไซต์ และ URL มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org