The Midnight University
ประชาชนเป็นเจ้าของพลังงาน
เลิกผูกขาด
กฟผ : ปฏิรูปโครงสร้างการไฟฟ้า
ชื่นชม
สง่าราศี กรีเซน
นักวิชาการทุนเล่าเรียนหลวง
(King's Scholarship)
หมายเหตุ
บทสัมภาษณ์นี้นำมาจากคอลัมภ์ วิพากษ์เมืองไทย : เลิกผูกขาด กฟผ.
ผู้ให้สัมภาษณ์คือ คุณชื่นชม สง่าราศี กรีเซน
จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เซ็คชั่น "แทบลอยด์-ไทยโพสต์" ประจำวันที่
๒๐-๒๖ พ.ย. ๒๕๔๘
ขอบขอบคุณ คมลักษณ์ ไชยยะ
ที่ได้คัดลอกมาเสนอบนกระดานข่าวขนาดยาว ม.เที่ยงคืน
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 752
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14.5 หน้ากระดาษ A4)
ซึ่งประเด็นสำคัญในคดีคือ ภาคประชาชนยื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับที่โอนสิทธิ ทรัพย์สิน ทั้งหมดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปเป็นของ บมจ.กฟผ. เปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจไปเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งเอกชนในตลาดหลักทรัพย์เป็นเจ้าของ ทั้งที่ กฟผ.ครอบครองสิทธิการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและการเวนคืนที่ดิน และยังทำให้รัฐสูญเสียอำนาจควบคุมค่าไฟฟ้าและการจัดการสาธารณูปโภค อันส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายของภาคประชาชน ไม่ได้อยู่ที่คัดค้านการแปรรูปเพียงเพื่อให้ กฟผ.กลับไปอยู่ในสภาพเดิม และไม่ได้คัดค้านการนำกิจการโรงไฟฟ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์เสียทั้งหมด หากต้องการให้แยกระบบส่งและจำหน่ายออกมา อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรที่เป็นอิสระ เพื่อคุ้มครองสาธารณูปโภคของประชาชน
"เราไม่ได้คิดเหมือนพนักงาน กฟผ.เสียทีเดียว เราคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว กฟผ.ตั้งมาภายใต้โครงสร้างแบบนี้เป็นเวลา 30 กว่าปี เราไม่อยากให้ผูกขาดอีกต่อไป เดิมทีที่ผูกขาดเพราะมันเป็นกิจการที่บุกเบิก รัฐจำเป็นต้องมีหน้าที่หลักในการสร้างสายส่ง กระจายไฟไปยังภูมิภาคต่างๆ แต่ตอนนี้มันเกินจุดนั้นแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วม ระบบสายส่งแทนที่จะเป็นของประชาชนแต่ถูกยึดเป็นผลประโยชน์ขององค์กรเดียว ดังนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ส่วนที่จะเอาไปสร้าง Market Cap ก็เอาไปเฉพาะส่วนโรงไฟฟ้า ส่วนเขื่อนส่วนระบบส่งให้คงอยู่กับรัฐต่อไป"
ทำท่าดีแต่ทีพลิก
คุณชื่นชม สง่าราศี กรีเซน เป็นนักวิชาการอิสระวัยเพียง 31 ยังดูเด็กมาก แต่เธอนี่เองที่เป็นเหมือน
think thank ทำงานวิเคราะห์วิจัยให้ภาคประชาชนในเรื่องพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ
และไฟฟ้า-พูดง่ายๆ ก็คือเรื่องของ ปตท. และ กฟผ.
เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง (King's Scholarship) ไปเรียนปริญญาตรีด้านวิศวะสิ่งแวดล้อมที่ Dartmouth แล้วได้ทุนรัฐบาลเรียนต่อปริญญาโทด้านพลังงานทรัพยากร ที่เบิร์กลีย์ แคลิฟอร์เนีย จากนั้นก็กลับมารับราชการใช้ทุนอยู่ที่ สนผ. (สำนักนโยบายและแผนพลังงาน) ยุคที่ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ยังนั่งเก้าอี้อยู่ โดยทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2542-2546 จนครบกำหนดชดใช้ทุนจึงลาออกมาทำงานอิสระใช้ทุนภาคประชาชนแทน
สมัยนั้นก็นั่งทำงานโต๊ะติดกับ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล ที่ลาออกมาสมัคร ส.ส.นั่นเอง โดย ม.ล.อภิมงคลยังมาทำทีหลัง "ดูแล้วรู้สึกว่าบทบาทของหน่วยงานราชการค่อนข้างเปลี่ยนไป จากเดิมค่อนข้างมีอิสระในการทำงาน เป็นกลไกถ่วงดุลอีกทางหนึ่งให้กับฝ่ายการเมือง แต่ตอนหลังบทบาทค่อนข้างเปลี่ยนไป พอดีใช้ทุนหมดและอยากอยู่กับลูกมากขึ้น"
เธอเปรียบเทียบให้ฟังว่า แนวคิดแปรรูปมีมานานแล้ว แต่สมัยประชาธิปัตย์เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง "ตอนนั้นเป็นแนว Neo Liberal คือแนวเศรษฐกิจกระแสหลัก เน้นเรื่องกลไกตลาด หลังจากนั้นก็มีการทบทวนแผน มีการชูประเด็น National Champion ชูบทบาทของรัฐวิสาหกิจในฐานะเป็นองค์กรนำ กลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยที่บทบาทจะเป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชน เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์แต่รัฐยังถือหุ้นจำนวนมาก"
"การแปรรูปเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาจากสมัยนายกฯเปรม ตอนนั้นมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเวิลด์แบงก์หรือไอเอ็มเอฟ ก็จะมีเงื่อนไขของการกู้เงิน ที่ระบุว่าอยากให้รัฐบาลแปรรูปกิจการไฟฟ้าให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้น เดิมทีเน้นแค่การเพิ่มให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งก็จะออกมาในรูปการให้สัมปทาน ออกมาเป็นนโยบาย IPP, SPP คือให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยการประมูลแข่งขันของภาคเอกชน เป็นโมเดลช่วงแรกๆ"
"หลังจากนั้นช่วงประชาธิปัตย์ก็จะมีการพูดถึงโมเดลที่ต่อเนื่องจากโมเดล IPP ก็คือเห็นว่าให้เอกชนมีส่วนร่วมในการทำสัญญาซื้อขายเป็นรายๆ เป็นครั้งๆ ไปไม่เพียงพอ มีแนวคิดว่าน่าจะให้เอกชนมีส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ น่าจะเปิดเสรีให้มีการแข่งขันเลย อันนั้นก็จะออกมาในรูปของนโยบาย Power Pool คือให้มีการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้มีการแข่งขัน ใช้กลไกตลาดในการกำหนดราคา การแข่งขันจะเป็นตัวผลักดันให้มีประสิทธิภาพ
ตอนนั้นก็ผลักออกมาเป็นนโยบายได้สำเร็จ แต่มีแรงต้านทานพอสมควรเหมือนกัน เนื่องจากหลายๆ ฝ่ายรู้สึกว่าไฟฟ้ายังเป็นกิจการสาธารณูปโภค ยังไม่เหมาะที่จะเป็นสินค้าแล้วใช้กลไกตลาดกำหนดราคาและค่าบริการ ด้วยความที่มันมีความซับซ้อนด้านเทคนิค ในส่วนของกิจการสายส่งก็เป็นกิจการที่ผูกขาด มันมีความยุ่งยากทางเทคนิค ดีมานด์กับซัพพลายต้องตรงกับเป๊ะ ไม่อย่างนั้นความดันก็จะแกว่ง ดังนั้นเลยมีคนแสดงข้อห่วงใยหลายข้อว่า โมเดลนี้จะไปได้ดีหรือเปล่า แต่ในที่สุดรัฐบาลก็สามารถผลักดันออกมาเป็นมติ ครม.ได้ ช่วงปลายรัฐบาลชวน
พอหลังจากนั้นก็เกิดกรณี California Energy Crisis รัฐแคลิฟอร์เนียผลักดันให้มีการจัดตั้งตลาดกลางในลักษณะนี้ขึ้นสำเร็จ แล้วก็มีปัญหาค่อนข้างมากในการปั่นราคา ซึ่งเอนรอนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ตรงนั้นก็กลายเป็นตัวจุดประกายให้สังคมมีการตั้งคำถามมากขึ้น นำมาซึ่งการทบทวนแผนการแปรรูปในลักษณะที่เน้นกลไกตลาด ในกลไกที่เรียกว่า Power Pool"
"หลังจากนั้นก็มีการ U-tern เลย ในเรื่องของหลักความคิด ว่าทิศทางอนาคตในการบริหารไฟฟ้าควรจะเป็นไปในทางใด แนวคิดของรัฐบาลทักษิณก็คิดว่าถ้าเราปฏิบัติตามหลักที่ต่างชาติเขากำหนด เหมือนเป็นหมากตัวหนึ่งภายใต้หลักเกณฑ์ตลาดที่โลกตะวันตกเขากำหนดมาก็คงจะแพ้ เพราะเรื่องของทุนเราสู้เขาไม่ได้ ซึ่งก็ต้องให้เครดิต - คือเขาพยายามคิดให้ทันเกมของโลกาภิวัตน์ แต่ตอนนี้มันค่อนข้างที่จะกลายไปค่อนข้างมาก คือเขาให้ความสำคัญในเรื่องตลาดทุนค่อนข้างมากในระยะหลังเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจไฟฟ้ามาตลอด ก็คือเรื่องการแข่งขัน เรื่องประสิทธิภาพ พวกนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลกลับลืมไป ไม่ได้ให้ความสำคัญ
และยังมีเรื่องของธรรมาภิบาล การกำกับดูแลให้มีความโปร่งใส อันนี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเลย ดังนั้นสิ่งที่ออกมาภายหลังก็คือ รัฐยกเลิกมติ Power Poll อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นก็มีมติใหม่มาแทนที่ ก็คืออนุญาตให้ กฟผ.คงการผูกขาด ให้มีลักษณะองค์กรที่ใหญ่และเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ทั้งองค์กร เพื่อที่จะระดมทุนหรือกระจายหุ้น เพื่อที่จะให้ กฟผ.มีความเป็นธุรกิจ ขณะเดียวกันรัฐก็ยังสามารถที่จะกำหนดทิศทางการบริหารได้ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ตรงนี้คือโมเดลที่เรียกว่า National Champion"
"เริ่มมีการนำเอากลไกอะไรต่างๆ ที่วางรากฐานตั้งแต่สมัยประชาธิปัตย์มาใช้ ที่เห็นได้ชัดคือการใช้ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเดิมทีทำไว้เพื่อรองรับการแปลงทุนเป็นหุ้นของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด แม้ว่าเดิมทีรัฐบาลไทยรักไทยจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดประชาธิปัตย์ทั้งหมด และช่วงต้นๆ ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า จะทบทวนกฎหมายทาส 11 ฉบับ มีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษา นายกฯ เองก็เห็นชอบในหลักการด้วยซ้ำว่าจะต้องมีการปรับปรุงยกเลิกกฎหมายต่างๆ เหล่านี้
หลังจากนั้นยังตั้งกรรมการอีกชุดหนึ่งที่มีคุณชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นประธาน ขึ้นมาดูแนวทางที่ควรจะกำหนดเป็นกรอบในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ คณะกรรมการชุดนั้นก็มีการทำงานอย่างเข้มข้น ในช่วงแรกๆ ก็ออกมาเป็นข้อเสนอเบื้องต้นว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำได้ แต่ในกรณีของกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำ ไม่ควรที่จะเอาเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ หรือถ้าจะเอาเข้าก็ควรจัดโครงสร้างองค์กรให้เรียบร้อยเสียก่อน ไม่ใช่เอาส่วนที่ผูกขาดเข้าไปด้วย แต่พอออกมาเป็นข้อเสนอนี้หลังจากนั้นก็ไม่มีการประชุมอีกเลย"
"ดังนั้นในช่วงต้นคิดว่า การตั้งคำถามต่อแนวการแปรรูปแบบ Neo Liberal ก็ค่อนข้างน่าสนใจ เป็นความพยายามของรัฐบาลทักษิณที่จะเท่าทันเกมกลไกภายนอก ที่กำหนดโดยสถาบันการเงินต่างประเทศ แต่หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนแนวนโยบายออกมาในทางที่มีคำถามค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะประสบการณ์การแปรรูป ปตท. ซึ่งในสายตารัฐบาลถือเป็นความสำเร็จ เป็นผลงานชิ้นโบแดง เขาก็เอา ปตท.เป็นโมเดล แต่ความสำเร็จของปตท.มันเป็นความสำเร็จในเชิงธุรกิจ สามารถทำกำไรได้ดี เป็นความสำเร็จจากมุมมองของผู้ถือหุ้น
แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าความสำเร็จของ ปตท.อยู่บนภาระของผู้บริโภค ซึ่งตอนนั้นข้อมูลอาจจะยังไม่ค่อยออกมาเท่าไหร่นัก กำไรของ ปตท.ก็ยังไม่ได้ผิดสังเกตมากนัก แต่ว่าตอนนี้ทุกคนก็ประจักษ์แล้วว่ามันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังยังไง มันเป็นกระจกสะท้อนอันหนึ่งที่ให้เห็นว่าถ้า กฟผ.เข้าไปแล้ว จะมีผลต่อนักลงทุนและผู้บริโภคอย่างไร เกิดคำถามว่าการแปรรูป กฟผ.ทั้งองค์กรแบบผูกขาดเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที่ไฟฟ้าเป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ตรงนี้ใครได้ประโยชน์"
ปตท.ตัวงาบค่าไฟ
เธอบอกว่าการวิเคราะห์โมเดล ปตท.จะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นภาพของ กฟผ.ได้อย่างดี
และเกี่ยวข้องกันอย่างมาก. ปตท.มีธุรกิจหลายด้านทั้งน้ำมัน ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ
แต่ถ้าดูจากกำไรของปตท. แยกตามธุรกิจ ตัวเลขปี 2547 จะเห็นได้ว่า ปตท.ได้กำไรจากน้ำมัน
การกลั่น ปิโตรเคมี 4,000 ล้านบาทเท่านั้น ได้จากการสำรวจและผลิต ซึ่ง 90%
เป็นก๊าซ 27,000 ล้านบาท ได้จากก๊าซ 32,000 ล้านบาท สองส่วนหลังนี้เองที่มาจากธุรกิจผูกขาด
โดยเธอทำตัวเลขให้ดูว่าถ้าปตท.ลดกำไรลง 35,000 ล้านบาท ค่าไฟฟ้าก็จะลดลงถึง
30 สต.ต่อหน่วย โดย ปตท.ยังมีกำไรเป็นผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงถึง 15%
"ขุมทรัพย์หลักของ ปตท.อยู่ที่ก๊าซธรรมชาติ และเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซธรรมชาติที่ ปตท.ขายเอามาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นแน่นอนว่ากำไรของ ปตท.หลักๆ แล้วมาจากค่าไฟทั้งนั้น"
"ค่าไฟ 100 หน่วยในส่วนของการผลิตไฟฟ้ามีขั้นตอนมากมาย การจัดหาไฟฟ้า การจัดหาเชื้อเพลิง ซึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า จากนั้นก็เป็นธุรกิจสร้างโรงไฟฟ้า สร้างเขื่อน สร้างสายส่งไฟฟ้า กระจายมายังสถานีจ่ายไฟไปตามบ้านเรือน จากนั้นก็เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างการจดมิเตอร์ นี่คือภาพของธุรกิจไฟฟ้าทั้งหมดซึ่งมีขั้นตอนค่อนข้างมาก แต่ว่าเงินมันมากระจุกตัวอยู่ที่ ปตท.เกือบทั้งหมด ถึง 43 เปอร์เซ็นต์ คือ 100 หน่วยของค่าไฟที่ประชาชนจ่าย มาเข้ากระเป๋า ปตท.43 หน่วย นี่ตัวเลขปี 2545 นะ ก่อนราคาก๊าซราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นตัวเลขปัจจุบันต้องสูงกว่านี้ นี่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท.กับไฟฟ้า ค่อนข้างชัดเจนว่ากำไรมหาศาลของ ปตท.ของปีนี้เฉียดๆ แสนล้าน ไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้าน มันมาจากผู้ใช้ไฟค่อนข้างมาก"
ที่น่าตระหนกคือก่อนแปรรูป ปตท.มีกำไรแค่ 1,800 ล้านบาท แต่ในเวลาไม่กี่ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับแสนล้าน ซึ่งไม่ต้องพูดถึงว่าผลประโยชน์ไปตกในมือนักลงทุนผู้ถือหุ้นไม่กี่ราย ผู้ถือหุ้นมี 3 หมื่นกว่าราย และส่วนใหญ่ก็ไปกระจุกอยู่ในมือนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคชัดเจนเพราะค่า FT ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติ
เธอบอกว่าบทเรียนสำคัญในกรณีของ ปตท.ที่ต้องนำมาใช้ในกรณี กฟผ. ก็คือการที่ไม่ได้แยกท่อก๊าซออกมาเพื่อไม่ให้ ปตท.ผูกขาดแต่ผู้เดียว เพราะการที่ ปตท.ยึดท่อก๊าซไว้นี่เอง ทำให้ กฟผ.ไม่มีอำนาจต่อรองเลยในการซื้อก๊าซธรรมชาติ
"กฟผ.เป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ แทบจะเป็นผู้รับซื้อรายเดียว แต่กลับไม่มีอำนาจต่อรองเลยนะ ปล่อยให้ ปตท.กำหนดราคา แค่นั้นยังไม่พอ ยังต้องจ่ายค่าหัวคิว หรือที่เรียกว่าค่าตอบแทนมาร์จิ้นให้กับ ปตท."
"ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน กรณีโรงไฟฟ้าโรงหนึ่งของ กฟผ. โรงไฟฟ้าน้ำพอง มีความต้องการใช้ก๊าซ เพราะก๊าซไม่ค่อยพอ มีอีกแหล่งหนึ่งอยู่ใกล้ๆ ก็คือที่พูฮ่อม ปรากฏว่าคนที่รับสัมปทาน ณ ปัจจุบันก็คือบริษัทอะเมอริดาเฮทของอเมริกา กฟผ.ต้องการซื้อก๊าซโดยตรงและมันก็อยู่ใกล้ๆ กัน แต่ กฟผ.ไม่สามารถซื้อตรงได้ ต้องให้ ปตท.เป็นคนรับซื้อจากอะเมอริดาเฮทเพื่อที่มาขายให้ กฟผ.อีกทีหนึ่ง ซึ่งการขายนี่ก็ต้องบวกค่าหัวคิวด้วย นี่มันแสดงให้เห็นว่าอำนาจผูกขาดให้อะไรกับ ปตท."
อำนาจนี้ ปตท.ได้มาโดย พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกยุบเลิกไปโดยอาศัยการประกาศพระราชกฤษฎีกาแล้วยกสิทธิและอำนาจต่างๆ ไปให้ บมจ.ปตท. เหมือนกรณีของ กฟผ.ที่กำลังฟ้องอยู่ตอนนี้
"ดังนั้นที่รัฐมักจะอ้างว่า ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรในการเอา ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับเป็นบริษัทที่มีกำไรดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ จริงๆ ที่ผ่านมาที่ ปตท.ทำได้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่บ่งบอกแม้แต่น้อยว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มันอาจจะไม่โดนฟ้องร้องหรือยังไม่มีการตรวจสอบ แต่มันชี้ให้เห็นว่าสิทธิ์ผูกขาดที่ให้ไว้กับ ปตท.ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น"
"กรณีโรงไฟฟ้าน้ำพองกับพูฮ่อมนี่ชัด ว่าอำนาจผูกขาดทำให้เพิ่มต้นทุนแก่ผู้บริโภค ถ้า กฟผ.สามารถเจรจาโดยตรงกับผู้ขุดเจาะก๊าซ การเจรจาอาจจะมีความเข้มข้น หรืออาจจะเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้นก็ได้" เธอบอกว่าที่จริงก่อนจะเอาปตท.เข้าตลาดหุ้น รัฐบาลก็กำหนดไว้แล้วว่าจะแยกท่อก๊าซออกมาจาก ปตท. แต่กลับทำเป็นลืมหน้าตาเฉย
"มติ ครม. ตั้งแต่ช่วงการขายหุ้น ปตท.ปี 2544 รัฐบาลมีคำมั่นสัญญาต่อผู้บริโภคว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาเพื่อเปิดทางให้มีการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ กฟผ.ไม่ต้องซื้อก๊าซจาก ปตท.รายเดียว อาจจะซื้อจากแชฟรอน จากยูโนแคล อำนาจต่อรองจะมีมากขึ้น รัฐบาลได้กำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ออกมาแล้วด้วย แต่สัญญาที่ให้ไว้กลับไม่มีการดำเนินการ กำหนดเงื่อนเวลาว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินการ ทั้งที่เขียนไว้เรียบร้อยในหนังสือชี้ชวน และมีมติ ครม.รองรับด้วย"
"ก็คงต้องทวงคำสัญญานี้ต่อไป เพราะมันชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่สัญญาไว้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคกลับไม่ได้ทำ ขณะที่บางสิ่งบางอย่างที่สัญญาไว้กับนักลงทุน ทั้งๆ ที่ไม่ควรกลับยึดมั่นถือมั่นมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการกำหนดผลตอบแทนการลงทุน ว่าในการลงทุนสร้างท่อก๊าซของ ปตท.จะประกันกำไรผลตอบแทนที่ระดับ 16-18 เปอร์เซ็นต์ ท่อเก่าประกันไว้ที่ 18 ท่อใหม่ 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ประกันไว้ 16 เปอร์เซ็นต์เพราะตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ปี 2542-2543 แล้วก็ยึดเอาอันนั้นมาเป็นหลักประกันในหนังสือชี้ชวน พอตอนหลังมีการเสนอแผนการลงทุนท่อเส้นที่ 3 ช่วงปี 2546 ช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงค่อนข้างมากเหลือแค่ 5.75 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่าที่เคยประกันไว้ 16 เปอร์เซ็นต์ บนฐานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่า กลับไม่ทบทวนเลยนะ รัฐบาลยึดเอาสิ่งที่อยู่ในหนังสือชี้ชวนเป็นสรณะ"
เธอบอกว่า ถ้าแยกท่อก๊าซออก กฟผ.ก็สามารถเจรจาตรงกับผู้รับสัมปทานรายอื่น "ปตท.ก็ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้บริการการขนส่งก๊าซผ่านท่อ เปรียบเหมือนถนนก็เปิดฟรี ใครใช้ก็ได้ แค่เก็บค่าผ่านทาง ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดว่าจะเลือกใครให้ใช้บริการ"
"ท่อก๊าซใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐในการเวนคืน ลิดรอนสิทธิเพื่อสร้างท่อ แต่แทนที่จะถูกใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ กลายเป็นว่าใช้เพื่อประโยชน์ของธุรกิจปตท.แต่เพียงผู้เดียว ถ้ามีการปลดล็อกตรงนี้ได้ก็จะทำให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติน่าจะถูกลง เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าหัวคิว"
"ณ ปัจจุบัน ผู้ใดก็ตามถ้าจะมาใช้ท่อก๊าซของ ปตท.จะต้องขายให้กับ ปตท.แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ปตท.ก็จะรับซื้อมาแล้วมาบวกมาร์จิ้น แล้วก็มาขายต่อ ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็คือ กฟผ. กลายเป็นว่าต้นทุนมาเท่าไหร่ก็บวกเพิ่มๆ ปตท.ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะต่อราคาให้ถูกลง เพราะมาร์จิ้นกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาปากหลุม ธุรกิจมันเป็นไปในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้ ปตท.อย่างเดียว ไม่ได้ออกมาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม"
"มันผูกขาดทั้งตอนซื้อและตอนขาย ไม่ว่าจะยูโนแคลหรือจะใครก็ตามที่ขุดมาต้องขาย ปตท.เท่านั้น แล้ว กฟผ.หรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นที่ต้องการใช้ก๊าซ ก็ไม่สามารถซื้อจากใครได้นอกจาก ปตท. เขาทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ก็เหมือนลอตเตอรี่ ถ้ามีพ่อค้ากลางที่สามารถกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายได้ เราก็ไม่สามารถซื้อลอตเตอรี่ได้ในราคา 40 บาท ปตท.ก็ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง"
ราคาหน้าหลุมที่ว่า
ปตท.เป็นผู้ซื้อ มีการฮั้วได้ไหม
"มีกรรมการดูแล แต่รายละเอียดเงื่อนไขในการกำหนดราคาต่างๆ กำหนดโดยคนไม่กี่คน
และไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล เลยไม่แน่ใจว่ามีการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างเข้มข้นแค่ไหน
โครงสร้างราคาก็เป็นโจทย์อีกอันหนึ่ง ที่อยากจะให้มีการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ"
"ก็อยากสรุปอีกครั้งว่า บทเรียนจากแปรรูปที่ชัดเจนคือเงินมันไปกระจุกตัว ปตท.กำไรมหาศาล แต่เป็นกำไรที่ได้มาบนภาระของผู้บริโภค และคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ มีแค่ไม่กี่คน ไม่ถึง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ขณะเดียวกันสิ่งที่เราได้เห็นจากการดำเนินการของรัฐก็คือ รัฐให้ความสำคัญแก่ผู้ถือหุ้นมากกว่าผู้บริโภค ดูจากคำมั่นสัญญาที่มีไว้ต่อกลุ่มต่างๆ ก็นำมาซึ่งข้อห่วงใยว่าที่ผ่านมา ปตท.เป็นแบบนี้ แล้ว กฟผ.จะเป็นยังไง จนถึงวันนี้ยังไม่มีมาตรการอะไรที่ออกมาชัดเจน เกี่ยวกับการดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค"
แผนการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลและแยกกิจการผูกขาด
ถูกยกเลิก
"กรณี ปตท.ยังมีที่ให้คำสัญญาไว้ว่าจะทำแต่ไม่ได้ทำ ก็คือการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลก๊าซธรรมชาติ
ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำเป็นมาตรฐานสากล แต่ของรัฐบาลไทยไม่ได้ทำให้เรียบร้อย
ท้ายสุดก็เลยไม่ได้ทำ ตอนแรกบอกว่าจะจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลที่มี พ.ร.บ.รองรับ
เพื่อมาเป็นตัวถ่วงดุลระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค แต่พอแปรรูปเสร็จก็ฉีกกฎหมายทิ้ง
มีมติยกเลิก พ.ร.บ.ตัวนี้ หลังจากมีการเรียกร้องให้จัดทำ พ.ร.บ.กิจการไฟฟ้า
ก็ทำเฉพาะไฟฟ้า ในส่วนของก๊าซธรรมชาติก็ตัดออกเลย เดิมตอนแปรรูปมันมีร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน
ซึ่งครอบคลุมทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ แต่มาตอนนี้รัฐไม่มีคำตอบเลยว่า เหตุใดจึงยกเลิกแผนการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลสำหรับสาขาก๊าซธรรมชาติ"
ตัวนี้เองที่ภาคประชาชนจึงเรียกร้องให้มีองค์กรกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ก่อนจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยแยกกิจการที่ผูกขาดออกก่อน โดยเฉพาะระบบส่ง "ต่างประเทศทุกประเทศที่เขาจะแปรรูป โดยเฉพาะกิจการไฟฟ้าซึ่งเป็นกิจการที่ผูกขาดและเป็นสาธารณูปโภค เขาต้องออกกฎหมายระดับ พ.ร.บ.มาปรับโครงสร้าง จัดการเรื่องสิทธิผูกขาดให้เรียบร้อยก่อน ไม่อย่างนั้นจะเป็นเหมือน ปตท.ที่ยกสิทธิผูกขาดซึ่งเดิมให้ไว้กับรัฐวิสาหกิจไปไว้กับเอกชน"
"กรณี ปตท.เป็นเอกชนไปแล้ว 48 เปอร์เซ็นต์ อีก 52 เปอร์เซ็นต์ถือโดยคลัง แล้วคลังก็ไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประเทศอย่างเข้มข้น ก็จะใช้วิธีแต่งตั้งข้าราชการจากกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ไปนั่งเป็นกรรมการบริหาร เนื่องจากมันมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน คือตัวแทนของรัฐเหล่านี้ที่ไปนั่งบริหาร ปตท. ได้ผลตอบแทนจากการดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารเยอะมาก เมื่อเทียบกับเงินเดือนข้าราชการ มันทำให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งว่า เอ๊ะ เข้าไปในฐานะตัวแทนของรัฐ แต่กลับกลายเป็นเอาตำแหน่งไปเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจ"
เธอบอกว่าตรงนี้รัฐบาลก็ผิดคำมั่นสัญญาเช่นกัน
"ตอนแปรรูปครั้งแรกปี 2544 มีการให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐจะถือหุ้นในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นแปรออกไป 30 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากนั้นก็ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐเหลือเพียง 52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอันนี้ก็เป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่ต้องมีมติอะไร คลังสามารถขายได้ในฐานะผู้ถือหุ้น โดยขายผ่านกองทุนวายุภักษ์เป็นล็อตใหญ่ คลังขายให้กองทุนวายุภักษ์แล้วได้มาเป็นเงินสด กองทุนวายุภักษ์ก็ขายต่อให้ผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย ที่เล็งไว้กับ กฟผ.ก็อาจจะคล้ายๆ กัน อาจจะมีกองทุนวายุภักษ์ 2 ตั้งขึ้นเพื่อมาจำนำหุ้นในลักษณะนี้ แล้วนำเงินมาใช้ในนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล"
แปรรูปเพื่อตลาดทุน
ย้อนไปเปรียบเทียบแนวคิดแบบ ปชป.กับไทยรักไทย เธอบอกว่าที่จริงตอนแรกแนวคิดแบบไทยรักไทยก็ดูจะดี
เพราะ Power Pool นั้นเห็นได้ว่าไม่เหมาะกับเมืองไทย. "Neo Liberal คือแนวเสรีนิยมก็เน้นเรื่องกลไกตลาด
แนวของคุณทักษิณเน้นการผูกขาด เอาการผูกขาดมาทำให้องค์กรเข้มแข็ง สามารถที่จะสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งในเรื่องของทุน
ต่อสู้กับทุนใหญ่ๆ ของต่างประเทศได้"
"เห็นด้วยว่าการแข่งขันเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพ แต่การเปิดเสรีในลักษณะตลาดการซื้อขายไฟฟ้า ถ้าต้องมีการกำหนดราคาซื้อขายทุกๆ ชั่วโมง คล้ายๆ ตลาดหุ้น ก็ไม่เหมาะสมกับกิจการสาธารณูปโภค"
Power Pool ที่เคยเกิดในแคลิฟอร์เนียมีบทเรียนอย่างไร
"มีการกำหนดค่าไฟรายชั่วโมงเลย คือไฟฟ้าความต้องการมันขึ้นลงๆ การผลิตก็ขึ้นลงๆ
ตามด้วย ไม่อย่างนั้นจะรักษาแรงดันไม่ได้ ถ้าความต้องการมาก-การผลิตน้อย แรงดันจะตก
หรือถ้าผลิตมากเกินไป-แรงดันก็พุ่งขึ้น มันไม่ใช่สินค้าทั่วไป เทคนิคมันยุ่งยากซับซ้อน
ดังนั้นประเทศไทยอาจจะยังไม่เหมาะที่จะใช้ระบบแบบแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากมันมีความยุ่งยากในทางเทคนิค
มันปั่นราคาได้ง่ายมาก เวลาเราเปิดสวิตช์ไฟไม่ได้มีราคาแปะอยู่ว่าแต่ละชั่วโมงราคาเท่าไหร่
เราก็เปิดไปเลยแล้วบิลค่อยตามมาทีหลัง ดังนั้นการปั่นทำได้ค่อนข้างง่าย"
"แคลิฟอร์เนียค่าไฟพุ่งขึ้นเป็น 10 เท่าเลย เศรษฐกิจแทบจะหยุดชะงักกลายเป็นกองหนี้มหาศาลเนื่องจากต้องเสียเงินจำนวนมากให้กับผู้ผลิตไฟฟ้า เอนรอนก็อยู่ในนั้น ก็ได้ประโยชน์ มีส่วนในการกำหนดเงื่อนไขโครงสร้างของตลาดด้วย"
Power Pool มีตัวอย่างที่ใช้ได้ก็แถบสแกนดิเนเวีย "ระบบของเขาแข็งแรง เหมือนกับถนนที่ไม่มีการจราจรที่ติดขัด ดังนั้นการซื้อขายไม่ต้องมาประสบปัญหารถติด ไม่ต้องเจอปัญหาสายส่งมีข้อจำกัด เพราะถ้าสายส่งมีข้อจำกัดจะเกิด monopoly market ในบางพื้นที่ อีกอย่างของเขาวางกรอบกติกาที่ชัดเจน"
แนวคิด National Champion
แล้วแนวคิด National Champion นี่เอามาจากไหน
"จริงๆ ก็ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ทำ จีนก็ใช้รูปแบบนี้ ก็คือตั้งคำถามกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
พยายามสร้างความเข้มแข็งของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจในประเทศ ก่อนที่จะนำไปสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ
คือไม่ได้บอกว่าแนวคิดนี้ไม่ดี แต่วิธีการมันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวม
ตอนแรกก็รู้สึกว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ คือมองไปที่เรื่องของทุนเป็นหลัก เนื่องจากที่ผ่านมาระบบการเงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
ทำให้มองว่าถ้าเราไม่พร้อมก็อาจจะกลายเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ จากระบบที่เปิดเสรี
ดังนั้นแนวคิด National Champion คือคิดที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเองก่อน
ก่อนที่จะทะยานเข้าไปสู่เวทีโลก"
"ถ้าไม่ใช่สาธารณูปโภคหรือกิจการผูกขาดจะไม่ว่าอะไรเลย แต่กรณีไฟฟ้าค่อนข้างน่ากลัว เนื่องจากปตท.หรือ กฟผ. ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งจากการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ มันเป็นการสร้างความเข้มแข็งแบบเอื้ออาทร ให้สิทธิพิเศษนี้เพื่อที่จะให้เขามีกำไร แข็งแรงเฉพาะทุน เฉพาะการได้มาซึ่งกำไร แต่ในเรื่องประสิทธิภาพในการบริหาร ไม่มั่นใจว่าที่ผ่านมาการบริหารของ ปตท.เป็นอย่างไร เพราะพอได้สิทธิพิเศษมันก็ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพ"
"ดังนั้นตรรกะของเขาโอเค แต่วิธีการไม่น่าจะถูก ที่ผ่านมาก็เลือกเอาเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดและเป็นสาธารณูปโภค และให้สิทธิประโยชน์ ประเคนให้ทุกอย่างเลย ไม่ต้องจ่ายภาษีท้องที่ในการทำบีโอไอ ท้ายที่สุดเห็นๆ อยู่ว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์ รายได้ที่ควรจะได้จากการเก็บภาษีก็ไม่ได้ ท้ายที่สุดแล้วสิทธิประโยชน์ต่างๆ มันก็ตีค่ามาเป็นต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องจ่าย"
"ช่วงแรกดูเหมือนดีเพราะรัฐมีการทบทวน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ แล้วก็กำหนดแนวทางอย่างดีว่าในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจควรจะทำยังไง ซึ่งก็ดูมีหลักการดี แต่ตอนหลังหลักการที่ทั้งๆ นายกเป็นคนลงนามเองก็ทำเป็นลืม ทำขัดกับหลักการที่ตัวเองเคยชูไว้ แล้วหันมาใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ แปลงสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ โอนให้ กฟผ.และผู้ถือหุ้น อันนี้คือส่วนหนึ่งของคำร้องในคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครอง ว่ามันมีความไม่ชอบในกฎหมายหลายๆ อย่าง"
"พอศาลปกครองสั่งระงับ ก็มีการพูดกันมาก มีหลายๆ ฝ่ายมาพูดว่าเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งประเด็นหลักๆ ที่อ้างก็มีเรื่องของหนี้สาธารณะ เรื่องตลาดหุ้นว่าได้รับผลกระทบ ถอยหลังเข้าคลองไม่เปิดโอกาสให้ กฟผ.ได้พัฒนาประสิทธิภาพองค์กร ก็อยากดึงกลับมาให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ตอนแรกที่รัฐบาลจะแปรรูป กฟผ.มีจุดประสงค์อะไร ที่พอจะหยิบยกมาได้มีอยู่ 3-4 ข้อ รัฐบาลบอกว่า
- หนึ่ง เรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพ
- สองคือเรื่องธรรมาภิบาล ถ้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ความโปร่งใสของข้อมูลต่างๆ จะดีขึ้น
- อันที่สามคือเรื่องหนี้สาธารณะ จำเป็นที่ต้องแปรรูปเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับหนี้สาธารณะ
- อันที่สี่คือ สร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็อยากจะมาดูทีละอันเลยว่าการแปรรูมัน serve จริงหรือเปล่า"
"อย่างแรกเรื่องประสิทธิภาพ อยากจะให้ดูประสบการณ์ที่ผ่านมาในกรณีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจบางอย่าง เปรียบเทียบการบินไทยกับ ทศท. ในกรณีของการบินไทยก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เรื่องประสิทธิภาพไม่แน่ใจว่ามีการพัฒนา ชี้ให้เห็นว่าแค่ไปอยู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็อาจจะไม่ได้เป็นตัวประกันว่าประสิทธิภาพจะดีขึ้น แต่ในประเด็น ทศท.พอเริ่มมีโทรศัพท์มือถือเข้ามา มีเอกชนมาสร้างแรงกดดันในการแข่งขัน จากที่โทร.ทางไกลนาทีสูงสุดถึง 18 บาท มันลดลงฮวบฮาบเลย มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในทางที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็คือการแข่งขัน ดังนั้นเรื่องประสิทธิภาพไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเอกชน มันอยู่ที่ว่าโครงสร้างการผลักดันให้มีประสิทธิภาพหรือเปล่า"
"ประเด็นต่อมาเรื่องของหนี้สาธารณะ ก็มักจะอ้างว่าถ้าไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ แต่จริงๆ แล้วตัวเลขที่เพิ่งประกาศไม่นานพบว่า หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นหลักๆ มาจากหนี้ที่รัฐก่อเองโดยตรงจากโครงการประชานิยมต่างๆ ในส่วน กฟผ.รัฐไม่ได้รับประกันหนี้มาตั้งนานแล้วนะ และแม้จะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะตราบใดที่ กฟผ.ยังคงสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่"
"สุดท้ายเรื่องทุน สรุปแล้วที่อ้างมาเรื่องประสิทธิภาพ เรื่องธรรมาภิบาล เรื่องหนี้สาธารณะ จริงๆแล้วไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเลย ปัจจัยหลักอยู่ที่ตลาดทุนนี่แหละ ถ้าไม่ได้กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ โอเคมันกระทบจริง เรื่อง market cap แต่ก็อยากตั้งคำถามว่าตลาดหุ้นจริงๆ แล้วมันมีบทบาทมากน้อยเพียงใดในการผลักดันเศรษฐกิจ และใครได้ประโยชน์จากตลาดหุ้น คนที่มีส่วนในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอยู่ไม่กี่แสนคน อย่างมากก็แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร แต่คนที่จะต้องเสียประโยชน์คือคนทั้งประเทศ น่าจะดูจุดประสงค์โดยทั่วไปใหม่ว่า ถ้าตั้งวัตถุประสงค์ใหม่ คุณจะแปรรูปหรือว่าปรับโครงสร้างในลักษณะไหน เพื่อที่จะให้ได้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้"
องค์กรกำกับดูแล
แนวทางการปรับโครงสร้างที่องค์กรภาคประชาชนเสนอ ก็คือ การตั้งองค์กรกำกับดูแลขึ้น
ตามข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสรุปง่ายๆ
ก็คือการแยกระบบส่งออกมาเป็นส่วนของรัฐ กำกับดูแลโดยคณะกรรมการอิสระ รับซื้อไฟฟ้าจาก
กฟผ. และผู้ผลิตเอกชนรายอื่น โดยไม่ให้ กฟผ.ผูกขาดแต่ผู้เดียว จากนั้นก็ส่งไฟให้
กฟน. และ กฟภ.เป็นผู้จำหน่าย
"ถ้าแยกสายส่งออกมา สายส่งก็ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง เพราะตรงนี้เป็นกิจการที่ผูกขาด รวมถึงเขื่อน ซึ่งมีวัตถุประสงค์มากกว่าแค่ผลิตไฟฟ้า ไม่อยากให้ออกมาในลักษณะที่เป็นองค์กรมุ่งแสวงหาผลกำไร ดังนั้นถ้า กฟผ.อยากจะเป็นเอกชน ก็แยกออกไปในส่วนที่ไม่ใช่ผูกขาดและไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าอยากจะเพิ่ม market cap อาจจะเอาแค่โรงไฟฟ้าวังน้อย และโรงไฟฟ้าราชบุรี ไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่ไปอยู่ทั้งยวง
เขื่อนอาจจะอยู่ในอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งดูแลโดยรัฐเท่านั้น รัฐบริหารเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ผลิตไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไขอันเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของเขื่อน เพราะยังมีประโยชน์อื่นๆ เช่นการชลประทาน เกษตรส่วนไฟก็ขายตรงให้การไฟฟ้า ระบบส่ง และค่อยขายให้ประชาชนอีกที ตัดเอาเรื่องธุรกิจออกไปเลย ดำเนินการเพื่อรัฐจริงๆ ส่วนกรรมการกำกับดูแลจะดูแลทั้งการผลิตไฟฟ้า การส่ง การควบคุมระบบ และก็การจำหน่าย ซึ่งในส่วนการผลิตก็ให้ กฟผ.แยกออกมาต่างหาก ถ้าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่ม market cap ก็เอาแต่ตรงนี้ไป ทรัพย์สินส่วนใหญ่มันก็อยู่ตรงนี้อยู่แล้ว"
เธอบอกว่าถ้าปลดล็อกการผูกขาดของ
กฟผ.ก็จะทำให้เกิดพลังงานทางเลือกมากขึ้น อย่างเช่น Cogeneration
"ถ้าปลดล็อกเรื่องการผูกขาด แล้วเปิดให้เอกชนสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้เอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ที่เรียกว่า Cogeneration ภาระการใช้ไฟส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม
ถ้าอุตสาหกรรมสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้เอง ก็สามารถที่จะใช้ทั้งไฟฟ้าและใช้ทั้งไอน้ำในกระบวนการผลิตโดยตรง
ซึ่งจะเป็นการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง
2 เท่า แต่ตรงนี้กลับถูกล็อกอยู่โดยมติ ครม. ไม่เปิดให้เอกชนสามารถที่จะทำได้"
Cogeneration มีประโยชน์อย่างมากในการประหยัดพลังงาน
ในฐานะวิศวกรสิ่งแวดล้อม เธออธิบายให้ฟังว่า Cogeneration มีประโยชน์อย่างมากในการประหยัดพลังงาน
"ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าอย่างบ่อนอก หินกรูด ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ไกลจากจุดใช้ไฟฟ้า
ผลิตไฟแล้วมันจะมีไอร้อนที่ต้องทิ้งไป ก็ต้องเอาน้ำมาหล่อเย็นซึ่งกลายเป็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม
แทนที่จะเอาความร้อนตรงนั้นที่จะต้องทิ้งไปแล้วเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศ ก็เอามาใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมเลย"
"ถ้าอยู่ใกล้กับแหล่งใช้พลังงานขนาดใหญ่ อย่างพวกนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เอาไอน้ำมาถลุงเหล็ก หรือมาผลิตกระป๋องสับปะรด มันสามารถใช้ได้ แทนที่จะไปทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบ และถ้าโรงงานอุตสาหกรรมไม่มีไอน้ำนี้ เขาก็ต้องใช้ไฟฟ้าในการทำความร้อนหรือไม่ก็เผาเชื้อเพลิงโดยตรง เช่นน้ำมัน มันก็ทำให้เราพึ่งพาเชื้อเพลิงมากขึ้น ดังนั้นถ้าทำตรงนี้ได้มันตอบคำถามหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะไฟฟ้า ตอบได้ทั้งเรื่องหนี้สาธารณะ ที่ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งเรื่องการพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ"
บอกว่าโรงไฟฟ้า Cogeneration นี้เปิดให้ผลิตตั้งแต่ปี 2535 พอปี 2540 ประสบวิกฤติเศรษฐกิจก็หยุดรับซื้อไฟ เพราะกำลังผลิตเหลือ แต่ตอนนี้ความต้องการใช้ไฟเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็ยังไม่ยอมให้ทำเพิ่ม คงมีแต่ที่ผลิตอยู่เดิมซึ่งมีโรงไฟฟ้าขนาด 2,000 เมกะวัตต์อยู่หลายโรงในปัจจุบัน
"ทำได้ ถ้าจะทำ แต่ไม่ยอมส่งเสริม กีดกันอยู่ อย่างสุวรรณภูมิ ก็ปลดล็อกให้เฉพาะตัวเองทำได้แต่คนอื่นทำไม่ได้ คือตั้งโรงผลิตไฟฟ้าที่สุวรรณภูมิแล้วก็เอาน้ำมาทำกระบวนการหล่อเย็น เอาไอน้ำมาใช้ประโยชน์ในการทำระบบความเย็นที่สนามบิน ซึ่งอย่างนี้เอกชนก็ทำได้แต่ถูกบังคับให้ซื้อจาก กฟผ.เท่านั้น"
"ยังมีเรื่องของพลังงานหมุนเวียนด้วย พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานทางเลือกอีกทางหนึ่ง กฟผ.อาจจะบอกว่าเขาก็รับซื้ออยู่ แต่ถ้ามาดูในรายละเอียดจะพบว่าเงื่อนไขต่างๆ ยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้การเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนค่อนข้างจำกัด เข้ามาได้อย่างลำบากยากเย็น ดังนั้นถ้าการดูแลระบบสายส่งมาอยู่ที่องค์กรกำกับดูแล กฎกติกาต่างๆ จะมีความเท่าเทียมมากขึ้น ปัจจุบันเหมือนกับว่า กฟผ.มองพวกนี้เป็นศัตรูหมดเลย ถือว่ามาแย่งมาร์เก็ตแชร์ของเขา มันก็เลยมีสภาพอย่างนี้อยู่ ก็คือ กฟผ.กีดกัน ไม่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟ ทั้งๆ ที่เอกชนคือคำตอบหลักอันหนึ่งในการลดหนี้สาธารณะ"
"มันต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าใหม่ ไม่อยากจะให้ กฟผ.ผูกขาดอย่างนี้ต่อไป ดังนั้นส่วนของระบบส่งจะต้อง serve public มากขึ้น ถูกบริหารในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่เฉพาะ กฟผ."
การแปรรูปที่น่าสนใจในต่างประเทศ
กรณีของบริติชโคลัมเบีย
คุณชื่นชม ได้ยกตัวอย่างรูปแบบการแปรรูปที่น่าสนใจในต่างประเทศว่า มีกรณีของบริติชโคลัมเบีย
"รัฐบาลมีนโยบายแปรรูป แล้วก็มีการต่อต้านจากประชาชน ตอนหลังพรรคฝ่ายค้านก็ชูเรื่องการปรับโครงสร้างการปฏิรูปแทนการแปรรูป
ก็นำมาสู่การปรับโครงสร้าง เหมือนอย่างเราทำข้อเสนออันนี้ คือเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล
แล้วก็ให้แยกสายส่งออกจากการผลิต เปิดให้มีผู้ผลิตที่ใช้พลังงานทางเลือก เช่น
Cogeneration พลังงานสะอาด มีสิทธิในการเข้าถึงระบบมากขึ้น แล้วก็เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ
ขององค์กรกำกับดูแล"
"อย่างเรื่องการกำหนดค่าไฟ แทนที่จะคุยกันในห้องไม่กี่คนก็มีเป็น hearing เลย สามารถท้วงติงหรือมีข้อเสนอเปิดเผย พอมีระบบอย่างนี้แล้ว เรื่องของการคำนึงถึงความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นสังคม มันจะถูกนำเข้ามาเป็นข้อพิจารณา ซึ่งในกรณีของบริติชโคลัมเบียเขาออกมาเป็นนโยบายเลยว่า โรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่จะต้องสะอาดกว่าโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นไฮโดร เป็นน้ำเกือบทั้งหมด มันก็ทำให้เห็นว่าแนวการพัฒนาจะไปอีกแนวหนึ่ง เมื่อมีการปฏิรูปโครงสร้างแล้วจะทำให้สิ่งต่างๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากจะเห็นเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่มัวแต่ถูกผูกขาด และก็เห็นแก่ผลประโยชน์ขององค์กร ทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะเข้าถึง กลายเป็นต้นทุนทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และเรื่องของตัวเงินด้วย"
เธอบอกว่าองค์กรกำกับดูแลที่สภาที่ปรึกษาเสนอ ไม่ใช่การมอบอำนาจให้คน 7 คน 9 คนแบบองค์กรอิสระที่ล้มเหลวอยู่ในปัจจุบัน แต่มีกระบวนการสาธารณะที่ชัดเจน ประชาชนตรวจสอบได้
"การที่พูดถึงองค์กรกำกับดูแล ไม่ใช่เพื่อที่จะผลักความหวังทั้งหมดไปที่คณะกรรมการแค่ 7 คนต้องดูในส่วนของเนื้อหา พ.ร.บ.ที่จัดตั้งเลยว่า ในการปฏิรูปโครงสร้างองค์กร เราต้องการให้มีองค์กรกำกับดูแล กระบวนการต่างๆ ต้องเขียนให้ชัดเจนว่าเราเน้นที่กระบวนการ ไม่ได้เน้นการมอบอำนาจให้คน 7 คน แล้วทุกอย่างจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้น การตัดสินใจต่างๆ ต้องมีขั้นตอน ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร ใครมีสิทธิในการร่วมกำหนด สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ชัดเลยว่าคุณจะต้องทำอะไร"
การกำหนดค่าไฟก็จะมีกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม
"ขนาดประเทศจีน เพิ่งเปิดประเทศไม่นานและยังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ ยังมีกระบวนการ
hearing เลย คือจะปรับค่าไฟทีหนึ่งเขาจะรับฟังความคิดเห็น องค์กรต่างๆ คนที่มีส่วนร่วมที่จะกำหนดค่าไฟได้เริ่มจากกระบวนการอย่างนั้นเลย
มีการเปิดเผยข้อมูล พอมีกระบวนการที่เหมาะสม แล้วก็มากำหนดหลักการให้ชัดเจนว่าจะให้ความสำคัญกับอะไรในการกำหนดค่าไฟ
เกณฑ์ควรจะต้องประกันผลตอบแทนการลงทุนหรือเปล่า ทำไมถึงใช้หลักเกณฑ์นี้ในการกำหนด
ถ้าไม่ดีก็เลือกอันอื่นได้ไหม มีหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าไฟอะไรไหมที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ
เน้นให้การไฟฟ้ามีแรงจูงใจที่จะรักษาคุณภาพบริการที่ดี ขณะเดียวกันก็มีแรงจูงใจในการลดต้นทุนด้วย"
"พอหลักการชัดเจนแล้ว ในเรื่องของการกำหนดอัตราต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนโปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นการกำหนดก็จะเป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ ไม่ใช่ว่า นายกฯทักษิณอยากจะแทรกแซงเมื่อไหร่ก็สามารถแทรกแซงได้ มันจะมีหลักการรองรับ เรียกง่ายๆ ก็คือมีธรรมาภิบาล"
ซึ่งต่างจากค่าเอฟทีในปัจจุบัน เธอยอมรับว่าสูตร FT ปัจจุบันชัดเจนขึ้น "แต่มันมีปัญหาที่ว่า แล้วข้อมูลล่ะ ทำไมต้องปกปิดด้วย ทำไมไม่เปิดสู่สาธารณะ อีกอย่างคือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีอำนาจในการกำหนดตรงนั้น แล้วการตรวจสอบข้อมูลทำได้ลำบาก กฟผ.เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดค่า FT ด้วย เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการ โครงสร้างมันไม่ค่อยดี นอกจากนั้นถึงแม้ FT อาจจะมีสูตรชัดเจน แต่พอเอาเข้าจริงก็อาจจะไม่เป็นไปตามสูตรก็ได้ อาจจะมีการแทรกแซงจากรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการแทรกแซงค่อนข้างมาก"
ข้อมูลตัวไหนที่ไม่ชัดเจนบ้าง
"อย่างเช่นต้นทุนของโรงไฟฟ้าแต่ละโรง ทำไมอยู่ดีๆ คราวนี้ตัวเลขการใช้ไฟฟ้า
ต้นทุนการรับซื้อไฟของบางโรงทำไมสูงโด่งอย่างนี้ เขาบอกว่าเพราะสายส่งมีข้อจำกัดอย่างโน้นอย่างนี้
ท่อส่งก๊าซส่งได้ไม่เต็มที่ทำให้ต้องใช้น้ำมันเตาซึ่งมีต้นทุนสูง อะไรอย่างนี้
และ กฟผ.อธิบายได้ทุกครั้งที่มีคำถาม แต่คนที่รับคำตอบจะไม่สามารถตรวจสอบได้
ดังนั้นทำให้ไม่มีความมั่นใจว่าการดำเนินงานเดินเครื่องโรงไฟฟ้าต่างๆ เป็นไปในทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
มันอาจจะทำให้ดีกว่านี้ก็ได้ แต่ว่าไม่มีข้อมูลที่จะเช็ก และอีกอย่าง สมมติอ้างเรื่องของราคาก๊าซ
ราคาน้ำมันเตา ก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะนี่คือราคาที่ดีที่สุดหรือยัง วิธีการตัดสินใจสั่งเดินเครื่อง
สมมติสั่งเดินเครื่องทั้งๆ ที่มันแพงกว่า ทำไมไม่เดินเครื่องที่ถูกกว่า อะไรเหล่านี้
ซึ่งถ้าไม่มีข้อมูลก็จะจับไม่ได้ไล่ไม่ทันทุกที มีข้ออ้างได้ทุกครั้ง"
เรียกว่าค่าไฟของเราก็เข้ากระเป๋า
ปตท. กับ กฟผ.โดยไม่รู้ว่าต้นทุนจริงเท่าไหร่
"ต้นทุนมันผลักกันมาเป็นทอดๆ ปตท.ได้กำไรจากเชื้อเพลิงเสร็จแล้วก็ส่งต่อให้
กฟผ. กฟผ.ก็บวกเพิ่มต้นทุนและกำไรในส่วนของการผลิต ส่งให้ระบบส่งซึ่ง กฟผ.ก็ดูแลเองอีก
จากนั้นก็ส่งต่อให้ผู้บริโภค มันเป็นทอดๆ"
องค์กรกำกับดูแลชั่วคราว
ไม่มีอำนาจที่แท้จริง
รัฐบาลประกาศไว้ว่าจะตั้งองค์กรกำกับดูแลชั่วคราว ในช่วงไม่กี่วันนี้ แต่คุณชื่นชมบอกว่า
นั่นไม่ใช่โครงสร้างที่ควรจะเป็นและไม่มีอำนาจจริง
"องค์กรกำกับดูแลที่รัฐบาลจะตั้งชั่วคราวคือคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า จัดตั้งโดยระเบียบสำนักนายกฯ อำนาจทางกฎหมายเนื่องจากตั้งโดยระเบียบน้อยกว่าอำนาจที่ให้ไว้กับ กฟผ.เสียอีก กฟผ.ได้สิทธิในการผูกขาดกิจการโดยชอบตามกฎหมาย ซึ่งให้ไว้โดยพ.ร.บ.กฟผ.โอนไปยัง บมจ.กฟผ.โดยพระราชกฤษฎีกา อำนาจทางกฎหมายจึงสูงกว่า"
"ดังนั้นข้อสังเกตแรกคือ องค์กรนี้ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลทางกฎหมายอย่างแท้จริง การตั้งองค์กรชั่วคราวอาศัยระเบียบภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีไว้ในการจัดโครงการสร้างกระทรวงทบวงกรมไม่ได้มีอำนาจในการกำกับดูแลบริษัทที่เป็นเอกชน ในกรณีกิจการไฟฟ้ามีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนกว่า 100 บริษัท รวมถึง กฟผ.ในทางปฏิบัติไม่สามารถไปปรับโทษ หรือบังคับให้ปฏิบัติตามคำสั่งได้แท้จริง"
"สอง คืออำนาจหน้าที่ที่ให้ไว้ไม่เพียงพอเบ็ดเสร็จ เช่น อำนาจหน้าที่ในการดูแลสายส่ง การเชื่อมโยงการซื้อขาย พบว่าไปอยู่ในกรรมการอีกชุดคือ กรรมการกิจการผลิตไฟฟ้า มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จึงขาดเอกภาพในการกำกับดูแล"
"สาม กรรมการชุดนี้ขาดความเป็นอิสระ ทั้ง 7 คนที่จะแต่งตั้งได้รับการเสนอชื่อโดย รมต.พลังงาน แล้วนายกฯ สามารถถอดถอนได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเรื่องการบริหารค่อนข้างชัดเจนไม่มีอิสระ หากไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลก็สามารถถูกถอดถอนได้"
"กรรมการกำกับดูแลถาวรจะต้องมี พ.ร.บ.รองรับดึงอำนาจในการผูกขาดต่างๆ มาไว้ที่องค์กรกำกับดูแล องค์กรค่อยออกใบอนุญาตให้ กฟผ.หรือบริษัทอื่นประกอบกิจการต่างๆ กิจการผลิต ระบบส่ง จำหน่าย ดังนั้นอำนาจอยู่ที่องค์กรกำกับดูแล หากผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข มีสิทธิเพิกถอนใบอนุญาตทันที เป็นกลไกสำคัญในการให้องค์กรกำกับดูแล มีอำนาจทางกฎหมายแท้จริงในการดูแลทั้งรัฐเอกชน"
"แต่องค์กรชั่วคราวไม่มีอำนาจแม้แต่จะบังคับใช้คำสั่ง ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือปรับลงโทษ ไม่มีอำนาจเลย"
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
Free Documentation
License
Copyleft : 2005, 2006, 2007
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies
of this license document, but changing it is not allowed.
ลิขซ้าย 2548, 2549,
2550 : สมเกียรติ
ตั้งนโม
ผู้ที่นำข้อมูลวิชาการฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เผยแพร่ หรืออ้างอิง โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ได้รับความยินยอมจากผู้เรียบเรียง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
โดยกรุณาระบุถึงเว็ปไซต์ และ URL มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org