The Midnight University
เรียนรู้และเข้าใจสังคมวัฒนธรรมไทย
คดีจินตนา แก้วขาว,
คอรัปชั่น,และเรื่องตลก
ศ.ดร.นิธิ
เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ : รวมบทความ
๓ เรื่องที่เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
๑. คำพิพากษาคดีจินตนา แก้วขาว
๒. วัฒนธรรมคอรัปชั่น และ ๓.ตลกลง
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 729
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)
๑. คำพิพากษาคดีจินตนา แก้วขาว
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2548 คดีคุณจินตนา แก้วขาว ที่ละเมิดบริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์
ดิเวลลอปเมนท์ ได้บรรลุไปอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุกเป็นเวลา
1 เดือน จึงกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในวันที่ 20 กันยายน 2546 ซึ่งให้ยกฟ้อง
คดีนี้ คุณจินตนาถูกกล่าวหาว่าพาพวกเข้าขัดขวางงานเลี้ยงของบริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์ ดิเวลลอปเมนท์ ได้บุกรุก "โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร" เข้าไปในบริเวณงานของบริษัท แล้วนำของโสโครกไปขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร ถังน้ำแข็ง และเวทีจัดงานเลี้ยง "อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข"
ในที่นี้ ขอสรุปประเด็นสำคัญของคำพิพากษาทั้งสองศาล เพื่อบอกกล่าวให้ทราบโดยทั่วกัน
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเริ่มปรารภเหตุของความขัดแย้งระหว่างจำเลย และโรงไฟฟ้า ถ้าพูดอย่างภาษาวิชาการก็คือ แสดงบริบทของกรณีที่เกิดขึ้นว่าฝ่ายผู้ประท้วงคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้านั้น มีความห่วงใยผลกระทบของโรงไฟฟ้า ที่อาจมีต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวบ้านตำบลหินกรูด ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ กรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ โดยปราศจากปูมหลัง
ถัดจากนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็อ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า ในหมวด 3 มาตรา 39 อันว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น การพูด, การเขียน, การพิมพ์ ฯลฯ โดยคำพิพากษาไม่ลืมประโยคท้ายสุดของวรรคนี้ด้วยคือ "และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น" นอกจากนี้ คำพิพากษายังอ้างถึงมาตรา 44 วรรคหนึ่งที่ให้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และมาตรา 46 นั่นก็คือสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์จารีตประเพณี, ภูมิปัญญา, ศิลปวัฒนธรรมอันดี และการจัดการ, บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล
จุดมุ่งหมายที่อ้างรัฐธรรมนูญ ท่านระบุไว้อย่างชัดเจนและงดงามว่า "คดีนี้เกี่ยวข้องกับความมุ่งหมายดังกล่าว(ของรัฐธรรมนูญ) จึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานด้วยความละเอียดอ่อน มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคนดีถูกรังแกโดยกลไกทางกฎหมาย"
ประเด็นท้ายสุดของคำพิพากษาคือ การวินิจฉัยข้อเท็จจริง พบว่าคำให้การของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเอง เช่น ในเวลาเดียวกันพยานบางคนเห็นคุณจินตนานำพรรคพวกประมาณ 10 คน เดินเข้าไปในบริเวณงาน ในขณะที่พยานบางคนกลับให้การว่า เห็นแต่ฝูงคนเดินเข้าไป แต่ไม่ได้เห็นคุณจินตนา ทั้งๆ ที่พยานทุกคนต่างรู้จักคุณจินตนามาก่อนทั้งสิ้น พยานบางคนให้การว่า เห็นคุณจินตนายกมือขึ้นชี้นิ้วออกคำสั่งให้เอาน้ำปลาวาฬเทราดลงไป บางปากไม่เห็น
นอกจากนี้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นยังตั้งข้อสงสัยในความเที่ยงแท้ของคำให้การพยานอีกด้วย เช่น พยานทุกปากทำงานหรือได้รับประโยชน์จากบริษัทโรงไฟฟ้า ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม พยานบางปากยอมรับว่ามีเรื่องขัดแย้งกับคุณจินตนาในเรื่องโรงไฟฟ้า บางปากมีคดีฟ้องร้องอยู่ในศาลด้วยซ้ำ จึงล้วนมีเหตุให้ไม่อาจฟังความได้แน่นอนทั้งสิ้น (ขอให้ย้อนกลับไปดูเหตุผลข้างต้นเรื่องของความละเอียดอ่อนของคดี)
และด้วยเหตุดังนั้นจึงพิพากษาว่า "พยานหลักฐานของโจทก์ก็เท่าที่นำสืบมาทั้งหมดยังไม่พอฟังว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง"
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นเดียวว่า "จำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายและผู้เสียหายครอบครองอยู่ดังกล่าวหรือไม่"
ในส่วนคำให้การที่ขัดแย้งกันในชั้นศาลนั้น ศาลอุทธรณ์เลือกจะฟังคำให้การในชั้นสอบสวนมากกว่า เพราะที่พยานบางปากให้การในชั้นศาลผิดไปจากที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนก็เนื่องจาก "เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด หรือมิฉะนั้นอาจกลับใจเบิกความเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นความผิด"
นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ยังยืนยันว่า คำให้การฝ่ายพยานโจทก์น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ยิ่งบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจก็ยิ่งไม่มีเหตุโกรธเคืองที่จะให้ร้ายแก่จำเลย ในขณะที่จำเลยก็ยอมรับว่าเข้าไปที่สำนักงานโรงไฟฟ้า (นอกบริเวณงาน) ในวันเกิดเหตุจริง (ในศาลชั้นต้นจำเลยยืนยันว่าเดินเข้าไปตามเส้นทางที่เป็นที่ดินสาธารณะ) แต่จำเลยก็ไม่ได้อ้างบุคคลเป็นพยาน ทั้งๆ ที่ได้เข้าไปหลายคน จึง "เจือสม" กับคำให้การของพยานโจทก์(ว่าได้บุกรุกเข้าไปละเมิดจริง)
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362 และ 83 ให้จำคุก 6 เดือน
คำพิพากษาทั้งสองศาลนี้จะมีความสำคัญต่อการศึกษากฎหมายในประเทศไทยต่อไปข้างหน้ามากน้อยอย่างไร ไม่ทราบได้ แต่คุณจินตนา แก้วขาว นั้นมีมิตรอยู่มากทั้งประเทศไทย จึงใคร่บอกกล่าวโดยรายละเอียดให้ได้ทราบทั่วกัน
ตัวคุณจินตนาเองนั้นมีความวิตกต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นทั่วไป จึงอยากให้พี่น้องพินิจพิจารณาคำพิพากษาทั้งสองนี้เอง อาจมีประโยชน์ในการเคลื่อนไหวต่อไปข้างหน้า ขณะนี้ทางฝ่ายจำเลยได้เตรียมการยื่นฎีกาแล้ว
๒. วัฒนธรรมคอร์รัปชั่น
ผมไม่ประสบความสำเร็จที่จะจำกลุ่มเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชั่นในเมืองไทยปัจจุบัน
เพราะมีจำนวนไม่น้อยเลย
บางกลุ่มก็ต่อต้านอย่างกว้างๆ และไม่ค่อยชัดนักว่าจะให้สมาชิกซึ่งเข้าไปร่วมด้วยจำนวนมากนั้นทำอะไร เพื่อบรรเทาการคอร์รัปชั่นลง บางกลุ่มก็เอามาตรฐานที่อ้างว่าเป็น "สากล" เป็นตัวตั้ง มาตรฐานนี้มาจากการสำรวจความเห็นของคนหลายกลุ่มในหลายประเทศ แล้วเอามาเรียงลำดับกันว่า ประเทศใดหน้าตาขี้ฉ้อกว่ากัน ซึ่งหน้าตาประเทศไทย จะออกมาขี้ฉ้อในระดับต้นๆ หรือซื่อสัตย์ระดับท้ายๆ กลุ่มก็ใช้มาตรฐานนี้เพื่อรณรงค์ให้คนไทยรู้จักอายบ้าง แล้วช่วยกันทำให้หน้าของเราดูขี้ฉ้อน้อยลง บางกลุ่มก็ค่อนข้างจะเจาะไปที่ป้องกันการคอร์รัปชั่นในบางกระทรวงตามความถนัดของผู้นำกลุ่มและสมาชิก
ในด้านวิธีการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น ผมคิดว่าไม่ค่อยชัดนักว่ากลุ่มเหล่านี้ต้องการให้ทำอะไร ข้อนี้ไม่ได้ตำหนิ แต่เห็นใจ เนื่องจากวิธีการป้องกันปราบปรามนั้นได้ถูกบัญญัติไว้หมดแล้วในกฎหมาย, ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ, การตั้งองค์กรตรวจสอบ และระบอบปกครอง ปัญหาจึงไม่ใช่ขาดหลักการอะไร แต่เมื่อไหร่จึงจะปฏิบัติตามหลักการนั้น ทั้งในความหมายและเจตนารมณ์ของหลักการนั้นเสียที
อย่างไรก็ตาม มีวิธีการที่ชัดเจนอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่นจะเห็นพ้องกันอย่างกว้างขวางที่สุด นั่นก็คือความ "โปร่งใส" อันเป็นแนวคิดที่ คุณอานันท์ ปันยารชุน ทำให้แพร่หลายในเมืองไทยเมื่อสมัยเป็นนายกฯ
ดังนั้น เราจึงแยกกลุ่มที่ต่อสู้ผลักดันให้เกิดการดำเนินงานสาธารณะที่โปร่งใส ออกจากกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่นได้ยาก เช่น กลุ่มที่ทำงานด้านสื่อไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องบุคคลสองสามคนที่ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นพันล้าน แต่การฟ้องร้องเช่นนี้ย่อมมีผลในทางปฏิบัติ คือสื่อถูกคุกคามจนไม่กล้าเสนอความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ทำลายความโปร่งใสในสังคมอย่างแน่นอน
ที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งหมดของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชั่นและผลักดันด้านความโปร่งใส ล้วนเป็นคนชั้นกลาง (ระดับกลางและล่าง-เพราะระดับบนยังดูเพชรกันไม่เลิก) ฉะนั้น ผมจึงอยากสรุปว่า มีความเปลี่ยนแปลงด้านมาตรฐานและค่านิยมอะไรบางอย่างในหมู่คนชั้นกลางไทย ที่ทำให้ระดับความอดทนต่อการคอร์รัปชั่นในกิจการสาธารณะลดลง
อันที่จริงผมจะสรุปอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า มีการคอร์รัปชั่นในกิจการสาธารณะในประเทศไทยมากขึ้น จนคนชั้นกลางทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาต่อต้านเป็นการใหญ่
แต่ที่ผมไม่สรุปอย่างนี้ก็เพราะผมเชื่อว่า "คอร์รัปชั่น" มีในเมืองไทยมานานตั้งแต่ก่อนที่คนชั้นกลางทุกคนในเวลานี้จะเกิดด้วยซ้ำ ซ้ำทำกันทื่อๆ กว่าที่เม้มกันอย่างยอกย้อนเช่นทุกวันนี้เสียอีก แต่คนชั้นกลางไทยก็ยังทนกับมันได้อย่างน่าชื่นตาบาน คนพวกนี้แหละครับที่เชียร์เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างสุดจิตสุดใจ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในนโยบายพัฒนา เพราะเกือบทุกโครงการล้วนต้องผ่านบริษัทก่อสร้างนายหน้า ซึ่งไม่มีแต่ค้อนสักอันเดียว มีแต่โต๊ะตัวเดียวก็ก่อสร้างได้ทั้งประเทศแล้ว
ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมยังพอเข้าใจได้ง่าย เช่น ครั้งหนึ่งเคยยอมรับว่าคอร์รัปชั่นเป็นโอกาสที่ชอบธรรมของคนใหญ่คนโต กลายมาเป็นว่าทำไม่ได้ ประโยชน์สาธารณะย่อมสำคัญกว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร แพร่หลายอย่างไร อันนี้สามารถตามสืบได้โดยคนที่ขยันกว่าผม แต่ที่สัมพันธ์สืบเนื่องกับค่านิยมคือความเปลี่ยนแปลงด้านมาตรฐานคือการกระทำที่ครั้งหนึ่งไม่จัดเป็นคอร์รัปชั่น แต่ต่อมาก็ถูกจัดว่าเป็นคอร์รัปชั่น อันนี้เป็นที่สนใจแก่ผมมากกว่า
ตัวอย่างที่คนไทยปัจจุบันคุ้นหูก็คือคอร์รัปชั่น "เชิงนโยบาย" ซึ่งที่จริงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อนายทุนเข้ามายึดเอาบ้านเมืองไปหมดอย่างในทุกวันนี้หรอกครับ เขาทำกันมานานแล้ว เพียงแต่ผลประโยชน์ไม่ได้ "ทับซ้อน" กับกิจการธุรกิจของตัวเองโดยตรงเท่านั้น เช่น พรรคพวกหรือผู้ให้สินบน ทำโรงงานผลิตน้ำมันละหุ่ง นักการเมืองก็ออกกฎหมายห้ามส่งออกเมล็ดละหุ่ง เพื่อกดราคาเมล็ดละหุ่งในประเทศให้ถูกเข้าไว้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือนักการเมืองวางนโยบายที่เนื้อแท้แล้วมุ่งประโยชน์แก่บุคคล ซ้ำเป็นผลเสียแก่สาธารณะด้วย ย่อมเป็นการทุจริต "เชิงนโยบาย" ทั้งนั้น และการกระทำเช่นนี้อาจสืบย้อนไปได้ไกลถึงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ
แต่ความสงสัยเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อน ถึงมีก็จำกัดเฉพาะในหมู่นักวิชาการเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันกลายเป็นข้อสงสัยทั่วไปของคนชั้นกลางในเมืองไปเสียแล้ว จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านมาตรฐานของการคอร์รัปชั่น
ผมขอกล่าวนอกเรื่องไว้ด้วยว่า การคอร์รัปชั่น "เชิงนโยบาย" นี้นับวันจะซับซ้อนขึ้น และยากมากขึ้นที่จะตัดสินว่าขี้ฉ้อหรือยัง ยกตัวอย่างนโยบายภาษี (ปรับ, คืนและลด) ของรัฐบาลประธานาธิบดีบุชของสหรัฐ ผลบั้นปลายคือคนรวยจำนวนน้อยได้ประโยชน์ ในขณะที่คนชั้นกลางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมได้เพียงน้อยนิด ยิ่งคิดในระยะยาวแล้ว คนที่จะต้องควักกระเป๋าจ่ายให้แก่โครงการของรัฐบาลอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามไปถึงโครงการอวกาศหรือฟื้นฟูอุบัติภัย ฯลฯ คนชั้นกลางต้องรับผิดชอบมากขึ้น แถมประโยชน์ที่ได้จากการประกันสังคมยังถูกตัดลงเสียอีก
อย่างนี้จะถือว่าเป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายหรือไม่ ในเมื่อทั้งตัวบุชเอง สมัครพรรคพวก หรือแม้แต่นักการเมืองส่วนใหญ่ของพรรครีพับลิกันล้วนมาจาก "ชนชั้น" ได้เปรียบนี้ทั้งนั้น
แสดงว่าเรื่องของคอร์รัปชั่นนั้น ไม่ใช่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย นั่นคือวัฒนธรรมเป็นคนบอกว่าอะไรคือการคอร์รัปชั่น และอะไรไม่ใช่ โดยไม่สนใจว่ากฎหมายจะพูดว่าอย่างไร และเมื่อมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มาตรฐานนี้จึงเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ และไม่เป็นมาตรฐานสากล กล่าวคือ คนบางกลุ่มในสังคมก็ถือมาตรฐานอย่างหนึ่ง คนอีกบางกลุ่มก็อาจถือมาตรฐานอีกอย่างหนึ่ง
เช่น การคอร์รัปชั่น "เชิงนโยบาย" นั้น แม้ในหมู่คนชั้นกลางไทยด้วยกันเองก็ยังมองไม่เห็นว่าเป็นคอร์รัปชั่นได้อย่างไร เอาเงินของประเทศไปให้พม่ากู้เพื่อซื้อของไทยก็น่าจะเป็นนโยบายที่ดี แต่ของที่เขาจะซื้อนั้นให้บังเอิ๊ญบังเอิญเป็นสินค้าของบริษัทที่ท่านนายกฯ เป็นเจ้าของ ก็อย่างว่าแหละครับเป็นเรื่องบังเอิญ จะไม่ให้ท่านได้ค้าขายอะไรบ้างเลยหรือ
คงจำวาทะของท่านนายกฯ คนเก่าคือ คุณชวน หลีกภัย ในกรณี ส.ป.ก.อื้อฉาวที่ภูเก็ตได้ ท่านบอกว่าเหมือนชิงทุนไปต่างประเทศแหละครับ บังเอิญคนรวยสอบได้ จะให้ทำยังไงล่ะ
ด้วยเหตุดังนั้น การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นที่คนในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเผชิญต่อไปในภายภาคหน้านั้น จึงไม่ใช่เรื่องขององค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายที่เข้มงวด หรือการเมืองในระบบเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญกว่าคือการบังคับใช้มาตรฐานโดยภาคประชาชน หรือสังคมต้องเข้าไปมีบทบาทตรวจสอบ, โวยวาย, คัดค้าน, ถล่ม, อย่างเข้มแข็งเอง ไม่อย่างนั้น ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ, พรรคฝ่ายค้าน หรือแม้แต่สื่อก็เลื่อนเปื้อนอย่างที่เลื่อนเปื้อนให้เห็นอยู่บ่อยๆ หรือมิฉะนั้นก็ไร้น้ำยา
การผนึกกำลังของประชาชนในสังคมเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่นจึงเป็นนิมิตอันดี แสดงว่าสังคมเริ่มขยับเขยื้อนแล้ว และการที่มีองค์กรหรือกลุ่มที่ทำงานด้านนี้มากขึ้นในสังคมไทย ก็น่าจะถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ เหล่านี้จำกัดตัวเองอยู่ในหมู่คนชั้นกลางเท่านั้น ไม่ได้รวมเอาประชาชนระดับล่างไว้ด้วยเลย จนดูเหมือนคนไทยระดับล่างในชนบทไม่รังเกียจการคอร์รัปชั่นเอาเลย ความจริงแล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่อย่างนั้น แต่เกิดขึ้นจากมาตรฐานว่าอะไรคือคอร์รัปชั่นที่ต่างกัน
จริงอยู่ที่คนชั้นล่างในชนบทไม่ใส่ใจเท่าไหร่ว่า มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างมากน้อยแค่ไหน เพราะคนที่ไม่ค่อยเคยได้รับส่วนแบ่งทรัพยากรส่วนกลางเลย ได้แบ่งถึงมือเขาบ้างก็ย่อมพอใจเป็นธรรมดา ฉะนั้น ถนนลาดยางจะถูก อบต. โกงกินไปบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่มีถนนลาดยางเข้าหมู่บ้านเสียเลย
แต่การคอร์รัปชั่นที่คนชั้นล่างจำนวนมากขึ้นทุกทีต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็คือ การแย่งชิงทรัพยากร เป็นคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายชนิดหนึ่ง แทบจะทุกโครงการทั้งของภาครัฐและเอกชนที่เข้าไปแย่งชิงหรือแย่งใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นนั้น ล้วนเป็นความลำเอียงเชิงนโยบาย (ซึ่งก็น่าจะถือได้ว่าเป็นคอร์รัปชั่นประเภทหนึ่ง) และมีนักการเมือง, ข้าราชการ และเจ้าพ่อท้องถิ่นได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ไปอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ด้วยทั้งนั้น
สร้างเขื่อนก็กินกันตั้งแต่เงินกู้ไปจนถึงอีไอเอ วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้าง ค่าเวนคืน และผู้รับเหมาท้องถิ่น ฯลฯ วางท่อก๊าซก็กว้านซื้อที่ดินไว้ขายต่อ, สร้างโรงไฟฟ้าก็เขมือบที่ดินสาธารณะกัน ยังไม่พูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของคนวางนโยบายที่ไปลงทุนกับเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ และนี่คือเหตุผลที่มาตรการโปร่งใสทั้งหลายที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไม่เคยสัมฤทธิผลในทางปฏิบัติ เพราะโครงการล้วนให้ประโยชน์แก่พวกขี้ฉ้อเหล่านี้เต็มๆ จึงไม่อยากทำอีไอเอจริง ไม่อยากให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมจริง และไม่อยากทำประชาพิจารณ์จริง
แต่ที่ชาวบ้านในระดับล่างเดือดร้อนกับคอร์รัปชั่นเหล่านี้ที่สุดก็คือ การทำลายทรัพยากรที่เขาต้องใช้เพื่อดำรงชีวิต (ซ้ำเป็นชีวิตที่ดีเสียด้วย ไม่ว่าจะมองจากแง่วัตถุหรือศีลธรรม) ความเดือดร้อนจากคอร์รัปชั่นแบบนี้คนชั้นกลางในเมืองไม่ค่อยรู้สึก เพราะทรัพยากรที่ใช้ดำรงชีวิตของคนในเมืองไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากรธรรมชาติมากนัก (จนเขาจะรื้อบ้านสร้างรถไฟฟ้านั่นแหละ) และความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นในลักษณะนี้ในหมู่ประชาชนระดับล่างก็ขยายตัวกว้างขวางขึ้น แม้ไม่ได้แยกเรื่องคอร์รัปชั่นออกมาต่อต้านโดดๆ ก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้
ในขณะที่คนระดับล่างไม่ได้ร่วมในขบวนการต่อต้านคอร์รัปชั่นของคนชั้นกลางในเมือง คนชั้นกลางในเมืองก็ไม่ได้เข้าไปร่วมในขบวนการของชาวบ้านเหมือนกัน ฉะนั้น จึงเท่ากับมีความเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชั่นอยู่สองระดับในสังคมไทย ซึ่งไม่ผนึกเข้าหากัน
ผมจึงคิดว่า จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องคอร์รัปชั่นให้กว้างกว่ามาตรฐานของคนชั้นกลางในเมือง เพื่อจะทำให้ขบวนการทั้งหลายมองเห็นความเป็นพันธมิตรกัน ระหว่างการเคลื่อนไหวของตัวและของชาวบ้าน ว่าแก่นแท้แล้วก็เรื่องเดียวกัน
หากทั้งสองฝ่ายสามารถผนึกกำลังเข้าหากันได้ (ซึ่งต้องคิดและทำอะไรอีกหลายอย่างเพื่อบรรลุผล) ขบวนการทางสังคมที่จะต่อต้านคอ์รัปชั่นในเมืองไทยจะมีพลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางความเละเทะขององค์กรอิสระที่สร้างความผิดหวังให้สังคมในเวลานี้
๓. ตลกลง
เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรเอกชนแห่งหนึ่งออกมาท้วงว่า โทรทัศน์ (ทั้งละครและโฆษณา)
ชอบเอาเสียงภาษาไทยที่ไม่ชัดของชนกลุ่มน้อยบนที่สูง (รวมผู้อพยพลี้ภัยด้วย)
มาเป็นมุขตลก เท่ากับเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนหล่านั้น
ผมเห็นด้วยกับข้อทักท้วงนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันมีอะไรที่ลึกกว่าตลกสำเนียงไม่ชัดของชนกลุ่มน้อย ซึ่งองค์กรเอกชนได้พูดไว้หรือไม่ผมก็ไม่ทราบ แต่ไม่ปรากฏรายงานในสื่อ นั่นก็คือ หนึ่งในหน้าที่ทางสังคมหลายต่อหลายอย่างของตลก ก็คือเป็นเครื่องมือการจัดวางกลุ่มคนไว้บนขั้นบันไดทางสังคม โดยเฉพาะคนแปลกหน้าที่สังคมต้องการวางไว้ที่ขั้นต่ำสุด
ตลกชาติพันธุ์และตลกชนชั้น ไม่ว่าจะในวัฒนธรรมอะไร จึงเป็นการผลักดันกลุ่มคนที่เป็นตัวตลกให้ลงไปสู่บันไดขั้นล่างๆ ทั้งนั้น
ตลกที่เก่าแก่มากของไทยประเภทหนึ่งคือตลกตาเถนยายชี
ตาเถนคือ "คนวัด" ประเภทหนึ่ง บางคนอาจเคยบวชเรียนมาแล้ว บางคนอาจไม่เคย
แต่ทั้งหมดคือคนที่ "ไม่มีที่ไป" ต้องอาศัยวัดกินอยู่หลับนอน ผมไม่ทราบว่าคนกลุ่มนี้คือคนจรจัดกลุ่มแรกในสังคมไทยใช่หรือไม่
เพราะผมออกจะสงสัยว่าที่ "ไม่มีที่ไป" นั้นไม่จริง คือถ้าอยากไปจริงก็มีที่ให้ไป
แต่ไม่อยากไปดำเนินชีวิตซ้ำซากเหมือนคนอื่นต่างหาก
ไม่ว่าจะ "ไม่มีที่ไป" หรือมีที่แต่ไม่อยากไปก็ตาม ตาเถนจึงเป็นคนที่สังคมไทยมองว่าเป็นคนชั้นต่ำสุด ไม่เหมาะที่ใครจะไปคบหาสมาคมด้วย ผมไม่เคยได้ยินหรือได้อ่านที่ไหนว่า มีใครยกลูกสาวให้ตาเถนสักที
ส่วนยายชีนั้น ก็อย่างที่รู้กันนะครับว่าคืออุบาสิกาที่เคร่งศาสนา ถึงกับโกนหัวนุ่งขาวห่มขาวและถือศีลแปด การทำอย่างนี้น่ายกย่องในสังคมไทยด้วยซ้ำ แต่ผู้ดีหรือคนที่มีลูกหลานอุปการะก็จะบวชชีแล้วอยู่บ้าน ไปวัดเฉพาะวันพระวันโกน จนอาจนอนค้างที่วัดในวันนั้นๆ ด้วยก็ได้ถ้าวัดอนุญาต แต่ผู้หญิงที่บวชชีแล้ว "ไม่มีที่ไป" ต้องมากินอยู่หลับนอนที่วัดตลอดนี่คือคนสิ้นไร้ไม้ตอก จนไม่รู้ว่าบวชชีเพราะศรัทธาหรือเพราะ "ไม่มีที่ไป" กันแน่
ดังนั้น ฐานะของยายชีจึงก้ำกึ่งกันระหว่างความน่านับถือกับความน่าดูถูก การมีสำนักชีเป็นเรื่องเป็นราวในวัดนั้นคือส่วนหนึ่งของความพยายามลบล้างความน่าดูถูกของชี ที่ศรัทธาแก่กล้าถึงขนาดสละบ้านเรือนมาอยู่วัดประจำ ฝรั่งที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาสมัยพระเพทราชารายงานว่า มีวัดหนึ่งมีชีอยู่ประจำเป็นจำนวนมาก นั่นก็คือมีสำนักชีอยู่ในวัดนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่น่าแปลกใจใช่ไหมครับ ที่เมื่อตาเถนอยากเล่นสัปดน ก็ย่อมต้องเล่นกับยายชีเป็นธรรมดา ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะมีสำนักชีในวัดนะครับ แต่เพราะยายชีในเรื่องตลกเหล่านี้คือคนสิ้นไร้ไม้ตอกต่างหาก
คนที่อยู่ชั้นล่างของสังคมมักเป็นตัวตลกเสมอ และตลกเองก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของสังคมที่จะจัดให้คนเหล่านี้อยู่ข้างล่างด้วย
ตลกเกี่ยวกับเจ็ก
ถัดจากตาเถนยายชีก็เจ๊กสิครับ เราพบตลกเกี่ยวกับเจ๊กมากตั้งแต่รัตนโกสินทร์ลงมา
เพราะนับแต่สมัยนี้เป็นต้นมา สังคมไทยก็มีเจ๊กแทรกเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมด้วยมากขึ้นอย่างมาก
คนแปลกหน้าที่แทรกตัวเข้ามาอย่างรวดเร็วและด้วยจำนวนมหึมา สังคมไทย (ภาคกลาง)
จะจัดการกับคนเหล่านี้อย่างไร คงทำหลายอย่างนะครับ แต่ผมคิดว่าตลกเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการจัดการ
เจ๊กนั้นไม่ได้แทรกตัวเข้ามาอยู่ร่วมเฉยๆ แต่แทรกเข้าไปถึงก้นครัว นำเอาวัสดุสิ่งของและอาหาร, ประเพณีพิธีกรรม, การแสดง, ภาษา และอุดมคติความใฝ่ฝันในวัฒนธรรมจีน (ซึ่งแสดงออกในวรรณกรรมแปล) เข้ามาเคียงคู่กับของไทย หรือบางกรณีก็เข้ามาเบียดขับของไทยเลยด้วยซ้ำ ซ้ำเจ๊กยังมีเงินสดในมือ ท่ามกลางสังคมที่ไม่ค่อยมีใครมีเงินสด ทั้งๆ ที่กำลังย่างเข้าสู่เศรษฐกิจตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น เจ๊กจึงสามารถแทรกเข้าไปได้มากกว่าครัว คือเลยไปถึงห้องนอนด้วย เพราะสามารถขอลูกสาวชาวบ้านทำเมียหรือยกลูกสาวให้เจ้านายทำเมียได้ง่ายๆ
เจ๊กจึงเป็นตัวตลกมาแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ปรากฏทั้งในภาพเขียนฝาผนังไปจนถึงวรรณกรรมและการแสดง และยังตลกสืบมาจนถึงเมื่อไม่นานมานี้เอง จำอวดในสมัยที่ผมเป็นเด็กมาจนหนุ่มจะต้องมีตลกเจ๊กแทรกอยู่เสมอ ตลกบางคนถึงกับใช้เจ๊กเป็นบุคลิกในการแสดงของตัวไปเลย เช่น คุณก๊กเฮง เป็นต้น
เพราะสถานะอันก้ำกึ่งของเจ๊กในสังคมไทย ด้านหนึ่งก็เป็นคนแปลกหน้าที่น่าดูถูกเหยียดหยาม แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จนเขยิบตัวเข้าไปใกล้อำนาจได้ชิด สร้างได้ทั้งวัด ทั้งลูกเจ้า และลูกขุนนาง
ตลกเจ๊กจึงมีลักษณะพิเศษกว่าตลกเหยียดคนชั้นล่างทั่วๆ ไป กล่าวคือ มีความรู้สึกเป็นศัตรู เช่น เยาะเย้ยถากถาง ผสมปนเปอยู่อย่างเห็นได้ชัด บุคลิกของเจ๊กในตลกไม่ใช่คนซื่อเซ่อซึ่งมักปรากฏในบุคลิกของตลกชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ตรงกันข้ามเลย กลับฉลาดเป็นกรด แต่ฉลาดในทางเอาแต่ได้ บูชาเงินยิ่งกว่ามิตรภาพหรืออะไรที่เป็นนามธรรมอย่างนั้น และเห็นแก่ตัวจนน่าขำ (คือฝ่าฝืนจากความเป็นปรกติที่คาดหวังได้-ตามทฤษฎีตลกของอริสโตเติล)
ผมรู้สึกมาหลายปีแล้วว่าตลกเจ๊กตายแล้วในสังคมไทย นั่นคือ ไม่มีใครใช้ความเป็นเจ๊ก (ทั้งที่จริงหรือจินตนาการ) มาสร้างความขำขันได้อีก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เข้าใจได้ง่ายเสียจนไม่ต้องอธิบาย ฉะนั้น จะไม่อธิบายล่ะครับ
ตลกลาว ตลกคนอีสาน
คนแปลกหน้าที่แทรกตัวเข้ามาใกล้ชิดกับคนไทย (ภาคกลาง) อีกกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะหลังนโยบายพัฒนาคือคนอีสาน
และเขาก็กลายเป็นตลกของคนภาคกลางมานาน
อันที่จริง คนอีสานอพยพมารับจ้างแรงงานหรือค้าขายในภาคกลางนานก่อนหน้านโยบายพัฒนา แต่ทั้งหมดเป็นงานตามฤดูกาล นายฮ้อยค้างัวก็ค้าควายตามฤดูกาล รับจ้างทำนาก็รับจ้างตามฤดูกาล ซ้ำงานที่เขาทำก็ไม่เข้ามาพ้องพานกับชีวิตปรกติของคนทั่วไปด้วย คนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาไว้ในภาคกลางก็สร้างชุมชนของตนเองซึ่งค่อนข้างปิด เพราะอาชีพหลักคือเกษตรกรรมยังชีพ
แต่นโยบายพัฒนาซึ่งทำความล่มจมแก่เกษตรกรรมยังชีพของประชาชนทั่วไป ถีบคนอีสานให้ลงมาทำงานโรงงาน, โรงนวด, คนใช้, ถีบสามล้อ, เก็บขยะ, ซาเล้ง, กุ๊ก, งิ้ว ฯลฯ พูดได้ว่าคนอีสานกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของชีวิตคนภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ไปเลย
"ตลกลาว" จึงเริ่มก่อตัวและกลายเป็นกระแสหลักของตลกสืบมาอีกนาน แค่ตลกพูดภาษาอีสานบนเวทีก็ขำแล้ว (เพราะภาษาอีสานไม่เข้าล็อคกับชีวิต) ตลกทุกคนล้วนมาจากแอลเอ หรือร้อยเอ็ดทั้งนั้น ถ้าเทียบกับ "ตลกสุพรรณ" ซึ่งตัวตลกต้องพูดเสียงเหน่อ (อย่างล้อต๊อก) ก็คล้ายกัน แต่ผมคิดว่า "ตลกลาว" แพร่หลายกว่า และทำหน้าที่จัดสถานะทางสังคมของคนอีสานมากกว่า
บุคลิกของคนอีสานที่แสดงใน "ตลกลาว" คือความซื่อเซ่อ, ความขี้คุย, ตามยุคสมัยไม่ทัน (เช่น ไม่กระดิกหูกับภาษาอังกฤษเอาเลย), ค่อนข้างจน, ไม่สวยเพราะจมูกแบนหรือโหนกแก้มสูง, ชอบกินปลาร้าและส้มตำ ฯลฯ การแสดงอะไรที่ขัดแย้งกับความคาดหวังเหล่านี้ก่อให้เกิดเสียงฮาได้ เช่น เมื่อ หม่ำ จ๊กมก พูดภาษาอังกฤษบนเวที เป็นต้น
ตลกชาวเขา
กลุ่มคนที่เข้ามาแทนที่คนอีสานคือชนกลุ่มน้อยบนที่สูง ทั้งที่เป็นพลเมืองไทย
ควรเป็นพลเมืองไทย และมาจากพม่า คนเหล่านี้แทรกเข้ามาในชีวิตของคนไทยอย่างรวดเร็วเหมือนคนอีสาน
จนแทบจะกล่าวได้ว่าเอาเข้าจริง คนไทย, เศรษฐกิจไทย และวิถีชีวิตไทยปัจจุบันขาดคนเหล่านี้ไม่ได้
มองลงไปข้างล่างเถิดครับ คนที่อาบเหงื่อต่างน้ำให้แก่ชีวิวิตทั้งดีและชั่วของเราคือเขา
จึงไม่ประหลาดอะไรใช่ไหมครับที่เขาจะกลายเป็นตัวตลกและตามธรรมดาของคนที่เพิ่งก้าวขึ้นมาบนเวทีตลก จะให้คนหมายรู้ว่าเขาคือใครได้ง่ายที่สุดคือพูดเพี้ยนตามสำเนียงเดิม เพราะจะให้แต่งตัวเป็นชาวเขาหรือพม่าก็ไม่สมจริง เนื่องจากคนใช้ตามบ้านเรือนไม่ได้แต่งอย่างนั้น ในขณะที่คนอีสานขึ้นเวทีตลกมานานจนกระทั่งสามารถสร้างเครื่องหมายให้เป็นที่รับรู้ได้ง่ายอยู่แล้ว แม้พูดภาษากลางก็ตาม
และเพราะเป็นตัวละครใหม่บนเวที จึงต้องเน้นบุคลิกให้เกินจริงมากตามไปด้วย เช่น เซ่อก็ต้องเซ่อมาก ซื่อก็ซื่อมากจนผิดกาละเทศะ ออกจะกลายเป็นตลกทื่อเกินไป แต่รอหน่อยแล้วตลกก็จะพัฒนาบุคลิกที่ซับซ้อนขึ้นเองในภายหน้า
ตลก : เครื่องมือการจัดวางคนไว้บนขั้นบันไดทางสังคม
ตลอดบทความนี้ ผมพูดว่าตลกจัดวางกลุ่มคนไว้ที่ขั้นบันไดล่างสุด ผู้อ่านบางท่านอาจนึกสงสัยว่า
เพราะคนเหล่านี้ยืนอยู่บนบันไดขั้นล่างสุดอยู่แล้ว ตลกจึงเอาคนหล่านี้มาเล่นหรือตลกเป็นผู้จัดวางคนเหล่านี้ไว้ตรงนั้นกันแน่
ผมคิดว่าถูกทั้งสองอย่าง นั่นก็คือคนจะอยู่ในบันไดขั้นไหนทางสังคม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบทบาททางเศรษฐกิจของเขาเพียงอย่างเดียว มีการสร้างมาตรฐานทางวัฒนธรรมเข้ามาเสริมด้วย และตลกเป็น "เครื่องมือ" อย่างหนึ่งที่สำคัญในการสร้างมาตรฐานดังกล่าว
อันที่จริง ก่อนหน้าคนอีสาน ตลกไทยยังเป็นเครื่องมือในการสร้างมาตรฐานทางวัฒนธรรมที่น่าเศร้ากว่านั้นอีก นั่นคือการสาปคนพิการซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสอยู่แล้ว ให้ฝังแน่นอยู่ในบันไดขั้นสุดท้ายตลอดไป จำได้ใช่ไหมครับว่า ความพิการโดยเฉพาะติดอ่าง, หูหนวก, ตาบอด, เป็นใบ้, เป็นบ้า ฯลฯ ถูกใช้เป็นมุขตลกมาอย่างไร สมัยผมเป็นเด็กดูเหมือนจะใช้มากกว่าปัจจุบันเสียอีก แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้อยู่นะครับ
ผมเคยพูดไว้นานแล้วและหลายหนว่าตลกคือพระเจ้า แต่นั่นหมายถึงตัวตลกในการแสดงแบบเดิมของไทย ไม่ใช่ตลกชาติพันธุ์นะครับ
ตลกเป็นอาวุธที่ร้ายแรงมาก ไม่ได้มีไว้ใช้ได้เฉพาะกับคนชั้นล่างสุดของสังคมเท่านั้น หากนำไปใช้กับคนชั้นสูงโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจทางการเมือง จะบ่อนทำลายอำนาจของเขาจนแทบไม่เหลือเลย อย่างเช่นคณะ รสช. ซึ่งยึดอำนาจในปี 2534 ไม่มีแววว่าจะครองอำนาจได้เลย เพราะได้เฮตั้งแต่วันแรกที่อ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจกันแล้ว และก็ได้เฮกันตลอดมาจนหมดอำนาจไป
เพราะเมื่อผู้มีอำนาจกลายเป็นตัวตลก คำพูดและการกระทำทุกอย่างของเขาจะกลายเป็นเรื่องเล่น เรื่องไม่จริง ทุกอย่างผิดฝาผิดตัวไปหมด แม้แต่ตัวเขากับตำแหน่งของเขา
จะดูว่าใครอยู่ในช่วงขาลงที่ถาวรหรือไม่ จึงพึงดูความเป็นตัวตลกของเขาว่าเด่นชัดมากขึ้นเพียงใด นี่เป็นสัญญาณอันตรายยิ่งกว่าการก่นประณามของพวก "ขาประจำ" หลายเท่านัก
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ตลอดบทความนี้ ผมพูดว่าตลกจัดวางกลุ่มคนไว้ที่ขั้นบันไดล่างสุด
ผู้อ่านบางท่านอาจนึกสงสัยว่า เพราะคนเหล่านี้ยืนอยู่บนบันไดขั้นล่างสุดอยู่แล้ว
ตลกจึงเอาคนหล่านี้มาเล่นหรือตลกเป็นผู้จัดวางคนเหล่านี้ไว้ตรงนั้นกันแน่
ผมคิดว่าถูกทั้งสองอย่าง นั่นก็คือคนจะอยู่ในบันไดขั้นไหนทางสังคม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบทบาททางเศรษฐกิจของเขาเพียงอย่างเดียว
มีการสร้างมาตรฐานทางวัฒนธรรมเข้ามาเสริมด้วย และตลกเป็น "เครื่องมือ"
อย่างหนึ่งที่สำคัญในการสร้างมาตรฐานดังกล่าว
อันที่จริง ก่อนหน้าคนอีสาน ตลกไทยยังเป็นเครื่องมือในการสร้างมาตรฐานทางวัฒนธรรมที่น่าเศร้ากว่านั้นอีก นั่นคือการสาปคนพิการซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสอยู่แล้ว ให้ฝังแน่นอยู่ในบันไดขั้นสุดท้ายตลอดไป