The Midnight University
เมื่อจีนครองอำนาจเหนือท้องทะเล
เจิ้งเหอ - แม่ทัพมุสลิมแห่งกองเรือมหาสมบัติจีน
อัล-ฮิลาล
: แปลจากบางส่วนของต้นฉบับ
When China Ruled the
Seas เขียนโดย Louise Levathes
ผู้สนใจสามารถคลิกอ่านต้นฉบับได้ที่
http://www.ripon.edu/academics/global/Levathes.html
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 728
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15.5 หน้ากระดาษ A4)
เจิ้งเหอ- แม่ทัพมุสลิมแห่งกองเรือมหาสมบัติจีน
จาก เมื่อครั้งมังกรจีนครองอำนาจเหนือท้องทะเล
ค.ศ. 1405-1433
When China Ruled the Seas เขียนโดย
Louise Levathes
คัดมาบางส่วน แปลโดย อัล-ฮิลาล (Al-Hilal)
http://www.ripon.edu/academics/global/Levathes.html
ปีศาจในผ้าไหม
เสียงสัญญาณเตือนกระจายไปอย่างรวดเร็วตลอดทั่วเมืองมาลินดิ
(Malindi) ประเทศเคนยา ชายฝั่งทะเลอาฟริกาตะวันออก พายุเมฆทมึนปรากฏขึ้นเหนือแนวปะการังที่เส้นขอบฟ้า
ชาวประมงรีบนำเรือของตนเข้าฝั่ง เมื่อเมฆจับตัวรวมกันก็ปรากฏชัดเจนขึ้นว่า
ที่เห็นนั่นไม่ใช่เมฆแต่อย่างใด แต่คือ ริ้วขบวนของใบเรือ ใบเรือ และใบเรือ
จำนวนมหาศาลจนเกินกว่าจะนับได้
บนเรือลำใหญ่สุดมีภาพวาดตางูยักษ์อยู่บนหัวเรือ เรือแต่ละลำมีขนาดใหญ่เท่าบ้านหลายหลังรวมกัน และมีเรือตางูยักษ์เหล่านี้นับโหล ช่างเป็นเมืองแห่งเรือแท้ๆ กองเรือทั้งขบวนกำลังแล่นข้ามมหาสมุทรสีครามอย่างรวดเร็วไปยังเมืองมาลินดิ เมื่อกองเรือมหึมานี้แล่นใกล้เข้ามา ธงสีฉูดฉาดบนเสากระโดงเรือได้บดบังแสงจากพระอาทิตย์ และทันใดก็มีเสียงกลองรัวลั่นบนเรือดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วสวรรค์และผืนดิน กษัตริย์ของเมืองและผู้คนพากันมาชุมนุมกันที่ท่าเรือ ทุกคนหยุดงานที่กำลังทำลงหมด
นี่คือพลังอันตรายขู่กรรโชกอะไรหรือเปล่า และกองเรือเหล่านั้นต้องการอะไร ขบวนเรือจอดทอดสมอไว้นอกเขตแนวปะการังของเมืองมาลินดิ จากนั้นมีเรือพายขนาดเล็กจำนวนมากแล่นออกจากท้องเรือใหญ่ พร้อมด้วยชายในเสื้อผ้าไหมหรูหราจำนวนมาก กษัตริย์จำหน้าชายเหล่านั้นบางคนได้ เพราะพวกเขาคือคณะทูตที่พระองค์ได้ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีถวายบรรณาการแด่พระจักรพรรดิจีนเมื่อหลายเดือนก่อน ขณะนี้คณะเดินเรือแห่งบัลลังก์มังกรได้แล่นเรือมาส่งคณะทูตของพระองค์ถึงบ้านแล้ว กองเรือมหาสมบัติจากเมืองจีนได้ขนของแปลกๆ ใหม่ๆ จำนวนมากมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าของพระองค์ แต่ชาวจีนที่มากันจำนวนมหาศาลและกองเรือมหึมานี้ เดินทางมาเพื่อสันติจริงหรือ หรือจะมาบังคับเอาเมืองของพระองค์เป็นเมืองขึ้นต่อโอรสสวรรค์แห่งกรุงจีน
นี่คือปี ค.ศ.1418
เรือลำใหญ่ที่สุดของกองเรือมหาสมบัติจากจีนนี้เป็นเรือสำเภาจีนที่เรียกว่า เป่าฉวน มีเสากระโดงเรือ 9 ต้น ตัวลำเรือยาวประมาณ 400 ฟุต สิ่งที่บรรทุกมาด้วยมีกระเบื้องลายคราม ผ้าไหม เครื่องเขิน และสิ่งของมีค่าต่างๆ ที่นำมาเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ทางประเทศจีนต้องการจากต่างแดนคือ งาช้าง นอแรด กระดองกระ ไม้หายาก เครื่องหอมเช่น กำยาน ยา ไข่มุก และหินมีค่าต่างๆ
นอกจากเรือสำเภาลำใหญ่แล้ว กองเรือมหาสมบัตินี้ยังประกอบด้วยเรือลำเลียงนับร้อยลำ เรือบรรทุกน้ำ เรือบรรทุกม้า เรือรบ และเรือแจวอีกจำนวนมาก พร้อมด้วยลูกเรือและทหารอีกกว่า 28,000 ชีวิต นี่คือกองเรือที่พิเศษที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติจีน และไม่เคยมีกองเรือของชาติไหนสามารถลบสถิติความยิ่งใหญ่นี้ของจีนได้ จนกระทั่งเกิดกองเรือรุกรานสมัยสงครามโลกครั้งหนึ่ง
ในช่วงเวลาสั้นๆ จากค.ศ.1405-1433 กองเรือมหาสมบัติแห่งบัลลังก์มังกร ภายใต้การบัญชาการของอัครมหาขันทีเจิ้งเหอ ได้สร้างตำนานการสำรวจทางทะเลหรือสมุทรยาตราถึง 7 ครั้ง ตลอดแนวทะเลจีนถึงมหาสมุทรอินเดีย จากไต้หวันถึงอ่าวเปอร์เซียและชายฝั่งอาฟริกาอันห่างไกล เอลดอราโด ชาวจีนรู้เกี่ยวกับทวีปยุโรปจากพ่อค้าอาหรับแต่มิได้มีความปรารถนาที่จะเดินทางไปถึงที่นั่น เพราะ "ดินแดนตะวันตก(หมายถึง ยุโรป)อันไกลโพ้น"ในสายตาชาวจีนมีเพียงขนแกะและเหล้าไวน์ที่ชาวจีนมิได้มีความต้องการ
ในช่วง 30 ปีแห่งการสำรวจทางทะเลของจีนนี้ สินค้าจากต่างแดน ยารักษาโรค และความรู้ด้านภูมิศาสตร์ไหล่บ่าเข้าสู่เมืองจีนในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน และจีนได้ขยายอิทธิพลทางการเมืองไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย ดินแดนครึ่งหนึ่งของโลกจึงอยู่ในเงื้อมมือของจีน และด้วยกองเรือมหึมาที่ไม่มีใครเทียบได้ดัง กล่าวทำให้อีกครึ่งหนึ่งของโลกไม่ไกลเกินเอื้อมเลยหากจีนต้องการ ชาติจีนอาจกลายเป็นจ้าวแห่งอาณานิคม 100 ปีก่อนหน้ายุคทองแห่งการสำรวจทางทะเลและการขยายอำนาจของชาวยุโรป
แต่จีนก็มิได้ทำ
หลังจากสมุทรยาตราครั้งสุดท้ายของกองเรือมหาสมบัติ พระจักรพรรดิจีนได้สั่งห้ามการเดินทางทางทะเลอีก และออกคำสั่งให้หยุดการต่อเรือหรือซ่อมเรือสำเภาเดินสมุทร พ่อค้าหรือชาวเรือคนใดฝ่าฝืนจะได้รับโทษประหารชีวิต กองเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จักจึงได้สาบสูญไปภายในระยะเวลาเพียง 100 ปี และเป็นโอกาสให้โจรสลัดญี่ปุ่นกลับเข้ามาปล้นสดมภ์แถบชายฝั่งทะเลของจีน
ยุคแห่งการขยายอิทธิพลกว้างไกลที่สุดของชาติจีนนั้นกลับติดตามมาด้วยยุคที่จีนปิดตัวเองจากโลกอย่างที่สุด ผู้นำของโลกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคต้นศตวรรษที่ 15 ได้หันหลังเดินออกจากประตูประวัติศาสตร์ไป ในขณะที่การค้าขายกับต่างแดนและการเริ่มต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป ได้กลับผลักดันให้โลกตะวันตกก้าวหน้าไปสู่ยุคแห่งความทันสมัย
ในปี ค.ศ.1498 เมื่อวาสโกดากามาและกองเรือผุๆ 3 ลำของเขาแล่นอ้อมแหลมกู้ดโฮป และจอดทอดสมอที่อาฟริกาตะวันออกเพื่อแล่นต่อไปยังอินเดีย พวกเขาได้พบกับชาวพื้นเมือง 3 คนสวมหมวกผ้าไหมสีเขียวที่มีการตกแต่งประดับประดาอย่างประณีต ชาวอาฟริกันมีปฏิกิริยาดูแคลนสิ่งของที่ชาวโปรตุเกสนำออกมาเสนอเช่น ลูกปัด กระดิ่ง ระฆัง สายสร้อยที่ทำจากปะการัง และพวกเขามิได้มีความประทับใจกับกองเรือกระจ้อยร่อยของชาวโปรตุเกสเลย
คนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านเคยเล่าขานถึง "ปีศาจ"ผิวขาวผู้สวมใส่ผ้าไหมพร้อมด้วยกองเรือยักษ์ที่ได้เคยมาแวะมาจอดทอดสมอที่ชายฝั่งทะเลของพวกเขาเมื่อนานมาแล้ว แต่พวกเขาไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร และมาจากที่ใด หรือแม้กระทั่งพวกเขาเคยมาจริงหรือไม่ กองเรือมหาสมบัติของจีนได้หายไปจากความทรงจำของชาวโลกเสียแล้ว
เจิ้งเหอและวาสโกดากามาพลาดโอกาสที่จะพบกันที่อาฟริกาถึง 80 ปี อาจมีคนสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเขาได้พบกันจริงๆ หากวาสโกดากามาได้เห็นกองทัพเรือมหึมาแห่งราชวงศ์หมิงแล้ว เขาจะกล้านำเรือของเขาที่มีความยาวเพียง 85-100 ฟุตแล่นข้ามมหาสมุทรอินเดียหรือไม่ และในทางกลับกัน หากเจิ้งเหอได้เห็นเรือกระจ้อยร่อยของโปรตุเกสแล้ว แม่ทัพเรือของจีนจะไม่ขยี้หอยทากโปรตุเกสที่ขวางเส้นทางเดินเรือของท่านให้เป็นผุยผงหรือ เพื่อป้องกันมิให้ชาวยุโรปได้มีโอกาสเปิดเส้นทางการค้าระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก
หนังสือเล่มนี้จะสำรวจว่าชาติจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลได้อย่างไร และหลังจากสมุทรยาตราหลายคราของกองเรือมหาสมบัติ ทำไมชาติจีนถึงได้ทำลายกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่ของตนลง และสูญเสียความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีให้แก่ชาวยุโรป เรื่องที่สำคัญก็คือ ชาติจีนมองตนเองเป็นอย่างไร และการวางสถานะของตนเองในโลกนี้ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้แล้วได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยโบราณเพียงเล็กน้อย ทุกวันนี้ชาวจีนก็ยังคงไม่ไว้วางใจชาวต่างชาติและอิทธิพลจากต่างชาติ
การเปิดและปิดประเทศจีน การแยกตัวเองโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก ความจริงแล้วชาวจีนห่างไกลจากการเป็นคนในโลกแคบๆ ของตัวเองอย่างที่ถูกวาดภาพไว้ในประวัติศาสตร์นัก ชาวจีนเคยเป็นนักเดินเรือและนักผจญภัยที่ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่สมัยเริ่มต้นของอารยธรรมจีน ตั้งแต่ก่อนที่เราจะเรียกว่า "ชาติจีน" หรือ "ชาวจีน" คนในยุคหินใหม่จากทวีปเอเชียเป็นบรรพบุรุษของชาวเกาะทั้งหลาย ผู้เคยพิชิตทั้งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกตั้งแต่ก่อนคริสตกาลเป็นพันปี ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีชาวเอเชียไปตั้งหลักแหล่งในทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัสจะค้นพบทวีปนั้น และหลักฐานก็มีชัดเจนว่ามีการติดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว
เราจะเริ่มด้วยแผ่นดินใหญ่และทะเล ด้วยกำเนิดของความคิดของ "อาณาจักรกลาง" (หรือจักรวรรดิจีน) และยุคเริ่มแรกของการค้าขายทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอิทธิพลต่อจีนในยุคเริ่มต้น ที่นี่เป็นที่กำเนิดของกองเรือข้ามมหาสมุทร กองเรือที่ไม่เคยได้รับการสรรเสริญจากชาวโลกเช่นโคลัมบัส กองเรือที่ได้เดินทางข้ามมหาสมุทรสีคราม ไปยังขอบโลกใหม่และที่ซึ่งไกลออกไปกว่านั้น
กองเรือมหาสมบัติ
แม่น้ำ Qinbuai แยกสาขาวกวนไปมาตลอดด้านใต้สุดของเมืองนานจิง ในส่วนโค้งเอื่อยๆ
ของแม่น้ำที่ไหลช้าๆ คือ เรือท้องแบนหลายลำที่มีห้องตกแต่งหรูหราราวพระราชวังเล็กๆ
ที่ซึ่งผู้ชายเข้ามาหาความสำราญทั้งกลางวันและกลางคืนกับหญิงสาวแก้มแดงสุกราวผลพีช
บางโอกาสหากมีลูกค้าเรียกร้อง เรือก็จะออกจากท่า เคลื่อนไปทางเหนืออย่างช้าๆ
และเสียงดนตรีอ่อนโยนและเสียงจากนักร้องเสียงสูง กระพือเหนือผืนน้ำนิ่งราวหมอกยามเช้า
แต่ด้านล่างของแม่น้ำ ไปทางตะวันออกของเมืองที่ซึ่งลำน้ำสายหลักของ Qinbuai บรรจบกับแม่น้ำแยงซี ขบวนเรือบรรทุกของแล่นขวักไขว่ไปมาวุ่นวายจากท่าเรือชายฝั่ง นำท่อนซุงและวัตถุดิบในการก่อสร้างทุกอย่างลงไปสู่อู่ต่อเรือหลงเจียง (longjiang) คนงานชายจำนวนมากใช้ฝูงม้าขนถ่ายสินค้าขึ้นบนฝั่งไปยังโกดัง เสียงกลองรัวถี่ขึ้นด้วยความโมโหของหัวหน้าคนงานเพราะงานล่าช้ากว่ากำหนด แม้เรือหลายลำยังต่อไม่เสร็จตามคำสั่งเก่า ก็มีคำสั่งใหม่มาจากพระราชวังหลวงให้ต่อเรือเพิ่มขึ้นอีก
ในรัชสมัยหยงเล่อ อู่ต่อเรือหลงเจียง มีขนาดเกือบสองเท่าของทุกวันนี้ มีอาณาเขตหลายตารางไมล์จากประตูด้านตะวันออกของเมืองนานจิงไปจนถึงแม่น้ำแยงซี พาดผ่านซูโจว ใกล้ปากแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และบางทีอาจเป็นอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติจีนก็ได้ หลงเจียงมีอู่ต่อเรือสองแห่งจวบจนปีค.ศ.1491 อู่ต่อเรือทั้งสองตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน และหนึ่งในนั้นเป็นที่ต่อเรือส่วนใหญ่ของกองเรือมหาสมบัติ
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1403 พระจักรพรรดิได้ออกคำสั่งให้จังหวัดฝูเจี้ยนต่อเรือเดินมหาสมุทร 137 ลำ สามเดือนต่อมา ซูโจว และจังหวัด Jiangsu, Jiangxi, Zhejiang, และ Guangdong ถูกสั่งให้ต่อเรือเพิ่มอีก 200 ลำ และในเดือนตุลาคม ค.ศ.1403 ทางพระราชวังได้ออกคำสั่งให้จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งหลาย ตระเตรียมเรือขนส่งท้องแบน 188 ลำ สำหรับเป็นเรือบริการในการท่องมหาสมุทรของกองเรือมหาสมบัติ
การต่อเรืออย่างบ้าคลั่งช่วงปี ค.ศ.1404 ถึง 1407 กับการต่อเรือหรือปรับปรุงเรือถึง 1,681 ลำสำหรับการส่งกองเรือออกท่องสมุทรและกิจการอื่นๆ ของพระจักรพรรดินั้น ทำให้จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งหลายไม่สามารถจัดหาไม้สำหรับต่อเรือทั้งหมดได้ ดังนั้นจึงต้องหาท่อนซุงจากพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในแผ่นดินเข้าไปในแถบแม่น้ำแยงซีและ Min ท่อนซุงจำนวนมหาศาลถูกลำเลียงไปยังอู่ต่อเรือ ซึ่งตั้งอยู่ในที่ที่สามารถนำเรือออกสู่ท้องทะเลได้ง่าย ผู้คนเกือบทั้งแผ่นดินจีน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในความมานะพยายามครั้งประวัติศาสตร์นี้
ในรัชสมัยเฉิงจู่ (Hongwu) และรัชสมัยหยงเล่อมีช่างไม้ ช่างต่อเรือ กว่า 400 ครอบครัวจาก Jiangsu, Jiangxi, Zhejiang, Fujian, Hunan และ Guangdong ถูกอพยพเข้ามายังหลงเจียง ช่วงรุ่งโรจน์ของการต่อเรือของจีนดังกล่าวคาดว่ามีช่างและคนงานคนทำงานและหลับนอนที่อู่ต่อเรือนั้น จำนวนมากถึง 20,000-30,000 คน ช่างฝีมือถูกจัดเป็น 4 กลุ่ม คือ ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างตอกหมันเรือ และช่างทำใบเรือและเชือก แต่ละกลุ่มช่างมีราว 1,000 ครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีคนจดเวลา ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างนั่งร้านและสะพาน และคนงานที่ดูแลม้าของวังหลวงที่ใช้ในการลำเลียงสิ่งของในอู่ต่อเรือนั้น
ตรงกลางของอู่ต่อเรือมีอู่แห้ง 7 อู่ มีความยาวอู่ละ 1,500 ฟุต อู่ต่อเรือนี้ยาวเกือบตั้งฉากไปจนถึงแม่น้ำแยงซี และถูกกั้นจากแม่น้ำด้วยเขื่อน เมื่อกองเรือถูกต่อเสร็จแล้ว ก็จะเปิดประตูเขื่อนออก เพื่อให้ขบวนเรือแล่นออกสู่แม่น้ำแยงซีได้อย่างสะดวก ยามฝั่งจะตรวจตราที่ประตูเขื่อนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเรือที่ยังต่อไม่เสร็จ
อู่เรือแห้งเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรปที่เมืองพอร์ตสมัธ ประเทศอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ในขณะที่เมืองจีนมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นอย่างน้อย
การต่อเรือไม้ที่หลงเจียงเริ่มต้นด้วยการวางตำแหน่งตัวลำเรือ และฝากั้นช่องเรือมีระยะห่างเป็นระเบียบเท่าๆ กัน ตัวลำเรือถูกปิดด้วยแผ่นกระดานรูปตัดทางยาวที่วางเหลื่อมกันเป็นชั้นๆ เสากระโดงจะถูกวางอย่างมั่นคงอยู่บนหัวเรือ เรียกว่า "mao tan" (หรือแท่นบูชาสมอเรือ) แผ่นกระดานถูกตอกหมันเรือให้ยึดกันไว้ด้วยเส้นใยปอกระเจา และใช้ปูนขาวและน้ำมันตังอิ๋วชโลมซ้ำเข้าไปอีกที ตะปูเหล็กที่ใช้ตอกแผ่นกระดานก็ถูกชโลมน้ำมันด้วยเพื่อป้องกันสนิมที่จะทำลายใยไม้
ส่วนผสมของน้ำมันตังอิ๋วนั้นเริ่มแรกต้องเคี่ยวบนไฟให้งวด และแข็งตัวพอสมควรเพื่อชโลมกันน้ำรั่วซึมตัวเรือ ซึ่งชาวจีนรู้จักใช้สิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ในขณะที่เรือที่แล่นในมหาสมุทรอินเดียโดยทั่วไปสมัยนั้น ใช้โคลนและมันหมูในการยึดแผ่นกระดานเรือเข้าด้วยกัน ทำให้แผ่นกระดานเรือแยกออกจากกันและรั่วเสียหายได้ง่าย
เสากระโดงเรือสำเภาของจีนโดยทั่วไปจะทำมาจากไม้เฟอร์(fir)ที่แข็งแรง ไม้ shanmu ไม้ที่ใช้ทำตัวเรือและฝากั้นช่องในเรือทำจากต้นเอล์ม(elm) ไม้การบูร ไม้ sophora หรือไม้ nanmu ซึ่งเป็นไม้สนซีดาร์(cedar) ชนิดพิเศษจากมณฑลเสฉวน (Sichuan) หางเสือทำจากไม้ต้นเอล์ม ส่วนคันหางเสือหรือพังงาทำมาจากไม้โอ๊ค กรรเชียงเรือทำมาจากไม้ fir ไม้ juniper ซึ่งเป็นไม้จำพวกสน และไม้ catalpa อู่ต่อเรือที่หลงเจียงแบ่งห้องเก็บของเป็น 10 แถวๆ ละ 60 ห้อง ซึ่งใช้สำหรับเก็บวัสดุที่ใช้สำหรับต่อเรือของกองเรือมหาสมบัติ ซึ่งมีทั้งแผ่นกระดานจากซากเรือเก่าๆ ที่กู้ขึ้นมาด้วย
ในรัชสมัยของพระบิดาของจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่นั้น หลงเจียงเป็นที่ต่อเรือชนิดที่เรียกว่า "เรือทราย" (sandboats) ที่ใช้ในการเดินเรือระหว่างประเทศจีนกับเกาหลีผ่านแม่น้ำเหลือง (Yellow River) ที่ตื้นเขิน เรือประเภทนี้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 7 ที่เกาะ Chongming ที่ปากแม่น้ำแยงซีส่วนที่น้ำทะเลกับน้ำจืดมาบรรจบกัน ซึ่งต่อมาเรือชนิดนี้รู้จักกันว่า fang sha ping di chuan หรือ "เรือท้องแบนป้องกันทราย"
เรือชนิดนี้มีท้องแบน หัวเรือเป็นสี่เหลี่ยมเรียวและสูง ตัวลำเรือเตี้ย เพราะตัวลำเรือที่ยาวและแบนทำให้มีแรงเสียดทานต่อน้ำน้อยมาก เมื่อเรือปะทะเข้ากับน้ำตื้นก็จะไม่ถูกทำลายเสียหายได้ง่าย แต่ เรือท้องแบน sachuan ไม่เหมาะจะออกทะเลลึกเช่นทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียดังที่กองเรือมหาสมบัติถูกกำหนดให้ออกไป
ช่างต่อเรือจากฝูเจี้ยนที่จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ให้ย้ายมาอยู่ที่อู่ต่อเรือหลงเจียง ได้ต่อเรือสำเภาชนิดพิเศษเพื่อใช้สำหรับแล่นในมหาสมุทรทางใต้ เรือเหล่านี้มีหัวเรือเรียว"แหลมราวกับมีด" ที่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมขนาดใหญ่ได้ ส่วนตัวเรือจะบานออกมีดาดฟ้ายื่นออกมา กระดูกงูเรือออกแบบเป็นรูปตัววี(V) เพื่อให้เรือไม่โคลง หัวเรือสูง เรือมี 4 ชั้น
ชั้นล่างสุดบรรจุด้วยหินและดินเพื่อถ่วงน้ำหนักของเรือไม่ให้โคลง ชั้นที่สอง สำหรับเป็นที่พักลูกเรือและห้องเก็บของ ชั้นที่สามเป็นครัวกลางแจ้ง ห้องอาหารและหอบังคับการเดินเรือ ชั้นที่สี่เป็นชั้นสำหรับกองปฏิบัติการเดินเรือ หัวเรือมีความแข็งแรงมากและถูกใช้สำหรับดันเรือเล็ก นอกจากนี้ได้ออกแบบมาเพื่อให้ต้านทานแนวปะการังซึ่งมีอยู่มากและทำอันตรายต่อเรือมานักต่อนักแล้วในแถบทะเลจีนใต้
เรือเป่าฉวน (เรือมหาสมบัติ) หรือเรือลองฉวน (เรือมังกร) นั้น "ยาว 44 จ้าง (zhang) 4 chi และกว้าง 18 จ้าง" ทุกวันนี้คาดกันว่า เรือมหาสมบัติน่าจะมีความยาวระหว่าง 390-408 ฟุต และกว้าง 160-166 ฟุต ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเรือไม้ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก
ตัวเลข "444" (44 จ้าง 4 chi หรือ 444 chi) ซึ่งเป็นความยาวของเรือมหาสมบัตินั้นไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ ทั้งนี้เลข 4 เป็นสัญลักษณ์ของโลกซึ่งชาวจีนคิดว่ามี 4 ทิศ ราชอาณาจักรจีนหรือ "อาณาจักรกลาง" นั้นถือว่าอยู่ตรงกลางของทะเลทั้ง 4 ทิศ ชาวจีนมีความเชื่อว่าโลกนี้มี 4 ทิศ 4 ฤดูกาล และตามปรัชญาขงจื๊อนั้นก็มี"คุณธรรม 4 ประการ" ซึ่งประกอบไปด้วย ความมีมารยาท ความซื่อสัตย์ ความมีคุณธรรม และความถ่อมตน ทั้งหมดเป็นศุภมงคลสำหรับเรือมหาสมบัติยิ่งนัก
ความแข็งแกร่งของเรือมหาสมบัติส่วนหนึ่ง มาจากการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ของชาวจีนเอง ช่องตรงกราบเรือใช้ลำไผ่หลายต้นอัดเข้าไปเพื่อกันน้ำรั่วซึม เรือมหาสมบัติได้ออกแบบหางเสือให้มีดุลยภาพและสามารถยกขึ้นหรือลงได้ ทำให้เรือทรงตัวได้ดีขึ้นเหมือนเป็นกระดูกงูเรืออีกอันหนึ่ง หางเสือชนิดพิเศษที่ทำให้เรือทรงตัวดีขึ้นนี้ถูกวางไว้หัวเรือ เพื่อทำให้เรือลำใหญ่ๆ เหล่านี้ถือหางเสือได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ชาวยุโรปรู้จักใช้การแบ่งกราบเรือเป็นช่องและหางเสือที่มีดุลยภาพนี้ในราวตอนปลายศตวรรษที่ 18 หรือต้นศตวรรษที่ 19
เรือมหาสมบัติมีเสากระโดงเรือ 9 ต้น ใบเรือเป็นรูปสี่เหลี่ยมทำด้วยผ้าไหม 12 ใบ ทำให้ใช้ประโยชน์จากแรงลมได้ดีที่สุดและมีความเร็วกว่าเรือสำเภาปกติของจีน ทั้งๆ ที่เรือมหาสมบัติที่บรรทุกปืนใหญ่ 24 กระบอกที่มีความยาวกระบอกละ 8-9 ฟุต นี้ไม่ได้ถือเป็นเรือรบ และไม่มีดาดฟ้าเรือใหญ่ๆ เพื่อการต่อสู้ ในทางกลับกัน เรือมหาสมบัติถูกออกแบบมาให้เป็นเรือที่หรูหรา มีห้องโถงใหญ่สำหรับไว้ต้อนรับอาคันตุกะของพระจักรพรรดิ ห้องโถงที่มีหน้าต่างและแบ่งเป็นช่องๆ ประดับประดาด้วยระเบียงและราวซี่ลูกกรงที่สวยงาม ที่เก็บสินค้าในเรือเต็มไปด้วยผ้าไหมราคาแพงและเครื่องลายครามสำหรับแลกเปลี่ยนกับประเทศต่างแดน
ตัวลำเรือได้รับการแกะสลักและวาดลวดลายอย่างงดงาม บริเวณหัวเรือถูกประดับด้วยหัวสัตว์ และวาดลวดลายเป็นตามังกร ตัวลำเรือวาดลวดลายมังกรและนกอินทรีเพื่อความเป็นสิริมงคล บริเวณท้องเรือบรรจุด้วยปูนขาว ผ้าสักหลาดมีขนข้างเดียวถูกเก็บไว้บริเวณแนวเรือที่ขนานกับน้ำทะเล ในจำนวนเรือ 317 ลำนั้นไม่แน่ว่าจะมีเรือขนาดใหญ่กี่ลำที่พระจักรพรรดิสั่งให้ต่อที่นานจิงช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปีค.ศ.1405 ดังที่ Lou Maotang นักประพันธ์ชาวจีนเคยตั้งข้อสังเกตไว้ใน San Bao taijian Xiyang ji tongsu yanyi วรรณกรรมที่เขาประพันธ์ขึ้นในศตวรรษที่ 16 เกี่ยวกับสมุทรยาตราของเจิ้งเหอว่า ในกองเรือมหาสมบัติอาจมีเรือขนาดใหญ่เพียง 4 ลำ คือสำหรับแม่ทัพเจิ้งเหอ และรองแม่ทัพของท่านเท่านั้น
จากรายงานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า กองเรือมหาสมบัติประกอบด้วยเรืออีกหลายชนิดและหลายขนาด เรือขนาดใหญ่รองลงมาจาก "เรือมหาสมบัติ" คือ "เรือบรรทุกม้า"ที่มีเสากระโดงเรือ 9 ต้น มีขนาดยาว 339 ฟุตและกว้าง 138 ฟุต เรือเหล่านี้ใช้บรรทุกม้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าระดับประเทศ นอกจากนี้ สินค้าของวังหลวงและวัสดุก่อสร้างนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในการซ่อมแซมเรือกลางมหาสมุทร
นอกจากนี้มี "เรือบรรทุกสัมภาระ" ที่มีเสากระโดงเรือ 7 ต้น มีความยาวของตัวเรือ 257 ฟุตและกว้าง 115 ฟุต เป็นเรือบรรทุกอาหารสำหรับลูกเรือที่มีจำนวนมากถึง 28,000 คนในการสำรวจบางครั้ง เรือขนาดเล็กลงมาเป็น"เรือลำเลียงทหาร"ซึ่งมีเสากระโดงเรือ 6 ต้น ลำตัวเรือยาว 220 ฟุตและกว้าง 83 ฟุต ใช้ในการขนส่งกองทหาร นอกจากนี้ยังมีเรือรบ 2 แบบ แบบแรก มีเสากระโดงเรือ 5 ต้น ขนาดตัวเรือยาว 165 ฟุต ส่วนแบบที่สองจะเล็กกว่าแต่แล่นใบเร็วกว่าจะมีความยาว 120-128 ฟุต ไว้จัดการกับโจรสลัดในท้องทะเล
มีการสร้างถังบรรจุน้ำขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับลูกเรือของกองเรือมหาสมบัติใช้ดื่มกินเป็นระยะเวลา 1 เดือนหรือมากกว่า ซึ่งถือเป็นกองทัพเรือรายแรกของโลกที่มีการเตรียมการณ์พร้อมเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติกองเรือจะพยายามหยุดที่ท่าเรือทุกๆ 10 วันเพื่อเติมน้ำ ซึ่งคาดว่าในการสำรวจทะเลครั้งใหญ่ต่อๆ มา คงแวะประมาณ 20 ครั้งหรือมากกว่า
การสื่อสารในท้องทะเลระหว่างเรือลำต่างๆ ของกองเรือมหาสมบัติทำได้ด้วยระบบเสียงและแสงที่ประณีตมาก เรือทุกลำจะมีธงใหญ่หนึ่งผืน ระฆังเตือนสัญญาณ ธงสีต่างๆ 5 ผืน กลองใหญ่ 1 ลูก ฆ้องหลายลูก และโคมไฟ 10 อัน สัญญาณเสียงใช้เพื่อออกคำสั่งบนเรือ ใช้กลองในการเตือนเรือลำอื่นๆ สำหรับหลบภัยจากพายุ ใช้โคมไฟเป็นสัญญาณยามค่ำคืนหรือยามอากาศขมุกขมัว ใช้นกพิราบสำหรับการสื่อสารทางไกล เรือแต่ละลำจะปักธงสัญญาณสีต่างๆ กันเพื่อแยกความแตกต่าง และธงดำที่มีตัวอักษรขาวจะบ่งบอกว่าเรือลำนั้นอยู่ในกองใด หมวดใด
ในระหว่างการต่อเรือมหาสมบัตินั้น มีการประชุมรวบรวมลูกเรือควบคู่ไปด้วย นอกจากมีอัครมหาขันทีเจิ้งเหอผู้เป็นผู้บัญชาการกองเรือแล้ว มีขันทีอีก 7 คนเป็นตัวแทนของพระจักรพรรดิและเป็นคณะทูตของประเทศ ขันที 10 คนเป็นผู้ช่วยฑูต และขันทีอีก 52 คนทำงานด้านอื่น การบัญชาการทัพเรือภายใต้การนำของอัครมหาขันที ประกอบไปด้วย นายพลเรือ 2 นาย ดูแลกองเรือทั้งหมด มีผู้บังคับกองพล 93 นาย ผู้บังคับกองพัน 104 นาย และผู้บังคับกองร้อย 103 นาย
กัปตันเรือแต่ละลำได้รับการแต่งตั้งจากพระจักรพรรดิและมีอำนาจที่จะ "สั่งเป็นสั่งตายได้" เพื่อความเป็นระเบียบของกองเรือ นอกจากนี้ในกองเรือยังมีเลขานุการ 2 คนเป็นผู้ดูแลด้านเอกสาร เลขานุการอาวุโสคนหนึ่งมาจากกรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นกรมที่ต้องจัดหาข้าวสารและฟางหรือหญ้าแห้งสำหรับกองเรือ มีเจ้าหน้าที่จากกรมการศาสนา 2 คนมาดูแลด้านพิธีการทูต มีโหร 1 คนสำหรับทำนายและพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ ดูปฏิทินและอธิบายปรากฎการณ์ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีก 10 คน "ผู้รู้หนังสือต่างประเทศ"มาเป็นล่ามบนเรือ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีล่ามภาษาอาหรับ และผู้ที่รู้ภาษาเอเชียกลางรวมอยู่ด้วย
กองเรือมีหมอและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 180 คนเพื่อเก็บรวมรวบสมุนไพรจากต่างแดน มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่การแพทย์ 1 คนต่อลูกเรือ 150 คน นอกจากนี้ยังมีช่างฝีมือด้านต่างๆ ไว้ซ่อมแซมเรือหากมีปัญหากลางทะเล ลูกเรือทุกคนตั้งแต่ระดับต่ำสุดจนถึงสูงสุดจะได้รับรางวัลเป็นเงินทอง และเสื้อผ้าจากพระจักรพรรดิเมื่อเดินทางกลับถึงเมืองจีน พวกเขาและครอบครัวจะได้รับรางวัลเป็นพิเศษ หากเสียชีวิตลงหรือบาดเจ็บระหว่างการเดินทาง
สมุทรยาตราครั้งสุดท้าย
ในวันที่ 13 เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1413 เป็นวันที่ต้องต้อนรับคณะฑูตานุทูตจากต่างแดน
พระจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ทรงพระสำราญกับพระนัดดาพระชนม์ 14 พรรษาพระนามว่า องค์ชายจูจานจี
(Zhu Zhanji) พระจักรพรรดิซึ่งหลงใหล Du Shi หรือ "การต่อกลอน" ทรงให้พระนัดดาของพระองค์ต่อกลอน
ให้สอดคล้องกับกลอนบรรทัดแรกที่พระองค์เพิ่งจะแต่ง เพื่อต้อนรับการมาเยือนของคณะฑูตว่า:
"หยกและผ้าจากผู้มาเยือนมาบรรจบกันคล้ายลมและกลุ่มเมฆ"
องค์ชายจูจานจีผู้เป็นพระนัดดาคิดอยู่สักขณะหนึ่งก่อนจะดำรัสตอบว่า "ภูเขาและแม่น้ำมาด้วยกัน พระอาทิตย์และดวงจันทร์ส่องสกาว" กลอนขององค์ชายมีความหมายเป็นนัยว่า แผ่นดินทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้พระบารมี และเมื่อผู้คนได้รับฟัง พวกเขากล่าวว่า นั่นแสดงให้เห็นว่าองค์ชายจูจานจี มีความทะเยอทะยานของพระอัยกาของพระองค์อยู่ในตัว และองค์ชายก็คงจะเป็นเหมือนพระจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองบัลลังก์มังกรในวันข้างหน้า
ในช่วงทรงพระเยาว์องค์ชายจูจานจีเสด็จประพาสทางเหนือพร้อมพระอัยกาของพระองค์ เพื่อตรวจตราเมืองปักกิ่งและสู้รบกับพวกมองโกล ทั้งสองพระองค์จึงสนิทสนมกัน องค์ชายจูจานจีรับอุปนิสัยหลายประการมาจากพระอัยกาเช่น การรักการขี่ม้าและล่าสัตว์ และความหลงใหลในการเปิดจักรวรรดิจีนออกสู่โลกภายนอก องค์ชายจูจานจีขึ้นครองราชย์เป็น "จักรพรรดิหมิงเซวียนจง" ในปี ค.ศ.1426 เมื่อพระชนม์ได้ 26 พรรษา
พระองค์ทรงเปลี่ยนแนวการบริหารประเทศของพระราชบิดาของพระองค์อย่างรวดเร็ว ทรงเปลี่ยนเมืองหลวงอีก พระองค์สืบต่อประเพณีที่เริ่มต้นสมัยพระอัยกาของพระองค์ ที่มอบตำแหน่งทางทหารที่สำคัญแก่ขันทีผู้มีความสามารถ และตั้งโรงเรียนในพระราชวังเป็นทางการ เพื่อให้การศึกษาแก่พวกขันที พระองค์ทรงนิยมเครื่องลายครามคล้ายกับพระจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ และพระองค์ทรงเป็นจิตรกรที่มีความสามารถผู้หนึ่ง
แต่อย่าบอกว่าจูจานจีที่ประวัติศาสตร์ขนานรัชกาลของพระองค์ว่า "ซวนเด๋อ" (Xuande ซึ่งแปลว่า "ประกาศคุณธรรม") ไม่ใช่ผู้ทรงภูมิรู้เกี่ยวกับลัทธิคำสอนขงจื๊อเช่นพระราชบิดาของพระองค์ ครั้งหนึ่งที่พระจักรพรรดิหมิงเซวียนจงเสด็จผ่านนาข้าวที่ชาวบ้านกำลังไถนาอยู่ พระองค์ให้ผู้ตามเสด็จหยุดขบวน แล้วพระองค์ก็ฉวยเอาคันไถจากมือชาวนามาไถนาเองครู่หนึ่งจนกระทั่งพระองค์รู้สึกเหนื่อย
"แค่ยกคันไถนาขึ้นมาไถ 3 ครั้ง เราก็สู้แรงชาวนาไม่ได้แล้ว" พระองค์ตรัส "แล้วผู้ที่ต้องทำงานอย่างนี้มาตลอดเล่าเขาจะรู้สึกอย่างไร? ที่พูดกันว่า ไม่มีงานใดหนักเท่าการทำนานั้นช่างจริงอย่างที่สุด" พระองค์ทรงยึดหลักความเมตตากรุณาของขงจื๊อ และพระองค์ก็ทรงแวดล้อมไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มเดิม ที่เคยถวายคำแนะนำแก่พระราชบิดาของพระองค์ เช่น เจ้ากรมกลาโหม Yang Shiqi เจ้ากรมคลังมหาสมบัติ Huang Huai เจ้ากรมพิธีการศาสนา An Youzi และเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้มีแนวทางอนุรักษ์อย่างเซี่ยหยวนจี่ (Xia Yuanji) ที่ปรึกษาทั้งหมดเคยเป็นพระอาจารย์ของพระองค์
และเมื่อพระองค์ขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระองค์ก็มักแวะเยี่ยมห้องทำงานของพระอาจารย์บ่อยๆ โดยมิได้มีกำหนดล่วงหน้าพร้อมด้วยขวดเหล้าไวน์ เพื่อถกเถียงเรื่องบทกวี ปรัชญา หรือประวัติศาสตร์ ด้วยคำแนะนำของที่ปรึกษาเหล่านั้น พระองค์ทรงอนุญาตให้ กบฏแห่งแคว้นอันนามที่ชื่อ Le Loi กลับไป "จัดการเหตุการณ์ที่อันนามเอง" เพื่อยุติความสูญเสียของจีน ในการจัดการกับแคว้นอันนามด้านใต้ของจีนตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แนวทางการบริหารของพระจักรพรรดิหมิงเซวียนจงนั้นทรงหลีกเลี่ยงสงครามกับต่างชาติ การสู้รบกับมองโกลก็มีเพียงประปรายในรัชสมัยของพระองค์
พระจักรพรรดิเป็นส่วนผสมของพระราชบิดาและพระอัยกาของพระองค์
ในปีค.ศ.1430 พระจักรพรรดิหมิงเซวียนจง ทรงเริ่มมองเห็นว่า ประเทศต่างแดนที่มาถวายบรรณาการแก่ราชสำนักจีนมีจำนวนลดน้อยลงจนเห็นได้ชัด ซึ่งพระองค์คิดว่า คงเป็นเพราะอิทธิพลของจีนในการค้าต่างแดนลดลง สาเหตุหนึ่งต้องมาจากการที่จีนสูญเสียแคว้นอันนามอย่างแน่นอน ดังนั้นพระองค์จึงทรงตั้งปณิธานที่จะฟื้นฟูพระราชอำนาจของราชวงศ์หมิงต่อต่างแดน และจะทำให้ "หมื่นประเทศมาเป็นแขกของเรา" อีกครั้ง หลังจากการเสียชีวิตของหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของราชสำนักอย่างเซี่ยหยวนจี่ ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มต่อต้านการสำรวจทะเลของจีนแล้ว พระจักรพรรดิจึงออกพระบรมราชโองการให้เตรียมพร้อมสำหรับการสมุทรยาตราครั้งที่ 7
พระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1430 มีใจความว่า :
"รัชกาลใหม่แห่งซวนเด๋อได้เริ่มขึ้นแล้ว และทุกอย่างจะต้องเริ่มกันใหม่ แต่ประเทศต่างแดนไกลโพ้นดูเหมือนจะยังไม่ทราบข่าวนี้ ดังนั้นเราจึงจะส่งขันทีเจิ้งเหอและขันทีหวังจิ่งหง (Wang Jinhong) ออกไปพร้อมด้วยโองการแห่งเรา เพื่อแนะนำประเทศเหล่านี้ให้ปฏิบัติตามโอรสแห่งสวรรค์ด้วยความเคารพ และดูแลประชาชนในบังคับบัญชาของตนอย่างดี เพื่อให้มีโชคดีและสันติสุขสืบไป"
ส่วนหนึ่งของคณะทูตนี้ได้พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยาม(ไทย) กับราชอาณาจักรมะละกา เจิ้งเหอได้รับประกาศิตจากพระจักรพรรดิให้ทูลกษัตริย์สยาม แนะนำให้พระองค์หยุดการรุกรานมะละกา ในพระบรมราชโองการแห่งพระจักรพรรดิ พระองค์ได้บริภาษกษัตริย์สยามที่กักตัว หน่วงเหนี่ยวกษัตริย์มะละกาไว้ระหว่างพระองค์เสด็จไปยังราชสำนักหมิงว่า
"นี่คือวิธีที่เจ้าปกป้องทรัพย์สมบัติและความสุขของเจ้าหรือ?" พระจักรพรรดิเขียน "เจ้าผู้เป็นกษัตริย์ ควรจะทำตามคำสั่งของเรา และปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านของเจ้าอย่างดี และแนะนำคนของเจ้าว่าอย่าไปรุกรานและทำให้ผู้อื่นรู้สึกอายโดยมิได้ตักเตือนก่อน หากเจ้าทำเช่นนี้ เราจะถือว่าเจ้าเป็นผู้นับถือสวรรค์ นำสันติสุขมาสู่ประชาชน และมีไมตรีจิตต่อเพื่อนบ้านของเจ้า นี่คือหลักเมตตากรุณาที่เรายึดถือไว้ในใจเสมอมา"
การตระเตรียมกองเรือมหาสมบัติหนนี้ถือว่าใช้เวลายาวนานกว่าปกติ เพราะห่างจากการท่องสมุทรครั้งก่อนหน้าถึง 6 ปี และครั้งนี้ถือเป็นการสำรวจทางทะเลครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งมีจำนวนเรือมากกว่า 100 ลำ และลูกเรืออีก 27,500 คน เรือเหล่านี้ถูกตั้งชื่อว่า "ความสามัคคีปรองดอง" "ความสงบอันเป็นนิรันดร์" และ"ความสงบอันกรุณา" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นกองเรือเพื่อสันติ
ดูเหมือนเจิ้งเหอ ซึ่งบัดนี้อายุอานามถึง 60 ปี จะรู้ตัวครั้งนี้ว่าน่าจะเป็นการออกสำรวจทางทะเลครั้งสุดท้ายของท่านแล้ว ท่านได้พยายามอย่างมากที่จะจารึกไว้ซึ่งความสำเร็จของท่านในการออกสำรวจครั้งที่ผ่านๆ มาโดยการจารึกเรื่องราวไว้บนศิลา 2 แผ่น
ศิลาจารึกแรก สลักเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1431 ถูกวางที่ที่ทอดสมอเรือใกล้ปากแม่น้ำแยงซี
ศิลาจารึกแผ่นที่สอง สลักไว้เมื่อ "เดือนที่สองของหน้าหนาว" ของปีที่ 6 แห่งรัชกาลซวนเด๋อ (ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1431 ถึงวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1432) แผ่นหินนี้ถูกวางอยู่ที่ปัจจุบันเรียกว่า Changle ที่ปากแม่น้ำ Min บนฝั่งทะเลฝูเจี้ยน ตั้งตระหง่านเพื่อขอบคุณเจ้าแม่เทียนเฟย (Tianfei) หรือเจ้าแม่ทับทิม เทพเจ้าของชาวเรือที่ช่วยปกป้องภยันตรายในการท่องสมุทรครั้งที่ผ่านๆ มา
แผ่นศิลาจารึกนี้สลักเรื่องราวความสำเร็จในการสำรวจทางทะเลแต่ละครั้งอย่างละเอียด เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบ สาเหตุ อีกประการหนึ่งที่ทำให้ท่านต้องบันทึกเรื่องราวไว้เอง น่าจะเป็นเพราะมีผู้ต่อต้านการสำรวจทางทะเลเป็นจำนวนมาก หากท่านไม่บันทึกไว้เอง ท่านอาจไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่จะบันทึกเรื่องราวการสำรวจทางทะเลไปในแนวไหน
ในแผ่นหินที่ Changle นั้น เจิ้งเหอได้จารึกอย่างภาคภูมิใจในความเชื่อของตนเองว่า การสำรวจทางทะเลของกองเรือมหาสมบัติ "ในการรวมท้องทะเลและอาณาเขตทวีปต่างๆ เข้าด้วยกัน" ก้าวหน้าเกินกว่าการสำรวจทางทะเลของราชวงศ์ก่อนหน้าทั้งมวล ยิ่งไปกว่านั้น "ประเทศต่างๆ ที่อยู่ไกลออกไปจากเส้นขอบโลก ได้นำสิ่งของมีค่าและของขวัญมาบรรณาการ" แด่ราชสำนักหมิง
ผลของการสำรวจทางทะเลนั้นทำให้ "ระยะทางและเส้นทาง" ระหว่างแผ่นดินที่ห่างไกลนั้น "สามารถคำนวณได้" เป็นการบอกว่า การสำรวจทางทะเลได้สร้างคุณูปการมหาศาลต่อความรู้ทางภูมิศาสตร์ของชาวจีน ในการนำอาคันตุกะจากดินแดนไกลโพ้นมายังราชสำนักจีน เจิ้งเหอได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ท่านเชื่อว่าการสำรวจทางทะเลดังกล่าว เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้รู้จักกันแพร่หลายในประเทศต่างๆ ในการ "แสดงให้เห็นถึงอำนาจบริสุทธิ์แห่งองค์พระจักรพรรดิ"
กองเรือมหาสมบัติได้เดินทางออกจากนานจิงในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ.1431 และหลังจากได้รวบรวมสินค้าที่มีราคาและรับลูกเรือเพิ่มเติมจากเจียงสูและฝูเจี้ยนแล้ว ในที่สุดกองเรือได้เดินทางออกจากชายฝั่งทะเลทางใต้ของจีนประมาณหนึ่งปีถัดมาในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1432 ท่าเรือแรกที่กองเรือมหาสมบัติแวะคือที่เมือง Qui ในเวียตนามใต้ จากนั้นกองเรือจึงมุ่งหน้าไปสู่สุราบายา ชายฝั่งด้านเหนือของเกาะชวา ปาเล็มบังของเกาะสุมาตรา มะละกาบนคาบสมุทรมาลายู เซมูเดอราที่ยอดเหนือสุดของสุมาตรา และศรีลังกา ในที่สุดก็มาถึงเมืองกาลิกัทบนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอินเดีย ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1432
นี่เป็นการเดินทางไปอินเดียเป็นครั้งที่ 7 ของท่าน แต่จากประสบการณ์ทั้งหมดของท่าน ชาวจีนในศตวรรษนั้นเข้าใจผิดคิดว่า ประเทศอินเดียเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาใหญ่ๆ อื่นๆ ด้วยนอกจากศาสนาพุทธ นั่นก็คือ ศาสนาคริสต์และอิสลาม ตามความเข้าใจของพวกเขานั้น ตะวันออกกลางทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย
จากข้อมูลที่เก็บไว้สมัยราชวงศ์หมิงนั้น ชาวจีนคิดว่าอินเดียมี 5 ส่วนคือ ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก ใต้และเหนือ ภาคกลางของอินเดียถือเป็น "ประเทศพุทธ" และ "600 ปีหลังจากกำเนิดพุทธศาสนา" ตามรายงานนั้น "พระเยซูแห่งภาคตะวันตกของอินเดียได้ปรากฏขึ้น ศาสนาคริสต์ของพระองค์เป็นศาสนาแห่งพระเจ้าของสวรรค์
และในอีก 600 ปีหลังพระเยซูประสูติ พระมุฮัมหมัดแห่งภาคตะวันตกของอินเดียก็ปรากฏขึ้น ศาสนาอิสลามของพระมุฮัมหมัดเป็นศาสนาแห่ง Tianfang หรือเสี้ยวสวรรค์ (อารเบีย - ดินแดนจันทร์เสี้ยว)" ชาวจีนรู้จักศาสนาคริสต์และอิสลามมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง และ ผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์เคยเยือนราชสำนักจีนในสมัยพระจักรพรรดิกุบไลข่าน
อย่างไรก็ตาม ชาวจีนได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับศาสนาคริสต์อย่างจริงจังเมื่อ Matteo Ricci ได้ตีพิมพ์รายงานคำสอนศาสนาคริสต์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ตามรายงานสมัยราชวงศ์หมิงได้กล่าวว่า เมื่อเจิ้งเหอเดินทางไปถึงเมืองกาลิกัทนั่นเองที่ท่านได้ตระหนักเป็นครั้งแรกว่า ดินแดนของชาวอาหรับที่เรียกว่า Tianfang นั้นอยู่ห่างไกลไปทางตะวันตกเฉียงเหนืออีกโขนัก อย่างไรก็ตาม ตามรายงานชิ้นนี้ เจิ้งเหอก็ยังคิดว่า Tianfang เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียอยู่นั่นเอง
จากกาลิกัทแล้ว กองเรือมหึมาได้ถูกแบ่งเป็นกองเรือย่อยๆ โดยมีขันที Hong Bao นำคณะสำรวจที่สำคัญไปที่ฮอร์มุซ และเมืองอาหรับอื่นๆ และท่าเรือฝั่งตะวันออกของอาฟริกาไกลออกไปถึงเมืองมาลินดิ ในประเทศเคนยา ที่เอเดน (ประเทศเยเมน) ปากทะเลแดง บนคาบสมุทรอาหรับนั้น เรือมหาสมบัติ 2 ลำพยายามที่จะนำของลงแต่ไม่สำเร็จเพราะที่นั่นเกิดความไม่สงบทางการเมือง ดังนั้นกัปตันของเรือเหล่านี้จึงเขียนสาส์นถึงผู้ครองนครเมกกะ และผู้ดูแลเมืองเจดดาห์ ให้กองเรือของพวกเขาเข้าเมืองเจดดาห์ได้
สุลต่านแห่งอียิปต์ผู้ซึ่งปกครองท่าเรือเหล่านี้อยู่ได้ออกคำสั่งให้ผู้ปกครองท้องถิ่นปฏิบัติต่อชาวจีนเหล่านี้อย่างไมตรีจิต เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติต่อพ่อค้าทั้งหลายในมหาสมุทรอินเดีย ในเจดดาห์และเมืองดูฟาร์ ( Dhufar) ริมทะเลอาหรับ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้ากำยานนั้น ชาวจีนได้แลกเปลี่ยนผ้าไหมและเครื่องลายครามของตนกับ:
1) ว่านหางจระเข้ ซึ่งใช้สำหรับทำความสะอาดและเป็นยาบำรุงกำลัง
2) myrrh เป็นยางไม้มีกลิ่นหอม เป็นยากันบูดของชาวอียิปต์โบราณ ที่ชาวจีนเชื่อว่าทำให้เลือดไหลเวียนดี ร่างกายกระปรี้กระเปร่าขึ้น
3) benzoin ยางไม้เหนียวกลิ่นหอมช่วยให้หายใจสะดวก
4) storax ยาแก้อักเสบ
5) mubietzi เป็นยาสมุนไพรแก้แผลเปื่อย ชาวจีนมีความสนใจด้านยาและการบำบัดโรคของชาวอาหรับเป็นพิเศษกว่าอย่างอื่น หลังจากมีการพิมพ์หนังสือทางการแพทย์อาหรับในประเทศจีนที่ชื่อว่า Hui yao fang (ตำรับยามุสลิม)
สามารถอนุมานได้จากชื่อที่ทั้งพ่อและปู่ของเจิ้งเหอว่า ทั้งสองท่านได้เดินทางไปแสวงบุญที่เมืองเมกกะมาแล้ว (จากคำนำหน้าชื่อของท่านทั้งสองที่ขึ้นต้นว่า "ฮัจยี") ซึ่งหากเจิ้งเหอได้ไปแสวงบุญที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้แล้ว มันยากนักที่จะจินตนาการว่า ทำไมเรื่องที่สำคัญเช่นนี้จึงไม่มีการรายงานออกมา และเป็นไปได้มากกว่าที่เจิ้งเหอต้องพักอยู่ที่เมืองกาลิกัทเพราะสุขภาพของท่านไม่ดีเอามากๆ และท่านไม่สามารถหรือไม่ปรารถนาจะเผชิญกับภยันตราย ในการเดินทางกับกองคาราวานข้ามทะเลทรายอันระอุไปแสวงบุญที่เมกกะ
จากการบันทึกที่ไม่ค่อยเที่ยงตรงของหม่าฮวน โดยเฉพาะการเขียนเกี่ยวกับมัสยิดศักดิ์สิทธิ์จากคำบอกเล่าของผู้อื่น ด้านหนึ่งก็สันนิษฐานว่า หม่าฮวนอาจจะพำนักอยู่กับนายทัพเจิ้งเหอของตนที่กำลังป่วยหนักที่กาลิกัท แต่สิ่งที่แน่นอนกว่าก็คือ หลังจากที่กองเรือมหาสมบัติทั้งหมดกลับมารวมตัวกันที่เมืองกาลิกัท และท่องสมุทรกลับเมืองจีนนั้น ระหว่างทางเจิ้งเหอได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 62 ซึ่งครอบครัวของท่านเชื่อกันมาอย่างนี้
ตามประเพณีอิสลามแล้ว ร่างของท่านเจิ้งเหอจะต้องถูกชำระล้างและห่อด้วยผ้าขาว การฝังศพในทะเลตามหลักอิสลามก็ง่ายๆ ด้วยการหย่อนร่างลงทะเลให้ศีรษะบ่ายไปทางเมืองเมกกะเท่านั้น ลูกเรือมุสลิมบนเรือสวดมนต์ว่า "อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร ...." (แปลว่า อัลลอฮใหญ่ยิ่ง อัลลอฮใหญ่ยิ่ง อัลลอฮใหญ่ยิ่ง ...) จากนั้นจึงส่งร่างของท่านลงท้องทะเล
เชื่อกันว่า รองเท้าและผมเปียของท่านถูกนำกลับไปยังเมืองนานจิงตามคำสั่งเสียของท่าน เพื่อนำกลับไปฝังไว้ใกล้ๆ กับถ้ำของชาวพุทธนอกเมืองนานจิง หลุมศพแบบอิสลามดังกล่าวตั้งตระหง่านอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ทุกวันนี้มีคนเฝ้าหลุมศพด้วย แต่ชาวนาในหมู่บ้านใกล้ๆ กระซิบกระซาบกันว่า จริงๆ แล้วไม่มีอะไรในหลุมศพนั่นหรอก "คนที่อยากรู้อยากเห็นมากๆ เคยแอบสำรวจหลุมศพเจิ้งเหอและไม่พบอะไรเลย" ชาวนาคนหนึ่งกล่าว "ไม่มีหีบศพ ไม่มีกล่อง ไม่มีอะไรเลยจริงๆ"
ลูกหลานของบุตรบุญธรรมของเจิ้งเหอเองก็เชื่อว่าในหลุมศพนั้นไม่มีอะไรเลย แต่ในช่วงเทศกาลพิเศษเพื่อรำลึกถึงท่าน พวกเขาก็จะมาที่หลุมศพและแสดงความรำลึกถึงท่าน หลังจากเจิ้งเหอเสียชีวิตได้ไม่นานนัก ที่เมืองสะมารังทางตอนเหนือของเกาะชวามีการทำพิธีกรรม ghaib หรือ "การสูญหาย" ซึ่งเป็นพิธีศพที่ศพของผู้เสียชีวิตสูญหายไป มีการสวดมนต์ไปทั่วท้องทะเลชวาที่สงบว่า "อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร..."
"ในเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ.1433 กองเรือมหาสมบัติได้แล่นเข้าสู่ปากแม่น้ำแยงซี ในเมืองปักกิ่งวันที่ 27 กรกฎาคมนั้น พระจักรพรรดิได้ทรงพระราชทานเงินทอง และเกียรติยศแก่ลูกเรือและผู้ร่วมไปในกองเรือมหาสมบัติ พระจักรพรรดิทรงปิติยินดีต่อความสำเร็จในการเดินทางของกองเรือของพระองค์ ในวันที่ 14 กันยายน คณะทูตจากสุมาตรา ศรีลังกา กาลิกัทและโคชิน ฮอร์มุซ ดูฟาร์ เอเดน และรัฐอาหรับอื่นๆ ได้ถวายสักการะต่อองค์พระจักรพรรดิ ณ พระราชวัง Fengtien พร้อมด้วยฝูงม้า ช้าง และยีราฟ ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ยีราฟถูกเชื่อว่าเป็นตัวกิเลนซึ่งเป็นสัตว์มงคลของจีน
เจ้าหน้าที่จากกรมศาสนาถวายคำแนะนำแก่พระจักรพรรดิว่า เนื่องจากตัวกิเลนเป็นของขวัญที่มีค่ายิ่งนัก จึงควรมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในพระราชวัง แต่พระจักรพรรดิก็ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกับพระอัยกาของพระองค์ พระองค์ทรงปฏิเสธข้อเสนอแนะนั้น ทรงเชื่อว่าเป็นการไม่ฉลาดนักที่จะให้ความสนใจจนเกินไปต่อความโปรดปรานของสวรรค์
"เราไม่สนใจของจากต่างแดนมากนัก" พระองค์ตรัส "เรายอมรับของเหล่านี้เพราะมันมาจากแดนไกล และแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่ไกลโพ้น แต่เราก็ไม่ควรจะมีงานเฉลิมฉลองใดๆ"
ฤดูใบไม้ร่วงปีนั้นมีกิเลนอีกหลายตัวจากทะเลทางใต้ถูกส่งเข้ามายังราชสำนักจีน กษัตริย์จากมะละกาก็เสด็จมาเยือนพร้อมด้วยผู้ติดตามกว่า 200 คน อากาศปีนั้นหนาวจับใจ พระจักรพรรดิได้พระราชทานเสื้อกันหนาวและรองเท้าอย่างหนามากแก่ชาวมะละกาเหล่านั้น พระองค์แนะนำให้พวกเขาพำนักอยู่ในนานจิงจนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิ พระจักรพรรดิมิได้ปริวิตกจนเกินกว่าเหตุ เพราะด้วยความที่ไม่เคยชินกับอากาศหนาวเหน็บในฤดูหนาวของเมืองจีน พระอนุชาของกษัตริย์แห่งสุมาตราได้สิ้นพระชนม์ลงที่เมืองปักกิ่งในฤดูใบไม้ผลิถัดมานั่นเอง
พระจักรพรรดิได้สั่งให้ฝังพระศพอย่างสมพระเกียรติ และทรงส่งขันทีหวังจิ่งหง เดินทางไปยังเกาะสุมาตราเพื่อแสดงความเสียพระทัยเป็นการส่วนพระองค์แด่กษัตริย์แห่งสุมาตราในการสูญเสียพระอนุชาไป แต่ขันทีหวังจิ่งหงก็เสียชีวิตลงเสียก่อนเนื่องจากเรืออับปางที่ชายฝั่งทะเลเกาะชวา
ดูราวกับว่าพระจักรพรรดิจะทรงสมพระทัยกับการรื้อฟื้นการค้า และการถวายบรรณาการแด่พระองค์จากประเทศต่างๆ ในเขตมหาสมุทรอินเดีย และทำให้ "หมื่นประเทศเข้ามาเป็นแขกของเรา"ดังที่ตั้งพระทัยไว้ หลังจากสมุทรยาตราของกองเรือมหาสมบัติครั้งที่ 7 แล้ว เหล่าประเทศต่างๆ ส่งบรรณาการมาถวายพระจักรพรรดิเป็นจำนวนมาก ดูเหมือนว่าอำนาจทางทะเลของจักรวรรดิจีนก็จะมั่นคงอยู่อย่างนั้น แม้กระทั่งหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการประชวรอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ.1435 อู่ต่อเรือหลงเจียงก็ยังคงมีการต่อเรือตามปกติ การเตรียมการสำหรับออกท่องสมุทรยังคงมีต่อไปจนถึงทศวรรษ1470
แต่กลายเป็นว่า หลังการสิ้นพระชนม์ของพระจักรพรรดิหมิงเซวียนจง แล้วช่วงเวลาแห่งการแผ่อำนาจเหนือท้องทะเลของจีนได้สูญสิ้นไปด้วย และสมุทรยาตราครั้งที่ 7 ของเจิ้งเหอได้กลายเป็นการสำรวจทางทะเลครั้งสุดท้ายของกองเรือมหาสมบัติจีน
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ในช่วงเวลาสั้นๆ จากค.ศ.1405-1433 กองเรือมหาสมบัติแห่งบัลลังก์มังกร ภายใต้การบัญชาการของอัครมหาขันทีเจิ้งเหอ ได้สร้างตำนานการสำรวจทางทะเลหรือสมุทรยาตราถึง 7 ครั้ง ตลอดแนวทะเลจีนถึงมหาสมุทรอินเดีย จากไต้หวันถึงอ่าวเปอร์เซียและชายฝั่งอาฟริกาอันห่างไกล เอลดอราโด ชาวจีนรู้เกี่ยวกับทวีปยุโรปจากพ่อค้าอาหรับแต่มิได้มีความปรารถนาที่จะเดินทางไปถึงที่นั่น เพราะ "ดินแดนตะวันตก(หมายถึง ยุโรป)อันไกลโพ้น"ในสายตาชาวจีนมีเพียงขนแกะและเหล้าไวน์ที่ชาวจีนมิได้มีความต้องการ
ในช่วง 30 ปีแห่งการสำรวจทางทะเลของจีนนี้ สินค้าจากต่างแดน ยารักษาโรค และความรู้ด้านภูมิศาสตร์ไหล่บ่าเข้าสู่เมืองจีนในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน