The Midnight University
ภาพรวมเพื่อความเข้าใจวัฒนธรรม
บทสรุปวัฒนธรรมทางสายตา
: วัฒนธรรมที่ไม่มีหู
สมเกียรติ ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทสรุปงานวิจัยต่อไปนี้
คัดย่อมาจากบทที่ 6 ของ "การวิจัยวัฒนธรรมภาพทางสายตา" โดย
รองศาสตราจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม
ตามโครงการสนับสนุนการวิจัยของคณะวิจิตรศิลป์ มช.
ความยาวของงานวิจัยฉบับนี้ประมาณ 375 หน้า แบ่งออกเป็น 6 บท
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 727
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 28 หน้ากระดาษ A4)
บทนำ
งานวิจัยต่อไปนี้ คัดย่อมาจากบทที่ 6 ของ "การวิจัยวัฒนธรรมภาพทางสายตา"
ของ รองศาสตราจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตามโครงการสนับสนุนการวิจัยของคณะต้นสังกัด ซึ่งความยาวของงานวิจัยฉบับนี้ประมาณ
375 หน้า แบ่งออกเป็น 6 บทดังนี้ คือ
บทที่ 1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา
บทที่ 2. ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา
บทที่ 3. ความเป็นมาและพื้นที่ศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา
บทที่ 4. การจ้องมองวัฒนธรรมทางสายตา
บทที่ 5. การอ่านและการวิเคราะห์วัฒนธรรมทางสายตา
บทที่ 6. สรุปแลข้อเสนอแนะ (งานที่กำลังอ่าน คัดย่อมาจากบทนี้)
(เฉพาะในส่วนของบทที่ 6 ยาวประมาณ 47 หน้าพร้อมแผนภาพประกอบ ได้นำมาย่อให้เหลือ 28 หน้า เพื่อใช้เป็นเอกสารอ่านประกอบการบรรยายให้กับ พระนิสิต(ระดับปริญญาโท) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ (ปีการศึกษา 2548) ในกระบวนวิชา "พุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่" และเป็นการเตรียมต้นฉบับเพื่อจัดพิมพ์ลงในเอกสารงานงานวิจัยสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในงาน ''วิถีวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่'' ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 8-10 ธันวาคม 2548)
ภาพรวมของงานวิจัย
โดยภาพรวม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยภาคเอกสาร ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มงานวิจัยขั้นพื้นฐาน(basic
research หรือ theoritical research) และการวิจัยประยุกต์(applied research)
หมายความว่า เป็นงานวิจัยที่ศึกษาค้นคว้าในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับปรากฏการณ์ และความจริงที่สามารถสังเกตได้เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา
และมีการวิเคราะห์เพื่อแยกแยะให้เห็นโครงสร้างหรือความสัมพันธ์ของความรู้ รวมไปถึงความซับซ้อนในการสื่อสาร
ที่ถูกนำมาถอดระหัสให้เห็นถึงความหมายตรง ความหมายแฝง และมายาคติไปพร้อมกัน
หลังจากนั้นได้นำเอาความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์กับการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตาในสังคม
วัตถุประสงค์โดยรวมของงานวิจัยชิ้นนี้คือ เพื่อค้นหานิยาม ความหมาย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา ที่แวดล้อมและแพร่กระจายอยู่ในสังคมปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นการขยายขอบเขตของวิชาความรู้ทางด้านศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ในเชิงทฤษฎีและประวัติศาสตร์ศิลปะให้แผ่คลุมไปถึงวัฒนธรรมทางสายตาอย่างอื่นๆด้วย เช่น ภาพสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพโฆษณา ภาพยนตร์ และรวมถึงภาพดิจิตอลต่างๆ อาทิ ภาพความจริงเสมือน และภาพสามมิติที่พัฒนาขึ้นมาจากสื่ออีเล็คทรอนิค ฯลฯ
วัตถุประสงค์สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ งานวิจัยชิ้นนี้ยังปรารถนาที่จะส่งเสริมให้ศิลปิน และนักวิชาการศิลปะได้ขยายขอบเขตความรู้ของตน ไปสัมผัสขอบเขตความรู้ต่างๆของปรากฏการณ์ร่วมสมัยในมิติทางปรัชญา สังคม วัฒนธรรม และจิตวิทยา โดยผ่านงานวัฒนธรรมศึกษา(cultural studies) และวัฒนธรรมทางสายตาศึกษา(visual culture studies) ที่ได้พัฒนาขึ้นมาในโลกตะวันตกเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมาด้วย
ในส่วนของวัตถุประสงค์ของแต่ละบทนั้น นับจากบทที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา ประสงค์จะให้ผู้สนใจที่ไม่คุ้นเคยกับศาสตร์ใหม่นี้ทำความรู้จักเกี่ยวกับภาพกว้างและกรอบของการศึกษาโดยรวมเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา รวมไปถึงวิธีการมองซึ่งประกอบไปด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการจ้องมองและการอ่านภาพ และในท้ายบทยังให้รายชื่อหนังสือที่สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกินไปกว่าความรู้เบื้องต้นที่ให้ไว้นี้ได้ด้วยตัวเอง
วัตถุประสงค์ของบทที่ 2 เป็นเรื่องของทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา ในส่วนนนี้ต้องการให้ผู้สนใจศึกษาลึกลงไปในความรู้ของนักวิชาการทางด้านดังกล่าวโดยตรง ด้วยการหยิบยกเอากรอบความคิดและโลกทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนมานำเสนอ เพื่อให้เห็นถึงโครงข่ายความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตาอย่างหลากหลาย ทั้งในส่วนที่มีความเห็นสอดคล้อง เพิ่มเติมขยับขยายความรู้ให้กันและกัน รวมไปถึงบางประเด็นที่มีความเห็นแย้งกัน
ในส่วนของบทที่ 3 เรื่อง
ความเป็นมาและพื้นที่ศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา ความจริงแล้วมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการการขยายความรู้เบื้องต้นในบทที่
1 ให้ลึกลงไปในรายละเอียด โดยมีการนำเสนอถึงความเป็นมาและพื้นที่ศึกษาของศาสตร์ทางด้านนี้
เพื่อให้เห็นถึงต้นตอ กำเนิด และภูมิทัศน์อันกว้างใหญ่ของการศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา
นับจากแนวคิดเเกี่ยวกับหลักทัศนศาสตร์ของ Descartes ไปจนกระทั่งถึงการรับรู้ทางสายตาหลังสมัยใหม่
บทที่ 4 เรื่อง การจ้องมองวัฒนธรรมทางสายตา วัตถุประสงค์สำคัญที่มีการนำเสนอบทนี้ขึ้นมาในงานวิจัยก็เพื่อ
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเฝ้ามองประดิษฐกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตานั่นเอง
เช่น ภาพยนตร์ ทีวี โฆษณาต่างๆว่า ผู้คนทั้งหลายจ้องมองสิ่งเหล่านี้ทำไม และได้รับประโยชน์อะไรจากวัฒนธรรมร่วมสมัยเหล่านี้ที่อยู่แวดล้อมพวกเขา
สำหรับในบทที่ 5 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอ่านและการวิเคราะห์วัฒนธรรมทางสายตา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการอ่านวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างมีความรู้และมีหลักการ โดยพยายามค้นหาข้อมูล ความหมาย และทำความเข้าใจผู้รับสารที่แตกต่างกันไป มีการนำเอาหลักสัญศาสตร์มาใช้ รวมไปถึงการนำเอาหลักการทางด้านจิตวิเคราะห์ และความรู้เรื่องมายาคติมาใช้ในการถอดระหัสหรือการอ่านภาพอย่างทะลุปรุโปร่ง
ผลของการวิจัยที่ได้ดำเนินการตามระเบียบวิธีข้างต้น
ทำให้ผู้วิจัยได้รับรู้ข้อมูล ความรู้ และความเข้าใจ ดังจะขอสรุปเป็นโครงสร้างความเข้าใจนับจากบทที่
1-5 ดังปรากฏต่อไปนี้
คำอธิบายในเชิงสรุปเนื้อหา บทที่ 1
หากปรับเปลี่ยนหัวข้อต่างๆในงานวิจัยนี้ทั้งหมดให้เป็นคำถาม เช่น การศึกษาวัฒนธรรมทางสายตาคืออะไร,
เริ่มต้นเมื่อใด, พื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กว้างขวางมากน้อยแค่ไหน, ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านนี้มีทัศนะอย่างไร,
และเราจะอ่านหรือถอดระหัดภาพที่เราพบเห็นในสื่อต่างๆที่แพร่หลายอยู่ในสังคมได้อย่างไร,
เป็นต้น นับจากบทที่ 1-5 ของงานวิจัยฉบับนี้ เราจะพบคำถามทั้งสิ้นประมาณ 180
คำถามด้วยกัน
การที่ผู้วิจัยคิดถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนหัวข้อดำเนินเรื่องให้เป็นคำถามก็เพราะ ต้องการยืนยันความชัดเจนของงานวิจัยฉบับนี้นั่นเองว่า ในแต่ละหัวข้อนั้นได้ค้นพบคำตอบอะไรบ้างเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา ทั้งนี้เพราะ"งานวิจัย"ในนิยามความหมายหนึ่งคือ ผลงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องบางเรื่อง(ในที่นี้คือเรื่องวัฒนธรรมทางสายตา) และพยายามค้นพบข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนั้น (Research is work that involves studying something and trying to discover facts about it) ซึ่งเป็นที่มาของการประยุกต์หัวข้อต่างๆในงานวิจัยชิ้นนี้ให้เป็นคำถาม
แต่อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 180 คำถามนั้น หากผู้สนใจอ่านงานวิจัยนี้อย่างละเอียดรอบคอบ จะพบว่ามีคำตอบอยู่ทุกๆหัวข้อที่ประยุกต์เป็นคำถามได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในที่นี้ผู้วิจัยจะเลือกเฉพาะหัวข้อที่สำคัญๆเท่านั้นมาตั้งขึ้นเป็นคำถาม และให้คำตอบในเชิงสรุปดังนี้
- การศึกษาวัฒนธรรมทางสายตาคืออะไร
?
การศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา(visual culture studies) เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากการศึกษาวัฒนธรรม(cutural
studies) เป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับภาพต่างๆที่ปรากฏตัวขึ้นมาในวัฒนธรรม
โดยมองที่ตัวภาพเองและความสัมพันธ์ของมันกับกลุ่มต่างๆทางสังคม รวมไปถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
วัฒนธรรมทางสายตาเป็นเรื่องของความรู้สหวิทยาการ ซึ่งสามารถรวมเรื่องของสังคมวิทยา
ชาติพันธุ์วรรณนา ศิลปวิจารณ์ มานุษยวิทยา และจิตวิทยาเข้ามาอยู่ร่วมกัน หนึ่งในผู้ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาวัฒนธรรมทางสายตาที่สำคัญคือ
Nicholas Mirzoeff (นอกจากนี้ Stuart Hall ถือเป็นนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่น่าสนใจด้วย)
- การเริ่มต้นของการศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา
?
John Berger ในปี ค.ศ. 1972 เขาได้เป็นผู้จัดรายการโทรทัศน์ของ BBC รายการหนึ่งที่เรียกว่า
Ways of Seeing และได้มีหนังสือในชื่อเดียวกันนี้ได้รับการพิมพ์ขึ้น เขามีความเห็นว่า
ศิลปะไม่ได้ถูกมองแต่เพียงคนที่ได้รับการศึกษาเท่านั้น แต่มันถูกดูและถูกพบเห็นโดยผู้คนธรรมดาด้วย
หนังสือของเขาได้สลัดความคิดเชิงวิชาการทิ้งไป และเข้าไปสู่เรื่องของศิลปะที่ว่า
ศิลปะและภาพต่างๆถูกมองดูอย่างไร และโดยใคร? อันนี้ได้นำเราสู่ทัศนียภาพของวัฒนธรรมทางสายตา
- พื้นที่อื่นๆในขอบเขตของวัฒนธรรมทางสายตา
?
สำหรับในส่วนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตานี้ จะขอยกตัวอย่างมาเพียง
3 พื้นที่ดังนี้คือ การศึกษาเรื่องสื่อ, การศึกษาเรื่องเว็บไซต์, และการศึกษาเกี่ยวกับภาพยนตร์
ในการศึกษาเรื่องสื่อ เรียกว่า media studies ด้วย กลายเป็นความนิยมที่เพิ่มขึ้นในหลักสูตรของหลายๆสถาบันการศึกษา ทั้งนี้เพื่อต้องการสนับสนุนนักศึกษาให้รู้และเข้าใจสื่อมากขึ้น โดยที่การศึกษาเรื่องสื่ออาจสำรวจตรวจค้นวัฒนธรรมป๊อปปูล่าร์, การผลิตสื่อ, และวัฒนธรรมการบริโภค, โดยผ่านการรื้อสร้างเกี่ยวกับสารต่างๆ ในสื่อสารมวลชน
การศึกษาเรื่องเว็ปไซต์ มีจุดมุ่งหมายที่จะมองเข้าไปยังผลที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งมีต่อวัฒนธรรม เรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับเว็บไซต์ก็คือ การอ่านหรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยี(technology literacy) จุดมุ่งหมายของการศึกษาสาขาวิชานี้ คือจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือให้กับผู้คนเพื่อนำทางสู่จักรวาลของไซเบอร์สเปซ
การศึกษาทางด้านภาพยนตร์
บ่อยครั้งเรื่องนี้ได้ถูกนำมาเชื่อมต่อกับการศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา การศึกษาทางด้านภาพยนตร์ได้เคลื่อนคล้อยจากสาขาวิชาในตัวมันเอง
ด้วยการปรับตัวทางประวัติศาสตร์และทางด้านเทคนิค สู่พื้นที่ความรู้ทางการศึกษาแบบสหวิทยาการ
ซึ่งพยายามที่จะค้นหาความหมายภายในภาพเคลื่อนไหวต่างๆ คล้ายคลึงกันกับการอ่านภาพถ่าย
หรือผลงานจิตรกรรม ระเบียบวิธีการเดียวกันสามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการตีความภาพยนตร์ได้
คำอธิบายในเชิงสรุปเนื้อหา บทที่ 2
- ทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตาเป็นอย่างไร
?
ในงานวิจัยฉบับนี้ ได้ทำการศึกษาทัศนะของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา
เพียง 5 คนคือทัศนะของ Nicholas Mirzoeff, ทัศนะของ Irit Rogoff, ทัศนะของ
Ella Shohat และ Robert stam(ทั้ง 2 คนนี้ทำงานร่วมกัน), สุดท้ายคือทัศนะของ
Paul Jay ในฐานะที่แสดงความเห็นแย้งเชิงประวัติศาสตร์ต่อ Nicholas Mirzoeff
ทัศนะของ Nicholas Mirzoeff
- ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และการศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา
?
Mirzoeff ได้ย้อนกลับไปถึง Martin Heidegger ว่า
ท่ามกลางคนแรกๆซึ่งเรียกร้องความสนใจเพื่อการพัฒนาศาสตร์อันนี้คือ
นักปรัชญาชาวเยอรมัน Martin Heidegger, ผู้ที่เรียกมันว่า การถือกำเนิดขึ้นของภาพเกี่ยวกับโลก(world
picture). Heidegger ชี้แจงว่า
"ภาพเกี่ยวกับโลก... ไม่ได้หมายความว่าเป็นภาพของโลกภาพหนึ่ง(a picture of the world) แต่หมายถึงว่า โลกที่เรานึกคิดหรือเข้าใจและจับต้องได้ในฐานะที่เป็นภาพ(the world conceive and grasped as a picture).... ภาพเกี่ยวกับโลกนั้นมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากยุคกลางตอนต้นจนมาสู่ยุคสมัยใหม่ แต่ข้อเท็จจริงค่อนข้างจะเป็นว่า โลกที่กลายเป็นภาพนั้นคือสิ่งที่แตกต่าง หรือจำแนกแก่นสารของยุคสมัยใหม่มากกว่า" (Heidegger 1977: 130)
- วัฒนธรรมทางสายตาเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมภาษา
?
วัฒนธรรมตะวันตกในอดีตได้ให้สิทธิพิเศษต่อภาษาพูด(spoken word)และภาษาเขียน(writing)
ในฐานะที่เป็นรูปแบบสูงสุดของปฏิบัติการทางด้านสติปัญญา และมองตัวแทนภาพทางสายตา(visual
representation) ในฐานะที่เป็นภาพประกอบทางความคิด ซึ่งมีความสำคัญเป็นลำดับสอง
แต่อย่างไรก็ตาม Mirzoeff กล่าวว่า ปัจจุบันการปรากฏตัวขึ้นมาของวัฒนธรรมทางสายตาในฐานะที่เป็นเรื่องราวอันหนึ่ง ได้มาแข่งขันกับความเป็นประมุขดังกล่าว มันได้พัฒนาสิ่งที่ W.J.T. Mitchell เรียกว่า"ทฤษฎีภาพ"(picture theory)ขึ้น ในทัศนะนี้ ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ตะวันตกปัจจุบันได้สะท้อนให้เราเห็นอย่างเด่นชัด โดยการใช้ภาพ(pictorial)ค่อนข้างมากกว่าตัวหนังสือ(textual), อันนี้คือแบบจำลองของโลก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การท้าทายที่มีนัยสำคัญอันหนึ่ง ต่อความคิดเกี่ยวกับโลกในฐานะที่เป็นตัวหนังสือ ซึ่งได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวิวาทะทางสติปัญญา ในการปลุกเร้าเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่มีพื้นฐานอยู่บนเรื่องของภาษา
ในยุคหลังสมัยใหม่ มีผู้คนจำนวนมากที่ทำงานและสัมผัสอยู่กับสื่อทางสายตา(visual media) พวกเขาคือมาตรวัดอันหนึ่งของขอบเขตความรู้นี้ ซึ่งเดิมทีเมื่อเราพูดถึงโลก มักสรุปกันว่า โลกเป็นเสมือนตำราเล่มหนึ่ง(the World as a text) แต่ปัจจุบันคำพูดนี้ได้ถูกท้าทายโดย โลกเป็นเสมือนภาพๆหนึ่ง(the World as a picture)"
ทัศนะของ Irit Rogoff
- วัฒนธรรมทางสายตาในฐานะสหวิทยาการ
Irit Rogoff ให้ความเห็นว่า
ภาพต่างๆไม่ได้พักพิงอยู่กับขอบเขตความรู้สาขาวิชาต่างๆที่แยกๆกันอยู่
อย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับ"ภาพยนตร์สารคดี" หรือความรู้เกี่ยวกับงานจิตรกรรมเรอเนสซองค์"โดยเฉพาะ
ทั้งนี้เพราะปฏิบัติการทางสายตาและจิตใจ มันไม่ได้กระทำการเหล่านี้ขึ้นมาโดยการแบ่งแยก
หรือรับรู้ในลักษณะที่แตกออกเป็นส่วนๆ พวกมันได้ให้โอกาสเราสำหรับวิธีการอันหนึ่งขึ้นมาแทน
เกี่ยวกับงานเขียนใหม่ๆทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งได้ตัดข้ามหรือไขว้กันไปมา
Rogoff ยืนยันว่า ความรู้ในเรื่องดังกล่าว มันตีวงไปรอบๆอะไรที่มากกว่าการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับภาพเท่านั้น ขอบเขตความรู้นี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่กว้างขวางมาก และเป็นการศึกษาเกี่ยวกับภาพที่ข้ามศาสตร์หรือเป็นสหวิทยาการ
- วัฒนธรรมทางสายตาเป็นเรื่องของภาครับ
หัวใจสำคัญเกี่ยวกับกรอบแนวคิดในเรื่องของวัฒนธรรมทางสายตา ของ Irit Rogoff
อีกอย่างหนึ่งก็คือ "วัฒนธรรมทางสายตาเป็นเรื่องที่เน้นถึงภาครับหรือผู้ดู
มากกว่าภาคการผลิต" การกล่าวเช่นนี้ได้ทำให้เกิดความกระจ่างชัดขึ้นมาว่า
ผู้ดูซึ่งเป็นผู้รับรู้ข่าวสารข้อมูลทางสายตานั้น เป็นคนตีความ เป็นคนอ่านวัฒนธรรมทางสายตา
ดังนั้น Rogoff จึงเสนอให้เราทั้งหลายเปิดมิติ"สายตาที่อยากรู้อยากเห็น"(curious
eye)ให้มาก เพราะจะช่วยให้เราค้นหาและค้นพบความหมายใหม่ๆ ได้
- วัฒนธรรมทางสายตาเป็นสิ่งที่ถูกบงการ
Rogoff ได้เตือนเราว่าความเป็นผู้ดูซึ่งเข้าใจว่า สิ่งที่สายตาเห็นอย่างมีความหมาย
อันที่จริงแล้วมันได้ถูกบงการโดยความเชื่อและความปรารถนาต่างๆ โดยภาษาที่มีระหัสหรือกฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง
และมีการทำงานร่วมกัน สิ่งที่เราเห็นในวัฒนธรรมทางสายตานั้น และคิดว่ามันธรรมดา
หรือมันเป็นเช่นนั้น ความจริงแล้วมีความเชื่อและความปรารถนาชุดหนึ่ง ซึ่งได้ถูกใส่ระหัสแล้วส่งออกมา
ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เราพบเห็นในภาพซึ่งรายล้อมตัวเราอยู่ จึงไม่ธรรมดาหรือเป็นธรรมชาติตามความเป็นจริงอย่างที่มันเผยตัว
- วัฒนธรรมทางสายตารับใช้อุดมคติบางอย่าง
ในมิติอันสลับซับซ้อนของวัฒนธรรมทางสายตา ด้านหนึ่งนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้สนทนาถึงการตั้งข้อสังเกตและคำถามบางอย่าง
อย่างเช่น ความรู้ชนิดใดที่ได้ผลิตความนึกคิดเกี่ยวกับภาพทางสายตาขึ้นมา และมันรับใช้อุดมคติอันหนึ่งใช่หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น
อุดมคติของความเป็นชายต้องการให้ความเป็นหญิง สร้างความเป็นชายในตัวขึ้นมา โดยการยอมรับแบบจำลองมาตรฐานต่างๆ(normative modes). หรือความนับถือในมารยาท ความสุภาพ และความเป็นชนชั้นกลาง ต้องการให้คนอื่นที่แข็งขืน ซึ่งมีทัศนคติที่ต่างออกไป - เช่น ความเป็นชนกลุ่มน้อยทางวัฒนธรรม หรือ บรรทัดฐานที่เป็นมายาภาพที่ถูกวางตำแหน่งภายนอกใดๆ - ได้สร้างพฤติกรรมให้เป็นที่ยอมรับขึ้นมาเหมือนกับชนชั้นกลาง
ทัศนะของ Ella Shohat
และ Robert stam
- วัฒนธรรมทางสายตาในศิลปะและสุนทรียศาสตร์นอกกระแส
ความรู้"วัฒนธรรมทางสายตา" สำหรับ Ella Shohat และ Robert Stam ต้องการนำเสนอ"การตัดขาดจากศูนย์กลางยุโรป
ซึ่งไม่เพียงเกี่ยวกับ"สายตาที่ดี"(good eye)ในแบบอนุรักษ์นิยมของประวัติศาสตร์ศิลป์เท่านั้น
แต่ยังแยกขาดจากศิลปะแนวหน้าของศิลปกรรมชั้นสูงสมัยใหม่ด้วย
ในทัศนะของทั้งคู่"วัฒนธรรมทางสายตา"เป็นสาขาความรู้หนึ่ง ซึ่งซักไซ้ไล่เลียงถึงวิถีทาง ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และวัฒนธรรมทางสายตา ที่ค่อนข้างผูกขาดในการให้สิทธิพิเศษกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ทางศิลปะบางแห่งเหนือกว่าพื้นที่อื่นๆ และครอบงำโลกด้วยประวัติศาสตร์ศิลป์ของตนเอง ที่กล่าวนี้หมายถึงประวัติศาสตร์ศิลป์แบบศูนย์กลางยุโรป(Eurocentric) ซึ่งทึกทักเอาเองว่าก้าวหน้ากว่าศิลปะและสุนทรียศาสตร์ของคนอื่น และเป็นบรรทัดฐานของโลกศิลปะด้วย
ทัศนะของ Paul Jay ในฐานะที่แสดงความเห็นแย้งเชิงประวัติศาสตร์
Paul Jay ได้ให้นิยาม"วัฒนธรรมทางสายตา"ในแง่ที่กว้างกว่านักวิชาการคนอื่นๆ
เขาเห็นว่าภาพและตัวหนังสือเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กันในกระบวนการรับรู้
ไม่ได้แยกขาดจากกัน และที่ Nicholas Mirzoeff คิดว่า "โลกสมัยใหม่ในฐานะที่เป็นตำราเล่มหนึ่ง
ส่วนโลกหลังสมัยใหม่ในฐานะที่เป็นภาพๆหนึ่ง"นั้น เขาไม่เห็นด้วย และยังไม่ยอมรับต่อมาว่า
ด้วยเหตุนี้ โลกสมัยใหม่กลับหลังสมัยใหม่จึงแยกขาดจากกัน
ในทัศนะของเขามองว่า โลกสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ อันที่จริงเป็นเรื่องของการแตกหักกันทางญานวิทยามากกว่า อันนี้เขาค่อนข้างเห็นด้วยกับทัศนะของ Michel Foucault กล่าวคือ -โลกสมัยใหม่มองว่า"ภาพ"เป็นตัวแทน"ความจริงแบบกระจกเงา" ซึ่งพอมาถึงโลกหลังสมัยใหม่กลับมองว่า "ภาพ"ทำหน้าที่คล้ายกับตัวหนังสือ นั่นคือ "พวกมันสร้างความจริงขึ้นมาแทน"
- นิยามเกี่ยวกับ วัฒนธรรมทางสายตา
ทัศนะของ Paul Jay เขาได้นิยามวัฒนธรรมทางสายตาออกเป็นวัฒนธรรมทางสายตาแบบแคบและแบบกว้าง
ซึ่งมันมีความหมายต่างกันดังนี้
นิยามวัฒนธรรมทางสายตาแบบแคบ หมายถึง นิยามที่ไปสัมพันธ์กับเรื่องของเทคโนโลยีของการผลิตซ้ำทางสายตา ยกตัวอย่างเช่น ภาพนิ่ง ภาพยนตร์ กล้องถ่ายวิดีโอ โทรทัศน์ รูปแบบต่างๆของภาพในลักษณะที่เป็นดิจิตอล และรูปแบบอื่นๆของสื่ออีเล็คทรอนิค
วัฒนธรรมทางสายตาที่ได้รับการทำให้เป็นแนวคิดขึ้นมาจากจุดยืนหรือทัศนะอันนี้ สอดคล้องต้องกันกับชีวิตบนจอภาพ ในความหมายอย่างที่ Mirzoeff ได้ปลุกเร้า รูปแบบอันนั้นของ"ภาพ"ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคสมัยใหม่ตอนปลายและยุคหลังสมัยใหม่ เข้าสู่แบบของการเป็นตัวแทนไฮเปอร์, ซิมูเลทด์(simulated - ลอกเลียน), ความจริงเสมือนของการสร้างภาพ ซึ่งได้มาควบคุมและบัญชาความสนใจของเรามากขึ้นๆ และได้แพร่กระจายความรู้อยู่ในวัฒนธรรมสังคม
นิยามวัฒนธรรมทางสายตาแบบกว้าง หมายถึง สิ่งภายนอก อย่างสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน จนถึงทิวทัศน์ที่สร้างขึ้น, เช่น เครื่องหมายโฆษณา, หน้าร้าน, อนุสาวรีย์, และพื้นที่ซึ่งรวมถึงถนนหนทาง, บริเวณสาธารณะของเมือง และสี่แยก ตลอดรวมถึงผังเมือง แผนที่ทางอากาศ กล่าวอย่างสั้นๆ ลำดับการณ์ทั้งหมดเกี่ยวกับวัตถุทางสายตาที่เราประสบในชีวิตประจำวัน
หากเป็นเช่นนั้น การจัดแบ่งหมวดหมู่เกี่ยวกับสายตาและวัฒนธรรมทางสายตา ก็จะกลายเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนมาก และยากลำบากที่จะลดทอนสู่ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการแบ่งแยกและการแปรเปลี่ยนกระบวนทัศน์
- การแตกหักทางญานวิทยา
โดยส่วนตัวแล้ว Paul Jay ไม่ได้คิดถึงการเกิดขึ้นมาของภาพถ่าย, ภาพยนตร์, และโทรทัศน์,
ซึ่งเป็นรอยบาก หรือเครื่องหมายของการเริ่มต้นขึ้นมาของรูปแบบใหม่อันหนึ่งของวัฒนธรรมทางสายตา
สิ่งที่เขาคิดก็คือว่า พวกมันเป็นรอยบากหรือเครื่องหมายแห่งการสิ้นสุดลงของรูปแบบเก่าอันหนึ่งของวัฒนธรรมทางสายตาต่างหาก
ซึ่งมีพื้นฐานส่วนใหญ่อยู่บนการเป็นตัวแทนหรือ"มายาการแบบกระจกเงา"ที่สะท้อนความจริง
ซึ่งภาพต่างๆเหล่านี้ได้สรรค์สร้างขึ้นมา
เขากล่าวว่า เราไม่สามารถคิดในทางทฤษฎีเกี่ยวกับการมอง โดยปราศจากการเชื่อมโยงการสืบสวนของเราสู่การเปลี่ยนแปลงทางญานวิทยา บนเส้นทางของคริสตศตวรรษที่ 20 ที่ได้แปรเปลี่ยนความคิดของเราเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนไป
Paul Jay กล่าวว่า พวกเราอยู่ในยุคสมัยหนึ่งซึ่งปลุกให้นักปรัชญาอเมริกันอย่าง Richard Rorty ขึ้นมา, ณ ปัจจุบัน ปรัชญา ภาษา และภาพต่างๆทางสายตา ไม่ได้ถูกคิดว่าเป็นธรรมชาติคล้ายกระจกเงา(mirroring nature)อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการประกอบสร้างความจริง(constructing reality)ต่างๆขึ้นมา
คำอธิบายในเชิงสรุปเนื้อหา
บทที่ 3
- ความเป็นมาและพื้นที่ศึกษาวัฒนธรรมทางสายตา
เป็นเรื่องของสำรวจถึงประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ของวัฒนธรรมทางสายตาที่แพร่หลายอยู่ในสังคมร่วมสมัย
ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบถึงต้นตอกำเนิดและทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมทางสายตากับชีวิตผู้คน
รวมถึงบทบาทของวัฒนธรรมเหล่านี้ที่ได้เข้ามามีส่วนน้อมนำและประกอบสร้างความคิด
ความเชื่อ ความหมาย ให้กับสังคมวัฒนธรรม
- จากศิลปะสู่วัฒนธรรม
เส้นทางของวัฒนธรรมทางสายตา : จากศิลปะสู่วัฒนธรรม" (A Genealogy of Visual
Culture : From Art to Culture) Nicholas Mirzoeff กล่าวว่า
"การนำเสนองานในยุคบุกเบิกเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น มีวิธีการเล่าเรื่องที่เป็นไปได้มากมาย" สำหรับเขา
เลือกที่จะนำเสนอการสำรวจตรวจสอบในเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับภาพ(vision)ในประวัติศาสตร์ศิลป์
สำหรับสาขาวิชาเกี่ยวกับภาพในประวัติศาสตร์ศิลป์ ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายตัวมันเองไปพ้นจากพรมแดนสาขาวิชาที่มีมาตรฐานของตัวมันเองโดยเฉพาะ สู่การพิจารณาเรื่องของศิลปะในฐานะที่มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรม และในฐานะที่เป็นเรื่องวัฒนธรรม. การคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องภาพทางสายตานี้ ได้น้อมนำนักประวัติศาสตร์ศิลป์และนักวิจารณ์ศิลปะแตกไปสู่ลำดับการที่กว้างขวางมากขึ้น ในลักษณะของความเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆแบบสหวิทยาการ, จากปรัชญาศิลป์ไปสู่การศึกษาในแนวสตรีนิยมและเพศสภาพ รวมถึงด้านมานุษยวิทยา
- วัฒนธรรมทางสายตา
กับชีวิตประจำวัน
จากเส้นทางของศิลปะ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ศิลป์สู่วัฒนธรรมภาพร่วมสมัยของวัฒนธรรมทางสายตาในปัจจุบัน
ทำให้เราเห็นถึงการขยายตัวที่กว้างขวางออกไปของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการมองซึ่งเข้ามาสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น
สำหรับในส่วนของวัฒนธรรมทางสายตาในชีวิตประจำวัน หมายถึงภาพต่างๆที่อยู่แวดล้อมตัวเราอยู่ทุกๆวัน ชีวิตประจำวันถือว่าเป็นภูมิทัศน์ที่สำคัญสำหรับวัฒนธรรมทางสายตา เท่าๆกันกับที่มันเป็นพื้นที่หลักสำหรับการศึกษาทางด้านวัฒนธรรม(cultural studies) การสำรวจเกี่ยวกับภูมิทัศน์อันนี้ มันเป็นตัวแทนอันหนึ่งที่จะให้ความเอาใจใส่ต่อวัฒนธรรมของมวลชนส่วนใหญ่ มากกว่าปฏิบัติการทางศิลปะทั้งหลายของพวกชนชั้นสูงที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยพวกนั้น
ก่อนปรากฏการณ์อันโดดเด่นของภาพในชีวิตประจำวัน มันไม่ใช่เป็นเพราะความบังเอิญ แต่ค่อนข้างจะเป็นผลที่ตามมาของความเข้มข้นของลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักสถานการณ์นิยม Guy Debord เรียกว่า "สังคมเกี่ยวกับภาพอันน่าตื่นเต้น"(society of the spectacle) ในช่วงขณะดังกล่าว Debord ได้ให้เหตุผลทำนองว่า ภาพอันน่าตื่นเต้น เป็นฐานของการก่อตัวขึ้นมาในระดับหนึ่ง ซึ่งได้ทำให้ยุคสมัยปัจจุบันกลายเป็นภาพขึ้นมา
วัฒนธรรมทางสายตาในโลกร่วมสมัย
ได้ค่อมทับเรื่องทางการค้า, กฎหมาย, การศึกษา, เทคโนโลยี และสงคราม ซึ่งได้ก่อรูปความรู้สึกทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สิ่งเหล่านี้มีส่วนสัมพันธ์และกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้คนทั้งหลาย นับจากภาพโฆษณาที่พบเห็น
ไปจนกระทั่งถึงภาพยนตร์ และกำแพง อนุสาวรีย์ที่เราต่างเผชิญหน้ากับมันบนพื้นที่สาธารณะ
มาถึงตอนนี้วัฒนธรรมทางสายตาได้แทรกตัวอยู่กับเราอย่างแยกไม่ออก
- วัฒนธรรมทางสายตา กับเรื่องร่างกายและพื้นที่
ร่างกาย - การจ้องมอง
Haraway ให้เหตุผลว่า "การมอง"ไม่เคยถูกค้นพบว่ามันมีความบริสุทธิ์
เธอมีเป้าประสงค์ที่การให้นิยามเกี่ยวกับเรื่องของการมองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
ซึ่งยินยอมให้มีการสร้างสิ่งที่เธอเรียกว่า"situated knowledge"(ความรู้ที่ได้รับการวางหรือถูกกำหนดขึ้น)
เธอได้เสนอว่า "สายตาหรือการมองนั้นเป็นเรื่องการเมืองเกี่ยวกับเรื่องของตำแหน่ง
การต่อสู้กับสิ่งซึ่งนับได้ว่าเป็นเรื่องราวหรือคำอธิบายในเชิงเหตุผลเกี่ยวกับโลก
ที่ต่อสู้กันในเรื่องการมองว่า มีการมองกันอย่างไร" Haraway ตระหนักว่า
การเข้าใจการมองเป็นตัวอย่างที่สำคัญอันหนึ่ง ของสิ่งที่จะได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นระเบียบวิธีของเหตุผล
ร่างกาย - ภาพยนตร์
ประวัติศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ และการตรวจตราเรื่องร่างกาย ทั้งในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์
ได้ถูกนำไปผูกติดกับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของภาพยนตร์อย่างน่าพิจารณา
ในฐานะที่เป็นสถาบันทางวัฒนธรรมยอดนิยม และในฐานะที่เป็นกลไกหรืออุปกรณ์ต่างๆทางด้านเทคโนโลยี
Cartwright ได้แสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์และภาพถ่ายได้ถูกนำมาใช้เพื่อสาธิตหรือแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้อันหนึ่ง อย่างเช่น ร่างกายในงานภาพยนตร์ได้เผยแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่างๆซึ่งลูกตา โดยตัวของมันเองตามปกติแล้วไม่สามารถมองเห็นได้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ภาพ close-ups และภาพ slow-motion ได้ช่วยขยายหรือยกระดับการมองของเราตามธรรมชาติขึ้น
นอกจากนี้ภาพร่างกายที่นำเสนอในภาพยนตร์
โทรทัศน์ และโฆษณาต่างๆ ได้สร้างมาตรฐานที่เป็นไปไม่ได้อันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งสวนทางกันกับการที่ผู้คนจริงๆพิจารณาเรื่องร่างกายของพวกเขา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเรียงของ Susan Bordo และ Anne Balsamo ได้ทำการสำรวจ
ถึงบรรดาผู้หญิงทั้งหลายว่า บ่อยครั้ง พวกเธอมักจะพยายามกระเสือกกระสนที่จะก้าวให้ทัน
หรือถลันเข้าไปใกล้ช่องว่างระหว่างภาพลักษณ์และความเป็นจริงเกี่ยวกับร่างกายอันนั้น
ร่างกาย - ศัลยกรรม
โดยการเพ่งความสนใจหรือความเอาใจใส่เพียงผิวหน้าเพียงลำพัง ศัลยกรรมพลาสติกสามารถทำให้ร่างกายของปัจเจกชน
ปรับเปลี่ยนไปสู่บรรทัดฐานทางสุนทรีย์ได้อย่างสอดคล้อง "ในวิธีการทำศัลยกรรมทางความงามนี้
ได้แปรเปลี่ยนร่างกายในเชิงวัตถุไปสู่เครื่องหมายหนึ่งทางวัฒนธรรม(a sign of
culture)"
ขณะที่บรรดาผู้หญิงทั้งหลายต้องต่อสู้กับมาตรฐานที่เป็นนามธรรมของความเป็นผู้หญิงและความงาม, ปัจจุบัน ศัลยแพทย์ทั้งหลายทางด้านความงามได้แสวงหาหนทางที่จะประยุกต์มาตรฐานต่างๆเหล่านี้โดยตรง สู่บรรทัดฐานเกี่ยวกับใบหน้าต่างๆของผู้คน, ทั้งในรูปของตัวหนังสือที่ได้จากตำรับตำรามาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้, และในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องสัดส่วนของความกลมกลืนและดุลยภาพ
ความกลมกลืนและความสมมาตรได้ถูกเปรียบเทียบกับเรื่องของจิตใจ อันนี้เกือบจะเป็นเรื่องเวทมนตร์ไสยศาสตร์(magical)ไปเลยทีเดียว มันคือหัวข้อในเชิงอุดมคติซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของเราเกี่ยวกับเรื่องของความงาม ซึ่งไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดเลย หากจะกล่าวว่า "ใบหน้าตามอุดมคติ" ที่ผู้คนทั้งหลายต่างต้องการไปให้ถึง ปรากฏว่าเป็นใบหน้าของคนผิวขาวชาวยุโรปตอนเหนือนั่นเอง
พื้นที่บนไซเบอร์สเปซ
ประสบการณ์หลังภาพถ่าย โดยการสรรค์สร้างภาพดิจิตอล ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตได้แปรเปลี่ยนไป
มันไม่มีความจำเป็นใดๆอีกต่อไปแล้ว หรือความเชื่อมโยงในเชิงตรรกะอันใดระหว่างภาพเสมือนจริงกับความเป็นจริงภายนอก
ก่อนหน้านี้ภาพยนตร์ ได้ขยายพื้นที่การมองของเราได้มากขึ้น และภาพยนตร์การ์ตูนได้สร้างพื้นที่และทิวทัศน์ในจินตนาการ แต่ในโลกของดิจิตอลได้สร้างพื้นที่เสมือนจริงขึ้นมา ซึ่งมันเป็นทั้งจินตนาการและการลอกเลียนความจริง แต่ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ
- วัฒนธรรมทางสายตา
กับเชื้อชาติและลัทธิอาณานิคม
จากการศึกษาเรื่องของการมองกับพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองพื้นที่ซึ่งเป็นอาณานิคมของคนยุโรป
เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดานักเขียนทั้งหลายไม่ได้ให้ความสนใจพิจารณาถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับนักสังเกตการณ์ที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก
สำหรับชาวยุโรปโพ้นทะเล พวกเขาเป็นศูนย์กลางของความเข้าใจสมัยใหม่เกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่ ตัวอย่างเช่น บรรดาชาวยุโรปทั้งหลาย ซึ่งได้แผ่ขยายจักรวรรดิ์ของพวกเขาเข้าไปในลาตินอเมริกา, แอฟริกาและเอเชียในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 พวกเขาต่างเชื่อมั่นในการสังเกตการณ์ทั้งหลายในลักษณะปัจเจกเกี่ยวกับทิวทัศน์ต่างๆอันไม่เป็นที่รู้จักอันนั้น
นักวิจารณ์วรรณกรรม Mary-Louise Pratt ได้เรียกท่าทีหรือทัศนคตินี้ว่า "the monarch-of-all-I-survey"(ความเป็นเจ้า เกี่ยวกับการสังเกตของตัวข้า)ซึ่งถือเป็นคำที่สื่อสารได้ดีทีเดียว
ลัทธิอาณานิคม
Nicholas Mirzoeff กล่าวว่า
หนึ่งในลักษณะต่างๆที่เป็นตัวกำหนดยุคสมัยใหม่คือ
ประสบการณ์เกี่ยวกับ"ลัทธิอาณานิคม"และ"ระบบทาส" ความพยายามต่างๆเกี่ยวกับการตั้งรกรากจนกระทั่งถึงในช่วงปี
ค.ศ.1914 นั้น ประมาณกันว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของโลก ได้ถูกครอบครองและกลายเป็นอาณานิคมไป
การแผ่ขยายของยุโรปมีลักษณะเด่นคือการค้าทาสแอตแลนติค ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูนับจากคริสตศตวรรษที่
17 ไปจนถึงช่วงต้นของคริสตศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการเคลื่อนย้ายทาสแอฟริกัน
10-15 ล้านคนโดยการใช้กำลัง ซึ่งมีผลทำให้มีการฆ่าผู้คนไปจำนวนมากกับความพยายามอันนั้น
พลังอำนาจต่างๆของอาณานิคมมักจะได้รับการอ้างว่า บทบาทของมันนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่อักษรย่อว่า C3 (CCC สามตัวด้วยกัน) ซึ่งอักษรย่อนี้ ได้รับพูดขึ้นมาโดยมิชชั่นนารีหรือนักสอนศาสนาในต่างประเทศ David Livingstone: นั่นคือ Commerce, Christianity และ Civilization [การพาณิชย์, คริสต์ศาสนา, และ อารยธรรม]
สิ่งที่ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า"พันธกิจในการสร้างความเจริญ"(civilizing mission) อาจดูเหมือนคล้ายๆกับว่า เป็นเพียงคำแก้ตัวสำหรับพัฒนาการทางการค้า แต่บรรดานักอาณานิคมคนอื่นๆกลับยึดถือบทบาทที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยตัวของพวกเขาเองกันอย่างจริงจัง ผลที่ตามมาอันหนึ่งก็คือ มันกลายเป็นลัทธิอาณานิคมทางสายตาที่ค่อนข้างประสบผลสำเร็จอย่างสูง เรียงลำดับตั้งแต่แผนที่, งานจิตรกรรม, และภาพถ่าย, ทั้งหมดนี้ได้รับการทำขึ้น สะสมและรวบรวมเกี่ยวกับความเป็นอื่นที่ไม่ใช่ตะวันตก เป็นงานศิลปะและงานฝีมือของท้องถิ่น
วัตถุต่างๆดังที่กล่าว ได้ถูกสะสมรวบรวมขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และต่อมาได้ถูกนำออกแสดง อย่างเช่น ในพิพิธภัณฑ์ the Musee de I'Homme ในกรุงปารีส, the Museum of Mankind in London (พิพิธภัณฑ์ทางด้านมนุษยชาติในกรุงลอนดอน), the Musse du Congo Belge in Terveruen และอื่นๆ โดยรวมแล้ว วัฒนธรรมทางสายตาเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม ได้มีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญอันหนึ่งต่อการอรรถาธิบาย และกำหนดนิยามถึงแบบแผนเกี่ยวกับอาณานิคม
เชื้อชาติ-อัตลักษณ์
ในปี ค.ศ.1735 นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน Karl Linnaeus ได้ประยุกต์ใช้แบบแผนการแบ่งหมวดหมู่ซึ่งเขาได้คิดประดิษฐ์ขึ้นสำหรับพืชมาใช้กับมนุษย์
เขาได้แบ่งมนุษยชาติออกเป็น 4 จำพวกด้วยกัน: คือ ยุโรป, แอฟริกัน, เอเชียน,
และอเมริกัน (หมายถึงชาวอเมริกันพื้นเมือง) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัฒนธรรมตะวันตกได้พยายามแสวงหาหนทางที่จะสร้างความแตกต่างเหล่านี้ขึ้นให้เป็นภาพ
แม้ว่าอันที่จริงแล้ว จากพยานหลักฐานที่มีอย่างล้นเหลือในเชิงวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะบอกกับเราว่า
มันไม่มีแก่นสารใดๆของความแตกต่างในทางชีววิทยาระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
ความคิดที่ว่า มันมีแบบฉบับความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกัน ซึ่งค่อยๆประมวลขึ้นมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งเกิดการแบ่งแยกเชื้อชาติขึ้นนั้น แม้ว่ามันจะไม่เคยมีความเห็นที่สอดคล้องกันส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติว่า เชื้อชาติเป็นสิ่งที่สามารถจะนิยามได้ก็ตาม
ในช่วงยุคสมัยที่ต่างกัน บรรดานักทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ ได้ตรวจตราไปที่รูปของกระโหลก, สมอง, ศิลปะ, และปัจจุบันได้ดูกันที่ยีน เพื่อค้นหาเครื่องหมายยืนยันและเห็นได้ด้วยตาเกี่ยวกับเชื้อชาติ บ่อยครั้งแม้ว่าจะมีการปฏิเสธกันอย่างกว้างขวางต่อกรณีข้างต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเกิดความล้มเหลวในการเห็นพ้องต้องกันสำหรับการอธิบายเรื่องเชื้อชาติในเชิงชีววิทยา แต่เชื้อชาติก็ยังสามารถถูกพิจารณากันได้ ในฐานะที่เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ซึ่งสำหรับคำว่า"เชื้อชาติ"กับ"วัฒนธรรม" เป็นศัพท์คำพ้องในคริสตศตวรรษที่ 18
การข้ามวัฒนธรรม
คริสตศตวรรษที่ 20 ได้นำไปสู่พัฒนาที่น่าจับตาอันหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของโลกาภิวัตน์และท้องถิ่นวัฒนา(globalization
and localization)ทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ไปพร้อมๆกัน "รัฐชาติ"ถือเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและอัตลักษณ์
สำหรับอดีตสองศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่ามันกำลังเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆในการเผชิญหน้ากับความกดดันของรอยต่อนี้
กลุ่มพลังต่างๆในด้านอำนาจเศรษฐกิจใหม่ที่ข้ามผ่านประชาชาติ อย่างเช่น สหภาพยุโรป
(EU) และ กลุ่มข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ได้มาเป็นข้อจำกัดรัฐชาติลงไปอย่างมาก
ในอีกด้านหนึ่ง บรรดาแรงงานในเกือบทุกแห่งก็ถูกบีบบังคับให้ต้องกลายเป็นผู้อพยพ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา สัญลักษณ์ใหม่อย่างหนึ่งของชนชั้นคนงานอเมริกันก็คือ รถบรรทุกเคลื่อนที่ไรเดอร์ (Ryder moving truck) ซึ่งได้เข้ามาแทนที่รถ Thunderbird ที่แวววาวของช่วงทศวรรษที่ 1950s สภาพเช่นนี้ แม้จะมีภาพของการต่อสู้ระหว่างทุนกับแรงงาน แต่สภาพที่เป็นจริงกลับสะท้อนถึงสภาวะของเศรษฐกิจโลกที่กำลังยากจนลงไปเรื่อยๆ
ในส่วนของการขานรับต่อความอ่อนแอลงนี้ของประชาชาติเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า"อัตลักษณ์. นักวิจารณ์ชาวคิวบา Fernando Ortiz เรียกเหตุการณ์เหล่านี้ว่าว่า transculture (การข้ามผ่านวัฒนธรรม), การหลอมละลายอันหนึ่งเกี่ยวกับของเก่า, ของใหม่ และการหยิบยืมปฏิบัติการต่างๆทางวัฒนธรรมมาใช้ (Ortiz 1947)
การศึกษาเกี่ยวกับการข้ามผ่านทางวัฒนธรรม(Transcultural
studies) ได้เพ่งความเอาใจใส่ลงไปที่สิ่งเหล่านี้ ที่ซึ่งขอบเขตที่ถูกนิยามด้วยความระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์
กลายเป็นสิ่งที่สับสนและทับซ้อนกัน มันเป็นภารกิจหนึ่งที่เรียกร้องต้องการทั้งประวัติศาสตร์ใหม่ๆ
และความหมายใหม่ๆเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนแสดงออก
- วัฒนธรรมทางสายตา กับการจ้องมองและเรื่องเพศ
Nicholas Mirzoeff กล่าวว่า
ไม่มีคำศัพท์ใดๆที่มีอิทธิพลและสำคัญต่อสาขาวิชาวัฒนธรรมทางสายตาที่หลากหลายในช่วงยี่สิบห้าปีหลังมานี้เกินไปกว่าคำว่า
"การจ้องมอง" "การจ้องมอง"ได้สร้างอัตลักษณ์ของผู้จ้องมองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
โดยการทำให้เรารู้สึกทันทีเกี่ยวกับการรับรู้ทางสายตา และคนอื่นๆที่มองดูเรา
การประเมินกันใหม่เกี่ยวกับการมอง
ในฐานะที่เป็นการจ้องมองโดยนักสตรีนิยม และทฤษฎีรักร่วมเพศ(queer theory)ใน
25 ปีหลังนี้ ได้แปรเปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆให้กว้างขวางออกไป
เท่าๆกันกับการเขียนภาพเปลือย ภาพยนตร์ฮอล์ลีวูด และงานโฆษณาเลยทีเดียว "การจ้องมอง"
ยินยอมให้เราคิดถึงวิธีการต่างๆเกี่ยวกับการมองในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของ"อำนาจ"
และ"อำนาจ"นั้นสามารถถูกทำให้เป็น"เรื่องเพศสภาพ"ได้ ด้วยเหตุนี้
ข้อถกเถียงเป็นจำนวนมากจึงมีศูนย์กลางอยู่ที่"การจ้องมองในสายตาของผู้ชาย"
"ส่วนผู้หญิงกลับถูกทำให้เป็นวัตถุ"และตกอยู่ในสถานะที่เป็นรอง
อุดมคติของความเป็นชายและอำนาจ
เรื่องการจ้องมองนั้น นักวิจารณ์ทั้งหลายได้พยายามสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เรื่องของเพศสภาพ(gender)
เชื้อชาติ(race) และเรื่องทางเพศ(sexuality) วิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้อธิบายถึงความแตกต่างกันเบื้องต้นอันหนึ่งระหว่างสองเพศ
ราวๆในช่วงปี ค.ศ.1800 ซึ่งอันนี้เป็นการตัดเยื่อใยสัมพันธ์กับขนบจารีตคลาสสิค
เกี่ยวกับการมองร่างกายของมนุษย์ในฐานะที่เป็นตัวแบบหนึ่งเดียว(one type)ที่แบ่งออกเป็นสอง
เพศสภาพไม่ใช่ธรรมชาติ
Butler กล่าวว่า "ผลผลิตทางวัฒนธรรมที่แท้จริงเกี่ยวกับเพศสภาพ"
เป็นสิ่งที่หมิ่นเหม่ในการสนทนากันต่างๆ และท้าทายต่อลักษณะคู่ตรงข้ามที่เริ่มต้นขึ้นมาโดยบรรดานักวิชาการแนวจิตวิเคราะห์
หนังสือของเธอต่างไปจากสองศตวรรษของการจ้องมองทางการแพทย์ โดยการสรุปว่า
"เพศสภาพมิได้ถูกเขียนขึ้นในเรื่องราวเกี่ยวกับร่างกายเพียงเท่านั้น" แต่เป็น"การทำซ้ำทางด้านแบบฉบับของการกระทำต่างๆ". เพศสภาพกลายเป็นความเข้าใจ ไม่ใช่ในฐานะแก่นสารทางด้านกายภาพ หรือวัฒนธรรม แต่ในฐานะที่เป็นการกระทำอันหนึ่งซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นธรรมชาติ โดยผ่านการทำซ้ำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
การจ้องมองของพวกรักร่วมเพศ
การจ้องมองของพวกรักร่วมเพศ ถือเป็นการท้าทายต่อ"คู่ของความต้องการเพศตรงข้าม"(heterosexual
binary - ชายรักหญิง, หญิงรักชาย) อันนี้ได้มีการศึกษากันในแนวจิตวิเคราะห์ต่อเรื่องของการจ้องมอง
เกย์และเลสเบียนศึกษาในอเมริกา เริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970s และ 1980s เทียบเคียงกันกับที่มันเป็นสำหรับลัทธิสตรีนิยม และแอฟริกัน-อเมริกันศึกษา: ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการมีอยู่ของเกย์และเลสเบียน ในฐานะที่เป็นนักสร้างสรรค์, นักบริโภค และประเด็นหรือหัวข้อต่างๆเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา และเพื่อเป็นการบุกเบิกที่ทางของพวกเขาขึ้นมาในบันทึกประวัติศาสตร์ แน่นอน ผลงานอันนั้นยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมันได้ถูกนำไปเชื่อมโยงโดยวิธีการศึกษาใหม่ๆอันหนึ่งในเรื่องของ"อัตลักษณ์"และ"เรื่องเพศ" ซึ่งถูกรู้จักกันในฐานะทฤษฎีรักร่วมเพศ(queer theory)
อัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพ ถูกมองว่า มันเกิดขึ้นมาใกล้เคียงหรือทับซ้อนกับเรื่องของเชื้อชาติ, ความเป็นชาติพันธุ์, และสัญชาติในหนทางต่างๆที่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ"อัตลักษณ์"ในตัวของมันเอง มันคือคำศัพท์ที่พิเศษคำหนึ่งในช่วงสิบห้าปีหลังมานี้ ซึ่งควรจะถูกรับรู้. ด้วยเหตุดังนั้น ทฤษฎีรักร่วมเพศ(Queer theory) จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศซึ่งเป็นการรื้อสร้างในทางปรัชญา
- วัฒนธรรมทางสายตา
กับวัฒนธรรมภาพโป๊เปลือย
หนึ่งในลักษณะที่เด่นชัดมากของวัฒนธรรมทางสายตายุคใหม่ก็คือ ทันใดที่สื่อทางสายตาใหม่ๆได้รับการคิดประดิษฐ์ขึ้น
ก็ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นตัวแทนรูปโป๊เปลือยเลยทีเดียว นับจากภาพพิมพ์หินและภาพถ่ายเป็นต้นมา
จนกระทั่งถึงสื่อทางสายตาประเภทอินเตอร์เน็ต เนื้อหาในส่วนนี้จะไม่จำกัดให้ภาพเปลือยเป็นเรื่องของ"ผู้ชายที่ชอบผู้หญิงหรือเพศตรงข้าม"เท่านั้น(heterosexual)
ซึ่งหมายความว่า จะรวมถึงภาพโป๊เปลือยของบรรดาเลสเบียน, เกย์, และวัยรุ่นทั้งหลายซึ่งกำลังสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง
ภาพโป๊เปลือยของผู้หญิง
หนึ่งในความยุ่งยากในเรื่องการศึกษาสำหรับภาพโป๊เปลือยก็คือ การนิยามมันในหนทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับศิลปะ
และรูปแบบอื่นๆเกี่ยวกับการแสดงออกทางด้านวัฒนธรรม ในการดึงเอาข้อความออกมาจากหนังสือสำคัญเรื่อง
The Female Nude: Art, Obscenity and Sexuality, Linda Nead ได้แสดงให้เห็นว่า
"คำถามเกี่ยวกับภาพโป๊เปลือยที่ว่า ภาพดังกล่าวมีผลอันตรายร้ายแรงต่อผู้ดูหรือไม่ ซึ่งครอบงำทัศนะต่างๆที่มีต่อภาพโป๊เปลือยในคริสตศตวรรษที่ 20 มาตลอดนั้น อันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงที่เก่าแก่ บนเรื่องพลังอำนาจเกี่ยวกับภาพตัวแทนโดยทั่วๆไป"
นับจากการคิดประดิษฐ์ภาพโป๊เปลือยขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทำให้การนิยามความหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎหมายมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสุนทรียภาพ จากมุมมองทัศนะของวัฒนธรรมชนชั้นสูง(elite) ภาพโป๊เปลือยมักจะเป็นคำถามหนึ่งของการผลิตซ้ำที่ทำขึ้นเป็นจำนวนมาก ในฐานะที่ตรงข้ามกันกับผลงานความเป็นเอกเทศเพียงชิ้นเดียวของศิลปะ ดังเช่น นวนิยายของ D.H.Lawrence ในเรื่อง Lady Chatterley's Lover ซึ่งกลายเป็นปัญหาหนึ่ง เมื่อสำนักพิมพ์ Penguin เสนอที่จะพิมพ์นวนิยายเรื่องดังกล่าวออกมาในรูปของหนังสือปกอ่อนในปี ค.ศ.1961 อันนี้ก่อให้เกิดข้อสังเกตที่เป็นไปได้ว่า การทำเช่นนั้น จะทำให้มันแพร่หลายและอาจถูกอ่านโดย "ภรรยาหรือคนใช้ทั้งหลายของคุณ"นั่นเอง
ภาพโป๊เปลือยในการ์ตูนญี่ปุ่น
Sandra Buckley ได้ทำการสำรวจถึงการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับภาพอิโรติคในสังคมญี่ปุ่น
ปฏิบัติการอันหนึ่งซึ่งเธอได้สืบเสาะหาร่องรอยเกี่ยวกับผลงานภาพพิมพ์แกะไม้
ที่เป็นภาพโป๊เปลือยในคริสตศตวรรษที่ 18
สำหรับผู้ชื่นชมผลงานภาพพิมพ์เหล่านี้ และทายาทหรือผู้สืบทอดต่อมา ภาพอีโรติคเหล่านี้ได้ปรากฏออกมาในรูปของหนังสือการ์ตูนของคริสตศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของผู้ชาย จนกระทั่งบรรดาศิลปินหญิงได้สร้างสรรค์หนังสือการ์ตูนขึ้น ซึ่งเรื่องราวและเนื้อหาเหมาะสำหรับเด็กผู้หญิง อันนี้เริ่มต้นขึ้นราวปี 1970
สำหรับในส่วนการ์ตูนประเภท bishonen ต่างๆ ซึ่งได้นำเสนอผลงานการ์ตูนให้กับผู้อ่านหญิงที่เป็นวัยรุ่น อันเป็นคู่แข่งขันกับผู้อ่านการ์ตูนที่เป็นชายอย่างสำคัญ ส่วนใหญ่แล้วการ์ตูนในแนวนี้ เรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นไปในทำนองดราม่า(drama - สะเทือนอารมณ์ - An episode that is turbulent or highly emotional) และภาพการนำเสนอเรื่องราวทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง ที่น่าประหลาดใจคือว่า ฉากเซ็กส์ต่างๆนั้น แทบจะไม่ได้เป็นเรื่องของคู่ผัวตัวเมียตามแบบจารีต ฉากบนเตียงอย่างที่พวกเธอรู้ๆกัน กลับกลายเป็นภาพวาดเกี่ยวกับการร่วมรักระหว่างชายกับชายอยู่บ่อยๆในลักษณะของคู่โฮโมเซ็กส์ชวลนั่นเอง
ในช่วงปี ค.ศ.1990 การ์ตูนเหล่านี้
มีผู้สนใจอ่านที่สามารถเรียงลำดับได้จากผู้หญิงวัยรุ่น ไปจนกระทั่งถึงนักศึกษาชายตามมหาวิทยาลัย
รวมไปถึงพวกชาวเกย์ และเรื่องราวที่เขียนขึ้นมานั้นก็มีตั้งแต่เรื่องเกย์ เลสเบียน
ไปจนกระทั่งถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศตรงข้าม
คำอธิบายในเชิงสรุปเนื้อหา บทที่ 4
- ทำไมเราจึงจ้องมองความบันเทิง - การหนีห่างไปสู่โลกของยูโทเปีย
คำตอบแรกสุดก็คือ เพื่อความบันเทิง แต่มีปัญหาตามมาว่าความบันเทิงเป็นการหนีห่างจากความเป็นจริงใช่ไหม
สำหรับข้อนี้ Richard Dyer เสนอว่า ผลผลิตต่างๆทางวัฒนธรรมจำนวนมากที่เป็นความบันเทิงนั้น
มันมีแก่นแกนของยูโทเปียอยู่ ผลผลิตทางวัฒนธรรมเหล่านั้นได้ชี้ไปยังความเป็นไปได้ต่างๆเกี่ยวกับโลกที่ดีกว่า
วิสัยทัศน์แบบยูโทเปียเกี่ยวกับโลกที่สมบูรณ์แบบใบหนึ่ง สามารถที่จะให้แรงดลใจเราได้เกี่ยวกับความหวังและการมองโลกและสังคมในแง่ดี
และสามารถเป็นพิมพ์เขียวให้กับเราว่า เราปรารถนาที่จะอยู่อย่างไร ? มันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ดำเนินไปข้างหน้า
มันเสนอความเป็นไปได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
- ความเพ้อฝันและจิตวิเคราะห์
ความเพ้อฝัน โดยสาระแล้วเป็นสิ่งที่ไม่จริง มันคือผลผลิตของความฝันและจินตนาการของเรา
หนึ่งในความน่าตื่นเต้นมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องราวในภาพยนตร์และโทรทัศน์ก็คือ
พวกมันทำให้ผู้สร้างและผู้ชมทั้งหลายมีโอกาสที่จะไปอยู่ ณ ที่อื่น ซึ่งป่าเถื่อนสุดๆ,
ไร้การควบคุม, และเพ้อฝัน. Victor Perkins ได้อธิบายว่า
ภาษาของภาพยนตร์ วิธีการที่เรื่องราวต่างๆได้ถูกเล่า
มันยินยอมให้ผู้ชมทั้งหลายรู้สึกราวกับว่า พวกเขากำลังมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆบนจอภาพยนตร์นั้น
ด้วยเหตุนี้เราจึงเข้าไปพัวพันกับการกระทำอันรุนแรง และเกี่ยวพันกับอารมณ์ความรู้สึกที่เข้มข้น
จิตวิเคราะห์ : อริสโตเติล
กับแนวคิดเรื่องการระบายอารมณ์
อริสโตเติลและการระบายอารมณ์ (Aristotle and Catharsis) ถือเป็นแบบจำลองที่สำคัญเกี่ยวกับว่า
มีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับใครคนหนึ่งซึ่งกำลังจ้องมองสื่อ อันนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการวิเคราะห์ของอริสโตเติลเกี่ยวกับละครโศกนาฏกรรมของกรีก
อริสโตเติลเสนอว่า ประสบการณ์ดังกล่าวยอมให้ผู้คนรู้สึกทางอารมณ์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความกลัวและความสยองขวัญ ซึ่งถูกปลุกเร้าโดยเรื่องราวอันนั้น และในตอนจบได้ประสบกับการระบายอารมณ์ต่างๆเหล่านี้ในช่วงขณะที่เรียกว่า catharsis หรือ การปลดปล่อยอารมณ์ (emotional release)
บรรดาผู้ชมทั้งหลายเมื่อไปดูละคร พวกเขาจะมีประสบการณ์กับความรู้สึกต่างๆ และรู้สึกถึงภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของตัวละครทั้งหลาย โดยผ่านความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวละครเหล่านั้น พวกเขาสามารถเข้าใจสถานการณ์รุนแรงต่างๆ ซึ่งต่างไม่เคยมีประสบการณ์ในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ในฐานะคนดูที่ประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว และเนื่องด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเริ่มเข้าใจโลกที่อาศัยอยู่โดยตัวละครทั้งหลาย พวกเขาเข้าใจเกี่ยวกับมัน และความเข้าอกเข้าใจอันนี้ทำให้พวกเขาเติบโตและพัฒนาขึ้นในฐานะที่เป็นมนุษย์
ส่วนละครหัสนาฏกรรม ถือเป็นการปลดปล่อยหรือวาล์วควบคุมความปลอดภัย การจ้องดูหัสนาฏกรรมหรือละครตลก ยินยอมให้เราพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องต้องห้ามต่างๆทางสังคม(social taboos)และหัวข้อที่ถูกห้ามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทางเพศ
มีการถกเถียงกันในเรื่องบทบาทหน้าที่ของละครตลก ในฐานะที่เป็นวาล์วควบคุมความปลอดภัย ซึ่งมีลักษณะที่ก้าวหน้าหรือมีลักษณะที่เป็นไปในเชิงปฏิกริยาโต้ตอบกับสังคม ที่กล่าวว่ามันสามารถที่จะเป็นเรื่องของความก้าวหน้าได้ ก็เพราะมันสามารถช่วยในการเปลี่ยนแปลงสังคมและเกิดพัฒนาการขึ้น โดยการยกประเด็นปัญหาต่างๆขึ้นมาผ่านช่องทางการแสดงออกอันนี้ ซึ่งหาไม่แล้วก็จะไม่ถูกพูดถึงเลย แต่อย่างไรก็ตาม ละครตลกยังเป็นปฏิกริยาในเชิงลบได้ด้วย กล่าวคือ มันสามารถที่จะช่วยธำรงรักษาสภาพที่เป็นอยู่ทางสังคมที่เหลวแหลกเอาไว้ เพราะว่า เมื่อมันเป็นการปลดปล่อยทางอารมณ์และความตึงเครียดแล้ว จึงไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมที่ได้สร้างความตึงเครียดนั้นขึ้นมาอีก
แคมเบล กับแนวคิดเรื่องการค้นหาความเป็นพระเอก
ขณะที่ดูการแสดงต่างๆซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆภายนอก มันประกอบด้วยเรื่องราวทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ
อันที่จริง การจ้องมองการแสดงนั้น ยอมให้เราเดินเข้าไปสู่การเดินทางภายใน ในขณะที่เราจ้องดูเรื่องราวที่เสกสรรค์ขึ้นมา
เราได้ทิ้งปฏิบัติการต่างๆทางโลกเกี่ยวกับชีวิตประจำวันเอาไว้เบื้องหลัง เพื่อท่องเที่ยวลึกลงไปสู่หัวใจของเราเอง
ค้นพบความเชื่อต่างๆที่เป็นแกนของตัวเรา ความรู้สึกต่างๆ และความปรารถนาทั้งหลาย
คาร์ล จุง กับแนวคิดเรื่องการค้นหาแม่แบบและเงามืด
คนและพฤติกรรมที่เป็นแม่แบบต่างๆ ได้ถูกจารึกลงในบุคคลในปกรณัมโบราณ ซึ่งได้นำทางและสั่งสอนพวกเราให้กระทำการในหนทางบางอย่างอันเป็นอุดมคติ
วีรชนซึ่งได้ท่องไปจนประสบความสำเร็จโดยผ่านการทดสอบและความยากลำบากของเขา
คือแม่แบบที่ชัดเจนมากที่สุด สำหรับคาร์ล จุง เขาได้นำเสนอแม่แบบเอาไว้ 4 อย่างดังนี้คือ
1. กษัตริย์(king - อำนาจ),
2. นักรบ(warrior - ความกล้า),
3. ผู้วิเศษ(magician - ความรู้), และ
4. นักรัก(lover - ความรัก)
และคนที่ดูละคร ไปชมภาพยนตร์ หรือแม้แต่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ก็เพื่อค้นหาแม่แบบเหล่านี้
- เงามืดและภาพฉาย
แนวความคิดเกี่ยวกับเงามืด(shadow)ของ Jung สามารถถูกทำความเข้าใจได้ดีที่สุดในการเชื่อมโยงกับความคิดเกี่ยวกับภาพฉาย(projection).
ด้านที่เป็นเงามืดคือด้านที่เป็นความมืดดำของเรา เป็นด้านลบ มันรวมถึงแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับตัวของเราเอง
ซึ่งได้ถูกปฏิเสธและกดข่มเอาไว้ ที่มีอยู่เฉพาะในจิตไร้สำนึก และเรามีแนวโน้มที่จะฉายไปสู่คนอื่นในเชิงลบ
ภาพฉาย(projection)เป็นเรื่องของจิตไร้สำนึก มันคือกระบวนการอัตโนมัติที่เนื้อหาอันหนึ่งซึ่งไร้สำนึก ได้มีการส่งต่อจากตัวประธานไปสู่ตัวกรรม ด้วยเหตุดังนั้น มันจึงดูเหมือนเป็นตัวกรรม. บ่อยทีเดียว สังคมทั้งหลายได้ค้นหากลุ่มคนในสังคมตนเองต่างๆซึ่งเป็นแพะรับบาป. คนยิว, คนที่ไม่ใช่คนขาว, และพวกรักร่วมเพศ กลุ่มคนเหล่านี้ได้กลายเป็นประเด็นของการแบ่งแยกจากพวกคริสเตียน, สังคมของคนขาว, และสังคมที่รักเพศตรงข้าม(heterosexual). กลุ่มของสังคมที่เป็นรองเหล่านี้ได้ถูกนำไปผูกโยงกับรูปแบบพฤติกรรมที่ต่อต้านสังคม และเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมต่างๆ
Jung ได้เสนอเรื่องนี้ด้วยเหตุผลว่า
ผู้คนจะต้องตรวจสอบหรือค้นหาความมืดของพวกเขาเอง มากกว่าที่จะฉายฉานหรือป้ายมันลงไปในตัวของคนอื่น
และในความหมายนี้ พวกเขาได้ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการของการกลายเป็นจิตสำนึกของจิตไร้สำนึกของพวกเขาเอง
ผ่านการจ้องมอง การยอมรับ คล้อยตามและบูรณาการตัวตนที่เป็นเงามืดของเราได้
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเอง แทนที่จะฉายฉานไปยังคนอื่น ด้วยวิธีการนี้เราจึงสามารถปลดชนวนอันตรายของเราได้
คำอธิบายในเชิงสรุปเนื้อหา บทที่ 5
- การอ่าน และการวิเคราะห์วัฒนธรรมทางสายตา
ศัพท์คำว่า"อ่าน"(read) เป็นคำศัพท์ที่นำมาใช้อย่างหลวมๆในที่นี้
เพื่ออ้างถึงกระบวนการเกี่ยวกับการตีความหรือแปลความหมายทั้งหมด
ส่วนคำว่าวิเคราะห์นั้น หมายความถึง การแยกแยะเพื่อทำความเข้าใจเป็นส่วนๆ ซึ่งในที่นี้คือการแยกแยะโครงสร้างวัฒนธรรมทางสายตา ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆได้แก่ ส่วนของข้อมูล ส่วนของบริบท(เกี่ยวกับข้อมูล) และส่วนของผู้รับสาร ซึ่งจะได้มีการนำมาวิเคราะห์ทีละเรื่อง
ข้อมูล
เพื่อทำความเข้าใจในตัวข้อมูล เราต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการต่อไปนี้
ก. เบื้องหลังความรู้ข้อมูล(บริบทของการสร้าง) เราอาจเริ่มต้นโดยการสำรวจสิ่งที่เกี่ยวพันกับการสร้าง เช่น ใครเป็นคนสร้าง, ถ่ายทำ, หรือถ่ายภาพข้อมูลดังกล่าว, อะไรคือสิ่งที่พวกเขาคิด และอะไรคือสิ่งที่พวกเขากำลังทำ, พวกเขาพูดอะไรเกี่ยวกับมัน ? เป็นต้น นอกจากนี้ เราอาจพยายามสำรวจถึงเจตจำนงที่ไร้สำนึกของพวกเขาได้ด้วย โดยค้นหารายละเอียดส่วนตัวที่สำคัญต่างๆเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพวกเขา เผื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะให้ความสว่างเกี่ยวกับข้อมูลกับเราได้
เราสามารถมองไปที่เงื่อนไขต่างๆของการผลิตได้. อะไรที่ได้รับการตั้งเป้าหรือมุ่งหมายเอาไว้? อะไรคือข้อจำกัดต่างๆทางการเมืองและการเงินที่ถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้อง? ใครเป็นคนที่มีอำนาจในผลงาน? มันถูกสร้างขึ้นมาจากที่ไหน? ปัจจัยทางสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ มีอิทธิพลอย่างไรต่อข้อมูลนั้น? เงื่อนไขหรือปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทั้งหมด อาจมาทำหน้าที่กำหนดตัดสินผลลัพธ์ที่ออกมาของข้อมูลท้ายสุดได้
ข. ตัวข้อมูลเอง สิ่งที่เป็นสาระต่างๆในขั้นพื้นฐานก็คือ"ข้อมูลในตัวมันเอง" การวิเคราะห์ข้อมูล จะโฟกัสลงไปที่เนื้อหาข้อมูลเพียงลำพัง และกระบวนการข้อมูลที่นำมาใช้ - เช่น ภาษา, วิธีการที่มันถูกถ่ายภาพ, ชนิดของความเคลื่อนไหวของกล้องที่ถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้อง, และอื่นๆ
บริบทต่างๆ
ในการทำความเข้าใจบริบทต่างๆ ในที่นี้ได้แยกออกเป็นบริบทของสถานที่ และเวลาดังนี้
สถานที่ ทุกๆข้อมูลจะปรากฎตัวขึ้นมาในพื้นที่วัฒนธรรมทางสายตาที่เฉพาะ และในพื้นที่ทางสังคมที่กว้างขวางอันหนึ่ง อย่างเช่น การโฆษณาในนิตยสารจะปรากฎอยู่ในนิตยสารฉบับใดฉบับหนึ่งโดยเฉพาะ และถูกขายในร้านใดร้านหนึ่งโดยเฉพาะ ในแหล่งที่มีลักษณะเฉพาะแหล่งหนึ่ง - หมู่บ้าน, เมือง, นคร และอื่นๆ
รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งปรากฎตัวขึ้นมาที่ช่องสัญญานโทรทัศน์ช่องหนึ่ง และได้ถูกดูในห้องๆหนึ่งโดยเฉพาะ - เช่น ห้องนอน, ห้องในโรงแรม, ห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น, ห้องบรรยาย, และอื่นๆ - ทั้งหมดนี้คือแหล่งที่ตั้งต่างๆทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละที่
พื้นที่ที่แตกต่างกันเหล่านี้สามารถที่จะมีอิทธิพลต่อความหมายของข้อมูลหรือเนื้อหาได้: ขึ้นอยู่กับโฆษณาที่มีลักษณะเฉพาะอันนั้น ได้ปรากฏตัวขึ้นมาในนิตยสารสำหรับสาวรุ่น หรือ นิตยสารภาพโป๊เปลือยของผู้ชาย อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ละที่ที่มันปรากฎตัว จะมีนัยะที่แตกต่างของการอ่านและมีประเด็นทางสังคมที่แตกต่าง มันจะเป็นตัวแทนความหมายที่ต่างออกไป
เวลา นับเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการสังเกตถึงช่วงเวลาของวัน ซึ่งผู้คนทั้งหลายผูกพันอยู่กับข้อมูลทางสายตา เพราะข้อมูลวัฒนธรรมทางสายตาเป็นจำนวนมาก ได้รับการผลิตขึ้นเพื่อให้เหมาะกับช่วงเวลาบางอย่างของวันโดยเฉพาะ และมันถูกบริโภคหรือตีความร่วมกับเวลาเหล่านี้
ผู้รับสาร
การวิจัยผู้รับสารและทฤษฎีที่เกี่ยวเนื่อง
สำหรับการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจแยกแยะผู้รับสารหรือผู้อ่านออกเป็น 3 ประเภทคือ
- preferred reading (การอ่านแบบชื่นชอบ) ผู้อ่านทั้งหลายยอมรับสิ่งที่กำลังถูกนำเสนอโดยปราศจากคำถาม
- negotiated reading (การอ่านแบบต่อรอง) - ผู้รับสารยอมรับบางอย่างที่กำลังนำเสนอ
- alternative / oppositional reading (การอ่านแบบทางเลือก / ทางตรงข้าม) ผู้รับสารอ่านแบบสวนทางอย่างสมบูรณ์กับการอ่านแบบชื่นชอบ
เครื่องมือ / การอ่าน
/ และการค้นหาความหมายเป็นอย่างไร ?
การจะอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลวัฒนธรรมทางสายตา ตัวข้อมูล, บริบท, รวมถึงผู้รับสารเองเป็นสิ่งสำคัญที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึง
เพราะความหมายสื่อเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับข้อมูล, ขึ้นอยู่กับบริบท และผู้รับสารนั้น
แน่นอนอันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆในการที่จะเข้าใจภาพให้ลึกลงไปกว่าผิวหน้าที่ปรากฏกับสายตาเรา
สำหรับการอ่านและการวิเคราะห์ข้อมูลวัฒนธรรมทางสายตาที่สำคัญลำดับต่อมา เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ ซึ่งผู้รับสารจำเป็นต้องใช้เป็นอุปกรณ์การอ่านภาพ เพื่อให้รู้และเข้าใจสาร(message)ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเอา"หลักสัญศาสตร์"(semiotics) และ Crash Theory มาใช้ดังนี้
- หลักสัญศาสตร์
สัญศาสตร์(Semiology)ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายของคริสตศตวรรษที่ 19 ในฐานะที่เป็นเครื่องมือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษา
ผู้ที่สร้างศาสตร์นี้ขึ้นมาคือ Ferdinand de Saussure และนับจากทศวรรษที่ 1930s
เป็นต้นมา สัญศาสตร์ได้รับการพัฒนาโดย C.S.Peirce และนักวิชาการคนอื่นๆ โดยเฉพาะ
Peirce พยายามแสวงหาเพื่อทำความเข้าใจระบบเครื่องหมายที่ไม่ใช่ภาษา(non-language
sign systems)
เครื่องหมาย (sign)
เครื่องหมายต่างๆทำงานบนพื้นฐานที่ว่า
มันทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือยืนยันถึงบางสิ่งบางอย่าง - เช่น ความหมาย(meaning),
แนวความคิด(concept), หรือไอเดีย(idea) ในสิ่งซึ่งมันอ้างอิงถึง ทุกๆเครื่องหมายมันจะประกอบด้วย
Signifier และ Signified
สำหรับ Signifier คือ"รูปสัญญะ" หรือรูปแบบอะไรก็ตามที่ถูกนำมาใช้เพื่อถ่ายทอดความหมาย เช่น ตัวหนังสือ, ภาพ, เสียง, และอื่นๆ. ส่วน Signified คือ"ความหมายสัญญะ" หรือแนวความคิด(concept) ที่ภาพ เสียง หรือตัวหนังสือสื่อออกมา
Sign ------------ Signifier + Signified
เครื่องหมายมีองค์ประกอบของ"รูปสัญญะ" และ"ความหมายสัญญะ" นอกจากนี้ เครื่องหมายยังสื่อสารโดยผ่านความหมายตรง(denotation) และความหมายแฝง(connotation) ทั้งนี้เพราะเครื่องหมายทั้งหลายนั้น มันทำงานอยู่ด้วยกัน 2 ระดับของความหมาย: นั่นคือ ระดับแรกเป็นเรื่องของ"ความหมายตรง" (denotation) และระดับที่สองคือ"ความหมายแฝง"(connotation)
Denotation(ความหมายตรง) ในการพิจารณาถึงสิ่งที่ตัวหนังสือหรือตัวภาพสื่ออกมาตรงๆ เราจะต้องวิเคราะห์มันในระดับของการอธิบายหรือพรรณา(descriptive level)โดยเฉพาะ โดยไม่ต้องค้นลงไปถึงสิ่งที่มันอาจแสดงนัยะ
Connotation(ความหมายแฝง) หลักสัญศาสตร์(semiology)เสนอว่า เครื่องหมายทั้งหมดมันจะพ่วงเอาการสื่อความหมายแฝงมาด้วยกันกับมันชุดหนึ่ง นั่นคือ เครื่องหมายจะเตือนผู้ดูทั้งหลายถึงความรู้สึก, ความเชื่อ, หรือความคิดบางอย่าง ที่มันติดมากับ signifier (รูปสัญญะ) อันนี้เป็นหน้าที่ของผู้รับสารเมื่อต้องการวิเคราะห์ภาพต่างๆโดยวิถีทางของสัญศาสตร์ โดยการถามถึงความเป็นไปได้ต่างๆทั้งหมดของความหมายแฝง
- ภาพ, ดัชนี, และเครื่องหมายสัญลักษณ์ (Icon, index, symbol)
เครื่องหมายที่เป็นภาพ(Iconic
signs) คือเครื่องหมายที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่มันบ่งถึง.
ภาพถ่ายหรือภาพยนตร์ จัดอยู่ในจำพวก icon เพราะว่า ภาพดังกล่าวแท้จริงแล้วมันดูเหมือนกับสิ่งที่มันอ้างอิงถึงนั่นเอง
เครื่องหมายดัชนี(indexical
signs) คือเครื่องหมายที่ชี้บ่งหรือชี้ถึงบางสิ่งบางอย่างอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น การที่เราเห็นควันก็รู้ได้ว่ามีไฟ เป็นต้น. เทอร์โมมิเตอร์,
มิเตอร์วัดความเร็ว, นาฬิกาอนาล็อค, หรือกราฟ คือตัวอย่างต่างๆที่เกี่ยวกับข้องกับดัชนี(indexes)
เพราะมันเป็นตัวชี้บ่งชี้ถึง อุณหภูมิ, ความเร็ว, เวลา,นั่นเอง
เครื่องหมายสัญลักษณ์(symbolic signs) คือเครื่องหมายที่แสดงถึงบางสิ่งบางอย่าง แต่มันไม่ได้คล้ายคลึงกับสิ่งที่มันบ่งชี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือภาษา ซึ่งได้ใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ตัวอักษร คำต่างๆ เพื่อแสดงถึงสิ่งที่ได้รับการอธิบายหรือระบุถึง. ในทำนองเดียวกัน เครื่องหมายจราจรและเครื่องหมายทางด้านคณิตศาสตร์ ปกติแล้ว มันคือสัญลักษณ์ ประเด็นที่สำคัญในที่นี้คือว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกันระหว่างเครื่องหมายกับสัญลักษณ์
- CRASH Theory
วิธีการวิเคราะห์ที่มีประโยชน์อีกอันหนึ่งซึ่งนำมาใช้ในการอ่านภาพก็คือ ทฤษฎี
CRASH ซึ่งเป็นคำย่อมาจากคำว่า
class
/ race / age / sex / handicap
ชนชั้น / เชื้อชาติ / อายุ / เพศ / ความพร่อง
เมื่อไรก็ตามที่เราพบเห็นภาพต่างๆที่ปรากฏบนสื่อ หลักการข้างต้นนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการอ่านได้ เช่น การวิเคราะห์ถึงชนชั้น, เชื้อชาติ, อายุ, เพศ, และความอ่อนด้อยของผู้คนที่ปรากฏบนสื่อ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจสื่อมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอคติ บรรทัดฐาน หรือรวมไปถึงมายาคติต่างๆของสาร(message)ที่ส่งถึงผู้ดู
-
การอ่านเพื่อค้นหามายาคติ / Barthes
สำหรับคำว่ามายาคติหรือ Mythology เป็นคำผสมระหว่าง myth + logos ความหมายรวมๆของคำนี้
หมายถึง คติความเชื่อหรือทัศนคติที่เป็นมายาหรือไม่จริงนั่นเอง เป็นเพียงภาพลวงที่สร้างขึ้น
แล้วทำให้มันดูน่าเชื่อถือ เป็นอุดมคติ และเป็นที่ยอมรับ
Roland Barthes ปัญญาชนคนสำคัญชาวฝรั่งเศสสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้นำคำนี้มาตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเขาคือ Mythologies ในหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวพันกับการวิจารณ์การเมือง วัฒนธรรมร่วมสมัย และสังคมในช่วงทศวรรษที่ 1950s
สิ่งสำคัญในหนังสือเรื่อง Mythologies ของ Barthes เขาเสนอให้มองสังคมวัฒนธรรมแวดล้อมด้วยสายตาที่ตั้งคำถาม หลายต่อหลายครั้ง Barthes อ้างว่า เขาต้องการท้าทายความไร้เดียงสาและ"ความเป็นธรรมชาติ"ของข้อมูล และปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่ปรากฏตัวอยู่ในเวลานั้น และการใช้สายตาในลักษณะตั้งคำถาม เขาเสนอให้เรามองให้ลึกลงไปกว่าภาพที่ปรากฏอยู่บนผิวหน้าเพื่อค้นหามายาคติที่แฝงเร้นอยู่
การมองภาพที่ปรากฏให้ลึกลงไปกว่าผิวหน้าดังที่ Barthes เสนอนั้นก็คือการอ่านภาพนั่นเอง ซึ่งเขาได้นำเอาวิธีการทางภาษาศาสตร์ของ Saussure มาประยุกต์ใช้ด้วยวิธีการของเขาเอง และเพิ่มเติมมันให้สามารถเข้าใจความหมายแฝงที่ปะปนอยู่ในวัฒนธรรมทางสายตาต่างๆ
First-order
signification และ Second-order signification
(ดูภาพประกอบท้ายบทความ)
ในเรื่อง `Le Mythe aujourd'hui' นั้น, Barthes พยายามที่จะนิยามมายาคติ โดยการอ้างอิงถึงทฤษฎีเกี่ยวกับระบบเครื่องหมายระดับที่สอง สิ่งที่มายาคติกระทำ คือหยิบยืมเครื่องหมายในชั้นแรกมา(first-order sign) และใช้มันในฐานะเป็นแท่นฐานสำหรับ signifier ของมันเอง ในลำดับต่อมาได้นำเสนอ signified ของมันเอง ดังนั้นจึงเป็นการสร้างเครื่องหมายใหม่อีกอันหนึ่งขึ้น
เครื่องหมายในระดับแรก(first-order sign) เป็นเรื่องของความหมายตรง(denotation); ส่วนเครื่องหมายในระดับที่สอง(second-order sign) เป็นเรื่องของความหมายแฝง(connotation) และด้วยเหตุดังนั้น มันจึงเป็นมายาคติ
เพื่อนำเสนออย่างหยาบๆ บทเรียนที่สำคัญของ `Le Mythe aujourd'hui' ก็คือว่า วัตถุและเหตุการณ์ต่างๆมักจะบ่งถึงอะไรที่มากกว่าตัวของพวกมันเองเสมอ พวกมันมักจะถูกจับให้ไปเกี่ยวพันกับระบบต่างๆของการเป็นตัวแทน ซึ่งได้เพิ่มเติมความหมายให้กับพวกมัน
ภาพประกอบนี้นำมาจากผลงานของอันธิฌา
แสงชัย ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง
"ความหมายของศิลปะและคุณค่าเชิงสุนทรียะในศิลปะสกุลหลังสมัยใหม่"
- (สำหรับรายละเอียดเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดูเพิ่มเติมในบทความเรื่อง Roland Barthes กับวัฒนธรรมมวลชน : มายาคติ และ วัฒนธรรมสังคมร่วมสมัย) (click)
- (สำหรับผู้สนใจในรายละเอียดแต่ละเรื่อง สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ใน"สารานุกรมหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง" ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่หมวดอักษร V คำว่า visual culture และหมวดอักษร M เรื่อง media, mythology) (click)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
หนึ่งในลักษณะต่างๆที่เป็นตัวกำหนดยุคสมัยใหม่คือ
ประสบการณ์เกี่ยวกับ"ลัทธิอาณานิคม"และ"ระบบทาส" ความพยายามต่างๆเกี่ยวกับการตั้งรกรากจนกระทั่งถึงในช่วงปี
ค.ศ.1914 นั้น ประมาณกันว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของโลก ได้ถูกครอบครองและกลายเป็นอาณานิคมไป
การแผ่ขยายของยุโรปมีลักษณะเด่นคือการค้าทาสแอตแลนติค ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูนับจากคริสตศตวรรษที่
17-19
พลังอำนาจต่างๆของอาณานิคมมักจะได้รับการอ้างว่า บทบาทของมันนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่อักษรย่อว่า
C3 (CCC สามตัวด้วยกัน) ซึ่งอักษรย่อนี้ ได้รับพูดขึ้นมาโดยมิชชั่นนารีหรือนักสอนศาสนาในต่างประเทศ
David Livingstone: นั่นคือ Commerce, Christianity และ Civilization [การพาณิชย์,
คริสต์ศาสนา, และ อารยธรรม]