นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

การเมืองเรื่องประชาธิปไตยรากหญ้า
เวทีสังคมโลกครั้งที่ ๑ : อเมริกันหายไปไหน
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : แปล:
นักวิชาการอิสระ

บทความเพื่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ
การประชุมเวทีสังคมโลกครั้งที่ ๑


หมายเหตุ
บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่โดยคุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์
ผู้แปลหนังสือเรื่อง รั้วกับหน้าต่าง เขียนโดย นาโอมี ไคลน์
เรื่องราวของการต่อสู้ของประชาชนทั่วโลกกับอำนาจทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ในยุคโลกาภิวัตน์
ภาคห้า
หน้าต่างสู่ประชาธิปไตย
ที่ซึ่งแสงแห่งความหวังเรืองรอง ปรากฏอยู่ในการเมืองที่มุ่งกระจายอำนาจอย่างถอนรากถอนโคน
ตามเทือกเขาในแคว้นเชียปาส และย่านชุมชนเมืองแออัดในประเทศอิตาลี
สร้างประชาธิปไตยให้กับขบวนการ
เมื่อนักเคลื่อนไหวชุมนุมกันที่เวทีสังคมโลกครั้งที่หนึ่ง
ไม่มีกำหนดการใดสามารถรองรับความหลากหลายทั้งหมดได้

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 722
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)





หน้าต่างสู่ประชาธิปไตย
มีนาคม 2544
"เราอยู่ร่วมกันที่นี่เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า อีกโลกหนึ่งนั้นเป็นไปได้!" สุภาพบุรุษบนเวทีกล่าว ในขณะที่ฝูงชนนับหมื่นคนต่างโห่ร้องขานรับ พวกเราไม่ได้โห่ร้องให้กับโลกแบบใดแบบหนึ่ง หากแต่โห่ร้องให้กับความเป็นไปได้ พวกเรากำลังโห่ร้องให้กับแนวคิดที่ว่า อีกโลกหนึ่งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ แม้ในทางทฤษฎีก็ตาม

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริหารบรรษัทและผู้นำโลกจำนวนน้อยพบปะกันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม บนยอดเขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อปฏิบัติภารกิจที่คิดว่ามีเพียงพวกตนเท่านั้นที่ทำได้ นั่นคือการกำหนดว่าจะบริหารระบบเศรษฐกิจโลกอย่างไร พวกเรากำลังโห่ร้องให้กับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมนี้ และการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่เวทีเศรษฐกิจโลกที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่เป็นการประชุมเวทีสังคมโลกประจำปีครั้งที่หนึ่งที่กรุงปอร์โต อัลเลเกร ประเทศบราซิล และแม้ว่าพวกเราไม่ใช่ผู้บริหารของบรรษัท หรือไม่ได้เป็นผู้นำโลก พวกเราก็จะใช้ช่วงเวลาในสัปดาห์นี้เพื่อพูดคุยว่า จะบริหารระบบเศรษฐกิจโลกอย่างไร

หลายคนบอกว่า พวกเรากำลังสร้างประวัติศาสตร์ในห้องแห่งนี้ แต่สิ่งที่ดิฉันรู้สึกกลับมีความเป็นนามธรรมมากกว่านั้น กล่าวคือเป็นความรู้สึกถึงการยุติลงของ "จุดสิ้นสุดแห่งประวัติศาสตร์" (นายฟรานซิส ฟูกูยามา เขียนหนังสือ The End of History "จุดสิ้นสุดแห่งประวัติศาสตร์" เพื่อชี้ว่าการพังทะลายของกำแพงเบอร์ลินเป็นสัญญาณบ่งถึงจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์อื่น นอกจากระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

หนังสือเล่มนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างมากในฝ่ายที่สนับสนุนระบอบทุนนิยมเสรีนิยม แต่ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากในฝ่ายที่สนับสนุนทางเลือกอื่น) และคำขวัญอย่างเป็นทางการของการประชุมครั้งนี้ที่ว่า "อีกโลกหนึ่งนั้นเป็นไปได้" ก็เหมาะสมอย่างยิ่ง หลังจากที่เราได้เห็นการประท้วงต่อต้านองค์การค้าโลก ธนาคารโลก และ IMF มาเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง เวทีสังคมโลกจึงถือว่าเป็นโอกาสที่กลุ่มเคลื่อนไหวเกิดใหม่เหล่านี้จะหยุดโห่ร้องต่อต้านสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วย และเริ่มคิดอย่างลึกซึ้งถึงสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องให้มีขึ้นแทน

ถ้าการประท้วงที่ซีแอตเติลสำหรับหลายคนหมายถึง งานสังสรรค์เพื่อเปิดตัวขบวนการต่อต้าน ในทำนองเดียวกัน "การชุมนุมที่ปอร์โต อัลเลเกรก็ถือได้ว่าเป็นงานสังสรรค์ เพื่อเปิดตัวกลุ่มขบวนการที่ครุ่นคิดอย่างจริงจังถึงทางเลือก"

ทั้งนี้ตามความเห็นของนายซอเรน อัมโบรส นักวิเคราะห์ด้านนโยบายแห่งองค์กร 50 Years Is Enough จุดเน้นของการชุมนุมครั้งนี้คือ"ทางเลือก" ซึ่งนำเสนอจากประสบการณ์ของนานาประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจากโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็นการอพยพโยกย้ายของประชากรจำนวนมาก ช่องว่างของความร่ำรวยที่กว้างออกไปเรื่อย ๆ อำนาจทางการเมืองที่อ่อนแอลง

พวกเขาเลือกมาประชุมกันที่เมืองปอร์โต อัลเลเกร เพราะเป็นเมืองที่พรรคกรรมกรแห่งประเทศบราซิล (Partido dos Trabalhadores: PT) ครองอำนาจอยู่ รวมทั้งพวกเขายังมีฐานเสียงสำคัญในแคว้น Rio Grande do Sul การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยเครือข่ายสหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งประเทศบราซิล แต่พรรค PT เป็นผู้ให้ความสนับสนุนด้านสถานที่และอุปกรณ์ในการประชุมอย่างดีเยี่ยมที่มหาวิทยาลัยคาธอลิกแห่งกรุงปอร์โต อัลเลเกร และเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนผู้บรรยายระดับแนวหน้า

การได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลที่ก้าวหน้า นับเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มักคุ้นเคยกับการเผชิญหน้ากับสเปรย์พริกไทย การตรวจค้นร่างกายอย่างละเอียดตามชายแดน และการประกาศพื้นที่ห้ามไม่ให้มีการประท้วง. ที่กรุงปอร์โต อัลเลเกร นักเคลื่อนไหวได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนที่ดูเป็นมิตร พร้อมกับมีป้ายแสดงชื่ออย่างเป็นทางการจากกระทรวงการท่องเที่ยว

แม้ว่าการประชุมจะจัดขึ้นโดยกลุ่มในท้องถิ่น แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการริเริ่มของกลุ่ม ATTAC ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรของสหภาพแรงงาน เกษตรกร และปัญญาชน ซึ่งกลายเป็นขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่มีเครือข่ายกว้างขวางทั้งในยุโรปและสแกนดิเนเวีย (ATTAC ย่อมาจาก "สมาคมเพื่อการเก็บภาษีธุรกรรมการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชน" Association for Taxation of Financial Transactions for the Aid of Citizens ซึ่งเป็นตัวย่อที่ไม่ค่อยตรงกับภาษาอังกฤษเท่าใดนัก) องค์กรแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 โดยนายเบอร์นาร์ด คัสเซนและนางซูซาน จอร์จ ซึ่งเป็นนักเขียนของนิตยสารรายเดือนแนวสังคมนิยม Le Monde Diplomatique

ATTAC เริ่มต้นจากการรณรงค์เพื่อให้มีการบังคับใช้ภาษีโทบิน ซึ่งเป็นข้อเสนอของนายเจมส์ โทบิน ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบล ที่เสนอให้เก็บภาษีธุรกรรมการเงินเพื่อการเก็งกำไรทุกชนิด ขบวนการนี้สะท้อนถึงรากเหง้าความเป็นปัญญาชนแนวมาร์กซิสต์ และพวกเขาแสดงความอึดอัดใจต่อขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านบรรษัทในอเมริกาเหนือ ซึ่งมีจุดเน้นไม่ชัดเจน "ความล้มเหลวของเหตุการณ์ซีแอตเติลคือ การไม่สามารถบรรลุซึ่งวาระอันเป็นหนึ่งเดียวได้ กล่าวคือการเป็นขบวนการพันธมิตรระดับโลกที่ต่อสู้ต้านทานโลกาภิวัตน์ในระดับโลก" คริสโตฟี อกีตองแห่งกลุ่ม ATTAC ซึ่งเป็นผู้ช่วยจัดเวทีสังคมโลกกล่าว

นี้เป็นเหตุให้ต้องมีการจัดเวทีสังคมโลกขึ้น ATTAC เห็นว่าการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะนำนักคิดที่ดีที่สุดมาชุมนุมร่วมกัน เพื่อหาทางออกจากนโยบายเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ระบบภาษีอย่างใหม่ แต่หมายรวมถึงตั้งแต่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม ไปจนถึงการผลิตในรูปแบบสหกรณ์ และสื่อสารมวลชนที่เป็นอิสระ จากกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารนี้เอง ATTAC เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถบรรลุซึ่ง "วาระร่วม" ได้

ผลลัพธ์ของการชุมนุมมีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยทั้งความสับสนและความสามัคคี ความแบ่งแยกและเอกภาพ ที่กรุงปอร์โต อัลเลเกร กลุ่มพันธมิตรของมวลชนฝ่ายต่าง ๆ ที่มักถูกตราหน้าว่าเป็นพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ได้ร่วมกันสร้างภาพของขบวนการใหม่ว่าเป็น"ขบวนการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย" และโดยผ่านกระบวนการนี้เอง พวกเขาถูกบีบให้ต้องเผชิญหน้ากับความอ่อนแอ อันเป็นผลมาจากความเป็นประชาธิปไตยภายในขบวนการ และเป็นเหตุให้เกิดโจทย์ยาก ๆ อย่างเช่น กระบวนการตัดสินใจควรเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่เกิดขึ้นสำหรับเวทีสังคมโลกเอง และที่สำคัญกว่านั้น เป็นคำถามสำหรับการวางแผนที่มีความสำคัญอย่างมากในการประชุมรอบต่อไปของการเจรจาองค์การค้าโลกและการเจรจาเขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา

สิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่งคือ ผู้จัดการประชุมไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีคนมาเข้าร่วมในการประชุมดาวอสสำหรับนักเคลื่อนไหวครั้งนี้มากเท่าไร อติลา โรเก้ ผู้ประสานงานขององค์การ IBase ซึ่งเป็นสถาบันด้านนโยบายแห่งประเทศบราซิล และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดการประชุมได้อธิบายว่า เมื่อหลายเดือนก่อนหน้านั้น พวกเขาคิดว่าจะจัดการประชุมที่มีคนมาร่วมประมาณ 2,000 คน

แต่ทันใดนั้นเอง การประชุมครั้งนี้กลับเป็นที่ชุมนุมของคนหลายหมื่นคน และมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ หลายพันกลุ่มจากทั้งหมด 120 ประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เองก็ไม่รู้ว่า พวกเขาจะต้องเจอกับการประชุมแบบใด จะเป็นการประชุมแบบองค์การสหประชาชาติ หรือเป็นการอบรมขนาดยักษ์ หรือเป็นการชุมนุมด้านการเมืองของนักเคลื่อนไหว หรือเป็นงานสังสรรค์อย่างหนึ่ง

ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นความผสมผสานกันอย่างน่าประหลาดของสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ตลอดจนสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงพิธีเปิด ซึ่งมีส่วนละม้ายกับการแสดงที่เราเห็นในเมืองเวกัสไม่น้อย วันแรกของการประชุม ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์จบลง พวกเราได้โห่ร้องให้กับการยุติลงของ "จุดสิ้นสุดแห่งประวัติศาสตร์" ไฟในห้องประชุมดับลง และมีการฉายภาพความยากจนของสลัมในกรุงรีโอบนจอภาพขนาดยักษ์สองจอ

นักเต้นเดินแถวออกมาบนเวที ศีรษะของพวกเขาค้อมลงด้วยความละอาย ฝีเท้าเดินกระย่องกระแย่ง อย่างช้า ๆ ภาพบนจอเปลี่ยนเป็นภาพที่มีความหวังมากขึ้น และนักแสดงบนเวทีเริ่มวิ่ง กวัดแกว่งเครื่องมือที่สร้างพลังให้กับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นค้อน เลื่อย อิฐ ขวาน หนังสือ ปากกา แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ และกำปั้นที่ชูขึ้นมา ในฉากสุดท้าย เป็นภาพผู้หญิงตั้งครรภ์ที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเขาบอกพวกเราว่า เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับโลกใหม่

สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากที่สุด ไม่ใช่แค่การเต้นแบบสังคมนิยมในอุดมคติ ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏบนเวทีอีกเลยนับตั้งแต่ยุคของ Works Progress Administration(1) ในช่วงทศวรรษ 1930 หากเป็นการแสดงที่มีคุณค่าอย่างมืออาชีพ ระบบเสียงสมบูรณ์แบบ ระบบแสงอย่างมืออาชีพ และมีการแปลพร้อมกับการบรรยายเป็นสี่ภาษาทางหูฟัง พวกเราหลายหมื่นคนได้รับแจกถุงเล็ก ๆ ซึ่งมีเมล็ดพันธุ์บรรจุอยู่ภายใน เพื่อนำกลับไปเพาะที่บ้าน พิธีเปิดครั้งนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่าง ลัทธิสัจจนิยมแนวสังคมนิยมกับการแสดงในแนวละครเพลง Cats จริง ๆ
(1) Works Progress Administration เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในระหว่างปีค.ศ. 1935-1943 เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ เพื่อสร้างงานให้กับผู้ไม่มีงานทำในยุคเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง โดยรวมไปถึงโครงการส่งเสริมด้านศิลปกรรมและการแสดงขนานใหญ่ทั่วประเทศด้วย

เวทีแห่งนี้ประกอบด้วยสิ่งที่คู่ขนานกันหลายประการ ระหว่างแนวคิดใต้ดินและวัฒนธรรมคลั่งไคล้ดาราของประเทศบราซิล ภาพนักการเมืองท้องถิ่นไว้หนวดเดินคู่มากับภรรยาในชุดเปลือยหลังสีขาวหรูหรา เคียงข้างกับประธานขบวนการชาวนาไร้ที่ดินแห่งประเทศบราซิล ซึ่งมีชื่อเสียงในการทำลายรั้วและจับจองพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

สตรีชรานางหนึ่งจากกลุ่ม Mothers of the Plaza de Mayo แห่งประเทศอาร์เจนตินามาชุมนุมพร้อมกับโพกผ้าสีขาวบนศีรษะ ซึ่งปักชื่อของลูกที่สูญหายไป (ประชาชนจำนวนมากสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ในช่วงการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในหลายประเทศในละตินอเมริกา) เธอนั่งข้างนักฟุตบอลชาวบราซิลผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นที่รักของมวลชน การปรากฏกายของเขาเป็นเหตุให้แม้แต่นักการเมืองผู้เย็นชา ลงทุนฉีกเสื้อผ้าตัวเองเป็นชิ้น ๆ เพื่อขอลายเซ็น ส่วนโจเซ่ โบเว่ก็ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้โดยไม่มีองครักษ์คุ้มกัน เพื่อไม่ให้พวกช่างภาพอิสระที่คอยถ่ายรูปดาราเพื่อขายให้กับนิตยสารและหนังสือพิมพ์เข้าใกล้

ในทุกค่ำคืน การประชุมจะยุติลงด้วยการแสดงในหอประชุมกลางแจ้ง ซึ่งมีนักดนตรีจากทั่วโลกมาแสดง รวมถึง The Cuarteto Patria หนึ่งในวงดนตรีจากประเทศคิวบา ซึ่งมีชื่อเสียงเนื่องมาจากสารคดีเรื่อง The Buena Vista Social Club ของนายวิม เวนเดอร์ อะไรที่มาจากคิวบาเป็นเรื่องที่ทุกคนที่นี่ชื่นชมทั้งนั้น แค่ผู้บรรยายเอื้อนเอ่ยถึงประเทศเกาะแห่งนี้ ทั้งห้องก็แทบแตกทลายด้วยเสียงโห่ร้องว่า "คิวบา! คิวบา! คิวบา!" การตะโกนโห่ร้องก็นิยมทำกันมากเช่นกัน ไม่เฉพาะสำหรับประเทศคิวบา แต่ยังสำหรับประธานกิตติมศักดิ์แห่งพรรคกรรมกร นายหลุยส์ อินนาซีโอ "ลูลา" ดา ซิลวา ("ลูลา-ลูลา") ส่วนโจเซ่ โบเว่ก็ได้รับเสียงโห่ร้องที่มีเอกลักษณ์อย่าง "โอเล่ โอเล่ โบเว่ โบเว่" ซึ่งขับขานออกมาราวกับเสียงเชียร์ในสนามฟุตบอล

สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้รับความนิยมนักในเวทีสังคมโลกเห็นจะได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกวันมีการประท้วงต่อต้านโครงการ Plan Colombia ซึ่งเป็นแผนการสร้าง "กำแพงมรณะ" ที่กั้นระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก รวมทั้งการประท้วงต่อคำประกาศของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุชที่ว่า รัฐบาลใหม่ของเขาจะชะลอการให้ทุนช่วยเหลือต่อกลุ่มต่าง ๆ ที่ให้ข้อมูลสนับสนุนการทำแท้ง

ในห้องประชุมและห้องบรรยาย มีการพูดกันมากมายถึงจักรวรรดินิยมอเมริกัน และความเป็นทรราชของภาษาอังกฤษ แต่พลเมืองอเมริกันจริง ๆ กลับมากันน้อยมากจนผิดสังเกต สหภาพแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา (AFL-CIO) แทบไม่มีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้เลย (นายจอห์น สวินนี ประธานของสหภาพแรงงานกำลังประชุมอยู่ที่กรุงดาวอส) และไม่มีตัวแทนจากองค์กรแห่งชาติเพื่อสตรี (The National Organization for Women) เลย แม้แต่นอม ชอมสกีซึ่งกล่าวว่า เวทีแห่งนี้ "เป็นโอกาสที่สำคัญอย่างมากในการชุมนุมของกลุ่มพลังมวลชน" ได้แต่แสดงความเสียใจว่าไม่สามารถมาร่วมชุมนุมได้ กลุ่ม Public Citizen ส่งผู้มาร่วมชุมนุมสองคนที่กรุงปอร์โต อัลเลเกร แต่ลอรี วัลลัช ซึ่งเป็นดาราของพวกเขากลับไปประชุมที่กรุงดาวอส
[การประชุมเวทีสังคมโลกครั้งที่สองในเดือนมกราคม 2545 มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งชอมสกีและวัลลัชได้มาเข้าร่วมการชุมนุม พร้อมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวจากสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก]

"พวกอเมริกันไปไหนกันหมด" ผู้คนต่างร้องถาม ในขณะที่รอเข้าคิวรับกาแฟหรือใช้บริการอินเตอร์เน็ต มีหลายทฤษฎีด้วยกัน บางคนตำหนิว่าเป็นผลงานของสื่อ กล่าวคือ สื่อมวลชนจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้ลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เลย ในบรรดาผู้สื่อข่าว 1,500 คนที่ลงทะเบียน มีอยู่ประมาณ 10 คนที่เป็นชาวอเมริกัน และมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักข่าวของศูนย์สื่ออิสระ (Independent Media Center)

บางคนตำหนิว่าเป็นผลงานของนายบุช เวทีชุมนุมครั้งนี้จัดขึ้นหนึ่งสัปดาห์ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งหมายความว่านักเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ง่วนอยู่กับการประท้วงผลการเลือกตั้งที่เหมือนถูกปล้น และทำให้ไม่ได้คิดถึงการเดินทางมาประเทศบราซิล บางคนตำหนิว่าเป็นผลงานของพวกฝรั่งเศส เหตุที่กลุ่มต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาไม่ทราบข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติคือองค์กร ATTAC ของฝรั่งเศส ซึ่งนายคริสโตฟี อกีตอง เองก็ยอมรับว่า จำเป็นจะต้อง "มีความเชื่อมโยงกับโลกแองโกล-แซ็กซันมากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ตำหนิชาวอเมริกันเอง "ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้สะท้อนถึงความคับแคบด้านความคิดในสหรัฐอเมริกา" นายปีเตอร์ มาร์คูส ศาสตราจารย์ด้านการวางผังเมืองแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และวิทยากรของเวทีนี้กล่าว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกัน ถ้าการประชุมไม่ได้จัดในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการประชุม ไม่ได้จัดขึ้นโดยกลุ่มจากอเมริกา พวกเขาก็ไม่เห็นว่ามันมีความสำคัญ ไม่ต้องไปพูดถึงว่ามันเป็นแค่ภาคสองต่อจาก สมรภูมิอันเกรียงไกรในกรุงซีแอตเติลเท่านั้นเอง

เมื่อปีที่แล้ว นายโธมัส ฟรีดแมน คอลัมนิสต์แห่งหนังสือพิมพ์ New York Times เขียนจากที่ประชุมในกรุงดาวอสว่า "ทุกปีในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก พวกเขามักจะมีประเด็นหรือดาราที่โดดเด่นออกมา" ไม่ว่าจะเป็นดอทคอม วิกฤตเอเชีย เป็นต้น แต่ตามข้อเขียนของนายฟรีดแมน เมื่อปีที่แล้ว ดาราในที่ประชุมของกรุงดาวอสคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงซีแอตเติล ส่วนการประชุมที่ปอร์โต อัลเลเกรก็มีดาราด้วยเหมือนกัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่านั่นคือ ประชาธิปไตย แล้วเกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยล่ะ เราจะได้ประชาธิปไตยคืนมาอย่างไร ทำไมในการประชุมครั้งนี้ เราไม่พูดถึงประเด็นดังกล่าวมากกว่านี้อีก

ในที่ประชุมสัมมนาและคณะผู้บรรยาย พวกเขาได้นิยามโลกาภิวัตน์ว่า เป็นการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งและภูมิปัญญาขนานใหญ่จากภาคสาธารณะสู่ภาคเอกชน โดยผ่านการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตและเมล็ดพันธุ์ การแปรรูปน้ำ และการครอบครองที่ดินเกษตรกรรมอย่างรวมศูนย์ การสนทนาเรื่องราวเหล่านี้ในประเทศบราซิลหมายความว่าประเด็นเหล่านี้ถูกนำเสนอ ไม่ใช่ในแง่ที่เป็นเหตุการณ์ใหม่หรือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่เราเรียกว่าเป็น "โลกาภิวัตน์" ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในกรณีที่เราสนทนาถึงประเด็นเหล่านี้ในโลกตะวันตก แต่การสนทนาเรื่องราวเหล่านี้ในประเทศบราซิล สะท้อนถึงกระแสการล่าอาณานิคมที่ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง การรวมศูนย์อำนาจ และการสูญเสียอำนาจในการตัดสินใจเพื่อตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กว่าห้าศตวรรษก่อน

การผนวกรวมของระบบตลาดในขั้นตอนล่าสุด ทำให้อำนาจและการตัดสินใจเคลื่อนย้ายไปสู่จุดที่แทบไม่ได้สัมผัสกับผลกระทบเนื่องมาจากการตัดสินใจนั้นเลย ในขณะเดียวกัน ภาระทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากก็ถูกทิ้งไว้ให้กับเมืองและชนบท อำนาจที่แท้จริงเคลื่อนย้ายจากท้องถิ่นไปสู่รัฐ จากรัฐไปสู่ประเทศ จากประเทศไปสู่นานาชาติ จนกระทั่งถึงจุดที่ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีความหมายเพียงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนักการเมืองไม่กี่ปีต่อครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาไปทำหน้าที่ส่งมอบอำนาจของประเทศให้กับองค์กร อย่างเช่น องค์การค้าโลก และ IMF

เพื่อตอบโต้กับวิกฤตของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในระดับโลก เวทีสังคมโลกได้เสนอเค้าโครงของทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่ไม่ทันไร คำถามที่ลึกซึ้งบางประการก็ปรากฏขึ้น ขบวนการนี้พยายามจะบีบให้มีการใช้โลกาภิวัตน์ในรูปแบบยี่ห้อของตนเอง ในลักษณะที่เป็นมนุษย์มากขึ้น โดยให้มีการเก็บภาษีธุรกรรมการเงินนานาชาติ และพัฒนาให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย และความโปร่งใสในการบริหารงานนานาชาติ หรือว่าเป็นขบวนการที่ต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจและการถ่ายโอนอำนาจตามหลักการ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในพวกฝ่ายซ้าย

กล่าวคือหลักอุดมการณ์ที่เชื่อว่ารูปแบบหนึ่งจะเหมาะกับคนทั้งปวง ในทำนองเดียวกับสูตรสำเร็จของรัฐบาลแบบแม็คโดนัลด์ที่ถูกนำเสนอโดยเวทีต่าง ๆ อย่างเช่น เวทีประชุมเศรษฐกิจโลกที่กรุงดาวอส มันไม่ผิดที่เราจะโห่ร้องต้อนรับโอกาสที่จะเกิดโลกอีกแบบหนึ่งขึ้น แต่เป้าหมายของโลกที่เราอยากไปให้ถึงนั้น เราได้จินตนาการอย่างถี่ถ้วนแล้วหรือ หรือมันเป็นเพียง "โลกที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีโลกอีกมากมายอยู่ในนั้น" ดังที่พวกซัปปาติสตาบอก

คำถามเหล่านี้คงไม่มีคำตอบเพียงหนึ่งเดียว กลุ่มบางกลุ่มอย่างเช่น พวกที่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง ดูจะพยายามผลักดันให้เกิดองค์กรสากล หรือพรรคการเมืองสากลอย่างเป็นเอกภาพ และต้องการให้เวทีนี้เป็นองค์กรที่ออกคำประกาศอย่างเป็นทางการที่จะนำไปสู่การกำหนดเค้าโครงของฝ่ายบริหารได้ ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ที่ทำงานนอกเหนือจากช่องทางการเมืองแบบเดิม และมักใช้ปฏิบัติการทางตรง พวกเขาพยายามส่งเสริมให้เกิดสิทธิสากลในการตัดสินใจด้วยตนเอง และความหลากหลายทางวัฒนธรรม มากกว่าวิสัยทัศน์ที่เป็นเอกภาพเพียงหนึ่งเดียว

อาติลา โรเก้ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้อภิปรายอย่างเผ็ดร้อนว่า เวทีประชุมแห่งนี้ ไม่ควรพยายามประกาศข้อเรียกร้องทางการเมืองเพียงชุดเดียวออกมา "เรากำลังพยายามทำลายแนวความคิดสำเร็จรูป และเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ถ้ามัวแต่ผลักดันให้เกิดการคิดเหมือน ๆ กันขึ้นมาอีก โดยสัตย์จริงแล้ว ผมเองไม่มีความโหยหาต่อช่วงเวลาที่เราอยู่ใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เลย เราสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับวาระของเราได้ แต่ผมไม่คิดว่าภาคประชาสังคมจำเป็นต้องพยายามจัดตั้งตนเองในรูปของพรรคการเมือง"

ในท้ายที่สุด ที่ประชุมครั้งนี้ไม่ได้พูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเพียงหนึ่งเดียวออกมา แม้ว่าจะมีคำแถลงอย่างไม่เป็นทางการหลายสิบชิ้นก็ตาม แทนที่จะแลกเปลี่ยนเค้าโครงหลักเพื่อกำหนดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พวกเรามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนแง่มุมต่าง ๆ ของทางเลือกของระบอบประชาธิปไตยในท้องถิ่น ขบวนการชาวนาไร้ที่ดินพาผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางไปยังพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกยึดคืนมา และถูกใช้เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยเดินทางไปกลับภายในวันเดียวกัน และเมืองปอร์โต อัลเลเกรเองก็เป็นตัวอย่างของทางเลือกที่ยังดำรงอยู่ เมืองแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม มีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกันทั่วโลก

ที่เมืองปอร์โต อัลเลเกร ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่มารยาททางการเมือง ที่แสดงออกโดยการลงคะแนนเสียง หากเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง และเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางตามที่ประชุมในเขตชุมชนต่าง ๆ ระบบที่เป็นแกนกลางสำคัญของพรรคกรรมกรได้แก่ สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "งบประมาณอย่างมีส่วนร่วม" ซึ่งเป็นระบบที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง ในการกำหนดการจัดสรรทรัพยากรซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในเขตเมือง พลเมืองสามารถออกคะแนนเสียงได้โดยตรงว่า ควรมีการตัดถนนเส้นใด และควรมีการสร้างสถานีอนามัยที่ใด ทั้งนี้โดยผ่านเครือข่ายของชุมชนในท้องถิ่นและที่ประชุมเพื่ออภิปรายปัญหาต่าง ๆ

ที่เมืองปอร์โต อัลเลเกร การผ่องถ่ายอำนาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกระแสเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะตัดลดงบประมาณของรัฐบาลเพื่อคนยากจนลง ดังที่ทำกันในที่อื่น ๆ เกือบทั้งหมด ทางเทศบาลเองกลับพยายามเพิ่มบริการเหล่านั้นอย่างมาก และแทนที่จะสร้างความรู้สึกชิงชังรังเกียจต่อการเมือง ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่อยากมาลงคะแนนเสียง แต่ที่เมืองแห่งนี้ การมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยกลับเพิ่มขึ้นทุกปี

"เมืองแห่งนี้เป็นต้นแบบใหม่ของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้ประชาชนโอนอำนาจควบคุมของตนเองแก่รัฐ" ฮิลลารี เวนไรต์ นักเขียนชาวอังกฤษพูดไว้ในที่ประชุม "สิ่งที่ท้าทายก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะขยายแนวคิดเหล่านี้ไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ"

บางทีการเปลี่ยนขบวนการต่อต้านบรรษัท ให้กลายเป็นขบวนการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นที่จะวางแผนและบริหารงานโรงเรียน ระบบน้ำและสิ่งแวดล้อมของพวกเขาเอง ที่กรุงปอร์โต อัลเลเกร ปฏิกิริยาที่น่าสนใจที่สุดต่อความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนทั่วโลกได้แก่ การอภิวัฒน์ไปสู่รูปแบบประชาธิปไตยที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ทั้งในเมืองและชนบท โดยมีการโยงปรากฏการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ไกลออกไปเข้าหาประเด็นปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อย่างเรื่องการไร้ที่อยู่อาศัย การปนเปื้อนของน้ำ ประชากรในคุกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และโรงเรียนที่ขาดแคลนเงินทุน

แน่นอนว่าทางออกเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นในบริบทของมาตรฐาน และทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากเวทีสังคมโลกแห่งนี้ (แม้ว่าผู้จัดบางคนจะพยายามอย่างที่สุดแล้วก็ตาม) ไม่ได้เป็นขบวนการที่มุ่งให้เกิดระบอบปกครองโลกเพียงหนึ่งเดียว หากเป็นความเห็นร่วมกันว่า ควรจะมีเครือข่ายนานาชาติที่เชื่อมโยงกิจกรรมในท้องถิ่นรากหญ้า ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนประชาธิปไตยทางตรงมากยิ่งขึ้น

ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ประเด็นที่พูดกันในคณะผู้อภิปรายหรือในที่ประชุมสัมมนา แต่ยังรวมไปถึงการพูดคุยกันตามทางเดินในที่พัก และที่ประชุมอันครึกครื้นของเยาวชนที่มาตั้งค่ายพักแรม สิ่งที่พูดคุยกันไม่ใช่การสร้างประชาธิปไตยให้กับระบอบปกครองของโลก หรือแม้แต่การตัดสินใจในระดับเทศบาล หากแต่พูดถึงสิ่งที่ใกล้ตัวมาก นั่นคือ "การขาดดุลประชาธิปไตย" อันน่าเบื่อหน่ายในที่ประชุมเวทีสังคมโลกเอง

ในแง่หนึ่ง เวทีแห่งนี้เปิดกว้างเป็นอย่างมาก ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าร่วมประชุมได้ โดยไม่มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม และไม่ว่ากลุ่มไหนที่ต้องการจะจัดสัมมนา ไม่ว่าจะจัดโดยลำพังหรือจัดร่วมกับองค์กรอื่น พวกเขาก็สามารถทำได้ เพียงแต่ส่งชื่อให้กับคณะผู้จัดงานก่อนที่จะมีการตีพิมพ์โฆษณางานสัมมนานั้น

แต่ในบางครั้งก็มีการประชุมสัมมนาถึง 60 รายการเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ในขณะที่ส่วนของเวทีหลักซึ่งเป็นโอกาสที่จะพูดกับผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 1,000 คนในเวลาเดียวกัน กลับถูกครอบงำโดยนักการเมืองและนักวิชาการ หาได้มีนักเคลื่อนไหวเข้าร่วมไม่ ผู้พูดบางคนก็บรรยายได้อย่างน่าสนใจ แต่คนอื่น ๆ ก็พูดอย่างเลื่อนลอยเพ้อเจ้อ สำหรับคนที่ใช้เวลาเดินทางถึง 18 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นเพื่อมาประชุมครั้งนี้ คงไม่มีใครต้องมาบอกพวกเขาอีกว่า "โลกาภิวัตน์เป็นพื้นที่แห่งการถกเถียง" และไม่มีประโยชน์เลยที่คณะผู้อภิปรายประกอบด้วยผู้ชายในวัย 50 กว่า และหลายคนก็เป็นพวกผิวขาว

นิโคลา บุลลาร์ด รองผู้อำนวยการ Focus on the Global South ที่กรุงเทพฯ พูดอย่างกึ่งตลกว่า ในการแถลงข่าวช่วงเปิดการประชุม "เหมือนกับพระกระยาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ซึ่งผู้แถลงเป็นชาย 12 คนในวัยเฉลี่ย 52 ปี" และดูจะไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยนัก ที่มีการจัดห้องวีไอพีติดกระจก ซึ่งกลายเป็นแหล่งส้องสุมอันสงบและหรูหราสำหรับผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น การเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ซึ่งหน้า ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการอภิปรายถึงอำนาจของประชาชน ยิ่งเริ่มน่ารำคาญ เมื่อห้องน้ำที่ค่ายพักแรมของเยาวชนขาดแคลนกระดาษชำระ

ความทุกข์ใจเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ตัวโครงสร้างองค์กรของเวทีประชุมแห่งนี้ไม่มีความชัดเจนเอาเลย แทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ว่าพวกเขาตัดสินใจกันอย่างไร หรือแทบไม่มีทางตั้งคำถามกับการตัดสินใจเหล่านั้น ไม่มีการประชุมร่วมกันหรือไม่มีโอกาสที่จะลงคะแนนเสียงตัดสินว่า โครงสร้างของกิจกรรมในอนาคตจะเป็นอย่างไร การขาดกระบวนการอันโปร่งใสเป็นเหตุให้เกิดสงครามหลังเวที ระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนหลายค่าย พวกเขาเถียงกันว่า ดารานักพูดคนไหนควรจะได้เวลาในการพูดมากที่สุด ใครจะเป็นผู้แถลงข่าว ใครควรจะเป็นผู้ที่ถูกสร้างภาพว่าเป็นผู้นำของขบวนการนี้

จนถึงวันที่สาม ผู้เข้าร่วมประชุมที่อึดอัดก็เริ่มทำสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุด นั่นคือการประท้วง พวกเขาพากันเดินขบวนและโห่ร้องคำขวัญ อย่างน้อยก็มีถึงหกเจ็ดกลุ่ม ผู้จัดเวทีประชุมถูกกล่าวหาหลายอย่าง ตั้งแต่การเป็นนักปฏิรูปไปจนถึงเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ หน่วยยุวชนต่อต้านทุนนิยมกล่าวหาพวกเขาว่า ไม่ให้ความสนใจต่อบทบาทที่สำคัญของปฏิบัติการทางตรงในการสร้างสรรค์ขบวนการ พวกเขาตะโกนคำขวัญประณามที่ประชุมแห่งนี้ว่า เต็มไปด้วย "มารยา" ใช้แต่คำหวานรื่นหูในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดการถกเถียงที่จะนำไปสู่การแบ่งชนชั้น

กลุ่ม PSTU ซึ่งแยกตัวออกมาจากพรรคกรรมกร เริ่มก่อกวนการพูดถึงความเป็นไปได้ของโลกอีกแบบหนึ่ง ด้วยการตะโกนว่า "โลกอีกใบหนึ่งคงเป็นไปไม่ได้ นอกจากเราจะทุบทุนนิยมทิ้ง และนำสังคมนิยมกลับคืนมา!" (ประโยคนี้ฟังดูดีกว่าถ้าพูดเป็นภาษาโปรตุเกส)

สิ่งที่พวกเขาวิจารณ์บางอย่างก็ไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไร เพราะเวทีประชุมแห่งนี้มุ่งรองรับทัศนะความเห็นอันหลากหลาย และความหลากหลายนี้เองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การนำกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจมาอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพแรงงาน พรรคการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน นักประท้วงแบบอนาธิปัตย์ตามท้องถนน และนักปฏิรูปด้านการเกษตร เวทีประชุมสังคมโลกจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ทำให้ความตึงเครียด ที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากของกลุ่มพันธมิตรอันบอบบาง เผยโฉมออกมาเท่านั้นเอง

แต่คำถามอื่น ๆ ก็มีความชอบธรรมและมีความหมายยาวไกลกว่าการประชุมแค่หนึ่งสัปดาห์ กระบวนการตัดสินใจภายในขบวนการของขบวนการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า "ตัวแทนของภาคประชาสังคม" ใดจะไปนั่งอยู่หลังรั้วลวดหนามในห้องประชุมที่กรุงดาวอส โดยปล่อยให้ผู้ประท้วงคนอื่น ๆ ถูกยิงด้วยกระบอกฉีดน้ำอยู่ด้านนอก ถ้าการประชุมที่ปอร์โต อัลเลเกรเป็นการประท้วงต่อการประชุมที่กรุงดาวอส เหตุใดสมาชิกของกลุ่มประท้วงที่เราเห็นหน้ากันมากที่สุดกลับไป "เจรจา" อยู่ที่กรุงดาวอสล่ะ

แล้วเราจะตัดสินใจได้อย่างไรว่า เป้าหมายของเราคือการผลักดัน "มาตราทางสังคม" ว่าด้วยประเด็นด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้มีขึ้นในข้อตกลงนานาชาติ หรือเราควรพยายามผลักข้อตกลงทั้งฉบับให้ตกไปเสียเลย การถกเถียงกันในเรื่องนี้ ซึ่งเดิมเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในเชิงวิชาการ เพราะมีแรงต่อต้านมาตราทางสังคมเหล่านี้อย่างมากจากฝ่ายธุรกิจ ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญไปแล้วในตอนนี้ ผู้นำอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมทั้งบริษัทเคทเตอร์พิลลาและบริษัทโบอิ้ง ได้พยายามล็อบบี้อย่างเข้มแข็งเพื่อให้มีการเชื่อมโยงประเด็นการค้ากับมาตราด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะพวกเขามีใจที่จะยกระดับมาตรฐานเหล่านี้ขึ้นมา แต่ทั้งนี้เพราะการเชื่อมโยงมาตราเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือต่อรองในรัฐสภาเพื่อให้สามารถผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจในการเจรจาการค้าอย่างเร่งด่วน การผลักดันมาตราด้านสังคมของสหภาพแรงงานและนักสิ่งแวดล้อมอย่างไม่รู้ตัว จึงเท่ากับช่วยให้การเจรจาเหล่านั้นคืบหน้าไป และเท่ากับส่งเสริมกระบวนการที่จะเปิดประตูให้มีการแปรรูปภาคบริการต่าง ๆ ทั้งเรื่องน้ำ และโดยเฉพาะการปกป้องสิทธิบัตรยาอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เป้าหมายของพวกเราควรเป็นการแทรกมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ การเกษตร ความปลอดภัยของอาหาร สิทธิบัตรยา การศึกษา และการดูแลสุขภาพเข้าไปในข้อตกลงการค้า หรือเราควรจะให้ตัดเนื้อหาส่วนนี้ออกโดยสิ้นเชิง

วอลเดน เบลโล ผู้อำนวยการบริหาร Focus on the Global South แสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่า "องค์การค้าโลก เป็นองค์กรที่ไม่สามารถปฏิรูปได้อีกแล้ว" เขากล่าวในที่ประชุม "และมันคงเป็นความสูญเปล่าอย่างมากที่จะลงทุนผลักดันให้มีการปฏิรูป มาตราด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมเพียงแต่จะเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรที่มีอำนาจมากเกินไปอยู่แล้ว"

เราคงต้องอภิปรายกันอย่างจริงจังถึงยุทธศาสตร์และกระบวนการเสียที แต่คงยากที่จะทำได้โดยไม่ไปขัดขวางขบวนการ ซึ่งมีจุดแข็งสำคัญอยู่ที่การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว กลุ่มอนาธิปัตย์ แม้ว่าจะยึดมั่นในกระบวนการอย่างเหนียวแน่น แต่ก็มีแนวโน้มต่อต้านความพยายามใด ๆ ที่จะเข้ามาจัดโครงสร้างหรือรวมศูนย์อำนาจในขบวนการ เวทีนานาชาติว่าด้วยโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นแกนนำหลักของขบวนการจากประเทศฝ่ายอเมริกาเหนือ ขาดกระบวนการตัดสินใจที่โปร่งใส และขาดความรับผิดชอบต่อฐานสมาชิกในวงกว้าง แม้ว่าตัวสมาชิกที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่จะมีความรับผิดชอบดีก็ตาม ในขณะเดียวกัน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ควรร่วมมือกันกลับแข่งขันกัน เพื่อให้ได้ชื่อเสียงและแหล่งเงินทุน ส่วนองค์กรด้านการเมืองที่มีฐานสมาชิกแบบเดิมอย่างเช่น พรรคการเมืองและสหภาพแรงงาน กลับถูกลดบทบาทลงภายใต้ข่ายใยแห่งการเคลื่อนไหวอันกว้างขวางนี้

บางทีบทเรียนที่แท้จริงจากที่ประชุมที่ปอร์โต อัลเลเกร ได้แก่ความจริงที่ว่า ประชาธิปไตยและการรับผิดชอบเป็นองค์ประกอบที่เราจะต้องพัฒนาขึ้นมา ในระหว่างที่องค์กรมีขนาดเล็กพอจะควบคุมได้ อย่างเช่น ภายในชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มพันธมิตร และภายในแต่ละองค์กรเอง หากปราศจากพื้นฐานเช่นนี้ ก็อย่าคาดหวังมากนักว่าเราจะสามารถสร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่น่าพึงพอใจขึ้นมา โดยมีนักเคลื่อนไหวนับหมื่นคนจากพื้นเพหลากหลายถูกจับมาสุมรวมกันในที่ประชุมมหาวิทยาลัยในคราวเดียวกัน

สิ่งที่ชัดเจนก็คือ หากสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มพันธมิตรอันหลากหลายนี้ คือการส่งเสริมประชาธิปไตย ถ้าเช่นนั้น ประชาธิปไตยภายในขบวนการก็ต้องเป็นภารกิจอันดับหนึ่ง ในคำแถลงที่มีชื่อว่า "ปอร์โต อัลเลเกร เรียกร้องให้มีการรวมตัวเคลื่อนไหว" ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "เราขอท้าทายต่อกลุ่มชนชั้นนำและกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของพวกเขา ซึ่งสะท้อนได้จากเวทีประชุมเศรษฐกิจโลกที่กรุงดาวอส" ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนมากเห็นด้วยว่า มันยังไม่เพียงพอที่เราจะตะโกนด่า "ไอ้พวกชนชั้นนำ!" จากในห้องกระจกหรือจากห้องวีไอพีติดกระจก

แม้จะมีการประท้วงอย่างเปิดเผยหลายต่อหลายครั้ง แต่เวทีประชุมสังคมโลกจบลงด้วยความรู้สึกเห่อเหิมเหมือนกับคำขวัญในช่วงเริ่มต้น มีเสียงตะโกนโห่ร้องเหมือนเดิม ที่ดังที่สุดคือตอนที่คณะกรรมการจัดการประชุมประกาศว่า ปอร์โต อัลเลเกร จะเป็นเจ้าภาพจัดเวทีเช่นนี้อีกครั้งในปีหน้า เครื่องบินจากปอร์โต อัลเลเกรไปยังกรุงเซา เปาโลเมื่อวันที่ 30 มกราคม เต็มไปด้วยผู้เข้าร่วมประชุมที่ประดับประดาร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าด้วยสัญลักษณ์จากที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด หมวกเบสบอล และถ้วยกาแฟ ถุง ทุกสิ่งทุกอย่างติดคำขวัญตามอุดมคติว่า "อีกโลกหนึ่งนั้นเป็นไปได้"

ไม่ใช่เรื่องแปลกภายหลังการประชุมเช่นนี้ แต่ดิฉันก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ เมื่อเห็นชายหญิงสองคนที่นั่งอยู่ตรงข้าม พวกเขายังติดป้ายชื่อจากที่ประชุมหราอยู่บนหน้าอก ราวกับยังต้องการเวียนว่ายอยู่ในโลกแห่งความฝันต่อไป แม้จะเป็นความฝันที่ไม่สมบูรณ์นักก็ตาม จนกว่าจะต้องแยกย้ายเพื่อจับเครื่องบินต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น เนวาร์ก ปารีส เม็กซิโกซิตี้ ก่อนจะถูกกลืนหายไปในฝูงนักธุรกิจที่เร่งรีบ กระเป๋ากุชชี่จากร้านปลอดภาษี และข่าวราคาหุ้นของซีเอ็นเอ็น

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

ในห้องประชุมและห้องบรรยาย มีการพูดกันมากมายถึงจักรวรรดินิยมอเมริกัน และความเป็นทรราชของภาษาอังกฤษ แต่พลเมืองอเมริกันจริง ๆ กลับมากันน้อยมากจนผิดสังเกต สหภาพแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา (AFL-CIO) แทบไม่มีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้เลย (นายจอห์น สวินนี ประธานของสหภาพแรงงานกำลังประชุมอยู่ที่กรุงดาวอส) และไม่มีตัวแทนจากองค์กรแห่งชาติเพื่อสตรี (The National Organization for Women) เลย แม้แต่นอม ชอมสกีซึ่งกล่าวว่า เวทีแห่งนี้ "เป็นโอกาสที่สำคัญอย่างมากในการชุมนุมของกลุ่มพลังมวลชน" ได้แต่แสดงความเสียใจว่าไม่สามารถมาร่วมชุมนุมได้ กลุ่ม Public Citizen ส่งผู้มาร่วมชุมนุมสองคนที่กรุงปอร์โต อัลเลเกร แต่ลอรี วัลลัช ซึ่งเป็นดาราของพวกเขากลับไปประชุมที่กรุงดาวอส

R
related topic
011148
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้

อุดมศึกษาบนเว็ปไซต์ เพียงคลิกก็พลิกผันความรู้ ทำให้เข้าใจและเรียนรู้โลกมากขึ้น
สนใจค้นหาความรู้ในสารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีน้ำเงิน
สนใจเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกที่แบนเนอร์สีแดง