นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

การเมืองและการการแข่งขันเรื่องสื่อ
การพันตูทางด้านสื่อในตะวันออกกลาง
BBC. CNN. Al-Jazeera
คอลัมภ์ กาแฟดำ
รวบรวมและ
เก็บความมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

บทความเพื่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองเรื่องสื่อ

หมายเหตุ
บทความที่รวบรวมมาเหล่านี้ เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ราวปลายเดือนตุลาคม ๔๘
ทางกองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนเลือกเก็บความมาเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับเบื้องหลังสาเหตุสถานการณ์ทางด้านสื่อ
กรณีเกี่ยวกับการที่สถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย กำลังจะปิดตัวลง

บทความที่ประมวลมา ประกอบด้วย

1. บีบีซีภาษาไทย...เหยื่อการปรับทิศการเมืองตะวันตก
2. ริส คาห์น...จากซีเอ็นเอ็น ข้ามไปอัล-จาซีราทำไม?
3. อัล-จาซีรา...เกิดเพราะเอาชนะซีเอ็นเอ็นในสมรภูมิรบ
4. อัล-จาซีรา.....มากกว่า แค่สถานีข่าว 24 ชั่วโมง
5. วงการข่าวโลกร้อนระอุ เมื่ออัล-จาซีรา ถ้าชนบีบีซี, ซีเอ็นเอ็นปีหน้า
ภาคผนวก ๑. สัมภาษณ์ผอ.ใหญ่บีบีซีภาคบริการโลก เรื่องการปิดแผนกไทย (อรนุช อนุศักดิ์เสถียร)
ภาคผนวก ๒. บีบีซี แถลงยืนยันปิดรายการวิทยุภาคภาษาไทย

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 719
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)



คอลัมภ์ กาแฟดำ
ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ปลายเดือนตุลาคม 2548)
http://www.bangkokbiznews.com/2005/10/29/kt_net_w015.php

1. บีบีซีภาษาไทย...เหยื่อการปรับทิศการเมืองตะวันตก
28 ตุลาคม 2548
ข่าวปิดบีบีซีภาคภาษาไทยมาพร้อมกับการปิดบริการทำนองเดียวกันในยุโรปอีก 8 ประเทศ และคาซัคสถานที่อยู่นอกยุโรปอีกหนึ่งภาษาสะท้อนว่า การเมืองโลกได้เคลื่อนตัวจากยุค "สงครามเย็น" มาเป็นยุคสงครามข่าวสารระหว่างตะวันตกกับโลกอาหรับ เพราะบีบีซีอ้างว่า ที่ต้องยุบบีบีซีภาคภาษาต่างๆ ที่ว่านี้ ก็เพื่อย้ายงบประมาณไปสร้างสถานีโทรทัศน์ภาษาอาหรับของตัวเองสำหรับผู้ชมและผู้ฟังในตะวันออกกลาง

และแม้บีบีซีจะไม่ได้ประกาศเช่นนั้น ก็เป็นที่รู้กันว่า บรรษัทกระจายเสียงอังกฤษแห่งนี้ต้องการจะแย่งคนดูกับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม "อัล-จาซีรา" ของประเทศกาตาร์ในโลกอาหรับ

อย่างที่เขียนไว้ในคอลัมน์นี้วันก่อน อัล-จาซีรา ก็เตรียมจะเปิดบริการข่าว 24 ชั่วโมงเป็นภาษาอังกฤษในปีหน้า เพื่อชนกับซีเอ็นเอ็นของสหรัฐและบีบีซีของอังกฤษเหมือนกัน

ดังนั้น การที่บีบีซีภาคภาษาไทยถูกยุบหลังจากออกอากาศมาถึง 65 ปี จึงเป็นผลพวงโดยตรงของการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป และอังกฤษจะปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายด้านกระจายเสียงของตนนั้นกำหนดตามทิศทางของการเมืองในสายตาของตะวันตก ที่มีอังกฤษเป็นแกนสำคัญและผูกพันกับแนวทางของสหรัฐอย่างเหนียวแน่น

แกนนำด้านตะวันตกกำลังไปเล่นเกมแย่งชิงความได้เปรียบทางข่าวสารในโลกตะวันออกกลาง เอเชียที่เคยเป็นตัวละครสำคัญในช่วงสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะลดความสำคัญลงในสายตาของตะวันตก

อเมริกาเปิดเกมนี้ก่อนหน้านี้แล้วด้วยการตั้งสถานีข่าวดาวเทียมภาษาอาหรับเรียกว่า "al-Hurra" หรือ "เสียงอิสระ" ออกอากาศจากวอชิงตันตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้วให้ประชาชนในโลกอาหรับรับฟังได้ทั่ว เพราะเห็นว่า กำลังแพ้สงครามแย่งมวลชนด้วยข่าวสารในแถบนั้น แต่เมื่อรู้ว่านี่เป็นสถานีที่เอาเงินงบประมาณรัฐบาลมะกันมาทำ ความน่าเชื่อถือก็ย่อมจะเป็นปัญหาอย่างช่วยไม่ได้

ซีเรีย ซึ่งมะกันข่มขู่ตลอดมาก็ออกมาวิพากษ์ถึงสถานีข่าวภาษาอาหรับของมะกันแห่งนี้ว่า เป็นความพยายามที่จะกลับมาเล่นบทบาทการเป็นจักรวรรดินิยมของสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง บีบีซีเปิดสถานีโทรทัศน์ข่าวภาษาอาหรับจะไม่โดนวิจารณ์ทำนองนี้บ้างหรือ?

แน่นอนว่า บีบีซีก็หนีไม่พ้นว่าจะต้องถูกมองว่า ต้องการจะมา "กำหนดวาระ" ของตะวันออกกลาง เพราะที่แน่ๆ ก็คือว่าจะต้องใช้งบประมาณทางการของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อตั้งสถานีโทรทัศน์ภาษาอาหรับแห่งนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มออกอากาศในปี 2007 (ขณะที่อัล-จาซีราประกาศว่า จะเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษของตัวเองในปีหน้านี้) ประมาณว่าจะต้องใช้งบเพื่อการนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านปอนด์ หรือ 1,400 ล้านบาท

กระทรวงต่างประเทศอังกฤษเป็นผู้สนับสนุนงบของ BBC World Service ปีละไม่น้อยกว่า 239 ล้านปอนด์ หรือ 16,700 ล้านบาทอยู่แล้ว

ถือเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สุดของบีบีซีใน 70 ปี การจากไปของบีบีซีภาคภาษาไทย (อย่างช้าไม่เกิน 31 มีนาคมปีหน้า) ครั้งนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับวงการข่าวสาร เพราะอย่างน้อยบีบีซีก็สะท้อนถึงความเป็นไปในเมืองไทยได้อย่างตรงไปตรงมาพอสมควร แต่ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนว่า เรามิอาจหวังพึ่ง "ความหวังดี" ของนโยบายต่างประเทศตะวันตกได้เลยแม้แต่น้อย เพราะเมื่อเขาปรับทิศทางนโยบายเมื่อใด, ความจำเป็นและความเห็นของเราก็ไม่มีความสำคัญ สำหรับเขาเลยแม้แต่น้อย



2. ริส คาห์น...จากซีเอ็นเอ็น ข้ามไปอัล-จาซีราทำไม?

27 ตุลาคม 2548
ริส คาห์น (Riz Khan) เคยเป็นคนอ่านข่าวโด่งดังของซีเอ็นเอ็นแห่งอเมริกา วันนี้เขากำลังจะไปปรากฏตัวที่สถานีข่าวอาหรับ Al-Jazeera ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โดฮา, ประเทศกาตาร์ ไปนั่งในห้องส่งเดียวกับ Sir David Frost ผู้เกรียวกราวจากบีบีซีเพื่อทำหน้าที่รายงานข่าวและสัมภาษณ์ผู้นำทั้งโลกให้กับสถานีข่าวที่กำลังจะเรียกตัวเองว่า เป็นสถานีข่าวอาหรับภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมงแห่งแรกของโลก เป็นคู่แข่งของซีเอ็นเอ็นและบีบีซีในเวทีสากลที่น่ากลัว เพราะอัล-จาซีราต้องการเป็นสถานีข่าวที่เป็นอิสระ มีความน่าเชื่อถือในมาตรฐานเดียวกับสถานีข่าวของโลกตะวันตก

ริส คาห์นตัดสินใจไปทำงานให้กับอัล-จาซีราเพราะเหตุใดหรือ?
"เพราะนี่คือการท้าทายสำหรับคนทำทีวี และเพราะอัล-จาซีราได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า พร้อมที่จะรายงานข่าวอย่างอิสระ และได้รับการยอมรับนับถือว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวเรื่องเสรีภาพของข่าวสารโดยเฉพาะในประเทศที่รัฐบาลพยายามจะลิดรอนเสรีภาพของข่าวสารของประชาชน..."

ริส คาห์นเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ Asian Wall Street Journal เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า โอกาสที่จะสร้างอะไรใหม่อย่างนี้เกิดสำหรับคนทำข่าวไม่บ่อยนัก และบางทีมันเป็นโอกาสเดียวในชีวิต

เขาเริ่มด้วยบรรยากาศและแรงท้าทายอย่างนี้ที่ BBC World ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ข่าวทั่วโลกของบีบีซี
แต่ที่อัล-จาซีราอาจจะท้าทายกว่าที่บีบีซีด้วยซ้ำ เพราะในโลกตะวันตก การเปิดสถานีข่าวเป็นเรื่องธรรมดา มีเงิน, มีเครื่องมือและเทคโนโลยีก็ทำได้ แต่สำหรับโลกอาหรับ การก่อเกิดของอัล-จาซีราเป็นเรื่องใหม่ที่เปลี่ยนค่านิยมทั้งสำหรับโลกอาหรับและโลกตะวันออก

เป็นการปฏิวัติความคิดด้านข่าวสารทั้งสำหรับวงการเมืองระหว่างประเทศ, การเมืองของแต่ละประเทศในโลกตะวันออกกลางและอย่างที่ริส คาห์นบอกว่า "มันเป็นช่องทางที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งในอันที่จะเป็นสะพานข่าวระหว่างโลกตะวันออกกับตะวันตก เพราะเราจะเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกที่ออกอากาศเป็นภาษาอังกฤษจากตะวันออกกลางที่มีมุมมองสากล..."

ริส คาห์นบอกว่า เขารู้ว่ารัฐบาลมะกันมองอัล-จาซีราในทางลบพอสมควร แต่นั่นเป็นเพราะความไม่เข้าใจในวัฒนธรรม และความนิยมที่สถานีข่าวภาษาอาหรับต่อชาวบ้านในโลกตะวันออกกลาง

"วันนี้ ประชาชนในแถบนี้ต้องการฟังคนที่กล้าแสดงความเห็น วิพากษ์จารณ์ไม่เฉพาะแต่ตะวันตกเท่านั้น แต่ยังต้องกล้าวิจารณ์รัฐบาลอาหรับเองด้วย..." ริส คาห์นบอกพร้อมกับยืนยันว่า ทีมข่าวของอัล-จาซีราภาษาอังกฤษที่จะเริ่มออกอากาศปีหน้านั้นเป็นคนที่มาจากหลายแหล่งหลายที่

"พวกเราไม่มีวาระพิเศษของตัวเองในการทำงานด้านข่าว หากจะมีก็คือภารกิจที่จะรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา พยายามนำเสนอด้านต่างๆ ของข่าวให้ครบถ้วนเพื่อให้ท่านผู้ชมได้ภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้...ให้ท่านได้ภาพรวม ที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด..."

ในโลกของข่าวสารที่มีแต่อคติและแรงกดดันจากรัฐบาลและกลุ่มทุน, การที่สื่อไหนอาจหาญประกาศว่าจะรายงานข่าวอย่างอิสระ และรอบด้านเพื่อคนดูจะได้ภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ก็ต้องถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการครั้งใหญ่แล้ว

3. อัล-จาซีรา...เกิดเพราะเอาชนะซีเอ็นเอ็นในสมรภูมิรบ
26 ตุลาคม 2548
ถ้าซีเอ็นเอ็นเกิดเพราะการทำข่าว "สงครามอ่าวเปอร์เซีย" ครั้งแรกเมื่อ 14 ปีก่อน, อัล-จาซีราของกาตาร์ก็เกิดเพราะสงครามอัฟกานิสถานที่มะกันลุยเข้าไปยึดครองเมื่อ 5 ปีก่อนนั่นแหละ

ครั้งนั้น ซีเอ็นเอ็นแพ้อัล-จาซีรา ซึ่งเป็นน้องใหม่ในวงการอย่างราบคาบ เพราะสมรภูมิสงครามก็คือสมรภูมิข่าว และเมื่อนักข่าวของสถานีโทรทัศน์ภาษาอาหรับมีความช่ำชองพื้นที่มากกว่า, มีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือและตรงกับประเด็นร้อนมากกว่า สงครามข่าวก็ย่อมจะจบลงด้วยผู้สันทัดสถานการณ์มากกว่า...ไม่ใช่ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่แพงกว่า, ทันสมัยกว่าและไม่ได้อยู่ที่ภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าวด้วยซ้ำไป

เมื่อบิน ลาเดนและผู้นำขององค์กรอัล-ไกดาคนอื่น ๆ ออกข่าวเกี่ยวกับตนผ่านอัล-จาซีรา แทนซีเอ็นเอ็น หรือบีบีซี, ดุลแห่งสงครามข่าวก็แปรเปลี่ยนโดยฉับพลัน ทันใดนั้นเอง, จอร์จ ดับเบิลยู บุชที่วอชิงตันก็ตระหนักทันทีว่า อาวุธการทำสงครามที่ได้ผลชะงัดที่สุดไม่ได้อยู่ที่เครื่องบินหรือรถถัง หากแต่อยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์ และใครที่สามารถออกภาพและข่าวของตนรวดเร็วกว่าและน่าเชื่อถือกว่าคือคนที่จะได้ชัยชนะในสงครามอันแท้จริง

หะแรก รัฐบาลมะกันวิพากษ์ว่า อัล-จาซีรามีความลำเอียง ออกแต่ข่าวด้านของบิน ลาเดนและฝ่ายตรงกันข้ามกับอเมริกาในสงครามอัฟกานิสถาน หัวหน้าข่าวของอัล-จาซีราประกาศตอบโต้ทันควันว่า ทางสถานีได้เปิดโอกาสให้ทางอเมริกันได้ออกข่าวด้านของตนเพื่อความเป็นธรรมด้านข่าว แต่ทางวอชิงตันไม่ใส่ใจและไม่ใช้โอกาสนั้น

เหตุเพราะรัฐบาลมะกันไม่เคยเห็นสถานีข่าวภาษาอาหรับที่มีความคล่องตัว และมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ของการเป็นสถานีข่าวที่ได้มาตรฐานสากล และไม่เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายใด

"สกู๊ป" ใหญ่ของอัล-จาซีราที่เอาชนะสื่อทุกแขนงทั่วโลกหลังเหตุการณ์ถล่มตึกแฝด World Trade Center ที่นิวยอร์กคือ การสัมภาษณ์บิน ลาเดน เดี่ยว ๆ ที่พูดถึงบทบาทของเขาในเหตุการณ์สะเทือนโลกครั้งนั้น ข่าวชิ้นนั้นสะเทือนวงการสื่อทั่วโลก เพราะสำนักข่าวยักษ์ ๆ ที่เคยโด่งดังทั้งหลายต่างพากัน "ตกข่าว" ไปตามๆกัน

หลายเดือนผ่านมา ซีเอ็นเอ็นของอเมริกากู้หน้าตัวเองได้เล็กน้อยด้วยการได้สัมภาษณ์บิน ลาเดนเช่นกัน แต่เบื้องหลังของสกู๊ปครั้งนั้นคือนักข่าวของอัล-จาซีราที่ชื่อ Tayseer Allouni เป็นคนจัดแจงให้, สัมภาษณ์ให้,จัดการอัดเทปแล้วส่งไปให้ซีเอ็นเอ็น โดยที่อัล-จาซีราเองตัดสินใจที่จะไม่เอารายการสัมภาษณ์พิเศษนั้นออกอากาศในสถานีของตัวเอง

เพราะอัล-จาซีราพยายามดำรงตนให้เป็นสื่ออิสระ จึงรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา และแม้เป็นข่าวในโลกอาหรับเอง อัล-จาซีราก็ถือว่า ต้องไม่รายงานข่าวเพียงแต่ที่รัฐบาลต่าง ๆ พอใจ เพราะความเป็นคนข่าวอาชีพนี่แหละ นักข่าวของอัล-จาซีราเองก็ถูกห้ามเข้าทำข่าวในหลายประเทศในตะวันออกกลางที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกับอเมริกา เช่น ซาอุดีอาระเบียไม่อนุญาตให้อัล-จาซีราเปิดสำนักงานที่นั่น และบาห์เรน (ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองเรือที่ 5 ของมะกัน) ก็ห้ามนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์แห่งนี้เข้าประเทศอยู่ระยะหนึ่ง อีกสองประเทศที่เป็นพันธมิตรสหรัฐ คือจอร์แดนและคูเวตก็เคยสั่งปิดสำนักข่าวของอัล-จาซีรา

แม้ประเทศที่เป็นศัตรูกับมะกันเช่น ซีเรีย (ซึ่งอเมริกากล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย) ก็ไม่ยอมให้อัล-จาซีราเปิดสำนักงานที่นั่น หลายประเทศในโลกอาหรับ (รวมทั้งลิเบียที่ไม่กินเส้นกับอเมริกัน) ก็เคยโกรธเคืองการทำหน้าที่รายงานข่าวของอัล-จาซีรา ด้วยการเรียกทูตของตนกลับจากกาตาร์เพื่อประท้วง แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลกาตาร์จะแยกออกระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลกับการทำหน้าที่ของสื่อ

เหตุสำคัญก็เพราะการทำข่าวของนักข่าวรุ่นใหม่เหล่านี้ยึดถือหลักการโปร่งใสและตรงไปตรงมา และไม่ยอมเป็นแค่กระบอกเสียงของผู้มีอำนาจในประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางเท่านั้น

ดังนั้น รัฐบาลไหนที่คิดจะตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของตัวเอง โดยหวังจะส่งเสริมภาพพจน์ของผู้นำประเทศเท่านั้น ก็ลืมเสียได้ เพราะไม่ว่าดาวเทียมจะส่งภาพและเสียงไปได้ไกลเพียงใด แต่ถ้าได้ชื่อว่าเป็น "กระบอกเสียงของรัฐบาล" แล้ว, ก็หมดความน่าเชื่อถือ เอาเงินหลวงไปผลาญเพื่อเสริมอัตตาของท่านผู้นำเปล่า ๆ

4. อัล-จาซีรา.....มากกว่า แค่สถานีข่าว 24 ชั่วโมง
24 ตุลาคม 2548
สถานีโทรทัศน์อัล-จาซีรา หรือ Al-Jazeera ของตะวันออกกลาง ที่ผมเขียนถึงในคอลัมน์นี้เมื่อวาน กำลังมีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อการสร้างดุลถ่างระหว่างข่าวตะวันตกกับตะวันออกกลาง เพราะเขาสามารถดึงเอาคนเก่งคนกล้าในวงการสื่อจากทั่วโลกที่มุ่งมั่น จะทำให้เป็นสื่อที่ทำให้ได้มุมมองที่แตกต่างไปจากตะวันตก

ปีหน้า เกิดอัล-จาซีรา "อินเตอร์" เป็นช่องภาษาอังกฤษตลอด 24 ชั่วโมง และใครที่มีจานดาวเทียมก็รับดูได้ ก็ยิ่งทำให้เป็นสถานีข่าวที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง แข่งขันกับบีบีซีของอังกฤษ, หรือซีเอ็นเอ็นและฟอกส์นิวส์ของสหรัฐได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

ความจริง หลายประเทศก็เปิดสถานีข่าวภาษาอังกฤษ เพื่อให้มีมุมของข่าวในด้านตัวเอง เป็นการแข่งกันเสนอข่าว เพื่อให้ได้แง่มุมของตัวเองไปสู่ชาวโลก เช่น ประเทศจีนก็มี CCTV9 ที่ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีคนอ่านข่าวหน้าตาเป็นจีน จะมีฝรั่งมาผสมบ้างก็เพียงบางรายการ

แต่ซีซีทีวีของจีนกับอัล-จาซีราของกาตาร์ ต่างกันตรงที่ว่า โทรทัศน์ภาษาอังกฤษของจีนถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน และข่าวคราวที่วิพากษ์จุดยืนหรือความเป็นไปในจีน จะไม่ค่อยได้รับการรายงานมากนัก ขณะที่อัล-จาซีรานั้น แม้จะตั้งอยู่ที่เมืองโดฮา ของประเทศกาตาร์ แต่ข่าวที่รายงานจะพยายามเป็น "สถานีข่าวอาชี" ซึ่งหมายความว่า จะไม่ทำตนเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล แต่ต้องการเป็นเสียงสะท้อนของโลกอาหรับมากกว่า จึงทำให้คนดูข่าวของช่องนี้มองเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

เช่นหากเป็นข่าวเกี่ยวกับอัล-ไกดาของออสมา บินลาเดน หรือปาเลสไตน์กับอิสราเอล จะไม่ใช้ศัพท์แสงเหมือนสื่อตะวันตกที่เปิดฉากก็เรียกผู้เป็นข่าวว่า "ผู้ก่อการร้าย" หรือ "กลุ่มหัวรุนแรง" แต่จะพยายามสะท้อนจุดยืนที่แตกต่าง และให้โอกาสแก่กลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกมาแสดงความเห็นของตน

ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่อัล-จาซีราดังขึ้นมาทันทีที่ก่อตั้งเมื่อปี 1996 หรือแค่เพียง 9 ปีก่อน ก็ดังกระหึ่มเสียแล้ว เพราะมักจะได้ข่าวเกี่ยวกับกลุ่มที่เกี่ยวกับความรุนแรงทั้งหลายในตะวันออกกลาง ที่บีบีซีหรือซีเอ็นเอ็นไม่ได้

ความที่ผู้ก่อตั้งอัล-จาซีราต้องการให้สถานีโทรทัศน์ของตนเป็นอิสระในแง่ของเนื้อหา ไม่ต้องการเป็นกระบอกของรัฐบาลเหมือนสถานีโทรทัศน์ในประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง, จึงได้รับการยอมรับพอสมควรในโลกตะวันตก แม้จะมีเสียงวิจารณ์บางครั้งว่า เป็น "กระบอกเสียง" ให้กับกลุ่มก่อการร้าย เพราะมักจะได้เทปหรือได้สัมภาษณ์คนสำคัญขององค์กรเหล่านั้นบ่อยๆ ก็ตาม

แม้ คอลิน เพาเวลล์ กับ โดนัลด์ รัมสเฟลด์ ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ยังต้องขอออกอากาศ ยอมให้อัล-จาซีรา สัมภาษณ์พิเศษทั้งๆ ที่เคยวิจารณ์สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ว่า มีอคติต่ออเมริกัน แต่เพราะผู้นำมะกันรู้ว่า คนดูอัล-จาซีราเป็นชาวตะวันออกกลาง ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อประเทศต่างๆ ในแถบนั้น จึงไม่มีใครสามารถมองข้ามบทบาทของช่องข่าวที่เมืองโดฮาแห่งประเทศกาตาร์อีกต่อไป

เรื่องราวของอัล-จาซีรายังมีอีกมาก พรุ่งนี้มาเล่าให้ฟังต่อเพราะไม่ใช่ว่า รัฐบาลไหนอยากจะตั้งสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง มีอำนาจ และมีเงินแล้วจะทำได้ เพราะท้ายที่สุดสื่อย่อมอยู่ที่ "ความน่าเชื่อถือ" ของประชาชน ไม่ใช่เพราะรัฐบาลต้องการ "แย่งพื้นที่ข่าว" อย่างที่เราได้ยินบ่อยๆ ในประเทศไทย

5. วงการข่าวโลกร้อนระอุ เมื่ออัล-จาซีรา ถ้าชนบีบีซี, ซีเอ็นเอ็นปีหน้า...
22 ตุลาคม 2548
ข่าวว่านักสัมภาษณ์มือฉมังของ "บีบีซี" อย่างเซอร์เดวิด ฟรอสท์ กำลังจะไปอยู่หน้าจอของสถานีข่าวอาหรับ "Al-Jazeera" ที่จะออกเป็นช่องภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมงทำเอาวงการข่าวทั่วโลกตื่นเต้นเป็นการใหญ่
เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน "ริส คานห์" แห่งซีเอ็นเอ็น ก็ประกาศว่าจะไปร่วมก่อตั้ง Al-Jazeera International กับเขาเหมือนกัน เท่ากับว่า สถานีข่าวอันโด่งดังของตะวันออกกลางมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กาตาร์แห่งนี้ ยังไม่ทันเกิดเปิดสถานีภาษาอังกฤษก็ได้รับความสนใจอย่างกึกก้องเสียแล้ว

เพราะเซอร์เดวิดไม่ธรรมดา เป็นพิธีกรรายการดังของบีบีซีที่ชื่อ Breakfast with Frost ถึง 500 ตอนก่อนที่จะเลิกรา เขาเคยสัมภาษณ์ประธานาธิบดีมะกัน 7 คนหลังนี้ทุกคน และนายกฯ อังกฤษ 6 คน หลังนี้ก็มาร่วมรายการของเขาแล้วทุกคนเช่นกัน รายการที่เซอร์เดวิด ฟรอสท์ สัมภาษณ์ เกรียวกราวที่สุดเห็นจะเป็นตอนที่ริชาร์ด นิกสัน มาเข้ารายการเขา หลังจากที่ตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาเริ่มสั่นสะเทือน เพราะคดีอื้อฉาววอเตอร์เกต

ความที่เซอร์เดวิดเป็นคนข่าวอังกฤษอาจจะได้เปรียบกว่านักข่าวอเมริกันในกรณีนี้ เพราะขณะนั้น นิกสันโกรธแค้นสื่อมะกัน หาว่าวงการสื่อสารมวลชนสหรัฐ มีอคติต่อเขา นิกสันจึงยอมให้คนข่าวอังกฤษอย่างเซอร์เดวิดสัมภาษณ์พิเศษหลายรอบ จนกลายเป็นแหล่งที่ได้คำพูดของนิกสันละเอียดละออที่สุด

การที่เซอร์เดวิดประกาศตนจะมาร่วมกับ "อัล-จาซีรา" ต้องถือว่า เป็นสกู๊ปใหญ่สำหรับสถานีทีวีดาวเทียมแห่งตะวันออกกลางแห่งนี้ เพราะอัล-จาซีราภาษาอาหรับที่ตั้งเมื่อปี 1996 นั้นต้องถือว่า เป็นสื่อโทรทัศน์ที่โด่งดังทัดเทียมกับบีบีซี และซีเอ็นเอ็นทีเดียว

หลายๆ ครั้ง อัล-จาซีรา สามารถได้ข่าวเดี่ยวที่ทีวีตะวันตกไม่ได้ เพราะแหล่งข่าวตะวันออกกลางเลือกที่จะให้ข่าวสถานีข่าวแห่งนี้มากกว่าบีบีซีและซีเอ็นเอ็น เช่น องค์กรอัล-ไกดาของออสมา บิน ลาเดน นั้น มักจะส่งเทปบันทึกภาพและเสียงมาให้อัล-จาซีรา หากต้องการจะสื่อกับชาวโลก

ปีหน้า อัล-จาซีราภาษาอังกฤษจะเริ่มออกอากาศ และเมื่อได้คนข่าวตะวันตกดังๆ อย่างริส คานห์ และเซอร์ เดวิด ฟรอสท์ จากซีเอ็นเอ็นและบีบีซีอย่างนี้ ก็เชื่อได้ว่ายังจะมีคนหน้าจอทีวีที่โด่งดังจากหลายสำนักในโลกตะวันตกมาร่วมวงด้วย เพราะข่าวบอกว่า สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งนี้ทุ่มเงินสุดตัวเพื่อก่อตั้ง Al-Jazeera International โดยพุ่งเป้าไปที่จะแข่งกับบีบีซี และซีเอ็นเอ็นในทุกสนามข่าว ไม่ต้องบอกก็พอจะเดาได้ว่า จะเป็นการแข่งขันที่มันหยดแน่นอน

ภาคผนวก ๑
สัมภาษณ์ผอ.ใหญ่บีบีซีภาคบริการโลก เรื่องการปิดแผนกไทย
อรนุช อนุศักดิ์เสถียร

อรนุช อนุศักดิ์เสถียร ถาม ไนเจล แชปแมน ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลกถึง กรณีการปิดบีบีซีภาคภาษาไทย

อรนุช เราอยากทราบว่าทำไมคุณถึงตัดสินใจปิดบีบีซีภาคภาษาไทย

ไนเจล เราตัดสินใจปิดภาคภาษาไทยหลังจากได้ประเมินผลการออกอากาศของแผนกต่างๆ ทั้ง 43 ภาษาแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและทำอย่างละเอียดละออ เราตัดสินใจว่า เรื่องสำคัญสำหรับแผนกไทยคือ จำนวนผู้ฟังซึ่งมีอยู่น้อย ในที่สุดเราได้ข้อสรุปว่าเราจำเป็นต้องใช้งบประมาณก้อนนี้กับภูมิภาคอื่นซึ่งความต้องการของผู้ฟังมีมากกว่าในประเทศไทย นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด

อรนุช แต่ผู้ฟังของเราหลายคนเขียนเข้ามาว่า สื่อในประเทศไทยไม่ได้เสรี ไม่ได้เป็นกลางหรืออิสระอย่างที่คุณคิด ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจผิดพลาดอย่างร้ายแรงหรือที่ปิดแผนกไทยตอนนี้

ไนเจล ผมไม่ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาด สังคมมีขึ้นมีลง บางช่วงสื่อก็มีเสรีมาก บางช่วงสื่อก็เสรีน้อยลง แต่ว่าโดยรวมแล้ว คนไทยมีทางเลือกมากในการบริโภคสื่อ ทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ ไม่ใช่ไม่มีทางเลือกเหมือนในบางภูมิภาค ผมได้แต่หวังว่าจะไม่ต้องตัดสินใจทำอย่างนี้ แต่ว่าเราจำเป็นต้องทำ เพราะความต้องการสื่อของผู้ฟังในภูมิภาคอื่นอาจจะมากกว่า ผมต้องให้แน่ใจว่าเราตอบสนองผู้ฟังเหล่านี้ได้

อรนุช เงินที่ประหยัดจากแผนกไทยจะเอาไปใช้กับทีวีภาษาอาหรับ นี่เป็นการตัดสินใจเพื่อการเมืองหรือเปล่า

ไนเจล ไม่ใช่เพราะการเมืองแน่นอน เป็นการตัดสินใจของเรา ของบีบีซี เพราะตามแผนการธุรกิจของเรา เราพิจารณาความต้องการในห้าปีข้างหน้า เรามีงบประมาณจำกัด ถ้าต้องการจะแข่งขันในโลกที่มีการแข่งขันสูงในตะวันออกกลางและในโลกอาหรับ เราต้องมีทีวีภาษาอาหรับ แค่มีวิทยุและข่าวออนไลน์เป็นภาษาอาหรับอย่างเดียวไม่พอ แม้ว่าจะเป็นบริการที่ประสบความสำเร็จสูงก็ตาม เราจำเป็นต้องมีทีวีด้วย

อรนุช เราเปิดบริการมา 65 ปี คุณจะบอกลาคนฟังที่ติดตามรายการของเราอย่างสม่ำเสมออย่างไร คุณจะบอกอะไรกับคนฟัง

ไนเจล บริการภาคภาษาไทยไม่ให้หยุดให้บริการทันทีในวันนี้ ซึ่งเราแถลงข่าวต่อสาธารณชน แต่เรากำหนดว่าภาคภาษาไทยจะยุติการอากาศอย่างช้า ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2549 ระหว่างนี้ เราต้องหารือกับคนในแผนกไทยว่า จะออกอากาศถึงเมื่อไหร่ ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการหารือกับสถานีพันธมิตรที่ออกอากาศรายการของบีบีซีในประเทศไทยด้วย

ผมอยากบอกกับผู้ฟังทุกคนว่า ทุกคนเป็นผู้ฟังที่ติดตามรายการอย่างสม่ำเสมอ และเห็นคุณค่าของบริการ เรายินดีที่ได้ให้บริการกับผู้ฟังเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ว่าในที่สุด เราต้องตัดสินใจ แต่เป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในที่สุดเราต้องยอมรับว่ามีภูมิภาคอื่น และมีบริการใหม่ๆ รวมทั้งทีวีและสื่ออื่น ที่เราต้องให้บริการเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน บริการเหล่านี้มีความสำคัญกว่า แม้ว่าเราจะเสียใจและเสียดายบริการที่ให้กับผู้ฟังคนไทยเพียงใดก็ตาม
ข่าวจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2548

ภาคผนวก ๒
บีบีซี แถลงยืนยันปิดรายการวิทยุภาคภาษาไทย

กรุงเทพฯ - ผู้แทนระดับสูง "บีบีซี" แถลงยืนยันปิดรายการวิทยุภาคภาษาไทยต้นปีหน้า อ้างเหตุมีผู้ฟังน้อย ชี้คนไทยไม่ขาดแคลนสื่อที่เป็นกลาง เพราะยังมีบีบีซีภาคอังกฤษบริการอยู่

เมื่อวานนี้ นายไมค์ ครองค์ ผู้ควบคุมด้านการจัดจำหน่ายและเทคโนโลยีแห่งบรรษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษ (บีบีซี) แถลงที่สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กรณีประกาศแผนปฏิรูปหน่วยงานครั้งใหญ่ โดยเตรียมยุบบริการวิทยุภาคภาษาต่างประเทศ 10 ภาษา รวมถึงภาษาไทย ซึ่งจะยุติการกระจายเสียงอย่างช้าในวันที่ 31 มีนาคม 2549

การตัดสินใจดังกล่าว นำไปสู่การยุติสถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย หลังดำเนินกิจการมา 65 ปี และก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องในสังคมไทยเพราะเห็นว่าบีบีซีถอนตัวในช่วงที่เสรีภาพสื่อไทยถูกจำกัด

นายครองค์ ยืนยันว่า บีบีซีได้ดำเนินการตามแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองต่อกระแสโลกาภิวัตน์ โดยการลดงบประมาณจากวิทยุภาษาต่างประเทศ จะถูกนำไปลงทุนพัฒนาสถานีโทรทัศน์ภาษาอารบิค ซึ่งเป็นโทรทัศน์ภาษาต่างประเทศรายการแรกของบีบีซี ภาคบริการโลก คาดว่าจะแพร่ภาพได้ภายในปี 2550

นอกจากนี้ นายครองค์ยังระบุว่าความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสื่อในปัจจุบัน ทำให้บีบีซีต้องปรับตัว โดยลงทุนเพื่อพัฒนาสื่อประเภทออนไลน์ ดิจิทัล และบรอดแบนด์ พร้อมยืนยันว่าการที่ต้องยุบภาคภาษาไทย เพราะเหตุผลที่มีผู้ฟังน้อย ขณะที่ยังจะนำเสนอรายการภาคภาษาพม่าและเวียดนามตามปกติ หลังผ่านการพิจารณาความคุ้มทุนโดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

กรณีที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกเรื่องเสรีภาพของสื่อไทยนั้น นายครองค์ชี้ว่าความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละฝ่ายซึ่งต่างกันไป และบีบีซีไม่ได้งดบริการกับชาวไทยโดยสิ้นเชิง เพราะยังมีสถานีวิทยุภาคภาษาอังกฤษ และสถานีโทรทัศน์บีบีซี เวิลด์ ให้บริการผู้ชมอยู่

ต่อข้อซักถามที่ว่า กระแสเรียกร้องในสังคมไทยที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น จะทำให้บีบีซีทบทวนการตัดสินใจหรือไม่นั้น นายครองค์มองว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบ เนื่องจากเป็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการพิจารณามาอย่างดีแล้ว

ด้านนายสมชัย สุวรรณบรรณ หัวหน้าแผนกบีบีซีภาคภาษาไทย เผยว่าบีบีซีให้ความสำคัญกับสวัสดิการของพนักงานเป็นอันดับแรก โดยการที่ทีมงานไทยต้องยุติบทบาทลงเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ทุกคนล้วนได้รับประสบการณ์จากบีบีซีจนเป็นมืออาชีพ และจะได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ บีบีซีภาคภาษาต่างประเทศ 10 ภาษาที่จะถูกยุบ ได้แก่ ฮังการี, สาธารณรัฐเช็ก, โครเอเชีย, กรีซ, โปแลนด์, สโลวะเกีย, สโลวีเนีย, บัลแกเรีย, คาซัคสถาน, และไทย
นำมาจาก http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=8746
โดย subsb [29 ต.ค. 2548]

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
R
related topic
291048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
รัฐบาลมะกันวิพากษ์ว่า อัล-จาซีรามีความลำเอียง ออกแต่ข่าวด้านของบิน ลาเดนและฝ่ายตรงกันข้ามกับอเมริกาในสงครามอัฟกานิสถาน หัวหน้าข่าวของอัล-จาซีราประกาศตอบโต้ทันควันว่า ทางสถานีได้เปิดโอกาสให้ทางอเมริกันได้ออกข่าวด้านของตนเพื่อความเป็นธรรมด้านข่าว
แต่ทางวอชิงตันไม่ใส่ใจและไม่ใช้โอกาสนั้น

บีบีซีภาษาไทย...เหยื่อการปรับทิศการเมืองตะวันตก
จากคอลัมภ์ กาแฟดำ (นสพ.กรุงเทพธุรกิจ)
แกนนำด้านตะวันตกกำลังไปเล่นเกมแย่งชิงความได้เปรียบทางข่าวสารในโลกตะวันออกกลาง เอเชียที่เคยเป็นตัวละครสำคัญในช่วงสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะลดความสำคัญลงในสายตาของตะวันตก

อเมริกาเปิดเกมนี้ก่อนหน้านี้แล้วด้วยการตั้งสถานีข่าวดาวเทียมภาษาอาหรับเรียกว่า "al-Hurra" หรือ "เสียงอิสระ" ออกอากาศจากวอชิงตันตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้วให้ประชาชนในโลกอาหรับรับฟังได้ทั่ว เพราะเห็นว่า กำลังแพ้สงครามแย่งมวลชนด้วยข่าวสารในแถบนั้น แต่เมื่อรู้ว่านี่เป็นสถานีที่เอาเงินงบประมาณรัฐบาลมะกันมาทำ ความน่าเชื่อถือก็ย่อมจะเป็นปัญหาอย่างช่วยไม่ได้

ซีเรีย ซึ่งมะกันข่มขู่ตลอดมาก็ออกมาวิพากษ์ถึงสถานีข่าวภาษาอาหรับของมะกันแห่งนี้ว่า เป็นความพยายามที่จะกลับมาเล่นบทบาทการเป็นจักรวรรดินิยมของสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง บีบีซีเปิดสถานีโทรทัศน์ข่าวภาษาอาหรับ จะไม่โดนวิจารณ์ทำนองนี้บ้างหรือ? (คัดลอกมาจากคอลัมภ์ กาแฟดำ...บีบีซีภาษาไทย เหยื่อการปรับทิศทางการเมืองตะวันตก)