นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

บันทึกการเดินทางสู่นากาแลนด์
นากาแลนด์ ตัวตนของคนชายขอบของอุษาคเนย์
สุภัตรา ภูมิประภาส
นักวิชาการอิสระ

บทความเพื่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับคนชายขอบ

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้เป็นบันทึกการเดินทางของคุณสุภัตรา ภูมิประภาส
ใน
ีโอกาสไปเยือนแผ่นดินของชาวนากา โดยนำเสนอถึงประเด็นการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์
ซึ่งเคยเผยแพร่แล้วในเนชั่น สุดสัปดาห์ในชื่อ

นากาแลนด์…ผู้คน และ แผ่นดิน

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 715
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13 หน้ากระดาษ A4)

 


นากาแลนด์…ผู้คน และ แผ่นดิน
ฉันเดินทางไปนากาแลนด์ (Nagaland) ด้วยความตื่นเต้นที่จะได้ไปเห็นผืนป่าฝน และขุนเขาแห่งตำนาน "นักล่าหัวมนุษย์"ที่เกรียงไกรในอดีต มีตำนานเล่าขานผ่านกันมาว่าชาวนากาเป็นเผ่าพันธุ์นักรบที่เดินทางรอนแรมผ่านผืนแผ่นดินใหญ่ของจีน ลงมาทางทิศใต้ผ่านยูนนาน เข้าสู่ดินแดนอุษาคเนย์ และเอเชียใต้

หลายคนอาจยังนึกไม่ออกว่าขุนเขาของชาวนากาอยู่ตรงไหนในโลก หากกางแผนที่เอเซียตรงหน้า แล้วตั้งหลักกันที่พรมแดนด้านตะวันตกของไทย เพื่อนบ้านของเรา คือสหภาพพม่า นากาแลนด์อยู่อีกฝั่งของพม่า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับรัฐคะฉิ่น และมีพรมแดนทางเหนือติดกับจีน พรมแดนด้านอื่นของนากาแลนด์เชื่อมต่อกับรัฐอัสสัม (Assam) และรัฐมณีปูร์ (Manipur) หรือ "มณีปุระ"ที่คนไทยคุ้นหูกันดี

สถานะปัจจุบันของนากาแลนด์ที่โลกรู้จัก คือรัฐหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เช่นเดียวกับรัฐอัสสัม และรัฐมณีปุระ แต่เพื่อนๆชาวนากาของฉันไม่เคยคิดเช่นนั้นเลย พวกเขาประกาศว่า "นากาแลนด์ไม่เคยเป็นของอินเดีย" เรื่องราวของแผ่นดินนากาที่พวกเขาเล่าให้ฉันฟังนั้นแสนเศร้า ชะตากรรมของผู้คนท่ามกลางสงครามกอบกู้อิสรภาพ และตำนานบรรพบุรุษผู้กล้าของชาวนากาที่ลุกขึ้นสู้กับผู้รุกราน สืบเนื่องกันมาเกือบสองศตวรรษ นับตั้งแต่ครั้งแรกที่กองทัพอังกฤษบุกรุกเข้ามาในแผ่นดินนากาเมื่อปี พ.ศ. 2375 นักรบนากาไม่เคยยอมจำนน พวกเขาตอบโต้ จู่โจม ตีกลับ ยอมตายเมื่อพ่ายแพ้ แต่ครั้งใดที่พวกเขารบชนะ นักรบนากาจะตัดหัวศัตรูประกาศชัย

อังกฤษถอนทัพออกไป เมื่อปี พ.ศ.2490 แต่การต่อสู้ของชาวนากาไม่เคยจบสิ้น ถึงวันนี้ นักรบป่าของชาวนากายังผลัดรุ่นกันขึ้นมา เปลี่ยนอาวุธคู่กายจากดาบหอกเป็นกระบอกปืน ยืนหยัดอยู่ตามป่าเขา ทำสงครามกองโจรขับเคี่ยวกับทั้งรัฐบาลพม่า และรัฐบาลกลางของอินเดียที่ส่งทหารเข้ามาหลังจากอังกฤษถอนทัพออกไป

เสียงปืนของนักรบนากายังดังก้องทั้งในป่าและในเมือง ฉันไปเจอพวกเขามาแล้ว

กัลกัตตา-ดิมาพูร์...ประตูสู่นากาแลนด์
ฉันถือเป็นโชคอย่างยิ่งที่การเดินทางครั้งนี้มี อาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ร่วมทางไปด้วย ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีคุณูปการมากมายกับองค์ความรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์และการเมือง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนร่วมทางอีกสองคน คือ "แซม" (สิทธิพงศ์ กัลยาณี จากสื่อทางเลือกเอเชียทัศน์/ Images Asia) และ "น้อย" (เพ็ญนภา หงษ์ทอง) เพื่อนร่วมงานของฉันที่หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น (The Nation)

จากกรุงเทพ เราบินไปกัลกัตตา เพื่อรอต่อเครื่องบินไปลงที่ดิมาพูร์ (Dimapur) ซึ่งเป็นเมืองท่าของนากาแลนด์ การเดินทางเข้านากาแลนด์นั้น นอกจากต้องมีวีซ่าของรัฐบาลอินเดียแล้ว ยังต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแห่งนากาแลนด์ (Government of Nagaland) ด้วย อันนี้เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอินเดีย และ สภาสังคมนิยมแห่งชาตินากาลิม (The National Socialist Council of Nagalim/NSCN) ซึ่งอยู่ระหว่างการทำข้อตกลงหยุดยิงกันอยู่ สัญญาหยุดยิงนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ในวีซ่าของรัฐบาลนากาแลนด์ พวกเราได้รับอนุญาตให้อยู่ได้เพียง 10 วันและในพื้นที่ตามที่ระบุไว้เท่านั้น

เราถึงกัลกัตตาตอนตีหนึ่ง แต่เที่ยวบินไปดิมาพูร์ กำหนดบินเวลาสิบโมงเช้า เพื่อนชาวนากาจึงจัดการจองห้องพักในโรงแรมที่สนามบินกัลกัตตาไว้ให้พวกเรา แต่อย่าเพิ่งนึกภาพโรงแรมแอร์พอร์ตแบบมาตรฐานระดับห้าดาวเชียว เพราะห้องพักที่พวกเราถูกพาไปพักนี่ อยู่บริเวณชั้นสองของสนามบินในประเทศ ราคาห้องพักเตียงคู่คืนละ 900 รูปี (เงินรูปี กับเงินบาท มีค่าใกล้กันมาก ประมาณ 20 บาท เท่ากับ 22 รูปี) ทั้งสภาพห้องและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆในห้องนั้นเก่าคร่ำฟ้องว่าถูกใช้งานแบบไม่ใส่ใจดูแลรักษามานานปี ไม่ชวนให้นอนหลับฝันดีเลย

ฉันกับน้อยเผชิญเรื่องตื่นเต้นตั้งแต่คืนแรก เมื่อพนักงานโรงแรม 3 คน ชายล้วน มาเคาะประตูและบุกเข้ามาในห้องชนิดที่เราไม่ทันตั้งตัว ชายสูงอายุที่เป็นหัวหน้าแต่งตัวตามสบายเหมือนอยู่บ้าน เขาใส่เสื้อกล้ามสีขาวหม่นกับกางเกงขายาว ถือสมุดลงทะเบียนผู้เข้าพักเล่มโตมาให้เราเซ็น น้อยรีบคว้าปากกามาเซ็นเพื่อให้เสร็จเรื่อง ทั้งๆที่ไม่เห็นชื่อเธอปรากฏในทะเบียนแขกเข้าพักในสมุดเล่มนั้น แต่คุณลุงคนนั้นก็ไม่เห็นโวยวายอะไร พอเซ็นเสร็จ หนุ่มคนหนึ่งทำท่าแบมือขอ "ทิป" อีกด้วย เราสองคนทั้งตกใจทั้งงงกับธรรมเนียมปฏิบัติแบบนี้

เช้าวันรุ่งขึ้น ระหว่างรอเครื่องบินไปดิมาพูร์ อาจารย์ชาญวิทย์ชี้ชวนให้พวกเราดูรูปปั้นของ สุภาส จันทรโภค (Subhas Chandrabose) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสนามบินภายในประเทศ ข้อความที่สลักตรงฐานของรูปปั้นระบุว่าเพิ่งจะมีพิธีเปิดผ้าคลุมไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2545 ท่านสุภาสเป็นอดีตผู้นำคนหนึ่งของอินเดีย ผู้มีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับซาปู พิโซ (Zapu Phizo) ที่ชาวนากายกย่องเชิดชูว่าเป็น "วีรบุรุษของชาวนากา"ในการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ

สุภาสเป็นอดีตนายกเทศมนตรีของเมืองกัลกัตตา และเป็นอดีตประธานพรรคคองเกรส ระหว่างปี พ.ศ.2481-2482 ท่านสุภาสแยกตัวออกไปจากพรรคคองเกรส ภายหลังที่เกิดความขัดแย้งทางความคิดกับท่านมหาตมะคานธี ในแนวทางการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

สุภาสนำกองทัพอินเดีย (The Indian National Army) เข้าร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยหมายมาดให้อินเดียเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร ท่านโชคร้ายที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ชื่อของท่านได้รับการบันทึกไว้ในฐานะผู้นำที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอินเดีย เช่นเดียวกับซาปู พิโซ ที่ชาวนากายังคงจดจำท่านไว้ในฐานะวีรบุรุษ พิโซเข้าร่วมรบกับกองทัพของท่านสุภาส ช่วยญี่ปุ่นต่อสู้กับสหราชอาณาจักร เพราะญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะยอมรับและปฏิบัติกับนากาแลนด์ในฐานะประเทศเอกราช

ก่อนขึ้นเครื่องบินไปดิมาร์พูร์ พวกเราถูกตรวจค้นอย่างละเอียดชนิดที่ต้องเปิดกระเป๋าทุกใบให้เจ้าหน้าที่ดู จากสนามบินกัลกัตตา อินเดียนแอร์ไลน์พาเรามาถึงสนามบินดิมาพูร์ ซึ่งเป็นสนามบินแห่งเดียวของนากาแลนด์ เราเข้าพักที่โรงแรมซารามาติ (Saramati Hotel) ที่เพื่อนๆชาวนากาของเราบอกว่าเป็นโรงแรมใหญ่ที่สุด และดีที่สุดของเมืองนี้ และมีห้องอาหารที่ให้บริการเกือบตลอด 24 ชั่วโมง อาหารมื้อแรกของพวกเราในแผ่นดินนากาเริ่มต้นที่ห้องอาหารแห่งนี้

จัดการกับอาหารมื้อกลางวันเสร็จ พวกเราเริ่มออกสำรวจพื้นที่กันทันที ห่างจากโรงแรมไปประมาณ 50 เมตรเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตกลางแจ้งที่กำลังมีการจัดงานแสดงหัตถกรรมและผ้าพื้นเมืองของนากาแลนด์สำหรับการส่งออก จัดโดยสหพันธ์ผู้ทอผ้าแห่งเมืองดิมาพูร์ ฉันเริ่มทำความรู้จักกับเผ่าพันธุ์หลากหลายบนแผ่นดินนากาผ่านผืนผ้าในงานนี้

แท้จริงแล้วนากาแลนด์เป็นดินแดนของหลายชนเผ่าที่มีภาษาและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน "นากา"เป็นเพียงชื่อกลางที่ใช้ร่วมกันสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่บนดินแดนแห่งนี้ ต่างเผ่าต่างมีตำนานแห่งที่มาของตัวเอง แต่จุดร่วมคือแต่ละเผ่าพันธุ์ต่างเชื่อว่าตนมีต้นสายชาติพันธุ์เป็นพวกมองโกลอยด์ และรูปลักษณ์ของพวกเขาก็บ่งบอกเช่นนั้น

ฉันได้ผ้ามาหลายผืน ทั้งผ้าห่ม ผ้าทอมือ และย่ามจากฝีมือทอของผู้หญิงเผ่าอังกามี่ (Angami) โลท่า (Lotha) ตังกูล (Tangkhul) ซูมี่ หรือ เซมา (Sumi/Sema) แต่ละผืนสีสันสดใสชวนให้นึกถึงผ้าทอมือของกลุ่มของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในบ้านเรา นอกจากนั้นยังมีสินค้าประเภทไม้แกะสลักเป็นรูปหัวคน บางหัวทำจากทองเหลืองแล้วนำมาร้อยห้อยกับลูกปัดเป็นสร้อยคอ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ยืนยันถึงฉายา "นักล่าหัวมนุษย์"ของคนนากาในอดีต

คนขายพากันหัวเราะชอบใจ เมื่อฉันล้อเขาว่า "นี่เป็นมรดกที่บรรพบุรุษของพวกคุณทิ้งไว้ให้ใช่มั๊ย"

นักรบนากา…คนล่าหัวคน
น่าแปลกที่ชาวนากา กลายเป็นสัญลักษณ์ของ "นักล่าหัวมนุษย์" ทั้งๆที่ยังมีชาติพันธุ์อื่นอีกมากมายในดินแดนส่วนอื่นของโลกยึดประเพณีปฏิบัติแบบเดียวกัน เพื่อนชาวนากาคนหนึ่งของฉันชื่อ "อาชุมเบโม"เล่าถึงเรื่องบรรพบุรุษของชาวนากากับประเพณีการล่าหัวมนุษย์ให้ฟังว่า เป็นประเพณีในการทำสงครามของนักรบชาวนากา ซึ่งจะกระทำต่อศัตรูผู้รุกรานเข้ามาทำลายความสงบสุขของชุมชนเท่านั้น

"เหมือนเผ่าพันธุ์อื่นๆทั่วโลก ที่ต่างมีนักรบของชนเผ่าเพื่อทำหน้าที่ปกป้อง คุ้มครองชุมชน สำหรับชาวนากา หัวของศัตรูผู้รุกราน หมายถึงชัยชนะ และความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์"

นักรบหนุ่มชาวนากาที่กลับจากสมรภูมิรบ พร้อมกับวีรกรรมการล่า "หัวมนุษย์" จะได้รับการยกย่องเชิดชูจากคนในชุมชน รางวัลของเขา คือ อาภรณ์ประดับกายที่ถักทอลายสำหรับ "ผู้กล้า"ที่คนธรรมดาไม่มีสิทธิ์ได้สวมใส่ เขาจะกลายเป็นวีรบุรุษผู้เป็นที่หมายปองของหญิงสาวทุกคนในหมู่บ้าน เป็นอัศวินที่ได้สิทธิ์ในการเลือกหญิงงามมาเคียงกาย

"เชคสเปียร์" มหากวีเอกของโลก เคยบันถึงถึงเรื่องราวของชาวนากาไว้ว่า "หญิงสาวชาวนากาเป็นแรงจูงใจหลักให้นักรบหนุ่มนำศีรษะมนุษย์กลับสู่หมู่บ้าน เพราะพวกเธอจะไม่มีสายตาชื่นชมชายใดที่เดินมือเปล่ากลับจากสมรภูมิรบ"

บรรพบุรุษของชนเผ่านากา ยังใช้ "หัวมนุษย์" สำหรับพิธีกรรมทางศาสนา พวกเขาจะตัดหัวศัตรู มาบูชาเทพเจ้า เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองพื้นที่เพาะปลูกจากวิญญาณชั่วร้ายทั้งปวง พวกเขามีความเชื่อว่า การบูชาเทพเจ้าด้วยหัวมนุษย์นั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังทำให้หญิงสาวชาวนากามีสุขภาพแข็งแรง สำหรับการทำหน้าที่สืบสายชาติพันธุ์

อาชุมเบโม ยิ้มเมื่อฉันถามถึงความเชื่อของคนรุ่นปัจจุบันอย่างเขา "ทุกอย่างในโลกมีการเปลี่ยนแปลง ชาวนากาก็เช่นกัน เราเลิกทำอย่างนั้นมานานแล้ว นากาแลนด์เหมือนดินแดนที่ถูกโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก ผมรู้ว่ามีคนอีกจำนวนมากได้ยินแต่เรื่องนักล่าหัวมนุษย์บนแผ่นดินของเรา แต่นั่นมันเป็นอดีตไปแล้ว ผมอยากให้คุณไปเห็นวิถีชีวิตของพวกเราในปัจจุบันด้วยตาคุณเอง"

อาชุมเบโม...นักรบรุ่นใหม่แห่งนากาแลนด์ กับเสียงเพรียกเพื่อสันติภาพ
อาชุมเบโม เป็นประธานสหพันธ์นักศึกษาแห่งนากาแลนด์ เดือนตุลาคม ปี 2545 เขาพาเพื่อนหนุ่มสาวชาวนากามาบอกเล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษ ผ่านการแสดงทางวัฒนธรรมที่พวกเขาให้ความหมายว่าเป็น "เสียงเพรียกเพื่อสันติภาพ" ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ฉันยังจำได้ถึงเพลงบทหนึ่งที่พวกเขาร่วมกันประสานพลังเสียงขับขานกังวานก้องหอประชุม

"Oh freedom, freedom is coming
Oh yes I know, Oh yes I know"

อาชุมเบโม บอกฉันว่าคนหนุ่มสาวของนากาแลนด์กำลังรอคอยเสรีภาพ.. เสรีภาพที่คนรุ่นเขายังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสเลยในแผ่นดินถิ่นเกิด "พวกเรากำลังต่อสู้เพื่ออนาคต เราอยากมีชีวิตที่ปราศจากความกลัว"

Freedom is coming …เสรีภาพกำลังมาเยือนแผ่นดินนากา
พวกเขาเชื่อเช่นนั้น

เดือนเมษายน ปี 2546 ฉันตามอาชุมเบโมไปที่นากาแลนด์ เขาชวนฉันไปดูการประชุมใหญ่ของของสหพันธ์นักศึกษาแห่งนากาแลนด์ ซึ่งจัดขึ้นทุกสองปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 20 นอกจากการประชุมแล้ว ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆที่อยู่ร่วมกันบนแผ่นดินนากา คณะของเรามีโอกาสได้ไปเหยียบแผ่นดินนากาด้วยเหตุนี้

สถานที่จัดประชุมอยู่ที่ "นิวแลนด์" (Niuland) อยู่ห่างจากเมืองดิมาพูร์ที่เราพักเป็นระยะทางเพียง 27 กิโลเมตร แต่เราต้องใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบสองชั่วโมงบนถนนลูกรังขรุขระ บนเส้นทางยาวเพียง 27 กิโลเมตรนี้ เราผ่านหมู่บ้านของชนเผ่าต่างๆ 8 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีประชาชนแต่งชุดประจำเผ่า และนักเรียนประถมจากโรงเรียนมิชชั่นนารีมาตั้งแถวรอรับขบวนของมุขมนตรีแห่งนากาแลนด์ (Chief Minister) ที่ได้รับเชิญไปเปิดงาน

เมื่อไปถึงนิวแลนด์ พวกเราเริ่มตระหนักว่าการประชุมนักศึกษาของนากาแลนด์ครั้งนี้เป็นงานใหญ่เกินกว่าที่เราคิดไว้ มีนักข่าวมารอทำข่าวจำนวนมาก ทั้งนักข่าวท้องถิ่น และพวกที่เดินทางมาจากรัฐอัสสัม มณีปูร์ และกัลกัตตา คนหนุ่มคนสาวชาวนากานับพันคนเดินทางมารวมตัวกัน

ที่นี่ พวกเขามาจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ หลายพื้นที่ ทั้งในนากาแลนด์ และต่างรัฐ คือ มณีปุระ (Manipur) ทรีปุระ (Tripura) อัสสัม (Assam) อรุณาจัลประเทศ ( Arunachal Pradesh) และชุมชนนากาในเขตพื้นที่ชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า แต่ละกลุ่มจะมีตัวแทนที่แต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า นับรวมแล้วได้ 13 เผ่า ในพิธีเปิดการประชุม พวกเขาผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาแสดงวิถีชีวิตของบรรพบุรุษผ่านการร้องเพลงเต้นรำอันเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์

เพื่อนชาวนากาเคยบอกฉันว่า "ชาวนากาก็เหมือนกับชนพื้นเมืองอื่นๆ ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของเรา" พวกเขาร้องรำทำเพลงกันในทุกเทศกาล ฉลองการสิ้นสุดของฤดูเก็บเกี่ยว ฉลองวันที่ไม้ป่าผลิกลีบคลี่ใบ ฉลองชัยชนะในการนำหัวศัตรูมาสังเวยเทพเจ้าแห่งป่าเขา ฉลองการแบ่งปันจากผู้มั่งมีสู่ผู้ยากไร้ ...แต่นั่นคือบทเพลงในคืนวันแห่งอดีต

บทเพลงของวันนี้แตกต่างไปจากวันวาน กลายเป็นบทเพลงเพรียกหาสันติภาพที่มีคนหนุ่มสาวเป็นผู้ขับขาน

ฉันหวนคิดถึงแววตาหม่นหมองของคนหนุ่มอย่างอาชุมเบโม ตอนที่เขาบอกฉันว่า "คนรุ่นผมไม่เคยมีชีวิตสงบสุขเลย พวกเราต่างเป็นเหยื่อของสงครามตั้งแต่ลืมตาดูโลก" เขาอายุ 27 ปี เกิดมาท่ามกลางสงครามระหว่างนับรบป่าชาวนากา กับรัฐบาลอินเดียที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 สงครามยาวนานกว่าห้าทศวรรษที่พรากชีวิตคนนากานับแสน ทำให้เขาไม่เชื่อว่าการใช้ความรุนแรงคือวิถีทางที่จะนำอิสรภาพมาสู่นากาแลนด์

วันนี้ บนเส้นทางการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของแผ่นดินนากา อาชุมเบโม นำขบวนคนหนุ่มสาวชาวนากาออกมาร่วมสนับสนุน "การเจรจาหยุดยิง" และ "การเจรจาสันติภาพ" ระหว่างรัฐบาลอินเดีย กับ สภาสังคมนิยมแห่งชาตินากาลิม (National Socialist Council of Nagalim/ NSCN)

ในที่ประชุมใหญ่สหพันธ์นักศึกษาแห่งนากาแลนด์ อาชุมเบโม กับเพื่อนๆของเขาคุยกันถึงความเป็นเอกภาพของคนหนุ่มสาวในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ฉันพบว่าในความแตกต่างของเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ คนหนุ่มสาวเหล่านี้มีความฝันร่วมกัน พวกเขาฝันถึงอนาคตที่งดงามบนแผ่นดินที่สิ้นเสียงปืน

เมื่อนักรบป่ามาเยือน
แต่ในโลกของความจริง ณ วันนี้ แผ่นดินนากายังคงมีเสียงปืนให้ได้ยิน การเจรจาหยุดยิงไม่ได้ครอบคลุมเต็มพื้นที่ คณะของเรารับรู้ว่านักรบป่ายังพร้อมรบอยู่เสมอ ณ ฐานที่มั่นของพวกเขา ฝ่ายรัฐบาลกลางของอินเดียก็เตรียมพร้อมเช่นกัน เราจึงไม่มีโอกาสเห็นป่าทึบระหว่างการเดินทางในนากาแลนด์เลย สองฟากถนนถูกถากถางเป็นพื้นที่โล่งเตียนข้างละประมาณ 50-100 เมตร เพื่อป้องกันการซุ่มโจมตีของทหารป่า

แต่เราพบพวกเขาแล้วแบบไม่คาดฝัน
วันที่สามในนากาแลนด์ คณะของเราย้ายมาพักค้างคืนที่นิวแลนด์ เพราะเจ้าภาพเตรียมบ้านพักไว้ให้ พวกเราถูกจัดเป็นแขกวีไอพี ด้วยบารมีของอาจารย์ชาญวิทย์ที่ได้รับเชิญไปบรรยายในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ กับมุมมองต่ออนาคตในบริบทของโลกไร้พรมแดน" (History of Southeast Asia and Future Perspective in the Present Global Context)

ในวันที่พวกเขาปรากฏกาย
เช้านั้น น้อย กับ แซม พากันออกไปส่งอีเมล์ที่ศูนย์นักศึกษา ส่วนฉันกับอาจารย์ชาญวิทย์นั่งคุยกันอยู่ในห้องรับแขกของบ้าน ชายฉกรรจ์ 7 คน เดินดุ่มเข้ามาในบ้าน ขณะที่คนหนุ่มอีกสี่ห้าคนกระจายกำลังไปยืนคุมเชิงอยู่หน้าบ้าน ทุกคนมีอาวุธครบมือ ยืนถือปืนยาวตั้งท่าในลักษณะเตรียมพร้อม ฉันสบตากับอาจารย์ชาญวิทย์แล้วต่างคนต่างนั่งนิ่งขึงเมื่อชายสองคนท่าทางเป็นหัวหน้ากลุ่มเข้ามานั่งขนาบข้าง ขณะที่อีกห้าคนเดินเข้าไปหลังบ้านอย่างถือวิสาสะ

เจ้าของบ้านหญิงและกลุ่มอาสาสมัครหญิงที่เจ้าภาพส่งมาดูแลพวกเรากำลังเตรียมอาหารเช้าอยู่ในครัว พวกเขาพูดคุยโต้ตอบกันเสียงดัง แต่เป็นภาษานากาที่เราไม่อาจเข้าใจได้เลย ที่ห้องรับแขก ผู้ชายคนที่นั่งข้างฉันเริ่มซักถามฉันด้วยภาษาอังกฤษว่าพวกเรามากันกี่คน และจะกลับเมื่อไร ใบหน้าเขานิ่งเฉย ไม่มีรอยยิ้มฉันท์มิตรเลย ฉันตอบคำถามของเขา แล้วพยายามข่มความกลัว ส่งรอยยิ้มสบตาดุของเขา "แล้วพวกคุณล่ะ มาจากไหน"

เขาไม่ยิ้มตอบ แต่แนะนำตัวว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของ NSCN (สภาสังคมนิยมแห่งชาตินากาลิม) องค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวนากาในการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลอินเดีย ตอนนั้นฉันไม่แน่ใจว่าควรจะเชื่อเขาดีหรือไม่ เพราะการเมืองในนากาแลนด์นั้นซับซ้อนเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ภายในเวลาเพียงสามวันที่เรามาถึง ก่อนหน้านั้น ฉันรับรู้มาว่าความขัดแย้งต่อแนวทางการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ได้แบ่งคนนากาออกเป็นฝักฝ่าย ต่างฝ่ายต่างมีกองกำลังติดอาวุธ รบพุ่งกันเอง และหลายครั้งที่มีการอ้างชื่ออีกฝ่ายหนึ่งในการซุ่มโจมตีทหารของรัฐบาลอินเดีย

ในความไม่แน่ใจ ฉันไม่อาจทำอะไรได้เลย นอกจากเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของพวกเขา
ฉันดีใจที่ได้ยินเสียงน้อย กับ แซม กลับมา และฉวยโอกาสนั้นลุกออกไปหาทั้งสอง อาจารย์ชาญวิทย์ยังคงนั่งนิ่งอยู่กับที่ ฉันเดาว่าท่านคงกำลังครุ่นคิดประเมินสถานการณ์ตรงหน้า แต่แซม กับ น้อย ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น เห็นคนถือปีนยืนเรียงอยู่หน้าบ้าน แซม ซึ่งทำหน้าที่เป็นตากล้องของเรารีบเอากล้องวีดีโอคู่ใจของเขาขึ้นมาบันทึกภาพ เมื่อเห็นพวกเขาไม่ห้ามปราม ฉันจึงทำใจดีสู้เสือ ขอถ่ายรูปกับพวกเขาด้วย แล้วโมเมกล่าวลา บอกว่าพวกเราต้องไปเข้าร่วมการประชุมที่กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว

พวกเขาไม่ได้คัดค้านเมื่อพวกเราเดินจากมา ฉันเหลียวหลังไปมอง เห็นพวกเขาเดินกลับเข้าไปนั่งในห้องรับแขก

เย็นนั้น ฉันถามเจ้าของบ้านว่า คนกลุ่มนี้เป็นใครกันแน่ มาทำไม และต้องการอะไร คำตอบที่ได้คือ "พวกเขาเป็นนักรบป่า เขาได้ข่าวว่าพวกคุณมาที่นี่ จึงมาเยี่ยมพวกคุณ" ฉันย้อนนึกถึงเหตุการณ์ตอนเช้า ท่าทางตื่นตระหนกของเจ้าของบ้าน และใบหน้าปราศจากรอยยิ้มของชายฉกรรจ์กลุ่มนั้นแล้ว ยากที่จะทำใจให้เชื่อตามคำบอกนั้น

หรือว่า..พวกเขามาส่งสัญญาณเตือนบางอย่าง เพราะคืนนั้น พวกเราถูกขอร้องให้ยกเลิกการเดินทางกลับไปที่ดิมาพูร์

ผู้หญิงนากา...เหยื่อของความรุนแรง
เมื่อต้องเปลี่ยนแผนกะทันหัน ฉันจึงใช้เวลาคืนนั้นนั่งสนทนากับ เคโกะ สาวนากาที่ถูกส่งมาช่วยดูแลอำนวยความสะดวกต่างๆให้คณะของเรา เคโกะ เป็นชนเผ่าซูมี่ (Sumi) เธอเพิ่งจบปริญญาโทด้านศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเวสต์ เบงกอล (West Bengal University) ที่น่าสนใจคือ เธอทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "ผู้หญิงนากา..เหยื่อของความรุนแรง" เปรียบเทียบสถานะผู้หญิงในสังคมนากา ครั้งอดีตที่ยังมีการล่าหัวมนุษย์ กับ ปัจจุบันที่ต้องอยู่ท่ามกลางสงครามการเมืองระหว่างนักรบนากากับทหารของรัฐบาลอินเดีย

เคโกะ เล่าว่า ประเพณีการล่าหัวมนุษย์ในอดีตนั้น มิใช่เป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างผู้ชายเท่านั้น แต่ผู้หญิงได้ถูกนับรวมเข้าไปเป็น "เป้าหมาย"ของการไล่ล่าด้วย "เพราะพวกเขามีความเชื่อว่า การตัดหัวผู้หญิงของศัตรู เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของผู้ชาย ที่ไม่อาจปกป้องผู้หญิงของตัวเองไว้ได้"

ถึงปัจจุบัน เคโกะ บอกว่าผู้หญิงนากายังคงตกเป็นเหยื่อในระหว่างความขัดแย้งของผู้ชาย เพียงแต่รูปแบบของความรุนแรงเปลี่ยนไปจากการฆ่าตัดหัว มาเป็นการข่มขืน ทิ้งบาดแผลขมขื่นไว้ให้

"การข่มขืนไม่ใช่เป็นเรื่องตัณหาของผู้ชายอย่างเดียว แต่มันได้ถูกใช้เป็นอาวุธสงครามด้วย ผู้หญิงนากาจำนวนมากถูกข่มขืนในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตสู้รบ เพราะพวกเธอเป็นคนนากา พวกที่ข่มขืนเธอต้องการเย้ยหยันให้ผู้ชายนากาได้อายที่ไม่สามารถปกป้องผู้หญิงได้ "

ฉันถามเคโกะ ถึงสถานภาพหญิงชายในนากาแลนด์ในปัจจุบัน เธอตอบว่า "ถ้ามองจากข้างนอก เทียบกับผู้หญิงอินเดียแล้ว เรามีอิสระมากกว่า ไม่มีข้อห้ามสำหรับผู้หญิงที่จะออกไปพบปะสมาคมกับเพื่อนหญิงชาย และผู้หญิงนากาไม่ต้องดิ้นรนหาสินสอดทองหมั้นเพื่อที่จะได้แต่งงาน"

แต่ในสังคมนากาเอง เคโกะ เล่าว่าผู้หญิงยังคงไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะปักเจกบุคคล ตัวตนของพวกเธอถูกนับรวมเป็น 'ส่วนหนึ่ง'ของชายที่เป็นสามี เธอยกตัวอย่างเรื่องการเป็นเจ้าของทรัพย์สินของผู้หญิงว่า หญิงมีสามีเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และตราบเท่าที่เธอยังอยู่กับสามีเท่านั้น เมื่อไรที่สามีตายจากไป ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของครอบครัวเดิมของสามีทันที เคโกะบอกว่าเธออยากเห็นสังคมนากาเคารพความเป็นตัวตนของผู้หญิง ในฐานะที่พวกเธอเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เพราะมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน

"แต่ฉันศึกษาจากมุมมองของศาสนานะ" เธอออกตัว

เคโกะเป็นคริสเตียนเช่นเดียวกับชาวนากาส่วนใหญ่ คณะมิชชั่นนารีของอเมริกันแบบติสต์เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมนากาประมาณปี พ.ศ.2394 ปัจจุบันชนเผ่าต่างๆในนากาแลนด์มากกว่า 90 เปอร์เซนต์หันมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปแตสแตนท์-แบบติสต์ คนรุ่นใหม่ของนากาแลนด์ได้รับโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนของมิชชั่นนารีที่มีอยู่หลายแห่งในนากาแลนด์ ทำให้พวกเขาใช้ภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว แต่พวกเขายังคงใช้ภาษาของเผ่าพันธุ์สื่อสารระหว่างคนที่มาจากเผ่าเดียวกัน และใช้ภาษานากา ซึ่งเป็นภาษากลางสำหรับคนต่างเผ่าพันธุ์

โคฮิมา...สมรภูมิรบ สุสาน และความทรงจำ
เช้าวันรุ่งขึ้น คณะของเราเดินทางกลับจากนิวแลนด์ พร้อมๆกับคณะกรรมการสหพันธ์นักศึกษาฯ ย้อนกลับมาที่ดิมาพูร์ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปที่เมืองโคฮิมา (Khohima) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของนากาแลนด์ เส้นทาง 74 กิโลเมตรจากดิมาพูร์ไปโคฮิมานั้น แม้จะราบเรียบแต่พาเราคดเคี้ยวเลี้ยวอ้อมไต่ขึ้นไปตามไหล่เขา เราสัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็นขึ้นไปเรื่อยๆ เมืองดิมาพูร์ถูกทิ้งไว้เบื้องล่าง ที่หมายเบื้องหน้าของเราคืออดีตสมรภูมิรบที่กลายเป็นสุสานแห่งความทรงจำของชาวนากาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

พ.ศ. 2487 กองทัพญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายพลซาโตะสามารถบุกเข้ายึดจุดยุทธศาตร์สำคัญหลายจุดในเมืองโคฮิมาและเทือกเขารอบๆได้เบ็ดเสร็จ แต่เป็นเวลาสั้นๆเพียง 16 วัน ก่อนที่กองทัพสหราชอาณาจักรบุกเข้ายึดคืน รุกไล่กองทหารญี่ปุ่นถอยร่นเข้าไปบริเวณเทือกเขาอุคครู (Ukhrul) ในเขตแดนมณีปุระ

เมืองโคฮิมาตั้งอยู่บนเขาสูง ห่างจากดิมาพูร์ไปทางทิศตะวันออก เป็นเมืองที่เป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าอังกามี่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์นักรบของนากาแลนด์ ท่านซาปู พิโซ วีรบุรุษของชาวนากา ก็มาจากเผ่าอังกามี่ ที่เมืองโคฮิมานี่เองที่ท่านพิโซ นำกองทัพปลดแอกของนักรบนากาเข้าร่วมกับกองทหารของท่านสุภาส จันทรโบส ผู้นำของอินเดีย ช่วยกองทัพญี่ปุ่นรบกับกองทัพแห่งสหราชอาณาจักร

เมื่อพ่ายแพ้ พิโซถูกเรียกขานว่าเป็น "คนทรยศ" และถูกส่งไปจองจำในคุกที่เมืองร่างกุ้งของพม่า เมื่อได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ พิโซกลับมาเป็นผู้นำกองกำลังนักรบนากา ชิงประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2490 เพียงหนึ่งวันก่อนที่อังกฤษจะให้เอกราชแก่อินเดียอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 สิงหาคม 2490 นับแต่นั้น พิโซ ใช้เวลาอีกเกือบทศวรรษในการทำสงครามจรยุทธ์โรมรันกับกองทัพของรัฐบาลอินเดีย ที่ผนวกเอานากาแลนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ

บั้นปลาย พิโซต้องไปใช้ชีวิตลี้ภัยในกรุงลอนดอน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 แต่แม้จะต้องอยู่ไกลผืนดินถิ่นเกิด พิโซยังคงมีบทบาทสำคัญในขบวนการกู้ชาติตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพที่เขาหว่านเพาะไว้ในหัวใจของนักรบป่าชาวนาการุ่นเขานั้น ไม่เคยโรยรา หากกลับเติบโตงอกงามอยู่ในหัวใจของคนรุ่นปัจจุบัน

พิโซจากไปเมื่อปี พ.ศ.2533 ด้วยวัย 86 ปี ร่างไร้วิญญานของเขาถูกนำกลับมาฝังในแผ่นดินเกิดที่เมืองโคฮิมาแห่งนี้ สุสานของท่านพิโซ กลายเป็นสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวนากาจะพาลูกหลานมาบอกเล่าถึงตำนานบทแรกของการต่อสู้กอบกู้แผ่นดิน

เยือนหมู่บ้านนักรบ...ฟังผู้เฒ่าเล่าเรื่อง
หมู่บ้านฟูชมาแห่งนี้ (Pfuchama village) เป็นหมู่บ้านของชนเผ่าอังกามี่ อยู่ห่างจากตัวเมืองโคฮิมาออกไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองโคฮิมา ได้ใช้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นฐานที่มั่นหนึ่ง อดีตนักรบป่ารุ่นแรกแห่งกองทัพปลดแอกของนากาแลนด์มาจากหมู่บ้านแห่งนี้

ปัจจุบัน หมู่บ้านฟูชมามีขนาด 140 หลังคาเรือน ประชากร 950 คน และกระทรวงท่องเที่ยว ของรัฐบาลแห่งนากาแลนด์ กำลังพัฒนาให้เป็นสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่าอังกามี่ และประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวนากาในสงครามกอบกู้อิสรภาพ

ตามประเพณีสำหรับผู้มาเยือน ผู้ใหญ่บ้านพาคณะของเราไปคารวะพ่อเฒ่าฝิลามี ผู้มีตำแหน่งเป็น "ผู้อาวุโส" ของหมู่บ้านที่กระท่อมของท่าน พ่อเฒ่าฝิลาแต่งกายด้วยชุดชนเผ่า และยังคงใช้วิถีชีวิตตามประเพณีดั้งเดิม ปลูกข้าว ล่าสัตว์และนำมาเก็บไว้ในกระท่อมซึ่งท่านอาศัยอยู่คนเดียว

คณะของเรามีโอกาสได้ไปนั่งล้อมวงสนทนากับบรรดาผู้เฒ่าของหมู่บ้าน ที่เป็นอดีตนักรบป่ารุ่นแรก พ่อเฒ่าฝิลาโคลี และพ่อเฒ่าบิเซซา ทั้งสองผ่านร้อนหนาวมากว่า 70 ปี ใช้ชีวิตวัยหนุ่มในป่าเขา มีหอกดาบเป็นอาวุธคู่กายในการทำสงครามต่อสู้กับผู้รุกราน พ่อเฒ่าทั้งสองเล่าว่า เขาเดินเท้าข้ามเขาไปร่วมรบในดินแดนของชนเผ่าคอนยัค (Konyak) ที่มีพรมแดนติดกับประเทศพม่า สองพ่อเฒ่าโรมรันอยู่ในสมรภูมิรบเป็นเวลาถึงสิบปี ก่อนคืนกลับมาสู่หมู่บ้านแห่งนี้ เฝ้ามองคนหนุ่มรุ่นหลังที่อาสาไปแทนที่ในสงครามที่ยังไม่จบสิ้น

"พวกเราแก่เกินไปแล้วสำหรับชีวิตนักรบ แต่ฉันยังมีความหวังอยู่เสมอกับคนรุ่นลูกหลาน พวกเราไม่เคยยอมแพ้" พ่อเฒ่าฝิลาโคลี บอกกับพวกเรา

ขณะที่พ่อเฒ่าฝิลามี ผู้อาวุโสของหมู่บ้านย้อนอดีตให้พวกเราฟังว่า คนหนุ่มจำนวนมากของหมู่บ้านฟูชมา ถูกพรากจากไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อกองทัพญี่ปุ่นยึดหมู่บ้านแห่งนี้เป็นฐานที่มั่น ในครั้งนั้น เลือดของนักรบอังกามี่ไหลนองเหมือนสายน้ำ ร่างไร้วิญญานของพวกเขาถูกฝังกลบอยู่ใต้ผืนดินนี้

"พวกเขาพลีชีพเพื่อนากาแลนด์ และวันนี้หมู่บ้านของเราก็ยังพร้อมที่จะสละทุกอย่างเพื่อชาวนากา"

ท่านเล่าต่อว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามเจรจากับรัฐบาลอินเดียเพื่อขอสร้างสุสานทหารญี่ปุ่นที่หมู่บ้านฟูชมา"รัฐบาลอินเดียจะอนุญาตได้อย่างไร เพราะพวกเขาไม่เคยมีสิทธิ์แม้กระเบียดนิ้วบนแผ่นดินของเรา และนี่คือความเป็นจริงที่เราอยากให้โลกภายนอกรับรู้"

นากาแลนด์...ความรับรู้ใหม่เกี่ยวกับผู้คน และดินแดนอุษาคเนย์
ชาวนากาที่ฉันพบ ทุกเพศ ทุกวัย รับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของคนรุ่นบรรพบุรุษเป็นอย่างดี ระหว่างการสนทนา พวกเขาจะบอกอยู่เสมอว่า "เราไม่ใช่อินเดีย" และนี่คือสิ่งที่คณะของเราประจักษ์แก่สายตาเมื่อไปเยือนถึงถิ่นแผ่นดินนากา ทั้งรูปลักษณ์และวิถีชีวิตของพวกเขาแตกต่างมากมายกับเชื้อสายเผ่าพันธุ์ของผู้คนแห่งชมพูทวีป

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งนับได้ว่าเป็นนักประวัติศาสตร์อุษาคเนย์คนแรกที่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการประชุมใหญ่ของสหพันธ์นักศึกษาแห่งนากาแลนด์ บอกกับพวกเขาว่า เมื่อได้มาเหยียบแผ่นดินนากา ท่านรู้สึกแปลกใจที่เห็นความคล้ายคลึงมากมายระหว่างคนไทย กับคนนากา

"เราอยู่ห่างกันเพียงประเทศพม่ากั้นกลาง แต่ผมอยากจะบอกว่าผมมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับนากาแลนด์ เมื่อมาถึงที่นี่ ผมแปลกใจที่เราต่างมีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งหน้าตา และอาหารการกิน สีสันและลวดลายบนผืนผ้าที่เราถักทอ ภูมิประเทศของนากาแลนด์ก็เหมือนทางตอนเหนือของประเทศไทย จริงๆแล้วเราอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน"

ฉันเห็นพวกเขานั่งฟังด้วยความสนใจ พวกเขาส่งคำถามมากมายขึ้นมาบนเวที คำถามเกี่ยวกับผู้คนในดินแดนอุษาคเนย์ นักศึกษาคนหนึ่งถามว่า "คนไทยรู้จักนากาแลนด์หรือไม่ กรุณาแนะนำเราหน่อยได้มั๊ยว่า อะไรคือหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้มีความเข้าใจว่าเราเป็นชาวอุษาคเนย์เหมือนกัน"

อาจารย์ชาญวิทย์ตอบเขาว่า คนไทยไม่รู้เรื่องราวการต่อสู้ตลอดช่วงห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมาของชาวนากาเลย แม้กระทั่งสื่อมวลชน ท่านคิดว่าหนทางที่ดีที่สุดที่จะเปิดนากาแลนด์สู่โลกภายนอก คือ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และทางวิชาการ "ผมอยากเห็นนักประวัติศาสตร์จากนากาแลนด์ไปบรรยายให้นักศึกษาไทยฟังบ้าง"

ในฐานะนักวิชาการที่ได้พยายามเปิดมุมมองใหม่ในการเรียนรู้เพื่อนบ้านในอุษาคเนย์อาจารย์ชาญวิทย์พูดอยู่เสมอว่าการเรียนรู้ประวัติศาตร์ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง เพื่อให้รู้จักตัวเอง รู้เขา รู้เรา จะนำมาซึ่งความเข้าใจที่ดีขึ้นระหว่างกัน

และสำหรับชาวนากา ฉันเชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพวกเขา จะทำให้โลกภายนอกเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า เหตุใดชาวนากาจึงเปล่งเสียงก้องหุบเขามากว่าครึ่งศตวรรษว่า "เราไม่ใช่อินเดีย"

มหาตมะคานธี...กับวรรคทองแห่งอิสรภาพของนากาแลนด์
"ชาวนากามีสิทธิทุกประการที่จะเป็นอิสระ เราต่างไม่ต้องการอยู่ภายใต้การครอบงำของอังกฤษ และบัดนี้ อังกฤษได้ถอนตัวออกไปแล้ว ฉันต้องการให้พวกเธอรู้สึกว่าอินเดียเป็นของพวกเธอ ขณะเดียวกัน ฉันรู้สึกว่าขุนเขานากาเป็นของฉันเท่าๆกับที่เป็นของพวกเธอ แต่เมื่อพวกเธอบอกว่ามันไม่ใช่ของฉัน ทุกสิ่งจบลงตรงนั้น แม้ฉันจะเชื่อในภราดรภาพ แต่ฉันไม่เชื่อในการใช้กำลังบังคับให้อยู่ร่วมกัน ถ้าพวกเธอไม่ต้องการอยู่ร่วมกันในนามของสหภาพอินเดีย จะไม่มีใครบังคับเธอให้ทำเช่นนั้น"

คำกล่าวนี้ของท่านมหาตมะคานธีต่อคณะผู้นำแห่งนากาแลนด์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 นั้น เสมือนหนึ่งเป็นวรรคทองแห่งอิสรภาพของนากาแลนด์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดสู่ชาวนากาทุกรุ่น

เดือนถัดมา วันที่ 14 สิงหาคม 2490 ซาปู พิโซ วีรบุรุษแห่งนากาแลนด์ ประกาศอิสรภาพของนากาแลนด์จากการยึดครองของอังกฤษ รุ่งขึ้น (วันที่ 15 สิงหาคม 2490) อังกฤษประกาศให้เอกราชแก่อินเดีย

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ชาวนากายึดเป็นความชอบธรรมในการทำสงครามอันยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ เพื่อกอบกู้อิสรภาพคืนสู่แผ่นดินนากา

ฉันคิดถึงถ้อยคำก่อนจากลาของพ่อเฒ่าฝิลามี ผู้อาวุโสแห่งหมู่บ้านฟูชมา
"เสื้อผ้าที่พวกเราสวมใส่อาจแตกต่างจากพวกเธอ แต่นี่คือวิถีที่เราเลือกที่จะดำรงอยู่ จดจำเราอย่างที่เราเป็น และช่วยเล่าถึงการต่อสู้ของพวกเราให้โลกภายนอกได้รับรู้ด้วย"


 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

ภายหลัง พ.ศ. 2515 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลักกฎหมายเรื่องสัญชาติ คณะปฏิวัติที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจรได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับ 337 (ปว. 337) มีเนื้อหาจำกัดสิทธิการได้สัญชาติของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยดังนี้

"บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือบิดา หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่เพียงชั่วคราว หรือเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย บุคคลเหล่านี้แม้จะมีสัญชาติไทย แต่ก็มิได้มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย เพื่อป้องกันและรักษาความมั่นคงแห่งชาติ สมควรมิให้บุคคลดังกล่าวมีหรือได้สัญชาติไทยอีกต่อไป"

R
related topic
281048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ชาวเขาส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรกรากอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยเป็นเวลาช้านานแล้ว ตามหลักกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ชาวเขาเหล่านั้นก็เป็นคนไทยหรือมีสัญชาติไทยอยู่แล้ว ชาวเขาเหล่านี้จะมีข้อบกพร่องตรงที่มิได้มีชื่อในทะเบียนบ้านเท่านั้น ซึ่งข้อนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของชาวเขา