นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

อุดมศึกษาอินเดีย อุดมศึกษาไทย
บ่อน้ำพุแห่งความรู้ : อุดมศึกษาอินเดีย
ดร. ประมวล เพ็งจันทร์
ภาควิชาปรัชญาศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้ตัดมาบางส่วนจากบทที่ 6 ของโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี
เรื่อง อุดมศึกษาอินเดีย อุดมศึกษาไทย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 700
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)




อุดมศึกษาอินเดีย อุดมศึกษาไทย
บทนำ
แม้ว่าไทยและอินเดียจะมีความแตกต่างอย่างมากมายในส่วนของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ประการแรก ไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่นในทางการเมือง จึงไม่มีมรดกทางการศึกษาที่ผู้ปกครองจากต่างแดนมาสร้างไว้ให้ ประการต่อมา สังคมไทยไม่ได้มีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและศาสนาเช่นอินเดีย การสร้างระบบการศึกษาแห่งชาติจึงไม่ยากเหมือนอินเดีย และอีกประการหนึ่ง ประชากรไทยมีจำนวนไม่มากอย่างเช่นอินเดีย การจัดการศึกษาให้กับประชาชนไม่ว่าระดับใด ๆ จึงลดความยากลงไปตามจำนวนของผู้ที่เข้ามาสู่ระบบการศึกษา

แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าทั้งที่มีความแตกต่างกันในประวัติความเป็นมาและสภาพเงื่อนไขข้อจำกัดซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ทั้ง 2 ประเทศกลับมีปัญหาทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่คล้าย ๆ กันหรือใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการบริหารการศึกษาภายในมหาวิทยาลัย หรือผลผลิตที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ตลอดถึงแนวโน้มความเป็นไปในอนาคต ซึ่งต่างก็มีอะไรที่ดูเหมือนกับว่าจะไปในแนวทางเดียวกัน

ในการเดินทางไปสำรวจความเป็นไปของมหาวิทยาลัยอินเดีย และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียพบว่า บรรยากาศต่าง ๆ ในสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยทั่วไปหรือสถาบันอุดมศึกษาทางวิชาชีพต่าง ๆ ล้วนมีบรรยากาศคล้ายกับสถาบันอุดมศึกษาของไทย นั่นคือ เป็นบรรยากาศของการแสวงหาวิชาชีพ ตามกระแสโลกที่มีระบบตลาดเป็นตัวกำหนด คนหนุ่มสาวที่เดินกันขวักไขว่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย เป็นไปคล้าย ๆ กับการเดินทางเข้าไปในตลาดสดยามเช้า แล้วรีบ ๆ จับจ่ายเลือกซื้อของที่ตัวเองปรารถนาแล้วรีบออกจากตลาดไป

บรรยากาศเช่นนี้มีให้เห็นเป็นปกติ โดยเฉพาะบริเวณสถาบันอุดมศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี ดังเช่น ภายในสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย ที่ผู้เขียนได้เข้าไปสังเกตการณ์ ไม่ว่าที่นิวเดลีหรือที่บอมเบย์ ต่างก็มีบรรยากาศคล้าย ๆ กันคือเต็มไปด้วยนักศึกษาหนุ่มสาวที่คล่องแคล่ว รวดเร็ว ทันสมัยในการแต่งกาย และดูสง่าในท่วงท่าที่แสดงออก โทรศัพท์มือถือเป็นวัตถุมงคลยุคใหม่ที่จำเป็น ไม่สนใจผู้อื่น เป็นท่าทีที่ปรากฏให้เห็น

แต่ในขณะที่มีอะไรคล้าย ๆ สถาบันอุดมศึกษาไทยในหลาย ๆ ที่ของอินเดีย แต่ที่อินเดียนี้เช่นกัน ที่ได้พบกับบรรยากาศที่แตกต่างออกไป และไม่เคยได้พบเห็นในสังคมไทย นั่นคือ สถาบันอุดมศึกษาตามจารีตของอินเดีย

ที่วิศวภารตี ศานตินิเกตัน หรือชื่อที่คนไทยรู้จักคือ มหาวิทยาลัยศานตินิเกตัน ที่ท่านมหากวี รพินทรนาถ ฐากูร เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม และเป็นผู้แต่งเพลงชาติอินเดียเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ที่นี่กลับเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความสงบเรียบง่าย มีนักเรียนตัวน้อย ๆ นั่งเรียนหนังสืออยู่ใต้ร่มไม้ตั้งแต่เช้าตรู่ มีนักศึกษาหนุ่มสาว บ้างขี่จักรยาน บ้างเดินไปบนถนนภายในบริเวณมหาวิทยาลัย มีรอยยิ้มปรากฏอยู่บนใบหน้าของเขาเหล่านั้น มีชาวบ้านจูงลูกจูงหลานเดินไปมา เพื่อเยี่ยมชมสถานที่อันเคยเป็นที่อยู่ของท่านมหากวีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันได้ถูกจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับของใช้ส่วนตัว ผลงานบางส่วน และสิ่งของอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตัวท่าน

ที่มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี หรือ ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ มหาวิทยาลัยพาราณสี ที่นี่เป็นเหมือนวัด เพราะความโดดเด่นของหาวิทยาลัยคือ เทวสถานที่สูงเด่นเป็นสง่าอยู่กลางมหาวิทยาลัยที่ภายในเต็มไปด้วยต้นไม้ที่ร่มรื่น เขตมหาวิทยาลัยเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ดูด้วยสายตาก็รู้ได้ เพราะทันทีที่เหยียบเท้าเข้าไปในเขตมหาวิทยาลัย จากข้างนอกที่พลุกพล่าน เสียงดังอึกทึก แต่ภายในมหาวิทยาลัยกลับเงียบสงบ ยิ่งเมื่อเข้าไปถึงบริเวณวัดซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตมหาวิทยาลัย ยิ่งรู้สึกเหมือนกับว่า นี่คือเทวสถานแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง เสียงระฆัง เสียงสวดมนต์ เป็นเสียงแห่งจิตวิญญาณอินเดีย ที่ผู้นำอินเดียในยุคต่อสู้กับผู้ปกครองอังกฤษต้องการให้คนอินเดียยุคใหม่ได้ยิน

ที่มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ห ผู้เขียนเดินทางไปในช่วงเทศกาลถือศีลอด มหาวิทยาลัยปิด แต่บรรยากาศภายในหอพักที่นักศึกษาพักอยู่ เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความเก่าแก่และสงบ มีพลังสะกดให้คนรุ่นใหม่ย้อนระลึกถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ของอินเดีย ในการเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์หนี้ ผู้เขียนมีความประสงค์จะพบกับนักศึกษาไทย เพราะทราบว่ามีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ทุก ๆ หอพักที่เข้าไปถามหานักศึกษาไทยนั้น แม้เมื่อไม่พบนักศึกษาไทยทันที แต่นักศึกษาชาวอินเดียก็แนะนำให้ไปยังหออื่นเรื่อย ๆ จนครบเกือบทุกหอพักที่คาดว่านักศึกษาไทยพักอยู่

จนในที่สุดนักศึกษาอินเดียก็แนะนำให้ไปหานักศึกษาไทย ที่เช่าบ้านอยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย และแทบไม่น่าเชื่อว่าข้อแนะนำของนักศึกษาอินเดียที่หอพักสามารถทำให้พบนักศึกษาไทยจริง ๆ เพราะข้อแนะนำของเขาคือให้นั่งสามล้อถีบไป โดยเขาเรียกคนถีบสามล้อแล้วบอกให้ทราบว่าจะต้องพาไปส่งที่ใด คนถีบสามล้อถีบพาไปไกลมากจนกังวลว่าจะพาไปไหน ในที่สุด ก็พาไปส่งที่ร้านขายน้ำชาแล้วบอกว่าถึงแล้ว เมื่อบอกว่าต้องการไปพบคนไทย สามล้อกลับบอกว่าให้รอที่นี่ คนไทยจะออกมากินน้ำชา เมื่อเข้าไปถามเจ้าของร้านขายน้ำชาว่ารู้จักคนไทยมั้ย เขาบอกว่ารู้จัก แต่ช่วงนี้เป็นช่วงถือศีลอดเขาจะไม่มากินน้ำชากัน ให้ไปรอที่ร้านขายของกินของใช้ นักศึกษาไทยจะออกมาซื้อของที่นั่น ที่สุดก็ให้สามล้อพาไปที่ร้านขายของที่มีลูกค้าเป็นคนไทย เมื่อถึงร้านขายของแล้วเจ้าของร้านก็พาไปบ้านพักของนักศึกษาไทย อะไรมันจะง่าย ๆ ได้เพียงนั้น แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์ห

บรรยากาศที่วิศวภารตี ศานตินิเกตัน มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี และมหาวิทยาลัยอาลิการ์ห ได้ทำให้รู้ว่าอินเดียไม่เหมือนไทย มหาวิทยาลัยอินเดียมีอะไรมากกว่าที่มหาวิทยาลัยไทยมี อุดมศึกษาอินเดียมีมิติที่กว้างและลึกกว่าอุดมศึกษาไทย และที่สำคัญคือ อุดมศึกษาอินเดียมีอะไรดีๆ ให้ย้อนกลับมาดูอุดมศึกษาไทย

1 ผลผลิตของอุดมศึกษาอินเดีย ที่มีให้กับสังคมไทย
หากจะเปรียบเทียบการศึกษากับอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคให้เราได้ใช้สอย ในประเทศไทย ผลผลิตจากอุตสาหกรรมการศึกษาของอินเดียมีเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบเคียงกับผลผลิตจากแหล่งอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ ผลผลิตทางการศึกษาจากอินเดียนอกจากมีปริมาณน้อยแล้ว ดูเหมือนว่าคุณภาพก็ไม่ได้ถูกรสนิยมสังคมไทยปัจจุบันมากนัก ผลผลิตของอุดมศึกษาอินเดียมีสภาพเหมือนภาพยนตร์อินเดียคือ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบ จะมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ชอบ

ในสังคมไทย ผลิตผลทางการศึกษาจากอินเดีย มีบทบาทสำคัญอยู่ในส่วนของศาสนา คือ ในวัดของศาสนาพุทธ และผู้นำศาสนาของชาวมุสลิม

- ในส่วนของพุทธศาสนา พระภิกษุที่เป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะสำเร็จการศึกษามาจากอินเดีย โดยเฉพาะพระภิกษุที่เป็นพระสังฆาธิการ
- สำหรับพี่น้องชาวมุสลิมนั้น การศึกษาที่อินเดียยังเป็นการศึกษาที่สำคัญ เพราะสามารถศึกษาได้ทั้งวิชาการด้านศาสนาและวิชาการสมัยใหม่ ดังเช่นนักวิชาการมุสลิมในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ส่วนใหญ่จบการศึกษามาจากอินเดีย

นอกไปจากแวดวงศาสนาแล้ว ผลิตผลทางการศึกษาจากอินเดียมาสู่ประเทศไทยผ่านชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ที่ยังนิยมส่งบุตรหลานกลับไปศึกษาที่อินเดีย บุคคลเหล่านี้กลับมาแล้วก็ประกอบธุรกิจของครอบครัวเป็นหลัก

สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว การศึกษาที่อินเดียก็ยังคงมีผู้ไปรับบริการการศึกษาจากอินเดียอยู่ ดังข้อมูลที่ได้จากสมาคมนักเรียนเก่าอินเดีย ซึ่งได้มีรายชื่อศิษย์เก่าอินเดียไว้เป็นจำนวนหลายพันคน และกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นั่นแสดงว่าผลผลิตทางการศึกษาจากอินเดีย ก็มีบทบาทสำคัญอยู่มิใช่น้อยในสังคมไทยปัจจุบัน

1.1 สะพานเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบัน
อินเดียเป็นแหล่งผลิตวัฒนธรรมส่งออกในยุคอดีต ก่อนที่สังคมไทยจะนำเข้าวัฒนธรรมมาจากตะวันตก สินค้าอันเป็นวัตถุดิบทางวัฒนธรรมนั้นไทยเราสั่งมาจากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นภาษา วรรณกรรม ความเชื่อ จารีต ประเพณี ล้วนแต่นำวัตถุดิบมาจากอินเดีย แล้วมาปรุงแต่งให้เป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย วรรณคดีไทย ความเชื่อแบบไทย รวมทั้งจารีตประเพณีต่าง ๆ ส่วนใหญ่สังคมไทยได้รูปแบบมาจากอินเดีย

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ๆ เช่น ภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เราปรุงแต่งขึ้นมาจากวัตถุดิบคือภาษาอินเดีย ดังที่ทราบกันดีว่ารากศัพท์ของภาษาไทยคือ ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ของอินเดีย วัดและองค์กรทางศาสนานำเข้าภาษาบาลีจากอินเดีย ขณะที่ราชสำนักหรือองค์กรทางการปกครองนำเข้าภาษาสันสกฤตจากอินเดีย จากวัตถุดิบของอินเดียนี้ สังคมไทยได้ปรุงแต่งภาษาของตนเองให้วิจิตรอลังการ จนแม้กระทั่งอินเดียเองยังรู้สึกมหัศจรรย์กับความสามารถของคนไทย ที่รู้จักวิธีผลิตคำใหม่ให้เพียงพอกับการใช้สอยในสังคมยุคใหม่ ในขณะที่สังคมอินเดียเองในปัจจุบันนี้ไม่สามารถทำเองได้ จนต้องใช้คำภาษาต่างประเทศในหลาย ๆ กรณี

ด้วยการที่สังคมไทยในอดีต เป็นสังคมที่สร้างรากฐานทางสังคมมาจากวัฒนธรรมความเชื่อแบบอินเดีย มาวันนี้ เมื่อสังคมไทยพยายามปรับตัวเพื่อต่อสู้ให้อยู่รอดในกระแสโลกที่ไหลบ่ามาจากโลกตะวันตก รากแห่งความเป็นไทยก็ถูกขุดขึ้นมาดู เพื่อซ่อมเสริมให้เจริญเป็นรากฐานของความเป็นไทยอยู่ต่อไป ในสถานการณ์ที่ต้องการผู้ชำนาญด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย ความรู้จากอินเดียและแบบอินเดีย ดูเหมือนจะมีความจำเป็นอยู่ไม่ใช่น้อย ในปัจจุบันนี้สังคมไทยต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับอินเดียหรือที่ถูกผลิตขึ้นมาแบบอินเดีย ในการบำรุงรักษาและหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของไทย ผลผลิตทางการศึกษาจากอินเดียจึงเป็นกำลังสำคัญในส่วนนี้อยู่

ผลผลิตทางการศึกษาจากอินเดียเป็นเหมือนสะพานที่ทอดยาว เชื่อมอดีตและปัจจุบันของไทยให้ติดต่อกันได้ ภาพแห่งความหมายของไทยในอดีตถูกอธิบายความให้คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันมองเห็นและเข้าใจความหมายได้ ก็ด้วยชุดความรู้ที่สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียผลิตและมอบให้สังคมไทยในยุคปัจจุบันนี้

1.2 บ่อน้ำแห่งความรู้ของพุทธบริษัท
สังคมไทยรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาเป็นหลักความเชื่อในการกำหนดวิถีชีวิตและหลักอธิบายความหมายของชีวิตและโลกมายาวนาน จนอาจจะกล่าวได้ว่ายาวนานกว่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเป็นชาวพุทธที่มีมาก่อนชาวไทยจึงทำให้กลายเป็นว่า ชาวพุทธได้สร้างสังคมไทยขึ้นมาจนเป็นข้ออุปทานยึดถือว่า สังคมไทยเป็นสมบัติของชาวพุทธ จะเท็จจริงอย่างไรก็ปล่อยไปเถิด แต่ที่ต้องการจะแสดงไว้ตรงนี้ก็คือ มีพุทธบริษัทเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคมไทย และเหล่าพุทธบริษัทนั้น ได้อาศัยความรู้ทางพุทธศาสนามาหล่อเลี้ยงความเป็นชาวพุทธของตนเอง ให้เจริญงอกงามเติบโตเป็นพลังในการดำเนินชีวิต และอินเดียคือ บ่อน้ำแห่งความรู้ทางพุทธศาสนาที่เหล่าพุทธบริษัทไทยได้ดื่มกิน

ความรู้อันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และรูปแบบชุมชนของชาวพุทธ สังคมไทยยังต้องอาศัยอินเดียเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ ดังที่ในปัจจุบัน พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงความรู้ส่วนใหญ่จบการศึกษามาจากอินเดีย แบบแผนตัวอย่างของชีวิตที่ชาวพุทธพยายามจะยึดถือ ก็ถูกถ่ายทอดมาจากท่านผู้รู้เหล่านั้น ซึ่งได้ไปศึกษาเรียนรู้มาจากสถาบันอุดมศึกษาอินเดีย ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นคณูปการของอุดมศึกษาของอินเดียที่มีต่อสังคมไทยอย่างชัดเจน จนอาจจะกล่าวได้ว่า แม้คนไทยจะไม่ได้ไปศึกษาเรียนรู้จากอินเดีย แต่คนไทยเกือบทั้งหมดที่เป็นพุทธบริษัท ได้สัมผัสความเป็นอินเดียผ่านพุทธศาสนา ซึ่งพระภิกษุได้ไปเรียนรู้มาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง บ่อน้ำแห่งความรู้นี้ แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะมิได้ไปตักมาดื่มเอง แต่ก็มีผู้อื่นไปตักมาฝากให้ได้ดื่มกินอย่างชุ่มเย็นเป็นที่สุขใจ

2 นักศึกษาไทยในระบบการศึกษา ระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
การเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอินเดียของคนไทยมีหลักฐานปรากฏว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่าในขณะนั้น อินเดียเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษที่มีโรงเรียนตามระบบการศึกษาของอังกฤษ ทำให้คหบดีชาวไทยนิยมส่งบุตรหลานไปศึกษาที่โรงเรียนที่มีการเรียนเป็นภาษาอังกฤษในระดับมัธยมศึกษา เช่นที่โรงเรียนนานาชาติมัสซูรี (Mussoorie) เมืองเดห์ราดูน (Dehra Dun) รัฐอุตรันจัล และที่โรงเรียนนานาชาติเมืองดาร์จิลิ่ง (Darjiling) รัฐเบงกอล และต่อมาไม่นานก็มีการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัย

นักศึกษาไทยได้เดินทางไปศึกษาระดับอุดมศึกษาที่อินเดียกันมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบกับอินเดียได้รับเอกราชทางการปกครอง มหาวิทยาลัยจำนวนมากเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย และมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าศึกษาได้ และที่สำคัญคือมีค่าใช้จ่ายถูก เมื่อเทียบเคียงกับการศึกษาต่างประเทศในที่อื่น ๆ

นับตั้งแต่เริ่มแรกที่มีนักศึกษาไทยเดินทางไปศึกษาที่อินเดีย จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีชาวไทยจำนวนมากได้เดินทางไปศึกษาระดับอุดมศึกษาที่อินเดีย นักศึกษาไทยที่เดินทางไปศึกษาที่อินเดียนั้นสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

2.1. กลุ่มศาสนา
2.2. กลุ่มคนไทยเชื้อสายอินเดีย และ
2.3. กลุ่มประชาชนทั่วไป

2.1 กลุ่มศาสนา เป็นกลุ่มที่เดินทางไปศึกษาที่อินเดียด้วยเหตุผลและแรงจูงใจทางศาสนา ในกลุ่มนี้มีอยู่ 2 กลุ่มย่อย คือ
กลุ่มพุทธ และ
กลุ่มมุสลิม

ก. นักศึกษาไทยพุทธ

กลุ่มชาวพุทธจะเป็นพระภิกษุและคฤหัสถ์ (ที่เคยบวชเป็นพระภิกษุ) ที่ผ่านการศึกษาในระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ที่จบการศึกษาปริยัติธรรมแผนกบาลีหรือจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์

การศึกษาของพระภิกษุสามเณรในประเทศไทย เป็นการศึกษาที่แยกเป็นเอกเทศจากระบบการศึกษาของรัฐไทย ที่สังคมไทยถือว่าเป็นการศึกษาทางศาสนาของนักบวช เป็นการศึกษาทางธรรมซึ่งแตกต่างทั้งทางวัตถุประสงค์และวิธีการศึกษา ทำให้ระบบการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรในสังคมไทย ไม่ถูกจัดเป็นระบบการศึกษาที่จะนำมาเชื่อมโยงกับการศึกษาแบบสมัยใหม่ที่รัฐเป็นผู้จัดให้กับประชาชนคนไทยทั่ว ๆ ไป

รัฐไทยถือว่าการศึกษาที่รัฐจัดเป็นการศึกษาทางโลก ขณะที่การศึกษาที่คณะสงฆ์ไทยจัดเป็นการศึกษาทางธรรม และการศึกษาสองส่วนนี้ไม่เกี่ยวโยงกัน ด้วยเหตุดังนี้ เมื่อพระภิกษุ-สามเณรจบการศึกษาจากระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย จึงไม่มีช่องทางที่จะเชื่อมไปสู่การศึกษาที่รัฐไทยจัดให้กับประชาชน และขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ไม่มีการรับรองวุฒิบัตรและปริญญาบัตรของสถาบันการศึกษาฝ่ายสงฆ์ ทำให้ผู้จบการศึกษาจากระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยต้องแสวงหาการศึกษาระดับสูงขึ้นไป ทั้งเพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติมและเพื่อการรับรองคุณวุฒิทางกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยนิยมไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในอินเดีย ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยของอินเดียให้การรับรองปริญญาบัตรของสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย เมื่อพระภิกษุซึ่งจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยแล้ว จึงไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียได้ และเมื่อจบการศึกษามาจากประเทศอินเดีย ปริญญาบัตรจากประเทศอินเดีย ก็ได้รับการรับรองคุณวุฒิโดยรัฐบาลไทย

สาเหตุดังที่กล่าวมานั้น เป็นเหตุอันสำคัญที่ทำให้พระภิกษุจากประเทศไทยเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย ประกอบกับอินเดียเป็นประเทศที่ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา การเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียจึงเป็นการแสวงหาความรู้ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างสูงในหมู่พุทธบริษัท วัดต่าง ๆ ในประเทศไทยจึงนิยมสนับสนุนให้พระภิกษุในสังกัดเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย

ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลไทยได้ให้การรับรองสถานภาพและปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หลังจากการตรากฎหมายรับรองสถานภาพของมหาวิทยาลัยสงฆ์ จำนวนพระภิกษุที่เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียได้ลดลง เพราะเงื่อนไขด้านการรับรองปริญญาบัตรได้เปลี่ยนไป ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงฆ์มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วไป แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีพระภิกษุจำนวนหนึ่งนิยมไปศึกษาที่ประเทศอินเดียด้วยเหตุผลทางด้านวิชาการและการได้ศึกษาในประเทศที่เป็นบ่อเกิดพุทธศาสนา

มหาวิทยาลัยที่พระภิกษุไทยนิยมไปศึกษา จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศทางศาสนาและมีวิชาการด้านศาสนาอันเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยที่มีพระภิกษุไทยศึกษาอยู่ ได้แก่

มหาวิทยาลัยพาราณสี
มหาวิทยาลัยเดลี
มหาวิทยาลัยมัทราส
มหาวิทยาลัยปูเน
มหาวิทยาลัยปัญจาบ
มหาวิทยาลัยไมซอร์
มหาวิทยาลัยมคธ
วิศวภารตี-ศานตินิเกตัน

พระภิกษุไทยและนักศึกษาไทยซึ่งผ่านการศึกษาจากสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ที่ไปศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของอินเดีย ได้มีบทบาทอย่างมากในการสร้างสายสัมพันธ์ไทย-อินเดียให้กระชับแนบแน่นในยุคปัจจุบัน ในบางมหาวิทยาลัยอาทิเช่น ที่มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี กลุ่มนักศึกษาไทยได้รับการต้อนรับและการยอมรับอย่างสูงยิ่งจากทางมหาวิทยาลัย ถึงกับมอบหอพักให้นักศึกษาไทยอยู่อย่างอิสระเป็นเอกเทศจากนักศึกษาชาติอื่น ๆ

การเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอินเดียของนักศึกษาไทยกลุ่มนี้ เป็นไปทั้งในส่วนการศึกษาจากอินเดียและเป็นการมอบคืนบางอย่างสู่อินเดีย ดังกรณีพระภิกษุไทยได้ร่วมมือกับชาวพุทธอินเดียสร้างพุทธวิหาร (วัด) ขึ้นในสถานที่หลายแห่งทั่วอินเดีย ทั้งนี้ นอกจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว พระภิกษุไทยยังได้ออกไปสู่ชนบทของอินเดียและได้ชักชวนให้ชาวพุทธอินเดียรวมตัวกันสร้างวัดของชุมชนตนเองขึ้น ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในเกือบทุก ๆ มหาวิทยาลัยที่มีพระภิกษุไทยไปศึกษาอยู่ ตัวอย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยมัทราส มหาวิทยาลัยปัญจาบ

สายสัมพันธ์ทางศาสนา-วัฒนธรรมเช่นนี้ น่าจะเป็นคุณูปการที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย ในอนาคต

ข. นักศึกษาไทยมุสลิม
นักศึกษาไทยมุสลิม เป็นอีกกลุ่มหนึ่งของคนไทยที่เดินทางไปศึกษาต่อที่อินเดียด้วยเหตุผลและแรงจูงใจทางศาสนา ทั้งนี้เพราะอินเดียมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยทางศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์ห เป็นมหาวิทยาลัยมุสลิมที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก มีนักศึกษาชาวมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ นักศึกษาไทยมุสลิมนิยมเดินทางมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มิใช่เฉพาะวิชาการด้านศาสนาอิสลามเท่านั้น หากแต่เป็นวิชาการทั่ว ๆ ไป ด้วยเหตุผลหลักที่นักศึกษาไทยมุสลิมเดินทางมาศึกษาที่นี่ เพราะมีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศทางการศึกษาตามคติแห่งศาสนาอิสลามที่ดีมาก นักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์หบอกว่า การเดินทางมาศึกษาที่นี่ ทำให้ครอบครัวที่เมืองไทยมีความอบอุ่นใจว่า พวกเขาจะได้บำเพ็ญกิจวัตรทางศาสนาได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ดีกว่าการศึกษาที่เมืองไทย

นอกจากเหตุผลทางด้านวิชาการและบรรยากาศทางศาสนาที่ดีแล้ว ปรากฏว่ายังมีนักวิชาการทางด้านอิสลามศึกษาที่มีเหตุผลคล้าย ๆ กับพระภิกษุในพุทธศาสนาคือ นักวิชาการทางด้านอิสลามศึกษาได้ไปศึกษาวิชาการทางด้านศาสนาอิสลามมาจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง แต่ก่อนจะกลับประเทศไทยควรจะมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์ห เพราะปริญญาบัตรไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาโทหรือเอกของมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ห ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลไทย

นอกจากที่มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์หแล้ว นักศึกษาไทยมุสลิมยังเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นในอินเดียเช่น ที่มหาวิทยาลัยลัคเนาว์และอีกหลาย ๆ แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่าง ๆ ของอินเดียจะมีหอพักสำหรับนักศึกษามุสลิมแยกเป็นเอกเทศจากนักศึกษาฮินดู ทั้งนี้ก็เพราะหอพักของนักศึกษามุสลิมจะต้องจัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม

บรรยากาศที่สงบและงดงาม ภายในมหาวิทยาลัยอาลิการ์ห

ระบบการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักความเชื่อทางศาสนานี้ มหาวิทยาลัยในอินเดียยังถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังกรณีของมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์ห ที่ระบบและรูปแบบของการศึกษาจะต้องอนุวัติตามหลักความเชื่อทางศาสนา การศึกษาและการปฏิบัติกิจวัตรทางศาสนา จะต้องเป็นไปควบคู่กันขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย

กลุ่มนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอินเดีย เป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายและทิศทางในการเดินทางมาศึกษาอย่างแน่ชัด วิชาการสาขาต่าง ๆ ที่นักศึกษาแต่ละคนเลือกมีความแตกต่างกันไปตามความสนใจของแต่ละบุคคล แต่ความรู้ทางศาสนาอิสลามที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตเป็นนักศึกษา เป็นความรู้ที่ทุกคนได้เหมือนกัน

นักศึกษาที่เดินทางมาศึกษาที่อินเดียด้วยแรงจูงใจทางศาสนานี้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือชาวมุสลิม เป็นกรณีที่น่าสนใจมาก ทั้งนี้เพราะในยุคปัจจุบันที่การศึกษาถูกดึงแยกออกมาจากศาสนาแล้วไปผูกติดไว้กับการตลาด ซึ่งทำให้เหตุผลและแรงจูงใจในการเลือกเรียนอะไร ที่ไหน เป็นไปตามกระแสตลาด แต่นักศึกษาไทยกลุ่มนี้ยังสามารถทำเป้าหมายของการศึกษาและเป้าหมายของศาสนาให้ผูกติดกันได้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ความมุ่งหมายของนักศึกษากลุ่มนี้คือการแสวงหาความรู้เพื่อสังคมและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม จากการได้พบปะสนทนากับนักศึกษาที่มีแรงจูงใจทางศาสนานี้ ทำให้ได้รู้ว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการรับใช้สังคม สร้างสรรค์สังคม โดยมีอุดมคติทางศาสนาเป็นเครื่องนำทาง

ข้อมูลและความรู้ที่ผู้เขียนได้รับขณะที่สนทนากับนักศึกษากลุ่มนี้ทำให้ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า การศึกษาที่มีมิติทางศาสนาในสังคมอินเดียยังมีความศักดิ์สิทธิ์และมีพลัง ทำให้นึกถึงการศึกษายุคฮินดูและยุคราชวงศ์โมกุล ที่ชาวต่างชาติเดินทางมาอินเดียเพราะอุดมศึกษาของอินเดียมีบรรยากาศทางศาสนาที่ก่อให้เกิดพลังแห่งการเรียนรู้ แม้ว่าปัจจุบันนี้พลังอำนาจของสถาบันศาสนาในอินเดียเสื่อมลง แต่การได้สัมผัสบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี และมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์ห ทำให้ได้พบเห็นร่องรอยของอดีตที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

2.3 กลุ่มนักศึกษาไทยเชื้อสายอินเดีย
นักศึกษากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเดินทางมาศึกษาที่อินเดียตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมศึกษา ด้วยเหตุผลของครอบครัวที่ต้องการให้ลูก-หลานของตนเองได้เรียนรู้ในสังคมและวัฒนธรรมอินเดีย เพื่อให้เยาวชนเหล่านั้นได้ซึมซับรับเอาคติ-วัฒนธรรมอินเดียไปพร้อม ๆ กับวิชาการที่จะนำไปประกอบอาชีพต่อไป

นักศึกษากลุ่มนี้หากจะกล่าวโดยจำนวนแล้ว มีจำนวนมากและอาจจะมากกว่ากลุ่มแรกด้วยซ้ำไป แต่จะไม่ปรากฏเด่นชัดในทางสังคม ทั้งนี้เพราะนักศึกษากลุ่มนี้มีศักยภาพและความสามารถที่จะผสานตนเองให้กลมกลืนกับสังคมอินเดีย โดยที่คนทั่วไปจะไม่รู้เลยว่าเขาเป็นคนไทย ยกเว้นในหมู่นักศึกษาด้วยกันเองเท่านั้น ที่รับรู้ว่าเขาเป็นนักศึกษาไทย นักศึกษาไทยกลุ่มนี้ถึงกับมีความรู้สึกคล้าย ๆ กับว่าขณะที่พวกเขาอยู่เมืองไทย สังคมไทยมองว่าเขาเป็นอินเดีย แต่เมื่อพวกเขามาอยู่อินเดีย สังคมอินเดียกลับมองว่าเขาเป็นไทย

นักศึกษากลุ่มนี้จะไม่รวมตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งเหมือนนักศึกษาไทยกลุ่มอื่น ๆ แต่จะกระจายอยู่ทั่วอินเดีย สาขาวิชาที่นักศึกษากลุ่มนี้เรียนมีเกือบทุกสาขา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแตกต่างจากนักศึกษาไทยกลุ่มแรกและกลุ่มที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่จะศึกษาอยู่ในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เท่านั้น

ความมุ่งหมายของนักศึกษากลุ่มนี้ นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังมีความเป็นอินเดียที่ครอบครัวที่เมืองไทยฝากความปรารถนามาด้วย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยครอบครัวคนไทยเชื้อสายอินเดียต้องการให้เยาวชนของเขาไม่ลืมความเป็นอินเดีย พร้อม ๆ กับสามารถธำรงความเป็นอินเดียไว้ให้มั่นคงด้วย จึงนิยมส่งบุตร-หลานของพวกเขามาศึกษาที่อินเดีย เป้าหมายของการเดินทางมาศึกษาที่อินเดียของนักศึกษาไทยกลุ่มนี้คือ ความรู้คู่กับความเป็นอินเดีย

2.4 กลุ่มประชาชนทั่วไป

นักศึกษากลุ่มนี้มีเหตุผลและแรงจูงใจแตกต่างกันไป แต่เท่าที่ได้พบปะสนทนานักศึกษาไทยที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ 1 และ 2 จะมีเหตุผลในการเลือกมาศึกษาต่อที่อินเดียด้วยเหตุผล เหล่านี้

ก. ชอบความเป็นอินเดีย นักศึกษาที่เดินทางมาศึกษาที่อินเดียด้วยเหตุผลนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาทางด้านศิลปและวัฒนธรรมอินเดีย ที่วิศวภารตี ศานตินิเกตัน นักศึกษาไทยส่วนใหญ่ที่ศึกษาอยู่ที่นั้น จะเดินทางมาศึกษาต่อที่อินเดียด้วยเหตุผลแห่งความชื่นชอบความเป็นอินเดีย ในมุมมองของนักศึกษาไทยกลุ่มนี้ อินเดียคือสวรรค์แห่งการเรียนรู้ เพราะได้เรียนในสิ่งที่อยากรู้ และได้เรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา

วิศวภารตี ศานตินิเกตัน เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่นักศึกษาไทยผู้หลงไหลมนต์เสน่ห์อินเดีย นิยมเดินทางมาศึกษากันมาก นักศึกษาไทยกลุ่มนี้จะมีทัศนคติที่ดีต่ออินเดีย และรักความเป็นอินเดียมาก ศิลปะและวัฒนธรรมอินเดียคือเป้าหมายหลักแห่งการเรียนรู้ของนักศึกษากลุ่มนี้

ข. ตลาดวิชาการราคาถูก มีนักศึกษาไทยกลุ่มหนึ่งที่เดินทางมาศึกษาที่อินเดีย เพราะที่อินเดียมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษและเก็บค่าเล่าเรียนถูก พวกเขาสามารถเลือกเรียนวิชาสาขาที่ต้องการได้ ส่วนใหญ่ของนักศึกษากลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่พลาดหวังกับระบบมหาวิทยาลัยของประเทศไทย ซึ่งมีที่นั่งจำนวนจำกัดและมีการแข่งขันสูง การเดินทางมาศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย ไม่ได้มีค่าใช่จ่ายสูงเหมือนเดินทางไปประเทศอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่เมืองไทยและอินเดียจะมีงบประมาณพอ ๆ กัน ที่สำคัญคือ ได้เรียนในสาขาวิชาที่ปรารถนาจะเรียน

ค. นักศึกษาทุนรัฐบาลอินเดีย ทุกๆ ปีการศึกษา รัฐบาลอินเดียจะให้ทุนแก่นักศึกษาไทยทั่ว ๆ ไปในระดับปริญญาโทและเอก มีทั้งนักศึกษาทั่วไปและข้าราชการที่นิยมไปศึกษาต่อทางด้านศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ พานิชยศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยมีทุนดังนี้

1. ทุน Government of India General Cultural Scholarship Scheme(g.c.s.s.) รวม 10 ทุน
2. ทุน Cultural Exhange Program (CEP) รวม 4 ทุน
3. ทุน เรียนภาษาฮินดี "Propagation of Hindi Abroad (นักศึกษาที่ได้รับทุน
ต้องมีความรู้ภาษาฮินดีขั้นพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว )

นักศึกษาทุนรัฐบาลอินเดียส่วนมาก นิยมไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เพราะการได้รับทุนเท่ากับการได้เลือกมหาวิทยาลัยที่ดี ๆ ของอินเดียไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากมหาวิทยาลัยอินเดียทุกแห่งจะไม่ปฏิเสธนักศึกษาที่ได้รับทุนรัฐบาลอินเดีย สถาบันอุดมศึกษาที่นักศึกษาทุนนิยมไปศึกษาต่อ ตัวอย่างเช่น

มหาวิทยาลัยยวาหระลาล เนห์รู เดลี
มหาวิทยาลัยเดลี
มหาวิทยาลัยปัญจาบ จันดิการ์ห
มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี
วิศวภารตี ศานตินิเกตัน
มหาวิทยาลัยบอมเบย์
มหาวิทยาลัยมัทราส
มหาวิทยาลัยปูเน

นักศึกษาไทยทุกกลุ่ม แม้ว่าจะมีเหตุผลและแรงจูงใจที่แตกต่างกัน แต่มีความเหมือนกันในแง่ที่ว่าพวกเขาเป็นคนไทยที่เดินทางไปสู่อินเดียเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษา การศึกษาเมื่อจะกล่าวโดยหน้าที่ เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ต่างมีอิสระที่จะแสวงหา แต่หากจะกล่าวโดยผลที่เกิดขึ้นแล้ว การศึกษาไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล หากแต่เป็นเรื่องของชุมชน + สังคมโดยส่วนรวม เพราะความรู้ความเข้าใจอะไรบางอย่าง เมื่อแสดงออกมาแล้วย่อมจะมีผลกระทบกับชุมชนโดยส่วนรวม ถ้าหากความรู้ที่นักศึกษาได้มาจากอินเดียเป็นคุณต่อสังคมไทยก็จะเป็นคุณต่อทุก ๆ คน หากจะเป็นโทษก็เป็นโทษต่อทุก ๆ คนเช่นเดียวกัน

ในปัจจุบันที่สังคมไทยต้องรับเอาความรู้ที่ผลิตขึ้นในต่างวัฒนธรรมมาใช้ในสังคมไทย การรับเอาความรู้จากหลาย ๆ แหล่งน่าจะเป็นคุณในแง่ที่ว่าจะก่อให้เกิดการตรวจสอบทัดทานซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้ความรู้ชุดใดชุดหนึ่งครอบงำสังคมไทยโดยเบ็ดเสร็จ การได้ความรู้มาจากอินเดียก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการได้ความรู้ที่หลากหลายมาขับเคลื่อนสังคมไทย ในส่วนนี้ ความรู้จากอินเดียที่นักศึกษาไทยไปเรียนรู้มา ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาใด น่าจะเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมไทย ดังนั้น สังคมไทยก็น่าจะขอบคุณนักศึกษาไทยที่เดินทางไปแสวงหาความรู้จากอินเดียมาให้สังคมไทย เพราะนี่คือ ภารกิจหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมไทย

ชีวิตนักศึกษาไทยในอินเดีย
เนื่องจากอินเดียเป็นสังคมที่มีความหลากหลายแตกต่างทั้งทางกายภาพและวัฒนธรรมสูงมาก ความเป็นอินเดียในแต่ละที่แต่ละแห่ง จึงมีความแตกต่างกัน จนทำให้ความเป็นอินเดียในที่หนึ่งแตกต่างไปจากอีกที่หนึ่งอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ ความเป็นอินเดียที่นักศึกษาไทยแต่ละคนไปประสบพบเห็นมาจึงไม่เหมือนกัน ดังนั้นการจะกล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษาไทยในอินเดียให้ได้ภาพที่ถูกต้องและชัดเจน จึงเป็นเรื่องยากมาก แต่อย่างไรก็ตามที ในที่นี้จะพยายามให้ภาพความเป็นนักศึกษาไทยในอินเดียต่อผู้อ่านอย่างคร่าว ๆ และกว้าง ๆ เพื่อเป็นภาพที่ครอบคลุมนักศึกษาไทยในทุก ๆ มหาวิทยาลัยในอินเดีย

การเรียน
นักศึกษาไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไปศึกษาในสายมนุษยศาสตร์ (ปรัชญา, ศาสนา, ประวัติศาสตร์, จิตวิทยา, ภาษาบาลี-สันสกฤต, ภาษาอังกฤษ, ภาษาศาสตร์) สังคมศาสตร์ (รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, สังคมวิทยา, สังคมสงเคราะห์) และศึกษาศาสตร์ การศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าวทั้งในระดับปริญญาตรีและโท จะเป็นไปในลักษณะการฟังบรรยายในห้องเรียน ซึ่งการบรรยายนี้อาจจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ก็ได้

ภาษาที่ใช้ในการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็น 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษและภาษาราชการ (ราชตรียภาษา) ของรัฐนั้น ๆ เช่น ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐอุตรประเทศ นักศึกษาก็สามารถเลือกเรียนเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาฮินดี แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐทมิฬนาฑู ก็จะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาทมิฬ การที่ต้องมี 2 ภาษานี้ไม่ใช่เป็นเพราะนักศึกษาต่างประเทศ แต่เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีนักศึกษาจากต่างรัฐมาเข้าเรียน เช่น นักศึกษาจากรัฐทมิฬนาฑู อาจจะเดินทางไปเรียนที่รัฐอุตรประเทศที่สอนด้วยภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ นักศึกษารัฐทมิฬนาฑูจึงต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะภาษาฮินดีก็ไม่ใช่ภาษาแม่ของนักศึกษาจากรัฐทมิฬนาฑู

ด้วยเหตุเช่นนี้จึงทำให้มหาวิทยาลัยทุก ๆ แห่งของอินเดียต้องมีภาษาที่ใช้ในการศึกษา 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และ ภาษาถิ่นของท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งก็คือภาษาราชการ 18 ภาษาที่รัฐธรรมนูญของอินเดียประกาศให้เป็นภาษาราชการนั้นเอง แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาเดียวคือภาษาอังกฤษ เช่น มหาวิทยาลัยปัญจาบ เมืองจันดิการ์ห

การมี 2 ภาษาของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นความหมายในทางภาคปฏิบัติก็คือเอกสารต่าง ๆ จะมี 2 ภาษา ในส่วนของการเรียนจะมีให้นักศึกษาเลือกว่าจะเรียนด้วยภาษาใด การเลือกภาษาที่ใช้ในการเรียนก็จะหมายถึงว่าฟังบรรยายและทำการสอบด้วยภาษานั้น ๆ นักศึกษาไทยทั้งหมด ยกเว้นผู้ที่เรียนทางสายภาษาอินเดีย จะเลือกเรียนด้วยภาษาอังกฤษ แต่การเรียนด้วยภาษาอังกฤษก็มิได้หมายความว่าจะได้ฟังบรรยายเป็นภาษาอังกฤษเสมอไป ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย อาจารย์จะบรรยายผสมกันไประหว่างภาษาท้องถิ่นกับภาษาอังกฤษ และถ้ามีนักศึกษาที่เรียนด้วยภาษาอังกฤษเป็นจำนวนน้อย อาจารย์ผู้บรรยายอาจจะบรรยายเป็นภาษาท้องถิ่นเกือบทั้งหมด

ปัญหาเรื่องภาษานี้เป็นปัญหาคล้าย ๆ กันทั่วทั้งอินเดีย เพราะแม้ว่าอาจารย์จะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะง่ายต่อนักศึกษาไทย เพราะสำเนียงและสำนวนการใช้ภาษาอังกฤษของชาวอินเดียไม่ง่ายนักต่อนักศึกษาไทย การเลือกเรียนด้วยภาษาอังกฤษจึงมีความหมายอยู่ที่จะเขียนข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษนั่นเอง

ความคาดหวังของนักศึกษาไทยต่อการศึกษาเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่การฟังบรรยายมากนัก หากแต่อยู่ที่การอ่านหนังสือ เพราะแท้จริงแล้วอาจารย์ผู้บรรยายก็ไม่ได้มีส่วนในการสอบของนักศึกษาที่ตนเองสอน ทั้งนี้ก็เพราะในระบบการศึกษาของอินเดีย ผู้สอน ผู้ออกข้อสอบ และผู้ตรวจข้อสอบจะแยกจากกัน อาจารย์ผู้สอนก็ทำหน้าที่สอน ไม่ได้ออกข้อสอบ และไม่ได้ตรวจข้อสอบของนักศึกษาที่ตนเองสอน

การแยกขาดกันเช่นนี้ทำให้อาจารย์ผู้สอนไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือนักศึกษาในห้องเรียน และอาจารย์ที่สอนดีในความหมายของนักศึกษาจึงไม่ได้หมายถึงอาจารย์ผู้ให้ความรู้ดี หากแต่หมายถึงอาจารย์ผู้เก็งข้อสอบและบอกวิธีทำข้อสอบที่ดีให้แก่นักศึกษาเท่านั้น

ศูนย์กลางการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยอินเดียจึงไม่ใช่ห้องเรียน หากแต่เป็นห้องสมุด เพราะนักศึกษาจะต้องเรียนเพื่อสอบ การเรียนจึงเป็นไปในลักษณะของการเตรียมตัวสอบ ด้วยเหตุนี้นักศึกษาไทยส่วนใหญ่จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับห้องเรียนมากนัก หากแต่สนใจอยู่กับการเตรียมตัวสอบ มีนักศึกษาไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่สนใจห้องเรียนเลย เพราะการเรียนจบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสอบ และเมื่อการสอบไม่เกี่ยวกับห้องเรียน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสนใจห้องเรียน หากแต่ใช้เวลาในการเรียนไปกับการอ่านหนังสือ ค้นคว้าตำรา เพื่อเตรียมตัวสอบ

ชีวิตนักศึกษาไทยในส่วนการเรียนนั้น จะมีเวลาส่วนใหญ่อยู่กับการอ่านหนังสือในวิชาที่เรียน โดยเฉพาะในอินเดียมีตลาดหนังสือเก่าที่ดีมากอยู่รอบ ๆ บริเวณมหาวิทยาลัย การไปเดินเลือกซื้อหนังสือเก่ามาอ่านแล้วนำไปขายคืนเมื่ออ่านจบ เป็นกิจวัตรของนักศึกษาไทยที่ใส่ใจในการอ่าน

แต่สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกจะแตกต่างไปจากนักศึกษาปริญญาตรีและโท ทั้งนี้เพราะการเรียนระดับปริญญาเอก ไม่ต้องเข้าชั้นเรียน แต่ต้องสัมพันธ์กับอาจารย์ผู้ควบคุมการทำวิจัยของนักศึกษา การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างอาจารย์และนักศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนระดับปริญญาเอก

ระบบการเรียนปริญญาเอกดูเหมือนจะเป็นไปคล้าย ๆ กับระบบอินเดียโบราณ คือ ครูและศิษย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก นักศึกษาไทยบางคนก็ชอบวิธีการแบบนี้ แต่บางคนก็ไม่ชอบ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยใจคอของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายครูและฝ่ายศิษย์ ด้วยว่ามีความเห็นต่อประเด็นทางวิชาการตรงกันหรือไม่ ถ้าตรงกันก็เป็นคุณต่อกันและกัน แต่ถ้าหากไม่ตรงกันก็นำไปสู่การเป็นโทษต่อกันและกันได้

การเป็นอยู่
ชีวิตนักศึกษานอกจากจะอยู่กับหนังสือและครู-อาจารย์แล้วก็คือ การเป็นอยู่กับเพื่อน ๆ และสังคมภายนอกมหาวิทยาลัย ชีวิตนักศึกษาไทยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการอยู่ภายในหอพักของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยอินเดียเกือบทุกแห่งจะมีหอพักให้นักศึกษาอยู่ภายในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ที่มีนักศึกษาต่างชาติอยู่มากก็จะมีหอพักนานาชาติไว้รองรับนักศึกษาต่างชาติด้วย ชีวิตนักศึกษาที่อยู่หอพักเป็นชีวิตที่มีบทเรียนดี ๆ ให้ได้เรียนรู้ โดยเฉพาะนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาในห้องเดียวกัน

การอยู่หอพักเป็นการเรียนรู้ชีวิตอีกแบบหนึ่งที่มีคุณค่าไม่น้อยกว่าการเรียนรู้จากห้องเรียน เพราะเป็นการอยู่ร่วมกัน กินร่วมกัน สำหรับนักศึกษาไทยผู้สนใจการเรียนรู้แล้ว การอยู่หอพักรวมกับนักศึกษาชาวอินเดียอาจจะทำให้ได้ความรู้มากกว่าห้องเรียนเสียอีก จำได้ว่าเมื่อสมัยที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น จะต้องอยู่รวมกับเพื่อนนักศึกษาชาวอินเดีย การเป็นอยู่แต่ละวันต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่นการกินอาหาร เมื่อต้องทานอาหารโดยที่ไม่มีช้อนให้แต่ต้องใช้มือ เป็นการเรียนรู้ที่วิเศษมาก เพราะเป็นการหวนคืนไปสู่ธรรมชาติที่เคยทำมาเมื่อตอนเป็นเด็ก

ในครั้งที่ต้องแก้ปัญหาโดยการไปซื้อช้อนมาใช้ในการกินอาหารในห้องอาหารของหอพัก แต่ผลปรากฏว่าวันที่นำช้อนลงไปใช้ในห้องอาหารนั้นเป็นวันที่ไม่ได้กินอาหารเลย เพราะทันทีที่หยิบช้อน-ซ้อมขึ้นมาเพื่อใช้ตักอาหารกิน เพื่อน ๆ ร่วมหอพักต่างชี้ชวนกันให้มาดูการกินอาหารของบุคคลที่กินอาหารด้วยมือไม่เป็น สายตาของเพื่อน ๆ ที่จ้องมองดูการใช้ช้อนตักอาหาร กลายเป็นบทเรียนสำคัญของการใช้ชีวิต และหลังจากวันนั้นก็ไม่เคยนำช้อน-ซ้อมไปที่โรงอาหารอีกเลย แต่พยายามฝึกหัดใช้มือจนชำนาญ ไม่แพ้เพื่อน ๆ ชาวอินเดีย

ชีวิตการเป็นอยู่ในหอพักเป็นชีวิตที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับครรลองของชาวอินเดียในทุก ๆ ด้าน นับตั้งแต่แรกตื่นนอนที่ต้องแย่งห้องน้ำกัน ไปจนถึงเข้านอน

หอพักนักศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นการแยกนักศึกษา หญิง-ชาย ออกจากกันโดยระบบมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว คือวิทยาลัยผู้ชายก็มีเฉพาะผู้ชาย หอพักจึงเป็นเฉพาะส่วนผู้ชาย เข้า-ออกเป็นเวลาตามระเบียบของหอพัก มีระบบอาวุโสที่นักศึกษาชั้นปีสูงกว่าจะได้รับการเคารพจากนักศึกษารุ่นน้อง

ในระดับปริญญาโทและเอก หอพักจะมีสภาพดีกว่าระดับปริญญาตรีมาก เช่นจะเป็นห้องเดี่ยว มีความเป็นเอกเทศ สิ่งอำนวยความสะดวกก็จะมีมากกว่าหอพักระดับปริญญาตรี นักศึกษาไทยส่วนใหญ่จะไปเรียนต่อที่อินเดียในระดับปริญญาโทขึ้นไป ภาพของหอพักส่วนใหญ่จึงเป็นภาพของหอพักที่เรียกว่าหอ P.G. (Post-Graduate - Student's Hostel) ที่มีห้องพักเป็นห้องเดี่ยว มีห้องนั่งเล่น (Common-Room) ห้องอาหาร (Mess) ห้องเครื่องดื่มและอาหารว่าง (Canteen) อันเป็นมาตรฐานของหอพักนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ทั่ว ๆไป

นอกจากนักศึกษาไทยที่อยู่หอพักแล้วยังมีนักศึกษาไทยที่อยู่บ้านเช่า ทั้งด้วยเหตุผลที่ไม่ประสงค์จะอยู่หอพักเพราะเหตุไม่ชอบชีวิตการเป็นอยู่ในหอพัก หรืออาจจะเป็นเพราะทางมหาวิทยาลัยมีหอพักไม่เพียงพอ ในที่สุดจึงลงตัวที่เช่าบ้านอยู่บริเวณใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย มีนักศึกษาไทยจำนวนมากที่นิยมเช่าบ้านอยู่ เพราะสะดวกและเป็นอิสระในการเป็นอยู่ พร้อมทั้งสามารถแก้ปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาเรื่องอาหาร ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับนักศึกษาอินเดียได้

ปัญหาเรื่องอาหารนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของนักศึกษาไทยทีเดียว เพราะการอยู่หอพักนั้นหมายถึงว่าจะต้องกินอาหารของหอพักด้วย และอาหารที่หอพักจัดให้นั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian) หรือถึงแม้ว่าบางมหาวิทยาลัยจะมีหอพักให้ผู้เข้าพักเลือกทานอาหารแบบมีเนื้อสัตว์ (Non-Vegetarian) ได้ แต่ก็เป็นอาหารแบบอินเดียที่ไม่ถูกปากคนไทยอยู่ดี และที่ว่ามีอาหารเนื้อสัตว์นี้ก็มิได้หมายความว่าจะมีทุกมื้อทุกวัน หากมีเพียงแค่สัปดาห์ละครั้งหรือ 2 ครั้งเท่านั้น นอกจากนั้นก็ต้องเป็นอาหารมังสวิรัติ ปัญหาเรื่องอาหารนี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้นักศึกษาไทยไม่นิยมอยู่หอพัก เพราะหอพักจะมีกฎระเบียบที่ห้ามมิให้ผู้พักอาศัยปรุงอาหารภายในห้องพักอย่างเด็ดขาด

สภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษาที่เช่าบ้านอยู่นี้มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายค่าเช่าเป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วนักศึกษาไทยจะรวมตัวกันหลาย ๆ คน แล้วเช่าบ้าน 1 หลัง เพื่อจะได้มีพื้นที่เป็นสัดส่วนเฉพาะกลุ่มนักศึกษาไทย ซึ่งสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่รบกวนผู้อื่น เช่น การปรุงอาหารไทยได้

นักศึกษาไทยไม่ว่าจะอยู่หอพักหรือบ้านเช่าต่างก็มีวิถีชีวิตส่วนใหญ่คล้าย ๆ กันคือเรียนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นเข้าชั้นเรียนหรือเข้าห้องสมุด เมื่อเสร็จภารกิจด้านการเรียนแล้วต่างก็มารวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกัน มหาวิทยาลัยใดที่มีจำนวนนักศึกษาไทยมาก ก็จะมีกลุ่มนักศึกษาไทยเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ถ้าจำนวนน้อยก็จะแฝงตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยอย่างเงียบ ๆ

ด้วยสภาพการเป็นอยู่ที่จะต้องปรับตัวและการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกไปจากการเรียน จึงทำให้นักศึกษาไทยจะไม่นิยมแยกตัวไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคนไทยอยู่ก่อน การเดินทางไปเรียนต่อที่อินเดีย นักศึกษาจึงนิยมสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยซึ่งมีนักศึกษาไทยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้เพราะสะดวกในการติดต่อที่เรียนและสะดวกเมื่อไปเป็นนักศึกษาอยู่ที่นั่น นี่เองเป็นเหตุให้มีนักศึกษาไทยอยู่ไม่กี่มหาวิทยาลัย ทั้ง ๆ ที่อินเดียมีมหาวิทยาลัยอยู่จำนวนมาก มหาวิทยาลัยใดที่มีนักศึกษาไทยอยู่แล้วก็จะมีนักศึกษาไทยเดินทางไปศึกษาต่อทุก ๆ ปี เป็นเส้นทางที่ส่งต่อกันมาเป็นเวลานานนับสิบปีติดต่อกัน

มหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาไทยเดินทางไปศึกษาต่ออย่างไม่ขาดสายและมีจำนวนมากเกินกว่า 10 คนขึ้นไป มีอาทิเช่น

มหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี
มหาวิทยาลัย ปูเน
มหาวิทยาลัย มุสลิม อาลิการ์ห
มหาวิทยาลัย เดลี
มหาวิทยาลัย ปัญจาบ
มหาวิทยาลัย มัทราส
มหาวิทยาลัย ไมซอร์
มหาวิทยาลัย มคธ
มหาวิทยาลัย บอมเบย์
วิศวภารตีศานตินิเกตัน
ฯลฯ

สภาพการเป็นอยู่ในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีรายละเอียดต่างกัน เช่น ที่มหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี ก็จะมีบรรยากาศแบบอินเดียที่เป็นฮินดู นักศึกษาไทยส่วนใหญ่ที่เดินทางไปศึกษาที่นี้จะเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ขณะที่มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์ห จะมีบรรยากาศแบบศาสนาอิสลาม นักศึกษาไทยเกือบทั้งหมดที่นี้เป็นชาวไทยมุสลิม ทั้งที่เป็นครูสอนศาสนาและเป็นบุคคลทั่วไป บรรยากาศของมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนี้เป็นบรรยากาศของเทวาลัยแห่งการเรียนรู้ที่ถูกกำกับโดยคติความเชื่อทางศาสนา

ความแตกต่างในชีวิตความเป็นอยู่นี้ไม่เฉพาะต่างมหาวิทยาลัยเท่านั้น แม้กระทั่งว่าในมหาวิทยาลัยเดียวกันแต่ต่างวิทยาลัยก็จะมีสภาพการเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน เช่นที่มหาวิทยาลัยมัทราส นักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยวิเวกานันทะ (Vivekananda College) และที่วิทยาลัยมัทราสคริสเตียน (Madras - Christian College) จะมีสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ที่วิทยาลัยวิเวกานันทะจะมีลักษณะเป็นวัดฮินดู นักศึกษาทุกคนที่ศึกษาและอยู่ในหอพักของวิทยาลัย จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยที่เป็นไปตามหลักของศาสนาฮินดู เช่น การทำวัตรสวดมนต์ และการถือสมาทานมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะวิเวกานันทะเป็นวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรทางศาสนาฮินดู

ส่วนที่วิทยาลัยมัทราสคริสเตียน ก็จะมีบรรยากาศแบบสถานศึกษาขององค์กรทางศาสนาคริสต์ทั่ว ๆ ไปให้อิสระแก่นักศึกษา เน้นการเป็นอยู่ที่มีลักษณะเป็นนานาชาติ ไม่ผูกติดกับวัฒนธรรมอินเดียมากนัก จากตัวอย่างของความเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ยังมีความแตกต่างกันแล้ว จะกล่าวไปใยกับนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาอยู่คนละมหาวิทยาลัย

 

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

ที่มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี หรือ ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ มหาวิทยาลัยพาราณสี ที่นี่เป็นเหมือนวัด เพราะความโดดเด่นของหาวิทยาลัยคือ เทวสถานที่สูงเด่นเป็นสง่าอยู่กลางมหาวิทยาลัยที่ภายในเต็มไปด้วยต้นไม้ที่ร่มรื่น เขตมหาวิทยาลัยเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ดูด้วยสายตาก็รู้ได้ เพราะทันทีที่เหยียบเท้าเข้าไปในเขตมหาวิทยาลัย จากข้างนอกที่พลุกพล่าน เสียงดังอึกทึก แต่ภายในมหาวิทยาลัยกลับเงียบสงบ

ยิ่งเมื่อเข้าไปถึงบริเวณวัดซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตของ มหาวิทยาลัย ยิ่งรู้สึกเหมือนกับว่า นี่คือเทวสถานแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง เสียงระฆัง เสียงสวดมนต์ เป็นเสียงแห่งจิตวิญญาณอินเดีย ที่ผู้นำอินเดียในยุคต่อสู้กับผู้ปกครองอังกฤษต้องการให้คนอินเดียยุคใหม่ได้ยิน (ประมวล เพ็งจันทร์)

 

R
related topic
131048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
มหาวิทยาลัยศานตินิเกตัน ที่ท่านมหากวี รพินทรนาถ ฐากูร เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม และเป็นผู้แต่งเพลงชาติอินเดียเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ที่นี่กลับเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความสงบเรียบง่าย มีนักเรียนตัวน้อย ๆ
นั่งเรียนหนังสืออยู่ใต้ร่มไม้ตั้งแต่เช้าตรู่