The Midnight University
ประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ไม่เคยหยุดพัก
จาก:
ถีบลงเขาเผาลงถัง ถึง กรณีกรือเซะและตากใบ
รศ.ดร.เกษียร
เตชะพีระ
นายอานันท์ ปันยารชุน
การรวบรวมภาพสะท้อนความรุนแรง กรณีภาคใต้ของประเทศไทย
บทความ ๒ เรื่องซึ่งนำเสนอบนเว็ปไซต์ ได้รับเคยได้รับการเผยแพร่แล้วดังรายละเอียดต่อไปนี้
๑. เรื่องเล่าจากพัทลุง (มติชนรายวัน ๗ ตุลาคม ๒๕๔๘)
๒. ปาฐกถาอานันท์ : รัฐต้องให้ความมั่นคงกับคนใต้ (ประชาไทออนไลน์)
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 699
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)
๑. เรื่องเล่าจากพัทลุง
โดย เกษียร เตชะพีระ
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับคณะจากเชียงใหม่ได้จัดโครงการทัศนศึกษาให้พี่น้องมลายูมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นนักกิจกรรมเอ็นจีโอ และผู้ประสบความสูญเสียจากความรุนแรงในระยะปีกว่าที่ผ่านมา ได้ไปพบปะเยี่ยมเยียนเครือข่ายชุมชนบางท้องที่ในภาคใต้ตอนบน ที่ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาฐานทรัพยากร และสร้างสื่อกระจายเสียงวิทยุชุมชนได้สำเร็จระดับหนึ่ง เพื่อดูงานและแลกเปลี่ยนทรรศนะประสบการณ์การสร้างเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมชุมชนและทำงานการเมืองภาคประชาชน ในฐานะที่อาจเป็นทางออกทางเลือกหนึ่งในการเสริมสร้างพลังการต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรมของประชาชนโดยสันติวิธีท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงปัจจุบัน
ผมได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมในโครงการดังกล่าวกับเพื่อนๆ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและพี่น้องมลายูมุสลิมปักษ์ใต้ที่เครือข่ายชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุงด้วย
ที่นั่นเป็นเครือข่ายชุมชนชนบทติดเขตป่าเขาที่กว้างขวางใหญ่โตพอควร ครอบคลุมพื้นที่หลายหมู่บ้านตำบล มีตัวแทนชาวบ้านจัดตั้งกันเป็นคณะกรรมการการบริหารจัดการตนเอง มีวิทยุชุมชนกระจายเสียงข่าวสารข้อมูลท้องถิ่น มีสหกรณ์การผลิตทำสินค้าพื้นบ้านส่งขายตลาดร่วมกัน และสหกรณ์ออมทรัพย์รับฝากเงินออมนับสิบล้านบาท โดยสมาชิกส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดเป็นคนไทยพุทธ
เราได้จัดโต๊ะกลมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างแกนนำและเจ้าหน้าที่โครงการต่างๆ ของเครือข่ายชุมชนกับผู้ไปเยือน ณ สำนักงานสหกรณ์ บรรยากาศตอนแรกฝืดๆ ทั้งผู้เหย้าผู้เยือนต่างแนะนำตัวเอง องค์กรสังกัดและกิจกรรมที่ทำคร่าวๆ แล้วต่างฝ่ายต่างก็อึกๆ อักๆ ไม่รู้จะคุยอะไรต่อดี โดยเฉพาะพี่น้องมลายูมุสลิมจากชายแดนใต้ซึ่งค่อนข้างเงียบงำมาตลอด อาจเพราะมีความกระทบกระเทือนในใจบางอย่างยังไม่คุ้นเคยไม่วางใจกัน หรือแม้แต่ไม่ถนัดพูดภาษาไทย จนถึงจุดหนึ่งทางตัวแทนผู้เหย้าก็ถามคณะผู้เยือนเอาตรงๆ ว่าที่จัดมากันวันนี้น่ะ เพื่อวัตถุประสงค์อะไร?
แต่แล้วบรรยากาศทั้งหมดก็เปลี่ยนไป เมื่อคุณลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนดังกล่าวตัดสินใจพูดบอกออกมาตรงๆ และยาวๆ อย่างไม่มีใครคาดคิด...
อันที่จริงมันก็ตรงกับความคาดเดาในใจของผมว่า ชาวนาชาวสวนที่นี่แปลกดี พูดจาชี้แจงบรรยายสรุปกิจกรรมของตนอย่างกระชับเป็นระบบ ด้วยภาษาศัพท์แสงทางความคิดการเมืองที่แหลมคมชัดเจนผิดสังเกต
อาทิ วิทยุชุมชนเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง ความสำเร็จของวิทยุชุมชนจึงวัดกันที่ความเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นของชุมชนที่ต้องการสร้างขึ้นมา หากทำสิ่งนั้นไม่ได้ ก็ถือว่าไม่บรรลุเป้า เป็นต้น
จึงไม่น่าใช่ชาวบ้านชนบทธรรมดา แต่ฟังเหมือนชาวนาที่ผ่านการฝึกฝนอบรมงานความคิดการเมืองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ที่ผมเคยเจอตอนเข้าป่าหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน ผู้ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มากกว่า และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ลุงเล่าประวัติความเป็นมาของเครือข่ายชุมชนที่พัทลุงนี้ว่า แท้จริงนี่เป็นเขตงานเก่าของ พคท. มีการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องปกป้องปากท้องสิทธิและความเป็นธรรม ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานจนขยายตัวออกไปถึงขั้นจับปืนลุกขึ้นสู้ ภายใต้การนำของ พคท. กับรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสในอดีต จึงถูกกวาดล้างปราบปรามครั้งใหญ่ระหว่างปี พ.ศ.2514-2516
แต่ทางราชการก็ปกปิดเรื่องไว้ จนเพิ่งถูกเปิดโปงอื้อฉาวออกมาภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่ประชาชนลุกขึ้นสู้โค่นรัฐบาลเผด็จการทหารผ่านไปได้ไม่นาน ในนามกรณี "ถีบลงเขาเผาลงถังแดง" ซึ่งมีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่เหวี่ยงแห กวาดต้อนจับกุมไปทรมานสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมทารุณ เพราะต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์หรือแนวร่วมกว่าสามพันคน
ดังปรากฏเป็นรายงานข่าวสมัยนั้นว่า:-
เจ้าหน้าที่ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และ อ.ส.เข้าล้อมหมู่บ้าน...จับบรรดาราษฎรที่ต้องสงสัยไปเป็นจำนวนมาก
แล้วทำการสอบสวนโดยวิธีการทารุณต่างๆ เช่น สอบสวนแล้วเมื่อไม่รับก็ยิงกรอกหู
ใช้ค้อนทุบต้นคอ จับชาวบ้านใส่ถังแดงแล้วเผาทั้งเป็น บางครั้งก็ให้ถือมีดกันคนละเล่มฆ่ากันเอง
และมีราษฎรอีกจำนวนมากที่ถูกจับไปแล้วหายสาบสูญไม่ได้กลับบ้าน บางคราวเมื่อมีฝนตกหนัก
ก็มักพบกะโหลกคนกลิ้งลงมาจากเขา ทำให้เชื่อกันว่าราษฎรที่หายไปนั้น ถูกจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วถีบลงมาจากกลางอากาศ
("คดีถังแดง บ้านไมลายอีกครั้งหรือ?" ประชาชาติ,
2:66 (21 ก.พ.2518), 12)
แม้แต่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้นก็ยอมรับว่าเรื่องถังแดงนั้นเกิดขึ้นจริง ลุงเองก็เป็นแกนำชาวบ้านคนหนึ่งที่ทนการปราบโหดเช่นนั้นไม่ได้ เจ็บแค้นที่ญาติมิตรพี่น้องถูกทางการปราบฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม ก็เลยเข้าป่าจับปืนด้วย
ลุงเกริ่นเล่าประวัติภูมิหลังของเครือข่ายชุมชนที่มาจากเขตงานเดิมของ พคท.ซึ่งต่อมาภายหลังป่าแตก ชาวบ้านต่างพากันวางปืนคืนสู่เหย้าแล้ว ก็ได้อาศัยเครือข่ายสายสัมพันธ์ทางการจัดตั้งแต่เดิมเป็นพื้นฐานมาสร้างชุมชนพึ่งตนเองจัดการดูแลช่วยเหลือตนเองให้เราฟังก็เพื่อจะบอกว่า : แกเข้าใจและเห็นใจพี่น้องมลายูมุสลิมภาคใต้ที่ถูกรัฐบาลปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างโหดร้ายอยุติธรรม โดยเฉพาะในกรณีตากใบ
แกบอกว่าเมื่ออ่านข่าวและดูภาพบันทึกเหตุการณ์ที่พี่น้องเหล่านั้นถูกบังคับถอดเสื้อทุบตี กวาดต้อนไปนอนทับกันเป็นชั้นๆ บนรถบรรทุกจนเจ็บตายก่ายกอง แกก็รับไม่ได้ แม้แต่ไก่ที่แกเลี้ยงซึ่งเป็นสัตว์ เวลาแกขนย้ายมันไปไหนแกยังไม่ทำกับมันอย่างนั้นเลย หากคอยระวังดูแลไม่ให้มันทับกันจนเจ็บตาย แต่นี่เป็นคน ถ้าผู้ที่ประสบชะตากรรมเหล่านั้นเป็นญาติพี่น้องของแกแล้ว มาถูกกระทำเช่นนี้ แกก็คงทนไม่ไหวเหมือนกัน
พูดมาถึงตอนนี้เสียงแกก็สั่งเครือปนสะอื้นและยกมือขึ้นเช็ดน้ำตา
หลังลุงเล่าเสร็จ การสนทนาก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ พี่น้องมลายูมุสลิมจากชายแดนเลิกอ้ำอึ้งอีกต่อไป หากเปิดใจเผยความในใจออกมาอย่างหมดเปลือกว่า ตนคิดตนรู้สึกอย่างไร เจ็บปวดชอกช้ำน้อยเนื้อต่ำใจอย่างไรที่ถูกผู้มีอำนาจกระทำ ด้วยความรู้สึกเข้าใจ ซึ้งใจ อุ่นใจ ในมิตรภาพและความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจที่มีให้แก่กันและกันกับไทยพุทธอดีตผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เหล่านั้น
ในฐานะผู้ร่วมทุกข์ร่วมชะตากรรม เพราะต่างเคยถูกอำนาจรัฐปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรมมาเหมือนกัน
ผมเล่าเรื่องนี้สู่ท่านฟังในโอกาสครบรอบ 29 ปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เพราะผมคิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญน่าสนใจบางอย่าง ต่อการพยายามสร้างสมานฉันท์และสันติภาพในบ้านเมืองปัจจุบันกล่าวคือ:-
ก) ภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ที่แตกต่าง มิใช่อุปสรรคขวางกั้นการเข้าใจและเข้าถึงเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมชาติและร่วมโลก ขอเพียงแต่เราซื่อตรงยอมรับความจริง และไม่เพิกเฉยยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น คนไทยเราที่ถือศาสนา พูดภาษา และมีเชื้อชาติวัฒนธรรมต่างกันสามารถรักกันได้ เห็นอกเห็นใจกันได้ ร้องไห้สงสารกันได้ พูดคุยแลกเปลี่ยน กินข้าวร่วมหม้อตักแกงร่วมถ้วยดื่มน้ำร่วมขัน จับมือบอกลาด้วยความรักอาลัยหวังดีปรารถนาดีต่อกันได้ ขอแต่เราเคารพความจริงและยืนอยู่บนความยุติธรรม
ข) ลุงและเจ้าหน้าที่เครือข่ายชุมชนที่พัทลุงเข้าใจกิจกรรมที่พวกตนทำอยู่ทุกวันนี้ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังวางปืนเลิกรบสงครามประชาชนกับรัฐบาลว่าอย่างไร?
พวกเขายืนยันว่าเป้าหมายจุดยืนของพวกเขาไม่เปลี่ยน แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือวิธีการต่อสู้ ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังต่อสู้เพื่อปากท้องสิทธิ และความเป็นธรรมเช่นเดิม แต่ด้วยสันติวิธีภายใต้เงื่อนไขประชาธิปไตย แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อแรกขึ้นเสาทำวิทยุชุมชน ทหารที่ตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆ ก็มาสอบถามด้วยความหวาดระแวง, ทว่าด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจรอบคอบ และยืนหยัดผลประโยชน์ของชาวบ้านท้องถิ่น พวกเขาก็ดำเนินกิจกรรมมาได้โดยทางการยอมรับ
คำถามที่น่าถามคือ
- ทำอย่างไรพี่น้องมลายูมุสลิมจะมีโอกาสเช่นนั้นบ้าง?
- ทำอย่างไรความเปลี่ยนแปลงจากสงครามไปสู่สันติภาพที่ว่านี้ จึงจะเกิดขึ้นกับผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ได้บ้าง?
- บทเรียนและประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปรสงครามที่ไทยฆ่าไทย ให้กลายเป็นการต่อสู้ที่คนไทยเราสามารถทะเลาะกัน และร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาบ้านเมืองได้โดยสันตินั้น สังคมไทยเรามี ไม่ใช่ไม่มี แต่มันหายไปไหน?
ทำไมไม่เอามาใช้?
( ข้อมูลเรื่องที่หนึ่งนำมาจาก : มติชนรายวัน ๗ ตุลาคม ๔๘)
๒. ปาฐกถาอานันท์ :
รัฐต้องให้ความมั่นคงกับคนใต้
นายอานันท์ ปันยารชุน
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การสร้างความสมานฉันท์ และร่วมกันฟื้นฟูท้องถิ่นภาคใต้" ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ประจำปี 2548 จัดโดยภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 29 กันยายน 2548 ที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีเนื้อความ ดังนี้...
ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 800 - 900 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 800 - 900 ราย มีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก และยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกมากมาย เป็นสถิติที่ไม่น่าภาคภูมิใจ แม้ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้จะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง แต่ก็เป็นในลักษณะประปราย ซึ่งน้อยกว่าช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา คำถามก็คือเป็นเพราะอะไรและจะแก้ปัญหากันอย่างไร
เป็นหน้าที่ของ กอส.ที่จะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นมา สมานฉันท์ทั้งเรื่องในของศาสนาและประชาชน กอส.มีกรรมการ 2 คนที่เป็นพระ คนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ และอีกคนหนึ่งเป็นพระนักคิดนักเขียน นอกจากนี้ก็ยังมีผู้นำศาสนาอิสลาม ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ
กอส.ต้องสะท้อนความหลากหลายมีอยู่ในพื้นที่ แต่เราไม่ใช่หน่วยงานบริหาร ไม่มีอำนาจทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น
กอส.มีหน้าที่เสนอแนะหาต้นเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา และนำเสนอต่อรัฐบาลที่มีอำนาจทางการบริหาร และนิติบัญญัติถูกต้องตามกฎหมาย ให้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา หากภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ความรุนแรงยังไม่ลดลง ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชาชนและภาคใต้ของเรา
จากปัญหาดังกล่าวทำให้มีประชาชนอพยพออกนอกพื้นที่แล้วนับหมื่นคน ไม่เฉพาะ 131 ชาวไทยมุสลิมที่หลบหนีเข้าประเทศมาเลเซีย ยังมีประชาชนอีกมากที่หนีออกนอกพื้นที่รวมทั้งมาที่หาดใหญ่นี้ด้วย แสดงให้เห็นความหวาดกลัวของประชาชน
ในอีก 3 - 4 เดือน จะทำรายงานเสนอไปยังรัฐบาลถึงข้อสรุปของ กอส. ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่อยากให้สังคมร่วมกันคิด เพราะ กอส.ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่สังคมต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ
ในแอฟริกาใต้ซึ่งเคยเกิดความวุ่นวายมาก่อน เมื่อเหตุการณ์สงบก็มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อค้นหาความจริงและสมานฉันท์ขึ้นมา แม้แต่ประธานาธิบดีบุชของหสรัฐอเมริกาก็ออกมาขอโทษ กรณีที่การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกพายุแคทริน่าไม่ดีพอ
เพราะฉะนั้นใน 9 มาตรการหลักที่ กอสน.เสนอต่อรัฐบาล ก็คือการเปิดเผยความจริงขึ้นมาและพร้อมที่จะรับผิดชอบ มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องรายวัน นโยบายที่รัฐบาลจะให้แก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเป็นนโยบายที่ดีไม่ใช่นโยบายรายวัน ต้องทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ต้องแน่ใจว่าไม่ไปซ้ายไปขวา และรัฐบาลต้องพร้อมสำหรับการขอโทษ
การให้อภัยจะเกิดไม่ได้ตราบใดที่ประชาชนยังข้องใจในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งการไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลต้องกล้าเปิดเผยความจริง ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและต้องรับผิดชอบ ที่ผ่านมามีแต่ผู้รับชอบไม่มีใครกล้ารับผิด และไม่เคยมีการแสดงความเสียใจ
การดำเนินการด้วยสันติวิธี ซึ่งสันติวิธีไม่ใช่การยอมจำนนต่อความรุนแรง แต่เป็นกระบวนการหนึ่งของการแก้ปัญหาความรุนแรง
การสร้างความทรงจำและการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การบันทึกเหตุการณ์เชิงสถิติว่า เกิดกี่ครั้ง มีคนตายเท่าไหร่ แต่ประวัติศาสตร์คือการอธิบายเหตุการณ์ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร และมีผลกระทบอย่างไร ไม่ใช่การแจ้งเหตุการณ์ ถ้าเป็นเช่นนี้แน่นอนความรุนแรงลดลง ความสมานฉันท์เกิดขึ้น
ความทรงจำไม่ใช่ในเรื่องของการสร้างความเคียดแค้น แตเป็นการทำความเข้าใจเหตุการณ์
ในเรื่องความมั่นคง ช่วงหลังๆ เมื่อพูดถึงความมั่นคง คนจะนึกถึงความมั่นคงของรัฐอย่างเดียว ซึ่งเป็นความคิดที่แคบ โดยมองว่าเป็นความมั่นคงระหว่างประเทศกับประเทศ เป็นการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ หรือเป็นหน้าที่ของตำรวจกับทหารเท่านั้น แต่ในกฎบัตรข้อแรกของสหประชาชาติไม่ได้พูดถึงรัฐเลย
เพราะความมั่นคงนั้นหมายถึง การรักษาความมั่นคงให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นรัฐต้องรับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงให้กับประชาชน ต้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งในภาคใต้ของไทย รัฐยังดูแลไม่สมบูรณ์ นั่นคือการสร้างความมั่นคงให้มนุษย์
ในภาคใต้หากรัฐไม่เปิดเผยความจริงให้ทันเวลา
อาจทำให้รัฐเสียเปรียบกลุ่มกองโจร เพราะประชาชนไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธารัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
และประชาชนก็ไม่พร้อมที่จะเปิดเผยความจริงตามที่เขารู้ เพราะกลัว เราเรียกร้องให้ประชาชนเปิดเผยข้อมูล
แต่รัฐเองก็ไม่เปิดเผยความจริงออกมา เขาก็ไม่กล้าพอแน่นอน
ภาคใต้ในขณะนี้ตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัว ไทยพุทธก็กลัว ไทยมุสลิมก็กลัว
เพราะฉะนั้นต้องเร่งให้ประชาชนมีความเชื่อถือรัฐก่อน จึงจะแก้ปัญหาได้
ขอชมเชยเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย ที่รับผิดชอบแก้ไขวิกฤติที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ใช้ขันติธรรมในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ยอมเดินเข้าหลุมพรางที่คนร้ายขุดวางไว้ วันนั้นหากเจ้าหน้าที่ตัดสินใจเข้าจู่โจม ซึ่งมองตามศักยภาพแล้วก็สามารถทำได้ แต่ผลที่ตามมาอาจจะเป็นอีกแบบ เหมือนกับดุซงญอ ตากใบ หรือกรือเซะ เพราะเข้าใจว่าอย่างไรแล้ว ทหารนาวิกโยธินทั้ง 2 นายก็คงไม่รอด เมื่อเกิดการยิงกันขึ้น เหตุการณ์ก็จะยิ่งโกลาหล และอาจมีการตายมากขึ้น ทั้งเด็กและผู้หญิง
จริงอยู่การสูญเสียทหารนาวิกโยธินทั้ง 2 นายเป็นสิ่งที่น่าเสียใจและน่าสลด แต่เราต้องเข้าใจว่า คนที่ก่อเหตุต้องการสร้างความหวาดกลัว และแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนได้ จนต้องพึ่งเขา ฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันและอย่าตกหลุมพราง
เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีคดีอุกฉกรรจ์จำนวนถึง 85% ที่รัฐบาลไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ มีเพียง 15% เท่านั้นที่รู้ว่าใครทำจนนำมาสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุ แต่ในจำนวนดังกล่าว มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่จับผิดตัวจนต้องปล่อยไปในที่สุด เนื่องจากไม่มีหลักฐานเอาผิด
จากการลงพื้นที่และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียงอิงอยู่กับหลักธรรมในศาสนาอิสลาม ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า วิถีชีวิตดังกล่าวสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงชี้แนะให้พสกนิกรดำรงตนตั้งอยู่บนความพอเพียง ไม่ฟู่ฟ่าหรูหรา ประกอบสัมมาอาชีพอย่างพออยู่พอกิน
แต่ก็พบว่าประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังยากจนมากกว่าพื้นที่อื่น ได้รับโอกาสน้อยกว่าพื้นที่อื่น เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่สืบทอดวิถีชีวิตตามหลักศาสนาที่บรรพบุรุษได้ปูแนวทางไว้ ซึ่งตรงกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด ไม่คิดที่จะใช้เงินเกินเหตุ มีชีวิตอยู่อย่างสมถะ พอดี พอใจ และพอเพียงในสิ่งที่มีอยู่
แต่กระแสทุนนิยม บริโภคนิยม ทำให้วิถีชีวิตดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป บางพื้นที่มีการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างหนักระหว่างชาวบ้านกับนายทุนผู้มีอิทธิพล ดังนั้นการใช้นโยบายแก้ปัญหาในพื้นที่นี้ควรต้องมีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมากับแนวทางทุนนิยมด้วย เพราะเรื่องการค้าเสรีนั้น บางพื้นที่ก็สามารถทำได้ แต่อาจสร้างปัญหาให้อีกบางพื้นที่ ต้องแยกแยะให้ถูก
รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึง
และได้รับบริการในเรื่องที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน เข้าถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา การดำเนินชีวิตและอนาคตของตนเอง
ให้ชุมชนได้มีโอกาสจัดการปัญหาของตนเองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา
56, มาตรา 78 ซึ่งเชื่อว่ารัฐสามารถทำได้ อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่เท่านั้น
(ข้อมูลเรื่องที่สองนำมาจาก
: ประชาไทออนไลน์)
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=1091&SystemModuleKey
=HilightNews&System_Session_Language=Thai
ภาคผนวก : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๔๐
มาตรา 56 : และ มาตรา 78:
ที่มาของข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจ สามารถค้นรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้ที่
www.thaihealth.or.th/document/ThailandsConstitution.pdf
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
รายงานข่าวสมัยนั้นว่า:
เจ้าหน้าที่ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และ อ.ส.เข้าล้อมหมู่บ้าน... จับบรรดาราษฎรที่ต้องสงสัยไปเป็นจำนวนมาก
แล้วทำการสอบสวนโดยวิธีการทารุณต่างๆ เช่น สอบสวนแล้วเมื่อไม่รับก็ยิงกรอกหู
ใช้ค้อนทุบต้นคอ จับชาวบ้านใส่ถังแดงแล้วเผาทั้งเป็น บางครั้งก็ให้ถือมีดกันคนละเล่มฆ่ากันเอง
และมีราษฎรอีกจำนวนมากที่ถูกจับไปแล้วหายสาบสูญไม่ได้กลับบ้าน บางคราวเมื่อมีฝนตกหนัก
ก็มักพบกะโหลกคนกลิ้งลงมาจากเขา ทำให้เชื่อกันว่าราษฎรที่หายไปนั้น ถูกจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วถีบลงมาจาก
กลางอากาศ
แม้แต่ พล.อ.กฤษณ์
สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้นก็ยอมรับว่าเรื่องถังแดงนั้นเกิดขึ้นจริง
ลุงเองก็เป็นแกนำชาวบ้านคนหนึ่งที่ทนการปราบโหดเช่นนั้นไม่ได้ เจ็บแค้นที่ญาติมิตรพี่น้องถูกทางการปราบฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม
ก็เลยเข้าป่าจับปืนด้วย