นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

การช่วงชิงวาทกรรมและการปฏิรูปสื่อ
วาทกรรมและวงศาวิทยาการปฏิรูปสื่อ
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
คณะนิเทศศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่โดย อ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 697
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 19.5 หน้ากระดาษ A4)



วาทกรรมและวงศาวิทยาการปฏิรูปสื่อ
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
สถานะของการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์เดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง นับจากวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ประกาศใช้ในเดือนตุลาคมเมื่อ ๘ ปีที่แล้ว จุดเปลี่ยนที่ว่านี้ หลายคนมีความเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการก่อตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติหรือ กสช. เพราะคนกลุ่มนี้คือผู้ที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะได้รับการจัดสรรความถี่ คนที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชนต่างเฝ้าติดตามอย่างใจจดใจจ่อว่า ๗ อรหันต์เป็นคนในโผไหน และจะมีการแบ่งสันปันส่วนคลื่นความถี่ใหม่อย่างไรหรือไม่ หรือจะเข้ามาเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มไหนเป็นพิเศษ

แต่ไม่ว่าจะมองมุมไหนต่างก็มองความเปลี่ยนแปลงจากผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้งทั้งสิ้น สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุและโทรทัศน์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือผู้รับสัมปทานเอกชน เป้าหมายหลักคือการรักษาสมบัติเดิมเอาไว้ให้ถึงที่สุด ส่วนผู้ที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ นี่คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ ๕๐ ปีที่ความฝันในการเป็นผู้ดำเนินการหรือประกอบการวิทยุและโทรทัศน์จะกลายเป็นจริงขึ้นมา

วาทกรรมสองด้าน : ประชาชนมีสิทธิพูด รัฐห้ามประชาชนพูด
การปฏิรูปสื่อเป็นวาทกรรมใหม่ ที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมภายหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ๒๕๓๕ เสนอโต้แย้งกับวาทกรรมหลัก (dominant discourse) ของรัฐในเรื่องการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ รัฐได้ให้ความหมายและเอกลักษณ์แก่วิทยุและโทรทัศน์ในฐานะเป็นสื่อของรัฐ ตอกย้ำต่อเนื่องหลายสิบปีจนประชาชนรับรู้และรับเชื่อว่า มีเพียงรัฐเท่านั้นที่มีสิทธิเป็นเจ้าของ ความรู้ที่รัฐกำหนดและให้ความหมายเช่นนี้ ถูกถ่ายทอดให้มีสถานะเป็น "ความจริง" (truth) ในขณะเดียวกัน วาทกรรมหลักของรัฐก็ได้ปิดกั้นวาทกรรมอื่น ๆ ไม่ให้มีพื้นที่ทางสังคม รวมทั้งถูกปฏิเสธความชอบธรรมว่าไม่มีสถานะแห่งความจริง และมิใช่ความรู้

ปัจจุบัน เรื่องของการปฏิรูปสื่อได้เผยให้เห็นว่ามีความรู้ภาคปฏิบัติการ และมีความรู้ทางทฤษฎีรองรับจนสามารถท้าทายวาทกรรมหลักเรื่องสื่อของรัฐได้ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องความรู้และอำนาจที่แตกต่างกันระหว่างรัฐและภาคประชาชน ซึ่งในเรื่องนี้จะได้กล่าวถึงต่อไปในส่วนที่สองของบทความ

ส่วนแรก : สาระสำคัญของวาทกรรมการปฏิรูปสื่อ
ในส่วนแรกจะกล่าวถึงสาระสำคัญของวาทกรรมการปฏิรูปสื่อ คือวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมีความเป็นนามธรรมอยู่สูงมาก และเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากในความเชื่อของชนชั้นนำและปัญญาชน พวกเขาส่วนใหญ่เชื่อว่าประชาชนจะไม่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงทรัพยากรคลื่นความถี่โดยตรง แต่การก่อตัวของกระแสความเคลื่อนไหววิทยุชุมชนตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ น่าจะเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีว่า ประชาชนพร้อมทุกเมื่อในการแสดงตนเป็นเจ้าของสิทธิ และสามารถเข้ามาใช้สิทธิอันชอบธรรมของตนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ปฏิบัติการทางวาทกรรมของกลุ่มวิทยุชุมชนเป็นคลื่นที่ปะทะโดยตรงกับวาทกรรมของรัฐที่ยังคงยึดมั่นอยู่ว่าคลื่นความถี่นั้น มีแต่รัฐที่มีสิทธิเป็นเจ้าของ การพูดและแสดงความคิดเห็นก็มีแต่รัฐที่มีสิทธิหรืออภิสิทธิ์เหนือประชาชนคนธรรมดา ดังนั้น ระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการควบคุมการใช้คลื่นความถี่เพื่อการสื่อสารทางวิทยุและโทรทัศน์ จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

มิหนำซ้ำ ยังกลับถูกนำมาใช้เพื่อกีดกั้นการใช้สิทธิของภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ไปจนถึงมติและคำสั่งที่ลดทอนการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๙ ในเรื่องการพูดและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ

รัฐ ประชาสังคม และภาคประชาชนถือวาทกรรม (discourse) คนละชุด และมีการปฏิบัติการทางวาทกรรม (discursive practice) ด้วยประวัติศาสตร์ กฎเกณฑ์ ความรู้ และอำนาจที่ต่างระดับกัน ในฝ่ายประชาสังคมและภาคประชาชนยึดถือวาทกรรมหลักในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ว่า การพูดและแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ (natural rights) ที่ทุกคนได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด สิทธิเสรีภาพเช่นว่านี้ ครอบคลุมกว้างขวางในเรื่อง "สิทธิเสรีภาพที่จะมีความคิด ความเชื่อ การพูดและการแสดงออกซึ่งความคิดและความเชื่อด้วยวาจา หรือด้วยสื่อ หรือศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ" (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. ๒๔๙๑ มาตรา ๑๙)

บนหลักการพื้นฐานนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ รวมทั้งรัฐธรรมนูญภายใต้ระบบการเมืองแบบรัฐสภาของไทยก่อนหน้านี้ ได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้อย่างชัดแจ้ง หากพิเคราะห์ที่มาและที่ไปของสิทธิเสรีภาพในการคิด เชื่อ และแสดงความคิดเห็น (ซึ่งย่อมจะเหมือนหรือแตกต่างกันมากน้อยอย่างไรก็ได้) จะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตะวันตก ไม่ใช่เรื่องนำเข้าจากต่างประเทศ หรือไม่ใช่เรื่องที่ไม่เป็นไทย (un-Thai) ดังที่ผู้ปกครองของไทยมักนำมาใช้ตอบโต้ประชาชน หากเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว เหตุใดรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับและรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจึงถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะต้องมีการบัญญัติและให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลและสื่อมวลชนไว้อย่างกว้างขวาง

แท้ที่จริงแล้ว หลักการพื้นฐานที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีสภาพที่ครอบคลุมทั้งสามัญชน ชนชั้นนำและชนชั้นปกครองอย่างเสมอหน้ากันตามนัยแห่งนิติธรรม ดังนั้น จึงหมายความว่าหลักการของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทำให้แต่ละฝ่ายต่างก็ได้รับความเสมอภาคกันภายใต้การคุ้มครองอย่างเป็นธรรมของกฎหมาย อย่างไรก็ดี หากปราศจากการรับรองสิทธิเสรีภาพในการคิด การเชื่อ และการแสดงความคิดเห็น หรือการคิด อ่าน พูด เขียนเสียแล้ว ชนชั้นนำและชนชั้นปกครองก็จะตกอยู่ในฐานะสูญเสียสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกับสามัญชนคนทั่วไป ที่การพูดหรือการแสดงความคิดเห็นกลายเป็นเรื่องนอกการคุ้มครองของกฎหมายแม่บท

แต่ด้วยประวัติศาสตร์วาทกรรมที่แตกต่างกันคนละขั้วระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงมีพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ตนเป็นผู้กำหนดว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพหรือไม่มีสิทธิเสรีภาพในเรื่องใดบ้าง และในฐานะผู้มอบสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนจึงมีอำนาจและอภิสิทธิ์เหนือประชาชน เราจึงเห็นข้อบังคับและระเบียบพิเศษหลายอย่างหลายประการที่ชนชั้นนำและชนชั้นปกครองตราขึ้น เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นของตน อาทิ

พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่ตั้งอยู่บนวาทกรรมว่ารัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์คลื่นแต่เพียงผู้เดียว จึงได้เขียนบทบัญญัติให้อภิสิทธิ์แก่รัฐในการเข้าถึงคลื่นความถี่ และห้ามผู้อื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ หากจะทำก็ต้องทำในนามของรัฐในระบบสัมปทาน ซึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดมาตรการห้ามประชาชนพูดนั่นเอง นัยของวาทกรรมใน พ.ร.บ. วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์คือ การให้พูดเฉพาะเท่าที่อนุญาต และหากไม่พูดตามที่รัฐให้อนุญาต ก็จะถูกยึดใบอนุญาตคืน ไม่ให้พูดอีกต่อไป

กฎข้อบังคับในลักษณะนี้ จึงเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิในการพูดและการแสดงความคิดเห็นอย่างแจ้งชัด รัฐกำหนดประกาศิตว่าจะให้ใครพูดก็ได้ ไม่ให้ใครพูดก็ได้ เมื่อให้พูดแล้ว ยังต้องพูดเท่าที่ขีดเส้นกำหนดไว้ให้เท่านั้น หากพูดเกินเลยออกไป ก็จะถูกตัดสิทธิทันที

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประวัติศาสตร์ความคิดที่ชี้ว่ารัฐคือผู้กำหนดว่าประชาชนมีสิทธิพูดมากน้อยเพียงใดก็ได้แสดงตนออกมาอีก ในคราวนายกรัฐมนตรีพบสื่อมวลชนครั้งแรกเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๔๘ สื่อมวลชนถูกนายกรัฐมนตรียกป้ายบอกว่าคำถามไม่สร้างสรรค์ อันที่จริง สื่อมวลชนเป็นตัวแทนของประชาชนเท่า ๆ กับที่นายกรัฐมนตรีก็เป็นตัวแทนของประชาชนเช่นกัน แต่ในเวทีดังกล่าวสื่อมวลชนถูกกำหนดกรอบการพูดและการถามไว้แล้ว สื่อมวลชนจึงมีหน้าที่ถามเท่าที่นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้ถาม นอกเหนือกว่านั้นถือว่าเกินเส้นที่ขีดไว้ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ถามหรือไม่อนุญาตให้พูด แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิเสรีภาพในการพูดของสื่อมวลชน แต่ปฏิบัติการทางวาทกรรมของรัฐผ่านอำนาจนายกรัฐมนตรี ยังตรึงติดอยู่กับการใช้อภิสิทธิ์พูดฝ่ายเดียว ถามเอง ตอบเอง ห้ามสื่อมวลชนพูด หรือถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นนอกกรอบ

วงศาวิทยาการปฏิรูปสื่อ วงศาวิทยาแห่งการต่อสู้ทางอำนาจ
กระบวนการปฏิรูปสื่อได้ล้มล้างความเชื่อและจารีตในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ที่รัฐไทยตีกรอบไว้อย่างแน่นหนาตลอดมา อย่างน้อยที่สุด วาทกรรมการปฏิรูปสื่อได้เปิดเผยให้เห็นการผูกขาดครอบครองสื่อของรัฐว่ามีความไม่ชอบธรรมอย่างไรบ้าง

การผูกขาดสื่อที่ผ่านมาได้สร้างพลังอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจให้แก่รัฐและบุคคลของรัฐในรูปแบบต่าง ๆ ในและนอกระบบการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ปฏิบัติการวาทกรรมของรัฐยังได้สร้างจารีตปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อ คุณค่า และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ขึ้นมา รัฐสามารถสะสมความรู้ และอาศัยระเบียบกฎเกณฑ์จากจารีต ความเชื่อมาใช้จัดการกับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ในยามปกติ รัฐสั่งการและสร้างวาทกรรมหลัก ผ่านสื่อของรัฐครอบงำความคิดประชาชน ในยามวิกฤตสื่อของรัฐทำงานในลักษณะบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพื่อคงอำนาจครอบงำของวาทกรรมหลักไว้

ส่วนที่สอง ประยุกต์แนวคิดมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) มาใช้กับเรื่องการปฏิรูปสื่อ
ส่วนที่สองของบทความจะนำเอาแนวความคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้ (knowledge) และอำนาจ (power) ในการต่อสู้ของวาทกรรมและปฏิบัติการทางวาทกรรมมาประยุกต์ใช้กับเรื่องการปฏิรูปสื่อโดยย่อ อาศัยวิธีศึกษาที่เรียกว่า Genealogy หรือวงศาวิทยาตามที่ธงชัย วินิจจะกูล (๒๕๓๔) บัญญัติศัพท์ไว้ เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและความรู้ที่เกิดขึ้นในเรื่องการปฏิรูปสื่อ และชี้ให้เห็นถึง "วิทยุชุมชน" ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหม่ที่ปรากฏตัวขึ้น (emergence)

แม้ว่าความรู้เกี่ยวกับวิทยุชุมชนจะเป็นความรู้ใหม่สำหรับสังคมไทย แต่กลับมีพลังอำนาจในการต่อกรกับรัฐ เนื่องจากอำนาจที่แฝงอยู่ในความรู้เรื่องนี้มีเหนือความรู้ที่รัฐมีอยู่ สิ่งที่สังคมเคยเชื่อว่าเป็นความจริง และมีอำนาจครอบงำเหนือสังคมกำลังถูกสั่นคลอน เพราะพลังของอำนาจที่แนบเนื่องมากับความรู้ชุดใหม่นี่เอง

ในอดีตที่ผ่านมา รัฐมีความรู้และมีอำนาจในเรื่องการควบคุมสื่อวิทยุและโทรทัศน์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รัฐมีทั้งกฎหมายและหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางสถาบัน (institutional apparatus) และมีเทคนิควิธีการ (techniques) ที่ใช้ในการควบคุมหรือลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบต่าง ๆ เครื่องมือเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรูปของ กฎหมาย ระเบียบ มาตรการการดำเนินงาน อาทิ ระเบียบเรื่องใบอนุญาตผู้ประกาศ ใบอนุญาตผู้ผลิตรายการ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอำนาจแฝงฝังอยู่ เป็นกลยุทธ์ในเชิงความสัมพันธ์ของอำนาจที่ต้องมีความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นฐานสนับสนุน

เช่นเรื่องใบอนุญาตผู้ประกาศ อาศัยความรู้ในเรื่องการอ่านและพูดออกเสียงภาษาไทย และรัฐโดยกรมประชาสัมพันธ์ คือผู้มีอำนาจกำหนดว่าการออกเสียงที่ถูกต้องคือการออกเสียงแบบไหน ผู้ที่สอบไม่ผ่านหรือไม่มีใบอนุญาต จะไม่มีสิทธิในการเป็นผู้ประกาศหรือผู้ผลิตรายการ


คลิกดู แผนภูมิวงศาวิทยาการปฏิรูปสื่อในสังคมไทย (๒๕๓๕ - ๒๕๔๘)


ในความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และอำนาจนั้น มีข้อน่าสนใจว่า อำนาจต้องได้รับการสนับสนุนจากความรู้ แต่ในขณะเดียวกัน อำนาจก็เป็นตัวกำหนดด้วยว่าอะไรคือความรู้ อะไรไม่ใช่ความรู้ และมีเพียงความรู้บางลักษณะเท่านั้น จึงจะถูกยอมรับว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ใช้ได้ และเป็นความจริง เช่น แม้ว่าผู้ประกาศบางคนจะมีความรู้ภาษาถิ่นเป็นอย่างดี อ่านและพูดได้ชัดเจน ถูกต้อง และไพเราะ แต่กลับเป็นความรู้ที่รัฐขีดกั้นว่า ภาษาถิ่นไม่ใช่ความรู้สำหรับการเป็นผู้ประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ เช่นนี้แล้ว ภาษาไทยกลางจึงเป็นความรู้เพียงหนึ่งเดียวที่ถูกต้อง มีสถานภาพเป็นความรู้ที่เป็นความจริงไปด้วยพร้อมกัน

แผนภูมิวงศาวิทยาการปฏิรูปสื่อในสังคมไทย (๒๕๓๕ - ๒๕๔๘) แสดงให้เห็นการปรากฏการณ์ซึ่งเป็นสาแหรกคู่ขนานที่นำมาสู่การปฏิรูปสื่อ สาแหรกหนึ่งคือการเรียกร้องผู้นำประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ๒๕๓๕ และการเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมือง ซึ่งนำไปสู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐

อีกสาแหรกหนึ่งคือ การที่รัฐบิดเบือนข้อมูลข่าวสารและผูกขาดการครอบครองสื่อ ซึ่งนำมาสู่บทบัญญัติในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน (มาตรา ๓๙) สิทธิในการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ของประชาชน (มาตรา ๔๐) และสิทธิของนักสื่อสารมวลชนในการพูดความจริงตามจรรยาบรรณวิชาชีพ (มาตรา ๔๑)

การเผยตัวของวาทกรรมการปฏิรูปสื่อ บนฐานความรู้และอำนาจชุดใหม่ที่ว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะของประชาชนและสังคมไทย และทุกคนมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรคลื่นความถี่ได้โดยตรง เป็นวาทกรรมที่หักล้างวาทกรรมหลักของรัฐลงอย่างสิ้นเชิง เป็นการปฏิเสธอำนาจของรัฐในการผูกขาดการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่และการเป็นเจ้าของสื่อของรัฐ

ความเคลื่อนไหวเพื่อปฏิบัติการทางวาทกรรมของการปฏิรูปสื่อตามมาตรา ๔๐ ได้เผยตัวออกมาเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรม ๓ กลุ่ม คือ

๑. การยกร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
๒. การสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)
๓. การก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ

ปฏิบัติการทางวาทกรรมของการปฏิรูปสื่อเรื่องแรก รัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายลูกรองรับมาตรา ๔๐ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ต้องมีกฎหมายภายใน ๓ ปี ในกระบวนการร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีการต่อสู้ของวาทกรรม ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการเห็นการปฏิรูปอย่างถอนรากถอนโคน ประกอบด้วยตัวแทนของส่วนราชการกลไกรัฐที่เป็นเจ้าของคลื่น เสนอให้สาระสำคัญของกฎหมาย มุ่งที่การจัดตั้งองค์กรอิสระกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพียงองค์กรเดียว ทำหน้าที่ดูแลทั้งการใช้คลื่นเพื่อกิจการโทรคมนาคมและกิจการวิทยุ-โทรทัศน์

อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายนักวิชาการ ต้องการให้พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดเนื้อหาในเรื่องการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์เป็นประเด็นหลัก เพื่อให้มีการวางกรอบกติกาในการปฏิรูปสื่อไว้ในกฎหมาย และให้แยกองค์กรกำกับดูแลออกเป็น ๒ องค์กร คือองค์กรหนึ่งกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม อีกองค์กรหนึ่งกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์

ผลของการต่อสู้ระหว่างวาทกรรมฝ่ายปฏิรูปและฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิรูป ทำให้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ๒๕๔๓ มุ่งไปที่สาระในเรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระเป็นด้านหลัก และละเลยเนื้อหาในเรื่องการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด กลายเป็นข้ออ้างของรัฐบาลและกรมประชาสัมพันธ์ ที่ยังคงนำพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘ มาบังคับใช้ แม้ว่าจะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ก็ตาม

ในการจัดทำพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ๒๕๔๓ ฝ่ายปฏิรูปสื่อสามารถเสนอหลักการสำคัญ ๓ เรื่องเป็นวาทกรรมใหม่ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ๒๕๔๓ ได้สำเร็จ ได้แก่เรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระ ๒ องค์กร ในการกำกับดูแลการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ คือคณะกรรมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

เรื่องการจัดประเภทผู้ประกอบการกิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่ให้แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ให้แก่ภาคประชาชน (มาตรา ๒๖)

ผลจากการออกพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ๒๕๔๓ ทำให้องค์ประกอบของวาทกรรมหลักของรัฐ ในการควบคุมและครอบงำสื่อวิทยุและโทรทัศน์เริ่มถูกสั่นคลอน อำนาจในการจัดการทรัพยากรในแบบที่เคยปฏิบัติมา ถูกท้าทายด้วยอำนาจและความรู้ใหม่ในกฎหมายฉบับนี้ ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวเรื่องวิทยุชุมชนที่จะกล่าวถึงต่อไป

ปฏิบัติการทางวาทกรรมของการปฏิรูปสื่อเรื่องที่สอง คือเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ในระยะแรกหลังจากที่กฎหมายประกาศใช้ รัฐและองค์กรภาคประชาสังคมได้ให้ความสนใจเรื่องการสรรหาคณะกรรมการ กสช. เป็นอย่างมาก เรื่องนี้จึงเป็นเวทีปฏิบัติการทางวาทกรรมของฝ่ายปฏิรูปสื่อและฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิรูปสื่อ ที่ต้องการช่วงชิงพื้นที่ในคณะกรรมการ กสช. ๗ ที่นั่งมาเป็นของฝ่ายตนให้ได้มากที่สุด ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และอำนาจในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างกรรมการสรรหา และผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสช.

ฝ่ายปฏิรูปสื่อได้อาศัยข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการสรรหา และผู้สมัครหลายคนเป็นแนวการต่อสู้ทางวาทกรรม และนำความรู้ดังกล่าวไปพึ่งอำนาจศาลปกครองในการวินิจฉัยชี้ขาดว่ากระบวนการสรรหาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกด้านหนึ่ง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจในฐานะผู้รับหน้าที่จัดการสรรหา ร่วมกับคณะกรรมการสรรหา ทำการช่วงชิงความชอบธรรมและยืนกรานว่าการสรรหาเป็นไปโดยชอบแล้ว

ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ หลังจากล่วงเลยมาเกือบ ๕ ปี คณะกรรมการสรรหาได้เสนอรายชื่อผู้ผ่านการสรรหา ๑๔ รายไปยังวุฒิสภา เพื่อเลือกผู้สมัคร ๗ รายเป็นกรรมการ กสช. คาดว่าการคัดเลือกจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๔๘ (ขณะที่เผยแพร่บทความชิ้นนี้ การคัดเลือกดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว - บรรณาธิการ)

ปฏิบัติการทางวาทกรรมของการปฏิรูปสื่อเรื่องที่สาม คือการก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าในระหว่างที่เวทีการสรรหากรรมการ กสช. กำลังมีการต่อสู้อย่างเข้มข้น ภาคประชาชนเริ่มก่อการเคลื่อนไหวจัดตั้งวิทยุชุมชนขึ้น และค่อย ๆ ขยายตัวไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายในเวลา ๒ ปีมีสถานีก่อตั้งขึ้นกว่า ๑๐๐ แห่ง แต่ในปริมณฑลของศูนย์กลางอำนาจเช่นกรุงเทพมหานคร กลับปรากฏว่าไม่มีสถานีวิทยุชุมชนในระยะแรกนี้ การเผยตัวของนวัตกรรมใหม่เช่นวิทยุชุมชน จึงเกิดขึ้นในขอบเขตที่อยู่ไกลจากสายตา และการควบคุมอันเข้มงวดของรัฐชั่วขณะหนึ่ง

ภาคประชาชนถูกปรามาสแต่แรกว่าขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องรายการวิทยุ เรื่องการบริหารจัดการ และเรื่องเทคนิค ซึ่งหมายถึงการสร้างเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง และการติดตั้งอุปกรณ์ห้องส่งวิทยุ และข้อสำคัญเรื่องเงินทุนในการการก่อตั้งสถานี คำถามที่เกิดขึ้นคือ สถานีวิทยุที่ตั้งอยู่บนหลักการคลื่นของประชาชน ดำเนินการโดยประชาชน เพื่อประชาชนจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีเงินรายได้จากค่าโฆษณา แต่ด้วยการสนับสนุนของภาคประชาสังคม และภาคประชาชนด้วยกันเองในด้านเงินทุนและความรู้ การจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนของภาคประชาชนจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อความรู้ในด้านต่าง ๆ ถูกนำมาบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างถูกต้อง สถานีวิทยุชุมชนจึงเริ่มออกอากาศ

"บัดนี้ ประชาชนมีเสียงแล้ว ประชาชนพูดได้แล้ว"

เสียงที่ออกอากาศในวิทยุชุมชนทุกเสียง เป็นเสียงที่สร้างพลังอำนาจให้แก่ประชาชนและชุมชนอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ ที่สุดแล้ว ความรู้และอำนาจที่ถูกผนึกเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่นส่งผลให้ประชาชนเป็นอิสระจากการครอบงำของวาทกรรมหลัก ความเกรงกลัวกฎหมายหรือมาตรการลงโทษของรัฐมลายหายไป มิใช่เพราะว่าประชาชนไม่เคารพกฎหมาย หรือดื้อแพ่งต่อรัฐอย่างปราศจากเหตุผล หากเป็นเพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นในกฎหมายแม่บท ที่อยู่เหนืออำนาจของกฎหมายอื่น ๆ ที่เป็นกฎหมายชั้นรองลงมา

ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ยังเป็นกฎหมายที่ประชาชนได้ร่วมเคลื่อนไหวผลักดัน มีส่วนเป็นเจ้าของอย่างเต็มภาคภูมิ จึงเป็นเครื่องประกันสิทธิเสรีภาพที่มีสถานะเป็น "ความจริง" โดยนัยนี้ วาทกรรมเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการจัดตั้งวิทยุชุมชนจึงเผยตัวออกมาเป็นวาทกรรมหลัก และถูกหยิบยกขึ้นมาเทียบชั้นกับวาทกรรมของรัฐ

เสียงของประชาชนที่เคยถูกปิดกั้นให้เงียบสนิทได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ประชาชนสามารถเปล่งเสียง "สัจจะวาจา" ออกมาได้อย่างเสรี กำแพงหนาทึบที่รัฐผูกขาดครอบครองสื่อถูกทลายลง ด้วยอำนาจของความจริงที่ได้เผยตัวขึ้นมาอย่างกระจ่างแจ้ง รัฐจึงไม่อาจอ้างความชอบธรรมใด ๆ มาผูกขาดการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ได้อีกต่อไป

ถึงแม้ว่าอำนาจของวาทกรรมหลักของรัฐจะขาดพลังไป แต่รัฐก็ใช้ความพยายามอย่างสูงในการเข้าควบคุมการขยายตัวของวิทยุชุมชนนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมา โดยการอ้างอิงหลักกฎหมายเดิมที่ห้ามประชาชนเข้าถึงคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ และอ้างจารีตของการใช้กฎหมายว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายลูก ประชาชนไม่สามารถก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนได้ เท่ากับเป็นการถอยกลับไปยังอดีตอันไกลโพ้นในยุคศักดินา และยุคเผด็จการทหารที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนพูด

ส่วนประชาชนขัดขืนการปิดกั้นของรัฐ ด้วยการอ้างวาทกรรมใหม่ที่เป็นกฎหมายสูงสุดคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประชาชนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญมีอำนาจและมีความศักดิ์สิทธิ์ในการคุ้มครองวิทยุชุมชน แต่เนื่องจากประชาชนขาดการสนับสนุนจากสถาบันและจารีตใหม่ ๆ ที่เพิ่งมีการริเริ่มขึ้น ขณะที่รัฐมีสถาบันและจารีตต่าง ๆ เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ภาคประชาชนจึงต้องแสวงหากลไกที่คาดว่าจะให้ความชอบธรรมแก่ปฏิบัติการทางวาทกรรมของประชาชน ได้แก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนักวิชาการ ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องยอมรับภาคประชาชน และมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ รับรองจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน ดังนี้

มาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราวรับรองวิทยุชุมชน
ฉบับภาคประชาชนและสำนักงานปลัดฯ สำนักนายกฯ
ภาคประชาชน สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ นักวิชาการ นักวิชาชีพ และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จัดทำมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราววิทยุชุมชนขึ้น มีสาระหลักสำคัญคือให้มีคณะกรรมการที่ขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลที่มาจาก 3 ฝ่าย ได้แก่

1. ตัวแทนสหพันธ์วิทยุชุมชนหรือภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง
2. นักวิชาการ
3. หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

ให้คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการวิทยุชุมชนและรับขึ้นทะเบียน

มติคณะรัฐมนตรี ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ อนุญาตให้มีจุดผ่อนผันสำหรับวิทยุชุมชน ในระหว่างเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ หรือวาทกรรมใหม่ในการปฏิรูปสื่อ โดยให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการดูแลการดำเนินการวิทยุชุมชน นับเป็นนิมิตรใหม่ที่ให้ประชาชนและรัฐใช้อำนาจร่วมกัน เพื่อสนับสนุนหลักการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติการทางวาทกรรมที่มีอำนาจไม่เท่าเทียมกัน เช่น รัฐกับประชาชน ฝ่ายที่ด้อยอำนาจย่อมเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ และตกอยู่ในสภาพที่จะถูกจัดการไม่ให้ลุกขึ้นมาท้าทายวาทกรรมหลัก ในกรณีของวิทยุชุมชนที่กล่าวข้างต้น การต่อสู้ระหว่างวาทกรรมใหม่ของประชาชนกับวาทกรรมหลักของรัฐที่สถาปนามายาวนาน เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนยืดเยื้อ เนื่องจากรัฐไม่ต้องการให้วิทยุชุมชนดำเนินการอย่างอิสระ จึงได้ใช้กลไกของกฎหมายและสถาบันอำนาจต่าง ๆ ที่แวดล้อมเรื่องคลื่นความถี่และวิทยุ-โทรทัศน์ทั้งหมด มาจัดการเพื่อบังคับให้ประชาชนสยบยอมและกลับมาเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจอีกครั้ง

อันที่จริง การใช้กลไกทางกฎหมายผนวกกับกลไกทางการเมืองในการเข้ามาจัดการควบคุมวิทยุชุมชนในช่วงปลายปี ๒๕๔๕ ถูกตอบโต้โดยภาคประชาชนจนรัฐต้องกลับไปคิดหาเทคนิควิธีการใหม่ กล่าวคือคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ให้จัดทำวิทยุชุมชนได้ แต่ให้ผ่าน อบต. และให้อยู่ในการควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์ ภาคประชาชนอ่านกฎหมายและตีความด้วยประสบการณ์ได้ไม่ยากว่าวิทยุ อบต. เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐระดับท้องถิ่น วิทยุ อบต. จึงเป็นเพียงสาขาของวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่วิทยุชุมชนในความหมายที่เป็นวิทยุของภาคประชาชนที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐและทุน ข้อเสนอของรัฐบาลให้เปลี่ยนวิทยุชุมชนเป็นวิทยุ อบต. เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนจึงตกไป

มาตรการและหลักเกณฑฺ์ชั่วคราววิทยุชุมชน
ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ตามคำร้องขอของกรมประชาสัมพันธ์ ตุลาคม 2545

กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งได้เตรียมโครงการวิทยุ อบต. สำหรับการจัดระเบียบวิทยุชุมชนไม่เห็นด้วยกับมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราวตามมติที่ประชุมของสำนักปลัดฯ ที่เกิดจากมติคณะรัฐมนตรี ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ได้ส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความใหม่

ผลการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีสาระสำคัญสอดคล้องกับโครงการวิทยุ อบต. ของกรมประชาสัมพันธ์ทั้งหมด คือ

๑. การดำเนินการวิทยุชุมชนสามารถดำเนินการได้โดยผ่าน อบต.
๒. การดำเนินการวิทยุชุมชนในระหว่างยังไม่มี กสช. สามารถทำได้โดยการออกอากาศในนามกรมประชาสัมพันธ์ เครื่องส่งที่ใช้ก็ต้องจดทะเบียนในนามกรมประชาสัมพันธ์เช่นกัน
๓. ผู้บริหารจัดการสถานีและผู้ประกาศต้องผ่านการฝึกอบรมจากกรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงต้องมีการตรวจสอบการดำเนินรายการจากกรมประชาสัมพันธ์ด้วย

เมื่อเรื่องวิทยุ อบต. ใช้ไม่ได้ผล รัฐได้คิดหาวิธีการต่อไปอีก ในคราวนี้ใช้เทคนิควิธีการ ๒ ด้าน คือการใช้กลไกระดับบน ควบคู่กับกลไกระดับนโยบายและแผน ได้แก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา กรมประชาสัมพันธ์ และกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยให้กรมประชาสัมพันธ์นำเอามติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้ว กลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาลงมติใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อลบล้างมติวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ที่สนับสนุนการดำเนินการวิทยุชุมชนของภาคประชาชน ดังรายละเอียดข้างล่างนี้

กลไกรัฐปฏิบัติการแก้มติคณะรัฐมนตรี ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕

10 ก.พ. 46 - สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นต่อข้อหารือของกรมประชาสัมพันธ์ กรณีการดำเนินการวิทยุชุมชน

31 มี.ค. 46 - (ข่าว นสพ.มติชน น.5) คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 7 (ฝ่ายกฎหมายและระบบราชการ) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน มีมติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างมาตรการหลักเกณฑ์ชั่วคราว จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนที่คณะทำงานฯ ซึ่งมีนายบุญเลิศ ศุภดิลก ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นผู้ร่างขึ้น ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการและสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ แต่มีมติให้ไปใช้แนวทางของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกลาง ประกอบด้วย ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ กรมไปรษณีย์โทรเลข สำนักงานปลัดฯ เพื่อกำกับดูแล โดยให้ผู้ต้องการจะดำเนินการวิทยุชุมชน แสดงความต้องการผ่าน อบต. เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกลางพิจารณาผู้เหมาะสมที่จะดำเนินการวิทยุชุมชน ทั้งนี้กรมประชาสัมพันธ์และกรมไปรษณีย์โทรเลข จะร่วมกันตรวจสอบมาตรฐาน เครื่องส่งที่จะใช้งบประมาณของ อบต. และจดทะเบียนในนามของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์มีนโยบายจัดให้ใช้สถานีวิทยุของกรมที่ส่งกระจายเสียงอยู่ หรือใช้สถานีวิทยุย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยกรมประชาสัมพันธ์จะเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินรายการวิทยุชุมชนแต่ละสถานี ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์จะผ่อนปรนระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เท่ากับเป็นการล้มข้อตกลงระหว่างสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ที่มีการจัดตั้งวิทยุชุมชนไปแล้วกว่า 140 สถานีกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีการตกลงกัน และยกร่างเป็นหลักเกณฑ์ชั่วคราวขึ้น และจากมติฯ ดังกล่าว จะส่งผลให้กรมประชาสัมพันธ์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ในการควบคุมการดำเนินการวิทยุชุมชน ซึ่งขัดต่อแนวทางการปฏิรูปสื่อ ที่ต้องการให้ชุมชนมีอิสระในการจัดการวิทยุชุมชนของตนเอง

17 เม.ย. 46 - คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภาเชิญ ดร.บุญเลิศ ศุภดิลก ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดมาตรการ เพื่อควบคุมดูแลการใช้คลื่นความถี่ของวิทยุชุมชน เข้าให้ข้อมูลกรณีมติของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 7 (ฝ่ายกฎหมายและระบบราชการ) และความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักสำนักนายรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราววิทยุชุมชน

4 พ.ค. 46 - คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภา เชิญตัวแทนกรมไปรษณีย์โทรเลข เข้าให้ข้อมูลกรณีมติของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 7 (ฝ่ายกฎหมายและระบบราชการ) และความคิดเห็นของกรมไปรษณีย์โทรเลขเรื่องมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราววิทยุชุมชน

11 พ.ค. 46 - คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภา เชิญ ดร.วิษณุ เครืองาม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 7 (ฝ่ายกฎหมายและระบบราชการ) เข้าให้ข้อมูลกรณีมติของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 7 (ฝ่ายกฎหมายและระบบราชการ) เรื่องมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราววิทยุชุมชน ซึ่งดร.วิษณุได้พูดถึงนโยบายของรัฐบาลว่า มีนโยบายให้ผ่อนปรนการดำเนินการตาม พรบ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 สำหรับการดำเนินทดลองออกอากาศวิทยุชุมชนของภาคประชาชน และจะเร่งดำเนินการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยเร็ว

24 มิ.ย. 46 - ครม. มีมติเรื่องมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราวจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน ดังนี้

1. เห็นควรมอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เร่งรัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้เสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว

2. เห็นควรมอบให้กรมประชาสัมพันธ์ ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในฝ่ายบริหารและมีสถานีวิทยุกระจายเสียงในสังกัด รับไปพิจารณาจัดสรรเวลาให้ชุมชนได้ใช้ออกอากาศให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทดแทนการที่ประชาชนหรือชุมชนต้องตั้งสถานีวิทยุขึ้นเอง


3. โดยที่ร่างมาตรการและหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ คณะทำงานได้ยกร่างขึ้นในระหว่างกรมประชาสัมพันธ์หารือปัญหาข้อกฎหมาย ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเห็นควรให้กรมประชาสัมพันธ์รับร่างมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราวในเรื่องนี้ และข้อสังเกตของสำนักนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาว่า จะสามารถดำเนินการตามมาตรการและหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้เหมาะสมสอดคล้องรองรับ กสช. และ กทช. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เพียงใดหรือไม่ โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณา และให้เชิญผู้แทนกรมไปรษณีย์โทรเลขไปร่วมพิจารณาด้วย

เมื่อมีการนำร่างเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2546 ได้มีการตัดตัวแทนสหพันธ์วิทยุชุมชนออกไป คงเหลืออยู่แต่ตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการเท่านั้น

30 ก.ค. 46 - กรมประชาสัมพันธ์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการร่างมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราวจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน


ที่มา : คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.), ๒๕๔๗

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนในการปฏิบัติการแปรรูปมติคณะรัฐมนตรีรวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๖ เดือน ใช้กระบวนการตีความทางกฎหมาย และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อหาเทคนิควิธีการจัดการควบคุมภาคประชาชน ในระหว่างนั้น คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภาได้เข้ามาค้ดง้างการจัดการของรัฐ แต่ก็ขาดกลไกอื่น ๆ ที่มีอำนาจมาช่วยสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการ ผลลัพธ์จากการต่อสู้ของวาทกรรมภาคประชาชนและรัฐในเวทีระดับนโยบาย จึงปรากฏข้อสรุปเป็นมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ ที่ตัดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนออกไป และยกอำนาจให้กับกรมประชาสัมพันธ์ในการวางหลักเกณฑ์ควบคุมวิทยุชุมชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

สาระสำคัญอีกข้อหนึ่งในมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ คือการที่ระบุให้ "กรมประชาสัมพันธ์ ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในฝ่ายบริหาร และมีสถานีวิทยุกระจายเสียงในสังกัด รับไปพิจารณาจัดสรรเวลาให้ชุมชนได้ใช้ออกอากาศให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทดแทนการที่ประชาชนหรือชุมชนต้องตั้งสถานีวิทยุขึ้นเอง" ซึ่งตีความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า รัฐไม่ต้องการให้ประชาชนจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน แต่ต้องการให้ไปใช้เวลาของสถานีวิทยุในหน่วยงานของรัฐ

จากมติคณะรัฐมนตรี ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ ที่แปรรูปแล้ว คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ได้จัดทำมติจัดระเบียบวิทยุชุมชนโดยให้มาจดทะเบียนกับ กกช. และให้โฆษณาได้ ๖ นาที/ชั่วโมง ซึ่งเป็นการปรับกลยุทธ์มาเป็นกึ่งควบคุม และเปิดโอกาสให้ระบบทุนเข้ามาร่วมจัดการกับวิทยุชุมชนด้วยอีกแรงหนึ่ง

วาทกรรมในรูปรัฐผนวกทุน มีประสิทธิผลในการส่งเสริมให้วิทยุชุมชนขยายตัวแบบก้าวกระโดด เกิดการลงทุนโดยกลุ่มเอกชน กลุ่มนักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมทั้งนักวิทยุ-โทรทัศน์นับพันสถานี มาตรการจัดการกับวิทยุชุมชนลำดับสุดท้ายของรัฐ ได้สร้างความโกลาหลขนานใหญ่ในสายตาของรัฐ เพราะมาตรการใหม่นี้ ทำให้มีบรรยากาศการแย่งชิงจับจองคลื่นความถี่ที่อยู่เหนือการคาดการณ์ พร้อม ๆ กับที่วิทยุชุมชนถูกแปรเปลี่ยนเป็นวิทยุพาณิชย์ไปในทันที ด้วยการโฆษณาสินค้าตามมติของ กกช. แต่สถานีวิทยุส่วนใหญ่กลับไม่ได้ไปจดทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์

ประการสำคัญมติ กกช. มีสาระที่ขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ ที่ต้องการให้หน่วยราชการที่มีสถานีวิทยุให้เวลาแก่ชุมชนในการออกอากาศ ไม่ใช่ให้มีการจัดตั้งสถานีเพิ่มมากขึ้น ในอำนาจรัฐด้วยกันเองก็เห็นความแตกร้าวของวาทกรรม การช่วงชิงอำนาจ และการใช้กลยุทธ์แอบแฝง

ถึงปัจจุบันคณะกรรมการ กกช. ได้บิดเบนวาทกรรมการปฏิรูปสื่อของภาคประชาชนและหลักการวิทยุชุมชนให้กลายพันธุ์เป็นวิทยุพาณิชย์ สาแหรกของวาทกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอีกสาแหรกหนึ่งมีลักษณะที่สร้างความสับสนและขัดแย้งในระหว่างกลุ่มวิทยุชุมชน

อย่างไรก็ดี ข้อที่น่าสนใจคือเมื่อมีผู้ปฏิบัติการวาทกรรมเพิ่มมากขึ้น ก็มีความแตกต่างหลากหลายของความคิด และวิธีการดำเนินการวิทยุชุมชน / วิทยุพาณิชย์ขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อำนาจและความรู้เรื่องวิทยุชุมชน ได้กระจายออกไปสู่ภาคประชาชนและภาคเอกชนหลายกลุ่ม การออกอากาศด้วยกำลังส่งสูง รูปแบบและสาระของรายการ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นที่อิสระเสรี จากเรื่องศาสนาถึงความบันเทิง จากเรื่องการเมืองถึงวัฒนธรรม จากเรื่องชุมชนและท้องถิ่นไปถึงเรื่องระดับชาติ จากเรื่องการพัฒนาถึงการวิจารณ์การเมือง ทำให้เนื้อหารายการวิทยุชุมชนมีความสดใหม่และแหลมคม ผิดจากสื่อกระแสหลักที่เซ็นเซอร์ตนเองอย่างหนักเพื่อให้อยู่รอด ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้ากับการถูกคุกคามและควบคุมจากรัฐ

การจัดระเบียบวิทยุชุมชนอย่างเข้มข้นจึงติดตามมาอีกระลอกหนึ่ง หลังจากที่เคยจับกุมคุณเสถียร จันทร ผู้ดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนอ่างทองเมื่อปี ๒๕๔๖ (ดูรายละเอียดในภาคผนวก) ในคราวนี้ รัฐได้อ้างกฎหมายวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ในเรื่องการควบคุมเครื่องส่งที่รบกวนคลื่นวิทยุการบิน และกฎหมายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ในเรื่องการควบคุมเนื้อหาสาระรายการที่จะกระทบกับความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในปี ๒๕๔๘ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ได้ดำเนินการปิดสถานีวิทยุชุมชนในต่างจังหวัดและกรุงเทพ รวม ๑๔ แห่ง โดยอ้างเหตุรบกวนคลื่นวิทยุการบิน ความจริงในเรื่องนี้รัฐต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนต่อสาธารณชนอย่างปราศจากข้อสงสัย เพราะการที่รัฐอ้างความรู้ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทำให้อำนาจในเรื่องนี้มีความคลุมเครือ หากพิสูจน์ไม่ชัดแจ้ง และไม่อาจยืนยันได้ว่าความรู้ดังกล่าวคือความจริง อำนาจการคุกคามกดดันวิทยุชุมชนของรัฐก็ขาดพลัง

สำหรับกรณีสถานีวิทยุ ๙๒.๒๕ เอฟเอ็ม วิทยุชุมชนคนรักประชาธิปไตย เป็นที่ทราบดีว่าถูกปิดเพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แม้ว่าผู้ดำเนินงานของสถานีคุณอัญชลี ไพรีรักษ์ จะยืนหยัดต่อสู้และตอบโต้การคุกคามของรัฐ แต่สถานีก็ถูกปิดไปในที่สุด เหลือเพียงการออกอากาศทางอินเทอร์เน็ต

หลังจากนั้น คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ได้เสนอมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อนายกรัฐมนตรี (หนังสือที่ ทช. ๑๐๐๑/๓๓๒๙ ลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๘) ขอให้ปิดสถานีวิทยุชุมชนทั้งหมด นับเป็นข้อเสนอที่รุนแรงที่สุด และขัดแย้งกับมาตรการผ่อนผันของมติคณะรัฐมนตรี ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ และ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖

วาทกรรมสุดท้าย : วิทยุชุมชนต้องอยู่กับภาคประชาชน
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ ตอกย้ำให้หน่วยงานของรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะคลื่นวิทยุที่รบกวนวิทยุการบิน (ดูรายละเอียดมติ ครม. ในภาคผนวก) และให้มีการตรวจสอบเนื้อหารายการที่กระทบกับความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ขณะเดียวกัน มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ ก็ยืนยันให้ชุมชนมีกลไกสื่อสารภายในชุมชน และยืนยันแนวทางการดำเนินการวิทยุชุมชน ภายใต้โครงการจุดปฏิบัติการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชน ในสูตรกำลังส่ง ๓๐ วัตต์ เสาอากาศสูง ๓๐ เมตร และรัศมีการออกอากาศ ๑๕ กิโลเมตร

วาทกรรมสุดท้ายของรัฐ ได้ยืนยันให้มีการผ่อนผันแก่วิทยุชุมชนต่อไป โดยอ้างอิงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ก็วางแนวทางที่เป็นการจัดระเบียบทางเทคนิค และเนื้อหาสาระของวิทยุชุมชนที่อ้างอิงกฎหมาย ระเบียบ และจารีตที่เป็นวาทกรรมปฏิปักษ์ปฏิรูป

จากแผนภูมิวงศาวิทยาการปฏิรูปสื่อจะเห็นได้ว่ารัฐโดยอำนาจของรัฐบาล ไม่สามารถต่อกรกับอำนาจของวาทกรรมภาคประชาชนเรื่องสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นคลื่นความถี่ฯ ได้รับรองไว้ จำต้องใช้กลไกของรัฐในระดับรองลงมาและคำสั่งบริหารคือ มติคณะรัฐมนตรีมาคัดง้างกับอำนาจของกฎหมายที่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนี้ ยังได้พยายามสร้างให้สังคมเกิดความเข้าใจว่าการรบกวนคลื่นวิทยุการบินเป็น "ความจริง" เพื่อให้มีอำนาจและความชอบธรรมในการจับกุมวิทยุชุมชน ที่ไม่ยอมรับการจัดระเบียบของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีที่เสนอรายการที่วิพากษ์วิจารณ์และท้าทายอำนาจรัฐ

ในส่วนภาคประชาชนได้พัฒนาความรู้ใหม่จากเรื่องวิทยุชุมชน โดยอาศัยระเบียบ หลักเกณฑ์ และจารีต ค่านิยมที่เป็นอำนาจของชุมชน หรือสถาบันประชาชนมาเป็นฐานในการต่อสู้กับรัฐ นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังได้เรียนรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพจากปฏิบัติการวาทกรรมของประชาชน ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ๒๕๓๕ การเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และยึดถือแนวทางของมาตรา ๓๙ และ มาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมาตรา ๒๖ ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ๒๕๔๓ ในเรื่อง "การจัดสรรคลื่นความถี่อย่างน้อยร้อยละ ๒๐ ให้แก่ภาคประชาชน" มาเป็นพื้นฐานของวาทกรรมการเข้าถึงทรัพยากรคลื่นความถี่

ดังนั้น วาทกรรมสุดท้ายของภาคประชาชนในเรื่องการปฏิรูปสื่อจึงมีส่วนที่เป็น "ความจริง" อันเดียวกันกับวาทกรรมสุดท้ายของรัฐ เพราะต่างยึดถือหลักการสิทธิเสรีภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ในส่วนของการจัดระเบียบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดคลื่นด้วยเหตุผลใดก็ตาม วาทกรรมของรัฐและภาคประชาชนแตกต่างกันคนละขั้ว

วาทกรรมการปฏิรูปสื่อของภาคประชาชนยืนยันตลอดมาว่าสิทธิเสรีภาพในการใช้คลื่นความถี่ได้รับการรับรองไว้แล้วในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๔๓ และในมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในทางกฎหมายจึงสามารถโต้แย้งได้ว่า รัฐไม่อาจปิดสถานีวิทยุชุมชนได้ กล่าวคือ เมื่อสถานีวิทยุชุมชนที่มีการจัดตั้งขึ้นเป็นไปตามบทบัญญัติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แม้ยังไม่ได้รับการจัดสรรคลื่นในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบใหม่ แต่ก็ได้รับผ่อนผันให้ออกอากาศต่อไปได้ตามมติคณะรัฐมนตรี ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕, มติคณะรัฐมนตรี ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ และมติคณะรัฐมนตรี ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๘

จากสภาพที่เป็นอยู่นี้ จึงพิเคราะห์ได้ว่าสถานีวิทยุชุมชนมีสิทธิเสรีภาพในการออกอากาศตามที่รับรองไว้ในมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น" และได้รับการคุ้มครองต่อไปตามข้อความในวรรคสามที่ว่า "การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้"


ความรู้ได้นำไปสู่การเผยตัวของสิ่งใหม่ที่ท้าทายรัฐ ทำให้รัฐไม่อาจควบคุมประวัติศาสตร์สื่อและสิทธิเสรีภาพให้ดำรงอยู่ในสภาพเก่า ๆ ต่อไปได้ หมดยุคสื่อของรัฐในแบบเดิม และในที่สุดสภาพการณ์ใหม่นี้เอง ที่ทำให้รัฐต้องกระจายการเข้าถึงและจัดสรรคลื่นใหม่ จากปฏิบัติการทางวาทกรรมของภาคประชาชนอย่างไม่มีทางเลือก

ความรู้คืออำนาจ
อำนาจกำหนดว่าอะไรคือความจริง
อำนาจกำหนดว่าอะไรคือความรู้
ความรู้กำหนดว่าอะไรคือความจริง

++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม
ธงชัย วินิจจะกูล (2534). รายงานโครงการวิจัยเสริมหลักสูตรเรื่อง วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบวงศาวิทยา (Genealogy). คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ภาคผนวก
๑. มาตรา ๓๙, ๔๐ และ ๔๑ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ ๒๕๔๐

๒. มาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๔๓

๓. ตัวอย่างการใช้กลไกของรัฐในการจัดการกับผู้ขัดขืนอำนาจ
กรณีการจับกุมนายเสถียร จันทร ผู้ดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนอ่างทอง ๒๕๔๖ - ๒๕๔๘

6 ก.พ. 46 พนักงานสอบสวน สภ.อ.ไชโย ส่งสำนวนคดีวิทยุชุมชนอ่างทอง ไปยังผู้กำกับการตำรวจอ่างทอง เห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดี
11 ก.พ. 46 ผู้กำกับการตำรวจอ่างทองส่งสำนวนคดีวิทยุชุมชนอ่างทอง ไปยังผู้บังคับการตำรวจอ่างทอง เห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดี
13 ก.พ. 46 ผู้บังคับการตำรวจอ่างทอง ส่งสำนวนคดีวิทยุชุมชนอ่างทองไปยังหัวหน้าอัยการจังหวัดอ่างทอง เห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดี
13 ก.พ. 46 บันทึกรายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดย สภ.อ.ไชโย จ.อ่างทอง พิจารณาสั่งไม่ฟ้องกรณี การออกหมายจับกุมผู้ประสานงานวิทยุชุมชนอ่างทอง
25 เม.ย. 46 หัวหน้าอัยการจังหวัดอ่างทองส่งสำนวนคดีวิทยุชุมชนอ่างทอง ไปยังอธิบดีอัยการเขต 1 เห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดี
พ.ค. 46 กรมไปรษณีย์โทรเลขยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปยังอธิบดีอัยการเขต 1 และอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ฝ่ายคดีอาญาเขต 1 ได้เรียกสำนวนเอกสารมาสอบเพิ่มเติมฝ่ายผู้กล่าวหา
27 มิ.ย. 46 อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ฝ่ายคดีอาญาเขต 1 เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอ จึงส่งเรื่องไปยังอธิบดีอัยการเขต 1 มีความเห็นแย้งความเห็นอัยการผู้ตรวจสำนวนและอัยการจังหวัดอ่างทอง เห็นควรสั่งฟ้องคดีวิทยุชุมชนอ่างทอง
3 ก.ค. 46 อัยการพิเศษ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพฯ ใต้ รักษาการแทนรองอธิบดีอัยการเขต 1 พิจารณาสำนวนเห็นสมควรสั่งฟ้อง โดยให้ความเห็นว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามข้อกล่าว หาและคดีมีหลักฐานพอฟ้อง และสั่งฟ้องผู้ต้องหาตามข้อกล่าวหา และขอศาลสั่งริบของกลางลำดับที่ 1 และจัดการเกี่ยวกับของกลางอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 85
4 ก.ค. 46 อธิบดีอัยการเขต 1 มีความเห็นตามที่อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ฝ่ายคดีอาญาเขต 1 และรองอธิบดีอัยการเขต 1 เสนอ
29 ก.ค. 46 สำนักงานอัยการอ่างทอง มีหนังสือให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปเพื่อฟ้องถึง ผกก.ตร. อ่างทอง ภายในวันที่ 14 ส.ค. 46 เพื่อฟ้องต่อศาลจังหวัดอ่างทอง
13 ส.ค. 46 นายเสถียร จันทร (ผู้ต้องหา) ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม (ซึ่งจะเท่ากับการขยายระยะเวลาการสิ้นสุดการประกันตัว / การนำตัวไปสั่งฟ้องในเวลาเดียวกัน) และขอเลื่อนระยะเวลาการประกัน (เพื่อบอกกับพนักงานสอบสวน / อัยการจังหวัดเป็นลายลักษณ์) ขอให้สอบหลักฐานเอกสารและพยานเพิ่มเติม
20 ส.ค. 46 อัยการสูงสุดมีคำสั่งถึงอัยการเขต 1 ให้ดำเนินการทบทวนคำสั่งฟ้องคดีวิทยุชุมชนอ่างทอง ตามที่นายเสถียร จันทร ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรม
26 เม.ย. 47 สำนักงานอัยการสูงสุดจะมีวินิจฉัยยืนตามอัยการเขต1 ให้ฟ้องคดีฯ หลังจากที่กรมประชาสัมพันธ์ได้มีนโยบายเตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุชุมชน 1,500 สถานี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (รายละเอียดตามข้อมูลสถานการณ์ด้านนโยบายวิทยุชุมชน)
4 พ.ค. 47 นายเสถียร จันทร ผู้ประสานงานวิทยุชุมชนอ่างทอง ได้ไปดำเนินการมอบตัวและประกันตัวต่อศาลจังหวัดอ่างทอง

24 พ.ค. 47 ศาลจังหวัดอ่างทอง นัดวันสืบพยานต่อเนื่อง ในเดือน พฤศจิกายน 2548 ข้อกล่าวหากรณีวิทยุชุมชนอ่างทองที่ถูกสั่งฟ้องในชั้นศาลมี 2 ข้อ คือ

1. การมีเครื่องส่งไว้ในครอบครอง และการใช้เครื่องส่งโดยไม่ได้มีการขออนุญาต
2. การเปิดสถานีและดำเนินการส่งกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

๔. มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ เรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาวิทยุชุมชน" (๗ ข้อ)

 

 

 




บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 700 เรื่อง หนากว่า 10000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

ในความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และอำนาจนั้น มีข้อน่าสนใจว่า อำนาจต้องได้รับการสนับสนุนจากความรู้ แต่ในขณะเดียวกัน อำนาจก็เป็นตัวกำหนดด้วยว่าอะไรคือความรู้ อะไรไม่ใช่ความรู้ และมีเพียงความรู้บางลักษณะเท่านั้น จึงจะถูกยอมรับว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ใช้ได้ และเป็นความจริง

เช่น แม้ว่าผู้ประกาศบางคนจะมีความรู้ภาษาถิ่นเป็นอย่างดี อ่านและพูดได้ชัดเจน ถูกต้อง และไพเราะ แต่กลับเป็นความรู้ที่รัฐขีดกั้นว่า ภาษาถิ่นไม่ใช่ความรู้สำหรับการเป็นผู้ประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ เช่นนี้แล้ว ภาษาไทยกลางจึงเป็นความรู้เพียงหนึ่งเดียวที่ถูกต้อง มีสถานภาพเป็นความรู้ที่เป็นความจริงไปด้วยพร้อมกัน

R
related topic
111048
release date
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด
เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
แต่ด้วยวาทกรรมที่แตกต่างกันคนละขั้วระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงมีพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ตนเป็นผู้กำหนดว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพหรือไม่มีสิทธิเสรีภาพในเรื่องใดบ้าง และในฐานะผู้มอบสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนจึงมีอำนาจและอภิสิทธิ์เหนือประชาชน