The Midnight University
คุณธรรมสังคมที่เปลี่ยนไป
และกรณีสังหารนาวิกโยธิน
คืนคุณธรรมไทย-อย่าทำลายความไว้วางใจ
พระไพศาล
วิสาโล
เครือข่ายพุทธิกา เพื่อพุทธศาสนาและสังคม
http://budnet.info
รวบรวมบทความวิชาการอิงศาสนา
๓ เรื่อง ของพระไพศาล วิสาโล
ซึ่งเคยได้รับการเผยแพร่แล้วจากสื่อต่างๆ เช่น นสพ.มติชน และเว็ปไซต์เครือข่ายพุทธิกา
ประกอบด้วย
๑. คืนคุณธรรมให้แก่ความเป็นไทย
๒. คุณธรรมในสายเลือด
๓. อย่าทำลายความไว้วางใจที่ได้มาด้วยชีวิต
หมายเหตุ
: กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้นำมาเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา
สถานการณ์รุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 692
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ ตุลาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)
1
.คืนคุณธรรมให้แก่ความเป็นไทย
"ชาวประชาชาตินี้มีที่น่าสังเกตตรงอัธยาศัยอันอ่อนโยนและมีมนุษยธรรม
ในพระนครซึ่งมีพลเมืองค่อนข้างคับคั่ง ไม่ค่อยปรากฏว่ามีการทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรง
ส่วนฆาตกรรมนั้นเห็นกันว่าเป็นกรณีพิเศษมากทีเดียว บางทีตลอดทั้งปีไม่มีการฆ่ากันตายเลย"
นี้คือลักษณะนิสัยของคนไทยในสายตาของสังฆราชปาลเลกัวซ์เมื่อ 150 ปีที่แล้ว สังฆราชหรือบิชอปท่านนี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า คนไทยไม่ได้มีเมตตากรุณาต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น หากยังเผื่อแผ่ไปยังสัตว์เดรัจฉานด้วยไม่เว้นแม้แต่มดหรือยุง มีคราวหนึ่งท่านสั่งให้คนสวนฆ่าแมงป่องหรืองูที่พบขณะขุดดิน แต่เขากลับปฏิเสธ และพร้อมจะลาออกจากงาน โดยให้เหตุผลว่า "ผมไม่อยากได้ชื่อว่าปาณาติบาตเพราะค่าจ้างขี้ปะติ๋วเท่านั้นหรอกครับ"
เมื่อคาร์ล ซิมเมอร์แมน มาสำรวจสภาพเศรษฐกิจไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 ลักษณะนิสัยของคนไทยที่เขาพบปะแทบไม่ต่างจากที่สังฆราชปาลเลกัวซ์พรรณนาเลย กล่าวคือ "พลเมืองของประเทศสยามมีนิสัยใจคอดี...และความประพฤติชั่วร้ายต่างๆ ซึ่งอนารยชนชอบประพฤติกัน ไม่ปรากฏในหมู่คนไทยเลย" ความประพฤติชั่วร้ายที่เขากล่าวถึงนั้นรวมถึงการขายเด็กและการทิ้งเด็กด้วย
คำพรรณนาดังกล่าวนับว่าขัดแย้งอย่างมากกับภาพของคนไทยในวันนี้ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ การฆาตกรรมมิใช่เป็นแค่เรื่องธรรมดา หากยังเป็นของโอชะที่ผู้คนสนใจใฝ่รู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง จนสื่อมวลชนต้องแย่งกันนำมาเสนออย่างพิสดาร ในขณะที่การข่มขืน การข่มเหงคะเนงร้าย การค้ามนุษย์ และการวิวาทบาดหมางเกิดขึ้นไปทั่ว
ความรุนแรงกำลังกลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทยไปแล้ว มันไม่เพียงปรากฏออกมาเป็นพฤติกรรมที่กระทำต่อกันเท่านั้น หากยังซึมลึกลงไปถึงทัศนคติและวิธีคิดของผู้คน ก่อให้เกิดความรู้สึกโกรธเกลียดหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน คนไทยทุกวันนี้โกรธเกลียดกันง่าย เราไม่ได้โกรธเกลียดกันเพียงเพราะผลประโยชน์ขัดกันเท่านั้น หากยังเกลียดชังกันเพียงเพราะคิดต่างกัน ที่น่าสังเกตก็คือ บ่อยครั้งเราใช้ "ความเป็นไทย" ในการทำร้ายกัน
เมื่อนักวิชาการผู้หนึ่งเขียนวิทยานิพนธ์ตั้งข้อสงสัยในวีรกรรมของท้าวสุรนารีว่า อาจไม่มีจริงตามที่เชื่อกัน ปรากฏว่าประชาชนในจังหวัดหนึ่งโกรธเกรี้ยวอย่างมาก ถึงกับชุมนุมประท้วง มีการวางหรีด เผาพริกเผาเกลือ และทำพิธีสาปแช่ง อีกทั้งขู่ห้ามไม่ให้นักวิชาการผู้นั้นเข้าจังหวัด เพราะไม่รับรองความปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น นักวิชาการผู้นั้นยังถูกตั้งคำถามว่า "เป็นลาวหรือเปล่า?"
ต่อมาได้มีนักวิชาการอีกผู้หนึ่งเสนอความเห็นว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หากสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ประชาชนในอีกจังหวัดหนึ่งได้แสดงความไม่พอใจด้วยการจัดชุมนุมใหญ่หน้าศาลากลาง นอกจากโจมตีนักวิชาการผู้นั้นแล้วยังมีการทำพิธีสวดยัดสาปแช่ง เผาพริกเผาเกลือ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ตั้งคำถามกับนักวิชาการผู้นั้นว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า?"
ปฏิกิริยาดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับสมาชิกวุฒิสภาผู้หนึ่งซึ่งเรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปในเขตชั้นในของพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากจะถูกตอบโต้ด้วยการชุมนุมประท้วงและโจมตีอย่างรุนแรงโดยประชาชนในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือแล้ว ส.ว.ผู้นั้นยังถูกถามว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า?"
เมื่อเร็วๆ นี้ อดีตนักการเมืองผู้หนึ่งซึ่งผันตัวมาเป็นผู้วิจารณ์ข่าวทางโทรทัศน์ ยังตั้งคำถามเดียวกันนี้ต่อประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เนื่องจากท่านได้แสดงความเห็นว่าเมื่อ 800 ปีก่อน คนไทยคือคนต่างชาติที่ย้ายมาจากเมืองจีน ขณะที่คนมลายูได้อาศัยอยู่ในบริเวณคาบสมุทรมลายูก่อนหน้านั้นนานแล้ว และพูดภาษามลายูก่อนพ่อขุนรามคำแหงสร้างอักษรไทยเสียอีก
น่าแปลกไหมที่ผู้คนมักตั้งคำถามนี้กับคนที่เห็นต่างจากตน แต่กับคนที่เป็นพ่อค้ายาเสพติด หรือนักการเมืองคอร์รัปชั่น กลับไม่เคยมีการถามเลยว่าเขาเป็นคนไทยหรือเปล่า? นั่นมิหมายความดอกหรือว่าถ้าเป็นคนไทยแล้วจะทำชั่วอย่างไรก็ได้ แต่ห้ามคิดต่าง? หมายความใช่ไหมว่าในความเป็นไทยนั้น มีพื้นที่ให้ทำชั่วได้ แต่ไม่มีพื้นที่ให้คิดต่าง?
ถ้าใช่ก็หมายความว่าหัวใจของความเป็นไทยในเวลานี้อยู่ที่การคิดเหมือนกัน ยิ่งกว่าการให้ความสำคัญกับคุณธรรมความดี ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นก็คือ ไม่เพียงแต่การคิดต่างเท่านั้น เวลานี้แม้แต่การพูดต่างกันก็อาจถูกมองว่าไม่เป็นคนไทยได้
เมื่อไม่นานมานี้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านหนึ่ง ได้เรียกประชุมชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านผู้หนึ่งยกมือขอแสดงความคิดเห็น แต่เนื่องจากพูดไทยไม่ถนัด จึงขออนุญาตพูดภาษามลายูท้องถิ่น เพราะเห็นว่ามีล่ามแปล แต่พูดได้ไม่กี่ประโยค ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็ชี้หน้าและพูดสวนขึ้นมาทันทีว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า?"
คำถามที่น่าถามมากกว่านั้นก็คือ ระหว่างคนที่พูดไทยไม่ชัดแต่จงรักภักดีต่อบ้านเมือง กับคนที่พูดไทยคล่องแคล่ว แต่โกงบ้านกินเมือง ใครเป็นคนไทยมากกว่ากัน?
ถ้าความเป็นไทยอยู่ที่การคิดเหมือนกันหรือพูดภาษาเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องคุณธรรมเลย ย่อมถือว่าเป็นนิยามที่คับแคบมากและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการส่งเสริมให้คนไทยขาดขันติธรรม ไม่อดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง อันจะนำไปสู่การปะทะกันมากขึ้น เพราะสังคมทุกวันนี้มีความหลากหลายเกินกว่าที่จะตีกรอบให้คิดหรือพูดอย่างเดียวกัน
สังคมใดก็ตามจะเข้มแข็งและยั่งยืนหรือไม่อยู่ที่ผู้คนมีคุณธรรมมากน้อยเพียงใดต่างหาก ถึงแม้จะคิดต่างกัน พูดต่างกัน แต่หากผู้คนมีขันติธรรมและเมตตากรุณาต่อกัน ก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้ ตรงกันข้ามกับสังคมที่ไม่คำนึงถึงคุณธรรม แม้จะคิดเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน แต่จะมีความหมายอะไร หากต่างคนต่างเอาเปรียบกัน ทำร้ายกัน หรือคดโกงบ้านเกิดเมืองนอน
ไม่มีอะไรที่จะยึดโยงผู้คนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างแน่นแฟ้นเท่ากับคุณธรรม ด้วยเหตุนี้ในอดีตความเป็นไทยกับคุณธรรมจึงไม่แยกจากกัน เป็นที่ประจักษ์และประทับใจแม้กระทั่งในหมู่ชาวต่างชาติที่นับถือต่างศาสนาและพูดต่างภาษา เพิ่งมายุคนี้เองที่คุณธรรมถูกแยกออกจากความเป็นไทย เมื่อความเป็นไทยถูกนิยามให้แคบลงจนไม่มีพื้นที่ให้กับคุณธรรม คงมีแต่การคิดเหมือนและพูดเหมือนกันเท่านั้นที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จนมาถึงความไม่สงบในภาคใต้ขณะนี้
อย่าปล่อยให้ความเป็นไทยมีความหมายคับแคบดังที่เป็นอยู่
ช่วยกันขยายความเป็นไทยให้ครอบคลุมถึงคุณธรรม โดยรวมเอาขันติธรรมและเมตตาธรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยด้วย
ความเป็นไทยโดยนัยนี้เท่านั้นที่จะช่วยลดความรุนแรงในสังคมไทย และนำสันติสุขกลับคืนมาไม่เฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น
หากยังรวมถึงส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย รวมทั้งในครอบครัวและวิถีชีวิตของเราด้วย
(หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกใน
นสพ.มติชน)
2. คุณธรรมในสายเลือด
เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนมีการทดลองเพื่อศึกษาแบบแผนการเลือกคู่ของผู้คน ผู้วิจัยได้นำภาพถ่ายของชายและหญิงที่อยู่กินด้วยกันนานหลายปีมาสลับกันแล้วรวมไว้ในกองเดียวกัน
จากนั้นให้อาสามัครเลือกเอาภาพของคนที่หน้าตาคล้ายกันมาจับคู่กัน ปรากฏว่าคู่ที่อาสาสมัครเลือกมานั้นมักเป็นคู่สามีภรรยากันจริงๆ
การทดลองหลายครั้งได้ผลถูกต้องบ่อยครั้งเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญ
มีการทดลองคล้ายๆ กันอีก คราวนี้ให้อาสาสมัครทำการเจรจาต่อรองเรื่องเงิน ปรากฏว่าคู่เจรจาอีกฝ่ายมักจะได้รับความไว้วางใจมากกว่าหากว่าเขาหรือเธอมีหน้าตาคล้ายกับอาสาสมัคร การทดลองนี้ให้ผลสอดคล้องกับข้อสังเกตที่มีมานานแล้วว่า คนเราจะให้ความไว้วางใจมากกว่าแก่คนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับตน
การทดลองทั้งสองกรณีชี้ว่าหน้าตาที่คล้ายกันนั้นมีผลต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยั่งยืน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าหน้าตาและรูปร่างที่คล้ายกันนั้นกันนั้นบ่งชี้ถึงความใกล้ชิดกันทางด้านพันธุกรรม สัตว์ทุกชนิดมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งคือการพยายามถ่ายทอดและรักษาพันธุกรรม (หรือยีน) ของตนให้อยู่รอดและยั่งยืน แม่เสือยอมตายเพื่อรักษาชีวิตของลูกน้อยก็เพื่อให้ยีนของลูก (ซึ่งมียีนของแม่ครึ่งหนึ่ง) สามารถอยู่รอดและถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้
มดปลวกและผึ้งยอมตายเพื่อปกป้องรังและพวกพ้องของมัน ก็เพราะทุกตัวในรังล้วนมียีนเหมือนกัน (เพราะมาจากแม่หรือนางพญาตัวเดียวกัน) " ตัวตายแต่ยีนอยู่ " คือภารกิจของทุกชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายถึงการรักษาตัวให้รอดเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการช่วยเหลือให้ตัวอื่นๆ ที่มียีนใกล้ชิดกับตนอยู่รอดด้วย ด้วยเหตุนี้สัตว์จึงมีความรู้สึกใกล้ชิดเป็นพิเศษกับตัวอื่นๆ ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กัน เพราะนั่นหมายถึงการมีพันธุกรรมเดียวกัน (หรือใกล้กัน)
สมมติฐานดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดสัตว์จึงมักจับคู่กับตัวที่มีลักษณะคล้ายกับมัน แต่ต้องไม่คล้ายกันมากเกินไป (เพราะนั่นอาจหมายถึงการสืบพันธุ์กับพี่น้องร่วมสายเลือดซึ่งเป็นผลเสียต่อพันธุกรรมของลูกหลาน) เคยมีการทดลองกับหนูและนกคุ่ม พบว่าตัวผู้มักจะจับคู่และผสมพันธุ์กับตัวเมียที่มีสีหรือกลิ่นคล้ายกับพี่น้องหรือแม่ของมัน หรือคล้ายกับตัวที่มันคุ้นเคยตั้งแต่ยังเล็ก ๆ
ทั้งหมดนี้อธิบายได้ไม่มากก็น้อยว่าทำไมเราถึงนิยมแต่งงานกับคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกัน และเหตุใดคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกันจึงคบหาหรืออยู่กินด้วยกันได้นานกว่า อย่างไรก็ตามคำอธิบายดังกล่าวมีนัยที่กว้างกว่านั้น เพราะหากคำอธิบายดังกล่าวเป็นความจริง นั่นก็หมาย ความว่า ความรู้สึกว่าเป็น " พวกเรา " นั้นมีรากเหง้าอยู่ในยีนของเราด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมหรือการบ่มเพาะทางสังคมเท่านั้น
ความรู้สึกว่าเป็น " พวกเรา " นั้นมักเกิดขึ้นเมื่อพูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน บริโภคสินค้ายี่ห้อเดียวกัน ชื่นชมนักร้องคนเดียวกัน สังกัดสถาบันเดียวกัน และอยู่ประเทศเดียวกัน แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็คือ การมีสีผิวและชาติพันธุ์เดียวกัน
สีผิวและชาติพันธุ์เดียวกันในสมัยก่อน
(และแม้กระทั่งปัจจุบัน) ย่อมหมายถึงภาษา วัฒนธรรม และเผ่าเดียวกัน อย่างไรก็ตามลึกลงไปกว่านั้นมันยังหมายถึงการมียีนหรือพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน
อย่างน้อยก็ใกล้กว่าคนต่างเผ่า ต่างสีผิวและต่างชาติพันธุ์
ยีนหรือพันธุกรรมในเซลของเรานั้นมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึกนึกคิดของเราชนิดที่ยากจะปฏิเสธได้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะถูกกำหนดโดยยีนไปเสียทั้งหมด มีพฤติกรรมหลายอย่างของมนุษย์ที่อธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะอำนาจของยีน
เช่น การมีกลุ่มนักบวชที่ครองชีวิตพรหมจรรย์ หรือการเห็นแก่ประเทศชาติ (ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์)
ยิ่งกว่าชีวิตของตน จนเกิดคำพูดว่า " ตัวตายแต่ชื่อยัง "
มนุษย์เรานั้นมีความคิดที่สามารถพัฒนาเป็น " ปัญญา " และมีอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถพัฒนาเป็น " กรุณา " ได้ ปัญญาและกรุณานี้เองที่ทำให้มนุษย์สามารถเป็นอิสระจากอำนาจบงการของยีน อย่างน้อยก็ในแง่พฤติกรรม (แม้มันยังคุมได้ในแง่กายภาพอยู่) ด้วยเหตุนี้เองความสำคัญมั่นหมายว่า " พวกเรา " จึงสามารถข้ามพ้นเส้นแบ่งทางด้านสีผิว ชาติพันธุ์ ตลอดจนศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมได้ อิสรภาพดังกล่าวทำให้มนุษย์สามารถทำวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่พบเห็นได้แม้ในชีวิตประจำวัน
แม่ชีเทเรซ่าเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้ข่าวว่ามีชาวฮินดูครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกแปดคนไม่ได้กินอาหารมาหลายวันแล้ว ท่านจึงจัดอาหารเพียงพอสำหรับหนึ่งมื้อและเดินทางไปยังบ้านของพวกเขา ภาพที่ท่านเห็นคือเด็กผอมแห้ง ตาโปน น่าสะเทือนใจมาก เมื่อผู้เป็นแม่ได้ข้าวมา ก็แบ่งข้าวออกครึ่งหนึ่ง และเดินออกไปข้างนอก เมื่อเธอกลับมา แม่ชีเทเรซ่าถามว่า " เธอไปไหนมา ? " ผู้เป็นแม่ตอบว่า " พวกเขา ก็หิวเหมือนกัน " เธอหมายถึงเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ถัดไป พวกเขามีลูกที่ต้องเลี้ยงดูจำนวนใกล้เคียงกัน และไม่ได้กินอะไรเลยมาหลายวัน ทั้งหมดเป็นครอบครัวมุสลิม แต่ความต่างศาสนาไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกว่าพวกเขาเป็น " คนอื่น " และแม้เธอจะลำบากมากแต่ก็ยังมีใจนึกถึงคนอื่นซึ่งลำบากเหมือนกัน
ยีนที่ทำให้สัตว์นึกถึงแต่พวกพ้องที่มีสายเลือดใกล้เคียงกันนั้นอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถบงการให้ผู้เป็นแม่คิดถึงแต่ลูกของตนเท่านั้น มองในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราเชื่อว่ายีนมีอิทธิพลจริงๆ เป็นไปได้ไหมว่ามียีนอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อเสียสละข้ามสายเลือด ข้ามพันธุกรรม ข้ามชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ข้ามชนิดพันธุ์ (species)
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ที่รัฐแมรี่แลนด์มีผู้พบเห็นห่านตัวหนึ่งติดอยู่กลางลำธารซึ่งกลายเป็นน้ำแข็ง ปีกทั้งสองข้างอ่อนแรงหุบอยู่ข้างตัว ส่วนเท้าทั้งสองจมหายไปในแผ่นน้ำแข็ง ขณะที่เธอกำลังตัดสินใจทำอะไรบางอย่างก็เหลือบเห็นฝูงหงส์บินผ่านมา สักพักก็แปรขบวนเป็นวงกลมและร่อนลงพื้นรอบๆ ตัวห่าน หงส์กับห่านนั้นปกติไม่ค่อยคบค้าสมาคมกัน บางครั้งก็เป็นปฏิปักษ์กันด้วยซ้ำ ขณะที่เธอกำลังวิตกว่าห่านกำลังจะถูกหงส์รุมจิกตี การณ์กลับกลายเป็นว่าหงส์ต่างพากันใช้จะงอยปากจิกแซะน้ำแข็งที่ยึดเท้าห่านอยู่ เหล่าหงส์ใช้เวลาอยู่นานจนน้ำแข็งบางพอที่ห่านจะยกเท้าขึ้นได้ พอเป็นอิสระแล้วห่านก็ขยับปีก แต่ก็ไม่สามารถบินได้ ทีนี้ก็มีหงส์สี่ตัวเข้ามาไซ้ปีกห่านทั้งด้านนอกและด้านในเพื่อเอาน้ำแข็งออก สักพักห่านก็ลองสยายและหุบปีกทีละนิด พอหงส์เห็นห่านสามารถกางได้สุดปีก ก็รวมกลุ่มกันใหม่แล้วบินต่อไปจนลับสายตา
ความเอื้ออาทรมิได้มีอยู่แต่ในมนุษย์เท่านั้น หากยังมีในหมู่สัตว์โดยไม่จำกัดเฉพาะเผ่าพันธุ์ของตัว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าคุณธรรมนั้นก็เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของสัตว์ด้วย (อย่างน้อยก็ในสัตว์ชั้นสูง) แม้ไม่มีการอบรมบ่มเพาะ ก็สามารถแสดงอานุภาพให้ประจักษ์ได้
มนุษย์เรามีความสามารถที่จะรักและเอื้อเฟื้อผู้อื่นแม้จะต่างสีผิว ศาสนา และเผ่าพันธุ์ ความสามารถนี้เกิดจากปัญญาและกรุณาไม่น้อยไปกว่าที่ฝังอยู่ในสัญชาตญาณของเรา บางทีเราอาจไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการเปิดโอกาสให้ศักยภาพดังกล่าวมีโอกาสแสดงออกเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ไปทำลายมันด้วยการเรียนรู้แบบผิดๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคม
(หมายเหตุ : นำมาจากเว็ปไซต์
เครือข่ายพุทธิกา สนใจคลิก http://budnet.info
http://budnet.info/show.php?group=3&gID=16
และ เผยแพร่ใน นสพ.มติชน)
ถ้ามองจากมุมของแกนนำผู้ก่อความไม่สงบแล้ว สิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีอยากเห็นนั้นแหละเป็นสิ่งเดียวกับที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้น คนเหล่านั้นต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงแย่งชิงตัวประกันออกมา เพราะจะได้เกิดการปะทะกับประชาชนนับร้อย แน่นอนว่าถ้าทำเช่นนั้นจะต้องมีผู้หญิงและเด็กบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และจะเป็นข่าวดังไปทั่วโลกไม่น้อยไปกว่ากรณีตากใบ โดยที่การทำเช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าตัวประกันทั้งสองจะรอดชีวิตออกมาได้ เพราะอาจถูกสังหารก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือทันเวลา
สิ่งที่แกนนำผู้ก่อความไม่สงบคงนึกไม่ถึงก็คือ ผู้เจรจาและเจ้าหน้าที่รัฐยอมตามข้อเรียกร้องของเขามาตลอด เริ่มตั้งแต่ยอมเจรจาตอนเช้าแทนที่จะเป็นค่ำคืนก่อนหน้านั้น และยอมพาผู้สื่อข่าวมาทำข่าว ครั้นพวกเขาเรียกร้องให้นำผู้สื่อข่าวต่างประเทศมา ก็ได้รับการตอบสนองอีก และเมื่อขอให้นำผู้สื่อข่าวมาเลเซียมา ทางการก็รีบนำเฮลิคอปเตอร์ไปรับนักข่าวมาในบ่ายวันนั้น
เมื่อรู้ว่าไม่สามารถยั่วยุเจ้าหน้าที่รัฐให้ใช้กำลังแย่งชิงตัวประกัน ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถถ่วงเวลาให้ยืดเยื้อไปถึงค่ำได้ พวกเขาจึงตัดสินใจฆ่าตัวประกัน คงไม่ใช่เพื่อแก้แค้นเท่านั้น สิ่งที่เขาอยากจะเห็นคือสร้างความโกรธแค้นพยาบาทให้แก่รัฐบาล(และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ) เพื่อนำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับประชาชนสามจังหวัดภาคใต้อย่างเหวี่ยงแหจนเดือดร้อนถึงผู้บริสุทธิ์อีกมากมาย
ท่านนายกรัฐมนตรีอาจไม่พอใจเจ้าหน้าที่ผู้เจรจาที่ใช้ความอะลุ้มอล่วยกับชาวบ้านที่จับนาวิกโยธินเป็นตัวประกัน แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มความเป็นไปได้ของเหตุการณ์แล้ว น่าสงสัยว่ายังมีทางเลือกอื่นอีกหรือที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ประเทศชาติน้อยกว่าที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในวันนั้น
การสูญเสียนาวิกโยธินทั้งสองนับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของครอบครัว กองทัพและของชาติ แต่ในท่ามกลางความสูญเสียดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐก็ได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างไม่เคยมีมาก่อนจากประชาชนทั้งประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
กล่าวได้ว่าในรอบสองปีนับแต่การปล้นปืนจากค่ายทหารที่นราธิวาสนี้ ไม่เคยมีครั้งใดที่ประชาชนให้ความเห็นใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากเท่าครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย ประชาชนให้ความเห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐก็เพราะนาวิกโยธินทั้งสองเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อชุมชน ช่วยเหลือชาวบ้านมาโดยตลอด มีพระคุณยิ่งกว่าพระเดช
เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นที่บ้านตันหยงลิมอ ทั้งสองได้เข้าไปยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่หวั่นเกรงอันตรายครั้นถูกชาวบ้านรุมล้อมก็ยอมให้จับ ไม่ทำการต่อสู้ทั้งๆ ที่มีอาวุธอยู่ในรถ ความเห็นใจนั้นยังเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ทุกส่วนใช้ความนุ่มนวลในการแก้ปัญหาตัวประกัน
แน่นอนว่าหากนาวิกโยธินทั้งสองและเจ้าหน้าที่ที่ประจันหน้ากับฝูงชนใช้วิธีการตรงกันข้าม จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายขึ้นมาทั้งสองฝ่าย ความเห็นอกเห็นใจย่อมเกิดขึ้นได้ยาก หรือถึงจะมีก็กลบด้วยเสียงประณามจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เป็นเวลานานมาแล้วที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวงและเกลียดกลัวจากคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความรู้สึกดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแค่ความเข้าใจผิดหรือเกิดจากข่าวลือเท่านั้น แต่ยังมีข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ต่างๆ รองรับ ซึ่งตอกย้ำความอยุติธรรมและความเจ็บช้ำน้ำใจให้เกิดกับประชาชน
แม้ไม่ต้องพูดถึงกรณีตากใบหรือการอุ้มทนายสมชายเลยก็ยังได้ ความรู้สึกระแวงดังกล่าวได้ปลูกฝังอคติในหมู่ประชาชนจนเกิดความเชื่ออย่างฝังใจว่าเหตุร้ายส่วนใหญ่ในสามจังหวัดภาคใต้เกิดจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะแทบไม่เคยมีการจับตัวคนร้ายได้เลย ดังนั้น เมื่อชาวบ้านตันหยงลิมอถูกกราดยิงด้วยปืนจนตายสามคนและบาดเจ็บอีกสามคนในคือวันที่ 20 กันยายน 48 การยุยงของคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นก็สามารถทำให้ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ และนี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้นาวิกโยธินทั้งสองถูกจับกุมและรับเคราะห์ไปในที่สุด
นาวิกโยธินทั้งสองคือเหยื่อรายล่าสุดของความระแวงและไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แต่แล้วการที่คนทั้งสองถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ก็ได้เปลี่ยนความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อยให้คลายอคติลง และมีความเห็นใจเจ้าหน้าที่ของรัฐมากขึ้น (ตรงกันข้ามกับชาวบ้านตันหยงลิมอ ซึ่งแม้มีเพื่อนบ้านถูกสังหารถึงสามคนในคืนก่อนหน้านั้น แต่กลับไม่ได้รับความเห็นใจจากคนทั่วไปเลย เนื่องจากใช้วิธีการอันมิชอบอันเป็นผลให้นาวิกโยธินทั้งสองถูกฆ่า)
การที่ประชาชนให้ความเห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมากมายนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ก่อความไม่สงบอยากเห็นน้อยที่สุด และนี้คือสิ่งที่รัฐบาลประสบความล้มเหลวมากที่สุดในรอบสองปีที่ผ่านมา ไม่ว่ารัฐบาลจะทุ่มเงินและคนไปเท่าไรก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนไว้วางใจได้อย่างเต็มที่ แต่บัดนี้ความเห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐได้เกิดขึ้นแล้ว นี้ใช่ไหมคือชัยชนะทางการเมืองที่รัฐบาลรอมานาน
ไม่มีใครปฏิเสธว่าความเห็นใจดังกล่าวรัฐได้มาด้วยราคาที่แพงมาก ด้วยเหตุที่ได้มาด้วยราคาแพงนี้เอง รัฐบาลจึงมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาความเห็นใจที่ประชาชนมอบให้ในครั้งนี้ให้คงอยู่ต่อไป และนำความเห็นใจนี้มาเป็นทุนในการสร้างความไว้วางใจในเจ้าหน้าที่รัฐให้เกิดขึ้นให้ได้
ความเห็นใจและความไว้วางใจนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยพระเดช หากด้วยพระคุณ (เพราะเหตุนี้ใช่ไหมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเน้นเสมอให้รัฐยึดหลัก "เข้าใจ เข้าถึงพัฒนา") สิ่งที่รัฐบาลควรทำมากที่สุดตอนนี้จึงได้แก่การเร่งนำเอานโยบายที่ส่งเสริมความยุติธรรม การพัฒนา และการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไปให้ทั่วถึง เพราะเป็นโอกาสที่ประชาชนจะให้การตอบรับด้วยดี อันจะนำไปสู่ความไว้วางใจกันมากขึ้น
ในทางตรงข้ามการพยายามผลักดันนโยบายที่ก้าวร้าวรุนแรงด้วยอารมณ์โกรธในช่วงที่ประชาชนมีความเห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐ(และรัฐบาล) มีแต่จะทำให้ความเห็นใจนั้นลดลง และถอยกลับไปสู่ความหวาดระแวงและเกลียดชังอีก เพราะนโยบายดังกล่าวมักลงเอยด้วยการทำร้ายผู้บริสุทธิ์มากกว่าที่จะกำจัด "โจร" ตัวจริง
รัฐบาลจะต้องหลีกเลี่ยงการฉวยโอกาสหรือใช้ความเห็นใจที่ประชาชนมอบให้ไปในทางที่ผิด ต้องไม่ลืมว่าความเห็นใจครั้งนี้รัฐได้มาด้วยราคาแพง ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาและทำให้ความเห็นใจดังกล่าวเพิ่มพูนมากขึ้น มิใช่เอามาใช้ให้หมดไปเพียงเพื่อหวังผลระยะสั้น
นี้มิใช่หน้าที่ทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมด้วย เพราะนาวิกโยธินทั้งสองยอมเสี่ยงชีวิตเพราะมุ่งหวังความสงบสุขในบ้านเมือง เราผู้ยังอยู่จึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้การเสียสละชีวิตของเขาเป็นไปในทางที่ส่งเสริมความสงบสุข มิใช่นำไปสู่การสู้รบฆ่าฟันกันมากขึ้นอีก
เราต้องไม่ลืมว่าความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจในเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีสูงมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความรู้สึกดังกล่าวฝังลึกมานานและปลุกได้ง่ายมากด้วยคนเพียงไม่กี่คน การจะเปลี่ยนความหวาดระแวงเกลียดกลัวให้กลายเป็นความไว้วางใจนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ภายในปีสองปี แต่จะต้องใช้ความอดทนและระยะเวลาที่ยาวนาน ยิ่งกว่านั้นอาจต้องแลกมาด้วยชีวิตของคนดีๆ อีกหลายคน ของที่มีน้อยและหายากมักต้องแลกมาด้วยราคาแพงเสมอ แต่นั่นก็เป็นเพราะเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ดีมาสร้างปัญหาสะสมในพื้นที่มาเป็นเวลาช้านาน คนดีจึงต้องพลอยมารับเคราะห์จากความเลวร้ายที่ถูกปล่อยทิ้งเอาไว้
ถ้าไม่อยากให้คนดีต้องตายอีก รัฐบาลจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ดีมาสร้างปัญหา ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมจะจัดการกับคนไม่ดีเหล่านั้นด้วยความเด็ดขาด มิใช่ปล่อยให้ลอยนวล โดยคิดแต่จะใช้ความรุนแรงกับอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้เป็นเสนาบดีคู่ใจของพระปิยมหาราชเคยกล่าวไว้ว่า "อำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่อยู่ที่พระราชแสงศาสตรา" ข้อคิดดังกล่าวเหมาะอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลในยามนี้ ก่อนที่จะลงมือใช้ศาสตราวุธ รัฐบาลควรไตร่ตรองดูว่าได้พยายามเต็มที่แล้วหรือยังเพื่อให้ราษฎรเชื่อถือและไว้วางใจ นาวิกโยธินทั้งสองได้อุทิศชีวิตเพื่อการนี้มาแล้ว
บัดนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องระดมกำลังสร้างสานต่อภารกิจดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจังเพื่อความสงบสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง คุณธรรมความดีเท่านั้นที่สามารถชนะใจผู้คน มิใช่กำปั้นหรือกระบอกปืน
(หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกใน
นสพ.มติชน)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 680 เรื่อง หนากว่า 9500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนมีการทดลองเพื่อศึกษาแบบแผนการเลือกคู่ของผู้คน ผู้วิจัยได้นำภาพถ่ายของชายและหญิงที่อยู่กินด้วยกันนานหลายปีมาสลับกัน แล้วรวมไว้ในกองเดียวกัน จากนั้นให้อาสามัครเลือกเอาภาพของคนที่หน้าตาคล้ายกันมาจับคู่กัน ปรากฏว่าคู่ที่อาสาสมัครเลือกมานั้นมักเป็นคู่สามีภรรยากันจริงๆ การทดลองหลายครั้งได้ผลถูกต้องบ่อยครั้งเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญ
มีการทดลองคล้ายๆ กันอีก คราวนี้ให้อาสาสมัครทำการเจรจาต่อรองเรื่องเงิน ปรากฏว่าคู่เจรจาอีกฝ่ายมักจะได้รับความไว้วางใจมากกว่าหากว่าเขาหรือเธอมีหน้าตาคล้ายกับอาสาสมัคร การทดลองนี้ให้ผลสอดคล้องกับข้อสังเกตที่มีมานานแล้วว่า คนเราจะให้ความไว้วางใจมากกว่าแก่คนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับตน